- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วอุดรเสน่หา |
ฟังข่าวเร่าร้อนในอุรา | กัลยาก็รีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงห้องทองไสยาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
มิได้เห็นองค์ภูธร | บังอรค่อนทรวงเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | พระเดชเคยปกเกศี |
หายไปทั้งแท่นมณี | เมียนี้เห็นผิดประหลาดนัก |
แต่ก่อนจะเสด็จไปแห่งใด | ก็ย่อมไปด้วยเดชพญาจักร |
พร้อมหมู่จัตุรงค์องครักษ์ | พิทักษ์เบื้องบาทบาทา |
ครั้งนี้เสด็จแต่ผู้เดียว | ดูเปลี่ยวดั่งหนึ่งอนาถา |
รํ่าพลางนางทอดทัศนา | ดูยอดมหาปราสาทชัย |
หักทลายลงมาจนเพดาน | เยาวมาลย์จึ่งคิดขึ้นได้ |
ชะรอยทูตาบังอาจใจ | สะกดไว้ด้วยวิทยามนต์ |
แล้วพาเอาองค์ภูธร | เขจรไปโดยโพยมหน |
นอกนั้นไม่มีใครแปลกปน | ที่จะลอดไพชยนต์ลงมา |
อนิจจาพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ | สุดคิดที่เมียจะตามหา |
รํ่าพลางแสนโศกโศกา | กัลยาสลบซบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | เถ้าแก่ชาวแม่น้อยใหญ่ |
เห็นนางสลบก็ตกใจ | ร้องไห้อื้ออึงขึ้นพร้อมกัน |
บ้างบีบบ้างนวดวุ่นวาย | เจ้าขรัวนายเรียกหมอปากสั่น |
บ้างฝนกฤษณาจวงจันทน์ | ช่วยกันประพรมชโลมทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วอุดรเสน่หา |
ครั้นฟื้นคืนสมประดีมา | กัลยาจึ่งสั่งขันที |
เอ็งจงเร่งรีบออกไป | หาโหรผู้ใหญ่ทั้งสี่ |
โหรหลังโหรหน้าบรรดามี | เข้ามายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นักเทศขันทีคนขยัน |
รับสั่งถวายอภิวันท์ | ก็พากันวิ่งวุ่นออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แซ่ซ้องร้องเรียกอึงมี่ | โหราธิบดีนั้นอยู่ไหน |
มีพระเสาวนีย์อรไท | ให้หาไปเฝ้าพระบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | โหราวานรถ้วนหน้า |
นั่งล้อมพร้อมกันสูบกัญชา | ได้ยินเรียกมาก็ตกใจ |
ต่างตนคว้าหาสมุด | อุตลุดไม่เอาอะไรได้ |
บ้างฉวยตุ้งก่าวิ่งพาไป | เฝ้าองค์อรไทเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | โฉมยงอัคเรศมเหสี |
คอยฟังพระราชเสาวนีย์ | อยู่ที่พระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วอุดรเสน่หา |
ครั้นเห็นโหรเฒ่าเข้ามา | กัลยาจึ่งมีพจมาน |
บัดนี้พระปิ่นนคเรศ | มงกุฎเกศจอมภพราชฐาน |
หายไปทั้งแท่นชัชวาล | ผ่านฟ้าจะเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนโหราผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งอรไท | ขับไล่จับยามตามเวลา |
แล้วเทียบเปรียบในพระเคราะห์จร | พยากรณ์วางดวงชันษา |
อังคารนั้นถอยลงมา | ทับลัคน์ในราศีมิน |
เสาร์กับราหูเป็นสิบสอง | ต้องฆาตลัคน์จันทร์ทั้งสิ้น |
ทูลว่าพญาพานรินทร์ | จะพลัดแต่ถิ่นฐานเวียงชัย |
ตกใจหน่อยหนึ่งแล้วพลันหาย | จะร้ายถึงพระชนม์นั้นหาไม่ |
สามวันองค์พระภูวไนย | จะได้คืนมายังธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วอุดรมเหสี |
ได้ฟังโหราธิบดี | เทวีค่อยคลายโศกา |
จึ่งสั่งฝูงนางกำนัล | จงชวนกันเร่งรีบไปหา |
นิลพัทผู้มีศักดา | ขึ้นมาจะได้คิดการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลเยาวยอดสงสาร |
รับพระเสาวนีย์นงคราญ | กราบกับบทมาลย์แล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงนิลพัทฤทธิรอน | ยอกรบังคมประนมไหว้ |
ทูลว่าอัคเรศอรไท | ให้เชิญเสด็จไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระกาลผู้ชาญชัยศรี |
ได้แจ้งแห่งราชเสาวนีย์ | ขุนกระบี่ขึ้นเฝ้าเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระอัครราชผู้ยอดสงสาร |
ท่ามกลางสนมบริวาร | คอยฟังพจมานกัลยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วอุดรเสน่หา |
ครั้นเห็นนิลพัทขึ้นมา | โศกาเล่าความแต่เดิมที |
วานนี้มีสองวานร | ถือลักษณ์อักษรสารศรี |
ว่าหน่อท้าวทศรถธิบดี | มีนามสมเด็จพระรามา |
คือองค์พระนารายณ์อวตาร | มาปราบพวกพาลยักษา |
พระองค์จะประชุมโยธา | ยกไปลงกาธานี |
ให้หาท้าวนี้ไปเฝ้า | ยังเขาคันธมาทน์คีรีศรี |
พระไม่เชื่อถ้อยวาที | สองกระบี่อาจองทะนงใจ |
ลอบมาสะกดไสยาสน์ | พาองค์ภูวนาถไปได้ |
จะทารกรรมจำจองประการใด | หรือจะฆ่าให้ม้วยชีวา |
ตัวเจ้าผู้ทรงศักดาฤทธิ์ | จงเร่งติดตามไปเสาะหา |
ยังคันธมาทน์บรรพตา | ให้แจ้งกิจจาว่าร้ายดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนิลพัทกระบี่ศรี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | โศกีสะอื้นแล้วทูลไป |
ตัวข้าก็นับว่าเป็นชาย | จะเสียดายชีวานั้นหาไม่ |
มันทำอาจองทะนงใจ | จะติดตามไปไม่ละกัน |
แม้นทันจะเข้าราวี | ฆ่าสองกระบี่ให้อาสัญ |
ว่าแล้วถวายบังคมคัล | แกว่งพระขรรค์เหาะขึ้นอัมพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยลิ่วปลิวมาในอากาศ | ก็ถึงคันธมาทน์สิงขร |
ลงยังพ่างพื้นดินดอน | บทจรตามมรรคาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเห็นสุวรรณพลับพลา | ใต้ร่มพฤกษาสูงใหญ่ |
ลัดแลงเข้าแฝงพุ่มไม้ | แลไปเห็นท้าวชมพู |
กับสองทูตาซึ่งถือสาร | หมอบกรานอ่อนน้อมมนุษย์อยู่ |
จำจะลอบเข้าไปถามดู | ให้รู้ว่าร้ายหรือดี |
คิดแล้วนบนิ้วอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | กระบี่อ่านเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลายเป็นแมลงวันทอง | ผิวผ่องดั่งหนึ่งเลขา |
บินร่าถาร่อนเข้ามา | จับอังสาท้าวชมพู ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ แล้วมีวาจาทูลความ | ค่อยกระซิบถามที่ริมหู |
มานั่งอยู่ไยกับศัตรู | ดูไม่ควรเลยภูวไนย |
พระองค์ผู้ทรงฤทธี | อัญชุลีเขาแล้วหรือไฉน |
จึงไม่สัประยุทธ์ชิงชัย | น้อยใจเป็นพ้นพรรณนา |
ขอเชิญพระจอมมงกุฎเกศ | คืนไปนิเวศน์ดีกว่า |
ทำไมกับสองทูตา | แม้นตามจะฆ่าให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งห้ามลูกพระกาล | หลานรักอย่าได้พาที |
ท่านนี้คือองค์พระทรงสังข์ | สถิตยังเกษียรวารีศรี |
อวตารมาผลาญอสุรี | มีนามสมเด็จพระรามา |
เมื่อแรกเราได้เห็นองค์ | สลบลงปิ้มสิ้นสังขาร์ |
นี่หากว่าทรงพระเมตตา | หาไม่ไม่รอดชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิแรงแข็งขัน |
แจ้งว่าพระองค์ทรงสุบรรณ | จะมาปราบอาธรรม์พาลา |
สิ้นความกังขาราคี | มีจิตแสนโสมนัสสา |
แต่แค้นด้วยหนุมานอหังการ์ | ทะนงศักดิ์หักหน้าไม่เกรงใจ |
ตัวกูตามมาจะราญรอน | แก้แค้นแทนกรมันให้ได้ |
เมื่อตรัสดั่งนี้ก็จนใจ | จำจะงดไว้เป็นไรมี |
คิดแล้วสนองพระวาจา | ถ้ากระนั้นจงโปรดเกศี |
นำข้าเข้าเฝ้าพระจักรี | จะได้รองธุลีบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูใจหาญ |
ได้ฟังวาจาลูกพระกาล | จึ่งมีพจมานตอบไป |
ซึ่งเจ้าจำนงจงรัก | เราจักช่วยทูลถวายให้ |
เป็นข้าทหารช่วงใช้ | อยู่ใต้เบื้องบาทพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
จึ่งมีพจนารถวาที | แก่ขุนกระบี่สองนาย |
ว่าองค์สมเด็จพระจักรา | ให้กำหนดโยธาทั้งสองฝ่าย |
บรรจบข้างบรัดราย | เราจะทูลถวายพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูรังสรรค์ |
กับพญาสุครีพชาญฉกรรจ์ | บังคมคัลทูลน้องพระสี่กร |
อันหมู่กบินทร์วรินท์ราช | ล้วนองอาจฮึกหาญชาญสมร |
ในกรุงขีดขินพระนคร | วานรห้าสิบสมุทรไท |
ฝ่ายข้างชมพูนครา | โยธาวานรก็เกณฑ์ได้ |
ยี่สิบเจ็ดสมุทรเกรียงไกร | ว่องไวชำนาญในการยุทธ์ |
บรรจบทั้งสองกรุงนั้น | เข้ากันเจ็ดสิบเจ็ดสมุทร |
ล้วนมีปรีชาวรารุทร | ทั้งสิบแปดมงกุฎศักดา |
กับขุนกบินทร์นิลพัท | นัดดาร่วมชีพสังขาร์ |
บัดนี้ตัวเพื่อนตามมา | ขอถวายเป็นข้าพระจักรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังท้าวชมพูธิบดี | จึ่งมีพจนารถตรัสไป |
ดูกรกระบี่ผู้ปรีชาญ | คำที่พจมานเราสงสัย |
หลานท่านตามมาอยู่แห่งใด | จงไปเรียกตัวมันมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูนาถา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กราบกับบาทาทันที |
แล้วเรียกกบินทร์นิลพัท | ดูกรนัดดาเรืองศรี |
จงมาน้อมเกล้าดุษฎี | น้องพระจักรีฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งลูกพระกาลชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาภูธร | ก็บินร่อนลงจับสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ รูปนั้นกลับกลายเป็นกระบี่ | หมอบอยู่กับที่หน้าฉาน |
ยอกรประณตบทมาลย์ | น้องพระอวตารผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ครั้นเห็นนิลพัทก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าโสฬส |
พินิจพิศทั่วทั้งกาย | เส้นขนเหลื่อมพรายดำหมด |
จึ่งพาสี่กระบี่มียศ | บทจรขึ้นเฝ้าทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ทูลว่าทั้งสองธานี | บาญชีคณนาพลากร |
ชมพูยี่สิบเจ็ดสมุทร | ล้วนมีฤทธิรุทรชาญสมร |
ฝ่ายข้างขีดขินพระนคร | วานรห้าสิบสมุทรไท |
เจ็ดสิบเจ็ดสมุทรกำหนด | ทั้งอัษฎาทศนายใหญ่ |
กับหลานท้าวชมพูฤทธิไกร | ได้นามนิลพัทชัยชาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ทอดพระเนตรเห็นลูกพระกาล | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูกรชมพูเรืองศรี |
ตัวเราจะยกโยธี | ไปปราบอสุรีในลงกา |
ฝ่ายท่านก็แก่ชรานัก | จงอยู่พิทักษ์รักษา |
ชมพูขีดขินนครา | อย่าให้มีเหตุเภทพาล |
เกณฑ์แต่รี้พลพานรินทร์ | มอบนิลพัทผู้หลาน |
เป็นจอมโยธาบัญชาการ | ยกทหารบรรจบสุครีพมา |
ฝ่ายพญาสุครีพก็รีบไป | เร่งจัดพลไกรแกล้วกล้า |
เจ็ดวันจงยกโยธา | ทั้งสองเมืองมาให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
ทั้งท้าวมหาชมพูนั้น | กับนิลพัทอันมีฤทธิ์ |
ต่างตนประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระบรมจักรกฤษณ์ |
ออกจากพลับพลาชวลิต | แผลงฤทธิ์เหาะไปธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงขีดขินพระนคร | ลูกพระทินกรเรืองศรี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วรูจี | ในที่พระโรงรัตนา |
จึ่งสั่งเสนาพานรินทร์ | ให้เกณฑ์กบินทร์แกล้วกล้า |
ห้าสิบสมุทรโดยตรา | ซึ่งมีฤทธาว่องไว |
สรรพไปด้วยเครื่องศัสตราวุธ | สำหรับรณยุทธ์ศึกใหญ่ |
อาสาพระนารายณ์เรืองชัย | ให้พร้อมในสามราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหาเสนากระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จึ่งจัดนายกองคุมทหาร | สุรเสนสุรกานต์แกล้วกล้า |
อุศุภศรรามปิงคลา | มาลุนวาหุโลมชาญยุทธ์ |
เจ็ดนายให้คุมพลากร | วานรนับสามสิบสมุทร |
เกยูรรสคันธ์โคมุท | ไวยบุตรมหัทวิกัน |
คุมพลนับสิบสมุทรไท | ล้วนมีฤทธิไกรแข็งขัน |
ทวิพัทมากันจวิกนั้น | ได้บัญชาการวานร |
สิบสมุทรสามารถอาจอง | รณรงค์ห้าวหาญชาญสมร |
ล้วนถืออาวุธครบกร | ซับช้อนโดยกระบวนยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งกล้า |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | ก็สระสรงคงคาวารี |
ทรงเครื่องกษัตริย์สุริย์วงศ์ | อ่าองค์ดั่งพญาราชสีห์ |
จับพระขรรค์แก้วรูจี | เสด็จมายังที่ประชุมพล |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้เลิกโยธาพลากร | วานรโห่ร้องกุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มโพยมบน | ขับร้นออกจากพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงซึ่งทางร่วมกัน | ให้หยุดพลขันธ์ซ้ายขวา |
ท่าทัพนิลพัทจะยกมา | อยู่ที่ชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวชมพูเรืองศรี |
ครั้นถึงซึ่งราชธานี | ขุนกระบี่ออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงมีพระราชโองการ | แก่เสนาทหารผู้ใหญ่ |
เร่งจัดรี้พลสกลไกร | สรรพไปด้วยเครื่องศัสตรา |
จงได้ยี่สิบเจ็ดสมุทร | อันมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จะให้นิลพัทนัดดา | ยกไปอาสาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหาเสนาชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระภูธร | บทจรออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดเอานิลเอกนิลนนท์ | คุมพลสิบสมุทรแข็งขัน |
ขุนนิลกับนิลปานัน | สองนายนั้นมีปรีชา |
ให้คุมวานรเจ็ดสมุทร | ล้วนมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
นิลราชนิลขันผู้ศักดา | คุมวานรห้าสมุทรไท |
วิสันตราวีขุนนน | โชติมุกข์สามตนเป็นนายใหญ่ |
ให้คุมพหลพลไกร | ห้าสิบสมุทรใจห้าวฮึก |
ล้วนถืออาวุธกวัดแกว่ง | สำแดงฤทธิรงค์ทะนงศึก |
เหี้ยมหาญชาญฉกรรจ์พันลึก | คั่งคึกอัดแอแจจัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูรังสรรค์ |
จึ่งสั่งนิลพัทชาญฉกรรจ์ | หลานขวัญผู้ร่วมฤทัย |
ตัวเจ้าจงยกพลากร | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
บรรจบทัพขีดขินเวียงชัย | ไปทำอาสาพระจักรี |
อันซึ่งองคตหนุมาน | กับชมพูพานกระบี่ศรี |
สามนายแต่ล้วนตัวดี | เจ้านี้ก็มีฤทธา |
จะเป็นข้าบาทพระหริวงศ์ | รณรงค์อย่าให้อายหน้า |
จึ่งจะนับว่าชายศักดา | ให้เดชาปรากฏทั้งแดนไตร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | ยินดีดั่งได้โสฬส |
จึ่งน้อมเศียรคำรพอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
ลาสองกษัตริย์ทรงยศ | บทจรมาสรงสาคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เสร็จแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสประภัสสร |
จับพระขรรค์แก้วฤทธิรอน | มายังนิกรโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ได้ฤกษ์ให้เลิกทวยหาญ | เสียงโห่สะท้านทุกทิศา |
ฆ้องกลองกึกก้องโกลา | ยาตราออกจากธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงเขาแก้วอินทนิล | ทางร่วมขีดขีนบุรีศรี |
เห็นทัพสุครีพก็ยินดี | ให้หยุดโยธีบรรจบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์รังสรรค์ |
ครั้นทัพชมพูมาทัน | บัญชาให้เลิกพลากร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รุกรัน
๏ อันพลทั้งสองพารา | หนุนเนื่องกันมาไม่หยุดหย่อน |
เจ็ดสิบเจ็ดสมุทรพานร | สำแดงฤทธิรอนต่างกัน |
บ้างเดินนํ้าดำดินเหาะทะยาน | สุธาธารสะเทือนเลื่อนลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | เสียงโห่สนั่นครั่นครึก |
นายไพร่ล้วนมีฤทธิรณ | แต่ละตนลำพองคะนองศึก |
แตรสังข์ฆ้องกลองประโคมคึก | มโหระทึกกึกก้องอึงอล |
หนทางกว้างโยชน์โดยประมาณ | ทวยหาญเยียดยัดสับสน |
ธงริ้วธงฉานโบกบน | ธงชัยนำพลยาตรา |
อันมิ่งไม้ที่ไม่เบื่อเมา | วานรเก็บเอาเป็นภักษา |
บ้างช่วงชิงกันโกลา | เสียงสนั่นทั้งป่าพนาดร |
กระชากเถาเง่ารากถกเปลือก | เลือกกินลูกดอกใบอ่อน |
สองเมืองรีบเร่งพลากร | แรมร้อนมาในพนาวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้คันธมาทน์คีรี | ให้หยุดโยธีทัพขันธ์ |
สุครีพลูกพระสุริยัน | กับนิลพัทอันศักดา |
ทั้งทหารสิบแปดมงกุฎ | ล้วนมีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ออกจากที่ประทับโยธา | ไปหาคำแหงหนุมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ประถม
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นพญาสุครีพชมพูพาน | ลูกพระกาลองคตฤทธิรอน |
กับสิบแปดมงกุฎทหารใหญ่ | มีใจชื่นชมสโมสร |
ก็พาท้าวพญาวานร | บทจรขึ้นเฝ้าพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างตนน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
สุครีพทูลถวายโยธี | ตามในบาญชีที่ยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
ครั้นเห็นท้าวพญาเสนา | ทั้งสองนคราพร้อมกัน |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติสรวงสวรรค์ |
จึ่งสั่งลูกพระสุริยัน | อันพวกพลขันธ์โยธี |
ให้ตั้งกระบวนพยุหบาตร | เป็นครุฑราชปักษี |
โดยมหามงคลสวัสดี | ในที่ชัยภูมิสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระสี่กร | ก็พากันบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งตั้งกระบวนพยุหครุฑ | โยธานับสมุทรแกล้วกล้า |
เป็นเท้าปากปีกหางนัยนา | คอเศียรกายาสกุณี |
สลับซับซ้อนด้วยเล็บขน | อลวนแออัดอึงมี่ |
กองหนุนกองขันนั้นตัวดี | มีทั้งเสือป่าแมวมอง |
สามหอกเจ็ดหอกกองกระเวน | กะเกณฑ์ตรวจตราจุกช่อง |
กองร้อยคอยเหตุประจำซอง | เป็นหมวดกองรายรอบพลับพลา |
นั่งยามตามไฟกวดขัน | ผลัดกันพิทักษ์รักษา |
กลางคืนกลางวันอัตรา | เสร็จโดยบัญชาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงประคนธรรพ์ชาญสมร |
อยู่ยังเชิงเขายุคุนธร | ฤทธิรอนองอาจอหังการ |
เทวาทานพนักสิทธ์ | เกรงฤทธิ์ไม่ต่อกำลังหาญ |
เดินนํ้าดำดั้นสุธาธาร | เหาะทะยานผ่านฟ้าได้ว่องไว |
ออกนามขามเดชทุกแห่งหน | แปลงกายหายตนก็ทำได้ |
จึ่งดำริตริตรึกนึกไป | จะใคร่เที่ยวป่าพนาวัน |
คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสฉายฉัน |
จับพระขรรค์แก้วแพร้วพรรณ | ระเห็จหันเหาะไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลม
๏ เลื่อนลอยมากลางอากาศ | ก็ถึงคันธมาทน์คีรีศรี |
แลไปในพื้นปัถพี | เห็นหมู่กระบี่รี้พล |
ตั้งล้อมสุวรรณพลับพลา | เข้าออกไปมาสับสน |
ปี่กลองฆ้องขานอึงอล | ก็คิดฉงนสนเท่ห์ใจ |
ตัวกูจะไปถามดู | ให้รู้ว่าเหตุผลเป็นไฉน |
คิดแล้วก็ตรงลงไป | ยังในพ่างพื้นปัถพี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แอบอยู่ที่ริมชายป่า | เห็นหมู่โยธากระบี่ศรี |
เที่ยวมาตามเชิงคีรี | ล้วนมีอาวุธครบกร |
แต่ละตนพื้นทำอำนาจ | องอาจดั่งพญาไกรสร |
มีความปรีดาสถาวร | ก็บทจรจากพุ่มพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรแข็งขัน |
เหลือบแลไปเห็นคนธรรพ์ | ก็พากันวิ่งมาเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างเข้าล้อมหน้าล้อมหลัง | พร้อมพรั่งอื้ออึงคะนึงมี่ |
นิลขันผู้เรืองฤทธี | จึ่งมีวาจาถามไป |
ท่านนี้เป็นมนุษย์หรือภุชงค์ | ดั้นดงเที่ยวมาจะไปไหน |
มีนามกรชื่อใด | จึ่งอาจใจบุกรุกเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประคนธรรพ์ฤทธิแรงแข็งกล้า |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ดูราพญาวานร |
อันตัวของเรานี้หรือ | ชื่อประคนธรรพ์ชาญสมร |
มาเที่ยวเล่นป่าพนาดร | เห็นพวกพลนิกรโยธี |
สงสัยจะใคร่แจ้งความ | จึ่งแวะเข้าถามกระบี่ศรี |
อันพระองค์ผู้จอมโมลี | มีนามกรชื่อใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลขันผู้เป็นนายใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งตอบคำไป | ท่านไม่แจ้งหรือแต่เดิมมา |
อันพระจอมพลนิกาย | คือองค์พระนารายณ์นาถา |
อวตารมาผลาญอสุรา | จะให้โลกาสถาวร |
บัดนี้มาชุมโยธี | พวกพลกระบี่ชาญสมร |
ทั้งชมพูขีดขินพระนคร | จะไปราญรอนกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประคนธรรพฤทธิแรงแข็งขัน |
แจ้งว่าพระองค์ทรงสุบรรณ | จะไปมล้างอาธรรม์ให้บรรลัย |
มีความชื่นชมยินดี | ดั่งกระบี่เอาแก้วมายื่นให้ |
จึ่งมีวาจาตอบไป | ตัวท่านจงได้เมตตา |
ช่วยพาเรานี้ไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าบรมนาถา |
จะอยู่รองเบื้องบาทา | อาสาสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนิลขันกระบี่ศรี |
ได้ฟังประคนธรรพพาที | ยินดีก็พากันเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระนารายณ์นาถา |
ทูลว่าประคนธรรพผู้ศักดา | จะมาเป็นข้าพระทรงฤทธิ์ |
อาสาทำการรณรงค์ | ด้วยใจซื่อตรงสุจริต |
มล้างเหล่าพาลาปัจจามิตร | ไปกว่าชีวิตจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังนิลขันแจ้งการ | ผ่านฟ้าทอดทัศนาไป |
เห็นประคนธรรพก็ปรีดา | จึ่งกล่าววาจาปราศรัย |
ตัวท่านผู้มีฤทธิไกร | ตั้งใจจงรักภักดี |
จะมาช่วยเราปราบเข็ญ | ให้โลกเป็นสุขเกษมศรี |
มิเสียแรงซึ่งมีฤทธี | เรานี้ขอบใจคนธรรพ์ |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | งามวิลาสดั่งเทพในสวรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | เข้าห้องสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | พระกรก่ายพักตร์เทวษหา |
ถึงองค์อัครราชสีดา | แก้วตาจะเป็นประการใด |
จากพี่ไปอยู่เมืองมาร | จะแสนทุกข์รำคาญละห้อยไห้ |
จะซูบผอมตรอมจิตตรมใจ | ไม่มีใครเป็นเพื่อนบังอร |
อกเอ๋ยไฉนจะแจ้งเหตุ | ถึงองค์อัคเรศดวงสมร |
ว่าพี่ประชุมพลากร | ยังสิงขรคันธมาทน์คีรี |
โอ้ว่าป่านนี้จะคอยหา | จะแสนโศกโศกาถึงพี่ |
ไม่รู้ข่าวก็จะเศร้าแสนทวี | จะมีแต่โหยไห้ไม่วายวัน |
พระผุดลุกผุดนั่งไม่นิทรา | ชลนาคลอพักตร์กันแสงศัลย์ |
จนแสงทองส่องฟ้าพรายพรรณ | ไก่ขันเร้าเร่งอโณทัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ จึ่งชำระพระองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงแขไข |
พระกรนั้นจับศรชัย | ภูวไนยออกหน้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
ท่ามกลางกระบี่โยธา | ดั่งดาราล้อมจันทร์ในอัมพร |
จึ่งมีพระราชโองการ | แกหมู่ทวยหาญชาญสมร |
ว่าเราประชุมพลากร | ทั้งสองนครพร้อมกัน |
จะรีบยกไปสังหาร | ผลาญหมู่อสูรโมหันธ์ |
อย่าให้เนิ่นช้าคืนวัน | ทั้งนั้นจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานทหารใหญ่ |
องคตหลานท้าวหัสนัยน์ | นิลพัทผู้ไวปัญญา |
ชมพูพานนิลนนท์โคมุท | ทั้งสิบแปดมงกุฎพร้อมหน้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็ปรึกษาโดยณรงค์ราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
อันพลทั้งสองธานี | ล้วนมีฤทธิ์เดชเกรียงไกร |
แม้นมาตรจะยกเข้าหัก | หมู่ยักษ์หรือจะทานมือได้ |
แต่ซึ่งทัพหลวงจะล่วงไป | ทางไกลไม่รู้ตำบล |
เกรงเกลือกว่าจะกันดาร | ผลาหารโยธาจะขัดสน |
จะคิดหน้าหาหลังเป็นกังวล | จะผจญก็ยากแสนทวี |
ขอจงงดทัพยับยั้ง | อยู่ยังคันธมาทน์คีรีศรี |
แต่งให้วานรเสนี | ไปเยือนพระลักษมีโสภา |
ให้รู้ว่าร้ายดีเป็นไฉน | ทั้งหนทางจะไปข้างหน้า |
ภายหลังจึ่งยกโยธา | เห็นว่าจะได้สะดวกดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์เรืองศรี |
ฟังคำปรึกษาเสนี | ภูมีเห็นชอบทุกประการ |
จึ่งสั่งลูกพระทินกร | ให้จัดวานรทวยหาญ |
ที่ทรงศักดาปรีชาชาญ | ถ้อยคำชำนาญว่องไว |
ทั้งการณรงค์องอาจ | ฉลาดรอบรู้อัชฌาสัย |
จะนำข่าวสารของเราไป | ให้ถึงอรไทยังลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยปรีดา | วานรสนองพระโองการ |
อันโยธาทั้งสองนคเรศ | ล้วนศักดาเดชกล้าหาญ |
ซึ่งจะเจรจาปรีชาชาญ | เห็นแต่หนุมานผู้ฤทธี |
กับชมพูพานพานรินทร์ | องคตหลานอินทร์เรืองศรี |
ทั้งสามแต่ล้วนตัวดี | นอกนี้ไม่เห็นผู้ใด |
ถึงพบยักษ์มารจะราญรอน | ทีหักทีอ่อนก็ทำได้ |
ขอให้สามนายนี้ไป | เฝ้าองค์อรไทในเมืองยักษ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังมีความยินดีนัก | จึ่งผินพักตร์มาสั่งหนุมาน |
ตัวท่านผู้เรืองฤทธิรณ | จงนำยุบลข่าวสาร |
ไปให้ถึงองค์นงคราญ | แจ้งการว่าเราตามมา |
ตรัสพลางทางหยิบธำมรงค์ | กับสไบทรงกนิษฐา |
ส่งให้ลูกพระพายศักดา | แล้วมีวาจาอันสุนทร |
ท่านจงเอาของทั้งสองนี้ | ไปให้สีดาดวงสมร |
ว่าเราโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนถึงองค์อรไท |
กลับมาสิ่งใดที่เราทรง | จะเปลื้องจากองค์ประทานให้ |
สามนายผู้มีฤทธิไกร | จงไปให้ถึงนงคราญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รับสไบธำมรงค์อลงการ | กราบกับบทมาลย์ด้วยยินดี |
แล้วทูลว่าซึ่งพระองค์ใช้ | ให้ไปลงกาบุรีศรี |
แจ้งข่าวอัครราชเทวี | เพียงนี้พอได้ดั่งบัญชา |
แต่ซึ่งจะถวายพระธำมรงค์ | กับสไบแก่องค์กนิษฐา |
เกลือกนางจะแคลงวิญญาณ์ | ว่าของนี้ตกอยู่ในไพร |
พวกทศกัณฐ์ไปเที่ยวเล่น | ใครเห็นก็เก็บมาได้ |
หากแกล้งแต่งลวงประโลมใจ | มิใช่ทหารพระจักรี |
ข้อนี้ข้าบาทเห็นยากนัก | ด้วยนางไม่รู้จักกระบี่ศรี |
ทำไฉนจะให้พระเทวี | สิ้นที่สงสัยในวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ฟังลูกพระพายผู้ปรีชา | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสตอบไป |
มาตรแม้นตัวท่านแจ้งสาร | เยาวมาลย์ยังคิดสงสัย |
จะว่าเป็นพวกพาลภัย | ไม่เชื่อในคำพาที |
จงเอาความหลังเมื่อยกศิลป์ | ในมิถิลาบุรีศรี |
เนตรเรากับเนตรนางเทวี | ถ้อยทีถ้อยเล็งประจวบกัน |
ที่ช่องบัญชรปราสาท | ต่างคิดพิศวาสเสียวสันต์ |
ความลับข้อนี้สำค้ญ | กัลยาจะสิ้นแหนงใจ |
ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | สั่งพญาสุครีพทหารใหญ่ |
เร่งจัดรี้พลสกลไกร | ไปด้วยกับสามเสนี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์เรืองศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | น้อมเศียรชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจัดโยธาพลากร | สองสมุทรฤทธิรอนแกล้วกล้า |
พร้อมสรรพด้วยเครื่องสาตรา | เสร็จตามบัญชาภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | องคตหนุมานทหารใหญ่ |
ทั้งชมพูพานฤทธิไกร | ล้วนปรีชาไวใจฉกรรจ์ |
ต่างตนถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์รังสรรค์ |
ทั้งพระอนุชาวิลาวัณย์ | แล้วพากันมายังพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ประถม
๏ สามนายนำพลยุรยาตร | ออกจากคันธมาทน์สิงขร |
ดั้นดัดลัดป่าพนาดร | บทจรโดยทิศหรดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาได้สามโยชน์คณนา | สุริยาเลี้ยวเหลี่ยมคีรีศรี |
ก็ถึงสระโบกขรณี | อยู่ที่กลางป่าพนาลัย |
น้ำเปี่ยมเหลี่ยมขอบใสสะอาด | ปทุมมาศชูก้านบานไสว |
สันตวาจอกกระจับสลับไป | ใบฝักแก่อ่อนแกมกัน |
มีหมู่มัจฉาคลาคลํ่า | ผุดดำว่ายเวียนเหียนหัน |
ประกอบด้วยมิ่งไม้หลายพรรณ | ดั่งสระในชั้นดุษฎี |
ที่นั้นราบรื่นพื้นทราย | สามนายมีใจเกษมศรี |
ก็หยุดพหลโยธี | อยู่ที่ริมสระบุษบัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรแข็งขัน |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงสุริยัน | ก็ตรวจกันกองไฟเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สามนายผู้ใจแกล้วกล้า |
ต่างตนต่างเอนกายา | อยู่กลางโยธาพานรินทร์ |
พระพายชายพัดอ่อนอ่อน | หอมรสเกสรขจรกลิ่น |
น้ำค้างตกต้องแผ่นดิน | ก็พากันหลับสิ้นทั้งโยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระนอน