- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวกุเวรยักษา |
เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหิมา | ผ่านกรุงกาลวุธธานี |
อันสุบรรณนาคาวิชาธร | หมู่นิกรเทวาทุกราศี |
เกรงศักดาเดชอสุรี | ไม่มีใครต้านทานทัน |
ท้าวมีมเหสีร่วมรัก | ทรงลักษณ์พิมพ์เพียงอัปสรสวรรค์ |
ชื่อเกศินีวิลาวัณย์ | เป็นปิ่นกำนัลกัลยา |
อันองค์โอรสร่วมชีวี | ชื่อตรีปักกันยักษา |
หยาบคายร้ายกาจอหังการ์ | รุกรานเทวาสุราฤทธิ์ |
อันช้างม้าโยธีรี้พล | เกลื่อนกล่นแน่นนันต์อกนิษฐ์ |
เหาะเหินเดินฟ้าได้ดั่งคิด | อิศรไปทั้งธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันสิทธิศักดิ์ยักษี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | อสุรีเร่าร้อนรนใจ |
คิดจะใคร่ไปเที่ยวประพาส | ล่าไล่จตุบาทในป่าใหญ่ |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงอโณทัย | ก็ขึ้นไปเฝ้าองค์พระบิดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรกราบลง | แทบบาทบงสุ์ท้าวยักษา |
ทูลว่าลูกนี้จะขอลา | ไปเที่ยวเล่นป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษี |
ได้ฟังโอรสร่วมชีวี | มีความเสน่หาอาลัย |
สวมกอดไว้แล้วจูบเกศ | ดวงเนตรพ่อยอดพิสมัย |
ซึ่งเจ้าจะไปเล่นไพร | ก็ตามแต่ใจของลูกยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | พักตราผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์ |
จึ่งกราบประณตบทบงสุ์ | ลาองค์บิตุเรศรังสรรค์ |
เสด็จออกจากท้องพระโรงคัล | ไปปราสาทสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบรรหาร | สั่งกาลวุธยักษี |
จงเตรียมจตุรงค์โยธี | เรานี้จะไปเล่นไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลวุธผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระโอรสยศไกร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดเป็นพยุหบาตรโดยกระบวน | เลือกล้วนเหล่ากากภาษา |
หมู่หนึ่งหน้าแสยะเหลือกตา | ถือคาบศีลาลำพัน |
หมู่หนึ่งหน้าเสือตัวลาย | ถือปืนทองปรายขึงขัน |
หมู่หนึ่งหน้ากากขบฟัน | มือถือเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
หมู่หนึ่งหน้าไพร่ใจดำ | มือถือหอกครํ่าเหน็บกริช |
ต่างตนประกวดอวดฤทธิ์ | อกนิษฐ์เยียดยัดกันมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันสิทธิศักดิ์ยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | วารีเป็นละอองฝอยฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศสุมาลี |
สนับเพลาเชิงกรองช่องกระจก | ภูษายกแย่งรูปราชสีห์ |
ชายไหวชายแครงเครือมณี | ฉลององค์กำมะหยี่ดวงลอย |
ตาบทิศทับทรวงดวงประพาฬ | สังวาลมรกตเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดจำรัสพลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยเรือนสุวรรณ |
มงกุฎกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกเนาวรัตน์ฉายฉัน |
ขัดคทาจับศรจรจรัล | กุมภัณฑ์มาขึ้นอาชาชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ม้าเอยม้าทรง | สูงระหงงามสง่ากล้าหาญ |
ผูกเครื่องเนาวรัตน์ชัชวาล | เบาะอานผ่านหน้าบังเหียนทอง |
สองหูห้อยพู่จามรี | ควบขี่ใหญ่น้อยเคล่าคล่อง |
มุ่นหกผกร่านร่ายร้อง | ลำพองรวดเร็วดั่งลมพัด |
เสียงพลโห่ฮึกสะอึกโผน | โลดโจนดั่งจะเข้าขบกัด |
ประดับด้วยชุมสายรายรัตน์ | ฆ้องกลองเป็นขนัดอึงอล |
แตรงอนแตรฝรั่งประดังเสียง | สำเนียงกึกก้องกุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มโพยมบน | รีบม้าเร่งพลดำเนินไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ล่วงด่านผ่านแดนนคเรศ | เข้าเขตหิมวาป่าใหญ่ |
จึ่งให้แยกพหลพลไกร | ล่าไล่ล้อมจับมฤคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษี |
รับสั่งแล้วไล่ด้วยยินดี | โห่ร้องอึงมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันฤทธิแรงแข็งกล้า |
แกว่งหอกควบขับอาชา | เข้าแทงมฤคาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โคกระทิงแรดช้างกวางทราย | ล้มตายเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
อันหมู่พหลพลไกร | ไล่จับกินเล่นสำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วให้ยกโยธี | แสนสุรเสนีทวยหาญ |
ข้ามไศลไพรระหงดงกันดาร | ขุนมารรื่นเริงวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวชมหิมเวศ | ทอดพระเนตรเหลือบแลซ้ายขวา |
เห็นสองมนุษยโสภา | กับวานรหนึ่งที่ร่มไทร |
ให้คิดสงสัยพันทวี | ไอ้นี่นี้มาแต่ไหน |
ไม่รู้ว่าจะม้วยบรรลัย | ด้วยฤทธิไกรกุมภัณฑ์ |
คิดพลางชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ |
เหวยเหวยโยธาทั้งนั้น | เร่งพากันไปจับมนุษย์มา |
ผู้ใดใครอย่าสังหาร | ให้วายปราณสุดสิ้นสังขาร์ |
จะเอาไปถวายพระบิดา | ไอ้ลิงป่ากูไม่ไยดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | สำแดงฤทธีเกรียงไกร |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันครั่นครื้น | กระทืบบาทเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเปลวไฟ | วิ่งหมุนเข้าไปพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
เห็นหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | โรมรุกบุกบันเข้ามา |
จึ่งมีพระราชโองการ | สั่งศรีหนุมานทหารกล้า |
ตัวท่านผู้มีศักดา | จงเข่นฆ่าพวกพลอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ชักตรีเผ่นโผนเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าถีบมือตบฟัดฟาด | ฉะฟันตายกลาดไม่นับได้ |
พลมารแตกพ่ายกระจายไป | ด้วยฤทธิไกรชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลรุธผู้เป็นนายทหาร |
เห็นกระบี่ไล่ล้างพลมาร | โกรธเพียงไฟกาลไหม้ฟ้า |
ตาแดงสั่งแสงพระสุริยัน | ขบฟันแกว่งกระบองเงื้อง่า |
กระทืบบาทผาดโผนโจนมา | เข้าต่อฤทธาด้วยวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
กลับกลอกป้องกันฟันฟอน | เข้าไล่ราญรอนวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือซ้ายฉวยชิงกระบองมาร | เผ่นทะยานขึ้นเหยียบบ่าได้ |
แทงด้วยตรีเพชรบรรลัย | ตัดเศียรโยนไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายตรีปักกันยักษี |
เห็นพลตายยับไม่สมประดี | กาลวุธอสุรีก็มรณา |
กริ้วโกรธพิโรธตัวสั่น | แผดเสียงสนั่นดั่งฟ้าผ่า |
เหม่ไอ้วานรอหังการ์ | กูจะฆ่าให้ม้วยบรรลัย |
ว่าพลางกวัดแกว่งพระแสงศร | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
กระทืบเท้าเร่งม้าอาชาไนย | เข้าไล่หักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตกระบี่ศรี |
รับรองป้องปัดราวี | ได้ทีเผ่นโผนโจนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือหนึ่งฉวยจับบังเหียน | หันเวียนหลบหลีกเงื้อง่า |
ทะยานขึ้นหักคออาชา | มรณาด้วยฤทธิ์วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันขุนมารชาญสมร |
ตกลงยังพื้นดินดอน | แกว่งศรเข้าไล่โจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าน้าวคอกระบี่ศรี |
ต่างแกล้วต่อกล้าราวี | ถ้อยทีเหวี่ยงผันกันไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
พลิกแพลงเคล่าคล่องว่องไว | ถาโถมโจมไล่ไปมา |
ตีนถีบถูกอกขุนมาร | ทะยานจับรวบเท้าซ้ายขวา |
ฟาดลงกับพื้นพระสุธา | อสุราไม่ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นแล้วก็ตบมือเย้ย | เหวยอ้ายพาลาโมหันธ์ |
มึงดั่งลูกไก่ก็เหมือนกัน | มาต่อฤทธิ์สุบรรณชัยชาญ |
อันหมู่อสูรยักษา | ในลงกามลิวันราชฐาน |
ล้วนเหล่าสุริย์วงศ์พรหมาน | บรรลัยลาญด้วยกูผู้ฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | อสุรีจึ่งร้องตอบไป |
เหม่เหม่ดูดู๋อ้ายเดียรัจฉาน | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
อ้างอวดว่ามีฤทธิไกร | คือใครจะกลัวศักดา |
กูชื่อตรีปักกันขุนยักษ์ | ทั่วทั้งไตรจักรไม่รอหน้า |
หน่อท้าวกุเวรอสุรา | ผ่านมหาธานีกาลวุธ |
ประกอบด้วยสมบัติพัสถาน | จตุรงค์ทวยหาญนับสมุทร |
สาอะไรตัวมึงกับมนุษย์ | จะม้วยมุดด้วยกันบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | ตบมือชี้หน้าแล้วตอบไป |
อันซึ่งตัวกูผู้ทรงฤทธิ์ | ชื่อพญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ขององค์นารายณ์เรืองชัย | ไวกูณฐ์จากเกษียรวาริน |
เกิดในสุริย์วงศ์จักรพรรดิ | เลิศลํ้ากษัตริย์ทั้งปวงสิ้น |
ดั่งฉัตรแก้วกั้นพื้นแผ่นดิน | เป็นปิ่นมงกุฎอยุธยา |
ทรงนามสมเด็จพระราเมศ | เรืองเดชทั่วทศทิศา |
ทรงศรสามเล่มมหิมา | ศักดาประเสริฐเลิศไกร |
อันหมู่อาธรรม์อันธพาล | บรรลัยลาญด้วยหัตถ์ไม่นับได้ |
บัดนี้พระสละเวียงชัย | ออกมาเดินไพรพนาลี |
ทั้งองค์พระลักษมณ์นุชนาถ | กับกูผู้รองบาทบทศรี |
หวังจักบำรุงธาตรี | ให้มีผาสุกภิรมยา |
เร่งไปถวายบังคมคัล | จึ่งจะรอดชีวันยักษา |
หาไม่จะม้วยมรณา | ด้วยศักดาเดชพระอวตาร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
เหวยเหวยไอ้ลิงโกหก | มายกยอกันก็เป็นได้ |
นารายณ์อวตารครั้งใด | แอบอ้างใส่ไคล้เจรจา |
เป็นมนุษย์ถือแต่ศรสิทธิ์ | จะมีฤทธิ์กระไรมาหนักหนา |
ไหนจะครั่นกรอสุรา | ไม่ช้าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังวาจากุมภัณฑ์ | ดึงดันหยาบช้าพาที |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟ้า | บังคมพระเชษฐาเรืองศรี |
พระกรแกว่งศรโมลี | เข้าไล่โจมตีขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีปักกันฤทธิไกรใจหาญ |
รับรองป้องกันประจัญบาน | รอนราญหนีไล่ไปมา |
ต่างมาดต่างหมายเอาชัย | ว่องไวกลับกลอกซ้ายขวา |
ถ้อยทีถ้อยมีศักดา | สัประยุทธ์เข่นฆ่าไม่ลดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องพระอวตารชาญสมร |
หวดด้วยคันศิลป์ฤทธิรอน | ภูธรโจมจับกุมกัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | หันเวียนไปมาดั่งจักรผัน |
ตีต้องอสุรีตรีปักกัน | หันเหเซไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวกุเวรยักษี |
เจ็บปวดชอกชํ้าทั้งอินทรีย์ | โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
จึ่งชักศรสิทธิ์ออกพาดสาย | มุ่งหมายเขม้นเข่นฆ่า |
น้าวหน่วงด้วยกำลังศักดา | อสุราก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สำเนียงดั่งเสียงลมกาล | สุธาธารกัมปนาทหวาดไหว |
เป็นอาวุธเกลื่อนกลาดนภาลัย | ด้วยฤทธิไกรอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นอาวุธจะเข้ามาราวี | ภูมีก็ชักศรทรง |
พาดสายน้าวหน่วงเงื้อง่า | งามสง่าดั่งท้าวครรไลหงส์ |
หมายชีวิตยักษ์ให้ปลดปลง | น้องพระภุชพงศ์ก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ไล่ล้างอาวุธขุนมาร | แหลกลาญไม่ทนกำลังได้ |
ต้องตรีปักกันบรรลัย | ล้มลงในพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างขุนยักษ์ | น้องพระหริรักษ์เรืองศรี |
กับพญาอนุชิตผู้ฤทธี | ไปเฝ้าพระจักรีด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ครั้นเห็นพระศรีอนุชา | กับพญาอนุชิตฤทธิรอน |
รณรงค์มีชัยแก่พวกพาล | แสนสำราญชื่นชมสโมสร |
จึ่งตรัสอำนวยอวยพร | ด้วยสุนทรมธุรสวาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรยักษี |
ซึ่งเหลือตายแอบชายพนาลี | เห็นตรีปักกันบรรลัย |
หน้าซีดผาดเผือดตัวสั่น | ยิงฟันหัวพองไม่อยู่ได้ |
ต่างคนด้นดัดลัดไพร | รีบไปกาลวุธพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษา |
ว่าพระโอรสร่วมชีวา | ไปประพาสป่าพนาวัน |
พบสองมนุษย์ฤทธิรอน | กับวานรหนึ่งตัวขยัน |
รณรงค์สังหารพระลูกนั้น | ตายสิ้นด้วยกันทั้งโยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษี |
ฟังข่าวเร่าร้อนดั่งอัคคี | อสุรีกริ้วโกรธโกรธา |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | ผาดแผดสีหนาทดั่งฟ้าผ่า |
ใครหนอองอาจอหังการ์ | มาทำดูหมิ่นไม่เกรงกัน |
กูก็ทรงศักดาอานุภาพ | ปราบได้ทั่วทั้งสรวงสวรรค์ |
อันมนุษย์กับไอ้ลิงนั้น | จะหํ้าหั่นให้เป็นภัสม์ธุลี |
ว่าแล้วมีราชบรรหาร | เหวยเสนามารยักษี |
เร่งเตรียมพหลโยธี | กูจะไปต่อตีด้วยพวกภัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่โยธาพลากร | เลือกล้วนฤทธิรอนแกล้วกล้า |
เหล่าหนึ่งล้วนขี่คชา | ถือของ้าวง่าหยัดยัน |
เหล่าหนึ่งพื้นขี่สินธพ | ถือทวนแล่นตลบเหียนหัน |
ลางเหล่าขี่แรดตัวฉกรรจ์ | ถือปืนขบฟันกระหยับยิง |
บ้างขี่ราชสีห์อูฐลา | แพะแกะชุมพาเสือสิงห์ |
ขี่หมูขี่โตโคกระทิง | บ้างขี่มหิงส์กวางทราย |
ล้วนถืออาวุธกวัดแกว่ง | พรายแสงดั่งฟ้าฟาดสาย |
ตั้งกระบวนระเบียบเรียบราย | ไพร่นายคอยเสด็จอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เข้ามาที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | วารินกลิ่นส่งหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | พนักงานรำเพยพัชนี |
สอดสนับเพลากรองช่องกระจก | ภูษายกลายรูปราชสีห์ |
ชายไหวชายแครงรูจี | เกราะเกล็ดนาคีประดับพลอย |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลศึก | รัดองค์แก้วผลึกเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดจำหลักพลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยพรายตา |
แล้วทรงมหามงกุฎแก้ว | กรรเจียกจรวาวแววทั้งซ้ายขวา |
พระหัตถ์จับศรขัดคทา | ลีลาไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยราชรถศึก | กงกำแก้วผลึกอลงกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย |
เรือนเก็จเสาแก้วแกมสุวรรณ | หน้าบันชั้นเหมช่อห้อย |
สี่มุขสุกวามอร่ามพลอย | ห้ายอดแสงย้อยพรายตา |
เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน | โลทันถือหอกเงื้อง่า |
สำทับขับแล่นดั่งลมพา | กงลั่นสนั่นฟ้าสุธาธาร |
เครื่องสูงอภิรุมชุมสาย | ธงชัยธงชายธงฉาน |
ปี่กลองก้องดังเป็นกังวาน | แตรฝรั่งเป่าประสานแตรงอน |
ทวยหาญขานโห่ครั่นครื้น | ดั่งเสียงคลื่นในสมุทรไม่หยุดหย่อน |
ผงคลีมืดคลุ้มอัมพร | เร่งพลนิกรยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ได้ยินเสียงกึกก้องเป็นโกลา | แลมาเห็นพลอสุรี |
จึ่งตรัสแก่องค์พระวรนุช | ทั้งวายุบุตรกระบี่ศรี |
อันพวกพาลซึ่งม้วยชีวี | บัดนี้ยกมาราญรอน |
เราจักสังหารผลาญมัน | ให้ตายตามกันด้วยแสงศร |
ว่าแล้วชวนพระลักษมณ์บทจร | ขุนราชพานรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารกล้า |
มีความยินดีปรีดา | ด้วยจะได้เข่นฆ่าอสุรี |
จึ่งกราบประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
ข้าขออาสาราวี | ผลาญพลไพรีให้บรรลัย |
ว่าแล้วชักตรีกวัดแกว่ง | สำแดงศักดาแผ่นดินไหว |
เผ่นโผนโจนทะยานว่องไว | ออกไปยืนขวางมรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวกุเวรยักษา |
รีบรถรีบทศโยธา | ออกจากชายป่าพนาลี |
เห็นวานรนั้นขวางทางอยู่ | กับมนุษย์ถือธนูทั้งสองศรี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | จึ่งมีพจนารถประกาศไป |
เหวยเหวยทหารฤทธิรุทร | ฆ่ามนุษย์วานรเสียจงได้ |
เลือดติดเส้นหญ้าอย่าเหลือไว้ | ให้สาใจที่มันอหังการ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลสูรนายทหารกองหน้า |
รับสั่งแล้วขับโยธา | ดาเข้าโรมรันวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างพุ่งสาตราอาวุธ | จุดปืนหน้าไม้ธนูศร |
บ้างแกว่งเสโลโตมร | ราญรอนอุตลุดเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตกระบี่ศรี |
ฉวยชิงอาวุธอสุรี | ตีซ้ายป่ายขวาวุ่นไป |
เท้าถีบมือจับฟัดฟาด | หัวขาดตัวขาดไม่นับได้ |
พลมารแตกยับทั้งทัพชัย | ขุนกระบี่โลดไล่รอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลสูรกองหน้านายทหาร |
เห็นโยธาแตกพ่ายวายปราณ | โกรธดั่งเพลิงกาลไหม้ฟ้า |
กวัดแกว่งหอกใหญ่สำแดงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันทะยานมา | เข้าไล่เข่นฆ่าวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | ราญรอนไม่ลดละกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบเข่าน้าวเศียร | หันเวียนกลับกลอกดั่งจักรผัน |
ต่างแทงต่างฉะต่างฟัน | ยืนยันสัประยุทธ์ไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กาลสูรสิทธิศักดิ์ยักษา |
บุกบันประจัญด้วยฤทธา | แทงซ้ายป่ายขวาอลวน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองหาญต่อหาญเข้าโจมจับ | ต่างปัดต่างรับกันสับสน |
ต่างเหี้ยมทรหดอดทน | ต่างตนหลบหลีกไปในที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ฉวยชิงได้หอกอสุรี | ขุนกระบี่แทงซํ้ากระหน่ำไป |
ถูกกายกุมภัณฑ์เป็นหลายหน | ล้มลงไม่ทนกำลังได้ |
ก็สุดสิ้นชีพชีวาลัย | ด้วยฤทธิไกรมหิมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษา |
เห็นวานรสังหารโยธา | กองหน้าตายยับทับกัน |
กริ้วโกรธกระทืบบาทเร่งรถ | ขับทศโยธาแข็งขัน |
เข้าไล่โรมรุกบุกบัน | เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นยักษาหนุนเนื่องมาราวี | โยธีอเนกแน่นนันต์ |
ต่างขึ้นศรสิทธิ์ฤทธิรงค์ | อาจองดั่งเทพรังสรรค์ |
พาดสายน้าวหน่วงยืนยัน | แผลงไปพร้อมกันด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าฟาด | โลกธาตุสะเทือนทุกทิศา |
ต้องหมู่พหลโยธา | อสุราตายยับทั้งทัพชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ถีบทะยานผ่านโผนโจนไป | ลุยไล่บนรถอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ราชสีห์สารถีก็ตายหมด | แล้วหักรถพญายักษี |
ระยำยับไม่เป็นสมประดี | ขุนกระบี่เยาะเย้ยไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษา |
เสียรถสิ้นทศโยธา | อสุรากริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
จึ่งชักศรสิทธิ์ออกพาดสาย | มาดหมายเขม่นจะสังหาร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ขุนมารก็แผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต้องหมู่พฤกษาในอารญ | หักค่นเกลื่อนกลาดลงกับที่ |
เป็นเปลวเพลิงเริงโรจน์รูจี | ร้อนดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
เห็นศรยักษ์เป็นเพลิงพรายพรรณ | ทรงธรรม์ชักศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกิดเป็นเมฆกลุ้มอากาศ | เสียงฟ้ากัมปนาทหวาดไหว |
ฝนนั้นก็ตกลงทันใด | ดับไฟสูญหายด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชยักษี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | อสุรีแกว่งศิลป์เข้าโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายย้ายเยื้องหวดขวา | ด้วยกำลังโกรธาหุนหัน |
โจนจับสับสนพัลวัน | บุกบันไม่ลดงดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
รับรองป้องปัดราญรอน | ภูธรเงื้อคันธนูตี |
พระลักษมณ์ถาโถมโจมจ้วง | ทะลวงหวดถูกกายยักษี |
หนุมานก็วิ่งเข้าราวี | ถ้อยทีถ้อยจับพัลวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรฤทธิแรงแข็งขัน |
ผู้เดียวรับรองป้องกัน | ยืนยันต่อกรรอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หนีไล่วนเวียนกลับกลอก | ต่างเข้าต่างออกสำแดงหาญ |
ต่างถอยต่างรับประจัญบาน | ขุนมารไม่คิดชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วเรืองศรี |
ทั้งพระลักษมณ์หนุมานผู้ฤทธี | เข้ากลุ้มรุมตีอสุรา |
สองพระองค์หวดด้วยคันศิลป์ | ขุนกระบินทร์โถมถีบยักษา |
แทงด้วยตรีเพชรศักดา | อสุราล้มลุกคลุกคลาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเวรนุราชใจหาญ |
ความเจ็บเพียงชีพบรรลัยลาญ | ขุนมารไม่คิดชีวี |
ขบฟันชักศรพาดสาย | หมายล้างมนุษย์กระบี่ศรี |
น้าวหน่วงด้วยกำลังอินทรีย์ | อสุรีก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ศรเป็นนาคาอกนิษฐ์ | อ้าปากพ่นพิษเลื้อยไล่ |
มืดมิดปิดดวงอโณทัย | ด้วยฤทธิไกรอสุรินทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศิลป์ |
เห็นศรอสุราเป็นนาคินทร์ | แลบลิ้นพ่นพิษดั่งอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งชักพรหมาสตร์ขึ้นพาดสาย | งามคล้ายพระอิศวรเรืองศรี |
หมายล้างอาวุธอสุรี | ภูมีแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ศรนั้นกลับเป็นพญาครุฑ | สำแดงฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
บินสนั่นครั่นครื้นโลกา | คาบคั้นนาคาสูญไป |
แล้วต้องกุเวรขุนมาร | ตลอดอกไม่ทานกำลังได้ |
ล้มลงสุดสิ้นชีวาลัย | ด้วยฤทธิไกรพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวานางฟ้าทุกราศี |
เห็นพระจักราธิบดี | สังหารอสุรีบรรลัยลาญ |
มีความชื่นชมโสมนัส | แซ่ซ้องตบหัตถ์ฉัดฉาน |
เผยแกลเยี่ยมพักตร์ทุกวิมาน | แสนสำราญสำรวลมี่ไป |
บ้างโปรยบุปผามาลาช | ดอกไม้มาศมณฑาลงมาให้ |
กลิ่นทิพย์ตลบอบเอาใจ | ถวายชัยให้พรทั้งเมืองฟ้า |
พระองค์จงทรงอานุภาพ | ปราบไปทั่วทศทิศา |
อันศัตรูหมู่พวกพาลา | จงอยู่ในหัตถาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์รังสรรค์ |
ครั้นเสร็จซึ่งล้างกุมภัณฑ์ | เทวัญโปรยทิพย์สุมามาลย์ |
พระหยิบชมดมดวงเกสร | ขจายจรเสาวรสหอมหวาน |
ทั้งพระพายชายพัดรำเพยพาน | แสนสำราญฤทัยพันทวี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่พระลักษมณ์วายุบุตรกระบี่ศรี |
ที่นี้ไม่เป็นสวัสดี | ซากศพอสุรีอาเกียรณ์ไป |
จำจะเที่ยวดั้นดัดลัดป่า | หาที่สำนักอาศัย |
ให้ผาสุกสะอ้านสะอาดใจ | ด้วยนํ้าท่าผลไม้อันตระการ |
ตรัสแล้วเสด็จยุรยาตร | ดั่งพญาสีหราชตัวหาญ |
ออกจากถํ้าแก้วโอฬาร | พระลักษมณ์หนุมานก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เลี้ยวลัดดัดดั้นอรัญเวศ | ทอดพระเนตรเหลือบแลซ้ายขวา |
คิดถึงองค์อัครกัลยา | มาโดยมรคาพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระชมภูผาศีลาลาด | งามประหลาดหลากกว่าทุกสิงขร |
สูงเยี่ยมเทียมเมฆในอัมพร | ชะโงกง่อนงํ้าเงื้อมเลื่อมพราย |
บ้างเป็นวุ้งเวิ้งเพิงผนัง | มีบัลลังก์ลดหลั่นเป็นชั้นฉาย |
พู่ห้อยย้อยระย้าศีลาลาย | งามคล้ายพวงแก้วจงกลกาญจน์ |
บ้างเป็นทรงกุฎีที่นั่งเย็น | ลอยอยู่ดูเห็นรโหฐาน |
เป็นแสงสายลายสีชัชวาล | โอฬารแลเลื่อมรูจี |
ที่ขาวนั้นขาวเหมือนสีสังข์ | เขียวดั่งมยุรกัณฐี |
ที่แดงเพียงโลหิตมณี | หมอกเหมือนสีเมฆเมื่อสายัณห์ |
ที่เหลืองเรืองผ่องดั่งทองทาบ | ม่วงขาบนิลแนมแกมคั่น |
มีท่อนํ้าพุดุดัน | ทะลุลั่นไหลโลดโดดมา |
ซ่านเซ็นกระเด็นดั่งฝอยฝน | ล้นลงท่อธารฉานฉ่า |
ยิ่งพิศยิงเพลินจำเริญตา | มาในพนมพนาลัย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ล่วงทางสิบห้าโยชน์กึ่ง | ก็ถึงซึ่งต้นโศกใหญ่ |
ถิ่นฐานสะอ้านสะอาดใจ | มิ่งไม้ร่มรื่นเรียงรัน |
เพล็ดดอกออกผลดกดาษ | เกลื่อนกลาดทุกต้นดั่งแกล้งสรร |
ประกอบทั้งนํ้าท่าครบครัน | ก็ชวนกันหยุดพักภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกุมภัณฑ์นุราชยักษา |
ต้องสาปพระอิศวรเจ้าโลกา | มาอยู่ยังคูหาสุรกานต์ |
อันเขตแคว้นแดนดงป่านั้น | พันโยชน์มณฑลไพศาล |
องค์พระอิศวรผู้ทรงญาณ | ประทานให้เลี้ยงชีวี |
แม้นสิงห์สัตว์หลงลัดเข้ามา | ได้เป็นภักษายักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | ก็แต่งอินทรีย์กุมภัณฑ์ |
จึ่งเอานาคาเป็นสังวาล | โพกเศียรเลิกพังพานผกผัน |
กวัดแกว่งคทาดั่งเพลิงกัลป์ | จรจรัลจากถํ้ารจนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เที่ยวระเห็จเตร็ดเตร่ตระเวนไป | ตามในพนมแนวป่า |
ไล่จับโคถึกมฤคา | กินเป็นภักษาสำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วลดเลี้ยวเที่ยวเล่น | ที่ในดงเย็นรโหฐาน |
ตามแถวแนวนํ้าลำธาร | ข้ามละหานผ่านเนินคีรีไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โดยทางประมาณโยชน์กึ่ง | ถึงซึ่งที่ต้นโศกใหญ่ |
เห็นสองมนุษย์อำไพ | ทรงลักษณ์วิไลดั่งเทวา |
กับวานรหนึ่งขาวสะอาด | ดูประหลาดหลากใจเป็นหนักหนา |
จะเป็นสุริย์วงศ์กษัตรา | เหตุใดโยธาจึ่งไม่มี |
หรือจะเป็นชีป่าพนาดร | สัญจรมากับกระบี่ศรี |
เป็นบุญปากกูในวันนี้ | จะได้กินของดีชอบใจ |
คิดแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
กวัดแกว่งตระบองดั่งแสงไฟ | โลดโผนโจนไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เห็นยักษีองอาจอหังการ์ | โกรธาดั่งเพลิงบรรลัยกาล |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงหาญ |
ชักตรีเผ่นโผนโจนทะยาน | เข้าต่อกรรอนราญอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์นุราชยักษี |
รับรองป้องกันประจัญตี | โจนจับกระบี่ด้วยว่องไว |
หวดซ้ายป่ายขวากุลาหล | ต่างตนต่างหนีต่างไล่ |
ต่างตีต่างแทงวุ่นไป | มิได้ละลดงดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รบชิดติดพันประจัญกร | วานรโจนจับอสุรี |
เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าจิกเศียรยักษี |
หันเวียนเปลี่ยนท่าราวี | แกว่งตรีพิฆาตฟาดฟัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์ฤทธิแรงแข็งขัน |
สัประยทธ์ไม่คิดชีวัน | ขบฟันเข้าจับด้วยศักดา |
โจนขึ้นเหยียบบ่าวานร | กรแกว่งตระบองเงื้อง่า |
กลอกกลับจับกันเป็นโกลา | ต่างเขม้นเข่นฆ่าจะเอาชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
หลบหลีกเคล่าคล่องว่องไว | ทำเป็นหนีไล่ให้ที |
มาดหมายเขม้นเผ่นโผน | โจนจับได้ตัวยักษี |
ขว้างไปด้วยกำลังอินทรีย์ | ถูกเนินคีรีหิมพานต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์นุราชใจหาญ |
ต้องเขาตกพื้นสุธาธาร | ขุนมารไม่ระคายกายา |
ผุดลุกขึ้นยืนหยัดยัน | ขบฟันแกว่งตระบองเงื้อง่า |
วิ่งโลดโดดโผนเข้ามา | ด้วยกำลังโกรธาอสุรี |
ร้องว่าเหวยเหวยไอ้เดียรัจฉาน | ไม่รู้จักพระกาลเรืองศรี |
ตัวมึงกับมนุษย์ทั้งสองนี้ | มีนามกรชื่อใด |
ชาติเชื้อเหล่าพงศ์วงศ์วาน | ถิ่นฐานบ้านเมืองนั้นอยู่ไหน |
อหังการ์อาจองทะนงใจ | ล่วงเข้ามาในหิมวันต์ |
อันป่าแว่นแคว้นแดนนี้ | องค์พระศุลีรังสรรค์ |
ประสาทให้แก่กูเป็นขอบคัน | กำหนดพันโยชน์คณนา |
สองมนุษย์กับมึงไอ้ทรลักษณ์ | กูจักเคี้ยวกินเป็นภักษา |
เลือดเนื้อมิให้เหลือแก่แร้งกา | ไม่ช้าแต่ในบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบไปทันที | เหวยเหวยอสุรีสาธารณ์ |
อันตัวมึงนี้เป็นไฉน | นามกรชื่อไรจึ่งอวดหาญ |
ดั่งแมงเม่าบินเข้าเพลิงกาล | จะวายปราณไม่ทันพริบตา |
แสนมหาแต่ท้าวทศพักตร์ | ขุนยักษ์ยี่สิบกรสิบหน้า |
ฮึกฮักองอาจอหังการ์ | ยังพาโคตรสุดสิ้นชีวี |
มึงไม่รู้หรือว่าพระองค์ | ผู้ทรงครุฑราชปักษี |
อวตารมาผลาญอสุรี | ที่มันริษยาอาธรรม์ |
ทรงนามสมเด็จพระรามา | ผ่านกรุงอยุธยาเขตขัณฑ์ |
กับพระลักษมณ์อนุชาวิลาวัณย์ | พากันเสด็จมาเดินไพร |
ตัวกูคือลูกพระพาย | พระนารายณ์เลี้ยงเป็นทหารใหญ่ |
ชื่อพญาอนุชิตฤทธิไกร | จะผลาญมึงให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์นุราชยักษี |
แจ้งว่าเป็นองค์พระจักรี | ตกใจพ้นที่จะคณนา |
ให้บันดาลขนพองสยองเกล้า | ร้อนเร่าทั่วผิวมังสา |
ประนมกรตัวสั่นอยู่ไปมา | อสุราร้องขออภัย |
ไม่รู้เลยว่าองค์พระอวตาร | จึ่งทำการโอหังหยาบใหญ่ |
โทษนี้ถึงสิ้นชีวาลัย | ขอท่านจงได้ปรานี |
ข้าชื่อสุนนท์เทเวศ | รองบาทพระอิศเรศเรืองศรี |
ผิดด้วยหยอกนางรัชนี | จึ่งเคืองธุลีพระบาทา |
สาปมาอยู่ถํ้านพมาศ | ชื่อกุมภัณฑ์นุราชยักษา |
เมื่อใดสมเด็จพระจักรา | อวตารมาล้างอาธรรม์ |
ข้าได้ประณตบทบงสุ์ | รับพรพระหริวงศ์รังสรรค์ |
จึ่งพ้นสาปกลับเป็นเทวัญ | ไปหิรัญไกรลาสคีรี |
เป็นบุญจึ่งได้มาพบบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
ท่านจงเมตตาข้านี้ | ไปเฝ้าธุลีพระจักรา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
แจ้งว่าเป็นเทพเทวา | ต้องสาปพระอิศราเรืองชัย |
ความพิโรธโกรธกริ้วนั้นสูญหาย | จะอาฆาตมาดหมายก็หาไม่ |
ให้คิดเมตตาอาลัย | ก็พาไปเฝ้าองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งขุนพานร | ยอกรกราบเบื้องบทศรี |
ทูลตามถ้อยคำอสุรี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | จึ่งมีบรรหารตรัสไป |
ดูก่อนกุมภัณฑ์นุราช | ซึ่งประมาทเพราะหารู้จักไม่ |
โทษนี้เราให้อภัย | จงพ้นสาปเจ้าไตรโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์นุราชยักษา |
ก้มเกล้ารับพรด้วยปรีดา | กายาก็กลายเป็นเทวัญ |
จึ่งยอกรถวายอภิวาทน์ | ลาบาทพระนารายณ์รังสรรค์ |
อวยชัยให้พรพระทรงธรรม์ | แล้วเหาะไปหิรัญคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไวยวงศาเรืองศรี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎฤทธี | ซึ่งไปผ่านบุรีอสุรา |
แจ้งว่าสมเด็จพระหริวงศ์ | ให้ล้างองค์อัคเรศเสน่หา |
เดชะความสัตย์ของกัลยา | ชีวาไม่ม้วยบรรลัย |
สัญจรไปพึ่งพระนักพรต | ในอาศรมบทป่าใหญ่ |
จนคลอดพระโอรสยศไกร | ชันษานั้นได้สิบสี่ปี |
เชี่ยวชาญในการธนูศร | ฤทธิรอนเลิศฟ้าราศี |
รับเข้ามาไว้ในธานี | พระจักรีไม่สบายวิญญาณ์ |
ท้าวทศคิริวงศ์ทำนาย | ว่าพระเคราะห์นั้นร้ายหนักหนา |
จึ่งพาพระลักษมณ์อนุชา | กับพญาอนุชิตไปเดินไพร |
ต่างถวิลจินดาอาวรณ์ | จะอยู่ในพระนครหาควรไม่ |
จำจะไปตามเสด็จภูวไนย | จะได้รองใต้บทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ คิดแล้วอ่าองค์ทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพรรณรายฉายฉาน |
ต่างคนเหาะระเห็จเตร็ดทะยาน | ไปสถานอยุธยาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลงจากอากาศ | หน้าราชนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
เข้าหาเสนาสุมันตัน | พากันขึ้นเฝ้าภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนกราบบาทบงกช | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
กับสองโอรสพระจักรี | ขุนกระบี่จึ่งทูลด้วยสุนทร |
ข้าบาททั้งนี้แจ้งการ | ว่าพระอวตารทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ภูธรไปเดินพนาวัน |
ข้าจึ่งมาเฝ้าเบื้องบาท | พระอนุชาธิราชรังสรรค์ |
หวังทราบต้นทางเป็นสำคัญ | จะพากันโดยเสด็จพระจักรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์นาถา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ดั่งได้ผ่านเมืองฟ้าสุราลัย |
จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนท้าวพญาน้อยใหญ่ |
เรานี้ก็จำนงจงใจ | ว่าจะไปตามเสด็จแต่เดิมที |
พระองค์ให้รักษาพระนิเวศน์ | ขอบเขตแว่นแคว้นบุรีศรี |
กับสองนัดดาร่วมชีวี | ปีหนึ่งจึ่งจะเสด็จมา |
ซึ่งท่านมีใจจงรัก | ภักดีต่อองค์พระเชษฐา |
จงไปตามทิศบูรพา | จะพบพระจักราเรืองชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
ได้แจ้งแห่งคำภูวไนย | ต่างตนมีใจยินดี |
จึ่งกราบประณตบทบงสุ์ | ลาองค์กษัตริย์ทั้งสี่ |
ออกจากอยุธยาธานี | จรลีเข้าในพนาดร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ผ่านทุ่งมุ่งไม้ไพรชัฏ | เลี้ยวลัดตามเชิงสิงขร |
เหาะข้ามมหาสาคร | บทจรโดยทางอรัญวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ร้อนแรมมาหลายราตรี | ถึงที่โศกใหญ่ใบหนา |
แลไปเห็นองค์พระจักรา | กับพระอนุชาชัยชาญ |
ทั้งวายุบุตรวุฒิไกร | ต่างตนมีใจเกษมศานต์ |
ก็เข้าไปประณตบทมาลย์ | สองกษัตริย์ผู้ชาญฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นเจ้าขีดขินพระบุรี | กับเสนีท้าวพญาวานร |
พากันมาตามเบื้องบาท | ภูวนาถชื่นชมสโมสร |
จึ่งตรัสปราศรัยด้วยสุนทร | ดูก่อนท่านผู้ฤทธิไกร |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองแลโยธี | อยู่ดีเป็นสุขหรือไฉน |
อุตส่าห์บุกป่าพนาลัย | ตามเรามาไยในกันดาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | น้องพญาพาลีใจหาญ |
กับท้าวพญาวานรชัยชาญ | ต่างสนองโองการพระจักรา |
บรรดากรุงไกรไม่มีทุกข์ | แสนสุขภิรมย์ถ้วนหน้า |
ด้วยพระเดชในละอองบาทา | แผ่ปกเกศาทั่วไป |
แจ้งว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้า | ร้อนเร่าฤทัยหม่นไหม้ |
ละไอศวรรยาราชัย | ออกมาเดินไพรพนาลี |
กับองค์พระลักษมณ์นุชนาถ | วายุบุตรรองบาทบทศรี |
บรรดาตัวข้าทั้งนี้ | ไม่ควรที่จะอยู่ในพารา |
จึ่งพากันมาตามเสด็จ | พระจักรเพชรปิ่นภพนาถา |
หวังสนองพระคุณซึ่งมีมา | กว่าจักสิ้นชีพชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ได้ฟังทหารชาญฉกรรจ์ | ทรงธรรม์มีราชวาที |
ครั้งนี้เราออกมาเดินป่า | ด้วยพญาพิเภกยักษี |
ทายว่าเคราะห์ร้ายกำหนดปี | จึ่งจะพ้นราคีที่ฆาฏไว้ |
บัดนี้ได้ห้าเดือนกับเจ็ดวัน | จะพากันเที่ยวไปในป่าใหญ่ |
ปราบหมู่อาธรรม์พวกภัย | ให้ไตรโลกเป็นสุขสถาวร |
ตรัสแล้วก็พาพระนุชนาถ | ลีลาศอาจองดั่งไกรสร |
บรรดาท้าวพญาวานร | บทจรตามเสด็จเข้าดงดาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ พระชมหมู่ปักษาทิชากร | บ้างบินว่อนร่อนร้องสำเนียงหวาน |
นางนวลเหมือนนวลยุพาพาล | สมานรักพี่แนบถนอมนวล |
นกแก้วจับเคียงคู่พลอด | เหมือนยอดมิ่งเคยเคียงพี่แย้มสรวล |
จากพรากจับร้องครํ่าครวญ | เหมือนพี่พรากจากนวลวนิดา |
เขาไฟเหมือนไฟสุมอก | เพราะวิตกถึงยอดเสน่หา |
สาลิกาเหมือนพี่โศกา | แสนทุกข์ทรมาจาบัลย์ |
รังนานเหมือนนานนิราศห้อง | จากน้องมาแรมในไพรสัณฑ์ |
ระวังไพรเหมือนเราเดินในไพรวัน | ได้ยากด้วยกันแสนทวี |
นกหว้าพาฝูงบินว่อน | เหมือนพี่ว่าวอนมารศรี |
เบญจวรรณไต่วัลย์มาลี | เหมือนวันเจ้าหนีพี่ไปบาดาล |
กินลมเหมือนพี่กินชลเนตร | แสนเทวษถึงยอดสงสาร |
ความทุกข์ครั้งนี้พ้นประมาณ | ผ่านฟ้าครวญพลางทางไคลคลา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เลี้ยวลัดดัดป่ามาถึง | เขาหนึ่งสูงเงื้อมเวหา |
ประกอบด้วยรุกขชาติดาษดา | ดอกผลระย้าแกว่งไกว |
เป็นที่ผาสุกรโหฐาน | ทั้งเนินผาท่าธารน้ำไหล |
จึ่งเสด็จยุรยาตรเข้าไป | อาศัยอยู่ในเงื้อมคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาไวยวงศากระบี่ศรี |
ทั้งกระบินทร์วานรินทร์ราชเสนี | มีใจยินดีปรีดา |
บำเรอบำรุงสองกษัตริย์ | ช่วยกันปรนนิบัติรักษา |
ช่วยเก็บผลไม้โอชา | น้ำท่าสรงเสวยเป็นนิรันดร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นสิ้นแสงสีรวีวรรณ | แสงจันทร์จำรัสอัมพร |
จึ่งเอนพระองค์ลงไสยาสน์ | เหนือศีลาลาดสิงขร |
ทรงทอดทัศนาดารากร | ประภัสสรผ่องพื้นโพยมพราย |
เรไรจักจั่นสนั่นเสียง | ดั่งจำเรียงสังคีตประโคมถวาย |
นํ้าค้างพรอยพรมละอองอาย | พระพายพัดพากลิ่นสุมามาลย์ |
เฟื่องฟุ้งอวลอบตลบดง | ทรงรสเสาวคนธ์หอมหวาน |
ให้คะนึงถึงองค์นงคราญ | ปานนี้จะเป็นประการใด |
จะคุมแค้นพี่อยู่เป็นนิจ | หรือจะคิดถึงบ้างเป็นไฉน |
ใครเลยจะนำข่าวไป | ถึงในพิภพนาคา |
ว่าพี่นี้จากนคเรศ | แสนเทวษทรมานมาเดินป่า |
แต่รัญจวนครวญถึงกัลยา | มิได้นิทราในราตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริยาเรื่อรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
เสนาะเสียงไก่แก้วสกุณี | ร้องมี่ขานขันสนั่นดง |
จึ่งชวนพระลักษมณ์ฤทธิรอน | กรายกรย่างเยื้องดำเนินหงส์ |
พร้อมด้วยทหารชาญณรงค์ | ลงไปยังเชิงบรรพตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ