- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายสำมนักขายักษี |
ครั้นทูษณ์ขรตรีเศียรอสุรี | สิ้นชีพชีวีก็ตกใจ |
ความกลัวพระลักษมณ์พระทรงศิลป์ | ดั่งจะแทรกแผ่นดินลงไปได้ |
ก็ออกจากโรมคัลกรุงไกร | ลุยสมุทรข้ามไปลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โล้
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นจากฝั่ง | รีบเดินด้วยกำลังยักษา |
ระเสิดระสังซังเซมา | เข้าในทวาราเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราน้อยใหญ่ |
หญิงชายซึ่งอยู่ในกรุงไกร | แลไปเห็นองค์นางเทวี |
มือด้วนตีนกุดปากแหว่ง | เป็นริ้วแร่งทรลักษณ์บัดสี |
หูขาดจมูกขาดไม่สมประดี | อสุรีแปลกองค์กัลยา |
สยายผมนมยานถึงชายพก | ต่างตระหนกตกใจถ้วนหน้า |
บ้างว่าภูตพรายเข้ามา | บ้างว่าแม่ห่าผีไพร |
ลูกเด็กเล็กน้อยชายหญิง | บ้างล้มบ้างวิ่งไม่ดูได้ |
ร้องตรีดหวีดหวาดวุ่นไป | ด้วยไม่รู้จักนางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
อุตส่าห์ดำรงอินทรีย์ | ตรงไปที่เฝ้าเจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งกอดบาทบงสุ์ | องค์พระบรมเชษฐา |
ชลเนตรอาบพักตร์กัลยา | โศกาเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นน้องท้าวแสนโศกจาบัลย์ | กุมภัณฑ์ตระหนกตกใจ |
ทั้งเห็นโอษฐ์กรรณจมูกขาด | กรบาทด้วนสิ้นเป็นหนองไหล |
พญายักษ์กริ้วโกรธคือไฟ | อันไหม้ทั่วทั้งจักรวาล |
โจนจากแท่นแก้วบัลลังก์ทรง | เรียกหมู่จัตุรงค์ทวยหาญ |
แล้วแผลงฤทธิไกรชัยชาญ | ด้วยกำลังขุนมารอันศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ กลับเป็นสิบพักตร์ยี่สิบกร | สูงเงื้อมอัมพรเวหา |
กายนั้นใหญ่หลวงมหิมา | ดูดั่งภูผาอัศกรรณ |
สิบพักตร์เปล่งเนตรยี่สิบดวง | โชติช่วงดั่งแสงสุริย์ฉัน |
สิบปากกระดากลิ้นเคี้ยวฟัน | เสียงสนั่นดั่งเขาพระเมรุทรุด |
กระทืบบาทผาดโผนโจนร้อง | กึกก้องฟากฟ้าอึงอุด |
มือหนึ่งจับศรฤทธิรุทร | มือสองนั้นยุดพระขรรค์ชัย |
มือสามจับจักรกวัดแกว่ง | มือสี่จับพระแสงหอกใหญ่ |
มือห้าจับตรีแกว่งไกว | มือหกฉวยได้คทาธร |
มือเจ็ดนั้นจับง้าวง่า | มือแปดคว้าได้พะเนินขอน |
มือเก้ากุมเอาโตมร | กรสิบนั้นหยิบเกาทัณฑ์ |
อาวุธครบทั้งยี่สิบหัตถ์ | แกว่งกวัดไวว่องดั่งจักรผัน |
ใครทำน้องกูมาสู้กัน | จะหํ้าหั่นมิให้แค้นคอกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ พิราพรอน
๏ โกรธพลางทางมีพจมาน | บรรหารถามสำมนักขา |
เหตุผลสิ่งใดกัลยา | จึ่งมาเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
มันผู้ซึ่งทำน้องรัก | เป็นยักษ์หรือมนุษย์ฤๅษี |
หรือเทพบุตรครุฑาวาสุกรี | จงพาพี่ไปผลาญราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขาดวงสมร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ประนมกรทูลเป็นมารยา |
เดิมน้องนี้ไม่สบายใจ | จึ่งลาพระองค์ไปเล่นป่า |
พบพระรามพระลักษมณ์นางสีดา | บวชอยู่โคทาวารี |
นางนั้นทรงโฉมอรชร | ยิ่งเทพอัปสรในราศี |
ตัวข้าอุ้มองค์นางเทวี | จะพาหนีมาถวายภูวไนย |
พระลักษมณ์ตามทันที่กลางทาง | ชิงนางสีดาไว้ได้ |
ทำโทษข้าปิ้มจะบรรลัย | ดั่งไร้สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ |
ตัวน้องจึ่งไปแจ้งความ | สามพระเชษฐารังสรรค์ |
โกรธายกพลไปโรมรัน | มนุษย์นั้นกลับผลาญมรณา |
ขอเชิญพระองค์ไปชิงชัย | ฆ่าให้สิ้นชีพสังขาร์ |
แล้วจงพาองค์นางสีดา | มาไว้เป็นศรีเมืองมาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ได้ฟังน้องท้าวเล่าอาการ | ไฟราคร่านร้อนพันทวี |
ซับซาบทุกเส้นโลมา | เสน่หารุมรึงดั่งเพลิงจี่ |
ซึ่งกริ้วโกรธาจะฆ่าตี | ยินดีก็ละลายหายไป |
อาวุธที่ถือนั้นตกลง | จะทันรู้พระองค์ก็หาไม่ |
แต่คะนึงถึงโฉมประโลมใจ | ฤทัยเดือดดิ้นแดยัน |
จึงถามว่ารูปนางสีดา | ซึ่งงามลํ้านางฟ้าสรวงสวรรค์ |
กับมณโฑโสภาวิลาวัณย์ | จะละม้ายคล้ายกันประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องท้าวผู้มีอัชฌาสัย |
ทูลว่าอันหญิงทั้งแดนไตร | ถึงจะงามก็ไม่พร้อมเพรา |
ซึ่งจะเอาพี่นางมณโฑเปรียบ | เทียมเทียบไกลกันสักพันเท่า |
เปรียบขนงแพ้ขนงนงเยาว์ | เปรียบทรงศอเล่าก็ไกลกัน |
เปรียบปรางสีดาก็น่าชม | เปรียบเนตรเนตรคมคมสัน |
เปรียบพักตร์ผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์ | เปรียบถันดั่งปทุมละอองนวล |
เปรียบนาสานางงามแฉล้ม | เปรียบโอษฐ์เห็นแย้มเป็นที่สรวล |
เปรียบทรงแพ้ทรงโดยกระบวน | เปรียบนวลแพ้นวลนางสีดา |
เปรียบทั้งมารยาทก็แพ้ด้วย | ทรวดสวยเป็นที่เสน่หา |
เลิศลักษณ์ทรงเบญจกัลยา | ทั้งโลกาจะเปรียบก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังน้องท้าวพาที | ดั่งวารีทิพย์มารดลง |
ยิ่งแสนพิศวาสจะขาดใจ | ราคร้อนฤทัยใหลหลง |
จึ่งว่าเจ้าชมนางโฉมยง | กับองค์มณโฑว่าไกลกัน |
ถ้าจะเปรียบกับโฉมพระอุมา | พระลักษมีโสภาสาวสวรรค์ |
พระสุรัสวดีวิลาวัณย์ | ทั้งสามองค์นั้นเห็นใครดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขายักษี |
จึ่งทูลว่านางสีดานี้ | มีสิริเสาวภาคย์จำเริญตา |
จะเปรียบพระลักษมีศรีสวัสดิ์ | พระสุรัสวดีเสน่หา |
ทั้งโฉมสมเด็จพระอุมา | น้องเห็นดีกว่าทั้งสามองค์ |
จะจัดงามสามนางประมวลเข้า | ไม่เทียมเท่าสีดานวลหง |
แม้นใครได้เห็นนางโฉมยง | จะงวยงงหลงลืมสมประดี |
มีตาสองตานี้สุดรู้ | ที่จะดูสิ้นงามมารศรี |
ควรเป็นปิ่นสนมนารี | พระพี่เร่งตรึกตราอย่าช้าวัน |
ทูลพลางนางหลงเล่าความ | ถึงพระลักษมณ์พระรามรังสรรค์ |
ทั้งสององค์ทรงโฉมละกลกัน | ยิ่งกว่าเทวัญทุกชั้นฟ้า |
แม้นได้พระมาร่วมห้อง | น้องจะสงวนชมทั้งซ้ายขวา |
ครั้นได้สมประดีคืนมา | กัลยาเขินใจไม่พาที ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ยิ่งฟังยิ่งเฟือนสมประดี | ที่ในรูปทรงนางสีดา |
ตั้งแต่น้องท้าวมากล่าวถึง | ให้คะนึงในความเสน่หา |
แสนรักสุดรักกัลยา | อสุราคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ |
แล้วว่าพระรามผู้สามี | จะเปรียบงามกับพี่นี้ไฉน |
ถ้าได้มาร่วมภิรมย์ใน | เห็นจะรักใคร่นะบังอร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสำมนักขาดวงสมร |
ฟังพระเชษฐาฤทธิรอน | ออกนามภูธรก็ยินดี |
เคลิ้มใจใหลหลงเจรจา | เมตตาน้องเถิดพระโฉมศรี |
อันมือด้วนตีนกุดเพียงนี้ | ภูมีอย่าปรารมภ์ใจ |
แม้นพระจะภิรมย์สมสนิท | น้องจะนิมิตกายใหม่ |
จะงามกว่าสีดาทรามวัย | ให้พระพิสมัยทั้งสององค์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์พงศ์ท้าวครรไลหงส์ |
ได้ยินออกนามนางโฉมยง | เคลิ้มหลงสิ้นสมประฤดี |
จึ่งสรวมสอดกอดนางน้อง | ประคองขึ้นใส่ตักยักษี |
จะอายเหนียมเรียมไยเทวี | บุญเจ้ากับพี่ได้สร้างมา |
ตระโบมโลมลูบจูบพักตร์ | ผลักพี่เสียไยกนิษฐา |
ครั้นเพ่งพิศก็ผิดนางสีดา | อนิจจาเจ้าพี่พี่หลงไป |
ให้คิดขวยเขินสะเทิ้นจิต | จะพิศดูหน้าน้องก็ไม่ได้ |
พญามารร่านร้อนอาวรณ์ใจ | ฝันใฝ่ถึงองค์นางเทวี |
แต่ผุดลุกผุดนั่งคลั่งคลุ้ม | ไฟราครึงรุมดั่งเพลิงจี่ |
ทอดถอนฤทัยไม่สมประดี | ก็จรลีเข้าห้องอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ตรัสแก่มณโฑดวงสมร |
ตามสำมนักขาบังอร | ทูลแจ้งภูธรแต่ต้นมา |
อันลักษมณ์รามหยาบหยามหมิ่นกัน | ความแค้นพี่นั้นหนักหนา |
ดั่งน้องเราประดาษชาติช้า | สุริย์วงศ์พงศาไม่มี |
ตัดจมูกตัดโอษฐ์ทำโทษกร | รอนตีนสินมือโฉมศรี |
มิหนำซ้ำผลาญชีวี | ทูษณ์ขรตรีเศียรมรณา |
ครั้นจะไปฟาดฟันให้บรรลัย | ก็อายใจด้วยมันเป็นชีป่า |
ไตรโลกจะล่วงนินทา | ว่าฆ่ามนุษย์เท่าแมงวัน |
นิ่งเสียก็จะอัปยศนัก | แก่ฝูงสุรารักษ์ในสวรรค์ |
ทั้งหมู่นักสิทธ์คนธรรพ์ | จะชวนกันเยาะเย้ยไยไพ |
พี่คิดจะลักเอาเมียมา | ให้แสนโศกาเลือดตาไหล |
แก้แค้นทำแทนให้ถึงใจ | เจ้าจะเห็นกระไรนางเทวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมารศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองบัญชา |
อันเหตุนี้อัศจรรย์นัก | ถึงได้โหมหักเข่นฆ่า |
จนสามพระน้องมรณา | เป็นน่าหลากใจพ้นคิด |
ชะรอยน้องท้าวไปก่อความ | จึงเกิดสงครามต่อติด |
ถ้าเจ็บแค้นจะแทนปัจจามิตร | ชอบคิดณรงค์ต่อกัน |
ซึ่งจะไปลักเมียเขามา | โลกาจะสำรวลเย้ยหยัน |
ถึงชอบก็เห็นเป็นเสียธรรม์ | อย่าหุนหันให้ผิดประเวณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เจ้าว่ามานี้ก็แจ้งใจ |
อันซึ่งกลความกลศึก | ลับลึกจึ่งเอาชนะได้ |
จะด่วนรบรากันด้วยอันใด | แต่ลักเมียมาไว้จะมรณา |
ตรีโลกหรือจะล่วงติฉิน | ใช่จะยินดีด้วยเสน่หา |
พี่ตัดต้นกลศึกด้วยปรีชา | จะกลัวนินทาก็ใช่การ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
ยอกรสนองพจมาน | ผ่านฟ้าตริตรองให้จงดี |
อันพระลักษมณ์พระรามสุริย์วงศ์ | หลานองค์อัชบาลเรืองศรี |
พงศ์พระหริรักษ์จักรี | ฤทธีเลิศลบโลกา |
ลืมไปแล้วหรือเมื่อครั้งก่อน | เสด็จยังบัญชรกับข้า |
นกกระจอกผัวเมียบินมา | ชมกันที่หน้าพระแกลชัย |
สิบปากพระขับให้บินหนี | สกุณีจะกลัวก็หาไม่ |
ข้าจึ่งนบนิ้วบังคมไป | ออกนามท่านไทอัชบาล |
พระขรรค์ลอยมาแต่อากาศ | ตัดเศียรนกขาดกับหน้าฉาน |
แต่พระนามท่านยังเชี่ยวชาญ | จะมาดูหมิ่นหลานก็ผิดที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศกัณฐ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | อสุรีมิได้จำนรรจา |
เบือนพักตร์นิ่งนึกตรึกตะลึง | ถึงโฉมนางสีดาเสน่หา |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงสนธยา | อสุราเข้าที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรก่ายพักตร์โหยไห้ |
ราคร้อนดั่งนอนในไฟ | อาลัยถึงโฉมนางเทวี |
หลับเนตรให้เห็นเป็นสีดา | คล้ายมาแอบองค์ยักษี |
คว้าไขว่ด้วยใจยินดี | พบเขนยข้างที่อลงกรณ์ |
เกี่ยวกระหวัดรัดแนบแอบชิด | คิดว่าสีดาดวงสมร |
ลืมเนตรไม่เห็นบังอร | พระกรกอดหมอนเอนองค์ |
ก็ผลักเสียจากกายา | อสุราครวญคิดพิศวง |
ทำไฉนจะได้นางโฉมยง | มาเป็นปิ่นอนงค์นารี |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่ไสยาสน์ | จนภานุมาศเรื่อแรงแสงสี |
โกกิลไก่แก้วสกุณี | ร้องมี่เร้าเร่งอโณทัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ จึ่งคิดได้ว่าลูกกากนา | มารีศผู้มีอัชฌาสัย |
จะให้ไปล่อลวงทรามวัย | เห็นว่าจะได้ดั่งใจคิด |
ตริแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองกรกุมศรสิทธิ์ |
เสด็จจากปราสาทแก้วชวลิต | ทรงฤทธิ์ออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์เหนือแท่นเนาวรัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | ก้มเกล้าอภิวันท์ดุษฎี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่มารีศมารยักษี |
บัดนี้พี่น้องสองชี | กับนารีหนึ่งชื่อสีดา |
มาอยู่ที่โคทาสาคร | ตัดกรนางสำมนักขา |
ทั้งทูษณ์ขรตรีเศียรอสุรา | มันล้างชีวาบรรลัย |
ครั้นจะไปพิฆาตฟาดฟัน | จะมีเกียรติยศนั้นก็หาไม่ |
จำจะผลาญด้วยการกลใน | ให้มันได้ทุกข์แสนทวี |
ท่านจงจำแลงเป็นกวางทอง | ผิวพรรณผุดผ่องจำรัสศรี |
ไปยังอรัญกุฎี | ล่อลวงเทวีด้วยมารยา |
ให้นางมีจิตพิศวง | ลุ่มหลงในกลยักษา |
แล้วทำเดินร่ายชายมา | แทบใกล้ศาลาอรไท |
แม้นว่าลักษมณ์รามไปตามกวาง | เราจะลักนางมาให้ได้ |
ตัวท่านจงเร่งรีบไป | อย่าช้าแต่ในเวลานี้ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามารีศยักษี |
ได้ยินออกนามพระจักรี | อสุรีตกใจเป็นพ้นนัก |
ดั่งหนึ่งพญามัจจุราช | มาพิฆาตตัดเศียรด้วยคมจักร |
จึ่งสนองบัญชาพญายักษ์ | พระปิ่นปักนัคเรศจงเมตตา |
อันซึ่งพระรามองค์นี้ | คือพระสี่กรนาถา |
อวตารมาบำรุงโลกา | ปรากฏพระยศเกรียงไกร |
พระอนุชาทั้งสามไปยงยุทธ์ | พลสี่สิบสมุทรหาเหลือไม่ |
แม่ข้ากับพี่ก็บรรลัย | กากนาหมดไปด้วยฤทธี |
ตัวข้าก็แทบประดาตาย | ด้วยศรพระนารายณ์เรืองศรี |
หนีได้จึ่งรอดชีวี | พระภูมีก็ทราบบาทา |
ครั้งนี้จะให้กลับไป | ฆ่าชีวาลัยเสียดีกว่า |
ถ้าพระองค์มิทรงพระเมตตา | น่าที่จะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรพงศ์พรหมรังสรรค์ |
ได้ฟังดั่งตรีแทงกรรณ | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธโกรธา |
ผุดลุกขึ้นจากบัลลังก์อาสน์ | กระทืบบาทผาดร้องดั่งฟ้าผ่า |
เหวยเหวยมารีศอสุรา | มากลัวชีป่าอันสัญจร |
จึ่งแกล้งสรรเสริญมนุษย์ | ว่านารายณ์ฤทธิรุทรทรงศร |
ญาติวงศ์บรรลัยไม่อาวรณ์ | มาลวงหลอนกูด้วยอันใด |
เสียแรงนับถือว่าเป็นน้า | จะเจรจาจริงก็หาไม่ |
ถึงมันจะมีฤทธิไกร | ข้ามสมุทรมาได้เมื่อไรมี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มารีศสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังพญาอสุรี | นบนิ้วชุลีแล้วทูลไป |
อันพระวงศ์พงศ์พันธุ์มรณา | ใช่ว่าไม่แค้นนั้นหาไม่ |
แต่ข้าคิดเห็นจะเป็นภัย | จึงได้ทูลทัดบทมาลย์ |
ด้วยพระองค์ผู้วงศ์พรหเมศ | เป็นปิ่นเกศกษัตรามหาศาล |
ประกอบด้วยพระสนมบริวาร | จะต้องการอะไรแก่สีดา |
ให้ได้เดือดร้อนเพราะนางเดียว | จะเกิดศึกขับเคี่ยวไปวันหน้า |
พระองค์ก็ทรงพระปัญญา | จงตรึกตราโดยธรรมประเวณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธคืออัคคี | จึ่งมีสีหนาทตวาดไป |
เพียงหนึ่งปราสาทราชฐาน | จะหักพังไม่ทานทนได้ |
เหวยเหวยมารีศจังไร | ถึงจะเกิดศึกใหญ่ไม่กลัวกัน |
แม้นมิไปตามประกาศิต | กูจะล้างชีวิตให้อาสัญ |
ลูกเมียโคตรวงศ์พงศ์พันธุ์ | อันจะเหลืออยู่นั้นอย่าสงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญามารีศยักษา |
เห็นท้าวทศกัณฐ์โกรธา | ความกลัวอาญาเป็นพ้นคิด |
ตัวสั่นหน้าซีดไม่สมประดี | อสุรีอัดอั้นตันจิต |
จะไปก็กลัวพระทรงฤทธิ์ | จะอยู่กลัวชีวิตจะวายปราณ |
ทั้งญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ | จะพากันสิ้นชีพสังขาร |
จำจะสู้เสียชนมาน | ไปตามบุราณกรรมมี |
คิดแล้วประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษี |
ซึ่งข้าทานทัดทั้งนี้ | ด้วยภักดีต่อองค์ภูวไนย |
เห็นผิดจากธรรมทศพิธ | จะแกล้งคิดบิดผันนั้นหาไม่ |
เมื่อมิฟังแล้วก็จนใจ | จะทำตามในพระบัญชา |
แต่ซึ่งจะออกไปนั้น | ชีวันจะม้วยสังขาร์ |
พระองค์จงทรงพระเมตตา | เลี้ยงลูกเมียข้าผู้ภักดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | มาโสรจสรงอินทรีย์ขุนมาร |
จึ่งกล่าวมธุรสอันสุนทร | ดูกรมารีศใจหาญ |
ตัวท่านก็ปรีชาชาญ | อันจะวายปราณนั้นผิดไป |
แม้นว่าทำการสำเร็จ | ยศศักดิ์บำเหน็จจะแทนให้ |
ทั้งบุตรภรรยาอย่าอาลัย | จะเลี้ยงไว้ให้สุขสวัสดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มารีศสิทธิศักดิ์ยักษี |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | ไปยังที่อยู่อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องทองไสยาสน์ | อันโอภาสด้วยลายเลขา |
กรกอดนางแก้วเจษฎา | แสนโศกโศกาจาบัลย์ |
สะอื้นพลางพลางกล่าวสุนทร | ดูกรเยาวยอดเฉลิมขวัญ |
ตั้งแต่วันนี้จะจากกัน | เวรทันพี่แล้วนางเทวี |
เหตุด้วยอีสำมนักขา | มายอโฉมสีดามารศรี |
บัดนี้พญาอสุรี | จะให้พี่แปลงกายเป็นกวางไป |
ล่อลวงองค์พระหริรักษ์ | แล้วจะลักนางมาพิสมัย |
ครั้นว่าทานทัดก็ขัดใจ | จะฆ่าให้สิ้นวงศ์พงศ์พันธุ์ |
สุดคิดพี่แล้วนะโฉมตรู | จะสู้เสียชนมาอาสัญ |
ครั้งก่อนปิ้มม้วยชีวัน | หากว่าหนีทันจึ่งรอดมา |
ครั้งนี้น่าที่พี่จะตาย | ด้วยศรพระนารายณ์นาถา |
โอ้ว่าเจ้าดวงนัยนา | กัลยาค่อยอยู่จงดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอ้
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วเจษฎาโฉมศรี |
ได้ฟังพระราชสามี | เทวีตีอกเข้าทันใด |
ดั่งหนึ่งพระกาลพาลราช | มาพิฆาตตัดเศียรไปได้ |
ซบพักตร์ลงกอดพระบาทไว้ | อรไทครวญคร่ำรำพัน |
โอ้ว่าพระปิ่นปกเกศ | ได้พึ่งเดชเป็นสุขเกษมสันต์ |
ควรหรือมาวิบัติพลัดกัน | จนถึงชีวันมรณา |
เสียแรงพระองค์ฝากกาย | หมายจะพึ่งท้าวยักษา |
ควรหรือยังไม่เมตตา | แกล้งฆ่าให้สิ้นชีวี |
ตั้งแต่วันนี้จะทนทุกข์ | เสื่อมสุขจากความเกษมศรี |
จะกินน้ำตาทุกราตรี | มีแต่จะได้เดือดร้อน |
พระองค์จงพิฆาตฟาดฟัน | ผลาญชีวันเมียเสียก่อน |
จึ่งจะสิ้นอาลัยอาวรณ์ | บังอรร่ำพลางทางโศกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พญามารีศยักษา |
ได้ฟังองค์อัครชายา | ซบพักตร์วอนว่ายิ่งอาลัย |
ชลนัยน์คลอคลองนองเนตร | แสนเทวษทอดถอนใจใหญ่ |
กรกอดประทับกับอกไว้ | เจ้าผู้ดวงใจอย่าโศกี |
อันเกิดมาในภพสงสาร | ใครจะพ้นพระกาลก็ใช่ที่ |
ถึงเขาพระสุเมรุคีรี | ก็มีที่บรรลัยด้วยไฟกัลป์ |
อันพรหมลิขิตติดตัวมา | หรือจะไม่มรณาอาสัญ |
เจ้าอย่าแสนโศกาจาบัลย์ | ขวัญเมืองค่อยอยู่สถาวร |
จงระวังความผิดคิดกลัว | ฝากตัวนุชนาฏสายสมร |
แก่องค์ท้าวยี่สิบกร | สั่งแล้วบทจรขึ้นมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนบนิ้วบังคม | พระพงศ์พรหมธิราชยักษา |
ท่ามกลางอสูรเสนา | คอยฟังบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นเห็นมารีศก็ยินดี | มีพักตร์ผ่องเพียงจันทรา |
ดั่งได้สีดาเยาวลักษณ์ | มาร่วมรสรักเสน่หา |
สรวลยิ้มพริ้มพรายจำนรรจา | อสุราสำราญฤทัย |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | เหวยเสนามารผู้ใหญ่ |
จงจัดโยธาอันร่วมใจ | ที่ว่องไวปรีชากล้าฤทธิ์ |
ให้ได้สักห้าสิบตน | อันอาจปลอมปล้นถึงดุสิต |
เตรียมทั้งรถแก้วชวลิต | กูจะไปโดยทิศอัมพร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดพลทหารชำนาญยุทธ์ | เลือกล้วนฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
แต่ละตนมีกำลังกายา | สู้ข้าศึกได้เป็นหมื่นพัน |
เติบโตลํ่าสันสามารถ | องอาจเรี่ยวแรงแข็งขัน |
ห้าวฮึกขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กรนั้นกวัดแกว่งอารุธ |
ต่างตนต่างว่าเราเท่านี้ | ถึงจะพบไพรีนับสมุทร |
จะอาสาพระองค์ออกยงยุทธ์ | ฆ่าให้ม้วยมุดด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ครั้นรุ่งสร่างสว่างเวลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | ปทุมทิพย์เป็นละอองฝอยฝน |
ฝอยฟุ้งจรุงรสสุคนธ์ | รสคันธ์ปรุงปนสุมามาลย์ |
สุมามาศสนับเพลาภูษา | ภูษิตรจนาเครือก้าน |
เครือเกี้ยวชายไหวโอฬาร | โอฬาร์ชัชวาลชายแครง |
ชายครุยเกราะแก้วกาบกระหนก | กาบกระหนาบรัดอกเครือแย่ง |
เครือยกทับทรวงลายแทง | ลายทิพพรายแสงสังวาลวัลย์ |
สังวาลแววทองกรพาหุรัด | พาหุเรืองจำรัสทับทิมคั่น |
ทับทิมควงธำมรงค์เรือนสุบรรณ | เรือนสะบัดเพชรพรรณอลงกรณ์ |
อลงกตมงกุฎดอกไม้ทัด | ดอกไม้ทิศเนาวรัตน์ประภัสสร |
ประภัสศรีสุวรรณกรรเจียกจร | กรกุมศรชัยจรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นพิชัยรถ | อลงกตจำรัสรัศมี |
ให้พญามารีศอสุรี | นั่งที่หน้าราชรถทรง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | กงเพริศกำแพร้วงอนระหง |
ทูบแอบท้ายอ่อนยรรยง | ดุมวงดูวับจับกัน |
กาบแก้วแวววามบัลลังก์รัตน์ | สีจำรูญแสงจำรัสฉายฉัน |
เทียบสัตว์เทียมสิงห์สองพัน | ตัวกลั่นต่างกล้าเริงรณ |
ขุนรถขับรีบผันผยอง | ลอยทางเลื่อนท้องเวหน |
เมฆกลับหมอกเกลื่อนอำพน | ลมบนเกลื่อนบังอโณทัย |
ยักษีย่อมแสนสามารถ | เคียงองค์ข้างอาสน์อยู่ไสว |
รีบขับรถข้ามสมุทรไป | อำไพเอี่ยมเพียงสุริยน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงฝั่งฟากสาคร | ก็ลอยร่อนลงจากเวหน |
ซุ่มอยู่ที่ชายอารญ | ต้นทางโคทาวารี |
จึ่งกำชับปากเสียงพลไกร | อย่าไอจามพูดจาอึงมี่ |
แล้วให้มารีศอสุรี | แปลงอินทรีย์เป็นมฤคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มารีศสิทธิศักดิ์ยักษา |
รับสั่งแล้วถวายบังคมลา | ก็เข้าไปในป่าพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ยอกรประนมเหนือเกศ | คิดคุณพรหเมศรังสรรค์ |
อ่านเวทแปลงกายกุมภัณฑ์ | ด้วยฤทธีอันมหิมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นกวางทอง | ผิวผ่องเพียงเทพเลขา |
สองเขาดั่งแก้วมุกดา | สองตาดั่งดวงมณีนิล |
สองหูดั่งกลีบบุษบัน | สี่เท้ายืนยันจบกลิ่น |
เยื้องย่องทำนองดั่งหงส์บิน | งามสิ้นทั่วสรรพางค์กาย |
เสร็จแล้วคะนองลองเชิง | ร่ายเริงระเหิดเฉิดฉาย |
ปีปเปรี้ยงดั่งเสียงกวางทราย | เยื้องกรายมายังอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
เห็นมารีศนิมิตกายา | เป็นกวางทองโสภาวิลาวัณย์ |
น่าเชยน่าชมน่ารัก | พญายักษ์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จึ่งลงจากรถแก้วแพรวพรรณ | กุมภัณฑ์ลูบทั่วอินทรีย์ |
แล้วมีพระราชบรรหาร | สั่งมารีศมารยักษี |
ท่านจงรีบไปยังกุฎี | ทำทีล่อลวงนางสีดา |
เห็นหลงด้วยกลอุบาย | แล้วเดินชายเข้าดงพงป่า |
แม้นผัวนางติดตามมา | จงร้องด้วยมารยาอสุรี |
ให้ประจักษ์ดั่งเสียงพระราม | น้องชายก็จะตามไปช่วยพี่ |
เราจึ่งจะลักนางเทวี | หนีไปลงกาพระนคร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มารีศขุนมารชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | บทจรตรงไปยังศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
เห็นกวางทองย่องตามมรคา | อสุราก็สะกดรอยไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้ยังอาศรมสถาน | ขุนมารผู้มีอัชฌาสัย |
เข้าแอบอยู่ชายพนาลัย | นัยน์เนตรเขม้นคอยที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มารีศกวางทองยักษี |
ครั้นมาถึงหน้ากุฎี | ทำทีเป็นกวางพนาวัน |
แกล้งเดินเหยาะเหย่าเข้าใกล้ | ทำตกใจตื่นโจนโผนผัน |
ลำพองลองเชิงยืนยัน | ตานั้นเหลือบดูกัลยา |
เห็นนางแลมาก็ทำร้อง | เยื้องย่องประหนึ่งจะเข้าหา |
แล้วโลดโผนโจนไปโจนมา | ก้มเงยกินหญ้าเป็นที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
อยู่กับพระลักษมณ์พระจักรี | ที่หน้าพระบรรณศาลา |
เหลือบแลไปเห็นพญากวาง | เยื้องย่างมาตามชายป่า |
สีเหลืองเรืองรองดั่งทองทา | รจนาพริ้งเพราทั้งกาย |
ปากเท้าแดงดั่งปัทมราช | งามประหลาดกว่ากวางทั้งหลาย |
แสนสวาทดั่งจะขาดใจตาย | จึ่งทูลพระนารายณ์สามี |
พระองค์ผู้ทรงศักดาเดช | จงโปรดเกศข้าบาทบทศรี |
ช่วยจับสุวรรณมฤคี | มาเลี้ยงไว้ที่ศาลา |
น้องรักจักได้เชยชม | ให้เป็นบรมสุขา |
แม้นตายจงเอาหนังมา | ตัวข้าจะลาดเป็นอาสน์นอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงศร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ภูธรพิศดูมฤคี |
เยื้องย่องทำนองดั่งยนต์ | งามขนงามเขางามสี |
งามรัดงามเรียวทั้งอินทรีย์ | มีความสงสัยในวิญญาณ์ |
จึ่งกล่าวพจนารถอันสุนทร | ดูกรเยาวยอดเสน่หา |
กวางนี้ใช่กวางอรัญวา | เห็นจะเป็นมารยากุมภัณฑ์ |
ครั้นจะซึ่งหน้ามาต่อฤทธิ์ | กลัวว่าชีวิตจะอาสัญ |
ไม่อาจหักโหมโรมรัน | มันจึ่งแกล้งแปลงเป็นกวางมา |
หวังจะล่อลวงให้ติดตาม | ด้วยกลสงครามของยักษา |
แม้นพี่ไปจากศาลา | เห็นว่าจะมีเหตุการณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังบัญชาพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
พระองค์ผู้ทรงศักดาฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศก็ปราบได้ |
อันกวางสุวรรณอำไพ | ในหิมวาลัยก็ย่อมมี |
แต่หากไม่ทรงพระเมตตา | จึ่งแกล้งว่ามารยายักษี |
แม้นมิได้พญามฤคี | ข้านี้จะม้วยชีวัน |
ทูลพลางสะอื้นซบพักตร์ | กับตักพระนารายณ์รังสรรค์ |
แสนเทวษวิงวอนรำพัน | กัลยากลิ้งเกลือกเสือกไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงฤทธิ์แผ่นดินไหว |
เห็นนางแสนโศกร่ำไร | เพียงชีวาลัยจะมรณา |
สองกรช้อนองค์อัคเรศ | ลูบเช็ดชลเนตรซ้ายขวา |
รับขวัญแล้วมีบัญชา | แก้วตาอย่าทรงโศกี |
ตัวเจ้าก็เป็นเพื่อนยาก | สู้แสนลำบากมาด้วยพี่ |
ไฉนจะไม่รักนางเทวี | มารศรีอย่าร้อนรนใจ |
ซึ่งเจ้าประสงค์กวางทอง | จะจับมาให้น้องอย่าร้องไห้ |
ปลอบพลางลูบหลังอรไท | แล้วตรัสไปแก่องค์อนุชา |
เจ้าผู้ร่วมทุกข์ร่วมยาก | ร่วมลำบากร่วมชีพสังขาร์ |
พี่จะไปจับมฤคา | จงอยู่รักษานางเทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
จึ่งสนองพจนารถวาที | ภูมีจงยั้งพระทัยคิด |
อันซึ่งสุวรรณมฤคา | ท่วงทีกิริยานั้นเห็นผิด |
จะเป็นอสุราแกล้งนิมิต | เหมือนทรงฤทธิ์มีราชโองการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ฟังพระอนุชาทัดทาน | นงคราญขัดแค้นแน่นอุรา |
จึ่งว่าขอบใจเจ้าลักษมณ์ | ภักดีต่อองค์พระเชษฐา |
ตัวพี่เป็นบาทบริจา | ได้ความยากมาด้วยกัน |
ตั้งแต่วันจากพระบุรี | ไม่มีสิ่งสุขเกษมสันต์ |
วันนี้พบกวางสุวรรณ | ผิวพรรณเป็นที่จำเริญตา |
พี่จะใคร่ได้ไว้ชมเล่น | ตามประสาเข็ญใจที่ในป่า |
ให้คลายวายทุกข์เวทนา | อนิจจาควรหรือไม่ปรานี |
จะทูลห้ามไยเล่านะน้องรัก | จงชักพระขรรค์มาฟันพี่ |
ว่าพลางแสนโศกโศกี | เทวีเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
เห็นนางโศการำพัน | ดั่งหนึ่งชีวันจะวายปราณ |
จึ่งโอบอุ้มองค์ขึ้นใส่ตัก | พิศพักตร์แล้วคิดสงสาร |
ตระโบมโลมปลอบนงคราญ | เจ้าดวงชนมานของพี่ยา |
อย่าแสนโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนเศร้าโทมนัสสา |
พี่จะไปจับมฤคา | มาให้แก้วตายาใจ |
ว่าแล้วตรัสสั่งพระลักษมณ์ | น้องรักผู้มีอัชฌาสัย |
จงอยู่รักษาอรไท | อย่าให้มีเหตุเภทพาล |
ตรัสพลางจับศรอันศักดา | งามสง่าดั่งพระสุริย์ฉาน |
ยุรยาตรจากอาสน์อลงการ | ผ่านฟ้าหมายมุ่งมฤคี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญามารีศยักษี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | จรลีออกจากศาลา |
ทำแกล้งผาดโผนโจนร้อง | ลำพองลองเชิงแล้วกินหญ้า |
ล่อให้พระเสด็จตามมา | ด้วยกลมารยากุมภัณฑ์ |
ครั้นว่าเห็นใกล้ก็ชายหนี | ทำทีโลดโจนโผนผัน |
เดินร่ายตามชายพนาวัน | หวังให้ไกลบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉาน
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
เลี้ยวไล่สุวรรณมฤคา | โดยแถวแนวป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ พระเร่งรีบติดตามกวางไป | จนอุทัยร้อนแรงแสงสี |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งอัคคี | ภูมีขึ้นศรจะรอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญามารีศใจหาญ |
โลดโผนโจนข้ามห้วยธาร | ผ่านขึ้นบนเนินบรรพตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ วิ่งพลางเหลียวหลังไม่ยั้งหยุด | จนสุดกำลังยักษา |
ลืมตัวด้วยกลัวพระจักรา | ก็กลายกลับเป็นหน้ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
แลเห็นพญากวางสุวรรณ | หน้านั้นกลับเป็นยักษ์ไป |
ก็รู้ว่าอสูรแปลงเพศ | ทรงเดชกริ้วโกรธดั่งเพลิงไหม้ |
จึ่งประกาศสีหนาทเกรียงไกร | เหวยไอ้มารีศอสุรี |
ครั้งเมื่อแม่มึงเป็นกา | ไปโฉบศาลาพระฤๅษี |
ตัวกูสังหารผลาญชีวี | สวาหุพี่มึงก็บรรลัย |
มึงนี้กูไว้ชีวิต | จะรู้คุณสักนิดก็หาไม่ |
ไอ้ชาติทรลักษณ์จังไร | ครั้งนี้กูไม่ไว้ชีวา |
ว่าแล้วชักศรพาดสาย | ชำเลืองเยื้องกรายเงื้อง่า |
เขม้นหมายซึ่งกายมฤคา | ผ่านฟ้าผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ พระเมรุสัตภัณฑ์ก็หวั่นไหว | สนั่นไปถึงชั้นดุสิต |
ต้องตัวอสุราปัจจามิตร | โลหิตไหลดาษสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามารีศใจหาญ |
ต้องศรเจ็บเพียงบรรลัยลาญ | ขุนมารร้องขึ้นด้วยมารยา |
โอ้ว่าเจ้าลักษมณ์ผู้ร่วมใจ | กวางนี้มิใช่กวางป่า |
มันกลายไปเป็นอสุรา | เข้าต่อฤทธาราวี |
น้องรักจงเร่งมาช่วย | แม้นช้าพี่จะม้วยด้วยยักษี |
ร้องพลางล้มลงกับปัถพี | อสุรีสุดสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสาวสวรรค์ |
ได้ยินสำเนียงกุมภัณฑ์ | ร้องนั้นเหมือนเสียงพระสี่กร |
ตกใจดั่งสายสุนีบาต | มาฟอนฟาดกายาดวงสมร |
แสนทุกข์แสนเทวษอาวรณ์ | บังอรตรัสแก่อนุชา |
ได้ยินแล้วหรือน้องรัก | เสียงพระทรงจักรเรียกหา |
ให้เจ้าผู้ร่วมชีวา | ไปช่วยเข่นฆ่าอสุรี |
พ่อจงรีบไปให้ทัน | จะได้โรมรันกับยักษี |
แม้นช้าพระองค์จะเสียที | เจ้าพี่อย่านิ่งนอนใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังพระเสาวนีย์อรไท | ประนมไหว้กราบทูลด้วยปรีชา |
อันองค์พระนารายณ์อวตาร | หรือจะแพ้พวกพาลยักษา |
แต่ทูษณ์ขรตรีเศียรอันศักดา | โยธานับสมุทรไม่ทานฤทธิ์ |
ถึงไพรีเพียบพื้นแผ่นดิน | ก็จะบรรลัยสิ้นด้วยศรสิทธิ์ |
เสียงนี้เป็นเสียงปัจจามิตร | ผิดเสียงสมเด็จพระจักรี |
แม้นน้องไปตามพระภุชพล | ก็จะต้องด้วยกลยักษี |
พระพี่นางจะอยู่ผู้เดียวนี้ | ภายหลังจะมีภัยพาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังดั่งพิษเพลิงกาฬ | มาเผาผลาญร้อนทั่วกายา |
จึ่งว่าอนิจจาเจ้าลักษมณ์ | นี่หรือว่ารักพระเชษฐา |
จะให้ตามไปช่วยพระจักรา | มากลับคิดร้ายไม่อายใจ |
แสร้งว่าอสุราอุบายร้อง | จะเลียมลองใจข้าหรือไฉน |
จะละให้พระองค์บรรลัย | คิดไยฉะนี้อนุชา |
แม้นเจ้ามิออกไปตามพี่ | วันนี้เราจะม้วยสังขาร์ |
ว่าพลางซบพักตร์ลงโศกา | กัลยาครวญคร่ำรำพัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ โอ้อนิจจาตัวกูเหมือนคนชั่ว | ใช้ผัวไปม้วยอาสัญ |
ดังหญิงแพศยาอาธรรม์ | สิ้นกัปสิ้นกัลป์ไม่ว่าดี |
โอ้ว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | ทรงคุณยิ่งฟ้าราศี |
รักเมียไม่เสียดายชีวี | จึ่งเสียทีด้วยกลอสุรา |
เสียแรงที่ได้อวตาร | หรือมาแพ้แก่มารยักษา |
ร่ำพลางตีอกเข้าโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังนางตัดพ้อรำพัน | ดั่งอาวุธฟาดฟันกายา |
จึ่งยอกรประนมเหนือเกศ | ทูลองค์อัคเรศเสน่หา |
ซึ่งพระเสาวนีย์ตรัสมา | ไม่ควรแก่ข้าผู้ภักดี |
ตัวน้องจงรักพระพี่เจ้า | ดั่งมารดาเกิดเกล้าเกศี |
ซึ่งจะให้โดยเสด็จพระจักรี | ข้านี้ขัดสนจนใจ |
เมื่อพระองค์จะไปตามกวาง | ผ่านฟ้าหาวางพระทัยไม่ |
ให้ข้ารักษาพี่นางไว้ | กว่าพระภูวไนยจะกลับมา |
แม้นไปภายหลังมีเหตุ | ทรงเดชจะลงโทษา |
ด้วยล่วงพระราชบัญชา | ตัวข้าก็จะสิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ยิ่งฟังยิ่งแค้นแน่นวิญญาณ | จึงมีพจมานตรัสไป |
ถึงพระองค์ให้อยู่รักษาพี่ | เมื่อมีเหตุมาจะทำไฉน |
จะเป็นโทษทัณฑ์ด้วยอันใด | หากแกล้งใส่ไคล้เจรจา |
ทั้งนี้เพื่อจิตเจ้าคิดคด | ทรยศต่อองค์พระเชษฐา |
เพราะอยู่แต่สองในศาลา | แสร้งบิดเบือนว่าทุกสิ่งไป |
ถึงมาตรตัวเราจะเป็นม่าย | ที่จะหมายพึ่งเจ้านั้นหาไม่ |
สู้เสียชีวิตชีวาลัย | ตายไปตามองค์พระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ฟังพระเสาวนีย์ตัดรอน | ให้รุ่มร้อนพระทัยดั่งไฟกัลป์ |
ครั้นจะไปกลัวล่วงบรรหาร | องค์พระอวตารรังสรรค์ |
จะอยู่ตามบัญชาพระทรงธรรม์ | ก็เกรงพี่นางนั้นจะโกรธา |
แต่ถอนทอดฤทัยถอยคิด | ร้อนจิตเพียงสิ้นสังขาร์ |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | กราบกับบาทาเทวี |
ตัวน้องขอลาบาทบงสุ์ | ไปตามองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
พี่นางจงอยู่สวัสดี | อย่าโศกีเร่าร้อนฤทัย |
ทูลแล้วยอกรขึ้นเหนือเกศ | ฝากฝูงเทเวศร์น้อยใหญ่ |
อินทร์พรหมยมเรศทั้งแดนไตร | พระไพรเจ้าป่าพนาลี |
อันอยู่ทั่วทิพวิมาน | ทุกห้วยธารเถื่อนถํ้าคีรีศรี |
ทั้งองค์นางพระธรณี | ข้านี้ขอฝากนางกัลยา |
อันเป็นมเหสีทรงลักษณ์ | ของพระหริรักษ์นาถา |
ฝากแล้วจับศรศักดา | บ่ายหน้าย่างเยื้องจรจรัล ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลง
๏ เดินพลางพระทางหยุดอยู่ | ดูพระพี่นางแล้วโศกศัลย์ |
ให้หนักอกหนักใจจาบัลย์ | กลับมาอภิวันท์แล้วโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ รื้อขืนอารมณ์ข่มจิต | ทรงฤทธิ์ประณตบทศรี |
ออกจากอรัญกุฎี | จรลีไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด