- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ไสยาสน์เหนืออาสน์พรายพรรณ | ที่ในสุวรรณพลับพลา |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | นั่งยามตามไฟรักษา |
จนล่วงปัจฉิมเวลา | นํ้าฟ้าตกต้องแผ่นดิน |
เสนาะเสียงเรไรจักจั่นแจ้ว | สกุณีไก่แก้วก็ตื่นสิ้น |
หมู่แมลงผึ้งภู่วู่บิน | เชยกลิ่นเสาวรสสุมามาลย์ |
ดาวเดือนเลื่อนลับอากาศ | ภาณุมาศจวนแจ้งแสงฉาน |
เสียงประโคมแตรสังข์กังสดาล | ผ่านฟ้าก็ตื่นฟื้นกาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงเครื่องเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
เสด็จจากห้องแก้วแพรวพราย | กรายกรออกหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | งามวิลาสดั่งท้าวโกสีย์ |
พอได้ยินสำเนียงอสุรี | โห่มี่อื้ออึงเป็นโกลา |
จึ่งถามน้องท้าวทศกัณฐ์ | ใครยกพลขันธ์มาหนักหนา |
จะเป็นจักรวรรดิอสุรา | หรือว่าอสุราตนใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งแล้วจับยามไป | ตามในฤกษ์ผาเพลาวัน |
เห็นแจ้งประจักษ์ดั่งทิพเนตร | ขององค์อมเรศรังสรรค์ |
จึ่งทูลน้องพระองค์ทรงสุบรรณ | อันทัพขันที่ยกมาวันนี้ |
มิใช่จักรวรรดิขุนมาร | คือท้าวไวยตาลยักษี |
เพื่อนอยู่ใต้พื้นปถพี | ผ่านบุรีกุรุราชพารา |
เป็นสหายของเจ้ามลิวัน | รักกันซื่อสัตย์หนักหนา |
ตัวมันนั้นมีศักดา | ด้วยจักรรัตนาคทาธร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรจึ่งมีบัญชาการ |
ดูก่อนพญาไวยวงศา | จงจัดโยธาทวยหาญ |
เราจะยกออกไปรอนราญ | ผลาญหมู่อริราชไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดเป็นพยุหกาตัวหาญ | ลูกพระกาลเป็นเศียรปักษา |
เกยูรมายูรเป็นสองตา | ปากบนปิงคลาวานร |
ปากล่างขุนนิลปานัน | คอนั้นมาลุนทเกสร |
ปีกขวาองคตฤทธิรอน | ปีกซ้ายวานรชมพูพาน |
เท้าซ้ายกระบี่โคมุท | เท้าขวาไวยบุตรใจหาญ |
กองหลวงเป็นตัวกากาล | หางคือหนุมานฤทธิรณ |
อันยักษาวานรทั้งหลาย | รายกันสลับเป็นเล็บขน |
ล้วนถืออาวุธทุกตน | ร่านรนลำพองคะนองฮึก |
นายไพร่ล้วนมีศักดา | แกล้วกล้าห้าวหาญทะยานศึก |
ฤทธิแรงแข็งขันพันลึก | คั่งคึกเพียบพื้นธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
จึ่งชวนพระอนุชาร่วมชีวี | จรลีมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ น้ำทิพย์โปรยปรายดั่งสายฝน | จากฝักโกมลหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | สนับเพลาแก้วก้านเชิงงอน |
ภูษาต่างสีม่วงตอง | เกี้ยวกรองเป็นรูปไกรสร |
ชายแครงเครือหงส์อลงกรณ์ | ชายไหวอรชรทับทิมพราย |
ฉลององค์ทรงประพาสพระกรน้อย | สอดสร้อยสังวาลสามสาย |
ตาบทิศทับทรวงจำหลักลาย | ทองกรมังกรกลายพาหุรัด |
ธำมรงค์เพชรเหลืองเรืองอร่าม | แวววามทั้งสิบนิ้วหัตถ์ |
ทรงมงกุฎแก้วดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสด้วยโกมิน |
ห้อยพวงสุวรรณมาลา | ต่างทรงมหาธนูศิลป์ |
งามดั่งหยาดฟ้าลงมาดิน | ลินลาไปขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | สามงอนสูงตระหง่านงามระหง |
กำรายแก้วรอบประกอบกง | ดุมวงดูวามอร่ามพลอย |
บัวลวดบัลลังก์กระจังรัตน์ | บุษบกบันสะบัดใบโพธิ์ห้อย |
สี่มุขทรงแม้นวิมานลอย | แสงยอดสุกย้อยชมพูนุท |
เทียมสินธพสี่มีกำลัง | สีแดงแสงดั่งดอกกระมุท |
เผ่นโจนโผนจรด้วยฤทธิรุทร | พระสัตรุดนั่งประณตประนมกร |
ขุนรถขับเร็วดั่งลมพัด | ธงชายแถวฉัตรประภัสสร |
แสงระยับสายระย้าจามร | ฆ้องซ้อนขานเสียงสำเนียงกลอง |
กงเลื่อนก้องลั่นสนั่นภพ | ทหารรบโห่เร้ากึกก้อง |
รีบพวกเร่งพลตามหมวดกอง | โลดโผนลำพองคะนองมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวไวยตาลยักษา |
ยืนรถอยู่กลางโยธา | อสุราเหลือบแลแปรไป |
เห็นทัพกระบินทร์วานรินทร์ราช | ยกมาเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
สองมนุษย์นั้นทรงรถชัย | มาในท่ามกลางโยธี |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | เขจรลงมาแต่ราศี |
จึ่งให้ขับรถรัตน์มณี | ฝ่าพลอสุรีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แล้วร้องว่าเหวยสองมนุษย์ | เหตุใดทุจริตอิจฉา |
โลภล้นเป็นพ้นคณนา | ดั่งหนึ่งโจรป่าพนาวัน |
คบกันแต่เหล่าไอ้พวกลิง | มาปล้นชิงพิภพไอศวรรย์ |
ของท้าวจักรวรรดิกุมภัณฑ์ | ให้ผิดซึ่งธรรม์ประเวณี |
ตัวเรานี้เป็นสหาย | เพื่อนตายพญายักษี |
ทรงนามไวยตาลอสุรี | ได้ผ่านธานีบาดาล |
บรรดาอสุรภพจบทิศ | ไม่มีใครต่อฤทธิ์กำลังหาญ |
เรามาหวังว่าจะแจ้งการ | พญามารทำผิดด้วยอันใด |
ตัวจึ่งอาจองทะนงนัก | จะเกรงสุริย์วงศ์ยักษ์ก็หาไม่ |
ฤทธาอานุภาพสักเพียงใด | มิได้กลัวความมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | เหวยเหวยพญาไวยตาล |
เหตุนี้ไม่รู้หรือว่าไร | จึ่งอาจใจเจรจาฮึกหาญ |
อันท้าวจักรวรรดิขุนมาร | ทำการทุจริตให้ผิดธรรม์ |
ฟังไอ้ไพนาสุริย์วงศ์ | ยกพวกจตุรงค์ทัพขัน |
ไปจับพิเภกกุมภัณฑ์ | จำมั่นใส่ตรุตรึงไว้ |
ด้วยความอิจฉาองอาจ | จะเกรงบาทพระนารายณ์ก็หาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | จึ่งใช้เราทั้งสองอนุชา |
ยกมาทำการรณรงค์ | ล้างโคตรวงศ์ยักษา |
เราก็ได้ให้มีสารา | เข้าไปเจรจาแต่โดยดี |
เพื่อนกลับหยาบช้าท้าทาย | ยกพลนิกายยักษี |
ออกมาหักโหมโจมตี | โคตรวงศ์อสุรีจึ่งบรรลัย |
เอ็งมาเจรจาฮึกหาญ | จะรู้จักพระกาลก็หาไม่ |
เศียรเกล้าจะขาดกระเด็นไป | ด้วยศรชัยของเราผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
ได้ฟังยิ่งกริ้วโกรธา | อสุราขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
ชิชะเจ้าน้องนารายณ์ | ไม่อายเจรจาด้วยโมหันธ์ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะหั่นให้ยับทั้งอินทรีย์ |
ว่าแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารยักษี |
จงเร่งทัพขับพลเข้าโจมตี | ฆ่ามนุษย์พี่น้องให้มรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | รณภพนายกองทัพหน้า |
รับสั่งแล้วขับโยธา | ดากันเข้าตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธสับสน | ต่างตนก็ยิงธนูศร |
แทงด้วยเสโลโตมร | ฟันฟอนอุตลุดพัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรแข็งขัน |
แยกทัพออกรับกุมภัณฑ์ | ขับกันหนุนเนื่องเข้ามา |
บ้างตีบ้างถีบบ้างกัด | จับฟัดฉีกแขนฉีกขา |
พลมารตายกลาดดาษดา | วานรไล่ฆ่าวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | รณภพรณพาลทหารใหญ่ |
เห็นพลกุมภัณฑ์บรรลัย | กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกาล |
สองนายกวัดแกว่งคทาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
ขบฟันโลดโผนโจนทะยาน | เข้ารอนราญวานรเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทอสุรผัดแกล้วกล้า |
เห็นสองยักษ์ไล่วานรมา | โกรธาตาแดงดั่งแสงไฟ |
สองนายผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
แกว่งตรีแกว่งกระบองว่องไว | เข้าชิงชัยด้วยสองอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองทหารยักษี |
รับรองป้องกันประจัญตี | ด้วยสองกระบี่ผู้ชัยชาญ |
รณภพโจนจับนิลพัท | รณพาลอสุรผัดประลองหาญ |
สี่นายติดพันประจัญบาน | ต่างตนทนทานไม่ลดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองทหารพระนารายณ์รังสรรค์ |
รบชิดติดตามพัลวัน | จับกันกับสองอสุรา |
ตีแทงป้องปัดสับสน | ต่างตนต่างหาญต่างกล้า |
นิลพัทผู้เรืองฤทธา | ฆ่ารณภพบรรลัย |
อสุรผัดตีต้องรณพาล | ล้มลงไม่ทานกำลังได้ |
สองนายตัดเศียรโยนไป | ยังหน้ารถชัยอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
เสียทหารเสียพลโยธี | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ |
กระทืบบาทเร่งราชรัถา | สำเนียงดั่งฟ้าถล่มลั่น |
กวัดแกว่งกระบองตาลขบฟัน | เข้าไล่โรมรันวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองทหารน้องนารายณ์ทรงศร |
โลดโผนโจนไปด้วยฤทธิรอน | นิลพัทจับงอนรถชัย |
ฟาดลงกับพื้นพสุธา | รัถาหักยับไม่ทนได้ |
ราชสีห์สารถีก็บรรลัย | อสุรผัดเข้าไล่รอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สังหารผลาญพลยักษี | แตกตายไม่มีใครต่อต้าน |
ครั้นมาถึงหน้าพญามาร | สองทหารเยาะเย้ยไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
ล้มลงกับพื้นพสุธา | อสุราฉวยคว้าคทาวุธ |
ลุกขึ้นกวัดแกว่งสำแดงหาญ | เสียงสะท้านสะเทือนอึงอุด |
โกรธาถาโถมโจมยุทธ์ | สัประยุทธ์สองทหารชาญฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
เห็นอสุราปัจจามิตร | รบชิดไล่รุกบุกมา |
จึ่งชักพรหมาสตร์พาดสาย | งามคล้ายพระนารายณ์เชษฐา |
น้าวหน่วงด้วยกำลังศักดา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงสุนีบาต | เป็นศรเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
ต้องเจ้าบาดาลกรุงไกร | ปรุไปทั้งกายอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
ต้องศรติดเต็มทั้งอินทรีย์ | อัญชุลีร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนสามคาบก็ลูบลง | ศรหลุดจากองค์ยักษา |
กวัดแกว่งจักรแก้วอันศักดา | อสุราก็ขว้างไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต้องพลโยธาพานรินทร์ | ตายกลาดดาษดินอกนิษฐ์ |
โพยมพยับจับแสงพระอาทิตย์ | มืดมิดดั่งหนึ่งโลกันต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ไม่เห็นรังสีรวีวรรณ | ให้คิดหวาดหวั่นพรั่นใจ |
เอะแล้วจะเหมือนบรรลัยจักร | ขุนยักษ์มัดน้องกูไปได้ |
ก็จับจันทวาทิตย์ศรชัย | พาดสายแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ล้างซึ่งจักรแก้วแหลกลาญ | สุริย์ฉานแจ่มแจ้งพระเวหา |
ต้องอกไวยตาลอสุรา | กระเด็นไปชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
มิได้ระคายอินทรีย์ | แกว่งกระบองไล่ตีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งลูกพระกาลชาญสมร |
ฉวยชักตรีเพชรฤทธิรอน | โถมเข้าต่อกรอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าถีบมือยุดกระบองตาล | เผ่นทะยานขึ้นเหยียบเข่าขวา |
กลอกกลับจับกันไปมา | ต่างหาญต่างกล้าโรมรัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไวยตาลฤทธิแรงแข็งขัน |
ตีซ้ายป่ายขวาพัลวัน | กุมภัณฑ์ไม่คิดชีวี |
สองจับสัประยุทธ์กันสับสน | ต่างตนไม่ท้อถอยหนี |
ต่างปัดต่างป้องต่างตี | ถ้อยทีไม่ลดงดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งลูกพระกาลชาญสมร |
กวัดแกว่งตรีเพชรฤทธิรอน | กระหยับกรล่อเลี้ยวไปมา |
โถมถีบไวยตาลซวนไป | แล้วโจนจับได้ยักษา |
ฟาดลงกับพื้นพระสุธา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
ผู้เดียวเคี่ยวขับต่อตี | เพียงหนึ่งชีวีจะวายปราณ |
จึ่งคิดว่ามนุษย์วานร | ฤทธิรอนองอาจกล้าหาญ |
กระนี้หรือสามราชกุมาร | ออกมารอนราญมิบรรลัย |
แต่พระเป็นเจ้าให้พรกู | ยังสู้มือมันมิใคร่ได้ |
ต้องศรเจ็บชํ้าลำบากใจ | ปรุไปทั่วทั้งกายา |
มาตรแม้นจะขืนอยู่ราญรอน | ต่อกรเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
เสียทีก็จะเสียชีวา | จำจะเลิกโยธาไปบุรี |
บูชากระบองตาลอันวิเศษ | โดยเวทพระอิศวรรังสี |
สามวันก็จะเรืองฤทธี | ไม่พักราวีลำบากใจ |
แต่ชี้ก็จะตายทั้งทัพ | จะพักรบพักจับก็หาไม่ |
คิดแล้วก็เลิกพลไกร | กลับไปยังกรุงมลิวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นไวยตาลกุมภัณฑ์ | ยกพวกพลขันธ์เข้าพารา |
พอพระสุริยาอัสดง | ลดลงลับเหลี่ยมภูผา |
จึ่งให้เลิกพหลโยธา | คืนไปพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
แต่พระสหายร่วมชีวี | ยกพลโยธีออกชิงชัย |
อยู่หลังคอยฟังเหตุการณ์ | จนสุริย์ฉานเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
ครั้นเหลือบแลเห็นก็ดีใจ | ภูวไนยไปจูงพระกรมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ขึ้นนั่งร่วมบัลลังก์อาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ซ้ายขวา |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษดา | อสุรามีราชวาที |
พระสหายยกพลไปต่อยุทธ์ | ด้วยสองมนุษย์กระบี่ศรี |
ยังมีชัยในการต่อตี | หรือเสียท่วงทีแก่มัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลรังสรรค์ |
จึ่งเล่าความซึ่งได้โรมรัน | มนุษย์นั้นฤทธิไกรมหึมา |
ชำนาญในการศรสาตร์ | องอาจเรี่ยวแรงแข็งกล้า |
ทั้งวานรทหารโยธา | ล้วนมีศักดาว่องไว |
ถึงมาตรจะเคี่ยวขับกับมัน | จะหมายชนะนั้นไม่ได้ |
ขอลาพระสหายกลับไป | ยังพิชัยกุรุราชบาดาล |
ตั้งพิธีชุบคทาวุธ | ให้ฤทธิรุทรไม่มีใครต่อต้าน |
ตามพรพระอิศวรทรงญาณ | กำหนดการแต่ในสามวัน |
พระสหายจงแต่งไปขัดทัพ | ประจัญกรรอนรับไว้ให้มั่น |
เสร็จแล้วจะกลับมาโรมรัน | ฆ่ามันให้สิ้นทั้งโยธา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ตบหัตถ์สรวลร่าสำราญใจ |
ทีนี้อันพวกปัจจามิตร | จะสิ้นชีวิตหาเหลือไม่ |
ขอเชิญพระสหายผู้ฤทธิไกร | เร่งไปทำกิจพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
สั่งเสร็จเสด็จจรลี | มาขึ้นรถมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ยกพลกุมภัณฑ์ | ออกจากมลิวันราชฐาน |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาธาร | ไปยังบาดาลเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงตั้งโรงพิธีอำไพ | ในหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวุทธิกาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กะเกณฑ์ทุกเจ้าพนักงาน | ทหารพลเรือนซ้ายขวา |
ให้ตั้งโรงพิธีอันโอฬาร์ | ยังที่ในหน้าพระลานชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานน้อยใหญ่ |
เรียกหาบ่าวไพร่วุ่นไป | เร่งให้จัดการเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บ้างไปขนไม้ขนจาก | บ้างฟันบ้างลากอึงมี่ |
ขุดหลุมยกเสาขึ้นทันที | ตามที่ตำแหน่งแบ่งปัน |
สามสิบสามห้องมีเฉลียง | ราชวัติฉัตรเรียงสลับคั่น |
เพดานดาดขาวพรายพรรณ | ห้อยพวงสุวรรณมาลา |
พื้นล่างลาดพรมสุจหนี่ | ตั้งทั้งบายศรีซ้ายขวา |
เทียนเงินเทียนทองรจนา | เสร็จตามบัญชาพระยายักษ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลผู้ทรงสิทธิศักดิ์ |
เสด็จจากห้องแก้ววิไลลักษณ์ | บ่ายพักตร์มาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ละอองชลกลั้วกลิ่นหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | ภูษาขาวสะอ้านสะอาดตา |
ทรงสะพัดรัดโกปินำ | เฉียงสายธุหรํ่าเหนืออังสา |
จุณเจิมเฉลิมพักตรา | มุ่นชฎาห่อเกล้าเมาลี |
สวมประคำแล้วจับกระบองตาล | อาการดั่งเทพฤๅษี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สวัสดี | ก็เข้าโรงพิธีอำไพ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเอากระบองตาลปักลง | ตรงหน้าโรงพิธีใหญ่ |
บูชาธูปเทียนดอกไม้ | โหมไฟเถกิงกาลา |
ขึ้นนั่งยังปลายกระบองตาล | มัสการพระอิศวรนาถา |
สมาธิสำรวมวิญญาณ์ | หลับตาร่ายเวทตบะกรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ครั้นพระสหายร่วมชีวัน | ยกพวกพลขันธ์ไปธานี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเพตรายักษี |
ตัวท่านผู้เรืองฤทธี | ทั้งปรีชาชาญว่องไว |
จงยกพลไกรไปขัดทัพ | ตั้งรับข้าศึกไว้ให้ได้ |
กว่าพระสหายผู้ร่วมใจ | ไปทำพิธีกลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เพตราทหารยักษา |
รับสั่งพระองค์ทรงนครา | ชุลีลาแล้วรีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดพวกทหารชำนาญศึก | ลํ่าสันพันลึกชาญสมร |
หกเหล่าล้วนมีฤทธิรอน | กรแกว่งอาวุธเป็นโกลี |
แล้วแต่งตัวสอดเครื่องสงคราม | สง่างามดั่งพระยาราชสีห์ |
ขัดคทาอันเรืองฤทธี | อสุรีมาขึ้นคชาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ช้างเอยช้างศึก | ห้าวฮึกร้ายแรงคำแหงหาญ |
สองตาแดงดั่งเพลิงกาล | สูงตระหง่านเงื้อมเขาสัตภัณฑ์ |
สี่เท้าถีบฉัดลำพอง | โกญจนาทผาดร้องแผ่นดินลั่น |
สองงางามงอนเสมอกัน | ปรบหูเรียกมันกระหึ่มฮึก |
ใจกล้าแกล้วหาญในการรบ | ผูกครบล้วนเครื่องสำหรับศึก |
ได้ยินเสียงโห่สนั่นครั่นครึก | แล่นสะอึกโจมจ้วงทะลวงแทง |
อันหมู่โยธาล้วนสามารถ | ถือสาตราวุธกวัดแกว่ง |
ล้วนขันหักศึกกลางแปลง | เร่งรีบขับแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นทัพขันมั่นไว้ | ตามในเนินแนวพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
เสด็จเหนือบัลลังก์อลงกรณ์ | ท่ามกลางวานรเสนา |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | โดยในตำแหน่งพร้อมหน้า |
สง่างามดั่งอมรินทรา | ออกหมู่โยธาเทวัญ |
ปรึกษาซึ่งจะล้างปัจจามิตร | อันหยาบช้าทุจริตโมหันธ์ |
พอได้ยินสำเนียงกุมภัณฑ์ | โห่สนั่นกึกก้องโกลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกยักษี |
อันทัพซึ่งยกออกมานี้ | ไวยตาลอสุรีหรือผู้ใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็จับยามไปตามเวลา |
เห็นแจ้งแล้วถวายบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์นาถา |
อันทัพซึ่งยกออกมา | มิใช่อสุราไวยตาล |
ตัวมันเลิกทัพกลับไป | ยังพิชัยกุรุราชฐาน |
ตั้งกรรมทำกิจพิธีการ | จะชุบกระบองตาลให้เรืองฤทธิ์ |
แม้นครบกำหนดสามราตรี | ตามพรพระศุลีประกาศิต |
ฆ่ามันไม่สิ้นชีวิต | กระบองนี้มีพิษเกรียงไกร |
จะเอาตนชี้ใครก็ใครตาย | ชี้ปลายก็เป็นขึ้นมาได้ |
องค์ท้าวจักรวรรดิตรัสใช้ | ให้ทหารอันชื่อเพตรา |
ยกพวกนิกรกุมภัณฑ์ | มาขัดทัพรับมั่นไว้ท่า |
ขอให้องคตผู้ศักดา | ยกไปเข่นฆ่าขุนมาร |
อันลูกพระกาลเทเวศ | ฤทธิ์เดชสามารถอาจหาญ |
ไปทำลายกิจพิธีการ | ยังพิชัยบาดาลธานี |
แล้วจึ่งคิดอ่านราญรอน | ชิงคทาธรยักษี |
อาวุธคู่ใจมันไม่มี | อสุรีก็จะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพญากุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์มีราชบัญชา |
ดูก่อนโอรสพาลี | ท่านผู้ฤทธีแกล้วกล้า |
จงยกพหลโยธา | ไปสังหารอสุราสาธารณ์ |
ฝ่ายนิลพัทจงรีบไป | ยังพิชัยกุรุราชฐาน |
ทำลายพิธีไวยตาล | ผลาญมันให้สิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองทหารผู้ชาญชัยศรี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | นิลพัทขุนกระบี่จึ่งทูลไป |
จะขออสุรผัดไปด้วย | จะได้ช่วยคิดการแก้ไข |
เป็นสองตนผ่อนปรนเอาชัย | มิให้เคืองใต้บาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | สั่งลูกพญาหนุมาน |
ตัวท่านผู้มีฤทธิรงค์ | จงลงไปช่วยหักหาญ |
ทำลายพิธียังบาดาล | ด้วยลูกพระกาลเทวัญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรผัดฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | สามนายพากันออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายว่าองคตก็จัดพล | เลือกล้วนฤทธิรณแกล้วกล้า |
สิบสี่สมุทรคณนา | ถือสาตราวุธครบกร |
สามนายสอดเครื่องสำหรับศึก | สำแดงเดชพันลึกดั่งไกรสร |
ต่างตนต่างแยกกันรีบจร | ไปโดยภูธรบัญชาการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ องคตมาถึงสนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาทวยหาญ |
ตั้งลงชายป่าริมธาร | ดูทีขุนมารจะราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เพตราสิทธิศักดิ์ยักษี |
ยืนช้างอยู่กลางโยธี | เห็นทัพกระบี่ยกมา |
ทำอำนาจผาดเสียงเกรียงไกร | ไสช้างขึ้นไปตรงหน้า |
แล้วร้องประกาศด้วยวาจา | เหวยเหวยลิงป่าพนาดร |
มึงนี้ชื่อใดไอ้เดียรัจฉาน | จึ่งฮึกฮักอวดหาญว่าชาญสมร |
ยกพลโยธาวานร | ออกมาราญรอนราวี |
ด้วยกูผู้ทหารชาญฉกรรจ์ | ของเจ้ามลิวันบุรีศรี |
ชื่อว่าเพตราอสุรี | ฤทธีประเสริฐเลิศนัก |
สามภพเลื่องชื่อลือหาญ | ปานดั่งขุนพลพญาจักร |
ไอ้สู่รู้มาสู้มือยักษ์ | ไม่ทันพักก็จะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังวาจากุมภัณฑ์ | ตบมือเย้ยหยันแล้วตอบไป |
เหวยอ้ายทรลักษณ์ยักษา | อหังการ์เย่อหยิ่งหยาบใหญ่ |
ตัวกูผู้มีฤทธิไกร | หลานไทเทเวศอมรินทร์ |
ชื่อพญาอินทรนุภาพเรืองเดช | อุปราชนคเรศขีดขิน |
เลื่องชื่อลือหาญสะท้านดิน | เคี่ยวฆ่าอสุรินทร์เสียนับพัน |
แต่โลหิตติดชุ่มอยู่กับกร | ดั่งสาครหว่างอัศกรรณคั่น |
พวกมึงดั่งหนึ่งแมลงวัน | ไม่ทันพริบตาจะบรรลัย |
ถึงท้าวจักรวรรดิยักษา | ก็ไม่ต่อศักดาด้วยกูได้ |
สี่เศียรจะขาดปลิวไป | ด้วยพระขรรค์ชัยเล่มนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรเพตรายักษี |
ได้ฟังวานรพาที | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
กวัดแกว่งกระบองร้องตวาด | เหม่เหม่ไอ้ชาติเดียรัจฉาน |
เจรจาหยาบช้าสามานย์ | กูจะสังหารให้มรณา |
ว่าแล้วร้องสั่งไปทันที | เหวยเหวยอสุรีทัพหน้า |
เร่งเข้าราวีตีประดา | ฆ่าไอ้ลิงป่าพนาดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่พลมารชาญสมร |
ต่างตนสำแดงฤทธิรอน | เข้าตีทัพวานรวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างฟันบ้างแทงแย้งยุทธ์ | ลางเหล่าก็จุดปืนใหญ่ |
โห่ฮึกสะอึกชิงชัย | นายไพร่หนุนเนื่องกันเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรทัพหน้า |
รับกรรอนราญอสุรา | ตีหุ้มเข้ามาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปากกัดตีนถีบมือตบ | หลีกหลบว่องไวดั่งจักรผัน |
ฉวยชิงอาวุธแทงฟัน | กุมภัณฑ์ตายกลาดสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เพตราฤทธิไกรใจหาญ |
เห็นวานรไล่ฆ่าพลมาร | แตกพ่านล้มตายไม่สมประดี |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | แผดเสียงสนั่นอึงมี่ |
กรายขอไสช้างเข้าทันที | ไล่พวกกระบี่กลางพล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โก่งหางกางหูชูงวง | ไล่ทะลวงโจมแทงสับสน |
สี่เท้าถีบกัดอลวน | วานรแตกย่นลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตฤทธิไกรใจกล้า |
แลเห็นอสุรเพตรา | ขับคชาไล่แทงวานร |
กริ้วโกรธพิโรธกระทืบบาท | ทำอำนาจดั่งราชไกรสร |
โลดโผนโจนทะยานเข้าราญรอน | ขึ้นเหยียบงากุญชรด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มือขวาฉวยคว้าเอาต้นคาง | กระชากง้างหักคอหัตถี |
ล้มลงสุดสิ้นชีวี | ด้วยกำลังกระบี่ผู้ชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เพตราฤทธิไกรใจหาญ |
กระเด็นไปจากคอคชาธาร | ขุนมารผุดลุกขึ้นยืนยัน |
กรหนึ่งกวัดแกว่งคทาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรแผ่นดินลั่น |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์ทะยานเข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าฉวยคอกระบี่ศรี |
กลอกกลับจับกันในที | ต่างแทงต่างตีวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หลานท้าวมัฆวานทหารใหญ่ |
หลบหลีกเคล่าคล่องว่องไว | โลดไล่โจมจับพัลวัน |
เผ่นโผนโจนขึ้นเหยียบบ่า | กรหนึ่งเงื้อง่าพระขรรค์ |
กวัดแกว่งพิฆาตฟาดฟัน | กุมภัณฑ์สุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างขุนมาร | หลานท้าวมัฆวานเรืองศรี |
ตัดเอาเศียรเกล้าอสุรี | แล้วเลิกโยธีกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทอสุรผัดแกล้วกล้า |
ชำแรกแทรกพื้นพสุธา | มาถึงพิภพบาดาล |
มีกำแพงแลงล้อมป้อมเมือง | อร่ามเรืองด้วยแก้วมุกดาหาร |
พากันหยุดอยู่นอกทวาร | ก็โอมอ่านพระเวทอันเพริศพราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เดชะด้วยวิทยามนต์ | ทั้งตนแลเงาก็สูญหาย |
ผู้ใดมิได้เห็นกาย | สองนายก็เดินเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แลเห็นโรงราชพิธี | กว้างขวางยาวรีสูงใหญ่ |
ตั้งอยู่หน้าพระลานชัย | แสงไฟเรืองโรจน์โชติฟ้า |
องค์ท้าวไวยตาลชาญฤทธิ์ | สำรวมจิตร่ายเวทคาถา |
บนยอดตาลกลางกองกาลา | อสุราเอาเพศเป็นโยคี |
นิลพิทจึ่งกล่าวพจมาน | แก่หลานพระพายเรืองศรี |
ว่าน้องสมเด็จพระจักรี | ให้เรานี้มาล้างพิธีกรรม์ |
แล้วคิดการสังหารอสุรินทร์ | ให้สิ้นชีวาอาสัญ |
ครั้นจะฆ่าที่ในเมืองมัน | เกียรตินั้นจะไม่ปรากฏไป |
จะทำแต่ให้เสียวิทยา | แล้วจะขึ้นไปท่าที่ทางใหญ่ |
ลวงให้รู้ทั่วทุกแดนไตร | จึ่งจะฆ่าให้ม้วยชีวี |
ว่าแล้วก็ตบมือเย้ย | เหวยเหวยไวยตาลเรืองศรี |
กูคือพระกาลชาญฤทธี | จะมาเอาชีวีไอ้สาธารณ์ |
ว่าพลางผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศานต์ |
อสุรผัดถีบตบกระบองตาล | ลูกพระกาลตามตีอสุรา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
ตกลงเจ็บปวดทั้งกายา | อสุราผุดลุกขึ้นทันที |
แลเห็นกระบี่ฤทธิรอน | กับวานรกายเป็นยักษี |
ติดตามลงมาราวี | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ |
โผนเข้าฉวยชักกระบองตาล | ขุนมารกวัดแกว่งดั่งจักรผัน |
ถาโถมโรมรุกบุกบัน | ตีรันอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนายผู้เป็นทหารใหญ่ |
อสุรผัดถอยรับด้วยว่องไว | นิลพัทไล่ตีตามมา |
ต่างหนีต่างไล่พัลวัน | ผลัดกันเยาะเย้ยยักษา |
ครั้นแล้วสองนายผู้ศักดา | ก็มาจากบาดาลธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงต้นทางช่องแคบ | เข้าแอบแทบเชิงคีรีศรี |
ในสุมทุมพุ่มป่าพนาลี | ใกล้ทางอสุรีเคยจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลชาญสมร |
ครั้นไพรีหนีจากพระนคร | ภูธรคิดแค้นแน่นใจ |
ชิชะไอ้สองเดียรัจฉาน | มาล้างการพิธีกูเสียได้ |
นี่หากมันหนีขึ้นไป | หาไม่จะม้วยชีวัน |
ตรึกพลางทางสั่งเสนา | อย่าช้าเร่งเตรียมพลขันธ์ |
จะยกไปแก้แค้นแทนมัน | ให้ทันแต่ในเวลานี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์หน้าพระลานชัยศรี |
ขึ้นปราสาทรัตน์มณี | ตรงไปยังที่ข้างใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เวรำเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็รีบไปจัดพลโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์กระบวนพยุหรณรงค์ | สี่หมู่อาจองแกล้วกล้า |
ขุนมารขึ้นขี่อาชา | ถือทวนเงื้อง่าลำพองกาย |
ขุนรถล้วนขี่รถศึก | ถือธนูอวดฮึกประลองสาย |
ขุนช้างขี่ช้างซับมันร้าย | ถือของ้าวกรายกระหยับฟัน |
ขุนพลจัดพวกพลากร | เลือกล้วนฤทธิรอนแข็งขัน |
แต่ละตนฮึกหาญชาญฉกรรจ์ | กรนั้นกุมสรรพอาวุธ |
กวัดแกว่งดั่งแสงเพลิงพราย | ไพร่นายแน่นนันต์นับสมุทร |
ต่างต่างประกวดอวดยุทธ์ | อุตลุดเอิกเกริกเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
ครั้นเสร็จที่จัดโยธา | เสด็จมาโสรจสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายรัตน์ | เย็นหยัดเฟื่องฟุ้งหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | กลิ่นรสซาบซ่านขจายจร |
สนับเพลาเชิงกรองช่องกระจก | ภูษายกรูปราชไกรสร |
ชายไหวชายแครงกระหนกงอน | เกราะเกล็ดมังกรประดับพลอย |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลศึก | รัดองค์แก้วผลึกเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดจำหลักลอย | ธำมรงค์เพชรพลอยอลงการ |
ทรงมงกุฎแก้วดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรเนาวรัตน์ฉายฉาน |
พระหัตถ์นั้นจับกระบองตาล | ทะยานมาขึ้นรถอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยรถทรง | กำกงเนาวรัตน์ประภัสสร |
สูงระหงทรงงามสามงอน | แปรกรูปมังกรกระหนกพัน |
ลดชั้นบัลลังก์กระจังรัตน์ | รายสัตว์ครุฑสิงห์สลับคั่น |
บุษบกแม้นพิมานเทวัญ | ยอดบันแก้วทาบทวยทอง |
เทียมสีหราชร้อยคู่เคียง | โลทันผาดเสียงสำเนียงก้อง |
เครื่องสูงไสวปี่กลอง | แตรฆ้องซ้องขานอึงอล |
เสียงพลโห่เร้าฉาวฉ่า | เสียงช้างเสียงม้ากุลาหล |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาดล | เร่งหมู่พวกพลรีบจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสองทหารชาญสมร |
เห็นท้าวไวยตาลฤทธิรอน | ยกพวกนิกรขึ้นมา |
นิลพัทจึ่งกล่าวพจมาน | แก่หลานพระพายใจกล้า |
เราจะแปลงเป็นอสุรา | เหมือนชาวลงกากรุงไกร |
ใส่กลล่อลวงกุมภัณฑ์ | มิให้มันมีความสงสัย |
เจ้าจงสะกดรอยตามไป | แม้นเห็นเราได้ต่อตี |
จงเข้าช่วยหักหาญราญรอน | ล้างเหล่านิกรยักษี |
สังหารไวยตาลอสุรี | ให้มีเกียรติไว้ในโลกา |
ว่าแล้วก็อ่านพระเวท | แปลงเพศเป็นรูปยักษา |
อสุรผัดผู้มีปรีชา | ก็ร่ายมนต์บังตาพลากร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นเสร็จจึ่งลูกพระกาล | เดินผ่านจากเนินสิงขร |
นั่งอยู่ริมทางพนาดร | ทำทุกข์ร้อนหิวหอบบอบนัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไวยตาลผู้มีสิทธิศักดิ์ |
ขับรถมาเห็นอสูรยักษ์ | จึ่งบัญชาทักถามไป |
ไยมึงมานั่งอยู่ที่นี่ | ท่วงทีอาการดั่งป่วยไข้ |
เลื่อยล้าเจ็บปวดประการใด | เอ็งมากองไหนอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทผู้เป็นยักษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ข้านี้เป็นชาวลงกา |
พิเภกเกณฑ์เข้าตาทัพ | มากับวานรกองหน้า |
มันใช้สอยโบยตีทุกเวลา | ทรมาซูบผอมตรอมใจ |
ทั้งอาหารการกินก็ขัดสน | สุดที่จะทนอยู่ได้ |
จึ่งหนีมาหวังพึ่งภูวไนย | ด้วยใจจงรักภักดี |
ได้พบก็เป็นบุญลาภ | จะขอทูลให้ทราบบทศรี |
บัดนี้พระพรตภูมี | ใช้กระบี่นิลพัทชัยชาญ |
กับอสุรผัดลงไป | ยังพิชัยกุรุราชราชฐาน |
ทำลายล้างกิจพิธีการ | ให้ผ่านฟ้าเสียเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ