- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงวันยุวิกยักษา |
ทั้งมัจฉานุผู้ศักดา | ซึ่งผ่านนคราบาดาล |
คะนึงถึงองค์พระจักรกฤษณ์ | อันทรงฤทธิ์เลิศลบจบสถาน |
ทั้งพญาคำแหงหนุมาน | อันมีคุณอุปการพันทวี |
อย่าเลยจะขึ้นไปเฝ้าบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
จะได้พึ่งเดชาบารมี | เป็นที่ร่มเกล้าสืบไป |
คิดแล้วตรัสสั่งเสนามาร | จงเตรียมทหารน้อยใหญ่ |
กูจะขึ้นไปเฝ้าพระภูวไนย | ยังพิชัยกรุงศรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์พลสี่หมู่ดูพิลึก | ห้าวฮึกโตดำล่ำสัน |
ขุนช้างขี่ช้างดั้งกัน | ถือขอหยัดยันกรีดกราย |
ขุนม้าขี่ม้าอัสดร | มือถือโตมรเฉิดฉาย |
ขุนรถขี่รถสุพรรณพราย | ถือธนูหน่วงสายประลองฤทธิ์ |
ขุนพลจัดพวกพลหาญ | เพียบพื้นบาดาลอกนิษฐ์ |
เตรียมทั้งรถแก้วชวลิต | ตั้งไว้โดยทิศยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์วันยุวิกยักษา |
ทั้งหลานพระพายผู้ศักดา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนทิพมาศสุมามาลย์ |
สอดใส่สนับเพลาเชิงยก | ช่อกระหนกลอยดวงมุกดาหาร |
ภูษาต่างสีชัชวาล | ชายไหวสุรกานต์ชายแครง |
สอดใส่ฉลององค์ทรงประพาส | พื้นตาดลอยดวงเครือแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลแก้วแดงชิงดวง |
ทองกรพาหุรัดรูปภุชงค์ | ธำมรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
วันยุวิกทรงมงกุฎดอกไม้พวง | มัจฉานุห้อยห่วงกุณฑลพราย |
ต่างตนต่างจับอาวุธ | ฤทธิรุทรงามสง่าเฉิดฉาย |
ลงจากอาสน์แก้วแพรวพราย | กรายกรไปปราสาทพระมารดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์พระชนนียักษา |
ทูลว่าลูกรักจักขอลา | ไปยังอยุธยาธานี |
หวังจักบังคมบรมนาถ | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
ทั้งพญาหนุมานผู้ฤทธี | ซึ่งมีคุณมาแต่ก่อนกาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยอดสงสาร |
ได้ฟังสองราชกุมาร | นงคราญยินดีปรีดา |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | อวยพรด้วยความเสน่หา |
เจ้าจะไปเฝ้าองค์พระจักรา | แก้วตาจงศรีสวัสดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วันยุวิกมัจฉานุเรืองศรี |
รับพรสมเด็จพระชนนี | ถวายอัญชุลีมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รถเอยสองรถทรง | กำกงล้วนแล้วด้วยมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดบัลลังก์กระจังราย |
ประดับด้วยเทพนมประนมนิ้ว | ครุฑจับนาคหิ้วเฉิดฉาย |
สี่มุขสุกวามอร่ามพราย | บุษบกงามคล้ายวิมานอินทร์ |
เทียมด้วยไกรสรราชสีห์ | สารถีมือถือธนูศิลป์ |
สำทับขับเร็วดั่งหงส์บิน | เครื่องสูงครบสิ้นเรียงรัน |
แตรฝรั่งกลองชนะประสานเสียง | สำเนียงสะเทือนเลื่อนลั่น |
ฝ่ายมัจฉานุชาญฉกรรจ์ | เป็นทัพขันกองหน้าดำเนินพล |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาธาร | โห่สะท้านสะเทือนกุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มบดบน | รีบรถเร่งพลดำเนินไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ มาถึงแดนด่านอยุธยา | ทางร่วมมรคาอันใหญ่ |
เห็นรอยพลดาษป่าพนาลัย | ไม้ไหล้แหลกล้มไม่สมประดี |
สองกษัตริย์ฉงนสนเท่ห์นัก | หรือจักเป็นหมู่ยักษี |
คุมพวกพหลโยธี | ยกมาต่อตีอยุธยา |
อย่าเลยจะหยุดฟังการ | ถามพวกชาวด่านซึ่งรักษา |
ร้ายดีให้แจ้งกิจจา | จึ่งจะยกโยธาเข้าไป |
ตริแล้วให้หยุดทัพขัน | ตั้งมั่นอยู่เชิงเขาใหญ่ |
พวกพลรื่นเริงบันเทิงใจ | เที่ยวไล่จับสัตว์เป็นโกลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
อันผ่านชมพูพระบูรี | มีจิตคิดถึงพระจักรา |
ทั้งนิลพัทผู้หลาน | ซึ่งไปทำการอาสา |
กับสองพระราชอนุชา | ยังลงกามลิวันกรุงไกร |
นานแล้วมิได้รู้ข่าว | เรื่องราวร้ายดีเป็นไฉน |
อย่าเลยตัวกูจะยกไป | เฝ้าพระภูวไนยจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ทั้งสี่ |
จงจัดพหลโยธี | กูจะไปกรุงศรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาจากห้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์พลวานรสิบสมุทร | เลือกล้วนฤทธิรุทรแข็งขัน |
คำแหงเหี้ยมหาญชาญฉกรรจ์ | ลํ่าสันเรี่ยวแรงทุกตน |
สามารถอาจพลิกแผ่นดิน | ง้างยอดสีขรินหักโค่น |
เหาะเหินเดินได้ในอัมพน | วิดสมุทรวังวนก็แห้งไป |
จัดถ้วนซ้ายขวาหน้าหลัง | พร้อมพรั่งโดยกระบวนพยุห์ใหญ่ |
เตรียมทั้งรถแก้วแววไว | ประดับไว้กับเกยรัตนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูแกล้วกล้า |
เสด็จจากห้องแก้วแววฟ้า | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชำระสระสนานอินทรีย์ | วารีธารกลิ่นเกสร |
สนับเพลาแก้วก้านเชิงงอน | อุทุมพรภูษาพื้นแดง |
ชายไหวชายแครงกระหนกหงส์ | ฉลององค์ลอยดวงเครือแย่ง |
ตาบทิศประดับเพชรลูกแตง | ทับทรวงลายแทงสังวาลวรรณ |
เฟื่องห้อยรายพลอยมุกดาหาร | สะอิ้งแก้วสุรกานต์ทับทิมคั่น |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณเพชรราย |
ทรงมหามงกุฎกรรเจียกทัด | กุณฑลทองจำรัสฉานฉาย |
ขัดพระขรรค์แก้วพรรณราย | กรายกรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยรถประพาฬ | กงแก้วสุรกานต์งามระหง |
แอกอ่อนงอนช้อยปักธง | ดุมวงบัลลังก์กระจังลอย |
ลดชั้นคั่นภาพกาบกระหนก | ทวยรับบุษบกช่อห้อย |
สี่มุขแวววับประดับพลอย | แสงยอดสุกย้อยอร่ามเรือง |
เทียมด้วยพลาหกอาชาชาติ | สองคู่ดูสะอาดสีเหลือง |
ขุนรถขับรีบออกจากเมือง | เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงทอง |
แตรฝรั่งกังสดาลประสานเสียง | ฆ้องกลองสำเนียงกึกก้อง |
วานรโลดโผนโจนคะนอง | โห่ร้องรีบเร่งกันมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนกระบี่เป็นนายทัพหน้า |
นำพลพยุหยาตรา | ถึงแดนอยุธยาธานี |
เป็นที่มรคาร่วมกัน | เห็นบทวลัญช์[1]ยักษี |
เกลื่อนกลาดดาษป่าพนาลี | ขุนกระบี่ก็อัศจรรย์ใจ |
หรือสองสมเด็จพระอนุชา | เสร็จศึกกลับมาเป็นไฉน |
คิดพลางให้หยุดทัพไว้ | แต่ผู้เดียวลัดไพรเข้าไปดู ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเห็นพวกพลกุมภัณฑ์ | ตั้งมั่นซับซ้อนกันอยู่ |
สำคัญว่าเป็นศัตรู | แต่แอบดูแล้วกลับมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายบังคมบาท | ท้าวชมพูธิราชเรืองศรี |
ทูลว่ากองทัพอสุรี | ตั้งอยู่ที่ริมมรคา |
นายหนึ่งพักตราเป็นวานร | กายกรพ่วงพีมีสง่า |
แต่หางนั้นเป็นหางปลา | นายหนึ่งเป็นพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูรังสรรค์ |
ฟังคำทหารชาญฉกรรจ์ | ทรงธรรม์สงสัยพันทวี |
พระพรตเสด็จไปยังไม่กลับ | ไฉนจึ่งมีทัพยักษี |
เห็นจะเป็นอรินราชไพรี | ยกเกี่ยวมาตีอยุธยา |
จำกูจะออกสังหาร | สนองคุณพระอวตารนาถา |
คิดแล้วก็เร่งโยธา | ให้ตีทัพหน้ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายทหารฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ต้อนกันเข้าโรมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลบาดาลยักษี |
ไม่ทันรู้ตัวก็เสียที | วิ่งหนีแตกยับลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มัจฉานุฤทธิไกรใจกล้า |
ทั้งวันยุวิกอสุรา | ได้ยินเสียงโกลาก็แลไป |
เห็นวานรตีพลวุ่นวาย | สองนายกริ้วโกรธดั่งเพลิงไหม้ |
เหม่อ้ายวานรินทร์กระบินทร์ไพร | เหตุไฉนโอหังมาราวี |
ชะรอยไอ้เดียรัจฉานนี้คิดร้าย | ต่อบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ว่าแล้วขับรถมณี | ต้อนพลโยธีเข้ารอนราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลอสุราทวยหาญ |
กลัวอาญาเจ้าพ้นประมาณ | แยกกันทะยานเข้าต่อยุทธ์ |
ถาโถมโรมรันฟันฟอน | จับกุมตะลุมบอนอุตลุด |
กระหนาบเข้าราวีตีรุด | จุดปืนโห่ร้องเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธากระบี่ศรี |
ครั้นยักษากลับหน้าเข้าต่อตี | เสียทีแตกวุ่นเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูแกล้วกล้า |
เห็นวานรแตกยับก็โกรธา | ขับรถาไล่พลากร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลพานรินทร์ชาญสมร |
รื้อรับกลับหน้าเข้าราญรอน | ต่อกรด้วยพวกพลมาร |
กระบี่จับยักษ์เป็นกลุ่มกลุ่ม | ยักษ์กลุ้มจับลิงสำแดงหาญ |
ต่างมีฤทธิรณทนทาน | ต่างฟันต่างทะยานไม่ละกัน |
เลียงพลสองฝ่ายโห่ร้อง | กึกก้องพสุธาครื้นครั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | บดบังสุริยันในเมฆา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์นาถา |
เสด็จออกพระโรงรัตนา | พร้อมหมู่มาตยาพลากร |
งามปานดั่งดวงแขไข | ทรงกลดอำไพประภัสสร |
ส่องสว่างพ่างพื้นอัมพร | ดารากรห้อมล้อมเรียงรัน |
พอได้ยินสำเนียงนฤนาท | ปถพีไหวหวาดเลื่อนลั่น |
โพยมพยับอับแสงสุริยัน | ทรงธรรม์สงสัยในวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีบัญชาประกาศิต | สั่งพญาอนุชิตแกล้วกล้า |
เหตุไฉนอื้ออึงเป็นโกลา | ไปดูมาให้แจ้งประจักษ์ใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งเหลือบแลเล็งเพ่งพิศ | รอบทิศอยุธยาบุรีศรี |
ข้างทักษิณอื้ออึงเป็นโกลี | ขุนกระบี่เหาะไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปลายด่านกรุงไกร | แลไปตามแถวแนวป่า |
เห็นวันยุวิกอสุรา | กับมัจฉานุกุมาร |
คุมพวกอสุรกุมภัณฑ์ | รบกันกับกระบี่ทวยหาญ |
ของท้าวชมพูชัยชาญ | ตกใจก็ทะยานลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ วิ่งเข้ายืนกลางขวางหน้า | ถามว่าท่านนี้เป็นไฉน |
เหตุผลต้นปลายประการใด | จึ่งมาชิงชัยแก่กัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มัจฉานุฤทธิแรงแข็งขัน |
ทั้งวันยุวิกกุมภัณฑ์ | ครั้นเห็นหนุมานก็ยินดี |
ต่างเข้าเคารพอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทกระบี่ศรี |
บอกว่าตัวข้าทั้งสองนี้ | มาเฝ้าธุลีพระจักรา |
เห็นรอยโยธาม้ารถ | บทจรมากมายหนักหนา |
หยุดอยู่จะใคร่แจ้งกิจจา | พวกพญาพานรินทร์เข้าโรมรัน |
สำคัญว่าเหล่าปัจจามิตร | คิดคดต่อนารายณ์รังสรรค์ |
ข้าไม่อาลัยแก่ชีวัน | จึ่งต้อนพวกกุมภัณฑ์ออกต่อตี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูเรืองศรี |
จึ่งบอกหนุมานผู้ฤทธี | น้านี้มาเฝ้าพระสี่กร |
พอพบกองทัพอสุรา | ยกพลโยธามาอยู่ก่อน |
ได้ให้เสนีฤทธิรอน | กับวานรลอบเข้าไปดู |
มิได้รู้จักแต่สักตน | ให้คิดฉงนสงสัยอยู่ |
สำคัญว่าพวกศัตรู | จู่โจมว่าเป็นกลศึกมา |
จึ่งเข้าหักหาญราญรอน | ต่อกรกับหมู่ยักษา |
บัดนี้ทั้งสองพระอนุชา | กลับมาแล้วหรือประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ได้ฟังสำรวลสำราญใจ | บังคมไหว้แล้วกล่าวสุนทร |
อันกุมารน้อยนี้บุตรข้า | ชื่อมัจฉานุชาญสมร |
นั่นวันยุวิกฤทธิรอน | ผู้ผ่านนครบาดาล |
แต่ล้วนเป็นข้าพระนารายณ์ | จะหลงฆ่ากันตายด้วยอวดหาญ |
ให้รี้พลเจ็บปวดป่วยการ | หากหลานออกมาทันที |
อันพระอนุชาทั้งสององค์ | ซึ่งไปรณรงค์ด้วยยักษี |
มีชัยแก่ราชไพรี | บัดนี้เสด็จกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวมหาชมพูนาถา |
จึ่งว่าแก่วันยุวิกอสุรา | ทั้งมัจฉานุกุมาร |
เราเป็นผู้ใหญ่ไม่ไต่ถาม | วู่วามยกพลเข้าหักหาญ |
ให้ได้เดือดร้อนรำคาญ | หลานอย่าถือโทษโกรธกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มัจฉานุฤทธิแรงแข็งขัน |
ทั้งวันยุวิกกุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วตอบไป |
อันตัวหลานนี้ก็ผิดนัก | หาญหักตอบต่อผู้ใหญ่ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | จงให้อภัยแก่นัดดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตแกล้วกล้า |
ให้เคลื่อนพลทั้งสองพารา | เข้ามายังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งหยุดทวยหาญ | อยู่นอกปราการบุรีศรี |
ผู้เดียวรีบเร่งจรลี | เข้าไปยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ทูลแถลงแจ้งความทั้งนั้น | บรรยายแต่ต้นจนปลาย |
พอข้าไปทันได้ห้ามปราม | จึ่งสงบสงครามทั้งสองฝ่าย |
สรวมชีพข้าบาทพระนารายณ์ | ขอเบิกสามนายเข้ามา |
น้อมเกล้าถวายบังคม | พระปิ่นภพบรมนาถา |
ในที่ท่ามกลางเสนา | ผ่านฟ้าจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ฟังพญาอนุชิตผู้ฤทธี | มีความยินดีเป็นพ้นนัก |
ให้หาท้าวชมพูสุริย์วงศ์ | พงศ์พระยาพานรินทร์สิทธิศักดิ์ |
กับวันยุวิกขุนยักษ์ | มัจฉานุลูกรักท่านเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ถวายบังคมลาแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งแจ้งกิจจาแก่สามนาย | ว่าองค์พระนารายณ์ทรงศร |
ให้ท่านทั้งสองพระนคร | ขึ้นเฝ้าภูธรพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามนายฤทธิแรงแข็งขัน |
แจ้งว่าพระองค์ทรงธรรม์ | บัญชาให้หาก็ยินดี |
ดั่งได้สรงนํ้าสุรามฤต | ของท้าวโกสิตเรืองศรี |
ก็พากันรีบจรลี | ตามกระบี่หนุมานเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างตนน้อมเศียรบังคมบาท | พระนารายณ์ธิราชนาถา |
ท่ามกลางมนตรีเสนา | คอยฟังบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
เห็นท้าวชมพูชาญฉกรรจ์ | กับวันยุวิกอสุรี |
มีความชื่นชมโสมนัส | จึ่งตรัสทักพญากระบี่ศรี |
ช้านานพึ่งเห็นกันวันนี้ | ความเรายินดีเป็นพ้นนัก |
ฝ่ายวันยุวิกขุนมาร | ผู้ผ่านบาดาลอาณาจักร |
ยังพร้อมมูลพูนสุขในเมืองยักษ์ | หรือเกิดปรปักษ์ประการใด |
อันหมู่ไพร่ฟ้าประชากร | มีความถาวรหรือไฉน |
มรคาท่าทางกันดารไกล | ประสงค์สิ่งใดจึ่งขึ้นมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วันยุวิกสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | องค์พระจักราทรงฤทธิ์ |
ไพเราะปราศรัยไต่ถาม | โดยความเมตตาสุจริต |
อสุรียินดีเป็นพ้นคิด | ก็ถวายอัญชุลิศแล้วทูลไป |
อันกรุงพระนครบาดาล | จะเดือดร้อนรำคาญก็หาไม่ |
ด้วยเดชพระองค์ทรงฤทธิไกร | ปกไปเป็นสุขทุกราตรี |
ข้ากับมัจฉานุทั้งสอง | คิดถึงละอองบทศรี |
มาเฝ้าด้วยใจภักดี | ให้มีสวัสดิ์สถาวร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เสร็จปราศรัยสองพระนคร | ภูธรจึ่งทอดทัศนา |
เห็นหลานพระพายเทเวศ | พักตร์เหมือนบิตุเรศหนักหนา |
พระแย้มยิ้มพริ้มพรายแล้วบัญชา | ดูก่อนพญาหนุมาน |
อันมัจฉานุผู้นี้ | ท่วงทีองอาจแกล้วหาญ |
ครั้นดูไปก็ให้รำคาญ | ด้วยหางบุตรท่านเหมือนมารดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
ได้ฟังพจนารถพระภูธร | วานรนบนิ้วอภิวันท์ |
อันมัจฉานุกุมาร | กล้าหาญฤทธิแรงแข็งขัน |
จะเปรียบกับอสุรผัดนั้น | คล้ายกันทั้งฤทธิ์แลปรีชา |
ขอพระองค์จงได้โปรดเกศ | แปลงให้พ้นเพศมัจฉา |
จะได้รองเบื้องบาทา | ไปกว่าจะสิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ลํ้าสุริย์ฉาน |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
จะช่วยให้พ้นเพศมัจฉา | อย่าปรารมภ์เลยกระบี่ศรี |
ว่าแล้วทรงพระขรรค์โมลี | ภูมีกวัดแกว่งดั่งแสงไฟ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ด้วยศักดาเดชพระนารายณ์ | จะต้องกายมัจฉานุก็หาไม่ |
หางนั้นก็ขาดหายไป | มิได้เจ็บปวดเวทนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิไกรใจกล้า |
ทั้งมัจฉานุกุมารา | ปรีดาดั่งได้โสฬส |
พ่อลูกน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
พักตร์ผ่องด้วยสมมโนรถ | ดั่งพระจันทร์ทรงกลดไม่ราศี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญายักษากระบี่ศรี |
อำมาตย์มาตยามนตรี | ปุโรหิตพราหมณ์ชีพร้อมกัน |
เห็นหางมัจฉานุขาดหาย | ด้วยพระเดชพระนารายณ์รังสรรค์ |
เป็นมหามหัศอัศจรรย์ | สั่นเศียรสยองวิญญาณ์ |
นบนิ้วประนมเหนือเกศ | สรรเสริญพระเดชด้วยหรรษา |
มิเสียทีที่เราเกิดมา | เป็นข้าใต้ละอองบทมาลย์ |
ได้เห็นเป็นบุญตาบุญตัว | จะเล่าชั่วลูกเหลนหลาน |
ทรงพระคุณแผ่ไปในจักรวาล | ทั้งไตรดาลไม่มีใครเทียมทัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
เสร็จแปลงหลานพระพายเทวัญ | ทรงธรรม์มีราชวาที |
อันซึ่งเสนีปรีกษา | ให้พญาอนุชิตเรืองศรี |
ไปผ่านมลิวันธานี | ขุนกระบี่จะไกลเรานัก |
ฝ่ายมัจฉานุผู้บุตร | ฤทธิรุทรปรีชาแหลมหลัก |
ควรเป็นเจ้าแก่อสุรยักษ์ | ผ่านนัคเรศแทนบิดร |
ครองกันกับรัตนมาลี | บุตรีจักรวรรดิชาญสมร |
ชื่อพญาหนุราชฤทธิรอน | ให้ถาวรสืบวงศ์กษัตริย์ไป |
ตรัสแล้วก็เรียกเอาเครื่องต้น | มงกุฎกุณฑลประทานให้ |
วันยุวิกผู้ปรีชาไว | จงกลับไปครองเมืองบาดาล |
แล้วประทานมงกุฎกรรเจียกแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยดวงมุกดาหาร |
ฝ่ายท้าวชมพูชัยชาญ | ตัวท่านก็มีความชอบมา |
ได้เกณฑ์พวกพลโยธี | ให้ไปต่อตีด้วยยักษา |
จนเสร็จศึกล้างเหล่าพาลา | ทั้งกรุงลงกามลิวัน |
จงคืนไปผ่านพระนคร | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
ดำรงคงทางทศธรรม์ | โดยมหันตยศสืบไป |
ตรัสแล้วประทานเครื่องทรง | มงกุฎธำมรงค์สังวาลให้ |
ตาบทิศทับทรวงอำไพ | แล้วไปด้วยแก้วสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชมพูผู้ปรีชาหาญ |
ทั้งวันยุวิกขุนมาร | มัจฉานุผู้ชาญฤทธี |
พร้อมกันถวายอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
รับของประทานด้วยยินดี | ท่ามกลางเสนีพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
จึ่งกล่าวมธุรสอันสุนทร | ดูก่อนพระพรตทรงลักษณ์ |
แต่เจ้ายกพวกทวยหาญ | ไปปราบพวกพาลปรปักษ์ |
ก็สิ้นเสี้ยนศัตรูหมู่ยักษ์ | ด้วยศักดาเดชน้องยา |
องค์พระอัยกาอัยกี | ไม่แจ้งว่าร้ายดีจะคอยหา |
จงกลับไปไกยเกษพารา | ให้สองกษัตราสำราญใจ |
ฝ่ายท้าวยักษาวานร | ผู้ผ่านพระนครน้อยใหญ่ |
จงยกพหลพลไกร | กลับไปยังราชธานี |
บำรุงไพร่ฟ้าประชากร | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมศรี |
ตั้งอยู่ในสัจวาที | อย่ามีอันตรายโรคัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
บรรดาท้าวพญาทั้งนั้น | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างขึ้นม้ารถคชสาร | ต่างยกทวยหาญน้อยใหญ่ |
ต่างแยกมรคาพนาลัย | ต่างไปยังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
เสวยสุขอยู่ทุกราตรี | กับพระลักษมีบังอร |
ประดับด้วยแสนสาวกำนัล | แปดหมื่นสี่พันดั่งอัปสร |
เป็นฉัตรแก้วกั้นเกศประชากร | พระนครแสนสนุกดั่งเมืองอินทร์ |
กรุงกษัตริย์ย่อมถวายดอกไม้มาศ | มาขึ้นในเบื้องบาทพระองค์สิ้น |
สนั่นไปด้วยเสียงพาทย์พิณ | เป็นอาจิณทั่วทั้งธานี |
อันหมู่มาตยาสามนต์ | ประชาชนพาณิชเศรษฐี |
แขกฝรั่งจีนจามพราหมณ์ชี | มีแต่สิ่งสุขภิรมยา |
จนนางสีดาวิลาวัณย์ | ทรงครรภ์พระโอรสา |
กำหนดได้สามเดือนตรา | พระจักราจะใคร่ไปชมไพร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ คิดแล้วทรงเครื่องเรืองอร่าม | สง่างามสามโลกไม่เปรียบได้ |
เสด็จจากทิพอาสน์อำไพ | ไปยังพระโรงพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาเข้าเฝ้าบังคมคัล | ทรงธรรม์มีราชบัญชา |
ดูก่อนสุมันตันเสนี | ตัวท่านผู้มียศถา |
เราจะไปประพาสอรัญวา | จงเตรียมโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระภูธร | เร่งรีบบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จัดพลตามที่โพนประพาส | ตั้งเป็นพยุหบาตรกระบวนใหญ่ |
กองหน้าเกณฑ์นำพลไกร | สอดใส่เสื้อสีชมพู |
ถือคาบศีลาลำพัน | เดินตามพวกกันเป็นคู่คู่ |
กองหนึ่งใส่เสื้อบัศตู | มือถือธนูกรีดกราย |
กองหนึ่งนั้นใส่เสื้อตอง | ถือหอกครํ่าทองเฉิดฉาย |
พวกช้างดั้งกันเรียงราย | โดดคํ้าพังพลายสลับกัน |
พลม้าล้วนม้าแทรกแซง | เดินตามตำแหน่งเป็นหลั่นหลั่น |
กองหลังใส่เสื้อสีจันทน์ | มือถือเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
พวกแขกภาษามลายู | ล้วนถือหอกคู่เหน็บกริช |
จับฉลากหน้าสนามตามทิศ | อกนิษฐ์แน่นนันต์ในราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ไสยาสน์เหนืออาสน์รูจี | กับองค์เทวีสีดา |
ประดับด้วยแสนสนมอนงค์นาฏ | บำเรอบาทเป็นบรมสุขา |
ในที่ห้องแก้วอลงการ์ | อันมหาสิริโอฬาร |
ครั้นสุริโยภาสอากาศแผ้ว | ดุเหว่าแว่วร้องเรื่อยเฉื่อยหวาน |
เสนาะเสียงแตรสังข์เป็นกังวาน | ประโคมขานฆาตฆ้องกลองชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระตื่นจากที่สิริไสยาสน์ | ทรงวิลาสพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
ชวนพระอนุชาผู้ร่วมใจ | เสด็จไปเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สองกษัตริย์สระสนานสำราญกาย | วารีโปรยปรายดั่งสายฝน |
เย็นซาบอาบองค์ทรงสุคนธ์ | ปนปรุงนพมาศชมพูนุท |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | ปักเป็นมังกรชมสมุทร |
ภูษาต่างสีเครือครุฑ | ม่วงโหมดพื้นผุดทองพราย |
ชายแครงชายไหวสุวรรณวาบ | กระหนกกาบแก้วก้านฉานฉาย |
ฉลององค์พื้นตาดฉลุลาย | เป็นรูปนกกลายละกลกัน |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลแก้ว | ล้วนแล้วเครื่องทิพย์รังสรรค์ |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์ไข่สุบรรณค่าเมือง |
ทรงมหามงกุฎกุณฑลรัตน์ | กรรเจียกจอนจำรัสด้วยเพชรเหลือง |
ต่างจับศรสิทธิ์ฤทธิเรือง | ย่างเยื้องไปเกยอลงการ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ให้เคลื่อนพหลโยธี | กุญชรพาชีกองหน้า |
สองพระองค์ทรงรถรัตนา | ออกจากทวาราพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | ดุมประไพดวงประพาฬประภัสสร |
กงครํ่ากำเครื่องอลงกรณ์ | แอกงอนอ่อนงามกระหนกพัน |
บัลลังก์บดหลั่นชั้นลด | เครือขดครุฑเคียงเรียงคั่น |
แถวพนักเทพนมบังคมคัล | กาบช้อยเก็จชั้นสุวรรณวาม |
สี่มุขสุกเหมือนเดือนฉาย | กาญจน์แพร้วแก้วพรายรายอร่าม |
เทียมสินธพสีเงินงาม | เคียงสามคู่สรรล้วนตัวดี |
พระลักษมณ์นั่งประณตประนมหัตถ์ | ขุนรถขับรัดเรื่อยรี่ |
เครื่องสูงครบสิ่งพัชนี | ปี่ฆ้องเป่าขานประสานกลอง |
พวกทหารพลโห่เป็นโกลา | พระสุธาสท้านสะเทือนก้อง |
งามรถงอนรับธงทอง | รีบเข้ายังท้องพนาดร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางหว่างแถวแนวไม้ | เลียบไปตามเนินสิงขร |
ชมหมู่ปักษาทิชากร | บินว่อนจับไม้น่าดู |
ช่างทองจับทองไซ้หาง | คับแคจับคางเคล้าคู่ |
กระลุมพูบินโผจับลำพู | จากพรากพรัดหมู่มาจับจันทน์ |
สาลิกาจับกิ่งกาหลง | ฝูงหงส์จับไม้กระทังหัน |
นกแก้วจับแก้วพูดกัน | เบญจวรรณจับหว้ารายเรียง |
เขาจับเขาขันสนั่นก้อง | กระเหว่าจับกระวานร้องส่งเสียง |
เค้าโมงจับโมงมองเมียง | นกหกจับเหียงเคียงจร |
เขาไฟพาฝูงจับมะไฟ | นกไผ่จับผากบินว่อน |
นางนวลจับนางนวลนอน | โนรีบินร่อนลงจับรัก |
ไก่ฟ้าจับต้นรกฟ้า | กระสาพาคู่ลงจับสัก |
วายุภักษ์จับจิกกระลำพัก | ปักหลักจับเลียบแล้วบินไป |
พญายูงจับยูงฟ้อนหาง | นกยางจับยอดพะยูงใหญ่ |
ยิ่งชมยิ่งเพลินจำเริญใจ | ที่ในพนมพนาลี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางสีดามารศรี |
อยู่ยังห้องแก้วรูจี | ในที่ปราสาทอลงกรณ์ |
พร้อมฝูงอนงค์ทรงลักษณ์ | บำเรอบริรักษ์สายสมร |
ดั่งดาวล้อมดวงศศิธร | อันเขจรเลื่อนลอยในเมฆา |
ให้บันดาลร่านร้อนฤทัย | ดั่งนอนในเพลิงแรงแสงกล้า |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไปมา | กัลยาไม่สบายอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชวนฝูงนางอนงค์นาฏ | ยุรยาตรจากห้องปราสาทศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | เสด็จไปยังที่ชลาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
พระทอง
๏ ครั้นถึงจงลงสรงสนาน | แทบท่าชลธารเย็นใส |
กับฝูงสาวสรรค์กำนัลใน | สำราญใจสัพยอกกันไปมา |
สรวลระริกซิกแซ่อึงมี่ | บ้างกระทุ่มชลธีฉานฉ่า |
บ้างเล่นช่วงสาดนํ้าเข้าตา | บ้างเล่นไล่ไขว่คว้าหากัน |
บ้างดำผุดฉุดฉวยตัวได้ | ตกใจร้องตรีดตัวสั่น |
บ้างหนีไล่พัลวัน | เสียงสนั่นทั้งท้องชลธาร |
ลางนางร้องรับขับครวญ | โหยหวนรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
โอดพันย้ายเพลงบรรเลงลาน | เกษมศานต์ทุกหน้านารี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางอดูลยักษี |
เป็นปีศาจอยู่ใต้ธรณี | อสุรีนั้นวงศ์ทศพักตร์ |
มีแต่โมหันธ์ฉันทา | ใจบาปหยาบช้าอัปลักษณ์ |
รู้ว่าสีดานงลักษณ์ | อัคเรศมาสรงสาคร |
คิดแค้นพยาบาทมาดใจ | กูจะให้สีดาดวงสมร |
พลัดกับพระรามฤทธิรอน | คิดแล้วบทจรขึ้นมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ พิราพรอน
๏ ครั้นถึงซึ่งฝั่งชลธาร | นางมารแฝงพุ่มพฤกษา |
จึ่งร่ายพระเวทอันศักดา | นิมิตกายาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวเพศยักษ์ก็สูญหาย | กลายเป็นนางมนุษย์สาวศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ไปยังที่สรงนางทรามวัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ค่อยหมอบยอบกายเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประนมบังคมไหว้ |
ทูลว่าตัวข้าประมาทไป | มาไม่ทันเสด็จกัลยา |
ดั่งใช่คนในใช้ชิด | โทษข้านี้ผิดเป็นหนักหนา |
พระแม่เจ้าจงได้เมตตา | ขอประทานโทษาในครานี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดามารศรี |
สำคัญว่ากำนัลนารี | จึ่งมีเสาวนีย์ตอบไป |
ซึ่งมาไม่ทันเวลา | เราจะถือโทษานั้นหาไม่ |
ตรัสแล้วขึ้นจากชลาลัย | เสด็จไปปราสาทอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | นางอดูลปีศาจใจหาญ |
หมอบใช้ใกล้องค์นงคราญ | ทำการมิให้รู้มารยา |
ทูลว่าเมื่อพระแม่ตกไป | อยู่ในอุทยานยักษา |
อันทศกัณฐ์เจ้าลงกา | ใจบาปหยาบช้าราวี |
พักตรารูปทรงกุมภัณฑ์ | นั้นเป็นอย่างไรนางโฉมศรี |
ตัวข้าเกิดมาถึงเพียงนี้ | ยังมิเคยเห็นขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ไม่รู้ว่าปีศาจสาธารณ์ | มาจงผลาญด้วยกลมารยา |
จึ่งว่ารูปทรงทศกัณฐ์ | นั้นยี่สิบกรสิบหน้า |
ผิดประหลาดกว่าหมู่อสุรา | มีอานุภาพเกรียงไกร |
แม้นมาตรจะจำแลงแปลงกาย | กลับกลายเหมือนใครก็ทำได้ |
ชั่วช้าอัปลักษณ์เป็นพ้นไป | แจ้งใจอยู่ทั่วทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางอดูลปีศาจยักษี |
เห็นนางหลงกลก็ยินดี | ชุลีกรสนองพระวาจา |
พระแม่เจ้าโปรดข้าผู้จงรัก | เขียนรูปทศพักตร์ยักษา |
จะได้เห็นเพราะบุญกัลยา | ยี่สิบกรสิบหน้านั้นฉันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
พาซื่อไม่สงสัยใจ | อรไทเขียนรูปอสุรี |
ทั้งยี่สิบกรสิบเศียร | ไม่ผิดเพี้ยนกับกายยักษี |
แล้วส่งให้นางนั้นทันที | นี่รูปทศกัณฐ์เจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลซ้ายขวา |
เบียดเสียดเยียดยัดกันเข้ามา | ดูรูปเลขาพญายักษ์ |
ต่างคนต่างว่าน่าเกลียดชัง | มือหัวรุงรังอัปลักษณ์ |
อหังการต้านต่อพระหริรักษ์ | โคตรยักษ์จึ่งสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระภุชพงศ์รังสรรค์ |
เที่ยวประพาสพฤกษาในอารัญ | จนสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน |
จึ่งเลิกจตุรงค์ทวยหาญ | ข้ามธารผ่านเนินสิงขร |
รีบเร่งโยธาพลากร | คืนเข้านครอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นางอดูลปีศาจยักษา |
รู้ว่าพระรามเสด็จมา | ยินดีปรีดาด้วยสมคิด |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ในวิมานช่อชั้นดุสิต |
กลับกลายหายตัวไปด้วยฤทธิ์ | เข้าสถิตในรูปที่เขียนไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | พระสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
ครั้นเห็นนางนั้นหายไป | ในท่ามกลางฝูงนารี |
ตกใจคิดได้ว่าปีศาจ | ร้องตรีดหวีดหวาดอึงมี่ |
ล้มลุกคลุกคลานไม่สมประดี | วิ่งหนีปะทะปะกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ครั้นแจ้งว่าองค์พระทรงธรรม์ | ถึงเกยสุวรรณพรรณราย |
นางจึ่งลบรูปอสุรา | ล้างด้วยคงคาก็ไม่หาย |
ยิ่งเห็นจะแจ้งลวดลาย | โฉมฉายประหวั่นพรั่นใจ |
ความกลัวอาญาพระทรงฤทธิ์ | สุดคิดที่จะทำกระไรได้ |
จึ่งเอากระดานเข้าซ่อนไว้ | ใต้แท่นบรรทมพระจักรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ