- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นได้ยินคำพระมุนี | ตกใจพ้นที่จะเปรียบปาน |
ล้มลงตรงหน้าพระเมรุทอง | ดั่งต้องแสงศรสังหาร |
นัยน์เนตรมืดมนอนธการ | ตะลึงลานครวญคร่ำรำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าเสียชาติที่เกิดมา | ในวงศ์อิศรารังสรรค์ |
หลงเข้าสู่ท้องคนอาธรรม์ | สารพันได้ชํ้าระกำใจ |
อัปยศทั่วไปทั้งไตรจักร | จะแลดูพักตร์ผู้ใดได้ |
แม่ชั่วก็พลอยเสียตัวไป | เหตุด้วยลูกไกลพระบาทา |
ถ้าอยู่สนองประคองบาท | องค์พระบิตุราชนาถา |
ที่ไหนจะสิ้นชนมา | ไปยังฟากฟ้าสุราลัย |
พระองค์ปลงชีพชีวัน | ลูกจะทันเห็นใจก็หาไม่ |
แต่จะปลงศพภูวไนย | ก็มิได้ถวายอัคคี |
ทั้งนี้เป็นต้นเพราะหินชาติ | ให้เคืองบาทจึ่งสั่งพระฤๅษี |
ความผิดสิ่งใดลูกไม่มี | มาเป็นดั่งนี้อนาถนัก |
รำพลางฟูมฟายชลเนตร | แสนเทวษพ่างเพียงอกหัก |
ถอนใจสะอื้นฮักฮัก | ซบพักตร์ลงทรงโศกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระสัตรุดสุริย์วงศ์นาถา |
กับสองสมเด็จพระมารดา | พระวงศาสนมกำนัล |
บ้างถือสุคนธมาลาศ | ธูปเทียนโอภาสฉายฉัน |
กฤษณาเนื้อไม้จวงจันทน์ | พร้อมกันถวายอัญชุลี |
ต่างต่างขมาลาโทษ | รายรอบพระโกศจำรัสศรี |
คำรพจบจุดอัคคี | ถวายเพลิงภูมีแล้วร่ำไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด ปี่กลอง
๏ เมื่อนั้น | สองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ครั้นสิ้นซากศพภูวไนย | ดับไฟให้ก่อเป็นเจดีย์ |
ไว้ธาตุบรมกษัตริย์ | ตามอย่างจักรพรรดิเรืองศรี |
เสร็จแล้วทั้งสองพระมุนี | ก็กลับไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
คิดแค้นสมเด็จพระมารดา | ยิ่งแสนโศกาจาบัลย์ |
โอ้อนิจจาแก่ตัวกู | ดูดั่งทรลักษณ์โมหันธ์ |
เสียทีเป็นวงศ์เทวัญ | มาเข้าครรภ์คนกาลกิณี |
ความชั่วจะติดอยู่ไม่รู้หาย | อับอายเทวาทุกราศี |
พระบิตุเรศสิ้นชีพชีวี | พี่น้องก็พลัดกันไป |
มาตรแม้นตัวตายเสียดีกว่า | จะอยู่ก็หาประโยชน์ไม่ |
พระแสนโศกาอาลัย | จนอุทัยเยี่ยมยอดยุคนธร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ มิได้ชำระสระสรง | ทรงแต่พระแสงธนูศร |
ชวนพระสัตรุดฤทธิรอน | บทจรออกพระโรงชัชวาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์แก้ว | อันเพริศแพร้วพรรณรายฉายฉาน |
จึ่งสั่งสุมันตันผู้ปรีชาญ | ให้เตรียมทหารโยธี |
จัดทั้งพิชัยรถทรง | องค์พระมารดาสองศรี |
เราจะไปรับเสด็จพระจักรี | คืนมาบูรีภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งเกณฑ์พวกพลจัตุรงค์ | สิบหมู่อาจองแข็งขัน |
เลือกล้วนแกล้วหาญชาญฉกรรจ์ | อยู่ยงคงกระพันห้าวฮึก |
ต่างถือหอกใหญ่หอกซัด | โสมนัสโห่ร้องก้องกึก |
ถือปืนธนูดูพิลึก | คึกคึกเพียบพื้นธรณี |
จัดทั้งรถทรงอลงกรณ์ | เทียมด้วยอัสดรต่างสี |
รถรองรถประเทียบนารี | ก็เสด็จโดยมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ชมตลาด
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดนาถา |
ต่างองค์ทรงเครื่องจรรยา | เจิมจุณมุ่นชฎาเป็นชีไพร |
สอดสวมประคำมรกต | งามดั่งนักพรตอาจารย์ใหญ่ |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องคลาไคล | ไปเฝ้าพระราชมารดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งทูลสองกษัตริย์ | ด้วยใจโสมนัสสโมสร |
ขอเชิญเสด็จบทจร | ไปทรงรถบวรรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งพระมารดาทั้งสองศรี |
ต่างองค์ทรงโศกโศกี | เทวีเหลือบเห็นพระโอรส |
ทั้งสองครองหนังพยัคฆา | ผูกชฎาทรงเพศเป็นดาบส |
เหมือนพระรามพระลักษมณ์เมื่อทรงพรต | นางยิ่งสลดระทดใจ |
จึ่งสวมกอดสองพระลูกรัก | ซบพักตร์โศกาละห้อยไห้ |
สี่กษัตริย์ค่อยสร่างอาลัย | ก็พากันไปยังพระเจดีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
โอ้
๏ ครั้นถึงสถูปที่ไว้ธาตุ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
ต่างประนมน้อมเศียรอัญชุลี | โศกีสะอื้นรำพัน |
โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเมือง | มาขัดเคืองจนชีพอาสัญ |
พระเดชปกเกศเป็นนิรันดร์ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นโลกา |
ทั้งหมู่ไพร่ฟ้าประชากร | ก็ถาวรเป็นบรมสุขา |
ตั้งแต่นี้ไปจะลับตา | จะรู้ที่ผันหน้าไปพึ่งใคร |
เหมือนเมื่อพระองค์ปกเกล้า | ตายแล้วเกิดเล่าไม่หาได้ |
อนิจจาควรหรือมาหนีไป | ยังในฟากฟ้าดุษฎี |
ข้าน้อยทั้งสี่จะขอลา | ไปตามพระจักราเรืองศรี |
ร่ำพลางทางทรงโศกี | ดั่งจะสิ้นชีวีสลบลง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ สร่างโศกจึ่งเสด็จยุรยาตร | ลีลาศดั่งนางราชหงส์ |
พาฝูงบริวารเหล่าอนงค์ | ตรงไปยังเกยรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นทรงรถ | ดั่งพระจันทร์ทรงกลดในเวหา |
อันรถสองพระกุมารา | ดั่งรถสุริยาไม่ราคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายโฉมนางไกยเกษี |
แจ้งว่าพระพรตยกโยธี | พาสองชนนีบทจร |
ออกไปพนมพนาเวศ | รับพระราเมศทรงศร |
ให้เสด็จคืนครองพระนคร | นางยิ่งเร่าร้อนวิญญาณ์ |
อกเอ๋ยจะนิ่งก็ไม่ได้ | จำจะตามไปขอโทษา |
มาตรแม้นพระรามจะโกรธา | ก็จะเห็นแก่หน้าพระพรต |
ลูกกูภักดีถึงชีวิต | แม่ผิดก็จะคุ้มโทษหมด |
จึ่งเรียกกุจจีสันหลังคด | วิ่งไปตามรถเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงรถนางสมุทรก็ยุดไว้ | พิไรว่าวอนโดยสาร |
จะไปขอโทษองค์พระอวตาร | นงคราญจงได้ปรานี |
ว่าแล้วปีนป่ายอุตลุด | มือฉุดอีค่อมทาสี |
เจ้าข้าหน้าไม่สมประดี | ขึ้นขี่ท้ายรถด้วยกันมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
กับพระสัตรุดอนุชา | ทรงมหาราชรถเดียวกัน |
อันพระมารดาทั้งสององค์ | ต่างทรงรถแก้วฉายฉัน |
สาวสนมกรมในกำนัล | ตามเสด็จเป็นหลั่นกันไป |
ทั้งไพร่ฟ้าข้าหลวงสามกรม | ชื่นชมโห่ร้องแผ่นดินไหว |
คลายคลี่พหลพลไกร | ออกจากเวียงชัยอยุธยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
เร่งรถเร่งพลโยธา | นำห้ากษัตริย์จรจรัล |
พอบ่ายชายแสงสุริย์ฉาน | ก็ถึงที่อุทยานสวนขวัญ |
จึ่งยอกรประนมบังคมคัล | กราบทูลทรงธรรม์ด้วยภักดี |
เมื่อพระบรมเชษฐา | เสด็จมาประทับอยู่ที่นิ่ |
เที่ยงคืนสงัดราตรี | สามกษัตริย์ลอบหนีข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพี่น้องผู้มีอัชฌาสัย |
แสนวิโยคโศกสร้อยละห้อยใจ | อาลัยจาบัลย์รันทด |
แล้วตรัสว่าองค์พระอวตาร | ผ่านฟ้าทรงเพศเป็นดาบส |
ละเครื่องกษัตริย์อิสริยยศ | เสด็จบทจรด้วยบาทา |
ซึ่งเราจะทรงรถไป | เหมือนไม่คำนับพระเชษฐา |
ว่าแล้วทั้งสองกษัตรา | ให้หยุดโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ จึ่งเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | จากรถโอภาสประภัสสร |
ลีลาศด้วยบาทบทจร | กรายกรมาสวนมาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ พอเวลาล่วงอโณทัย | ประทับแรมอยู่ในสวนศรี |
พิทักษ์รักษาพระชนนี | มิให้อันตรายบีฑา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ ลดองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | เร่าร้อนเศร้าโทมนัสสา |
โอ้ว่าสมเด็จพระพี่ยา | จะพากันไปอยู่แห่งใด |
จะแสนยากลำบากทั้งสามองค์ | ดั้นดัดลัดดงเนินไศล |
จะวิโยคโศกสร้อยละห้อยใจ | เอาแต่ใบไม้มารองนอน |
ยามเสวยจะเสวยแต่เผือกมัน | สารพันเสื่อมสุขสโมสร |
ยามสรงเคยสรงสาคร | ขจายจรด้วยรสสุคนธา |
จะต้องฝนทนแสงพระสุริย์ฉาน | ทรมานพระองค์อยู่ในป่า |
ร่ำพลางสองกษัตริย์โศกา | มิได้นิทราในราตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ จนอรุโณทัยไขแสง | กระจ่างแจ้งเยี่ยมยอดคีรีศรี |
เสียงภมรร่อนเคล้ามาลี | พระเสด็จจากที่ไสยา |
จึ่งให้เคลื่อนพลนิกร | บทจรตามซ้ายฝ่ายขวา |
สุมันตันกับสองกษัตรา | เดินหน้านำพวกพลากร |
ผ่านทางหว่างทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนาห้วยธารสิงขร |
เร่งรถคชพลอัสดร | บทจรไปโดยพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงอาศรมพระวสิษฐ์ | ทั้งพระสวามิตรฤๅษี |
ให้หยุดพหลมนตรี | อยู่ที่บริเวณศาลา |
จึ่งเชิญทั้งสองพระมารดร | บทจรจากราชรัถา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | ไปยังศาลาพระนักพรต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | สององค์พระมหาดาบส |
ไม่เห็นพระหริวงศ์ทรงยศ | สี่กษัตริย์กำสรดโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
นั่งมาท้ายรถมณี | เห็นสี่กษัตริย์บทจร |
เข้าไปมัสการพระสิทธา | ให้เร่าร้อนอุราดั่งต้องศร |
ยิ่งสะเทินเขินใจบังอร | ทอดถอนฤทัยคะนึงคิด |
ครั้นว่าจะตามเข้าไป | ก็จนใจด้วยมีความผิด |
ต่อพระสิทธาสวามิตร | พระวสิษฐ์มหามุนี |
จะนิ่งอยู่ก็ดูไม่ชอบ | จำจะไปนบนอบพระฤๅษี |
คิดแล้วก็ฉุดอี่กุจจี | โจนลงจากที่ท้ายรถ |
อี่ค่อมล้มครางแทบตาย | ลุกแล่นตามนายด้วยสาหส |
เจ้าข้าพากันเลี้ยวลด | บทจรไปยังศาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงกราบไหว้พระอาจารย์ | เยาวมาลย์ก้มอยู่ไม่เงยหน้า |
สะเทินใจมิได้จำนรรจา | แต่เหลียวมาหาอี่กุจจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
เห็นสี่กษัตริย์มาโศกี | จึ่งมีวาจาถามไป |
ดูกรพระพรตสุริย์วงศ์ | มารดาเจ้าจงให้เป็นใหญ่ |
จนพระบิตุเรศบรรลัย | เหตุใดไม่ครองสวรรยา |
จึ่งพาทั้งสองพระมารดร | ยกพลนิกรมาในป่า |
ทั้งตัวก็ทรงบรรพชา | มาหาตานี้ด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตผู้มีอัชฌาสัย |
สะท้อนถอนทอดฤทัย | ชลนัยน์คลอพักตร์แล้วพาที |
อันมารดาข้านี้ทรลักษณ์ | เป็นคนอัปลักษณ์บัดสี |
ชั่วช้ากว่าหญิงทั้งธาตรี | หลานนี้มิได้ร่วมคิด |
จึงผนวชบวชเป็นชีไพร | ด้วยใจภักดีสุจริต |
จะตามเชิญองค์พระทรงฤทธิ์ | พระชนนีมีจิตเมตตา |
ทั้งสองเสด็จออกมาด้วย | หวังจะช่วยว่าวอนพระเชษฐา |
ให้คืนไปครองพารา | เป็นมหาจรรโลงธาตรี |
เสด็จอยู่ที่ใดพระอาจารย์ | ขอประทานได้โปรดเกศี |
จงชี้ที่อยู่พระจักรี | หลานนี้จะพากันตามไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งตอบด้วยอาลัย | ตานี้ขอบใจหลานรัก |
ซื่อตรงคงสัตย์กตัญญู | รู้ที่ผิดชอบเบาหนัก |
สุจริตภักดีอารีนัก | เป็นเอกอัครโมลีรพีพงศ์ |
อันพระรามพระลักษมณ์อนุชา | กับนางสีดานวลหง |
ละเพศกษัตริย์สุริย์วงศ์ | สามองค์ออกจากเวียงชัย |
เสด็จมาก่อนกูนะหลานเอ๋ย | ไม่รู้เลยว่าจะไปหนไหน |
ครั้นตามาถึงศาลาลัย | ก็ไม่เห็นสามกษัตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังเร่าร้อนในวิญญาณ์ | แสนโศกโศกาจาบัลย์ |
โอ้ว่าสมเด็จพระสี่กร | เคยถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
มาต้องเดินป่าพนาวัน | สารพันลำบากกายา |
คิดว่าจะอยู่แต่เพียงนี้ | จึ่งเชิญพระชนนีมาตามหา |
มิรู้ไม่อยู่ด้วยอัยกา | อนิจจาจะไปแห่งใด |
หรือเห็นว่าน้องไม่ครองสัตย์ | รักราชสมบัติหรือไฉน |
โลภหลงตามมารดาไป | จึ่งเสด็จให้ไกลธานี |
พระบิดาดับสูญแล้วมิหนำ | มาซ้ำพลัดพรากจากพี่ |
ร่ำพลางทุ่มทอดอินทรีย์ | โศกีกับองค์อนุชา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองพระชนนีนาถา |
สวมสอดกอดสองพระลูกยา | แก้วตาจงฟังมารดร |
ตัวเจ้าตั้งใจออกมาตาม | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
แต่จะแสนโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนดั่งนี้ผิดไป |
จงเชิญทั้งสองพระอัยกา | ให้พาเที่ยวไปในป่าใหญ่ |
ด้วยท่านรู้แห่งตำแหน่งไพร | เห็นจะได้พบองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | พี่น้องค่อยคลายโศกา |
ต่างกราบกับบาทพระอาจารย์ | ขอประทานได้โปรดเกศา |
แก่ข้าผู้ทนเวทนา | อย่าให้สิ้นชีพชีวัน |
สองหลานขอเชิญบาทบงสุ์ | ไปตามองค์พระรามรังสรรค์ |
เห็นว่าจะได้พบกัน | เพราะพระคุณนั้นพาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรอาจารย์ใหญ่ |
จึ่งว่าหลานอย่าร้อนใจ | จะพาไปให้พบพระจักรี |
ว่าแล้วทั้งสองพระนักสิทธ์ | ครองเครื่องตามกิจพระฤๅษี |
ออกจากอรัญกุฎี | สี่กษัตริย์เสด็จตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดนาถา |
ครั้นถึงที่ประทับโยธา | จึ่งนิมนต์พระมหานักธรรม์ |
ให้ขึ้นรถทองทั้งสององค์ | โบกธงแล้วเคลื่อนพลขันธ์ |
สองกษัตริย์นำหน้าจรจรัล | สุมันตันก็ตามเสด็จไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ รีบเร่งจัตุรงค์โยธา | ผ่านห้วยเหวผาเนินไศล |
ตกทุ่งถึงแถวแนวไพร | เห็นทิวไม้สะโตงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายกุขันใจหาญ |
แต่มาจากองค์พระอวตาร | ก็ตั้งด่านต้นทางพนาวัน |
แล้วเกณฑ์ให้หมู่พรานไพร | เที่ยวตระเวนไปมากวดขัน |
ครั้นรุ่งแสงสีสุริยัน | ก็มาต้นอรัญมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอได้ยินสำเนียงเสียงพล | ก็ปีนขึ้นดูบนพฤกษา |
แลไปเห็นสองกษัตรา | นำหน้าพหลมนตรี |
แน่งน้อยเสาวภาคย์จำเริญรัก | คล้ายพระรามพระลักษมณ์ทั้งสองศรี |
ชะรอยพระพรตยกโยธี | ออกมาทั้งนี้ด้วยใจคด |
จะเป็นปรปักษ์พระจักรกฤษณ์ | จึ่งคิดอุบายเป็นดาบส |
ตัวกูก็ข้าพระทรงยศ | สู้ตายไม่ลดละกัน |
จะขออาสาออกต่อกร | ราญรอนฆ่าเสียให้อาสัญ |
คิดแล้วเป่าหลอดสำคัญ | เสียงมี่สนั่นโกลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เป่าหลอด
๏ บัดนั้น | จึ่งพวกบริวารพรานป่า |
ได้ยินเสียงหลอดสัญญา | เรียกหากู่กันทันที |
บ้างเคี้ยวว่านยาทาตัว | ยิ้มหัวเฮฮาอึงมี่ |
คาดเครื่องคงทนอินทรีย์ | หมายประจญไพรีไม่เกรงใคร |
จับธนูหน้าไม้แหลนซัด | กล้องสลัดลูกยาหอกใหญ่ |
เสร็จแล้วก็พากันลัดไพร | ตรงไปต้นไม้สัญญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นพวกพล | เกลื่อนกล่นอื้ออึงมาในป่า |
มีความยินดีปรีดา | ว่าจะเปลื้องเอาผ้าให้สิ้นตัว |
ว่าพลางต่างคนก็เหน็บรั้ง | ขัดเขมรเก้กังแล้วโพกหัว |
อันมาเท่านี้เราไม่กลัว | ร้องบอกกันทั่วบรรดาพราน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันนายใหญ่ใจหาญ |
เห็นบ่าวห้าวฮึกจะรอนราญ | ตบหัตถ์ฉัดฉานสำราญใจ |
จึ่งว่าชะรอยพระพรต | นำทศโยธาเป็นนายใหญ่ |
เอ็งจงพากันแยกไป | ซุ่มอยู่ที่ในอรัญวา |
ถ้ากูร้องว่าไอ้เสือเอา | เร่งเข้าโจมตีให้พร้อมหน้า |
สั่งแล้วก็เดินออกมา | ยืนขวางมรรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นใกล้จึ่งร้องตวาด | เหวยใครองอาจมาแต่ไหน |
เชื้อชาตินามกรชื่อไร | จึ่งหักด่านเราไปไม่เกรงกัน |
ว่าแล้วก็ขึ้นธนู | คึกขู่คำรามหุนหัน |
ทำสง่าเงื้อง่าขบฟัน | ยืนยันเขม้นไม่พริบตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังนายพรานเจรจา | โอหังหยาบช้าสาธารณ์ |
จึ่งร้องว่าเหวยพรานไพร | นามกรชื่อไรจึ่งอวดหาญ |
ฮึกฮักจะมารอนราญ | ท่านแค้นสิ่งไรให้ว่ามา |
เราชื่อพระพรตพระสัตรุด | มาตามพระจักรภุชเชษฐา |
เดินโดยอรัญมรรคา | จะว่าหักด่านด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันผู้เป็นนายใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบไป | ท่านอย่าใส่ไคล้พาที |
เรานี้ชื่อว่ากุขัน | เป็นพงศ์พันธุ์ชาวป่าพนาศรี |
ครอบครองบุรีรัมย์ธานี | เป็นที่ผาสุกโอฬาร์ |
ฝ่ายท่านได้ผ่านนคเรศ | แกล้งอุบายทำเพศเป็นชีป่า |
หวังว่าจะลวงพระรามา | จึ่งยกโยธาพลากร |
ตัวเราก็เป็นทหาร | องค์พระอวตารทรงศร |
ได้รักษาต้นทางพนาดร | ขอบเขตสิงขรบรรพต |
อันพลที่ยกมาทั้งนี้ | เราจะล้างชีวีเสียให้หมด |
จงสาแก่ใจที่ทรยศ | คิดคดแก่องค์พระจักรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้แจ้งแห่งข่าวพระพี่ยา | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งกล่าวมธุรสพจมาน | ดูกรนายพรานผู้ใหญ่ |
ท่านอย่าคิดแคลงแหนงใจ | จงได้เมตตาปรานี |
ตัวเราจะเข้าไปไถ่ถาม | สนทนาแจ้งความให้ถ้วนถี่ |
ว่าแล้วสองกษัตริย์จรลี | สุมันตันมนตรีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีวาจาว่าวอน | ดูกรกุขันพรานป่า |
อย่าแหนงจงแจ้งกิจจา | โดยความสัตยาเที่ยงธรรม์ |
อันมารดาเรานี้ใจพาล | สาธารณ์โลภล้นโมหันธ์ |
จนพระบิตุเรศสิ้นชีวัน | พี่น้องพลัดกันจากไป |
คิดจะใคร่ฆ่าฟันบั่นรอน | หากเป็นมารดรไม่ทำได้ |
โศกาปิ้มว่าจะบรรลัย | จึ่งยกพลไกรตามมา |
ซึ่งเราทรงเพศบรรพชิต | ด้วยจิตคำรพพระเชษฐา |
มิได้เป็นกลมารยา | หวังว่าจะเชิญเข้าบุรี |
ให้พระองค์ทรงซึ่งเศวตฉัตร | สืบวงศ์จักรพรรดิเฉลิมศรี |
ท่านแจ้งความออกนามพระจักรี | มีใจยินดีเป็นพ้นนัก |
จงได้การุญทำคุณเรา | ช่วยพาไปเฝ้าพระทรงศักดิ์ |
ท่านก็เป็นข้าพระหริรักษ์ | จักได้เห็นหน้ากันสืบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังฉงนสนเท่ห์ใจ | จึงตอบด้วยไวปัญญา |
อันพระองค์เจรจานี้ไพเราะ | เพราะเห็นตัวข้าเป็นชาวป่า |
ขึ้นชื่อเชื้อกษัตรา | ย่อมแต่งมารยาพาที |
แม้นจริงเหมือนยังถ้อยคำ | ก็จะนำไปเฝ้าบทศรี |
นี่มาเป็นกระบวนราวี | ข้านี้ไม่เชื่อวาจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ท่านอย่ากินแหนงแคลงใจ |
อันพระภุชพงศ์ทรงเดช | คุณดั่งบิตุเรศก็ว่าได้ |
ซึ่งเรายกพลสกลไกร | ไม่เป็นพวกพาลไพรี |
มารดรพระลักษมณ์พระจักรกฤษณ์ | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
แม่เราตัวกาลกิณี | บัดนี้ก็พลอยตามมา |
บรรดาเสนาประชากร | จะช่วยกันว่าวอนพระเชษฐา |
ให้เสด็จคืนครองพารา | เป็นความสัจจาทุกประการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันพรานไพรใจหาญ |
ได้ฟังมธุรสพจมาน | สิ้นการกินแหนงแคลงใจ |
วางธนูลงไว้ด้วยยินดี | น้อมเกล้าชุลีบังคมไหว้ |
แล้วจึ่งกราบทูลสนองไป | พระอย่าได้เร่าร้อนวิญญาณ์ |
ตัวข้าจะนำเสด็จจรลี | ให้พบพระสี่กรเชษฐา |
แต่จะขอไปเฝ้าบาทา | มารดาสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังโสมนัสยินดี | จึ่งกล่าววาทีอันสุนทร |
ท่านนี้มีคุณแก่เรานัก | ด้วยภักดีต่อองค์พระทรงศร |
เราจะพาไปเฝ้าพระมารดร | ก็กุมกรกุขันเดินมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงรถสองพระชนนี | กราบเกล้าชุลีเหนือเกศา |
ทูลว่าลูกรักทั้งสองรา | พบกุขันพรานป่าพนาลัย |
บอกว่าเป็นข้าพระอวตาร | ตั้งด่านรักษาทางใหญ่ |
เพื่อนนั้นรับคำจะนำไป | ให้พบสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสองศรี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | มาโสรจสรงอินทรีย์กัลยา |
จึงมีมธุรสพจมาน | ดูกรนายพรานชำนาญป่า |
แต่เราแม่ลูกโศกา | ปิ้มว่าจะสิ้นชีวิต |
ซึ่งท่านเมตตาจะพาไป | ให้พบพระบรมจักรกฤษณ์ |
คุณนั้นใหญ่หลวงเป็นพ้นคิด | เหมือนช่วยชีวิตชีวัน |
ตรัสแล้วประทานเสื้อผ้า | ธำมรงค์รัตนาฉายฉัน |
พานทองเต้านํ้าครบครัน | จัดสรรเลือกให้ทุกประการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุขันพรานไพรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับของประทาน | ยินดีปานได้ดอกฟ้า |
ยอกรบังคมก้มเกศ | ทูลสองอัคเรศนาถา |
อันองค์สมเด็จพระลูกยา | ข้ามสะโตงคงคาวารี |
ตัวข้านี้ได้ไปส่ง | ถึงองค์พระมหาฤๅษี |
ชื่อภารทวาชมุนี | อยู่ที่ในแดนหิมพานต์ |
แล้วข้าจึ่งลาเบื้องบาท | มาลาดกระเวนรักษาด่าน |
ซึ่งพระองค์จะข้ามชลธาร | กันดารลึกพ้นคณนา |
กว้างใหญ่ไหลเชี่ยวเป็นวนวัง | มีทั้งพวกพาลมัจฉา |
ข้าจะขอข้ามไปจัดนาวา | จะได้ข้ามมหาวารี |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์กษัตริย์ทั้งสี่ |
ดั้นดัดลัดป่าพนาลี | มาที่ประชุมพรานไพร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งมีวาจา | บอกแก่โยธาน้อยใหญ่ |
ว่าพระพรตยกพวกพลไกร | มานี้ไม่เป็นภัยพาล |
พาสองสมเด็จพระชนนี | โศกีเพียงสิ้นสังขาร |
หวังเชิญเสด็จพระอวตาร | คืนครองราชฐานอยุธยา |
สูเจ้าทั้งปวงจงเร่งไป | จัดเรือน้อยใหญ่ประทับท่า |
ทั้งผลาผลไม้นานา | มาถวายประสากันดาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลพรานไพรใจหาญ |
ได้ฟังกุขันบัญชาการ | ลนลานวิ่งไปเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงบุรีรัมย์พารา | ลงถอยนาวาอึงมี่ |
ได้ครบห้าพันตามบัญชี | มีคนประจำทุกลำไป |
แล้วจัดสิ่งของต่างต่าง | เนื้อย่างปลากรายตัวใหญ่ |
พักแฟงแตงโมแตงไทย | ลูกไม้นํ้าผึ้งเผือกมัน |
ขนบรรทุกเรือวุ่นวาย | ไพร่นายโห่ร้องก้องสนั่น |
ถอยออกจากท่าทั้งห้าพัน | แข่งกันรีบล่องลงมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ใช้เรือ
๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดประทับ | ซ้อนซับกันอยู่ทุกท่า |
แล้วขนของขึ้นจากนาวา | กองไว้ริมมหาสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุขันใจหาญชาญสมร |
จึ่งให้พรานป่าพนาดร | แบกคอนหาบหามตามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงรถทรงสี่กษัตริย์ | ยอหัตถ์น้อมเศียรบังคมไหว้ |
ถวายของเนื้อปลาลูกไม้ | แล้วทูลด้วยใจปรีดา |
ซึ่งพระองค์จะข้ามชลธาร | ไปตามพระอวตารนาถา |
นาวาใหญ่น้อยก็ได้มา | ประทับไว้แทบท่าวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสองศรี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | จึงสั่งเสนีสุมันตัน |
ให้เอาของถวายของนายพราน | ประทานหมู่โยธาพลขันธ์ |
เสร็จแล้วเชิญองค์พระนักธรรม์ | จรจรัลไปท่าสาคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ถึงฝั่งให้ข้ามพลากร | รถรัตน์อัสดรล่วงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาทหารน้อยใหญ่ |
ได้ขวานได้พร้าก็เข้าไพร | ตัดไม้ผูกแพลนลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างข้ามรถรัตน์อัสดร | บ้างข้ามกุญชรตัวหาญ |
แข่งกันข้ามฟากชลธาร | อลหม่านทั้งท้องวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ครั้นเสร็จซึ่งข้ามโยธี | เชิญสองชนนีลงนาวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วบัญชาสั่งพลพาย | ให้บ่ายหน้าออกจากท่า |
เรือแพแออัดตามมา | ข้ามฟากมหาชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ ครั้นถึงเชิญสองพระมารดร | ทรงรถอลงกรณ์มุกดาหาร |
พระวสิษฐ์สวามิตรอาจารย์ | ขึ้นรถสุรกานต์อำไพ |
พร้อมหมู่จัตุรงค์โยธา | เกลื่อนกลาดดาษดาป่าใหญ่ |
สองพระองค์ก็ตามกุขันไป | เข้าในอรัญบรรพต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กุขันใจกล้าสาหส |
นำสี่สุริย์วงศ์ทรงยศ | บทจรไปตามพนาลี |
ใกล้ถึงบริเวณศาลา | พระภารทวาชฤๅษี |
ประนมก้มเกล้าดุษฎี | ชี้บอกอาศรมพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพรานป่าพนาวัน | จึ่งบัญชาให้หยุดพลากร |
ไว้นอกขอบเขตอาศรม | ที่ร่มไม้เชิงสิงขร |
แล้วเชิญทั้งสองพระมารดร | บทจรลงจากรถชัย |
กับพระมหาสวามิตร | พระวสิษฐ์ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ |
พากันย่างเยื้องเข้าไป | ยังในอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ สี่กษัตริย์ยอกรมัสการ | พระภารทวาชฤๅษี |
พระวสิษฐ์สวามิตรมุนี | นั่งอันดับที่เป็นหลั่นลด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภารทวาชดาบส |
เห็นสองสุริย์วงศ์ทรงยศ | จึ่งพจนารถวาจา |
เหตุไฉนพระพรตกุมาร | หลานจึ่งมาบวชเป็นชีป่า |
ไม่อยู่ครอบครองพารา | พากันมานี้ด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตผู้มีอัชฌาสัย |
ชุลีกรแล้วตรัสตอบไป | ตัวข้ามิได้ยินดี |
ที่ในสมบัติพัสถาน | หลานจึ่งบวชมาเป็นฤๅษี |
หวังจะเชิญเสด็จพระจักรี | ให้ภูมีกลับคืนพระนคร |
แจ้งว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | พาองค์นางสีดาดวงสมร |
กับทั้งพระลักษมณ์ฤทธิรอน | บทจรมาพึ่งพระนักพรต |
บัดนี้สถิตอยู่แห่งใด | จะไปเฝ้าเบื้องบาทบงกช |
จงโปรดให้สมมโนรถ | ขอพระดาบสได้เมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังพระพรตพจนา | เห็นว่าความจริงทุกสิ่งไป |
จึ่งว่าดูกรหลานรัก | สัจธรรม์มั่นนักไม่หาได้ |
จะเป็นที่สรรเสริญจำเริญชัย | ทั้งในโลกาธาตรี |
อันองค์พระลักษมณ์นางสีดา | กับพระจักราเรืองศรี |
มาถึงอรัญกุฎี | ตานี้มีความอาลัย |
สนทนาโน้มน้าววิงวอน | พระสี่กรหาอยู่ด้วยไม่ |
ว่าใกล้นิเวศน์เวียงชัย | จะมิได้ตั้งใจจำเริญพรต |
บัดนี้พระองค์ไปพึ่งพัก | สำนักพระสระภังค์ดาบส |
แทบเชิงหิมวันต์บรรพต | กำหนดเก้าโยชน์มรรคา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | เร่าร้อนอุราดั่งไฟกัลป์ |
โอ้อนิจจาพระสี่กร | จะบทจรเที่ยวไปในไพรสัณฑ์ |
คิดว่าอยู่ด้วยพระนักธรรม์ | จึ่งให้กุขันนำมา |
ก็มิได้ประสบพบบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
หรือเห็นน้องไม่ครองสัตยา | ผ่านฟ้าไม่ไว้วางใจ |
จึ่งเสด็จหนีไปให้ไกลเมือง | จะขัดเคืองข้อนี้หรือไฉน |
ร่ำพลางทางโศกาลัย | ไม่เป็นอารมณ์สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระภารทวาชฤๅษี |
เห็นพระพรตโศกาก็ปรานี | จึ่งมีมธุรสวาจา |
ดูกรเจ้าผู้หลานรัก | อย่าโศกนักจงฟังตาว่า |
รูปนี้จะนำมรรคา | พาไปให้พบพระจักรี |
ว่าแล้วก็ชวนพระวสิษฐ์ | ทั้งพระสวามิตรฤๅษี |
ออกจากอรัญกุฎี | พี่น้องสององค์ก็ตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ล่วงทางหว่างเขาลำเนาป่า | ข้ามชลาโตรกเตริ่นเนินไศล |
เร่งรีบรี้พลสกลไกร | มาใกล้หิมวันต์บรรพต |
จึ่งเห็นศาลาอาศรม | พระสระภังค์บรมดาบส |
พระมุนีชี้บอกพระพรต | กำหนดที่อยู่พระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ให้หยุดรถแก้วแพรวพรรณ | นอกเขตอรัญกุฎี |
จึ่งเชิญทั้งสองพระมารดร | บทจรจากรถมณีศรี |
กับสามพระมหาโยคี | เข้าไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงสี่กษัตริย์มัสการ | พระสระภังค์อาจารย์ฌานกล้า |
พระนักธรรม์ทั้งสี่ผู้ปรีชา | คำรพกันวันทาด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสระภังค์มหาฤๅษี |
เห็นสี่สุริย์วงศ์พระจักรี | จึ่งมีวาจาถามไป |
ดูกรพระพรตกุมาร | เจ้ายกพลหาญจะไปไหน |
พี่น้องจึ่งบวชเป็นชีไพร | เหตุใดไม่ครองพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อันแสนสวรรยาอาณาจักร | หลานจะรักกว่าพี่นั้นหาไม่ |
แม่ข้าเป็นคนจังไร | ทำให้เดือดร้อนทั้งบุรี |
ซึ่งข้าทรงเพศเป็นนักสิทธ์ | ด้วยใจสุจริตรักพี่ |
จึ่งเชิญทั้งสองพระชนนี | มาตามพระจักรีผู้ศักดา |
แจ้งว่าอยู่ด้วยพระอาจารย์ | หลานนี้ยินดีเป็นหนักหนา |
จะเชิญเสด็จเข้าพารา | ผ่านฟ้าเสด็จอยู่แห่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสระภังค์ดาบสอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาก็ตอบไป | ตานี้ขอบใจหลานรัก |
ความดีที่เจ้ากตัญญู | จะเชิดชูรู้ไปทั้งไตรจักร |
อันองค์พระรามพระลักษมณ์ | กับอัคเรศสีดา |
จะใคร่ให้อยู่แต่เพียงนี้ | จึ่งทำกุฎีไว้ท่า |
พระองค์ว่าใกล้พารา | จะสร้างพรตจรรยาไม่ถาวร |
สามกษัตริย์ก็พากันไปอยู่ | คูหาสัตกูฏสิงขร |
แม้นจะใคร่พบพระสี่กร | อย่าทุกข์ร้อนไว้ตาจะพาไป |
ว่าแล้วครองเครื่องบริขาร | ชวนสามอาจารย์ผู้ใหญ่ |
ออกจากอาศรมศาลาลัย | ไปโดยอรัญมรรคา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เดินตามพระมหาสิทธา | ชลนาคลอเนตรรำพัน |
อกเอ๋ยเป็นน่าสังเวช | พระบิตุเรศก็ม้วยอาสัญ |
พี่น้องก็พลัดพรากกัน | เพราะด้วยอาธรรม์กาลี |
คิดคิดจะใคร่หั่นบั่นรอน | ตัดกรตัดเกล้าเกศี |
นี่หากว่าเป็นชนนี | น้องนี้ขัดสนจนใจ |
โอ้ว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | ตามหาพระองค์หาพบไม่ |
จะแหนงแคลงน้องหรือฉันใด | จึ่งไปให้ไกลพารา |
แม้นว่าไม่พบพระทรงฤทธิ์ | จะสู้เสียชีวิตอยู่กลางป่า |
มิได้คืนไปอยุธยา | เดินพลางโศกาพันทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายหมู่คณะพระฤๅษี |
ซึ่งตั้งอยู่สัตกูฏคีรี | ได้ยินเสียงโยธีอึงมา |
เหลือบแลไปเห็นพวกพล | เกลื่อนกล่นเดียรดาษกลาดป่า |
คิดว่าอสูรพาลา | จะมาบีฑาก็ตกใจ |
บ้างฉวยไม้เท้าตาลิปัตร | กระโถนเก็บยัดลงย่ามใหญ่ |
วิ่งชนด้นป่าพนาลัย | ล้มลุกไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด