- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
เสวยสุขอยู่ทุกทิวา | ในทวีปลงกากรุงไกร |
ประกอบด้วยจัตุรงค์ทวยหาญ | ศฤงคารบริวารไม่นับได้ |
ทรงอานุภาพปราบไป | ทั่วในสามภพธาตรี |
เป็นมหาดิเรกเอกองค์ | กว่าเหล่าสุริย์วงศ์ยักษี |
ร้อยเอ็ดกษัตริย์อสุรี | ถึงปีมาถวายบรรณาการ |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | กับมณโฑอัครราชยอดสงสาร |
ในที่ห้องรัตน์ชัชวาล | พญามารก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นเวลาล่วงปัจฉิมยาม | เรืองอร่ามด้วยแสงแขไข |
เหตุซึ่งจะสิ้นชีวาลัย | ให้เกิดนิมิตอัศจรรย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ตกใจตื่นจากไสยาสน์ | หวั่นหวาดตรึกไปด้วยความฝัน |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวรรณ | กุมภัณฑ์สระสรงสาคร |
ประดับเครื่องสำหรับกษัตริย์ทรง | อลงกตจำรัสประภัสสร |
เสด็จย่างเยื้องบทจร | กรายกรออกพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสด้วยแก้วสลับสี |
พร้อมหมู่อสูรเสนี | สุริย์วงศ์กวีโหรา |
งามดั่งดวงดารากร | แวดล้อมจันทรในเวหา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่พญาพิเภกกุมภัณฑ์ |
คืนนี้ใกล้รุ่งราตรีกาล | บันดาลนิมิตความฝัน |
ว่ามีพญาแร้งชาญฉกรรจ์ | ขนนั้นขาวผ่องทั้งอินทรีย์ |
บินมาแต่เบื้องบูรพทิศ | สำแดงฤทธิ์ดั่งราชปักษี |
ข้ามมหาคงคาวารี | ร่อนอยู่ตรงที่หน้าพระลาน |
ปะกับแร้งดำตัวกล้า | อันมาบัจจิมทิศาล |
ตีกันในกลางคัคนานต์ | แร้งดำตัวหาญนั้นเสียชัย |
ตกลงยังพื้นปัถพี | สกุณีไม่บินไปได้ |
กลิ้งเกลือกเสือกสิ้นชีวาลัย | กลายไปเป็นรูปอสุรา |
แล้วว่าเอากะลาน้ำมันยาง | ใส่ไส้วางลงเหนือหัตถา |
ยังมีหญิงหนึ่งพาลา | วิ่งเข้ามาจุดอัคคี |
น้ำมันแห้งสิ้นไส้ชวลิต | กะลาไหม้ไฟติดมือพี่ |
พิษเพลิงร้อนทั่วอินทรีย์ | ฝันนี้ดีร้ายประการใด ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
พิเคราะห์ตามความฝันก็พรั่นใจ | ทอดถอนฤทัยคะนึงคิด |
เสียดายพิภพกุมภัณฑ์ | แสนสนุกดั่งชั้นดุสิต |
จะแหลกลาญด้วยหมู่ปัจจามิตร | อันมาแต่ทิศบูรพา |
คิดแล้วยอกรบังคม | ทูลพระบรมเชษฐา |
อันซึ่งฝันว่ากะลา | ได้แก่ลงกากรุงไกร |
เชื้อไส้นั้นได้แก่พระองค์ | นํ้ามันคือพระวงศ์น้อยใหญ่ |
เพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์ลามไป | ได้แก่นวลนางสีดา |
อันหญิงซึ่งวิ่งมาจุดไฟ | ได้แก่นางสำมนักขา |
แร้งเผือกซึ่งโบยบินมา | คือว่าพระรามจักรี |
แร้งดำนั้นคือพระองค์ | ผู้วงศ์พรหเมศเรืองศรี |
จะได้รณรงค์ราวี | ด้วยสามีสีดานงลักษณ์ |
ฝันนี้มิได้สถาวร | จะร้อนทั่วลงกาอาณาจักร |
ทั้งพวกอสูรหมู่ยักษ์ | จะซบพักตร์รํ่าร้องรักกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรรังสรรค์ |
ได้ฟังดั่งใครมาฟาดฟัน | หวาดหวั่นฤทัยรำพึงคิด |
แสนทุกข์ทุกข์ถึงชีวา | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
เจ้าผู้ร่วมวงศ์ชีวิต | นิมิตสิอัปมงคล |
จะเสียเคราะห์สะเดาะประการใด | จึ่งจะได้จำเริญสถาผล |
จงเร่งคิดอ่านผ่อนปรน | ให้พ้นโทษร้ายราคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | น้อมเศียรชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งจะเสียเคราะห์สะเดาะนาม | ตามในคัมภีร์หามีไม่ |
อันจะผ่อนปรนให้พ้นภัย | มิให้อันตรายชีวิต |
จะได้ก็ด้วยสัตย์ธรรม์ | ถือมั่นในความสุจริต |
จงตั้งอยู่ในทศพิธ | ดับจิตโมหันธ์ฉันทา |
อย่าโลภหลงงงงวยด้วยรสรัก | คิดหักซึ่งความเสน่หา |
จงส่งองค์นางสีดา | ไปให้สามีอรไท |
ก็จะสิ้นอันตรายภัยพาล | ดับการรณรงค์เสียได้ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | ไม่ไร้อัคเรศบังอร |
แม้นมาตรปรารถนาจะเชยชิด | จะแสนสนิทนางเทพอัปสร |
ก็จะได้ด้วยเดชภูธร | อย่าอาวรณ์ในหญิงที่ผัวมี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศเศียรยักษี |
ได้ฟังอนุชาพาที | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
สิบปากแผดผาดตวาดร้อง | กึกก้องนิเวศน์วังสถาน |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้สาธารณ์ | อหังการองอาจเจรจา |
มิได้อยู่ในกตัญญู | มาดูหมิ่นกูผู้เชษฐา |
เสียทีที่เลี้ยงมึงมา | รักดั่งดวงตาดวงใจ |
คิดว่าเกิดร่วมอุทร | จะร่วมทุกข์ร่วมร้อนกันได้ |
มิรู้ทรลักษณ์จังไร | กลับไปเป็นพวกไพรี |
จะให้ส่งสีดาโฉมงาม | ไปแก่พระรามเรืองศรี |
มึงช่างว่าได้ถึงเพียงนี้ | ดั่งกูไม่มีศักดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
เห็นองค์สมเด็จพระพี่ยา | โกรธาคือไฟบรรลัยกัลป์ |
ความเกรงความกลัวเป็นสุดคิด | ดั่งหนึ่งชีวิตจะอาสัญ |
นบนิ้วประนมบังคมคัล | กุมภัณฑ์กราบทูลสนองไป |
น้องนี้จงรักภักดี | จะคิดว่าเป็นพี่นั้นหาไม่ |
หมายเหมือนบิตุรงค์เรืองชัย | อันได้ก่อเกล้าแต่ก่อนกาล |
จึงทูลทำนายทายฝัน | สำคัญว่าจะให้เป็นแก่นสาร |
มิได้ทรยศต่อบทมาลย์ | เข้าด้วยพวกพาลไพรี |
พระองค์อย่าแหนงแคลงใจ | ในข้าผู้รองบทศรี |
ว่านี้โดยสัจจวาที | ภูมีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศเศียรยักษา |
ได้ฟังถ้อยคำอนุชา | ดั่งเอาสาตรามาแทงกรรณ |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ร้องตวาดผาดเสียงดั่งฟ้าลั่น |
มึงอย่าแต่งว่าไอ้อาธรรม์ | ขาดพี่น้องกันในวันนี้ |
ซึ่งเอ็งยกยอรามลักษมณ์ | หนักยิ่งกว่าวงศ์ยักษี |
ว่ากูชั่วช้าไม่ดี | มึงนี้อย่าอยู่ในเมืองมาร |
ว่าพลางฉวยชักพระขรรค์ | ขบฟันเงือดเงื้อจะสังหาร |
โจนจากแท่นแก้วสุรกานต์ | โถมทะยานไล่องค์อนุชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ตกใจกลัวจะม้วยชีวา | อสุราหลบหลีกพัลวัน |
เข้าไปแอบองค์อินทรชิต | ร้องขอชีวิตตัวสั่น |
ครั้นเชษฐาไล่จะใกล้ทัน | วิ่งหากุมภกรรณอสุรี |
อันหมู่สุริย์วงศ์พงศา | เสนาโยธายักษี |
วิ่งพะปะกันไม่สมประดี | อึงมี่ล้มลุกคลุกคลาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
มิได้ฟันฟอนรอนราญ | พญามารจึ่งสั่งเสนา |
จงริบไอศูรย์สมบัติ | สารพัดเป็นเครื่องยศถา |
แล้วขับเสียจากพารา | ให้สมน้ำหน้าไอ้กาลี |
อันอีตรีชาดาเมียนั้น | ใช้มันเป็นทาสทาสี |
ให้รักษาสีดาเทวี | อยู่ที่ในสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | พาพิเภกขุนมารออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
เดินตามมหาเสนา | โศกาครวญครํ่ารํ่าไร |
โอ้ว่าตัวกูครั้งนี้ | ความผิดจะมีก็หาไม่ |
กตัญญูโดยจริงทุกสิ่งไป | ควรหรือมาได้อัประมาณ |
เสียแรงรู้ไตรเพทเวทมนตร์ | จะช่วยตนไม่รอดสังขาร |
ดูดั่งทรลักษณ์สาธารณ์ | ไม่เห็นการจะเป็นถึงเพียงนี้ |
คิดพลางสะท้อนถอนใจ | ชลนัยน์อาบพักตร์ยักษี |
ก้มหน้าย่างเยื้องจรลี | ไปยังที่อยู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกอดเมียรัก | สะพักไว้แล้วก็รับขวัญ |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | รำพันสะอื้นอาลัย |
โอ้เจ้าดวงเนตรของพี่เอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
จะจำจากพรากพลัดกันไป | จำเป็นจำไกลกันทั้งรัก |
เหตุด้วยพญายักษา | ปิ่นเกล้าลงกาอาณาจักร |
นิมิตฝันร้ายทรลักษณ์ | ให้พี่ทายทักว่าร้ายดี |
กตัญญูทูลโดยสัตย์ธรรม์ | ให้ช่วยชีวันยักษี |
มิให้อันตรายราคี | กลับกริ้วโกรธพี่จะรอนราญ |
ให้ริบสวรรยาราชัย | ขับไล่เสียจากราชฐาน |
อันซึ่งตัวเจ้าเยาวมาลย์ | ประทานให้องค์นางสีดา |
ตั้งแต่วันนี้จะแลลับ | ไหนจะได้กลับมาเห็นหน้า |
จะแสนทุกข์ไปทุกเวลา | กินแต่นํ้าตาไม่ราวัน |
รํ่าพลางโอบอุ้มลูกรัก | พิศพักตร์จูบจอมถนอมขวัญ |
แม่ลูกอุตส่าห์รักษากัน | สั่งแล้วกุมภัณฑ์ก็โศกี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางตรีชาดายักษี |
อันเป็นองค์อัครเทวี | ทั้งพระบุตรีเบญกาย |
แม่ลูกครั้นได้แจ้งเหตุ | แสนทุกข์แสนเทวษใจหาย |
ดั่งพระกาลมาผลาญชีวาวาย | โฉมฉายกอดบาทเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ เมียรักว่าโอ้พระทรงเดช | พระคุณเคยปกเกศเกศี |
เป็นสุขทุกทิวาราตรี | ควรหรือภูมีจะจากไป |
ข้าบาทไร้ญาติอนาถนัก | จะผินพักตร์ไปพึ่งผู้ใดได้ |
มีแต่จะชอกชํ้าระกำใจ | ด้วยไกลเบื้องบาทพระภูธร |
เบญกายว่าโอ้พระบิตุเรศ | พระองค์เคยปกเกศมาแต่ก่อน |
ทรงคุณกว้างลึกกว่าสาคร | เช้าคํ่าพรํ่าสอนลูกรัก |
อยู่หลังจะตั้งแต่แสนโศก | แสนวิโยคพ่างเพียงอกหัก |
เคยเห็นมิได้เห็นพักตร์ | น่าที่ลูกรักจะวายปราณ |
ตรีชาดาว่าโอ้อกเอ๋ย | พระองค์เคยเป็นสุขเกษมศานต์ |
พร้อมหน้าสาวสนมบริวาร | ในที่ราชฐานวังจันทน์ |
ตัวข้าได้รองสนองบาท | พระสามีธิราชรังสรรค์ |
ทีนี้จะแลลับไม่เห็นกัน | ดั่งสุริยันเลี้ยวเหลี่ยมเมรุไกร |
บุตรีว่าโอ้พระบิดร | เวราแต่ก่อนมาซัดให้ |
พระองค์จะจากลูกไป | มิได้แทนคุณที่เลี้ยงมา |
สามกษัตริย์แสนโศกรักกัน | รำพันเศร้าโทมนัสสา |
ต่างองค์ต่างทรงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่เสนายักษี |
บรรดามาริบอสุรี | ต่างทำบาญชีสอบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เครื่องต้นเครื่องทรงอลงการ์ | เงินทองเสื้อผ้าทุกสิ่งสรรพ์ |
แก้วแหวนเครื่องใช้รูปพรรณ | กำนัลทาสาข้าไท |
จึ่งให้ขนหีบปัดข้าวของ | ส่งเข้ายังท้องพระคลังใหญ่ |
บ้างพานางตรีชาดาไป | ให้เป็นข้าใช้นางสีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วจึ่งเปาวนาสูร | ทูลพญาพิเภกยักษา |
พระองค์ก็ทรงปรีชา | จะแสนโศกโศกาไยมี |
เชิญไปเสียจากกรุงมาร | ตามโองการท้าวยักษี |
อย่าให้ล่วงเวลาราตรี | ข้านี้จะมีโทษทัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
สะท้อนถอนใจจาบัลย์ | ผันพักตร์มาดูเบญกาย |
ชลนัยน์ไหลนองคลองเนตร | แสนทุกข์แสนเทวษใจหาย |
ลงจากปราสาทแก้วแพรวพราย | บ่ายไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
ครั้นเห็นพิเภกอสุรา | เดินมาผู้เดียวก็อาลัย |
ต่างพิศดูแล้วสงสาร | หมู่มารไม่กลั้นน้ำตาได้ |
บ้างยอกรค่อนทรวงเข้ารำไร | อึงไปทั้งราชธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ครั้นออกมานอกพระบูรี | โศกีกำสรดระทดใจ |
โอ้ว่าอนิจจาตัวกู | จะบ่ายหน้าไปอยู่ด้วยใครได้ |
จะพึ่งสุริย์วงศ์องค์ใด | ก็อยู่ในอำนาจทศกัณฐ์ |
ตั้งแต่นี้ไปจะทนทุกข์ | เสื่อมสุขสิ้นความเกษมสันต์ |
น่าที่จะม้วยชีวัน | อยู่ในอรัญกันดาร |
เสียแรงเกิดเป็นกษัตรา | สุริย์วงศ์พรหมามหาศาล |
ดั่งชาติทรลักษณ์จัณฑาล | รํ่าพลางขุนมารดำเนินจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงท่าฝั่งพระสมุทร | ก็หยุดอยู่แทบเชิงสิงขร |
จึ่งพิเคราะห์ชันษาพยากรณ์ | พฤหัสนั้นจรมาต้องจันทร์ |
ให้โทษเพียงจากถิ่นฐาน | แต่ไม่ถึงกาลอาสัญ |
จะได้ที่อุปถัมภ์สำคัญ | ท่านนั้นคือองค์พระจักรา |
มาตั้งอยู่ฝั่งอุดรทิศ | ก็มีจิตแสนโสมนัสสา |
หมายมั่นเขาคันธกาลา | แล้วบ่ายหน้าเหาะข้ามสมุทรไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยลิ่วปลิวมาในอัมพร | ล่วงมหาสาครกว้างใหญ่ |
เห็นเนินทรายชายป่าพนาลัย | ก็ลงในพ่างพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ผู้เดียวดัดดั้นอรัญเวศ | ทางทุเรศข้ามห้วยเหวละหาน |
แสนยากลำบากกันดาร | ขุนมารก็รํ่าโศกี |
โอ้ว่าเสียแรงกูเกิดมา | ในวงศ์พรหมาเรืองศรี |
นับเนื่องแต่ท้าวสหบดี | ครั้งนี้ไม่มีที่พึ่งใคร |
เดชะความสัตย์ข้าสุจริต | จะอิจฉาญาติมิตรก็หาไม่ |
ขอเทวัญบันดาลดลใจ | ให้ไปพบองค์พระสี่กร |
รํ่าพลางบ่ายหน้าจรจรัล | สู่คันธกาลาสิงขร |
เลี้ยวลัดดัดดั้นพนาดร | บทจรไปตามมรรคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่วานรทัพหน้า |
ผลัดกันตระเวนอยู่อัตรา | เที่ยวมาตามทางพนาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เหลือบแลไปเห็นอสุรี | เดินโศกโศกีละห้อยไห้ |
ออกนามสมเด็จพระภูวไนย | ประหลาดใจจึ่งวิ่งวุ่นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างเข้าล้อมหน้าล้อมหลัง | คับคั่งรอบกายซ้ายขวา |
บ้างยุดไหล่ยุดกรอสุรา | วานรฉุดคร่าไม่ปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ตกใจตะลึงทั้งอินทรีย์ | จึ่งมีวาจาถามไป |
ดูก่อนโยธาวานร | มาฉุดกรลากคร่าเราไปไหน |
หยาบช้าสามารถบังอาจใจ | เราผิดสิ่งไรจงบอกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลเอกนายใหญ่ใจกล้า |
ได้ฟังจึ่งมีวาจา | ว่าเหวยอสุราอาธรรม์ |
ตัวเราเหล่านี้เป็นทหาร | องค์พระอวตารรังสรรค์ |
บัดนี้พระองค์ทรงสุบรรณ | ยกพวกพลขันธ์โยธี |
จะข้ามไปเกาะลงกา | มล้างเหล่าพาลายักษี |
ตัวท่านเป็นพวกอสุรี | เรานี้จะจับเอาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
แจ้งความออกนามพระภูวไนย | มีใจชื่นชมด้วยสมคิด |
จึ่งกล่าววาจาว่าวอน | ดูก่อนทหารพระจักรกฤษณ์ |
เรานี้มิใช่ปัจจามิตร | ตั้งใจสุจริตเสาะมา |
ท่านจงช่วยพาเข้าไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าสามภพนาถา |
จะเป็นข้าใต้เบื้องบาทา | ไปกว่าชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลเอกผู้เป็นนายใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | ก็พาไปที่ประชุมโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าอภิวันท์ | ลูกพระสุริยันเรืองศรี |
แจ้งความตามพบอสุรี | ข้านี้จับเอาตัวมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
ครั้นเหลือบแลเห็นอสุรา | จึ่งมีวาจาถามไป |
ว่าเหวยดูก่อนยักษี | เอ็งนี้บ้านเมืองอยู่ไหน |
นามวงศ์พงศ์เผ่าผู้ใด | เหตุไรโศกาจาบัลย์ |
ออกนามสมเด็จพระหริวงศ์ | ผู้พงศ์อิศเรศรังสรรค์ |
ประสงค์สิ่งใดกุมภัณฑ์ | ไม่กลัวชีวันมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | อันตัวของข้าอสุรี |
ชื่อข้าพิเภกกุมภัณฑ์ | เป็นน้องทศกัณฐ์ยักษี |
ร่วมพระบิตุเรศชนนี | อยู่ในบูรีลงกา |
พระยามารนั้นฝันเห็นร้าย | ให้ทำนายโดยสุบินยักษา |
กริ้วโกรธให้ริบสวรรยา | แล้วขับมาจากเวียงชัย |
รำลึกตรึกดูไม่เล็งเห็น | ผู้ใดจะเป็นที่พึ่งได้ |
จึ่งร้องไห้หาพระภูวไนย | ตั้งใจเป็นข้าพระจักรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
แต่ซักไซ้ไล่เลียงอสุรี | จนสิ้นที่กินแหนงแคลงการ |
แล้วพาคำแหงวายุบุตร | กับสิบแปดมงกุฎทวยหาญ |
นิลพัทองคตชมพูพาน | คลานเข้าไปเฝ้าพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
วันนี้โยธาวานร | เที่ยวจรตระเวนพนาลี |
จับได้อสูรกุมภัณฑ์ | นามมันพิเภกยักษี |
เป็นน้องทศกัณฐ์อสุรี | พี่ชายขับหนีจากลงกา |
ตั้งใจมาเป็นข้าบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
แม้นพระองค์มิทรงพระเมตตา | อสุราจะถวายชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังโอรสพระสุริยัน | ทรงธรรม์มีราชวาที |
นิลเอกจงกลับออกไป | พาไอ้พิเภกยักษี |
เข้ามายังหน้าพลับพลานี้ | กูจะดูท่วงทีขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลเอกผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งบอกแก่พิเภกขุนยักษ์ | พระนารายณ์ทรงจักรให้หา |
ว่าพลางกุมกรอสุรา | พาเข้าไปเฝ้าทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | อสุรีคอยฟังพระโองการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
พินิจพิศดูขุนมาร | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสถามไป |
ดูก่อนพิเภกกุมภัณฑ์ | คำเอ็งว่านั้นกูสงสัย |
อันพี่น้องร่วมท้องร่วมใจ | เป็นที่รักใคร่กันมา |
ข้อความก็แต่เพียงนี้ | ผิดทีกับทำโทษา |
หรือแกล้งแต่งกลมารยา | ตัวเอ็งจงว่าแต่จริงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังพจนารถภูวไนย | จับใจดั่งอมฤตรส |
น้อมเศียรลงถวายอภิวาทน์ | แล้วทูลฉลองบาทบงกช |
ตัวข้ามิได้ทรยศ | คิดคดเป็นกลอุบายมา |
ทศพักตร์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม์ | โมหันธ์ทุจริตอิจฉา |
ฝันร้ายทำนายตามตำรา | ว่าจะสิ้นชีพชีวี |
ให้ส่งองค์สีดาวรนาฏ | มาถวายเบื้องบาทบทศรี |
กลับกริ้วโกรธาจะฆ่าตี | ริบราชย์ขับหนีจากเวียงชัย |
ตัวข้าไม่มีที่พึ่ง | ซึ่งจะช่วยชีวิตไว้ได้ |
ทั้งไม่มีกำลังฤทธิไกร | รู้แต่ไตรเพทโหรา |
จึ่งตั้งใจมาเป็นข้าบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
ไปกว่าจะสิ้นชีวา | ผ่านฟ้าจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีนิ่งนึกตรึกไป |
แล้วมีมธุรสพจนารถ | แก่เสนามาตย์น้อยใหญ่ |
บัดนี้อสุรีหนีภัย | ตั้งใจมาฝากชีวา |
ไม่ควรจะเลี้ยงขุนยักษ์ | หรือจักเลี้ยงได้ให้เร่งว่า |
ตัวมันก็รู้โหรา | แต่เป็นอนุชาทศกัณฐ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
ท้าวพญาวานรทั้งนั้น | ได้ฟังบรรหารพระจักรี |
ต่างตนถวายอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
ก็ปรึกษาพร้อมกันทันที | ถ้วนถี่โดยบทพระอัยการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วจึ่งกราบบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์มหาศาล |
อันซึ่งพิเภกขุนมาร | ให้การยั่งยืนแต่เดิมมา |
เห็นจริงว่าผิดกับพี่ชาย | กลัวตายจึ่งหนีมาหา |
โดยสัตย์สุจริตอสุรา | ไม่เป็นมารยาพิราใน |
ถึงกระนั้นก็พวกปัจจามิตร | จะวางจิตว่าดีก็มิได้ |
ชอบให้ทำสัตย์สาบานไว้ | ต่อใต้เบื้องบาทพระจักรี |
แล้วจึ่งเอาใช้ในสงคราม | จะเกรงขามอะไรแก่ยักษี |
แม้นไม่จงรักภักดี | จึ่งมล้างชีวีให้มรณา |
ถ้าว่าสุจริตซื่อตรง | การณรงค์จะทำไปภายหน้า |
เกลือกจะขัดสนสิ่งใดมา | จะได้ถามกิจจาอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังคำปรึกษาเสนี | ดั่งทิพย์วารีมาเจือใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพทหารใหญ่ |
จงเอาพรหมาสตร์ศรชัย | สรงน้ำตั้งไว้เป็นประธาน |
แล้วให้พิเภกอสุรี | ทำสัจจวาทีพิษฐาน |
โดยขนบธรรมเนียมโบราณ | ต่อหน้าทหารพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระสุริยารังสรรค์ |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลเชิญศรมาทันที |
วางลงเหนือบนพานแก้ว | แล้วยกทูนเกล้าเกศี |
ก็พาพิเภกอสุรี | ไปที่ประชุมวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเอานํ้าหอมใสสะอาด | โสรจสรงพรหมาสตร์พระแสงศร |
ให้น้องทศพักตร์ฤทธิรอน | ชุลีกรตั้งความสัตยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
น้อมเศียรกราบลงด้วยปรีดา | อสุราตั้งสัตย์สาบาน |
ขอฝูงอมรเทเวศร์ | อันเรืองเดชสถิตทุกสถาน |
ทั้งหกสวรรค์ชั้นวิมาน | จงเป็นทิพพยานครั้งนี้ |
แม้นข้ามิตรงต่อเบื้องบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
เข้าด้วยพวกพาลไพรี | มีจิตคิดคดเป็นกลมา |
ขอให้พระแสงศรสิทธิ์ | สังหารชีวิตของข้า |
แล้วรับพระพิพัฒน์สัตยา | จบเหนือเกศาดื่มกิน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุครีพเจ้าเมืองขีดขิน |
ครั้นเสร็จสาบานอสุรินทร์ | สิ้นที่กินแหนงในวิญญาณ์ |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนพิเภกยักษา |
ตัวท่านเป็นน้องเจ้าลงกา | สุริย์วงศ์พรหมาเลิศไกร |
เราเป็นอนุชาพาลี | หน่อพระรวีสูงใหญ่ |
ครอบครองขีดขินเวียงชัย | โภไคศวรรยาเสมอกัน |
เราสองได้รองธุลีบาท | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ล้วนตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม์ | เกียรตินั้นจะชั่วกัลปา |
จะฉลองบทมาลย์ในการยุทธ์ | ไปกว่าจะสุดสังขาร์ |
ควรเป็นสหายร่วมชีวา | ครองความสัจจาด้วยกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังขุนกระบี่ก็ดีใจ | ดั่งได้ช่อชั้นดุษฎี |
จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | ดูก่อนท่านผู้จำเริญศรี |
อันซึ่งว่ามาทั้งนี้ | ตัวข้ายินดียิ่งนัก |
มิเสียทีที่ตั้งใจมา | รองเบื้องบาทาพระทรงจักร |
เราสองควรครองความรัก | ภักดีสุจริตกันไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
ทั้งน้องท้าวเจ้าลงกากรุงไกร | ต่างตนมีใจปรีดา |
จึ่งตั้งสัตยาสาบาน | ท่ามกลางทหารพร้อมหน้า |
เป็นสหายรักร่วมชีวา | ไม่มีฉันทาราคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
พิศดูทหารพระจักรี | ล้วนเหล่ากระบี่นิกร |
ลางตนประดับกายา | ด้วยมหาเนาวรัตน์ประภัสสร |
เขี้ยวเพชรสังวาลกรรเจียกจร | พื้นพงศ์พานรอันเรืองยศ |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | ล้วนมีเครื่องทรงอลงกต |
เยียดยัดอัดกันเป็นหลั่นลด | จะกำหนดก็พ้นคณนา |
จึ่งถามสุครีพผู้สหาย | ว่าองค์นารายณ์นาถา |
จะยกไปยังกรุงลงกา | มล้างหมู่อสุราสาธารณ์ |
อันพวกทศพักตร์ยักษี | ล้วนมีฤทธากล้าหาญ |
ทั้งหกห้องฟ้าบาดาล | หมู่มารเที่ยวปราบราบไป |
อันวานรในเบื้องบทเรศ | มีศักดาเดชเป็นไฉน |
แต่หนุมานชาญชัย | ได้เห็นฤทธิ์เมื่อไปลงกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | อันโยธาทั้งสองบูรี |
ล้วนสามารถอาจเอื้อมพระอาทิตย์ | ปลิดดาวเดือนได้ในราศี |
ฝ่ายชมพูพานเสนี | กับกระบี่หนุมานชาญฉกรรจ์ |
องค์พระอิศวรบรมนาถ | ประสาทพระพรรังสรรค์ |
ศักดาดั่งดวงพระสุริยัน | ใครมล้างชีวันไม่บรรลัย |
อันท้าวพญาพานรินทร์ | พลกบินทร์นิกรน้อยใหญ่ |
เลื่องชื่อลือฤทธิ์เกรียงไกร | ล้วนใจทรหดอดทน |
มาตรแม้นถึงม้วยมรณา | พระพายพัดมาต้องเส้นขน |
ก็คืนเป็นขึ้นทุกตน | กลับเข้าผจญไพรี |
ทำไมกับอสุรหมู่ยักษ์ | ไหนจักทานฤทธิ์กระบี่ศรี |
ท่านจะสงสัยไปไยมี | พระศุลีบังคับให้เกิดมา |
ว่าแล้วทั้งสองสหาย | กับวานรตัวนายถ้วนหน้า |
ออกจากที่ตั้งสัตยา | ไปยังพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างตนน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ดั่งดาราล้อมจันทร | ซับซ้อนเยียดยัดอัดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | ยังสุวรรณพลับพลารูจี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ถามพิเภกขุนมารยักษี |
พลในลงกาธานี | จะมีมากน้อยสักเพียงใด |
แม้นมาตรจะยกพลขันธ์ | เข้าโรมรันบันบุกรุกไล่ |
หักเอาด้วยกำลังฤทธิ์ไกร | จะได้หรือไม่อสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
อันพลลงกาธานี | พ้นที่จะคณนาได้ |
มากกว่าวานรในทัพชัย | ว่องไวเชี่ยวชาญชำนาญยุทธ์ |
แปลงกายหายตัวก็ได้สิ้น | ทั้งดำดินเหาะเหินเดินสมุทร |
จะหักเอาด้วยกำลังไวยวุฒิ | สุดที่จะหมายกำหนดการ |
ด้วยยังไม่เห็นฤทธิรอน | โยธาวานรทวยหาญ |
ในใต้เบื้องบาทพระอวตาร | ไม่รู้ที่จะประมาณมือกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | ทูลแจ้งพลขันธ์อสุรี |
จึ่งสั่งลูกพระสุริย์ฉาน | ตัวท่านผู้ชาญชัยศรี |
จงนำวานรเสนี | กระบี่จงเตรียมโยธา |
ออกไปริมเนินพระสมุทร | สำแดงฤทธิรุทรจงพร้อมหน้า |
ให้พญาพิเภกอสุรา | ดูกำลังศักดาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
รับสั่งน้อมเกล้าประนมกร | พากันบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายสมุทร | พร้อมหมู่พลยุทธ์น้อยใหญ่ |
ลูกพระสุริยาปรีชาไว | ประกาศไปแก่พลโยธา |
ดูราพานรินทร์ทวยหาญ | ผู้ชำนาญชาญณรงค์แกล้วกล้า |
ท่านจงสำแดงฤทธา | ให้ขจรฟากฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาเสนากระบี่ศรี |
ทหารทั้งสองธานี | มีความยินดีด้วยสมคิด |
ชวนกันโห่ร้องก้องกึก | เสียงสนั่นครั่นครึกถึงดุสิต |
ต่างตนสำแดงแผลงฤทธิ์ | นิมิตกายาต่างกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ บ้างเหาะเหินเดินโดยอัมพร | ไปชูช้อนเอาดวงสุริย์ฉัน |
บ้างเหยียบยุคุนธรยืนยัน | กรนั้นหน่วงพระเมรุคีรี |
บางตนเอาทิพย์พิมานรัตน์ | มาวางบนหัตถ์กระบี่ศรี |
บ้างแทรกลงในพื้นปัถพี | จับพญานาคีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างทำเป็นลมบรรลัยกาล | พัดพานทั่วทศทิศา |
บ้างนิมิตเป็นดวงดารา | ตกสาดลงมาจากอัมพร |
บ้างดำลงอัคนิรุทร | ผุดขึ้นพระเมรุสิงขร |
บ้างทำสี่พักตร์แปดกร | ชูช้อนซึ่งพื้นปัถพี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างเดินน้ำดำสมุทรแหวกวน | จับปลาอานนท์ขึ้นมาขี่ |
บ้างไปวิมานฉิมพลี | จับสุบรรณปักษีลงมา |
บ้างช้อนเอาเขาจักรวาล | เหาะทะยานขึ้นจากเวหา |
บ้างทำเปรี้ยงเปรี้ยงดังเสียงฟ้า | ฝนตกลงมาอึงอล |
บ้างง้างเอาเขาทิ้งกัน | ศิลานั้นกระจายทุกแห่งหน |
เป็นประกายพรายพื้นโพยมบน | มืดมนกึกก้องธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษี |
เสด็จออกหมู่มุขมนตรี | ยังที่สิงหาสน์ไพชยนต์ |
ได้ยินสำเนียงกัมปนาท | โลกธาตุมืดมิดทุกแห่งหน |
แสงพรายไปในโพยมบน | ดั่งฟ้าฝนอื้ออึงอนธการ |
ศิลาลอยมาตกลง | เกลื่อนกลาดที่ตรงหน้าฉาน |
ประหลาดจิตพิศเพ่งอยู่ช้านาน | จึ่งสั่งสุกรสารเสนา |
อัศจรรย์วันนี้ดูประหลาด | ไฉนจึ่งกัมปนาททุกทิศา |
จงไปดูให้รู้ประจักษ์ตา | จะว่าเหตุผลประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุกรสารเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้แล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ดูไปทั่วทั้งแปดทิศ | พินิจเหลือบแลซ้ายขวา |
เห็นเหตุข้างเบื้องบูรพา | อสุรานิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ กลับกลายกายนั้นเป็นเหยี่ยว | เรี่ยวแรงดั่งราชปักษี |
บินขึ้นอากาศด้วยฤทธี | ข้ามมหาวารีรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แผละ
๏ มาใกล้เขาคันธกาลา | เห็นโยธาวานรน้อยใหญ่ |
สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร | หวั่นไหวดั่งเกิดลมกาล |
บ้างง้างภูเขาทุ่มซัด | แตกกระจัดปลิวทั่วทุกสถาน |
ต้องปีกเจ็บเพียงบรรลัยลาญ | ขุนมารก็ตกลงทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ให้คิดประหวั่นพรั่นใจ | ด้วยกลัวฤทธิไกรกระบี่ศรี |
แม้นจะเป็นเหยี่ยวอยู่ดั่งนี้ | น่าที่ไม่รอดชีวา |
อย่าเลยจำกูจะกลับกลาย | นิมิตกายเป็นเพศลิงป่า |
คิดแล้วร่ายเวทอันศักดา | อสุราจำแลงอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบสามหน | ตนนั้นกลายเป็นกระบี่ศรี |
ก็เข้าปลอมหมู่โยธี | อสุรีวิ่งวุ่นไปด้วยกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พิศดูโยธาพระทรงธรรม์ | ฤทธิ์นั้นเลิศลบโลกา |
บังเกิดขนพองสยองเกล้า | บรรเทาทุกข์แสนโสมนัสสา |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาจา | ดูราสหายร่วมชีวี |
อันพวกอสูรหมู่มาร | ทหารทศพักตร์ยักษี |
ที่เอกจัดเอาอสุรี | เปรียบกับกระบี่ที่อ่อนฤทธิ์ |
ก็ไกลกันดั่งดินกับฟ้า | อสุราหรือจะรอต่อติด |
ดั่งหิ่งห้อยกับดวงพระอาทิตย์ | ผิดที่จะทัดเทียมกัน |
แต่บัดนี้ยักษีมันแปลงตน | เข้ามาปลอมปนพลขันธ์ |
ว่าพลางก็รีบจรจรัล | มายังสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | ทูลพระภูวนาถนาถา |
บัดนี้อสุรีแปลงมา | เข้าปลอมโยธาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรมีราชโองการ |
ซึ่งว่ากุมภัณฑ์มันแปลงตน | ปลอมปนวานรทวยหาญ |
เราจะให้จับขุนมาร | จะสังเกตสัณฐานประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ประนมกรแล้วกราบทูลไป | อันเพศวิสัยอสุรา |
เงานั้นไม่มีตามตัว | ทั่วไปทุกหมู่ยักษา |
ทั้งมันก็ไม่พริบตา | ประหลาดกว่าสัตว์ในธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | จึ่งมีพระราชโองการ |
ดูก่อนวายุบุตรศักดา | ท่านผู้ปรีชากล้าหาญ |
จงไปจับอสุราสาธารณ์ | มาทำประจานให้สาใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วเหาะขึ้นเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วจึ่งแจ้งแก่น้าชาย | ว่าองค์พระนารายณ์นาถา |
ให้ข้ามาจับอสุรา | ที่ปลอมโยธาพลากร |
ว่าแล้วนบนิ้วอภิวาทน์ | พระจอมไกรลาสสิงขร |
อ่านเวทอันเรืองฤทธิรอน | วานรนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ กายใหญ่เท่าเขาจักรวาล | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
มือหนึ่งนั้นครอบโยธา | ให้ออกมาแล้วดูสำคัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด เจรจา