- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ชาญสมร |
แลเห็นอินทรชิตฤทธิรอน | ยอกรกวักเรียกแล้วถามไป |
เจ้าทำพิธียังไม่ครบ | ลูกรักออกรบเป็นไฉน |
สงครามติดพันประการใด | ดวงใจจึ่งมาต่อราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
น้อมเศียรสนองพระวาที | วันนี้ลูกยกโยธา |
รณรงค์ด้วยองค์พระลักษมณ์ | หาญหักตอบโต้กันหนักหนา |
จนถึงอัสดงเวลา | ลูกยาแผลงนาคบาศไป |
รัดองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | กับหมู่วานรไว้ได้ |
ทูลความตามเรื่องที่มีชัย | โดยในเหตุผลทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ได้ฟังดั่งทิพย์สุธาธาร | มาโสรจสรงขุนมารทั้งอินทรีย์ |
จึ่งสวมสอดกอดองค์พระลูกรัก | พญายักษ์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
เจ้าผู้ดวงเนตรดวงชีวี | มิเสียทีเป็นวงศ์พรหมา |
ควรที่จะครองนคเรศ | เลื่องชื่อลือเดชไปภายหน้า |
อันกรุงพิชัยลงกา | บิดาจะให้เป็นรางวัล |
ว่าพลางพลางจูบลูบพักตร์ | พญายักษ์สำรวลสรวลสันต์ |
สิ้นทั้งสิบปากพร้อมกัน | เสียงสนั่นกึกก้องเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
ครั้นเสร็จทูลความพระบิดา | อสุรานบนิ้วประนมกร |
กราบลงแทบเบื้องบทมาลย์ | ด้วยใจชื่นบานสโมสร |
ลาพระบิตุเรศฤทธิรอน | บทจรมาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าห้องแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
เสด็จเหนือแท่นรัตนมณี | พร้อมหมู่นารีอนงค์ใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลน้อยใหญ่ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ล้วนโฉมอำไพวิไลวรรณ |
อรชรอ้อนแอ้นจำเริญรัก | ผิวพักตร์ผ่องเพียงนางสวรรค์ |
เข้าโบกปัดพัดวีนวดฟั้น | ชวนกันทำตามพนักงาน |
นางบำเรอก็ขับถวายเสียง | สำเนียงรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
โหยหวนโอดพันบรรเลงลาน | เป็นคำหวานพร้อมเพราะไปในที |
รำมะนาท้าทับกรับฉิ่ง | พร้อมพริ้งจังหวะดีดสี |
บำรุงบำเรออสุรี | ในที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษา |
ฟังนางอนงค์กัลยา | อสุราเพลิดเพลินจำเริญใจ |
เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | สโมสรด้วยความพิสมัย |
เย้าหยอกสัพยอกนางใน | ก็หลับไปในราษราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นลูกรักมีชัยแก่ไพรี | ยินดีด้วยสมอารมณ์คิด |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ในชั้นวิมานดุสิต |
ที่ร้อนใจดั่งต้องไฟพิษ | ก็เปลื้องปลิดออกจากอุรา |
พักตร์ผ่องดั่งดวงศศิธร | อันเขจรอยู่ในเวหา |
ก็เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | เข้าปราสาทรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | พระหัตถ์ลูบหลังมเหสี |
แล้วกล่าวมธุรสวาที | วันนี้อินทรชิตลูกรัก |
ไปสังหารผลาญหมู่อริราช | ด้วยศรนาคบาศสิทธิศักดิ์ |
องคตหนุมานที่หาญนัก | ทั้งพระลักษมณ์แลพลก็บรรลัย |
ยังแต่พระรามผู้เชษฐา | ออกมาเห็นน้องจะร้องไห้ |
ก็จะซบสลบทับกันไป | จึ่งจะฆ่าเสียให้วายปราณ |
อันลงกาครานี้จะสิ้นทุกข์ | มีแต่ความสุขเกษมศานต์ |
เป็นมหันตมโหฬาร | เทียมสถานไกรลาสพระศุลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมารศรี |
ได้ฟังพระราชสามี | เทวีสนองพระบัญชา |
พระองค์มงกุฎเมืองมาร | ขอประทานโปรดเกล้าเกศา |
อย่าเพ่อยินดีปรีดา | ผ่านฟ้าตริตรองให้จงนัก |
อันองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ครั้งก่อนก็ต้องโมกขศักดิ์ |
พญากุมภกรรณน้องรัก | เห็นจักสุดสิ้นชนมาน |
เลิกทัพกลับพวกโยธา | คืนเข้าพาราราชฐาน |
ก็เป็นขึ้นได้ไม่วายปราณ | เพราะพิเภกแจ้งการแก่ไพรี |
ครั้งนี้ก็ต้องนาคบาศ | ศรสาตร์อินทรชิตยักษี |
ก็ละเสียไม่ฆ่าราวี | เห็นทีฝ่ายเขาจะแก้กัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังอัครชายาวิลาวัณย์ | กุมภัณฑ์ขัดแค้นแน่นใจ |
ดั่งศรแสลงแทงอุรา | จะออกปากเจรจาก็หาไม่ |
เสด็จลงจากอาสน์อำไพ | เข้าในห้องแก้วมณี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพญาพิเภกยักษี |
วิ่งหนีอินทรชิตอสุรี | มายังที่พลับพลาอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | พระผู้พงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
ทูลว่าพระอนุชาชัยชาญ | เสียทีขุนมารอินทรชิต |
ทั้งหมู่กบินทร์วารินราช | ก็ต้องนาคบาศศรสิทธิ์ |
ล้มสลบซบอยู่ด้วยพิษ | พระทรงฤทธิ์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ฟังข่าวเร่าร้อนในอุรา | ผ่านฟ้าตระหนกตกใจ |
เอะอะไรกระนี้พิเภกเอ๋ย | ไฉนเลยช่างให้มันลวงได้ |
เสียแรงตัวเป็นผู้ใหญ่ไป | ละให้พระน้องกูเสียที |
ว่าพลางจับศรพรหมาสตร์ | เสด็จจากอาสน์แก้วเรืองศรี |
สุครีพพิเภกอสุรี | หมู่พลกระบี่ก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เดินโดยมรรคาพนาดร | ศศิธรแจ่มแจ้งพระเวหา |
อากาศดาษด้วยดารา | ผ่านฟ้าทอดทัศนาไป |
เห็นวานรต้องศรนาคบาศ | มัดกลิ้งเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
ยิ่งสลดระทดพระทัย | ภูวไนยเที่ยวหาอนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ฉาน
๏ ครั้นมาใกล้ราชรถทรง | ก็เห็นองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
นาคกระหวัดรัดรอบกายา | แต่บาทาจนถึงพระนาภี |
สองกรพระฉวยฉุดกระชาก | เปลื้องนาคบาศยักษี |
ไม่เคลื่อนคลายออกจากอินทรีย์ | พระจักรีระทดพระทัยนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงแอบแนบน้อง | ค่อยประคองช้อนเกศาขึ้นใส่ตัก |
ชลนัยน์ไหลลงโซมพักตร์ | พระทรงจักรครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้อนิจจาเจ้าลักษมณ์เอ๋ย | ไฉนเลยมาม้วยอาสัญ |
ทรงศรสามเล่มดั่งเพลิงกัลป์ | ปรากฏทั่วสวรรค์ชั้นฟ้า |
สงครามพ่อไม่ระวังองค์ | ให้ต้องศรทรงของยักษา |
เจ้าก็เป็นบัลลังก์นาคา | มาแพ้นาคอสุราสาธารณ์ |
ครั้งก่อนก็ต้องโมกขศักดิ์ | เพราะน้องรักอาจองทะนงหาญ |
ครั้งนี้ก็ออกมารอนราญ | กับด้วยขุนมารอินทรชิต |
ตัวพี่ก็ได้กำชับสั่ง | ควรหรือยังมาประมาทจิต |
ให้เสียทีพาลาปัจจามิตร | ดูดั่งแพ้ฤทธิ์อสุรี |
เมื่อเจ้ามาสิ้นชีวัน | พี่จะรบโรมรันด้วยยักษี |
มาตรแม้นมีชัยก็ไม่ดี | จะรู้ที่ไว้หน้าแห่งใด |
ถึงจะได้เมียก็เสียน้อง | จะต้องการสิ่งใดก็หาไม่ |
รํ่าพลางแสนโศกาลัย | นิ่งไปไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | สุครีพพิเภกยักษี |
เห็นพระหริรักษ์จักรี | โศกีแน่นิ่งไม่ติงกาย |
ต่างตนเร่าร้อนไม่มีสุข | แสนทุกข์แสนเทวษใจหาย |
บรรดาวานรไพร่นาย | วุ่นวายเซ็งแซ่เป็นโกลา |
ต่างตนต่างเข้านวดฟั้น | คั้นเบื้องพระบาทซ้ายขวา |
บ้างวิ่งไปตักนํ้ามา | ประพรมกายาพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครั้นฟื้นคืนได้สมประดี | ภูมีตรัสถามพิเภกไป |
อันองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | กับหมู่วานรน้อยใหญ่ |
ซึ่งต้องนาคบาศศรชัย | ทำไฉนจะฟื้นคืนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | ทูลสนองบัญชาพระจักรี |
อันองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ซึ่งต้องศรอินทรชิตยักษี |
กับพวกวานรโยธี | บัดนี้ไม่ม้วยชีวัน |
พระองค์จงแผลงพลายวาต | ให้สุธาอากาศไหวหวั่น |
ไปหาพญาสุบรรณ | ลงมาคาบคั้นนาคินทร์ |
อันนาคบาศอสุรี | ก็จะหนีพญาปักษิน |
พระอนุชากับหมู่พานรินทร์ | ทั้งสิ้นก็จะฟื้นกายา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
ได้ฟังพิเภกโหรา | ปรีดาดั่งได้โสฬส |
ที่ความโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนทั้งนั้นก็หายหมด |
วางพระอนุชาไว้หน้ารถ | พระทรงยศขึ้นศรแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงเพียงหนึ่งลมกาล | ฟากฟ้าบาดาลก็หวาดไหว |
โชติช่วงดั่งดวงอโณทัย | ตรงไปวิมานสิมพลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพญาสุบรรณปักษี |
เห็นศรสำแดงฤทธี | สกุณีก็แจ้งกิจจา |
ว่าองค์สมเด็จพระอวตาร | มีพระโองการให้หา |
ออกจากวิมานรัตนา | บินมาด้วยกำลังฤทธิรุทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ แผละ
๏ เสียงปีกครั่นครึกกึกก้อง | สะเทือนถึงท้องพระสมุทร |
พระสุเมรุเอนอ่อนดั่งจะทรุด | เลื่อนลั่นอุตลุดเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้สมรภูมิชัย | แลไปเห็นนาคยักษา |
รวบรัดมัดองค์พระอนุชา | กับหมู่โยธาวานร |
จึ่งสำแดงเดชากล้าหาญ | ด้วยกำลังชำนาญชาญสมร |
ถาบถาร่าลงยังดินดอน | กางกรเข้าจิกนาคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนาคบาศยักษี |
ครั้นเห็นพญาสกุณี | วาสุกรีตระหนกตกใจ |
จึ่งคลายจากกายพระวรนุช | ทั้งพลยุทธ์วานรน้อยใหญ่ |
ชำแรกแทรกปัถพีไป | ด้วยกลัวฤทธิไกรสกุณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
กับหมู่วานรโยธา | ครั้นนาคาเคลื่อนหลุดจากกาย |
ทั้งต้องละอองน้ำค้าง | พิษนั้นสะสร่างเสื่อมหาย |
ต่างตนแลเห็นพระนารายณ์ | ก็ลุกขึ้นถวายบังคมคัล |
พระลักษมณ์เข้ากอดเอาเบื้องบาท | พระเชษฐาธิราชรังสรรค์ |
ทูลว่าข้าม้วยชีวัน | พระทรงธรรม์มาช่วยชีวิต |
จึ่งได้กลับคืนเป็นมา | พระคุณลํ้าฟ้าดุสิต |
จะขออาสาพระทรงฤทธิ์ | ไม่คิดเกรงพวกภัยพาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ฟังพระอนุชาชัยชาญ | ผ่านเกล้าลูบหลังแล้วบัญชา |
อันไอ้อินทรชิตกุมภัณฑ์ | ศิลป์ศรของมันแกล้วกล้า |
แต่เจ้าผู้ทรงศักดา | ยังว่าเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
แม้นมาตรผู้อื่นออกราญรอน | เห็นไม่ครั่นกรยักษี |
อันสงครามมีชัยแลเสียที | ใช่จะมีแต่องค์น้องรัก |
จงทรงเดชาอานุภาพ | ปราบไปได้ทั่วทั้งไตรจักร |
อันซึ่งศัตรูหมู่ยักษ์ | ให้เแพ้ศรศักดิ์พระอนุชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพญาสุบรรณปักษา |
ครั้นนาคีหนีแทรกพสุธา | ก็เข้ามาถวายบังคมคัล |
ทูลว่าข้าได้ยินเสียงศร | พระสี่กรธิราชรังสรรค์ |
จึ่งลงมาช่วยพระทรงธรรม์ | โรมรันนาคาปัจจามิตร |
เสร็จแล้วจะขอบังคมลา | ใต้เบื้องบาทาพระจักรกฤษณ์ |
ทูลพลางถวายอัญชุลิต | แผลงฤทธิ์บินไปยังวิมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระผู้พงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
จึ่งชวนองค์อนุชาชัยชาญ | ขึ้นรถสุรกานต์อลงกรณ์ |
ให้เลิกพหลโยธี | กระบี่ทวยหาญชาญสมร |
โห่สนั่นครั่นครื้นดินดอน | บทจรไปสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
แลเห็นพญาครุฑา | มาไล่นาคาหนีไป |
อันองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | กับวานรนั้นฟื้นขึ้นมาได้ |
ยกทัพกลับเข้าพลับพลาชัย | ตกใจก็รีบเข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษี |
อันพระลักษมณ์ต้องศรนาคี | กับหมู่โยธีวานร |
พระรามผู้พี่มาพบกัน | โศกาแล้วลั่นธนูศร |
บัดเดี๋ยวเป็นครุฑากางกร | เข้าไล่ราญรอนนาคา |
อันหมู่อริราชไพรี | ไม่ม้วยชีวีสังขาร์ |
ข้าศึกกำเริบอหังการ์ | เพราะว่ามันไม่วายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ฟังข่าวเร่าร้อนดั่งเพลิงกาล | พญามารนิ่งขึงตะลึงไป |
ชิชะไอ้หมู่ปัจจามิตร | มาคิดแก้ไขกันไปได้ |
ทั้งนี้เพราะพิเภกจังไร | หาไม่ไม่รอดชีวี |
คิดแล้วพญากุมภัณฑ์ | สั่งนางกำนัลสาวศรี |
ไปหาอินทรชิตผู้ฤทธี | บอกว่ากูนี้ให้ขึ้นมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลเสน่หา |
รับสั่งพระองค์ทรงนครา | ถวายบังคมลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงปราสาทพระโอรส | นั่งลงประณตประนมไหว้ |
ทูลว่าพระทรงภพไตร | ให้ข้ามาทูลบทมาลย์ |
บัดนี้มนุษย์กับลิงป่า | ไม่ม้วยชีวาสังขาร |
สารัณเข้ามาแจ้งการ | ผ่านฟ้าให้เชิญเสด็จจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตฤทธิรงค์ทรงศร |
ได้แจ้งโองการพระบิดร | ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟพิษ |
นั่งขึงตะลึงทั้งอินทรีย์ | อสุรีอัดอั้นตันจิต |
เสด็จจากแท่นแก้วชวลิต | นางสนมสนิทก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงถวายอภิวาทน์ | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ท่ามกลางอสูรเสนา | ในมหาปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรพงศ์พรหมรังสรรค์ |
แลเห็นลูกรักร่วมชีวัน | กุมภัณฑ์มีราชโองการ |
อันพระลักษมณ์ที่ต้องนาคบาศ | กลิ้งกลาดกับพวกทวยหาญ |
บัดนี้มีครุฑตัวพาล | ลงมารอนราญราวี |
ฉีกฉาบคาบคั้นนาคินทร์ | จิกกินเป็นเหยื่อปักษี |
พระลักษมณ์กับหมู่โยธี | ฟื้นสมประดีคืนมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุรานบนิ้วแล้วทูลไป |
นาคบาศเล่มนี้มีฤทธิ์ | พรหเมศประสิทธิ์ประสาทให้ |
ทรงอานุภาพเกรียงไกร | ไตรโลกไม่ทานฤทธี |
เหตุเพราะพิเภกทรชน | บอกกลให้แก้ศรศรี |
หาไม่ที่ไหนไพรี | จะรอดชีวีคืนมา |
อันความแค้นนี้แสนสุดคิด | น้อยจิตปิ้มสิ้นสังขาร์ |
จะฆ่าเสียให้ได้ดั่งจินดา | ทั้งพวกสวาวานร |
แต่ลูกจะขอบังคมบาท | ไปชุบพรหมาสตร์แสงศร |
ของพระอิศวรฤทธิรอน | ในหว่างยุคุนธรบรรพต |
ใต้ต้นตร่างริมนที | ที่หาดมณีมรกต |
โดยเวทพระศุลีมียศ | กำหนดสามวันจะกลับมา |
พระองค์จงให้ไปขัดทัพ | ตั้งรับข้าศึกไว้ท่า |
แต่อย่าเอาความมรณา | ไปว่าจะเสียพิธี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ได้ฟังอินทรชิตอสุรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ที่ร้อนรุมกลุ้มใจดั่งไฟพราย | ก็บันดาลเคลื่อนคลายหายหมด |
จึ่งสวมสอดกอดองค์พระโอรส | แล้วมีพจนารถตรัสไป |
เจ้าผู้ดวงเนตรดวงชีวิต | ความคิดไม่มีที่เปรียบได้ |
ซึ่งพ่อจะไปชุบศรชัย | ให้เสร็จดั่งใจจินดา |
ภายหลังจะให้กำปั่น | ยกพวกพลขันธ์ยักษา |
ไปขัดทัพรับหมู่พาลา | คอยท่ากว่าจะเสร็จพิธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
น้อมเศียรรับพรด้วยยินดี | ชุลีลาสมเด็จพระบิดร |
เสร็จแล้วก็ลงจากปราสาท | องอาจดั่งพญาไกรสร |
เสด็จย่างเยื้องบทจร | ฝูงอนงค์นิกรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงนั่งเหนือบัลลังก์กาญจน์ | พร้อมพวกพลหาญซ้ายขวา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเสนาผู้ร่วมใจ |
กูจะไปตั้งพิธีกรรม์ | ในระหว่างสัตภัณฑ์เขาใหญ่ |
จงจัดรี้พลสกลไกร | ให้พร้อมโดยในกระบวนทัพ |
ทั้งแพะดำโคดำถั่วงา | ธูปเทียนมาลาให้เสร็จสรรพ |
ตามที่พระเวทบังคับ | สำหรับชุบศรพระศุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษี |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | อสุรีก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จัดหมู่ทหารชำนาญศึก | หกเหล่าห้าวฮึกแกล้วกล้า |
หมู่หนึ่งเสื้อเขียวไข่กา | ถือหอกเงื้อง่าคอยแทง |
หมู่หนึ่งล้วนใส่เสื้อดำ | ถือทวนกรายรำกวัดแกว่ง |
หมู่หนึ่งพื้นใส่เสื้อแดง | ถือดาบคมแวงยืนยัน |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อชมพู | มือถือธนูกระหยับลั่น |
หมู่หนึ่งกรกุมเกาทัณฑ์ | ใส่เสื้อสีจันทร์ขลิบทอง |
หมู่หนึ่งสอดเสื้อสีฟ้า | ถือปืนคาบศิลาเป็นทิวท่อง |
ต่างตนโลดโผนโจนคะนอง | ทุกกองคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์นาที | มาเข้าที่สระสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ปทุมแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์เฟื่องฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเครือขดนาคินทร์ | ภูษาธงข้าวบิณฑ์พื้นดำ |
ชายแครงชายไหวลายกุดั่น | สังวาลวัลย์มรกตเขียวขำ |
ทับทรวงดวงบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศทับทิมราย |
เฟื่องห้อยพลอยดวงมุกดาหาร | ทองกรแก้วประพาฬฉานฉาย |
พาหุรัดรูปวาสุกรีกราย | ธำมรงค์เพชรพรายอลงกรณ์ |
ทรงมหามงกุฎนวรัตน์ | กรรเจียกแก้วจำรัสประภัสสร |
พระหัตถ์จับพรหมาสตร์ฤทธิรอน | บทจรไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงล้วนแก้วมรกต |
เรือนแปรกแอกงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อตั้งกระจังบัน |
เทียมด้วยสีหราชผาดผยอง | สารถีแกว่งกระบองดั่งจักรผัน |
ขับทะยานผ่านยอดอัสกรรณ | ดั้นหมอกออกชั้นลมบน |
มยุรฉัตรพัดโบกชุมสาย | พรายพรายพยับโพยมหน |
ธงทิวริ้วเรียบขนัดพล | มืดมนบดบังทินกร |
เสียงฆ้องกลองชนะโครมครื้น | สะเทือนพื้นสัตภัณฑ์สิงขร |
ข้ามแถวแนวสีทันดร | เขจรขับแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงสีทันดรสมุทร | จึ่งให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ลงที่หาดแก้วแววไว | ใต้ต้นตร่างริมบรรพตา |
เสร็จแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งพัทกาลยักษา |
จงตั้งโรงพิธีอันโอฬาร์ | ในท่ามมหาสาคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพัทกาลชาญสมร |
รับสั่งลูกท้าวยี่สิบกร | ก็รีบบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันปันด้าน | ทุกหมู่พลมารน้อยใหญ่ |
ให้ตั้งโรงพิธีอำไพ | ที่ในแนวฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานถ้วนหน้า |
ก็เร่งให้ไพร่พลโยธา | ตัดไม้เกี่ยวคาเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ บ้างแบกบ้างขนบ้างลาก | ปักฉลากจับการอึงมี่ |
ขุดหลุมยกเสาขึ้นทันที | ตามที่ตำแหน่งพนักงาน |
สามสิบสามห้องมีเฉลียง | ราชวัติฉัตรเรียงทั้งสี่ด้าน |
เบื้องบนนั้นดาดเพดาน | ห้อยพวงกุสุมาลย์โอฬาร์ |
ท่ามกลางนั้นตั้งบัลลังก์รัตน์ | บัตรพลีบายศรีซ้ายขวา |
ทั้งเทียนเงินเทียนทองรจนา | เสร็จตามบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นเสร็จโรงราชพิธี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
จึ่งเปลื้องเครื่องประดับพรรณราย | ออกจากพระกายทุกสิ่งหมด |
แล้วเสด็จลงจากราชรถ | บทจรไปสรงคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ ขัดสีธุลีละอองผง | ชำระมลทินองค์ยักษา |
ทรงสุคนธ์ลูบไล้ชโลมทา | ผ้าทิพย์พื้นเขียวรูจี |
เกี่ยวกระหวัดรัดโกปินำ | สอดสายธุหรํ่าดั่งฤๅษี |
เจิมจุณมุ่นเกล้าเมาลี | สอดประคำมณีอลงกรณ์ |
ทรงสะพักสีเขียวเขียวระยับ | พระหัตถ์จับพรหมาสตร์แสงศร |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สถาวร | บทจรเข้าโรงพิธีการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ ครั้นถึงจึงนั่งเหนืออาสน์ | อันโอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
จุดธูปเทียนทองโอฬาร | มัสการองค์เจ้าภพไตร |
แล้วให้ระดมกองกาลา | ทำตามตำราคัมภีร์ไสย |
เอาพรหมาสตร์พาดตักลงไว้ | สำรวมใจอ่านเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
ครั้นรุ่งสางสว่างธาตรี | ก็ฟื้นองค์จากที่ไสยา |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | ออกมายังหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองนคเรศ | น้อมเกศบังคมประนมไหว้ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ดั่งดาวล้อมแขไขในอัมพร |
จึ่งปรึกษาราชกิจการยุทธ์ | ด้วยสิบแปดมงกุฎชาญสมร |
ซึ่งจะเข้าหักหาญราญรอน | ต่อกรอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
น้อมเศียรกราบทูลพระจักรี | บัดนี้วานรในพลับพลา |
อดอยากขัดสนผลไม้ | ไม่รู้ที่จะไปเที่ยวหา |
แต่คอยนิลพัทไม่เห็นมา | พ้นกำหนดกว่าสิบห้าวัน |
อันพฤกษากินได้ในเกาะนี้ | บรรดามีตามป่าพนาสัณฑ์ |
ทั้งใบรากดอกผลทุกสิ่งอัน | แบ่งปันไม่พอกันกิน |
อันกระบี่ที่กำลังเข้มแข็ง | ก็หิวโหยโรยแรงลงสิ้น |
เห็นขัดสนจะผจญด้วยไพริน | พระทรงศิลป์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าตระหนกตกใจ |
นั่งนิ่งตะลึงรำพึงคิด | ร้อนจิตเพียงหนึ่งเพลิงไหม้ |
จึ่งมีโองการตรัสไป | ทำไฉนพิเภกขุนมาร |
บัดนี้โยธีรี้พล | ขัดสนพฤกษาผลาหาร |
แม้นศึกติดพันจะเสียการ | เรานี้รำคาญพันทวี |
ป่าใดที่มีผลไม้ | ใกล้แดนลงกาบุรีศรี |
พอเป็นกำลังโยธี | กว่ากระบี่นิลพัทจะกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุรากราบทูลสนองไป |
อันฟากฝั่งมหาสาคร | ทิศอุดรมีป่ากว้างใหญ่ |
ชื่อสาลวันพนาลัย | มิ่งไม้ทรงผลหลายพรรณ |
ดกดาษดิบห่ามทรามสุก | แสนสนุกดั่งสวนในสวรรค์ |
ซึ่งจะเลี้ยงโยธาไปนั้น | เห็นพอกันไม่เป็นไรนัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังน้องท้าวทศพักตร์ | พระหริรักษ์ยินดีปรีดา |
จึ่งมีบรรหารอันสุนทร | ดูกรพิเภกยักษา |
ตัวท่านรู้แห่งมรคา | จงพาพลสองสมุทรไป |
เก็บผลพฤกษาผลาหาร | เปรี้ยวหวานบรรดาที่กินได้ |
ให้พอพหลพลไกร | อย่านอนใจกลับมาให้ทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันตัวข้าบาทจะลาไป | เที่ยวเก็บผลไม้ที่ในป่า |
ให้ได้เลี้ยงวานรโยธา | จะกลับมาวันนี้เห็นไม่ทัน |
ภายหลังเกลือกว่าอินทรชิต | ทะนงฤทธิ์จะยกพลขันธ์ |
ออกมาหักโหมโรมรัน | จงผ่อนผันอย่าให้เสียที |
ทูลแล้วถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ออกจากที่เฝ้าพระจักรี | มาจัดกระบี่โยธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ได้ครบสองสมุทรวานร | กระเช้าหาบคอนพร้อมหน้า |
อสุรีผู้มีปรีชา | ก็พาข้ามมหาสมุทรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ เดินทางหว่างทุ่งวุ้งเขา | ลำเนาเนินแนวป่าใหญ่ |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | โลดไล่สัพยอกหยอกกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงสุริยัน | กุมภัณฑ์ก็เข้าที่ไสยา |
ตรึกการที่จะผลาญไพริน | ให้สุดสิ้นชีวังสังขาร์ |
มิได้สนิทนิทรา | สุริยาจวนแจ้งแสงทอง |
ชาวประโคมก็ประโคมสังข์แตร | เซ็งแซ่โห่ระทึกกึกก้อง |
เสียงม้าเสียงช้างต่างคะนอง | ดุเหว่าเร่าร้องสนั่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเข้าที่ชำระสระสรง | นํ้าทิพย์อาบองค์เย็นใส |
ทรงเครื่องเรืองรัตน์อำไพ | เสด็จไปพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์แก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
พร้อมหมู่มาตยาโยธี | กระวีโหราพฤฒาจารย์ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษดา | อสุรามีราชบรรหาร |
ดูกรกำปั่นขุนมาร | ตัวท่านผู้มีฤทธิรุทร |
จงยกพหลโยธี | อสุรีให้ได้สิบสมุทร |
สรรพไปด้วยสาตราวุธ | ตั้งรับมนุษย์วานร |
กว่าอินทรชิตชัยชาญ | จะเสร็จการพิธีชุบศร |
จึ่งค่อยหักหาญรานรอน | ต่อกรด้วยราชไพรี |
ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | สั่งเปาวนาสูรยักษี |
จงจัดพหลโยธี | ที่ตัวดีไปด้วยขุนมาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ชุลีลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จึ่งจัดทหารชำนาญยุทธ์ | สิบสมุทรเลือกล้วนแกล้วกล้า |
หมู่หนึ่งเขี้ยวโง้งเพียงตา | ถือหอกเงื้อง่าขบฟัน |
หมู่หนึ่งหน้ากากตัวแดง | ถือพะเนินกวัดแกว่งแข็งขัน |
หมู่หนึ่งหน้าไพร่ใจฉกรรจ์ | ถือปืนยืนยันเมียงมอง |
หมู่หนึ่งเขี้ยวขาวฟันดำ | ถือง้าวกรายรำเคล่าคล่อง |
ผูกทั้งคชสารตัวคะนอง | ทุกกองคอยท่าอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กำปั่นสิทธิศักดิ์ยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ชำระกายให้หมดมลทิน | อสุรินทร์แต่งตัวโอ่อ่า |
สนับเพลาเป็นรูปนาคา | นุ่งผ้าทองช้ำเครือวัลย์ |
เจียระบาดคาดเอวพื้นม่วง | สายหน่วงผูกรัดขัดมั่น |
ใส่เสื้อผุดทองพรายพรรณ | สอดเกราะกุดั่นอลงกรณ์ |
ทั้งเครื่องคงทนอาวุธ | สังวาลชมพูนุทประภัสสร |
มือขวานั้นถือคทาธร | บทจรมาขึ้นคชาธาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ช้างเอยช้างศึก | ซับมันห้าวฮึกกล้าหาญ |
สองตาดั่งแสงไฟกาล | สูงตระหง่านเชื้อชาติฉัททันต์ |
ฝีเท้าฝีงากล้ารบ | ผูกครบแต่ล้วนเครื่องมั่น |
หูตรับกระหยับคอยโรมรัน | บุกบันโจมจ้วงทะลวงแทง |
โยธาแต่ล้วนสามารถ | ฤทธิรงค์องอาจเข้มแข็ง |
โห่ฮึกหักศึกกลางแปลง | วิ่งแข่งรีบขับกันไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นมาถึงที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นทัพขันธ์มั่นไว้ | คอยจะชิงชัยด้วยวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงกรณ์ | ภูธรไม่สนิทนิทรา |
ตริตรองในการรณรงค์ | ที่จะล้างโคตรวงศ์ยักษา |
จนแสงทองรองเรื่อเมฆา | จันทราลับเหลี่ยมสีขริน |
ฝ่ายฝูงวิหคทั้งหลาย | ก็ฟื้นกายตื่นตาขึ้นมาสิ้น |
บ้างขับบ้างร้องบ้างบิน | หากินเพรียกพร้องสนั่นไพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
พระกรจับพรหมาสตร์ศรชัย | เสด็จไปออกหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมด้วยสุครีพหนุมาน | ชมพูพานองคตกระบี่ศรี |
ทหารทั้งสองพระบูรี | ชุลีกรเกลื่อนกลาดดาษดา |
พอได้ยินสำเนียงโห่ร้อง | กึกก้องเลื่อนลั่นสนั่นป่า |
จึ่งสั่งพระศรีอนุชา | แก้วตาผู้ร่วมชีวัน |
จงยกโยธาพลากร | ไปราญรอนอสุราโมหันธ์ |
อย่าให้เสียทีเสียกลมัน | ผ่อนผันรณรงค์ให้จงดี |
แล้วมีบัญชาประกาศิต | แก่ลูกพระอาทิตย์เรืองศรี |
ให้จัดพหลโยธี | เลือกล้วนกระบี่ชำนาญยุทธ์ |
ไปด้วยพระศรีอนุชา | ให้ได้ครบห้าสิบสมุทร |
สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธ | วายุบุตรเป็นทัพหน้าไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์ให้คำแหงหนุมาน | คุมพลทหารเป็นทัพหน้า |
กองขันเกสรทมาลา | เกียกกายลูกพญาพาลี |
ทัพหลวงโยธาล้วนสามารถ | องอาจดั่งพญาราชสีห์ |
ยุกกระบัตรนั้นสัตพลี | กองหนุนกระบี่สุรกานต์ |
นิลนนท์กองหลังรั้งทัาย | ไพร่นายล้วนมีกำลังหาญ |
โยธาทัพน้องพระอวตาร | เลือกล้วนชำนาญในการยุทธ์ |
แต่ละตนลำพองคะนองศึก | ห้าวฮึกทั้งห้าสิบสมุทร |
พร้อมด้วยเครื่องสรรพอาวุธ | อุตลุดคอยเสด็จยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
ครั้นได้ศุภฤกษ์เวลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | สุหร่ายมาศโปรยปรายดั่งสายฝน |
ลูบไล้เครื่องทิพย์เสาวคนธ์ | ปรุงปนเกสรสุมามาลย์ |
สนับเพลาเชิงงอนช่องกระจก | ภูษายกเกี้ยวกรองทองผสาน |
ชายไหวชายแครงอลงการ | ฉลององค์เครือก้านกระหนกพัน |
สะอิ้งสร้อยพลอยเพชรรุ้งร่วง | ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น |
เฟื่องแก้วสุรกานต์สังวาลวัลย์ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ธำมรงค์ทรงถ้วนนิ้วพระหัตถ์ | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
ห้อยมาลัยทิพย์กรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรอลงการ์ |
พระหัตถ์นั้นจับศรทรง | ดั่งเทเวศลอยลงจากเวหา |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | เสด็จมาขึ้นรถพรรณราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงมรกตฉานฉาย |
แอกอ่อนงอนระหงธงชาย | บัลลังก์ลายเลื่อมแก้วโกเมน |
เทียมด้วยเทพบุตรอัสดร | สารถีกรายกรกุมเขน |
เครื่องสูงบังแสงสุริเยน | เกณฑ์แห่แตรสังข์อึงอล |
เสียงฆ้องกลองประโคมโครมคึก | เสียงทหารโห่ฮึกโกลาหล |
ไชยามพวานนำพล | ถือธงโบกบนเฉลิมชัย |
เสียงรถเสียงทศทวยหาญ | ดินฟ้าจักรวาลสะท้านไหว |
ผงคลีมืดคลุ้มอโณทัย | รีบพวกพลไกรยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงแลไปเห็นทัพ | ตั้งรับอยู่ริมชายป่า |
จึ่งให้หยุดพหลโยธา | แยกเป็นปีกกาจะราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำปั่นสิทธิศักดิ์ยักษี |
ยืนช้างอยู่กลางโยธี | เห็นทัพกระบี่ยกมา |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งเพลิงกัลป์ | ตัวสั่นเขม้นจะเข่นฆ่า |
จึ่งสั่งอสุรโยธา | ให้ดากันเข้าตีวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารชาญสมร |
ต่างตนสำแดงฤทธิรอน | เข้าต่อกรกับหมู่กระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยิงแย้งแทงฟันกันสับสน | ลางตนก็พุ่งหอกใหญ่ |
โห่ฮึกสะอึกเข้าไป | เสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธาวานรทัพหน้า |
ปะทะกรรอนราญอสุรา | โถมเข้าเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตีนถีบปากกัดมือตบ | หลีกหลบกลางพลยักษี |
กอดรัดฟัดกันเป็นโกลี | ถ้อยทีหนีไล่กันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่พลมารน้อยใหญ่ |
ไม่คิดชีวิตจิตใจ | ไล่กันหนุนเนื่องเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตีด้วยฆ้อนเหล็กคทาธร | โตมรพุ่งซัดสกัดหน้า |
ยักษ์แทงลิงปัดศัสตรา | ต่างหาญต่างกล้าประจัญบาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่วานรใจหาญ |
รบรอต่อกรรอนราญ | โถมทะยานเข้าไล่ราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลางลิงชิงได้อาวุธ | ฟันแทงแย้งยุทธ์ยักษี |
หัวขาดตายกลาดไม่สมประดี | อสุรีแตกยับทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กำปั่นฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นพลมารม้วยชีวัน | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันทำอำนาจ | ร้องตวาดบนคอคชสาร |
แล้วขับพญาคชาธาร | เข้าไล่รอนราญกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ วานรตายยับนับหมื่น | ไม่ยืนประจัญอยู่ได้ |
หนีร้นย่นแตกกระจายไป | ไม่เป็นตำบลสนธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เห็นกุมภัณฑ์ขับช้างน้ำมันมา | ไล่หมู่โยธาพลากร |
โกรธาชักตรีกวัดแกว่ง | สำแดงเดชดั่งพญาไกรสร |
ออกยืนขวางหน้ากุญชร | วานรจึ่งร้องถามไป |
เหวยเหวยดูก่อนอสุรี | อันตัวมึงนี้เป็นไฉน |
จึ่งเย่อหยิ่งออกมาชิงชัย | นามกรชื่อใดนะขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำปั่นฤทธิไกรใจหาญ |
เห็นกระบี่ทำทีอหังการ | กล่าวเป็นคำพาลถามมา |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ลิงน้อย | กระจ้อยร่อยเท่านิ้วหัตถา |
อันตัวของกูผู้ศักดา | ชื่อว่ากำปั่นอสุรี |
เป็นยอดทหารชาญณรงค์ | องค์ท้าวทศพักตร์ยักษี |
อานุภาพเลิศลบธาตรี | ไม่มีใครต่อฤทธิไกร |
อันตัวของมึงไอ้วานร | นามกรเชื้อชาติเป็นไฉน |
มายืนขวางหน้าอยู่ว่าไร | ไม่กลัวจะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังอสูรกุมภัณฑ์ | ตบมือเย้ยหยันแล้วตอบมา |
ตัวกูนี้ชื่อหนุมาน | เป็นทหารพระนารายณ์นาถา |
มึงอย่าอ้างอวดอหังการ์ | กูจะฆ่าให้ม้วยบรรลัย |
ว่าแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงไป | เข้าไล่หักโหมโรมราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ กวัดแกว่งตรีเพชรอันคมกล้า | แทงถูกพญาคชสาร |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | ทั้งควาญก็ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กำปั่นฤทธิแรงแข็งขัน |
เสียทีเสียช้างซับมัน | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธคือไฟ |
ลุกขึ้นกวัดแกว่งคทาธร | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
เผ่นโผนโจนทะยานว่องไว | เข้าไล่ชิงชัยหนุมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างตีต่างฟันต่างรับ | กลอกกลับไปด้วยกำลังหาญ |
ต่างถอยต่างไล่รอนราญ | ประจัญบานไม่คิดชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรชัยศรี |
รับกรรอนรบตลบตี | ขุนกระบี่โจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบเข่าน้าวเศียร | หันเวียนรวดเร็วดั่งจักรผัน |
เงือดเงื้อตรีเพชรจะฟาดฟัน | พัลวันปัดป้องกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | กำปั่นฤทธิไกรใจกล้า |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันสนั่นฟ้า | อสุราเผ่นโผนเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถีบต้องคำแหงหนุมาน | โถมทะยานเข้าจับตัวได้ |
ฟาดลงด้วยกำลังฤทธิไกร | หมายใจจะให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
มิได้เจ็บชํ้าอินทรีย์ | ขุนกระบี่ผุดลุกขึ้นยืนยัน |
ตาแดงดั่งแสงพระสุริยา | กริ้วโกรธโกรธาตัวสั่น |
มาดหมายจะล้างชีวัน | ขบฟันเข้าไล่รอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถีบถูกกำปั่นนายพล | ล้มลงไม่ทนกำลังหาญ |
ฟาดด้วยตรีเพชรสุรกานต์ | ขุนมารก็สิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายกองคอยเหตุยักษี |
ครั้นเห็นกำปั่นอสุรี | ต่อตีสิ้นชีพชีวัน |
ความกลัวดั่งจะแทรกสุธาธาร | หน้าตาเหลือกลานตัวสั่น |
ทั้งสองอสูรกุมภัณฑ์ | ก็พากันรีบเข้ายังลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษา |
บัดนี้กำปั่นอสุรา | กับโยธาที่ยกออกไป |
ไพรีฆ่าเสียวายชนม์ | รี้พลตายยับไม่นับได้ |
ข้าศึกฮึกฮักทะนงใจ | ทูลไปเสร็จสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ