- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ล้ำสุริย์ฉาน |
ครั้นพระมาตุลีชัยชาญ | คืนไปสถานเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนพิเภกยักษา |
แต่เรายกพลโยธา | มาสงครามเข่นฆ่าไพรี |
เคี่ยวขับกันมาก็ช้านาน | จนสิ้นพวกพาลยักษี |
ซึ่งเป็นหลักเสี้ยนธาตรี | บัดนี้จะกลับคืนไป |
ยังอยุธยานัคเรศ | เป็นมหานิเวศน์อันใหญ่ |
ด้วยเราได้ให้สัญญาไว้ | แก่สองไทธิราชอนุชา |
โดยในรับสัจพระบิตุรงค์ | อันทรงคุณก่อเกล้าเกศา |
ครบสิบสี่ปีจะกลับมา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี |
แม้นเรามิไปตามกำหนด | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ก็จะวิ่งเข้ากองอัคคี | ถึงที่สุดสิ้นชีวาลัย |
ทั้งสามสมเด็จพระมารดร | จะทุกข์ร้อนเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
บัดนี้ก็จวนสัญญาไว้ | จะรีบไปให้ทันสิบสี่ปี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรสนองพระวาจา |
ข้าบาทจะขอโดยเสด็จ | พระจักรเพชรตรีภพนาถา |
จะได้ช่วงใช้ใต้บาทา | ไปกว่าจะถึงพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรจึ่งกล่าววาที |
ท่านจงหาฤกษ์ยาตรา | โดยวันเวลาดิถี |
ให้เป็นมงคลสวัสดี | แก่หมู่กระบี่พลไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | แล้วคำนวณไปตามตำรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา |
พรุ่งนี้ยํ่ารุ่งเวลา | พระจันทร์มาราศีมิน |
อาทิตย์ร่วมธาตุกับพฤหัส | ฤกษ์นั้นสารพัดจะดีสิ้น |
แต่เล็งราหูอสุรินทร์ | เห็นมลทินโทษกับจันทร์ |
ทายว่าจะมีข้าศึก | ผู้เดียวห้าวฮึกโมหันธ์ |
ตามไปในทางพนาวัน | หักโหมโรมรันบีฑา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศา |
ได้ฟังพิเภกโหรา | ผ่านฟ้าจึ่งมีโองการ |
แม้นมาตรอริราชศัตรู | จะตามไปต่อสู้หักหาญ |
เราไม่เกรงมือไอ้สาธารณ์ | จะผลาญเสียให้สิ้นชีวี |
ซึ่งท่านจะไปด้วยเรา | จงจัดเหล่าสุริย์วงศ์ยักษี |
อันซื่อตรงจงรักภักดี | อยู่รักษาบุรีลงกา |
ตรัสแล้วสั่งลูกพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิ์แกล้วกล้า |
จงเตรียมพหลโยธา | ท้าวพญาวานรให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพพิเภกคนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ก็แยกกันไปจัดโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ สุครีพก็จัดพลกระบินทร์ | ทั้งชมพูขีดขินบุรีศรี |
เข้ากระบวนเสด็จพระจักรี | โดยที่พยุหบาตรยาตรา |
องคตผู้มีฤทธิรณ | คุมพลสิบสมุทรเป็นทัพหน้า |
ถัดนั้นพระศรีอนุชา | โยธาสิบห้าสมุทรไท |
อันกระบี่ยี่สิบเจ็ดสมุทร | กับสิบแปดมงกุฎทหารใหญ่ |
อยู่ในกระบวนทัพชัย | องค์พระภูวไนยสี่กร |
แต่ตัวโอรสพระสุริยัน | คุมพวกพลขันธ์ชาญสมร |
สิบห้าสมุทรวานร | บทจรถัดทัพหลวงมา |
อันซึ่งคำแหงวายุบุตร | คุมพลสิบสมุทรแกล้วกล้า |
เป็นกองหลังรั้งท้ายโยธา | ตรวจตรากันเสร็จตามบาญชี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาพิเภกยักษี |
ครั้นถึงลงกาธานี | อสุรีจึ่งบัญชาการ |
ให้เปาวนาสูรกุมภัณฑ์ | อันมีปรีชากล้าหาญ |
คุมหมู่พหลพลมาร | อยู่รักษาราชฐานลงกา |
แล้วเกณฑ์โยธาห้าสมุทร | ล้วนถืออาวุธพร้อมหน้า |
สำหรับโดยเสด็จพระจักรา | ไปยังอยุธยาธานี |
แต่งทั้งบุษบกทิพรัตน์ | คู่ทรงจักรพรรดิเฉลิมศรี |
รถรองรถประเทียบรูจี | ตามที่ตำแหน่งอันดับกัน |
แล้วให้สุวรรณกันยุมา | กับตรีชฎาเมียขวัญ |
เบญกายลูกรักร่วมชีวัน | นางจันทวดีนงคราญ |
มาขึ้นพิชัยราชรถ | อลงกตพรรณรายฉายฉาน |
ยกไปเข้าทัพพระอวตาร | ยังสถานที่สวนมาลี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
กับสองกษัตริย์ร่วมชีวี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สามกษัตริย์สระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
พระหริรักษ์กับพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | สอดทรงสนับเพลารายบุษย์ |
ภูษาเครือก้านกระหนกครุฑ | ทองผุดต่างพื้นเขียวแดง |
นางทรงภูษิตพื้นม่วง | ลอยดวงทองพรายลายแย่ง |
สองพระองค์ทรงประดับชายแครง | ชายไหวลายแทงทับทิมพราย |
นางทรงสไบตาดสอดสี | ประดับถันด้วยดวงมณีฉานฉาย |
ต่างทรงทับทรวงจำหลักลาย | สังวาลรายมรกตตาบทิศ |
ทองกรพาหุรัดรูปภุชงค์ | ธำมรงค์พลอยมณีโลหิต |
มงกุฎแก้วมณฑลชวลิต | กรรเจียกจรขจิตด้วยมุกดา |
งามทรงสมเด็จพระจักรี | งามพระลักษมีเสน่หา |
งามองค์พระลักษมณ์อนุชา | ดั่งเทเวศหยาดฟ้าลงมาดิน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ สามกษัตริย์เสด็จยุรยาตร | งามวิลาสเสมอกันทั้งสิ้น |
ทอดกรกรีดกรายดั่งหงส์บิน | ลินลามาเกยอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระหริวงศ์กับองค์นางสีดา | ขึ้นมหาบุษบกประภัสสร |
องค์พระอนุชาฤทธิรอน | ทรงรถบวรรูจี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์มงคล | สุริยนแจ่มแจ้งจำรัสศรี |
ให้เลิกพหลโยธี | จากสวนมาลีอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ บุษเอยบุษบกแก้ว | จำรูญพรายจำรัสแพร้วพระเวหา |
ไพโรจน์เพียงรถพระสุริยา | หยาดฟ้าหยดฟุ้งสุธาดล |
รังสีรถทรงองค์พระลักษมณ์ | จับพักตร์แจ่มพื้นโพยมหน |
ดั่งแขเดินเคียงพระสุริยน | แสงล้นส่องโลกทั้งสองดวง |
แถวฉัตรถัดชั้นธงชาย | ชุมสายฉายแสงโชติช่วง |
เครื่องสูงครบสิ่งห้อยแก้วพวง | สีรุ้งส่องร่วงรูจี |
รถประเทียบเรียบแถวรถรอง | เสียงฆ้องซ้องขานประสานปี่ |
ครื้นสนั่นครั่นเสนาะดนตรี | เภรีไพเราะประโคมไป |
พลแห่พื้นห้าวหักศึก | โห่ครึกฮึกครั่นหวั่นไหว |
เร่งพวกรีบพลสกลไกร | ข้ามไปตามถนนที่จองมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กลองโยน
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ครั้นถึงฟากฝั่งคงคา | อสุรากราบทูลพระจักรี |
อันถนนซึ่งจองข้ามสมุทร | ไปต่อยุทธ์ล้างเหล่ายักษี |
เป็นทำนบปิดทางวารี | กันที่เภตรานาวาจร |
ขอพระองค์จงตัดเสียให้ขาด | ด้วยอำนาจฤทธิ์พระแสงศร |
ให้ลึกกว้างเป็นทางสาคร | คงเหมือนแต่ก่อนบุราณมา |
จะได้เลื่องลือชาปรากฏ | เกียรติยศสืบไปภายหน้า |
ตราบเท่าชั่วกัปกัลปา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีเห็นจริงทุกสิ่งไป |
จึ่งทรงพระแสงพลายวาต | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
พาดสายน้าวหน่วงว่องไว | ภูวไนยผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ศรไปล้างถนนศีลา | ด้วยกำลังศักดาพระจักรกฤษณ์ |
ทลายแหลกแตกกระจายไปทุกทิศ | เสียงสนั่นครรชิตอึงอล |
พระสมุทรตีฟองนองระลอก | กระฉ่อนฉอกฟัดฝั่งกุลาหล |
เป็นทางกว้างใหญ่ในสายชล | จนตลอดถึงเกาะลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างถนนหลวง | ให้ล่วงพลโยธีทัพหน้า |
โดยกระบวนพยุหยาตรา | ไปตามมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รอนแรมมาหลายคืนวัน | ล่วงเหมติรันคีรีศรี |
พอเย็นรอนอ่อนแสงพระรวี | ถึงที่แห่งหนึ่งสะอาดตา |
พื้นราบเรี่ยรายด้วยทรายอ่อน | หอมพรรณเกสรบุปผา |
จึ่งให้หยุดพหลโยธา | ลงที่ชายป่าอันโอฬาร |
จึ่งตรัสสั่งน้องพาลี | ผู้มีปรีชากล้าหาญ |
ป่านี้เป็นที่สำราญ | ผลไม้ห้วยธารชอบกล |
อสุราวานรจะอาศัย | เห็นจะไม่ลำบากขัดสน |
จงตั้งพลับพลาในอารญ | ใต้ต้นพฤกษาริมธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุราวานรทวยหาญ |
รับคำสุครีพบัญชาการ | ก็เกณฑ์กันอลหม่านมุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บ้างถางที่ปราบดินขุดหลุม | กลุ้มกันถากฟันไม้ใหญ่ |
แบกขนมาตั้งพลับพลาชัย | ข้างหน้าข้างในพร้อมกัน |
มีทั้งที่สรงที่เสวย | ท้องพระโรงแลเกยระเนียดกั้น |
ทิมดาบซ้ายขวาเรียงรัน | ศาลาลูกขุนคั่นถัดมา |
ทัพใครใครตั้งลงตามกอง | เป็นทิวถ้องโดยซ้ายฝ่ายขวา |
จุกช่องกองไฟตรวจตรา | ก็เสร็จตามบัญชาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
กับนางสีดาบังอร | กรายกรขึ้นพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | กับโฉมอัครราชมเหสี |
พอพลบคํ่าย่ำแสงพระรวี | รัศมีจันทร์แจ่มเมฆา |
พระพายชายพัดรวยริน | พากลิ่นเสาวคนธ์บุปผา |
หอมตระหลบอบทั่วทั้งพลับพลา | ซาบซ่านนาสาสำราญใจ |
สำเนียงเรไรจักจั่นแจ้ว | ดั่งดนตรีปี่แก้วเสียงใส |
พระหริวงศ์กับองค์อรไท | ก็หลับไปในราษราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงบรรลัยกัลป์ยักษี |
โอรสทศเศียรอสุรี | นางกาลอัคคีเป็นมารดา |
แต่ชนมาได้ห้าขวบปลาย | ใจร้ายองอาจแกล้วกล้า |
พญานาคผู้เป็นอัยกา | ขอเอาอสุราไปเลี้ยงไว้ |
ยังในพิภพนาคี | จนอสุรีจำเริญใหญ่ |
รอบรู้วิชาว่องไว | ต่างตาต่างใจทุกประการ |
วันหนึ่งเข้าที่ไสยาสน์ | เหนืออาสน์รัตนามุกดาหาร |
กับด้วยภุชงค์นงคราญ | ขุนมารหลับสนิทนิทรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กล่อม
๏ ฝันว่ามีเทพเทวัญ | สี่กรถือพระขรรค์คมกล้า |
เข้ามาหักคออสุรา | แหวะดวงวิญญาณ์พาจร |
ตกใจผวาตื่นขึ้นทันที | ให้เร่าร้อนอินทรีย์ดั่งต้องศร |
ขุกคิดถึงองค์พระบิดร | แล้วสะท้อนถอนจิตจาบัลย์ |
เอะจะเป็นกระไรก็ไม่รู้ | หลากใจด้วยกูนิมิตฝัน |
เห็นเป็นมหัศอัศจรรย์ | เหตุนั้นจะได้แก่ผู้ใด |
คิดแล้วเข้าที่โสรจสรง | ประดับองค์อร่ามดั่งแขไข |
ออกจากห้องแก้วแววไว | ขึ้นไปเฝ้าองค์พระอัยกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระทรงธรรม์ธิราชนาถา |
ทูลว่าหลานนี้จะขอลา | ขึ้นไปลงกาธานี |
เยี่ยมเยียนสมเด็จพระบิตุเรศ | ชนนีเกิดเกศเกศี |
ไม่ช้าสักเจ็ดราตรี | ภูมีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกาลนาคนาถา |
ได้ฟังพระราชนัดดา | ลูบหลังลูบหน้าด้วยอาลัย |
ซึ่งเจ้าจะไปเยี่ยมพระบิดา | ยังนครลงกากรุงใหญ่ |
ทั้งนี้ก็ตามแต่นํ้าใจ | แต่อย่าอยู่ให้ช้านัก |
จงเร่งรีบกลับคืนมา | ช่วยกันรักษาอาณาจักร |
ตานี้หวังใจแก่หลานรัก | จะให้เป็นปิ่นปักนาคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สุริย์วงศ์ยักษี |
รับสั่งอัยกาธิบดี | อสุรีถวายบังคมลา |
เสร็จแล้วก็ลงจากปราสาท | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
กรายกรลีลาศยาตรา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | วารีโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธาทิพย์เสาวคนธ์ | ปรุงปนเกสรสุมามาลย์ |
สนับเพลาเชิงรูปราชสีห็ | ภูษาลายเจ็ดตะคลีเครือก้าน |
สอดใส่ฉลององค์อลงการ | ทับทรวงสังวาลฉลุลาย |
ตาบทิศทองกรมังกรพด | พาหุรัดมรกตฉานฉาย |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรพราย | มงกุฎแก้วพรรณรายกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้มาศ | นพรัตน์โอภาสประภัสสร |
ขัดมหาวชิราคทาธร | บทจรจากปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
ชำแรกแทรกพื้นพระสุธา | ขึ้นมาด้วยกำลังว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึงลงกาพระนคร | พอทินกรเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
อสุรีผันแปรแลไป | ตามในสองข้างทางจร |
ไม่เห็นหญิงชายบันเทิง | รื่นเริงอื้ออึงเหมือนแต่ก่อน |
เงียบเหงาไปทั่วพระนคร | ทั้งหมู่นิกรโยธี |
สงัดเสียงพิณพาทย์ฆ้องกลอง | ขับร้องดุริยางค์ดีดสี |
ให้ฉงนสนเท่ห์พันทวี | อสุรีตะลึงทั้งกายา |
อันซึ่งอัศจรรย์วิปริต | จะเป็นเหมือนนิมิตกระมังหนา |
จำจะลอบไปเฝ้าพระมารดา | ทูลถามกิจจาให้แจ้งใจ |
คิดแล้วเข้าแอบซุ้มทวาร | ขุนมารยอกรบังคมไหว้ |
องค์บรมพรหเมศฤทธิไกร | สำรวมใจกำบังอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดเดี๋ยวก็บันดาลเงาหาย | ใครไม่เห็นกายยักษี |
เข้ายังพระนิเวศน์รูจี | อสุรีขึ้นเฝ้าพระมารดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัคคีเสน่หา |
เสด็จเหนือแท่นแก้วอลงการ์ | เหลือบมาเห็นองค์พระลูกชาย |
มีความโสมนัสเป็นพ้นนัก | คิดถึงผัวรักแล้วใจหาย |
วิ่งไปด้วยกำลังกาย | โฉมฉายกอดบุตรเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เป็นครู่มิใคร่จะเจรจา | ค่อยดำรงกายามารศรี |
จูงกรลูกรักร่วมชีวี | มาขึ้นแท่นมณีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งบรรลัยกัลป์ชาญสมร |
ครั้นเห็นสมเด็จพระมารดร | โศกาอาวรณ์ประหลาดนัก |
กราบลงกับเบื้องบาทา | ให้เร่าร้อนอุราดั่งต้องจักร |
ชลเนตรคลอคลองนองพักตร์ | ขุนยักษ์จึ่งทูลถามไป |
เป็นไฉนฉะนี้พระมารดร | จึ่งทุกข์ร้อนโศกาละห้อยไห้ |
พระบิตุเรศเสด็จอยู่แห่งใด | ลูกจะไปเฝ้าพระบาทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัคคีเสน่หา |
สะอื้นพลางทางแจ้งกิจจา | แก้วตาแม่ร่วมชีวี |
อันองค์พระบิตุเรศเจ้า | ซึ่งบังเกิดเกล้าเกศี |
บัดนี้มีราชไพรี | พี่น้องชื่อว่ารามลักษมณ์ |
คุมหมู่โยธาวานร | ข้ามมหาสาครมาหาญหัก |
ฆ่าเสียสิ้นสุริย์วงศ์ยักษ์ | ด้วยศักดาเดชมหิมา |
แต่พญาพิเภกอาเจ้า | ไปเข้าด้วยมนุษย์ลิงป่า |
พระรามให้ผ่านพารา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี |
บัดนี้มนุษย์ทั้งสอง | พี่น้องเลิกพลกระบี่ศรี |
กลับไปอยุธยาธานี | ได้สามราตรีสามวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังมารดารำพัน | ให้อัดอั้นตะลึงทั้งกายา |
ดั่งหนึ่งพระกาลพาลราช | มาพิฆาตตัดเกล้าเกศา |
ชลเนตรไหลอาบพักตรา | อสุราครวญคร่ำร่ำไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ โอ้พระบิตุเรศของลูกเอ๋ย | ไม่แจ้งเลยว่าเกิดศึกใหญ่ |
คิดถึงพระคุณภูวไนย | ตั้งใจมาเฝ้าบทมาลย์ |
ควรหรือพระจอมมงกุฎเกศ | ทรงเดชสิ้นชีพสังขาร |
ด้วยมืออริราชภัยพาล | อัประมาณทั่วไตรโลกา |
เสียแรงลูกเอากำเนิด | เกิดในสุริย์วงศ์ยักษา |
มิได้แทนคุณพระบิดา | ดั่งว่าใช่ชายชาตรี |
ถึงกระไรพอได้ต่อยุทธ์ | ด้วยมนุษย์พี่น้องทั้งสองศรี |
แม้นตายไม่เสียดายชีวี | ดีกว่าที่อยู่สืบไป |
ร่ำพลางกอดบาทพระมารดร | โศกาอาวรณ์ละห้อยไห้ |
ดั่งจะสิ้นชีวิตจิตใจ | ไม่เป็นสติวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นคลายโศกาจาบัลย์ | กุมภัณฑ์ยอกรเหนือเกศา |
ลูกรักจักขอบังคมลา | ตามไปเข่นฆ่าไพรี |
อาวุธสิ่งใดที่วิเศษ | ของพระบิตุเรศเรืองศรี |
ยังเหลืออยู่บ้างหรือพระชนนี | ลูกนี้จะขอไปชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอัคคีเยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังตระหนกตกใจ | ดั่งใครมาเด็ดเอาชีวา |
สะอื้นพลางทางห้ามพระลูกรัก | ดวงจักษุแม่เสน่หา |
อันมนุษย์พี่น้องสองรา | ศักดาปราบได้ทั้งสิบทิศ |
เป็นยอดกษัตริย์ชัยชาญ | ชำนาญในการศรสิทธิ์ |
แต่พระบิตุรงค์ทรงฤทธิ์ | กุมภกรรณอินทรชิตอสุรี |
สิ้นทั้งประยูรสุริย์วงศ์ | พงศ์พันธมิตรเรืองศรี |
แต่ละองค์ล้วนทรงฤทธี | ไปต่อตีไม่รอดชีวา |
ซึ่งเจ้ามานะอหังการ | ฮึกหาญจะตามไปเข่นฆ่า |
ที่ไหนจะรอดคืนมา | น่าที่จะม้วยชีวัน |
ตัวแม่ได้เห็นหน้าเจ้า | ค่อยบรรเทาวิโยคโศกศัลย์ |
พ่ออย่าติดตามไปโรมรัน | ขวัญตาจงฟังชนนี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
เป็นไฉนฉะนี้พระแม่เจ้า | มากลัวเหล่ามนุษย์ลิงป่า |
ตัวลูกชาติชายอาชา | ศักดาปราบได้ทั้งแดนไตร |
จะตามไปสังหารราญรอน | ต่อกรกับมันให้ได้ |
ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งทัพชัย | จึงสาแก่ใจไอ้อัปรีย์ |
เหมือนได้แทนคุณพระบิตุเรศ | อันบังเกิดเกศเกศี |
ให้ปรากฏยศไว้ในธาตรี | ลูกนี้ไม่ฟังพระวาจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัคคีเสน่หา |
เห็นลูกรักกริ้วโกรธโกรธา | กัลยาอัดอั้นตันใจ |
ชลนัยน์ไหลนองคลองพักตร์ | เยาวลักษณ์จะขัดก็ไม่ได้ |
จึ่งหยิบพระแสงศรชัย | ส่งให้แก่องค์พระโอรส |
ศรนี้ของบรมพรหเมศ | ทรงฤทธิ์เรืองเดชดั่งเพลิงกรด |
ให้แก่บิตุรงค์ทรงยศ | ทศทิศไม่ทานศักดา |
เจ้าจงเอาไปต่อยุทธ์ | ด้วยสองมนุษย์กับลิงป่า |
ให้มีชัยอริราชพาลา | แก้วตาจงไปสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สุริย์วงศ์ยักษี |
รับศรรับพรพระชนนี | ชุลีกรกราบกับบทมาลย์ |
ลาองค์สมเด็จพระมารดา | ออกจากมหาราชฐาน |
สำแดงแผลงฤทธิ์ชัยชาญ | เหาะทะยานล่วงข้ามสมุทรไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งชลธี | อสุรีลงยังทางใหญ่ |
ตามรอยบาทาพลไกร | รีบไปด้วยกำลังโกรธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เสด็จออกยังหน้าพลับพลา | พร้อมหมู่เสนาวานร |
ทั้งเหล่ายักษาสุริย์วงศ์ | เกลื่อนกลาดเฝ้าองค์พระทรงศร |
ดั่งดาวล้อมดวงศศิธร | ในพื้นอัมพรไม่ราคี |
พอได้ยินสำเนียงกึกก้อง | สะเทือนท้องหิมเวศคีรีศรี |
ดั่งลมกาลผลาญโลกธาตรี | ผงคลีมืดคลุ้มอโณทัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีพระราชบรรหาร | ถามโหราจารย์ผู้ใหญ่ |
อันซึ่งสำเนียงเกรียงไกร | จะเป็นเหตุสิ่งใดอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | แล้วพิจารณาตามนาที |
พร้อมทั้งอัศกาลแลตรีเนตร | โดยในสังเกตของยักษี |
เสร็จแล้วน้อมเศียรอัญชุลี | อสุรีกราบทูลพระทรงครุฑ |
อันสำเนียงครั่นครึกกึกก้อง | สะเทือนท้องสุธามหาสมุทร |
คือบรรลัยกัลป์ฤทธิรุทร | เป็นบุตรทศเศียรอสุรา |
เกิดด้วยนางกาลอัคคี | มีกำลังเรี่ยวแรงแข็งกล้า |
พญานาคผู้เป็นอัยกา | มาขอไปไว้ยังบาดาล |
ให้ตั้งการกิจพิธีกรรม์ | ชุบแช่ตัวมันด้วยน้ำว่าน |
ถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนจึ่งชำนาญ | เชี่ยวชาญหาญยิ่งด้วยฤทธี |
มาเยือนสมเด็จพระบิตุเรศ | แจ้งเหตุว่าท้าวยักษี |
พระองค์สังหารผลาญชีวี | อสุรีกริ้วโกรธพิโรธนัก |
อวดหาญในการรณรงค์ | ผู้เดียวอาจองทะนงศักดิ์ |
ตามมาด้วยกำลังฮึกฮัก | ขุนยักษ์ไม่มีรี้พล |
พิเคราะห์ในยามเวลา | เห็นว่าจะตายกลางหน |
ขอให้หนุมานฤทธิรณ | ไปผจญฆ่ามันให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ล้ำสุริย์ฉาน |
ได้ฟังพิเภกขุนมาร | ผ่านฟ้าจึ่งมีบัญชา |
ดูก่อนคำแหงวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จงไปสังหารอสุรา | ตัดเอาเศียรมาบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาด้วยกำลังได้โยชน์หนึ่ง | ถึงที่แนวเนินสิงขร |
คิดด้วยปรีชาวานร | กูจะลองฤทธิรอนไอ้จังไร |
คิดพลางพอแลไปเห็นบึง | แห่งหนึ่งริมทางกว้างใหญ่ |
ยอกรไหว้เจ้าภพไตร | สำรวมใจร่ายเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์เชี่ยวชาญ | ก็บันดาลกลายเป็นมหิงสา |
ตกหล่มจมอยู่ทั้งกายา | ตั้งตาคอยดูอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายบรรลัยกัลป์ยักษี |
เดินดัดลัดป่าพนาลี | ตามรอยกระบี่พลไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เหลือบแลมาเห็นกาสร | นอนจมอยู่ในบึงใหญ่ |
จึ่งมีวาจาถามไป | ว่าเหวยมหิงส์ไพรใจฉกรรจ์ |
ยังเห็นมนุษย์สองชาย | ยกพวกนิกายทัพขัน |
ไปจากที่นี้สักกี่วัน | จงบอกกันแต่โดยสัจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังจึงตอบด้วยมารยา | ตัวข้าลำบากมาช้านาน |
ตกหล่มจมอยู่ในบึง | ปิ้มจะถึงสิ้นชีพสังขาร |
ช่วยยกเราขึ้นจากกันดาร | จึ่งจะแจ้งการอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สุริย์วงศ์ยักษี |
ไม่ทันรู้กลก็ยินดี | อสุรีก็ตรงลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองเท้าเหยียบยันดินดอน | บ่าแบกกาสรตัวใหญ่ |
ดันด้วยกำลังฤทธิไกร | จนเหื่อไหลทุกเส้นโลมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แต่เข้าแบกดันเป็นหลายหน | จนสิ้นสุดแรงยักษา |
กาสรไม่ไหวดั่งจินดา | หนักกว่ายกเขาหิมวันต์ |
อ่อนจิตอ่อนใจเป็นพ้นนัก | อ้าปากหอบฮักตัวสั่น |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะแบกดัน | กุมภัณฑ์ก็กลับขึ้นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
เห็นฤทธิ์ก็คิดแต่ในใจ | ไอ้นี่มันจะม้วยชีวา |
กูจะลวงให้ยกอีกก่อน | จึ่งจะหย่อนกำลังยักษา |
แล้วจึ่งร้องไปด้วยมารยา | ดูราขุนมารชาญชัย |
อันตัวของท่านก็มีฤทธิ์ | แต่ว่าความคิดนั้นหาไม่ |
เมื่อเหนื่อยมาดั่งหนึ่งจะขาดใจ | มิได้หยุดยั้งให้สำราญ |
ตัวท่านสิยังหิวโหย | มาหักแรงเอาโดยกำลังหาญ |
ที่ไหนจะได้นะขุนมาร | ป่วยการลำบากอินทรีย์ |
จงไปอาบนํ้าชำระกาย | ให้สบายเป็นสุขเกษมศรี |
ถึงจะหนักยิ่งกว่าเรานี้ | น่าที่จะขึ้นดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศพักตร์ยักษา |
ได้ฟังสอดคล้องในวิญญาณ์ | อสุราเห็นจริงทุกสิ่งไป |
มีความยินดีเป็นพ้นนัก | ผ่องพักตร์ดั่งดวงแขไข |
ก็ออกจากร่มพระไทร | ลงไปยังท่าวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองกรกอบน้ำดื่มกิน | แล้วชำระมลทินยักษี |
เปือกตมหมดสิ้นทั้งอินทรีย์ | อสุรีก็กลับขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ คืนเข้าหยุดพักสำนักนั่ง | ยังใต้ต้นไทรใบหนา |
ร่มชิดมิดแสงสุริยา | พระพายพัดมาสำราญใจ |
ลุกขึ้นผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ออกจากใต้ร่มพระไทร | ลงไปยังมหิงส์ตัวฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งเข้ายุดกายกาสร | ด้วยกำลังฤทธิรอนแข็งขัน |
ย้ายยักชักฉุดเอาบ่าดัน | เท้ายันกลับกลอกว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปล้ำปลุกแบกดันเป็นหลายหน | ก็พาพ้นจากหล่มขึ้นได้ |
อสุราร่าเริงบันเทิงใจ | ตบหัตถ์หวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วถามไปด้วยใจอหังการ | เหวยไอ้เดียรัจฉานมหิงสา |
อันมนุษย์ซึ่งยกโยธา | ไปโดยมรคาได้กี่วัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังวาจากุมภัณฑ์ | ทำหูชันลองเชิงเริงไป |
โก่งหางวางวิ่งลดเลี้ยว | เสี่ยวตักธรณีขวิดไขว่ |
แล้วร้องว่าท่านผู้ฤทธิไกร | ได้มีคุณเราครั้งนี้ |
ครั้นจะนิ่งไว้ก็ไม่ชอบ | จำจะตอบแทนคุณยักษี |
อันซึ่งพระรามองค์นี้ | คือพระจักรีขี่ครุฑ |
พระลักษมณ์นั้นคือบัลลังก์นาค | เสด็จจากวารีกษีร์สมุทร |
ยกพลวานรฤทธิรุทร | มาล้างทุจริตในลงกา |
ท่านอย่าอาจองทะนงใจ | จงกลับคืนไปเสียดีกว่า |
ชีวิตจึ่งจะไม่มรณา | ฟังคำเราว่าเถิดกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์ฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | ตบมือสรวลสันต์แล้วร้องไป |
เหวยเหวยไอ้ชาติเดียรัจฉาน | มึงรู้เหตุการณ์มาแต่ไหน |
มายกมนุษย์เท่าแมงใย | ว่านารายณ์นั้นไวกูณฐ์มา |
มึงนี้เจรจาทุจริต | หากคิดว่าเป็นสัตว์ป่า |
หาไม่จะผลาญชีวี | ให้สมนํ้าหน้าไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | ขุนกระบี่จึ่งร้องตอบไป |
ซึ่งเราว่านี้โดยสัจจา | จะแกล้งกล่าวมุสานั้นหาไม่ |
เมตตาช่วยว่าห้ามไว้ | เป็นไฉนจึ่งมาโกรธเอา |
แม้นมิฟังจะไปต่อสู้ | มาลองดูกับกูควายเฒ่า |
ถ้าดีมีชัยแก่เรา | อ่อเจ้าจึ่งตามไปราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งบรรลัยกัลป์ยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | อสุรีจึ่งร้องตอบไป |
เหวยไอ้กาสรทรลักษณ์ | จะรู้จักคุณกูก็หาไม่ |
หากช่วยจึ่งรอดชีวาลัย | ควรหรืออาจใจจะต่อฤทธิ์ |
กับกูผู้ทรงอานุภาพ | ปราบทั่วชั้นฟ้าดุสิต |
ผลมึงจะถึงสิ้นชีวิต | ด้วยความทุจริตอหังการ์ |
ว่าแล้วกวัดแกว่งคันศร | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
เผ่นโผนโจนจ้วงทะลวงมา | โถมจับมหิงสาด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ มือหนึ่งง้างเขาเท้ายัน | ติดพันมิให้ห่างได้ |
หวดรันด้วยคันศรชัย | กระหน่ำไปไม่งดลดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานซึ่งเป็นกาสร |
โก่งหางวางวิ่งเข้าราญรอน | ตะลุมบอนสัประยุทธ์ขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตักตีขยี้ด้วยแพนเขา | เหวี่ยงเอาด้วยกำลังหาญ |
ขวิดไขว่ไล่เลี้ยวประจัญบาน | เท้าทะยานถีบอกอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์ฤทธิแรงแข็งกล้า |
ไม่รอรั้งยั้งหยุดกายา | ยักษาไล่บุกคลุกคลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ วิ่งโลดโดดขึ้นบนหลัง | ตีด้วยกำลังยักษี |
ถูกกายกาสรเป็นหลายที | อสุรีถีบซ้ำด้วยบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้เป็นมหิงสา |
ต้องธนูเจ็บปวดทั้งกายา | เสียทีเสียท่าที่ชิงชัย |
หลบหลีกขวิดชนพัลวัน | จะสังหารกุมภัณฑ์ก็ไม่ได้ |
แต่รั้งรอนิ่งนึกตรึกไป | จะเป็นกระบือไพรอยู่ดั่งนี้ |
ไม่ว่องไวในเชิงรณรงค์ | จะหนีวงไปให้ไกลยักษี |
จะคืนเป็นวานรเข้าราวี | จึ่งจะฆ่าอสุรีมรณา |
คิดแล้วไม่เข้าโรมรัน | ติดพันสัประยุทธ์ยักษา |
หันกลับออกจากอสุรา | แล้ววิ่งเข้าป่าอ้อมไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ มาถึงซึ่งเนินคีรี | อยู่ที่ริมข้างทางใหญ่ |
จึ่งกลับกลายเป็นวานรไพร | ตั้งใจคอยดูกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์ฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นมหิงส์วิ่งเข้าพนาวัน | ก็บุกบันไล่ติดตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จนสิ้นรอยเท้ากาสร | เหลือบเห็นวานรที่เงื้อมผา |
จึ่งถามไปด้วยใจโกรธา | เหวยเหวยลิงป่าพนาลัย |
เอ็งเห็นไอ้ควายสาธารณ์ | วิ่งผ่านมานี่หรือหาไม่ |
กูตามรอยมาก็หายไป | สงสัยเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบอสุรี | ท่านนี้มีนามกรใด |
เชื้อวงศ์พงศ์ใครนะขุนมาร | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
จึ่งมาถามถึงมหิงส์ไพร | จะประสงค์สิ่งใดอสุรา |
ตัวท่านจงแจ้งแก่เราก่อน | วานรจึ่งจะบอกยักษา |
หาไม่ตัวเราผู้ปรีชา | ก็ไม่แจ้งกิจจาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์ยักษี |
ได้ฟังลิงป่าพนาลี | พาทีองอาจอหังการ |
จึ่งคิดดำริตริไป | ไอ้นี่หยาบช้ากล้าหาญ |
แม้นกูมิบอกวงศ์วาน | จะเสียการที่ติดตามมา |
คิดแล้วจึ่งร้องตอบไป | เหวยไอ้ลิงไพรใจกล้า |
ตัวเราเป็นบุตรเจ้าลงกา | มีนามชื่อว่าบรรลัยกัลป์ |
มาแต่บาดาลนัคเรศ | เรืองเดชฤทธิแรงแข็งขัน |
ตามมนุษย์พี่น้องมาหลายวัน | หวังจะฆ่ามันให้บรรลัย |
กูพบกาสรทรลักษณ์ | ตกปลักอยู่ในบึงใหญ่ |
ตัวเราลงช่วยชีวิตไว้ | หาไม่จะม้วยมรณา |
ครั้นถามถึงสองมนุษย์ | กลับชวนสัประยุทธ์เข่นฆ่า |
พ่ายแพ้ฤทธีก็หนีมา | เราตามหาจะล้างชีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังวาจากุมภัณฑ์ | ตบมือเย้ยหยันแล้วตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนอสุรี | เอ็งว่าฉะนี้หาชอบไม่ |
อันซึ่งถ้อยคำมหิงส์ไพร | บอกให้ด้วยความเมตตา |
โดยใจซื่อสัตย์สุจริต | หวังช่วยชีวิตยักษา |
ไฉนจึ่งมาโกรธา | กูฟังก็น่าประหลาดนัก |
อันพระปิ่นภพทั้งสององค์ | ฤทธิรงค์ปราบได้ตั้งไตรจักร |
ตัวเอ็งนี้หรือไอ้ขุนยักษ์ | จะฮึกฮักมาตามราวี |
สำมะหาพ่อมึงยังหัวขาด | ทั้งสิบเศียรตกกลาดด้วยศรศรี |
บรรดาโคตรวงศ์แลโยธี | เหล่ากระบี่ฆ่าตายก่ายกัน |
ตัวกูเป็นไพร่ล้อมวง | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ล้าหลังเดินไปไม่ทัน | กุมภัณฑ์จงมาชิงชัย |
แม้นว่าตัวเอ็งชนะกู | จึ่งรีบไปต่อสู้ด้วยทัพใหญ่ |
ว่าแล้วก็โจนลงไป | ยืนอยู่ให้ใกล้อสุรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรลัยกัลป์สิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังลิงน้อยพาที | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้เดียรัจฉาน | อหังการหยาบช้าโมหันธ์ |
ตัวมึงสักเท่าแมลงวัน | กูจะหั่นมิให้แค้นคอกา |
ว่าพลางเข่นเขี้ยวกระทืบบาท | ผาดแผลงสิงหนาทดั่งฟ้าผ่า |
กวัดแกว่งแสงศรอันศักดา | เข้าไล่เข่นฆ่าวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
วิ่งผลุนหมุนเข้าราญรอน | ประจัญกรต่อตีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โถมถีบด้วยเท้าเบื้องขวา | ถูกอกอสุราเหหัน |
แล้วกลับเป็นหนุมานชาญฉกรรจ์ | แกว่งตรียืนยันแล้วร้องไป |
เหวยเหวยดูก่อนไอ้ขุนยักษ์ | มึงรู้จักกูหรือหาไม่ |
ชื่อว่าวายุบุตรวุฒิไกร | เป็นทหารคู่ใจพระจักรี |
ดั่งองค์พระกาลชาญฤทธิ์ | จะมาเอาชีวิตยักษี |
อันตัวของมึงในวันนี้ | น่าที่ไม่รอดชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ