- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | ขุนกระบี่พิศทั่วกายา |
เห็นรูปดาบสนั้นกลับกลาย | เป็นองค์นารายณ์นาถา |
ให้เศียรพองสยองโลมา | ด้วยกลัวเดชาพระทรงฤทธิ์ |
จึ่งนิ่งระลึกตรึกไป | ก็คิดได้ว่าตัวทำผิด |
อันกายอินทรีย์ชีวิต | ถึงพรหมลิขิตเข้าวันนี้ |
กรหนึ่งนั้นกุมพระแสงศร | กรหนึ่งประณตบทศรี |
ทูลว่าตัวข้าพาลี | โทษมีเหมือนดั่งพระบัญชา |
บุญน้อยไม่ได้ฉลองบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
ขอฝากสุครีพอนุชา | องคตลูกข้าพานร |
กับศรีหนุมานหลานรัก | ดารานงลักษณ์สายสมร |
แสนสนมโยธาประชากร | ภูธรจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสี่กรทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพญาพาลี | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
ดูกรเจ้ากรุงขีดขิน | ลูกอินทร์ผู้มีอัชฌาสัย |
ตัวเราก็คิดอาลัย | หวังว่าจะให้สถาวร |
จะขอโลหิตสักกึ่งหยาด | บูชาพรหมาสตร์แสงศร |
ล้างคำสาบานของพานร | ให้สิ้นโทษกรณ์ที่มีมา |
ตัวท่านจะได้เสวยสุข | แสนสนุกสำราญไปภายหน้า |
แต่แผลจะติดกายา | เท่าเส้นผมผ่าได้เจ็ดที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
จึ่งสนองบัญชาพระจักรี | ข้านี้ก็นับว่าเป็นชาย |
ประกอบยศศักดิ์สุริย์วงศ์ | เผ่าพงศ์อมรินทร์เรืองฉาย |
จะไว้แผลกับตัวนั้นกลัวอาย | เทวาทั้งหลายจะไยไพ |
กรรมแล้วก็สู้วายปราณ | จะให้อัประมาณกระไรได้ |
ขอบังคมลาภูวไนย | ไปยังสวรรค์ชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งลาพระสี่กร | วานรเศร้าโทมนัสสา |
จึ่งสั่งสุครีพอนุชา | พี่จะลาสิ้นชีพชนมาน |
เจ้าจะอยู่เป็นข้าพระทรงจักร | จงพิทักษ์รักษากันอาหลาน |
หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล | อย่าเกียจคร้านแต่ตามอำเภอใจ |
สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม | อย่าเบาความพิดทูลแต่โดยได้ |
อย่าแต่งตัวโอ่อวดพระทรงชัย | ที่ในพระโรงรัตนา |
หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย | อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา |
พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ | อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์ |
อันฝูงพระสนมนางใน | อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง |
จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ | อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา |
แขกเมืองอย่าบอกความลับ | อย่าสนิทคำนับคบหา |
อันรางวัลให้ปันเสนา | อย่ามีใจฉันทาทัดทาน |
แม้นกริ้วโกรธลงโทษผู้ใด | อย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ |
อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤงคาร | พระบรรหารสิ่งใดจงจำความ |
อาสาเจ้าตนจนตัวตาย | จึ่งนับว่าเป็นชายชาญสนาม |
เจ้าจงจำคำทำตาม | ก็จะจำเริญความสวัสดี |
สอนน้องสิ้นเสียงสิ้นสั่ง | สิ้นกำลังสิ้นฤทธิ์กระบี่ศรี |
วางศรให้ปักอินทรีย์ | สิ้นชีวีไปเกิดในวิมาน ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉาน |
เห็นพี่สิ้นชีพวายปราณ | สงสารกอดบาทรํ่าไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าพระองค์ผู้ทรงภพ | เลื่องชื่อลือลบแผ่นดินไหว |
รักน้องมิให้ข้องเคืองใจ | ภูวไนยบำรุงเลี้ยงมา |
พระคุณนั้นเหมือนบิตุเรศ | อันบังเกิดเกศเกศา |
ได้ยากลำบากเวทนา | เที่ยวอยู่ในป่าพนาดร |
จนได้ครองขีดขินธานี | ค่อยมีความสุขสโมสร |
เป็นเจ้าแก่หมู่วานร | พระเดชขจรทั้งไตรดาล |
ครั้งนี้มาเสียสัตยา | ด้วยดาราเยาวยอดสงสาร |
จึ่งต้องศรสมเด็จพระอวตาร | เพราะได้สาบานแต่ก่อนไว้ |
เสียแรงเป็นวงศ์เทวัญ | มาเสียธรรม์ด้วยหญิงหาควรไม่ |
รํ่าพลางสะท้อนถอนใจ | สะอื้นไห้เพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธากระบี่ศรี |
รู้ว่าพญาพาลี | ต่อตีกับองค์อนุชา |
มีมนุษย์มาช่วยสังหาร | ผลาญให้สิ้นชีพสังขาร์ |
ตกใจอื้ออึงทั้งพารา | แตกหนีเข้าป่าพนาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | เสนาวานรผู้ใหญ่ |
แจ้งเหตุก็ตระหนกตกใจ | รีบไปเฝ้าองค์นางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์อัคเรศมเหสี |
บัดนี้พระราชสามี | ไปต่อตีกับน้องบนอัมพร |
มีมนุษย์มาช่วยอุปราช | พระองค์สิ้นชีวาตม์ด้วยแสงศร |
กลิ้งอยู่กับพื้นดินดอน | อนาถนอนดั่งชาติสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางดาราเยาวยอดสงสาร |
ฟังข่าวเร่าร้อนคือเพลิงกาล | นงคราญเพียงสิ้นสมประดี |
ดั่งองค์พญามัจจุราช | มาพิฆาตตัดเกล้าเกศี |
แสนทุกข์สุดทุกข์พันทวี | ตีอกเข้ารํ่าโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ แล้วเรียกองคตขุนกบินทร์ | หลานอินทร์ผู้มียศถา |
อันเป็นบุตรเลี้ยงได้เลี้ยงมา | กับพานรินทร์ชมพูพาน |
ทั้งสามองค์ลงจากปราสาทแก้ว | อันเพริศแพร้วพรรณรายฉายฉาน |
พร้อมด้วยสนมบริวาร | เยาวมาลย์เสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
โอ้
๏ ครั้นถึงจึ่งวิ่งเข้ากอดบาท | พระสามีธิราชเรืองศรี |
ชลเนตรอาบพักตร์นางเทวี | แสนโศกโศกีรํ่าไร |
โอ้พระองค์ผู้วงศ์เทเวศร์ | เรืองเดชฟากฟ้าดินไหว |
เมื่อแรกจะออกชิงชัย | น้องนี้ก็ได้ทัดทาน |
ไม่ฟังวาจาข้าบาท | ประมาทว่าทรงกำลังหาญ |
ขืนออกไปต่อกรรอนราญ | ผ่านฟ้าจึ่งสิ้นชีวี |
กลิ้งอยู่ดูดั่งทรลักษณ์ | ใช่ศักดิ์สุริย์วงศ์โกสีย์ |
มาทิ้งเมียไว้ผู้เดียวนี้ | น่าที่จะกินแต่น้ำตา |
ชมพูพานองคตก็แสนเทวษ | โอ้พระบิตุเรศนาถา |
บำรุงเลี้ยงลูกทั้งสองมา | มิให้เคืองวิญญาณ์เท่ายองใย |
ซึ่งทรงพระเมตตาการุญ | จะได้ทดแทนคุณก็หาไม่ |
พระมาสวรรคาลัย | อนาถใจเป็นพ้นพันทวี |
ฝ่ายฝูงสนมกำนัล | ก็โศกาจาบัลย์อึงมี่ |
กลิ้งเกลือกเสือกไปไม่สมประดี | ที่ศพพญาพานร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
ครั้นคลายโศกาอาวรณ์ | จึ่งมีสุนทรวาจา |
ดูกรองคตชมพูพาน | สองหลานผู้ยอดเสน่หา |
อันพระบิตุรงค์ปลงชีวา | นัดดาอย่าได้น้อยใจ |
อาจะเล่าความหลังเมื่อครั้งก่อน | ภูธรหาอยู่ในสัตย์ไม่ |
องค์พระเป็นเจ้าภพไตร | ภูวไนยประทานนางเทวี |
เป็นบำเหน็จอาผู้เหนื่อยพักตร์ | ซึ่งฉุดชักพระเมรุคีรีศรี |
เมื่อพระจะรับนางมานี้ | ภูมีได้ถวายสาบาน |
แม้นว่ามิให้แก่น้องชาย | ให้ศรพระนารายณ์สังหาร |
โทษนี้ใหญ่หลวงพ้นประมาณ | ช้านานครั้งดึกดำบรรพ์ |
ถ้ามิเชื่อคำเราเจรจา | จงถามนางดาราสาวสวรรค์ |
บัดนี้พระองค์ทรงสุบรรณ | ท่านนั้นอวตารลงมา |
ทรงนามพระรามสุริย์วงศ์ | จะไปล้างเผ่าพงศ์ยักษา |
จึ่งต้องศรสังหารชีวา | ตามคำสัญญาพาลี |
ฟังอาว่าเถิดนะหลานเอ๋ย | อย่าโศกนักเลยกระบี่ศรี |
จะพาเจ้าไปเฝ้าพระจักรี | จะได้เป็นที่พึ่งสืบไป ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกระบี่ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | บังคมไหว้สนองบัญชา |
พระองค์ก็เหมือนบิตุเรศ | อันก่อเกศเกิดเกล้าเกศา |
สิ่งใดมิให้เคืองบาทา | ตามแต่พระอาจะปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระทินกรเรืองศรี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | ก็พาสองกระบี่บทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกราบลงกับบาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ทูลว่าสองราชพานร | นามกรองคตชมพูพาน |
ลูกตัวลูกเลี้ยงพาลี | ทั้งสองกระบี่นี้เป็นหลาน |
ขอถวายใต้เบื้องบทมาลย์ | ผ่านฟ้าจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งทอดทัศนา | ดูพักตราทั้งสองวานร |
ท่วงทีกิริยาองอาจ | ดั่งลูกราชไกรสร |
องคตนั้นคล้ายกับบิดร | ภูธรชื่นชมยินดี |
แล้วมีบัญชาประกาศิต | แก่ลูกพระอาทิตย์เรืองศรี |
พี่ท่านซึ่งม้วยชีวี | ที่จะไว้ช้าไม่ต้องการ |
เราคิดจะช่วยปลงศพ | ตามขนบกษัตรามหาศาล |
โดยประเวณีบุราณ | ตัวท่านจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรกราบบาทแล้วทูลไป | ตามแต่ภูวไนยจะเมตตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
จับจันทวาทิตย์อันศักดา | ผ่านฟ้าก็แผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | กัมปนาทสนั่นถึงดุสิต |
เกิดเป็นเมรุแก้วชวลิต | พิศเพียงวิมานดุษฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ชมพูพานองคตผู้ฤทธี | ก้มเกล้าอัญชุลีพระสี่กร |
จึ่งยกศพใส่โกศแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
เชิญเข้าพระเมรุบวร | เสร็จแล้ววานรก็ออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวไนยนาถา |
ทรงอัคนิวาตอันศักดา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ โชติช่วงดั่งดวงสุริยัน | พสุธาเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
บันดาลเกิดเป็นเปลวไฟ | ติดเข้ายังในเชิงตะกอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์ชาญสมร |
ทั้งนางดาราบังอร | กับวานรองคตชมพูพาน |
ต่างถือธูปเทียนบุปผา | จวงจันทน์กฤษณาหอมหวาน |
พร้อมทั้งแสนสนมบริวาร | เข้าพระเมรุสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าลงเคารพ | สมาศพพญากระบี่ศรี |
เสร็จแล้วก็จุดอัคคี | ต่างทรงโศกีรำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปี่กลอง
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
เห็นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์ไม่มีควัน | สังหารศพนั้นเป็นจุณไป |
พระองค์จึ่งทรงพลายวาต | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
แผลงสนั่นฟากฟ้าสุราลัย | ด้วยฤทธิไกรพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บันดาลเป็นฝนตกลง | ดับเพลิงซึ่งปลงกระบี่ศรี |
แล้วพัดพาถ่านเถ้าธุลี | ไปยังนทีไม่พริบตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ครั้นเสร็จปลงศพพระพี่ยา | ปรีดาน้อมเศียรบังคมคัล |
ทูลว่าตัวข้าได้พึ่งบาท | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
หาไม่จะม้วยชีวัน | พระคุณนั้นลํ้าฟ้าสุธาธาร |
ขอถวายซึ่งราชธานี | ทั้งหมู่กระบี่ทวยหาญ |
แสนสนมสมบัติอันโอฬาร | ไว้ใต้บทมาลย์พระสี่กร |
เชิญเสด็จเข้าเหยียบเวียงชัย | ไพร่พลจะได้สโมสร |
เป็นที่ศรีสวัสดิ์สถาวร | ภูธรจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ |
จึ่งตรัสแก่องค์พระลักษมณ์ | เราจักเข้าไปบุรีศรี |
ว่าแล้วเสด็จจรลี | ออกจากที่ร่มพระไทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ สุครีพองคตชมพูพาน | สาวสนมบริวารน้อยใหญ่ |
พรั่งพร้อมตามเสด็จภูวไนย | อำไพดั่งดวงดารากร |
ห้อมล้อมพระจันทร์ในอากาศ | โอภาสจำรัสประภัสสร |
งามสิริวิลาสบทจร | ภูธรเสด็จตามกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
นำสองกษัตริย์จรจรัล | ถึงทวารเขตขัณฑ์ธานี |
จึ่งยอกรประณตบทบาท | ทูลพระภูวนาถเรืองศรี |
ขอเชิญเสด็จจรลี | เข้าบุรีขีดขินภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชมตลาด
๏ เมื่อนั้น | พระนรินทร์ปิ่นภพนาถา |
เดินพลางทางทอดทัศนา | ชมเมืองพญาพาลี |
กำแพงงามเพียงสัตภัณฑ์ | คูกั้นเขื่อนแก้วสลับสี |
นางเรียงงามรอบพระบุรี | เชิงเทินที่ปักธงมังกรทอง |
พิศซุ้มงามทรงสูงตระหง่าน | พิศทวารในทวีปไม่มีสอง |
พิศป้อมงามปืนประจำซอง | ระยะช่องงามฉัตรจรงราย |
พิศถนนงามแนวศีลาลาด | พิศปราสาทงามประเสริฐเฉิดฉาย |
พิศพรหมงามพริ้มดั่งยิ้มพราย | พิศบันงามคล้ายสุบรรณบิน |
พิศมุขสี่มุขก็งามหมด | อลงกตด้วยแก้วมุกดาสิ้น |
แสนสนุกดั่งวิมานเมืองอินทร์ | พระทรงศิลป์เพ่งพิศไม่วางตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
นำพระหริรักษ์จักรา | มาถึงพระนิเวศน์วังจันทน์ |
น้อมเศียรกราบทูลด้วยใจภักดิ์ | ขอเชิญพระทรงจักรรังสรรค์ |
ขึ้นปราสาทแก้วแพร้วพรรณ | อันเป็นนิเวศน์พาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
กับองค์อนุชาร่วมชีวี | ขึ้นปราสาทมณีโอฬาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยดวงมุกดาหาร |
งามทรงดั่งองค์มัฆวาน | อยู่ในวิมานเวไชยันต์ |
พร้อมนางนักสนมพาลี | เสนีวานรหลายหลั่น |
หมอบกลาดดาษเฝ้าบังคมคัล | ดั่งพระจันทร์อยู่กลางดารา |
จึ่งมอบสมบัติพัสถาน | แสนสนมบริวารซ้ายขวา |
ให้แก่สุครีพผู้ศักดา | ซึ่งเป็นอนุชาพาลี |
อันนางดารานงลักษณ์ | เป็นอัคเรศมเหสี |
ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี | ในบุรีขีดขินอันโอฬาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
เป็นเจ้านคราสุธาธาร | มโหฬารจรรโลงเลิศไกร |
ชื่นชมด้วยสมความคิด | สำราญจิตไม่มีที่เปรียบได้ |
ขุนกระบี่ดำริตริไป | ในคุณสมเด็จพระสี่กร |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าลงกราบทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
อันพวกพลโยธาวานร | ซอกซอนหนีเข้าพนาลี |
ขอพระองค์จงทรงพระเมตตา | แก่ข้าผู้รองบทศรี |
งดอยู่สักเจ็ดราตรี | ในบุรีขีดขินภิรมยา |
ข้าบาทจะเกณฑ์กองทัพ | ให้พร้อมสรรพทวยหาญซ้ายขวา |
จึ่งยกไปปราบอสุรา | ในทวีปลงกากรุงมาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศศาล |
ฟังพญาสุครีพกำหนดการ | จึ่งมีบรรหารตอบไป |
ซึ่งจะให้ตัวเรางดท่า | อยู่ในพาราหาควรไม่ |
ที่ไหนชัยภูมิสำราญใจ | ไม่ใกล้ไม่ไกลกับธานี |
ตัวเราจะไปหยุดพัก | สำนักคอยท่ากระบี่ศรี |
ท่านจงเร่งเกณฑ์โยธี | ในเจ็ดราตรีให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระทินกรรังสรรค์ |
ได้ฟังโองการพระทรงธรรม์ | บังคมคัลสนองพระบัญชา |
เขาหนึ่งมีนามคันธมาทน์ | รุกขชาติหอมสิ้นทั้งภูผา |
ถิ่นฐานสะอ้านสะอาดตา | เป็นมหาชัยภูมิสถาวร |
ขอเชิญเสด็จไปอาศัย | สำราญพระทัยที่นั้นก่อน |
ข้าจึ่งจะยกพลากร | ไปตามบทจรพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังโสมนัสยินดี | จึ่งชวนพระศรีอนุชา |
เสด็จจากปราสาทอลงการ | ดั่งสุริย์ฉานลอยเลื่อนเวหา |
สององค์นวยนาดยาตรา | ออกจากพาราวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เดินทางมาหว่างบรรพต | เลี้ยวลดตามเชิงสิงขร |
ข้ามห้วยเหวผาพนาดร | ภูธรเหลือบแลแปรไป |
จึ่งเห็นพญายูงทอง | เยื้องย่องตามเนินเขาใหญ่ |
ปีกหางรจนาอำไพ | แววไวเลื่อมลายพรายตา |
ส่งเสียงร้องเรื่อยเฉื่อยฉ่ำ | ฟ้อนรำเล่นตามภาษา |
ชี้บอกพระศรีอนุชา | จงดูมยุราวิลาวัณย์ |
รูปร่างงามอย่างพญาหงส์ | ทรวดทรงสีกายฉายฉัน |
ชมพลางทางรีบจรจรัล | ตามกันไปในพนาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พญามยุเรศปักษี |
เห็นองค์พระลักษมณ์พระจักรี | พี่น้องมาในพนาดร |
จึ่งร้องทูลแจ้งยุบลเหตุ | ว่าอัคเรศสีดาดวงสมร |
ทศพักตร์มันลักบังอร | ไปยังนครลงกา |
สั่งไว้ให้พระองค์ไปตาม | ทำการสงครามด้วยยักษา |
นางจะครองกายครองชีวา | ไว้ท่าสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังพญาสกุณี | พาทีบอกข่าวเยาวมาลย์ |
แสนทุกข์แสนคะนึงถึงนงลักษณ์ | พระทรงจักรแสนโศกสงสาร |
ทั้งพระอนุชาชัยชาญ | ปานดั่งจะสิ้นชีวัน |
ชลนัยน์ไหลนองคลอเนตร | ต่างแสนเทวษกันแสงศัลย์ |
ปรับทุกข์กันพลางทางจรจรัล | ไปในอรัญหิมวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | จึ่งฝูงคณาวานรป่า |
เห็นสองกษัตริย์เสด็จมา | พักตราเศร้าสร้อยละห้อยใจ |
ต่างตนมีจิตพิศวง | ครั้นสองพระองค์เข้ามาใกล้ |
จึ่งชูภูษาผ้าสไบ | ขึ้นไว้แล้วกล่าวสุนทร |
ผ้านี้นางฝากไว้ถวาย | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ให้พระองค์รีบตามไปราญรอน | ตัดเศียรตัดกรทศกัณฐ์ |
นางจะครองชีวิตไว้ท่า | แม้นช้าจะม้วยอาสัญ |
บัดนี้อสุรกุมภัณฑ์ | มันไปข้างทิศหรดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
รับผ้าสไบของเทวี | ภูมีประทับกับอุรา |
หอมหวนกลิ่นองค์เยาวมาลย์ | เสาวคนธ์ซาบซ่านนาสา |
ยิ่งคะนึงถึงโฉมวนิดา | ชลนาคลอเนตรแล้วถอนใจ |
โอ้ว่าเจ้าดวงชีวิต | ซื่อสัตย์สุจริตไม่หาได้ |
เมื่อแรกจะจากเวียงชัย | ใครจะห้ามเท่าไรไม่ไยดี |
กตัญญูสู้มาเป็นเพื่อนยาก | แสนลำบากในป่าด้วยพี่ |
สามองค์กับพระลักษมณ์ร่วมชีวี | ควรหรือมารศรีมาพลัดกัน |
ป่านนี้จะฟายชลเนตร | พูนเทวษวิโยคโศกศัลย์ |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะตามทัน | สารพันแสนยากลำบากใจ |
ซึ่งพี่ติดตามเยาวมาลย์ | ใครจะนำข่าวสารไปแจ้งได้ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | ภูวไนยทรุดองค์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวตรีเนตรเรืองศรี |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ในที่มหาเวไชยันต์ |
พร้อมด้วยฝูงเทพบริวาร | อัปสรนงคราญสาวสวรรค์ |
ให้เดือดร้อนพระทัยดั่งไฟกัลป์ | บันดาลเสื่อมสุขสถาวร |
จึงเล็งดูด้วยทิพเนตร | ก็เห็นพระนเรศทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | บทจรมาตามนางสีดา |
บัดนี้จะเสด็จไปอาศัย | อยู่ในคันธมาทน์ภูผา |
ประชุมวานรโยธา | ไปปราบอสุราสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ก็ชื่นชมด้วยสมอารมณ์คิด | จึงมีประกาศิตบรรหาร |
แก่วิษณุกรรม์ปรีชาชาญ | ตัวท่านผู้เรืองฤทธี |
จงเอามงกุฎภูษาทรง | สังวาลทิพธำมรงค์จำรัสศรี |
ไปถวายพระลักษมณ์พระจักรี | ในที่คันธมาทน์บรรพต |
แล้วจงนิมิตพลับพลาชัย | ให้อำไพด้วยแก้วอลงกต |
สองพระองค์จะได้ลาพรต | อาศัยชุมทศโยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระวิษณุกรรมแกล้วกล้า |
ฟังเทวราชบัญชา | มีใจปรีดาสถาวร |
จึงรับเอาเครื่องทิพแลภูษิต | มงกุฎแก้วชวลิตประภัสสร |
นบนิ้วดุษฎีชุลีกร | สำแดงฤทธิรอนเหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสิงขรคันธมาทน์ | เทวราชเพ่งพิศทุกทิศา |
จึงนิมิตสุวรรณพลับพลา | ที่มหาชัยภูมิสวัสดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วจารึกอักษร | วางเครื่องอาภรณ์จำรัสศรี |
ไว้ในห้องแก้วรูจี | แล้วกลับไปยังที่วิมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
กับพระอนุชาชัยชาญ | ผ่านฟ้าค่อยคลายอาวรณ์ |
สองกษัตริย์พากันยุรยาตร | งามวิลาสอาจองดั่งไกรสร |
เสด็จโดยมรคาพนาดร | ข้ามสิงขรห้วยธารผ่านมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอชายบ่ายแสงสุริยัน | ก็ถึงคันธมาทน์ภูผา |
เขานั้นใหญ่หลวงสะอาดตา | โอฬาร์ล้วนแก้วเก้าประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ พระเที่ยวชมพู่พวงดวงแก้ว | วาวแววเหลือบเลื่อมมุกดาหาร |
ไพฑูรย์จำรัสสายสังวาล | แก้วประพาฬมรกตแกมกัน |
เพชรแดงแสงระยับจับนิล | โกมินแก้วลายฉายฉัน |
ทับทิมศีลาทองพรายพรรณ | เป็นช่องชั้นวุ้งเวิ้งจำเริญตา |
รุกขชาติล้วนพรรณไม้หอม | กลิ่นตลบทั้งจอมภูผา |
หมู่ภมรร่อนเคล้าดวงผกา | พระพายพาคันธรสรวยริน |
มีทั้งนํ้าพุดุดั้น | ไหลลั่นลงธารกระแสสินธุ์ |
ดั่งนันทวันในชั้นอินทร์ | พระถวิลถึงองค์บังอร |
เจ้ามาด้วยจะได้เชยชม | สำราญรื่นภิรมย์สโมสร |
ด้วยบุปผชาติบานดาษอรชร | จะวอนให้เด็ดดวงผกากาญจน์ |
นิจจาเอ๋ยใครจะเป็นเพื่อนเจ้า | ยุพเยาว์พี่ยอดสงสาร |
ครวญพลางพลางชมสุมามาลย์ | ผ่านฟ้าเสด็จดำเนินไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
๏ เหลือบเห็นสุวรรณพลับพลา | ที่เงื้อมผาใต้ร่มรังใหญ่ |
รจนาด้วยแก้วแววไว | ก็เสด็จเข้าไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงแลเห็นบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสพรรณรายจำรัสศรี |
ทั้งเครื่องต้นเครื่องทรงรูจี | ในที่ห้องแก้วอลงกรณ์ |
แล้วพระเหลือบเล็งเพ่งพิศ | เห็นลายลิขิตอักษร |
ไว้ในใบบานบัญชร | ภูธรทรงอ่านสารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ ในลักษณ์นั้นว่าอมรินทร์ | เป็นปิ่นแดนดาวดึงสา |
แจ้งว่านารายณ์เสด็จมา | จะไปล้างพาลาอาธรรม์ |
ปางนี้เป็นไตรดายุค | โลกาจะได้สุขเกษมสันต์ |
จึงให้พระวิษณุกรรม์ | มานิมิตสุวรรณพลับพลา |
ทั้งทิพอาภรณ์แลภูษิต | ถวายพระจักรกฤษณ์นาถา |
ให้พระองค์ลาพรตจรรยา | ประชุมโยธาพานร |
ที่ในชัยภูมิสวัสดี | อันมีคันธมาทน์สิงขร |
เสร็จแล้วจึ่งยกพลากร | ไปราญรอนพาลาปัจจามิตร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นอ่านเสร็จสิ้นในลายลักษณ์ | รู้ประจักษ์ว่าท้าวโกสิต |
ชื่นชมด้วยสมพระทัยคิด | ทรงฤทธิ์ตรัสบอกอนุชา |
อันซึ่งสุวรรณพลับพลานี้ | ขององค์ตรีเนตรนาถา |
นิมิตไว้ให้เราทั้งสองรา | อาศัยประชุมพลากร |
บัดนี้ลำบากกายนัก | เหนื่อยพักตร์ด้วยเดินไม่หยุดหย่อน |
มาจะไปสระสรงสาคร | ว่าแล้วกรายกรจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
พระทอง
๏ สองกษัตริย์ลงสรงในลำธาร | ท่าสนานแทบเนินคีรีศรี |
นํ้าสะอ้านใสสะอาดไม่ราคี | ดั่งไพฑูรย์ที่สมุทรไท |
มีหมู่ปทุมมาห้าประการ | ฝักแกมแนมก้านบานไสว |
บ้างพึ่งตูมชูตั้งบังใบ | บ้างแย้มท่าอุทัยทินกร |
พระลักษมณ์จึ่งเด็ดดวงสุบงกช | อันบานสดคลี่สร้อยเกสร |
ถวายพระนารายณ์ฤทธิรอน | ขจรรื่นเสาวรสเรณู |
ฝูงปลาเล็มไคลว่ายคลํ่า | บ้างพ่นนํ้าเคียงแนบแอบคู่ |
บ้างลอยล่องท่องเล่นสินธู | เป็นหมู่หมู่กันมาในท้องธาร |
อันเกสรโกสุมปทุมมาศ | หล่นกลาดรวยกลิ่นหอมหวาน |
แสนสนุกดั่งสระนันท์โนทยาน | สองสำเริงสรงสำราญอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จชำระสระสรง | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
เสด็จขึ้นจากธารวารี | มาที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์เปลื้องเครื่องดาบส | ลาพรตจากเพศชีป่า |
ทรงเครื่องสำหรับกษัตรา | รจนาด้วยทิพอาภรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยาอัสดง | ลดลงลับเหลี่ยมสิงขร |
สิ้นแสงรังสีรวีวร | จันทรลอยเลื่อนเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้าปี่
๏ เอนองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | พระสี่หัตถ์เศร้าโทมนัสสา |
พระพายรำเพยพัดมา | หอมกลิ่นภูษาบังอร |
ยิ่งคิดอาดูรพูนเทวษ | ถึงองค์อัคเรศดวงสมร |
ชลเนตรคลอเนตรภูธร | อาวรณ์โศกศัลย์พันทวี |
โอ้อนิจจาสีดาเอ๋ย | ทรามเชยผู้มิ่งมารศรี |
ป่านนี้จะแสนโศกี | ด้วยพี่เป็นนิจนิรันดร์ |
เสียแรงซึ่งได้อวตาร | จะมาล้างหมู่มารโมหันธ์ |
ควรหรือเสียกลแก่กุมภัณฑ์ | เสียดวงชีวันของพี่ไป |
คิดคิดจะใคร่ฆ่าตัวตาย | เสียดายยังไม่แก้แค้นได้ |
รํ่าพลางสะอื้นอาลัย | ภูวไนยมิได้นิทรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
เห็นองค์สมเด็จพระพี่ยา | โศกาไม่เป็นสมประดี |
จึงน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชเรืองศรี |
พระองค์จงได้ปรานี | อย่าโศกเศร้าโศกีจาบัลย์ |
อันพระพี่สีดายุพาพักตร์ | คือพระลักษมีสาวสวรรค์ |
เป็นมารดาอัปสรเทวัญ | ดั่งดวงมณีอันอำไพ |
มาตรแม้นตกพื้นแผ่นดิน | จะมีมลทินนั้นหาไม่ |
ถึงว่าอสุรามันพาไป | ก็นัยจะกลับคืนมา |
เป็นเหตุทั้งนี้เพราะพวกพาล | จะวายปราณสิ้นโคตรยักษา |
พระองค์จงดับโศกา | ตรึกตราที่จะไปราญรอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องรักว่าวอน | ภูธรคืนได้สมประดี |
จึงมีมธุรสวาจา | แก่พระอนุชาเรืองศรี |
เจ้าผู้ร่วมยากร่วมชีวี | ว่านี้ก็ชอบทุกประการ |
มิใช่ตัวพี่ไม่คิดได้ | แต่สุดใจด้วยความสงสาร |
นางเดียวตกไปในมือมาร | จะชอกชํ้ารำคาญทุกนาที |
จะเหลียวหน้าหาใครก็ไม่เห็น | จะเป็นเพื่อนร้อนมารศรี |
อาลัยเพิ่มพ้นพันทวี | พี่จึ่งโศกาจาบัลย์ |
บัดนี้จะประชุมวานร | คอยลูกพระทินกรรังสรรค์ |
กำหนดไว้ในเจ็ดวัน | เพื่อนนั้นก็ยังไม่มา |
พ่ออย่าเห็นแก่เหนื่อยยาก | ว่าลำบากองค์ขนิษฐา |
จงไปขีดขินพารา | หาพญาสุครีพมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
น้อมเศียรรับสั่งด้วยยินดี | ชุลีลาองค์พระทรงยศ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ก็เสด็จรีบเร่งบทจร | งามดั่งศศิธรทรงกลด |
ข้ามธารผ่านเนินบรรพต | กำหนดมาตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงขีดขินเวียงชัย | พออุทัยเรืองแรงแสงกล้า |
เสด็จเข้าไปในทวารา | มาหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
สถิตเหนือแท่นรัตนมณี | ยังที่ประชุมวานร |
เห็นน้องพระหริวงศ์ทรงยศ | ลาพรตจากเครื่องประภัสสร |
สง่างามดั่งดวงศศิธร | ก็บทจรไปรับด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | กราบลงแทบบาทซ้ายขวา |
ทูลเชิญเสด็จพระอนุชา | ขึ้นแท่นรัตนาอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
เสด็จเหนืออาสน์แก้วแววไว | ในกลางเสนาพานรินทร์ |
จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูกรเจ้ากรุงขีดขิน |
ท่านได้ครอบครองแผ่นดิน | ขุนกบินทร์ลืมคำสัญญา |
ไฉนไม่พาพลไปถวาย | องค์พระนารายณ์นาถา |
กริ้วโกรธโปรดใช้ให้เรามา | หาท่านออกไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ฟังน้องสมเด็จพระจักรี | มีความตระหนกตกใจ |
ทูลว่าตัวข้าผู้รองบาท | จะประมาทพระคุณนั้นหาไม่ |
แต่หากพหลพลไกร | แตกตื่นหนีไปทุกตำบล |
อันซึ่งจะเกณฑ์กันเข้ามา | ให้ทันบัญชานั้นขัดสน |
พระองค์จงทูลพระภุชพล | งดข้าจนสิ้นราตรี |
พรุ่งนี้จะออกไปเฝ้า | ยังเขาคันธมาทน์คีรีศรี |
มิให้เคืองเบื้องบาทพระจักรี | ภูมีจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
จึ่งตรัสแก่ลูกพระสุริยา | ท่านว่านี้จริงทุกสิ่งอัน |
ฝ่ายเราจะกลับไปกราบทูล | นเรนทร์สูรธิราชรังสรรค์ |
แต่อย่าให้คลาดกำหนดวัน | ตรัสแล้วทรงธรรม์เสด็จจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทด้วยใจสโมสร |
กราบทูลสมเด็จพระสี่กร | ตามคำพานรทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งสั่งองคตชมพูพาน | สองหลานผู้ร่วมฤทัย |
เจ้าจงเร่งเกณฑ์โยธา | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
ตรวจตรากันให้พร้อมไว้ | อาจะไปหาศรีหนุมาน |
สั่งแล้วแต่งองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมุกดาหาร |
จับพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | ถีบทะยานขึ้นบนเมฆา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงป่ากัทลีวัน | ระเห็จหันลงจากเวหา |
นั่งใกล้วายุบุตรนัดดา | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
บัดนี้พระนารายณ์สุริย์วงศ์ | พระองค์ทรงแผลงธนูศร |
สังหารพาลีฤทธิรอน | ภูธรสุดสิ้นชีวัน |
ตรัสสั่งให้เกณฑ์โยธา | แสนสุรเสนาทัพขันธ์ |
ในเจ็ดราตรีจงพร้อมกัน | ทรงธรรม์จะรีบไปราวี |
อันหมู่ไพร่พลของเรา | หนีเข้าเถื่อนถํ้าคีรีศรี |
จะเกณฑ์กันไม่ทันท่วงที | ภูมีจะเคืองวิญญาณ์ |
น้าจะพาเจ้าไปฉลองบาท | พระนารายณ์ธิราชนาถา |
กว่าจะได้พวกพลโยธา | นัดดาจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังจึ่งตอบคำไป | ด้วยใจจงรักภักดี |
ทั้งนี้สุดแต่ควรการ | ตัวหลานไม่ขัดบทศรี |
ว่าแล้วสำแดงฤทธี | สองกระบี่ก็พากันเหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด