- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศพร้อมหน้า |
ทุกวิมานในหกชั้นฟ้า | ทั้งอัปสรกัลยาวิลาวัณย์ |
เห็นองค์พระลบพระมงกุฎ | หน่อพระจักรภุชรังสรรค์ |
ฆ่าวิรุณพัทคนธรรพ์ | ทั้งพวกพลขันธ์วายปราณ |
ต่างตนชื่นชมโสมนัส | สำรวลตบหัตถ์ฉัดฉาน |
บ้างดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน | ขับขานอื้ออึงคะนึงไป |
บ้างโปรยข้าวตอกทิพมาศ | สุมาลามณฑาลงมาให้ |
แซ่ซ้องอำนวยอวยชัย | เสียงสนั่นลั่นไปทั้งเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หน่อพระนารายณ์นาถา |
ครั้นเสร็จสังหารอสุรา | เทวาโปรยปรายสุมามาลย์ |
กลาดเกลื่อนไปทั้งที่รบ | เฟื่องฟุ้งตลบหอมหวาน |
สองพระองค์ดมทัดเล่นสำราญ | ทั้งพวกทหารวานร |
ครั้นแล้วเสด็จยุรยาตร | งามวิลาศดั่งลูกไกรสร |
ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรมาเฝ้าพระเจ้าอา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์นาถา |
เห็นสองหลานรักเสด็จมา | ก็ลีลาจากรถทันที |
พระพรตอุ้มองค์พระมงกุฎ | พระสัตรุดอุ้มพระลบเรืองศรี |
จูบกอดรับขวัญด้วยยินดี | แล้วมีมธุรสพจมาน |
มิเสียทีเป็นหน่อพระหริรักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์กล้าหาญ |
ล้างเหล่าอาธรรม์บรรลัยลาญ | จะเป็นประธานโลกสืบไป |
ตรัสแล้วต่างองค์ขึ้นทรงรถ | ให้เลิกทศโยธาน้อยใหญ่ |
โห่สะท้านครั่นครื้นภพไตร | เข้าในไกยเกษพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มุขมนตรีซ้ายขวา |
ทั้งฝูงหญิงชายไพร่ฟ้า | แจ้งว่าสี่กษัตริย์ธิบดี |
สังหารคนธรรพ์วายชนม์ | ยกพลเข้ามาบุรีศรี |
ต่างตนโสมนัสพันทวี | เอิกเกริกอึงมี่ทั้งเวียงชัย |
บ้างก็อุ้มลูกจูงหลาน | แก่เฒ่าซมซานไม่อยู่ได้ |
ไปรับเสด็จภูวไนย | แน่นไปสองข้างรัถยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นเห็นหน่อพระหริวงศ์ | ทั้งสององค์ทรงราชรัถา |
โฉมวิไลเลิศลํ้าลักขณา | ดั่งเทวาจากฟ้าลงมาดิน |
อันโยธาวานรทั้งหลาย | แลสุดสายตาไม่รู้สิ้น |
ธงทิวปลิวสะบัดโบกบิน | อึงอินทเภรีนี่นัน |
อันองค์พระพรตพระสัตรุด | ทรงเครื่องพิชัยยุทธ์เฉิดฉัน |
เสด็จเหนือรถแก้วแกมสุวรรณ | พลมนุษย์กุมภัณฑ์ดาษดา |
ต่างตนน้อมเกล้าประนมกร | ถวายพรสี่กษัตริย์ถ้วนหน้า |
ขอให้ทรงเดชมหิมา | เป็นจรรโลงโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เร่งพวกพหลโยธี | เข้ามาถึงที่วังจันทน์ |
จึ่งให้ประทับพิชัยรถ | กับเกยมรกตฉายฉัน |
สี่กษัตริย์ยุรยาตรตามกัน | ขึ้นพระโรงคัลอันโอฬาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์เหนือบัลลังก์อาสน์ | โอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
ท่ามกลางเสนาปรีชาชาญ | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสถามไป |
อันพระอัยกาของเรา | ผ่านเกล้าเสด็จอยู่หนไหน |
บรรดาข้าทหารช่วงใช้ | ใครไปรองเบื้องบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | อันพระอัยกาธิบดี |
เห็นจะเสด็จไปพึ่งพัก | สำนักโควินท์ฤๅษี |
อันหมู่กำนัลมนตรี | ไม่รู้ที่ว่าใครจะตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงนางสนมน้อยใหญ่ |
แจ้งว่าสองพระองค์ทรงฤทธิไกร | เสด็จมาอยู่ในพระโรงคัล |
ให้คิดถึงตัวกลัวผิด | ดั่งหนึ่งชีวิตจะอาสัญ |
ต่างคนต่างขึ้นไปพร้อมกัน | เตรียมคอยทรงธรรม์จะเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
จึ่งเสด็จลีลาศยาตรา | เข้ามหาปราสาทสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันเพริศแพร้วพรรณรายฉายฉาน |
ทอดพระเนตรเห็นสนมนงคราญ | ผ่านฟ้าคิดแหนงพันทวี |
เป็นครู่แล้วมีบัญชา | ดูก่อนกัลยาสาวศรี |
ตัวเราไปเฝ้าพระจักรี | อสุรีมันได้เวียงชัย |
ทั้งหลายยังมีความสุข | หรือทุกข์ฉุกซ้ำเป็นไฉน |
พญายักษ์โปรดปรานประการใด | พักตร์จึ่งผ่องใสดั่งจันทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงสนมกรมในซ้ายขวา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ดั่งต้องสายฟ้าอสุนี |
ความเจ็บความอายเป็นพ้นนัก | ก้มพักตร์ประณตบทศรี |
ชลเนตรนองเนตรทุกนารี | โศกีพลางทูลสนองไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อันตัวของข้าบาทบงสุ์ | จะไม่ซื่อไม่ตรงนั้นหาไม่ |
เมื่อคนธรรพ์มันได้เวียงชัย | กลัวภัยเป็นพ้นคณนา |
เหลียวหาที่พึ่งก็สุดคิด | จนจิตจนใจหนักหนา |
แต่แสนทุกข์แสนเทวษโศกา | ดั่งว่าจะม้วยชีวี |
ถึงมาตรไม่ชั่วก็เหมือนชั่ว | ด้วยตัวอยู่ในหัตถ์ยักษี |
พระองค์จงโปรดปรานี | ทูลพลางโศกีขึ้นพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังฝูงอนงค์กำนัล | ให้อัดอั้นวิญญาณ์อาวรณ์ |
มิได้ว่าขานประการใด | เร่าร้อนฤทัยดั่งต้องศร |
จึ่งเสด็จยุรยาตรนาดกร | บทจรเข้าห้องรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เอนองค์เหนือแท่นทองพราย | พระกรก่ายพักตร์โทมนัสสา |
นิ่งนึกตรึกถวิลจินดา | อุราเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ช้า
๏ โอ้เสียดายฝูงอนงค์นาฏ | งามวิลาสเพียงอัปสรสวรรค์ |
เคยบำเรอเป็นสุขทุกคืนวัน | กุมภัณฑ์มาทำให้ชํ้าใจ |
ความแค้นความรักนี้สุดคิด | น้อยจิตปิ้มเลือดตาไหล |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | อาลัยเป็นพ้นพันทวี |
แต่เสียที่รักแล้วมิหนำ | พระอัยกาซํ้าจากบูรีศรี |
จะซูบผอมตรอมใจทุกนาที | จะมีแต่ครวญครํ่ารำพัน |
พระองค์ก็ทรงพระชรา | จะแสนเวทนาในไพรสัณฑ์ |
จะต้องฝนทนแดดเป็นนิรันดร์ | จะประชวรโรคันประการใด |
พระเลี้ยงมาด้วยความการุญ | จะได้สนองคุณก็หาไม่ |
ยิ่งคิดยิ่งสะท้อนถอนใจ | ภูวไนยมิได้นิทรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นสว่างสร่างแสงภาณุมาศ | โอภาสจำรัสพระเวหา |
จึ่งเสด็จลีลาศยาตรา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาข้าเฝ้าพร้อมกัน | บังคมคัลเกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งตรัสสั่งสุครีพกระบี่ศรี | ทั้งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | จะออกไปตามองค์พระอัยกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
กับเสนีไกยเกษพารา | รับสั่งแล้วลามาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายโอรสพระทินกร | ก็จัดพลวานรแข็งขัน |
ทั้งหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | ตรวจกันอุตลุดวุ่นวาย |
เสนาไกยเกษราชฐาน | เกณฑ์มนุษย์ทหารทั้งหลาย |
สี่ทัพคับคั่งทั้งไพร่นาย | ตั้งรายตามกระบวนยาตรา |
ล้วนถือเครื่องสรรพอาวุธ | นับสมุทรแน่นนันต์ซ้ายขวา |
ผูกทั้งม้ารถคชา | คอยท่าเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
กับสองนัดดาธิบดี | มาเข้าที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สี่กษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยมณีนิล | ช่อเชิงนาคินทร์ต่างกัน |
สองพระอาภูษาม่วงตอง | แย่งยกกระหนกกรองทองคั่น |
สองกุมารผ้าทิพย์เทวัญ | ตรวยเชิงสามชั้นสลับลาย |
ต่างทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ทองแล่งฉานฉาย |
ตาบทิศทับทรวงทับทิมพราย | ทองกรนาคกลายพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | สีรุ้งรุ่งเรืองจำรัส |
พระอาทรงมงกุฎดอกไม้ทัด | พระนัดดาทรงเกี้ยวสุรกานต์ |
ปักจุฑามณีกุดั่นดวง | ห้อยห่วงกรรเจียกมุกดาหาร |
ดั่งเทเวศจากทิพย์วิมาน | อาหลานตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ รถเอยสี่รถทรง | ดุมวงกงกำอลงกต |
เรือนแปรกแอกอ่อนงอนชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ลอย |
กระจังทองช่องพื้นรายภาพ | บุษบกเก็จกาบใบโพธิ์ห้อย |
ห้ายอดเหมรับประดับพลอย | ทวยช้อยทองช่ออรชร |
เทียมสินธพสีแซมกมุท | แปดคู่ฤทธิรุทรดั่งไกรศร |
สารถีสำทับขับจร | เครื่องสูงสลอนธงทอง |
เสียงประโคมโครมครื้นพื้นภพ | กงกระทบเลื่อนลั่นสนั่นก้อง |
คู่แห่ขานโห่ฮึกคะนอง | ทุกกองขับแข่งกันรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ข้ามธารผ่านไศลไพรพนม | ไม้ไหล้แหลกล้มไม่ทนได้ |
ไม่พักพหลพลไกร | ตรงไปอาศรมพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษรังสรรค์ |
ทั้งหมู่สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | กำนัลเสนีรี้พล |
อยู่ในอาศรมพระโควินท์ | ได้ยินกึกก้องกุลาหล |
ไหวกระฉ่อนทั้งพื้นสุธาดล | เสียงรถเสียงพลยิ่งใกล้มา |
ต่างตระหนกตกใจตัวสั่น | คิดว่าคนธรรพ์ยักษา |
ยกพวกพหลโยธา | ตามมาเข่นฆ่าราวี |
ต่างร้องวุ่นวายทั้งชายหญิง | บ้างวิ่งเข้ากอดบาทพระฤๅษี |
บ้างฉุดคร่าไม่เป็นสมประดี | เสียงมี่ดั่งเกิดเพลิงกาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ดิ้นร้องล้มลุกคลุกคลาน | ตกใจลนลานแล้วว่าไป |
เออประสกสีกาเจ้ากรรม | ควรหรือมาทำฉะนี้ได้ |
เหตุผลต้นปลายประการใด | จึ่งฉุดคร่ากูให้ได้เวทนา |
ยิ่งว่ายิ่งเข้ามารึงรัด | แต่สะบัดวัดเหวี่ยงทั้งซ้ายขวา |
หน้าซีดเหื่อโซมกายา | หนังเสือคากรองไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ยกมาโดยทางพนาลี | ใกล้ที่บริเวณศาลาลัย |
จึ่งให้หยุดโยธาพลากร | อสุราวานรน้อยใหญ่ |
สี่กษัตริย์ลงจากรถชัย | เข้าไปยังบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงต่างประณตบทบงสุ์ | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
แล้วกราบลงตรงเบื้องบาทา | องค์พระอัยกาธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโควินท์มหาฤๅษี |
เหนื่อยหอบหายใจพาที | เมื่อกี้ทำกูวุ่นวาย |
ทั้งประสกสีกาเข้าฉุดลาก | กระโถนหกมีดหมากประคำหาย |
ล้มลุกคลุกคลานแทบตาย | ยิ่งหนียิ่งตะกายเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดนาถา |
ได้ฟังสงสารพระอัยกา | ต่างกอดบาทาแล้วโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าพระปิ่นมงกุฎเกศ | จากนิเวศน์มาอยู่พนาศรี |
ทรมานซูบผอมทั้งอินทรีย์ | ฉวีวรรณก็คลํ้ามัวไป |
อนิจจาเสียทีที่เลี้ยงหลาน | จะได้รองบทมาลย์ก็หาไม่ |
แรกศึกมาติดเวียงชัย | น้อยใจมิได้อยู่โรมรัน |
เสียแรงที่เป็นวรนุช | พระหริวงศ์ทรงครุฑรังสรรค์ |
อวตารมาผลาญอาธรรม์ | ซึ่งมันเป็นเสี้ยนธาตรี |
เสียศักดิ์แม้นมาตรตัวตาย | ไม่อายเท่าเสียเมืองแก่ยักษี |
รํ่าพลางทางทรงโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
สวมสอดกอดสองนัดดา | ชลนาคลอพักตร์รำพัน |
ด้วยพจนารถสุนทร | ดูก่อนแก้วตาเฉลิมขวัญ |
แม้นว่าเจ้าอยู่วังจันทน์ | กุมภัณฑ์หรือจะได้ธานี |
บัดเดี๋ยวก็จะม้วยบรรลัย | ด้วยศรชัยของพ่อทั้งสองศรี |
รณรงค์ไม่มีใครราวี | ตานี้ก็แก่ชรานัก |
รักษาเมืองไว้ก็หลายวัน | จนมันรุกโรมเข้าโหมหัก |
สุดฤทธิ์สุดรู้จะสู้ยักษ์ | คอยท่าหลานรักก็หายไป |
เสียเมืองจึ่งพากันหนี | มาพึ่งพระมุนีอาจารย์ใหญ่ |
หลานเอ๋ยหาไม่จะบรรลัย | ไหนจะทันเห็นใจอัยกา |
โอ้ว่าแสนทุกข์แสนลำบาก | แสนยากครั้งนี้หนักหนา |
รํ่าพลางทางซบพักตรา | กอดสองนัดดาเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎพระลบเรืองศรี |
ทั้งสนมกำนัลเสนี | เห็นภูมีกันแสงรักกัน |
ต่างตนต่างฟายชลเนตร | แสนเทวษพ่างเพียงอาสัญ |
บ้างสะอื้นโศกาจาบัลย์ | เสียงสนั่นอื้ออึงเป็นโกลา |
ดั่งหนึ่งสาลวันป่ารัง | ต้องกำลังลมพานพัดกล้า |
ก็อ่อนน้อมค้อมยอดไปมา | น่าแสนเวทนาปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโควินท์มหาฤๅษี |
เห็นห้ากษัตริย์โศกี | ทั้งหมู่เสนีกำนัล |
จึ่งว่าประสกกับสีกา | ไฉนมาวิโยคโศกศัลย์ |
ดั่งหนึ่งตายพรากจากกัน | กูเห็นมันไม่ต้องการ |
ธรรมดาเกิดมาในโลกีย์ | ทั้งนี้ไม่เป็นแก่นสาร |
อันความสุขทุกข์ร้อนรำคาญ | ทั่วหมื่นจักรวาลไม่เว้นใคร |
จงระงับดับเสียดีกว่า | ฟังวาจากูผู้ใหญ่ |
ทุกข์นักก็มักตรอมใจ | ไข้นักมักเสียชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
ได้ฟังสุนทรวาที | องค์พระมุนีอันมีพรต |
ค่อยคลายโศกาอาวรณ์ | จึ่งยอกรกราบบาทบงกช |
แล้วมีบัญชามธุรส | ตรัสถามพระพรตนัดดา |
อันไอ้อสูรคนธรรพ์ | ที่มันทุจริตริษยา |
ตัวเจ้าทั้งสองยกมา | ได้ต่อฤทธาประการใด |
พระกุมารน้อยน้อยทั้งสององค์ | หน่อพระหริวงศ์หรือไฉน |
จึ่งทรงลักษณ์เลิศลํ้าอำไพ | ดั่งเทเวศในชั้นดุษฎี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันสองเยาวราชกุมาร | หน่อพระอวตารนาถา |
เกิดด้วยอัคเรศชายา | อันเป็นมารดาสุราลัย |
ทรงนามชื่อลบแลมงกุฎ | ศรสิทธิ์ฤทธิรุทรแผ่นดินไหว |
พระอวตารแจ้งสารที่ให้ไป | จึ่งตรัสใช้มาล้างไพรี |
กับข้าทั้งสองเป็นสี่ทัพ | สรรพด้วยพวกพลกระบี่ศรี |
ครั้นถึงปลายด่านธานี | หลานนี้จึ่งแจ้งกิจจา |
ว่าเสียนิเวศน์ราชฐาน | แก่คนธรรพ์มารยักษา |
มิได้พักพลสักเวลา | รีบเร่งยกมาโรมรัน |
วิรุณพัทลูกมันออกมารบ | เจ้าลบเข่นฆ่าอาสัญ |
อันพระมงกุฎผู้พี่นั้น | สังหารคนธรรพ์บรรลัย |
ทั้งหมู่ยักษีรี้พล | จะรอดไปสักตนก็หาไม่ |
เสร็จแล้วก็ยกพลไกร | ตามองค์พระอัยกามา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
แจ้งว่ามีชัยอสุรา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งอุ้มพระกุมารขึ้นใส่ตัก | จูบพักตร์รับขวัญทั้งสองศรี |
ดูน้องผ่องแผ้วไม่ราคี | ดูพี่ดั่งแก้วแกมสุวรรณ |
ผิวพรรณนรลักษณ์พักตรา | เหมือนพระจักรารังสรรค์ |
รณรงค์กล้าหาญชาญฉกรรจ์ | ฆ่าคนธรรพ์ม้วยบรรลัย |
น้อยน้อยเท่านี้หรือมีฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศไม่เปรียบได้ |
ศิลป์ศรประเสริฐเลิศไกร | ใครเห็นก็เป็นบุญตา |
ตาคิดถึงเจ้าก็ใจหาย | แสนยากลำบากกายหนักหนา |
แต่อยู่ในครรภ์มารดา | จนประสูติอยู่ป่าก็หลายปี |
สงครามด้วยอาทั้งสององค์ | กับพระบิตุรงค์เรืองศรี |
ปิ้มว่าจะม้วยชีวี | บุญมีจึ่งรู้จักกัน |
ทั้งสองจงจำเริญสวัสดิ์ | สืบวงศ์จักรพรรดิรังสรรค์ |
รุ่งเรืองดั่งองค์พระสุริยัน | เป็นฉัตรแก้วกั้นภพไตร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรรับพรภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาจา |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณล้นเกล้าเกศา |
หลานรักขอรองบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
จึ่งทูลพระอัยกาธิบดี | บัดนี้เสร็จสิ้นพวกพาล |
ขอเชิญเสด็จพระผ่านเกล้า | คืนเข้าไกยเกษราชฐาน |
บำรุงไพร่ฟ้าให้สำราญ | โดยการประเพณีธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษรังสรรค์ |
ฟังสองหลานรักร่วมชีวัน | ทรงธรรพ์ชื่นชมด้วยสมคิด |
จึ่งยอกรประณตบทบงสุ์ | องค์พระมหานักสิทธ์ |
ซึ่งข้าหนีภัยปัจจามิตร | รอดชีวิตเพราะพึ่งพระบาทา |
หาไม่ก็จะม้วยอาสัญ | ด้วยมือคนธรรพ์ยักษา |
พระคุณลํ้าล้นคณนา | หนักยิ่งแผ่นฟ้าธาตรี |
โยมนี้ขอลาพระอาจารย์ | คืนเข้าราชฐานบุรีศรี |
พระองค์จงอยู่สวัสดี | อย่ามีทุกข์โศกโรคภัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโควินท์มหาอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังอำนวยอวยชัย | ห้ากษัตริย์จงไปสถาวร |
เสวยแสนสมบัติพัสถาน | ให้สำราญเป็นสุขสโมสร |
อันหมู่อาสัตย์ดัสกร | จงพ่ายแพ้ฤทธิรอนทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
กับสี่นัดดาธิบดี | ชุลีกรรับพรด้วยปรีดา |
จึ่งกราบประณตบทมาลย์ | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
เสด็จออกจากบรรณศาลา | กำนัลเสนาก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถึงที่สำนักพักพล | ใต้ต้นนิโครธไทรใหญ่ |
ห้ากษัตริย์สระสนานสำราญใจ | ทรงเครื่องอำไพวิไลวรรณ |
งามองค์งามทรงงามสง่า | ดั่งเทเวศลงมาจากสวรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | มาขึ้นรถสุวรรณพรรณราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ รถเอยราชรถทรง | ห้ารถงามระหงเฉิดฉาย |
ดุมวงกงแก้วแพร้วพราย | บัลลังก์ลายลดชั้นสุวรรณวาม |
รายภาพครุฑกระหนาบสิงห์อัด | กระจังรัตน์กาบแก้วเรืองอร่าม |
บุษบกทวยช้อยพลอยพลาม | ยอดงามช่อฟ้าบราลี |
เทียมสินธพล้วนกำลังหาญ | สิบคู่เผ่นทะยานดั่งไกรสีห์ |
ขุนรถถือทวนจามรี | ขับรี่เรื่อยเร็วดั่งลมพา |
งามเครื่องสูงครบสิ่งหมด | งามรถพระกุมารนำหน้า |
งามรถทรงองค์พระอัยกา | งามพระเทียบรัถาอนงค์ใน |
งามพระพรตพระสัตรุดเป็นกองหลัง | งามทั้งโยธาน้อยใหญ่ |
เสนาะเสียงปี่ฆ้องกลองชัย | เป็นเหล่าหลั่นกันไปทั้งห้าทัพ |
เสียงช้างเสียงม้าเสียงรถ | ผงคลีบังบดชอุ่มอับ |
ไม้ไหล้ลู่ล้มระดมทับ | เดินแซงแข่งขับกันรีบจร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ข้ามธารผ่านพนมพนาเวศ | ทอดพระเนตรชมพรรณสิงขร |
สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าอัมพร | ชะง่อนงอกซ้อนซับสลับกัน |
บ้างเป็นพู่ห้อยพร้อยพราย | ขาวเหลืองเลื่อมลายหลายหลั่น |
มีแท่นแผ่นผาศีลาตัน | ทั้งเปลวปล่องช่องชั้นถํ้าธาร |
นํ้าพุดุดั้นลั่นล้น | ดั่งฝอยฝนเซ็นซ่าฉ่าฉาน |
รุกขชาติดกดาษสุมามาลย์ | เบ่งบานหล่นร่วงในวาริน |
พระพายชายพัดพานต้อง | หอมละอองเกสรขจรกลิ่น |
มัจฉาคลาคลํ่าเล็มกิน | แหวกว่ายสายสินธุ์สัญจร |
มีเบญจโกสุมปทุมาลย์ | บ้างตูมบานฝักใบแก่อ่อน |
แมลงภู่หมู่พรรณภมร | บินร่อนเชยชาบเสาวคนธ์ |
ที่ชายเขาลำเนาศิลาลาด | ฝูงสัตว์จตุบาทเกลื่อนกล่น |
บ้างคะนองลองเชิงเริงรน | ชมพลางรีบพลจรจรัล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ รอนแรมมาในไพรชัฏ | ห้ากษัตริย์มีความเกษมสันต์ |
ประพาสชมนกไม้หลายพรรณ | เจ็ดวันก็ถึงธานี |
จึ่งให้ประทับพิชัยรถ | กับเกยมรกตจำรัสศรี |
แล้วเสด็จย่างเยื้องจรลี | ขึ้นปราสาทมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | อันจำรัสด้วยดวงมุกดาหาร |
ภายใต้เศวตฉัตรโอฬาร | ชัชวาลล้วนแก้วแววไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนามาตยาน้อยใหญ่ |
นางท้าวเถ้าแก่กำนัลใน | มหาดเล็กเด็กใช้ทั้งนั้น |
เห็นพระองค์ผู้ทรงนคเรศ | กลับมานิเวศน์ไอศวรรย์ |
ยินดีดั่งตายแล้วพบกัน | ก็มาเฝ้าทรงธรรม์ผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | หมอบกลาดดาษไปทั้งซ้ายขวา |
มิอาจที่จะกลั้นน้ำตา | โศกาครวญครํ่ารํ่าไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสนาว่าโอ้พระทรงเดช | จะเคยจากนคเรศก็หาไม่ |
ควรหรือมาพลัดไปอยู่ไพร | แสนลำบากยากใจอนาถนัก |
ตัวข้าเบื้องบาททั้งนี้ | ก็แสนทุกข์แสนทวีเพียงอกหัก |
ด้วยตกอยู่ในเงื้อมมือยักษ์ | ปิ้มจักสิ้นชีพชนมาน |
นางกำนัลว่าโอ้พระภูวนาถ | เมื่อพระองค์นิราศราชฐาน |
ข้าบาทฝูงสนมบริวาร | วิ่งตามบทมาลย์ก็ไม่ทัน |
สุดคิดสุดกำลังข้าทั้งปวง | แต่ข้อนทรวงวิโยคโศกศัลย์ |
แสนระกำช้ำใจไม่เว้นวัน | ด้วยอ้ายกุมภัณฑ์อหังการ์ |
นี่หากพระนัดดาสุริย์วงศ์ | ทั้งสี่องค์มาโปรดเกศา |
หาไม่จะสิ้นชีวา | ไหนจะเห็นบาทาพระภูมี |
ทูลพลางฟูมฟายชลเนตร | แสนเทวษทุกนางสาวศรี |
ซบพักตร์สะอื้นโศกี | เสียงมี่อื้ออึงทั้งวังจันทน์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษรังสรรค์ |
เห็นฝูงเสนาแลกำนัล | ครวญครํ่ารำพันโศกา |
ให้สงสารสังเวชเป็นสุดคิด | ทรงฤทธิ์เศร้าโทมนัสสา |
นิ่งอยู่เป็นครู่แล้วบัญชา | ธรรมดาเกิดมาในแดนไตร |
ทุกข์สุขย่อมมีเหมือนกัน | ที่จะเว้นใครนั้นก็หาไม่ |
ถึงกรรมแล้วก็จำเป็นไป | อย่าเศร้าใจโศกาอาวรณ์ |
ตรัสแล้วเสด็จจากอาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
ย่างเยื้องยุรยาตรนาดกร | บทจรเข้าปราสาทอลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เอนองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยมุกดาหาร |
งามอิสริยยศศฤงคาร | ปานทิพย์สมบัติเทวัญ |
เสนาะเสียงพิณพาทย์ฆาตฆ้อง | กึกก้องดนตรีมี่สนั่น |
ขับกล่อมพร้อมสำเนียงนางกำนัล | ทรงธรรม์เพลิดเพลินจำเริญใจ |
ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส | แสนประหวัดด้วยความพิสมัย |
ล่วงมัชฌิมยามก็หลับไป | ที่ในแท่นทิพย์ไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นสิ้นแสงสีศศิธร | ทินกรเยี่ยมยอดภูผา |
ก็สระสรงทรงเครื่องอลงการ์ | เสด็จมายังพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พร้อมหมู่เสนาข้าเฝ้า | น้อมเกล้าประณตบทศรี |
ดั่งดาวล้อมจันทราในราตรี | ยังที่พ่างพื้นนภาลัย |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์น้อยใหญ่ |
ให้เลี้ยงรี้พลสกลไกร | ทั้งนายแลไพร่บรรดามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | บังคมลาออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งชาววังให้เขียนหมาย | แจกนายวิเสททั้งสี่ |
ให้แต่งโภชนาสาลี | เลี้ยงเหล่าโยธีพลไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางวิเสทผู้ใหญ่ |
แจ้งหมายจ่ายของวุ่นไป | แล้วให้หุงต้มเป็นโกลา |
บ้างคั่ววัวปิ้งจี่ทอดมัน | ครบสิ่งสารพันยำพล่า |
แกงขมขนมจีนน้ำยา | โภชนาเมรัยชัยบาน |
ผลไม้เป็ดไก่แกล้มกับ | สรรพทั้งของคาวแลของหวาน |
จัดแจงแต่งใส่โต๊ะพาน | แล้วให้พนักงานยกไป |
บ้างหาบบ้างหามแบกขน | สับสนมาตามทางใหญ่ |
ตั้งเคียงเรียงกันเป็นหลั่นไป | ในหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรแลยักษี |
บรรดาซึ่งมาทุกธานี | ยินดีกินเลี้ยงด้วยกัน |
เป็นเหล่าเหล่าเข้าพร้อมล้อมตะพอก | จับจอกเทรินเหล้ากลั่น |
ลิงดื่มแล้วส่งให้กุมภัณฑ์ | ทำทีเวียนกันไปมา |
บ้างหยิบแกล้มกับหมูไก่ | เมามายดีใจหัวร่อร่า |
ยักษ์หยอกลิงหลอกเฮฮา | บ้างตบมือรำท่าชาตรี |
บ้างเล่นเต้นโลดอุตลุด | ฉวยฉุดนางวิเสทสาวศรี |
บ้างรากท้นล้มลุกไม่สมประดี | อึงมี่ไปทั้งพระนคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษชาญสมร |
เสร็จเลี้ยงโยธาพลากร | ภูธรให้ราชรางวัล |
จึ่งประทานเครื่องทรงอลงการ์ | แก่สี่นัดดารังสรรค์ |
อันหมู่วานรกุมภัณฑ์ | ปูนบำเหน็จตามหลั่นกันลงไป |
แก้วแหวนเงินทองทั้งหลาย | มากมายพ้นที่จะนับได้ |
สารพัดสิ่งของอันต้องใจ | ประทานให้ทุกหมู่เสนี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
จึ่งทูลพระอัยกาธิบดี | บัดนี้ก็เสร็จราชการ |
หลานรักจักขอลาไป | ยังพิชัยอยุธยาราชฐาน |
ทูลให้ทราบบาทพระอวตาร | ตามซึ่งสังหารอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้ายไกยเกษนาถา |
ได้ฟังพระราชนัดดา | จึ่งมีพจนาวาที |
เจ้าจงไปทูลพระสี่กร | ว่าตานี้อวยพรชัยศรี |
ซึ่งพระโอรสมาราวี | อสุรีสุดสิ้นชีวัน |
แม้นไม่ได้พึ่งบทเรศ | อันกรุงไกยเกษเขตขัณฑ์ |
จะเป็นเชลยแก่คนธรรพ์ | นับวันแต่จะสาบสูญไป |
พระคุณใหญ่หลวงมหึมา | ดินแดนแผ่นฟ้าไม่เปรียบได้ |
ทุกวันตานี้ไม่เห็นใคร | ความชราเจ็บไข้ก็ยายี |
อุปมาเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง | ตั้งใจหวังว่าจะฝากผี |
อันกรุงไกยเกษธานี | อยู่ใต้ธุลีบาทบงสุ์ |
ตรัสพลางชมสองดรุณเรศ | งามดั่งพรหเมศครรไลหงส์ |
พ่อจงกราบทูลพระบิตุรงค์ | ให้อาเจ้าสององค์นี้กลับมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาไปยังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งสั่งน้องพาลี | กับเสนีไกยเกษผู้ใหญ่ |
จงเตรียมรี้พลสกลไกร | จะกลับไปอยุธยาพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสองเสนาชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วกลับมาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายว่าเจ้ากรุงขีดขิน | ก็ตรวจพวกกระบินทร์พลขันธ์ |
ทั้งหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | ได้ครบกันซึ่งมาทุกธานี |
เสนาไกยเกษกรุงไกร | จัดมนุษย์นายไพร่อึงมี่ |
สารวัตรตรวจตราเป็นโกลี | ครบตามบาญชีซึ่งยกมา |
พร้อมสิ้นสี่ทัพคับคั่ง | ตั้งเป็นริ้วรายซ้ายขวา |
ล้วนถือเครื่องสรรพสาตรา | ดูสง่าดั่งพลอมรินทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงศิลป์ |
ครั้นแสงทองส่องหล้าฟ้าดิน | ลินลามาสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สี่องค์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารกลิ่นเกสร |
ต่างสอดสนับเพลาเชิงงอน | เป็นรูปมังกรเกี่ยวกัน |
พระอาทรงผ้าเทเวศถวาย | ฉลุลายเกี้ยวกรองทองคั่น |
สองกุมารผ้าทิพย์ท้องพัน | ตรวยเชิงสามชั้นสุวรรณวาม |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์โหมดตาดเรืองอร่าม |
ตาบทิศสร้อยอ่อนประจำยาม | สังวาลสามสายทับทรวง |
ทองกรพาหุรัดรักร้อย | ธำมรงค์พลอยเพชรรุ้งร่วง |
พระอาทรงมงกุฎดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
สองกุมารทรงเกี้ยวมณีรัตน์ | ต่างขัดพระขรรค์แล้วจับศร |
งามองค์งามทรงอรชร | บทจรตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ รถเอยสี่รถทรง | ดุมวงดวงแก้วอลงกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดฉลุลายบัลลังก์ลอย |
รายสัตว์รูปสิงห์สลับครุฑ | หน่วงยุดนาครัดกระหวัดห้อย |
บุษบกบันสะบัดจำรัสพลอย | ทวยช้อยทองช่อบราลี |
เทียมสินธพสี่คู่คะนอง | เผ่นผยองเพียงพญาราชสีห์ |
สารถีสำทับกระหยับตี | ดูรี่ดั่งรถพระทินกร |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงรัตน์ | แถวฉัตรธงชายปลายสลอน |
ปี่เรื่อยเป่ารับแตรงอน | ฆ้องซ้อนขานเสียงสำเนียงกลอง |
ผงคลีพัดคลุ้มกลุ้มตลบ | กงกระทบกำกระท้านสะเทือนก้อง |
พลทหารพวกแห่โห่คะนอง | เร่งกองรีบกันยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เดินทางตามหว่างหิมเวศ | ทอดพระเนตรชมพรรณปักษา |
ไก่ฟ้าจับต้นรกฟ้า | สาลิกาจับเกดพลอดกัน |
นกแก้วจับแก้วเคียงคู่ | เขาจับข่อยคูขานขัน |
อัญชันจับต้นชิงชัน | เบญจวรรณจับหว้ารายเรียง |
นกเปล้าพาฝูงมาจับเปล้า | กระเหว่าจับกระวานส่งเสียง |
เค้าโมงจับโมงมองเมียง | ฝูงหงส์จับเหียงเคียงนาง |
วายุภักษ์จับกิ่งกระลำพัก | โนรีจับรักไซ้หาง |
กางเขนจับต้นโกงกาง | นกลางจับเลียบเรียบจร |
ฝูงกาจับต้นตุมกา | กระทาจับกระถินบินร่อน |
นางนวลจับนางนวลนอน | ยูงจับยางฟ้อนแล้วบินไป |
นกสักจับสักเป็นหมู่หมู่ | กระลุมพูพาพวกมาจับไผ่ |
สี่กษัตริย์ชมเพลินจำเริญใจ | พลางเร่งพลไกรดำเนินมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ข้ามห้วยเหวเขาลำเนาธาร | แสนสำราญพักพลมาในป่า |
นับหลายราตรีทิวา | ก็ถึงอยุธยาพระนคร |
ให้ประทับมหาพิชัยรถ | กับเกยมรกตประภัสสร |
สี่องค์ยุรยาตรนาดกร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | พระภุชพงศ์ธิราชเรืองศรี |
กับสามสมเด็จพระชนนี | ทั้งพระลักษมีทรามวัย |
แต่พระสัตรุดนุชนาถ | กับสองราชนัดดาพิสมัย |
บังคมพระลักษมณ์ภูวไนย | ด้วยใจภักดีปรีดา |
แล้วทูลยุบลบรรยาย | ถวายองค์พระนารายณ์นาถา |
ตามซึ่งได้ล้างอสุรา | พระมงกุฎเข่นฆ่าคนธรรพ์ |
ฝ่ายองค์พระลบกุมาร | สังหารวิรุณพัทอาสัญ |
อันยักษีรี้พลทั้งนั้น | สุดสิ้นชีวันไม่เหลือไป |
เสร็จแล้วก็ยกโยธา | ไปตามพระอัยกาในป่าใหญ่ |
ถึงที่บริเวณศาลาลัย | ท่านไทโควินทมุนี |
เชิญเสด็จคืนเข้านิเวศน์วัง | สั่งมาให้ทูลบทศรี |
ว่าชราเบียดเบียนพระภูมี | ขอฝากผีไว้ใต้บาทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ยินดีดั่งเสวยสวรรยา | ในหกชั้นฟ้าสุราลัย |
อันสามสมเด็จพระชนนี | กับพระลักษมีพิสมัย |
ชมสองกุมารผู้ร่วมใจ | รับขวัญอวยชัยให้พร |
ทั้งสิบกษัตริย์พร้อมกัน | งามดั่งเทวัญสโมสร |
งามฝูงอนงค์นางอย่างกินนร | ประนมกรเฝ้ากลาดดาษดา |
งามทั้งปราสาทราชฐาน | ดั่งวิมานในดาวดึงสา |
งามเกียรติงามยศพระจักรา | ดั่งองค์เจ้าฟ้าสุราลัย |
แต่ปราศรัยไถ่ถามชมกัน | จนสุริยันเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
ต่างองค์ต่างเสด็จคลาไคล | เข้าในห้องแก้วรูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ฝ่ายองค์พระตรีภูวนาถ | บรรทมร่วมอาสน์มเหสี |
งามดั่งสุวรรณกับมณี | ใครเห็นเป็นที่จำเริญตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลซ้ายขวา |
แปดหมื่นพื้นพงศ์กษัตรา | ทรงโฉมโสภาวิลาวัณย์ |
แต่งองค์เอกเอี่ยมอรชร | งามงอนเป็นที่เฉลิมขวัญ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | พากันมาเฝ้าภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลางนางก็อยู่งานพัด | โบกปัดรำเพยลมให้ |
ลางนางนั่งยามตามไฟ | โดยในตำแหน่งพนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | ร้องรับจำเรียงเสียงหวาน |
ดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน | สอดใส่ประสานจังหวะกัน |
รำมะนาท้าทับกรับฉิ่ง | เพราะพริ้งดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
โหยหวนครํ่าครวญโอดพัน | เสียงสนั่นเจื้อยจับวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา |
เวียนวงเป็นหงส์ลีลา | งามดั่งนางฟ้าสุราลัย |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนซ้าย | ย้ายเพลงผาลาเพียงไหล่ |
ซัดกรอ่อนระทวยทุกนางใน | ย้ายไปเป็นม้าตีคลี |
อันนางระบำทั้งหลาย | รำร่ายเป็นจังหวะดีดสี |
บำเรอสมเด็จพระจักรี | ในที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพจบสกลทิศา |
พังเสียงดนตรีเสภา | ทัศนาฝูงนางระบำบัน |
เป็นที่เพลิดเพลินด้วยรูปเสียง | ไพเราะเพราะเพียงเพลงสวรรค์ |
ทั้งหอมกลิ่นเสาวรสจวงจันทน์ | ทรงธรรม์ก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ ครั้นมัชฌิมยามล่วงมา | เวลาจวบจวนปัจจุสมัย |
นํ้าฟ้าตกต้องเย็นใจ | แขไขเลี้ยวลับอัมพร |
พระพายชายพัดรวยริน | หอมกลิ่นเสาวรสเกสร |
แมงภู่หมู่พรรณภมร | บินร่อนเชยซาบสุมามาลย์ |
เสนาะเสียงโกกิลไก่แก้ว | พิณพาทย์เจื้อยแจ้วสำเนียงหวาน |
ปี่กลองแตรสังข์เป็นกังวาน | ผ่านฟ้าก็ตื่นฟื้นองค์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | แล้วเสด็จย่างเยื้องดำเนินหงส์ |
งามสง่างามศรีงามทรง | ออกที่นั่งบรรยงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรมณีศรี |
พร้อมหมู่ท้าวพญาทุกธานี | ชุลีกรเกลื่อนกลาดดาษไป |
งามดั่งสมเด็จหัสเนตร | ออกทวยเทเวศน้อยใหญ่ |
แทบหน้าตรีมุขพิมานชัย | ภูวไนยมีราชบัญชา |
ดูก่อนพระพรตพระสัตรุด | น้องรักแสนสุดเสน่หา |
อันองค์สมเด็จพระอัยกา | โอรสนัดดาก็ไม่มี |
จงไปครองเบื้องบทเรศ | บำรุงไกยเกษบูรีศรี |
ให้พระองค์เป็นสุขสวัสดี | ในที่สวรรยาราชัย |
ฝ่ายท้าวพญาพานรินทร์ | ซึ่งกินเมืองครองเมืองน้อยใหญ่ |
บัดนี้เสร็จล้างพวกภัย | คืนได้โกยเกษพระนคร |
ท่านจงกลับไปราชฐาน | ให้สำราญเป็นสุขสโมสร |
รักษาไพร่ฟ้าประชากร | อย่าให้เดือดร้อนราคี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
กับท้าวพญาทุกธานี | ชุลีกรรับราชบัญชา |
มีความชื่นชมโสมนัส | ไพบูลย์พูนสวัสดิ์ถ้วนหน้า |
ต่างตนน้อมเกล้าบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | ที่ประทับทวยหาญน้อยใหญ่ |
บ้างทรงรถคชามโนมัย | บ้างเหาะขึ้นไปโพยมบน |
บ้างขี่ยวดยานคานหาม | เกณฑ์แห่เกณฑ์ตามสับสน |
บ้างเดินแผ่นพื้นสุธาดล | ยกพลแยกไปทุกพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพจบสกลทิศา |
เป็นสุขด้วยเสวยสวรรยา | กับองค์สีดาเทวี |
ในทวารวดีนคเรศ | ดั่งสุริเยศส่องทวีปทั้งสี่ |
ปราบจบพื้นภพธาตรี | เป็นโมลีโลกสถาวร |
ดำรงทรงธรรม์ทศพิธ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ด้วยแสงศร |
อันหมู่อาสัตย์ดัสกร | เกรงเดชภูธรทั้งแดนไตร |
ประกอบด้วยจตุรงค์โยธี | สมบัติพ้นที่จะนับได้ |
ไพร่ฟ้าประชาชนพลไกร | อเนกแน่นนอกในพารา |
อันมหาปราสาทราชฐาน | โอฬารดั่งดาวดึงสา |
พระสนมแปดหมื่นกัลยา | บำเรอผ่านฟ้าเป็นนิรันดร์ |
พระองค์มีราชโอรส | ดั่งจักรกรดวิเชียรฉายฉัน |
ทั้งสองทรงลักษณ์วิไลวรรณ | ต่างเนตรต่างกรรณภูวไนย |
อันหมู่ทหารฤทธิรุทร | จะแหวกสมุทรดำดินก็ทำได้ |
เหาะเหินเดินฟ้าว่องไว | ล้วนเทพไทอาสามา |
มีราชโหราเพียงตาทิพย์ | เห็นแจ้งทั้งสิบทิศา |
รู้ทั้งเวทมนต์สรรพยา | ฤกษ์ผาเดือนดาวทุกประการ |
อันศรีอยุธยานคเรศ | ไกยเกษมิถิลาราชฐาน |
แสนสนุกไม่มีที่เปรียบปาน | สำราญทั่วหน้าประชาชี |
เพราะพระทรงครุฑภุชพงศ์ | อวตารกับองค์พระลักษมี |
ทั้งพระพรตพระลักษมณ์ธิบดี | พระสัตรุดผู้มีศักดา |
โดยเสด็จมาบำรุงไตรดาล | ปราบหมู่พวกพาลยักษา |
บ้างพ้นสาปบ้างสิ้นชนมา | บ้างไปฟากฟ้าสุราลัย |
บรรดาอินทร์พรหมยมเรศ | เทเวศวิทยาน้อยใหญ่ |
ทั้งหมู่ฤๅษีชีไพร | ครุฑนาคมีใจสำราญ |
พระบารมีเป็นที่เฉลิมภพ | เลิศลบกษัตรามหาศาล |
เป็นจรรโลงโลกาสุธาธาร | ทุกสถานน้อมเกล้าประนมกร |
บ้างแต่งบุปผามาลาช | ดอกไม้มาศเงินงามประภัสสร |
บุตรีนัดดาอรชร | อัสดรคชลักษณ์ตัวดี |
บรรณาการแก้วเก้าเนาวรัตน์ | ทั้งกาสิกพัสตร์ต่างสี |
มาถวายเบื้องบาทไม่ขาดปี | เอาเดชะพระจักรีปกไป |
ดั่งเศวตฉัตรทิพย์สี่คัน | กางกั้นทั่วจักรวาลใหญ่ |
ราบรื่นทั้งพื้นภพไตร | ดั่งหน้ากลองชัยเภริน |
ตราบถ้วนกำหนดไตรดายุค | อยู่เย็นเป็นสุขด้วยกันสิ้น |
พระเกียรติชั่วกัลปาฟ้าดิน | ดั่งศิลาจารึกลายสุวรรณ |
เป็นลักษณ์อักษรสรรเสริญเดช | อยู่ทุกประเทศเขตขัณฑ์ |
เสนาะจริงยิ่งเรื่องแต่ปางบรรพ์ | ดั่งจวงจันทร์คันธรสจรุงใจ |
อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ | ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย |
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด | ดั่งพระทัยสมโภชบูชา |
ใครฟังอย่าได้ใหลหลง | จงปลงอนิจจังสังขาร์ |
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา | โดยราชปรีชาก็บริบูรณ์ ฯ |
ฯ ๔๐ คำ ฯ
๏ จบ เรื่องราเมศมล้าง | อสุรพงศ์ |
บ พิตรธรรมิกทรง | แต่งไว้ |
ริ รํ่าพรํ่าประสงค์ | สมโภช พระนา |
บูรณ์ บำเรอรมย์ให้ | อ่านร้องรำเกษม ฯ |
๏ เดือนอ้ายสองคํ่าขึ้น | จันทรวาร |
บพิตรผู้ทรงญาณ | ยิ่งหล้า |
แรกรินิพนธ์สาร | รามราพณ์ นี้แฮ |
ศักราชพันร้อยห้า | สิบเก้าปีมะเส็ง ฯ |
จบบริบูรณ์