- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศรถเรืองศรี |
ครั้นครบกำหนดราตรี | มีความยินดีปรีดา |
จึ่งพาอัคเรศทั้งสามองค์ | อันทรงลักษณ์เลิศดั่งเลขา |
ลงจากปราสาทแก้วแววฟ้า | ตรงมาเข้าโรงราชพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าอภิวาทน์ | แทบบาทพระมหาฤๅษี |
ถวายเครื่องบูชามาลี | ในทิ่ท่ามกลางพระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏดาบส |
ครั้นเห็นองค์ท้าวทศรถ | จึ่งมีพจนารถวาจา |
อันซึ่งการกิจพิธี | บัดนี้เสร็จดั่งปรารถนา |
บังเกิดข้าวทิพย์อันโอชา | ด้วยอานุภาพตบะกรรม์ |
แต่มีกากนาสาธารณ์ | บินทะยานโฉบไปครึ่งปั้น |
ต้องคำพระอิศวรทรงธรรม์ | สามก้อนกึ่งนั้นไม่ราคิน |
ว่าแล้วหยิบเอาสุธาโภชน์ | ปั้นหนึ่งเอมโอชด้วยรสกลิ่น |
ให้เกาสุริยายุพาพิน | กินเถิดจำเริญสวัสดี |
แล้วหยิบปั้นหนึ่งส่งให้ | แก่โฉมนางไกยเกษี |
อันนางสมุทรเทวี | ให้ปั้นหนึ่งกับที่เหลือกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมเหสีเสน่หา |
รับเอาข้าวทิพย์นั้นมา | กัลยาเสวยสำราญใจ |
อันกลิ่นรสากระยาหาร | หอมหวานไม่มีที่เปรียบได้ |
ซับซาบอาบอิ่มทั่วไป | ทั้งในสกนธ์อินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายห้าพระมหาฤๅษี |
กับพวกคณะโยคี | ครั้นเสร็จพิธีก็อวยพร |
พระองค์จงอยู่ให้สำราญ | รูปผู้อาจารย์จะลาก่อน |
ว่าแล้วพากันบทจร | ออกจากพระนครอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
สมคิดเหมือนจิตเจตนา | ปรีดาดั่งได้โสฬส |
จึ่งพาสามองค์ทรงลักษณ์ | ผ่องพักตร์เอี่ยมองค์อลงกต |
ทอดกรอ่อนงามช้อยชด | บทจรมาปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระนารายณ์เรืองศรี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สวัสดี | อัญชุลีลาเจ้าโลกา |
ชวนพระลักษมีศรีสมร | บังอรเยาวยอดเสน่หา |
ทั้งพญาอนันตนาคา | มาเราจะพากันไป |
ตรัสแล้วเสด็จอวตาร | สามโลกสะท้านสะเทือนไหว |
ลงสู่พระครรภ์ทรามวัย | ในองค์นางเกาสุริยา |
จักรแก้วเข้าครรภ์เทวี | นางไกยเกษีเสน่หา |
คทาสังข์บัลลังก์นาคา | มาเข้าครรภ์สมุทรนงคราญ |
องค์พระลักษมีประไพพักตร์ | ร่วมรักคู่ชีพสังขาร |
เข้าครรภ์มณโฑเยาวมาลย์ | พร้อมวันอวตารพระจักรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ สาธุการ
สระบุหร่ง
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรนางฟ้าทุกราศี |
เห็นพระนารายณ์ฤทธี | กับพระลักษมีร่วมใจ |
ทั้งคทาจักรสังข์บัลลังก์นาค | อวตารจากเกษียรสมุทรใหญ่ |
ไปเป็นมนุษย์วุฒิไกร | พวกภัยจะม้วยด้วยฤทธา |
ต่างองค์โปรยทิพย์มาลาลาศ | อภิวาทน์อวยพรถ้วนหน้า |
เป่าสังข์ดังสนั่นลั่นฟ้า | เทวาก็จับระบำบัน |
ยักย้ายถ่ายเทเล่ห์กล | แยบยลชั้นเชิงบิดผัน |
ตีวงลดเลี้ยวเกี้ยวพัน | เทวัญกั้นกางนางไว้ |
ฉวยฉุดยุดชายสไบทรง | แทรกเปลี่ยนเวียนวงขวักไขว่ |
สาวสวรรค์หันหลีกเลี่ยงไป | เทวัญกระชั้นไล่ตามมา |
นางเทพอัปสรเวียนซ้าย | เทเวศร์เรียงร่ายเวียนขวา |
สาวสวรรค์หันล่อเทวา | ทำท่ามิให้ใกล้ชิด |
นางเทพอัปสรศรี | แต่ชม้อยคอยทีจะเบี่ยงบิด |
สลัดปัดกรสุราฤทธิ์ | แสนสำราญบานจิตทุกเทวา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ปลิ่ม
๏ เมื่อนั้น | ฝูงนางอัปสรเสน่หา |
รำล่อคลอเคียงเข้ามา | นัยนาชม้อยคอยที |
ครั้นเทวัญกระชั้นเข้าชิด | นางฟ้าทำจริตบิดหนี |
รำร่ายกรายท่าม้าตีคลี | มารศรีล่อเลี้ยวให้ติดพัน |
เปลี่ยนกรร่อนรำเยื้องไหล่ | เทพบุตรเข้าใกล้ก็บิดผัน |
เยื้องยักผลักมือเทวัญ | หันวงเวียนไปข้างซ้าย |
เทเวศร์ก็รำย้ายท่า | มยุราฟ้อนหางเฉิดฉาย |
นางรำเรียงหมอนกรกราย | ชม้ายม่ายเมียงเคียงไป |
เทพบุตรรำท่าเลียบถํ้า | นางรำผาลาเพียงไหล่ |
เทวารำเคล้าเย้ายั่วใจ | นางในสุขเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
พระทอง
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาในราศี |
รำเคล้านางเทพนารี | ทำทีไขว่คว้าเลียมลวน |
แล้วแซงเยื้องย่างเข้ากางกั้น | ทอดสนิทติดพันแย้มสรวล |
ฝูงเทพธิดาทำกระบวน | รำทวนล่อร่ายชายตา |
เทวารำภุมรีเคล้า | สัพยอกหยอกเย้าแล้วเวียนขวา |
นางรำสอดสร้อยมาลา | วงมาเบื้องซ้ายเทวินทร์ |
เทพบุตรเปลี่ยนท่าเยื้องกราย | เหราเล่นสายกระแสสินธุ์ |
อัปสรร่อนรำเป็นหงส์บิน | ผันผินคอยทีป้องกัน |
เทเวศร์รำเคล้าเข้าให้ใกล้ | เลี้ยวไล่ไขว่คว้านางสวรรค์ |
ต่างฉวยต่างปัดพัลวัน | เกษมสันต์บันเทิงพันทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพธิดามารศรี |
รำล่อสุราลัยในที | ชายหนีโดยกระบวนระบำบัน |
ครั้นเทพบุตรเลี้ยวไล่ | นางฟ้าค้อนให้แล้วผินผัน |
เทวาแทรกเปลี่ยนพัลวัน | นางสวรรค์หลีกล่อรอมา |
กรายกรร่อนร้องโอดครวญ | โหยหวนงอนจริตประดิษฐ์ท่า |
ทำทีเลี้ยวล่อเทวา | ด้วยมารยาแยบยลกลใน |
เห็นเทเวศร์เวียนขวาเข้ามากั้น | ทอดสนิทติดพันคว้าไขว่ |
นางสวรรค์เวียนซ้ายชายไป | มิให้สุราลัยเข้าชิด |
อันเทวานางฟ้าก็ชื่นบาน | ด้วยนารายณ์อวตารสำราญจิต |
ถวายพระศุลีมีฤทธิ์ | อันประสิทธิ์ประเสริฐเลิศธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายสามอัคเรศมเหสี |
ครั้นเสวยข้าวทิพย์พิธี | อันมีเสาวรสโอฬาร |
ให้อิ่มอาบซาบทรวงดวงจิต | ลืมคิดเสพรสกระยาหาร |
แสนสุขแสนเกษมสำราญ | พอรุ่งสุริย์ฉานเวลา |
ก็จำเริญส่งศรีฉวีวร | ดั่งจันทรทรงกลดในเวหา |
นวลละอองผ่องเพียงทองทา | ทั้งสามกัลยาก็ทรงครรภ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
เสวยสุขอยู่ทุกทิวาวัน | ด้วยสามนางแก้วกัลยาณี |
พระองค์ผู้ทรงเทวราช | จะใคร่ไปประพาสพนาศรี |
จึ่งชวนสามอัครราชเทวี | เจ้าพี่ผู้ดวงนัยนา |
มาจะไปเที่ยวเล่นด้วยกัน | ยังอรัญหิมเวศราวป่า |
ชมไม้ชมหมู่สกุณา | ให้เป็นผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | สามอนงค์เยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังพระบัญชาการ | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์จะพาข้าบาท | ไปประพาสพฤกษาในป่าใหญ่ |
พระคุณลํ้าลบภพไตร | จะได้ชมเล่นเป็นขวัญตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกนาถา |
ครั้นเสร็จชวนสามกัลยา | ก็ออกมาพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี |
จึ่งมีพระราชวาที | ตรัสสั่งเสนีผู้ร่วมใจ |
จงเตรียมม้ารถคชสาร | โยธาทวยหาญน้อยใหญ่ |
กูจะไปเที่ยวเล่นพนาลัย | ในเวลารุ่งสุริยัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาคนขยัน |
รับสั่งพระผู้พงศ์เทวัญ | บังคมคัลแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่จัตุรงค์โยธี | แสนสุรเสนีแกล้วกล้า |
ขุนช้างขี่ช้างชนะงา | ถือของ้าวง่ากรายกร |
ขุนม้าขี่ม้าอาชาชาติ | คาดแล่งมือถือธนูศร |
ขุนรถขี่รถงามงอน | ปักธงมังกรโบกบน |
มือถือเกาทัณฑ์เงื้อง่า | ยืนขับอาชากุลาหล |
ขุนพลเลือกสรรจัดพล | ล้วนแต่คงทนอาวุธ |
ใส่เสื้ออย่างน้อยกรีดกราย | มือถือทองปลายอึงอุด |
บ้างถือคาบศิลาครบชุด | อุตลุดโอ่อวดประกวดกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดิรังสรรค์ |
ชวนสามอัคเรศวิไลวรรณ | จรจรัลไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปนาคินทร์ | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์พื้นดำ |
นางทรงภูษิตพื้นทอง | สไบกรองสอดสีเขียวขำ |
พระทรงสร้อยบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศสังวาลวัลย์ |
นางทรงทับทรวงสะอิ้งแก้ว | แล้วสอดสร้อยทับประดับถัน |
พระทรงรัดองค์กระหนกพัน | พาหุรัดกุดั่นทองกร |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนเก็จ | พื้นเพชรจำรัสประภัสสร |
มงกุฎแก้วกุณฑลกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรทั้งสี่องค์ |
พระจอมภพจับพระขรรค์เทวราช | งามวิลาสดั่งท้าวครรไลหงส์ |
สามพระมเหสีสุริย์วงศ์ | ตามเสด็จบาทบงสุ์ดำเนินมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ ขึ้นยังรถทรงอลงการ | ให้เลิกทวยหาญซ้ายขวา |
ออกจากทวารพารา | ไปตามมรรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถมรกต | แอกงอนอ่อนชดฉายฉัน |
กงกำล้วนแก้วประกับกัน | ลดชั้นบัลลังก์อลงกรณ์ |
จตุรมุขงามแม้นพิมานรัตน์ | ครุฑอัดสิงห์หยัดไกรสร |
เทียมสินธพชาติอัสดร | บทจรย่างเยื้องกรีดกราย |
สารถีขี่ขับสำทับเที่ยง | ร่ายเรียงเคียงคู่เฉิดฉาย |
มยุรฉัตรพัดโบกสุพรรณพราย | ธงนำปลิวปลายสะบัดบน |
ปี่กลองฆ้องขานประสานกัน | แตรสนั่นกึกก้องกุลาหล |
โยธาเยียดยัดอึงอล | เร่งพลเร่งรถจรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงป่าระหงดงดอน | ทรายอ่อนราบรื่นพนาศรี |
ให้หยุดพหลโยธี | อยู่ที่ร่มไม้ริมธาร |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องยุรยาตร | จากอาสน์รถแก้วฉายฉาน |
งามดั่งองค์ท้าวมัฆวาน | ไปเล่นอุทยานในเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมไพร
๏ ชวนสามอัคเรศมเหสี | เที่ยวชมสกุณีในป่า |
สาลิกาจับกรรณิการ์ | นกหว้าจับหว้าริมทาง |
สัตวาจับพะวาพูดแจ้ว | แก้วจับกิ่งแก้วแล้วไซ้หาง |
ยางเจ่าเหงาจับปลายยาง | นกลางไต่ลางลิงจร |
นวลจันทร์จับจันทน์จิกผลกิน | ขมิ้นจับขมิ้นแล้วบินร่อน |
นกเปล้าจับกิ่งเปล้านอน | ยูงจับยูงฟ้อนชมกัน |
รังนานจับไม้รังใหญ่ | ไก่จับพุ่มไผ่กระพือขัน |
อังชันจับต้นชิงชัน | เบญจวรรณจับวัลย์รายเรียง |
ช่างทองจับต้นทองป่า | นกคล้าจับคล้าส่งเสียง |
พระพาสามวนิดาประคองเคียง | เที่ยวฟังสำเนียงสกุณี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงเหรันตทูตยักษี |
อยู่เขาหิมพานต์คีรี | มีอานุภาพมหิมา |
เที่ยวจับมนุษย์สิงห์สัตว์ | ไล่สกัดเอาเป็นภักษา |
อหังการร้ายราญเทวา | ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าไม่กลัวใคร |
อันในดงแดนขุนยักษ์ | ใครจักเข้ามาก็ไม่ได้ |
ออกนามขามเข็ดฤทธิไกร | ทั้งในชั้นฟ้าบาดาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดจะใคร่ชมพนาเวศ | ก็สำแดงเดชกำลังหาญ |
กรหนึ่งแกว่งศรชัยชาญ | ทะยานไปด้วยฤทธิ์อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวใน
๏ ครั้นถึงซึ่งกลางหิมวันต์ | กุมภัณฑ์เหลือบซ้ายแลขวา |
เห็นหมู่โคถึกมฤคา | กาสรสิงห์ขนัดจามรี |
ทักกะทอนรสิงห์เสือสาง | แรดช้างไกรสรคชสีห์ |
มีความชื่นชมยินดี | ก็ไล่ด้วยฤทธีขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จับตัวมาได้ก็ฟาดฟัด | เคี้ยวกัดกินเล่นเป็นอาหาร |
แล้วเตร็ดเตร่ไปในดงดาน | ด้วยใจสาธารณ์อหังการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พิราพรอน
๏ จึ่งเห็นพวกพลมานุษย์ | ล้วนถืออาวุธเกลื่อนป่า |
ใครหนอบังอาจเข้ามา | กูจะฆ่าให้ม้วยบรรลัย |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันทำอำนาจ | ร้องตวาดกึกก้องแผ่นดินไหว |
ผาดโผนโจนจ้วงทะลวงไป | เข้าบุกรุกไล่โยธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลทหารกองหน้า |
เหลือบแลไปเห็นอสุรา | เข้ามาเข่นฆ่าราวี |
ต่างคนตระหนกตกใจ | ด้วยกลัวฤทธิไกรยักษี |
ลั่นปืนยืนยิงคนละที | ก็วิ่งหนีเข้าป่าพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์หริรักษ์รังสรรค์ |
เห็นโยธาแตกยับทับกัน | ทรงธรรม์เหลือบแลแปรไป |
จึ่งเห็นอสุรยักษา | แกว่งศรศักดารุกไล่ |
พระองค์ฉวยชักพระขรรค์ชัย | ออกไปขวางหน้าอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เหรันตทูตยักษี |
โลดโผนโจนไล่โยธี | มาถึงที่ชายพนาวัน |
เห็นมนุษย์ยืนขวางมรคา | กรขวากวัดแกว่งพระแสงขรรค์ |
ทำทีฮึกหาญชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์ขัดแค้นแน่นใจ |
ใครหนอทะนงองอาจ | พานางมาประพาสป่าใหญ่ |
งามยิ่งนางฟ้าสุราลัย | พักตร์เพียงแขไขในเมฆา |
อย่าเลยจะฆ่าผัวเสีย | พาเมียไปร่วมเสน่หา |
คิดแล้วจึ่งร้องถามมา | ว่าเหวยมนุษย์อหังการ |
ตัวเป็นสุริย์วงศ์พงศ์ไหน | นามกรชื่อใดจึ่งอวดหาญ |
ไม่เกรงเดชกูผู้ชัยชาญ | พาพวกบริวารโยธี |
มาในจังหวัดหิมเวศ | อันเป็นขอบเขตของยักษี |
เอ็งนี้องอาจว่าตัวดี | กูจะผลาญชีวีให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นอยุธยาราชฐาน |
ได้ฟังอสุราสาธารณ์ | ผ่านฟ้าจึ่งร้องตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนขุนยักษ์ | ทะนงศักดิ์เจรจาหยาบใหญ่ |
ตัวกูผู้มีฤทธิไกร | หน่อไทอัชบาลธิบดี |
วงศ์พระภุชพงศ์ทรงยศ | ชื่อว่าทศรถเรืองศรี |
ผ่านกรุงอยุธยาธานี | เป็นที่พักพึ่งแก่โลกา |
กูมาเที่ยวเล่นหิมเวศ | ไม่รู้ว่าขอบเขตของยักษา |
ตัวเอ็งชื่อไรอหังการ์ | จะมาต่อกรรอนราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เหรันตทูตใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาฬ | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วร้องมา |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้มนุษย์ | อ้างอวดฤทธิรุทรว่าแกล้วกล้า |
ตัวกูผู้มีศักดา | ชื่อว่าเหรันตเรืองฤทธิ์ |
อันในแผ่นพื้นสุธาธาร | จนถึงวิมานดุสิต |
เกรงกลัวกูทั่วทั้งสิบทิศ | ปัจจามิตรพินาศขยาดกร |
ตัวเอ็งคือลูกมฤคี | ฤๅจะต่อฤทธีด้วยไกรสร |
สามนางดั่งเทพกินนร | เห็นไม่พ้นกรอสุรา |
ทั้งหมู่รี้พลสกลไกร | จะจับไปกินเล่นเป็นภักษา |
ว่าแล้วร่ายเวทอันศักดา | นิมิตกายากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ กลับกลายเป็นสองอสุรี | อินทรีย์โตดำลํ่าสัน |
สองตาแดงดั่งแสงไฟกัลป์ | ขบฟันเขี้ยวขาวยาวงอน |
รูปนิมิตนั้นถือคทา | อสุรานั้นถือธนูศร |
อันรูปนิมิตฤทธิรอน | เข้าต่อกรหักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์พงศ์นารายณ์เรืองศรี |
รับหัตถ์ปัดป้องอสุรี | ถ้อยทีกลับกลอกไปมา |
พระองค์เงือดเงื้อพระแสงขรรค์ | กุมภัณฑ์โจมจับหัตถา |
ได้ทีตีด้วยคทา | ผ่านฟ้าปัดกรรอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เหรันตทูตใจหาญ |
กระทืบบาทผาดโผนโจนทะยาน | ไล่สามเยาวมาลย์ด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ฉวยผิดนางเกาสุริยา | กลับคว้านางไกยเกษี |
ไม่ได้ก็ไล่คลุกคลี | นางสมุทรเทวีวุ่นวาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สามอัคเรศโฉมฉาย |
วิ่งหนีอสุรีพลัดพราย | ปิ้มว่าจะวายชีวัน |
หน้าซีดร้องหวีดวุ่นไป | ภูวไนยจงช่วยเมียขวัญ |
ด้วยบุญพระกุมารในครรภ์ | อสุราไม่ทันเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังดั่งต้องอสุนี | ภูมีกริ้วโกรธคือไฟ |
ฟาดด้วยพระขรรค์อันเรืองฤทธิ์ | ต้องรูปนิมิตไม่เข้าใกล้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ก็กลับไปหาสามกัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึงมีมธุรสพจนารถ | สายสวาทอย่ากลัวยักษา |
ถึงโกฏิแสนแม้นมากกว่านี้มา | พี่จะฆ่ามันให้วายปราณ |
ว่าพลางกวัดแกว่งพระแสงแก้ว | เป็นประกายพรายแพรวแสงฉาน |
เผ่นโผนโจนจับขุนมาร | รอนราญกลับกลอกไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เหรันตทูตยักษา |
กับรูปนิมิตมารยา | อสุราช่วยกันประจัญตี |
หวดซ้ายป่ายขวากุลาหล | ทรหดอดทนไม่ถอยหนี |
สามหาญสามกล้าราวี | ถ้อยทีไม่ละลดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
กลอกกลับจับสองกุมภัณฑ์ | เหยียบบ่าเหรันตอสุรี |
บาทซ้ายเหยียบเข่ามารยา | กรขวาง้างเศียรยักษี |
ติดพันหันเวียนเปลี่ยนที | บ้างฟันบ้างตีวุ่นไป |
อาวุธเป็นประกายดั่งไฟกัลป์ | เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นแผ่นดินไหว |
ฟันต้องเหรันตกระเด็นไกล | รูปนิมิตหายไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | เหรันตทูตยักษา |
เจ็บปวดรวดเร้าทั้งกายา | อสุราขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึ่งชักศรสิทธิ์ขึ้นพาดสาย | มาตรหมายจะฆ่าให้อาสัญ |
แผลงไปด้วยกำลังกุมภัณฑ์ | เสียงสนั่นลั่นฟ้าสุธาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรนั้นไปเป็นถ่านเพลิง | แสงเถกิงเริงโรจน์ฉายฉาน |
ตกกลาดดาษพื้นดินดาน | ร้อนแรงดั่งกาลอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
เห็นศรเหรันตอสุรี | รัศมีตลบเป็นเปลวควัน |
จึงกวัดแกว่งพระแสงเทเวศร์ | อันเรืองเดชปราบได้ทั้งสรวงสวรรค์ |
ขว้างไปด้วยกำลังชาญฉกรรจ์ | เสียงดั่งฟ้าลั่นคำรามรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระขรรค์ล้างศรอสุรา | ดับเพลิงแสงกล้าด้วยห่าฝน |
แล้วสังหารเหรันตวายชนม์ | ดั่งขุนพลแก้วไปราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | เทพบุตรนางฟ้าทุกราศี |
ทั้งรุกขเทวาพนาลี | เทพไทคีรีคนธรรพ์ |
ทั่วทิพย์สถานพิมานมาศ | สถิตในหิมวาตสรวงสวรรค์ |
ครั้นเห็นอสุราเหรันต์ | สุดสิ้นชีวันวายปราณ |
เอิกเกริกแซ่ซ้องโสมนัส | เยี่ยมแกลตบหัตถ์ฉัดฉาน |
โปรยทิพย์บุปผาสุมามาลย์ | สาธุการอำนวยอวยพร |
จงทรงสุรภาพปราบยุค | จำเริญสุขภิญโญสโมสร |
ด้วยสามอัครราชบังอร | ให้ขจรยศทั่วสุธาธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ
๏ บัดนั้น | พวกพลโยธาทวยหาญ |
แจ้งว่าอสุราวายปราณ | ก็วิ่งพล่านออกจากพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาเห็นเหรันตบรรลัย | กายาใหญ่เท่าคีรีศรี |
ประนมกรสรรเสริญฤทธี | เลียงมี่อื้ออึงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทเวศร์นาถา |
ครั้นเสร็จสังหารอสุรา | ก็ชวนสามกัลยาวิลาวัณย์ |
ขึ้นยังรถรัตนามัย | งามดั่งหัสนัยน์รังสรรค์ |
อันทรงมหาเวไชยันต์ | ให้เลิกพลขันธ์เข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงวังตั้งประทับกับเกยแก้ว | แล้วพาอัคเรศมเหสี |
ลงจากรถรัตน์มณี | จรลีขึ้นปราสาทอลงการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมเหสีเสน่หา |
ตั้งแต่ทรงครรภ์พระลูกยา | พระวงศาบำรุงพยาบาล |
เสมอนางแก้วคู่จักรพรรดิ | ด้วยสิริสมบัติพัสถาน |
โรคาราคีไม่มีพาล | แสนสนุกสำราญทุกคืนวัน |
จนถ้วนกำหนดทศมาส | จะคลอดโอรสราชรังสรรค์ |
ลมกัมมัชวาตรัญจวนครรภ์ | กัลยาเจ็บทั่วทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพระกำนัลสาวศรี |
นางท้าวเก้าแก่ขันที | อุตลุดอึงมี่ทั้งวังใน |
บ้างเข้าฝืนท้องประคองครรภ์ | ช่วยกันผันแปรแก้ไข |
บ้างวิ่งหาหมอวุ่นไป | นางในไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เสด็จเหนือแท่นทิพย์มณี | ในที่วิมานเวไชยันต์ |
พร้อมด้วยสุรางคนิกร | ฟ่ายฟ้อนบรรเลงเพลงสวรรค์ |
ให้ร้อนพระทัยดั่งไฟกัลป์ | พันเนตรเล็งทิพเนตรมา |
รู้ว่าสามองค์นงลักษณ์ | จะคลอดลูกรักเสน่หา |
ก็ชวนนางอนงค์สุชาดา | กับเทพกัลยาเหาะไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เหาะ
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึ่งเสด็จบทจร | กับเทพอัปสรน้อยใหญ่ |
กับนางสุชาดายาใจ | เข้าในพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดิเรืองศรี |
เห็นท้าวหัสนัยน์ธิบดี | พาเทพนารีลงมา |
มีความชื่นชมโสมนัส | พระหัตถ์ประนมเหนือเกศา |
เชิญเสด็จองค์อมรินทรา | ขึ้นมหาปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแกมสุวรรณ | ทรงธรรม์มีเทวบัญชา |
พระผู้ดำรงทศพิธ | อย่าร้อนจิตเศร้าโทมนัสสา |
จะช่วยสามองค์วนิดา | มิให้กัลยาราคี |
ตรัสแล้วมีเทวสุนทร | แก่สี่อัปสรมเหสี |
จงไปช่วยสามเทวี | ในที่ประสูติพระกุมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่นางเยาวยอดสงสาร |
นบนิ้วรับเทวโองการ | ก็พาฝูงบริวารจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงห้องแก้วไสยาสน์ | สุชาดาวรนาฏสาวสวรรค์ |
กับหมู่นางฟ้าวิลาวัณย์ | เข้าแปรครรภ์นางเกาสุริยา |
อันไกยเกษียุพาพักตร์ | สุจิตรานงลักษณ์รักษา |
ฝ่ายสุธรรมาสุนันทา | มาช่วยนางสมุทรเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นมัชฌิมยามเงียบสงัด | ศศิธรจำรัสรัศมี |
ทรงกลดหมดเมฆไม่ราคี | เทวาราศีประชุมลัคน์ |
สถิตพร้อมกันในเมษ | อุดมเดชดั่งชะตาพญาจักร |
เป็นมหาศุภฤกษ์ประเสริฐนัก | องค์อัครชายาวิลาวัณย์ |
ทรงนามนางเกาสุริยา | ประสูติพระจักรารังสรรค์ |
รัศมีสีเขียวพรายพรรณ | คล้ายกันกับนิลมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ มโหรี
๏ ครั้นพระอุทัยใสสว่าง | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
ประสูติพระโอรสสวัสดี | รัศมีดั่งทับทิมพราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นสามนาฬิกาห้าบาท | นางสมุทรเยาวราชโฉมฉาย |
ประสูติพระโอรสพรรณราย | สีกายนั้นเหลืองดั่งทองทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นล่วงเข้าสี่โมงเศษ | อัคเรศซํ้าคลอดโอรสา |
ส่งสีม่วงอ่อนโสภา | ลักขณาพริ้มพร้อมทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เห็นหน่อท้าวทศรถธิบดี | ทั้งสี่วิไลประไพพักตร์ |
ก็เป่าวิชัยยุทธ์มหาสังข์ | เสียงดั่งฟ้าลั่นอาณาจักร |
ฝูงนางอนงค์ทรงลักษณ์ | ทั่วทุกพนักงานดนตรี |
ก็ชวนกันประโคมบำเรอราช | พิณพาทย์ดุริยางค์ดีดสี |
ข้างหน้าลั่นฆ้องเข้าสามที | กาหลอึงมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | นางสุชาดาเสน่หา |
อีกทั้งสามนางเทพธิดา | อัปสรกัลยาพร้อมกัน |
บ้างถือพานทองทิพรัตน์ | รองทุกุลพัสตร์ฉายฉัน |
รับพระสุริย์วงศ์เทวัญ | สามโอรสนั้นลำดับมา |
เชิญให้สรงสาครแก้ว | นํ้าทิพย์ธารแล้วด้วยบุปผา |
เสร็จสรงวางลงให้ไสยา | เหนือพานรัตนาอลังการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศราชฐาน |
ทั้งหมู่ฝูงเทพบริวาร | เกษมศานต์อำนวยอวยพร |
โรคันอันตรายอย่าบีฑา | จงทรงเดชเดชาด้วยศิลป์ศร |
ปัจจามิตรจะคิดราญรอน | อย่าต่อกรได้ทั้งธาตรี |
ครั้นเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์สุวรรณเรืองศรี |
พร้อมด้วยเทพบุตรนารี | เหาะไปสู่ที่วิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
เห็นสี่สมเด็จพระลูกยา | ดวงพักตร์ลักขณาวิไลวรรณ |
มีพระทัยใสแสนโสมนัส | ดั่งได้สมบัติสรวงสวรรค์ |
แสนรักแสนสวาทผูกพัน | เสมอกันกับดวงชีวี |
จึ่งให้จัดพี่เลี้ยงนางนม | อุดมด้วยรูปทรงส่งศรี |
เจ้าขรัวยายพงศ์พันธุ์พญารี | ที่มีสติปัญญา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | คลานออกมาจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจัดนางนมประโลมเลี้ยง | ทรงโฉมพิศเพียงสาวสวรรค์ |
ล้วนลูกสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | กายนั้นเว้นโทษหกประการ |
คือสูงตํ่าดำขาวพีผอม | เลือกลักขณาพร้อมนํ้านมหวาน |
หกสิบสี่องค์นงคราญ | พี่เลี้ยงพนักงานจำเริญตา |
อีกเจ้าขรัวยายประยูรวงศ์ | ถวายพระภุชพงศ์เชษฐา |
กับสามสมเด็จพระอนุชา | ตามประกาศิตพระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ครั้นถ้วนสามราษราตรี | จึ่งสั่งเสนีสุมันตัน |
กูจะสมโภชพระกุมาร | จงจัดการมงคลเฉลิมขวัญ |
ออกไปนิมนต์พระนักธรรม์ | ทั้งสี่องค์นั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับสั่งพระองค์วงศ์เทวา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งให้จัดมหาปราสาท | โดยราชตำรับพิธีใหญ่ |
ปูพรมกั้นฉากอำไพ | ผูกม่านสองไขโอฬาร์ |
ตั้งทั้งบายศรีนากทอง | เงินงามเรืองรองลายเลขา |
พานสุวรรณรองแว่นรัตนา | สุคนธาเทียนชัยรูจี |
ท่ามกลางนั้นตั้งบัลลังก์รัตน์ | ปักเศวตฉัตรเฉลิมศรี |
เพดานห้อยพวงมาลี | อัจกลับมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ แล้วสั่งสังฆการีให้ออกไป | ยังหิมวาลัยไพรสาณฑ์ |
นิมนต์ทั้งสี่พระอาจารย์ | กับหมู่บริวารเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สังฆการีผู้มียศถา |
ได้ฟังก้มเกล้าชุลีลา | รีบไปยังป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงก็กราบมัสการ | พระมหาอาจารย์ทั้งสี่ |
แจ้งว่าสามอัครเทวี | บัดนี้ประสูติพระโอรส |
รับสั่งให้ข้าบาทบงสุ์ | ออกมาเชิญองค์พระดาบส |
กับหมู่คณะพระนักพรต | กำหนดให้ทันเวลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังมีความปรีดา | ดั่งว่าได้ทิพวารี |
จึ่งบอกกล่าวกันโดยอันดับ | ให้ครองเครื่องสำหรับฤๅษี |
เสร็จแล้วก็ออกจากกุฎี | มายังธานีอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนปราสาท | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
นั่งโดยลำดับกันมา | เหนือแท่นรัตนาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
เห็นพระสิทธามาพร้อมกัน | ทรงธรรม์ถวายมัสการ |
บูชาธูปเทียนบุปผา | สุคนธากลั้วกลิ่นหอมหวาน |
แล้วมีมธุรสพจมาน | แจ้งการซึ่งสมอารมณ์คิด |
บัดนี้โยมได้โอรส | โดยพจนาประกาศิต |
แห่งพระอิศโรโมลิศ | ด้วยพิธีกิจพระมุนี |
ตรัสแล้วจึ่งมีโองการ | ให้เชิญองค์พระกุมารทั้งสี่ |
ออกมาถวายอัญชุลี | พระมหาฤๅษีผู้ปรีชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ท้าวนางผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | มายังห้องแก้วแพร้วพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ จึ่งเชิญสมเด็จพระภุชพงศ์ | กับสามองค์อนุชารังสรรค์ |
พี่เลี้ยงสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | กำนัลก็ตามเสด็จจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งวางพระกุมาร | เหนือแท่นสุรกานต์ประภัสสร |
ภายใต้เศวตฉัตรอลงกรณ์ | งามดั่งศศิธรในเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่พระอาจารย์ฌานกล้า |
พินิจพิศดูกุมารา | งามพักตร์ลักขณาทั้งสี่องค์ |
ต่างต่างชื่นชมยินดี | ดั่งวารีทิพรสมาโสรจสรง |
ครั้งนี้ยักษีจะสิ้นวงศ์ | ด้วยพระภุชพงศ์สี่กร |
ทั้งสามภพจบสกลโลกา | จะได้พึ่งเดชาพระทรงศร |
ดั่งฉัตรแก้วกั้นบนอัมพร | บังร้อนซึ่งแสงอโณทัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ปุโรหิตพฤฒาผู้ใหญ่ |
ได้ฤกษ์ก็จุดเทียนชัย | ติดในแว่นแก้วรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา |
โหรเฒ่าลั่นฆ้องสามครา | ประโคมทั้งกาหลดนตรี |
ขับไม้ขับขานประสานเสียง | ดุริยางค์จำเรียงอึงมี่ |
ราชครูปุโรหิตเสนี | พระศรีสุริย์วงศ์พร้อมกัน |
เจ็ดรอบชอบราชตำรับ | จึ่งดับเทียนชัยเฉลิมขวัญ |
ชีพ่อจบหัตถ์แล้วโบกควัน | ให้พระพงศ์เทวัญกุมารา |
เอาจุณเจิมเฉลิมพระนลาฏ | สี่องค์อัครราชโอรสา |
แล้วโอมอ่านพระเวทพรหมา | ถวายอาเศียรพาทสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระดาบสทั้งสี่ |
จึ่งให้นามตามศาสตร์พระศุลี | โดยศรีชันษาพยากรณ์ |
พระเชษฐาคือนารายณ์เทเวศร์ | ชื่อพระราเมศทรงศร |
ที่สองคือจักรฤทธิรอน | นามกรพระพรตกุมารา |
ที่สามคือบัลลังก์กับสังข์ทรง | ชื่อพระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
คทาวุธที่สุดอันดับมา | ชื่อว่าพระสัตรุดกุมาร |
แล้วจึ่งอำนวยอวยพรให้ | จงเรืองฤทธิไกรกล้าหาญ |
อันศัตรูหมู่พวกภัยพาล | ทั่วทั้งจักรวาลอย่าทานกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วสี่พระดาบส | ลาท้าวทศรถชาญสมร |
ลุกจากแท่นแก้วบวร | บทจรไปบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกนาถา |
ครั้นเสร็จสมโภชก็ปรีดา | จึ่งบัญชาสั่งเสนี |
จงจัดกุมารมีตระกูล | สมบูรณ์รูปทรงส่งศรี |
สี่หมื่นพื้นพงศ์พญารี | กับพี่เลี้ยงสุริย์วงศ์อันทรงยศ |
ให้องค์พระรามหน่อนาถ | สำหรับรองบาทบงกช |
กับสามพระราชโอรส | กำหนดให้เป็นอันดับกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาคนขยัน |
รับสั่งพระพงศ์เทวัญ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ จัดพระพี่เลี้ยงสิบหกองค์ | พื้นพงศ์กษัตริย์สูงใหญ่ |
กับกุมารน้อยน้อยจำเริญใจ | สี่หมื่นพื้นได้สิบสองปี |
เสร็จแล้วก็พาไปถวาย | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
กับสามอนุชาร่วมชีวี | ตามมีโองการพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ