- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ครั้นแสงทองส่องโลกโลกา | สกุณาไก่แก้วเกริ่นกัน |
พระเสด็จจากที่ไสยาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
สระสรงทรงเครื่องพรายพรรณ | จรจรัลออกพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรมณีศรี |
ท่ามกลางแสนสุรเสนี | จึ่งมีสิงหนาทบัญชา |
ดูกรขุนโหราจารย์ | ผู้ปรีชาชาญแกล้วกล้า |
กูจะอภิเษกพระธิดา | จงหาฤกษ์จะได้วันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนโหราผู้ใหญ่ |
จับกระดานชนวนมาคูณไป | ขับไล่ใส่สอบทุกตำรา |
ปลอดทั้งทักทินยมขันธ์ | เดือนวันก็ชอบชันษา |
เป็นมหาสิทธิโชคโอฬาร์ | เทวาลงทวารประชุมกัน |
เห็นดีน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพไอศวรรย์ |
ข้างขึ้นสามคํ่าวันจันทร์ | รุ่งแล้วสิบหกชั้นฤกษ์ดี |
ควรที่ทำการสยุมพร | จะถาวรเป็นสุขเกษมศรี |
ไม่มีอันตรายราคี | จะเกิดสวัสดีทุกเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ได้ฟังโหรเฒ่าทูลมา | ผ่านฟ้าชื่นชมภิรมย์ใจ |
จึ่งมีพระราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
จงจัดปราสาทแก้วแววไว | ให้อำไพด้วยเครื่องอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ปรีชาหาญ |
รับสั่งแล้วกราบบทมาลย์ | คลานออกมาจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งจัดพระมหาปราสาท | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ลาดพรมสุจหนี่พื้นสุวรรณ | ฉากกั้นชั้นนอกลับแลบัง |
เอาปัญจคงคาสุธารส | ใส่กลศรจนามหาสังข์ |
แก้วทองกองขึ้นเป็นบัลลังก์ | แล้วตั้งเศวตฉัตรรัตนา |
แว่นแก้วมรกตรูจี | เทียนชัยบายศรีซ้ายขวา |
แล้วสั่งสังฆการีผู้ปรีชา | ไปนิมนต์พระมหาอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสังฆการีผู้ปรีชาหาญ |
น้อมเกล้ารับบัญชาการ | ก็พากันลนลานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงศาลาอารัญ | พระสุธามันตันอาจารย์ใหญ่ |
แจ้งว่าพระองค์ทรงภพไตร | ภูวไนยจะแต่งการวิวาห์ |
ให้มานิมนต์พระนักพรต | กับคณะดาบสชีป่า |
เข้าไปให้ทันเวลา | มหาศุภฤกษ์นาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุธามันตันฤๅษี |
ทั้งหมู่คณะโยคี | ได้ฟังสังฆการีก็ปรีดา |
ต่างทรงหนังเสือคากรอง | ถือตาลปัตรป้องบังหน้า |
ออกจากพระบรรณศาลา | พากันเข้ามายังเวียงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนปราสาท | นั่งอาสน์โดยอันดับน้อยใหญ่ |
ต่างบริกรรมสำรวมใจ | ตามในลัทธิพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
แจ้งว่าท้าวทศรถนั้น | มาพร้อมกันยังมิถิลา |
ตั้งการอภิเษกพระจักรี | กับพระลักษมีเสน่หา |
จึ่งจัดเครื่องประดับกายา | สำหรับกษัตราสององค์ |
เสร็จแล้วก็เสด็จยุรยาตร | งามวิลาสดั่งท้าวครรไลหงส์ |
พร้อมหมู่เทพบุตรนางอนงค์ | พากันเหาะตรงลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงมิถิลาราชฐาน | ก็พาเทพบริวารน้อยใหญ่ |
กับหมู่นางฟ้าสุราลัย | เข้าในปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ทั้งท้าวชนกธิบดี | เห็นองค์ตรีเนตรเสด็จมา |
สองกษัตริย์ออกรับพร้อมกัน | บังคมคัลด้วยใจหรรษา |
เชิญเสด็จขึ้นแท่นรัตนา | ใต้มหาเศวตฉัตรชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศเขาใหญ่ |
กับนางสุชาดายาใจ | เห็นใกล้ศุภฤกษ์นาที |
จึ่งพาสมเด็จพระสี่กร | กับองค์บังอรลักษมี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ต่างไปเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | น้ำทิพย์เป็นละอองฝอยฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
โกสีย์ให้ทรงสนับเพลา | ก้านกระหนกพรายเพราประดับบุษย์ |
ภูษาพื้นตองเครือครุฑ | ทองผุดช่อเชิงวาสุกรี |
จึ่งนางอนงค์สุชาดา | ถวายทิพย์ภูษาพระลักษมี |
สไบตาดลอยดวงมณี | สอดสีทับทิมอลงการ |
พระทรงชายไหวไหวระยับ | ชายแครงประดับมุกดาหาร |
ฉลององค์ตาบทิศสังวาล | ทับทรวงดวงประพาฬแกมสุวรรณ |
นางทรงตาบเพชรสะอิ้งแก้ว | แล้วใส่สร้อยซับประดับถัน |
ต่างทรงพาหุรัดมังกรพัน | นาคเกี้ยวกุดั่นทองกร |
ธำมรงค์มงกุฎเนาวรัตน์ | ดอกไม้ทิศจำรัสประภัสสร |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | อันเขจรลอยเลื่อนเมฆา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
ทั้งโฉมนางสุจิตรา | ครั้นจวนเวลานาที |
โกสีย์นำเสด็จพระหริวงศ์ | นางฟ้านำองค์พระลักษมี |
เทวาแลเทพนารี | พระวงศ์สองธานีก็ตามมา |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงจึ่งให้สองกษัตริย์ | นั่งร่วมเศวตฉัตรซ้ายขวา |
เหนือกองสุวรรณรัตนา | เอาหัตถานั้นเข้าประสานกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางเทพธิดาสาวสวรรค์ |
อยู่ในเศวตฉัตรพรายพรรณ | กับเทวัญรักษาธานี |
เห็นพระนารายณ์สุริย์วงศ์ | จะสมพงศ์กับพระลักษมี |
ต่างองค์ชื่นชมยินดี | อัญชุลีแซ่ซ้องสาธุการ |
ก็โปรยทิพย์บุปผามาลาศ | เกลื่อนกลาดกลิ่นเกลี้ยงหอมหวาน |
อวยชัยถวายพรพระอวตาร | จงเป็นประธานในธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ ได้เอยได้ฤกษ์ | โหราให้เบิกบายศรี |
ลั่นฆ้องประโคมดนตรี | กาหลอึงมี่โกลา |
องค์ท้าวหัสนัยน์ก็จุดเทียน | ส่งแว่นเวียนซ้ายไปขวา |
เทวามานุษย์ดาษดา | รับส่งลงมาเป็นหลั่นกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดรอบโดยศาสตร์ | เทวราชดับเทียนเฉลิมขวัญ |
พระหัตถ์นั้นโบกเปลวควัน | จุณจันทน์เจิมสองกษัตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฌานกล้า |
พระสุธามันตันผู้ปรีชา | ทั้งสามพระมหามุนี |
จึ่งเอาน้ำสังข์นํ้ากลศ | รดพระจักราเรืองศรี |
กับนางสีดาเทวี | พราหมณ์ชีพร้อมกันอำนวยพร |
สององค์จงทรงศรีสวัสดิ์ | เสวยแสนสมบัติสโมสร |
เป็นสุขอยู่ทุกนิรันดร | สถาวรอย่ามีโรคัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
กับหมู่นางฟ้าวิลาวัณย์ | บรรดาเทเวศร์ซึ่งลงมา |
ครั้นสำเร็จเสร็จการมงคล | ต่างตนแสนโสมนัสสา |
จึ่งอำนวยอวยสวัสดิ์เดชา | แก่สองกษัตราวิไลลักษณ์ |
อย่ามีทุกข์โศกโรคภัย | เป็นที่พึ่งทั่วไปทั้งไตรจักร |
สืบสุริย์วงศ์พระหริรักษ์ | เป็นหลักโลกาธาตรี |
ครั้นแล้วเทวาและดาบส | ลาท้าวทศรถเรืองศรี |
ทั้งท้าวชนกธิบดี | ต่างไปที่อยู่ภิรมยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองพระบิตุรงค์นาถา |
ครั้นเสร็จสำเร็จการวิวาห์ | แสนโสมนัสสาพันทวี |
จึ่งพาพระรามสุริย์วงศ์ | กับองค์นางสีดามารศรี |
ยุรยาตรจากอาสน์รูจี | ไปปราสาทมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นคํ่ายํ่าแสงสุริยัน | แสงจันทร์จำรัสเมฆา |
พระแสนคะนึงรึงจิต | คิดความสนิทเสน่หา |
ในองค์อัคเรศสีดา | ดั่งหนึ่งอุราจะทำลาย |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงพระสุริย์ฉาย |
เสด็จจากแท่นสุวรรณพรรณราย | กรายกรเข้าห้องมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ฉุยฉาย
ชมโฉม
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์แก้ว | ผ่องแผ้วฤทัยเกษมศรี |
นั่งชิดพิศโฉมนางเทวี | มีศรีเสาวภาคย์จำเริญตา |
งามพักตร์ดั่งดวงศศิธร | งามขนงก่งงอนดั่งเลขา |
งามเนตรดั่งเนตรมฤคา | งามนาสิกแฉล้มงามกรรณ |
งามโอษฐ์โอษฐ์เอี่ยมดั่งจะแย้ม | งามทั้งสองแก้มงามถัน |
งามจริตกิริยาวิลาวัณย์ | สารพันพริ้มพร้อมทั้งกายา |
ยิ่งพิศยิ่งพิศวาสกลุ้ม | ให้รุมรึงในความเสน่หา |
แสนรักสุดรักวนิดา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ชาตรี
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ผู้ยอดพิสมัย |
พระบิตุรงค์ขององค์อรไท | ภูวไนยเสี่ยงศิลป์พระศุลี |
หวังหาคู่เจ้าเยาวลักษณ์ | ให้สมศักดิ์สุริย์วงศ์เฉลิมศรี |
พี่แจ้งข่าวเร่าร้อนทั้งอินทรีย์ | ดั่งชีวีจะจากกายา |
มิได้คิดสิ่งซึ่งลำบาก | สู้ยากดั้นดงพงป่า |
เป็นกุศลผลบุญได้สร้างมา | กับองค์วนิดายุพาพาล |
พี่จึ่งยกธนูขึ้นได้ | เทพไทแจ้งสิ้นทุกสถาน |
ขอเชิญนาฏน้องนงคราญ | เยาวมาลย์ผินพักตร์มาพาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ลดองค์ลงจากแท่นมณี | เทวีกรานก้มพักตรา |
ให้สะเทินเขินใจเป็นพ้นนัก | เพียงจักสิ้นชีพสังขาร์ |
แต่ชม้ายชายเนตรชำเลืองมา | ดูพระจักราผู้ทรงฤทธิ์ |
งามพักตร์ดั่งดวงพระสุริยน | อันหมดเมฆมณฑลไม่ปกปิด |
งามทรงยิ่งเทพนิรมิต | งามจริตสุรเสียงจับใจ |
งามเนตรแหลมคมดั่งแสงศร | จะต่อเนตรภูธรก็ไม่ได้ |
บังคมก้มพักตร์อยู่แต่ไกล | อรไทมิได้จำนรรจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์พี่ยอดเสน่หา |
อย่าสะเทิ้นเขินใจนางกัลยา | ใช่ว่าใครจะล่วงไยไพ |
สองพระองค์มงกุฎสุธาธาร | ทำการอินทราภิเษกให้ |
สมศรีสมศักดิ์อรไท | ถอยหนีไปไยนางเทวี |
เชิญเจ้าขึ้นมาบนแท่นทอง | เหมือนน้องบำรุงสวาทพี่ |
เจ้าดวงนัยนาจงปรานี | มารศรีอย่าสลัดตัดรอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
ได้ฟังบัญชาอันสุนทร | ประนมกรแล้วทูลสนองไป |
ซึ่งพระองค์ว่าทรงพระการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
อันจะให้ใกล้บาทนั้นจนใจ | พระจะว่าสิ่งใดก็ว่ามา |
ที่พอรองบงกชพจนารถ | ข้าบาทจะรับใส่เกศา |
ที่เหลือสติปัญญา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏจำเริญฤทัยพี่ |
รักเจ้าเท่าดวงชีวี | ว่าไยฉันนี้วนิดา |
พี่ไร้คู่สู่สมภิรมย์รัก | จึ่งสามิภักดิ์มาอาสา |
จนได้ดวงทิพย์สุมณฑา | ค่อยคลายวิญญาณ์ที่รุ่มร้อน |
ว่าพลางเสด็จจากอาสน์แก้ว | อันเพริศแพรวจำรัสประภัสสร |
สองหัตถ์โอบอุ้มบังอร | ขึ้นแท่นอลงกรณ์อำไพ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ผ่านเอยผ่านฟ้า | อนิจจาควรหรือมาทำได้ |
น้อยจิตเพียงชีวิตจะบรรลัย | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี |
ว่าพลางสลัดปัดกร | คมค้อนแล้วผันพักตร์หนี |
หยิกข่วนผลักไสไม่ปรานี | ทำดีแล้วหรือพระจักรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนจำเริญเสน่หา |
แสนรักสุดรักวนิดา | สุดปัญญาที่จะรั้งรอใจ |
ถึงเจ้าจะหยิกข่วนด้วยเล็บ | ความเจ็บนั้นพี่พอทนได้ |
ซึ่งจะทนประดิพัทธ์กำหนัดใน | สุดใจพี่แล้ววนิดา |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | จุมพิตด้วยความเสน่หา |
พระกรเลียมลอดสอดคว้า | ดวงมณฑาทิพย์สุมามาลย์ |
หยอกเย้าเคล้าคลึงเกี้ยวกระหวัด | ประดิพัทธ์กลั้วกลิ่นหอมหวาน |
ภุมรินบินร่อนคัคนานต์ | เชยบุษบาบานอรชร |
พระพายพัดต้องกลีบโกมล | ขยายแย้มเสาวคนธ์เกสร |
สองสมสองสุขสถาวร | สองสมรสำราญทั้งสององค์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาแน่งน้อยนวลหง |
ได้ร่วมสังวาสพระหริวงศ์ | พิศวงในรสฤดี |
ลืมอายลืมองค์พระบิตุราช | ลืมฝูงอนงค์นาฏสาวศรี |
ลืมทั้งสมเด็จพระชนนี | ลืมที่เคยเล่นภิรมยา |
จงรักภักดีถึงชีวิต | ต่อพระจักรกฤษณ์นาถา |
อิงแอบแนบองค์พระภัสดา | จนเวลารุ่งแสงทินกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์นารายณ์ทรงศร |
ครั้นเสร็จแต่งการสยุมพร | ภูธรจะกลับไปเวียงชัย |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงแขไข |
เสด็จจากปราสาทแก้วแววไว | ไปยังท้าวชนกธิบดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งร่วมอาสน์ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
ท่ามกลางเสนามนตรี | แล้วมีสุนทรวาจา |
ครั้งนี้ทั้งสองพระนคร | จะถาวรเป็นบรมสุขา |
ร่วมแดนแผ่นพื้นพสุธา | ไปชั่วกัลปาช้านาน |
พระองค์ผู้ทรงศรีสวัสดิ์ | จงเสวยสมบัติพัสถาน |
ให้เป็นผาสุกสำราญ | อย่ามีภัยพาลพาธา |
ตัวข้าขอลาพระราเมศ | กับองค์อัคเรศสุณิสา |
ไปยังนครอยุธยา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิเรืองศรี |
ได้ฟังพจนารถวาที | ภูมีรำพึงคะนึงคิด |
ด้วยแสนสุดรักพระธิดา | ผ่านฟ้าอัดอั้นตันจิต |
ครั้นจะขัดก็เกรงพระทรงฤทธิ์ | จึ่งมีประกาศิตตอบไป |
ตัวข้าผู้ผ่านสมบัตินี้ | โอรสบุตรีหามีไม่ |
ตั้งจิตคิดจะฝากชีวาลัย | ในองค์พระรามนางสีดา |
หมายว่าจะมอบเศวตฉัตร | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
ที่ในบูรินทร์มิถิลา | เป็นมหาจรรโลงธาตรี |
บัดนี้พระองค์จะพาไป | ดั่งตัดใจตัดเกล้าเกศี |
จะแสนทุกข์สุดทุกข์ทุกนาที | สุดที่จะขัดพระบัญชา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
ได้ฟังจึ่งตอบพระวาจา | ผ่านฟ้าอย่าละห้อยน้อยใจ |
อันมิถิลาธานี | กับทวารวดีกรุงใหญ่ |
มรคาก็ไม่ใกล้ไกล | มิได้ลำบากกันดาร |
สองเจ้าก็จะมาเฝ้าบาท | ใช่จะสิ้นชีวาตม์สังขาร |
เหมือนหนึ่งอยู่ใต้บทมาลย์ | อย่ารำคาญวิญญาณ์จาบัลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิรังสรรค์ |
ได้ฟังพระองค์วงศ์เทวัญ | ดั่งสุคันธ์ทิพรสระงับร้อน |
แล้วมีสุนทรวาที | ข้าขอฝากบุตรีดวงสมร |
จงเลี้ยงไว้เหมือนลูกในอุทร | ผิดชอบสั่งสอนด้วยเมตตา |
ตรัสแล้วจึ่งสั่งนางอนงค์ | จงรีบเร่งลงไปหา |
พระรามกับนางสีดา | ให้เจ้าขึ้นมาบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนางกำนัลสาวศรี |
ก้มเกล้ารับสั่งพระภูมี | ถวายอัญชุลีแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงทั้งสองสุริย์วงศ์ | ก็นั่งลงนบนิ้วประนมไหว้ |
ทูลว่าพระบิตุรงค์ทรงชัย | ให้ข้ามาเชิญเสด็จจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามนางสีดาดวงสมร |
ได้แจ้งรับสั่งพระบิดร | ก็กรายกรขึ้นเฝ้าพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระบิตุรงค์ทั้งสองศรี |
คอยฟังพจนารถวาที | ในที่ท่ามกลางพระกำนัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิรังสรรค์ |
เห็นสองลูกยาวิลาวัณย์ | งามดั่งสุริยันจันทร |
จึ่งตรัสเรียกราชบุตรี | มารศรีจงฟังพ่อสั่งสอน |
เจ้าจะจากอกพระบิดร | ไปอยู่นครอยุธยา |
เป็นข้าช่วงใช้บำเรอบาท | พระภัสดาธิราชนาถา |
สงวนกายฝากกายฝากชีวา | ภักดีไปกว่าจะม้วยมิด |
อย่าทะนงว่าเป็นองค์อัครราช | เจียมกายอย่าประมาทราชกิจ |
ฝูงอนงค์ซึ่งพระองค์ใช้ชิด | อย่าคิดฉันทาราคี |
อันพระชนนีบิตุเรศ | ก็เหมือนบังเกิดเกศเกศี |
ลูกรักจงรักภักดี | จึ่งมีสวัสดีสถาวร |
อย่าก่อการให้เคืองในเบื้องบาท | เยาวราชจงสมัครสโมสร |
ถนอมจิตเป็นนิจนิรันดร | ดวงสมรจงจำวาที ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ฟังพระบิตุรงค์ทรงธรณี | น้อมเศียรชุลีกับบาทา |
โอ้ว่าพระองค์ผู้ทรงเดช | พระคุณเคยปกเกศเกศา |
เลี้ยงลูกแต่เยาว์จนใหญ่มา | ผ่านฟ้ามิให้อนาทร |
ถนอมดั่งดวงเนตรดวงใจ | ผิดชอบสิ่งใดพระสั่งสอน |
จนลาพรตคืนเข้าพระนคร | ด้วยอาวรณ์จะปลูกลูกรัก |
จึ่งตั้งพิธียกศิลป์ชัย | เลือกคู่จะให้เสมอศักดิ์ |
ให้สมวงศ์สมพงศ์สมพักตร์ | ให้เป็นหลักจรรโลงธาตรี |
ควรหรือไม่ได้สนองบาท | พระบิตุรงค์ธิราชเรืองศรี |
ร่ำพลางนางทรงโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดินาถา |
ทั้งองค์สมเด็จพระมารดา | เห็นลูกโศการำพัน |
สององค์กอดองค์เยาวลักษณ์ | ชลนาคลอพักตร์แล้วรับขวัญ |
โอ้ว่าเจ้าดวงชีวัน | จะกันแสงรำพันไปไยมี |
จำเป็นแล้วจำจะวิโยค | จงดับโศกเสียเถิดนะโฉมศรี |
ไหนจะพ้นบิตุเรศชนนี | ใช่จะสิ้นชีวีจากจร |
ควรเจ้าจะสนองรองบาท | พระสามีธิราชทรงศร |
จึ่งจะเป็นศรีสวัสดิ์สถาวร | ดวงสมรถนอมใจให้จงดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ฟังพระชนกชนนี | ดั่งวารีทิพย์มาโซมทา |
ค่อยคลายโศกาจาบัลย์ | ประนมกรอภิวันท์เหนือเกศา |
อันตัวลูกรักจักขอลา | จากเบื้องบาทาพระภูธร |
ที่ไหนจะได้ฉลองบาท | พระบิตุราชมารดาเหมือนแต่ก่อน |
พระองค์ค่อยอยู่สถาวร | สโมสรเป็นสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพระธิดายุพาพาล | สงสารเป็นพ้นพันทวี |
ผินพักตร์มามีสุนทร | ดูกรพระรามเรืองศรี |
เจ้ากับสีดาเทวี | บารมีคู่สร้างมาด้วยกัน |
จงเลี้ยงรักษาให้สุจริต | พลั้งผิดอย่าทำหุนหัน |
จะเป็นศรีสวัสดิ์ทุกนิรันดร์ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ฟังท้าวชนกบิดา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์ทรงการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
อย่าอาวรณ์ร้อนราชฤทัย | สิ่งใดมิให้เคืองบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดินาถา |
ครั้นสำเร็จเสร็จสั่งสนทนา | ลาท้าวชนกธิบดี |
จึ่งพาพระรามลูกรัก | กับสีดาเยาวลักษณ์โฉมศรี |
เสด็จจากอาสน์แก้วรูจี | มาปราสาทมณีอำไพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | จะกลับไปยังราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | อัญชุลีแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ให้องค์สมเด็จพระอวตาร | คุมทหารหกหมื่นเดินหน้า |
ใส่เสื้อกำมะหยี่สีฟ้า | ถือปืนคาบศีลารางแดง |
โยธาห้าแสนในกองหลวง | เสื้อม่วงฉลุลายแย่ง |
ถือหอกขัดดาบคมแวง | กวัดแกว่งโจมจ้วงทะลวงฟัน |
พระลักษมณ์พระสัตรุดอนุชา | เป็นปีกซ้ายขวาแข็งขัน |
โยธาห้าหมื่นเสมอกัน | ใส่เสื้อสีจันทร์ถือธนู |
พระพรตกองหลังรั้งท้าย | ไพร่นายเดินเคียงเป็นคู่คู่ |
หกหมื่นพื้นเสื้อชมพู | ถือทวนห้อยพู่จามรี |
ช้างดั้งช้างกันม้าแซง | ตามตำแหน่งหมอควาญประจำขี่ |
อีกพลท้าวชนกธิบดี | ภูมีประทานพระธิดา |
หญิงชายได้หมื่นหกพัน | เคียงคั่นพระประเทียบซ้ายขวา |
เสร็จทรงรถแก้วแววฟ้า | คอยท่าตามเสด็จบทจร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถชาญสมร |
ครั้นสิ้นแสงศรีรวีวร | เข้าที่บรรจถรณ์ภิรมยา |
ยินดีด้วยได้ศรีสะใภ้ | สมดั่งพระทัยปรารถนา |
แสนรักเพิ่มพ้นคณนา | ดั่งว่าดวงชีพชีวี |
มิได้บรรทมหลับสนิท | ตรึกคิดที่จะคืนบุรีศรี |
จนแสงทองส่องฟ้าธาตรี | สกุณีเร้าเร่งสุริยัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งเสด็จจากแท่นไสยาสน์ | งามดั่งเทวราชรังสรรค์ |
ชวนแปดกษัตราวิลาวัณย์ | จรจรัลเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ พนักงานไขท่อสุหร่ายทอง | นํ้าทิพเป็นละอองฝอยฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุพรรณพราย |
ต่างทรงสนับเพลาภูษิต | สุราฤทธิ์บรรจงมาถวาย |
ชายไหวชายแครงพรรณราย | ฉลององค์โหมดลายกระหนกพัน |
นางทรงสไบตาดสอดสี | สร้อยมณีทับทรวงประดับถัน |
ต่างทรงตาบทิศสังวาลวัลย์ | พาหุรัดกุดั่นทองกร |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรแพร้ว | มงกุฎแก้วกุณฑลประภัสสร |
ห้อยห่วงมาลัยกรรเจียกจร | กรายกรตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งนายราชรถา | ให้โบกธงสัญญาเป็นกำหนด |
พระรามสุริย์วงศ์ทรงยศ | ก็คลาเคลื่อนเลื่อนทศโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | กำวงกงแววสลับสี |
แอกงอนอ่อนงามล้วนมณี | สี่มุขสุกแม้นวิมานอินทร์ |
บัลลังก์บดเหลี่ยมเป็นเรือนเก็จ | กระจกพื้นกระจังเพชรประดับสิ้น |
ต่างรถแต่งรายโกมิน | เทียมสินธพสิบชาญฉกรรจ์ |
ขุนรถขับรีบเยื้องกราย | ธงริ้วทิวรายหลายหลั่น |
ชุมสายฉายแสงสุริยัน | ฆ้องสนั่นกลองดังกลางดง |
อันสัตว์จัตุบททวิบาท | บินกลาดวิ่งเกลื่อนไพรระหง |
ตกใจตื่นจรเวียนวง | ด้วยเสียงกงแสงแก้วจับตา |
รีบพลเร่งพวกทวยหาญ | โห่สะท้านแห่สะเทือนมาในป่า |
ผงคลีพัดคลุ้มเมฆา | ยาตราโดยทางพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนกกระเต็นปักษี |
อยู่รังใต้พื้นปัถพี | เมื่อเหตุจะมีก็บินมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงนกกระเต็น
๏ ถาถาบฉาบจิกธงชัย | แล้วบินผ่านไปฝ่ายขวา |
ให้แจ้งนิมิตประจักษ์ตา | ก็คืนเข้าป่าพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
เห็นนกกระเต็นตัวฉกรรจ์ | บินหันฉาบลงที่ธงชัย |
พระจึ่งถวิลจินดา | แต่ก่อนมาหาเป็นเช่นนี้ไม่ |
มาตรแม้นเทวาสุราลัย | ใครใครก็เกรงฤทธิ์กู |
ครั้งนี้อัศจรรย์พันทวี | ฤๅจะมีไพรีมาต่อสู้ |
นกจึ่งบอกลางให้รู้ | ภูธรตะลึงรำพึงคิด |
เห็นต้องในพิชัยพยุหบาตร | จึ่งมีพจนารถประกาศิต |
สั่งขุนเสนาซึ่งใช้ชิด | จงหาโหรทายนิมิตเข้ามา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วถวายบังคมลา | วิ่งเรียกโหราลนลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้ปรีชาหาญ |
กับยายเมียแก่บูราณ | ขี่ช้างพิการมาด้วยกัน |
สัพยอกหยอกเย้ากันตายาย | เป็นสุขสบายเกษมสันต์ |
ได้ยินว่าพระองค์ทรงธรรม์ | บัญชาให้หาก็ตกใจ |
มือคว้าหาสมุดคัมภีร์ | กูไว้นี้ยายเก็บไปเสียไหน |
ค้นพลางตกช้างลงไป | ผุดลุกขึ้นได้ก็วิ่งมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
จึ่งบอกนิมิตสกุณา | แก่ขุนโหราแต่ต้นไป |
อันซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้ | เห็นร้ายฤๅดีเป็นไฉน |
เราคิดฉงนสนเท่ห์ใจ | หรือใครจะมาโรมรัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนโหราคนขยัน |
ได้ฟังบรรหารพระทรงธรรม์ | อภิวันท์รับราชวาที |
พิเคราะห์ในพิชัยสงคราม | ทั้งยามตรีเนตรดิถี |
แจ้งแล้วก็ทูลโดยคัมภีร์ | สกุณีนี้มีในตำรา |
เป็นสัตว์เบื้องซ้ายมาจำเพาะ | ต้องบาปพระเคราะห์เพลาขวา |
ไพรีจะมาบีฑา | แต่ว่าฝ่ายเราจะมีชัย |
ถึงโกฏิแสนแม้นมาทั้งจักรวาล | ไม่ต้านทานฤทธิ์พระองค์ได้ |
พระยศยิ่งจะปรากฏไป | ทั้งในฟากฟ้าดินดอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถชาญสมร |
ฟังขุนโหราพยากรณ์ | ภูธรเกษมเปรมปรีดิ์ |
สำรวลสรวลยิ้มพริ้มพักตร์ | ด้วยอัคเรศมเหสี |
ให้เร่งรถเร่งทศโยธี | ข้ามคีรีห้วยธารผ่านมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงรามสูรยักษา |
อยู่ยังวิมานรัตนา | กึ่งมหาเมรุบรรพต |
ในชั้นจาตุมหาราช | ร้ายกาจฤทธิไกรดังไฟกรด |
เลื่องชื่อลือนามขามยศ | หยาบช้าสาหสเป็นพ้นนัก |
มีแต่ริษยาสาธารณ์ | รุกรานเที่ยวไปทั้งไตรจักร |
มนุษย์ครุฑาสุรารักษ์ | กลัวเดชขุนยักษ์ผู้ศักดา |
คิดจะไปเที่ยวประพาส | ชมพฤกษาชาติในป่า |
แต่งองค์ทรงเครื่องอลงการ์ | รจนาด้วยทิพอาภรณ์ |
ทำสง่าดั่งท้าวเวสสุวัณ | กุมภัณฑ์เหน็บขวานแล้วถือศร |
ออกจากวิมานอลงกรณ์ | สำแดงฤทธิรอนเหาะไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | ถึงแดนมิถิลากรุงใหญ่ |
ลงยังชายป่าพนาลัย | เที่ยวไปตามแถวแนวธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชมพรรณฝูงสัตว์จัตุบาท | สีหราชไกรสรคชสาร |
โตกิเลนสิงห์ขนัดเนื้อฟาน | พาลยัคฆ์แรดร้ายจามรี |
เลียงผาล่าเลียบเหลี่ยมผา | ทักกะทอนรพาเม่นหมี |
ทั้งหมู่ลิงค่างบ่างชะนี | คชสีห์เที่ยวท่องตามกัน |
เสือเหลืองย่างเยื้องยืนหยัด | นรสิงห์เริงสัตว์ระเห็จหัน |
กระต่ายเต้นเล่นโลดพัลวัน | ฉมันเมียงเคียงคู่เป็นหมู่จร |
กระทิงเที่ยวเดียวเดินเกริ่นร้อง | โคคะนองตามคณากาสร |
กวางทรายละมั่งพังพอน | วิ่งซ่อนตามเชิงบรรพต |
เป็นหมู่หมู่ดูเพลินจำเริญตา | สับสนไปมาไม่รู้หมด |
ชมพลางทางเที่ยวเลี้ยวลด | บทจรไปตามพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ เหลือบแลเห็นฝูงพลากร | รถรัตน์อัสดรอึงมี่ |
ครื้นครั่นสนั่นปัถพี | อสุรีก็เดินเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยืนขวางที่ทางพนาเวศ | สำแดงฤทธิเดชแกล้วกล้า |
แล้วร้องประกาศด้วยวาจา | ว่าเหวยมนุษย์เท่าแมงใย |
อันซึ่งเจ้านายของเอ็งนี้ | มีนามกรเป็นไฉน |
ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่แห่งใด | พากันมาไยในไพรวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกทหารกองหน้าคนขยัน |
เหลือบแลไปเห็นกุมภัณฑ์ | กายนั่นใหญ่หลวงมหึมา |
ตกใจตะลึงทั้งไพร่นาย | ต่างตนเหลียวซ้ายแลขวา |
ที่กล้าก็ตอบวาจา | ว่าเหวยดูก่อนอสุรี |
อันนามกรพระทรงยศ | ชื่อท้าวทศรถเรืองศรี |
เป็นจอมจรรโลงธาตรี | ได้ผ่านบุรีอยุธยา |
พระองค์ยาตราทวยหาญ | ไปแต่งการพระโอรสา |
ซึ่งยกศิลป์ในเมืองมิถิลา | ได้นางจะพาไปเวียงชัย |
ท่านไม่รู้หรือจึ่งมาถาม | จะเกรงเดชพระรามก็หาไม่ |
อย่าพักอาจองทะนงใจ | จะบรรลัยเป็นภัสมธุลีกัลป์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังโกรธาขบฟัน | กุมภัณฑ์ร้องตอบด้วยคำพาล |
เจ้ามึงซึ่งชื่อว่าราเมศ | อันมีฤทธิ์เดชกล้าหาญ |
วันนี้ชีวิตจะวายปราณ | ด้วยมือพระกาลราวี |
ว่าแล้วแกว่งศรกระทืบบาท | ทำอำนาจดั่งพญาราชสีห์ |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงตี | ไล่หมู่โยธีเข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พวกพลทวยหาญทัพหน้า |
ต่างตนกลัวฤทธิ์อสุรา | สุดปัญญาที่จะรอต่อกร |
ตัวสั่นหน้าซีดไม่สมประดี | ดังมฤคีเห็นไกรสร |
ตกจากม้ารถกุญชร | วิ่งซอนเข้าในอารัญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
ครั้นถึงหน้ารถสุวรรณ | กุมภัณฑ์แลเห็นพระรามา |
กับนางสีดานงลักษณ์ | ผิวพักตร์ดั่งเทพเลขา |
จึ่งว่าเหวยมนุษย์อหังการ์ | พาหญิงผ่านหน้ากูมาไย |
ยกตนพ้นศักดิ์ว่าชื่อราม | ให้ต้องนามกูผู้เป็นใหญ่ |
อันตัวของเอ็งจะบรรลัย | กูจะพาเมียไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์เรืองศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | จึ่งมีพจนารถตอบไป |
ตัวเอ็งนี้หรือจะชิงนาง | อวดอ้างเจรจาหยาบใหญ่ |
กูคือพระนารายณ์เรืองชัย | ไวกูณฐ์มาเป็นพระรามา |
จะสังหารผลาญหมู่กุมภัณฑ์ | ซึ่งอาธรรม์ทุจริตริษยา |
มึงนี้ชื่อไรอหังการ์ | ไม่รู้ว่าชีวาจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังคั่งแค้นในวิญญาณ | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
กูชื่อรามสูรเทเวศร์ | ทรงเดชฟากฟ้าดินไหว |
เอ็งเป็นมนุษย์เท่าตัวไร | เหตุใดว่าอวตารมา |
หิ่งห้อยหรือจะเทียมสุริยน | อย่าพักอวดตนว่าแกล้วกล้า |
แต่พระอรชุนศักดา | กูยังล้างชีวาวายปราณ |
เอ็งนี้ถึงพรหมลิขิต | ชีวิตจะสิ้นสังขาร |
ว่าแล้วกระทืบสุธาธาร | แกว่งขวานสำแดงฤทธี |
เป็นควันกลุ้มคลุ้มดวงอโณทัย | มิได้เห็นกายยักษี |
อากาศครื้นครั่นโกลี | อสุนีเปรี้ยงเปรี้ยงในเมฆา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สามพระมเหสีเสน่หา |
ทั้งองค์อัคเรศสีดา | ฝูงกำนัลโยธาพลากร |
ได้ยินเสียงสนั่นครั่นครื้น | สะเทือนพื้นหิมเวศสิงขร |
บดบังไปทั้งพนาดร | อัมพรมืดคลุ้มดั่งราตรี |
ตกใจเพียงสิ้นชีวาตม์ | บ้างร้องกรีดหวีดหวาดอึงมี่ |
บรรดาพวกพลโยธี | วิ่งหนีล้มพะปะกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ได้ยินเสียงอื้ออึงทั้งไพรวัน | ก็รู้ว่ากุมภัณฑ์มาราญรอน |
จึ่งมีพระราชวาที | ปลอบสามมเหสีดวงสมร |
จะกลัวมันไยนะบังอร | คอยดูฤทธิรอนพระลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์ทรงจักร |
ครั้นเห็นนางสีดายุพาพักตร์ | นงลักษณ์ตกใจไม่สมประดี |
จึ่งสวมสอดกอดองค์วนิดา | แก้วตาอย่ากลัวยักษี |
ถึงจะกลุ้มดินฟ้ามาราวี | พี่นี้จะฆ่าให้วายปราณ |
ว่าแล้วจับศรพาลจันทร์ | พาดสายยืนยันสำแดงหาญ |
งามทรงดั่งองค์มัฆวาน | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
แสงสว่างดั่งดวงอโณทัย | แลไปก็เห็นอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งรามสูรยักษา |
เห็นศรมนุษย์แผลงมา | ด้วยกำลังศักดาชาญฉกรรจ์ |
พิโรธโกรธเกรี้ยวเคี้ยวกราม | คำรามดั่งเสียงฟ้าลั่น |
จับศรพาดสายยืนยัน | กุมภัณฑ์ผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | ไหวหวาดถึงชั้นดุสิต |
ศรเวียนรอบรถชวลิต | ไม่เข้าชิดองค์พระจักรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์นาถา |
เห็นรามสูรพาลา | แผลงศรศัสตรามาราวี |
จึ่งจับอัคนิวาตพาดสาย | หมายล้างอาวุธยักษี |
น้าวหน่วงด้วยกำลังอินทรีย์ | แผลงสนั่นทั้งตรีโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ กลับเป็นจักรแก้วแววไว | ตรงไปล้างศรยักษา |
แหลกลงไม่ทันพริบตา | ด้วยอานุภาพพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรขุนมารชาญสมร |
กริ้วโกรธพิโรธคือไฟฟอน | จับขวานฤทธิรอนขว้างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครื้นครั่นสนั่นเวหน | เสียงดั่งเสียงฝนห่าใหญ่ |
เป็นพยับอับแสงอโณทัย | เข้าไปไล่ศรพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นขวานรามสูรอสุรี | มีอานุภาพมหิมา |
จึ่งชักแสงศรพลายวาต | อันมีอำนาจแกล้วกล้า |
พาดสายหมายมุ่งไม่วางตา | ผ่านฟ้าผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระเมรุสัตภัณฑ์ครั่นครื้น | ตลอดพื้นพิภพอักนิษฐ์ |
มืดมนอนธการไปทุกทิศ | ศรสิทธิ์ล้างขวานอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรสิทธิศักดิ์ยักษา |
เห็นขวานแพ้ศรก็โกรธา | สองตาดั่งดวงอโณทัย |
กระทืบบาทผาดแผดสิงหนาท | ทำอำนาจฟากฟ้าดินไหว |
โลดโผนโจนมาด้วยว่องไว | จับงอนรถชัยพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงศร |
กวัดแกว่งศิลป์ชัยดั่งไฟฟอน | ลงไล่ราญรอนอสุรี |
ต่างตีต่างรับสับสน | ต่างตนไม่ท้อถอยหนี |
ต่างหมายเข่นฆ่าราวี | ต่างมีฤทธีไม่ละกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
หักหาญราญรุกบุกบัน | โรมรันไม่คิดชีวา |
ต่างแกล้วต่อกล้าสัประยุทธ์ | ต่างแกว่งอาวุธเงื้อง่า |
กลอกกลับจับกันไปมา | หันเหียนเปลี่ยนท่าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารผู้ชาญชัยศรี |
รับรองป้องปัดในที | ภูมีโจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เท้าขวานั้นเหยียบเข่าซ้าย | มาตรหมายจะล้างชีวาสัญ |
แกว่งศรฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ทรงธรรม์ตีต้องอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งรามสูรยักษา |
ความเจ็บเพียงสิ้นชีวา | โศกาสลดระทดใจ |
โอ้ว่าเสียแรงกูมีฤทธิ์ | ทั่วทั้งทศทิศก็ปราบได้ |
มาแพ้มนุษย์เท่าตัวไร | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี |
จะลือชั่วไปทั่วกัลปา | อัปยศเทวาทุกราศี |
ร่ำพลางพิศดูพระจักรี | อสุรีก็เห็นเป็นสี่กร |
ถือสังข์จักรคทาเพชรพราย | ก็แจ้งว่านารายณ์ทรงศร |
วิ่งเข้ากราบบาททูลวอน | ภูธรจงได้โปรดปราน |
อันตัวข้านี้โทษผิด | ชีวิตถึงสิ้นสังขาร |
ด้วยไม่ฟังพระโองการ | ขอประทานซึ่งชีพชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังขุนมารชาญฉกรรจ์ | รำพันทูลขอชีวา |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าวสุนทร | ดูกรรามสูรยักษา |
ตัวเราผู้ทรงศักดา | เป็นจรรโลงโลกาธานี |
อวตารลงมาปราบยุค | จะให้โลกเป็นสุขเกษมศรี |
ดับเข็ญเย็นพื้นปัถพี | เป็นที่พำนักแดนไตร |
ซึ่งท่านรู้ตัวว่าทำผิด | ชีวิตนั้นเราจะยกให้ |
ตั้งแต่วันนี้สืบไป | จงตั้งอยู่ในสัจธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รามสูรฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | กุมภัณฑ์กราบบาทแล้วทูลไป |
ซึ่งพระเมตตาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ตัวข้าไม่มีสี่งใด | สนองใต้เบื้องบาทพระจักรี |
ศรนี้พระสยมภูวญาณ | ประทานองค์ตรีเมฆยักษี |
ผู้เป็นอัยกาธิบดี | ข้านี้จึ่งได้สืบมา |
ขอถวายไว้ใต้เบื้องบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
จะได้ล้างอสูรพาลา | ซึ่งเป็นเสี้ยนโลกาสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
รับศรจากกรขุนมาร | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งรามสูรยักษี |
ถวายศรแล้วลาพระจักรี | อสุรีเหาะไปในอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอวตารชาญสมร |
จึ่งมีพจนารถอันสุนทร | ดูกรพระพิรุณเทวา |
ศิลป์นี้เราขอฝากท่าน | ได้รอนราญอับจนไปภายหน้า |
แม้นคิดให้ได้ดั่งจินดา | ว่าแล้วก็โยนขึ้นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เดชอานุภาพพระจักรกฤษณ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
พระพิรุณเทวารักษาไว้ | ด้วยใจจงรักภักดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาทุกราศี |
เห็นรามสูรอสุรี | พ่ายแพ้ฤทธีพระอวตาร |
ต่างองค์ชื่นชมโสมนัส | เยี่ยมแกลตบหัตถ์ฉัดฉาน |
ปางนี้อสูรหมู่มาร | จะแหลกลาญด้วยฤทธิ์พระสี่กร |
บ้างโปรยปรายสุวรรณบุปผา | ดวงมณฑาทิพเกสร |
แซซ้องอวยชัยให้พร | จงถาวรจำเริญสวัสดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ทั้งสามสมเด็จพระชนนี | อีกหมู่โยธีเสนา |
เห็นพระรามมีชัยแก่กุมภัณฑ์ | เทวัญโปรยทิพบุปผา |
เกลื่อนกลาดพื้นพสุธา | กลิ่นมาลาทิพตระหลบดง |
ต่างหยิบมาชมดมทัด | แสนโสมนัสพิศวง |
องค์พระบิตุเรศฤทธิรงค์ | ให้โบกธงเคลื่อนทศโยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เดินทางหว่างเขาลำเนาธาร | ข้ามละหานผ่านทุ่งวุ้งป่า |
รอนแรมมาในอรัญวา | ก็ถึงอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งให้ประทับราชรถ | กับเกยแก้วมรกตจำรัสศรี |
เก้ากษัตริย์เสด็จจรลี | ขึ้นปราสาทมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | งามดั่งเทวราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | พระสนมกำนัลดาษดา |
จึ่งประทานสมบัติพัสถาน | แก่องค์เยาวมาลย์สุณิสา |
ทั้งหมู่สาวสรรค์กัลยา | โขลนจ่านักเทศขันที |
ข้างหน้านั้นจัดขอเฝ้า | ล้วนเพริศเพรารูปทรงส่งศรี |
สำหรับอัครราชบุตรี | โดยที่ตำแหน่งครบครัน |
เสร็จแล้วสั่งสองราชบุตร | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
เจ้าผู้มีฤทธิไกรคือไฟกัลป์ | ดั่งดวงชีวันของบิดร |
พ่อจงคืนไปฉลองบาท | พระอัยกาธิราชเหมือนแต่ก่อน |
บำรุงไพร่ฟ้าประชากร | ให้ถาวรเป็นสุขสวัสดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ฟังพระบิตุรงค์ทรงธรณี | ชุลีกรรับราชบัญชา |
จึ่งถวายบังคมเบื้องบาท | พระชนนีบิตุราชนาถา |
ลาทั้งพระรามนางสีดา | เสด็จมาขึ้นรถอำไพ |
ให้เลิกนิกรทวยหาญ | โห่สะท้านสะเทือนแผ่นดินไหว |
ออกจากอยุธยากรุงไกร | รีบไปโดยทางพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แรมร้อนมาในอรัญเวศ | ก็ถึงไกยเกศบุรีศรี |
ประทับกับเกยรัตนมณี | จรลีขึ้นปราสาทโอฬาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ