- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
บรรทมเหนือแท่นแก้วแพรวพราย | กรก่ายพักตร์คะนึงถึงสีดา |
ป่านนี้เจ้าพี่จะเป็นไฉน | ดวงใจแสนสุดเสน่หา |
ครั้งหนึ่งผูกคอให้มรณา | หากว่าวายุบุตรไปทัน |
แก้ลงแล้วแจ้งข่าวสาร | หาไม่เยาวมาลย์จะอาสัญ |
ถึงกระนั้นอยู่ในมือมัน | พี่นี้หวาดหวั่นฤทัยนัก |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่มีสุข | แสนทุกข์แสนเทวษเพียงอกหัก |
แสนอาลัยในองค์นงลักษณ์ | พระทรงจักรมิได้นิทรา |
จนล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องก้องป่า |
เสนาะเสียงแมลงผึ้งภุมรา | สุริยาเยี่ยมยอดยุคุนธร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ จึ่งบ้วนพระโอษฐ์สรงพระพักตร์ | แล้วชวนพระลักษมณ์ทรงศร |
เสด็จไปสระสรงสาคร | เสนาวานรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงริมฝั่งชลาลัย | ภูวไนยเหลือบแลซ้ายขวา |
เห็นรูปอสูรมารยา | เกยอยู่ที่ท่าหาดทราย |
อรชรอ้อนแอ้นระทวยทรง | เหมือนองค์สีดาโฉมฉาย |
ตกใจเพียงสิ้นชีวาวาย | พระนารายณ์วิ่งไปด้วยความรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลดองค์ลงแนบน้อง | สองกรช้อนเกศขึ้นใส่ตัก |
พินิจพิศดูดวงพักตร์ | กายกรนรลักษณ์วนิดา |
มิได้ผิดเพี้ยนทั้งผิวพรรณ | สำคัญว่าสีดาเสน่หา |
ให้อัดอั้นหวั่นทั่วทั้งกายา | ผ่านฟ้าพ่างเพียงจะขาดใจ |
สะอื้นพลางพลางเรียกพระลักษมณ์ | น้องรักพี่ยอดพิสมัย |
บัดนี้สีดามาบรรลัย | อยู่ในกระแสวารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
พินิจพิศเพ่งทั้งอินทรีย์ | สำคัญว่าพี่นางมรณา |
ความรักความเสียดายนั้นสุดคิด | ร้อนจิตเพียงต้องฟ้าผ่า |
ซบพักตร์ลงทรงโศกา | ดั่งหนึ่งชีวาจะจากจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
แสนโศกโศกาอาวรณ์ | ภูธรครวญครํ่ารำพัน |
โอ้อนิจจาสีดาเอ๋ย | ไฉนเลยมาม้วยอาสัญ |
พี่ก็ได้ให้ข่าวเป็นสำคัญ | ว่าจะยกพลขันธ์ไปราวี |
จะสุดแค้นแสนเทวษเป็นไฉน | จึ่งไม่ครองชีวาไว้ท่าพี่ |
หรือไอ้ทศเศียรอัปรีย์ | อสุรีมันกริ้วโกรธา |
ว่าวายุบุตรไปสังหาร | สหัสกุมารยักษา |
แล้วเผาบูรีลงกา | มันจึ่งฆ่าน้องให้ตายตาม |
นิจจาเอ๋ยเจ้าเคยเป็นเพื่อนยาก | ลำบากด้วยกันทั้งสาม |
พี่กับอนุชาพยายาม | หวังจะทำสงครามด้วยไพรี |
ฆ่าเสียให้สิ้นพงศ์พันธุ์ | พวกไอ้ทศกัณฐ์ยักษี |
เมื่อเจ้ามาม้วยชีวี | สุดที่จะทำศึกไป |
ครั้นว่าจะคืนพารา | ทั้งไตรโลกาจะหมิ่นได้ |
พี่จะสู้เสียชีวาลัย | ร่วมในกองกูณฑ์ด้วยน้องรัก |
สองกษัตริย์แสนเทวษแสนโศก | แสนวิโยคพ่างเพียงอกหัก |
ต่างสลบซบลงไม่เงยพักตร์ | ปิ้มจักสิ้นชีพชีวี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | เสนาโยธากระบี่ศรี |
เห็นองค์พระลักษมณ์พระจักรี | โศกีรํ่ารักนางสีดา |
จนสิ้นสุรเสียงทั้งสององค์ | สลบลงด้วยความเสน่หา |
บรรดาวานรเสนา | ที่ตามมาก็ตระหนกตกใจ |
ดั่งหนึ่งพระกาลพาลราช | ฟันฟาดตัดเศียรไปได้ |
ต่างตนต่างโศกาลัย | มี่ไปทั้งท่าสาคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | แว่วเสียงวานรโศกา |
ต่างฟื้นคืนได้สมประดี | องค์พระจักรีนาถา |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งเพลิงฟ้า | ว่าเหวยหนุมานชาญฉกรรจ์ |
ตัวเอ็งนี่ล่วงบรรหาร | ผลาญโคตรขุนมารให้อาสัญ |
บัดนี้ทศเศียรอาธรรม์ | มันฆ่าสีดาเทวี |
ตัวกูนี้สู้ติดตาม | หวังทำสงครามด้วยยักษี |
เมื่อนางมาตายเสียบัดนี้ | กระบี่จะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | น้อมเศียรทูลไปด้วยปรีชา |
อันรูปนี้ดูประหลาดนัก | ใช่องค์อัคเรศเสน่หา |
เห็นจะเป็นอสูรมารยา | แปลงมาให้เหมือนนางเทวี |
ด้วยอุบายเล่ห์กลสงคราม | มิให้ข้ามไปเมืองยักษี |
พระองค์ทรงฟ้าธาตรี | ภูมีหยุดยั้งฤทัยคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
ได้ฟังดั่งต้องเพลิงพิษ | ทรงฤทธิ์ยิ่งกริ้วโกรธา |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ตวาดเสียงเพียงหนึ่งฟ้าผ่า |
เหวยเหวยหนุมานพาลา | ไฉนว่ามิใช่นางเทวี |
ทั้งรูปทรงส่งศรีดวงพักตร์ | ก็เห็นประจักษ์ถ้วนถี่ |
นรลักษณ์ที่ในอินทรีย์ | สำคัญนั้นมีทุกสิ่งไป |
อีกทั้งภูษาสไบทรง | ธำมรงค์ที่เอ็งเอาไปให้ |
ก็ติดอยู่กับองค์อรไท | หรือว่ามิใช่ให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี |
สำคัญมีมาก็จริงอยู่ | พิเคราะห์ดูเป็นกลยักษี |
ธรรมดาสัตว์สิ้นชีวี | มิได้เน่าพองอย่าพึงคิด |
อันศพนี้สดไม่มีกลิ่น | จะลอยวารินนั้นเห็นผิด |
ทั้งพลับพลาพระองค์ทรงฤทธิ์ | สถิตเหนือลงกากรุงไกร |
เหตุไฉนจึ่งรูปศพนี้ | จะลอยทวนวารีขึ้นมาได้ |
ข้าขอเอาขึ้นบนกองไฟ | ชันสูตรดูให้ประจักษ์ตา |
แม้นว่าเป็นรูปอุบายกล | จะไม่ทนเพลิงแรงแสงกล้า |
ถ้าองค์อัครราชชายา | เห็นว่าจะสิ้นกับอัคคี |
พระองค์จงลงโทษกร | ฟันฟอนตัดเกล้าเกศี |
ข้าผู้ล่วงราชวาที | ให้ม้วยชีวีไปตามกัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | ทรงธรรม์จึ่งทอดทัศนา |
แต่เศียรไปจนสุดบาท | ก็ประหลาดเหมือนวายุบุตรว่า |
คลายโศกเสื่อมความโกรธา | จึงบัญชาสั่งโยธี |
เร่งเร็วช่วยกันประชุมเพลิง | ให้เถกิงเริงแรงรัศมี |
เผาดูให้รู้ว่าร้ายดี | ตามคำกระบี่หนุมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่วานรทวยหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ต่างวิ่งลนลานวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างแบกบ้างขนฟืนมา | โยธาทุ่มลงเป็นกองใหญ่ |
เสร็จแล้วก็ชวนกันจุดไฟ | ตามในบัญชาพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
จึ่งให้วานรโยธี | ล้อมกองอัคคีรอบราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วยกรูปมารยาขึ้นวาง | บนกลางเพลิงแรงแสงฉาย |
เขม้นดูด้วยรู้ในอุบาย | หมายใจจะจับอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางเบญกายยักษา |
ต้องเพลิงร้อนทั่วทั้งกายา | ดั่งหนึ่งชีวาจะบรรลัย |
สุดคิดสุดฤทธิ์จะทำกล | ไม่อาจจะทนอยู่ได้ |
ก็เหาะขึ้นตามควันไฟ | หนีไปด้วยกำลังฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
เหลือบแลเห็นนางอสุรี | เหาะหนีไปตามเปลวควัน |
รวดเร็วดั่งวายุพาจร | วานรโกรธาตัวสั่น |
กวัดแกว่งตรีเพชรดั่งไฟกัลป์ | ระเห็จหันเหาะตามอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นทันก็โถมเข้ารวบรัด | หัตถ์หนึ่งฉวยจิกเกศา |
ได้แล้วก็กลับลงมา | ด้วยกำลังฤทธาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งพานางมารเข้าถวาย | องค์พระนารายณ์ทรงศร |
ท่ามกลางโยธาพลากร | คอยฟังภูธรบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เห็นวายุบุตรผู้ศักดา | ได้นางยักษ์มาก็ดีใจ |
คลายความวิโยคโศกศัลย์ | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
เหม่เหม่ดูดู๋อีจังไร | บังอาจทำได้ถึงเพียงนี้ |
ตรัสพลางมีราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพกระบี่ศรี |
จงเอาอี่มารยากาลี | เฆี่ยนตีซักถามเนื้อความมัน |
สั่งแล้วเสด็จจากท่าสรง | กับองค์อนุชารังสรรค์ |
ยุรยาตรนาดกรจรจรัล | มายังสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ให้ผูกคอนางมารตามมา | ถึงหน้าพลับพลารูจี |
นั่งลงตรงที่พระลาน | พร้อมหมู่ทวยหาญกระบี่ศรี |
จึ่งตั้งกระทู้ถามอสุรี | เหตุใดมึงนี้บังอาจใจ |
ไม่กลัวศักดาวานร | เชื้อชาตินามกรเป็นไฉน |
ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่แห่งใด | ความคิดของใครใช้มา |
จึ่งแปลงเป็นองค์พระลักษมี | มเหสีพระนารายณ์นาถา |
ทำตายลอยอยู่ในคงคา | ด้วยกลมารยาสากัน |
จิตจงประสงค์สิ่งใด | อีจังไรทรลักษณ์โมหันธ์ |
จงให้การแต่โดยสัจธรรม์ | หาไม่ชีวันจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เบญกายผู้ยอดสงสาร |
จึ่งแก้กระทู้ด้วยปรีชาญ | ให้การว่าตัวของข้านี้ |
เป็นหลานเจ้าลงกาพระนคร | นามกรเบญกายยักษี |
บุตรพญาพิเภกอสุรี | ชนนีนั้นชื่อตรีชาดา |
ข่าวว่าบิตุเรศบรรลัย | ด้วยภัยพระนารายณ์นาถา |
สงสัยใคร่แจ้งกิจจา | ครั้นจะมาโดยเพศอสุรี |
ก็กลัวกระบี่รี้พล | จึ่งแปลงตนเป็นพระมเหสี |
ฟังดูให้รู้ว่าร้ายดี | แล้วตัวข้านี้จะกลับไป |
เป็นความสัจจาซึ่งว่าขาน | จะให้การมุสานั้นหาไม่ |
ขอท่านผู้ปรีชาไว | จงได้มีจิตเมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ได้ฟังคำนางอสุรา | ว่าเป็นธิดาสหายรัก |
พาซื่อมิได้ซักถาม | ข้อความให้แจ้งประจักษ์ |
ด้วยพญาพิเภกขุนยักษ์ | ทศพักตร์ขับจากธานี |
จึ่งให้วานรเสมียน | เขียนคำให้การยักษี |
เสร็จแล้วก็รีบจรลี | มาที่พลับพลาอลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรจักรพรรดิมหาศาล |
ข้าบาทซักถามนางมาร | ให้การเป็นเรื่องแต่เดิมมา |
ว่าเป็นหลานท้าวทศพักตร์ | ลูกรักพิเภกยักษา |
ชื่อเบญกายอสุรา | นางตรีชาดาเป็นมารดร |
แจ้งว่าบิดานั้นตาย | ด้วยอาญาพระนารายณ์ทรงศร |
จึ่งแปลงเป็นอัครราชบังอร | มาฟังข่าวบิดรว่าร้ายดี |
แล้วจะกลับคืนข้ามไป | ยังพิชัยลงกาบูรีศรี |
มิได้เป็นเสี้ยนไพรี | ต่อใต้ธุลีบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์นาถา |
ฟังคำให้การอสุรา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกัลป์ |
ดูดู๋ลูกพระอาทิตย์ | เหตุใดมืดมิดโมหันธ์ |
ซึ่งว่าไม่มีใครใช้มัน | คำนั้นเห็นจริงหรือว่าไร |
จึ่งไม่ซักไซ้ไต่ถาม | เอาความข้อนี้ให้ได้ |
หรือลูกสหายร่วมใจ | จึ่งแก้ไขเลือกว่าเอาแต่ดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | น้องพญาพาลีเรืองศรี |
ฟังราชบรรหารพระจักรี | ดั่งหนึ่งตรีเพชรมาฟาดฟัน |
ได้ความอัปยศอดสู | แก่หมู่โยธาพลขันธ์ |
ทั้งกลัวอาญาพระทรงธรรม์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งราชมัลตัวนาย | ให้เอาเบญกายยักษา |
ผูกเท้าผูกเอวตรึงตรา | ลงอาญาถามความมัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วานรเพชฌฆาตตัวขยัน |
ฉุดนางเบญกายใจฉกรรจ์ | ปักหลักผูกพันเข้าทันที |
แล้วจึ่งบีบมือบีบขมับ | เฆี่ยนขับขู่นางยักษี |
ล้วนฝีมือหนักเข้ามาตี | สามทีให้หยุดถามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุครีพเสนาผู้ใหญ่ |
จึ่งซักว่าเหวยอี่จังไร | ไยจึ่งมุสาให้การ |
ถึงจะมาฟังกิจบิตุเรศ | เหตุใดทำสิ้นสังขาร |
เหมือนพระมเหสีวายปราณ | ให้ผ่านฟ้าโศกาอาวรณ์ |
ข้อซึ่งไม่มีผู้ใดใช้ | ยังไม่เห็นจริงของมึงก่อน |
ซักพลางพลางสั่งวานร | ให้ผลัดกรกันเข้ามาตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางเบญกายยักษี |
ความเจ็บเป็นพ้นพันทวี | อสุรีร้องอึงคะนึงไป |
เมตตาข้าเถิดนะวานร | งดก่อนจะบอกจริงให้ |
ด้วยเจ้าลงกากรุงไกร | ตรัสใช้ให้แปลงกายา |
เหมือนองค์สีดานงลักษณ์ | ลวงพระหริรักษ์นาถา |
หวังจะตัดศึกด้วยปรีชา | มิให้ถึงลงกาธานี |
ครั้นว่าจะขัดก็ไม่ได้ | ด้วยกลัวภัยพญายักษี |
โทษาข้าถึงสิ้นชีวี | ทั้งนี้สุดแต่จะโปรดปราน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
ซักไซ้ไล่เลียงนางมาร | จนสิ้นการกังขาราคี |
เห็นจริงแล้วสั่งวานร | ให้แก้กรแก้เท้ายักษี |
ก็เข้าไปเฝ้าพระจักรี | ยังที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรกราบลง | ทูลพระภุชพงศ์นาถา |
เสร็จสิ้นตามคำอสุรา | แล้วคอยบัญชาพระภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังลูกพระทินกร | วานรทูลคำให้การ |
เห็นจริงว่าทศกัณฐ์ใช้ | ภูวไนยจึ่งมีบรรหาร |
อันซึ่งอี่เบญกายมาร | สาธารณ์ทำได้ถึงเพียงนี้ |
ฝ่ายพญาพิเภกอสุรา | ก็เป็นบิดาของยักษี |
จงปรึกษาโทษอี่กาลี | จะถึงที่สถานประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้ารับสั่งภูวไนย | อาลัยถึงราชธิดา |
แต่ความโกรธความแค้นเหลือแค้น | ให้แน่นอกตันใจยักษา |
จึ่งทูลสนองพระบัญชา | ถึงเป็นบุตรข้าอสุรี |
แต่ซึ่งตัวมันอุบาย | แปลงกายเป็นพระมเหสี |
ทำตายมาลวงพระจักรี | โทษนี้ถึงสิ้นชีวิต |
ชอบให้ตัดเศียรเสียบประจาน | จึ่งควรกับการที่มันผิด |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | ทุกทิศจะเกรงพระเดชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | ปรึกษาให้ล้างชีวี |
เห็นเป็นสัจธรรม์สุจริต | ทรงฤทธิ์เมตตายักษี |
จึ่งมีพระราชวาที | อันอีเบญกายสาธารณ์ |
ทำทุจริตทรลักษณ์ | โทษหนักถึงสิ้นสังขาร |
จะฆ่าเสียก็ไม่ต้องการ | เรายกให้ท่านผู้บิดา |
แล้วจึ่งตรัสสั่งลูกพระพาย | จงพาเบญกายยักษา |
ไปส่งให้พ้นโยธา | ถึงแดนลงกากรุงไกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกล่าววาจา | ดูราเบญกายดวงสมร |
บัดนี้สมเด็จพระสี่กร | ภูธรไม่ล้างชีวี |
บัญชาใช้พี่ไปส่งเจ้า | ให้พ้นเหล่าโยธากระบี่ศรี |
ว่าพลางอุ้มนางอสุรี | เหาะขึ้นยังที่เมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยมาในอัมพร | อาวรณ์ด้วยความเสน่หา |
ครั้นข้ามถึงแดนลงกา | ก็ลงมายังพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งกล่าวมธุรสวาที | มารศรีผู้ยอดสงสาร |
พี่ปรารมภ์ถึงเจ้าเยาวมาลย์ | จะวายปราณด้วยภัยพระสี่กร |
คิดคิดจะทูลขอโทษ | พอพระองค์ตรัสโปรดประทานก่อน |
สิ้นความวิตกที่อกร้อน | ให้มาส่งบังอรก็สมคิด |
อันความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติดุสิต |
บุญพี่กับเจ้าเคยเป็นมิตร | พระทรงฤทธิ์จำเพาะใช้มา |
เราสองควรเคียงเรียงพักตร์ | ร่วมรักในรสเสน่หา |
เป็นคู่สู่สมภิรมยา | ไปกว่าชีวาจะจากจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางเบญกายดวงสมร |
ได้ฟังวาจาพานร | บังอรคิดเขินสะเทินใจ |
ค้อนให้แล้วตอบพจมาน | มาเจรจาเกี้ยวพานก็เป็นได้ |
นี่หากไม่สิ้นชีวาลัย | จึ่งใส่ไคล้แต่งว่าพาที |
ใช่ว่าข้านี้ใจเบา | จะไม่รู้ทันเท่ากระบี่ศรี |
อย่าพักเลียมเล่นเช่นนี้ | ถึงเป็นสตรีก็เข้าใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนผู้ยอดพิสมัย |
แสนรักพี่รักอรไท | ว่าไยฉะนี้กัลยา |
ความจริงไม่ล่อลวงเจ้า | ยุพเยาว์แน่งน้อยเสน่หา |
อันแสนสมบัติในลงกา | จะได้แก่บิดาของเทวี |
เราสองก็จะครองกันเป็นสุข | แสนสนุกภิรมย์เกษมศรี |
ว่าพลางคว้าไขว่ไปในที | ขุนกระบี่หยอกเย้ากัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายเสน่หา |
ปัดกรค้อนคมนัยนา | อนิจจาข่มเหงไม่เกรงใจ |
เหตุว่าเป็นหญิงมาผู้เดียว | ทางเปลี่ยวไม่ว่าอะไรได้ |
น้อยจิตเพียงชีวิตจะบรรลัย | ว่าพลางผลักไสไม่ไยดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์ผู้มิ่งมารศรี |
ผลักพี่เสียไยนางเทวี | ปรานีบ้างเถิดนะนงคราญ |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | จุมพิตด้วยความเกษมศานต์ |
ประคองต้องดวงปทุมมาลย์ | หอมหวานกลิ่นรสเสาวคนธ์ |
ภุมเรศร่อนลงประจงเคล้า | เร่าร้องก้องในโพยมหน |
เชยซาบเกสรโกมล | ฝนสวรรค์ครั่นครื้นธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายโฉมศรี |
ได้สู่สมร่วมรสฤดี | กับขุนกระบี่ผู้ศักดา |
มีความชื่นชมโสมนัส | ประดิพัทธ์พูนเพิ่มเสน่หา |
ความรักเพียงสิ้นชีวา | กัลยาไม่ห่างวานร |
แสนสนิทพิสมัยใหลหลง | งวยงงด้วยทหารพระทรงศร |
ลืมกลัวท้าวยี่สิบกร | บังอรเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
สังวาสเบญกายอสุรี | ยินดีดั่งได้วิมาน |
โลมลูบจูบปรางพลางเชยพักตร์ | น้องรักผู้ยอดสงสาร |
พี่มิใคร่จากองค์นงคราญ | หากว่าการศึกนั้นยังมี |
จำเป็นจะลาไปก่อน | ดวงสมรอย่าน้อยใจพี่ |
เชิญเจ้าเยาวยอดสตรี | คืนเข้าบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายเสน่หา |
ฟังวายุบุตรผู้ศักดา | กัลยาพ่างเพียงจะขาดใจ |
ชลนัยน์คลอคลองนองเนตร | น้อมเกศกราบลงแล้วร้องไห้ |
อนิจจาควรหรือไม่อาลัย | จะทิ้งไว้ให้ได้อัประมาณ |
เสียแรงเกิดมาเป็นสตรี | เสียทีเสียตัวด้วยลมหวาน |
เสียรู้เพราะหลงด้วยลมพาน | เสียกลปานเสียชีวาลัย |
ทั้งนี้ก็เพราะเบาจิต | ผิดเองจะโทษผู้ใดได้ |
กรรมแล้วจะใช้กรรมไป | ว่าพลางอรไทก็โศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้ชาญชัยศรี |
เห็นนางเบญกายอสุรี | เทวีครวญครํ่ารำพัน |
จึ่งโอบอุ้มนางขึ้นใส่ตัก | จุมพิตพิศพักตร์แล้วรับขวัญ |
เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ | กันแสงละห้อยน้อยใจ |
แม้นว่าเสร็จศึกสงครามยักษ์ | จะได้เรียงเคียงพักตร์พิสมัย |
อุตส่าห์สงวนองค์ไว้ | อย่าให้มลทินแผ้วพาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เบญกายผู้ยอดสงสาร |
ได้ฟังวาจาหนุมาน | นงคราญค่อยคลายโศกา |
ลดลงจากตักวานร | วิงวอนพิไรรํ่าว่า |
น้องขอฝากองค์พระบิดา | จงเห็นแก่ข้าผู้ภักดี |
สั่งพลางสะท้อนถอนใจ | มิใคร่จะจากกระบี่ศรี |
น้อมเศียรนบนิ้วอัญชุลี | เทวีก็รีบเข้าลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นยังปราสาท | กราบบาททศพักตร์ยักษา |
สะอื้นพลางทางทูลกิจจา | ตัวข้าจำแลงแปลงองค์ |
เหมือนนางสีดาโฉมฉาย | ทำตายอยู่ที่ท่าสรง |
พระรามพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | ลงมาจะสระสรงวารี |
เห็นข้าก็ตระหนกตกใจ | แสนโศกาลัยทั้งสองศรี |
กอดประทับไว้กับอินทรีย์ | ดั่งหนึ่งชีวีจะวายปราณ |
ยังมีวานรเผือกผู้ | รอบรู้ปรีชากล้าหาญ |
ชื่อว่าคำแหงหนุมาน | ซึ่งทำการเผาเมืองลงกา |
เข้ามาพิศดูรูปกาย | ทูลว่าอุบายยักษา |
มิใช่องค์นางสีดา | ยกข้าขึ้นวางบนอัคคี |
เพลิงเผาเร่าร้อนทุกขุมขน | สุดทนแล้วจึ่งเหาะหนี |
วานรตามจับได้ทันที | พระจักรีให้ลงอาญา |
เจ็บปวดย่อยยับทั้งกาย | ปิ้มจะวายชีวังสังขาร์ |
ว่าเป็นสตรีจึ่งปล่อยมา | ทูลพลางอสุราก็โศกี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพนาสูรยักษี |
ได้ฟังเบญกายพาที | ให้เร่าร้อนอินทรีย์ดั่งเพลิงพิษ |
ทอดถอนฤทัยไปมา | อสุราอัดอั้นตันจิต |
นั่งนิ่งตะลึงรำพึงคิด | ปัจจามิตรครั้งนี้แหลมการณ์ |
จะทำกลล่อลวงก็ล่วงรู้ | ทั้งหมู่โยธาก็กล้าหาญ |
เห็นจะได้ประจญประจัญบาน | หักราญรบพุ่งติดพัน |
คิดแล้วกล่าวคำอันสุนทร | ดูก่อนเบญกายหลานขวัญ |
เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ | กันแสงละห้อยน้อยใจ |
ปลอบพลางเรียกเครื่องอลงการ | สร้อยสะอิ้งสังวาลประทานให้ |
แก่หลานรักร่วมฤทัย | แล้วเข้าในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายวายุบุตรกระบี่ศรี |
ครั้นนางเบญกายเทวี | คืนเข้าบูรีลงกา |
เหลือบแลชะแง้ตามไป | จนสุดนัยน์เนตรซ้ายขวา |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | กลับมาเฝ้าองค์พระอวตาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
แต่พักพลอยู่ริมชลธาร | ช้านานหลายราษราตรี |
ดำริไปในการรณรงค์ | ที่จะล้างโคตรวงศ์ยักษี |
ให้ราบรื่นทั่วพื้นธรณี | ตามที่ซึ่งไวกูณฐ์มา |
แต่ผุดลุกผุดนั่งเหนือบรรจถรณ์ | จนจันทรเลี้ยวเหลี่ยมภูผา |
แสงทองรองเรื่อเมฆา | สกุณาเร้าเร่งสุริยัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพรังสรรค์ |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ออกสุวรรณพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
พร้อมหมู่เสนาวานร | ดั่งจันทรอยู่กลางดารา |
จึ่งมีพระราชวาที | แก่หมู่เสนีซ้ายขวา |
ซึ่งจะยกพหลโยธา | ล่วงข้ามมหาสมุทรไป |
ยังเกาะลงกาเมืองมาร | ใครจะคิดการเป็นไฉน |
จึงจะไม่ลำบากยากใจ | แกหมู่ไพร่พลโยธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาโยธากระบี่ศรี |
ฟังราชบรรหารพระจักรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ต่างตนต่างทูลอาสา | โดยกำลังฤทธาด้วยกันหมด |
บ้างจะโน้มพระเมรุบรรพต | ลงเป็นทางบทจรไป |
บ้างจะวิดวักตักสมุทร | ให้แห้งหยุดเป็นหนทางใหญ่ |
บ้างจะเอารี้พลสกลไกร | ใส่ในหัตถาแล้วพาจร |
บ้างจะนิมิตเป็นสำเภา | ใหญ่เท่าอัสกรรณสิงขร |
บ้างจะเอาหางพาดสาคร | ให้วานรไต่ข้ามชลธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายชามพูวราชกระบี่ศรี |
ได้ฟังพจนารถพระจักรี | ชุลีกรสนองพระโองการ |
อันหมู่โยธาวานร | ล้วนมีฤทธิรอนกล้าหาญ |
ภักดีต่อเบื้องบทมาลย์ | คิดการอาสาภูวไนย |
ก็จะได้สำเร็จด้วยฤทธี | แต่ว่าหามีพระเกียรติไม่ |
ขอให้รี้พลสกลไกร | ไปขนเอาศิลามา |
ทุ่มทิ้งลงเป็นถนน | ข้ามพลไปเมืองยักษา |
พระเกียรติจะชั่วกัลปา | ว่าองค์นารายณ์อวตาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศาล |
ฟังขุนกระบี่ปรีชาชาญ | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
พักตร์ผ่องดั่งดวงจันทรา | จึ่งมีบัญชาประกาศิต |
ดูก่อนโอรสพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิเกรียงไกร |
จงคุมพวกพลนิกร | ทุกหมู่วานรน้อยใหญ่ |
ขนศิลาถมท้องสมุทรไท | จองถนนข้ามไปเมืองมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เกณฑ์พลทั้งสองพระนคร | ท้าวพญาพานรพร้อมหน้า |
ออกจากกองทัพพลับพลา | พากันรีบเร่งตรงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายสมุทร | จึ่งหยุดโยธาน้อยใหญ่ |
น้องพญาพาลีผู้ว่องไว | ก็ว่าไปแก่สองเสนี |
นิลพัทจงคุมนิกร | วานรชมพูกระบี่ศรี |
คำแหงหนุมานผู้ฤทธี | คุมกระบี่ขีดขินเวียงชัย |
สองนายผลัดกันรับส่ง | ศิลาทิ้งลงสมุทรใหญ่ |
ให้เป็นถนนข้ามไป | ยังเกาะพิชัยลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ทั้งนิลพัทผู้ศักดา | ฟังพญาสุครีพบัญชาการ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ก็จัดวานรทวยหาญ |
อื้ออึงริมฝั่งชลธาร | ต่างตนปฏิญาณสัญญากัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ฝ่ายนิลพัทฤทธิรอน | ก็พาวานรพลขันธ์ |
ทั้งยี่สิบเจ็ดสมุทรนั้น | ไปยังอรัญคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินเขาหิมพานต์ | ลูกพระกาลผู้ชาญชัยศรี |
คิดแค้นหนุมานแสนทวี | ไอ้นี่องอาจอหังการ์ |
มันทำหยาบหยามไม่เกรงพักตร์ | อายนักไม่รู้ที่ไว้หน้า |
วันนี้จะลองศักดา | อวดกล้าจะได้เห็นกัน |
คิดแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทไหวหวั่น |
สองเท้าก็คีบเขาหิมวันต์ | สองมือนั้นชูคีรินทร |
บรรดาโยธาทวยหาญ | ก็ทะยานเข้าง้างเอาสิงขร |
บ้างหักด้วยกำลังกายกร | แบกได้คนละก้อนก็เหาะมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเรียกวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จงรับเอาก้อนศิลา | ทิ้งในมหาสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นนิลพัทพานร | ขนก้อนมหาคีรี |
มาทั้งสองมือสองเท้า | ใหญ่เท่าคันธมาทน์คีรีศรี |
จึ่งว่าท่านทิ้งให้จงดี | แต่ทีละก้อนอย่าพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิแรงแข็งขัน |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | จึ่งร้องเย้ยหยันด้วยวาจา |
ท่านอย่ากล่าวแกล้งพาที | ตัวเรานี้หนักนักหนา |
ว่าแล้วทิ้งพร้อมกันลงมา | จะให้ถูกกายาหนุมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิไกรใจหาญ |
วิ่งโดดโลดโผนโจนทะยาน | เร็วปานดั่งลมพาจร |
สองหัตถ์ซ้ายขวารวบรับ | ฉวยจับไว้ได้ทั้งสี่ก้อน |
ทิ้งลงในท้องสาคร | ไหวกระฉ่อนโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วดำริตริไป | เหตุใดนิลพัทกระบี่ศรี |
จึ่งอหังการ์ว่าตัวดี | อ้างอวดฤทธีชัยชาญ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะทดแทนมันที่ฮึกหาญ |
คิดพลางพาพลบริวาร | ทะยานไปอารัญบรรพต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสำแดงศักดา | ดั่งว่าเกิดกาลลมกรด |
สะเทือนเลื่อนลั่นถึงโสฬส | หักยอดบรรพตด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ผูกศิลาเข้าทุกเส้นขน | ทั่วตนจะเว้นก็หาไม่ |
เรียกเร่งบริวารบรรดาไป | ได้พร้อมกันแล้วก็เหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงร้องลงไปทันที | ท่านผู้มีฤทธิ์แกล้วกล้า |
จงรับเอาก้อนศิลา | ที่เราขนมาให้วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลพัทชาญสมร |
เห็นลูกพระพายฤทธิรอน | เอาก้อนคีรีผูกมา |
มิได้ว่างเว้นทุกเส้นขน | ลอยอยู่ในบนเวหา |
ขุนกระบี่จึ่งมีวาจา | ดูราวายุบุตรวุฒิไกร |
จงโยนมาทีละสี่ก้อน | พอกรของเราจะรับได้ |
ถ้าทิ้งลงมามากไป | เราไม่รู้ที่จะรับทัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
ว่าเหวยนิลพัทชาญฉกรรจ์ | เมื่อตัวท่านนั้นขนมา |
เราให้โยนแต่ทีละก้อน | วานรฮึกฮักอวดกล้า |
แกล้งทิ้งพร้อมกันลงมา | อย่าช้าเร่งรับให้จงดี |
ว่าแล้วก็สะบัดลงไป | ด้วยฤทธิไกรกระบี่ศรี |
ศิลาก็หลุดลงทันที | ดั่งห่าฝนคีรีตกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลพัทแกล้วกล้า |
ผาดโผนโจนรับศิลา | กลับกลอกละล้าละลังใจ |
ฉวยทั้งมือซ้ายมือขวา | ตกปรายเนื่องมาไม่นับได้ |
จึงเอาเท้ารับด้วยว่องไว | มิให้ถูกต้องอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
เห็นนิลพัทฤทธี | รับก้อนคีรีด้วยบาทา |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งไฟกัลป์ | ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันแล้วชี้หน้า |
เหวยเหวยนิลพัทอหังการ์ | หยาบช้าหมิ่นกันไม่เกรงใจ |
เมื่อคราวเอ็งขนมาส่ง | โยนลงสี่ก้อนกูรับได้ |
ครั้นถึงทีเราทิ้งลงไป | เหตุใดไม่รับด้วยกร |
ตัวกูก็ลูกพระพาย | ขึ้นชื่อว่าชายชาญสมร |
แต่ท้าวชมพูฤทธิรอน | เลื่องชื่อลือขจรทั้งโลกา |
กูยังไปจับมาถวาย | องค์พระนารายณ์นาถา |
ถึงคันธมาทน์บรรพตา | ในนาทีเดียวไม่ยากใจ |
อันตัวมึงนี้จองหองนัก | ทำดั่งใครจักไม่สู้ได้ |
ฤทธีจะมีสักเพียงใด | ไอ้เชลยจังไรอหังการ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิไกรใจหาญ |
ฟังวายุบุตรกล่าวประจาน | โกรธาดั่งกาลอัคคี |
กระทืบบาทผาดร้องตอบไป | เหวยไอ้จังไรกระบี่ศรี |
เย่อหยิ่งสำคัญว่าตัวดี | กูนี้ย่อมแจ้งกิจจา |
ถึงมึงก็เป็นเชลยเก่า | ของพระปิ่นเกล้านาถา |
กูก็เป็นเชลยใหม่มา | อาสาล้างเหล่าปัจจามิตร |
จองถนนข้ามพลไปเมืองมาร | ตามพระโองการประกาศิต |
เอ็งแกล้งประกวดอวดฤทธิ์ | จะพาลเอาผิดหรือว่าไร |
แม้นมาตรกูทำเช่นนี้ | ถึงตัวมึงดีไม่รับได้ |
อย่าโอหังอ้างอวดฤทธิไกร | มาชิงชัยให้เห็นฝีมือกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังกริ้วโกรธขบฟัน | ตัวสั่นโลดโผนโจนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สิงขรสาครกัมปนาท | พสุธาอากาศหวาดไหว |
ถีบถูกนิลพัทฤทธิไกร | ล้มลงในพ่างพื้นปัถพี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ลูกพระกาลผู้ชาญชัยศรี |
ผุดลุกขึ้นได้ทันที | กระบี่วิ่งผลุนหมุนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถาโถมโจมจับวายุบุตร | ด้วยกำลังฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
กอดรัดฟัดกันเป็นโกลา | ต่างเขม้นเข่นฆ่าโรมรัน |
บ้างถีบบ้างขบบ้างกัด | เปลี่ยนผลัดรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ถ้อยทีไม่ละลดกัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ไล่รุกบุกบันประจัญกร | ราญรอนหักโหมโจมตี |
เคล่าคล่องว่องไวทั้งสองหัตถ์ | จับได้นิลพัทกระบี่ศรี |
หมายฆ่าให้สิ้นชีวี | ฟาดกับปัถพีแล้วขว้างไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตกถูกยอดเขาจักรวาล | เสียงสะเทือนสะท้านหวั่นไหว |
ศิลาแตกเป็นประกายไฟ | พรายไปดั่งสายอสุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นิลพัทผู้ชาญชัยศรี |
มิได้ชอกช้ำอินทรีย์ | ขุนกระบี่กริ้วโกรธคือเพลิงกัลป์ |
กระทืบบาทผาดแผลงสำแดงเดช | สองเนตรดั่งดวงสุริย์ฉัน |
หมายมาดพิฆาตชีวัน | ขบฟันโลดโผนโจนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฉวยสะพัดรัดรวบหนุมาน | ลูกพระกาลเขม้นเข่นฆ่า |
ฟาดลงกับพื้นพสุธา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าแดนไตร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ผุดลุกขึ้นด้วยว่องไว | กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกาล |
ตัวสั่นเข่นเขี้ยวเคี้ยวกราม | คำรามเขม้นจะสังหาร |
ทำอำนาจผาดโผนโจนทะยาน | เข้าไล่รอนราญราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองจับสัประยุทธ์สับสน | ต่างตนไม่ท้อถอยหนี |
กอดฟัดกัดกันคลุกคลี | ถ้อยทีเคล่าคล่องว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้นายกองใหญ่ |
นั่งอยู่ริมฝั่งสมุทรไท | แลไปเห็นสองวานร |
เข้าสัประยุทธ์ราวี | ดั่งราชสีห์กับไกรสร |
สู้กันด้วยกำลังฤทธิรอน | ลูกพระทินกรก็ตกใจ |
ร้องห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง | จะนั่งนิ่งดูก็ไม่ได้ |
ผุดลุกขึ้นด้วยว่องไว | ก็วิ่งออกไปทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเข้ายืนหว่างกลาง | ขวางหน้าทั้งสองกระบี่ศรี |
ยึดไว้มิให้ราวี | อึงมี่ทั้งหมู่โยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา