- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ชาญสมร |
เห็นพระรามยกพลวานร | ออกมาต่อกรราวี |
ให้หวาดหวั่นครั่นคร้ามฤทัยนัก | ดั่งพยัคฆ์เห็นพญาราชสีห์ |
ขนพองสยองเกล้าเมาลี | เพียงจะตกจากที่บัลลังก์รถ |
แข็งใจตรัสสั่งเสนา | ให้โบกธงสัญญาเป็นกำหนด |
เข้าหักวานรอย่าละลด | ฆ่าเสียให้หมดทั้งทัพชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | ก็ขับพลไกรเข้าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
มิได้เป็นใจจะต่อตี | ด้วยกลัวฤทธีวานร |
ครั้นนายขับต้อนก็จำไป | บ้างหนีเข้าไพรเร้นซ่อน |
ลางมารก็วิ่งซอกซอน | เข้านอนในโครงช้างที่ตายนั้น |
ลางหมู่แกล้งทำฤทธิรุทร | กวัดแกว่งอาวุธตัวสั่น |
วิ่งผลุนดั่งจะหมุนเข้าโรมรัน | ขบฟันให้แล้วก็หนีไป |
บ้างนิมิตเป็นนกวิหคหงส์ | บินลี้หนีตรงเข้าดงใหญ่ |
บ้างทำสีหนาทอยู่แต่ไกล | ครั้นใกล้กระบี่ก็หนีฤทธิ์ |
แตกกระจัดพลัดพรายทุกแห่งหน | ไพร่พลไม่คุมกันติด |
วิ่งพล่านไปทั่วทุกทิศ | ดั่งชีวิตจะออกจากกาย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรทั้งหลาย |
เห็นยักษีแตกหนีวุ่นวาย | ไพร่นายไม่เป็นสมประดี |
บรรดาวานรทวยหาญ | โห่สำทับสะท้านสะเทือนมี่ |
ต่างตนต่างออกราวี | ไล่พิฆาตฟาดตีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หัวขาดตีนขาดตัวขาด | เกลื่อนกลาดสิ้นชีพอาสัญ |
ก่ายกองย่อยยับทับกัน | ดั่งสาลวันต้องลมบรรลัยกาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรใจหาญ |
เห็นวานรเข้าไล่รอนราญ | พลมารตายแตกทั้งทัพชัย |
เหลือแต่โลทันสารถี | ด้วยขับรถมณีไม่หนีได้ |
ยังอยู่สองคนก็จนใจ | ให้ขับรถเข้าไล่วานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรชาญสมร |
ผู้เดียวไม่ละลดกร | ราญรอนหักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธากระบี่ศรี |
แตกย่นไม่ทนฤทธี | จนที่หน้ารถพระจักรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
มุ่งหมายพระลักษมณ์พระรามา | อสุราจับศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำแดงนิมิตผิดประหลาด | จะมีเสียงสีหนาทก็หาไม่ |
กลับเป็นข้าวตอกดอกไม้ | ตกในหน้ารถพระภูมี |
พญายักษ์ครั้นเห็นวิปริต | ตะลึงคิดสยองเกศี |
โลมาชูชันทั้งอินทรีย์ | ยิ่งทวีทุกข์เทวษเป็นพ้นนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงจักร |
แลเห็นทศเศียรขุนยักษ์ | ผิวพักตร์ลักขณาวิลาวัณย์ |
งามรูปงามโฉมงามทรง | ยิ่งองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
รัศมีศรีเลื่อมพรายพรรณ | ดั่งพระจันทร์หมดเมฆไม่ราคี |
อันสถิตในทิพย์พิมานมาศ | ลีลาศตามจักรราศี |
พระองค์ผู้ทรงฤทธี | พิศรูปอสุรีไม่วางตา |
แต่ชักพรหมาสตร์ศรชัย | พาดสายขึ้นไว้แล้วเงื้อง่า |
ให้พิศวงงวยงงวิญญาณ์ | ผ่านฟ้าไม่แผลงไปราญรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
กับสิบแปดมงกุฎวานร | พวกพลนิกรโยธี |
เห็นรูปทศเศียรกุมภัณฑ์ | งามลํ้าเทวัญทุกราศี |
ผิวพรรณผุดผ่องทั้งอินทรีย์ | หมู่กระบี่หลงใหลไปทุกตน |
บ้างชมว่างามประหลาดตา | แต่เราเห็นมาทุกแห่งหน |
รูปใครในพื้นสุธาดล | จะงามพ้นรูปนี้ไม่มีเลย |
หรือองค์บรมพรหเมศ | พระอิศวรแปลงเพศนะอกเอ๋ย |
เป็นที่สามโลกชมเชย | ไม่เคยพบเห็นแต่ก่อนมา |
หรือจะเป็นพระจันทร์พระอาทิตย์ | หากแกล้งนิมิตกระมังหนา |
หรือชั้นดุสิตเทวา | ลงมายังพื้นปถพี |
ต่างตนพินิจพิศวง | ที่ในรูปทรงยักษี |
มิได้ระวังอินทรีย์ | กระบี่งวยงงหลงไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นองค์พระตรีภูวไนย | หลงไปด้วยรูปทศกัณฐ์ |
แต่ชักแสงศรขึ้นพาดสาย | น้าวหน่วงมุ่งหมายแล้วไม่ลั่น |
ให้แค้นใจดั่งใครมาฟาดฟัน | บังคมคัลแล้วทูลกิจจา |
เหตุไฉนพระองค์ทรงฤทธิ์ | มาหลงพิศดูรูปยักษา |
ผิดกับที่ทรงพระจินดา | หมายมาจะล้างไพรี |
อันคำบูราณกล่าวไว้ | อย่าให้หลงกลทั้งสี่ |
คือรูปรสวาจาพาที | ดุริยางค์ดนตรีนี้ห้ามนัก |
พระองค์ก็ทรงปรีชาชาญ | อันโอฬารเลิศลํ้าไตรจักร |
หรือมางงหลงด้วยรูปยักษ์ | แต่ตั้งพักตร์พิศเพ่งไม่วางตา |
อันตัวข้าบาทนี้เห็นผิด | จะเหมือนครั้งอินทรชิตยักษา |
พากันหลงรูปมารยา | จนเสียกลอสุราสาธารณ์ |
พระองค์จงแผลงพรหมาสตร์ | ไปพิฆาตให้ม้วยสังขาร |
ก็จะเสร็จความศึกที่ปราบมาร | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ฟังลูกพระพายพาที | ภูมีก็ได้สติมา |
จึ่งว่าดูก่อนหนุมาน | ท่านว่านี้ชอบหนักหนา |
แต่เราสังหารอสุรา | ตายเต็มพระสุธาก่ายกอง |
ถึงรูปงามทั้งสามธาตรี | ก็ไม่เปรียบรูปนี้เสมอสอง |
งามจริงยิ่งกว่ารูปทอง | นวลละอองผ่องแผ้วอำไพ |
แต่เราชายเห็นยังเช่นนี้ | ถ้าสตรีเห็นจะเป็นไฉน |
น่าแสนพิศวาสจะขาดใจ | หลงไปด้วยรูปกุมภัณฑ์ |
ตรัสแล้วพระตรีภูวนาถ | น้าวศรพรหมาสตร์รังสรรค์ |
อันมีฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ทรงธรรม์แผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าร้อง | กึกก้องทั่วทศทิศา |
ต้องอกทศกัณฐ์อสุรา | ตกจากรัถาอลงกรณ์ |
อันงาช้างซึ่งปักอยู่นั้น | หักสะบั้นกระเด็นเป็นสองท่อน |
กลับเป็นทศพักตร์ยี่สิบกร | ล้มนอนอยู่กับสุธาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ | ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย |
ความแค้นเป็นแสนสุดนัก | คืนคิดถึงรักก็ใจหาย |
ค่อยผ่อนจิตระงับลำดับกาย | แล้วบรรยายร่ำว่าพาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย | ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่ |
ตัวเราก็จะม้วยชีวี | ในเวลานี้ด้วยศรพิษ |
ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง | ร่วมท้องสืบสายโลหิต |
จะได้ผ่านลงกาสมคิด | เป็นอิสรภาพแก่หมู่มาร |
ปากสามขอฝากมณโฑด้วย | ช่วยบำรุงให้เป็นแก่นสาร |
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล | ฝูงสนมบริวารทั้งนั้น |
ปากสี่ว่าเจ้าจะครองยศ | ปรากฏเป็นจอมไอศวรรย์ |
จงเอ็นดูสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | โดยธรรม์สุจริตประเวณี |
ปากห้าจงดำรงทศพิธ | อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่ |
ตัดโลภโอบอ้อมอารี | แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร |
ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ | ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน |
อย่าให้เป็นเวราอาวรณ์ | แก่เราผู้จะจรไปเมืองฟ้า |
ปากเจ็ดขอฝากนัคเรศ | อันทรงวงศ์พรหเมศนาถา |
สืบมาแต่องค์พระอัยกา | เมตตาอย่าให้จุลาจล |
ปากแปดว่าเราเลี้ยงท่าน | ก็ประมาณหมายใจให้เป็นผล |
ตัวเราชั่วเองจึ่งเสียชนม์ | แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ |
ปากเก้าว่าพี่จะลาตาย | น้องชายเมตตาช่วยปลงศพ |
อย่าให้ค้างราตรีในที่รบ | ไตรภพจะหมิ่นนินทา |
สิบปากสิ้นฝากสิ้นสั่ง | สิ้นกำลังสิ้นคิดยักษา |
พิษศรร้อนรุมทั้งกายา | อสุรากลิ้งเกลือกเสือกไป ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ครั้นทศกัณฐ์ตัองศรชัย | ล้มในพ่างพื้นพระสุธา |
จึ่งขยี้ดวงจิตขุนมาร | แหลกลาญละเอียดด้วยหัตถา |
ดับสูญสุดสิ้นวิญญาณ์ | ยักษาก็ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงหมู่เทวาทุกราศี |
ทั้งบรมพรหเมศอันฤทธี | องค์ท้าวตรีเนตรเวสสุวัณ |
วิรุฬหกผู้ทรงสิทธิศักดิ์ | วิรูปักษ์ธตรฐรังสรรค์ |
นักสิทธ์วิทยาคนธรรพ์ | นางอัปสรสวรรค์ทุกชั้นฟ้า |
เห็นพระนารายณ์อวตาร | สังหารทศพักตร์ยักษา |
อันเป็นเสี้ยนเบียดเบียนโลกา | สุดสิ้นชีวาด้วยฤทธี |
ต่างองค์ชื่นชมโสมนัส | เยี่ยมแกลตบหัตถ์อึงมี่ |
บ้างโปรยปรายทิพมาศสุมาลี | อันมีกลิ่นฟุ้งขจายจร |
บ้างขับขานบรรสานพิณพาทย์ | ทุกอากาศวิมานสิงขร |
แซ่ซ้องอำนวยอวยพร | องค์พระสี่กรทรงครุฑ |
อื้ออึงคะนึงกึกก้อง | สะเทือนท้องสุธามหาสมุทร |
ตลอดถึงกาลาคนิรุทร | อุตลุดไปทั้งจักรวาล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นเสร็จซึ่งปราบขุนมาร | วายปราณด้วยศรอันศักดา |
เทเวศนางฟ้าทั้งหลาย | โปรยปรายดวงทิพย์บุปผา |
อวยชัยให้พรเป็นโกลา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าดินดอน |
พระเก็บชมดมดวงผกากาญจน์ | หอมหวานตลบด้วยเกสร |
แสนสำราญวิญญาณ์สถาวร | ภูธรจึ่งถามพิเภกไป |
อันองค์เจ้าลงกานี้ | เดิมทีมันคิดเป็นไฉน |
จึ่งทรงโฉมเหมือนท้าวหัสนัยน์ | แล้วกลายไปเป็นทศพักตร์ |
งาช้างซึ่งปักในอุรา | แต่ครั้งใดมาไม่ประจักษ์ |
ต่อศรไปล้างขุนยักษ์ | จึ่งหลุดหักออกมาในวันนี้ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรสนองพระวาจา |
อันทศพักตร์แกล้งแปลงรูปทรง | เหมือนองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
ด้วยรู้ว่าตัวจะมรณา | จะให้ปรากฏเกียรติไว้ |
อันรูปกลับกลายไปดั่งก่อน | ด้วยต้องศรไม่สมประดีได้ |
สิ้นซึ่งกำลังฤทธิไกร | ก็คืนไปคงเพศอสุรี |
งาช้างที่ปักอกนั้นอยู่ | แต่ครั้งอสุรยักษี |
ชิงบุษบกแก้วมณี | ของพี่ผู้ชื่อกุเปรัน |
พระเชษฐาหนีน้องไปพึ่งบาท | พระอิศโรธิราชรังสรรค์ |
ทศเศียรรุกไล่จะฆ่าฟัน | จนถึงทรงธรรม์เจ้าโลกา |
พอเสด็จบัลลังก์คชสาร | ทรงอ่านพระเวทคาถา |
พระองค์กริ้วโกรธโกรธา | ถอดเอางาช้างขว้างไป |
ต้องอกองค์ท้าวยี่สิบกร | ชักถอนจะหลุดก็หาไม่ |
แล้วสาปให้ปักตรึงไว้ | ไปจนวันตายของขุนยักษ์ |
อสุรีก็หนีมาเมืองมาร | คิดอ่านทำกระไรไม่หลุดหัก |
ให้พระเวสสุกรรม์รังรักษ์ | เอาเลื่อยชักเสมอเนื้อไว้ |
แล้วจึ่งทำเครื่องประดับปิด | มิดชิดใครจะเห็นก็หาไม่ |
วันนี้สุดสิ้นชีวาลัย | งาจึ่งกระเด็นไปจากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ทูลความถ้วนถี่แต่ต้นมา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่โหราจารย์ยักษา |
อันทศพักตร์อสุรา | เพื่อนนี้หยาบช้าเป็นพ้นนัก |
เบียดเบียนมนุษย์เทวัญ | นักสิทธ์คนธรรพ์ทั้งไตรจักร |
แต่จนพี่ชายของขุนยักษ์ | ยังทำการหาญหักถึงเพียงนี้ |
ผิดเพศกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ผิดพงศ์พรหเมศเรืองศรี |
เป็นเสี้ยนเสียดพื้นปถพี | ควรที่ชีวิตวายปราณ |
อันซึ่งซากศพยักษา | ตามแต่อสุราจะคิดอ่าน |
สั่งแล้วกลับรถสุรกานต์ | ดูดั่งมัฆวานเทวัญ |
มีชัยแก่หมู่อสุรภพ | ให้เลิกพวกพลรบแข็งขัน |
คืนมาวิมานเวชยันต์ | โห่สนั่นครั่นครื้นเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นองค์สมเด็จพระพี่ยา | สุดสิ้นชีวาวายปราณ |
กลิ้งอยู่กับพื้นแผ่นดิน | อสุรินทร์ให้คิดสงสาร |
ชลเนตรไหลหลั่งดั่งท่อธาร | ขุนมารกอดบาทเข้ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าพระจอมมงกุฎภพ | พระเกียรติลือลบทั้งสรวงสวรรค์ |
เดชาปรากฏดั่งเพลิงกัลป์ | เทวัญขามเกรงพระภูมี |
จะนับในสุริย์วงศ์พรหเมศ | ซึ่งร่วมเรียงบิตุเรศเรืองศรี |
แต่บรรดาที่ทรงฤทธี | ก็ไม่เหมือนพระพี่ทศพักตร์ |
รอบรู้เสร็จศิลปศาสตร์ | สำหรับดำรงราชอาณาจักร |
ควรหรือมาตายอนาถนัก | ดั่งชายทรลักษณ์พาลา |
เหตุด้วยพระองค์มาหลงคำ | เชื่อฟังนางสำมนักขา |
จึ่งเสียองค์เสียไอศวรรยา | เสียสุริย์วงศาพรหมาน |
เสียทั้งลงกาอาณาจักร | เสียพวกพลยักษ์ทวยหาญ |
เพราะด้วยมานะอหังการ | ต่อพระอวตารฤทธิไกร |
ฝันร้ายน้องทายทูลห้าม | จะฟังความบ้างก็หาไม่ |
กริ้วโกรธขับเสียจากเวียงชัย | จึ่งได้ไกลบาทนิราศมา |
พึ่งอยู่ใต้เบื้องบทรัช | องค์พระจักรรัตน์นาถา |
ไม่ผูกเวรเหมือนผูกเวรา | แกล้งฆ่าเชษฐาให้จำตาย |
เป็นน่าอัปยศอดสู | แก่หมู่ไตรโลกทั้งหลาย |
เสียแรงประเสริฐเลิศชาย | มาพากันวอดวายทั้งพงศ์พันธุ์ |
นิจจาเอ๋ยตั้งแต่จะแลลับ | ดั่งเดือนดับสิ้นแสงรังสรรค์ |
ร่ำพลางโศกาจาบัลย์ | กุมภัณฑ์เพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมโหทรยักษี |
กับสารัณทูตอสุรี | แอบอยู่ยังที่ชายไพร |
แลเห็นพิเภกเข้ากอดบาท | พระเชษฐาธิราชร่ำไห้ |
ก็พาพลที่เหลือบรรลัย | เข้าไปยังองค์อสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
ต่างพิศดูศพเจ้าลงกา | อสุราครวญคร่ำโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ครั้นได้อารมณ์สมประดี | เห็นสองอสุรีมาร่ำไร |
จึ่งสั่งมโหทรเสนา | กับสารัณผู้มีอัชฌาสัย |
ตัวท่านจงรีบเข้าไป | ยังในลงกาพระนคร |
บอกแก่มณโฑเทวี | กับนางอัคคีดวงสมร |
ว่าองค์ท้าวยี่สิบกร | ภูธรสุดสิ้นชีวัน |
ให้นางมารับพระศพ | พระจอมภพธิราชรังสรรค์ |
เข้าไปพระนิเวศน์วังจันทน์ | ให้ทันแต่ในเวลานี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรสารัณยักษี |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | ก็รีบเข้าบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมบาท | ทั้งสองอัครราชเสน่หา |
ทูลว่าสมเด็จภัสดา | ผ่านฟ้าสวรรคาลัย |
พญาพิเภกยักษี | มาโศกีครวญคร่ำร่ำไห้ |
ใช้ข้ามาทูลอรไท | ออกไปรับศพพญามาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล | ฟังสองขุนมารรำพัน |
ว่าองค์สมเด็จพระภัสดา | สุดสิ้นชีวาอาสัญ |
ตกใจดั่งใครมาฟาดฟัน | บั่นเอาเศียรเกล้าอรไท |
หน้าซีดผาดเผือดสลดลง | ข้อนทรวงเข้าทรงกันแสงไห้ |
ทอดองค์แน่นิ่งสลบไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลสาวศรี |
ทั้งเถ้าแก่ชะแม่ขันที | เห็นสองเทวีวิไลวรรณ |
แสนเทวษแสนโศกแน่ไป | ต่างตนตกใจตัวสั่น |
บ้างเข้าช่วยกันนวดฟั้น | คั้นหัตถ์บาทกัลยา |
ลางนางได้พัดมาพัดวี | เอายาดมรอที่นาสา |
บ้างเอาเครื่องพระสุคนธ์มา | ชโลมทาสององค์นงคราญ |
บ้างปลอบปลุกด้วยคำอันสุนทร | สำเนียงว่าวอนอ่อนหวาน |
บรรดาฝูงสนมบริวาร | อลหม่านวุ่นวายเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองอัคเรศมเหสี |
ต้องรสสุคนธวารี | แว่วเสียงพาทีอนงค์ใน |
ค่อยระบายซึ่งลมนาสา | กัลยาฟื้นองค์ขึ้นมาได้ |
ลุกจากห้องแก้วอำไพ | เสด็จไปยังเกยอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ จึ่งขึ้นทรงสีพิกากาญจน์ | หมู่มารแห่หน้าไปก่อน |
ฝ่ายฝูงอนงค์นิกร | บทจรตามเสด็จเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสนามรณรงค์ | สององค์อัครราชมเหสี |
ลงจากวอมาศรูจี | เทวีก็พากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ฝ่าศพอสุรโยธา | เกลื่อนกลาดดาษดาไม่นับได้ |
เห็นพระภัสดาฤทธิไกร | ล้มอยู่ในพื้นสุธาธาร |
ต้องศรตลอดทรวงดวงจิต | สุดสิ้นชีวิตสังขาร |
ก็เข้าไปทั้งสองนงคราญ | ตรงเบื้องบทมาลย์พระสามี |
มณโฑกอดข้อพระบาทขวา | ขององค์พญายักษี |
โฉมนวลนางกาลอัคคี | เทวีกอดเอาพระบาทซ้าย |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มไปด้วยความโศก | แสนวิโยคแสนเทวษใจหาย |
ดั่งหนึ่งชีวิตจะวอดวาย | โฉมฉายครวญคร่ำร่ำไร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ นางมณโฑว่าโอ้พระทรงฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศไม่หาได้ |
ควรหรือมาสวรรคาลัย | หนีไปฟากฟ้าดุษฎี |
ทิ้งข้าน้อยไว้ให้ลำบาก | จำจากใต้เบื้องบทศรี |
อยู่หลังตั้งแต่จะโศกี | แสนทวีด้วยเทวษทุกเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นางอัคคีว่าโอ้พระจอมภพ | พระเดชลือลบทุกทิศา |
ทั้งหกฉ้อชั้นเทวา | ก็เกรงกลัวศักดาทั้งแดนดิน |
พระชันษาได้สามโกฏิปี | ไพรีมิได้มาดูหมิ่น |
แต่เขาไกรลาสสีขริน | ภูมินทร์ยังยกสะดวกดาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มณโฑว่าพระเดชถึงเพียงนี้ | หรือมาแพ้ไพรีง่ายง่าย |
จะนับในสุริย์วงศ์อันเพริศพราย | เลิศชายแต่องค์พระภัสดา |
กับพระพี่ทัพนาสูร | ธาดายอดประยูรยักษา |
กุมภกรรณอินทรชิตลูกยา | เป็นห้าประเสริฐกว่าแดนไตร |
เอาพระสมุทรมาเป็นคู | กระนี้หรือศัตรูยังมาได้ |
เคี่ยวฆ่าพระวงศ์บรรลัย | อนาถใจเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ นางอัคคีว่าเพราะพระหลงคำ | นางสำมนักขาบัดสี |
ให้เสียยุติธรรม์ประเวณี | จึ่งเกิดกุลีทั้งลงกา |
มนุษย์มีมือสองมือ | ถือแต่ธนูศรกล้า |
ควรผลาญพระองค์มหึมา | มีพระหัตถ์ซ้ายขวายี่สิบกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มณโฑว่าเมียได้รำพัน | ทูลห้ามทรงธรรม์แต่ก่อน |
ไม่ฟังคำข้าที่ว่าวอน | ภูธรจึ่งสวรรคาลัย |
โอ้ว่าแต่นี้จะแลลับ | ดั่งเดือนดับล่วงเลี้ยวเหลี่ยมไศล |
ร่ำพลางกลิ้งเกลือกเสือกไป | อรไทเพียงสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลซ้ายขวา |
ต่างตนตีอกเข้าโศกา | กัลยาครวญคร่ำรำพัน |
โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมเอ๋ย | ไม่เห็นเลยว่าจะม้วยอาสัญ |
ทรงเดชดั่งดวงพระสุริยัน | ไตรภพทั้งนั้นก็เกรงฤทธิ์ |
เลี้ยงข้าพระบาททั้งนี้มา | ด้วยพระทัยเมตตาสุจริต |
ได้ความสุขร่มเย็นเป็นพ้นคิด | ดั่งองค์บิตุเรศมารดร |
มาตรแม้นผิดพลั้งสิ่งใด | ภูวไนยมีแต่จะสั่งสอน |
พระคุณกว้างลึกกว่าสาคร | ไม่มีสิ่งร้อนราคี |
ควรหรือทิ้งข้าบาทไว้ | เสด็จไปฟากฟ้าราศี |
ร่ำพลางกลิ้งเกลือกโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | เสนีโยธียักษา |
ชายหญิงซึ่งตามออกมา | ก็โศการ่ำไห้ทุกตน |
บ้างเที่ยวไปในสนามรบ | หาศพญาติมิตรสับสน |
ชลนัยน์อาบพักตร์ทุกคน | ทนทุกข์ทนเทวษแสนทวี |
บ้างร่ำถึงองค์พญายักษ์ | บ้างโศการักน้องรักพี่ |
รักบุตรนัดดาสามี | ญาติวงศ์พงศ์พีที่บรรลัย |
เสียงแซ่อื้ออึงกุลาหล | จะมีดีสักตนก็หาไม่ |
เพียงจะพินาศขาดใจ | พลไกรไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นสองอัครราชเทวี | กับฝูงนารีกำนัล |
แสนทุกข์แสนเทวษโศกา | ดั่งหนึ่งชีวาจะอาสัญ |
ให้สังเวชพระทัยกุมภัณฑ์ | จึ่งมีบัญชาปลอบไป |
ดูก่อนสององค์นงลักษณ์ | ที่จะเศร้าโศกนักหาควรไม่ |
อันเกิดมาในภพไตร | ก็ย่อมบรรลัยทุกตัวตน |
มิใช่แต่องค์เจ้าลงกา | อันศักดาปราบได้ทุกแห่งหน |
ถึงพระอิศวรฤทธิรณ | ก็ไปไม่พ้นความตาย |
จนท้าวมหาพรหมอุดมเดช | เป็นบิตุเรศโลกทั้งหลาย |
ครั้นถึงกำหนดก็อันตราย | ทำลายชีวิตเหมือนกัน |
ทั้งแผ่นปถพีสี่สมุทร | พระสุเมรุสูงสุดสรวงสวรรค์ |
ขุนเขาจักรวาลสัตภัณฑ์ | ครั้นบรรลัยกัลป์มีมา |
ก็ไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ | ละเอียดไปทั่วทุกทิศา |
เป็นวิสัยไตรโลกธรรมดา | เร่งคิดอนิจจาจงนัก |
อย่าทุกข์วิโยคโศกศัลย์ | เอาปัญญานั้นเข้ามาหัก |
จะได้เชิญศพพญายักษ์ | นงลักษณ์จงฟังเราพาที ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองอัคราชมเหสี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | เทวีค่อยคลายโศกา |
จึ่งว่าอันการพระศพ | พระจอมภพบรมนาถา |
สุดแต่ตัวท่านอนุชา | ผู้จะผ่านลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังสองอัครเทวี | จึ่งสั่งอสุรีมโหทร |
จงรีบไปจัดพิชัยรถ | กับโกศแก้วมรกตประภัสสร |
จะเชิญศพท้าวยี่สิบกร | เข้าไปพระนครลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนียักษา |
รับสั่งสมเด็จพระอนุชา | ถวายบังคมลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งให้จัดการ | ทั่วทุกพนักงานน้อยใหญ่ |
เชิญทั้งโกศแก้วแววไว | ขึ้นยังพิชัยราชรถ |
ครบสิ่งเครื่องสูงสังข์แตร | โยธาเกณฑ์แห่พร้อมหมด |
ตั้งกระบวนตรวจกันเป็นหลั่นลด | ก็รีบบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามรบ | ใกล้ศพพญายักษา |
จึ่งให้หยุดรถแก้วแววฟ้า | คอยฟังบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งพญาพิเภกยักษี |
ให้เชิญศพเชษฐาธิบดี | ใส่โกศมณีอลงกรณ์ |
วางเหนือพิชัยราชรถ | อลงกตจำรัสประภัสสร |
ประดับด้วยเครื่องสูงจามร | พลากรแห่แหนแน่นนันต์ |
เหล่าประโคมก็ประโคมฆ้องกลอง | แตรสังข์กึกก้องเสียงสนั่น |
ฝูงสนมกรมในทั้งนั้น | โศกศัลย์ตามศพเข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | แล้วเชิญศพท้าวยักษา |
สู่พระยานุมาศรัตนา | ขึ้นมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ตั้งเหนือแท่นสุวรรณรัตน์ | ประดับด้วยฉัตรแก้วจำรัสศรี |
ล้อมรอบพระโกศอสุรี | ในที่ไพชยนต์ชัชวาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อำมาตย์ทวยหาญ |
ปโรหิตแพทยาพฤฒาจารย์ | ข้าราชการทั้งนั้น |
ต่างต่างหมอบเฝ้าบาทบงสุ์ | พิเภกสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
อยู่ที่ท้องพระโรงคัล | แน่นนันต์เกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเสนามโหทร |
จงเตรียมซึ่งบุษบกแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
จะเชิญองค์สีดาบังอร | บทจรไปเฝ้าพระจักรี |
อันนางมณโฑนงลักษณ์ | นางกาลอัคคีโฉมศรี |
ซึ่งเป็นอัครราชเทวี | องค์อสุรีเจ้าลงกา |
นางจันทวดีวิไลวรรณ | เมียกุมภกรรณยักษา |
ทั้งนางสุวรรณกันยุมา | อันเป็นภรรยาอินทรชิต |
ให้ตามเสด็จนงคราญ | ไปเฝ้าบทมาลย์พระจักรกฤษณ์ |
ยังสุวรรณพลับพลาชวลิต | เร่งคิดจัดสรรกันจงดี |
แล้วเกณฑ์อสูรหมู่ยักษ์ | แห่เสด็จองค์อัครมเหสี |
ไปเฝ้าสมเด็จพระจักรี | ยังที่สุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยว่องไว | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดพลเกณฑ์แห่พระประเทียบ | รายเรียบโดยซ้ายฝ่ายขวา |
เหล่าหนึ่งใส่เสื้อสีฟ้า | นุ่งผ้าสมปักเชิงชาย |
เหล่าหนึ่งใส่เสื้อเครือกระหนก | นุ่งสมปักยกเฉิดฉาย |
เหล่าหนึ่งเสื้อริ้วทองพราย | นุ่งสมปักลายพื้นแดง |
เตรียมทั้งบุษบกมณี | ผูกม่านกำมะหยี่เครือแย่ง |
เครือช่อประดับเพชรลูกแตง | แต่งไว้เสร็จสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แล้วสั่งท้าวนางเข้าไป | ยังในนิเวศน์ราชฐาน |
ให้ทูลทั้งสี่เยาวมาลย์ | ตามบัญชาการอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายว่าท้าวนางทั้งสี่ |
ได้แจ้งแห่งคำเสนี | ก็รีบจรลีเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงบังคมก้มเกศ | ทูลสี่อัคเรศเสน่หา |
บัดนี้พิเภกอสุรา | สั่งมาให้องค์นงคราญ |
ไปตามเสด็จบทบาท | พระอัครราชผู้ยอดสงสาร |
เฝ้าองค์พระนารายณ์อวตาร | ยังสถานมรกตคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ทั้งสี่อัครราชเทวี | แจ้งที่รับสั่งกุมภัณฑ์ |
ก็เสด็จลงจากปราสาท | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
พร้อมฝูงสนมกำนัล | พากันมายังชาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
ให้โอรสอินทรชิตทั้งสองรา | นั่งหน้าบุษบกรูจี |
งามดั่งหนึ่งทิพย์พิมานมาศ | ของท้าวเทวราชโกสีย์ |
เสร็จแล้วก็นำโยธี | ออกไปยังที่อุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดพลไกร | กับพิชัยบุษบกมุกดาหาร |
ก็นำสี่กัลยายุพาพาล | ไปเฝ้าบทมาลย์นางสีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างตนนบนิ้วบังคมบาท | พระอัครราชผู้ยอดเสน่หา |
พญาพิเภกอสุรา | จึ่งทูลกิจจานางเทวี |
ตัวข้านี้ข้าบทบงสุ์ | องค์พระนารายณ์เรืองศรี |
เป็นน้องทศกัณฐ์อสุรี | มีนามพิเภกกุมภัณฑ์ |
บัดนี้สมเด็จพระจักรา | กับพระอนุชารังสรรค์ |
ล้างหมู่อสุรอาธรรม์ | บรรลัยเกลื่อนกลาดดินดอน |
ทั้งองค์ท่านท้าวทศพักตร์ | พระยายักษ์สิ้นชีพด้วยแสงศร |
อันซึ่งสมเด็จพระสี่กร | อาวรณ์ถึงองค์นางเทวี |
ขอเชิญเสด็จพระแม่เจ้า | ไปเฝ้าพระนารายณ์เรืองศรี |
ยังพลับพลาชัยรูจี | ที่เขามรกตบรรพตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระลักษมีเสน่หา |
ได้แจ้งแห่งคำอสุรา | ว่าทศกัณฐ์บรรลัย |
มีความชื่นชมด้วยสมคิด | ดั่งถอนปืนพิษออกเสียได้ |
ซึ่งร้อนรนทนเทวษระกำใจ | ก็บันดาลหายไปทันที |
จึ่งมีเสาวนีย์อันสุนทร | ดูก่อนพิเภกยักษี |
อันตัวของเราในครั้งนี้ | ชะรอยกรรมมีแต่หลังมา |
จึ่งพลัดพรากจากเบื้องบาทบงสุ์ | องค์พระหริรักษ์นาถา |
แสนยากลำบากเวทนา | ดั่งว่าตกกลางเพลิงกาล |
มีแต่ร้อนรุมไปด้วยพิษ | เพียงชีวิตจะสิ้นสังขาร |
ทนทุกข์เทวษมาช้านาน | ประมาณถึงสิบสี่ปี |
ได้ช้ำจิตเป็นนิจไม่เว้นวัน | ด้วยถ้อยคำทศกัณฐ์ยักษี |
อันหญิงเหมือนอกข้านี้ | ยากที่ใครจะเล็งเห็นใจ |
ซึ่งจะไปเฝ้าพระหริวงศ์ | พระองค์จะคิดสงสัย |
มิรู้ที่จะทำประการใด | ให้พ้นกังขาราคี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ก้มเกล้าสนองพระเสาวนีย์ | ความนี้ก็แจ้งอยู่ด้วยกัน |
ทั่วทั้งนักสิทธ์วิชาธร | ฝูงเทพกินนรในสวรรค์ |
พระชนนีโลกวิไลวรรณ | อย่าประหวั่นเร่าร้อนฤๅทัย |
บรรดาสตรีในโลกา | จะหาเปรียบพระองค์ไม่ได้ |
อันทองธรรมชาติที่อยู่ไฟ | ถึงจะตกลงในธรณี |
ช้านานประมาณกัปกัลป์ | อย่าสำคัญว่าจะมัวหมองศรี |
ยิ่งผ่องแผ้วแววฟ้าไม่ราคี | ดั่งดวงมณีจินดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมีเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังสอดคล้องต้องวิญญาณ์ | แสนโสมนัสสาเป็นพ้นนัก |
กูจะไปประณตบทบงสุ์ | องค์พระหริวงศ์ทรงจักร |
แต่ตกมาอยู่ในเมืองยักษ์ | ลำบากยากนักมาช้านาน |
มีแต่เดือดร้อนรำคาญใจ | มิได้ชำระสระสนาน |
ระคนเหื่อเจือไคลทรมาน | ดั่งหญิงสาธารณ์อัปรีย์ |
ไม่ควรจะใกล้เบื้องบาท | พระภัสดาธิราชเรืองศรี |
จำจะชำระอินทรีย์ | ให้สิ้นราคีในกายา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
แจ้งว่านวลนางสีดา | กัลยาจะบทจรไป |
เฝ้าพระหริวงศ์ทรงยศ | ยังที่มรกตเขาใหญ่ |
บัดนี้มารดาสุราลัย | อรไทจะสนานอินทรีย์ |
จึ่งมีเทวราชบัญชา | สั่งนางรัมภาโฉมศรี |
กับนางอรุณวดี | สองกัลยาณีนงคราญ |
จงพาอัปสรสาวสวรรค์ | พร้อมกันนำเครื่องภิเษกสนาน |
กับเครื่องประดับองค์อลงการ | ไปถวายนงคราญนางสีดา |
แล้วเจ้าจงตามเสด็จจร | เป็นเพื่อนบังอรเสน่หา |
ไปเฝ้าสมเด็จพระจักรา | ยังสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองนางฟ้ามารศรี |
รับสั่งหัสนัยน์ธิบดี | แล้วจัดเครื่องมณีอลงการ |
ทั้งเครื่องมูรธาภิเษกสรง | สำหรับทรงชำระสระสนาน |
ก็พาฝูงอัปสรนงคราญ | ออกจากวิมานลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไป | นั่งใกล้อัคเรศเสน่หา |
แจ้งว่าองค์อมรินทรา | ให้ข้าเอาทิพย์อาภรณ์ |
กับเครื่องสุคนธ์ธารสนานเกศ | มาถวายอัคเรศดวงสมร |
ให้โสรจสรงแล้วทรงประดับจร | ไปเฝ้าภูธรธิบดี |
ตัวข้ากับฝูงนางสวรรค์ | จะพากันโดยเสด็จมารศรี |
เชิญองค์อัครราชเทวี | ชำระอินทรีย์ให้สำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
แจ้งว่าองค์ท้าวมัฆวาน | ประทานเครื่องทิพย์ลงมา |
กับทั้งนางเทพอัปสร | บังอรแสนโสมนัสสา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ว่าอันสมเด็จหัสนัยน์ |
ทรงพระเมตตาในครานี้ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ว่าแล้วจึ่งองค์อรไท | เสด็จไปโสรจสรงคงคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ทรงมูรธาธารสนานเกศ | อัคเรศกวดเกล้าเกศา |
ฝ่ายฝูงนางเทพธิดา | ช่วยชำระกายาให้เทวี |
บ้างถวายสุคนธ์ธารทรง | บรรจงผัดพักตร์โฉมศรี |
ภูษารายรูปกินรี | พื้นเขียวขจีเครือสุวรรณ |
สอดใส่สังวาลสะอิ้งแก้ว | แล้วทรงสร้อยสลับประดับถัน |
ทับทรวงทองกรมังกรพัน | พาหุรัดกุดั่นเพชรพราย |
สอดใส่ธำมรงค์พระทรงครุฑ | ซึ่งวายุบุตรเอามาถวาย |
มงกุฎแก้วกรรเจียกพรรณราย | งามคล้ายพระอุมาโฉมยง |
เสร็จแล้วย่างเยื้องจากอาสน์ | กรายกรลีลาศดำเนินหงส์ |
ไปขึ้นมหาบุษบกทรง | ฝูงอนงค์ทั้งนั้นก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
ปะวะหลิ่ม
๏ บุษเอยบุษบกแก้ว | รัศมีวาวแววเวหา |
ห้ายอดสูงเยี่ยมเมฆา | บันบังฉ้อฟ้าปราลี |
อันยามลิวันกันยุเวก | บุตรเอกอินทรชิตทั้งสองศรี |
ถือดอกไม้ทองรูจี | นั่งที่หน้าบุษบกนั้น |
นางเบญกายกัลยา | คู่สุวรรณกันยุมาสาวสวรรค์ |
นางตรีชฎาวิลาวัณย์ | คู่กับนางจันทวดี |
นวลนางมณโฑเยาวมาลย์ | นางกาลอัคคีโฉมศรี |
นั่งคู่เคียงข้างพระเทวี | ตามที่อันดับกันมา |
ฝ่ายฝูงนางอัปสรสวรรค์ | ชวนกันห้อมล้อมซ้ายขวา |
ถัดนั้นกำนัลกัลยา | เชิญเครื่องดาษดาเรียงราย |
พร้อมหมู่อสุรเกณฑ์แห่ | แตรสังข์อภิรุมชุมสาย |
พิเภกนำพลนิกาย | เคลื่อนคลายบุษบกรีบมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ พญาเดิน
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมารสำมนักขา |
แจ้งว่าญาติวงศ์ในลงกา | พากันไปเฝ้าพระจักรี |
ให้คิดรำคาญร่านร้อน | จะซ่อนตัวอยู่เล่าก็ใช่ที่ |
อกใจไม่เป็นสมประดี | ดั่งมีผู้ฆาตฟาดฟัน |
ความกลัวเพราะตัวเป็นต้นเหตุ | ทุกข์เทวษโศกีไม่มีขวัญ |
ด้วยโทษนั้นผิดติดพัน | เร่งประหวั่นพรั่นใจไปมา |
จำเป็นจะพลอยไปด้วยเขา | บุญเล่าจะสมปรารถนา |
เกลือกว่าพระลักษมณ์พระจักรา | จะมีความเมตตาปรานี |
คิดแล้วฉวยได้สไบบาง | เดินพลางทางเสยเกศี |
ลงจากปราสาทมณี | อสุรีก็รีบตามมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นทันท้ายพลกระบวนแห่ | เหลียวแลลนลานซ้ายขวา |
ความกลัวองค์นางสีดา | ทำตาขวางขวางรีรี |
ดูดั่งว่าคนเสียจิต | ไม่เข้าชิดฝูงนางสาวศรี |
เดินอยู่ผู้เดียวดูอัปรีย์ | มิได้พาทีด้วยใครใคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ