- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวคนธรรพ์ยักษา |
ผ่านดิศศรีสินนครา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร |
มีไพชยนต์รัตน์ปราสาท | ทั้งสามโอภาสสูงใหญ่ |
ตรีมุขสุกแสงอำไพ | แล้วไปด้วยแก้วแกมสุวรรณ |
ประกอบแสนสมบัติพัสถาน | โอฬารดั่งหนึ่งเมืองสวรรค์ |
จตุรงค์โยธาอเนกนันต์ | แกล้วหาญชาญฉกรรจ์ราวี |
อันองค์อัครราชดวงสมร | นามกรนันทาโฉมศรี |
เป็นปิ่นอนงค์นารี | ประมาณหมื่นสี่พันกัลยา |
มีพระโอรสศรีสวัสดิ์ | ชื่อวิรุณพัทยักษา |
ทรงอานุภาพมหึมา | แกล้วกล้าสามารถอาจใจ |
อันองค์พญาอสุรี | ศักดาไม่มีใครจะเปรียบได้ |
หยาบช้าทารุณเป็นพ้นไป | ทั่วทั้งภพไตรก็เกรงฤทธิ์ |
เคยพาพระราชโอรส | ไปทำลายนักพรตให้เสียกิจ |
เลื่องชื่อลือนามทุกทิศ | เป็นอิสรภาพในธาตรี |
คิดจะใคร่ไปเที่ยวประพาส | ชมอรัญวาสคีรีศรี |
จึ่งชวนโอรสร่วมชีวี | ว่าพ่อนี้ไม่สบายวิญญาณ์ |
มาเราจะพากันไป | ล่าไล่เนื้อเล่นที่ในป่า |
ว่าแล้วตรัสสั่งเสนา | จงเตรียมโยธาให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทการคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่จตุรงค์พยุหบาตร | โดยกระบวนประพาสป่าใหญ่ |
ขุนช้างผูกช้างระวางใน | หมอควาญสอดใส่เสื้อแดง |
ขุนม้ารีบผูกพาชี | นายขี่เสื้อตองทองแย่ง |
พร้อมทั้งม้านำม้าแซง | ขับแข่งอ่าอวดประกวดกัน |
ขุนรถเทียมรถเรือนทอง | ขับขี่เคล่าคล่องดั่งจักรผัน |
ล้วนใส่เสื้อดำดวงสุวรรณ | งอนนั้นปักธงสามชาย |
ขุนพลจัดพลล้วนแกล้วกล้า | ใส่เสื้อสีฟ้าเฉิดฉาย |
พื้นถืออาวุธทั้งไพร่นาย | ตั้งรายเรียบราชวีถีจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ชาญสมร |
จึ่งชวนโอรสฤทธิรอน | บทจรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างองค์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเป็นรูปนาคินทร์ | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์ต่างกัน |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์ม่วงตองทองคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ทองกรกุดั่นพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนครุฑประดับเพชร | มงกุฎแก้วเก็จกาบสะบัด |
ห้อยพวงกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสจำเริญตา |
ต่างขัดมหาคทาธร | จับศรกวัดแกว่งเงื้อง่า |
เสด็จจากปราสาทรัตนา | ทรงมาขึ้นรถอลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยสองรถทรง | ดุมวงประดับมุกดาหาร |
กงกำล้วนแล้วแก้วประพาฬ | แอกงอนตระหง่านประไพงาม |
บุษบกบัลลังก์ตั้งภาพ | เครือกระหนกช่องกระหนาบทองอร่าม |
เรือนเก็จเสาแก้วแวววาม | สามยอดสูงเยี่ยมโพยมพราย |
เทียมด้วยราชสีห์สองพันคู่ | โลทันถือธนูประลองสาย |
สำทับขับเร็วดั่งพระพาย | เครื่องสูงเรียงรายสลับกัน |
ปี่กลองฆ้องขานประสานแตร | โยธาเกณฑ์แห่โห่สนั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | รีบขับพลขันธ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เดินทางหว่างเขาลำเนาไม้ | ผ่านไปตามแถวแนวป่า |
เหลือบแลสองข้างมรคา | ชมหมู่ปักษาทิชากร |
นกกระสาถาจับต้นกระสัง | โนรีจับรังแล้วบินร่อน |
สาลิกาจับแก้วแล้วเรียงนอน | ยูงจับยางฟ้อนชมกัน |
นกแก้วจับเกดพลางพลอด | กระทาจับยอดกระถินขัน |
กระลุมพูจู่จับแสลงพัน | เบญจวรรณจับหว้าเรียงราย |
เขาไฟจับไม้รกฟ้า | นกคล้าพาคู่มาจับขลาย |
ซังแซวจับต้นยางทราย | นกหว้าจับหวายรายเรียง |
กระตั้วเต้นตามกิ่งพุดตาน | การเวกจับกระวานส่งเสียง |
เค้าโมงจับโมกมองเมียง | ฝูงหงส์จับเหียงแล้วบินไป |
เขาจับข่อยขันสนั่นก้อง | ยางร้องบนยอดพะยูงใหญ่ |
ยิ่งชมยิ่งเพลินจำเริญใจ | ที่ในแถวทางอรัญวา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ จึ่งให้หยุดโยธีจตุรงค์ | ตั้งลงชายทุ่งวุ้งป่า |
ตรัสชวนโอรสผู้ศักดา | ขึ้นม้าพระที่นั่งทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กวัดแกว่งหอกแก้วสุรกานต์ | แล้วเรียกม้าทหารยักษี |
เลือกล้วนสันทัดตัวดี | ควบไล่มฤคีวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างแทงสิงห์สัตว์ทั้งหลาย | ล้มตายกลิ้งกลาดไม่นับได้ |
บ้างลำบากดิ้นไม่สิ้นใจ | บิตุเรศไล่จับเอามา |
หักคอพิฆาตให้ม้วยมิด | สูบเอาโลหิตเป็นภักษา |
โอรสฉวยได้มฤคา | เจาะตากินมันทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษี |
พลเท้าพลขี่พาชี | ล้อมไล่มฤคีพัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างยิงต่างแทงสับสน | ต่างตนวิ่งลัดสกัดกั้น |
บ้างได้แรดวัวตัวมัน | ไม่ฟาดฟันหักคอเคี้ยวไป |
บ้างจับได้ช้างง้างงา | หักขาฉีกอกสาวไส้ |
ที่ได้เสือสิงห์มหิงส์ไพร | ดีใจกินเล่นสำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ใจหาญ |
เห็นหมู่พหลพลมาร | วิ่งทะยานไล่จับมฤคา |
เป็นเหล่าเหล่าเข้าชิงกันกิน | อสุรินทร์แสนโสมนัสสา |
ตบหัตถ์สำรวลไปมา | เสียงสนั่นลั่นป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงหมู่คณะพระฤๅษี |
สร้างพรตโดยกิจพิธี | ในที่อรัญกันดาร |
อาศัยทำเพียรภาวนา | ตามวุ้งเวิ้งเพิงผารโหฐาน |
กองกูณฑ์อัคคีนิจการ | จำเริญฌานพระเวทตบะกรรม์ |
ลางองค์ก็ถืออัพโภกาศ | ขัดสมาธิทนแสงพระสุริย์ฉัน |
บางเที่ยวบางยืนเป็นนิรันดร์ | ด้วยจิตมั่นทรมานอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวคนธรรพ์ยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งไล่มฤคี | อสุรีลงจากมโนมัย |
เสด็จขึ้นยังราชรถทรง | ให้เลิกพวกจตุรงค์น้อยใหญ่ |
เที่ยวไปในป่าพนาลัย | ด้วยใจโมหันธ์อันธพาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ล่วงมาได้ห้าโยชน์กึ่ง | เห็นเขาหนึ่งสูงใหญ่ไพศาล |
มีทั้งท่านํ้าลำธาร | เป็นที่สะอ้านสะอาดดี |
ให้ขับรถลดเลี้ยวเที่ยวเล่น | แลเห็นอาศรมพระฤๅษี |
ตั้งอยู่ตามเนินคีรี | มีกุฎีน้อยน้อยรายไป |
จึ่งคิดถวิลจินดา | ด้วยใจอหังการ์หยาบใหญ่ |
อันหมู่ฤๅษีชีไพร | สร้างพรตอดใจเชี่ยวชาญ |
แม้นจะละไว้บัดนี้ | พิธีจะแก่กล้าหาญ |
จะบอกเวทมนตราวิชาการ | เป็นอาจารย์มนุษย์เทวา |
ตัวกูผู้ทรงอานุภาพ | ปราบได้ทั่วทศทิศา |
นานไปจะมีผู้ศักดา | องอาจอหังการ์มาต่อฤทธิ์ |
อย่าเลยจะไล่ทำลาย | แย่งส่ายพิธีฤๅษีสิทธ์ |
ให้เสียพรตกรรม์บรรพชิต | คิดแล้วขับพลเข้าราวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลทหารยักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | เข้าไล่ตีโยคีวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายคณะฤๅษีน้อยใหญ่ |
ต่างต่างกระหนกตกใจ | ด้วยหมู่มารเข้าไล่โรมรัน |
บ้างฉวยเปลือกไม้คากรอง | ลากหนังเสือร้องตัวสั่น |
บ้างถือไม้เท้างกงัน | วิ่งปะทะปะกันวุ่นวาย |
ลางองค์เข้าแอบเงื้อมเขา | ลางองค์ด้นเข้าเชิงหวาย |
บ้างคลานเข้าโพรงไม้ซ่อนกาย | กลัวตายไม่เป็นสมประดี |
บ้างร่ายเวทบังเนตรกุมภัณฑ์ | ที่ฌานกล้านั้นก็เหาะหนี |
บ้างล้มบ้างวิ่งเป็นสิงคลี | อึงมี่ไปทั้งอรัญวา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษา |
โห่ร้องก้องอึงคะนึงมา | เข้าเย่อแย่งศาลาวุ่นไป |
ลางพวกก็พบฤๅษี | ไล่ทุบไล่ตีไม่ปราศรัย |
พบกระโถนหม้อน้ำก็ไม่ไว้ | ทุบต่อยเสียให้แหลกลาญ |
บ้างได้ย่ามละว้าคากรอง | บรรดาเครื่องครองบริขาร |
ฉีกแย่งแกล้งทำด้วยใจพาล | ทิ้งพ่านไม่เป็นสมประดี |
อันบรรณศาลาอาศรม | ที่จงกรมบริเวณพระฤๅษี |
สิ่งใดจะเหลือก็ไม่มี | ด้วยมืออสุรีพาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวคนธรรพ์นุราชยักษา |
แต่เที่ยวเบียดเบียนพระสิทธา | ด้วยความริษาสาธารณ์ |
ทะนงฤทธิ์ยิ่งคิดโมหันธ์ | สำคัญว่าตัวแกล้วหาญ |
ทั้งในฟากฟ้าบาดาล | ไม่มีใครทานฤทธิไกร |
จะใคร่เที่ยวไปราญรอน | ทั่วทุกพระนครน้อยใหญ่ |
สิ้นทั้งสามภพจบแดนไตร | ให้อยู่ในเงื้อมมือขุนมาร |
คิดแล้วให้เลื่อนรถทรง | เลิกพลจตุรงค์ทวยหาญ |
โห่สนั่นครั่นครื้นสุธาธาร | ผ่านไปตามทางพนาวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ล่วงด่านผ่านพนมพนาเวศ | เข้าแดนไกยเกษเขตขัณฑ์ |
เห็นรอยมนุษย์ทั้งนั้น | สัญจรเข้าออกไปมา |
หนทางมีช่องจำเพาะเดิน | เนินเขาเป็นด่านขวางหน้า |
สูงสุดเทียบเทียมเมฆา | พญามารนิ่งนึกตรึกไป |
อันแว่นแคว้นแดนด่านดั่งนี้ | น่าที่จะเป็นกรุงใหญ่ |
คิดแล้วก็หยุดพลไกร | ตั้งไว้ตามแถวแนวธาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีพระราชวาที | ตรัสสั่งเสนีปรีชาหาญ |
จงขับพหลพลมาร | เข้าหักด่านจับเอามนุษย์มา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทกาลฤทธิไกรใจกล้า |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็ให้กองหน้าเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | เข้าไล่ตีหักโหมโรมราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่มนุษย์ชาวด่าน |
เห็นพวกพหลพลมาร | หักหาญทำลายเข้ามา |
ต่างตกใจกลัวตัวสั่น | พากันซุกซนด้นป่า |
ชายหญิงวิ่งร้องเป็นโกลา | หน้าซีดไม่เป็นสมประดี |
บ้างฉวยได้ลูกเมียแม่ยาย | อุ้มตะพายขึ้นบ่าแล้วพาหนี |
บ้างฉวยได้กระโถนคนที | หม้อข้าวฝาชีก็พาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลอสุราน้อยใหญ่ |
ครั้นเห็นชาวด่านเวียงชัย | ตกใจแตกหนีซอกซน |
อสุราเลี้ยวลัดสกัดกั้น | แยกกันไล่สะพัดทุกแห่งหน |
วิ่งแซงแข่งไปอลวน | เที่ยวค้นเที่ยวจับเป็นโกลา |
ฉวยได้หญิงชายชาวด่าน | อลหม่านมัดผูกลากคร่า |
พาไปกองทัพพลับพลา | ถวายแก่พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวคนธรรพ์นุราชยักษี |
ครั้นได้ชาวด่านก็ยินดี | อสุรีจึ่งตรัสถามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แจ้งสิ้นแล้วมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงแต่งสารบอกการชิงชัย | ให้มันถือเข้าไปยังพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทการเสนียักษา |
รับสั่งพระองค์ทรงศักดา | ก็เขียนสาราทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เสร็จแล้วก็ส่งให้ชาวด่าน | จงนำโองการท้าวยักษี |
เข้าไปยังราชธานี | บอกเจ้าเอ็งนี้ให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนพลนายด่านผู้ใหญ่ |
รับสารคลานออกด้วยว่องไว | พากันเข้าไปยังพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงส่งสารให้เสนี | ว่าบัดนี้มีทัพยักษา |
หักหาญรานรุกเข้ามา | ก็เล่ากิจจาถ้วนทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้ปรีชาหาญ |
แจ้งว่าอสูรหมู่มาร | ตีด่านแตกมาก็ตกใจ |
ต่างคว้าสมปักเข้านุ่ง | จะทันเกี้ยวพุงก็หาไม่ |
พากันเร่งรีบเข้าไป | ยังในที่ท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพรังสรรค์ |
ตามที่มีศึกมาโรมรัน | อภิวันท์แล้วอ่านสารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สารท้าวคนธรรพ์ยักษี | ผู้ทรงฤทธีแกล้วกล้า |
ผ่านดิศศรีสินนครา | ปรากฏพระยศทั้งแดนไตร |
เสด็จด้วยจตุรงค์พยุหบาตร | มาเที่ยวประพาสป่าใหญ่ |
ลุถึงปลายแดนเวียงชัย | ไกยเกษมหาธานี |
จึ่งหยุดพหลพลยักษ์ | ให้ชาวด่านถือลักษณ์สารศรี |
หาท้าวไกยเกษธิบดี | ออกมาอัญชุลีบทมาลย์ |
ถวายเศวตฉัตรชัยไอศวรรย์ | ชีวันจะไม่ม้วยสังขาร |
แม้นมิทำตามราชโองการ | จึ่งจะยกทวยหาญเข้าชิงชัย |
ตามอย่างกษัตริย์ทรงฤทธิ์ | ซึ่งปราบทศทิศน้อยใหญ่ |
ให้ราบรื่นทั้งพื้นภพไตร | จะไว้เกียรติไปในโลกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษนาถา |
ฟังสารตะลึงทั้งกายา | อุราเร่าร้อนดั่งอัคคี |
แล้วคิดว่าสมเด็จพระสี่กร | บทจรเดินป่าพนาศรี |
แต่ล้างพวกพาลอสุรี | พ้นที่จะคณนาไป |
เหตุใดคนธรรพ์ยักษี | จึ่งรอดชีวีอยู่ได้ |
อหังการ์หยาบช้ามาชิงชัย | มิได้เกรงฤทธิ์พระอวตาร |
แม้นสองนัดดาผู้ทรงเดช | อยู่ในนคเรศราชฐาน |
ตัวมันก็จะสิ้นชนมาน | ด้วยศรหลานรักอันศักดา |
ครั้นจะให้ไปหามาโรมรัน | หนทางนั้นไกลหนักหนา |
ตัวเราก็แก่ชรา | จะโหมหักยักษาประการใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ คิดแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
เร่งเกณฑ์พหลพลไกร | ขึ้นหน้าที่ไว้ให้พร้อมกัน |
เอาปืนใหญ่ขึ้นรายประจำช่อง | ป้องกันพระนครไว้ให้มั่น |
แล้วแต่งสารแจ้งการโรมรัน | ให้ม้าใช้นั้นไปอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็แต่งสาราทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วจารึกลงแผ่นทอง | ใส่กล่องเนาวรัตน์จำรัสศรี |
ส่งให้แก่ขุนพาชี | ตามมีบัญชาภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมื่นสินธพชาตินายใหญ่ |
รับสารแล้วขึ้นมโนมัย | ก็ขับควบไปโดยมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่เสนีซ้ายขวา |
ต่างตนลนลานออกมา | ยังศาลาลูกขุนพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดพลรักษาทุกหน้าด่าน | รอบปราการนคเรศเขตขัณฑ์ |
พื้นถืออาวุธครบครัน | เกณฑ์กันตามสารบาญชี |
อันเชิงเทินหอรบป้อมค่าย | เอาปืนใหญ่ขึ้นรายประจำที่ |
กองหนุนแต่ล้วนตัวดี | มีระยะห้าเส้นรายมา |
ประตูใหญ่ลงเขื่อนสามชั้น | ไว้ทหารกองขันอยู่รักษา |
ตะพายดาบถือคาบศีลา | คาดเขนงเกี้ยวผ้าตะแบงมาน |
ฝ่ายนอกกำแพงเวียงชัย | ลงขวากหนามไว้ทุกหน้าด้าน |
สารจัดตรวจตราให้ทำการ | อลหม่านไปทั้งธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวคนธรรพ์ยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | เสด็จออกยังที่พลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งมีมธุรสพจนารถ | แก่อำมาตย์มนตรีน้อยใหญ่ |
ซึ่งชาวด่านถือสารเข้าไป | หลายวันแล้วไม่กลับมา |
จะนิ่งไว้ช้าก็ป่วยการ | เราจะยกทวยหาญเข้าเข่นฆ่า |
หักโหมโจมตีเอาพารา | ให้ได้ดั่งจินดาบัดนี้ |
ตรัสแล้วชำระสระสรง | ทรงเครื่องพิชัยยุทธ์จำรัสศรี |
เสด็จขึ้นรถแก้วรูจี | ให้เลิกโยธีพลไกร |
อันพวกอสูรหมู่มาร | โห่สะท้านสะเทือนแผ่นดินไหว |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเปลวไฟ | ขับแข่งกันไปเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ล่วงบ้านผ่านแดนชนบท | หมู่มนุษย์หนีหมดไม่รอหน้า |
อันบ้านเมืองตามมรคา | อสุราแย่งเผาไม่สมประดี |
โคกระบือหมูไก่ทุกบ้าน | กินเป็นอาหารยักษี |
ล่วงทางมาหลายราตรี | ก็ถึงที่ไกยเกษพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แลไปเห็นยอดปราสาท | ทั้งสามโอภาสประภัสสร |
สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าอัมพร | อลงกรณ์ด้วยแก้วจำเริญตา |
ซุ้มทวารปราการป้อมค่าย | หอรบเรียงรายแน่นหนา |
เขื่อนคูสามชั้นเป็นหลั่นมา | ดูสง่าดั่งเมืองหัสนัยน์ |
จึ่งให้หยุดม้ารถคชสาร | พวกพลทวยหาญน้อยใหญ่ |
แล้วสั่งโอรสผู้ร่วมใจ | เร่งให้เข้าล้อมธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งวิรุณพัทยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | อัญชุลีแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งทั่วทุกนายทหาร | โดยโองการท้าวยักษา |
จงยกพหลโยธา | เข้าล้อมพาราให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มารนายทหารตัวขยัน |
ก็ยกพวกอสูรกุมภัณฑ์ | แยกกันเข้าล้อมเวียงชัย |
พลช้างพลม้าสับสน | อลวนเพียบพื้นแผ่นดินไหว |
พลเท้าห้าวฮึกเข้าไป | อาจใจถอนขวากเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เหล่าทหารรักษาหน้าที่ |
ครั้นเห็นพวกพลอสุรี | โจมตีฮึกฮักเข้ามา |
ฝ่ายทนายปืนใหญ่ก็แกว่งชุด | เล็งจุดหมายหมู่ยักษา |
บ้างยัดบ้างยิงเป็นโกลา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าบาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุราโยธาทวยหาญ |
ที่ต้องปืนเจ็บป่วยบรรลัยลาญ | ที่ดีนั้นก็ทะยานเข้าไป |
แผดเสียงสำเนียงโห่ร้อง | กึกก้องฟากฟ้าดินไหว |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งแสงไฟ | ปีนกำแพงขึ้นไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มนุษย์ทวยหาญซ้ายขวา |
หลบหลีกตามช่องเสมา | ต่อรบอสุราอลวน |
บ้างยิงบ้างแทงแย้งยุทธ์ | พุ่งซัดอาวุธสับสน |
บ้างทิ้งหม้อดินลูกกล | พลยักษ์ตายยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งวิรุณพัทยักษี |
เห็นพลย่นท้อไม่ต่อตี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
กระทืบบาทผาดเสียงกึกก้อง | แกว่งกระบองไล่พวกพลขันธ์ |
มึงกลัวมนุษย์ไม่โรมรัน | กูจะล้างชีวันให้บรรลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่มารทหารน้อยใหญ่ |
กลัวราชอาชญาเป็นพ้นไป | ก็กรูกันเข้าไปทันที |
ด้านใครใครเข้าหักหาญ | ปีนป่ายปราการอึงมี่ |
ป้องปัดอาวุธเป็นโกลี | อสุรีไม่คิดชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายทหารมนุษย์คนขยัน |
ไม่ถอยจากหน้าที่ตีประจัญ | กองขันหนุนเนื่องกันขึ้นมา |
ปืนป้อมกวาดเชิงกำแพง | ต่างฟันต่างแทงยักษา |
บ้างลั่นนกสับคาบศีลา | แอบช่องเสมาราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ชาญสมร |
เห็นหมู่อสุราพลากร | ไม่หักพระนครได้ดั่งใจ |
กริ้วโกรธพิโรธกระทืบบาท | พระสุธากาศหวาดไหว |
แล้วมีสีหนาทประกาศไป | ถ้าหักเอามิได้บัดเดี๋ยวนี้ |
บรรดาไพร่นายทั้งนั้น | กูจะบั่นเศียรเกล้าเกศี |
ให้สิ้นโคตรวงศ์พงศ์พี | จงสาที่ปลูกเลี้ยงมึงมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาทหารยักษา |
ความกลัวพระราชอาชญา | ฟันหน้าหักโหมโรมรัน |
บ้างแกว่งสากเหล็กแกว่งขวาน | ทำลายปราการเขื่อนขัณฑ์ |
ขุนช้างขับช้างดากัน | บุกบันเข้าแย่งแทงประตู ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ใบดาลหักล้มถล่มลง | ไม่มีใครอาจองต่อสู้ |
พลเท้าโห่ฮึกเกรียวกรู | เข้าไล่หมู่มนุษย์ในธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
แจ้งว่าพวกพาลอสุรี | ตีเข้ามาได้ในพารา |
ตกใจหน้าซีดตัวสั่น | งกงันเหลียวซ้ายแลขวา |
ให้พะว้าพะวังวิญญาณ์ | เรียกหากำนัลวุ่นไป |
ฉวยฉุดอี่เตี้ยว่าเมียรัก | จะรู้จักสมประดีก็หาไม่ |
แต่วิ่งวนชนหมู่นางใน | ตกใจว่าหมู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นได้สติคืนมา | ก็พาอัครชายากับสาวสรรค์ |
ไปขึ้นรถแก้วแพรวพรรณ | ทรงธรรม์ตั้งสัจวาที |
เดชะกุศลผลบุญ | พระนารายณ์ไวกูณฐ์เรืองศรี |
จงมาช่วยข้าในครั้งนี้ | อย่าให้อสุรีพบพาน |
ครั้นเสร็จก็ขับรัถา | ออกจากทวาราราชฐาน |
ไปยังโควินท์พระอาจารย์ | ทวยหาญคนสนิทก็ตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
เห็นพระองค์หนีจากเวียงชัย | ตกใจอื้ออึงทั้งวัง |
ร้องหวีดหน้าซีดตัวสั่น | พัลวันวิ่งไปไม่เหลียวหลัง |
บ้างอุ้มบ้างจูงกันรุงรัง | นางวิเสทชาวคลังก็ออกมา |
ที่เถ้าแก่ก็ถือไม้เท้ากราน | ล้มลุกคลุกคลานตะกายฝา |
ทุกคนหน้าครํ่าด้วยน้ำตา | เงินทองเสื้อผ้าไม่ไยดี |
อันเครื่องแป้งแต่งตัวหวีกระจก | แตกหกตกกลาดอยู่กับที่ |
ลางนางผ้าห่มไม่มี | ยัดเยียดเสียดสีกันออกไป |
ทั้งโขลนทั้งจ่าเจ้าขรัวนาย | วุ่นวายไม่มีสติได้ |
บ้างตามไปทันภูวไนย | ที่ไม่ทันก็นั่งโศกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษา |
ซึ่งเข้ามาได้ในพารา | ทำสง่าแผลงฤทธิ์ทุกตน |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | ร้องตวาดกึกก้องกุลาหล |
กวัดแกว่งอาวุธคำรามรน | ไล่พลมนุษย์วุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างขึ้นตึกกว้านร้านเรือน | เห็นสิ่งของกลาดเกลื่อนไม่นับได้ |
เก็บเอาเงินทองที่ต้องใจ | ทั้งผ้าไหมผ้ายกแพรพรรณ |
อันกระโถนคนทีโตกพาน | ถ้วยโถโอจานเชี่ยนขัน |
หม้อไหโอ่งอ่างทั้งนั้น | กุมภัณฑ์ต่อยกลาดดาษดา |
ลางพวกก็พบตุ่มเหล้า | นั่งเฝ้าล้อมกินหัวร่อร่า |
เมาแล้วก็อวดฤทธา | กูเข้าหน้าจึ่งได้ธานี |
ลางพวกเลือกจับแต่สาวสาว | โห่ฉาวชิงกันอึงมี่ |
ทั้งครอบครัวเข็ญใจไพร่ผู้ดี | อสุรีทำตามคะนองกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ชาญสมร |
เห็นหมู่ทหารเข้าราญรอน | ได้พระนครดั่งจินดา |
มีความชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลร่า |
จึ่งขับรถแก้วแววฟ้า | เข้าในทวาราปราการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เหลือบเล็งเพ่งพิศกำแพง | ล้วนแลงปรุงปรับประดับด้าน |
หอรบนางเรียงซุ้มทวาร | โอฬารด้วยเหล็กศีลาลาย |
หว่างเสมาปักธงมังกรทอง | เป็นทิวท่องงามตระหง่านฉานฉาย |
ช่องป้อมวางปืนจินดาราย | ปืนใหญ่ลูกปรายลูกกล |
วิถีทางพ่างพื้นรื่นเรียบ | ตึกกว้านร้านระเบียบแถวถนน |
โรงช้างโรงม้ากระท่อมพล | โรงรถแซงต้นจังหวะกัน |
ทิมชาววังตำรวจซ้ายขวา | มีศาลาลูกขุนสลับคั่น |
หน้าพระลานฉนวนน้ำสนามจันทน์ | ปราการแก้วกั้นเป็นหลั่นลด |
อันมหาปราสาทสามองค์ | งามระหงล้วนแล้วด้วยแก้วหมด |
ใบระกาช่อฟ้าช้อยชด | มุขลดหน้าบันอลงกรณ์ |
ชาลาล้วนแก้วผลึกลาด | โอภาสเพียงดาวดึงสา |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญตา | สำราญวิญญาณ์เป็นพ้นคิด ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เห็นครอบครัวมนุษย์ชาวเมือง | ยักษ์จับมาเนื่องอกนิษฐ์ |
จึ่งให้หยุดรถแก้วชวลิต | แล้วมีประกาศิตถามไป |
อันเจ้าไกยเกษธานี | บัดนี้ตัวนั้นอยู่ไหน |
จงเอามาหน้ารถชัย | กูจักใคร่เห็นพักตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายทัพนายกองยักษา |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ว่าท้าวไกยเกษธิบดี |
จะอยู่แห่งหนตำบลใด | ข้าไม่แจ้งเกล้าเกศี |
จับได้มาแต่เสนี | ถวายใต้ธุลีบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวคนธรรพ์นุราชใจหาญ |
ได้ฟังเสนาปรีชาชาญ | จึ่งมีโองการถามไป |
เหวยเหวยไอ้ชาวนคเรศ | อันท้าวไกยเกษนั้นอยู่ไหน |
จงบอกกูมาอย่าพรางไว้ | หาไม่จะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาไกยเกษบุรีศรี |
ความกลัวเพียงสิ้นสมประดี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันพระผู้ปิ่นนคเรศ | กลัวเดชบรมนาถา |
หนีออกนอกราชพารา | ไม่รู้ว่าจะไปแห่งใด |
ซึ่งตัวข้าบาททั้งนี้ | จะมีที่พึ่งก็หาไม่ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | จงได้ไว้ชีพชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวคนธรรพ์นุราชรังสรรค์ |
ได้ฟังสรวลมี่ทั้งวังจันทน์ | กุมภัณฑ์มีราชบัญชา |
เดิมกูก็ได้ให้มีสาร | เจ้ามึงอหังการอวดกล้า |
ดีแล้วหนีไยจากพารา | ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชากร |
ว่าแล้วลงจากรถทรง | อาจองดั่งพญาไกรสร |
พร้อมหมู่ทหารฤทธิรอน | บทจรขึ้นยังพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
จึ่งบรรหารแก่หมู่กุมภัณฑ์ | โดยโรมรันได้ราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์วิรุณพัทยักษี |
รบได้พาราก็ยินดี | อสุรีตริตรึกไปมา |
แต่กูเที่ยวภิรมย์ชมชิด | สมสนิทร่วมรสเสน่หา |
ด้วยอนงค์นาคินทร์กินรา | อัปสรกัลยาสุราลัย |
อันนางชาติเชื้อมนุษย์นั้น | ยังมิได้ผูกพันพิสมัย |
จะงามงอนอ่อนหวานประการใด | จะไปชมเล่นวันนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วพอองค์พระบิตุราช | ไสยาสน์หลับอยู่บนแท่นที่ |
จึ่งสระสรงทรงเครื่องรูจี | อสุรีลดเลี้ยวเที่ยวมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เข้าในมนเทียรพรายพรรณ | เห็นสนมกำนัลซ้ายขวา |
ต่างตนแสนโศกโศกา | อสุรามีใจสำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นั่งลงกลางฝูงอนงค์นาง | ยิ้มพลางปราศรัยด้วยคำหวาน |
ดูก่อนโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | ทุกข์ร้อนรำคาญด้วยอันใด |
จึ่งมาประชุมกันอยู่ | ยังรู้จักพี่หรือหาไม่ |
ว่าพลางสัพยอกนางใน | จะเช็ดนํ้าตาให้อย่าโศกา |
แล้วฉวยกรนางหนึ่งอันมีลักษณ์ | ผินพักตร์ยุดนางข้างขวา |
ลูบหลังนางหนึ่งทางสอดตา | ไขว่คว้าแก้มคางพัลวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางอนงค์สาวสวรรค์ |
ความกลัวอสุรกุมภัณฑ์ | ตัวสั่นดั่งจะม้วยชีวี |
ต่างตนสลัดปัดกร | บังอรผินพักตร์ผันหนี |
เรียกหาท้าวนางขันที | ร้องมี่วิ่งวุ่นเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งวิรุณพัทยักษา |
ติดตามฝูงนางกัลยา | ฉวยสไบไขว่คว้าวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ร้องตรีดหวีดหวาดทุกนางใน | วิ่งไปเข้าห้องเรือนจันทน์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งปิดทวาร | ลั่นกลอนใส่ดาลสลักมั่น |
ซ่อนเร้นอสุรกุมภัณฑ์ | ทั่วทุกกำนัลนารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุณพัทสุริย์วงศ์ยักษี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาที | ควรหรือแก้วพี่ไม่เมตตา |
อันความรักนั้นแสนสุดรัก | จึ่งอุตส่าห์ฝ่าพักตร์เข้ามาหา |
ซึ่งเจ้าจะปิดทวารา | ใช่ว่าจะพ้นไปเมื่อไร |
ใบดาลทวารแต่เพียงนี้ | หรือจะทนฤทธีของพี่ได้ |
ว่าแล้วก็ผลักด้วยว่องไว | หักล้มถล่มไปกับกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แลเห็นฝูงนางทั้งนั้น | กุมภัณฑ์ชื่นชมสโมสร |
ลดองค์ลงใกล้บังอร | แล้วกล่าวสุนทรวาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ซึ่งเจ้าวิ่งหนีเข้าห้อง | เป็นไฉนนวลน้องไม่พ้นพี่ |
อนิจจาเหตุว่าไม่ปรานี | จึ่งร้องมี่ให้ช่วยวุ่นวาย |
ฝ่ายพี่ผู้เดียวก็ตัวสั่น | ให้คิดคร้ามครั่นขวัญหาย |
ด้วยกลัวนางท้าวเจ้ายาย | มูลนายที่มีอาญา |
เออไปไหนสิ้นประหลาดนัก | ไม่มาช่วยน้องรักเสน่หา |
ว่าพลางแย้มยิ้มไปมา | กรลอดสอดคว้าวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงอนงค์กำนัลน้อยใหญ่ |
สุดคิดจนจิตจนใจ | ผลักไสสลัดปัดกร |
มิได้แลดูอสุรี | ขัดสนพ้นที่จะเร้นซ่อน |
ผินผันพักตร์ไปไม่อาวรณ์ | บังอรจึ่งตอบวาจา |
อันตัวของข้าเป็นมนุษย์ | กลัวฤทธิรุทรนั้นหนักหนา |
จึ่งพากันหนีเข้ามา | หวังว่าจะให้รอดชีวี |
พระองค์อย่าทำเลียมลวน | ไม่ควรด้วยข้าเป็นทาสี |
นางกษัตริย์มีอยู่ทุกบุรี | ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ |
ประกอบด้วยสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารสูงศักดิ์ |
ควรด้วยพระองค์มงกุฎยักษ์ | จะร่วมรสรักภิรมยา |
จงคิดหยุดยั้งชั่งใจ | สงวนเกียรติยศไว้ดีกว่า |
ให้แผ้วผ่องในละอองบาทา | ฟังข้าน้อยเถิดพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ดวงเอยดวงสมร | สุนทรคารมดั่งคมกริช |
เหน็บแนมแกมกลเป็นพ้นคิด | ช่างงอนประดิษฐ์พาที |
รูปทรงดั่งหนึ่งนางฟ้า | กระนี้หรือจะว่าเป็นทาสี |
ถึงนางกษัตริย์ในธาตรี | ใช่คู่จึ่งไม่มีอารมณ์รัก |
เจ้าดั่งโกสุมปทุเมศ | ในประเทศสระแก้วบรมจักร |
อันชูก้านเบิกบานตระการนัก | เป็นที่รักต้องตาต้องใจ |
งามกลีบงามกลิ่นเกสร | งามงอนยั่วยวนพิสมัย |
งามพร้อมละม่อมทุกนางใน | จะถนอมมิให้ราคี |
ว่าพลางก็ทางเย้าหยอก | สัพยอกฝูงอนงค์สาวศรี |
ชมเนตรเกศแก้มสุมาลี | อสุรีคว้าไขว่พัลวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางอนงค์สาวสรรค์ |
จำเป็นนบนิ้วบังคมคัล | กัลยาจึ่งตอบคำไป |
ความจริงตัวข้าเป็นทาสี | จะพาทีล่อลวงนั้นหาไม่ |
ด้วยองค์พระพรตภูวไนย | เป็นใหญ่แก่ข้าบริจา |
ซึ่งจะมาภิรมย์สมสนิท | บาปกรรมจะติดไปภายหน้า |
ถึงพระองค์เป็นวงศ์กษัตรา | จะห้ามเวราได้เมื่อไรมี |
ว่าพลางปัดกรผินพักตร์ | นงลักษณ์ถอยถดขยดหนี |
ลางนางกันแสงโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ แสนเอยแสนคม | ถ้อยคำคารมไม่หาได้ |
ช่างคิดพร้อมกันรำพันไป | ว่าไยฉะนี้วนิดา |
ประเวณีกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ยกพยุห์จตุรงค์ไปเข่นฆ่า |
รบรุกชิงชัยได้พารา | สารพัดสิทธิ์สิ้นทั้งธานี |
อันศฤงคารบริวารโภไคย | ยังจะเป็นของใครนะเจ้าพี่ |
บาปกรรมอะไรที่ไหนมี | ข้อนี้อย่าได้ว่าวอน |
อันซึ่งสามีของเจ้า | เขาไม่รักใคร่ดวงสมร |
จึ่งทิ้งไว้ที่ในพระนคร | จะทุกข์ร้อนโศกาด้วยอันใด |
พี่จะถนอมนวลสงวนรัก | จะต้องถือมือหนักก็หาไม่ |
ว่าพลางกรเกี่ยวกระหวัดไว้ | พิสมัยในรสฤดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เชยนมชมเนตรเกศแก้ม | ยิ้มแย้มคลึงเคล้าโฉมศรี |
สัพยอกหยอกเย้าไปในที | ด้วยความยินดีเป็นพ้นนัก |
อิ่มเอิบในรสกามา | ดั่งได้ฟากฟ้าอาณาจักร |
ครั้นเสร็จสู่สมภิรมย์รัก | ขุนยักษ์เที่ยวทั่วทั้งวังใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เชยชมพระสนมสาวสรรค์ | ทุกห้องกำนัลหาเว้นไม่ |
ทั้งไพชยนต์พระสัตรุดวุฒิไกร | ปราสาทท้าวไกยเกษก็เที่ยวมา |
ฉวยฉุดยุดนางข้างซ้าย | แล้วย้ายหยอกนางข้างขวา |
รื่นเริงบันเทิงใจอสุรา | ดั่งช้างสารกล้าบ้ามัน |
ฝ่าโขลงแล่นเล่นจวดจบ | ตลบเลี้ยวไล่หวนหัน |
ที่ในกลางฝูงพระกำนัล | กุมภัณฑ์แสนสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จภิรมย์สมสวาท | ทุกห้องไสยาสน์ราชฐาน |
ก็ลงจากปราสาทสุรกานต์ | ขุนมารไปยังพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาไกยเกษน้อยใหญ่ |
จึ่งปรึกษาท้าวนางข้างใน | ว่าคนธรรพ์มันได้พระบุรี |
เห็นจะกวาดครอบครัวอพยพ | ไปยังพิภพยักษี |
อันทัพอยุธยาธานี | น่าที่จะมาไม่ทัน |
จะอุบายชวนให้ประพาส | รุกขชาติที่ในสวนขวัญ |
ฝ่ายเราจะแต่งกำนัล | ไปบำเรอผูกพันขุนมาร |
เห็นจะระเริงจิตพิศวง | งวยงงด้วยความเกษมศานต์ |
กว่าสองน้องนารายณ์อวตาร | จะยกมาสังหารอสุรา |
ครั้นเห็นอุบายพร้อมกัน | พอท้าวคนธรรพ์ยักษา |
เสด็จออกพระโรงรัตนา | เสนีก็พากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ต่างตนต่างคลานขึ้นเฝ้า | น้อมเกล้าบังคมประนมไหว้ |
ทูลพระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | มาดำรงพิชัยธานี |
ยังไม่ได้ไปประพาส | รุกขชาติที่ในสวนศรี |
อันทรงดอกออกผลงามดี | เป็นที่แสนสุขภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ยักษา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
เหวยเหวยดูก่อนนนทการ | จงจัดทวยหาญน้อยใหญ่ |
เทียมทั้งรถแก้วแววไว | กูจะไปเล่นสวนมาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทการเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันโดยกระบวน | ถ้วนตามตำแหน่งซ้ายขวา |
สารวัตรตรวจจัดเป็นโลกา | เร่งรัดกันมาทุกหมวดกอง |
จับฉลากต้นเชือกปลายเชือก | ทนายเลือกถือปืนเป็นทิวท่อง |
ถัดมานั้นเหล่าทวนทอง | แล้วพวกกระบองเป็นคู่กัน |
ตั้งแน่นตามแนวแถวถนน | ฉัตรธงเกลื่อนกล่นสลับคั่น |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพรรณ | คอยเสด็จกุมภัณฑ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางเถ้าแก่พร้อมหน้า |
จึ่งจัดฝูงอนงค์กัลยา | ล้วนทรงลักขณาอำไพ |
ทั้งนางขับรำระบำบัน | อันมีปัญญาอัชฌาสัย |
อรชรอ้อนแอ้นจำเริญวัย | แต่งโฉมวิไลดั่งกินรี |
อันนางทนายโขลนจ่า | ตรวจตราเรียกหากันอึงมี่ |
ทั้งเตี้ยค่อมนักเทศขันที | มาคอยอสุรีพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวคนธรรพ์นุราชรังสรรค์ |
กับโอรสผู้ร่วมชีวัน | จรจรัลมาที่สนานองค์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กระแสสินธุ์โปรยปรายสุหร่ายรัตน์ | สองกษัตริย์ชำระสระสรง |
ลูบไล้เครื่องต้นสุคนธ์ทรง | สนับเพลาเครือหงส์เชิงงอน |
พระบิตุเรศภูษิตพื้นตอง | ท้องแย่งยกรูปไกรสร |
พระโอรสพื้นม่วงอรชร | ตรวยเชิงมังกรกิเลนกลาย |
ชายไหวชายแครงเครือครุฑ | ฉลององค์ทองผุดฉานฉาย |
ตาบทิศทับทรวงจำหลักลาย | สังวาลแก้วแพรวพรายพาหุรัด |
ทองกรกุดั่นประดับพลอย | ธำมรงค์เพชรพลอยทุกนิ้วหัตถ์ |
มงกุฎกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสด้วยโกมิน |
ห้อยพวงสุวรรณมาลา | ต่างทรงมหาธนูศิลป์ |
พร้อมฝูงกัลยายุพาพิน | ลินลามาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ รถเอยสองรถประพาส | แอกงอนหุ้มมาศงามระหง |
แปรกเรือนเครือครํ่ากำกง | ดุมวงบัลลังก์กระจังราย |
ลดชั้นคั่นภาพกระหนาบพลอย | ช่อห้อยบุษบกบัวหงาย |
เสาซุ้มทรงมันแม่ลาย | ห้ายอดงามคล้ายวิมานฟ้า |
เทียมด้วยไกรสีห์สี่พัน | โลทันถือหอกเงื้อง่า |
สำทับขับเร็วดั่งลมพา | เครื่องสูงสายระย้าธงชัย |
ปี่กลองฆ้องขานประสานแตร | พลแห่โห่สนั่นหวั่นไหว |
เสนาไกยเกษกรุงไกร | นำเสด็จไปยังอุทยาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | แล้วลงจากรถมุกดาหาร |
กับราชโอรสผู้ชัยชาญ | ฝูงสนมเยาวมาลย์ก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดเลี้ยวชมรุกขชาติ | ดอกผลดกดาษสาขา |
ม่วงปรางมะซางพะวา | น้อยหน่าร้อยลิ้นอินจันทน์ |
ลำดวนบุนนาคสาวหยุด | ชาตบุษย์สุกกรมนมสวรรค์ |
ยี่สุ่นสารภีมะลิวัลย์ | พิกันกุหลาบจำปี |
มังคุดมุดสีดาเฟืองไฟ | ทุเรียนลำไยลิ้นจี่ |
ลางสาดตาดตูมกะลุมพี | แหว้หว้าสาลี่ประยงค์ |
อินทนิลนางแย้มโยทะกา | สนสร้อยสร้อยฟ้ามหาหงส์ |
ซ่อนชู้อัญชันคันทรง | กาหลงเกดแก้วเป็นแถวไป |
สองกษัตริย์เด็ดดวงมาลี | กวักเรียกนารีแล้วยื่นให้ |
หยอกเย้าไขว่คว้าสำราญใจ | ที่ในสวนศรีมาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริยาอัสดง | ลดลงลับเหลี่ยมภูผา |
จึ่งเสด็จลีลาศยาตรา | ขึ้นยังพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลสาวศรี |
ความกลัวเป็นพ้นพันทวี | หมอบเฝ้าอสุรีด้วยจำใจ |
ลางนางก็เข้าอยู่งานพัด | โบกปัดรำเพยลมให้ |
ลางนางก็เข้ามาคอยใช้ | เกลื่อนกลาดทั้งในพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เหล่านางดุริยางคดนตรี | ก็ดีดสีตีเป่าขึ้นพร้อมหน้า |
ขับขานหวานจับวิญญาณ์ | โหยหวนครวญช้าโอดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | กรายกรร่ายเรียงเบี่ยงผัน |
นวยนาดย่างเยื้องจรจรัล | ตามกันเป็นคู่เคียงไป |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนท่า | ย้ายเพลงผาลาเพียงไหล่ |
ทั้งกินนรเลียบถํ้าอำไพ | ใครเห็นเป็นที่ยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวคนธรรพ์ยักษี |
เสด็จเหนือบัลลังก์รัตน์รูจี | อสุรีพลางทอดทัศนา |
เห็นโฉมเยาวมาลย์ลานสวาท | มารยาทชื่นชูเสน่หา |
ให้ต้องจิตพิศเพลินจำเริญตา | กามาเดือดดิ้นแดยัน |
จึ่งเสด็จลงจากบัลลังก์รัตน์ | กั้นสกัดฝูงอนงค์สาวสรรค์ |
เชยแก้มแนมดวงบุษบัน | กุมภัณฑ์คว้าไขว่ไปในที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ มีความรื่นเริงบันเทิงใจ | ด้วยฝูงนางในสาวศรี |
ลืมดิศศรีสินธานี | อันเป็นที่ผาสุกภิรมยา |
ลืมแสนสนมอนงค์นาฏ | ลืมองค์อัครราชเสน่หา |
แต่เล่นอยู่ในสวนมาลา | ได้หลายทิวาราตรีกาล |
แล้วเสด็จขึ้นยังบัลลังก์รถ | อลงกตด้วยดวงมุกดาหาร |
ให้เลิกพหลพลมาร | คืนสถานไกยเกษพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ