- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเสร็จสังหารกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์มีราชบัญชา |
ตรัสสั่งท้าวทศคิริวงศ์ | ผู้ดำรงพิภพยักษา |
เราจะไปมลิวันพารา | เข่นฆ่าจักรวรรดิฤทธิรอน |
อันเป็นเสี้ยนศึกต่อเบื้องบาท | พระนารายณ์ธิราชทรงศร |
จงหาศุภฤกษ์สถาวร | ที่จะยกนิกรโยธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | อสุรีก็จับกระดานมา |
คำนูญคูณหารขับไล่ | สอบใส่ด้วยดวงพระชันษา |
ได้ฤกษ์จัตุรงค์ยาตรา | เป็นมหามงคลประเสริฐนัก |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงจักร |
อีกสามวันพระจันทร์จะถึงลัคน์ | เสาร์พักราศีมังกร |
ยายีนั้นมีกำลังหาญ | ดั่งเดชพระกาลชาญสมร |
ขอเชิญพระองค์เสด็จจร | จะถาวรมีชัยแก่ไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | จึ่งมีพจนารถโองการ |
ดูก่อนลูกพระทินกร | จงจัดวานรทวยหาญ |
ฝ่ายเจ้าลงกาปรีชาชาญ | ก็เกณฑ์พวกพลมารให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุครีพคนขยัน |
รับสั่งพระองค์วงศ์เทวัญ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ สุครีพก็จัดทวยหาญ | ให้ลูกพระกาลเป็นทัพหน้า |
เลือกเหล่าอสูรในลงกา | เป็นเสือป่านำทางมลิวัน |
อันองคตโอรสพาลี | คุมกระบี่นิกรเป็นกองขัน |
หนักไหนให้เข้าทะลวงฟัน | โรมรันหักโหมโจมยุทธ์ |
ถัดมาถึงกองเกียกกาย | นายคือคำแหงวายุบุตร |
กองหลวงล้วนมีฤทธิรุทร | กวัดแกว่งอาวุธดั่งเปลวไฟ |
ยุกกระบัตรนั้นศรีชมพูพาน | กองหนุนสุรการเป็นนายใหญ่ |
ฝ่ายเจ้าลงกากรุงไกร | ให้สองโอรสอินทรชิต |
เป็นกองหลังรั้งท้ายโยธา | อสุราแน่นนันต์อกนิษฐ์ |
ตั้งโดยกระบวนตามทิศ | คอยพระทรงฤทธิ์เสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับพระสัตรุดฤทธิรอน | กรายกรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายมาศ | สุคนธ์ธารบุปผชาติจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ช่อเชิงนาคินทร์สังเวียนวง |
ภูษาต่างสีท้องพัน | ฉลุลายเครือวัลย์กระหนกหงส์ |
ชายไหวชายแครงรูปภุชงค์ | ฉลององค์ตาดริ้วสุพรรณพราย |
ตาบทิศทับทรวงดวงประพาฬ | สังวาลมรกตสามสาย |
สะอิ้งแก้วรัดองค์จำหลักลาย | พาหุรัดนาคกลายทองกร |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ | มงกุฎเพชรจำรัสประภัสสร |
กุณฑลแก้วมาลัยกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรประดับกรรณ |
งามองค์งามทรงงามศักดิ์ | งามพักตร์เพียงเทพรังสรรค์ |
สองพระองค์ทรงศรจรจรัล | มาขึ้นรถสุวรรณพรรณราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | แล้วด้วยเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
ดุมวงกงกำจำหลักลาย | แปรกเรือนทูบท้ายกระหนกบัง |
ชั้นลดบดเหลี่ยมบัลลังก์รัตน์ | ครุฑแอบสิงห์อัดช่อตั้ง |
บุษบกเพชรพรายรายกระจัง | เสาแก้วกาบบังกระจังงอน |
ห้ายอดงามแม้นวิมานอินทร์ | เทียมสินธพสี่ดั่งไกรสร |
พระสัตรุดนั่งหน้าประนมกร | สารถีขับจรดั่งลมพาน |
เครื่องสูงบังแทรกชุมสาย | ธงชัยธงชายธงฉาน |
แตรงอนแตรฝรั่งกังสดาล | ปี่ฆ้องกลองขานประสานกัน |
ยักษ์ลิงเดินเหล่าหมวดกอง | พลเร้าโห่ร้องแผ่นดินลั่น |
ไชยามโบกธงเป็นสำคัญ | รีบเร่งพลขันธ์ดำเนินไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ เดินทางหว่างทุ่งวุ้งป่า | ข้ามห้วยเหวผาเนินไคล |
เร่งรัดพหลพลไกร | ร้อนแรมมาในพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ยอกรทูลน้องพระจักรี | มานี้ใกล้ด่านมลิวัน |
องค์ท้าวจักรวรรดิชัยชาญ | ให้ทหารสองนายแข็งขัน |
ตั้งพิธีน้ำกรดไฟกัลป์ | สองชั้นกั้นทางไปมา |
พระองค์จงหยุดทัพไว้ | พักพวกพลไกรซ้ายขวา |
คิดการหักด่านอสุรา | จึ่งยกโยธาดำเนินจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรให้หยุดพลไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
จึ่งกะเกณฑ์กันตั้งพลับพลาชัย | ที่ชายไพรใกล้เชิงบรรพตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
จึ่งชวนพระสัตรุดอนุชา | ขึ้นยังพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวจักรวรรดิยักษี |
เสวยสุขสวรรยาธานี | เป็นจรรโลงโมลีมลิวัน |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนืออาสน์พรรณรายฉายฉัน |
พร้อมหมู่พระสนมกำนัล | ดั่งดาวล้อมจันทร์ในอัมพร |
บันดาลให้ร้อนรุ่มกลุ้มจิต | เพียงหนึ่งต้องพิษแสงศร |
จนเวลาใกล้รุ่งทินกร | ภูธรก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ ฝันว่าลูกม้าสินธพ | เลิศลบมีตระกูลสูงใหญ่ |
พญามารเลี้ยงไว้ในเวียงชัย | ไฟไหม้ปลายหางเข้ามา |
วางวิ่งวกเวียนเหียนหัน | จนเพลิงนั้นติดองค์ยักษา |
ลามไหม้เศวตฉัตรรัตนา | ร้อนแรงแสงกล้าดั่งไฟกาล |
ยังมีเทพบุตรสององค์ | ทรงครุฑบินมาแต่อีสาน |
โฉบจิกเศียรเกล้าพญามาร | แล้วพาผ่านไปเบื้องปัจฉิมทิศ |
บรรดามิตรสหายแลวงศา | กายาล้วนเปลวเพลิงติด |
บรรดาโยธาที่ใช้ชิด | ก็ต้องพิษเพลิงสิ้นทั้งไพร่นาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นฟื้นตื่นจากไสยาสน์ | ให้หวั่นหวาดตะลึงใจหาย |
เสโทซึมซ่านทั่วกาย | ดั่งหนึ่งต้องอายอัคคี |
พอพระสุริยาไขแสง | เรื่อแรงจำรัสรัศมี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | เสด็จออกยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่มาตยากุมภัณฑ์ | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่โหราจารย์ผู้ใหญ่ |
คืนนี้ใกล้รุ่งอโณทัย | หลับไปในที่ไสยา |
ให้บังเกิดสุบินนิมิต | อัศจรรย์วิปริตหนักหนา |
เล่าไปแต่ต้นจนปลายมา | โดยฝันพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนโหราทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ชุลีกรแล้วพิเคราะห์ไป |
ก็แจ้งว่าเป็นอัปมงคล | จะเกิดจลาจลข้าศึกใหญ่ |
จึ่งกราบทูลด้วยปรีชาไว | ซึ่งในสุบินว่าไฟกาล |
ไหม้หางลูกม้าสินธพ | อันเลี้ยงไว้ในพิภพราชฐาน |
ลามถึงเศวตฉัตรชัชวาล | จะเกิดการวิบัติอันตราย |
แก่พระองค์ผู้ทรงสวรรยา | สุริย์วงศ์พงศามิตรสหาย |
โยธาข้าทหารจะล้มตาย | วุ่นวายเดือดร้อนทั้งธานี |
เพราะด้วยกุมารมาอาศัย | ในใต้ละอองบทศรี |
อันสองเทวบุตรผู้ฤทธี | ขี่พญาครุฑผ่านโพยมมา |
จะได้แก่หมู่อรินราช | อันมีอำนาจแกล้วกล้า |
ยกพวกพหลโยธา | มาเคี่ยวฆ่าจนถึงพระนคร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ภูธรตะลึงทั้งอินทรีย์ |
จึ่งคิดว่าอันกุมารทรงยศ | ชะรอยทศพินยักษี |
ผู้ผ่านลงกาธานี | น่าที่จะเกิดเภทภัย |
คิดแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
ตัวเอ็งจงรีบออกไป | ยังเชิงไกรลาสบรรพตา |
นิมนต์พระปรเมศดาบส | ผู้ทรงพรตญาณฌานกล้า |
ว่ากูให้เชิญเข้ามา | แต่ในเพลาวันนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุพินสันอำมาตย์ยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงยอกรมัสการ | พระมหาอาจารย์ผู้ใหญ่ |
แจ้งว่าพระองค์ทรงภพไตร | ให้นิมนต์เข้าไปยังพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปรเมศอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังมหาเสนา | ลุกขึ้นฉวยผ้าพันกาย |
หมวดมุ่นชฎาห่อเกล้า | คว้าได้ไม้เท้าประคำหาย |
ค้นหาอุตลุดวุ่นวาย | บริขารกระจายทั้งกุฎี |
สุพินสันร้องเตือนเป็นหลายหน | นิมนต์เร็วเถิดพระฤๅษี |
ตกใจฉวยได้พัชนี | ก็พาอสุรีเหาะมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | ก็ลนลานลงจากเวหา |
ขึ้นยังปราสาทรัตนา | นั่งใกล้พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ยอกรมัสการพระนักธรรม์ | แล้วเล่าความฝันแต่ต้นไป |
โยมให้โหราทำนาย | ทายว่าจะเกิดศึกใหญ่ |
พระองค์ผู้ทรงปรีชาไว | จะเห็นกระไรที่ร้ายดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปรเมศมหาฤๅษี |
จึ่งพิเคราะห์นิมิตอสุรี | ก็แจ้งสิ้นถ้วนถี่ด้วยปัญญา |
แล้วดูตำราทำนายฝัน | ก็ต้องกันตามคำโหรว่า |
พิเคราะห์ไปในดวงพระชะตา | เห็นชันษาต้องฆาฏลัคน์จันทร์ |
พระเคราะห์ใหญ่เข้าเรือนไพรีสิ้น | ถึงอมรินทร์ก็ไม่พ้นอาสัญ |
จึ่งถวายพระพรแก่กุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์อย่าร้อนฤทัย |
อันในสุบินนิมิตนี้ | เป็นที่ทำนายข้างศึกใหญ่ |
เห็นจะเกิดยุทธ์ชิงชัย | พวกภัยนั้นมีกำลังนัก |
พระองค์ก็ทรงปรีชาชาญ | จงดำริการให้แน่นหนัก |
เอาไมตรีผ่อนผูกด้วยความรัก | เห็นจักศรีสวัสดิ์สถาวร |
ทั้งรูปก็จะช่วยภูวไนย | ให้ได้ความสุขสโมสร |
ด้วยกำลังเมตตาเป็นอาภรณ์ | ระงับร้อนภัยที่จะมีมา |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระนักธรรม์ | สรรเอาแต่ยอดคาถา |
หัวใจกอข้อกอกา | เสกวารีทิพมนต์ไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบพันคาบ | พระดาบสรดอาบพระองค์ให้ |
พลางอวยสวัสดิ์อวยชัย | สารพัดเภทภัยอย่าแผ้วพาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วจึ่งถวายพระพรลา | ลงจากปราสาทมุกดาหาร |
เหาะระเห็จด้วยกำลังฌาน | ทะยานไปอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระพรตเรืองศรี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | ยังที่สุวรรณพลับพลา |
ตรึกไตรในการรณรงค์ | ที่จะล้างโคตรวงศ์ยักษา |
จนล่วงปัจฉิมเวลา | จันทราเลี้ยวเหลี่ยมยุคนธร |
เสนาะเสียงสกุณีไก่แก้ว | จักจั่นแจ้วสนั่นสิงขร |
สุมามาลย์บานรับทินกร | พระพายพาเกสรขจรไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
พระกรจับพระแสงศรชัย | เสด็จไปยังหน้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมทหารทั้งสามพระนคร | อสุราวานรถ้วนหน้า |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษดา | งามสง่าดั่งองค์มัฆวาน |
จึ่งมีพระราชวาที | ปรึกษาเสนีทวยหาญ |
อันด่านมลิวันกรุงมาร | เป็นนํ้ากรดเพลิงกาลทั้งสองชั้น |
ผู้ใดใครจะอาสา | หักด่านอสุราซึ่งกีดกั้น |
ให้ย่อยยับเป็นภัสม์ธุลีกัลป์ | จะให้ยกพลขันธ์เข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ก้มเกล้ากราบทูลทันใจ | เพียงนี้มิให้เคืองบาทา |
แต่ตัวของข้าผู้ทหาร | จะขอทำลายด่านยักษา |
ให้ย่อยยับด้วยกำลังศักดา | แต่ในเวลาวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | มาโสรจสรงอินทรีย์สำราญใจ |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | อวยสวัสดิ์ประสาทประสิทธิ์ให้ |
ท่านจงไปดีมีชัย | พวกภัยอย่ารอต่อกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพญาอนุชิตชาญสมร |
ประนมนิ้วน้อมเกล้ารับพร | ชุลีลาบทจรมาแปลงกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมเมศ | นัยน์เนตรดั่งแสงสุริย์ฉาย |
สี่พักตร์แลเลื่อมพรรณราย | แปดกรแรงร้ายเกรียงไกร |
เสร็จแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
เหาะขึ้นพ่างพื้นนภาลัย | ตรงไปยังด่านอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นขุนมาร | อันชื่อมัฆวานยักษี |
คุมพลเก้าโกฏิทำพิธี | เป็นอัคคีโชติช่วงดั่งเพลิงกัลป์ |
อันหมู่อสูรโยธา | เที่ยวตระเวนไปมากวดขัน |
ขุนกระบี่ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | โถมเข้าโรมรันพลมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรทวยหาญ |
เห็นวานรสี่พักตร์อหังการ | โถมทะยานเข้ามาราวี |
ต่างตนกริ้วโกรธตัวสั่น | แผดเสียงสนั่นอึงมี่ |
กวัดแกว่งอาวุธเป็นโกลี | กลุ้มกันเข้าตีวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดสาตราดั่งห่าฝน | ลางตนก็ยิงธนูศร |
ที่ใกล้ก็แทงด้วยโตมร | ตะลุมบอนฟอนฟันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตฤทธิ์กล้า |
โถมรับสัประยุทธ์ด้วยศักดา | เคี่ยวฆ่ากลางพลอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองเท้าโถมถีบปากกัด | แปดหัตถ์รวบจับยักษี |
ฉีกขาหักคอด้วยฤทธี | ตายกลาดปถพีแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ บัดนั้น | มัฆวานนายใหญ่ใจหาญ |
หลับเนตรอ่านเวทพิธีการ | ได้ยินเสียงสะท้านก็ตกใจ |
ลืมตาขึ้นเพ่งเล็งดู | เห็นวานรเผือกผู้ตัวใหญ่ |
ฆ่าหมู่พลมารบรรลัย | ก็กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกัลป์ |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ร้องตวาดดั่งเสียงฟ้าลั่น |
กวัดแกว่งคทาเป็นเปลวควัน | กุมภัณฑ์ออกไล่รอนราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตใจหาญ |
รับรองป้องกันประจัญบาน | ทะยานเข้าต่อฤทธิ์อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หักเอาด้วยกำลังว่องไว | จับได้มัฆวานยักษา |
ฟาดลงกับพื้นพสุธา | ก็สุดสิ้นชีวาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ อันเปลวอัคคีที่พุ่งพราย | ดับหายสิ้นแสงรังสี |
ก็เหาะไปยังด่านอสุรี | อันตั้งอยู่ยังที่ชั้นใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นนายด่าน | อันชื่อกาลสูรทหารใหญ่ |
นั่งอ่านพระเวทเกรียงไกร | เรียกหมู่นาคให้ขึ้นมา |
เลิกพังพานพ่นพิษเป็นควัน | นํ้ากรดไหลลั่นฉานฉ่า |
เสียงสนั่นครั่นครื้นโลกา | เมฆามืดมนอนธการ |
โยธาล้วนถืออาวุธ | สิบแปดโกฏิฤทธิรุทรกล้าหาญ |
ขุนกระบี่ผู้ปรีชาชาญ | ก็อ่านเวทนิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ด้วยเดชพระมนต์อันเพริศพราย | กลายเป็นครุฑราชปักษี |
บินฉาบถาบถาด้วยฤทธี | จิกจับนาคีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างหนีบ้างตายอุตลุด | ด้วยกำลังครุฑตัวกล้า |
น้ำกรดที่ไหลหลั่งมา | สิ้นฤทธิ์นาคาก็หายไป |
แล้วกลับเป็นรูปวานร | แปดกรสี่พักตร์สูงใหญ่ |
โลดโผนโจนทะยานด้วยว่องไว | เข้ารุกไล่นายด่านอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลสูรสิทธิศักดิ์ยักษี |
ตกใจผุดลุกขึ้นทันที | แลเห็นกระบี่ก็โกรธา |
ฉวยชักหอกแก้วกวัดแกว่ง | สำแดงฤทธิไกรเงื้อง่า |
เรียกหมู่อสูรโยธา | จงจับลิงฆ่าให้แหลกลาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกรี้พลทวยหาญ |
ได้ฟังคำนายบัญชาการ | ต่างทะยานเข้าจับวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | ตะลุมบอนกลางพลอสุรา |
เท้าถีบแปดหัตถ์ฟัดฟาด | หัวขาดตัวขาดดาษป่า |
แล้วโลดโผนโจนไปด้วยศักดา | เข่นฆ่านายด่านมลิวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
แกว่งหอกกลอกกลับยืนยัน | ขบฟันโจมจับหนุมาน |
ต่างแทงต่างฟันสับสน | ต่างตนต่างกล้าต่างหาญ |
ต่างอดต่างกลั่นประจัญบาน | ทนทานไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
กวัดแกว่งตรีเพชรอันศักดา | โจมจับอสุราด้วยว่องไว |
เหยียบเข่าน้าวเศียรเวียนหัน | มือนั้นฉวยชิงเอาหอกได้ |
เท้าถีบอสุราล้มไป | เหยียบไว้กับพื้นสุธาธาร |
ฉวยเท้าสองเท้าขึ้นกวัดแกว่ง | ด้วยกำลังแรงสำแดงหาญ |
ขว้างไปขอบเขาจักรวาล | ขุนมารสุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จหักด่านสองชั้น | ลูกพระพายเทวัญเรืองศรี |
เหาะทะยานผ่านฟ้าด้วยฤทธี | กลับมาที่ทัพพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | น้องนารายณ์ธิราชนาถา |
ทูลความแต่ต้นจนปลายมา | ซึ่งได้เข่นฆ่ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
แจ้งว่าหักด่านมลิวัน | เสร็จทั้งสองชั้นก็ยินดี |
ดั่งได้ช่อชั้นวิมานมาศ | ของท้าวเทวราชทุกราศี |
จึ่งมีมธุรสวาที | แก่ขุนกระบี่ผู้ปรีชา |
ควรที่ท่านเป็นยอดทหาร | องค์พระอวตารนาถา |
อานุภาพเลิศลบโลกา | ใต้ฟ้าไม่มีใครเทียบทัน |
ตรัสแล้วทรงเครื่องพิชัยยุทธ์ | ชวนองค์พระสัตรุดรังสรรค์ |
เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ไปขึ้นรถสุวรรณอลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เคลื่อนพลออกจากพลับพลา | พร้อมหมู่โยธาทวยหาญ |
โห่สนั่นครั่นครื้นสุธาธาร | ล่วงด่านผ่านมรคาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เร่งรีบพยุหโยธี | ผ่านคีรีเหวผาป่าใหญ่ |
ข้ามละหานธารท่าชลาลัย | แลไปเห็นยอดบรรพตา |
สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าอัมพร | เป็นชะง่อนวุ้งเวิ้งเพิงผา |
ศีลาลายพรายแสงรจนา | ดั่งมหาเนาวรัตน์รูจี |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | ประภาษถามพิเภกยักษี |
อันเขาซึ่งแลเห็นนี้ | มีนามปรากฏชื่อใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรสนองบัญชาไป | อันเขาใหญ่อยู่ตรงหน้ารถ |
ชื่อว่ามยุราศิลาลาย | แสงพรายเหมือนแววนกยูงหมด |
รุกขชาติหลายพรรณเป็นหลั่นลด | กิ่งก้านช้อยชดจำเริญตา |
ทรงผลเป็นช่อผกากาญจน์ | หอมหวานตลบทั้งภูผา |
มีน้ำพุดุด้นศีลา | ไหลมายังสุคนธ์สาคร |
อันเขามยุราคีรีเรือง | หลักเมืองมลิวันมาแต่ก่อน |
ผลไม้มากมายในดงดอน | เป็นกำลังนิกรโยธี |
ขอพระองค์จงหยุดพลขันธ์ | ตั้งมั่นยังเชิงคีรีศรี |
ให้ข่มนามเมืองอสุรี | จะมีชัยแก่ราชพาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | จึ่งให้หยุดโยธาพลากร |
แล้วตรัสสั่งลูกพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิ์ชาญสมร |
จงตั้งพลับพลาสถาวร | แทบเชิงสิงขรริมธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับรสพจมาน | น้องพระอวตารแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันปันหน้าที่ | ทั้งพวกกระบี่แลยักษา |
วานรให้ตั้งพลับพลา | ทิมดาบศาลาลูกขุนใน |
พลยักษ์ให้ทำเขื่อนคู | ป้อมประตูหอรบน้อยใหญ่ |
กำแพงเชิงเทินรอบไป | ตั้งสารวัตรไว้ให้ตรวจการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุราวานรทวยหาญ |
บรรดาเจ้าด้านพนักงาน | ขับไพร่ลนลานวิ่งมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หน้าที่ของใครก็แผ้วถาง | คัดง้างทุบปราบหินผา |
บ้างขุดดินตัดไม้เป็นโกลา | แบกลากขนมาแข่งกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ตั้งลงเป็นจักรพยูห์ | มีคูเขื่อนเพชรเขื่อนขัน |
ป้อมค่ายหอรบครบครัน | คล้ายกันกับราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
เสร็จการตั้งทัพก็ยินดี | จึ่งมีพจนารถวาจา |
ชวนพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | ลงจากพิชัยรถา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | เสด็จมาสระสรงวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองกษัตริย์ลงสระสรงสนาน | ในท่าลำธารกระแสสินธุ์ |
นํ้าใสเห็นแสงมณีนิล | โกมินไข่มุกไพฑูรย์พราย |
แก้วแดงแกมดวงมุกดาดาษ | ปัทมราชเพชรรัตน์จำรัสฉาย |
ทรายทองศรีเทียมอุไรพราย | ศีลาลายแก้วผลึกโมรา |
มรกตข่ายครุฑบุษราคัม | ปะวะหลํ่าแกมกัลปังหา |
ศีลาทองแสงประเทืองเรืองตา | จินดาจับดวงแก้วประพาฬ |
มีพื้นหมู่พรรณปทุมาศ | เบิกกลีบบานกลาดชูก้าน |
เรณูหล่นลอยทั้งลำธาร | พระพายพานรำเพยขจายจร |
สาโรชเสาวรสวาริน | หวนกลิ่นหอมกลั้วด้วยเกสร |
แมลงภู่หมู่ผึ้งประอึงอร | บินร่อนเชยรสสุมาลา |
ฝูงปลาเล็มไคลว่ายคลํ่า | บ้างพ่นนํ้าลอยแนบแอบผา |
ชมพลางพิศเพลินจำเริญตา | ที่ในธารท่าวารี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ ลงสรงปี่พาทย์
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จซึ่งสรงชลธาร | น้องพระอวตารทั้งสองศรี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ขึ้นที่สุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
ทั้งหมู่ยักษีกระบี่ไพร | ก็ลงไปเล่นนํ้าพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ น้ำไสไหลเชี่ยวเป็นเกลียวมา | กระทบแผ่นผาครื้นครั่น |
วานรโลดไล่พัลวัน | กุมภัณฑ์ดำด้นชลธาร |
บ้างเก็บบัวกระจับตับเต่า | ถอนกระชากรากเง่าเป็นอาหาร |
อสุราเด็ดดวงปทุมมาลย์ | ลิงทะยานฉวยชิงเอาไป |
ขึ้นบนเงื้อมผาริมสาคร | ยักษ์ฉุดลิงหลอนหลอกให้ |
โลดโผนโจนเล่นสำราญใจ | เลี้ยวไล่อื้ออึงเป็นโกลี |
วานรถอนสาหร่ายสายติ่ง | ฟาดทิ้งสัพยอกยักษี |
หมู่มารหักก้านบัวตี | เสียงมี่สรวลสันต์กันเฮฮา |
อันสุครีพหนุมานองคต | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
สระสนานสำราญกายา | ที่ในมหาชลธาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวจีน
๏ ครั้นเสร็จซึ่งเล่นสาคร | ท้าวพญาวานรทวยหาญ |
กับพวกอสูรหมู่มาร | ก็มายังสถานพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรานายด่านน้อยใหญ่ |
ซึ่งเหลือตายแตกพ่ายกระจายไป | เร้นซ่อนอยู่ในดงดอน |
ครั้นเห็นกองทัพยกมา | ตั้งอยู่มยุราสิงขร |
ยิ่งตระหนกตกใจดั่งไฟฟอน | ก็พากันรีบจรเข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งแจ้งเหตุการณ์ | แก่เสนามารทั้งสี่ |
ว่ามีลิงเผือกอันฤทธี | มาไล่ราวีชิงชัย |
พวกพลชาวด่านทั้งสองชั้น | สู้มันตายยับไม่นับได้ |
มัฆวานกาลสูรก็บรรลัย | บัดเดี๋ยวทัพใหญ่ยกมา |
ข้าเห็นมนุษย์สองคน | เป็นจอมพลขี่ราชรถา |
โยธีพ้นที่จะคณนา | เกลื่อนกลาดดาษป่าพนาวัน |
สำเนียงกึกก้องกัมปนาท | เพียงสุธาอากาศจะทรุดลั่น |
ยักษาวานรปนกัน | มาตั้งมั่นมยุราคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารทั้งสี่ |
ได้ฟังตกใจพันทวี | ก็ไปที่พระโรงโอฬาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนน้อมเกล้าบังคมคัล | พระผู้ปิ่นมลิวันราชฐาน |
ทูลโดยมีศึกมารอนราญ | ตามชาวด่านแจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
แจ้งข่าวเร่าร้อนในอุรา | พญามารนิ่งนึกตรึกคิด |
เหตุนี้จะจริงเหมือนกูฝัน | กับโหราทายนั้นเห็นไม่ผิด |
เป็นชายจะเกรงปัจจามิตร | ทศทิศจะเย้ยไยไพ |
คิดแล้วจึ่งมีบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
เร่งเกณฑ์รี้พลสกลไกร | ประจำไว้ให้รอบพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สี่เสนามารชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จึ่งเกณฑ์อสูรหมู่มาร | เลือกล้วนอาจหาญแกล้วกล้า |
สรรพไปด้วยเครื่องสาตรา | รักษารอบราชธานี |
ป้อมค่ายเชิงเทินหอรบ | เอาปืนใหญ่รายครบทุกหน้าที่ |
กองหนุนนั้นสรรแต่ตัวดี | มีระยะสิบเส้นรายไป |
กองขันนั้นล้วนตัวหาญ | ประจำทุกทวารน้อยใหญ่ |
กองกลางอยู่กลางเวียงชัย | หนักไหนให้ออกทะลวงฟัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ไพร่ฟ้าประชากรทั้งเขตขัณฑ์ |
แจ้งเหตุก็ปรับทุกข์กัน | ครั้งนี้มลิวันจะแหลกลาญ |
เพราะด้วยไพนาสุริย์วงศ์ | พาองค์มัจจุราชมาสังหาร |
อันนัดดาของท้าวอัชบาล | เชี่ยวชาญศรสิทธิ์ฤทธิรุทร |
ยกไปรณรงค์ในลงกา | ฆ่ายักษ์ตายยับนับสมุทร |
ท้าวทศกัณฐ์ออกต่อยุทธ์ | ญาติมิตรม้วยมุดมากมาย |
บัดนี้ยกมามลิวัน | ตีด่านสองชั้นพังพ่าย |
ตัวเราจะพากันตาย | ว่าพลางทางฟายน้ำตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เสด็จเหนือที่ไสยา | ในสุวรรณพลับพลาอลงการ |
อัมพรดาวดาษกลาดเกลื่อน | จันทรลอยเลื่อนฉายฉาน |
น้ำค้างหยาดเย็นสุธาธาร | พระพายพานรำเพยรวยริน |
พัดพาเสาวคนธ์เกสร | ขจายจรหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
เสนาะเสียงไก่แก้วโกกิล | ปักษาตื่นบินหากัน |
แสงทองรองเรื่ออากาศ | โอภาสพรรณรายฉายฉัน |
เสียงประโคมดนตรีนี่นัน | ทรงธรรม์ตื่นจากไสยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งบ้วนพระโอษฐ์สรงพระพักตร์ | ทรงเครื่องจักรพรรดินาถา |
พระกรกุมศรศักดา | เสด็จออกพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | งามวิลาสดั่งท้าวโกสีย์ |
พร้อมหมู่วานรโยธี | ชุลีกรเกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระบัญชาการ | ปรึกษาทหารน้อยใหญ่ |
ว่าเราจะยกพลไกร | เข้าล้อมเวียงชัยอสุรา |
หรือจะให้ทูตาถือสาร | ไปว่าขานแก่ท้าวยักษา |
ตามขนบธรรมเนียมบุราณมา | หรือว่าจะทำฉันใดดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาไวยวงศากระบี่ศรี |
น้อมเศียรถวายอัญชุลี | กราบทูลด้วยปรีชาไว |
ซึ่งจะยกเข้าล้อมเมืองยักษ์ | หักเอาด้วยฤทธิ์ก็เห็นได้ |
แต่จะไม่ปรากฏพระยศไป | ที่ในแผ่นพื้นสุธาธาร |
ขอให้แต่งซึ่งเสนา | ผู้มีปรีชากล้าหาญ |
เป็นทูตจำทูลบัญชาการ | เข้าไปว่าขานกุมภัณฑ์ |
แม้นมาตรดื้อดึงมิอ่อนน้อม | จึ่งยกพลเข้าล้อมเขตขัณฑ์ |
ทำไมกับเมืองมลิวัน | ไม่ครั่นฝีมือวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังลูกพระทินกร | ภูธรต้องราชฤทัย |
จึ่งมีพจนารถบัญชาการ | ตัวท่านซึ่งเป็นผู้ใหญ่ |
จะเห็นทหารตนใด | ที่จะให้เข้าไปเป็นทูตาฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ซึ่งจะไปเจรจาด้วยขุนยักษ์ |
เห็นแต่นิลนนท์อุปราช | ฤทธิรงค์องอาจแหลมหลัก |
ปรีชาสามารถฉลาดนัก | เห็นจักไม่เสียท่วงที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังโสมนัสยินดี | จึ่งมีพระบัญชาการ |
สั่งขุนอาลักษณ์วานร | จงแต่งอักษรราชสาร |
ส่งให้นิลนนท์ผู้ปรีชาญ | ไปว่าขานแจ้งกรุงมลิวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสัตพลีตัวขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ก็ช่วยกันแต่งราชสารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วจารึกลงลานทอง | ใส่กล่องสุวรรณเลขา |
ส่งให้นิลนนท์ผู้ศักดา | ตามบัญชาน้องพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลนนท์ผู้ชาญชัยศรี |
รับสารทูลเศียรด้วยยินดี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศสะท้านสะเทือนไหว |
เหาะทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปมลิวันพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลอยอยู่บนอัมพร | ตรงหน้าบัญชรยักษา |
แล้วร้องประกาศด้วยวาจา | ว่าเหวยจักรวรรดิอาธรรม์ |
บัดนี้พระพรตสุริย์วงศ์ | น้องพระภุชพงศ์รังสรรค์ |
ฤทธิรงค์ดั่งองค์พระสุริยัน | ยกพวกพลขันธ์โยธี |
เสด็จมาตั้งทัพยับยั้ง | อยู่ยังมยุราคิรีศรี |
มิได้เข้าหักโหมโจมตี | ด้วยมีความเมตตาท่านนัก |
จึ่งใช้ให้เราถือสาร | มาว่าขานโดยดีไม่หาญหัก |
จงเร่งก้มเศียรขุนยักษ์ | ฟังลักษณ์ราชสารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิยักษา |
เสด็จออกแสนสุรเสนา | ในหน้าสิงหาสน์บัญชร |
เห็นวานรลอยอยู่บนอากาศ | ทำอำนาจดั่งพญาไกรสร |
กริ้วโกรธพิโรธคือไฟฟอน | ว่าเหวยดูก่อนไอ้ลิงไพร |
ตัวเอ็งเป็นชาติเดียรัจฉาน | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
มีนามกรชื่อใด | จึ่งได้เป็นทูตถือสารมา |
เหตุใดตัวไม่นอบนบ | เราผู้ปิ่นภพยักษา |
ทำทะนงองอาจอหังการ์ | ร้องว่าลงมาแต่อัมพร |
ชอบแต่น้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบบาทยุคลกูก่อน |
ตามขนบซึ่งสื่อพระนคร | วานรจึ่งอ่านสารไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญานิลนนท์ทหารใหญ่ |
เห็นจักรวรรดิดื้อดึงขึงไว้ | ด้วยใจมานะอหังการ |
จึ่งร้องว่าเหวยขุนยักษ์ | เราผู้ถือลักษณ์ราชสาร |
ชื่อพญานิลนนท์ชัยชาญ | ทหารพระนารายณ์สี่กร |
เป็นอุปราชชมพูนคเรศ | เรืองเดชดั่งราชไกรสร |
เลื่องชื่อลือฤทธิ์ขจายจร | ไม่เคยง้องอนคำรพใคร |
ท่านมาเจรจายกตัว | ไม่กลัวความตายหรือไฉน |
จงน้อมเศียรฟังสารพระภูวไนย | ว่าแล้วอ่านไปทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารพระองค์วงศ์จักรพรรดิ | เกศกษัตริย์ทั่วทวีปทั้งสี่ |
น้องพระนารายณ์ธเรศตรี | มีนามพระพรตทรงลักษณ์ |
โดยเสด็จจากสายเกษียรสมุทร | ฤทธิรุทรเลิศลบไตรจักร |
มายังองค์ท้าวสี่พักตร์ | ผู้เป็นปิ่นปักมลิวัน |
ด้วยตัวท่านนั้นทำผิด | คบคิดกับเด็กโมหันธ์ |
จับพญาพิเภกซึ่งเป็นธรรม์ | ใส่ตรุจำพันธนาการ |
แล้วให้ไพนาสุริย์วงศ์ | ขึ้นดำรงลงการาชฐาน |
ไม่เกรงเบื้องบาทพระอวตาร | ผู้ประธานสามโลกโลกา |
บัดนี้พระองค์ดำรัสใช้ | ให้เราผู้เป็นกนิษฐา |
ยกพวกพหลโยธา | มาสังหารชีวาอสุรี |
หากเรานี้มีเมตตานัก | หวังจักไว้ชีพยักษี |
จึ่งให้มาว่าแต่โดยดี | มิได้คิดที่จะโรมรัน |
แม้นรู้โทษตัวว่าทำผิด | จงเสียทางทุจริตโมหันธ์ |
มาตั้งสัจต่อศรพระทรงธรรม์ | กุมภัณฑ์ก็จะรอดชีวา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ฟังสารดาลเดือดในวิญญาณ์ | โกรธาดั่งกาลอัคคี |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ทรลักษณ์ | เรากับทศพักตร์ยักษี |
เป็นสหายรักร่วมชีวี | พิเภกนี้ก็เหมือนน้องกู |
เราเป็นผู้ใหญ่ให้หา | อหังการ์ยกออกมาต่อสู้ |
จับได้จะฆ่าก็เอ็นดู | กูให้ทารกรรมจำไว้ |
เพราะมันอาธรรม์ทรลักษณ์ | จะรู้จักคุณพี่ก็หาไม่ |
หมายมาดจะพิฆาตชีวาลัย | จึ่งไปเข้าด้วยไพรี |
บอกอุบายเล่ห์กลรณรงค์ | ให้ล้างโคตรวงศ์ยักษี |
จนสหายกูสิ้นชีวี | ทั้งนี้ก็เพราะด้วยมัน |
พระรามว่ามีความชอบ | จึ่งมอบโภไคยไอศวรรย์ |
ยกให้แก่ไอ้พิเภกนั้น | ผิดยุติธรรม์ไม่ควรการ |
จึ่งให้ไพนาสุริย์วงศ์ | ขึ้นครองลงการาชฐาน |
สืบวงศ์บรมพรหมาน | จะว่าผิดบูราณด้วยอันใด |
เจ้าเอ็งปล้นได้แต่ลงกา | อันพารามลิวันหาเหมือนไม่ |
ถึงโยธาแน่นนับสมุทรไท | จะบรรลัยด้วยมืออสุรี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลนนท์ผู้ชาญชัยศรี |
ฟังท้าวจักรวรรดิพาที | มีแต่ดื้อดึงเจรจา |
จึ่งร้องว่าเหวยขุนยักษ์ | อันพระทรงจักรนาถา |
ตั้งอยู่ในทศธรรมา | เป็นหลักโลกาสุธาธาร |
ถ้าว่าผู้ใดทำผิด | จึ่งผลาญชีวิตสังขาร |
อันท้าวทศกัณฐ์อันธพาล | เที่ยวจัณฑาลนักสิทธ์เทวัญ |
แล้วไปลักองค์มเหสี | ของพระจักรีรังสรรค์ |
มาไว้ในสวนกุมภัณฑ์ | เพราะใจโมหันธ์ฉันทา |
พิเภกเห็นผิดจึ่งห้ามปราม | ด้วยความกตัญญูต่อเชษฐา |
กลับโกรธขับเสียจากพารา | จึ่งไปเป็นข้าพระจักรี |
ครั้นเสร็จศึกโปรดให้ผ่านเมือง | ตามเรื่องสุริย์วงศ์ยักษี |
ซึ่งพิเภกไม่คบอสุรี | ข้อนี้จะผิดด้วยอันใด |
อย่าพักอาจองทะนงหาญ | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
ว่าดีกว่าลงกากรุงไกร | เห็นไม่ครันมือวานร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ