- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้ฟังฝูงเทพเทวา | ผ่านฟ้ากริ้วโกรธดั่งเพลิงกาฬ |
เหม่เหม่ไอ้ตรีบูรัม | มาทำองอาจอวดหาญ |
มันนี้เสียสัตย์ปัฏิญาณ | กูจะผลาญให้ม้วยชีวี |
ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | ดูราองค์ท้าวโกสีย์ |
ซึ่งจะดับเข็ญในครั้งนี้ | เห็นว่าไม่มีผู้ใด |
ถึงองค์บรมพรหเมศ | พระนารายณ์เรืองเดชไม่ปราบได้ |
จิตุบทจิตุบาทจงเร่งไป | เชิญไทพรหเมศนารายณ์มา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตุบทจิตุบาทแกล้วกล้า |
ก้มเกล้ารับเทวบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระเป็นเจ้าสององค์ | นั่งลงยอกรบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระจอมภพไตร | ให้ข้ามาแจ้งเหตุการณ์ |
ด้วยตรีบูรัมอสุรา | ย่ำยีเทวาทุกสถาน |
ได้ความเดือดร้อนรำคาญ | ขอเชิญบทมาลย์ไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักราธาดาเรืองศรี |
ได้ฟังรับสั่งพระศุลี | ต่างสำแดงฤทธีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงไศลไกรลาศบรรพต | ยอกรประณตประนมไหว้ |
คอยฟังบัญชาเจ้าภพไตร | ที่ในท่ามกลางเทวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถนาถา |
เห็นองค์บรมพรหมา | กับพระจักราเรืองฤทธิ์ |
จึ่งตรัสว่าบัดนี้ตรีบูรัม | มันทำสาธารณ์ทุจริต |
เราจะสังหารผลาญชีวิต | ให้สิ้นพิษสิ้นเสี้ยนธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์พรหเมศเรืองศรี |
รับเทวบัญชาพระศุลี | นบนิ้วดุษฎีแล้วทูลไป |
ซึ่งจะดับเข็ญให้เย็นเกศ | ทั่วฝูงเทเวศร์น้อยใหญ่ |
พระคุณลํ้าลบภพไตร | ดั่งฉัตรชัยบังแสงทินกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎไกรลาสสิงขร |
จึงมีบัญชาอันสุนทร | ซึ่งจะไปราญรอนขุนมาร |
ครั้งนี้เป็นศึกดึกดำบรรพ์ | จะอยู่ชั่วกัปกัลป์อวสาน |
กราบเท่านารายณ์อวตาร | ลงไปสังหารอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ยานี
๏ ตรัสแล้วเอากำลังพรหเมศ | ประสมเดชพระองค์อันแกล้วกล้า |
เป็นเกราะเพชรอลงกตรจนา | ศักดาเลิศลํ้าธาตรี |
จึงเอากำลังพระเมรุนั้น | เป็นคันธนูชัยศรี |
ชื่อมหาโลหะโมลี | มีอานุภาพเพริศพราย |
เอากำลังอนันตนาคา | ซึ่งมีพิษมาเป็นสาย |
อันกำลังองค์พระนารายณ์ | เป็นลูกศรผลาญกายอสุรี |
แต่บรรดาศัสตราอาวุธ | ล้วนกำลังเทพบุตรทุกราศี |
เสร็จแล้วองค์พระศุลี | ให้จัดโยธีชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตุบทฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงธรรม์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดเอาพระขันทกุมาร | อันเรืองเดชชัยชาญเป็นทัพหน้า |
คุมอสุรโขมดมารยา | พระราหูถือเทพธงชัย |
องค์พระพิเนตรเป็นปีกซ้าย | คุมห่าโหงพรายน้อยใหญ่ |
พระพินายผู้ปรีชาไว | เป็นปีกขวาให้คุมคนธรรพ์ |
เกียกกายพระกาลชาญฤทธิ์ | คุมวิทยาธรแข็งขัน |
ยกกระบัตรนั้นท้าวเวสสุวัณ | คุมหมู่กุมภัณฑ์เข้าราวี |
พระเพลิงกองหลังรั้งท้าย | คุมอสุรกายภูตผี |
กวัดแกว่งอาวุธเป็นโกลี | คอยเสด็จเจ้าตรีโลกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา | เสด็จมาโสรจสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สนับเพลาเชิงงอนอลงการ | ภูษิตทองผสานดวงลอย |
ชายแครงชายไหวไหวระยับ | พลอยประดับจับแสงดั่งหิ่งห้อย |
ฉลององค์เกราะแก้วอย่างน้อย | สอดสร้อยทับทรวงสังวาลวัลย์ |
ตาบทิศทองกรมังกรพด | พาหุรัดมรกตทับทิมคั่น |
ธำมรงค์เพชรเหลืองเรือนสุบรรณ | มงกุฎแก้วกุดั่นกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้ทัด | ดอกไม้ทิพย์จำรัสประภัสสร |
จับมหาโมลีฤทธิรอน | ฝูงเทพนิกรก็ตามมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
๏ ครั้นถึงจึ่งทรงอุศุภราช | ฤทธิรงค์องอาจแกล้วกล้า |
ให้เคลื่อนทัพเทพยาตรา | พระราหูโบกธงนำไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ โคอุศุภราช | ร้ายกาจรณรงค์สูงใหญ่ |
สี่เท้าด่างผ่องยองใย | หางขาวอำไพโสภา |
หน้าแด่นดั่งใบโพธิ์ทอง | ขับคล่องว่องไวใจกล้า |
ผูกเครื่องอร่ามทั้งกายา | แต่ล้วนมหาเนาวรัตน์ |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงทิวริ้วรายกรรชิงฉัตร |
พัดโบกโบกบนดั่งลมพัด | ปี่กลองเป็นขนัดประโคมครึก |
เสียงโห่พ่างเพียงจะล่มภพ | พลหาญร่านรบคะนองศึก |
แกว่งอาวุธวามคำรามฮึก | คึกคึกเร่งรีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงโสฬสนคร | จึ่งหยุดนิกรทัพใหญ่ |
สั่งพระโอรศยศไกร | ให้เข้าล้อมราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระขันทกุมารเรืองศรี |
รับสั่งแล้วขับโยธี | เข้าไปโดยมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ปิศาจแกล้วกล้า |
โห่ร้องอื้ออึงคะนึงมา | ดากันเข้าล้อมเมืองมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายตรีบูรัมใจหาญ |
สถิตบัญชรแก้วอลงการ | ขุนมารทอดทัศนาไป |
เห็นหมู่อริราชไพรี | ยกพลโยธีทัพใหญ่ |
ล่วงมาถึงราชเวียงชัย | ก็กริ้วโกรธดั่งไฟประลัยกัลป์ |
เหม่เหม่ใครหนอทะนงฤทธิ์ | ไม่กลัวชีวิตจะอาสัญ |
พลน้อยนิดหนึ่งเท่านั้น | หรือจะครั้นฝีมืออสุรา |
ตรัสแล้วมีราชโองการ | สั่งเสนามารหาญกล้า |
จงเกณฑ์พหลโยธา | กูจะไปเข่นฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จี่งมหาเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชลีแล้วกลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เลือกสรรจัดกันเป็นหมู่หมวด | เตรียมตรวจตามกระบวนพยุหใหญ่ |
ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร | พร้อมไว้ในหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีบูรัมฤทธิไกรใจหาญ |
แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ | จับตระบองทะยานมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เคลื่อนพิชัยรัถา | ผงคลีมืดฟ้าบังบด |
โห่สนั่นครั่นครื้นถึงโสฬส | ขับทศโยธารีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นออกมานอกพระทวาร | จึ่งให้หยุดพลทหารน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นทัพขันมั่นไว้ | แลไปเห็นองค์เจ้าโลกา |
หน้าซีดผาดเผือดตะลึงคิด | น้อยจิตเศร้าโทมนัสสา |
ทั้งกลัวทั้งแค้นแน่นอุรา | พญามารมิได้อัญชุลี |
แล้วร้องไปด้วยอหังการ | ไฉนพระทรงญาณเรืองศรี |
จึ่งยกโยธามาราวี | เรานี้มีผิดสิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นไกรลาสเขาใหญ่ |
ได้ฟังก็ร้องตอบไป | เหวยอ้ายจังไรใจฉกรรจ์ |
ตัวเองเป็นพาลทุจริต | ถือผิดมืดมัวโมหันธ์ |
เดิมเมื่อขอพรกูวันนั้น | ว่าจะรักษาธรรม์ประเวณี |
เหตุใดจึ่งเบียนโลกา | เทวามนุษย์แลฤๅษี |
ให้ได้ความเดือดร้อนทั้งธาตรี | กูไม่ไว้ชีวีขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อสุรีตรีบูรัมใจหาญ |
ได้ฟังเทวราชโองการ | ให้คิดเดือดดาลอหังการ์ |
แม้นมาตรถึงพรหมลิขิต | สู้เสียชีวิตประเสริฐกว่า |
กูไม่ง้องอนพระอิศรา | ให้ปรากฏไว้ในธาตรี |
คิดแล้วสั่งหมู่กุมภัณฑ์ | จงแยกกันออกตีภูตผี |
ฆ่าเสียให้สิ้นชีวี | ด้วยกำลังฤทธีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่อสุราทวยหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพญามาร | ก็ขับกันทะยานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างไล่โรมรันฟันฟาด | จะเกรงปีศาจก็หาไม่ |
รุกราญหาญหักชิงชัย | โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระขันทกุมารแกล้วกล้า |
ครั้นเห็นอสุรโยธา | ดากันเข้าตีผีไพร |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงกาฬ | กระทืบบาทสะท้านสะเทือนไหว |
ขับพลโหงห่าเข้าชิงชัย | ลุยไล่ล้างพวกกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หัวขาดตัวขาดดาษดา | ด้วยกำลังฤทธาแข็งขัน |
ตายแตกแยกยับทับกัน | ไล่ฟันหักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งตรีบูรัมยักษี |
เห็นพลแตกตายไม่สมประตี | อสุรีกวัดแกว่งคทาวุธ |
โลดโผนโจนจากรถชัย | ไล่พลผีไพรอุตลุด |
เสียงสนั่นถึงชั้นคนิรุทร | ดั่งแผ่นดินจะทรุดด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
เห็นตรีบูรัมอสุรา | เข้ามาต่อตีด้วยผีไพร |
โกรธาแผดเสียงสีหนาท | ขับโคศุภราชรุกไล่ |
จับนารายณ์ซึ่งเป็นศรชัย | ก็ผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ลั่นถึงสามหนไม่พ้นสาย | เพราะองค์นารายณ์หลับสนิท |
พระศุลีกริ้วโกรธดั่งเพลิงพิษ | ก็ทิ้งศรสิทธิ์เสียจากกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์ซึ่งเป็นศร |
ตกใจฟื้นกายขึ้นจากนอน | ภูธรกราบบาทพระศุลี |
ทูลว่าซึ่งข้าไม่ลังหาร | ผลาญตรีบูรัมยักษี |
ด้วยพระองค์มงกุฎธาตรี | มิให้ข้าล้างอสุรา |
จึ่งเผอิญให้เคลิ้มหลับไป | ด้วยประสาทพรไว้แก่ยักษา |
ซึ่งเคืองใต้เบื้องบาทา | ขอเจ้าโลกาจงปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมเรืองศรี |
ได้ฟังทูลตอบเห็นชอบที | จึงมีพจนารถตรัสไป |
อันตรีบูรัมขุนมาร | สังหารด้วยศรแล้วไม่ได้ |
จำจะฆ่าเสียด้วยตาไฟ | ให้ม้วยไหม้เป็นภัสม์ธุลีกัลป์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตรัสแล้วจับกล้องมณี | กวัดแกว่งรัศมีฉายฉัน |
ส่องเนตรจำเพาะกุมภัณฑ์ | ด้วยฤทธีอันชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นเพลิงกรด | ไหม้หมดรี้พลทวยหาญ |
ทั้งตรีบูรัมขุนมาร | ก็วายปราณด้วยเดชพระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งปราบอสุรยักษ์ | พระผู้หลักโลกเฉลิมศรี |
ให้เอาธนูโมลี | ไปไว้ธานีมิถินลา |
เกราะแก้วนั้นมอบแก่ดาบส | พระอัคตะทรงพรตฌานกล้า |
คอยพระหริรักษ์จักรา | จะอวตารลงมาปราบยักษ์ |
ให้ถวายพระองค์ทรงครุฑ | สำหรับกันอาวุธปรปักษ์ |
แล้วเลิกโยธาสุรารักษ์ | ไปอัครสถานวิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระมเหสีทั้งห้า |
องค์ท้าวลัสเตียนอสุรา | แต่สี่กัลยานั้นมีครรภ์ |
ประสูติเป็นราชกุมาร | รูปทรงสะคราญแข็งขัน |
อันบุตรสุนนทานั้น | ชื่อกุเปรันอสุรี |
ฝ่ายเทพนาสูรเรืองฤทธิ์ | ลูกจิตรมาลาโฉมศรี |
บุตรสุวรรณมาลัยเทวี | มีนามชื่ออัครธาดา |
อันโอรสนางวรประไพ | ให้ชื่อมารันยักษา |
ทั้งสี่ยุพเรศกัลยา | เสน่หาดั่งดวงชีวัน |
เช้าคํ่าผดุงบำรุงรัก | เชยพักตร์ขับกล่อมถนอมขวัญ |
พี่เลี้ยงนางนมทั้งนั้น | จัดสรรเลือกให้ที่สะคราญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนนทกน้ำใจกล้าหาญ |
ตั้งแต่พระสยมภูวญาณ | ประทานให้ล้างเท้าเทวา |
อยู่บันไดไกรลาสเป็นนิจ | สุราฤทธิ์ตบหัวแล้วลูบหน้า |
บ้างให้ตักนํ้าล้างบาทา | บ้างถอนเส้นเกศาวุ่นไป |
จนผมโกร๋นโล้นเกลี้ยงถึงเพียงหู | ดูเงาในนํ้าแล้วร้องไห้ |
ฮึดฮัดขัดแค้นแน่นใจ | ตาแดงดั่งแสงไฟฟ้า |
เป็นชายดูดู๋มาหมิ่นชาย | มิตายจะได้มาเห็นหน้า |
คิดแล้วก็รีบเดินมา | เฝ้าพระอิศราธิบดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระอิศวรเรืองศรี |
ว่าพระองค์เป็นหลักธาตรี | ย่อมเมตตาปรานีทั่วพักตร์ |
ผู้ใดทำชอบต่อเบื้องบาท | ก็ประสาททั้งพรแลยศศักดิ์ |
ตัวข้าก็มีชอบนัก | ล้างเท้าสุรารักษ์ถึงโกฏิปี |
พระองค์ผู้ทรงศักดาเดช | ไม่โปรดเกศแก่ข้าบทศรี |
กรรมเวรสิ่งใดดั่งนี้ | ทูลพลางโศกีรำพัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
เห็นนนทกโศกาจาบัลย์ | พระทรงธรรม์ให้คิดเมตตา |
จึ่งมีเทวราชบรรหาร | เอ็งต้องการสิ่งไรจงเร่งว่า |
ตัวกูจะให้ดั่งจินดา | อย่าแสนโศกาอาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรบังคมแล้วทูลไป | จะขอพรเจ้าไตรโลกา |
ให้นิ้วข้าเป็นเพชรฤทธี | จะชี้ใครจงม้วยสังขาร์ |
จะได้รองเบื้องบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
ได้ฟังนนทกพาที | ภูมีนิ่งนึกตรึกไป |
ไอ้นี่มีชอบมาช้านาน | จำจะประทานพรให้ |
คิดแล้วก็ประสิทธิ์พรชัย | จงได้สำเร็จมโนรถ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกผู้ใจสาหส |
รับพรพระศุลีมียศ | บังคมลาแล้วบทจรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงบันไดไกรลาส | ขัดสมาธินั่งยิ้มริมอ่างใหญ่ |
คอยหมู่เทวาสุราลัย | ด้วยใจกำเริบอหังการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวาสุราฤทธิ์ทุกทิศา |
สุบรรณคนธรรพ์วิทยา | ต่างมาเฝ้าองค์พระศุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เหาะ
๏ ครั้นถึงซึ่งเชิงไกรลาส | คนธรรพ์เทวราชฤๅษี |
ก็ชวนกันย่างเยื้องจรลี | เข้าไปยังที่อัฒจันทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นนทกก็ล้างเท้าให้ | เมื่อจะไปก็จับหัวสั่น |
สัพยอกหยอกเล่นเหมือนทุกวัน | สรวลสันต์เยาะเย้ยเฮฮา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นนทกน้ำใจแกล้วกล้า |
กริ้วโกรธร้องประกาศตวาดมา | อนิจจาข่มเหงเล่นทุกวัน |
จนหัวไม่มีผมติด | สุดคิดที่เราจะอดกลั้น |
วันนี้จะได้เห็นกัน | ขบฟันแล้วชี้นิ้วไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต้องสุบรรณเทวานาคี | ดั่งพิษอสุนีไม่ทนได้ |
ล้มฟาดกลาดเกลื่อนลงทันใด | บรรลัยไม่ทันพริบตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
เห็นนนทกนั้นทำฤทธา | ชี้หมู่เทวาวายปราณ |
ตกใจตะลึงรำพึงคิด | ใครประสิทธิ์ให้มันมาสังหาร |
คิดแล้วขึ้นเฝ้าพระทรงญาณ | ยังพิมานทิพรัตน์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระอิศวรเรืองศรี |
ว่านนทกมันทำฤทธี | ชี้หมู่เทวานั้นบรรลัย |
อันซึ่งนิ้วเพชรของมัน | พระทรงธรรม์ประสิทธิ์หรือไฉน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | ไม่เกรงใต้เบื้องบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้ฟังองค์อมรินทรา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
ไอ้นี่ทำชอบมาช้านาน | เราจึ่งประทานพรให้ |
มันกลับทรยศกบฏใจ | ทำการหยาบใหญ่ถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตรัสแล้วจึ่งมีบัญชา | ดูราพระนารายณ์เรืองศรี |
ตัวเจ้าผู้มีฤทธี | เป็นที่พึ่งแก่หมู่เทวัญ |
จงช่วยระงับดับเข็ญ | ให้เย็นทั่วพิภพสรวงสวรรค์ |
เชิญไปสังหารไอ้อาธรรม์ | ให้มันสิ้นชีพชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์นาถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาแปลงกายด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เป็นโฉมนางเทพอัปสร | อ้อนแอ้นอรชรเฉลิมศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ไปสู่ที่นนทกจะเดินมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด เพลง
๏ บัดนั้น | นนทกผู้ใจแกล้วกล้า |
สิ้นเวลาเฝ้าเจ้าโลกา | สำราญกายาแล้วเที่ยวไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ชมโฉม
๏ เหลือบเห็นสตรีวิไลลักษณ์ | พิศพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
งามโอษฐ์งามแก้มงามจุไร | งามนัยน์เนตรงามกร |
งามถันงามกรรณงามขนง | งามองค์ยิ่งเทพอัปสร |
งามจริตกิริยางามงอน | งามเอวงามอ่อนทั้งกายา |
ถึงโฉมองค์อัครลักษมี | พระสุรัสวดีเสน่หา |
สิ้นทั้งไตรภพจบโลกา | จะเอามาเปรียบไม่เทียบทัน |
ดูไหนก็เพลินจำเริญรัก | ในองค์เยาวลักษณ์สาวสวรรค์ |
ยิ่งพิศยิ่งคิดผูกพัน | ก็เดินกระชั้นเข้าไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เข้าม่าน
ชาตรี
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | เสาวภาคย์แน่งน้อยพิสมัย |
เจ้ามาแต่สวรรค์ชั้นใด | นามกรชื่อไรนะเทวี |
ประสงค์สิ่งอันใดจะใคร่รู้ | ทำไมมาอยู่ที่นี่ |
ข้าเห็นเป็นน่าปรานี | มารศรีจงแจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางนารายณ์เยาวลักษณ์เสน่หา |
ได้ฟังยิ่งทำมารยา | ชำเลืองนัยนาแล้วตอบไป |
ทำไมมาล่วงไถ่ถาม | ลวนลามบุกรุกเข้ามาใกล้ |
ท่านนี้ไม่มีความเกรงใจ | เราเป็นข้าใช้เจ้าโลกา |
พนักงานฟ้อนรำระบำบัน | ชื่อสุวรรณอัปสรเสน่หา |
มีทุกข์จึ่งเที่ยวลงมา | หวังว่าจะให้คลายร้อน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ สุดเอยสุดสวาท | โฉมประหลาดล้ำเทพอัปสร |
ทั้งวาจาจริตก็งามงอน | ควรเป็นนางฟ้อนวิไลลักษณ์ |
อันซึ่งธุระของเจ้า | หนักเบาจงแจ้งให้ประจักษ์ |
ถ้าวาสนาเราเคยบำรุงรัก | ก็จะเป็นภักดิ์ผลสืบไป |
ตัวพี่มิได้ลวนลาม | จะถือความสิ่งนี้นี่ไม่ได้ |
สาวสวรรค์ขวัญฟ้ายาใจ | พี่ไร้คู่จะพึ่งแต่ไมตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพนิมิตโฉมศรี |
ค้อนแล้วจึ่งตอบวาที | ว่านี้ไพเราะเป็นพ้นไป |
อันซึ่งจะฝากไมตรีข้า | ข้อนั้นอย่าว่าหารู้ไม่ |
เราเป็นนางรำระบำใน | จะมีมิตรที่ใจผูกพัน |
ในการนักเลงเพลงฟ้อน | จึ่งจะผ่อนด้วยความเกษมสันต์ |
รำได้ก็มารำตามกัน | นั่นแหละจะสมดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกผู้ใจแกล้วกล้า |
ไม่รู้ว่านารายณ์แปลงมา | ก็โสมนัสสาพันทวี |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนนางฟ้าเฉลิมศรี |
เจ้าจักปรารมภ์ไปไยมี | พี่เป็นคนเก่าพอเข้าใจ |
เชิญเจ้ารำเถิดนะนางฟ้า | ให้สิ้นท่าที่นางจำได้ |
ตัวพี่จะรำตามไป | มิให้ผิดเพลงนางเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นนนทกหลงกลก็ยินดี | ทำทีเยื้องกรายให้ยวนยิน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
พระทอง
๏ เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า | สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน |
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน | กินรินเลียบถํ้าอำไพ |
อีกช้านางนอนภมรเคล้า | ทั้งแขกเต้าผาลาเพียงไหล่ |
เมขลาโยนแก้วแววไว | มยุเรศฟ้อนในอัมพร |
ลมพัดยอดตองพรหมนิมิต | ทั้งพิสมัยเรียงหมอน |
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร | พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์ |
ฝ่ายว่านนทกก็รำตาม | ด้วยความพิสมัยใหลหลง |
ถึงท่านาคาม้วนหางวง | ชี้ตรงถูกเพลาทันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ ด้วยเดชนิ้วเพชรสิทธิศักดิ์ | ขาหักล้มลงไม่ทนได้ |
นางกลายเป็นองค์นารายณ์ไป | เหยียบไว้จะสังหารราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นนทกแกล้วหาญชาญสมร |
เห็นพระองค์ทรงสังข์คทาธร | เป็นสี่กรก็รู้ประจักษ์ใจ |
ว่าพระหริวงศ์ทรงฤทธิ์ | ลวงล้างชีวิตก็เป็นได้ |
จึ่งมีวาจาถามไป | โทษข้าเป็นไฉนให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์บรมนาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | โทษามึงใหญ่หลวงนัก |
ด้วยทำโอหังบังเหตุ | ไม่เกรงเดชพระอิศวรทรงจักร |
เอ็งฆ่าเทวาสุรารักษ์ | โทษหนักถึงที่บรรลัย |
ตัวกูก็คิดเมตตา | แต่จะไว้ชีวามึงไม่ได้ |
ตร้สแล้วแกว่งตรีเกรียงไกร | แสงกระจายพรายไปดั่งเพลิงกาฬ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกผู้ใจแกล้วหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน | ซึ่งพระองค์จะผลาญชีวี |
เหตุใดมิทำซึ่งหน้า | มารยาเป็นหญิงไม่บัดสี |
หรือว่ากลัวนิ้วเพชรนี้ | จะชี้พระองค์ให้บรรลัย |
ตัวข้ามีมือแต่สองมือ | หรือจะสู้ทั้งสี่กรได้ |
แม้นสี่มือเหมือนพระองค์ทรงชัย | ที่ไหนจะทำได้ดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | กูนี้แปลงเป็นสตรีมา |
เพราะมึงจะถึงแก่ความตาย | ฉิบหายด้วยหลงเสน่หา |
ใช่ว่าจะกลัวฤทธา | ศักดานิ้วเพชรนั้นเมื่อไร |
ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์ | จงไปอุบัติเอาชาติใหม่ |
ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร | เหาะเหินเดินได้ในอัมพร |
มีมือยี่สิบซ้ายขวา | ถือคทาอาวุธธนูศร |
กูจะเป็นมนุษย์แต่สองกร | ตามไปราญรอนชีวี |
ให้สิ้นวงศ์พงศ์มึงอันศักดา | ประจักษ์แก่เทวาทุกราศี |
ว่าแล้วกวัดแกว่งพระแสงตรี | ภูมีตัดเศียรกระเด็นไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นล้างนนทกมรณา | พระจักราผู้มีอัชฌาสัย |
เหาะระเห็จเตร็จฟ้าด้วยว่องไว | ไปยังเกษียรวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางรัชดามเหสี |
องค์ท้าวลัสเตียนธิบดี | เทวีมีราชบุตรา |
คือว่านนทกมากำเนิด | เกิดเป็นพระโอรสา |
ชื่อทศกัณฐ์กุมารา | สิบเศียรสิบหน้ายี่สิบกร |
อันน้องซึ่งถัดมานั้น | ชื่อกุมภกรรณชาญสมร |
องค์พระบิตุเรศมารดร | มิให้อนาทรสักนาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์กุมารยักษี |
ครั้นจำเริญวัยสิบสี่ปี | อสุรีถวิลจินดา |
จะใคร่เรียนศิลปศาสตร์ | ให้เรืองอำนาจแกล้วกล้า |
ก็เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | มาเฝ้าพระชนกชนนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระบิตุราชมารดาทั้งสองศรี |
ทูลว่าอันตัวของลูกนี้ | ไม่มีวิชาสิ่งใด |
จะขอลาไปอยู่พนาวัน | กับพระนักธรรม์ผู้ใหญ่ |
ร่ำเรียนธนูศิลป์ชัย | พระองค์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกชนนีนาถา |
ได้ฟังลูกรักทูลลา | แสนโสมนัสสาพันทวี |
สวมสอดกอดไว้แล้วรับขวัญ | เจ้าดวงชีวันเฉลิมศรี |
พ่อจะไปอยู่ด้วยมุนี | ที่ในอรัญบรรพต |
ฝึกสอนธนูศิลป์ชัย | ร่ำเรียนสิ่งใดให้ได้หมด |
จงสมปรารถนาพระโอรส | ให้พระยศนั้นเลื่องลือขจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์กุมารชาญสมร |
ประนมก้มเกล้ารับพร | ของพระบิดรชนนี |
ครั้นแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์กษัตริย์ทั้งสองศรี |
ออกจากลงกาบุรี | ตรงไปยังที่อรัญวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงอาศรมสถาน | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
เข้าไปยังบรรณศาลา | มัสการพระมหานักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์พระโคบุตรดาบส |
เห็นลูกท้าวลัสเตียนทรงยศ | จึ่งมีพจนารถถามไป |
ดูก่อนทศกัณฐ์กุมารา | เจ้ามาด้วยเหตุเป็นไฉน |
จึ่งไม่มีโยธาข้าไท | ตานี้สงสัยเป็นพ้นนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังยอกรขึ้นเพียงพักตร์ | จึงว่าหลานรักออกมา |
จะเรียนศิลปศาสตร์พระอาจารย์ | ให้ชํานาญชาญฤทธิ์แกล้วกล้า |
ขอองค์สมเด็จพระอัยกา | จงได้เมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | ลูบหลังอสุรีแล้วตอบไป |
ความรู้ของตานี้หนักหนา | เจ้าจงอุตส่าห์จะบอกให้ |
ทั้งการธนูศิลป์ชัย | ก็จะได้ดั่งใจทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์สุริย์วงศ์ใจหาญ |
ตั้งจิตปรนนิบัติพระอาจารย์ | เรียนวิชาการเป็นนิจไป |
ว่องไวในที่ธนูศร | ชํานาญกรยิงแม่นหาผิดไม่ |
ทั้งไตรเพทเวทมนต์สิ่งใด | ก็จําได้ด้วยไวปัญญา |
ครั้นรุ่งก็กราบมัสการ | ลาพระอาจารย์ฌานกล้า |
ออกจากอาศรมศาลา | เที่ยวไปในป่าพนาดร ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เดินทางหว่างเขาลำเนาทุ่ง | เวิ้งวุ้งห้วยธารสิงขร |
พบสวนอรชุนฤทธิรอน | ขุนยักษ์บทจรเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ ชมไพร
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวชมสุมามาลย์ | แบ่งบานช่อช้อยอยู่ไสว |
สาวหยุดนางแย้มแกมใบ | มะลิซ้อนหงอนไก่ประยงค์ |
กรขวาคว้าหักกิ่งแก้ว | ซ้ายเด็ดนมแมวมหาหงส์ |
พิกุลกุหลาบคันทรง | กาหลงสารภีจําปา |
ร้อยลิ้นอินจันตูมตาด | ปริงปรางลางสาดพลวงหว้า |
ทุเรียนมังคุดละมุดสีดา | ลําไยพะวาน่าชม |
ไม้ม่วงพวงผลสุกห่าม | ใบงามชิดชื่นรื่นร่ม |
กรรณิการ์การะเกดสุกรม | เที่ยวชมทั้งสระปทุมมาลย์ |
ลินจงจงกลนีแย้ม | อุบลแนมแกมฝักชูก้าน |
ประพาสเล่นเป็นสุขสำราญ | ที่ในอุทยานพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระอรชุนเรืองศรี |
อยู่ในวิมานรัตนมณี | ยังยอดคีรีจักรวาล |
เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ด้วยศิลป์ศร | ขจรเดชดั่งองค์สุริยฉาน |
ทั้งหกชั้นฟ้าบาดาล | ผู้ใดไม่ทานฤทธี |
เจ็ดวันกำหนดเคยประพาส | ชมพรรณรุกขชาติในสวนศรี |
อ่าองค์ทรงเครื่องอันรูจี | สะพักศรเหน็บตรีแล้วเหาะไป |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งสวนมาลา | เห็นพรรณพฤกษาน้อยใหญ่ |
กิ่งหักเดียรดาษประหลาดใจ | ใครทำดังนี้ไม่เกรงกัน |
เหลือบไปก็เห็นขุนยักษ์ | สิบเศียรสิบพักตร์ขบขัน |
โกรธาว่าเหวยกุมภัณฑ์ | นามกรมึงนั้นชื่อไร |
อันซึ่งสุริย์วงศ์พงศา | อยู่พาราตำบลหนไหน |
เอ็งจึ่งอาจองทะนงใจ | มาหักมิ่งไม้ในอุทยาน |
ไม่เกรงกูผู้ทรงศรสิทธิ์ | ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ |
มึงมาถึงมือพระกาล | ตัวกูจะผลาญเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์กุมารยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | อสุรีร้องตอบวาจา |
เอ็งนี้มีนามชื่อไร | เจรจาหยาบใหญ่เกินหน้า |
ตัวกูผู้ทรงศักดา | ชื่อว่าทศกัณฐ์ขุนมาร |
หน่อท้าวลัสเตียนสุริย์วงศ์ | ซึ่งดำรงลงการาชฐาน |
องค์พระโคบุตรผู้มีฌาน | เป็นอาจารย์บอกศรศิลป์ชัย |
กูมาเที่ยวเก็บพฤกษา | หารู้ว่าสวนของใครไม่ |
เห็นดอกไม้บานตระการใจ | คิดว่าเป็นไพรพนาลี |
เอ็งอย่าอ้างอวดศักดา | จะสู้กูพญาราชสีห์ |
ตัวมึงดั่งหนึ่งมฤคี | น่าที่จะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอรชุนรังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธคือไฟกัลป์ | ตัวสั่นร้องตวาดประกาศไป |
กูชื่ออรชุนเทเวศร์ | เรืองเดชฟากฟ้าดินไหว |
ว่าแล้วกวัดแกว่งศรชัย | เข้าไล่ราญรอนอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์กุมารใจกล้า |
หลบหลีกรับรองเป็นโกลา | แกว่งศรเงื้อง่าเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ
๏ ต่างหาญต่างกล้าองอาจ | ต่างฟาดต่างรับไม่ถอยหนี |
ต่างหมายเข่นฆ่าราวี | ต่างน้าวศรศรียิงกัน ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอรชุนรังสรรค์ |
ชักศรพาดสายยืนยัน | แผลงสนั่นหวั่นไหวโกลา ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ ศรนั้นกลับกลายเป็นภุชงค์ | ไล่กระหวัดรัดองค์ยักษา |
ผูกมัดรัดทั่วกายา | พาขึ้นเวหาตระเวนไป ฯ |
ฯ ๒ คํา ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระมหาโคบุตรอาจารย์ใหญ่ |
สมาธิเข้าฌานสำรวมใจ | อยู่ในอรัญกุฎี |
ได้ยินสำเนียงกัมปนาท | ดังฟ้าฟาดตกต้องคีรีศรี |
เอะแล้วทศกัณฐ์อสุรี | ไปป่ามีเหตุประการใด |
ตัวกูจำจะไปตาม | ให้รู้เนื้อความจงได้ |
ตริแล้วออกจากศาลาลัย | เหาะไปด้วยฤทธิ์พระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ เชิด
๏ มาพบพระอรชุนเทเวศร์ | ให้ภุชงค์ทรงเดชตัวขยัน |
ผูกมัดรัดกายทศกัณฐ์ | ตระเวนไปในชั้นเมฆา |
ตกใจกลัวว่าทศกัณฐ์ | จะม้วยชีวันสังขาร์ |
จึ่งว่าดูกรเทวา | เหตุใดมาทำดังนี้ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอรชุนผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังพระมหามุนี | จึงว่าอสุรีมันสาธารณ์ |
มาหักมิ่งไม้ในสวนข้า | แล้วอวดฤทธากล้าหาญ |
กลับกล่าวถ้อยคำอหังการ | จึ่งทำประจานให้สาใจ ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังก็ปลอบตอบไป | พระองค์จงได้เมตตา |
อันทศพักตร์นี้ทำผิด | ชีวิตถึงสิ้นสังขาร์ |
มันเป็นศิษย์รูปแต่เยาว์มา | ขอประทานชีวาอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอรชุนเรืองศรี |
ฟังพระโคบุตรมุนี | พาทีอ้อนวอนก็อ่อนใจ |
จึ่งว่าพระองค์ได้ขอโทษ | ถึงโกรธก็จำจะยกให้ |
ว่าแล้วแก้มัดเสียทันใด | ก็เหาะไปวิมานรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
ก็พาทศกัณฐ์อสุรา | เหาะมาอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระมเหศวรเรืองศรี |
ส่องเนตรลงไปในปัถพี | ภูมีก็แจ้งในวิญญาณ์ |
ว่านนทกนั้นไปกำเนิด | เกิดเป็นทศพักตร์ยักษา |
โอรสลัสเตียนในลงกา | สิบเศียรสิบหน้ายี่สิบกร |
หยาบคายร้ายกาจเป็นพ้นนัก | ไตรจักรร้อนใจไหวกระฉ่อน |
ไม่มีผู้ใดจะราญรอน | พระนารายณ์ทรงศรจะอวตาร |
ลงไปรณรงค์กับกุมภัณฑ์ | มันล้วนศักดากล้าหาญ |
จํากูจะให้เวสสุญาณ | ไปเกิดร่วมวงศ์วานทศพักตร์ |
เมื่อพระสี่กรจะลงไป | จะได้ถามเหตุเบาหนัก |
เป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองยักษ์ | จึ่งจักสิ้นวงศ์สาธารณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คํา ฯ
๏ ตริแล้วพระสยมภูวนาถ | จึ่งมีเทวราชบรรหาร |
แก่เทพบุตรเวสสุญาณ | ท่านจงจุติลงไป |
เกิดร่วมอุทรทศเศียร | เรียนรู้โหราวิชาไสย |
คอยท่านารายณ์ฤทธิไกร | บอกกลให้ล้างอสุรา |
แล้วประทานแว่นแก้วอันวิเศษ | ไปเป็นนัยน์เนตรซ้ายขวา |
จะได้ดูทั้งไตรโลกา | ให้เหมือนตาทิพย์เทวัญ ฯ |
ฯ ๖ คํา ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรเวสสุญาณรังสรรค์ |
รับพรพระอิศวรทรงธรรม์ | กับแว่นแก้วอันศักดา |
ชื่นชมก้มเกล้าอภิวาทน์ | ลาบาทพระบรมนาถา |
ก็จุติจากสวรรค์ลงมา | ยังครรภ์รัชดาเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางรัชดามเหสี |
อยู่ด้วยลัสเตียนอสุรี | มีครรภ์ประสูติพระลูกรัก |
ให้ชื่อพิเภกกุมารา | มีสติปัญญาแหลมหลัก |
แต่ฤทธิ์นั้นหย่อนอ่อนนัก | ไม่เหมือนทศพักตร์กุมภกรรณ |
ทูตขรตรีเศียรวรนุช | ล้วนมีฤทธิ์รุทรแข็งขัน |
อันนางสำมนักขานั้น | เป็นน้องสุดครรภ์ลงมา |
องค์พระมารดรบิตุเรศ | รักยิ่งดวงเนตรซ้ายขวา |
ในโอรสราชธิดา | เป็นมหาพิศวาสพันทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา