- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชนาถา |
ได้ฟังทั้งสองกุมารา | ผ่านฟ้าฉงนสนเท่ห์ใจ |
นิ่งอยู่เป็นครู่แล้วตรัสถาม | อันลักษมณ์รามพี่น้องเป็นไฉน |
เขาอยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองใด | สุริย์วงศ์พงศ์ไหนจึ่งอาจนัก |
อันทศเศียรอสุรี | ฤทธีปราบได้ทั้งไตรจักร |
ถึงเทวินทร์อินทร์พรหมยมยักษ์ | ก็เกรงศักดาเดชกุมภัณฑ์ |
ทั้งกรุงลงกามหานิเวศน์ | พระสมุทรเป็นเขตคูกั้น |
กว้างลึกล้อมรอบเป็นขอบคัน | ข้าศึกนั้นข้ามไปอย่างไร |
เขารู้เดินนํ้าดำดิน | เหาะบินมาได้หรือไฉน |
สาเหตุเภทพาลประการใด | จึ่งตั้งใจเคี่ยวฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกยักษี |
น้อมเศียรสนองพระวาที | อันลักษมณ์รามพี่น้องทั้งสองนั้น |
เป็นหน่อท้าวทศรถชัยชาญ | หลานท้าวอัชบาลรังสรรค์ |
เรืองฤทธิไกรดังไฟกัลป์ | ได้ผ่านเขตขัณฑ์อยุธยา |
ทั้งสองออกมาทรงพรต | บวชเป็นดาบสอยู่ในป่า |
วันหนึ่งจึ่งเจ้าลงกา | ผ่านฟ้าไปเที่ยวพนาลี |
พระองค์พบนางที่กลางดง | ทรงนามสีดามารศรี |
พ่อแม่ลูกผัวก็ไม่มี | อสุรีจึ่งรับเอามาไว้ |
ที่ในตำหนักสวนขวัญ | มิได้ผูกพันพิสมัย |
อันซึ่งมนุษย์วุฒิไกร | พี่น้องหยาบใหญ่ทั้งสองคน |
มีฤทธิ์แต่ด้วยศรศิลป์ | ไม่ดำดินบินได้ในเวหน |
คุมหมู่วานรเป็นพล | จองถนนข้ามมหาสมุทรมา |
ว่าเป็นผัวสีดานงลักษณ์ | รุมโรมโหมหักยักษา |
ฆ่าพระญาติวงศ์มรณา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งกล่าววาที | ในที่ท่ามกลางคนธรรพ์ |
ซึ่งว่ารามลักษมณ์เป็นนัดดา | ท้าวมหาอัชบาลรังสรรค์ |
เห็นจริงด้วยเป็นวงศ์เทวัญ | จึ่งบุกบันมาได้ถึงเมืองมาร |
อันนอกกว่านี้ไม่มีใคร | ซึ่งเรืองฤทธิไกรห้าวหาญ |
เว้นไว้แต่เหล่าอัชบาล | ซึ่งอาจผลาญสุริย์วงศ์พรหมา |
อันปู่เขากับกูเป็นสหาย | เพื่อนตายรักใคร่กันหนักหนา |
ก็สิ้นชีวาลัยไปเมืองฟ้า | แต่ลักษมณ์รามเกิดมากูไม่รู้ |
ด้วยพึ่งจะจำเริญวัย | ทางไกลต่างคนต่างอยู่ |
นานแล้วไม่ได้ไปเยี่ยมดู | สุริย์วงศ์ในกรุงอยุธยา |
อันเหตุซึ่งเกิดสงคราม | ลุกลามเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
เป็นต้นด้วยหญิงที่ได้มา | จึ่งพาให้ผิดใจกัน |
กูจะไประงับทั้งสองฝ่าย | ให้หายขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
จะว่ากล่าวเป็นกลางทางธรรม์ | ให้ผูกพันธมิตรกันสืบไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงเตรียมรี้พลสกลไกร | กูจะไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนพยุหบาตร | สำหรับเดินอากาศเวหา |
เหล่าพลคนธรรพ์เสนา | เป็นกองหน้าให้นำเสด็จจร |
ถัดมาพวกพฤกษเทเวศ | อันเรืองเดชสถิตในสิงขร |
ถัดมาโยธาวิชาธร | กรถือทิวธงอลงการ |
กองขวาโยธาคณาครุฑ | ฤทธิรุทรศักดากล้าหาญ |
กองซ้ายนาคาในบาดาล | ถือบุษบาบานทุกตน |
กองหลังนั้นเหล่ากินนร | เพียบพื้นอัมพรสับสน |
ล้วนถือทิพย์มาศโกมล | รถพลเสร็จพร้อมดั่งบัญชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชนาถา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อทิพย์อโนดาต | สุหร่ายมาศโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมาลี |
สนับเพลารายพลอยแวววาว | ภูษาขาวเชิงรูปราชสีห์ |
ชายไหวชายแครงเครือมณี | ฉลององค์ขาวขจีฉลุลาย |
ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น | สังวาลวัลย์มรกตสามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายอรชร |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | กรรเจียกจรจำรัสประภัสสร |
จับพระขรรค์แก้วฤทธิรอน | กรายกรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | กงกำแก้วประพาฬอลงกต |
ห้ายอดหน้าบันเป็นหลั่นลด | ช่อฟ้าช้อยชดบราลี |
เทียมด้วยพลาหกตัวคะนอง | ลำพองเพียงพญาราชสีห์ |
พาเผ่นอากาศด้วยฤทธี | สารถีนั่งหน้าประนมกร |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงรัตน์ | กันภิรุมย์มยุรฉัตรประภัสสร |
ปี่ฆ้องกลองแห่แตรงอน | อัมพรสนั่นครรชิต |
งามทรงดั่งองค์เทวา | อันเสด็จลงมาจากดุสิต |
งามรถเพียงรถพระอาทิตย์ | งามพลแข่งฤทธิ์กันเหาะไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลองโยน
ยานี
๏ ลอยลิ่วปลิวมาในอัมพร | ข้ามมหาสาครกว้างใหญ่ |
ใกล้ถึงลงกากรุงไกร | ภูวไนยถวิลจินดา |
ครั้นกูจะเข้าไปเมืองยักษ์ | พระรามพระลักษมณ์จะกังขา |
แม้นจะไปข้างทัพอยุธยา | ทศพักตร์ยักษาจะน้อยใจ |
จำจะหยุดอยู่แต่ที่รบ | ตามขนบตัวกูเป็นผู้ใหญ่ |
จะหามาสมรภูมิชัย | อย่าให้นินทาเป็นราคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งสั่งคนธรรพ์ | อันเป็นนายม้าสารถี |
ให้ขับรถรัตน์มณี | ลงที่พ่างพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกใจหาญ |
เห็นพระองค์ผู้วงศ์พรหมาน | ไม่เข้าราชฐานลงกา |
สององค์ก็ขับมโนมัย | อันเรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า |
รีบเร่งไปตามมรคา | เข้ามายังราชธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงจากอัสดร | บทจรตามกันทั้งสองศรี |
ขึ้นเฝ้าพญาอสุรี | ยังที่ปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรรังสรรค์ |
ข้าไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | ยังบรรพตยอดฟ้าศิลาลัย |
กราบทูลกล่าวโทษลักษมณ์ราม | ยกข้อเนื้อความขึ้นให้ใหญ่ |
พระอัยกาผู้ปรีชาไว | ถามไถ่ถึงพวกปัจจามิตร |
ข้าทูลว่าวงศ์อัชบาล | ท้าวมีบรรหารประกาศิต |
ว่าลักษมณ์รามเป็นหลานร่วมชีวิต | ของสหายรักสนิทกับภูมี |
บัดนี้พระองค์เสด็จมา | ไม่เข้าลงกาบุรีศรี |
ตั้งอยู่แต่นอกธานี | ในที่ที่รณรงค์กัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรพงศ์พรหมรังสรรค์ |
ฟังสองกุมารรำพัน | ให้หวาดหวั่นสะดุ้งพระทัยนัก |
อันพระอัยกานี้ทรงสัตย์ | สารพัดรอบรู้แหลมหลัก |
ถึงมาตรตัวกูเป็นหลานรัก | ผิดแล้วไหนจักเมตตา |
จะว่าแต่สุจริตไป | ตามใครชอบผิดไม่คิดหน้า |
จะรีบไปเฝ้าเบื้องบาทา | องค์พระอัยกาทรงฤทธิ์ |
จะได้กล่าวโทษเป็นโจทก์ก่อน | ทูลซ่อนข้อความที่กูผิด |
ให้เห็นชั่วแต่ฝ่ายปัจจามิตร | พระองค์ก็จะคิดปรานี |
ตริแล้วจึ่งมีบัญชา | สั่งเปาวนาสูรยักษี |
จงเทียมรถแก้วรูจี | กับหมู่โยธีให้พร้อมกัน |
ตัวกูจะไปเฝ้าบาท | พระอัยกาธิราชรังสรรค์ |
เชิญเสด็จพระองค์ทรงธรรม์ | ให้ยกพลขันธ์เข้าลงกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ จัดพวกรี้พลทวยหาญ | แสนเสนามารน้อยใหญ่ |
เทียมทั้งรถแก้วแววไว | ตามในบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | มาขึ้นรถมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้เคลื่อนพหลพลไกร | จากพิชัยลงการาชฐาน |
เสียงประโคมโครมครื้นสุธาธาร | พลมารแห่แหนแน่นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งขับประทักษิณ | ไปสิ้นสามรอบเวียนขวา |
ให้หยุดรถแก้วแววฟ้า | เบื้องซ้ายอัยกาทรงยศ |
แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้มาศ | บูชาเบื้องบาทบงกช |
โปรยปรายสุคนธารส | น้อมเศียรประณตด้วยยินดี |
ทูลว่าพระองค์ทรงเดช | มาโปรดเกศสุริย์วงศ์ยักษี |
อยู่ไยแต่นอกบุรี | เชิญเสด็จภูมีเข้าเวียงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ทรงปัญญาอัชฌาสัย |
ฟังเจ้าลงกากรุงไกร | มาเชิญเข้าไปพารา |
มิได้ตรัสตอบพจมาน | ตรึกไปด้วยญาณอุเบกขา |
ตัวกูเป็นประธานโลกา | จะว่าความฝ่ายเดียวไม่ควรนัก |
จะเป็นที่ตำหนิติฉิน | ดูหมิ่นทั่วไปทั้งไตรจักร |
ว่าเข้าด้วยข้างทศพักตร์ | หลานรักสหายจะน้อยใจ |
จำจะประชุมเทเวศ | กับองค์ตรีเนตรผู้ใหญ่ |
พร้อมกันในสมรภูมิชัย | จึ่งจะให้ไปหาพระรามมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วก็ร้องประกาศ | ด้วยอำนาจพรหเมศนาถา |
ดูก่อนฝูงเทพเทวา | ทั่วทุกชั้นฟ้าโสฬส |
คือองค์จตุโลกบาล | อันสถิตวิมานอลงกต |
ทั้งท้าวโกสีย์ผู้มียศ | ทั่วทศทิศธาตรี |
วันนี้ตัวเราจะว่าความ | ทศพักตร์กับพระรามเรืองศรี |
จงมาประชุมในที่นี้ | ให้เห็นร้ายดีด้วยกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาในสรวงสวรรค์ |
ทั้งองค์ตรีเนตรเวสสุวัณ | อันทรงศักดาวราฤทธิ์ |
ได้ยินท้าวมาลีวราช | ประกาศบัญชาประกาศิต |
จะว่าความโดยธรรม์ทศพิธ | ตามชอบแลผิดไม่เข้าใคร |
ต่างองค์มีใจเกษมศานต์ | ออกจากวิมานน้อยใหญ่ |
เหาะทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปยังท้าวมาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงจึ่งลงจากอากาศ | ด้วยฤทธิ์เทวราชเรืองศรี |
นั่งแน่นบนเนินคีรี | ใกล้รถมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ครั้นเห็นเทวามาพร้อมกัน | ทรงธรรม์จึ่งมีบัญชา |
ดูกรนัดดาสุริย์วงศ์ | ผู้พงศ์พรหเมศนาถา |
ซึ่งผิดกับพระรามแต่เดิมมา | สาเหตุนั้นเป็นประการใด |
คือใครตั้งต่อก่อก่อน | จึ่งได้ราญรอนเป็นศึกใหญ่ |
จงว่าแต่ตามจริงไป | อย่าเคลือบไคล้มุสาพาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ฟังพระอัยกาธิบดี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ข้าจะทูลความแต่ตามจริง | ไม่เอาสิ่งเท็จนั้นมาว่า |
เดิมพระรามจะผิดกับนัดดา | เพราะด้วยสาเหตุเท่านี้ |
วันหนึ่งหลานไปเที่ยวประพาส | รุกขชาติตามเชิงคีรีศรี |
พบนางในกลางพนาลี | มีนามสีดาอรไท |
ไร้ทั้งบิตุเรศมารดร | คู่ครองบังอรก็หาไม่ |
ตัวข้าเมตตารับมาไว้ | ให้อยู่ในสวนอุทยาน |
นานมาลักษมณ์รามทั้งสองคน | คุมกระบี่รี้พลทวยหาญ |
จองถนนข้ามฝั่งชลธาร | ว่าเป็นผัวเยาวมาลย์สีดา |
อาจองทะนงใจนัก | โหมหักเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ก็มรณา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | ภูมีนิ่งนึกตรึกตรา |
อันทศพักตร์กล่าวโทษพระราม | ต้นความนั้นเกิดที่กลางป่า |
ตัวกูผู้พิจารณา | จะเป็นตราชูให้เพ่งธรรม์ |
คิดแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูกรทศเศียรหลานขวัญ |
ซึ่งเจ้ากล่าวโทษเขาทั้งนั้น | ล้วนแต่ฉกรรจ์ทุกข้อไป |
จำจะให้ไปหาพระราม | มาถามสอบกันจึ่งได้ |
เท็จจริงก็จะแจ้งประจักษ์ใจ | ที่ในสำนวนพาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ว่าแล้วจึ่งมีประกาศิต | สั่งวิษณุกรรม์เรืองศรี |
จงไปหาพระลักษมณ์พระจักรี | ยังที่สุวรรณพลับพลา |
บอกว่าเราผู้ฤทธิรงค์ | กับองค์อัชบาลนาถา |
เป็นสหายร่วมรักกันมา | ช้านานแต่ดึกดำบรรพ์ |
อันพระลักษมณ์พระรามเป็นหลาน | ของท้าวอัชบาลรังสรรค์ |
ก็นับในนัดดาเหมือนกัน | จงรำพันดั่งเราพาที |
เชิญให้พระองค์เสด็จมา | ยังมหายุทธภูมิชัยศรี |
แก้ความทศพักตร์อสุรี | ที่ประชุมฝูงเทพนิกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรมชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วเหาะระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงมรกตคีรี | เทเวศผู้มีอัชฌาสัย |
ตรงลงยังหน้าพลับพลาชัย | นั่งใกล้แล้วทูลพระทรงฤทธิ์ |
บัดนี้ท้าวมาลีวราช | พระบาทผู้ศักดาวาจาสิทธิ์ |
ซึ่งเป็นสหายร่วมชีวิต | รักสนิทกับองค์พระอัยกา |
ให้ข้ามาเฝ้าบาทบงสุ์ | พระทรงครุฑภุชพงศ์นาถา |
ด้วยทศกัณฐ์อสุรา | ฟ้องหากล่าวโทษพระภูมี |
หลายข้อแต่ล้วนฉกรรจ์ | ทรงธรรม์ไม่เชื่อยักษี |
ให้เชิญเสด็จพระจักรี | ไปที่สมรภูมิชัย |
จะได้ถามให้รู้ว่าใครผิด | พระทรงฤทธิ์จะตัดสินให้ |
ต่อหน้าเทวาสุราลัย | โดยในสุจริตสัจธรรม์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ได้ฟังพระวิษณุกรรม์ | ทรงธรรม์ฉงนสนเท่ห์นัก |
จึ่งตรัสแก่สุครีพวายุบุตร | อันไวยวุฒิปรีชาแหลมหลัก |
องคตพิเภกขุนยักษ์ | พร้อมพักตร์เฝ้าบาทภูวไนย |
นิลเอกนิลนนท์ชมพูพาน | สุรเสนสุรกานต์ทหารใหญ่ |
ทั้งชามพูวราชฤทธิไกร | อายุสม์ได้โกฏิปีปลาย |
ผู้ใดใครยังรู้เห็น | พระอัยกาเราเป็นสหาย |
กับท้าวมาลีผู้เลิศชาย | เพื่อนตายรักร่วมชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งชามพูวราชกระบี่ศรี |
ก้มเกล้ากราบทูลพระจักรี | ตามที่ได้รู้มาช้านาน |
ว่ามีอสุรพรหมหนึ่งนั้น | ตั้งพิธีกรรม์กล้าหาญ |
เพียรเฝ้าพระสยมภูวญาณ | จะใคร่เป็นประธานโลกา |
จึ่งขอพรพระจอมไกรลาส | ให้อำนาจปกไปทุกทิศา |
อีกทั้งมหาคทา | ศักดาเลิศลบธาตรี |
พระองค์จึ่งประสิทธิ์ประสาทให้ | ตามใจอสุรพรหมยักษี |
ครั้งนั้นองค์ท้าวมาลี | ภูมีกราบทูลพระทรงญาณ |
ว่าโอรสท้าวอโนมา | ครองอยุธยาราชฐาน |
ทรงนามชื่อท้าวอัชบาล | ผ่านฟ้าตั้งอยู่ในสัจธรรม์ |
เป็นที่พำนักหลักเกศ | นักพรตเทเวศทั้งสรวงสวรรค์ |
ซึ่งอวยพรให้แก่อสูรนั้น | เห็นมันจะกำเริบนัก |
จะเบียดเบียนมนุษย์เทวา | นักสิทธ์วิทยาทั้งไตรจักร |
ถึงท้าวอัชบาลรังรักษ์ | จะต่อด้วยขุนยักษ์ก็ยากใจ |
องค์พระสยมภูวนาถ | จึ่งประสาทพระขรรค์แก้วให้ |
ทั้งพรอันประเสริฐเลิศไกร | ใช้มาลีวราชเอามา |
ถวายแก่องค์ท้าวอัชบาล | อันเป็นประธานทุกทิศา |
ให้พระขรรค์ชนะแต่คทา | อสุรพรหมพาลาจงแพ้ฤทธิ์ |
แต่ครั้งนั้นมาทั้งสององค์ | จึ่งตั้งสัจดำรงสุจริต |
เป็นสหายเพื่อนตายเพื่อนชีวิต | รักสนิทร่วมทุกข์สุขกัน ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังเรื่องดึกดำบรรพ์ | อันชามพูวราชทูลมา |
สิ้นที่กินแหนงแคลงใจ | ภูวไนยแสนโสมนัสสา |
จึ่งสั่งสุครีพผู้ศักดา | ให้เตรียมวานรโยธี |
เราจะไปประณตบทบงสุ์ | องค์พระอัยกาเรืองศรี |
แก้ความทศกัณฐ์อสุรี | ยังที่สมรภูมิชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์กระบี่เป็นกระบวนพยุหบาตร | สิบหมู่องอาจแกล้วกล้า |
แต่ละตนล้วนมีฤทธา | เหาะฟ้าเดินนํ้าดำดิน |
บ้างรู้จำแลงแปลงกาย | หายตัวบังเลือมก็ได้สิ้น |
แต่ล้วนเคยมีชัยแก่ไพริน | อาจปล้นเมืองอินทร์ได้ดั่งใจ |
อันองคตคำแหงวายุบุตร | ทั้งสิบแปดมงกุฎทหารใหญ่ |
ให้เคียงข้างรถแก้วแววไว | ใกล้องค์ภูวไนยสี่กร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
จึ่งชวนพระลักษมณ์ฤทธิรอน | บทจรไปสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารทิพย์บุปผา |
สนับเพลาเครือหงส์อลงการ์ | ภูษาต่างสีท้องพัน |
ต่างทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ลายแย่งสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | พาหุรัดกุดั่นทองกร |
สอดใส่ธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎเพชรจำรัสประภัสสร |
ห้อยพวงมาลัยกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรด้วยโกมิน |
พระเชษฐานั้นทรงพรหมาสตร์ | พระลักษมณ์จับพลายวาตธนูศิลป์ |
สององค์กรายกรดั่งหงส์บิน | มาขึ้นรถอมรินทร์อลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงประดับมุกดาหาร |
บัลลังก์ล้วนแล้วแก้วประพาฬ | บุษบกแม้นพิมานในโสฬส |
เทียมด้วยอัสดรตัวดี | ทั้งสี่พื้นเทพบุตรหมด |
พระลักษมณ์นั่งประนมมาหน้ารถ | เพียงพระจันทร์ทรงกลดในอัมพร |
มาตุลีสารถีขับทะยาน | พลาหกเริงร่านดั่งไกรสร |
มยุรฉัตรพัดโบกจามร | แตรงอนกลองชนะประโคมครึก |
เสียงสินธพร้องมี่สนั่น | เสียงกงรถลั่นก้องกึก |
พลหาญหาญแห่โห่ฮึก | ขับกันคึกคึกรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามรบ | พระตรีภพผู้มีอัชฌาสัย |
ให้หยุดพหลพลไกร | มั่นไว้ตามกระบวนยาตรา |
แล้วเลื่อนรถรัตนมณี | ประทับเข้าข้างที่เบื้องขวา |
แห่งองค์สมเด็จพระอัยกา | งามสง่าดั่งรถพระสุริยัน |
สองกษัตริย์ถวายอภิวาทน์ | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางฝูงเทพเทวัญ | คอยฟังบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ครั้นเห็นพระลักษมณ์พระจักรี | มีความแสนโสมนัสนัก |
พินิจพิศดูรูปทรง | สององค์งามลํ้าทั้งไตรจักร |
คล้ายกันกับพระสหายรัก | ผิวพักตร์ลักขณาจำเริญใจ |
สมศักดิ์สุริย์วงศ์เทเวศ | จับเนตรดั่งดวงแขไข |
งามยิ่งอินทราสุราลัย | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
ดูก่อนพระรามพระลักษมณ์ | ผู้ทรงสิทธิ์ศักดิ์แกล้วกล้า |
เจ้าก็เป็นหลานมิตรสนิทมา | ดั่งนัดดาเราก็เหมือนกัน |
ฝ่ายว่าข้างทศพักตร์นี้ | อสุรีก็เป็นหลานขวัญ |
สามองค์ล้วนวงศ์เทวัญ | ทรงมหันตยศเลิศไกร |
ไฉนเจ้าไม่ครองนคเรศ | พี่น้องประเวศอยู่ป่าใหญ่ |
จนเกิดรบพุ่งชิงชัย | ถึงได้เข่นฆ่าราวี |
บัดนี้ทศกัณฐ์เขาเป็นโจทก์ | กล่าวโทษหลานรักทั้งสองศรี |
พระตรัสถามตามฟ้องอสุรี | จริงดั่งนี้หรือนัดดา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
น้อมเศียรสนองพระบัญชา | ซึ่งข้ามาอยู่พนาวัน |
เพราะด้วยพระแม่ไกยเกษี | เทวีมืดมัวโมหันธ์ |
ขอสัจบิตุรงค์ทรงธรรม์ | ให้พระพรตนั้นผ่านธานี |
กำจัดข้าจากนคเรศ | ให้ทรงซึ่งเพศเป็นฤๅษี |
อยู่ป่ากำหนดสิบสี่ปี | หลานนี้จึ่งต้องมาเดินไพร |
อันนางสีดายุพาพักตร์ | กับองค์พระลักษมณ์กันแสงไห้ |
ตามข้ามาอยู่พนาลัย | เป็นเพื่อนยากไร้ด้วยนัดดา |
วันหนึ่งจึ่งมีกวางทอง | ผิวพรรณผุดผ่องดั่งเลขา |
เดินดัดลัดตรงเข้ามา | ยังหน้าพระคันธกุฎี |
นางสีดาเห็นก็รักใคร่ | ร้องไห้วอนข้าบทศรี |
ให้ไปตามจับมฤคี | สุดที่จะขัดบังอร |
จึ่งให้พระลักษมณ์นุชนาถ | อยู่เฝ้าอัครราชดวงสมร |
ข้ารีบไปในพนาดอน | วางศรต้องกายมฤคา |
ล้มลงที่เนินริมทาง | กวางนั้นกลับเป็นยักษา |
แสร้งร้องด้วยกลอสุรา | กัลยาได้ยินก็ตกใจ |
จึ่งขับให้องค์พระลักษมณ์ | ไปตามหลานรักในป่าใหญ่ |
ครั้นกลับมาถึงตำหนักไพร | ไม่เห็นสีดาเทวี |
ตัวข้าพี่น้องเที่ยวเสาะหา | พบสดายุราชปักษี |
ปีกหักเจ็บชํ้าทั้งอินทรีย์ | อยู่ที่ชายป่าพนาดร |
บอกว่าทศเศียรขุนยักษ์ | ลักนางสีดาดวงสมร |
พามาโดยทางอัมพร | ได้ออกต่อกรอสุรา |
ข้าจึ่งรู้ว่าทศกัณฐ์ | นั้นใช้มารีศยักษา |
เป็นกวางไปลวงนางสีดา | แล้วลักพามาธานี |
หลานจึ่งจองถนนข้ามสมุทร | ใช้บุตรพาลีเรืองศรี |
ถือสารไปว่าโดยดี | ให้ส่งเทวีออกมา |
ทศพักตร์กลับว่าดื้อดึง | จึ่งได้ผิดกันกับยักษา |
ทั้งนี้เป็นความสัตยา | ใช่ว่าข้าแกล้งผูกพัน ฯ |
ฯ ๒๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ได้ฟังพระองค์วงศ์เทวัญ | ทรงธรรม์นิ่งนึกตรึกไป |
อันความทศพักตร์กับพระราม | ใจความหาไกลกันไม่ |
เท็จจริงจะอยู่ข้างผู้ใด | จะซักไล่ให้เห็นร้ายดี |
ตรัสแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนทศเศียรยักษี |
ข้อซึ่งว่าได้นารี | ในที่ดงแดนหิมวา |
ไม่มีพ่อแม่ลูกผัว | เที่ยวอยู่แต่ตัวอนาถา |
บัดนี้ข้างฝ่ายพระรามา | ว่าเป็นภัสดาทรามวัย |
ท่านใช้มารีศเป็นกวาง | ไปล่อลวงนางให้หลงใหล |
ครั้นพระลักษมณ์พระรามตามกวางไป | จึ่งลักนางมาไว้ในธานี |
ฝ่ายเขาให้การแบ่งปัน | ติดพันยกโทษยักษี |
ว่าเจ้าก่อเหตุแต่เดิมที | ยังจริงฉะนี้หรือขุนมาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรใจหาญ |
น้อมเศียรสนองพระโองการ | ซึ่งว่าหลานทำกลมารยา |
ให้มารีศแปลงกายเป็นกวาง | ไปล่อลวงนางที่ในป่า |
ไม่จริงเหมือนคำให้การมา | พระรามแกล้งว่าเอาแต่ดี |
แต่ข้าได้สีดาเยาวมาลย์ | มาไว้ในอุทยานสวนศรี |
ข้านานประมาณขวบปี | อสุรีก็แจ้งทั้งเวียงชัย |
จะมีผู้ใดใครตามมา | ว่าเป็นผัวสีดาก็หาไม่ |
ต่อศึกล่วงข้ามสมุทรไท | จึ่งใช้องคตวานร |
ถือสารพระรามมาพาที | ว่าเป็นสามีดวงสมร |
ลิงนั้นอ้างอวดฤทธิรอน | หักประตูพระนครเข้ามา |
ผิดทูตจำทูลสารสนอง | จองหองเย่อหยิ่งให้เกินหน้า |
หยาบช้าพาทีอหังการ์ | ไม่เกรงข้าผู้พงศ์พรหมาน |
แล้วหักโหมโจมเข้าพิฆาต | ถึงในปราสาทราชฐาน |
ฆ่าสี่เสนีวายปราณ | หลานได้อัปยศพันทวี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชเรืองศรี |
ได้ฟังทศกัณฐ์อสุรี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ดูก่อนพระรามหลานรัก | อันคำทศพักตร์ยักษา |
ให้การแก้เกี่ยวเข้ามา | ตัวเจ้าจะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพจมาน |
ข้าให้องคตวานร | ถือลักษณ์อักษรไปว่าขาน |
โดยธรรม์สุจริตบุราณ | อสุรีปิดทวารเมืองไว้ |
องคตว่ากล่าวโดยดี | ยักษีก็ไม่เปิดให้ |
จึ่งทลายประตูเข้าไป | ถึงองค์ท้าวไททศกัณฐ์ |
แจ้งความตามเรื่องราชสาร | พญามารกริ้วโกรธหุนหัน |
ใช้สี่เสนีกุมภัณฑ์ | ออกโรมรันจะจับองคต |
วานรจึงต้องชิงชัย | ยักษ์สู้ไม่ได้ก็ตายหมด |
กลับมาให้การเลี้ยวลด | เป็นคำคดเคลือบแฝงเจรจา |
แรกข้ายังไม่ข้ามสมุทร | หยุดทัพอยู่ที่ชายป่า |
พิเภกผู้น้องอสุรา | เห็นว่าทำผิดประเวณี |
รักพี่ได้ทูลทัดทาน | พญามารกลับโกรธยักษี |
ตัดขาดจากญาติไม่ไยดี | ขับหนีเสียจากเวียงชัย |
เป็นความสัจจริงของข้า | จะแกล้งผูกพันว่านั้นหาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | จงได้ดำริด้วยปรีชาญ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ปิ่นยอดฟ้ามหาสถาน |
ฟังพระจักรีให้การ | ผ่านฟ้ารำพึงคะนึงคิด |
อันคำทศพักตร์กับพระราม | ข้อความไม่รู้ว่าใครผิด |
ตัวกูผู้ทรงทศพิธ | จะพิจารณาให้เป็นธรรม์ |
คิดแล้วจึ่งมีบัญชา | ดูราพระรามรังสรรค์ |
อันนางสีดาวิลาวัณย์ | ใครให้ปันเจ้าแต่เดิมที |
ยังมีผู้ใดรู้เห็น | เมื่อได้มาเป็นมเหสี |
ถิ่นฐานสุริย์วงศ์ของเทวี | อยู่ที่แห่งใดนะนัดดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
นบนิ้วสนองพระบัญชา | อันนางสีดายุพาพาล |
กำเนิดในดวงประทุมมาศ | ประหลาดกว่ามนุษย์ในสงสาร |
พระชนกฤๅษีผู้ทรงญาณ | ได้นางเยาวมาลย์มาเลี้ยงไว้ |
ยังห้องพระคันธกุฎี | จนองค์เทวีจำเริญใหญ่ |
พระบิดาลาพรตจากไพร | คืนเข้าเวียงชัยมิถิลา |
ให้ตั้งพิธียกศิลป์ | กษัตริย์มาสิ้นทุกทิศา |
อันหมู่ฤๅษีเทวา | ก็พร้อมหน้าช่วยการสยุมพร |
องค์ท้าวชนกจักรวรรดิ | ให้ผลัดกันยกธนูศร |
ข้ายกได้ด้วยสถาวร | พระบิดรชื่นชมยินดี |
จึ่งแต่งการมงคลอภิเษก | ให้นางเป็นเอกมเหสี |
บรรดาเทวาทั้งนี้ | ก็แจ้งแต่เดิมทีมาด้วยกัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | ให้การเป็นธรรม์ทุกสิ่งไป |
ครั้นจะพิพากษาสองสถาน | เผชิญพยานยังไม่ได้ |
ข้อนี้จำกูจะงดไว้ | จะให้ไปหาคนกลาง |
ออกมาซักไซ้ไต่ถาม | สอบใส่ใจความให้กระจ่าง |
ที่เคลือบแฝงจะแจ้งเพราะคำนาง | ข้ออ้างจึ่งจะสืบต่อไป |
คิดแล้วจึ่งมีประกาศิต | ให้พระวิษณุกรรมเป็นนายใหญ่ |
คุมหมู่คนธรรพ์อันว่องไว | เข้าไปหานางสีดามา |
อันทศพักตร์กับพระราม | จะมีความรังเกียจกังขา |
สองเจ้าจงแต่งเสนา | ซึ่งมีปรีชากำกับกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
น้อมเศียรถวายบังคมคัล | จึ่งบัญชาสั่งหนุมาน |
ตัวท่านผู้มีฤทธิรอน | จงคุมวานรทวยหาญ |
ไปด้วยเทเวศชัยชาญ | ตามราชโองการอัยกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราประหวั่นพรั่นใจ |
ด้วยจะเอาสีดามาไถ่ถาม | จะออกความจับเท็จกูได้ |
สุดคิดที่จะบิดเบือนไป | จะอุบายแก้ไขก็ใช่ที |
จำเป็นจำมีบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษี |
ตัวท่านจงคุมอสุรี | ไปสวนมาลีกับวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระวิษณุกรรมชาญสมร |
พร้อมกันแล้วรีบระเห็จจร | เผ่นขึ้นอัมพรด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดเดี๋ยวก็ถึงสวนขวัญ | ขององค์ทศกัณฐ์ยักษา |
พากันลงจากเมฆา | เข้ามาเฝ้าองค์นางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งลงแล้วแจ้งแสดงเหตุ | แก่องค์อัคเรศมเหสี |
ว่าพระอัยกาธิบดี | ชื่อมาลีวราชฤทธิรอน |
เธอทรงศักดาวาจาสิทธิ์ | สถิตยังยอดฟ้าสิงขร |
ทศพักตร์กล่าวโทษพระสี่กร | เชิญให้ภูธรเสด็จมา |
อยู่ยังสมรภูมิชัย | ภูวไนยจะทรงพิพากษา |
ท่ามกลางฝูงเทพเทวา | จึ่งให้หาสมเด็จพระจักรี |
มาถามตามฟ้องทศกัณฐ์ | ข้อความติดพันถึงโฉมศรี |
ให้ข้ามาเชิญเทวี | ภูมีจะว่าโดยธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังพระวิษณุกรรม์ | รำพันออกนามพระจักรา |
ค่อยคลายอาดูรพูนเทวษ | เยาวเรศแสนโสมนัสสา |
วันนี้จะได้เห็นพระภัสดา | แต่จากบาทามาหลายปี |
ทั้งจะได้ชมดวงพักตร์ | พระลักษมณ์อนุชาเรืองศรี |
คิดแล้วจึ่งมีเสาวนีย์ | แก่ตรีชฎาผู้ร่วมใจ |
ว่าบัดนี้องค์พระอัยกา | เสด็จมาจะทรงวินิจฉัย |
บัญชาให้หาเราออกไป | ในที่ประชุมเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมโหทรคนขยัน |
ให้เชิญบุษบกแก้วแพรวพรรณ | มารับองค์นางกัลยาณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | แสนสาวอสุรีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ขึ้นสู่บุษบกวิมานทรง | พร้อมฝูงอนงค์ซ้ายขวา |
ทั้งเบญกายตรีชฎา | นั่งหน้านบนิ้วประนมกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
มะลิม
๏ บุษเอยบุษบกแก้ว | แล้วด้วยประพาฬรัตน์ประภัสสร |
เรือนเก็จเสากาบกระหนกงอน | ห้ายอดอรชรด้วยเนาวรัตน์ |
ประดับรูปเทพนมประนมนิ้ว | ครุฑจับนาคหิ้วยืนหยัด |
ลอยลิ่วปลิวไปดั่งลมพัด | งามทัดเทียมรถพระสุริยน |
ไขแสงแข่งสีสองดวง | โชติช่วงมาในโพยมหน |
งามพระลักษมีนิรมล | ดั่งทรงไพชยนต์วิมานมา |
งามหมู่วานรทวยหาญ | ล้อมองค์เยาวมาลย์อยู่เบื้องขวา |
ข้างซ้ายงามแสนอสุรา | เทวัญนำหน้าเสด็จจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงลงจากอากาศ | งามเพียงดั่งราชหงส์ร่อน |
สถิตยังหน้ารถอลงกรณ์ | ภูธรอัยกาธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ