- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงทรพีใจหาญ |
เทวารักษามาช้านาน | ในถํ้าสุรกานต์พรายพรรณ |
เหมือนได้กินนมมารดร | มีกำลังฤทธิรอนแข็งขัน |
จำเริญวัยใหญ่ขึ้นทุกวัน | ก็เที่ยวสัญจรออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ลองเชิงเริงร้องคะนองไพร | ไล่เลี้ยวเสี่ยวขวิดหินผา |
ตามสะกดบทจรทรพา | วัดรอยบาทาบิดาดู |
เห็นเท่าเติบใหญ่คล้ายคลึง | กํ้ากึ่งพอจะตอบต่อสู้ |
หมายเขม้นจะเป็นศัตรู | วันนี้ตัวกูกับบิดา |
จะได้ลองฤทธิ์ขวิดกัน | ประจัญดูกำลังให้หนักหนา |
คิดแล้วแอบพุ่มซุ่มกายา | จับกลิ่นกินหญ้าอยู่ริมธาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพญาทรพาใจหาญ |
นอนอยู่กับฝูงบริวาร | สุริย์ฉานส่องฟ้าพรายพรรณ |
จึ่งนำคณากาสร | สัญจรไปในพนาสัณฑ์ |
บันเทิงเริงสัตว์พัลวัน | พากันไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ทรพีฤทธิแรงแข็งกล้า |
ครั้นเห็นพญาทรพา | ปรีดาที่จะได้ชิงชัย |
โลดโผนโจนคะนองลองเขา | โก่งหางวางเข้ามาใกล้ |
สกัดทางขวางหน้าแล้วร้องไป | รู้จักเราหรือไม่ทรพา |
ตัวท่านใจบาปหยาบคาย | ฆ่าลูกตัวตายเสียหนักหนา |
เราก็เป็นบุตรในอุรา | หมายจะมาล้างชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ทรพาฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังกริ้วโกรธคือไฟกัลป์ | โก่งหางหูชันแล้วร้องไป |
ตัวมึงนี้หรือเป็นลูก | มาดูถูกเจรจาหยาบใหญ่ |
ฝ่ายกูผู้มีฤทธิไกร | เลื่องลือทั้งในอรัญวา |
แสนมหาพญาสารซับมัน | ไม่อาจหาญกีดกั้นขวางหน้า |
มึงสู่รู้จะสู้บิดา | กูจะล้างชีวาให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | คำแหงทรพีใจหาญ |
ฟังทรพากล่าวอหังการ | โผนทะยานเยาะเย้ยแล้วตอบไป |
ตัวท่านฉันทาทุจริต | หรือจะรอต่อฤทธิ์เราได้ |
เทวาก็ไม่อวยชัย | ที่ไหนจะรอดชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาทรพาแกล้วกล้า |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | สองตานั้นแดงดั่งแสงไฟ |
โก่งหางวางวิ่งส่ายเขา | ถาโถมโจมเข้าขวิดไขว่ |
ช้อนตักกลับกลอกว่องไว | หมายใจจะล้างชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงทรพีแข็งขัน |
โก่งคอย่อท้ายยืนประจัญ | เสี่ยวขวิดติดพันกระชั้นมา |
อันเขาต่อเขาเข้าประหาร | เสียงสะท้านเปรี้ยงเปรี้ยงดั่งฟ้าผ่า |
ได้ทีขวิดถูกทรพา | ก็ม้วยชีวาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นว่ามีชัยแก่บิดร | กาสรชื่นเริงเกษมศรี |
ลองเชิงเบิ่งมาด้วยยินดี | ยังที่ฝูงนางบริวาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ตลบจบกลิ่นถวิลสัตว์ | กำหนัดในความสงสาร |
ชื่นเริงบันเทิงเบิกบาน | ร่านร่ายร่วมรักกามกล |
ขวิดไขว่ไล่เลี้ยวโลมเลีย | สัพยอกหยอกเมียสับสน |
ยกหูชูหางเริงรน | วิ่งเลี้ยวเวียนวนสำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วระเห็จเตร็จเตริ่ง | ลองเชิงออกจากฝูงใหญ่ |
ลำพองคะนองฤทธิไกร | เที่ยวไปด้วยใจอหังการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงหิมวาพนาลี | ก็เสี่ยวขวิดคีรีพฤกษา |
แล้วร้องว่าเหวยเทวา | ใครมีศักดามาสู้กัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทพเจ้าหิมพานต์ไพรสัณฑ์ |
ได้ฟังมหิงสาอาธรรม์ | เทวัญรำพึงคะนึงคิด |
ตัวมันเป็นชาติเดียรฉาน | มาเที่ยวพาลด้วยใจทุจริต |
ถ้ากูจะออกต่อฤทธิ์ | ฆ่าชีวิตมันได้ก็ไม่ดี |
แม้นมาตรว่าพ่ายแพ้มัน | จะอับอายเทวัญทุกราศี |
คิดแล้วจึ่งตอบวาที | เรานี้ไม่มีฤทธิไกร |
ตัวท่านสิทรงศักดา | อันจะต่อฤทธาด้วยไม่ได้ |
ถ้าว่าจะใคร่ชิงชัย | จงไปยังเบญจบรรพต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทรพีใจกล้าสาหส |
เห็นเทวัญครั่นคร้ามขามยศ | ชื่นเริงแล้วบทจรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเบญจคีรินทร | ก็เข้าขวิดก้อนเขาใหญ่ |
เป็นประกายพรายแสงดั่งเปลวไฟ | แล้วร้องไปด้วยคำอหังการ |
เหวยเหวยดูกรเทเวศร์ | ลือว่ามีเดชกำลังหาญ |
กว่าเทพไทในหิมพานต์ | มารอนราญด้วยกูผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรคีรีทั้งห้า |
ฟังคำทรพีพาลา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
อันตัวของเราทั้งหลาย | จะต่อกำลังกายท่านไม่ได้ |
เทพเจ้ารักษาสมุทรไท | ฤทธิไกรเลิศลบธาตรี |
ตัวท่านจงไปรณรงค์ | กับองค์พระสมุทรเรืองศรี |
จึ่งจะได้เห็นฤทธี | ว่าแล้วก็ชี้มรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทรพีผู้ใจแกล้วกล้า |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ระเห็จมาด้วยกำลังฤทธิรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงโถมลงในสมุทร | ขวิดนํ้าอุตลุดกุลาหล |
ขุ่นข้นไปทั้งสายชล | แล้วร้องคำรนประกาศไป |
เหวยเหวยดูกรเทวา | ซึ่งอยู่รักษาสมุทรใหญ่ |
เลื่องชื่อลือเดชเกรียงไกร | มาชิงชัยให้เห็นฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสมุทรเทวัญเรืองศรี |
ได้ฟังพญาทรพี | พาทีองอาจอหังการ์ |
จึ่งว่าตัวเราไม่มีฤทธิ์ | ตั้งจิตอยู่ในอุเบกขา |
ผู้ใดใครร้อนสัญจรมา | ให้สบายกายาสำราญใจ |
ตัวท่านหยาบช้าทารุณ | จะรู้คุณเราก็หาไม่ |
แม้นว่าจะใคร่ชิงชัย | จงไปไกรลาสบรรพต ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ทรพีใจกล้าสาหส |
ได้ฟังดั่งอมฤตรส | ไม่คิดเกรงยศเจ้าโลกา |
จึ่งเผ่นโผนขึ้นจากฝั่งสมุทร | ด้วยฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ชันหูชูหางวางมา | โดยมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงหิรัญไกรลาส | เห็นพระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ยืนอยู่แล้วกล่าววาที | ว่าดูกรพระศุลีมีฤทธิ์ |
ตัวท่านผู้อัครเทวัญ | ปราบได้ถึงชั้นดุสิต |
เป็นใหญ่อยู่ในทศทิศ | มาลองฤทธิ์ด้วยเราผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้ฟังมหิงส์อหังการ์ | ผ่านฟ้ามีเทวโองการ |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้ทรพี | มาอ้างอวดฤทธีว่ากล้าหาญ |
ตัวมึงหยาบใหญ่ใจพาล | ไอ้ชาติเดียรฉานทรลักษณ์ |
ฆ่าพ่อตัวตายแล้วมิหนำ | จะซ้ำเอาคอมารอจักร |
มึงจะสู้กูไม่คู่พักตร์ | แม้นรักจะใคร่ราวี |
เอ็งจงรีบไปยุทธยง | ด้วยพาลีลูกองค์โกสีย์ |
ให้มึงสิ้นชีพชีวี | ด้วยฤทธีพญาพานร |
แล้วจงไปเอากำเนิด | บังเกิดเป็นบุตรพญาขร |
ชื่อมังกรกัณฐ์ฤทธิรอน | ให้ตายด้วยศรพระจักรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทรพีฤทธิแรงแข็งกล้า |
ครั้นต้องคำสาปเจ้าโลกา | เผอิญให้โมหาบ้าใจ |
ขวิดคัดไกรลาสสิงขร | สำแดงฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
ระเห็จมาในป่าพนาลัย | ตรงไปขีดขินธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเข้าสวนอุทยาน | ของลูกมัฆวานเรืองศรี |
ชนไม้หักล้มไม่สมประดี | ไล่ขวิดกระบี่วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรน้อยใหญ่ |
เห็นมหิงส์ไล่มาก็ตกใจ | ผู้ใดไม่อาจประจญ |
ต่างตนต่างก็กลัวตัวสั่น | เรียกร้องหากันกุลาหล |
บ้างคลานบ้างล้มอลวน | วิ่งพะปะปนกันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงทรพีใจกล้า |
ไม่มีใครรอต่อฤทธา | ก็วางมายังหน้าพระลานชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งร้องว่าเหวยพานรินทร์ | เจ้าเมืองขีดขินกรุงใหญ่ |
เขาลือว่ามีฤทธิไกร | ผู้ใดไม่อาจจะต้านทาน |
ตัวเราอยู่ในหิมเวศ | ก็ทรงเดชฤทธากล้าหาญ |
เทวาอารักษ์ทั้งจักรวาล | สะท้านท้อไม่ต่อศักดา |
ถึงพระอิศวรบรมนาถ | ก็ขยาดฤทธิ์กูผู้แกล้วกล้า |
เอ็งดีจงเร่งลงมา | เข่นฆ่าลองดูฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีชาญสมร |
เสด็จเหนือสิงหาสน์บัญชร | ได้ยินกาสรร้องมา |
กริ้วโกรธพิโรธคือไฟกัลป์ | ฉวยชักพระขรรค์อันคมกล้า |
โจนจากปราสาทแก้วแววฟ้า | สำแดงฤทธาเข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พญากาสรเรืองศรี |
โลดโผนโจนประจัญทันที | ต่างชนต่างตีสำแดงฤทธิ์ |
สองหาญต่อหาญไม่ลดกัน | ยุทธ์แย้งแทงฟันเสี่ยวขวิด |
หลบหลีกพัลวันกระชั้นชิด | ต่างคนไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พาลีฤทธิแรงแข็งกล้า |
ต่อด้วยทรพีแต่เช้ามา | จนถึงเวลาสายัณห์ |
จึ่งคิดว่ากาสรนี้สามารถ | องอาจฤทธิแรงแข็งขัน |
ยิ่งกว่าทศเศียรกุมภัณฑ์ | จะฆ่ามันกลางแปลงไม่ได้ที |
อย่าเลยจะลวงเข้าไป | ชิงชัยในถํ้าคีรีศรี |
เห็นจะขัดขวางทางต่อตี | ก็จะล้างชีวีมันวายปราณ |
คิดแล้วจึงมีวาจา | ดูราทรพีใจหาญ |
แต่เรารบรันประจัญบาน | ก็รู้จักประมาณฤทธิไกร |
มิเอ็งก็กูจะม้วยมิด | ที่จะรอดชีวิตนั้นหาไม่ |
บัดนี้สิ้นแสงอโณทัย | จงกลับไปสั่งฝูงบริวาร |
ฝ่ายเราก็จะสั่งฝูงอนงค์ | ทั้งสุริย์วงศ์โยธาทวยหาญ |
พรุ่งนี้จึ่งไปรอนราญ | ในถํ้าแก้วสุรกานต์พรรณราย |
ให้ลับมนุษย์ครุฑา | วิทยาอารักษ์ทั้งหลาย |
มาตรแม้นชีวิตจะวอดวาย | ก็ไม่อายไพร่ฟ้าประชากร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทรพีใจหาญชาญสมร |
กำเริบฤทธิ์คิดแต่จะราญรอน | หลงกลวานรก็ตอบไป |
ซึ่งจะสู้กันในคีรี | ทั้งนี้ก็ตามอัชฌาสัย |
จะคอยอยู่ปากถ้ำอำไพ | ว่าแล้วกลับไปอรัญวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวโกสีย์แกล้วกล้า |
เห็นกาสรหลงกลมารยา | ก็กลับมาด้วยความยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงนั่งเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
แล้วมีพจนารถวาที | แก่ศรีสุครีพผู้ร่วมใจ |
กาสรตัวนี้มันมีฤทธิ์ | จะหมายล้างชีวิตยังไม่ได้ |
พรุ่งนี้ลวงให้ไปชิงชัย | ที่ในถํ้าแก้วสุรกานต์ |
แม้นว่าพี่ต่อสู้มัน | เจ็ดวันไม่คืนราชฐาน |
ตัวเจ้าผู้ปรีชาชาญ | ไปดูที่ธารคีรี |
ถ้าเลือดข้นนั้นเลือดมหิงสา | เลือดไหลเหลวมานั้นเลือดพี่ |
จงขับพวกพลโยธี | ขนศิลาปิดปากถํ้าไว้ |
อย่าให้ผู้ใดใครมาพบ | เห็นซากอสภนั้นได้ |
สั่งแล้วลูกท้าวหัสนัยน์ | เสด็จไปเข้าที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ กล่อม
๏ ครั้นรุ่งแสงศรีรวีวรรณ | สุริยันเยี่ยมยอดภูผา |
แต่งองค์ทรงพระขรรค์ศักดา | ก็เหาะมาด้วยกำลังฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยลิ่วปลิวไปในคัคนานต์ | ถึงปากถํ้าสุรกานต์คีรีศรี |
จึ่งเห็นคำแหงทรพี | ขุนกระบี่กวักกรเรียกไป |
เหวยเหวยดูกรมหิงสา | เอ็งอหังการ์หยาบใหญ่ |
จงเร่งเข้ามาชิงชัย | ที่ในถํ้าแก้วสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงทรพีใจหาญ |
ได้ฟังลูกท้าวมัฆวาน | เผ่นทะยานเข้าถํ้าคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
โลดโผนโจนจับทรพี | ท่วงทีกลับกลอกว่องไว |
ต่างหาญต่างกล้าไม่ละกัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นภูเขาไหว |
ต่างขวิดต่างแทงวุ่นไป | ต่างถอยต่างไล่ราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ทรพีใจหาญชาญสมร |
ชนเสี่ยวเลี้ยวไล่ตะลุมบอน | ขวิดค้อนกลับกลอกไปมา |
เขาตีเท้าถีบโถมทะยาน | ต่อต้านยืนยันประจัญหน้า |
ถ้อยทีถ้อยมีฤทธา | หมายเขม้นเข่นฆ่าชีวิตกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พาลีฤทธิแรงแข็งขัน |
สัประยุทธ์ต่อยุทธ์ถึงเจ็ดวัน | เสมอกันถ้อยทีไม่มีชัย |
ก็ตรึกไปด้วยไวปัญญา | มหิงสาตัวนี้เป็นไฉน |
จึ่งมีฤทธาเกรียงไกร | หรือจะได้กำลังเทวัญ |
จำจะอุบายด้วยความคิด | ลวงล้างชีวิตให้อาสัญ |
ตริแล้วไม่รบติดพัน | หันออกมากล่าววาจา |
เหวยเหวยดูกรทรพี | ซึ่งเรืองฤทธีแกล้วกล้า |
เทวัญองค์ใดมหิมา | ให้ศักดาเอ็งหรือว่าไร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ทรพีผู้ใจหยาบใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบไป | เป็นไฉนมาถามกำลังเรา |
เทวัญองค์ใดไม่สิงสู่ | ตัวกูมีฤทธิ์ด้วยสองเขา |
เอ็งอย่าสู่รู้ดูเบา | กูจะเอาชีวิตเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
ได้ฟังถ้อยคำทรพี | ขุนกระบี่อุบายด้วยวาจา |
ร้องว่าดูกรเทเวศ | อันเรืองเดชฤทธิแรงแข็งกล้า |
ซึ่งสิงสู่อยู่ในกายา | มหิงสามันอกตัญญู |
มิได้คำรพนบคุณ | กลับกล่าวทารุณลบหลู่ |
เสียทีที่ท่านเลี้ยงดู | อย่าอยู่รักษาไอ้อาธรรม์ |
เชิญไปสู่ทิพพิมาน | สำราญด้วยนางสาวสวรรค์ |
ฟังเราว่าเถิดนะเทวัญ | จงชวนกันออกจากกายา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทเวศซึ่งอยู่รักษา |
ได้ฟังพาลีเจรจา | สุรารักษ์เห็นจริงทุกสิ่งไป |
จึ่งว่ากาสรนี้ทรลักษณ์ | จะรู้จักคุณเราก็หาไม่ |
ต่างองค์ต่างคิดน้อยใจ | เทพไทออกจากกายา |
แกล้งสำแดงองค์แก่พาลี | รัศมีสว่างทั้งคูหา |
หกองค์ผู้ทรงเดชา | ก็พากันเหาะไปยังวิมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจหาญ |
เห็นหกเทเวศชัยชาญ | ไม่อยู่พยาบาลก็ดีใจ |
ขุนกระบี่สำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ผาดโผนโจนจ้วงว่องไว | ทะลวงไล่ด้วยกำลังกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายถีบกายกาสร | กรหนึ่งฉวยง้างเขาขวา |
แทงด้วยพระขรรค์อันศักดา | กลับกลอกเปลี่ยนท่าติดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทรพีฤทธิแรงแข็งขัน |
โกรธาถาโถมโจมประจัญ | ขวิดชนพัลวันวุ่นไป |
ล้มลุกคลุกคลานไม่ต้านติด | จะต่อฤทธิ์วานรก็ไม่ได้ |
กำลังน้อยถอยท้อสลดใจ | เลือดไหลหยดย้อยทั้งกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจกล้า |
รณรงค์องอาจผาดโผนมา | เหยียบเขาพญาทรพี |
มือซ้ายง้างเขายืนยัน | กรขวาแกว่งพระขรรค์ชัยศรี |
ฟาดด้วยกำลังฤทธี | ทรพีก็ม้วยบรรลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | เทวาซึ่งอยู่ในเขาใหญ่ |
เห็นลูกโกสีย์ฤทธิไกร | มีชัยแก่พญาทรพี |
ต่างองค์ชื่นชมโสมนัส | ตบพระหัตถ์ฉัดฉานอึงมี่ |
อวยชัยให้พรแก่พาลี | สรรเสริญฤทธีอึงอล |
ทั้งองค์เทเวศวลาหก | บันดาลตกโปรยปรายสายฝน |
ฝูงเทพนิกรทุกตำบล | ทั่วทั้งไพรสณฑ์ก็ปรีดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพแกล้วกล้า |
คอยองค์พระพี่ไม่กลับมา | เกินคำสัญญาก็ตกใจ |
จึ่งชวนองคตผู้หลาน | กับโยธาทวยหาญน้อยใหญ่ |
ออกจากขีดขินเวียงชัย | พากันตรงไปยังคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงถํ้าแก้วแกมสุวรรณ | ลูกพระสุริยันเรืองศรี |
ไม่รู้ว่าฝนตกในราตรี | ขุนกระบี่ก็เที่ยวดูไป |
เห็นโลหิตไหลใสจาง | จะข้นอย่างเลือดควายก็หาไม่ |
คิดว่าเชษฐาบรรลัย | ตกใจก็ร่ำโศกา |
ทั้งหมู่เสนีรี้พล | ต่างตนเศร้าโทมนัสสา |
กลิ้งเกลือกเสือกซบไปมา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ความทุกข์ความโศกเป็นกำลัง | ไม่หยุดยั้งพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ |
คิดว่าพี่ชายสิ้นชีวี | ขุนกระบี่สั่งพวกพลไกร |
ให้ขนศิลามาสมทบ | กลบปิดปากคูหาใหญ่ |
ตามพระบัญชาสั่งไว้ | อย่าให้มีที่สำคัญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรตัวขยัน |
รับสั่งลูกพระสุริยัน | พากันเร่งรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หักเขาง้างเอาศิลาใหญ่ | แบกไปสมทบคูหา |
นายหมวดถือไม้ตรวจตรา | เร่งรัดกันมาเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ครั้นเสร็จสมทบคีรี | ขุนกระบี่คืนเข้าพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาพาลีแกล้วกล้า |
ครั้นฆ่าทรพีมรณา | เทวาอำนวยอวยพร |
จึ่งเอาพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | รอนราญตัดเศียรกาสร |
คอนขึ้นเหนือบ่าวานร | บทจรจากที่โรมรัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งปากคูหา | เห็นศิลาถมปิดมิดมั่น |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟกัลป์ | ก็จับเศียรควายนั้นขว้างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ศิลาที่ปิดก็พังลง | เปิดตะหล่งตามช่องคูหาใหญ่ |
ก็ออกจากถํ้าแก้วแววไว | ตรงไปยังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงยืนเหนืออาสน์ | เห็นพญาอุปราชเรืองศรี |
พิโรธโกรธนักคืออัคคี | ขุนกระบี่กระทืบบาทา |
เหม่เหม่ดูกรไอ้ทรยศ | มึงมาคิดคดต่อเชษฐา |
ตัวกูไม่ม้วยมรณา | เอ็งปิดคูหาเสียว่าไร |
เสียทีเป็นน้องร่วมครรภ์ | สุริย์วงศ์เทวัญสูงใหญ่ |
จะเลี้ยงไว้ก็เครื่องเคืองใจ | เร่งไปเสียจากพระบุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพผู้ชาญชัยศรี |
ตกใจเพียงจะสิ้นชีวี | ชุลีกรกราบลงกับบาทา |
อันตัวของข้านี้จงรัก | ภักดีต่อองค์พระเชษฐา |
ครั้นพ้นกำหนดที่สัญญา | ก็พาโยธารีบจร |
เห็นโลหิตนั้นไหลใสจาง | เป็นทางออกจากสิงขร |
ต่างตนโศกาอาวรณ์ | คิดว่าภูธรบรรลัย |
ข้าจึ่งให้ขนเอาก้อนเขา | กลิ้งเข้าปิดปากถํ้าใหญ่ |
ตามพระบัญชาซึ่งสั่งไว้ | พระองค์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์ใจกล้า |
ได้ฟังยิ่งกริ้วโกรธา | ดั่งหนึ่งเพลิงฟ้ามาจ่อใจ |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้ทรลักษณ์ | มาเจรจาเยื้องยักแก้ไข |
แม้นว่าชีวันกูบรรลัย | ก็จะได้เป็นใหญ่ในธานี |
หากคิดจะปิดนินทา | จึ่งแสร้งโศกาว่ารักพี่ |
ตัวเอ็งกับกูในวันนี้ | ขาดวงศ์พงศ์พีพี่น้องกัน |
เร่งไปเสียจากเวียงชัย | หาไม่ชีวาจะอาสัญ |
ว่าพลางขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | แกว่งพระขรรค์ออกไล่รอนราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉาน |
ความกลัวเพียงแทรกสุธาธาร | ก็หนีจากราชฐานพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โอ้ร่าย
๏ เดินพลางพลางฟายชลเนตร | แสนเทวษเศร้าโทมนัสสา |
ทั้งกลัวทั้งแค้นแน่นวิญญาณ์ | โศกาสะอื้นอาลัย |
โอ้ว่าตัวกูนี้สุจริต | จะมีความผิดก็หาไม่ |
รักพี่ฝากตัวถนอมใจ | สิ่งใดมิให้ราคี |
อนิจจาไม่คิดถึงความหลัง | ครั้งเมื่อต้องสาปพระฤๅษี |
ได้ยากลำบากแสนทวี | จนได้ครองบูรีด้วยกัน |
ครั้งน้องชะลอพระสุเมรุตรง | องค์พระอิศรารังสรรค์ |
ประทานนางดาราเป็นรางวัล | ก็เสียธรรม์ชิงไปภิรมยา |
ข้านี้มิให้ระคายบาท | รักคือบิตุราชนาถา |
ควรหรือทำได้ไม่เมตตา | ร่ำพลางโศกาพันทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ ข้ามห้วยเหวผาป่ารัง | ก็ถึงเขาอัมตังคีรีศรี |
เห็นพฤกษาร่มรื่นสะอาดดี | มีผลเกลื่อนกลาดดาษไป |
ทั้งสระปทุมเกสร | ฝักดอกอรชรชูไสว |
นํ้าใสสะอ้านเย็นใจ | ก็เข้าอาศัยอยู่ริมธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ออกจากพิธีตะบะฌาน | สำราญเที่ยวระเห็จเตร็ดมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เลือกเก็บพฤกษาผลาผล | ที่สุกห่ามกับต้นเป็นภักษา |
ทั้งกระจับผึ้งร้างโอชา | เลี้ยงชีวาโดยเพศโยคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึงอัมตังสิงขร | เห็นลูกพระทินกรเรืองศรี |
นั่งอยู่ที่เชิงคีรี | ขุนกระบี่ก็ตรงเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | ทูลว่าพระน้านี้เป็นไฉน |
มาอยู่ผู้เดียวที่ในไพร | ได้เห็นเป็นน่าอัศจรรย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
ครั้นเห็นหลานรักร่วมชีวัน | รำพันเล่าความแต่ต้นไป |
น้านี้ซื่อตรงสุจริต | จะมีความผิดก็หาไม่ |
ท้าวมาคุมโทษจองภัย | ขับไล่เสียจากพารา |
จนใจจึ่งเที่ยวสัญจร | ซอกซอนหนีมาในป่า |
หาไม่จะม้วยมรณา | เล่าพลางโศกาพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังน้าชายพาที | ขุนกระบี่โศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ สุครีพกอดองค์หนุมาน | น้าหลานก็ทรงกันแสงศัลย์ |
ต่างตนร่ำไรรักกัน | ดั่งหนึ่งชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยสร่างโศกี | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งว่าแก่นัดดายาใจ | เจ้าจะเข้าไปยังพารา |
จงเร่งระมัดประหยัดองค์ | อย่าทะนงว่าเป็นพระวงศา |
น้านี้จะทนเวทนา | อยู่ที่ในป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ชลเนตรนองเนตรโศกี | กระบี่จึ่งทูลสนองไป |
ซึ่งหลานจะเข้านคเรศ | จะเทวษทุกข์ทนหม่นไหม้ |
จะอยู่จำศีลสำรวมใจ | ดีกว่าที่ในพารา |
ทุกข์ไข้จะได้สนองบาท | เพื่อนประดาษพระองค์ในป่า |
ว่าแล้วถวายบังคมลา | เหาะไปยังป่ากัทลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์พญาขรยักษี |
เป็นน้องทศกัณฐ์อสุรี | ได้ผ่านธานีโรมคัล |
หยาบคายร้ายกาจอาจหาญ | สาธารณ์มืดมัวโมหันธ์ |
เที่ยวยํ่ายีฤๅษีเทวัญ | กุมภัณฑ์มีอัครชายา |
ชื่อว่านางรัชฎาสูร | รูปทรงสมบูรณ์ดั่งเลขา |
สาวสนมล้วนเหล่าอสุรา | คณนาได้หมื่นนารี |
ประกอบด้วยโภไคไอศวรรย์ | พร้อมพวกพลขันธ์ยักษี |
รถรัตน์คชาพาชี | ปราสาทแก้วมณีชัชวาล |
อันหมู่ไพร่ฟ้าประชากร | ถาวรเป็นสุขเกษมศานต์ |
ด้วยเดชเดชาพญามาร | ไม่มีภัยพาลมายายี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางรัชฎาสูรมเหสี |
สมสู่อยู่ด้วยอสุรี | เทวีทรงครรภ์จำเริญมา |
คือทรพีมากำเนิด | เกิดเป็นพระโอรสา |
ครั้นถ้วนทศมาสเวลา | กัลยาก็คลอดพระโอรส |
จำเริญวัยให้นามมังกรกัณฐ์ | ใจนั้นแกล้วกล้าสาหส |
สมศักดิ์สมศรีสมยศ | ต้องพจนารถพระศุลี |
แล้วมีโอรสที่สอง | น้องมังกรกัณฐ์ยักษี |
ชื่อแสงอาทิตย์อสุรี | อินทรีย์ละม้ายคล้ายกัน |
องค์พระชนนีบิตุราช | แสนสวาทภิรมย์ชมขวัญ |
ถนอมกล่อมเกลี้ยงเป็นนิรันดร์ | ดั่งดวงชีวันดวงตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศรถนาถา |
เสวยสมบัติสวรรยา | ในทวารวดีพระนคร |
กรุงกษัตริย์ย่อมแต่งดอกไม้มาศ | เงินทองโอภาสประภัสสร |
น้อมเกล้าดุษฎีชุลีกร | ขจรเดชดั่งดวงสุริยัน |
อันหมู่ไพร่ฟ้าข้าทหาร | สำราญเป็นสุขเกษมสันต์ |
แสนสนุกดั่งเมืองเทวัญ | พระชนม์นั้นได้หกหมื่นปี |
คิดคะนึงถึงองค์พระโอรส | จะให้ภิญโญยศทั้งสี่ |
อันพระพรตพระสัตรุดทั้งสองนี้ | จะได้ครองบูรีอัยกา |
ยังแต่พระรามสุริย์วงศ์ | กับองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
จะให้ผ่านนคเรศอยุธยา | เป็นมหาจรรโลงธาตรี |
ตัวกูก็จวนชรานัก | จะพึ่งบุญลูกรักทั้งสี่ |
คิดแล้วย่างเยื้องจรลี | เสด็จออกยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมกระวีสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | มาตยาแน่นนันต์ประนมกร |
งามยศงามสง่างามอำนาจ | ดั่งพระจอมไกรลาสสิงขร |
ออกหมู่ทวยเทพอมร | ภูธรมีราชวาที |
อันซึ่งพระรามฤทธิรงค์ | ก็เป็นองค์นารายณ์เรืองศรี |
อวตารมาผลาญอสุรี | มีศักดาเดชมหิมา |
ควรจะให้ครองภพไอศวรรย์ | เป็นจอมจรรโลงโลกนาถา |
ตัวเราผู้เป็นบิดา | จะอยู่ให้ผาสุกใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาสามนต์น้อยใหญ่ |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมทูลไปด้วยภักดี |
สุดแต่พระองค์ทรงเดช | จะโปรดเกศเกล้าเกศี |
อันตัวข้าบาททั้งปวงนี้ | จะฉลองธุลีถึงชีวิต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์พระจักรกฤษณ์ |
จึ่งเรียกพระรามมานั่งชิด | ทรงฤทธิ์มีราชบัญชา |
พ่อจะให้ครองสมบัติ | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
จงตั้งอยู่ในทศธรรมา | เป็นตราชูโลกทั้งไตรดาล |
เจ้าจงเลี้ยงเสนาพลากร | ให้ถาวรดั่งร่มพฤกษาศาล |
เอาความสัตย์สุจริตเป็นประธาน | คือรากแก้วกิ่งก้านดอกใบ |
อันฝูงสัตว์จตุบาททวิบาท | จะเกลื่อนกลาดมาพึ่งอาศัย |
จงเอาเมตตานั้นแผ่ไป | ดังกลิ่นดอกไม้อันตระการ |
จะหอมขจรทุกประเทศ | เย็นเกศไปทั่วทิศาศาล |
ทานนั้นต่างผลโอฬาร | หว่านให้บำเหน็จโดยตรา |
แก่หมู่เสนีรี้พล | ประชาชนยาจกถ้วนหน้า |
ตัดโลภเอาความกรุณา | เป็นปัญจมหานัที |
ไหลมาไม่รู้สุดสิ้น | อาบกินเป็นสุขเกษมศรี |
อย่าเบียดเบียนไพร่ฟ้าประชาชี | ให้มีดวามเดือดร้อนเวทนา |
น้ำเย็นฝูงปลาก็อาศัย | ปักษาพึ่งไม้ใบหนา |
ป่ากว้างย่อมมีมฤคา | พากันมาอยู่สำนัก |
จงแผ่เดชาวรายศ | ให้ปรากฏเกียรติไปทั้งไตรจักร |
แก่มนุษย์เทวัญคนธรรพ์ยักษ์ | ลูกรักจงฟังพ่อสอนไว้ ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังพระบิตุรงค์ทรงชัย | นิ่งนึกตรึกไตรในวิญญาณ์ |
ซึ่งจะครองสมบัติพัสถาน | ใครจะไปปราบมารยักษา |
ผิดกับคำต้นนิมนต์มา | ว่าให้บำรุงธาตรี |
ครั้นจะขัดบัญชาประกาศิต | ทรงฤทธิ์จะเคืองบทศรี |
จำเป็นจำรับพระวาที | ชุลีกรกราบลงกับบาทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
เห็นลูกรักรับราชบัญชา | ผ่านฟ้าเกษมเปรมใจ |
จึ่งผันพักตร์มามีบรรหาร | แก่โหราจารย์ผู้ใหญ่ |
กูจะให้พระรามผ่านเวียงชัย | วันใดจะได้ฤกษ์ดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้เฒ่าทั้งสี่ |
รับสั่งแล้วดูในคัมภีร์ | โดยฤกษ์ดิถีประนินทิน |
อันในชันษาพระจักรกฤษณ์ | เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น |
ลัคน์จันทร์นั้นจรมาอยู่มิน | ราหูอสุรินทร์เล็งลัคน์ |
แล้วเทียบชาตาพระนคร | จะถาวรถึงที่พญาจักร |
แต่พระเคราะห์โคจรนั้นร้ายนัก | เทวาเสริดพักตร์วุ่นไป |
จะจากพระนครไปนอนป่า | จะราชาภิเษกยังไม่ได้ |
แต่เทวัญนั้นเข้าดลใจ | ที่ร้ายให้กลับเป็นดี |
ทูลว่ายังสิบห้าวัน | ขึ้นสามคํ่าวันจันทร์เดือนสี่ |
เพลายํ่ารุ่งห้านาที | เป็นศรีศุภฤกษ์สถาวร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์นารายณ์ทรงศร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ภูธรสำราญฤทัย |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงจัดแจงแต่งการให้ครบไว้ | โดยในอภิเษกพิธี |
แล้วรีบไปยังไกยเกษ | แจ้งเหตุพระโอรสสองศรี |
นิมนต์ทั้งสองพระมุนี | กับคณะโยคีเข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งให้ตั้งมหามณฑป | ห้ายอดงามลบพิมานสวรรค์ |
ใบระกาช่อฟ้าหน้าบัน | ล้วนสุวรรณรายรัตน์ชัชวาล |
พื้นในสุจหนี่พรมลาด | ผูกม่านเครือมาศฉายฉาน |
ดาวแก้วประดับเพดาน | ห้อยพวงกุสุมาลย์มาลา |
แล้วตั้งกลศสังข์บัลลังก์รัตน์ | เศวตฉัตรบายศรีซ้ายขวา |
ทอดทั้งพระแสงอัษฎา | ครบเครื่องมหากกุธภัณฑ์ |
ราชวัติรายทางหว่างริ้ว | ฉัตรจรงธงทิวเป็นคู่คั่น |
กำแพงเมืองธงชายสลับกัน | เรียงรันรอบราชธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ ให้ม้าใช้นั้นไปไกยเกษ | ทูลสองเยาวเรศเรืองศรี |
นิมนต์ทั้งคณะมุนี | ตามมีพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนพาชีผู้มียศถา |
รับคำสุมันตันเสนา | ออกจากพาราแล้วแยกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เหล่าหนึ่งครั้นถึงอาศรม | ยอกรประนมกราบไหว้ |
แจ้งความตามรับสั่งใช้ | แก่สองท่านไทนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐสวามิตรดาบส |
ได้ฟังดังอมฤตรส | ในช่อชั้นโสฬสมาเจือใจ |
ครั้นเวลาวันกำหนดการ | ก็ชวนบริวารน้อยใหญ่ |
ครองเครื่องสำหรับชีไพร | รีบไปยังกรุงอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงนิเวศน์วังสถาน | อันโอฬารดั่งดาวดึงสา |
จึ่งพาคณะพระสิทธา | เข้ามหามณฑปรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายกุจจีค่อมทาสี |
แต่ต้องกระสุนพระจักรี | มีความเคียดแค้นอยู่เป็นนิจ |
แจ้งว่าสมเด็จพระบิตุรงค์ | จะให้องค์พระรามจักรกฤษณ์ |
ทรงมหาเศวตฉัตรชวลิต | สถิตเป็นจรรโลงธาตรี |
มีความพยาบาทฆาตหมาย | ในองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
จะแก้แค้นแทนโทษให้ถึงที | คิดแล้วกุจจีก็เข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงนางไกยเกษีโฉมยง | น้อมเกล้ากราบลงแล้วร้องไห้ |
กอดข้อพระบาทเข้าไว้ | พีไรร่ำพรรณนาว่าวอน |
บัดนี้สมเด็จพระสามี | จะให้พระจักรีทรงศร |
ขึ้นผ่านอยุธยาพระนคร | เป็นปิ่นนิกรโยธา |
ตั้งแต่ข้าบาทรู้เหตุ | ก็แสนทุกข์แสนเทวษหนักหนา |
ซึ่งพระแม่นิ่งเสียไม่นำพา | เห็นด้วยผ่านฟ้าหรือว่าไร |
อันองค์พระพรตสุริย์วงศ์ | พระมารดาตํ่าพงศ์เป็นไฉน |
จึ่งไม่ได้ครองเวียงชัย | ความข้าน้อยใจพันทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ไกยเกษี |
ได้ฟังนางค่อมพาที | เทวีเห็นชอบทุกสิ่งอัน |
ทั้งเทเวศร์ดลจิตให้อิจฉา | องค์พระจักรารังสรรค์ |
ที่จะได้ไปปราบอาธรรม์ | กัลยาจึ่งตอบคำไป |
เอ็งว่าก็ต้องกับกูคิด | สุดฤทธิ์ที่จะทำกระไรได้ |
ตั้งแต่รู้เหตุก็เศร้าใจ | เราจะคิดฉันใดนะกุจจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางค่อมผู้เป็นทาสี |
ยิ้มแล้วก็ตอบวาที | ว่าไยฉะนี้นะนงคราญ |
ครั้งปทูตทันตกุมภัณฑ์ | เบียดเบียนเทวัญทุกสถาน |
ลืมไปแล้วหรือเยาวมาลย์ | เมื่อพระองค์รอนราญอสุรา |
ข้านี้แจ้งว่าพระแม่เจ้า | เอากรสอดแทนเพลารัถา |
ภูวไนยได้ให้สัตยา | นิ่งเสียจะว่าต่อเมื่อไร |
อันพระพรตก็พงศ์จักรพรรดิ | ควรจะขอสมบัตินั้นยกให้ |
ความสัตย์สัญญาซึ่งว่าไว้ | ข้าเห็นก็ได้ท่วงที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
ฟังคำนางค่อมกุจจี | ดั่งวารีทิพย์ชะโลมทา |
จึ่งว่าความซึ่งปฏิญาณ | ลืมไปด้วยนานหนักหนา |
ครั้งนี้จะสมดั่งจินดา | ด้วยปัญญาเจ้าผู้ว่องไว |
ตรัสพลางลูบหน้าลูบหลัง | เงินทองของคลังประทานให้ |
เอ็งอย่าอาวรณ์ร้อนใจ | ว่าแล้วก็เข้าในไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงเสมอ
๏ มิได้ชำระองค์ทรงสนาน | เยาวมาลย์สยายเกศา |
ทำทีดั่งจะเสียกิริยา | สะอื้นโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด