- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบมาดั่งพญาครุฑราช | ตาหมายอังกาศเขาใหญ่ |
ดั้นหมอกออกเมฆด้วยว่องไว | ลงใกล้ปากถํ้าคีรี |
ถึงที่พ่างพื้นก็ยืนอยู่ | ดูรอยบาทายักษี |
เห็นหมู่วานรพนาลี | พูดกันอึงมี่เดินมา |
ตามแถวแนวเนินสิงขร | หิ้วคอนหาบผลพฤกษา |
ขุนกระบี่จึ่งมีวาจา | ว่าเหวยดูก่อนลิงไพร |
เอ็งชวนกันเก็บผลาผล | แบกขนมานี้จะไปไหน |
หรือว่าจะให้แก่ผู้ใด | อันอยู่ในถํ้าคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงวานรพนาศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ข้านี้เก็บผลไม้มา |
ส่งนางวานรินทรามวัย | ที่ในอังกาศคูหา |
เช้าเย็นไม่เว้นเวลา | เป็นนิรันดร์มาช้านาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังลิงป่าแจ้งการ | ออกนามเยาวมาลย์ก็ยินดี |
ดั่งได้วิมานในสวรรค์ | ฉ้อชั้นยามาราศี |
ก็รีบเร่งจากคีรี | ตามหมู่กระบี่เข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงปากถํ้าแก้วแพรวพราย | ลูกพระพายผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งตรึกด้วยปรีชาไว | ครั้นจะไปด้วยเพศวานร |
เจรจาปราศรัยกับนาง | จะรังเกียจในทางสโมสร |
จะเนิ่นนานเสียการพระสี่กร | ซึ่งตามมาราญรอนอสุรี |
จำจะนิมิตเป็นมนุษย์ | ให้บริสุทธิ์หนุ่มน้อยเฉลิมศรี |
เข้าไปไต่ถามนางเทวี | น่าที่บังอรจะอ่อนใจ |
อันธรรมดาสตรีกับบุรุษ | สุดอยู่แต่ความพิสมัย |
มาตรแม้นจะประสงค์สิ่งใด | ก็จะได้สำเร็จดั่งจินดา |
คิดแล้วยอกรขึ้นเหนือเกล้า | ไหว้พระเป็นเจ้านาถา |
ทั้งคุณสมเด็จพระจักรา | ก็ร่ายเวทวิทยาแปลงกาย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
ชมตลาด
๏ เป็นมานพน้อยทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์พริ้มเพริศเฉิดฉาย |
ส่งศรีประเสริฐเลิศชาย | กรายกรเข้าถํ้าคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ฉุยฉาย
๏ ครั้นถึงเหลือบแลแปรเนตร | เห็นองค์อัคเรศโฉมศรี |
นั่งอยู่บนแท่นมณี | ขุนกระบี่เพ่งพิศไม่วางตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมโฉม
๏ พิศพักตร์ผ่องเพียงศศิธร | พิศขนงก่งงอนดั่งเลขา |
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคา | พิศนาสาแฉล้มอำไพ |
พิศโอษฐ์โอษฐ์เอี่ยมดั่งจะแย้ม | พิศแก้มเป็นที่พิสมัย |
พิศกรรณดั่งกลีบสุมาลัย | พิศทนต์แววไวดั่งแสงนิล |
พิศถันดั่งดวงปทุมาศ | พิศทรงวิลาสวิไลสิ้น |
พิศกรดั่งงวงหัสดิน | พิศโฉมดั่งกินรีฟ้า |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญจิต | ให้ครุ่นคิดในความเสน่หา |
แสนสวาทด่าวดิ้นในวิญญาณ์ | จึ่งมีวาจาถามไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ชาตรี
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | มารศรีผู้ยอดพิสมัย |
ทรงโฉมประโลมลานใจ | นามกรชื่อใดนางเทวี |
ถิ่นฐานบ้านเมืองสุริย์วงศ์ | พงศาอยู่ไหนนะโฉมศรี |
เหตุใดมาอยู่เดียวนี้ | ที่ในคีรีอนาถนัก |
หรือเสียสมบัติพัสถาน | บริวารไพร่ฟ้าอาณาจักร |
พี่ได้เห็นองค์นงลักษณ์ | ให้เพิ่มพูนความรักจำเริญตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางวานรินเสน่หา |
ได้ฟังก็เหลือบแลมา | เห็นมนุษย์โสภาวิลาวัณย์ |
กล้องแกล้งแน่งน้อยจำเริญเนตร | ดั่งเทเวศลงมาแต่สวรรค์ |
ยิ่งพิศยิ่งคิดอัศจรรย์ | กัลยาฉงนสนเท่ห์ใจ |
ใครหนออาจองทะนงนัก | จะเป็นเทวารักษ์หรือไฉน |
หรือจะเป็นอินทราสุราลัย | เทพไทในชั้นดุษฎี |
หรือจะเป็นพระสยมภูวนาถ | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
หรือจะเป็นเจ้าป่าพนาลี | แกล้งแปลงอินทรีย์เข้ามา |
เลียมล่อพูดจาปราศรัย | ลองกูดูใจกระมังหนา |
ให้สะเทิ้นเขินในวิญญาณ์ | ดั่งว่าจะแทรกปถพี |
ทั้งอายทั้งกลัวเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ผินผันหน้าหนี |
นิ่งเสียมิได้พาที | เทวีเดินชายกรายกร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | พริ้มเพราเพียงเทพอัปสร |
เทวาดลใจให้พี่จร | มาพบสายสมรในถํ้าทอง |
ดั่งหนึ่งได้ดวงมณีรัตน์ | ขององค์จักรพรรดิไม่มีสอง |
หวังจิตว่าจะฝากชีวิตน้อง | ร่วมห้องกว่าจะสิ้นชีวี |
ควรหรือนิ่งได้ไม่เมตตา | อนิจจาเคียดแค้นสิ่งใดพี่ |
ช่างผินพักตร์เสียได้ไม่ดูดี | เดินหนีไปไยนะน้องรัก |
จงเห็นยากที่พี่พยายาม | บุกป่าฝ่าหนามเพียงอกหัก |
ปรานีบ้างเถิดนะนงลักษณ์ | เจ้าจงเบือนพักตร์มาเจรจา |
แต่พอให้ชื่นชูจิต | เหมือนช่วยชีวิตสังขาร์ |
แม้นเจ้ามิได้กรุณา | น่าที่จะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางวานรินสาวสวรรค์ |
ได้ฟังวาจารำพัน | กัลยานิ่งนึกตรึกไป |
แต่กูต้องสาปพระอิศรา | มาอยู่ในที่คูหาใหญ่ |
ช้านานแต่คิดประมาณไว้ | ก็ได้ถึงสามหมื่นปี |
แสนยากแสนลำบากไม่มีสุข | แสนทุกข์เร่าร้อนดั่งเพลิงจี่ |
แต่ตัวกูผู้เดียวนี้ | ไม่มีใครที่จะไปมา |
เห็นแต่ยักษีมันหนีศร | พระสี่กรธิราชนาถา |
ก็สมด้วยโองการพระอิศรา | ที่ว่าจะพ้นโทษทัณฑ์ |
เหตุใดไม่เป็นวานร | มาราญรอนอสูรโมหันธ์ |
คิดดูก็น่าอัศจรรย์ | ครั้นมิพาทีไม่แจ้งความ |
จึ่งว่าตัวเจ้ามาแต่ไหน | ทำอุกอาจใจไม่เกรงขาม |
ล่วงถามถึงวงศ์พงศ์นาม | ลวนลามล่วงเลี้ยวไม่เกรงใจ |
เชิญเจ้าออกไปจากคูหา | ข้าจะเจรจาด้วยไม่ได้ |
จะเป็นที่ติฉินไยไพ | รู้ไปถึงไหนก็ไม่ดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งกล่าววาที | อนิจจาเทวีไม่เมตตา |
มีความสงสัยจึ่งไต่ถาม | ใช่จะลวนลามไม่เกรงหน้า |
หวังจะใคร่แจ้งกิจจา | ควรหรือยังว่าไม่บอกกัน |
เสียแรงพี่บุกป่าฝ่าหนาม | พ่างเพียงจะปลงชีวาสัญ |
เพราะรักเจ้าเยาวลักษณ์วิไลวรรณ | จึ่งหมายมั่นเจาะจงมาหาน้อง |
หวังว่าจะฝากไมตรีจิต | ร่วมชีวิตด้วยเจ้าเป็นสอง |
จะสู้ตายด้วยเนื้อนวลละออง | อยู่ในถํ้าทองกับนารี |
อย่าขับพี่เสียเลยจากคูหา | เมตตาช่วยชูสวาทพี่ |
ว่าพลางย่างเยื้องจรลี | เดินหนีกันไยเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วานรินผู้ยอดสงสาร |
เห็นมานพเข้าใกล้จะต้องพาน | นงคราญเมียงม่ายชายไป |
ครั้นแล้วจึ่งตอบวาที | เจ้าว่าดั่งนี้น่าสงสัย |
ซึ่งว่าบุกป่าฝ่าไพร | ตั้งใจประสงค์จงมา |
เหตุไฉนตัวเจ้าจึ่งล่วงรู้ | ว่าข้านี้อยู่ในคูหา |
อย่าคำเพราะเกราะกล่าวเจรจา | เสกแสร้งมุสาพาที |
มาตรแม้นตัวเจ้าจะถามไถ่ | จะจำเพาะเข้าใกล้ก็ใช่ที่ |
เห็นว่าข้าเป็นสตรี | ทำทีข่มเหงไม่เกรงกัน |
ต้องการอะไรจะบอกเจ้า | ทุกข์เรายิ่งยวดกวดขัน |
มาและเลียมเล่นเช่นนั้น | ข้าคนสำคัญอย่าเข้ามา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏผู้ยอดเสน่หา |
ดวงใจจงได้เมตตา | ตัวข้าคนซื่ออย่าถือความ |
รักน้องจะปองฝากชีวิต | ใช่ว่าไม่คิดเกรงขาม |
ตัวพี่มิได้ลวนลาม | ซึ่งไถ่ถามด้วยความสวัสดี |
เหตุใดไม่แจ้งกิจจา | กัลยากลับถือโทษพี่ |
ทำคารมข่มสู้อยู่ดังนี้ | จะรู้ที่คิดอ่านประการใด |
จงบอกพี่เถิดนุชนาฏ | ถ้าพอวาสนาจะช่วยได้ |
จะประคองน้องน้อยกลอยใจ | มิให้เคืองขัดอัธยา |
ซึ่งธุระเจ้าเยาวลักษณ์ | ตกนักงานเราจะอาสา |
อันไมตรีของพี่ที่มีมา | สาวสวรรค์ขวัญฟ้าจงปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ถ้อยเอยถ้อยคำ | ดั่งอมฤตฟ้าในราศี |
กล่าวแกล้งแต่งลมพาที | แม้นมิทันรู้ก็ตายใจ |
ซึ่งว่าจะช่วยทุกข์เรา | คุณเจ้านั้นหาที่สุดไม่ |
แต่ข้อจะฝากไมตรีไว้ | คำนี้อย่าได้เจรจา |
ซึ่งเจ้าสงสัยจะไถ่ถาม | จะบอกให้ตามปรารถนา |
อันตัวข้านี้เป็นชาวฟ้า | ชื่อว่าวานรินนารี |
อยู่ยังหิรัญไกรลาส | เป็นข้าบาทพระอิศวรเรืองศรี |
แจ้งแล้วจงเร่งจรลี | อย่ามาเซ้าซี้จะขัดใจ |
ประการหนึ่งทราบถึงพระอิศรา | โทษาจะมีเป็นข้อใหญ่ |
ถึงตัวของเจ้าไม่พ้นภัย | จะพากันบรรลัยวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบพจมาน | คำเจ้าว่าขานนี้คมนัก |
อย่าเพ่อน้อยใจขอไถ่ถาม | จงแจ้งข้อความให้ประจักษ์ |
ว่าเป็นข้าพระอิศวรรังรักษ์ | ยังคิดแคลงนักนะเทวี |
เป็นไฉนไม่สถิตไกรลาส | จึ่งมาอยู่อังกาศคีรีศรี |
หรือเจ้าเอาศักดิ์พระศุลี | มาข่มพี่ให้เกรงพระอาญา |
ข้อซึ่งอาดูรพูนเทวษ | เหตุผลสิ่งใดก็ไม่ว่า |
แต่ยักเยื้อนเอื้อนคำจำนรรจา | เป็นน่าฉงนสนเท่ห์ใจ |
ถ้าเจ้าบอกความตามจริง | สารพัดทุกสิ่งจะช่วยได้ |
อย่าอาวรณ์เร่าร้อนฤทัย | พี่จะให้สำเร็จทุกประการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วานรินเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังมธุรสพจมาน | นงคราญจึ่งตอบวาที |
จะเล่าแก่เจ้าโดยสัจจา | เดิมข้านี้รองบทศรี |
องค์พระอิศโรโมลี | ยังที่ไกรลาสบรรพต |
เป็นงานรักษาประทีปทอง | ในห้องวิมานอลงกต |
วันหนึ่งพระศุลีมียศ | ออกหมู่ดาบสเทวา |
เสด็จนั่งสั่งสนทนานาน | ด้วยนารอทอาจารย์ฌานกล้า |
ข้าไปพูดเล่นกับนางฟ้า | ชวาลาอัจกลับนั้นดับไป |
องค์พระศุลีผู้มีฤทธิ์ | ประกาศิตเรียกหาก็ไม่ได้ |
โกรธาสาปข้าลงมาไว้ | อยู่ในอังกาศคีรี |
เมื่อใดพระนารายณ์อวตาร | มาสังหารทศพักตร์ยักษี |
ในกรุงลงกาธานี | ใช้ให้กระบี่หนุมาน |
มาตามวิรุญจำบัง | อันมีกำลังกล้าหาญ |
ให้ข้านี้แจ้งเหตุการณ์ | จึ่งจะพ้นสาบานเจ้าโลกา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ผู้ยอดเสน่หา |
บุญของเราแล้ววนิดา | เผอิญมีบัญชาพระจักรี |
ตรัสใช้ให้พี่มาตามยักษ์ | จึ่งพบนงลักษณ์เฉลิมศรี |
สมกับคำสาปพระศุลี | ทีนี้จะพ้นโทษภัย |
แม้นเจ้าบอกแจ้งแต่แรกมา | จะเนิ่นช้าฉะนี้ก็หาไม่ |
พี่จะช่วยทุกข์อรไท | แต่จะถึงใจสิ่งใดกัน |
ตัวพี่นี้คือหนุมาน | ยอดทหารพระนารายณ์รังสรรค์ |
ตามมาสังหารกุมภัณฑ์ | ที่มันเบียดเบียนแดนไตร |
อันวิรุญจำบังยักษี | เข้ามาที่นี่หรือไม่ |
เจ้าจงบอกความแต่จริงไป | จะได้ช่วยทุกข์กัลยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ลิ้นเอยลิ้นลม | คารมช่างคิดประดิษฐ์ว่า |
ไพเราะเพราะพริ้งแต่ต้นมา | จะให้ข้านี้เชื่อวาที |
นี่หรือเจ้าชื่อหนุมาน | ยอดทหารพระรามเรืองศรี |
รูปร่างอ้อนแอ้นอยู่เช่นนี้ | จะมาพาทีลวงเรา |
อย่าพักเลียมเล่นให้เห็นจริง | ถึงว่าเป็นหญิงก็รู้เท่า |
เรานี้มิได้ใจเบา | ที่จะเชื่อลมเจ้าเจรจา |
ซึ่งอวดว่าเป็นทหาร | องค์พระอวตารนาถา |
ทั้งกุณฑลขนเพชรมาลา | เขี้ยวแก้วรจนาที่ไหนมี |
เป็นแต่มนุษย์ใช่วานร | ฤทธิรอนไม่รุ่งเรืองศรี |
ไม่หาวเป็นดาวเดือนรูจี | นี่จะว่าหนุมานประการใด |
จะไปล้างวิรุญจำบัง | ข้าฟังไม่กลั้นยิ้มได้ |
เจ้ายอดทหารชาญชัย | น่ากลัวฤทธิไกรอย่าเจรจา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนจำเริญเสน่หา |
คารมคมสันพ้นปัญญา | เหน็บแนมแกมว่าพาที |
เมื่อแจ้งแก่เจ้าโดยสัตย์ | ศรีสวัสดิ์ไม่เชื่อฟังพี่ |
ความชอบชอบแต่จะปรานี | นี่กลับเป็นเท็จทุกอัน |
น้องเอ๋ยอย่าเพ่อเย้ยเยาะก่อน | พี่กลัวแต่จะวอนไปสวรรค์ |
เหมือนบุษมาลีวิไลวรรณ | ที่ในเมืองมายันธานี |
ว่าพลางยอกรอภิวาท | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
สำรวมใจร่ายเวทอันฤทธี | ขุนกระบี่กลับกลายกายา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นวานร | มีเขี้ยวแก้วอรชรซ้ายขวา |
กุณฑลขนเพชรมาลา | หาวเป็นดาราเดือนตะวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | นางวานรินสาวสวรรค์ |
เห็นหนุมานชาญฉกรรจ์ | ตัวสั่นร้องกรีดขึ้นทันที |
สองหัตถ์ปิดเนตรนงลักษณ์ | ไม่อาจดูพักตร์กระบี่ศรี |
ความกลัวเพียงสิ้นสมประดี | เทวีไม่เงยพักตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงเนตร | เยาวเรศผู้ยอดเสน่หา |
เห็นจริงหรือไม่วนิดา | กับคำที่ว่าแต่เดิมที |
อันตัวของเจ้าเยาวมาลย์ | พระสยมภูวญาณประทานพี่ |
เป็นบำเหน็จซึ่งตามอสุรี | โฉมศรีจะว่าประการใด |
หรือแหนงแคลงจิตจึงปิดพักตร์ | จงดูให้ประจักษ์ที่สงสัย |
เจ้าอย่าทำตระหนกตกใจ | พี่ไม่มีฤทธิ์เดชา |
ว่าพลางลูบหลังนงเยาว์ | หยอกเย้าด้วยความเสน่หา |
จุมพิตพิศพักตร์กัลยา | ไขว่คว้าเลียมลอดสอดกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางวานรินดวงสมร |
สลัดปัดมือวานร | ค้อนให้แล้วกล่าววาที |
ตัวท่านสิเป็นทหาร | องค์พระอวตารเรืองศรี |
จงเร่งไปตามอสุรี | อย่ามาเซ้าซี้จะขัดใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ ทรามเชยทรามสงวน | นิ่มนวลเยาวยอดพิสมัย |
เจ้าดวงดอกฟ้าสุราลัย | ขับพี่เสียได้กัลยา |
อันความรักเจ้านี้แสนรัก | สุดที่จะหักเสน่หา |
ปรานีบ้างเถิดนะแก้วตา | วาสนาเคยคู่มาด้วยกัน |
ว่าพลางกรเกี่ยวกระหวัด | สัมผัสภิรมย์ชมขวัญ |
อิงแอบแนบชิดพัลวัน | เชยดวงบุษบันอรชร |
ภุมรินบินว่อนร่อนร้อง | คลึงซาบอาบละอองเกสร |
สุมามาลย์บานรับทินกร | ขจรรสเสาวคนธ์รวยริน |
พระพายชายพัดพานระลอก | กระฉอกฝั่งฟองฟุ้งกระแสสินธุ์ |
สองสมภิรมย์รสยวนยิน | เกษมสุขซาบสิ้นทั้งสองรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | วานรินเยาวยอดเสน่หา |
ได้ร่วมรสฤดีกรีฑา | ด้วยวายุบุตรวุฒิไกร |
แรกรู้รสภิรมย์สมสนิท | อิงแอบแนบชิดไม่ห่างได้ |
ลืมอายใหลหลงปลงใจ | ทรามวัยลืมทุกข์ทรมาน |
ลืมองค์พระสยมภูวนาถ | ลืมทั้งไกรลาสราชฐาน |
ลืมเพื่อนสาวสวรรค์บริวาร | เยาวมาลย์เพลิดเพลินวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารกล้า |
เสร็จสมภิรมย์นางฟ้า | แล้วมีวาจาอันสุนทร |
ค่อยอยู่ก่อนเถิดนะนงลักษณ์ | พี่จักลาเจ้าดวงสมร |
ไปโดยบัญชาพระสี่กร | รีบจรตามล้างอสุรี |
แล้วจึ่งจะกลับมาหาน้อง | ร่วมห้องผู้มิ่งมารศรี |
จะส่งไปไกรลาสวันนี้ | เจ้าพี่อย่าร้อนรนใจ |
อันวิรุญจำบังยักษา | หนีมาซ่อนอยู่ตำบลไหน |
จงชี้มรคาให้พี่ไป | จะได้ประหารชีวิตมัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางวานรินสาวสวรรค์ |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | กัลยาตะลึงทั้งอินทรีย์ |
แสนทุกข์แสนเทวษแสนโศก | ด้วยจิตจะวิโยคกระบี่ศรี |
ให้เปล่าอกเปล่าใจเทวี | มีแต่สะท้อนถอนใจ |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | จะออกปากเจรจามิใคร่ได้ |
กอดบาทหนุมานเข้าไว้ | สะอื้นไห้เพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ระงับจิตคิดถึงจะพ้นทุกข์ | คืนสุขไกรลาสคีรีศรี |
จึ่งยกหัตถ์เบื้องขวานางเทวี | ชี้บอกตำแหน่งมรคา |
อันวิรุญจำบังมันหนีศร | พระสี่กรธิราชนาถา |
ไปซ่อนอยู่ในฟองคงคา | สีทันดรมหาสมุทรไท |
ที่สุดสัตภัณฑ์บริเวณ | ทิศใต้พระเมรุเขาใหญ่ |
ท่านผู้ศักดาปรีชาไว | จงรีบไปตามหาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังนางฟ้าพาที | ชี้บอกที่อยู่กุมภัณฑ์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
จึ่งสวมกอดวนิดาวิลาวัณย์ | รับขวัญจุมพิตอรไท |
ครั้นแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ออกจากคูหาด้วยว่องไว | เหาะไปโดยทางเมฆา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงอัศกรรณคีรี | ขุนกระบี่ผู้มียศถา |
ก็ลงยังเชิงบรรพตา | แทบฝั่งมหาชลธาร |
จึ่งเห็นฟองนํ้าทั้งหลาย | เรี่ยรายตามระลอกกระฉอกฉาน |
แต่ฟองหนึ่งใหญ่ล้นพ้นประมาณ | บันดาลแน่นิ่งในวารี |
คิดเห็นประหลาดใจนัก | ชะรอยว่าขุนยักษ์ที่มันหนี |
มาซ่อนอยู่ในฟองนี้ | กระบี่สำคัญมั่นใจ |
หมายเขม้นจะจับอสุรินทร์ | ในกลางสายสินธุ์สมุทรใหญ่ |
ยอกรไหว้คุณเจ้าภพไตร | สะกดใจร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ กายใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าภูผา |
แปดกรสี่พักตร์เจษฎา | ฉวยคว้าฟองใหญ่ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
เข้าอยู่ในมือไพรี | มีความตระหนกตกใจ |
กายนั้นก็คืนเป็นยักษา | ทำศักดาแก้ตัวออกมาได้ |
กวัดแกว่งกระบองดั่งเปลวไฟ | โผนเข้าชิงชัยด้วยวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ยืนยันบนหลังสาคร | ประจัญกรรอนรันอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระสมุทรเป็นระลอกกระฉอกฉาน | สะเทือนถึงจักรวาลคีรีศรี |
ต่างหาญต่างกล้าราวี | ถ้อยทีตีตอบกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
รบชิดไม่คิดชีวา | อสุราโถมจับหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่าวายุบุตร | เงื้อคทาวุธจะสังหาร |
หันเวียนเปลี่ยนท่ารอนราญ | ขุนมารตีต้องวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
อสุราตีด้วยคทาธร | จมท้องสาครลงไป |
จนกระทั่งพ่างพื้นแผ่นดิน | ขุนกระบินทร์กลับผุดขึ้นมาได้ |
ชักตรีกวัดแกว่งดั่งแสงไฟ | เข้าไล่โจมจับอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่ายืนยัน | กรนั้นชิงคทายักษี |
ตีต้องอสุราเป็นหลายที | ซ้ำแทงด้วยตรีอันศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
เสียกระบองดั่งเสียชีวา | อสุราสลดระทดใจ |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะราญรอน | สุดที่ต่อกรกระบี่ได้ |
ความเจ็บปิ้มม้วยบรรลัย | สะกดใจร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนตร์พรหมา | คงคาให้ช่องแก่ยักษี |
หนีลงตามปล่องวารี | ยังที่พ่างพื้นดินดาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ นั่งอยู่ในท้องพระสมุทร | อันลึกสุดกว้างใหญ่ไพศาล |
สมาธิสำรวมวิญญาณ | ขุนมารร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | หนุมานชาญชัยใจกล้า |
เห็นวิรุญจำบังอสุรา | ไม่กลับเข้ามาชิงชัย |
หายไปในท้องพระสมุทร | จะเห็นผุดขึ้นมาก็หาไม่ |
ขุนกระบี่ผู้ปรีชาไว | หมายใจจะจับกุมภัณฑ์ |
จึ่งยอกรถวายอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถรังสรรค์ |
กับองค์พระพายเทวัญ | กลั้นใจร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ หางนั้นใหญ่ยาวหยั่งสมุทร | ตลอดถึงที่สุดแผ่นผา |
แล้ววงรอบล้อมกายอสุรา | ค่อยขยับเข้ามาทุกที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
ซ่อนอยู่ในท้องวารี | ขุนกระบี่เอาหางล้อมไว้ |
ตกใจหน้าซีดตัวสั่น | จะดึงดันหนีออกก็ไม่ได้ |
ผุดลุกขึ้นวิ่งวุ่นไป | เวียนไวเสือกสนลนลาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รวบรัดมัดได้ขุนมาร | ถีบทะยานขึ้นจากชลธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เตียว
๏ ยืนอยู่ยังเชิงอัศกรรณ | มือนั้นจับเท้ายักษี |
ฟาดเข้ากับเหลี่ยมคีรี | ก็สุดสิ้นชีวีด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางวานรินเสน่หา |
ตั้งแต่หนุมานผู้ศักดา | นิรารสรักจากไป |
อยู่หลังมีแต่ทนเทวษ | เยาวเรศเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
ผู้เดียวเปลี่ยวอกเปล่าใจ | ฤทัยเร่าร้อนดั่งอัคคี |
หัวเหิ่มเริ่มรู้สังวาส | แสนสวาทลูกพระพายเรืองศรี |
แสนวิโยคโศกศัลย์พันทวี | ด้วยไกลขุนกระบี่ผู้มีฤทธิ์ |
ทั้งทุกข์ถึงคำสาปพระทรงญาณ | เปรียบปานแสงศรมาเสียบจิต |
เป็นสองทุกข์แทบถึงชีวิต | คิดคิดแล้วร่ำโศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ โอ้อนิจจาตัวกู | มาทนทุกข์อยู่ในคูหา |
ครั้นพบทหารพระจักรา | ยินดีว่าจะพ้นโทษภัย |
ขุนกระบี่ไปแล้วก็ไม่กลับ | จนทินกรเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
ผิดกับสัญญาที่ว่าไว้ | หรือไม่ไปพบอสุรี |
หรือว่าเข่นฆ่ายักษาตาย | กลับไปเฝ้านารายณ์เรืองศรี |
อกเอ๋ยถ้าเป็นเช่นนี้ | เห็นทีจะไม่กลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ อย่าเลยจะออกไปคอยดู | อยู่ที่นอกปากคูหา |
ให้สิ้นสงสัยในวิญญาณ์ | คิดแล้วนางฟ้าก็รีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงที่แผ่นศิลาลาด | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
นั่งลงเหนือแท่นอลงกรณ์ | บังอรคอยศรีหนุมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ครั้นฆ่าอสุราวายปราณ | หิ้วเศียรทะยานเหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ใกล้ถึงอังกาศสิงขร | วานรผู้มียศถา |
ก็ลงย่างพ่างพื้นพสุธา | ตรงมาคูหาอันรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางวานรินโฉมศรี |
ทอดตาตามทางพนาลี | แลเห็นกระบี่มาแต่ไกล |
มีความชื่นชมโสมนัส | พักตร์ผ่องจำรัสดั่งแขไข |
ลุกจากแผ่นผาอำไพ | ออกไปรับศรีหนุมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นวานรินนงคราญ | เยาวมาลย์มารับก็ยินดี |
จึ่งวางเศียรวิรุญจำบัง | ลงไว้ยังเชิงคีรีศรี |
กุมกรอัครราชเทวี | เข้าถํ้ามณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางวานรินสาวสวรรค์ |
ครั้นถึงแท่นแก้วแกมสุวรรณ | บังคมคัลแล้วกล่าววาจา |
ท่านไปเป็นไฉนจึ่งช้านัก | ให้น้องรักละห้อยคอยหา |
แสนทุกข์แสนเทวษโศกา | ปิ้มประหนึ่งชีวาจะบรรลัย |
เพราะรักผินพักตร์ไปนั่งคอย | จะพริบตาสักหน่อยก็หาไม่ |
ครั้นเห็นกลับมาก็ดีใจ | ดั่งได้ดวงแก้วมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานชาญฤทธิ์เรืองศรี |
ได้ฟังนางฟ้าพาที | ขุนกระบี่รับขวัญกัลยา |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดเสน่หา |
อันความพี่รักวนิดา | ดั่งว่าดวงเนตรดวงใจ |
ถึงเมื่อรณรงค์กับขุนยักษ์ | จะลืมองค์นงลักษณ์ก็หาไม่ |
ซึ่งล่วงเวลาช้าไป | ขออภัยเสียเถิดนะเทวี |
ว่าพลางก็ทางสัพยอก | เย้าหยอกด้วยความเกษมศรี |
จุมพิตพิศทั่วทั้งอินทรีย์ | ขุนกระบี่คว้าไขว่ไปมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วานรินเยาวยอดเสน่หา |
ปัดกรค้อนคมด้วยมายา | แล้วมีวาจาว่าวอน |
บัดนี้ก็ได้ราชการ | ของพระอวตารทรงศร |
เมตตาช่วยข้าบังอร | ให้สิ้นทุกข์สิ้นร้อนในวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ยิ้มพลางทางตอบวาที | ตัวพี่จะช่วยกัลยา |
ให้ได้คืนไปรองบาท | พระสยมภูวนาถนาถา |
แต่พี่จะจากวนิดา | อาลัยเป็นพ้นพันทวี |
ด้วยจะนิรารสรัก | ไกลเจ้าเยาวลักษณ์เฉลิมศรี |
จะขอชมอัครราชนารี | ในเวลานี้ให้อิ่มใจ |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | แสนสนิทด้วยความพิสมัย |
เชยแก้มแนมโอษฐ์อรไท | ลูบไล้ดวงทิพย์สุมณฑา |
คลึงเคล้าเย้ายั่วภิรมย์ขวัญ | เกษมสันต์ในรสเสน่หา |
ทั้งสองโสมนัสปรีดา | ในแท่นไสยาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | นวลนางวานรินดวงสมร |
ได้เพิ่มรสรักกับวานร | บังอรพิศวาสจะขาดใจ |
ทุกข์ที่กระบี่จะวิโยค | แสนโศกทอดถอนใจใหญ่ |
ชลเนตรคลอเนตรอรไท | สะอื้นไห้กับตักหนุมาน |
ตัวน้องจะจำจากบาท | คืนไปไกรลาสราชฐาน |
ท่านอยู่เป็นข้าพระอวตาร | จงทำราชการให้ถาวร |
อันศัตรูหมู่พวกปัจจามิตร | ถึงจะมีฤทธิ์ด้วยแสงศร |
อย่าให้มันรอต่อกร | จงขจรเดชาทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ตระโบมโลมเล้านางเทวี | แก้วตาของพี่คือดวงใจ |
แม้นมิเกรงองค์พระทรงศร | พี่จะจากบังอรก็หาไม่ |
จะอยู่ชมสมนุชอรไท | มิได้นิราศคลาดคลา |
อันพรของเจ้าเยาวลักษณ์ | น่ารักเป็นที่เสน่หา |
ซาบไปทุกเส้นโลมา | ดั่งอมฤตฟ้าวารี |
เจ้าไปได้สุขยังไกรลาส | แสนสวาทอย่าลืมสวาทพี่ |
ว่าพลางอุ้มองค์เทวี | ออกจากแท่นที่อลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงปากถํ้าสุรกานต์ | ก็วางองค์เยาวมาลย์ดวงสมร |
ลงแล้วพิศพักตร์บังอร | ยิ่งสะท้อนถอนใจไปมา |
พี่คิดมิใคร่จะส่งเจ้า | ยุพเยาว์แสนสุดเสน่หา |
หากเกรงสมเด็จพระอิศรา | จะโกรธาว่าล่วงบัญชาการ |
ตั้งแต่วันนี้ไม่เห็นพักตร์ | น้องรักผู้ยอดสงสาร |
ว่าแล้วอุ้มองค์เยาวมาลย์ | งามปานท่อนทองรูจี |
ขว้างขึ้นไปยังอัมพร | ด้วยกำลังฤทธิรอนกระบี่ศรี |
ถึงมหาไกรลาสคีรี | สถิตที่วิมานอลงการ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์นาถา |
เห็นภาพพยนต์มารยา | ทั้งยักษ์ทั้งม้าหายไป |
แต่ผ้าโพกกับหอกตกอยู่ | ก็รู้ว่าหนุมานทหารใหญ่ |
ฆ่าวิรุญจำบังบรรลัย | ภูวไนยแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้เสวยทิพย์สมบัติ | อันไพบูลย์พูนสวัสดิ์ทั้งไตรจักร |
กับพระอนุชาผู้ร่วมรัก | ตั้งพักตร์คอยศรีหนุมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
เสร็จส่งนางฟ้ายุพาพาล | หิ้วเศียรขุนมารเหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสนามรณรงค์ | ก็ลงจากพ่างพื้นเวหา |
คลานเข้าเฝ้าพระจักรา | ท่ามกลางเสนาพลากร |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
ตามซึ่งได้ไปราญรอน | วานรถวายเศียรอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
เห็นเศียรกุมภัณฑ์ก็ยินดี | ภูมีสรรเสริญหนุมาน |
มิเสียแรงเป็นลูกพระพาย | เลิศชายศักดากล้าหาญ |
ใช้ไหนก็ได้ราชการ | ปานประหนึ่งจักรแก้วอันฤทธา |
ตรัสแล้วให้กลับเวไชยันต์ | เลิกพวกพลขันธ์ซ้ายขวา |
โห่สนั่นลั่นเลื่อนโกลา | คืนเข้าพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ รุกร้น
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษี |
เห็นสองพญาอสุรี | สุดสิ้นชีวีบรรลัย |
ทั้งหมู่ม้ารถคชพล | จะเหลือแต่สักตนก็หาไม่ |
ความกลัวดั่งจะดั้นแผ่นดินไป | ก็พากันเข้าในลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ว่าพระสหายร่วมชีวา | กับพระนัดดาฤทธิรอน |
ยกพลออกไปรณรงค์ | ด้วยองค์พระรามทรงศร |
สองกษัตริย์กับพวกพลากร | วานรฆ่าเสียแหลกลาญ |
บัดนี้อริราชไพรี | เลิกหมู่โยธีทวยหาญ |
โห่สนั่นครั่นครื้นสุธาธาร | คืนไปสถานทัพมัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
แจ้งข่าวเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ | กุมภัณฑ์นิ่งขึงตะลึงไป |
ให้คับแค้นแน่นในอุรา | จะหายใจออกมามิใคร่ได้ |
ไม่ออกโอษฐ์บรรหารประการใด | ก็เข้าไปในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พระกรก่ายนลาฏยักษี |
แสนทุกข์แสนเทวษแสนทวี | อสุรีครวญคร่ำรำพัน |
เสียดายสมเด็จพระสหาย | เลิศชายลือชื่อทั่วสวรรค์ |
ทั้งนัดดาปานดวงชีวัน | ชาญฉกรรจ์ในการชิงชัย |
เสียแรงที่รู้เวทมนต์ | กำบังตนหายตนไปได้ |
มาแพ้ฤทธิ์ไพรีกระบี่ไพร | ดั่งใช่สุรชาติกษัตรา |
อกเอ๋ยโอ้ว่าแต่วันนี้ | แสนทุกข์สิ้นที่จะปรึกษา |
ตัวกูผู้กอปรด้วยศักดา | ก็เอกาในกิจที่คิดการ |
เล็งหาไม่เห็นสุริย์วงศ์ | ซึ่งอาจองจะออกไปหักหาญ |
สุดหวังดั่งว่าชลธาร | สุดประมาณที่จะหมายสิ่งใด |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่นิทรา | อสุราทอดถอนใจใหญ่ |
จนตราบเท่าแสงทองอโณทัย | เรืองไรในพื้นอัมพร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งคิดได้ว่าท้าวมาลี | สถิตที่ยอดฟ้าสิงขร |
เป็นพระอัยกาฤทธิรอน | ทรงเดชขจรมหึมา |
จะว่าสิ่งใดก็ประสิทธิ์ | ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นผา |
พระองค์ดำรงในสัตยา | แม้นโกรธาชักแช่งผู้ใด |
ก็เป็นตามบัญชาพจนารถ | จะเคลื่อนคลาดไปนั้นหาไม่ |
กูจะให้ไปเชิญภูวไนย | มายังพิชัยลงกา |
แล้วจะกล่าวโทษรามลักษมณ์ | เป็นวัวพันหลักแอบว่า |
ให้พระองค์กริ้วโกรธโกรธา | จะพรรณนาแต่เดิมให้ฟัง |
ที่คำฉกรรจ์จะสรรใส่ | จะจัดให้เป็นข้อหน้าหลัง |
ซึ่งตัวกูผิดจะปิดบัง | ฝังแฝงแจ้งไปให้เห็นดี |
พระองค์ก็เชื่อวาจา | จะแช่งด่าลักษมณ์รามทั้งสองศรี |
ฝ่ายว่าอริราชไพรี | น่าที่จะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ คิดแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพรรณรายฉายฉัน |
เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | ออกพระโรงคัลโอฬาร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมหมู่เสนาพฤฒามาตย์ | กวีราชสุริย์วงศ์พงศา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งสองนัดดาอสุรี |
นนยวิกวายุเวกจงรีบไป | ยังไศลยอดฟ้าคีรีศรี |
ทูลพระอัยกาธิบดี | ว่าบัดนี้ลงกาพระนคร |
มีมนุษย์ชื่อว่ารามลักษมณ์ | พี่น้องฮึกฮักชาญสมร |
คุมกระบี่โยธาพลากร | มาราญรอนรบรุกบุกบัน |
เคี่ยวฆ่าสุริย์วงศ์พรหมาน | บรรลัยลาญสิ้นชีพอาสัญ |
ข้าศึกยิ่งฮึกขึ้นทุกวัน | เชิญพระทรงธรรมเสด็จมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็ออกมาจากท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงที่อยู่อสุรี | จึ่งสั่งขุนพาชีนายใหญ่ |
เร่งผูกสินธพมโนมัย | ที่เดินได้โดยทางอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนอาชาชาญสมร |
รับสั่งหลานท้าวยี่สิบกร | ก็รีบจรไปโรงพาชี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งผูกอนันตสิงหาสน์ | อันร้ายกาจดั่งพญาราชสีห์ |
ทั้งเมฆมาลาตัวดี | มีพยศดั่งม้าพระสุริยา |
ประดับเครื่องเรืองรองด้วยกุดั่น | ใบโพธิ์สุวรรณห้อยหน้า |
สองหูพู่ขาวรจนา | งามสง่าลำพองคะนองฤทธิ์ |
ก็เสร็จตามราชบรรหาร | หลานเจ้าลงกาประกาศิต |
ประทับกับเกยแก้วชวลิต | คอยสองทรงฤทธิ์เสด็จจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกชาญสมร |
ครั้นเสร็จซึ่งผูกอัสดร | ก็กรายกรมาสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สององค์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปนาคิน | ภูษาธงข้าวบิณฑ์พื้นแดง |
ต่างทรงชายแครงชายไหว | ฉลององค์อำไพเครือแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลเพชรลูกแตงชิงดวง |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | ธำมรงค์เรือนสุบรรณรุ้งร่วง |
ปักจุฑามณีดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
งามองค์งามทรงงามสง่า | ดั่งบุตรพญาไกรสร |
ยุรยาตรวาดชายกรายกร | ไปขึ้นอัสดรมโนมัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ม้าเอยสองม้าทรง | ฤทธิรงค์เดินโดยอากาศได้ |
เชื้อสินธพชาติอาชาไนย | ขี่ไล่ทันลมบรรลัยกาล |
ยกหูชูหางเริงร้อง | เผ่นโผนลำพองคะนองหาญ |
ผูกเครื่องเนาวรัตน์ชัชวาล | แคบอานเบาะเอี่ยมสะอาดตา |
ยกเท้าก้าวถีบทะยานหยัด | ลัดนิ้วลอยในเวหา |
เร็วเพียงลมพานพัดพา | ตรงไปยอดฟ้าคีรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงลงจากอัสดร | บทจรตามกันทั้งสองศรี |
ขึ้นเฝ้าอัยกาธิบดี | ในที่ไพชยนต์อลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรยอดฟ้ามหาสถาน |
บัดนี้ทศเศียรขุนมาร | ผู้เป็นหลานรักร่วมชีวัน |
ใช้ข้ามาเฝ้าเบื้องบาท | พระอัยกาธิราชรังสรรค์ |
ด้วยมนุษย์พี่น้องชาญฉกรรจ์ | นามนั้นชื่อว่ารามลักษมณ์ |
ยกพวกโยธาพลากร | ข้ามมหาสาครมาหาญหัก |
อาจองทะนงใจนัก | ฆ่าสุริย์วงศ์ยักษ์วายชนม์ |
ยังเหลือแต่องค์พระนัดดา | จะรบราข้าศึกนั้นขัดสน |
ไพร่ฟ้าประชากรก็ร้อนรน | เห็นจะอับจนเสียครั้งนี้ |
ขอเชิญเสด็จไปปกเกล้า | แก่เผ่าพันธุ์วงศ์ยักษี |
จะได้เย็นเกศอสุรี | ด้วยเดชภูมีอันศักดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ