- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ในที่มหาเวไชยันต์ |
พร้อมหมู่อัปสรอนงค์นาฏ | บำเรอบาทเป็นสุขเกษมสันต์ |
ให้บันดาลร้อนใจดั่งไฟกัลป์ | ทรงธรรม์เล็งทิพเนตรมา |
แจ้งว่าสมเด็จพระลักษมี | เทวีจะประสูติโอรสา |
จึ่งมีเทวราชบัญชา | ชวนสี่กัลยายุพาพาล |
กับแสนสุรางค์นิกร | บทจรจากไพชยนต์สถาน |
พร้อมฝูงเทเวศบริวาร | เหาะทะยานลงมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โคมเวียน
ร่าย
๏ ครั้นถึงศาลาพระนิเวศน์ | เห็นองค์อัคเรศโฉมศรี |
เจ็บปวดรวดเร้าทั้งอินทรีย์ | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย |
จึ่งสั่งมเหสีทั้งสี่องค์ | กับฝูงอนงค์น้อยใหญ่ |
จงเข้าไปช่วยอรไท | อย่าให้ลำบากพระกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุชาดาเสน่หา |
ทั้งสุจิตราสุธรรมา | นางสุนันทาวิลาวัณย์ |
รับสั่งองค์ท้าวหัสเนตร | พาฝูงเยาวเรศสาวสวรรค์ |
เข้าไปแวดล้อมพร้อมกัน | ประคองครรภ์ผันแปรให้เทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ครั้นเห็นนางฟ้าก็ยินดี | เทวีค่อยได้สติมา |
พอรุ่งสุริโยโอภาส | ลมกัมมัชวาตพัดกล้า |
ถึงที่ศุภฤกษ์เวลา | กัลยาประสูติพระลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา มโหรี
๏ เป็นชายแช่มช้อยบริสุทธิ์ | งามลํ้ามนุษย์ทั้งไตรจักร |
ทรงโฉมประเสริฐเลิศลักษณ์ | สมศักดิ์สุริย์วงศ์เทวัญ |
ดั่งทองทั้งแท่งแกล้งหล่อเหลา | พริ้มเพราเป็นที่เฉลิมขวัญ |
เหมือนพระบิตุรงค์ทรงสุบรรณ | ทั่วทั้งผิวพรรณอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เห็นนางสีดานารี | เทวีประสูติลูกยา |
ก็ทรงพิชัยยุทธ์มหาสังข์ | เป่าดังเสียงลั่นสนั่นป่า |
ฝ่ายองค์อัครราชสุชาดา | กัลยาก็รับพระกุมาร |
มาสรงในมหาสาครแก้ว | อันแล้วด้วยนํ้าทิพย์หอมหวาน |
ครั้นเสร็จเชิญหน่อพระอวตาร | วางเหนือพานรัตน์รูจี |
รองด้วยภูษาทุกูลพัสตร์ | อันสัมผัสอุ่นอ่อนเฉลิมศรี |
ตั้งไว้ตรงพักตร์พระชนนี | ในที่พระบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
เห็นองค์สมเด็จพระลูกยา | นรลักษณ์พักตราอำไพ |
มีความชื่นชมโสมนัส | พูนสวัสดิ์พ้นที่จะเปรียบได้ |
แสนสุดเสน่หาอาลัย | ในองค์พระราชกุมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศราชฐาน |
กับฝูงอัปสรนงคราญ | ทั้งเทพบริวารบรรดามา |
ต่างองค์อวยชัยถวายพร | ให้ถาวรจำเริญพระชันษา |
จงเรืองฤทธิ์เหมือนองค์พระบิดา | โลกาจะได้พึ่งสืบไป |
เสร็จแล้วจึ่งองค์พระตรีเนตร | พาฝูงเทเวศน้อยใหญ่ |
เหาะระเห็จเตร็จฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปยังทิพย์วิมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ครั้นองค์สมเด็จมัฆวาน | กลับไปสถานวิมานฟ้า |
จะเหลียวหาผู้ใดก็ไม่เห็น | จะเป็นเพื่อนไร้ที่ในป่า |
แต่ผู้เดียวเปลี่ยวองค์เอกา | กัลยาสลดระทดใจ |
จึ่งอุ้มโอรสขึ้นใส่ตัก | กอดจูบลูบพักตร์แล้วรํ่าไห้ |
อนิจจาเกิดมาเมื่อแม่ไร้ | อยู่ในหิมเวศพนาวัน |
เป็นกำพร้าบิตุเรศแล้วไร้ญาติ | ทั้งนิราศโภไคยไอศวรรย์ |
ถ้าเจ้าประสูติในวังจันทน์ | สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์จะห้อมล้อม |
สามพระอัยกีจะเชยชม | พี่เลี้ยงนางนมจะถนอม |
ยามสรงเสวยจะพรั่งพร้อม | ยามนอนจะกล่อมให้นิทรา |
โอ้อนิจจามาได้ยาก | แสนทุกข์ลำบากอนาถา |
หากเดชะบุญของลูกยา | เทวามาช่วยทั้งนี้ |
นิมิตภูษาผ้าทรง | ไว้ให้รององค์พระโฉมศรี |
ตัวแม่สิ่งไรก็ไม่มี | ครั้งนี้ขัดสนจนใจ |
แต่ธำมรงค์วงเดียวติดมา | มารดาจะทำขวัญให้ |
ว่าแล้วก็ถอดออกทันใด | ผูกไว้กับข้อพระกร |
พ่อจงมีศักดาวราเดช | เหมือนองค์บิตุเรศทรงศร |
ตรัสพลางวางลงให้นอน | เสร็จแล้วบังอรก็ออกมา ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงอาศรมพระอาจารย์ | เยาวมาลย์ยอกรเหนือเกศา |
แล้วว่าหลานนี้จะขอลา | ลงไปยังท่าชลาลัย |
ขอฝากนัดดาเยาวเรศ | โปรดเกศจงช่วยเอาใจใส่ |
อย่าให้มีเหตุเพทภัย | จะได้รองเบื้องบาทพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | จึ่งมีสุนทรวาจา |
เอ็งจงไปเถิดนะนงลักษณ์ | อันองค์ลูกรักเสน่หา |
ไว้นักงานกูอัยกา | จะรักษามิให้มีเหตุการณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
กราบลงแทบบาทพระอาจารย์ | นงคราญก็รีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงธารท่าชลธี | อยู่ที่แทบเชิงสิงขร |
เห็นฝูงสวาวานร | โผนจรไต่ไม้ไปมา |
ลูกเกาะติดกายสะพายวิ่ง | บ้างโลดชิงฉวยผลพฤกษา |
จึ่งว่าเหวยลิงพาลา | ลูกพึ่งลืมตาเอามาไย |
เกาะกอดกายาทั้งหน้าหลัง | จะระวังระไวกระไรได้ |
ผาดโผนโจนจับกิ่งไม้ | เสียวใจแลเห็นเป็นกลัวตาง |
อันวิสัยสัตว์โนโลกา | จำพวกไรมีมาฉะนี้บ้าง |
เห็นทำวิปริตผิดทาง | จะเอาลูกมาขว้างเสียดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางวานรป่าพนาศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบไปทันที | ซึ่งลูกเรานี้อยู่พันพัว |
เป็นธรรมดามาแต่ก่อน | ถึงจะมีทุกข์ร้อนก็ยังชั่ว |
จะเป็นสิ่งใดก็ไม่กลัว | ใกล้ตัวได้เห็นกับตาเรา |
ส่วนนางเป็นคนเฉาโฉด | กลับมาติโทษผู้อื่นเล่า |
เจ้าอีกประมาทใจเบา | เอาลูกทิ้งไว้ในกุฎี |
ดาบสหลับตาภาวนาอยู่ | แม้นหมู่มฤคเสือสีห์ |
กัดกินก็จะสิ้นชีวี | เสียทีที่อุ้มท้องมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังวานรเจรจา | กัลยาเห็นจริงก็ตกใจ |
อนิจจาเป็นน่าอดสู | จะรอบรู้เหมือนสัตว์ก็หาไม่ |
มาทิ้งลูกรักกับอกไว้ | คิดแล้วขึ้นไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงโลมลูบจูบพักตร์ | อุ้มโอรสรักโฉมศรี |
ออกจากพระคันธกุฎี | มาที่ท่าฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานกล้า |
นั่งสมาธิสำรวมวิญญาณ์ | ภาวนาก็เคลิ้มลืมไป |
ไม่ระวังดูพระกุมาร | ต่อนานจึ่งรำลึกได้ |
ดูแลอู่เปล่าก็ตกใจ | เอะผิดไปแล้วมิเป็นการ |
ลูกนางฝากไว้อยู่ในอู่ | อะไรจะจู่มาจงผลาญ |
อนิจจาเอ็นดูพระกุมาร | สงสารทั้งนวลนางสีดา |
กลับมาไม่เห็นลูกรัก | นงลักษณ์จะโทษกูหนักหนา |
จะกันแสงโศกโศกา | น่าที่จะม้วยชีวัน |
คิดพลางจับได้ไม้เท้าจ้อง | เดินมองเที่ยวหาตัวสั่น |
ค้นรอบบริเวณอารัญ | พระนักธรรม์ไม่พบก็กลับไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ นั่งนิ่งตะลึงรำพึงคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้ |
ให้อัดอั้นตันทรวงดวงใจ | แล้วคิดได้ด้วยไวปรีชา |
อย่าเลยจะตั้งพิธีการ | ชุบพระกุมารโอรสา |
ขึ้นไว้แทนลูกกัลยา | อย่าให้ทันนางมายังกุฎี |
คิดแล้วพระอาจารย์ชาญฉลาด | วาดรูปพระกุมารเรืองศรี |
ลงในกระดานทันที | แล้วตั้งอาหุดีกระลาไฟ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
ครั้นถึงธารท่าชลาลัย | อรไทพาองค์พระโอรส |
ลงสรงในท้องวาริน | ชำระมลทินเสียให้หมด |
แล้วอุ้มพระสุริย์วงศ์ทรงยศ | เสด็จบทจรขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงศาลาอาวาส | จึ่งองค์อัครราชเสน่หา |
กราบลงแทบบาทพระสิทธา | ที่หน้าอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
สาละวนตั้งกิจพิธี | ที่ในศาลาอารัญ |
เห็นนางสีดานงลักษณ์ | อุ้มองค์ลูกรักเฉลิมขวัญ |
เข้ามาน้อมเกล้าอภิวันท์ | พระนักธรรม์จึ่งมีวาจา |
ลูกเอ็งซึ่งใส่ไว้ในอู่ | ฝากกูให้ช่วยรักษา |
เอาไปเมื่อไรนางสีดา | ไม่บอกไม่ว่าให้แจ้งใจ |
ทำให้กูหาอยู่ว้าวุ่น | จนตั้งกองกูณฑ์พิธีใหญ่ |
จะชุบพระกุมารขึ้นไว้ | ให้แทนโอรสนางเทวี |
เมื่อลูกของเอ็งยังดีอยู่ | ก็พ้นธุระกูผู้ฤๅษี |
จงเลี้ยงรักษาไว้ให้ดี | ตานี้จะได้ภาวนา |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระอาจารย์ | ก็หยิบเอากระดานที่เลขา |
จะลบรูปวาดกุมารา | นั้นเสียต่อหน้าบังอร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
ก้มเกล้าดุษฎีชุลีกร | วอนว่าพระองค์จงโปรดปราน |
ได้เขียนลงแล้วจะลบไย | ชุบขึ้นไว้ให้เป็นเพื่อนหลาน |
องค์เดียวเปลี่ยวใจในดงดาน | ขอประทานจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังวาทีนางสีดา | จึ่งมีพจนาตอบไป |
ซึ่งว่าทั้งนี้ก็ดีอยู่ | จะเลี้ยงแล้วกูจะชุบให้ |
ว่าพลางก็โหมกลาไฟ | สำรวมใจร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ จึ่งเอารูปใส่ในกลางเพลิง | อันเถกิงจำรัสรัศมี |
ด้วยกำลังเวทพระมุนี | บังเกิดมีอัศจรรย์อึงอล |
เมฆหมอกกลุ้มมัวไปทั่วทิศ | มืดมิดพยับโพยมหน |
แล้วสว่างสร่างแสงสุริยน | บัดดลเกิดเป็นกุมารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งร่ายพระเวทดับกุณฑ์ | พระพิรุณตกลงเซ็นซ่า |
ก็เข้าอุ้มองค์กุมารา | มาส่งให้นางทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วว่าแก่องค์นงคราญ | กุมารนี้ตาชุบให้ |
เป็นน้องของบุตรอรไท | จงรักใคร่เหมือนเกิดในครรภ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
รับกุมารมาจากนักธรรม์ | กัลยาอุ้มแอบแนบกาย |
ประคองเคียงเรียงกันทั้งคู่ | ดูงามประเสริฐเฉิดฉาย |
ดั่งรูปทองหล่อเหลาเพราพราย | พิศน้องคล้ายพี่ทุกสิ่งไป |
พักตรากายกรแลลำศอ | จะว่าหล่อพิมพ์เดียวก็ว่าได้ |
นางแสนพิศวาสเพียงขาดใจ | ดั่งเกิดในอุทรเทวี |
แล้วจึ่งว่าแกพระนักธรรม์ | วันนี้ศุภฤกษ์ชัยศรี |
จะขอนามพระองค์ทรงฤทธี | ให้เป็นสวัสดีทั้งสองรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
พิเคราะห์ฤกษ์ยามตามเวลา | ทั้งชันษาสองกุมาร |
เลือกหาที่เป็นศรีสวัสดิ์ | โดยนามกษัตริย์มหาศาล |
ได้ทั้งอายุศม์บริวาร | เปล่าปลอดจากกาลกิณี |
จึ่งว่าลูกนางในอุทร | นามกรมงกุฎเป็นพี่ |
อันรูปซึ่งชุบในอัคคี | มืนามชื่อลบอนุชา |
ให้สองสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์ | สืบพงศ์จักรพรรดิไปภายหน้า |
จงเรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหึมา | ทั้งไตรโลกาอย่าเทียมทัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ก้มเกล้าเคารพอภิวันท์ | กัลยาชื่นชมยินดี |
แล้วอุ้มซึ่งสองสุริย์วงศ์ | ลาองค์พระมหาฤๅษี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | มายังกุฎีอรไท ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งให้เสวยนม | เชยชมด้วยความพิสมัย |
แสนรักสุดรักดั่งดวงใจ | ในสองโอรสยิ่งนัก |
เช้าคํ่าบำรุงผดุงถนอม | อุ้มออมมิให้ครือมือหนัก |
นางเฝ้าบำเรอเชอพักตร์ | สงวนเลี้ยงลูกรักทุกเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระโอรสา |
ครั้นค่อยจำเริญชนมา | ไม่มีโรคายายี |
พี่น้องพากันเที่ยวเล่น | เช้าเย็นเป็นสุขเกษมศรี |
ที่ในบริเวณกุฎี | องค์พระมุนีผู้ทรงญาณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
อยู่ด้วยกับองค์พระอาจารย์ | ปานดั่งบิตุเรศเรืองชัย |
เช้าเย็นอตส่าห์ปรนนิบํติ | มิให้เคืองขัดอัชฌาสัย |
กวาดแผ้วศาลาพาไล | ในที่จงกรมอารัญ |
แล้วเที่ยวเก็บผลพฤกษา | ตักมาทั้งนํ้าใช้นํ้าฉัน |
เป็นนิจอัตราทุกวัน | ด้วยกตัญญูพระมุนี |
จนพระเยาวเรศผู้ร่วมใจ | ค่อยจำเริญวัยทั้งสองศรี |
ชันษานั้นได้สิบปี | มีโฉมเลิศลักษณ์โสภา |
ยิ่งแสนพิศวาสเป็นพ้นนัก | ดั่งดวงจักษุซ้ายขวา |
จึ่งพาสองราชกุมารา | ไปยังศาลาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงยอกรขึ้นประณต | พระนักพรตผู้ปรีชาหาญ |
ว่าสองนัดดายุพาพาล | ชนมานก็ได้สิบปี |
ยังไม่รู้ศิลปศาสตร์ | สำหรับราชสุริย์วงศ์เรืองศรี |
จะเที่ยวไปในพนาลี | เกลือกมีอันตรายบีฑา |
ขอพระอัยกาจงโปรดเกล้า | บอกให้เล่าเรียนศึกษา |
จนชำนาญศรศิลป์วิทยา | เบื้องหน้าจะได้กันภัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งตอบคำไป | อย่าร้อนใจเลยนะบังอร |
อันศิลปศาสตร์ความรู้ | ไว้นักงานกูจะสั่งสอน |
โดยทางไตรเพทอันถาวร | ให้เรืองฤทธิรอนดั่งเพลิงกัลป์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | กัลยายินดีปรีดา |
จึ่งตรัสแก่สองพระเยาวลักษณ์ | ลูกรักแม่ยอดเสน่หา |
อตส่าห์เล่าเรียนวิชา | จะได้ปรากฏเกียรติ์ในธาตรี |
ว่าแล้วน้อมเศียรอภิวาทน์ | ลาบาทพระมหาฤๅษี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | กลับมาที่อยู่อรไท ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
จึ่งให้สองนัดดายาใจ | เล่าเรียนไตรเพทวิทยา |
ทั้งลัทธิอุปเท่ห์เล่ห์กล | สารพัดมนต์ดลคาถา |
ตลอดแต่ต้นจนปลายมา | โดยวิชาชายในโลกีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารพี่น้องสองศรี |
เรียนศิลปศาสตร์พระมุนี | ปรีชาเคล่าคล่องว่องไว |
สารพัดคาถาพระยามนต์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลก็จำได้ |
สาธยายขึ้นปากขึ้นใจ | จบทั้งไตรเพทวิทยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานกล้า |
เห็นพระเยาวราชกุมารา | ศึกษาวิชาชำนาญดี |
จึ่งเอาไม้ไผ่อ่อนอ่อน | เหลาเป็นคันศรชัยศรี |
กับพระลบอนุชาร่วมชีวี | มีลูกสามเล่มประกับไป |
เจ้าจงหัดยิงทั้งสองหลาน | ให้แม่นยำชำนาญจงได้ |
แล้วแนะลัทธิศิลป์ชัย | โดยในไสยเวทประกอบกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
รับศรจากกรพระนักธรรม์ | ได้องค์ละคันก็ยินดี |
นบนิ้วประณตบทบงสุ์ | กราบลงแทบเบื้องบทศรี |
ลาพระมหามุนี | พี่น้องก็พากันออกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่จงกรม | ใต้ร่มพฤกษาโศกใหญ่ |
เด็ดดอกเสียบปักเรียงไว้ | ไกลได้ถึงห้าสิบวา |
ต่างองค์ต่างขึ้นธนูศร | หมายกรจะยิงบุปผา |
พาดสายลั่นไปทั้งสองรา | แม่นยำดั่งว่าชำนาญดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ลูกศรทุ่งพวยตรวยตรง | ดอกโศกแหลกลงกับที่ |
ต่างแผลงต่างต้องทุกที | ตบหัตถ์สรวลมี่อึงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาอาจารย์ใหญ่ |
เห็นสองนัดดายาใจ | เรียนศิลป์ศรได้ชำนาญ |
จึ่งว่าอันสองหลานรัก | แหลมหลักปรีชากล้าหาญ |
จะได้สืบสุริย์วงศ์อวตาร | เป็นประธานโลกาธาตรี |
จำจะกองกูณฑ์กระลากิจ | โดยวิษณุเวทเรืองศรี |
ชุบซึ่งศรสิทธิ์ฤทธี | ให้พระพี่น้องสำหรับกาย |
คิดแล้วจึ่งองค์พระดาบส | กำหนดศุภฤกษ์ชั้นฉาย |
กองกูณฑ์เถกิงเพลิงพราย | สำรวมใจร่ายเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะด้วยวิทยาคม | พระสยมภูวนาถนาถา |
สุธาดลลั่นก้องโลกา | เพลิงแรงแสงกล้าดั่งไฟกัลป์ |
บังเกิดเป็นองค์เทพบุตร | ชูศรฤทธิรุทรรังสรรค์ |
หกเล่มกับศิลป์สองคัน | ขึ้นกลางกองยัญพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ดาบสชื่นชมโสมนัส | ยื่นหัตถ์ไปหยิบเอาศรศรี |
ออกมาจากกองอัคคี | เทพบุตรพิธีก็สูญไป |
จึ่งเอาธนูศรสาตร์ | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
ให้สองนัดดายาใจ | เจ้าจงเอาไว้สำหรับกร |
อันพวกพาลาปัจจามิตร | ที่เรืองฤทธิ์แกล้วกล้าชาญสมร |
จะมาหักหาญราญรอน | จงแพ้กรของเจ้าทั้งสองรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารหาญกล้า |
รับศรรับพรพระอัยกา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งยอกรถวายอภิวาทน์ | จบบาทใส่เกล้าเกศี |
แล้วว่าอันคุณพระองค์นี้ | พ้นที่จะพรรณนาไป |
ถึงจะเอาดินฟ้ามหรรณพ | ไตรภพชั่งเปรียบก็ไม่ได้ |
มีแต่ชีวิตชีวาลัย | ถวายไว้ใต้บาทพระอัยกา |
ว่าแล้วสองราชกุมาร | ลาพระอาจารย์ฌานกล้า |
ออกจากพระบรรณศาลา | มายังที่อยู่พระชนนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
เห็นสองโอรสร่วมชีวี | รู้ไตรเวทีชำนาญ |
ทั้งศิลป์ศาสตร์ศรชัย | เคล่าคล่องว่องไวห้าวหาญ |
ยินดีปรีดาพ้นประมาณ | นงคราญชมเชยพระลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หน่อนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงจักร |
ทั้งพระลบอนุชายุพาพักตร์ | ต่างนอนกับตักพระชนนี |
ต่างชมต่างเชยกันไปมา | ต่างองค์ปรีดาเกษมศรี |
แล้วทูลว่าลูกทั้งสองนี้ | จะลาพระชนนีเที่ยวไป |
ชมหมู่จตุบททวิบาท | รุกขชาติโตรกเตรินเนินไศล |
ให้แสนสำราญฤทัย | ไม่ช้าบ่ายคล้อยจะกลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ได้ฟังโอรสทูลลา | กัลยารับขวัญแล้วพาที |
ซึ่งเจ้าจะไปประพาสไพร | ก็ตามใจพ่อเถิดทั้งสองศรี |
แต่อย่าพากันจรลี | ไปเที่ยวในที่ไกลนัก |
เกลือกพบอสุรีผีป่า | มันจะมารอนราญหาญหัก |
ทั้งสัตว์ร้ายสาธารณ์พาลพยัคฆ์ | ลูกรักแม่จงระวังกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
กับพระลบอนุชาวิลาวัณย์ | ถวายอัญชุลีด้วยดีใจ |
ต่างจับธนูศรสิทธิ์ | อันมีฤทธิ์ฟากฟ้าดินไหว |
แยัมยิ้มพริ้มพักตร์แล้วเดินไป | โดยในอรัญมรรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ สองพระองค์ชมหมู่รุกขชาติ | เดียรดาษรุ่นเรียงในราวป่า |
ลางเหล่าเผล็ดผลปนผกา | พวงย้อยห้อยระย้าอรชร |
บ้างดิบห่ามสุกงอมหอมหวาน | บ้างเบิกบานร่วงรสเกสร |
พระพายพากลิ่นขจายจร | ยื่นกรเก็บเสวยสำราญใจ |
ลดเลี้ยวเที่ยวชมพนมเวศ | ศีขเรศโตรกเตรินเนินไศล |
มีนํ้าพุดุดันซ่านเซ็นไป | เย็นใสดังสายสุหร่ายริน |
จักจั่นเรไรเรื่อยร้อง | เพรียกพร้องด้วยเสียงปักษิน |
บ้างเต้นไต่ร่ายไม้โบยบิน | กินผลพฤกษาน่าดู |
ชมทั้งฝูงสัตว์จตุบาท | เที่ยวลาดเล็มกินเป็นหมู่หมู่ |
คชสารเลียบธารสินธู | บ้างชูงวงเย่อชักหักพง |
ทักทอนรสิงห์กิเลนลา | เสือมองมฤคาที่ริมป่ง |
ประพาสเพลินจำเริญใจทั้งสององค์ | จนเข้าแดนดงหิมพานต์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ มาเห็นพฤกษาพญารัง | สูงใหญ่ใบบังสุริย์ฉาน |
คณนาแสนอ้อมโดยประมาณ | เป็นประธานอยู่กลางอรัญวา |
พระมงกุฎจึ่งว่าแกพระลบ | เรามาพบรังใหญ่สาขา |
พี่จักลองศิลป์อันศักดา | ทำลายพฤกษาต้นนี้ |
จะย่อยยับหักโค่นประการใด | จะได้เห็นฤทธิไกรศรศรี |
ของพระอัยกาธิบดี | วันนี้ให้ประจักษ์ด้วยกัน |
ว่าแล้วก็ขึ้นธนูทรง | งามดั่งบิตุรงค์รังสรรค์ |
พาดสายน้าวหน่วงยืนยัน | หมายมุ่งแล้วลั่นแผลงไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง ตระ
๏ ถูกต้นพฤกษาพญารัง | ไม่ทนกำลังอยู่ได้ |
หักโค่นก่นลงด้วยฤทธิไกร | เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกราศี |
ทั้งคนธรรพ์ครุฑาวาสุกรี | อสุรีกษัตริย์ทุกพารา |
ได้ยินเสียงสนั่นนฤนาท | ไหวหวาดทั่วทศทิศา |
ดั่งลมกัลป์บรรลัยโลกา | พัดมาสังหารภพไตร |
เป็นมหามหัศอัศจรรย์ | จะสำคัญร้ายดีก็ไม่ได้ |
ต่างตนตระหนกตกใจ | ทั่วไปทั้งสามธาตรี |
เทวาออกจากวิมานมาศ | นางฟ้าหวีดหวาดอึงมี่ |
ลูกครุฑตกจากสิมพลี | อสุรีตรีกูฎก็วุ่นวาย |
ฝ่ายฝูงมนุษย์ทั้งนั้น | หน้าซีดตัวสั่นขวัญหาย |
นาคีหนีเร้นกลัวตาย | เลื้อยกระจัดพลัดพรายทั้งบาดาล |
บรรดาฝูงสัตว์ในปถพี | ไกรสรคชสีห์ช้างสาร |
บ้างวิ่งโลดโผนโจนทะยาน | ตกห้วยเหวธารวุ่นไป |
ทั้งหมู่ปักษาทิชากร | บินว่อนร้องแซ่ไม่อยู่ได้ |
สามโลกเอิกเกริกด้วยกลัวภัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นต้นรังแหลกยับเป็นธุลี | ด้วยฤทธิ์ศรศรีชัยชาญ |
มีความชื่นชมโสมนัส | สำรวลตบหัตถ์ฉัดฉาน |
แล้วเก็บผลไม้ในดงดาน | ที่สุกงอมหอมหวานโอชา |
มังคุดละมุดสีดาลำใย | ใส่ลงในห่อภูษา |
เก็บทั้งดอกดวงพวงผกา | ได้แล้วกลับมายังกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งสองสุริย์วงศ์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
เอาผลพฤกษามาลี | ถวายพระมุนีอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนักสิทธ์ผู้ปรีชาหาญ |
เห็นสองเยาวราชกุมาร | กลับมายังสถานศาลา |
จึ่งมีวาจาถามไป | เป็นไฉนหลานรักเสน่หา |
เจ้าไปเที่ยวเล่นอรัญวา | ตานี้ได้ยินอัศจรรย์ |
สำเนียงดั่งเสียงอสุนี | ฟาดสายแสนทีไหวหวั่น |
พระสุธาอากาศเป็นควัน | เลื่อนลั่นเอิกเกริกทั้งดินดอน |
ตาคิดเห็นผิดประหลาดนัก | หรือว่าหลานรักเจ้าลองศร |
จึ่งสนั่นครั่นครื้นทั้งอัมพร | แต่ก่อนห่อนเป็นเหมือนเช่นนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
จึ่งสนองวาจาพระมุนี | หลานทั้งสองนี้เที่ยวไป |
ถึงแดนหิมพานต์พนาสณฑ์ | พบต้นรังหนึ่งสูงใหญ่ |
ตัวข้าจึ่งลองศิลป์ชัย | คิดว่าไม้นั้นจะทนฤทธิ์ |
เดชะอานุภาพพระอัยกา | พฤกษาไม่ทานศรสิทธิ์ |
หักสะบั้นเสียงสนั่นทั่วทิศ | หลานนี้มีจิตยินดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคฤๅษี |
ได้ฟังสองกุมารพาที | มีมโนภิรมย์ปรีดา |
ยอกรลูบหลังลูบพักตร์ | หลานรักตายอดเสน่หา |
อันไม้ต้นนี้มหึมา | แต่ตั้งดินฟ้าสุราลัย |
พร้อมกับพระเมรุสิงขร | นามกรพญารังใหญ่ |
ทั้งธาตรีถึงจะมีฤทธิไกร | ไม่ทำลายได้ดั่งนี้ |
เห็นจะอยู่ชั่วดินฟ้า | หรือมาย่อยยับด้วยศรศรี |
เจ้าทรงกำลังฤทธี | สามโลกไม่มีใครต้านทาน |
ว่าแล้วอำนวยอวยพร | ให้ฤทธิรอนลํ้าองค์พระสุริย์ฉาน |
อานุภาพปราบทั่วจักรวาล | เป็นประทานจรรโลงโลกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุริย์วงศ์นาถา |
ก้มเกล้ารับพรด้วยปรีดา | แล้วลามาเฝ้าพระชนนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์น้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทยุคลทั้งสองศรี |
ทูลความซึ่งไปพนาลี | ตามที่ได้ลองศิลป์ชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
ฟังสองโอรสก็ดีใจ | ดั่งได้สวรรค์ชั้นฟ้า |
ส้วมสอดกอดจูบด้วยความรัก | ประคองไว้กับตักทั้งซ้ายขวา |
รับขวัญแล้วมีวาจา | เจ้าดวงนัยนาของชนนี |
มิเสียทีที่พ่อมากำเนิด | เกิดในสุริย์วงศ์เรืองศรี |
แต่ยังทรงเยาว์อยู่เท่านี้ | ฤทธีเลิศลํ้าแดนไตร |
ทรงศรสังหารพญารัง | ทั่วทั้งโลกธาตุหวาดไหว |
เหมือนพระบิตุรงค์ทรงชัย | ยกศิลป์ในเมืองมิถิลา |
อันเสียงศรสิทธิ์ของลูกแก้ว | แม่ได้ยินแล้วดั่งเจ้าว่า |
แต่เวรหลังนั้นยังติดมา | จึ่งต้องอนาถาอยู่ดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้แจ้งแห่งคำพระชนนี | ยอกรชุลีแล้วทูลไป |
ซึ่งว่าบิตุรงค์ของลูกรัก | เป็นปิ่นปักนัคเรศกรุงไหน |
ทรงศักดาเดชประการใด | จึ่งยกศิลป์หวาดไหวทั้งโลกา |
เหตุไฉนสมเด็จพระมารดร | จึ่งจากพระนครมาอยู่ป่า |
แสนยากลำบากเวทนา | ลูกยาสงสัยพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
พังโอรสาพาที | เทวีสะท้อนถอนใจ |
ชลนาคลอคลองนองเนตร | จะออกปากแจ้งเหตุมิใคร่ได้ |
ส้วมสอดกอดองค์โอรสไว้ | อรไทตรัสเล่าแต่เดิมมา |
อันพระบิตุรงค์ของลูกรัก | คือนารายณ์ทรงจักรนาถา |
อวตารจากเกษียรคงคา | มาเกิดในวงศ์จักรพรรดิ |
ทรงนามพระรามราเมศ | เรืองเดชเลิศลํ้ากรุงกษัตริย์ |
เป็นปิ่นอยุธยาบุรีรัตน์ | นัดดาอัชบาลธิบดินทร์ |
มีพระอนุชาทั้งสามองค์ | ฤทธิรงค์ประเสริฐด้วยกันสิ้น |
หน่อท้าวทศรถภูมินทร์ | แม่อยู่มิถินลาธานี |
พระบิดาไปยกศิลป์ศร | ได้มารดรมาเป็นมเหสี |
รักษาสัจอัยกาสิบสี่ปี | แม่นี้ตามเสด็จไปอยู่ไพร |
จึ่งได้ทศเศียรขุนยักษ์ | มาลักมารดาไปได้ |
ไว้ยังลงกากรุงไกร | ภูวไนยกับพระลักษมณ์อนุชา |
คุมพลวานรข้ามสมุทร | ตามไปสัประยุทธ์ด้วยยักษา |
ฆ่ามันสุดสิ้นชีวา | คืนได้แม่มาพระนคร |
ภายหลังซ้ำเกิดรณรงค์ | อาเจ้าสององค์ผู้ทรงศร |
ยกไปสังหารราญรอน | ได้นครลงกามลิวัน |
มาขึ้นในใต้เบื้องบาท | องค์พระบิตุราชรังสรรค์ |
อันกรุงศรีอยุธยานั้น | สนุกดั่งฉ้อชั้นสุราลัย |
มารดานี้ทรงครรภ์เจ้า | ขวัญข้าวผู้ยอดพิสมัย |
วันหนึ่งจึ่งองค์พระภูวไนย | เสด็จไปประพาสพนาลี |
มีนางปีศาจมารยา | แปลงมาเหมือนหนึ่งทาสี |
ใส่ไคล้วอนว่าพาที | ให้แม่นี้เขียนรูปทศกัณฐ์ |
พระบิตุรงค์เจ้าทรงพระโกรธนัก | ให้พระลักษมณ์ฆ่าแม่ไม่อาสัญ |
จึ่งได้มาพึ่งพระนักธรรม์ | รำพันแจ้งสิ้นแล้วโศกา ฯ |
ฯ ๒๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมงกุฎโอรสา |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดา | สร้อยเศร้าวิญญาณ์สลดใจ |
ให้คิดอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
ซบพักตร์โศกาอาลัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
เสด็จออกหมู่มุขมนตรี | ยังที่พิมานไพชยนต์ |
ได้ยินสำเนียงเสียงสนั่น | เลื่อนลั่นดินฟ้ากุลาหล |
กัมปนาทหวาดไหวทุกตำบล | เพียงภูมิมณฑลจะควํ่าไป |
บรรดาเสนาพฤฒามาตย์ | ราชกูลสุริย์วงศ์น้อยใหญ่ |
ทั้งฝูงสนมกรมใน | ตกใจไม่เป็นสมประดี |
อีกเสียงไพร่ฟ้าประชาชน | ทุกตำบลอื้ออึงคะนึงมี่ |
ช้างม้าหลุดแหล่งเป็นโกลี | ภูมีฉงนในวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งขุนตำรวจผู้ใหญ่ | เร่งเร็วออกไปเรียกหา |
ราชครูปโรหิตโหรา | เข้ามาประชุมให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนตำรวจคนขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาถึงที่เคหะฐาน | โหราพฤฒาจารย์น้อยใหญ่ |
แจ้งความตามข้อรับสั่งใช้ | จงเร่งเข้าไปอย่าช้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้มียศถา |
แจ้งว่าพระองค์ทรงนครา | ให้หาก็ลุกขึ้นวุ่นวาย |
ฉวยได้สมปักเข้านุ่ง | คว้าผ้าพันพุงก็พลัดหาย |
หยิบล่วมใส่พกตกเรี่ยราย | ได้ตำราทำนายแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างตนต่างคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประนมบังคมไหว้ |
เหนื่อยหอบหมอบนิ่งหายใจ | คอยฟังภูวไนยจะบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ครั้นเห็นปโรหิตโหรา | ผ่านฟ้ามีราชโองการ |
อัศจรรย์วันนี้เป็นไฉน | จึ่งหวั่นไหวไปทั่วทุกสถาน |
ตัวท่านผู้ปรีชาชาญ | จงพิเคราะห์เหตุการณ์ร้ายดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปุโรหิตโหราทั้งสี่ |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ต่างดูคัมภีร์วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วทูลว่าอันเกิดอัศจรรย์ | จะต้องตำรานั้นก็หาไม่ |
แต่กฎหมายเหตุจารึกไว้ | เมื่อภูวไนยกับสามอนุชา |
ลองศิลป์ถวายพระบิตุราช | ก็ไหวหวาดทั่วทศทิศา |
ครั้งนี้เห็นจะมีผู้ศักดา | ลองฤทธิ์วิทยาวิชาการ |
ขอให้แต่งลักษณ์อักษร | ผูกพญาอัสดรตัวหาญ |
เสี่ยงทายแล้วปล่อยอาชาชาญ | ให้หนุมานนำทัพสะกดตาม |
แม้นใครสุจริตต่อบาทบงสุ์ | พระทรงจักรหลักโลกทั้งสาม |
จงคำรพนบนอบโดยงาม | บูชาทำตามประเวณี |
ถ้าใครทะนงองอาจ | จับอัศวราชขับขี่ |
ผู้นั้นขบถต่อพระจักรี | ให้เสนีทหารจับมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ท่านว่านี้ชอบทางธรรม์ |
แล้วสั่งวายุบุตรวุฒิไกร | จงเร่งไปไกยเกษเขตขัณฑ์ |
หาสองอนุชาร่วมชีวัน | มาคิดกันปราบราชไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศก็หวาดไหว |
เหาะขึ้นเวหาด้วยว่องไว | ตรงไปไกยเกษพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | ยอกรเหนือเกล้าเกศา |
ทูลสองสุริย์วงศ์กษัตรา | โดยในบัญชาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดชาญสมร |
ได้ฟังพญาวานร | จึ่งมีสุนทรตรัสไป |
วันเมื่อบังเกิดอัศจรรย์ | อากาศครื้นครั่นแผ่นดินไหว |
เราเห็นประหลาดหลากใจ | คิดจะใคร่ไปเฝ้าพระจักรี |
ว่าแล้วเสด็จยุรยาตร | ลงจากปราสาทมณีศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ไปยังที่อยู่พระอัยกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์น้อมเศียรลงประณต | แทบบาทบงกชซ้ายขวา |
ทูลว่าสมเด็จพระจักรา | ให้พญาอนุชิตชัยชาญ |
มาหานัดดาทั้งสองไป | ยังพิชัยอยุธยาราชฐาน |
ปรึกษาซึ่งเกิดเหตุการณ์ | ขอลาบทมาลย์พระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
ฟังสองหลานรักร่วมชีวี | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ซึ่งพระจักราให้หาหลาน | เห็นการจะเกิดศึกใหญ่ |
จงไปศรีสวัสดิ์เรืองชัย | ไพรีอย่ารอต่อกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ก้มเกล้าคำนับรับพร | แล้วลาบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | ตรัสสั่งอำมาตย์ซ้ายขวา |
จงจัดรี้พลโยธา | กูจะไปอยุธยากรุงไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยว่องไว | ออกไปจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนพยุหบาตร | สี่หมู่องอาจแข็งขัน |
ขุนช้างผูกช้างดั้งกัน | ถือขอหยัดยันกรีดกราย |
ขุนม้าขึ้นขี่พาชี | ถือทวนจามรีรำร่าย |
ขุนรถขี่รถสุพรรณพราย | ถือธนูหน่วงสายคะนองฮึก |
ขุนพลจัดพวกพลไกร | นายไพร่เหี้ยมหาญชำนาญศึก |
โตดำลํ่าสันพันลึก | คั่งคึกล้วนถือสาตรา |
ตั้งไว้ตามแนวแถวถนน | เกลื่อนกล่นโดยซ้ายฝ่ายขวา |
เทียมทั้งรถทรงอลงการ์ | ประทับท่าเกยรัตน์มณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
กับพระอนุชาร่วมชีวี | เสด็จไปเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | ปทุมทองโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนทิพย์มาศชมพูนุท |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | ปักเป็นมังกรประดับบุษย์ |
ภูษาต่างสีเครือครุฑ | ชายไหวห่วงยุดชายแครง |
ฉลององค์พื้นตาดพระกรน้อย | รายพลอยสุรกานต์ก้านแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลแก้วแดงทองกร |
พาหุรัดธำมรงค์เรือนเก็จ | ประดับเพชรจำรัสประภัสสร |
ทรงมหามงกุฎกรรเจียกจร | จับศิลป์ฤทธิรอนดั่งไฟกัลป์ |
งามทรงงามองค์งามสง่า | ดั่งเทเวศลงมาแต่สวรรค์ |
เสด็จจากปราสาทแก้วแพรวพรรณ | กรายกรจรจรัลมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงล้วนแล้วด้วยมรกต |
แอกอ่อนงอนงามช้อยชด | ชั้นลดกระจังบัลลังก์ลอย |
ประดับด้วยครุฑอัดสิงห์อัด | บุษบกบันสะบัดช่อห้อย |
สี่มุขแสงวามอร่ามพลอย | ห้ายอดสุกย้อยพรายตา |
เทียมด้วยพลาหกสีสังข์ | สามคู่ล้วนกำลังแกล้วกล้า |
องค์พระสัตรุดอนุชา | ถือพระขรรค์นั่งหน้าบังคมคัล |
ขุนรถขับรีบดั่งลมพัด | เครื่องสูงมยุรฉัตรกระชิงคั่น |
ธงทิวริ้วรายพรายสุวรรณ | ฆ้องกลองมี่สนั่นประโคมครึก |
ผงคลีพัดกลุ้มสุธาธาร | ทวยหาญโห่ร้องก้องกึก |
ขับพลสี่หมู่ดูพิลึก | คึกคึกเร่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอยุธยาพระนคร | ให้หยุดพลนิกรน้อยใหญ่ |
สองพระองค์ลงจากรถชัย | ไปเฝ้าสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระเชษฐาธิราชเรืองศรี |
ท่ามกลางมหาเสนี | ในที่พระโรงพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ