- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวโคดมเรืองศรี |
ผ่านกรุงสาเกดธานี | ไม่มีธิดาแลโอรส |
คิดเหนื่อยหน่ายใจในสมบัติ | สลัดไปบวชเป็นดาบส |
บำเพ็ญภาวนาจําเริญพรต | กำหนดสองพันปีมา |
จนหนวดนั้นยาวดั่งหญ้ารก | ปกทรวงพระอาจารย์ฌานกล้า |
หลับเนตรสำรวมวิญญาณ์ | ตามเพศชีป่าซึ่งเรียนรู้ ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนกกระจาบไพรทั้งคู่ |
เห็นหนวดดาบสสยุมภู | จึ่งมาทำรังอยู่ทุกปี |
จนนางนกนั้นคลอดไข่ | ฟักฟองในหนวดพระฤๅษี |
เมื่อเหตุจะบังเกิดมี | สกุณีจึ่งว่าแก่ภรรยา |
ตัวเจ้าจงอยู่ฟักฟอง | ปกป้องพิทักษ์รักษา |
พี่จะเที่ยวไปหาเหยื่อมา | ว่าแล้วสกุณาก็บินไป ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ แผละ
๏ ครั้นมาถึงป่าหิมพานต์ | เห็นสระปทุมมาลย์กว้างใหญ่ |
มีดอกบัวบานตระการใจ | ก็โผลงในดวงบุษบง |
เสียดไซ้เกสรขจรกลิ่น | จิกกินเพลินใจใหลหลง |
จนเพลาเย็นย่ำค่ำลง | บุษบงกลัดกลีบหุ้มไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | สุริยาเยี่ยมยอดเหลี่ยมไศล |
ดอกบัวบานรับอโณทัย | ดีใจก็บินไปสู่รัง ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นางนกเห็นผัวก็คลุ้มคลั่ง |
จึ่งว่าด้วยความโกรธเป็นกำลัง | ชั่งไปไหนมาป่านนี้ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | นกผู้จึ่งบอกนางปักษี |
ตัวข้าค้างอยูในมาลี | เล่าความถ้วนถี่แต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางนกได้ฟังผัวว่า |
ผินหลังแล้วตอบวาจา | ใช่ว่าตัวข้าไม่เข้าใจ |
ไปคบชู้สู่สมภิรมย์รัก | อย่าพักมาแต่งแก้ไข |
ดอกบัวที่ไหนจะกลัดไว้ | เจ้าอย่าใส่ไคล้พาที ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | นกผู้จึ่งตอบนางปักษี |
จะแค้นเคียดเสียดแทงไปไยมี | มิเชื่อพี่จะให้สัจจา |
ถ้านอกใจให้บาปพระดาบส | ผู้ทรงพรตนี้ได้แก่ข้า |
ความจริงค้างอยู่ในมาลา | จึ่งกลับมาต่อรุ่งสุริยัน ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระโคดมอาจารย์ฌานขยัน |
ฟังนกเจรจาสาบานกัน | ให้คิดอัศจรรย์จึงถามมา |
ดูกรนกน้อยตัวผู้ | มาทํารังอยู่แล้วมิสา |
เป็นเหตุไฉนสกุณา | สบถให้ภรรยาเชื่อใจ |
กูสร้างพรตกำหนดปีสองพัน | บาปนั้นจะมีข้อไหน |
ซึ่งเอ็งจะรับเอาบาปไป | กูทำอย่างไรสกุณี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | นกกระจาบตอบคำพระฤๅษี |
พระองค์เป็นกษัตริย์ธิบดี | ยังไม่มีโอรสแลธิดา |
ละสมบัติออกมาทรงพรต | บวชเป็นดาบสอยู่ในป่า |
ให้ขาดวงศ์กษัตริย์ขัตติยา | ซึ่งจะครองพาราสืบไป |
อันบาปกรรมของพระมุนี | ข้อนี้จะเป็นโทษใหญ่ |
ข้าสาบานตัวด้วยกลัวภัย | จงตรึกไตรดูเถิดพระนักพรต ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาดาบส |
ได้ฟังดั่งอมฤตรส | เห็นจริงด้วยหมดทุกสิ่งไป |
อย่าเลยกูจะตั้งพิธี | กองกูณฑ์อาหุดีโดยไสย |
ให้เกิดเป็นนางขึ้นกลางไฟ | เลี้ยงไว้สู่สมภิรมยา |
คิดแล้วชําระหนวดเครา | สะสางเศียรเกล้าเกศา |
ครั้นเสร็จก็เดินออกมา | ยังหน้าอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เสมอ
๏ จึ่งตั้งกองกูณฑ์บูชาไฟ | โดยไสยเวทเรืองศรี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | พระมุนีก็บริกรรมไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนคำรบครบพัน | พสุธาเลื่อนลั่นสนั่นไหว |
บังเกิดเป็นนางขึ้นกลางไฟ | แน่งน้อยวิไลทั้งกายา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ งามล้ำนางเทพอัปสร | อรชรอ้อนแอ้นดั่งเลขา |
โฉมเฉลาเยาวลักษณ์จําเริญตา | คล้ายพระอุมาเทวี |
จึ่งให้นามนาฏนุชนงคราญ | ชื่อกาลอัจนามารศรี |
พระดาบสออกจากพิธี | ด้วยความยินดีพ้นคิด |
ร่วมรักสมัครสโมสร | สถาวรเบิกบานสำราญจิต |
คลึงเคล้าเย้ายวนชวนชิด | แสนสนิทพิศวาสไม่คลาดคลาย ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัจนาโฉมฉาย |
สมสู่อยู่สุขสนุกสบาย | ช้านานได้หลายเดือนมา |
พิศวงปลงรักพระนักธรรม์ | จนครรภ์ถ้วนทศมาสา |
ครั้นได้ฤกษ์ยามเวลา | กัลยาก็คลอดบุตรี |
ให้ชื่อสวาหะนงคราญ | งามปานนางฟ้าในราศี |
องค์พระชนกชนนี | ประโลมเลี้ยงเทวีทุกเวลา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระโคดมดาบสพรตกล้า |
ครั้นเช้าจะเข้าอรัญวา | ก็สั่งนางอัจนาเมียรัก |
ค่อยอยู่เลี้ยงลูกแต่ในห้อง | จะประคองต้องถืออย่ามือหนัก |
จะไปหาผลไม้ไม่ช้านัก | ได้แล้วจักกลับคืนมา |
สั่งเสร็จจึ่งองค์พระอาจารย์ | จับสาแหรกขอคานขึ้นพาดบ่า |
ออกจากพระบรรณศาลา | บ่ายหน้าเข้าไปในไพรวัน ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
แจ้งว่านนทุกชาญฉกรรจ์ | ไปเกิดเป็นกุมภัณฑ์ในลงกา |
บุตรท้าวลัสเตียนพรหเมศ | เรืองเดชฤทธิ์แรงแข็งกล้า |
ชื่อว่าทศเศียรอสุรา | จะเบียดเบียนโลกาธาตรี |
พระนารายณ์จะต้องอวตาร | ไปสังหารอาธรรม์ยักษี |
จำกูจะแบ่งฤทธี | ทั้งกำลังอินทรีย์ลงไป |
เป็นทหารคอยองค์พระทรงศรี | จะได้ช่วยราญรอนศึกใหญ่ |
อันผัวนางอัจนาทรามวัย | บัดนี้ออกไปพนาลี |
ตัวกูจะลงไปหา | สัมผัสกายานางโฉมศรี |
ให้เกิดกําหนัดยินดี | ก็จะมีโอรสอันศักดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วทรงทิพย์อาภรณ์ | อลงกรณ์โชติช่วงพระเวหา |
ออกจากสถานวิมานฟ้า | เหาะรีบลงมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ กล่อม
๏ ครั้นถึงพระบรรณศาลา | เห็นนางอัจนาโฉมศรี |
นั่งร้อยสร้อยสนมาลี | ก็เข้าไปยังที่กัลยา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
ชาตรี
๏ จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรเยาวยอดเสน่หา |
พี่จำนงจงถวิลจินดา | แก้วตาผู้ดวงฤทัย |
แสนพิศวาสองค์นงลักษณ์ | จึ่งหักมาด้วยความพิสมัย |
ศรีสวัสดิ์อย่าตัดอาลัย | สายสมรจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัจนาโฉมศรี |
เห็นองค์หัสนัยน์ธิบดี | รัศมีพรายพรรณเป็นขวัญตา |
สุรเสียงดั่งอมฤตรส | พจมานเสนาะเสน่หา |
พิศวงด้วยทรงพระอินทรา | ให้ร้อนในอุราดั่งเพลิงพิษ |
เกิดความกระสันรัญจวน | ยั่วยวนรสรักแล้วหักจิต |
ด้วยความละอายนั้นพ้นคิด | ทำบิดเบือนพักตร์ไม่เจรจา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ โลม
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรียอดสุดเสน่หา |
พี่ตั้งใจเจาะจงจำนงมา | แก้วตาอย่าตัดไมตรี |
ความแสนพิศวาสจะขาดใจ | ควรหรือเจ้าไม่เห็นอกพี่ |
ผันผินพักตราไม่พาที | เทวีทำไยฉันนั้น |
เข้าชิดแล้วลูบปฤษฎางค์ | ตระโบมโลมพลางทางรับขวัญ |
นางเกิดประดิพัทธ์ผูกพัน | ก็มีครรภ์ด้วยเดชอินทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ แล้วมีบัญชาอันสุนทร | ดูกรเยาวยอดเสน่หา |
เจ้าค่อยอยู่เถิดจะขอลา | ก็เหาะไปเมืองฟ้าด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระมหาโคดมฤๅษี |
เก็บได้ผลไม้ตามมี | แล้วกลับมากุฎีพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงอุ้มลูกรัก | ใส่ตักกอดจูบรับขวัญ |
เชยชมเป็นนิจนิรันดร์ | เกษมสันต์ด้วยราชธิดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัจนาเสน่หา |
ทรงครรภ์ถ้วนทศมาตรา | กัลยาประสูติโอรส |
เป็นชายแช่มช้อยอรชร | สีกายเขียวอ่อนดั่งมรกต |
เสิศล้ำเทวาในโสฬส | งามหมดเหมือนองค์พระบิดา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคดมอาจารย์ฌานกล้า |
เห็นองค์เยาวราชกุมารา | สำคัญว่าเป็นบุตรพระมุนี |
ไม่รู้ในกลมารยา | นางอัจนาโฉมศรี |
พิศวาสกว่าราชบุตรี | เป็นที่ชมเชยทุกเวลา |
ครั้นเช้าจึ่งสั่งเมียรัก | นงลักษณ์ผู้ยอดเสน่หา |
ตัวพี่จะไปพนาวา | เก็บผลพฤกษาบรรดามี |
เจ้าจงพิทักษ์รักษา | โอรสธิดาทั้งสองศรี |
สั่งแล้วออกจากกุฎี | จรลีเข้าในหิมวา ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางอัจนาเสน่หา |
นั่งอยู่ในบรรณศาลา | เห็นพระสุริยาเรืองแรง |
รัศมีจํารัสประภัสสร | ลอยกลางอัมพรส่องแสง |
สีเหลืองอ่อนปนระคนแดง | ดังแกล้งรจนาวิลาวัณย์ |
ให้เกิดความเสน่หาอาวรณ์ | ในพระทินกรรังสรรค์ |
ยอกรเหนือเกศบังคมคัล | องค์พระสุริยันอันศักดา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอาทิตย์ฤทธิแรงแสงกล้า |
จึ่งส่องทิพเนตรลงมา | ก็แจ้งว่าอัจนาเทวี |
มีความประดิพัทธ์ประหวัดจิต | พระอาทิตย์ชื่นชมเกษมศรี |
สมคิดที่จะแบ่งฤทธี | ไปช่วยพระจักรีปราบมาร |
ตริแล้วจึงสั่งเทพสารถี | ให้ขับรถมณีไพศาล |
ส่องโลกไปทั่วจักรวาล | องค์พระสุริย์ฉานก็ลงมา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเห็นองค์นงลักษณ์ | ผ่องพักตร์เพียงเทพเลขา |
เข้าใกล้จึ่งมีวาจา | เมื่อกี้เจ้าว่าประการใด ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอัจนาผู้มีอัชฌาสัย |
รู้ว่าพระอาทิตย์ฤทธิไกร | ก็มีใจประดิพัทธ์พันทวี |
จะตอบก็คิดความอาย | โฉมฉายค้อนให้แล้วผันหนี |
ชายเนตรชําเลืองเป็นที | มารศรีรัญจวนป่วนใจ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์ผู้ยอดพิสมัย |
รักเจ้าเท่าดวงฤทัย | เบือนพักตร์เสียไยนางกัลยา |
พี่หวังตั้งจิตมาฝากรัก | ควรหรือมาหักเสน่หา |
ปรานีบ้างเถิดวนิดา | ว่าพลางไขว่คว้าพัลวัน |
ลูบหลังลูบหน้านงลักษณ์ | พิศพักตร์ภิรมย์ชมขวัญ |
ยั่วเย้าสนิทติดพัน | นางนั้นยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ กล่อม
ร่าย
๏ เสร็จแล้วจึ่งองค์พระทินกร | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
เหาะจากพระบรรณศาลา | ไปยังมหาพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระโคดมดาบส |
เที่ยวเก็บผลไม้เลี้ยวลด | พระนักพรตได้แล้วก็กลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งบอกเมียรัก | วันนี้เหนื่อยพักตร์หนักหนา |
ว่าพลางรับเอากุมารา | เชยชมลูกยาค่อยคลายร้อน ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางกาลอัจนาสายสมร |
แต่วันยินดีด้วยพระทินกร | เกิดความสโมสรก็มีครรภ์ |
กำหนดถ้วนทศมาสา | ก็ประสูติบุตราเฉิดฉัน |
รูปทรงคล้ายองค์พระสุริยัน | ผิวพรรณดั่งเทพนิมิต |
นางอุ้มลูกน้อยเสวยนม | กอดจูบลูบชมภิรมย์จิต |
แต่ลูกใหญ่นั้นแอบแนบชิด | พิศวาสทั้งราชธิดา |
อุตส่าห์ถนอมกล่อมเกลี้ยง | เลี้ยงดูบำรุงรักษา |
เป็นนิจนิรันดร์ทุกวันมา | โรคาสิ่งไรก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระมหาโคดมฤๅษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | เมื่อจะมีเหตุภัยใหญ่มา |
ให้อาวรณ์ร้อนรนสกนธ์กาย | ดังจะวายชีวังสังขาร์ |
คิดจะใคร่ไปสรงคงคา | ในท่ามหาวารี |
จึ่งอุ้มลูกน้อยเบื้องขวา | พี่ยาขี่หลังพระฤๅษี |
มือซ้ายจูงราชบุตรี | จรลีไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสวาหะเสน่หา |
ขัคแค้นพระราชบิดา | เดินบ่นลงมาถึงนที |
อนิจจาหลงรักลูกเขา | ช่างเอาอุ้มชูแล้วให้ขี่ |
ลูกตนให้เดินปัถพี | ไม่ปรานีบ้างเลยพระบิดา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังสงสัยในวิญญาณ์ | จึ่งมีวาจาถามไป |
ดูราลูกน้อยกลอยสวาท | เจ้าว่าประหลาดพ่อสงสัย |
เหตุผลต้นความประการใด | บอกให้แจ้งใจพระบิดา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | สวาหะได้ฟังก็ก้มหน้า |
ยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา | แล้วแจ้งกิจจาแต่เดิมที |
ตั้งแต่พระองค์ออกไปป่า | พระมารดาเป็นสุขเกษมศรี |
ด้วยสองชายสองครั้งในกุฎี | ความจริงดั่งนี้พระบิดา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังมืดกลุ้มในวิญญาณ์ | ดั่งเอาไฟฟ้ามาจ่อใจ |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นจิต | พระนักสิทธ์ปิ้มเลือดตาไหล |
มันคบชู้ดูดู๋ไม่กลัวภัย | เสียแรงรักใคร่แต่เดิมมา |
อันว่ากุมารทั้งคู่ | ถึงกูจะเลี้ยงรักษา |
ถ้าลูกชู้ก็ดูเวทนา | โลกาจะพลอยอัประมาณ |
คิดแล้วยอกรขึ้นประณต | พระดาบสตั้งสัตย์อธิษฐาน |
เดชะข้าได้บำเพ็ญฌาน | ขอให้บันดาลประจักษ์ตา |
แม้นว่าสามเจ้านี้เป็นเนื้อ | เชื้อสายโลหิตแห่งข้า |
จะทิ้งออกไปกลางคงคา | จงว่ายกลับมาทันใด |
แม้นว่าเป็นลูกชายอื่น | อย่าได้ว่ายคืนเข้ามาได้ |
จงเป็นสวาวานรไพร | เสี่ยงแล้วขว้างไปทันที ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ เชิด
๏ แต่นางสวาหะผู้ธิดา | กลับว่ายมาหาพระฤๅษี |
สองกุมารนั้นข้ามวารี | เป็นกระบี่เข้ายังพนาลัย |
พระโคดมครั้นเห็นประจักษ์ตา | ก็สิ้นความกังขาไม่สงสัย |
อุ้มองค์พระธิดายาใจ | กลับไปยังบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เสมอ
๏ ครั้นมาถึงคันธกุฎี | พระมุนีกริ้วโกรธแล้วร้องว่า |
เหวยเหวยดูก่อนอีอัจนา | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ |
คบชู้สู่สมภิรมย์รัก | ทําการทรลักษณ์บัดสี |
ดั่งหญิงชั่วช้ากาลี | ให้อินทรีย์ของมึงเป็นศิลา |
แม้นว่านารายณ์อวตาร | มาสังหารเผ่าพาลยักษา |
ในทวีปพิชัยลงกา | เอาแผ่นผานี้จองถนนไป |
ให้มึงจมอยู่ในสมุทร | อย่าได้รู้ผุดขึ้นมาได้ |
ตามคำของกูที่สาปไว้ | ให้สาแก่ใจอีกาลี ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางอัจนาโฉมศรี |
ตกใจดั่งต้องอสุนี | โศกีแล้วว่าแก่ธิดา |
เสียแรงอุ้มท้องครองครรภ์ | ทุกวันบำรุงรักษา |
ไม่รู้จักคุณกูเลี้ยงมา | ผลาญชีวาแม่ให้บรรลัย |
มึงเป็นลูกเกิดในอุทร | ควรหรือเป็นหนอนบ่อนไส้ |
ตัวกูนี้ต้องสาปไป | ฝ่ายมึงให้ได้ทรมาน |
จงไปอ้าปากยืนตีนเดียว | เหนี่ยวกินลมอยู่ในไพรสาณฑ์ |
ยังเชิงขอบเขาจักรวาล | ตามคำสาบานของกูนี้ |
ต่อมึงมีลูกเป็นวานร | ฤทธิรอนเลิศล้ำกระบี่ศรี |
จึ่งพ้นสาปสิ้นบาปอัปรีย์ | ว่าแล้วไปเป็นศีลา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสวาหะเสน่หา |
จึ่งบังคมลาพระบิดา | กันแสงโศกาแล้วเดินไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เพลง
๏ ถึงป่าอ้าปากยืนตีนเดียว | มือเหนี่ยวกิ่งพฤกษาใหญ่ |
ตามคำมารดาสาปไว้ | อยู่ในจักรวาลคีรี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ กราวรำ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ทั้งองค์พระอาทิตย์ฤทธี | เห็นพระมุนีสาปโอรส |
เป็นวานรอยู่ริมคงคา | ทนทุกข์เวทนาแสนสาหส |
เสียศักดิ์เสียศรีเสียยศ | ทศทิศจะเย้ยไยไพ |
จำกูจะไปยังปัถพี | สร้างราชธานีขึ้นให้ |
จะเสกสองโอรสยศไกร | ครองไอศวรรยาในธาตรี |
ทั้งจะได้คอยท่าพระอวตาร | คุมทหารล้างเหล่ายักษี |
คิดแล้วชวนกันจรลี | ลงไปยังที่พนาวัน ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ โคมเวียน
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงอุ้มลูกรัก | เชยพักตร์ภิรมย์ชมขวัญ |
เจ้าผู้สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | จะสร้างสรรค์ให้อยู่สำราญ |
แล้วองค์อินทราพระอาทิตย์ | จึ่งพินิจพิศดูถิ่นฐาน |
ครั้นได้ชัยภูมิโอฬาร | ก็ตั้งเขตปราการพารา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ ตระ
ชมตลาด
๏ อันปราสาทแก้วทั้งสามองค์ | สูงระหงยอดเยี่ยมพระเวหา |
ดั่งเวไชยันต์ในชั้นฟ้า | ลอยมาตั้งเหนือปัถพี |
วังหนึ่งนั้นมีปราสาท | ที่พญาอุปราชเรืองศรี |
ล้วนแก้วเจ็ดประการรูจี | ดั่งบุษบกมณีโอฬาร |
จึ่งนิมิตนักสนมกรมใน | งามวิไลเยาวยอดสงสาร |
แล้วอ่านมนตราชัยชาญ | เรียกเทพบริวารลิงไพร ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ ตระ
ร่าย
๏ ตั้งเป็นเสนาสามนต์ | รี้พลทวยหาญน้อยใหญ่ |
ให้ตรวจตรารักษากรุงไกร | นอกในพื้นพวกพานรินทร์ |
แล้วขนานนามราชธานี | ชื่อว่าบุรีขีดขิน |
อันกุมารโอรสพระอินทร์ | ชันษาขุนกบินทร์นามจันทร์ |
ชื่อกากาศพิริยจุลจักร | ปิ่นปักนคเรศรังสรรค์ |
ฝ่ายว่าลูกพระสุริยัน | ให้นามนั้นสุครีพอนุชา |
เป็นพญามหาอุปราช | รองบาทบรมเชษฐา |
จึ่งสอนพระเวทวิทยา | พิธีมนตราครบครัน |
แล้วอวยพระพรชัยศรี | จงเรืองฤทธีแข็งขัน |
เสร็จแล้วทั้งสองเทวัญ | เหาะไปชั้นฟ้าดุษฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พญากากาศเรืองศรี |
เสวยสุขอยู่ทุกราตรี | ด้วยสนมนารีกํานัลใน |
อันเสนาวานรทวยหาญ | พ้นที่จะนับประมาณมิได้ |
ล้วนมีกำลังฤทธิไกร | ห้าวหาญชาญชัยในสงคราม |
โยธาวานรแต่ละตน | ฤทธิรณชํานาญชาญสนาม |
ย่อมล้วนเลื่องชื่อลือนาม | เข็ดขามคร้ามครั่นทั้งธาตรี |
บำรุงไพร่ฟ้าประชากร | ถาวรเป็นสุขเกษมศรี |
อันสองพระองค์ทรงธรณี | ขึ้นเฝ้าพระศุลีเรืองชัย |
พระเชษฐารักองค์อนุชา | ดั่งดวงนัยนาก็ว่าได้ |
สององค์บำรุงกรุงไกร | ไม่มีฉันทาราคี ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ เจรจา
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
เป็นจุลจักรเลิศล้ำธรณี | ผ่านบุรีชมพูนครา |
ท้าวมีมเหสีดวงสมร | ชื่อนางแก้วอุดรเสน่หา |
ทรงโฉมประโลมโลกา | ดั่งนางในชั้นฟ้าโสฬส |
เป็นชาวอุดรกาโร | โสภาเอี่ยมองค์อลงกต |
ไร้ราชบุตรีแลโอรส | มีแต่สนมยศบริวาร |
อันขุนพลแก้วซึ่งใช้ชิด | ฤทธาสามารถอาจหาญ |
รี้พลรณยุทธ์โรมราญ | ล้วนกระบี่ผู้ชาญฤทธา |
องค์พระสยมภูวญาณ | ประทานลูกพระกาลแกล้วกล้า |
ชื่อนิลพัทอันศักดา | ให้มาเป็นหลานร่วมใจ |
พระองค์ทรงศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศคร้ามครั่นหวั่นไหว |
มิได้อภิวันท์ผู้ใด | ทั่วทั้งไตรภพจบโลกา |
บังคมแต่นารายณ์ฤทธิรงค์ | กับองค์อิศวรนาถา |
ท้าวเสด็จขึ้นเฝ้าพระอิศรา | ยังมหาไกรลาสคีรี |
เป็นสหายกับพญากากาศ | อันครองราชย์ขีดขินบุรีศรี |
ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมชีวี | มีความสัตย์ซื่อต่อกัน |
ไปมาเยี่ยมเยียนเป็นนิจ | ไม่คิดรังเกียจเดียดฉันท์ |
สองกรุงร่วมแผ่นสุวรรณ | ส่งบรรณาการไปมา ฯ |
ฯ ๑๘ คํา ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระอิศวรนาถา |
แจ้งว่านวลนางอัจนา | โกรธาสาปราชบุตรีไป |
ให้ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม | ยอดพนมจักรวาลเนินไศล |
กูจะให้มีบุตรวุฒิไกร | จะได้เป็นทหารพระจักรา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึงแบ่งกำลัง | สั่งองค์พระพายแกล้วกล้า |
เอาเทพอาวุธอันศักดา | ทั้งกำลังกายาของเรานี้ |
ไปซัดเข้าปากสวาหะ | จะเกิดบุตรเป็นกระบี่ศรี |
อันคทาเพชรเรืองฤทธี | มีอานุภาพเกรียงไกร |
ให้เป็นสันหลังตลอดหาง | จึ่งจะเดินทางอากาศได้ |
อันตรีเพชรสุรกานต์ชาญชัย | ให้เป็นกายกรบาทา |
จักรแก้วอันเรืองฤทธิรอน | เป็นเศียรวานรแกล้วกล้า |
อาวุธทั้งสามศักดา | มหิมาประกอบเป็นอินทรีย์ |
มาตรแม้นจะล้างศัตรู | ทั้งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ให้ชักเอาตรีเพชรฤทธี | ที่อกกระบี่ออกราญรอน |
แล้วดูป้องกันอันตราย | อย่าให้ใครกล้ำกรายดวงสมร |
ตัวท่านนั้นเป็นบิดร | วานรในครรภ์นางเทวี ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระพายฤทธิรงค์เรืองศรี |
รับเอากำลังพระศุลี | ทั้งตรีเทพอาวุธบังคมลา |
ออกมาทรงม้าพลาหก | เผ่นผงกผกผาดพระเวหา |
ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | มายังสวาหะด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเอาเทพอาวุธ | ทั้งสามฤทธิรุทรเรืองศรี |
ทิ้งเข้าไปในปากนางเทวี | ตามมีเทวราชโองการ |
จึ่งบอกว่าองค์พระศุลี | ประสาทบุตรฤทธีห้าวหาญ |
ให้เราป้องกันภัยพาล | บริบาลรักษานางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสวาหะโฉมศรี |
ตั้งแต่พระพายฤทธี | เอาอาวุธพระศุลีลงมา |
ทิ้งเข้าในปากโฉมยง | ก็ทรงครรภ์เกินทศมาสา |
ถ้วนสามสิบเดือนโดยตรา | กัลยาอยู่สุขสำราญ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
ร่าย
๏ ครั้นได้ศุภฤกษ์ยามดี | พระรวีหมดเมฆแสงฉาน |
ปีขาลเดือนสามวันอังคาร | เยาวมาลย์ก็ประสูติโอรส |
เป็นวานรผู้เผ่นออกทางโอษฐ์ | เผือกผ่องไพโรจน์ทั้งกายหมด |
ใหญ่เท่าชันษาได้โสฬส | อลงกตดั่งดวงศศิธร ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรดั่งไกรสร |
ครั้นออกจากครรภ์มารดร | ก็เหาะขึ้นอัมพรด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ลอยอยู่ตรงพักตร์พระชนนี | รัศมีโชติช่วงในเวหา |
มีกุณฑลขนเพชรอลงการ์ | เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย |
หาวเป็นดาวเดือนรวีวร | แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่ |
สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร | แล้วลงมาไหว้พระมารดา |
ทั้งองค์พระพายเรืองเดช | สำคัญว่าบิตุเรศนาถา |
ก็เข้าอิงแอบแนบกายา | วานรชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพายเทวัญเรืองศรี |
เห็นวานรสำแดงฤทธี | สนั่นทั้งธาตรีอัมพร |
จึ่งให้นามตามเทวโองการ | ชื่อหนุมานชาญสมร |
แบ่งทั้งกำลังฤทธิรอน | ให้แก่วานรโอรส |
แล้วจึ่งอำนวยอวยชัย | จงเรืองฤทธิไกรดังไฟกรด |
ให้เลื่องชื่อลือนามขามยศ | ทศทิศอย่ารอต่อกร ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสวาหะดวงสมร |
เห็นบุตรนั้นเป็นวานร | ฤทธิรอนดั่งองค์พระสุริยัน |
มีใจใสโสมนัสสา | พ้นคำมารดาสาปสรรค์ |
จึ่งอุ้มลูกยาวิลาวัณย์ | ให้เสวยซึ่งถันธารา |
กอดจูบลูบทั่วอินทรีย์ | ดวงชีวีแม่สุดเสน่หา |
สงสารที่เจ้าเกิดมา | อนาถาไร้ญาติเข็ญใจ |
ทั้งแม่ลูกก็มิได้เลี้ยงกัน | สารพันไม่มีสิ่งใดให้ |
มิหนำจะซ้ำจากไป | อาลัยเป็นพ้นพันทวี |
จงฝากกายพระพายเทเวศร์ | ซึ่งเป็นบิตุเรศเรืองศรี |
อันกุณฑลขนเพชรเขี้ยวมณี | ที่มีในกายของลูกรัก |
ถ้าว่าผู้ใดมาทักทาย | ท่านนั้นนารายณ์ทรงจักร |
อวตารลงมาผลาญยักษ์ | เจ้าจงสามิภักดิ์กับบาทา ฯ |
ฯ ๑๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานชาญชัยใจกล้า |
รับพรพระพายบิดา | ด้วยโสมนัสสาพันทวี |
จำทั้งคำสั่งพระมารดร | ยอกรประณตบทศรี |
ลาองค์บิตุเรศชนนี | ขุนกระบี่ก็เหาะระเห็จไป ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ เที่ยวคะนองลองฤทธิ์บนอากาศ | องอาจหาเกรงผู้ใดไม่ |
เห็นสวนพระอุมาอรไท | ดีใจก็ตรงเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ คุกพาทย์
๏ เที่ยวถอนพฤษาผลาผล | โน้มต้นเก็บลูกเป็นภักษา |
หักโค่นเกลื่อนกลาดดาษดา | วานรทําเล่นประสาใจ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางอุมาผู้ยอดพิสมัย |
เสด็จอยู่กับหมู่อนงค์ใน | แลไปก็เห็นวานร |
ตัวน้อยกระจ้อยกระจิริด | ขาวขจิตแลเลื่อมประภัสสร |
โกรธาดั่งหนึ่งไฟฟอน | บังอรตวาดด้วยวาจา |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้จังไร | เป็นไฉนมาหักพฤกษา |
ของกูผู้อัครชายา | องค์เจ้าโลกาทรงญาณ |
ให้กําลังเอ็งน้อยถอยกึ่ง | สมน้ำหน้ามึงที่อวดหาญ |
ตามคำกูสาปสาบาน | ไอ้ชาติเดียรฉานอัปรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ตกใจเพียงสิ้นชีวี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันตัวของข้านี้เฉาโฉด | โทษถึงสิ้นชีพสังขาร์ |
ไม่รู้ว่าสวนเทพมารดา | สำคัญว่าป่าก็ดีใจ |
เห็นลูกไม้สุกก็เก็บกิน | จะดูหมิ่นพระองค์ก็หาไม่ |
ซึ่งตัวข้าทำประมาทไป | พระแม่จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอุมาโฉมศรี |
จึ่งมีเทวราชวาที | ว่าเหวยกระบี่ผู้ศักดา |
อันคำของกูประกาศิต | ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นผา |
ไม่รู้ที่จะคืนวาจา | แต่ว่าจะให้ผ่อนไป |
เมื่อใดพระทรงบัลลังก์นาค | เสด็จจากเกษียรสมุทรใหญ่ |
มาเป็นพระรามเรืองชัย | ได้ลูบหลังจนหางวานร |
จึ่งให้พ้นคำกูสาปสรร | กำลังนั้นคงคืนดั่งก่อน |
เอ็งอย่าทุกขาอาวรณ์ | วานรจงเป็นสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ต้องสาปพระอุมาเทวี | ขุนกระบี่ก็กลับลงมา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เที่ยวไปในป่าหิมพานต์ | ทุกถ้ำธารชะโงกโตรกผา |
เห็นรุกขชาติสะอาดตา | ผลาผลดกดาษกลาดไป |
จึงปีนป่ายร่ายเก็บกิ่งน้อย | ห้อยโหนโจนหักกิ่งใหญ่ |
ห่มเล่นเต้นตามสบายใจ | ที่ในหิมวาพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์พระพายเรืองศรี |
เสด็จยังวิมานรัตน์มณี | มีจิตคิดถึงหนุมาน |
จำกูจะพาขึ้นไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าสามภพจบสถาน |
คิดแล้วทรงม้าเหาะทะยาน | ไปยังหิมพานต์ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเรียกลูกรัก | เชยพักตร์ลูบหลังกระบี่ศรี |
พ่อจะพาไปเฝ้าพระศุลี | ยังคีรีไกรลาสบรรพตา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานหาญกล้า |
น้อมเศียรสนองพระบัญชา | ตามพระบิดาจะปรานี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพายเทวัญเรืองศรี |
จึ่งพาหนุมานผู้ฤทธี | เหาะไปยังที่วิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระอิศวรนาถา |
ว่าลูกนางสวาหะกัลยา | ชื่อว่าหนุมานชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
ได้ฟังพระพายเทวัญ | ทรงธรรม์ก็ทอดทัศนา |
เห็นวานรน้อยเผือกผู้ | ดูกำลังท่วงทีแกล้วกล้า |
ควรเป็นทหารพระจักรา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึงบอกคาถามหามนต์ | แปลงกายหายตนกระบี่ศรี |
ทั้งจังงังคงทนอินทรีย์ | แล้วมีพจนารถอวยพร |
ให้อายุยืนชั่วกัลปา | มีเดชศักดาดั่งไกรสร |
ถึงศัตรูจะประหารราญรอน | วานรตายแล้วจงเป็นมา ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิไกรใจกล้า |
รับพรเรียนเวทวิทยา | ของพระอิศราเรืองชัย |
ชำนาญในการประกอบฤทธิ์ | ตบะกิจพิธีก็จำได้ |
เฝ้าแหนสนิทติดพันไป | ในใต้เบื้องบาทพระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
เห็นวานรชํานาญฤทธี | จึงมีเทวราชโองการ |
อันพญากากาศลูกอินทร์ | กับกบินทร์สุครีพใจหาญ |
เป็นน้องสวาหะนงคราญ | ซึ่งเป็นมารดาของพานร |
ครองกรุงขีดขินนคเรศ | เรืองเดชโลกาไหวกระฉ่อน |
ไร้บุตรนัดดาฤทธิรอน | ไม่มีผู้ต่างกรต่างตา |
จะให้ท่านกับชมพูพาน | อันปรีชาชาญหาญกล้า |
ไปอยู่ขีดขินพารา | ด้วยพญากากาศผู้ฤทธี |
แล้วมีบัญชาประกาศิต | สั่งจิตุบทเรืองศรี |
ไปหาเจ้าขีดขินธานี | ให้ขุนกระบี่รีบขึ้นมา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ บัดนั้น | จิตุบทเทวัญแกล้วกล้า |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็เหาะตรงมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ กลม
๏ ครั้นถึงลอยอยู่ในอัมพร | ตรงหน้าบัญชรชัยศรี |
ร้องว่าดูก่อนเจ้าธานี | องค์พระศุลีให้หาไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกอินทร์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้แจ้งรับสั่งเจ้าภพไตร | ดีใจก็ชวนอนุชา |
สององค์ทรงเครื่องเสร็จสรรพ | กรจับตรีเพชรคมกล้า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นบนเมฆา | เหาะมาไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทบาท | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
กลางหมู่เทวานาคี | ขุนกระบี่คอยฟังพระบัญชา |
ฯ ๒ คํา ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
เห็นสองพานรขึ้นมา | มีความปรีดาแล้วตรัสไป |
ดูกรลูกอมรินทรา | รู้จักนัดดาหรือหาไม่ |
บุตรนางสวาหะทรามวัย | พระพายฤทธิไกรเป็นบิดร |
มีนามชื่อว่าหนุมาน | องอาจกล้าหาญดั่งไกรสร |
ตัวท่านเป็นเจ้าพระนคร | วานรไร้บุตรนัดดา |
อันชมพูพานฤทธิรงค์ | ก็อาจองเข้มแข็งแกล้วกล้า |
เราชุบด้วยเหื่อไคลได้ใช้มา | สรรพยาวิเศษก็เข้าใจ |
เมื่อนารายณ์อวตารไปผลาญยักษ์ | ถ้าเสียทีจักได้แก้ไข |
จะให้เป็นโอรสยศไกร | จงพาไปกับราชนัดดา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
ร่าย
๏ ตรัสแล้วจึงเรียกหนุมาน | กับชมพูพานออกมาหา |
ทั้งสองจงฝากกายา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ชมพูพานหนุมานเรืองศรี |
ฟังเทวบัญชาพระศุลี | ยินดีก็คลานออกมา |
น้อมเศียรลงถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระอิศวรนาถา |
บังคมเจ้าขีดขินพารา | ทั้งพญาสุครีพฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
กับองค์อนุชาธิบดี | เห็นสองกระบี่บังคมคัล |
ต่างองค์ลูบหลังลูบหน้า | ปรีดาภิรมย์ชมขวัญ |
หาไม่ไม่รู้จักกัน | เจ้าผู้วงศ์เทวัญอันศักดา |
ว่าแล้วก็น้อมเศียรเกล้า | ทูลเจ้าสามภพนาถา |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | แก่ข้าผู้พงศ์พานรินทร์ |
จะพรรณนาคุณพระเป็นเจ้า | ตายแล้วเกิดเล่าก็ไม่สิ้น |
จะปรากฏพระยศชั่วฟ้าดิน | ในชมพูขีดขินธานี |
ทูลแล้วทั้งสี่วานร | ประนมกรเหนือเกล้าเกศี |
ลาพระอิศโรโมลี | เหาะมาบุรีด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงสถิตเหนืออาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ซ้ายขวา |
จึ่งประทานเครื่องทรงอลงการ์ | ทั้งปราสาทรัตนาอำไพ |
อีกนางสนมกํานัล | สารพันจัดแจงแต่งให้ |
แก่โอรสนัดดายาใจ | สิ่งใดมิให้อนาทร ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กำแหงหนุมานชาญสมร |
อยู่ชมพูขีดขินพระนคร | สถาวรเป็นสุขทุกเวลา |
จงรักภักดีสุจริต | มิได้คิดฉันทาโทสา |
ขึ้นเฝ้าเช้าเย็นอัตรา | เป็นที่วางตาวางใจ |
อันราชกิจไม่เกียจคร้าน | ทั่วทุกพนักงานเอาใจใส่ |
เป็นสุขสนุกทั้งเวียงชัย | ไพร่ฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เจรจา