- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางผีเสื้อยักษี |
กายาใหญ่หลวงพ่วงพี | อสุรีหยาบช้าสาธารณ์ |
เขี้ยวขาวยาวโง้งเพียงตา | กำลังฤทธากล้าหาญ |
ท้าวทศพักตร์พญามาร | ตั้งไว้เป็นด่านสมุทรไท |
มิให้อริราชไพรี | ข้ามมหาชลธีมาได้ |
ก็ขึ้นจากท้องชลาลัย | เที่ยวไปกระเวนคงคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ เหลือบซ้ายแลขวาเห็นวานร | เขจรโดยทางเวหา |
ก็พิโรธโกรธกริ้วโกรธา | ตาแดงดั่งแสงเพลิงกาล |
มือหนึ่งกวัดแกว่งคทาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
โลดโผนโจนจากชลธาร | เข้าไล่รอนราญวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นนางผีเสื้อฤทธิรอน | ขึ้นจากสาครมาราวี |
จึ่งชักตรีเพชรออกจากกาย | ลูกพระพายต่อฤทธิ์ยักษี |
โรมรุกบุกบันประจัญตี | ต่างหนีต่างไล่กันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ผีเสื้อสมุทรใจกล้า |
กวัดแกว่งตระบองเป็นโกลา | หวดซ้ายป่ายขวาอลวน |
ต่างตนสัประยุทธ์ยุดแย้ง | ตีรันฟันแทงสับสน |
สองแข็งต่อแข็งแรงรณ | ถ้อยทีโจมประจญไม่ละกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ป้องปัดรบชิดติดพัน | เข้าไล่โรมรันราวี |
กลอกกลับจับกันอุตลุด | สะเทือนท้องพระสมุทรทั้งสี่ |
เป็นระลอกกระฉอกชลธี | เสียงสนั่นทั่วตรีโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งนางผีเสื้อใจกล้า |
อ้าปากกว้างใหญ่มหิมา | สองตาดั่งแสงไฟกาล |
หมายใจจะคาบพานรินทร์ | กลืนกินเป็นภักษาหาร |
ก็เผ่นโผนโจนจากชลธาร | ขึ้นไล่รุกรานชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ผาดแผลงสำแดงฤทธิไกร | เข้าไปในปากอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รวดเร็วว่องไวดั่งจักรผัน | ออกมาจากกรรณเบื้องขวา |
คืนเข้ากรรณซ้ายด้วยฤทธา | ลงมายังท้องอสุรี |
จึ่งเอาตรีเพชรนั้นฟันฟอน | เชือดแหวะอุทรยักษี |
เป็นช่องน้อยใหญ่ทั้งนาภี | กระบี่ลากไส้ออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วซํ้าหํ้าหั่นฟันฟาด | ตัดกรรอนบาทซ้ายขวา |
ขว้างไปเป็นเหยื่อฝูงปลา | อสุราสุดสิ้นชนมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จฆ่าผีเสื้อสมุทร | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
กวัดแกว่งตรีเพชรดั่งเพลิงกาล | เหาะข้ามชลธารด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยลิ่วปลิวมาตามลมกรด | ตกถึงโสฬสเขาใหญ่ |
เกินเมืองลงกาลงไป | หมายใจว่านิลคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งเห็นหลังคาอาศรม | พระนารทบรมฤๅษี |
มีความชื่นชมยินดี | ขุนกระบี่ก็ตรงลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายสมุทร | ก็หยุดที่พุ่มไม้ใบหนา |
ยอกรร่ายเวทอันสักดา | นิมิตกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นลิงน้อย | กระจ้อยร่อยขาวผ่องประภัสสร |
เหมือนกระบี่ป่าพนาดร | เสร็จแล้วบทจรเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาใกล้ศาลาอาศรม | ลูกลมผู้มีอัชฌาสัย |
ค่อยยอบหมอบกรานแต่ไกล | กราบไหว้พระมหามุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารทฤๅษี |
เห็นวานรมาอัญชุลี | จึ่งมีวาจาถามไป |
ว่าเหวยดูกรพานรินทร์ | ถิ่นฐานเอ็งอยู่ตำบลไหน |
มีนามกรชื่อใด | มาหากูไยไอ้วานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังนบนิ้วประนมกร | แล้วกล่าวสุนทรวาจา |
ตัวข้าชื่อเสียงก็ไม่มี | สัญจรอยู่ที่ในป่า |
ได้ยินเขาเล่าลือมา | ว่าเมืองลงกาโอฬาร |
แสนสนุกเป็นที่จำเริญใจ | จะใคร่ไปชมตลาดราชฐาน |
ข้าไม่รู้แห่งกรุงมาร | พระอาจารย์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารทมหาฤๅษี |
ได้ฟังวานรพาที | จึ่งมีพจนารถวาจา |
อันตัวเอ็งนี้เป็นไฉน | ไม่รู้แห่งเวียงชัยยักษา |
จึ่งเที่ยวเซอะเซิงกระเจิงมา | ถามหาลงกาเมืองมาร |
โน่นนิลกาลาสิงขร | อยู่กลางพระนครไพศาล |
สูงเยี่ยมเทียมขอบจักรวาล | เห็นตระหง่านข้างทิศหรดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังพระมหามุนี | มีความยินดีปรีดา |
จึ่งว่าข้าแต่พระอาจารย์ | ขอประทานโปรดเกล้าเกศา |
ตัวข้านี้หลงเที่ยวมา | จนพระสุริยารอนรอน |
หิวโหยโรยแรงเหนื่อยพักตร์ | จะขอสำนักอยู่ก่อน |
ต่อรุ่งรังสีรวีวร | วานรจะกราบลาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมหานารทอาจารย์ใหญ่ |
คิดว่าลิงป่าพนาลัย | จึ่งตอบคำไปด้วยปรานี |
ซึ่งเอ็งจะอาศัยอยู่ | กับกูก็ตามกระบี่ศรี |
ว่าแล้วยกหัตถ์ขึ้นทันที | ชี้บอกศาลาให้วานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ก้มเกล้าดุษฎีชุลีกร | รีบจรไปยังศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้คิดสงสัยพันทวี | เหตุไรฤๅษีชีป่า |
มาอยู่ในเกาะลงกา | กับพวกยักษาด้วยอันใด |
หรือจะมีความรู้วิชาศาสตร์ | องอาจเชี่ยวชาญเป็นไฉน |
อย่าเลยจะลองฤทธิไกร | ให้เห็นศักดาพระอาจารย์ |
คิดแล้วไหว้คุณพระเป็นเจ้า | ปิ่นเกล้าสามภพจบสถาน |
หลับเนตรสำรวมวิญญาณ | อ่านมนต์นิมิตกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะศักดาอาคม | พระสยมภูวนาถนาถา |
กายนั้นใหญ่เต็มศาลา | ก็เรียกพระสิทธาวุ่นไป |
ที่น้อยเท่านี้ให้มานอน | จะเหยียดเท้าเหยียดกรกระไรได้ |
ข้าไม่ผาสุกสำราญใจ | เป็นไฉนฉะนี้พระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารทฤๅษี |
ได้ยินวานรพาที | มีจิตถวิลจินดา |
ไอ้นี่ตัวมันก็น้อยน้อย | กระจ้อยร่อยเป็นชาติลิงป่า |
เหตุไฉนจึ่งว่าศาลา | เล็กกว่ากายาด้วยอันใด |
อย่าเลยจะไปแลดู | ไอ้สู่รู้มันทำเป็นไฉน |
คิดแล้วก็เดินออกไป | จากในอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นกายโตใหญ่ไพศาล | ก็แจ้งการว่ากลกระบี่ศรี |
จึ่งอ่านพระเวทอันฤทธี | นิมิตซึ่งที่ศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็ใหญ่เป็นหลายห้อง | แล้วร้องว่าเหวยไอ้ลิงป่า |
มึงนี้เจ้ากลมารยา | แกล้งมารบกูให้รำคาญ |
นี่แน่ศาลาครานี้ | กว้างขวางยาวรีรโหฐาน |
มุดหัวนอนเถิดให้สำราญ | ไอ้ชาติเดียรฉานอย่ากวนใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นศาลาใหญ่ออกไป | ด้วยฤทธิไกรพระมุนี |
ยิ้มแล้วรำพึงคะนึงคิด | จะทำให้สิ้นฤทธิ์พระฤๅษี |
จึ่งยอกรนบนิ้วดุษฎี | ขุนกระบี่ก็ร่ายวิทยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ กายนั้นใหญ่เท่าพรหเมศ | ด้วยศักดาเดชแกล้วกล้า |
แล้วร้องประกาศเข้ามา | นี่หรือศาลาพระนักพรต |
บอกว่าใหญ่โตกว้างขวาง | แต่แขนข้างหนึ่งวางไม่ได้หมด |
ทั้งเข่าขาก็ต้องคู้คด | พระดาบสไม่เห็นเวทนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
แต่เวียนนิมิตศาลา | กว้างยาวกว่าเก่าขึ้นทุกที |
โตออกเท่าใดด้วยฤทธิ์นั้น | กายมันยิ่งใหญ่ออกกว่าที่ |
จึ่งว่าดูดู๋ไอ้ลิงนี้ | กาลีเจ้าเล่ห์เป็นพ้นไป |
อันตัวของมันนี้สู่รู้ | มาลองกูผู้เฒ่าก็เป็นได้ |
จำจะทารกรรมให้หนำใจ | ไอ้จังไรจะได้เห็นฤทธิ์ |
คิดแล้วจึ่งองค์พระอาจารย์ | ก็เข้าสู่ฌานสำรวมจิต |
อาโปกสิณเป็นนิมิต | ด้วยตบะกิจพระสิทธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ บันดาลมืดคลุ้มโพยมหน | อึงอลไปทั่วทิศา |
ฝนนั้นก็ตกลงมา | ถูกต้องกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ต้องฝนทนหนาวซบซอน | กายกรเป็นเหน็บทั้งอินทรีย์ |
อันรูปนิมิตก็กลับกลาย | คืนคงเป็นกายกระบี่ศรี |
สุดคิดเห็นฤทธิ์พระมุนี | สุดที่จะทนเวทนา |
ร้องว่าดูกรพระนักธรรม์ | หนาวพ้นอดกลั้นหนักหนา |
เยือกเย็นทุกเส้นโลมา | เมตตาอย่าให้ทรมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารทผู้ปรีชาหาญ |
เห็นวานรพ่ายแพ้ฤทธิ์ฌาน | หนาวสะท้านร้องอึงคะนึงไป |
จึ่งว่าดูกรไอ้ลิงป่า | ชั่วช้าสามานย์หยาบใหญ่ |
มึงแกล้งมาลองฤทธิไกร | เป็นไฉนจึ่งร้องวุ่นวาย |
เหวยไอ้ทรลักษณ์อัปรีย์ | มาผิงอัคคีเสียให้หาย |
พาชาติเดียรัจฉานแสนร้าย | ยังอายหรือไม่ไอ้พาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | ก็ลงจากศาลาด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งผิงไฟ | อังไปทั่วกายกระบี่ศรี |
ที่สะท้านเยือกเย็นทั้งอินทรีย์ | ต้องไออัคคีก็สำราญ |
จึ่งคิดว่าองค์พระนักสิทธ์ | ตบะกิจวิทยากล้าหาญ |
ว่องไวในที่จำเริญฌาน | คิดแล้วมาสถานศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เอนกายเหยียดเท้าเหยียดกร | นอนเป็นบรมสุขา |
พระพายพัดต้องกายา | เหนื่อยมาก็หลับสนิทไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระมหานารทอาจารย์ใหญ่ |
เห็นวานรผู้ปรีชาไว | หลับไหลไม่เป็นสมประดี |
จึ่งคิดว่าไอ้นี้มันสู่รู้ | มาลองฤทธิ์กูผู้ฤๅษี |
จะดูศักดามันวันนี้ | ให้สาที่นํ้าใจวานร |
แม้นว่ามันดีก็แก้ได้ | หาไม่จะอายกว่าก่อน |
คิดแล้วฉวยชักเอาธารกร | บทจรออกจากศาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงสระโบกขรณี | ยืนอยู่เหนือที่แผ่นผา |
ก็ร่ายพระเวทวิทยา | ภาวนาเสกไม้เท้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นแล้วจึ่งทิ้งลงในสระ | กลายเป็นชันลุกะตัวใหญ่ |
สั่งว่าแม้นลิงจังไร | มากินน้ำในสระนี้ |
ปลิงจงเกาะเอาลูกคาง | อย่าได้ละวางกระบี่ศรี |
ว่าแล้วย่างเยื้องจรลี | กลับมายังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นแสงทองรองเรืองเมฆา | สกุณาเพรียกพร้องสนั่นไพร |
แมลงผึ้งภู่โบยบิน | โกกิลรํ่าร้องเสียงใส |
ก็ตื่นตาออกจากศาลาลัย | เดินไปยังสระวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงบ้วนปากล้างหน้า | ชำระกายากระบี่ศรี |
ลูบไล้ไปทั่วอินทรีย์ | อยู่ในที่สระชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายปลิงไม้เท้าตัวหาญ |
ขององค์มหาอาจารย์ | ว่ายทะยานเกาะคางวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ตกใจโจนด้วยฤทธิรอน | สองกรกระชากสะบัดไป |
ความเกลียดหลับตาปลิดฉุด | ปลิงนั้นจะหลุดก็หาไม่ |
ยิ่งคร่ายิ่งทึ้งสักเท่าไร | ยิ่งยาวออกไปทุกที |
สุดรู้สุดฤทธิ์สุดกำลัง | สุดทั้งปรีชากระบี่ศรี |
วิ่งพลางร้องเรียกพระมุนี | จนถึงที่บรรณศาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งกราบลงกับบทมาลย์ | พระอาจารย์ได้โปรดเกศา |
จงช่วยให้พ้นเวทนา | ปลิดปลิงให้ข้าบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหานารทฤๅษี |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาที | ชี้หน้าว่าเหวยไอ้สาธารณ์ |
เป็นไฉนไม่แผลงฤทธิรอน | มาวอนกูไยไอ้เดียรัจฉาน |
ปลิงนิดติดอยู่เท่าสายพาน | ร้องอึงอลหม่านไม่อายใจ |
คืนนี้มึงเฝ้าแต่กวนกู | จะสวดมนต์สักครู่ก็ไม่ได้ |
ว่าแล้วจึ่งยื่นมือไป | หยิบเอาไม้เท้าที่วานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นปลิงร้ายกลายเป็นธารกร | ด้วยฤทธิรอนพระสิทธา |
บันดาลขนพองสยองเกล้า | กราบลงแทบเท้าซ้ายขวา |
สรรเสริญการกิจวิทยา | วอนขอสมาพระมุนี |
พระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | ขอประทานโทษากระบี่ศรี |
ค่อยอยู่จำเริญสวัสดี | ตัวของข้านี้จะลาไป |
ว่าแล้วสำแดงอำนาจ | พสุธาอากาศหวาดไหว |
เหาะทะยานผ่านขึ้นด้วยว่องไว | ตรงไปยังนิลกาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายอสุรเสื้อเมืองยักษา |
แปดกรสี่พักตร์มหิมา | อยู่กลางลงกาธานี |
มือหนึ่งถือจักรแกว่งกวัด | หัตถ์สองถือพระขรรค์ชัยศรี |
มือสามอสุราถือตรี | มือสี่นั้นถือคทาธร |
มือห้าถือง้าวกวัดแกว่ง | มือหกนั้นถือพระแสงศร |
มือเจ็ดนั้นถือโตมร | มือแปดถือค้อนเหล็กพราย |
เห็นวานรเหาะมาเมืองมาร | โกรธปานดั่งฟ้าคะนองสาย |
หมายเขม้นเข่นฆ่าให้ตาย | สำแดงกายเหาะขึ้นยังเมฆา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ลอยอยู่ในกลางอากาศ | ทำอำนาจกั้นกางขวางหน้า |
แล้วร้องสำทับด้วยวาจา | เหวยไอ้ลิงป่าพนาลัย |
ตัวมึงเป็นชาติเดียรัจฉาน | ฮึกหาญมานี้จะไปไหน |
เชื้อชาตินามกรชื่อใด | อาจใจเหาะข้ามพารา |
มึงไม่รู้หรือว่าเมืองยักษ์ | เอ็งจักมาเป็นภักษา |
กูคือเสื้อเมืองลงกา | จะฆ่าให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังวาจากุมภัณฑ์ | ขบฟันกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ทรลักษณ์ | ตัวมึงอย่าพักอวดหาญ |
กูนี้ชื่อว่าหนุมาน | เป็นหลานพญาพาลี |
มึงเป็นเสื้อเมืองหรือองอาจ | จะสู้มัจจุราชเรืองศรี |
ถึงทศเศียรอสุรี | กูนี้ไม่เกรงฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์เสื้อเมืองยักษา |
ได้ฟังวานรอหังการ์ | โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ชาติลิง | มาเย่อหยิ่งอวดฤทธิ์ด้วยโมหันธ์ |
ตัวมึงกระจ้อยเท่าแมงวัน | หรือจะครั่นมืออสุรี |
ว่าพลางกวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรยักษี |
โลดโผนโจนทะยานเข้าราวี | ต่อตีด้วยขุนวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | แกว่งตรีฤทธิรอนโรมรัน |
กลอกกลับจับกันในเมฆา | ต่างหาญต่างกล้าแข็งขัน |
ต่างแทงต่างฟาดต่างฟัน | ต่างรุกบุกบันประจัญตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเสื้อเมืองมารยักษี |
ถาโถมโรมรุกคลุกคลี | อสุรีไม่ละลดกร |
พุ่งซัดอาวุธสับสน | สองตนเหี้ยมหาญชาญสมร |
ต่างถอยต่างไล่ในอัมพร | ราญรอนรบชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
โจนขึ้นเหยียบเข่ายืนยัน | มือนั้นจิกเศียรอสุรา |
ได้ทีแกว่งตรีฟันฟาด | คอขาดจากกายยักษา |
ขว้างไปยังสมุทรคงคา | ก็ม้วยชีวาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดโอด
๏ ครั้นเสร็จสังหารกุมภัณฑ์ | พอตะวันรอนแรงแสงศรี |
ยํ่าคํ่าสนธยาราตรี | ยินดีก็เหาะเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเหลือบแลเห็นปราสาท | ชัชวาลโอภาสสูงใหญ่ |
ห้ายอดพึงพิศอำไพ | ก็ลงในพ่างพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นหมู่อสุรีรี้พล | สับสนตรวจตราประจำด้าน |
นั่งยามตามไฟทุกทวาร | ก็อ่านเวทนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะด้วยมนต์อันเพริศพราย | รูปนั้นกลับกลายเป็นยักษา |
เสร็จแล้วก็ปลอมเข้ามา | กับหมู่โยธาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | ลับพวกทหารยักษี |
ก็อ่านพระเวทอันฤทธี | ขุนกระบี่สะกดนิทรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพักตร์ยักษา |
บรรทมเหนือแท่นอลงการ์ | กับมณโฑโสภาวิลาวัณย์ |
ทั้งหมู่อสูรประยูรวงศ์ | ฝูงอนงค์โยธาพลขันธ์ |
ต้องมนต์หนุมานชาญฉกรรจ์ | บันดาลโงกงุนซุนไป |
ล้มอิงพิงพาดกันวุ่นวาย | จะรู้สึกกายก็หาไม่ |
เงียบสงัดไปทั้งวังใน | ไม่ได้สติสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ครั้นเสร็จสะกดอสุรี | ก็กลายอินทรีย์เป็นวานร |
ยืนอยู่ยังพื้นชาลา | องอาจดั่งพญาไกรสร |
กรกุมตรีเพชรฤทธิรอน | บทจรขึ้นปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นอสูรตนหนึ่งนอนหลับ | มือจับดินสอไว้มั่น |
สมุดกระดานชนวนนั้น | วางข้างกุมภัณฑ์นิทรา |
จึ่งยืนพินิจพิศดู | ก็รู้ว่าเป็นโหรยักษา |
เห็นปราสาทที่สองโสภา | ก็เปิดทวาราขึ้นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นอสูรตนหนึ่งบนที่ | กายาพ่วงพีเติบใหญ่ |
มีคทาเพชรแพร้วแววไว | วางไว้ข้างแท่นพรายพรรณ |
อันนางบำเรอรักษา | โสภาเพียงอัปสรสวรรค์ |
นอนมะเมอเพ้อบ่นเคี้ยวฟัน | กายนั้นไม่เป็นสมประดี |
จึ่งเห็นปราสาทที่สาม | เรืองอร่ามด้วยแก้วสลับสี |
ก็ขึ้นยังนิเวศน์อสุรี | เข้าไปในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นอสูรหนุ่มน้อยทรงลักษณ์ | ดวงพักตร์เขียวขำดั่งเลขา |
นางหนึ่งนอนแนบอุรา | พักตราดั่งดวงจันทร |
หลับอยู่บนแท่นโกมิน | ข้างที่วางศิลป์พระแสงศร |
ท่วงทีจะมีฤทธิรอน | ดูพลางบทจรลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเห็นปราสาทที่สี่ | จำรัสศรีโชติช่วงดั่งแขไข |
ก็ขึ้นยังไพชยนต์พิมานชัย | เข้าในห้องแก้วแพร้วพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นอสูรตนหนึ่งนิทรา | ยี่สิบกรสิบหน้าขึงขัน |
ก็รู้ว่าท้าวทศกัณฐ์ | มีนางหนึ่งนั้นแนบนอน |
ทรงโฉมอำไพวิไลลักษณ์ | ผ่องพักตร์เพียงเทพอัปสร |
สาวสนมดั่งดารากร | ห้อมล้อมจันทรเรียงราย |
ดูไปไม่ทันพินิจ | คิดว่าสีดาโฉมฉาย |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงพราย | ใจหมายจะฆ่าราวี |
ขบฟันกระทืบบาทา | ดูดู๋สีดามารศรี |
พระหริวงศ์ทรงโศกโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย |
ควรหรือมาร่วมรสรัก | กับไอ้ทศพักตร์ก็เป็นได้ |
ไม่ซื่อตรงต่อองค์ภูวไนย | ไว้ไยให้หนักดินดอน |
กูจะตัดเศียรเกล้าไปถวาย | องค์พระนารายณ์ทรงศร |
คิดพลางแกว่งตรีฤทธิรอน | วานรโลดโผนโจนมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ เงือดเงื้อจะพิฆาตฟาดลง | ครั้นเข้าใกล้องค์ก็เห็นหน้า |
ว่านางมณโฑกัลยา | มิใช่สีดาเทวี |
ก็เคลื่อนคลายหายที่ความโกรธ | ซึ่งพิโรธองค์พระมเหสี |
ลงจากปราสาทอสุรี | ขุนกระบี่เที่ยวค้นทั้งวังใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ทุกห้องตำหนักยักษา | จะเห็นประหลาดตาก็หาไม่ |
สุดคิดจนจิตจนใจ | ก็เหาะไปอรัญบรรพต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอาศรมสถาน | มัสการแจ้งความพระดาบส |
ว่าข้าไปชมเกียรติยศ | ท้าวทศพักตร์เจ้าลงกา |
แสนสนุกดั่งได้เห็นสวรรค์ | ในชั้นแดนดาวดึงสา |
แต่ความหนึ่งเขาเล่าลือมา | ว่าองค์พญาอสุรี |
ไปเที่ยวประพาสพนาลัย | ได้นางสีดามารศรี |
ทรงโฉมประโลมโลกีย์ | ไม่มีหญิงใดเปรียบปาน |
ข้านี้จะใคร่เห็นองค์ | ชมรูปชมทรงส่งสถาน |
อันนางสีดายุพาพาล | รักใคร่ขุนมารประการใด |
องค์พระมหาสิทธา | เคยไปเคยมาหรือหาไม่ |
ทศกัณฐ์ให้นางอรไท | อยู่ที่แห่งใดพระมุนี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารทมหาฤๅษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ดูกรกระบี่ชาญฉกรรจ์ |
ถึงกูอยู่ทวีปเมืองมาร | ไม่คบพวกพาลโมหันธ์ |
แต่แจ้งว่าสีดาวิลาวัณย์ | นางนั้นเป็นเมียพระรามา |
ทศพักตร์ไปลักมาไว้ | ยังในอุทยานยักษา |
นางไม่ยินดีปรีดา | ตัดพ้อด่าว่าทุกประการ |
ตัวเอ็งเป็นแต่วานร | สัญจรอยู่ในไพรสาณฑ์ |
กูคิดสงสัยพ้นประมาณ | ถามหานงคราญด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังสิ้นแหนงแคลงใจ | กราบไหว้แล้วแจ้งกิจจา |
ตัวข้านี้ชื่อหนุมาน | เป็นทหารพระนารายณ์นาถา |
บัดนี้พระองค์ทรงศักดา | ประชุมโยธาวานร |
ทั้งกรุงขีดขินชมพู | ตั้งอยู่คันธมาทน์สิงขร |
พร้อมแล้วจะยกนิกร | ตามมาราญรอนอสุรี |
ตรัสใช้ข้าบาทมาฟังข่าว | เรื่องราวองค์พระมเหสี |
ให้รู้ว่าอยู่ร้ายดี | ข้านี้จะมัสการลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
แจ้งว่าทหารพระจักรา | มาสืบข่าวสีดาวิลาวัณย์ |
มีความแสนโสมนัสนัก | ทีนี้ทศพักตร์โมหันธ์ |
ทั้งพวกอสุราอาธรรม์ | จะบรรลัยด้วยศรพระจักรี |
คิดแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูกรหนุมานกระบี่ศรี |
ท่านจงไปเป็นสวัสดี | ราคีสิ่งใดอย่าบีฑา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับพรพระสิทธา | ชุลีลาแล้วรีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยอยู่ตรงสวนอสุรี | เห็นพลโยธีน้อยใหญ่ |
กรกุมหอกดาบปืนไฟ | ล้อมวงนอกในแจจัน |
ผู้คนไปมาก็ตรวจนับ | เข้าออกกำชับกวดขัน |
ชั้นในนั้นนางกำนัล | นับพันอยู่เฝ้ากัลยา |
แม้นกูจะลงไปบัดนี้ | น่าที่อสูรยักษา |
ซึ่งอยู่กระเวนตรวจตรา | เห็นว่าจะออกชิงชัย |
ไหนจะพบองค์อัคเรศ | จะเกิดเหตุก่อการศึกใหญ่ |
คิดแล้วก็เหาะทะยานไป | ลงให้พ้นสวนมาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ยืนแอบต้นไทรไพศาล | สอดดูหมู่มารยักษี |
ก็ประนมอ่านเวทอันฤทธี | ขุนกระบี่นิมิตกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ รูปนั้นก็กลายเป็นลิงน้อย | กระจ้อยร่อยเท่าวานรป่า |
วิ่งหมุนผลุนข้ามมรรคา | โจนขึ้นพฤกษาไต่ไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ แลเห็นพลับพลาอันโอภาส | ใต้ร่มรุกขชาติโศกใหญ่ |
ใบชิดมิดแสงอโณทัย | มิ่งไม้สะอ้านสะอาดตา |
ผลิดอกออกผลสุกห่าม | งอกงามเรียบเรียงซ้ายขวา |
แลไปในสุวรรณพลับพลา | เห็นนางหนึ่งโสภาวิลาวัณย์ |
อรชรอ่อนองค์ทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์เศร้าสร้อยโศกศัลย์ |
ก็รู้ว่าสีดาดวงจันทร์ | แม่นมั่นเหมือนคำพระอาจารย์ |
มีความชื่นชมด้วยสมคิด | ครั้นพิศดูนางก็สงสาร |
อย่าเลยจะซ่อนหมู่มาร | ต่อเวลากาลราตรี |
จึ่งจะคอยลอบลงไป | เฝ้าองค์อรไทมเหสี |
คิดแล้วยอกรอัญชุลี | กระบี่ร่ายเวทกำบังตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพักตร์ยักษา |
ตั้งแต่ได้องค์นางสีดา | มาไว้ในสวนอุทยาน |
ความรักรุมรึงตรึงจิต | คิดใคร่ร่วมรสสงสาร |
ราคร้อนดั่งหนึ่งเพลิงกาล | พญามารรัญจวนป่วนใจ |
อันนางมณโฑเยาวลักษณ์ | เคยภิรมย์ชมพักตร์พิสมัย |
ทั้งฝูงสุรางค์นางใน | มิได้อาลัยนำพา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นคํ่ายํ่าสีรวีวรรณ | แสงจันทร์แจ่มแจ้งพระเวหา |
ยุรยาตรนาดกรลีลา | ออกหน้าสิงหาสน์บัญชร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ แลเห็นดวงจันทร์อันทรงกลด | หมดเมฆผ่องแผ้วประภัสสร |
คิดโฉมสีดาบังอร | ยิ่งอาวรณ์รุมรึงฤๅทัย |
แสนถวิลดิ้นโดยโหยหวน | รัญจวนครวญคิดพิสมัย |
เพียงจะพินาศขาดใจ | ที่ในรสราคฤๅดี |
อย่าเลยจะไปรับนงลักษณ์ | มาเป็นอัคเรศมเหสี |
เฉลิมฝูงอนงค์นารี | ร่วมที่เศวตฉัตรรัตนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งเรียกเถ้าแก่ | ชาวแม่ท้าวนางซ้ายขวา |
จงออกไปสั่งเสนา | ว่ากูจะไปอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งสมเด็จพญามาร | ก้มเกล้ากราบกรานแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งกล่าววาจา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
บัดนี้พระองค์ทรงภพไตร | ให้เตรียมพหลโยธี |
จะเสด็จโดยการพยุหบาตร | ออกไปประพาสสวนศรี |
แต่ในเวลาราตรี | ให้ทันตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ได้แจ้งแห่งนางอสุรา | ก็ออกมาจัดพลกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ต้นเชือกโยธาห้าโกฏิ | โคมแก้วเรืองโรจน์ฉายฉัน |
ถือหอกกลอกกลับยืนยัน | ใส่เกราะกุดั่นอลงกรณ์ |
ถัดมาสี่โกฏิอสุรี | คบทองรูจีประภัสสร |
สอดใส่เกราะแก้วบวร | มือกุมโตมรกรีดกราย |
ถัดมาสามโกฏิพลมาร | คบเงินชัชวาลเฉิดฉาย |
สอดใส่เกราะนิลพรรณราย | ล้วนถือทองปรายทุกตน |
กระบวนหลังโยธีสี่โกฏิ | ถือคบช่วงโชติสับสน |
ขุนรถเทียมรถอลวน | เกลื่อนกล่นคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | ไปเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วโกมิน | หอมหวานด้วยกลิ่นเกสร |
ทรงสุคนธารสขจายจร | สนับเพลาเชิงงอนอลงการ |
แล้วทรงภูษาพื้นม่วง | ฉลุดวงเกี้ยวกรองทองประสาน |
ชายไหวประดับพลอยประพาฬ | ชายแครงชัชวาลด้วยแก้วลาย |
ฉลององค์ทรงประพาสพระกรน้อย | สอดสร้อยสังวาลสามสาย |
ตาบทิศทับทรวงทับทิมพราย | ทองกรมังกรกลายพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | อร่ามเรืองทุกนิ้วพระหัตถ์ |
ทรงมงกุฎแก้วดอกไม้ทัด | กุณฑลจำรัสกรรเจียกจร |
ห้อยพวงสุวรรณบุปผา | พระหัตถ์ขวานั้นจับพระแสงศร |
งามดังพรหเมศฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | เลื่อมพรายลายแพรวทรงระหง |
แอกงอนอ่อนงามยรรยง | ดุมวงดูวามอร่ามตา |
ขุนรถขับรีบราชสีห์ | คลี่พวกเคลื่อนพลซ้ายขวา |
ชุมสายฉายแสงดาษดา | หน้าหลังแน่นล้อมอลวน |
แสงเทียนส่องทางกระจ่างจับ | กงแววแก้ววับโพยมหน |
เสียงฆ้องซ้องขานอึงอล | กาหลเกณฑ์แห่แตรงอน |
ธงริ้วทิวรายจนปลายเชือก | โคมเถือกคบทองส่องสลอน |
คู่ทหารเคียงแห่ประนมกร | เร่งจรรีบจัตุรงค์มา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | แล้วลงจากราชรัถา |
ทอดกรกรีดกรายเสด็จมา | ยังที่พลับพลานางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ฉุยฉาย
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์มาศ | ต่างอาสน์ใกล้องค์มารศรี |
ยิ้มพลางทางกล่าววาที | เจ้าพี่ผู้ดวงชีวัน |
ความแสนพิศวาสนางนงลักษณ์ | เพียงจักสิ้นชีพอาสัญ |
อันพระรามผู้ผัวของเจ้านั้น | ยากจนด้นดั้นอยู่ในไพร |
สองคนพี่น้องดั่งจัณฑาล | สมบัติพัสถานก็หาไม่ |
ไม่ควรคู่องค์อรไท | จะสนิทพิสมัยภิรมยา |
วันนั้นไปตามกวางทอง | เสียงร้องอื้ออึงคะนึงป่า |
ที่ไหนจะรอดชีวา | กวางร้ายมันจะฆ่าให้บรรลัย |
จงระงับดับความอาวรณ์ | จะโศกาเร่าร้อนหาควรไม่ |
ขอเชิญเจ้าเยาวยอดดวงใจ | เข้าในนิเวศน์วังจันทน์ |
ประกอบด้วยไอศูรย์สมบัติ | ดั่งมหาสุทัศน์เมืองสวรรค์ |
พร้อมหมู่สนมกำนัล | แปดหมื่นสี่พันนงคราญ |
จะเลี้ยงเจ้าเป็นมเหสี | ร่วมที่เศวตฉัตรฉายฉาน |
ใหญ่กว่าอนงค์บริวาร | เยาวมาลย์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสน่หา |
ฟังทศเศียรอสุรา | กัลยากลุ้มกลัดขัดใจ |
ดั่งศรแสลงมาแทงกรรณ | จะกลั้นความแค้นก็ไม่ได้ |
ปักไม้ลงแล้วก็ด่าไป | ไอ้ไม้จังไรอัปรีย์ |
ไฉนมึงจึ่งมาดูหมิ่น | พระทรงศิลป์ปิ่นภพเรืองศรี |
คือพระองค์ทรงอาสน์วาสุกรี | ภูมีอวตารมาผลาญยักษ์ |
ให้สิ้นโคตรวงศ์ไอ้พาลา | ซึ่งเบียดเบียนโลกาอาณาจักร |
อันตัวของมึงนี้ทรลักษณ์ | สิบเศียรสิบพักตร์จะปลิวไป |
วันเมื่อไปลักกูมานี้ | หากว่ารีบหนีมาได้ |
แม้นช้าจะม้วยบรรลัย | ด้วยแสงศรชัยพระจักรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังถ้อยคำนางสีดา | เปรียบปรายด่าว่าไม่อาลัย |
ยิ่งแสนพิศวาสในนํ้าเสียง | เพราะเพรียงไม่มีที่เปรียบได้ |
ยิ่งฟังยิ่งเพลินจำเริญใจ | ที่ในรูปรสวาที |
กราบลงแล้วกล่าวสุนทร | เจ้างามงอนจำเริญสวาทพี่ |
ทั่วทั้งสามภพธาตรี | ไม่มีใครเปรียบนงลักษณ์ |
ถึงมาตรเจ้าจะด่าว่า | พี่ยาไม่ถือคำนัก |
แต่ปรานีในทางรสรัก | อย่าหักเสน่หาอาลัย |
เจ้าดั่งดวงมณฑาทิพย์ | สิบหกช่องฟ้าไม่หาได้ |
รักนางพ่างเพียงดวงใจ | จะถนอมมิให้ราคี |
แม่อย่าสลัดตัดสวาท | นุชนาฏช่วยชูชีวิตพี่ |
เมตตาบ้างเถิดนางเทวี | ให้เป็นศรีสวัสดิ์สถาวร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
เจ็บชํ้าคำท้าวยี่สิบกร | บังอรผินพักตร์ไม่แลมา |
แล้วถ่มเขฬะลงไป | ว่าเหวยไอ้ไม้มารษา |
ตัวมึงอย่าพักเจรจา | ไหว้วอนแต่งว่าพาที |
กูคือมารดาสุรารักษ์ | ไตรจักรประณตบทศรี |
มิใช่หญิงร้ายอัปรีย์ | จะยินดีด้วยไอ้สาธารณ์ |
มาตรแม้นถึงตายจะไว้ยศ | ให้ปรากฏไปทั่วทิศาล |
มึงอย่าดูหมิ่นพระอวตาร | ไม่นานจะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
แฝงไม้ลอบดูอสุรี | มีความกริ้วโกรธโกรธา |
ตาแดงดั่งแสงไฟกัลป์ | มือคันจะใคร่เข่นฆ่า |
หากเกรงจะเกินบัญชา | องค์พระจักราสี่กร |
แต่ฟังถ้อยคำอสุรี | กับพระลักษมีดวงสมร |
ก็แจ้งว่าองค์บังอร | ไม่อาวรณ์รักใคร่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นนางสีดาวิลาวัณย์ | ผินผันด่าว่าไม่ไยดี |
สุดรู้สุดคิดปัญญา | สุดวอนสุดว่ามารศรี |
จนใจแล้วกล่าววาที | เจ้าพี่ค่อยอยู่สถาวร |
ขอลาโฉมเฉลาเยาวเรศ | คืนเข้านิเวศน์วังก่อน |
ว่าพลางพิศพักตร์บังอร | ทอดถอนฤทัยแล้วเดินมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นนางอสุรีที่อยู่เฝ้า | กระทืบเท้าแผดเสียงดั่งฟ้าผ่า |
เหวยเหวยพวกอีอสุรา | กูให้รักษานางเทวี |
เป็นไฉนมึงไม่ว่าวอน | ให้โอนอ่อนในความเกษมศรี |
ทีหลังถ้าเป็นดั่งนี้ | กูจะผลาญชีวีให้วายปราณ |
ว่าพลางเสด็จขึ้นรถทรง | พร้อมด้วยจัตุรงค์ทวยหาญ |
ออกจากสวนแก้วอุทยาน | คืนเข้าราชฐานกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด