- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
ได้ฟังไม่คิดสงกา | จึ่งตอบวาจาไปทันที |
เออไอ้ลิงหนึ่งแสนร้าย | กับกระบี่รูปกายเป็นยักษี |
ลอบลงไปถึงธานี | กูจะฆ่ามันหนีขึ้นมาทัน |
บัดนี้จะยกไปราญรอน | ผลาญมนุษย์วานรโมหันธ์ |
แต่ตนหนึ่งมิให้คงชีวัน | ด้วยฤทธีอันเกรียงไกร |
ดีแล้วที่มึงมาพบกู | ถ้าช้าอยู่มันจะตามจับได้ |
อย่าคิดอาวรณ์ร้อนใจ | จงเร่งมาไปด้วยกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นท้าวไวยตาลกุมภัณฑ์ | ไม่รู้เท่าทันก็ยินดี |
จึ่งทูลว่าการในพลับพลา | ตัวข้าแจ้งอยู่ถ้วนถี่ |
อันมนุษย์ผู้จอมโยธี | ไม่มีคู่คิดคู่ใจ |
ได้แต่นิลพัทผู้เดียว | เป็นเขี้ยวทหารศึกใหญ่ |
แม้นว่าฆ่ามันบรรลัย | กระบี่ไพรจะแตกกระจายกัน |
ถึงยักษีชาวกรุงลงกา | ซึ่งพิเภกเกณฑ์มาในทัพขัน |
แต่กินน้ำตาไม่ราวัน | มันไม่จงรักภักดี |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณล้นเกล้าเกศี |
ตัวข้าหิวหอบแสนทวี | สุดที่จะตามเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลชาญสมร |
ไม่แจ้งแห่งกลวานร | ภูธรสำรวลแล้วตอบไป |
ทำไมกับไอ้นิลพัท | กูจะมัดมันมาให้ได้ |
เอ็งอย่าเกรงฤทธิ์ไอ้ลิงไพร | มาไปดูเล่นเป็นขวัญตา |
ซึ่งมึงหิวหอบบอบกาย | จงขึ้นยังท้ายรัถา |
อย่าทำหนักหน่วงอยู่ให้ช้า | กูจะรีบไปฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระกาลผู้ชาญชัยศรี |
สมดั่งถวิลก็ยินดี | ทำทีมิให้รู้กลใน |
ลุกขึ้นโซเซไม่เดินตรง | ล้มลงแล้วถอนใจใหญ่ |
พยุงกายขึ้นท้ายรถชัย | หมายใจจะล้างอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษา |
จึ่งให้ขับรถทรงอลงการ์ | ไปตามมรคาพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งลูกพระกาลชาญสมร |
นั่งมาท้ายรถอลงกรณ์ | วานรดำริตริการ |
อันไอ้ไวยตาลยักษี | วันนี้มันจะสิ้นสังขาร |
คิดแล้วสำรวมวิญญาณ | โอมอ่านพระเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ กลับกลายเป็นรูปวานร | สูงตระหง่านแปดกรสี่หน้า |
กวัดแกว่งตรีเพชรอันศักดา | ว่าเหวยไวยตาลกุมภัณฑ์ |
ตัวกูนี้คือนิลพัท | ทหารพระจักรรัตน์รังสรรค์ |
บัดนี้พระพรตทรงธรรม์ | ให้มาบั่นเศียรเกล้ามึงไป |
กูเห็นโยโสโง่เง่า | จะรู้เท่ากลศึกก็หาไม่ |
ว่าแล้วโถมถีบด้วยว่องไว | รถชัยหักยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
ล้มลงกับพื้นปถพี | อสุรีฉวยคว้ากระบองตาล |
ผุดลุกขึ้นร้องตวาด | เหวยเหวยไอ้ชาติเดียรัจฉาน |
อวดกล้าลงไปถึงบาดาล | กลัววายปราณหรือจึ่งหนีมา |
ทำกลโกหกถึงเพียงนี้ | กูพาซื่อปรานีว่ายักษา |
มึงอย่าองอาจอหังการ์ | ใช่ว่าจะเกรงฤทธิไกร |
สาอะไรกับไอ้หน้าขน | ถึงเจ้ามึงก็ไม่ทนกระบองได้ |
จะสังหารผลาญเสียทั้งทัพชัย | แต่ตนหนึ่งมิให้รอดชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิแรงแข็งขัน |
ตบมือร้องเย้ยกุมภัณฑ์ | เหวยอ้ายโมหันธ์อัปรีย์ |
ผลมึงจะถึงความตาย | ผีเข้าสิงกายยักษี |
เผอิญให้เห็นชั่วเป็นดี | จึงพาทีวิปริตให้ผิดไป |
อันสองพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศไม่เปรียบได้ |
มึงอย่าเย่อหยิ่งจะชิงชัย | ด้วยน้องพระภูวไนยจักรา |
แต่ตัวกูผู้เป็นทหาร | ผลาญมึงก็จะสิ้นสังขาร์ |
ทั้งหมู่จตุรงค์โยธา | จะพลอยมรณาเสียด้วยกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลรังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธขบฟัน | กุมภัณฑ์จึ่งร้องตอบไป |
เหม่เหม่อ้ายชาติทรลักษณ์ | กูจักเชือดเนื้อมึงให้ได้ |
ว่าแล้วก็สั่งพลไกร | จงจับไอ้ลิงป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | เข้าล้อมจับกระบี่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หลานพระพายเทวารังสรรค์ |
สะกดตามมาในพนาวัน | เห็นนิลพัทนั้นเข้าชิงชัย |
กวัดแกว่งคทาวราวุธ | สำแดงฤทธิรุทรแผ่นดินไหว |
โลดโผนโจนถีบทะยานไป | ไล่ตีพลไกรกระหนาบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองนายอาจหาญชาญฉกรรจ์ | ฟาดฟันกลางพลยักษา |
หัวขาดตัวขาดดาษดา | อสุราแตกยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
เห็นสองอริราชไพรี | ตีพลแตกตายกระจายไป |
โกรธาเข่นเขี้ยวกระทืบบาท | ปถพีกัมปนาทหวาดไหว |
กวัดแกว่งกระบองตาลว่องไว | เข้าไล่หักโหมโรมรัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองทหารพระนารายณ์รังสรรค์ |
รับรองป้องปัดพัลวัน | รุมกันเข้าจับอสุรา |
ลูกพระกาลเผ่นเหยียบเข่าซ้าย | หลานพระพายโผนเหยียบเข่าขวา |
กลอกกลับจับกันไปมา | ต่างแกล้วต่อกล้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
ผู้เดียวสู้สองไพรี | ต่อตีไม่ลดงดกร |
เท้าขวาเหยียบเข่าอสุรผัด | ซ้ายเหยียบนิลพัทชาญสมร |
สามตนต่างมีฤทธิรอน | ตีแทงฟันฟอนกันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนายชัยชาญทหารใหญ่ |
รับรองป้องปัดว่องไว | โลดไล่โจมจ้วงทะลวงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายว่าโอรสพระกาล | ชิงได้กระบองตาลยักษา |
อสุรผัดโถมถีบด้วยบาทา | ตีต้องอสุราเป็นหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไวยตาลยักษี |
เสียอาวุธคู่ชีวี | อสุรีสลดระทดใจ |
แล้วคิดมานะขึ้นมา | จะกลัวความมรณาก็หาไม่ |
มือเปล่าขบฟันทะยานไป | คว้าไขว่ฉวยชิงกระบองตาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนายผู้ปรีชาหาญ |
ต่างตนสัประยุทธ์ขุนมาร | ประจัญบานล่อเลี้ยวไปมา |
นิลพัทตีต้องล้มลง | ด้วยกำลังอาจองแกล้วกล้า |
อสุรผัดผู้มีศักดา | เหยียบอกอสุราไว้ทันที |
ตีด้วยคทาเพชรชัยชาญ | ลูกพระกาลฟาดกระบองยักษี |
แล้วแทงซ้ำกระหนํ่าด้วยตรี | อสุรีสุดสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างราพณ์ร้าย | สองนายฤทธิแรงแข็งขัน |
ตัดเอาเศียรเกล้ากุมภัณฑ์ | พากันมาในพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงมยุราบรรพต | พร้อมทัพองคตชาญสมร |
สามนายปรีดาสถาวร | บทจรเข้ายังพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรน้องนารายณ์นาถา |
ถวายเศียรทั้งสองอสุรา | ท่ามกลางเสนาโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นเห็นเศียรสองอสุรี | ยินดีด้วยสมอารมณ์คิด |
พักตร์ผ่องดั่งดวงจันทรา | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
อันท่านทั้งสามนี้มีฤทธิ์ | ปัญญาความคิดเสมอกัน |
มิเสียแรงที่เป็นทหาร | องค์พระอวตารรังสรรค์ |
บำเหน็จความชอบทั้งนั้น | พ้นที่จะพรรณนาไป |
จงเรืองเดชาวราฤทธิ์ | ทศทิศอย่าต้านต่อได้ |
ตรัสแล้วเสด็จคลาไคล | เข้าในสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลไวยตาลยักษา |
ซึ่งเหลือตายเห็นนายมรณา | ก็รีบมามลิวันธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงทวารพระนิเวศน์ | พร้อมกองคอยเหตุยักษี |
พากันขึ้นเฝ้าทันที | ยังที่พระโรงพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคม | พระบรมปิ่นภพไอศวรรย์ |
ทูลว่าพระสหายร่วมชีวัน | ไปตั้งตบะกรรม์ในบาดาล |
ยังไม่ทันล่วงราตรี | มีสองกระบี่ตัวหาญ |
ติดตามลงไปรอนราญ | ล้างพิธีการแล้วขึ้นมา |
คอยอยู่แทบที่ต้นทาง | หว่างช่องแคบเขาชายป่า |
ทำกลล่อลวงด้วยมารยา | ฆ่าพระสหายบรรลัย |
ฝ่ายข้างเพตราไปขัดทัพ | ก็ตายยับทั้งพลหาเหลือไม่ |
ทูลถี่คลี่คลายขยายไป | ตามได้เห็นสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิใจหาญ |
แจ้งว่าเพตราวายปราณ | ทั้งท้าวไวยตาลสหายรัก |
ตกใจดั่งใครมาพิฆาต | ให้สี่เศียรนั้นขาดด้วยคมจักร |
ยิ่งสลดระทดพระทัยนัก | พญายักษ์นิ่งขึงตะลึงไป |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | จะออกโอษฐ์เจรจาก็หาไม่ |
เสด็จจากอาสน์แก้วแววไว | ก็เข้าในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรก่ายพักตร์ยักษี |
ตรึกไปด้วยราชไพรี | ครั้งนี้มาได้อัประมาณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้าครวญ
๏ โอ้ว่าเสียแรงกูมีฤทธิ์ | ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ |
อานุภาพปราบทั่วจักรวาล | หรือมาแพ้พวกพาลอนาถนัก |
โอรสทั้งสามออกต่อกร | ก็ตายด้วยแสงศรปรปักษ์ |
ตัวกูก็ยกพลยักษ์ | ออกโหมหักก็ไม่มีชัย |
จึ่งให้ไปเชิญพระสหาย | หมายว่าจะช่วยปราบได้ |
ควรหรือมาม้วยบรรลัย | ด้วยไอ้ลิงไพรพาลา |
อกเอ๋ยคิดไปไม่เล็งเห็น | ใครเลยจะเป็นที่ปรึกษา |
เหมือนว่ายสมุทรสุดสายตา | จะพึ่งพาผู้ใดก็ไม่มี |
แต่ผุดลุกผุดนั่งเหนืออาสน์ | จนอุทัยโอภาสรัศมี |
แล้วคิดมานะใจอสุรี | กูนี้ก็ชายอาชาไนย |
จะย่อท้อต่อพวกปัจจามิตร | ทศทิศจะดูหมิ่นได้ |
พรุ่งนี้จะยกออกชิงชัย | ฆ่ามันเสียให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วแต่งองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมุกดาหาร |
เสด็จจากห้องแก้วสุรกานต์ | พญามารออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่มาตยากุมภัณฑ์ | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงจัดพหลพลไกร | กูจะไปปราบพวกไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุพินสันเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จัดเอาทหารชำนาญยุทธ์ | เลือกล้วนฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
กองหนึ่งถือปืนคาบศิลา | เหน็บพร้าคาดลูกปัศตัน |
กองหนึ่งนั้นถือทองปราย | ไพร่นายล้วนเหน็บกั้นหยั่น |
กองหนึ่งล้วนถือเกาทัณฑ์ | ลูกนั้นประกอบยาพิษ |
พร้อมหมู่ม้าคชสาร | อลหม่านอื้ออึงอกนิษฐ์ |
ต่างตนประกวดอวดฤทธิ์ | ตั้งไว้ตามทิศยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาโสรจสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ เข้าที่ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยมณีนิล | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์พื้นแดง |
ชายไหวชายแครงประดับบุษย์ | ฉลององค์พื้นผุดทองแล่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลเพชรเม็ดแตงกุดั่นดวง |
ทองกรพาหุรัดรูปภุชงค์ | ธำมรงค์มรกตรุ้งร่วง |
สี่เศียรทรงมงกุฎดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
แปดหัตถ์จับอัษฎาวุธ | ครบเครื่องพิชัยยุทธ์ศาสตร์ศร |
กวัดแกว่งสำแดงฤทธิรอน | บทจรไปขึ้นราชรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | กำกงล้วนแล้วด้วยมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย |
ช่อตั้งกระจังทองช่องกระจก | เสาบันบุษบกกระหนกห้อย |
สี่มุขแสงวามอร่ามพลอย | สุกย้อยสูงเยี่ยมวิมานจันทร์ |
เทียมด้วยไกรสรราชสีห์ | โลทันขับรี่ดั่งจักรผัน |
เครื่องสูงจามรทอนตะวัน | กลดกั้นบังแสงสุริยน |
ปี่ฆ้องกลองขานประสานเสียง | สำเนียงโห่ร้องกุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มโพยมบน | รีบพลขับแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
ร่าย
๏ ครั้นถึงให้หยุดจตุรงค์ | ตั้งลงโดยกระบวนพยุห์ใหญ่ |
ตามแถวแนวป่าพนาลัย | คอยจะชิงชัยด้วยไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เสด็จเหนืออาสน์แก้วรูจี | ยังที่พลับพลาสุพรรณพราย |
งามองค์งามทรงวิไลวรรณ | ผิวพักตร์เพียงจันทร์จำรัสฉาย |
โดยศักดาเดชน้องนารายณ์ | ท่ามกลางนิกายโยธา |
ปรึกษาการที่จะปราบยุค | ให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกแหล่งหล้า |
พอได้ยินสำเนียงอสุรา | โห่สนั่นลั่นป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งตรัสถามท้าวทศคิริวงศ์ | ผู้เอกองค์โหรายักษี |
อันทัพซึ่งยกมาวันนี้ | จะเป็นอสุรีตนใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็จับยามไปตามเวลา |
เห็นแจ้งแล้วกราบบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์นาถา |
อันทัพซึ่งยกออกมา | คือว่าจักรวรรดิกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตรุ่งฟ้านราสวรรค์ |
ได้ฟังน้องท้าวทศกัณฐ์ | จึ่งมีพระบัญชาการ |
ดูก่อนลูกพระสุริยา | จงจัดโยธาทวยหาญ |
ตัวเราจะยกออกรอนราญ | ผลาญหมู่อริราชไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จัดพยุหอินทรีตัวหาญ | หลานพระพายเป็นเศียรปักษา |
นิลเอกนิลขันเป็นสองตา | ปากนั้นปิงคลาวานร |
คอคือกระบี่ชมพูพาน | โอรสพระกาลนั้นเป็นหงอน |
องคตนิลราชฤทธิรอน | เป็นสองปีกต่อกรไพรี |
สุรเสนสุรการทหารกล้า | เป็นสองบาทาปักษี |
กองหลวงเป็นตัวอินทรี | หางคือกระบี่นิลนนท์ |
ยักษาวานรทั้งหลาย | เรียงรายสลับเป็นเล็บขน |
กวัดแกว่งอาวุธทุกตน | มาดหมายประจญอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
จึ่งชวนพระศรีอนุชา | เสด็จมาเข้าที่สนานองค์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ไขท่อนํ้าทิพย์อโนดาต | คู่ไทเทวราชโสรจสรง |
ลูบไล้เครื่องต้นสุคนธ์ทรง | สนับเพลาเครือหงส์ละกลกัน |
ภูษาต่างสีม่วงตอง | แย่งยกเกี้ยวกรองทองคั่น |
ชายไหวชายแครงกระหนกพัน | ฉลององค์เครือสุวรรณดวงลอย |
ตาบทิศทับทรวงสะอิ้งแก้ว | ทรงสังวาลแววดั่งหิ่งห้อย |
ทองกรกุดั่นประดับพลอย | พาหุรัดรักร้อยกิเลนกลาย |
สอดมหาธำมรงค์สำหรับศึก | มงกุฎแก้วผลึกฉานฉาย |
กรรเจียกจรกุณฑลทับทิมพราย | ดอกไม้ทัดเพชรรายอร่ามเรือง |
งามองค์งามทรงเครื่องประดับ | แวววับจับศรีฉวีเหลือง |
กุมศรขัดพระขรรค์ค่าเมือง | ย่างเยื้องตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถสุวรรณ | แก้วช่วงเก้าชั้นอลงกต |
สูงงามสามงอนอ่อนชด | กงรถแก้วรายอลงกรณ์ |
บัลลังก์รอบพื้นเรียงภาพ | ทรงเก็จเสากาบพรหมศร |
บันสะบัดบุษบกกระหนกงอน | ทวยสอดทอดซ้อนมณีรัตน์ |
เทียมสินธพสี่สีกระมุท | พระสัตรุดนั่งประณตประนมหัตถ์ |
ขุนรถขับเร็วดั่งลมพัด | เครื่องสูงแถวฉัตรธงชัย |
ปี่ฆ้องเป่าขานประสานกลอง | เสนาะกรรณสนั่นก้องแผ่นดินไหว |
พลหาญโห่สะท้านสะเทือนไพร | เร่งรีบรถชัยดำเนินจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
ยืนรถอยู่กลางพลากร | เห็นทัพวานรยกมา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | เหวยเสนามารยักษา |
จงขับพหลโยธา | ดากันเข้าตีกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภินกองหน้านายใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็ขับพลเข้าไล่โจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ปีกซ้ายปีกขวากระหนาบกัน | โห่ร้องสนั่นอึงมี่ |
พุ่งซัดอาวุธเป็นโกลี | อสุรีหนุนเนื่องเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิไกรใจกล้า |
แยกพลออกรับอสุรา | แล้วตีประดาเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เหล่าลิงฉวยชิงอาวุธยักษ์ | หาญหักถาโถมโจมไล่ |
กลับกลอกแทงฟันว่องไว | พลมารบรรลัยด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กุมภินกองหน้ายักษี |
เห็นพลแตกตายไม่สมประดี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามกระทืบบาท | ทำอำนาจเพียงพื้นแผ่นดินลั่น |
กวัดแกว่งกระบองขบฟัน | กุมภัณฑ์โถมทะยานเข้าราญรอน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายลูกพระกาลชาญสมร |
เห็นยักษีตีพลนิกร | วานรพิโรธโกรธนัก |
ผาดแผลงสำแดงฤทธี | กรขวาแกว่งตรีดั่งผันจักร |
หมายมาดพิฆาตชีวิตยักษ์ | เข้าไล่หักโหมโรมราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ รวบรัดได้สองบาทา | ด้วยกำลังศักดากล้าหาญ |
ฟาดลงกับพื้นสุธาธาร | ขุนมารสุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
แลเห็นกุมภินอสุรี | ตายด้วยฤทธีกระบี่ไพร |
กริ้วโกรธพิโรธขบฟัน | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
กวัดแกว่งอาวุธเป็นเปลวไฟ | ขับรถเข้าไล่วานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงนิลพัทชาญสมร |
โลดโผนโจนไปด้วยฤทธิรอน | เข้าจับงอนรถอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ฉวยชุดกระชากลากมา | ด้วยกำลังศักดากระบี่ศรี |
ฟาดลงกับพื้นปถพี | ไกรสรสารถีบรรลัยลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิใจหาญ |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | ขุนมารผุดลุกด้วยว่องไว |
โกรธาเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
ฉวยชักพระแสงศรชัย | แผลงไปด้วยกำลังฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ศรเป็นพันเล่มเต็มอากาศ | ส่งเสียงเนียรนาทอึงมี่ |
ต้องหมู่วานรโยธี | สิ้นชีวีเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เห็นท้าวจักรวรรดิอสุรา | แผลงผลาญโยธาวานร |
เจ็บปวดล้มตายเกลื่อนกลาด | จึ่งชักพลายวาตพระแสงศร |
พาดสายน้าวหน่วงด้วยฤทธิรอน | น้องพระสี่กรก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงดั่งเสียงลมกาล | ศรมารหักยับไม่ทนได้ |
สองพระองค์ลงจากรถชัย | เข้าไล่โรมรันอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ผู้เดียวแกล้วกล้าราวี | ต่อตีหลบหลีกไปมา |
ต่างถอยต่างไล่สับสน | ต่างตนเขม้นเข่นฆ่า |
กลอกกลับจับกันไปมา | หันเวียนเปลี่ยนท่าพัลวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์รังสรรค์ |
องอาจถาโถมโรมรัน | เข้าจับกุมภัณฑ์ด้วยฤทธี |
พระพรตนั้นเหยียบเข่าขวา | กรคว้าง้างเศียรยักษี |
พระอนุชานั้นไล่ตามตี | ต้องกายอสุรีซวนไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองพระองค์ต่างชักศรสาตร์ | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
พาดสายน้าวหน่วงด้วยว่องไว | แล้วผาดแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ศรไล่ล้างพลกุมภัณฑ์ | เสียงสนั่นทั่วทศทิศา |
วานรที่ม้วยมรณา | กลับเป็นขึ้นมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสี่พักตร์ยักษี |
เห็นมนุษย์แผลงศรมาราวี | ก็จับจักรโมลีขว้างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าลั่น | ครื้นครั่นกัมปนาทหวาดไหว |
มืดมิดปิดดวงอโณทัย | ไม่เห็นตำบลสนธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เห็นมืดมนทั่วสกลโลกา | ผ่านฟ้าฉงนสนเท่ห์นัก |
จึ่งจับศรจันทวาทิตย์ | อันเรืองฤทธิ์ปราบทั่วทั้งไตรจักร |
พาดสายหมายล้างอาวุธยักษ์ | น้องพระหริรักษ์ก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ล้างจักรหักแหลกลงทันที | ปถพีกัมปนาทหวาดไหว |
ต้องเจ้ามลิวันกรุงไกร | เต็มไปทั่วทั้งกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ถูกศรติดรึงตรึงตรา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน |
แปดกรถอนชักกระชากฉุด | ไม่หลุดยิ่งติดตรึงมั่น |
อุตส่าห์แข็งใจขบฟัน | กุมภัณฑ์ร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นครบสามคาบก็เป่าลง | ศรหลุดจากองค์ยักษี |
แต่เจ็บปวดรวดร้าวทั้งอินทรีย์ | อสุรีหวาดหวั่นพรั่นใจ |
หน้าซีดผาดเผือดสลดลง | จะดำรงพระกายมิใคร่ได้ |
สิ้นสุดอาวุธจะชิงชัย | สิ้นทั้งไพร่พลโยธา |
จึ่งคิดว่ามนุษย์นี้สามารถ | ฤทธิรงค์องอาจแกล้วกล้า |
ตัวกูก็สิ้นศักดา | น่าที่จะม้วยชีวี |
จำเป็นจะกลับเข้าไป | ยังในนิเวศน์บุรีศรี |
สั่งฝูงอนงค์นารี | พรุ่งนี้จึ่งจะยกมาราญรอน |
คิดแล้วพอจวนอัสดง | เลี้ยวลงลับเหลี่ยมสิงขร |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังอัมพร | คืนเข้าพระนครมลิวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ไม่เห็นพญากุมภัณฑ์ | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ดูก่อนพิเภกอสุรี | เรานี้มีความสงสัย |
จักรวรรดิสิต้องศรชัย | เหตุใดจึ่งหายไปกับตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
น้อมเศียรสนองพระบัญชา | อันซึ่งอสุราสาธารณ์ |
รณรงค์ต้องศรพระทรงฤทธิ์ | สุดคิดที่จะต่อกำลังหาญ |
เหาะหนีไปโดยคัคนานต์ | คืนเข้าสถานธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีขึ้นยังพิชัยรถ |
บัญชาให้เลิกทัพขัน | โบกธงสำคัญเป็นกำหนด |
โห่สนั่นครั่นครื้นถึงโสฬส | บทจรคืนเข้ายังพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เหาะพลางทางคิดตรึกตรา | อสุราสลดระทดใจ |
นิจจาเอ๋ยเสียแรงกูเรืองฤทธิ์ | ทศทิศไม่รอต่อได้ |
สี่พักตร์แปดหัตถ์เกรียงไกร | พร้อมไปด้วยเทพอาวุธ |
โอรสแลสหายก็ศักดา | จตุรงค์โยธานับสมุทร |
แต่ละตนล้วนมีฤทธิรุทร | หรือมาแพ้มนุษย์สองกร |
ครวญพลางเร่งรีบเหาะมา | ด้วยแสงจันทราประภัสสร |
ถึงเมืองลงจากอัมพร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรมเหสี |
ทั้งองค์พระราชบุตรี | ฝูงสนมนารีอนงค์ใน |
เหลือบแลเห็นองค์พญายักษ์ | พระพักตร์ผาดเผือดหม่นไหม้ |
โลหิตติดทั่วพระกายไป | ตกใจวิ่งวุ่นออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งฝูงนางอนงค์ | เข้าประคองพระองค์ทั้งซ้ายขวา |
พาเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | มายังแท่นแก้วรูจี |
ลางนางก็เปลื้องเครื่องทรง | จากองค์พญายักษี |
บ้างชโลมสุคนธวารี | โบกปัดพัดวีวุ่นไป |
อันฝูงพระกำนัลทั้งหลาย | เจ้าขรัวนายสุริย์วงศ์น้อยใหญ่ |
อลหม่านไปทั้งวังใน | ไม่เป็นตำบลสนธยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เห็นเมียรักกับราชธิดา | ฝูงนางอสุรากำนัล |
ให้เป็นห่วงบ่วงใยอาลัยนัก | รสรักรุมรึงตรึงมั่น |
แสนเสียดายที่จะตายจากกัน | กุมภัณฑ์นิ่งขึงตะลึงไป |
ชลนาคลอคลองนองเนตร | แสนทุกข์แสนเทวษละห้อยไห้ |
พิศพักตร์องค์อัครอรไท | สะท้อนถอนใจไปมา |
เป็นครู่แล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดเสน่หา |
พี่ยกจตุรงคโยธา | ไปต่อศักดาปัจจามิตร |
สิ้นหมู่ม้ารถคชพล | เสนาสามนต์อกนิษฐ์ |
ทั้งตัวก็ต้องศรพิษ | เจ็บเพียงชีวิตจะวายปราณ |
เข้ามาหวังว่าจะสั่งเจ้า | ยุพเยาว์ผู้ยอดสงสาร |
กับราชธิดายุพาพาล | นงคราญค่อยอยู่ให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรมเหสี |
ทั้งองค์พระราชบุตรี | เทวีได้ฟังพระบัญชา |
ตกใจดั่งใครมาฟันฟาด | ให้เศียรขาดออกจากกรรฐา |
สองนางกอดเบื้องบาทา | โศกาครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมเอ๋ย | พระคุณเคยร่มเกศดั่งฉัตรกั้น |
เย็นทั่วพื้นภพมลิวัน | ควรหรือทรงธรรม์จะหนีไป |
เหตุนี้เพราะฟังทศพิน | จึ่งเกิดเสี้ยนไพรินศึกใหญ่ |
ให้ได้เดือดร้อนรนใจ | ทั่วไปทั้งราชธานี |
ขอพระองค์ผู้ทรงปรีชาชาญ | จงงดการที่จะชิงชัยศรี |
ผ่อนผันเป็นราชไมตรี | อย่าให้มีฉันทาต่อกัน |
จะได้อยู่เสวยรมย์ชมสมบัติ | สารพัดสิ่งสุขเกษมสันต์ |
พร้อมหมู่สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | โดยมหันตยศสืบไป |
ฟังข้าน้อยเถิดพระทรงฤทธิ์ | จะสู้เสียชีวิตหาควรไม่ |
ทูลพลางข้อนทรวงเข้ารํ่าไร | สะอื้นไห้กันแสงโศกี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ฟังนางรํ่าว่าพาที | ยิ่งทวีทุกขาอาวรณ์ |
สงสารนํ้าคำนั้นสุดคิด | ร้อนจิตดั่งเพลิงสุมขอน |
ชลนัยน์คลอเนตรภูธร | ถอนใจแล้วมีบัญชา |
ซึ่งจะให้งอนง้อไพรี | เหมือนหนึ่งวาทีของเจ้าว่า |
จนใจอยู่แล้วนะแก้วตา | จะรู้ที่ไว้หน้าแห่งใด |
อายแก่เทวาสุราฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศจะหมิ่นได้ |
พี่ก็เป็นบุรุษอาชาไนย | จะรักชีวาลัยไปไยมี |
ถึงสุดสิ้นชนมานจะไว้ยศ | ให้ปรากฏฟากฟ้าราศี |
เจ้ากับพระราชบุตรี | ทั้งสนมนารีกำนัล |
ค่อยอยู่ศรีสวัสดิ์ถาวร | อย่าทุกข์ร้อนวิโยคโศกศัลย์ |
สิ่งใดจงได้ปรึกษากัน | อย่ามีโมหันธ์ฉันทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรเสน่หา |
ทั้งองค์พระราชธิดา | แสนสนมกัลยานารี |
ได้ฟังมธุรสพจนารถ | ต่างเข้ากอดบาทบทศรี |
จิตใจไม่เป็นสมประดี | เทวีวอนว่ารำพันไป |
โอ้พระทูลกระหม่อมจอมภพ | เลิศลบโลกาไม่หาได้ |
เคยอยู่ปกเกศกันภัย | สิ่งใดมิให้แผ้วพาน |
แต่นี้ข้าบาทยุคล | จะอาวรณ์ร้อนรนดั่งเพลิงผลาญ |
ที่เคยสุขก็จะทุกข์ทรมาน | จะแสนโศกรำคาญเวทนา |
ครวญพลางจึ่งฝูงนางอนงค์ | เกลือกลงกับบาทท้าวยักษา |
ต่างตนแสนโศกโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
เห็นนางกันแสงโศกี | อสุรีสลดระทดใจ |
ให้เป็นห่วงรัดตรึงจิต | ดั่งปืนพิษเสียบทรวงไม่ถอนได้ |
แสนทุกข์แสนเทวษด้วยอาลัย | ในฝูงกำนัลกัลยา |
จึ่งยอกรลูบหลังมเหสี | พิศพักตร์บุตรีเสน่หา |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | โศกาเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริยาเรื่อรอง | แสงทองพรรณรายฉายฉัน |
เสด็จจากห้องแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | ตรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงจัดพหลพลไกร | กูจะไปรณรงค์ด้วยไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทินสูรเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่ม้ารถคชสาร | ทหารพลเรือนพร้อมหน้า |
เรียกตามบาญชีโยธา | เร่งรัดฉุดคร่ากันวุ่นวาย |
นายหมวดตรวจตราโบยตี | จับได้คนนี้คนโน้นหาย |
บ้างลากลูกเมียแม่ยาย | มาส่งให้นายเนื่องไป |
อันหมู่โยธาเสนายักษ์ | จะสมัครสักตนก็หาไม่ |
หากว่าขัดสนจนใจ | กลัวภัยพญากุมภัณฑ์ |
มาเข้ากองทัพนับสมุทร | จบเครื่องอาวุธก็ไม่มั่น |
นั่งถอนใจใหญ่ยิงฟัน | ต่างปรับทุกข์กันไปมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เสด็จจากแท่นแก้วอลงการ์ | เข้ามาที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเครือวงเป็นหงส์บิน | เชิงรูปนาคินทร์เกี่ยวกัน |
ภูษาพื้นตองท้องแย่ง | ชายไหวชายแครงดวงกุดั่น |
ฉลององค์ทรงประพาสเครือสุวรรณ | เกราะเกล็ดเพชรคั่นทับทิมราย |
ตาบทิศทับทรวงดวงผลึก | สอดสังวาลศึกสามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายอรชร |
สี่เศียรทรงมหามงกุฎแก้ว | กรรเจียกจรวาวแววประภัสสร |
จับอัษฎาวุธทั้งแปดกร | บทจรไปหาเมียรัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้
๏ ลดองค์ร่วมอาสน์อัคเรศ | แสนเทวษพ่างเพียงอกหัก |
คิดความพิสมัยอาลัยนัก | พญายักษ์กอดไว้กับอุรา |
แล็วมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดเสน่หา |
วันนี้ตัวพี่จะมรณา | แก้วตาค่อยอยู่จงดี |
ซึ่งประมาทพลาดพลั้งสิ่งใด | ให้ขัดข้องเคืองใจมารศรี |
ด้วยมโนกายาวาที | อย่ามีเวรกรรมต่อกัน |
ถ้าผู้ใดได้ผ่านสมบัติ | ในเศวตฉัตรฉายฉัน |
เจ้ากับธิดาแลกำนัล | ฝากตัวเขานั้นสืบไป |
ค่อยเสงี่ยมเจียมองค์อยู่จงดี | อย่าให้มีราคีสิ่งใดได้ |
ซึ่งพี่สอนสั่งจงจำไว้ | จะเป็นศรีสวัสดิ์ไปทุกเวลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรเสน่หา |
ได้ฟังสมเด็จพระภัสดา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี |
กราบลงแทบเบื้องบาทบงสุ์ | แห่งองค์พญายักษี |
ข้อนทรวงเข้าทรงโศกี | เทวีครวญครํ่ารํ่าไร |
โอ้พระปิ่นเกล้าของเมียเอ๋ย | จะเคยไกลเบื้องบาทก็หาไม่ |
ควรหรือจะทิ้งข้าไว้ | ให้ได้ทนทุกข์เวทนา |
อันพวกพาลาปัจจามิตร | สุดคิดที่จะแลดูหน้า |
จะแสนระกำช้ำใจทุกเวลา | กัลยาทูลพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
เห็นเมียรักรํ่าพาที | ยิ่งมีอาลัยเป็นพ้นคิด |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
อันเกิดมาเป็นรูปเป็นชีวิต | ก็ถึงพรหมลิขิตไม่เว้นใคร |
เจ้าอย่าโศกาอาวรณ์ | แสนเทวษทุกข์ร้อนละห้อยไห้ |
ว่าแล้วเสด็จคลาไคล | ตรงไปเกยรัตน์มณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวัชนีสูรมเหสี |
ทั้งองค์พระราชบุตรี | แสนสนมนารีกำนัล |
ต่างองค์ต่างฟายชลเนตร | แสนทุกข์แสนเทวษโศกศัลย์ |
ดั่งหนึ่งจะสิ้นชีวัน | พากันวิ่งตามเสด็จมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ ครั้นถึงจึ่งฝูงอนงค์นาฏ | ต่างเข้ากอดบาทซ้ายขวา |
ซบพักตร์กันแสงโศกา | ทูลวอนพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อัคเรศว่าโอ้พระยอดรัก | จงผินพักตร์ดูข้าบทศรี |
มาทิ้งแต่เมียลูกไว้ทั้งนี้ | ไม่มีเมตตาอาวรณ์ |
พระองค์ผู้ทรงศักดาฤทธิ์ | จงประหารชีวิตเมียเสียก่อน |
จึ่งค่อยยกพวกพลากร | บทจรออกจากพารา |
กำนัลว่าโอ้พระจอมเกศ | พระเดชเคยปกเกศา |
บำรุงเลี้ยงข้าทั้งนี้มา | พระคุณลํ้าฟ้าสุธาธาร |
มาตรแม้นผิดพลั้งก็สั่งสอน | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมศานต์ |
แก้วแหวนเงินทองศฤงคาร | โปรดประทานให้ถ้วนหน้ากัน |
มเหสีว่าโอ้จะแลลับ | ดั่งเดือนดับสิ้นแสงฉายฉัน |
สงสารแต่องค์ธิดานั้น | ขวัญข้าวพึ่งค่อยจำเริญวัย |
จะกันแสงถึงองค์พระบิตุเรศ | แสนเทวษเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
แม่ลูกจะระกำช้ำใจ | ด้วยอยู่ในเงื้อมมือไพรี |
นางสนมว่าโอ้จะได้ทุกข์ | เสื่อมสุขสิ้นความเกษมศรี |
จะเงียบเสียงดุริยางค์ดนตรี | จะรํ่าร้องไห้มี่ทั้งพารา |
แต่นี้ไปไม่มีที่พึ่ง | เหมือนหนึ่งพระบรมนาถา |
รํ่าพลางทางแสนโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
เห็นเมียรักกับฝูงกำนัล | มารำพันครวญครํ่ารํ่าไร |
ให้สลดระทดพระทัยนัก | ความรักมิใคร่จะจากได้ |
สวมสอดกอดนางเข้าไว้ | รับขวัญปลอบไปด้วยวาจา |
เจ้าอย่าโศกาอาวรณ์ | ดวงสมรผู้ยอดเสน่หา |
กรรมมีตัวพี่จะขอลา | แก้วตาค่อยอยู่รักษากัน |
สั่งแล้วเสด็จยุรยาตร | จากฝูงอนงค์นาฏสาวสวรรค์ |
ยกบาทย่างเยื้องจรจรัล | ไปขึ้นรถสุวรรณพรรณราย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งให้เคลื่อนพยุหโยธี | แสนสุรเสนีทั้งหลาย |
กองหน้าโบกธงสามชาย | บ่ายทัพไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ โอ้ครั้นออกนอกราชนิเวศน์ | ทอดพระเนตรเหลือบแลทั้งซ้ายขวา |
พินิศพิศดูพารา | สนุกดั่งเมืองฟ้าดุษฎี |
เสียดายปราสาททั้งสาม | ล้วนงามด้วยแก้วสลับสี |
เคยอยู่เป็นสุขทุกราตรี | กับฝูงนารีอนงค์ใน |
ทีนี้จะแลลับแล้ว | ปราสาทแก้วที่เคยอาศัย |
เสียดายห้องทองอำไพ | หอมไปด้วยรสสุคนธา |
เคยฟังเสียงขับนางจำเรียง | สำเนียงยั่วยวนเสน่หา |
เคยภิรมย์สมสุขทุกเวลา | อนิจจาแต่นี้จะจากจร |
เหลียวเห็นปราสาทมเหสี | แสงมณีจำรัสประภัสสร |
ยิ่งคิดโศกาอาวรณ์ | ทอดถอนฤทัยอาลัยนัก |
อกเอ๋ยสารพัดจะพลัดพราก | จำจากครั้งนี้เพียงอกหัก |
สงสารบุตรีผู้ยอดรัก | จะไม่ได้เห็นพักตร์บิดา |
เสียดายฝูงนางพระสนม | เคยเชยชมสมสนิทเสน่หา |
ตั้งแต่นี้ไปจะลับตา | คิดมาก็น่าอนาถใจ |
โอ้ว่ามลิวันราชฐาน | โอฬารไม่มีที่เปรียบได้ |
ไพบูลย์พูนสุขด้วยโภไคย | ชายหญิงแน่นไปทั้งธานี |
จะสูญเศร้าเปลี่ยวเปล่าเหงาเงียบ | เย็นเชียบดั่งป่าช้าผี |
เอ็นดูไพร่ฟ้าประชาชี | จะมีแต่กินนํ้าตา |
ยิ่งคิดยิ่งแสนอาลัยนัก | พญายักษ์เศร้าโทมนัสสา |
จนออกมานอกทวารา | ให้หวาดหวั่นวิญญาณ์กุมภัณฑ์ |
เหมือนมาผู้เดียวเอองค์ | ไม่มีจัตุรงค์พลขันธ์ |
ทุกทิศมืดมัวเป็นควัน | กลางวันดั่งจะย่ำเข้าราตรี |
กงรถไม่ลั่นสนั่นก้อง | เสียงโห่ดั่งร้องไห้มี่ |
แร้งกาบินว่อนจิกตี | กลาบาตตกที่หน้ารถ |
พฤกษาริมทางไม่ต้องลม | หักโค่นระทมไปหมด |
บรรดาเครื่องทรงสำหรับยศ | ปรากฏโชติช่วงดั่งเปลวไฟ |
ธงทิวซึ่งแห่เป็นขนัด | จะโบกสะบัดไปมาก็หาไม่ |
เห็นลางก็สลดระทดใจ | ตะลึงไปจนถึงที่ยุทธ์ ฯ |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งให้หยุดจตุรงค์ทวยหาญ | หมู่มารแน่นนันต์นับสมุทร |
ตั้งเป็นกระบวนพยุหครุฑ | คอยทัพมนุษย์วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ