- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์รังสรรค์ |
ไสยาสน์เหนืออาสน์พรายพรรณ | จวนแสงสุริยันเรืองรอง |
เสนาะเสียงเรไรจักจั่นแจ้ว | ไก่แก้วขานขันสนั่นก้อง |
ชาวประโคมก็ประโคมปี่กลอง | คาดฆ้องแตรสังข์กังสดาล |
อันหมู่กระบี่รี้พล | ก็ตื่นตนทุกกองทวยหาญ |
เสียงเพรียกเตือนกันทำการ | อื้ออึงอลหม่านทั้งทัพชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ก็ฟื้นองค์สระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงแขไข |
พระกรกุมศรสิทธิ์ฤทธิไกร | เสด็จไปออกหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พอได้ยินสำเนียงเสียงพล | โห่ร้นอื้ออึงคะนึงมี่ |
ดั่งหนึ่งจะพลิกปัถพี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ดูกรพิเภกขุนมาร | องค์โหราจารย์ยักษา |
อันทัพที่ยกออกมา | จะเป็นอสุราตนใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | ก็ดูไปตามยามนาที |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
อันทัพที่ยกออกมานี้ | คือองค์อสุรีอินทรชิต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
ได้แจ้งแห่งข่าวปัจจามิตร | พระทรงฤทธิ์จึ่งสั่งอนุชา |
ตัวเจ้าจงยกพลากร | ไปราญรอนอินทรชิตยักษา |
ฆ่าเสียให้สิ้นชีวา | ด้วยกำลังศักดาของน้องรัก |
แต่อย่าประมาทเหมือนหนหลัง | เร่งระวังพระองค์ให้จงหนัก |
อันซึ่งลูกท้าวทศพักตร์ | มันมักล่อลวงด้วยมารยา |
ตรัสแล้วจึ่งมีประกาศิต | สั่งลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
จงจัดทัพให้องค์อนุชา | ออกไปเข่นฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ กองหน้าห้าสมุทรทวยหาญ | ตั้งให้สุรการเป็นนายใหญ่ |
ถัดมานิลขันฉกรรจ์ใจ | คุมไพร่เจ็ดสมุทรวานร |
ทัพหลวงนั้นพระอนุชา | โยธาสิบสมุทรชาญสมร |
ถัดมานิลนนท์ฤทธิรอน | คุมนิกรเจ็ดสมุทรโยธี |
กองหลังรั้งท้ายทวยหาญ | ชมพูพานคุมพลกระบี่ศรี |
เจ็ดสมุทรเลือกล้วนตัวดี | ฝีมือแกล้วหาญชาญฉกรรจ์ |
สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ | สำแดงฤทธิรุทรแผ่นดินลั่น |
เตรียมทั้งรถแก้วแพร้วพรรณ | คอยเสด็จทรงธรรม์ยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นได้ศุภฤกษ์เวลา | เสด็จมาที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์ปนปรุงเกสร |
สนับเพลาแก้วก้านเชิงงอน | อุทุมพรภูษาพื้นแดง |
ชายไหวชายแครงกระหนกมาศ | ฉลององค์พื้นตาดเครือแย่ง |
ตาบทิศล้วนเพชรลูกแตง | ทับทรวงลายแทงสังวาลวัลย์ |
เฟื่องห้อยรายพลอยมุกดาหาร | สะอิ้งแก้วสุรกานต์ทับทิมคั่น |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณกางกร |
ทรงมหามงกุฎเพชรรัตน์ | กรรเจียกทิพย์จำรัสประภัสสร |
พระหัตถ์จับศิลป์ฤทธิรอน | บทจรไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำวงกงแววด้วยมรกต |
ทรงงามสามงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อลอยล้วนพลอยเพชร |
สี่มุขแสงมาศสะอาดเอี่ยม | บัลลังก์บดเหลี่ยมเป็นเรือนเก็จ |
ครุฑอัดเครือแอบพนักเม็ด | สีเตร็ดแสงตรัสโพยมพราย |
เทียมสินธพสี่เทพบุตร | ขุนรถขับรุดเฉิดฉาย |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงราย | ธงชายแถวฉัตรขนัดพล |
แตรสังข์ตรวจเสียงสำเนียงก้อง | ฆ้องกลองขานกลบกุลาหล |
พวกแห่พลโห่อึงอล | ขับร้นแข่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงเห็นทัพกุมภัณฑ์ | ตั้งมั่นอยู่เชิงเขาใหญ่ |
จึ่งให้หยุดพหลพลไกร | ลงไว้หน้าทัพอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นทัพพระลักษมณ์ยกมา | อสุราชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งโลทันมารสารถี |
ให้ขับรถรัตนมณี | ฝ่าพลอสุรีขึ้นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งร้องว่าเหวยพระลักษมณ์ | ท่านฮึกฮักยกพยุห์ทัพใหญ่ |
จองถนนข้ามฝั่งสมุทรไท | มาชิงชัยเพราะนางสีดา |
ฝ่ายพระบิตุเรศของเรานี้ | ก็มีใจจำนงเสน่หา |
ในนางเดียวเคี่ยวฆ่ากันมา | ต่างเสียโยธาบางเบา |
คิดเห็นก็ไม่ต้องการ | มาเป็นพาลไพรีกันเปล่าเปล่า |
อันองค์สีดานงเยาว์ | เราจักส่งคืนให้ไป |
บัดนี้ก็เอาตัวมา | พระอนุชายังเห็นหรือหาไม่ |
ท่านจงมารับนางอรไท | ไปให้พระรามผู้สามี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นรูปนิมิตอสุรี | ยินดีว่าองค์นางสีดา |
จึ่งร้องว่าเหวยอินทรชิต | ท่านคิดนี้ดีหนักหนา |
ดับเข็ญให้เย็นทั้งลงกา | ส่งนางกัลยากลางณรงค์ |
ควรเป็นโอรสยอดรัก | ทศพักตร์พงศ์ท้าวครรไลหงส์ |
เร่งเชิญอัครราชโฉมยง | ไปถวายแก่องค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
ตบมือเย้ยหยันแล้วพาที | ว่าไยฉะนี้พระอนุชา |
มิใช่สงครามเราเพลี่ยงพลํ้า | เหมือนหนึ่งถ้อยคำของท่านว่า |
แต่ต้องศรกลิ้งอยู่ถึงสองครา | กลับเจรจาได้ไม่อายใจ |
มิหนำจะซ้ำให้ไปส่ง | ถึงองค์พระรามก็เป็นได้ |
เมื่อท่านมิรับนางไป | จะฆ่าเสียให้ม้วยชีวัน |
ว่าแล้วจิกเกศสุขาจาร | ขุนมารเงือดเงื้อพระแสงขรรค์ |
เร่งเร็วมารับเอาศพกัน | กูจะฟันเศียรส่งให้บัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารยักษี |
ร้องตรีดหวีดขึ้นทันที | เหมือนเสียงเทวีนางสีดา |
โอ้อนิจจานะเจ้าลักษมณ์ | นี่หรือว่ารักพระเชษฐา |
ไฉนพ่อมากล่าววาจา | แกล้งให้อสุราขัดใจ |
จนเขาจะฆ่าพี่แล้ว | แก้วตายังนิ่งดูได้ |
เสียแรงที่ครองชีวิตไว้ | ท่าพระภูวไนยผู้สามี |
หวังจะสนองรองบาท | มาวินาศด้วยมือยักษี |
เจ้าจงไปทูลพระจักรี | ว่าพี่ถวายบังคมลา |
ซึ่งพระองค์อุตส่าห์พยายาม | ตามมาสงครามด้วยยักษา |
เพราะตัวข้าบาทบริจา | ผ่านฟ้าได้ยากลำบากใจ |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | ไม่มีสิ่งใดเปรียบได้ |
ขอเชิญเสด็จภูวไนย | เลิกทัพกลับไปอยุธยา |
ครอบครองสมบัติพัสถาน | แสนสนมบริวารดีกว่า |
สั่งพลางทางโศกโศกา | อสุรารํ่ารักชีวัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ไม่ทันรู้กลกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์ตระหนกตกใจ |
ดั่งหนึ่งพญามัจจุราช | มาฟอนฟาดตัดเศียรไปได้ |
หน้าซีดผาดเผือดตะลึงไป | ไม่เป็นสติสมประดี |
แต่ชักศรสาตร์ออกพาดสาย | มาดหมายจะล้างยักษี |
จนใจด้วยองค์นางเทวี | อยู่ที่เงื้อมมืออสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพองคตใจกล้า |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนา | ต่างตนโกรธาวุ่นไป |
คิดจะใคร่หักโหมโจมตี | ชิงพระมเหสีไว้ให้ได้ |
มิรู้ที่จะทำประการใด | มี่อึงคะนึงไปทั้งไพร่นาย |
แต่หนุมานชาญฉกรรจ์ | มือคันเท้าเขย่งเพ่งหมาย |
ตาแดงดั่งแสงไฟพราย | ขยับกายสยองพองโลมา |
แกว่งตรีเงื้อง่าอ้าเขี้ยว | เคี้ยวกรามคำรามยักษา |
ให้กลัดกลุ้มคลุ้มคลั่งในวิญญาณ์ | จะถาโถมโจมตีก็จนใจ |
อินทรชิตจับนางกลางพล | จะผจญโจมจ้วงทะลวงไล่ |
ไม่ทันทีก็จะมีโทษภัย | เหมือนแกล้งทำให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตฤทธิไกรใจหาญ |
เท้าหนึ่งเหยียบเข่าสุขาจาร | ด้วยใจขุนมารชาญฉกรรจ์ |
กรซ้ายจิกเศียรอสุรา | กรขวากวัดแกว่งพระแสงขรรค์ |
ฟาดลงด้วยกำลังกุมภัณฑ์ | เศียรนั้นก็ขาดจากกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ชูไว้แล้วร้องเยาะเย้ย | เหวยเหวยพระลักษมณ์กนิษฐา |
จงรับเอาเศียรนางสีดา | ไปให้พี่ยาบัดนี้ |
จะได้เชยชิดพิสมัย | ให้หนำใจที่ร้างนางโฉมศรี |
ว่าแล้วโยนเศียรอสุรี | ไปที่หน้ารถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จสำรวลสรวลสันต์ | กุมภัณฑ์ตบหัตถ์ฉัดฉาน |
เหวยเหวยมนุษย์ใจพาล | อวดหาญว่ามีศักดา |
ยกพวกโยธาวานร | มาต่อกรด้วยวงศ์ยักษา |
จงอยู่เถิดที่เกาะลงกา | กูจะไปทวาราวดี |
ฆ่าโคตรวงศ์พงศ์มนุษย์ | ให้สิ้นสุดด้วยมือยักษี |
ว่าแล้วให้เลิกโยธี | ข้ามมหาวารีไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ไม่รู้ถึงกลอินทรชิต | คิดว่าพี่นางบรรลัย |
ชลเนตรไหลนองคลองพักตร์ | ปิ้มจักทรงกายไว้ไม่ได้ |
แสนทุกข์แสนโศกสลดใจ | ไม่เป็นสติสมประดี |
จึ่งให้เลิกพหลพลยุทธ์ | ทั้งสิบแปดมงกุฎกระบี่ศรี |
บ่ายหน้ารถรัตนมณี | กลับมายังที่พลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยมาศ | เสด็จลงจากราชรัถา |
เร่งรีบยุรยาตรคลาดคลา | เข้ามาเฝ้าองค์พระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ กราบลงแล้วกอดบาทบงสุ์ | พระเชษฐาสุริย์วงศ์ทรงศร |
มิได้ทูลความพระภูธร | ทอดถอนฤทัยไปมา |
สิ้นสติสิ้นทั้งกำลังกาย | สิ้นลมระบายนาสา |
แน่นิ่งไม่ติงกายา | ดั่งว่าจะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นพระอนุชามาโศกี | ภูมีตระหนกตกใจ |
สวมสอดกอดไว้แล้วบัญชา | แก้วตาของพี่เป็นไฉน |
กลับมาไม่บอกประการใด | เจ้ากันแสงนิ่งไปนะน้องรัก |
ยิงคิดก็ยิ่งอัศจรรย์ | พระทัยหวาดหวั่นดั่งต้องจักร |
ชลนัยน์ไหลลงโซมพักตร์ | โศกีรํ่ารักพระอนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ นิ่งไปเป็นครู่แล้วคิดได้ | ขืนใจกลั้นโทมนัสสา |
จึ่งเอาพระแสงศรมา | สรงสุคนธาวารี |
แล้วเอาชโลมลูบพักตร์ | ทั่วองค์พระลักษมณ์เรืองศรี |
ให้ชื่นซาบสารพางค์อินทรีย์ | ภูมีตรัสเรียกพระอนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ได้ต้องสุคนธ์ธารา | เย็นซาบกายาดวงใจ |
ทั้งแว่วเสียงสมเด็จพระหริวงศ์ | ก็ฟื้นพระองค์ขึ้นมาได้ |
ยอกรกราบบาทภูวไนย | ฤทัยเร่าร้อนพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
จึ่งมีมธุรสวาที | เจ้าพี่ผู้ร่วมชีวา |
วันนี้ออกไปรณรงค์ | ด้วยองค์อินทรชิตยักษา |
เหตุใดมาทรงโศกา | ดั่งว่าจะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
สะอื้นพลางทางทูลพระทรงธรรม์ | วันนี้อินทรชิตขุนมาร |
ยกพวกจัตุรงค์โยธี | แสนสุรเสนีทวยหาญ |
พาพระพี่นางนงคราญ | ใส่รถสุรกานต์ออกมา |
เจรจาเป็นทางไมตรีธรรม์ | ระงับการโรมรันเข่นฆ่า |
ว่าจะส่งองค์กัลยา | ให้มาถวายพระสี่กร |
แล้วมันกลับว่าท้าทาย | หยาบคายต่อบาทพระทรงศร |
ฆ่าองค์อัครราชบังอร | ท่ามกลางนิกรโยธี |
ครั้นน้องจะเข้าหักหาญ | รอนราญชิงพระมเหสี |
ก็อย่ในเงื้อมมืออสุรี | สุดที่จะทำประการใด |
บัดนี้มันยกพลากร | ข้ามฝั่งสาครสมุทรใหญ่ |
ว่าจะไปทำการชิงชัย | ให้ถึงกรุงศรีอยุธยา |
เคี่ยวฆ่าพระญาติพระวงศ์ | ให้สิ้นลงด้วยมือยักษา |
ทูลพลางทางทรงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังดั่งสายอสุนี | ฟาดลงตรงที่ดวงใจ |
ซบพักตร์กันแสงโศกา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
คิดวิโยคโศกแสนอาลัย | ภูวไนยครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้เจ้าเพื่อนยากของพี่เอ๋ย | ไฉนเลยครั้งนี้มาอาสัญ |
ด้วยมืออสุราอาธรรม์ | นับวันไม่เห็นแก้วตา |
ตั้งแต่ทศพักตร์ลักหนี | พี่กับเจ้าลักษมณ์กนิษฐา |
มิได้อาลัยแก่ชีวา | ตามมาหวังว่าจะรอนราญ |
ให้สิ้นโคตรวงศ์พงศ์พันธุ์ | ของทศกัณฐ์ใจหาญ |
จะอัญเชิญอัคเรศเยาวมาลย์ | กลับไปสถานอยุธยา |
เมื่อเจ้ามาสิ้นชีวิต | จะคิดศึกไปไยด้วยยักษา |
ถึงมีชัยก็ไม่ได้เจ้ามา | จะมีแต่โศกาอาลัย |
เหมือนกันกับแพ้ไพริน | ไตรโลกจะหมิ่นประมาทได้ |
เสียเมียดั่งเสียดวงใจ | ถึงอยู่ไปก็ไม่ต้องการ |
เสียทีที่ได้ไวกูณฐ์ | ในประยูรอิศรามหาศาล |
อกเอ๋ยเป็นน่าอัประมาณ | ผ่านฟ้ารํ่าพลางทางโศกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ แล้วถามพิเภกขุนยักษ์ | ซึ่งองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
บอกว่าสีดามรณา | จริงหรือพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | น้องท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรแล้วจับยามไป |
นับแต่อาทิตย์มาหาจันทร์ | แบ่งปันมิให้คลาดเคลื่อนได้ |
รู้แท้ว่านางไม่บรรลัย | ดีใจก็ทูลด้วยปรีชา |
ในยามนั้นร้ายว่าตายจริง | แต่ไม่ใช่หญิงมียศถา |
เป็นชายนักโทษแปลงมา | องค์นางสีดานั้นอยู่ดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีค่อยคลายอาวรณ์ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพชาญสมร |
หนุมานองคตฤทธิรอน | ทั้งสามวานรจงรีบไป |
ยังที่สมรภูมิรบ | ดูสำคัญศพเป็นไฉน |
บุรุษสตรีประการใด | พิเคราะห์ให้แจ้งประจักษ์ตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามกระบี่ฤทธิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | บังคมลาแล้วรีบจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงที่ศพสุขาจาร | สามทหารผู้ชาญชัยศรี |
ต่างพินิจพิศทั่วทั้งอินทรีย์ | ก็รู้ว่ารูปนี้เป็นชาย |
แกล้งนิมิตมามั่นคง | ผิดองค์สีดาโฉมฉาย |
ต่างตนแย้มยิ้มพริ้มพราย | สามนายก็พากันกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายบังคมบาท | ทูลพระภูวนาถนาถา |
รูปนี้คือชายมารยา | แกล้งแปลงเพศมาเป็นสตรี |
จริงเหมือนหนึ่งคำพิเภกทาย | ซึ่งตายใช่องค์มเหสี |
อันตัวข้าบาททั้งนี้ | พิเคราะห์ถ้วนถี่ทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ทั้งองค์พระลักษมณ์ชัยชาญ | ฟังสามทหารผู้ศักดา |
ก็สร่างสิ้นโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนเศร้าโทมนัสสา |
ยินดีดั่งได้วิมานฟ้า | ฉ้อชั้นยามาดุษฎี |
จึ่งปรึกษาราชกิจการณรงค์ | ที่จะล้างโคตรวงศ์ยักษี |
เสร็จแล้วย่างเยื้องจรลี | เข้าที่พลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์อินทรชิตชาญสมร |
ครั้นถึงฝั่งสมุทรสาคร | แทบเนินสิงขรจักรวาล |
ให้หยุดพิชัยรถทรง | พร้อมพวกจัตุรงค์ทวยหาญ |
เสร็จแล้วจึ่งบัญชาการ | สั่งเสนามารผู้ปรีชา |
ให้ตั้งโรงพิธีอำไพ | กลางดงไม้ไผ่ใบหนา |
สามสิบเก้าห้องโอฬาร์ | ทั้งเครื่องบูชาบัตรพลี |
กองกูณฑ์ร้อยแปดโดยศาสตร์ | อย่าให้ขาดแสงเพลิงเถกิงสี |
หม้อใหม่ใส่สุคนธวารี | ตั้งไว้ตามที่ทุกกองไฟ |
ดอกไม้เจ็ดสีสิ่งละพัน | ทุกวันอย่าให้ขาดได้ |
อันพลสามสิบสมุทรไท | แบ่งไปให้เดินตรวจตรา |
ชั้นนอกนั้นเวียนเป็นกงจักร | ชั้นกลางนั่งพิทักษ์รักษา |
ชั้นในชักประคำภาวนา | ทำตามตำราทั้งเจ็ดวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลจักรฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | กุมภัณฑ์ก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันปันห้อง | ทุกกองตามซ้ายฝ่ายขวา |
สูงใหญ่กว้างยาวโดยบัญชา | ขององค์พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายกองทหารยักษี |
ขับหมู่ไพร่พลโยธี | ให้ปราบที่ตัดไม้วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บ้างฟันบ้างลากอุตลุด | บ้างฉุดอื้ออึงทั้งป่าใหญ่ |
บั่นรอนออกเป็นตัวไม้ | ได้พร้อมกันแล้วก็ขนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จึ่งตั้งเป็นโรงพิธีการ | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
สามสิบเก้าห้องโอฬาร์ | หน้าบันช่อฟ้าปราลี |
หลังคานั้นดาดด้วยผ้าแดง | เชิงเขียวเครือแย่งสลับสี |
เพดานขาวสะอาดรูจี | ห้อยพวงมาลีขจายจร |
ท่ามกลางนั้นตั้งบัลลังก์อาสน์ | โอภาสจำรัสประภัสสร |
ราชวัติฉัตรธงอลงกรณ์ | กล้วยอ้อยอรชรจำเริญตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ พร้อมเสร็จทั่วทุกพนักงาน | แบ่งหมู่ทหารยักษา |
ให้เดินกระเวนตรวจตรา | ตามในบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นเสร็จโรงราชพิธี | จรลีมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธารสหอมหวาน |
กัมพลภูษาโอฬาร | สไบแดงชัชวาลสะอาดตา |
เจิมจุณมุ่นชฎาห่อเกศ | เอาเพศเป็นเพศชีป่า |
สอดสายธุหรํ่ารจนา | มือขวาถือประคำมณี |
แล้วโพกผ้ารัดโกปินำ | งามลํ้าดั่งเทพฤๅษี |
ครั้นเสร็จก็เสด็จจรลี | เข้าโรงพิธีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
จึ่งสั่งกาลจักรฤทธิรอน | กับหมู่นิกรกุมภัณฑ์ |
จงเร่งโหมอาหุดีเพลิง | ให้เถกิงเริงแรงแสงฉัน |
ให้ครบเจ็ดคืนเจ็ดวัน | กำชับตรวจกันให้จงดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ สั่งแล้วยอกรขึ้นเหนือเกศ | บูชาพระเวทเรืองศรี |
ด้วยธูปเทียนบุปผามาลี | อสุรีจับศรศักดา |
วิษณุปาณัมนาคบาศ | พรหมาสตร์พาดตักยักษา |
หลับเนตรสำรวมวิญญาณ์ | อสุราก็ร่ายพระเวทไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธาน้อยใหญ่ |
บรรดาที่อยู่ชั้นใน | ก็โหมกองไฟขึ้นพร้อมกัน |
นั่งชักประคำอ่านเวท | หลับเนตรผูกจิตสมาธิ์มั่น |
อันพลอยู่ชั้นกลางนั้น | ก็ปันเป็นหน้าที่ตรวจตรา |
ชั้นนอกนั้นเดินเป็นจักรผัด | ผลัดเปลี่ยนเวียนซ้ายบรรจบขวา |
เกริ่นกรายทายทักกันไปมา | รอบโรงกาลาพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวไนยเรืองศรี |
ไสยาสน์เหนืออาสน์รูจี | ในที่สิริสถาวร |
ครั้นปัจจุบันสมัยไก่ขัน | สุริยันเยี่ยมยอดสิงขร |
เปิดแสงแข่งสีศศิธร | พระพายพัดอ่อนรำเพยพาน |
อันดวงบุปผชาติทั้งหลาย | ขจายกลีบส่งกลิ่นหอมหวาน |
ภุมรีเชยรสสุมามาลย์ | พระอวตารตื่นจากนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
ทรงพระแสงพรหมาสตร์อันศักดา | เสด็จออกพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองนคเรศ | น้อมเกศบังคมอยู่สลอน |
ดั่งดาวล้อมจันทร์ในอัมพร | ภูธรจึ่งมีบัญชา |
ดูกรพิเภกอสุรี | วานนี้อินทรชิตยักษา |
จะยกไปศรีอยุธยา | ยังจริงหรือว่าประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | ก็ดูไปตามยามนาที |
ขับไล่ในกาลชะตา | ก็แจ้งด้วยปรีชายักษี |
เสร็จแล้วยอกรอัญชุลี | อสุรีสนองพระโองการ |
อันอินทรชิตฤทธิรอน | ยกพลนิกรทวยหาญ |
ให้นักโทษผู้ชื่อสุขาจาร | แปลงเป็นเยาวมาลย์นางสีดา |
ออกมาสังหารผลาญชีวิต | ด้วยความคิดเล่ห์กลยักษา |
ให้ฉงนสนเท่ห์ในมารยา | แล้วว่าจะยกพลไป |
ติดกรุงอยุธยาราชฐาน | อวดหาญเจรจาหาจริงไม่ |
ซึ่งมันข้ามฝั่งชลาลัย | ตั้งใจไปทำพิธี |
อันชื่อกุมภนิยามหาเวท | ของบรมพรหเมศเรืองศรี |
ยังเนินจักรวาลคีรี | ที่ดงไม้ไผ่โอฬาร |
แม้นครบเจ็ดวันตามตำรา | ฆ่ามันไม่ม้วยสังขาร |
ทั้งพวกพหลพลมาร | ก็ทนทานทรหดเหมือนกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์จึ่งมีบัญชา |
ครั้งนี้จะเห็นผู้ใด | อาจใจหาญหักยักษา |
ล้างพิธีกุมภนิยา | ยังมหาจักรวาลคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรแล้วทูลสนองไป |
อันทหารที่ในพลับพลา | เห็นจะต่อฤทธามันไม่ได้ |
ขอให้พระลักษมณ์ภูวไนย | ยกพวกพลไกรไปราวี |
ในชันษานั้นถึงฆาต | สิ้นขาดอายุยักษี |
ตัวมันจะตายในวันนี้ | ด้วยน้องพระจักรีฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังอสุราพยากรณ์ | ภูธรเห็นด้วยทุกประการ |
จึ่งมีสุนทรวาที | เจ้าพี่ผู้ร่วมสังขาร |
จงยกพลไปเนินจักรวาล | สังหารพิธีอินทรชิต |
ให้มันเสียกิจวิทยา | ด้วยกำลังศักดาศรสิทธิ์ |
จะได้ลือนามขามฤทธิ์ | อยู่ชั่วพระอาทิตย์พระจันทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลรับราชบัญชา |
อันซึ่งพิธีของขุนยักษ์ | น้องรักจะขออาสา |
ล้างเสียให้ได้ดั่งจินดา | มิให้เคืองบาทาพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
ฟังพระอนุชาคู่ชีวิต | สมพระทัยคิดก็ยินดี |
สวมสอดกอดไว้แล้วสั่งสอน | ดูกรเจ้าเพื่อนยากพี่ |
ซึ่งจะไปล้างพิธี | ครั้งนี้อย่าประมาทวิญญาณ์ |
พ่อจงเขม้นมุ่งหมาย | คอยทำลายอาวุธยักษา |
จงเอาพิเภกโหรา | นั้นไปเป็นตาเป็นใจ |
ตรัสพลางจึ่งจับพระแสงศร | สามเล่มฤทธิรอนส่งให้ |
อันซึ่งศัตรูหมู่ภัย | จงแพ้ฤทธิไกรของน้องรัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ฤทธิรงค์ทรงจักร |
ยอกรประนมเพียงพักตร์ | รับพรศรศักดิ์พระจักรี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
สมคิดจะล้างอสุรี | ที่มันองอาจอหังการ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพฤทธิรอน |
จงจัดพหลพลไกร | ให้ว่องไวดั่งพญาไกรสร |
ทหารทั้งสองพระนคร | เลือกล้วนวานรตัวดี |
ไปด้วยพระอนุชาทรงฤทธิ์ | ล้างพิธีกรรม์ยักษี |
ยังเนินจักรวาลคีรี | ให้ได้สี่สิบสมุทรไท ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดเอาคำแหงหนุมาน | คุมทหารขี่เสือเป็นทัพหน้า |
กองขันองคตผู้ศักดา | โยธาขี่แรดราวี |
เกียกกายวานรนิลนนท์ | หมู่พลพื้นขี่คชสีห์ |
ทัพหลวงโยธาล้วนตัวดี | ขี่มหิงส์สิงโตสุกร |
ยุกกระบัตรกระบี่ชมพูพาน | พลทหารนั้นขี่ไกรสร |
กองหนุนนิลเอกฤทธิรอน | พวกวานรนั้นขี่ชุมพา |
ชามพูวราชเป็นกองหลัง | โยธีขี่ละมั่งเลียงผา |
กรกุมเครื่องสรรพสาตรา | เริงร่าลำพองคะนองฤทธิ์ |
เตรียมทั้งพิชัยรถทรง | ขององค์ท่านท้าวโกสิต |
ประทับกับเกยแก้วชวลิต | คอยน้องพระจักรกฤษณ์จรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
ยอกรประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระบรมเชษฐา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | มาเข้าที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายเป็นสายฝน | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปนาคินทร์ | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์กระหนกพัน |
ชายไหวแล้วด้วยชมพูนุท | ชายแครงประดับบุษย์ทับทิมคั่น |
ฉลององค์พื้นตาดเครือวัลย์ | สะอิ้งแก้วกุดั่นจำหลักลาย |
ตาบทิศทับทรวงดวงผลึก | สอดสังวาลศึกสามสาย |
เฟื่องห้อยพลอยทิพย์ทับทิมพราย | แก้วลายสลับทองกร |
พาหุรัดเป็นรูปภุชงค์ | ธำมรงค์เพชรรัตน์ประภัสสร |
มงกุฎแก้วสุรกานต์กรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรด้วยโกมิน |
ขัดพระแสงขรรค์แก้วอันศักดา | กรขวานั้นจับธนูศิลป์ |
งามทรงดั่งองค์อมรินทร์ | ลินลามาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ รถเอยรถทรง | เพลาแก้วดุมกงอลงกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดเลื่อมแก้วบัลลังก์กาญจน์ |
สี่มุขงามแม้นวิมานมาศ | สิงหาสน์ช่อห้อยมุกดาหาร |
เทียมม้าผันผยองเผ่นทะยาน | สารถีขับผ่านดั่งลมพัด |
เครื่องสูงบังแทรกชุมสาย | ธงริ้วทิวรายปลายสะบัด |
กลองชนะก้องสนั่นพงพนัส | ขนัดฆ้องแตรขานประสานกัน |
หมู่ทหารล้วนห้าวคะนองหาญ | โห่สะท้านเสียงสะเทือนสุธาลั่น |
ผงคลีฟุ้งกลุ้มชอุ่มควัน | เร่งขับพลขันธ์รีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงขอบเขาจักรวาล | ยอดตระหง่านเงื้อมงํ้าสูงใหญ่ |
เห็นโรงพิธีอำไพ | อยู่กลางดงไผ่โอฬาร์ |
มีหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | สามชั้นล้อมวงรักษา |
ชั้นในไว้หมู่อสุรา | ประจำกองกาลาอาหุดี |
อินทรชิตนั้นนั่งหลับเนตร | อ่านเวทแต่งกายเป็นฤๅษี |
อยู่กลางโรงราชพิธี | เหนืออาสน์มณีอลงกรณ์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | พระหัตถ์จับพรหมาสตร์แสงศร |
พาดสายหมายมุ่งราญรอน | น้องพระสี่กรก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงดั่งเสียงลมกาล | ขุนเขาจักรวาลก็หวั่นไหว |
ต้องหมู่พหลพลไกร | ยับไปทั้งโรงพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานองคตกระบี่ศรี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | กับพวกโยธีวานร |
ต่างตนสำแดงฤทธิรงค์ | อาจองดั่งพญาไกรสร |
เข้าไล่สังหารราญรอน | เหล่าพลนิกรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หัวขาดตีนขาดตัวขาด | เกลื่อนกลาดสิ้นชีพอาสัญ |
วิ่งแยกแตกยับทับกัน | พัลวันไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด