- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
แจ้งว่ากำปั่นขุนมาร | วายปราณด้วยมือไพรี |
ความทุกข์ความเสียดายเป็นสุดคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงจี่ |
นิ่งขึงตะลึงไปไม่พาที | อสุรีอัดอั้นตันใจ |
อันซึ่งความสั่งอินทรชิต | ลืมเสียไม่คิดขึ้นได้ |
จึงมีบรรหารตรัสไป | เหวยไวยกาสูรอสุรา |
จงรีบไปสัตภัณฑ์สีขเรศ | แจ้งเหตุแก่โอรสา |
ว่ากำปั่นนั้นม้วยมรณา | ให้ลูกกูรีบมารอนราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งไวยกาสูรใจหาญ |
รับสั่งสมเด็จพญามาร | บังคมลาแล้วทะยานเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งสีทันดร | ริมยุคุนธรเขาใหญ่ |
ลงจากอากาศด้วยว่องไว | ก็เข้าในโรงราชพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งยอกรประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์อินทรชิตยักษี |
ว่ากำปั่นยกไปต่อตี | ไพรีฆ่าเสียม้วยมิด |
บัดนี้สมเด็จพระบิดา | มีพระบัญชาประกาศิต |
ให้มาเชิญองค์พระทรงฤทธิ์ | เร่งคิดไปแก้แค้นมัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
สำรวมใจอยู่ในพิธีกรรม์ | กุมภัณฑ์แจ้งข่าวมรณา |
ให้กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงพิษ | น้อยจิตเพียงสิ้นสังขาร์ |
ลุกขึ้นกระทืบบาทา | เหวยไวยกาสูรอสุรี |
นี่หากว่ารับสั่งพระบิตุราช | หาไม่หัวจะขาดลงกับที่ |
ให้สาใจมึงไอ้อัปรีย์ | มาทำให้พิธีกูเสียไป |
ว่าแล้วมีราชบรรหาร | แก่เสนามารน้อยใหญ่ |
จะแก้คำทรลักษณ์จังไร | ให้ศรชัยเรามีศักดา |
จงเอาแพะดำโคดำ | พลีกรรมโดยเวทคาถา |
ทั้งจะได้เลือดบูชา | ในกลางกาลาพิธีการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่เสนาทวยหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพญามาร | ก็วิ่งลนลานเป็นสิงคลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จูงแพะจูงโคอุตลุด | ลากฉุดเข้ามาอึงมี่ |
ผูกไว้ตรงหน้าอสุรี | ตามมีพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นหมู่มารจูงสัตว์เข้ามา | ยินดีปรีดาเป็นพ้นนัก |
กลับคืนขึ้นนั่งบัลลังก์อาสน์ | พระหัตถ์จับพรหมาสตร์ศรศักดิ์ |
ยอกรประนมเพียงพักตร์ | ขุนยักษ์ก็ร่ายพระเวทไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบถึงพัน | ปัถพีเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
ก็จับฝูงสัตว์ที่มัดไว้ | พิฆาตเสียให้ม้วยมิด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เสร็จแล้วจึ่งเอาถาดทอง | เข้ามารับรองโลหิต |
ให้พรหมาสตร์สูบกินด้วยฤทธิ์ | ก็สำเร็จดั่งจิตจินดา |
แล้วเจิมสุคนธ์จวงจันทน์ | กุมภัณฑ์สำรวลสรวลร่า |
ทีนี้ไพรีอหังการ์ | น่าที่จะม้วยบรรลัย |
ถึงยิ่งกว่ามนุษย์วานร | ก็ไม่ทนแสงศรของกูได้ |
จึ่งสั่งรุทกาลผู้ร่วมใจ | เราจะไปชิงชัยด้วยไพรี |
โดยเล่ห์กลศึกอุบาย | จะแปลงกายเป็นท้าวโกสีย์ |
อันหมู่พหลโยธี | ล้วนมีศักดาวราฤทธิ์ |
ให้เป็นคนธรรพ์วิทยา | เทวาสุรารักษ์นักสิทธ์ |
อันการุณราชผู้ร่วมคิด | จงนิมิตเป็นเอราวัณ |
เหล่าหนึ่งแปลงกายเป็นนางฟ้อน | ให้เหมือนอัปสรสาวสวรรค์ |
ดีดสีขับรำระบำบัน | พร้อมกันไปหน้าคชาธาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | รุทกาลเสนาใจหาญ |
ก้มเกล้ารับพระบัญชาการ | ขุนมารมาจัดโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ให้การุณราชกุมภัณฑ์ | เป็นเอราวัณตัวกล้า |
สามสิบสามเศียรอลงการ์ | เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน |
งาหนึ่งเจ็ดสระโกสุม | สระหนึ่งมีปทุมเกสร |
เจ็ดกอชูก้านอรชร | กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา |
ดวงหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช | กลิ่นรสซาบซ่านนาสา |
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา | เจ็ดนางกัลยายุพาพาล |
แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร | รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน |
นางหนึ่งล้วนมีบริวาร | เจ็ดองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ |
เผือกผ่องพึงพิศอำไพ | เหมือนช้างเจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์ | พรายพรรณล้วนแก้วมณี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ อันนายสารถีที่ขับรถ | เป็นเทวัญท้ายคชสารศรี |
เหล่าหมู่ประโคมดนตรี | ให้แปลงอินทรีย์เป็นนางฟ้า |
สำหรับระบำรำเต้น | เล่นไปหน้าคชสารกล้า |
ฝ่ายหมู่อสุรโยธา | แปลงเป็นเทวาสุราฤทธิ์ |
บ้างเป็นคนธรรพคนธรรพ์ | ซ้อนซับแน่นนันต์อกนิษฐ์ |
กองหน้านั้นให้นิรมิต | แต่พื้นพวกพิทยาธร |
ล้วนถือซึ่งสรรพสาตรา | ปืนยากำซาบธนูศร |
คอยท่าลูกท้าวยี่สิบกร | จะไปราญรอนไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นได้พิชัยนาที | อสุรีนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เหมือนองค์สมเด็จสหัสนัยน์ | ลงมาจากตรัยตรึงศา |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | เข้ามาที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | เป็นละอองหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ช่อกระหนกนาคินทร์เชิงงอน |
ทรงโกไสยพัสตร์ช่องกระจก | แย่งยกรูปราชไกรสร |
ชายแครงเครือหงส์อลงกรณ์ | ฉลององค์อรชรดวงลอย |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | รัดองค์กุดั่นเฟื่องห้อย |
สะอิ้งแก้วแวววับประดับพลอย | สอดสร้อยลายแทงชมพูนุท |
พาหุรัดเป็นรูปนาคา | ทองกรเหรารายบุษย์ |
สอดพระธำมรงค์เรือนครุฑ | ทรงมหามงกุฎกรรเจียกจร |
กุณฑลมาลัยดอกไม้ทัด | พระหัตถ์จับพรหมาสตร์แสงศร |
เหมือนทรงองค์อมรินทร | กรายกรมาขึ้นหัสดิน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ ช้างเอยช้างทรง | ดั่งองค์อัครคเชนทร์โกสินทร์ |
สูงงํ้าส่ายเงื้อมสีขริน | ขาวสิ้นแข่งสีเงินงาม |
โก่งหางกางหูพู่ห้อย | งวงชดงาช้อยชาญสนาม |
สอดเครื่องใส่ครบในสงคราม | ดาววามดูวับจับตา |
เหาะลิ่วเหินลอยในอำพน | พวกพหลพลแห่ซ้ายขวา |
ทิวฉัตรธงชัยไสวมา | แสงระยับสายระย้าจามร |
ฝูงเทพฝ่ายเทวนิกาย | ตามรายตาริ้วอยู่สลอน |
ข้ามทิวเขาแถวสีทันดร | ขับกุญชรไปในเมฆา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลองโยน
ร่าย
๏ ครั้นมาถึงที่รณรงค์ | เห็นองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ยืนรออยู่กลางโยธา | อสุราชื่นชมด้วยสมคิด |
จึ่งให้หยุดพหลพลไกร | เกลื่อนกลาดดาษไปอกนิษฐ์ |
อยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์ | แล้วประกาศิตสั่งโยธี |
บรรดาซึ่งจำแลงแปลงเพศ | เป็นเทเวศนางอัปสรศรี |
ให้ประโคมดุริยางค์ดนตรี | มโหรีขับรำระบำบัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธาพลขันธ์ |
ซึ่งแปลงเป็นอัปสรแลเทวัญ | ก็พร้อมกันทำตามพจมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ บ้างตีรำมะนาท้าทับ | รองรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
ดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน | จำเรียงเสียงหวานโอดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ บ้างจับระบำรำร่อน | ฟ้อนกรายย้ายเป็นเพลงสวรรค์ |
นวยนาดวาดกรเวียนวัน | บิดผันล่อเลี้ยวไปมา |
แทรกเปลี่ยนเวียนวงดั่งกงจักร | เยื้องยักร่ายรำทำท่า |
กระหวัดกรเป็นหงส์ลีลา | ฉวยยุดฉุดคร่ากันวุ่นไป |
งามดั่งเทเวศกับอัปสร | คมค้อนป้องปัดกวัดไขว่ |
ใส่จริตให้หลงงงไป | ที่ในเล่ห์กลอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เสด็จเหนือรถแก้วมณี | ภูมีเหลือบแลแปรไป |
เห็นองค์สมเด็จมัฆวาน | ทรงพญาคชสารตัวใหญ่ |
กับฝูงเทวาสุราลัย | ลอยอยู่ในกลางเมฆา |
มีหมู่นางเทพอัปสร | กรายกรเต้นรำทำท่า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ดูราคำแหงหนุมาน |
เหตุใดสมเด็จอมรินทร์ | ทรงเทพหัสดินตัวหาญ |
มาลอยอยู่กลางคัคนานต์ | พร้อมหมู่บริวารเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิแรงแข็งขัน |
ฟังน้องพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลแล้วทูลสนองไป |
อันโกสีย์กับหมู่เทพบุตร | ถือสาตราวุธหาเว้นไม่ |
มีทั้งนางรำระบำใน | มิได้เคยเห็นแต่ก่อนมา |
หรือจะเป็นเล่ห์กลอุบาย | มารยาแยบคายยักษา |
น่าฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ์ | ผ่านฟ้าระวังให้จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ฟังลูกพระพายพาที | ภูมีพิศเพ่งไปมา |
เห็นฝูงเทวัญกับอัปสร | จับระบำรำฟ้อนในเวหา |
พิศวงหลงเพลินจำเริญตา | พระอนุชาก็เคลิ้มสติไป |
สิ้นทั้งท้าวพญาพานรินทร์ | พวกพลกบินทร์น้อยใหญ่ |
ยิ่งดูก็ยิ่งประมาทใจ | มิได้ระวังอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
เห็นพระลักษมณ์กับหมู่โยธี | สิ้นสมประดีไปทั้งนั้น |
จึ่งจับพรหมาสตร์ขึ้นพาดสาย | หมายองค์พระลักษมณ์รังสรรค์ |
หน่วงน้าวเหนือคอเอราวัณ | กุมภัณฑ์ก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ บันดาลเป็นศรเกลื่อนกลาด | ทำอำนาจพ่างพื้นแผ่นดินไหว |
ต้องน้องพระตรีภูวไนย | กับหมู่พลไกรโยธี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎวานร | สุครีพฤทธิรอนเรืองศรี |
องคตลูกพญาพาลี | ล้มลงกับที่พสุธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทวยหาญยักษา |
บ้างยิงบ้างพุ่งสาตรา | เกลื่อนกลาดลงมาแต่อัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พลลิงนั้นต้องหอกดาบ | ปืนยากำซาบธนูศร |
ตายกลาดดาษดิ้นทั้งดินดอน | เหลือแต่วานรหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตฤทธิไกรใจหาญ |
เห็นมนุษย์วานรวายปราณ | ตบหัตถ์ฉัดฉานด้วยยินดี |
ทั้งหมู่ไพร่พลสกลไกร | ดีใจโห่ร้องอึงมี่ |
บ้างประโคมดุริยางค์ดนตรี | อสุรีสำรวลไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราวรำ
๏ บัดนั้น | วายบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
แลเห็นพระอินทร์แผลงศรมา | ต้องพระอนุชาฤทธิรณ |
ทั้งพวกนิกรเทวบุตร | ก็พุ่งซัดอาวุธดั่งห่าฝน |
ต้องหมู่กระบี่รี้พล | วายชนม์เกลื่อนกลาดดาดไป |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | ทำอำนาจเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
ว่าเหวยดูกรหัสนัยน์ | เหตุใดไปเข้าด้วยกุมภัณฑ์ |
พร้อมทั้งฝูงเทพนิกาย | ฆ่าน้องพระนารายณ์ให้อาสัญ |
มิได้ตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม์ | กูจะล้างชีวันให้มรณา |
ว่าแล้วชักตรีออกกวัดแกว่ง | สำแดงฤทธิไกรเงื้อง่า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | เท้าปีนเหยียบงากุญชร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ กรซ้ายหักคอเอราวัณ | กรขวาฉวยคันธนูศร |
กระชากฉุดด้วยกำลังฤทธิรอน | วานรรบรุกคลุกคลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
รับรองป้องกันประจัญตี | อสุรีหวดด้วยศรชัย |
ต้องกายคำแหงหนุมาน | เจ็บปวดไม่ทานกำลังได้ |
กระเด็นไปกับคอคชไกร | สลบอยู่ในพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ขุนมารชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลร่า |
รูปนั้นกลับเป็นอสุรา | ลงมาจากพื้นอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พอพระสุริยาอัสดง | เลี้ยวลงลับเหลี่ยมสิงขร |
จึ่งสั่งทหารฤทธิรอน | ดูกรอสูรสารัณ |
แม้นเห็นพระรามผู้เชษฐา | มาโศกาวิโยคโศกศัลย์ |
กอดน้องสลบไปด้วยกัน | กุมภัณฑ์จงรีบไปแจ้งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ว่าแล้วให้เลิกโยธี | แสนสุรเสนีทวยหาญ |
โห่สนั่นลั่นฟ้าสุธาธาร | ขุนมารคืนเข้ายังลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ | ของพระบิตุเรศยักษา |
ก็เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ขึ้นพระโรงรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | องค์พระบิตุราชเรืองศรี |
ท่ามกลางอสูรเสนี | หมู่กระวีโหราพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นลูกรักร่วมชีวัน | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ซึ่งเจ้าออกไปต่อยุทธ์ | กับด้วยมนุษย์เป็นไฉน |
รณรงค์เสียทีหรือมีชัย | เหตุใดจึ่งมาต่อราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
น้อมเศียรสนองพระวาที | ครั้งนี้ลูกคิดอุบายกล |
แปลงกายเป็นองค์หัสนัยน์ | ทรงไอยรามาในเวหน |
อันหมู่โยธีรี้พล | นิมิตตนเป็นเทพเทวา |
ลางเหล่าก็เป็นนางรำ | ร้องเรื่อยเฉื่อยฉ่ำในเวหา |
พระลักษมณ์งวยงงด้วยมารยา | สิ้นทั้งโยธาวานร |
เห็นไพรีเสียทีประมาท | จึ่งแผลงพรหมาสตร์ธนูศร |
ต้ององค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ทั้งกระบี่นิกรวายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ฟังพระโอรสแจ้งการ | พญามารชื่นชมด้วยสมคิด |
ตบหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ | เสียงสนั่นลั่นฟ้าถึงดุสิต |
แล้วสวมสอดกอดองค์อินทรชิต | เจ้าดวงชีวิตของบิดา |
มิเสียทีเป็นวงศ์พรหเมศ | ปรีชาฤทธิ์เดชแกล้วกล้า |
ควรที่เป็นปิ่นอสุรา | สืบสุริย์วงศาในเมืองมาร |
เจ้าทำสงครามเหนื่อยพักตร์ | ลูกรักจงไปสรงสนาน |
เสวยโภชนาให้สำราญ | ชมหมู่นงคราญวิไลวรรณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
น้อมเศียรถวายบังคมคัล | มาปราสาทสุวรรณอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นรัตน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
แล้วมีบัญชาอันสุนทร | แก่บังอรสุวรรณกันยุมา |
วันนี้พี่แผลงพรหมาสตร์ | อันมีอำนาจแกล้วกล้า |
ต้ององค์พระลักษมณ์กับโยธา | สุดสิ้นชีวาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณกันยุมาโฉมศรี |
ได้ฟังพระราชสามี | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งทูลว่าอันองค์พระทรงเดช | ตรีเนตรยังไม่ต่อได้ |
สาอะไรมนุษย์กับลิงไพร | หรือจะไม่บรรลัยด้วยฤทธา |
ทูลแล้วเรียกนางพนักงาน | อันสะคราญประโลมเสน่หา |
จงบำเรอลูกเจ้าผู้ศักดา | ให้ผ่านฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางอนงค์สาวศรี |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | ทุกนารีพร้อมเรียบระเบียบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ ลางเหล่าดีดสีตีทับ | ฉิ่งกรับบรรเลงเพลงสวรรค์ |
ขับครวญหวนโหยโอดพัน | ประสานเสียงสนั่นทั้งวังใน |
แล้วย้ายลำนำคำหวาน | เฉื่อยฉานเป็นที่พิสมัย |
พร้อมเพราะเสนาะจับใจ | มี่ไปดั่งปราสาทจักรพรรดิ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | ทอดกรนาดชายกรายหัตถ์ |
เป็นเมขลาโยนดวงมณีรัตน์ | งามทัดเทียมเทพนิกร |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนไป | เป็นเพลงพิสมัยเรียงหมอน |
ย่างเยื้องยกบาทนาดกร | งามงอนในทีกิริยา |
ชม้ายชายเนตรโดยกระบวน | ให้ยั่วยวนด้วยความเสน่หา |
ดั่งนางอัปสรในชั้นฟ้า | ลงมาบำเรอกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ทอดพระเนตรหมู่นางระบำบัน | วิไลวรรณดั่งเทพนารี |
ทั้งฟังเสียงขับกล่อมพร้อมเพราะ | ยิ่งเสนาะจับใจยักษี |
ให้เกิดประดิพัทธ์ยินดี | มีความเพลิดเพลินจำเริญใจ |
ดั่งเสวยสมบัติในสวรรค์ | ทั่วทั้งหกชั้นไม่เปรียบได้ |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อำไพ | ก็หลับไปในประถมเวลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์นาถา |
เสด็จยังสุวรรณพลับพลา | คอยองค์อนุชาฤทธิรอน |
จนพระสุริยาอัสดง | เลี้ยวลงลับเหลี่ยมสิงขร |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟฟอน | ภูธรก็คิดอัศจรรย์ |
วันนี้ได้ยินเสียงศิลป์ | ฟ้าดินสะเทือนเลื่อนลั่น |
สำเนียงโห่ร้องนี่นัน | หรือเสียทีกุมภัณฑ์ประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จำกูจะออกไปดู | ให้รู้ร้ายดีเป็นไฉน |
คิดแล้วก็จับศรชัย | เสด็จไปกับหมู่โยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ชมพูพานนำเสด็จพระทรงยศ | เลี้ยวลดตามแถวแนวป่า |
มืดมัวไม่เห็นมรรคา | ด้วยเป็นเวลาราตรีกาล |
จึ่งจับศรจันทวาทิตย์ | อันมีเดชชวลิตฉายฉาน |
พาดสายหมายบนคัคนานต์ | ผ่านฟ้าแผลงไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เป็นดาวเดือนเลื่อนลอยในอากาศ | โอภาสจำรัสรัศมี |
ส่องสว่างพ่างพื้นพนาลี | ภูมีก็รีบเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
๏ จึ่งเห็นโยธาวานร | พวกพลนิกรน้อยใหญ่ |
ต้องสาตราวุธปืนไฟ | บรรลัยซ้อนซับทับกัน |
แล้วเหลือบเห็นศรีหนุมาน | ยอดทหารสิ้นชีพอาสัญ |
นอนทับเศียรเอราวัณ | ทรงธรรม์นั่งลงแล้วโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ อนิจจาโอ้ว่าวายุบุตร | ปรีชาฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
สามโลกย่อมเกรงศักดา | หรือมาแพ้พาลาปัจจามิตร |
จะหาไหนได้เหมือนดั่งนี้ | ภักดีซื่อตรงสุจริต |
ควรหรือมาสิ้นชีวิต | ดั่งไม่มีฤทธิ์กำลังกาย |
นอนกลิ้งอยู่กลางสุธาธาร | อัประมาณแก่โลกทั้งหลาย |
รํ่าพลางชลเนตรฟูมฟาย | พระนารายณ์เพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ แล้วคิดถึงองค์พระลักษมณ์ | น้องรักร่วมชีพเฉลิมศรี |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรลี | มาจากขุนกระบี่ผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เหลือบแลเห็นลูกพระทินกร | กับวานรองคตแกล้วกล้า |
ทั้งสิบแปดมงกุฎโยธา | มรณากลิ้งกลาดดาษไป |
ความรักความเสียดายนั้นสุดคิด | ร้อนจิตเพียงหนึ่งเพลิงไหม้ |
ทรุดองค์ลงโศกาลัย | ภูวไนยครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ โอ้ว่าลูกพระทินกร | ฤทธิรอนเลิศลํ้าสรวงสวรรค์ |
ควรหรือมาม้วยชีวัน | เป็นน่าอัศจรรย์ใจนัก |
แต่ทศเศียรอสุรา | ศักดาปราบได้ทั้งไตรจักร |
ยังว่ามีชัยแก่ขุนยักษ์ | เมื่อครั้งหักฉัตรอลงกรณ์ |
อนิจจาเสียดายองคต | ทรหดห้าวหาญชาญสมร |
เป็นวงศ์อมรินทร์ฤทธิรอน | มาต้องศรนอนกลิ้งกับดินดาน |
โอ้ว่าสิบแปดมงกุฎ | ล้วนเหล่าเทพบุตรกล้าหาญ |
จุติมาช่วยปราบมาร | หรือมาแพ้พวกพาลพาลา |
ได้ความอัปยศอดสู | แก่หมู่ทรลักษณ์ยักษา |
ไตรโลกก็ล่วงนินทา | ผ่านฟ้ารำพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ แล้วเหลือบเห็นองค์พระลักษมณ์ | ต้องศรสิทธิศักดิ์ยักษี |
ปักอกกลิ้งกลางปัถพี | พระจักรีก็รีบเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองกรจับศรกระชากฉุด | จะเขยื้อนเคลื่อนหลุดก็หาไม่ |
ปักแน่นดั่งหนึ่งตรึงไว้ | ให้เร่าร้อนฤทัยพ้นนัก |
ลดองค์ลงแอบแนบน้อง | ค่อยประคองช้อนเกศขึ้นใส่ตัก |
ชลนัยน์ไหลลงอาบพักตร์ | พระทรงจักรรำพันโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้อนิจจาเจ้าเพื่อนยาก | แสนทุกข์แสนลำบากด้วยพี่ |
ตั้งใจจะช่วยปราบอสุรี | หรือมาม้วยชีวีวายชนม์ |
ไฉนหนอพ่อจึ่งประมาทนัก | ให้ต้องอาวุธยักษ์ถึงสามหน |
เมื่อครั้งโมกขศักดิ์ฤทธิรณ | ก็เจียนจักเสียชนม์ชีวัน |
พี่ให้หนุมานผู้เรืองเดช | ไปแจ้งเหตุพระพรตรังสรรค์ |
ได้โอสถมาบดประสมกัน | ทาทันจึ่งฟื้นคืนมา |
ครั้งเมื่อเจ้าต้องนาคบาศ | ศรสาตร์อินทรชิตยักษา |
หากได้สุบรรณอันศักดา | มาโฉบฉาบนาคาหนีไป |
ตัวเจ้าจึ่งรอดชีวี | ครั้งนี้ฝ่ายพี่จะทำไฉน |
เมื่อศรสิทธิ์ของมันเกรียงไกร | ใครจะช่วยเจ้าได้นะน้องรัก |
จะนับในสุริย์วงศ์อยุธยา | เนื่องมาโดยพงศ์พญาจักร |
แต่สามอนุชาทรงลักษณ์ | กับพี่ผู้ปราบยักษ์เป็นสี่ชาย |
ให้พระน้องทั้งสองอยู่ครองกรุง | บำรุงรี้พลทั้งหลาย |
เราสองทนทุกข์ระกำกาย | กับโฉมฉายสีดามาเดินดง |
กว่าจะครบสัจจาพระบิตุเรศ | แสนเทวษมาในไพรระหง |
ทำศึกยังไม่เสร็จการณรงค์ | พ่อมาปลงชีวีหนีไป |
อกเอ๋ยจากเมียแล้วมิหนำ | มาชํ้าเสียน้องก็เป็นได้ |
รํ่าพลางแสนโศกาลัย | ภูวไนยสุดสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ชมพูพานกับพลกระบี่ศรี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | โศกีรํ่ารักพระอนุชา |
สิ้นเสียงสิ้นพระกำลังกาย | สิ้นลมระบายนาสา |
สำคัญว่าสิ้นชีวา | โยธาตระหนกตกใจ |
ดั่งหนึ่งพระกาลพาลราช | มาฟันฟาดเศียรเกล้าไปได้ |
ต่างตนต่างวิ่งเข้าไป | ร้องไห้รํ่ารักพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | เรืองเดชปราบได้ทุกราศี |
เป็นหลักโลกาธาตรี | พระศุลีให้ไวกูณฐ์มา |
สังหารยักษาอาสัตย์ | กำจัดทุจริตริษยา |
ยังมิทันเสร็จศึกในลงกา | สององค์มาสิ้นชนมาน |
วายุบุตรสุครีพองคต | ขุนอัษฎาทศทวยหาญ |
ก็มาม้วยมุดสุดปราณ | ทีนี้จะแตกฉานกันไป |
ต่างตนต่างรํ่าโศกี | อึงมี่ดั่งเสียงพายุใหญ่ |
บรรดาโยธีกระบี่ไพร | สลบไปกับพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
ครั้นเห็นพระรามออกมา | โศการักน้องสลบไป |
สิ้นทั้งพวกพลโยธี | จะมีใครเหลือก็หาไม่ |
ทั้งสองอสุรีก็ดีใจ | รีบไปลงกาพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรชาญสมร |
ว่าองค์พระรามฤทธิรอน | มาโศกาอาวรณ์รักกัน |
แต่ประถมยามเวลา | จนสิ้นชีวาอาสัญ |
ทั้งโยธาก็ม้วยชีวัน | ใครจะเหลืออยู่นั้นก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังดั่งทิพย์วารี | มาโสรจสรงอินทรีย์ขุนมาร |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | ยี่สิบมือตบสนั่นฉาดฉาน |
ทีนี้สีดายุพาพาล | จะสิ้นการที่เกียจกลกู |
ครั้นจะไปแจ้งแก่นงลักษณ์ | จะสงสัยด้วยรักผัวอยู่ |
จำจะเชิญองค์นางโฉมตรู | ไปดูให้เห็นประจักษ์ตา |
แล้วจะรับมาร่วมเศวตฉัตร | จำเริญสวัสดิ์ในความเสน่หา |
คิดพลางทางมีบัญชา | ตรัสสั่งเสนามโหทร |
เอ็งจงเอาบุษบกแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
ให้นางสีดาบังอร | ทรงจรไปเยียนสามี |
ตายกลิ้งกลาดอยู่กับที่รบ | พร้อมทั้งศพน้องศพพี่ |
อันอี่ตรีชาดาอสุรี | ให้นำเทวีออกไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพญามารชาญชัย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้อสุรหมู่มาร | ซึ่งเป็นพนักงานรักษา |
เชิญบุษบกแก้วแววฟ้า | บ่ายหน้าไปสวนมาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
เสร็จแล้วมหาเสนี | ก็ไปยังนางตรีชาดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาใกล้นั่งลงตรงพักตร์ | เมียรักพิเภกยักษา |
ก็แจ้งความตามราชบัญชา | องค์เจ้าลงกาภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางมารผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังมหาเสนาใน | ตกใจก็รีบจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรกราบลง | แทบบาทบงสุ์พระลักษมี |
ทูลว่าทศกัณฐ์อสุรี | ใช้ให้เสนีออกมา |
แจ้งว่าพระลักษมณ์ฤทธิรอน | ต้องศรอินทรชิตยักษา |
ตายอยู่กับพื้นพสุธา | สิ้นทั้งเสนาพลไกร |
ฝ่ายว่าสมเด็จพระสามี | มาโศกีกอดน้องรํ่าไห้ |
จนถึงสวรรคาลัย | อยู่ในที่รบด้วยกัน |
ให้เอาบุษบกพิมานมาศ | อันเดินโดยอากาศสรวงสวรรค์ |
มาถวายให้เสด็จจรจรัล | ไปเยียนศพทรงธรรม์ภัสดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอัคเรศเสน่หา |
ฟังข่าวเร่าร้อนในอุรา | กัลยากระหนกตกใจ |
แสนทุกข์แสนเทวษยิ่งนัก | ดั่งจักทรงกายไว้ไม่ได้ |
ชลเนตรนองเนตรอรไท | ตีอกรํ่าไห้โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | นางตรีชาดายักษี |
กราบลงแทบบาทนางเทวี | อสุรีจึ่งทูลด้วยปรีชา |
พระองค์จงระงับกันแสงศัลย์ | กลั้นความเศร้าโทมนัสสา |
เหตุนี้ยังไม่ประจักษ์ตา | ขอเชิญกัลยาเสด็จไป |
ทั้งสองกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ว่าพระองค์ตายจริงหรือไฉน |
ฟังข้าน้อยเถิดนางอรไท | จะตีตัวก่อนไข้นั้นไม่ดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามเหสี |
ฟังตรีชาดาอสุรี | เทวีค่อยได้สติมา |
จึ่งเสด็จจากที่ไสยาสน์ | งามวิลาสดั่งเทพเลขา |
กับทั้งนางตรีชาดา | มาขึ้นบุษบกอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
ปลิ่ม
๏ บุษเอยบุษบกแก้ว | สีแววแสงวับฉายฉาน |
ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน | แก้วประพาฬกาบเพชรสลับกัน |
ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษย์ | บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น |
ภาพรายพื้นรูปเทวัญ | คนธรรพ์คั่นเทพกินนร |
เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ | อำไพโอภาสประภัสสร |
ไขแสงแข่งสีศศิธร | อัมพรเอี่ยมพื้นโพยมพราย |
ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง | แลเฉิดลอยช่วงจำรัสฉาย |
ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย | เร็วคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสนามรณรงค์ | ก็ร่อนลงมาจากเวหา |
หยุดอยู่ยังพื้นพสุธา | ดั่งว่ามีจิตวิญญาณ |
เห็นโยธาวานรกลิ้งกลาด | บาดเจ็บสิ้นชีพสังขาร |
ให้เย็นเชียบเงียบทรวงเยาวมาลย์ | ปานดั่งป่าช้าอนาถใจ |
จึ่งลงจากมหาบุษบก | แสนวิตกเร่าร้อนดั่งเพลิงไหม้ |
กับตรีชาดาอรไท | เสด็จไปเที่ยวหาพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ จึ่งแลเห็นลูกพระพาย | นอนตายทับเศียรหัตถี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | เทวีลดองค์ลงโศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าคำแหงหนุมาน | ยอดทหารฤทธิแรงแข็งกล้า |
องอาจอาสาพระจักรา | เอาธำมรงค์มากับสไบ |
ให้เราจึ่งไม่ม้วยชีวัน | คุณท่านนั้นหาที่สุดไม่ |
ซื่อตรงต่อองค์พระภูวไนย | จะหาไหนได้เหมือนเช่นนี้ |
ผู้เดียวเคี่ยวขับรอนราญ | กับสหัสกุมารยักษี |
ฆ่าเสียสิ้นทั้งโยธี | แล้วลวงเผาบุรีกุมภัณฑ์ |
ครั้งนี้มีพวกวานร | มาแพ้กรอินทรชิตโมหันธ์ |
จนถึงสิ้นชีพชีวัน | เป็นน่าอัศจรรย์ใจนัก |
เสียแรงเป็นพงศ์พานรินทร์ | เลื่องชื่อลือสิ้นทั้งไตรจักร |
รํ่าพลางชลเนตรคลอพักตร์ | นงลักษณ์เพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ แล้วคิดถึงองค์พระทรงสังข์ | กับทั้งพระลักษมณ์เรืองศรี |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องจรลี | ไปจากขุนกระบี่ผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ แลเห็นสมเด็จพระหริวงศ์ | กอดองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ซบอยู่กับพื้นพสุธา | กัลยาก็วิ่งเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงข้างบทเรศ | ชลเนตรแถวถั่งหลั่งไหล |
กอดข้อพระบาทเข้าไว้ | อรไทครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าพระหริวงศ์ทรงครุฑ | ฤๅษีเทพบุตรทั้งสรวงสวรรค์ |
ประชุมเชิญมาล้างอาธรรม์ | ที่มันเบียดเบียนธาตรี |
ควรหรือไม่ปราบยักษ์ได้ | มาบรรลัยทั้งน้องทั้งพี่ |
กลิ้งอยู่กับพื้นปัถพี | พระกายติดธุลีอนาถนัก |
ดั่งใช่นารายณ์ไวกูณฐ์ | เสื่อมชาติประยูรพญาจักร |
เสื่อมเดชดูดั่งทรลักษณ์ | เสื่อมศักดิ์สุริย์วงศ์อยุธยา |
ทั้งนี้เพราะกรรมนำสนอง | ให้น้องเผอิญเสน่หา |
ในรูปสุวรรณมฤคา | วอนว่าพระองค์ให้ตามไป |
มิหนำซํ้าขับพระลักษมณ์ | จนเสียกลยักษ์ก็เป็นได้ |
พระจึ่งต้องตามมาชิงชัย | ภูวไนยลำบากแสนทวี |
โอ้ว่าอนิจจาเจ้าลักษมณ์เอย | ทรามเชยผู้เพื่อนยากพี่ |
อานุภาพเลิศลบธาตรี | ไฉนจึ่งเสียทีแก่พาลา |
เมื่อพระพี่ยาก็มาม้วย | คือใครจะช่วยกนิษฐา |
หรือพ่อแกล้งพากันสองรา | หนีไปเมืองฟ้าสถาวร |
โอ้ว่าสมเด็จพระจักรแก้ว | ข้าบาทมาแล้วพระทรงศร |
จงลืมนัยน์เนตรภูธร | ดูพักตร์เมียก่อนให้คลายใจ |
เมื่อพระมาปลงชีวัน | น้องจะอยู่ไปนั้นกระไรได้ |
รํ่าพลางแสนโศกาลัย | สลบไปกับบาทพระจักรี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | นางตรีชาดายักษี |
เห็นองค์อัครราชเทวี | โศกีรักสองกษัตรา |
ซบพักตร์นิ่งไปกับเบื้องบาท | พระภัสดาธิราชนาถา |
ก็เข้าสวมกอดกัลยา | โศกาครวญครํ่ารํ่าไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าพระยอดเยาวมาลย์ | ทุกสถานใต้ฟ้าไม่หาได้ |
ทรงสิริเลิศล้ำอนงค์ใน | คู่องค์ท่านไทจักรพรรดิ |
ข้าบาทไร้ญาติแล้วจากผัว | แต่ตัวได้มาเกษมสวัสดิ์ |
มาได้พึ่งเบื้องบทรัตน์ | เย็นชื่นดั่งฉัตรอลงกรณ์ |
ฝ่ายพญาพิเภกซัดมา | ก็ได้พึ่งบาทาพระทรงศร |
ค่อยมีความสุขสถาวร | คลายร้อนร่มเกล้าเมาลี |
ซึ่งสองกษัตราการุญ | พระคุณลํ้าฟ้าราศี |
ควรหรือมาม้วยชีวี | หนีข้าน้อยไปยังเมืองฟ้า |
ทีนี้จะผินพักตร์ไปพึ่งใคร | ได้เหมือนอัคเรศเสน่หา |
รํ่าพลางแสนโศกโศกา | กัลยาเพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ค่อยคลายโศกาอาลัย | ก็ลูบไล้ทั่วองค์มารศรี |
อ่อนละมุนอุ่นอยู่ทั้งอินทรีย์ | ก็แจ้งว่าเทวีไม่วายปราณ |
จึ่งค่อยนวดฟั้นคั้นบาท | พระอัครราชผู้ยอดสงสาร |
ปลอบปลุกด้วยรสพจมาน | อ่อนหวานรำพันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระลักษมีเสน่หา |
แว่วเสียงนางตรีชาดา | ทั้งต้องนํ้าฟ้าเย็นใจ |
ค่อยได้สติวิญญาณ | เยาวมาลย์ฟื้นองค์ขึ้นมาได้ |
พิศพักตร์พระตรีภูวไนย | ยิ่งอาลัยเพิ่มพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางตรีชาดายักษี |
เห็นนางค่อยได้สมประดี | อสุรีจึ่งทูลกิจจา |
แม่จงระงับดับโศก | ซึ่งวิโยคเศร้าโทมนัสสา |
อันองค์สมเด็จพระภัสดา | ผ่านฟ้าไม่ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารครี |
ฟังตรีชาดาพาที | จึ่งมีเสาวนีย์ถามไป |
ซึ่งพระองค์ไม่สิ้นพระชนม์ | พี่รู้เหตุผลเป็นไฉน |
หรือว่าแต่พอให้คลายใจ | ข้ายังไม่เชื่อวาจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางตรีชาดายักษา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | กัลยาสนองพระวาที |
แม่อย่าคิดแหนงแคลงใจ | ข้าไม่กล่าวเท็จนะโฉมศรี |
อันบุษบกทรงองค์นี้ | มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ |
ดั่งหนึ่งจักรแก้วฤทธิรงค์ | ขององค์จักรพรรดิรังสรรค์ |
เป็นที่เสี่ยงทายสำคัญ | หญิงอันเป็นหม้ายภัสดา |
แม้นขี่ก็ไม่พาจร | ลอยร่อนขึ้นยังเวหา |
ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์อสุรา | แปลงเป็นเทวาขึ้นไป |
ปลอมชมนางอัปสรสวรรค์ | ช้านานหลายวันหามาไม่ |
มณโฑโศกาอาลัย | ตกใจว่าผัววายชนม์ |
นางเสี่ยงบุษบกแล้วทรงนั่ง | ก็เลื่อนลอยขึ้นยังโพยมหน |
เวียนรอบลงกามณฑล | ข้าเห็นเหตุผลประจักษ์ตา |
ประการหนึ่งอันองค์พระสามี | คือพระสี่กรนาถา |
ไวกูณฐ์มาปราบอสุรา | อันจะสิ้นชีวานั้นผิดไป |
พระองค์จงดำริดูก่อน | อย่าทุกข์ร้อนนักเลยหาควรไม่ |
ขอเชิญเสด็จอรไท | กลับไปที่อยู่ให้สำราญ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ฟังตรีชาดาแจ้งการ | เยาวมาลย์ค่อยสร่างสว่างใจ |
ยินดีดั่งท้าวโกสิต | เอาสุรามฤตมารดให้ |
จึ่งระงับดับโศกาลัย | อรไทนบนิ้วอัญชุลี |
ประคองขึ้นเพียงศิโรเพฐน์ | ไหว้ฝูงเทเวศทุกราศี |
ประกาศด้วยราชเสาวนีย์ | ครั้งนี้ขอเทพเทวา |
คือองค์บรมพรหมาน | ทั้งท้าวมัฆวานนาถา |
วิรูฬหกวิรูปักษ์ผู้ศักดา | เวสสุวันมหาทศรถ |
บรรดาฝูงเทพนิกร | อันเรืองฤทธิรอนดั่งเพลิงกรด |
ทั้งพฤกษเทวัญบรรพต | ทั่วทศทิศจงเมตตา |
ขอฝากสมเด็จพระหริรักษ์ | กับองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ช่วยรักษาสององค์กษัตรา | อย่าให้อันตรายราคี |
ครั้นเสร็จฝากสองสุริย์วงศ์ | จึ่งองค์สมเด็จพระลักษมี |
กราบบาทสมเด็จพระจักรี | แล้วมีเสาวนีย์อันสุนทร |
ค่อยอยู่เถิดทูลกระหม่อมแก้ว | เมียจะลาแล้วพระทรงศร |
เป็นกรรมจำจะจากจร | ว่าพลางบังอรก็โศกา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยระงับดับเทวษ | องค์อัคเรศเสน่หา |
พิศพักตร์สมเด็จพระภัสดา | กัลยาสะท้อนถอนใจ |
แล้วเหลือบแลดูพระลักษมณ์ | ความรักมิใคร่จากได้ |
อุตส่าห์ดำรงฤทัย | เสด็จไปจากองค์พระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงซึ่งบุษบกแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
นั่งลงเหนือพื้นดินดอน | บังอรนบนิ้วอัญชุลี |
แล้วจึ่งตั้งความสัตยา | เดชะข้าสีดามารศรี |
ซื่อตรงต่อองค์พระจักรี | มิได้ยินดีด้วยชายใด |
ขอฝูงท่านไทเทเวศ | ทุกประเทศธารท่าป่าใหญ่ |
พระธรณีอันทรงสัตย์ไว้ | จงช่วยให้เห็นประจักษ์ตา |
แม้ว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | พระองค์สิ้นชีพสังขาร |
จงบุษบกแก้วแววฟ้า | อย่าพาข้าขึ้นยังอัมพร |
ถ้าว่าพระตรีภูวไนย | ยังไม่สุดสิ้นพระชนม์ก่อน |
พระที่นั่งพรหเมศอลงกรณ์ | จงพาร่อนเร็วไปด้วยฤทธี |
เสี่ยงแล้วองค์อัครชายา | ชวนตรีชาดายักษี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | ขึ้นมณีบุษบกอลงการ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เสมอ
ปลิม
๏ บุษเอยบุษบกทิพย์ | ของท้าวสิบพักตร์ใจหาญ |
ก็เลื่อนลอยขึ้นในคัคนานต์ | ปานดั่งมีจิตมีใจ |
รัศมีโชติช่วงร่วงรุ้ง | พวยพุ่งเคียงแข่งแขไข |
กระจ่างจับผิวพักตร์อรไท | อำไพกลางดวงดารากร |
หันเหียนเวียนวงดั่งหงส์บิน | ทักษิณพระองค์ทรงศร |
สามรอบลอยลิบในอัมพร | เร็วร่อนไปสวนมาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด