- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ครั้นเห็นโอรสขึ้นมา | อสุราแสนโสมนัสนัก |
สองกรช้อนโอบอุ้มองค์ | ไพนาสุริย์วงศ์ขึ้นใส่ตัก |
ประคองลูบจูบเกศจูบพักตร์ | พญายักษ์มีราชโองการ |
พ่อนี้จงใจจะให้เจ้า | เป็นปิ่นเกล้าลงการาชฐาน |
สืบศักดิ์สุริย์วงศ์ในพงศ์มาร | เป็นประธานแก่หมู่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังดั่งศรเสียบกรรณ | ขืนใจอภิวันท์แล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ตัวลูกนี้ค่อยจำเริญวัย | ฤทธิ์เดชสิ่งใดก็ไม่มี |
จะขอบังคมลาบาท | ไปเรียนศิลปศาสตร์ศรศรี |
สำนักพระกาลมุนี | ภูมีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ได้ฟังโอรสทูลลา | ก็ปรีดาชื่นชมด้วยสมคิด |
รับขวัญแล้วตรัสตอบไป | เจ้าจะเรียนศรชัยพระนักสิทธ์ |
ให้ชำนาญในการบำรุงฤทธิ์ | จงสำเร็จกิจทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ครั้นได้สมคิดดั่งจิตพาล | กราบกับบทมาลย์แล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปราสาทพระมารดร | ชุลีกรเหนือเกล้าเกศา |
ทูลว่าสมเด็จพระบิดา | ให้ข้าไปเรียนศิลป์ชัย |
สำนักพระกาลดาบส | อันทรงพรตเอกองค์อาจารย์ใหญ่ |
ลูกรักจักลาไปอยู่ไพร | โดยในพระราชโองการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดสงสาร |
ฟังโอรสราชกุมาร | นงคราญชื่นชมยินดี |
จึ่งตรัสอำนวยอวยชัย | ซึ่งจะไปเรียนศรพระฤๅษี |
โรคันอันตรายอย่ายายี | จงมีความสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ชาญสมร |
ก้มเกล้าคำนับรับพร | มิให้มารดรสงกา |
อสุรีจึ่งหยิบเอาจอกแก้ว | ได้แล้วซ่อนใส่ในภูษา |
แล้วกรายกรนวยนาดยาตรา | มายังพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นั่งลงกระซิบที่ริมกรรณ | จอกนั้นน้องลักเอามาได้ |
ว่าแล้วก็พากันไป | จากพิชัยลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ข้ามธารผ่านไศลไพรพนม | มาถึงอาศรมพระฤๅษี |
เข้าไปด้วยใจยินดี | ชุลีกรมัสการพระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระกาลดาบส |
เห็นไพนาสุริย์วงศ์โอรส | ท้าวทศคิริวงศ์อสุรา |
ออกมากับวรณีสูร | อันเป็นประยูรวงศา |
พิศพักตร์แล้วกล่าววาจา | มานี้ประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมาราผู้มีอัชฌาสัย |
ประนมกรแล้วแจ้งความไป | ว่าองค์ภูวไนยบิดร |
ใช้ให้ไปเฝ้าบทรัช | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
ยังเมืองมลิวันพระนคร | จึ่งมาขอพรพระนักธรรม์ |
เรียนมนต์มหาโสฬส | แก้น้ำไฟกรดเป็นด่านกั้น |
เสร็จแล้วจะรีบจรจรัล | พระนักธรรม์จงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
มิได้สงสัยในวิญญาณ์ | จึ่งมีวาจาตอบไป |
ซึ่งหลานรักมาเรียนเวทมนต์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลจะบอกให้ |
กำหนดบทบาทจงมั่นใจ | ก็สอนไปทุกทิวาราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ตั้งแต่ปรนนิบัติพระมุนี | อยู่ในกุฎีหลายวันมา |
เช้าคํ่าร่ำเรียนพระเวท | สังเกตจำได้ทุกคาถา |
เสร็จแล้วลาองค์พระสิทธา | พากันไปเมืองมลิวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเขา | โดยลำเนาแนวเนินพนาสัณฑ์ |
ถึงด่านเห็นหมู่กุมภัณฑ์ | ตั้งพิธีกรรม์เป็นเพลิงกาล |
ดั่งหนึ่งจะไหม้ไตรภพ | เปลวตลบร้อนแรงแสงฉาน |
จึ่งร่ายเวทบังตาหมู่มาร | ทั้งแก้พิษกาลอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นครบสามคาบก็เงาหาย | ไม่ปรากฏกายทั้งสองศรี |
เพลิงกรดกลับเย็นด้วยฤทธี | อสุรีก็รีบเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถึงที่ด่านขันชั้นใน | แลไปเห็นหมู่ยักษา |
ตั้งพิธีเรียกนาคา | ขึ้นมาพ่นพิษเกรียงไกร |
น้ำกรดไหลลั่นโครมครึก | เป็นเกลียวเชี่ยวลึกกว้างใหญ่ |
คิดคุณพระอาจารย์ชาญชัย | สะกดใจร่ายวิทยามนต์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วจึ่งกำเอาทราย | โปรยปรายลงไปสามหน |
เดชะพระเวทฤทธิรณ | สายชลแห้งหายทันที |
ก็พากันล่วงด่านนํ้ากรด | เลี้ยวลดตามเชิงคีรีศรี |
ผ่านทุ่งวุ้งป่าพนาลี | ไปโดยวิถีมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชมดง
๏ ชมหมู่ปักษาทิชากร | ร่อนร้องจับพรรณพฤกษา |
นกแก้วจับกิ่งกรรณิการ์ | นกคล้าจับขลายรายเรียง |
กระลุมพูจู่จับแสลงพัน | เบญจวรรณจับกระวานส่งเสียง |
เค้าโมงจับโมกมองเมียง | คุ่มจับแคเคียงเรียงนาง |
สาลิกาจับแก้วแล้วเต้นพลอด | นกกระหรอดจับรังไซ้หาง |
คณายูงพาฝูงมาจับยาง | นกลางจับเลียบเรียงรัน |
โนรีบินร่อนมาจับรัก | วายุภักษ์จับไผ่แล้วโผผัน |
สัตวาจับเครือลดาวัลย์ | เขาจับข่อยขันสนั่นดง |
ตลอนฟางแฝงจับรกฟ้า | กาลิงจับกิ่งกาหลง |
นกยางจับไม้ประยงค์ | ฝูงหงส์จับเหียงเรียงนอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ชมพลางทางรีบจรจรัล | มาในอรัญสิงขร |
จนสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน | ก็แรมร้อนนิทราในราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวจักรวรรดิยักษี |
เสวยแสนสมบัติสวัสดี | เป็นจรรโลงธานีมลิวัน |
ประกอบด้วยศฤงคารบริวาร | โยธาทวยหาญก็แข็งขัน |
เรืองฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ไตรโลกทั้งนั้นไม่ต่อกร |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนืออาสน์เนาวรัตน์ประภัสสร |
แสนสนุกสำราญสถาวร | ภูธรก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อมช้า
๏ ครั้นปัจฉิมยามเวลา | จันทราจวนเลี้ยวเหลี่ยมไศล |
นิมิตฝันว่าดวงอโณทัย | อำไพแสงกล้าไม่ราคิน |
ตกลงมาจากอากาศ | รัศมีโอภาสนั้นหายสิ้น |
มืดทั่วแหล่งหล้าฟ้าดิน | ทินกรดวงหนึ่งก็ขึ้นมา |
สีเหลืองเรืองเรื่อไม่กระจ่าง | เขจรอยู่กลางเวหา |
แล้วมีพรานไพรผู้ปรีชา | ชูดวงปทุมาอรชร |
น้อมเกล้าถวายต่อพระหัตถ์ | ทรงทัดดมกลิ่นเกสร |
จนผกากลีบร่วงลงกับกร | ภูธรผวาตื่นขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสรัศมี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ออกมายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาปโรหิตพร้อมกัน | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่โหราจารย์ผู้ใหญ่ |
คืนนี้เราฝันประหลาดใจ | ก็แก้ไปเสร็จสิ้นแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วพิจารณา | ดูโดยตำราพยากรณ์ |
ก็รู้ว่าเป็นบุพนิมิต | ผิดในทางเทพสังหรณ์ |
เห็นแจ้งประจักษ์แน่นอน | ชุลีกรแล้วทูลด้วยปรีชาญ |
ซึ่งฝันว่าดวงพระสุริยา | แสงกล้าชวลิตฉายฉาน |
ตกจากพ่างพื้นคัคนานต์ | มืดมนอนธการทั้งธาตรี |
ได้แก่พระสหายผู้ทรงฤทธิ์ | ที่สนิทกับเบื้องบทศรี |
ถึงซึ่งสุดสิ้นชีวี | ประชาชนมนตรีก็เดือดร้อน |
อันพระสุริยาขึ้นมาผลัด | แสงจำรัสเรื่อเรืองเหลืองอ่อน |
ได้แก่ผู้ผ่านพระนคร | ฤทธิรอนไม่เลื่องลือยศ |
ซึ่งพรานป่าเอาดวงประทุมมาศ | มาถวายเบื้องบาทบงกช |
ทรงชมดมกลิ่นเสาวรส | จนกำหนดร่วงรายกระจายลง |
จะมีผู้นำราชกุมาร | เป็นวงศ์วานพรหเมศครรไลหงส์ |
มาพึ่งพักสำนักพระองค์ | มั่นคงดั่งข้าพยากรณ์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
ได้ฟังโหราก็อาวรณ์ | ภูธรนิ่งนึกตรึกไป |
อันฝันของกูที่โหรทาย | จะได้แก่มิตรสหายกรุงไหน |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ตะลึงไปมิได้พาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
พอรุ่งสางสว่างราตรี | กับพี่เลี้ยงก็รีบเดินมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งเมืองมลิวัน | กุมภัณฑ์แสนโสมนัสสา |
ตามกันยุรยาตรคลาดคลา | ตรงไปศาลาลูกขุนใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ นั่งลงแล้วกล่าววาที | แก่มหาเสนีผู้ใหญ่ |
ว่าพระปิ่นลงกากรุงไกร | สหายรักร่วมใจพญามาร |
ให้ข้ามาทูลบาทบงสุ์ | พระทรงภพมลิวันราชฐาน |
โดยทางพันธมิตรบุราณกาล | ขอท่านนำเฝ้าพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนายักษี |
แจ้งข้อราชการก็ยินดี | พากันไปที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ทูลว่าพระสหายร่วมชีวัน | ซึ่งผ่านเขตขัณฑ์ลงกา |
ใช้ให้กุมารน้อยนี้ | กับวรณีสูรยักษา |
มาจำทูลราชกิจจา | ใต้เบื้องบาทาพระภูธร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
เห็นกุมารแน่งน้อยอรชร | ทั้งออกนามกรทศกัณฐ์ |
เอะแล้วจะเหมือนหนึ่งโหรทาย | ทำนายซึ่งกูนิมิตฝัน |
คิดคิดเห็นเป็นอัศจรรย์ | กุมภัณฑ์จึ่งตรัสถามไป |
อันพระองค์ผู้วงศ์พรหมาน | ยังค่อยสำราญหรือไฉน |
นามกรของเจ้าชื่อไร | เป็นบุตรผู้ใดกุมารา |
รูปทรงคล้ายองค์อินทรชิต | เราคิดสงสัยเป็นหนักหนา |
ซึ่งพระสหายใช้มา | ด้วยกิจจานุกิจสิ่งใดมี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระโองการ |
พระองค์ผู้พงศ์พรหเมศ | มงกุฎเกศลงการาชฐาน |
บัดนี้สิ้นชีพชนมาน | ด้วยมนุษย์พวกพาลมาราญรอน |
ญาติวงศ์พงศ์พันธุ์มิตรสหาย | พากันตายสิ้นด้วยแสงศร |
พิเภกได้ผ่านพระนคร | มีแต่เดือดร้อนทั้งธานี |
ช้าชื่อไพนาสุริย์วงศ์ | หน่อองค์ทศพักตร์ยักษี |
เมื่อบิตุรงค์ปลงชีพชีวี | ข้านี้ยังอยู่ในครรภ์ |
ต่อวัยใหญ่มาจึ่งแจ้งเหตุ | ว่าพระบิตุเรศอาสัญ |
แค้นด้วยพิเภกอาธรรม์ | มันเป็นคนอกตัญญู |
จะดูหน้าก็ไม่เต็มตา | จะฟังวาจาก็เคืองหู |
ความเจ็บความอายนั้นสุดรู้ | ดั่งอยู่ในกลางอัคคี |
ได้แจ้งกิจจาว่าพระบาท | เป็นสหายบิตุราชเรืองศรี |
ข้ากับวรณีสูรนี้ | ลอบหนีมาเฝ้าพระบาทา |
จะขอเอาเดชาพระทรงเดช | เป็นฉัตรแก้วกั้นเกศเกศา |
ทูลพลางถวายจอกรัตนา | แล้วสะอื้นโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ฟังกุมารโศการำพัน | โกรธดั่งเพลิงกัลป์มาจ่อใจ |
ผุดลุกขึ้นจากบัลลังก์อาสน์ | กระทืบบาทเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
เหม่เหม่ไอ้พิเภกจังไร | ควรหรือทำได้ถึงเพียงนี้ |
เสียแรงที่เกิดร่วมครรภ์ | มาอาธรรม์ทรยศต่อพี่ |
อัปลักษณ์โลภล้นพันทวี | เสียทีเป็นวงศ์พรหมา |
กูจะหํ้าหั่นบั่นรอน | ตัดกรตัดเกล้าเกศา |
ให้สมที่มันพาลา | แกล้งฆ่าสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ |
พิศดูลูกน้อยก็สังเวช | ชลนานองเนตรแล้วโศกศัลย์ |
คิดถึงสหายร่วมชีวัน | แล้วรับขวัญองค์พระกุมาร |
วางเหนือพระเพลาด้วยความรัก | จูบพักตร์แล้วมีบรรหาร |
ไม่รู้ว่าบิตุเรศเจ้าวายปราณ | ด้วยการณรงค์ชิงชัย |
อันมนุษย์อาจองทะนงศักดิ์ | พ่อแค้นนักปิ้มเลือดตาไหล |
เจ้าอย่าเศร้าสร้อยน้อยใจ | จะยกไปสังหารให้มรณา |
ตรัสแล้วสั่งมหาเสนี | ให้เตรียมโยธีซ้ายขวา |
กูจะไปพิชัยลงกา | เข่นฆ่าอริราชภัยพาล ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ออกจากสถานพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่จัตุรงค์พยุหบาตร | เลือกล้วนองอาจแข็งขัน |
ขุนช้างขี่ช้างดั้งกัน | ถือขอหยัดยันกรีดกราย |
ขุนม้าขี่ม้าอัสดร | กรกุมทวนทองเฉิดฉาย |
ขุนรถขี่รถสุพรรณพราย | ถือธนูหน่วงสายยืนทะยาน |
ขุนพลจัดพวกพลยุทธ์ | ล้วนมีฤทธิรุทรกล้าหาญ |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งเพลิงกาล | อื้ออึงอลหม่านทั้งธานี |
จัดทั้งรถทรงอลงกรณ์ | เทียมด้วยไกรสรราชสีห์ |
ประทับกับเกยแก้วรูจี | โดยที่กระบวนยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิยักษา |
ครั้นรุ่งรางสางแสงพระสุริยา | มาเข้าที่สรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ วารีโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | ภูษารูปกินรีรำ |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์พื้นตองเขียวขำ |
ทับทรวงดวงบุษราคัม | ประจำยามสังวาลตาบทิศ |
ทองกรพาหุรัดรูปนาคี | ธำมรงค์พลอยมณีโลหิต |
สี่เศียรทรงมงกุฎชวลิต | ดอกไม้ทิศจอนแก้วสุรกานต์ |
แปดหัตถ์จับอัษฎาวุธ | ฤทธิรุทรกวัดแกว่งสำแดงหาญ |
งามคล้ายเวสสุวัณชัยชาญ | กุมกรกุมารมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | ดุมวงกงแววด้วยมรกต |
งอนระหงธงชายปลายชด | บันลดภาพล้อมบัลลังก์ราย |
เสาแก้วมังกรกระหนกกลับ | ทวยรับบุษบกบัวหงาย |
บันกระจ่างหว่างกระจกกระจังราย | แก้วปลายยอดปลีมณีแดง |
เทียมพญาสีหราชสองพัน | โลทันกรายทวนกวัดแกว่ง |
ธงหน้าถ้านำกระบวนแซง | เครื่องสูงบังแสงสุริยน |
ปี่ฆ้องกลองประโคมโครมครึก | แตรสังข์พันลึกกุลาหล |
ทวยหาญขานโห่อึงอล | ขับร้นเร่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ข้ามละหานผ่านทุ่งวุ้งเขา | โดยลำเนามรคาป่าใหญ่ |
ใกล้แดนลงกากรุงไกร | ภูวไนยให้หยุดโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ชื่นชมด้วยสมดั่งจินดา | กราบทูลพญาอสุรี |
เดิมลูกลวงลาพิเภกไป | ว่าจะเรียนศิลป์ชัยพระฤๅษี |
อันชื่อพระกาลมุนี | ในที่อรัญบรรพต |
จึ่งได้มาเฝ้าพระภูวเรศ | แจ้งเหตุเบื้องบาทบงกช |
บัดนี้พระองค์ทรงยศ | ยกพยุห์หมู่ทศโยธา |
เยียดยัดเพียงพื้นแผ่นดินไหว | ถ้ารู้ไปถึงพิเภกยักษา |
ว่าข้าไปเชิญเสด็จมา | พระมารดาจะได้เดือดร้อน |
ลูกรักขอลาบาทบงสุ์ | เข้าไปยังลงกาก่อน |
ให้พ้นดั่งข้าอาวรณ์ | ภูธรจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ฟังราชกุมารพาที | อสุรีแย้มยิ้มพริ้มพักตร์ |
ลูบหลังแล้วกล่าววาจา | เจ้าผู้ปรีชาแหลมหลัก |
ซึ่งจะเข้าไปก่อนนั้นควรนัก | แต่ว่าลูกรักอย่าวางใจ |
ระวังไอ้พิเภกอาธรรม์ | เกลือกมันจะลอบหนีได้ |
พ่อจักยกตามเข้าไป | จับฆ่าเสียให้มรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราชื่นชมยินดี |
กราบลงแทบเบื้องบาทบงสุ์ | ลาองค์พญายักษี |
ลงจากรถแก้วมณี | พระพี่เลี้ยงก็รีบจรจรัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นไปเฝ้าองค์ | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
น้อมเกล้าถวายบังคมคัล | ท่ามกลางกุมภัณฑ์เสนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ครั้นเห็นโอรสเข้ามา | อสุราชื่นชมยินดี |
ไม่คิดกินแหนงแคลงจิต | รักสนิทว่าลูกของยักษี |
กอดจูบลูบทั่วทั้งอินทรีย์ | แล้วมีพจนารถถามไป |
ซึ่งเจ้าเรียนศิลป์พระอาจารย์ | ชำนาญเสร็จแล้วหรือไฉน |
พ่อนี้บ่นหาด้วยอาลัย | คอยอยู่มิได้เว้นวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ทำเป็นน้อมเกล้าบังคมคัล | กุมภัณฑ์สนองพระวาที |
ซึ่งลูกนี้ลาเบื้องบาท | พระบิตุรงค์ธิราชเรืองศรี |
ออกไปเรียนศิลป์พระมุนี | ยังที่อรัญบรรพต |
สารพัดวิชาเวทมนต์ | อุปเท่ห์เล่ห์กลก็ได้หมด |
เสร็จสิ้นสมดั่งมโนรถ | คิดถึงทรงยศจึ่งกลับมา |
ทูลแล้วลาเบื้องบาทบงสุ์ | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | มาจากพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างธาตรี | ก็ให้ยกโยธีรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รอนแรมมาหลายวันวาร | ข้ามละหานธารท่าป่าใหญ่ |
ล่วงด่านผ่านมรคาลัย | ก็ถึงพิชัยลงกา |
จึ่งให้หยุดพวกจัตุรงค์ | ตั้งลงตามซ้ายฝ่ายขวา |
โดยกระบวนพยุห์ยกมา | ในมหาชัยภูมิโอฬาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วมีบัญชาประกาศิต | สั่งวิษณุราชใจหาญ |
กับอสุรานนทการ | ท่านผู้ปรีชาญทั้งสองนี้ |
จงเข้าไปยังเวียงชัย | บอกไอ้พิเภกยักษี |
ว่ากูผู้เรืองฤทธี | เป็นปิ่นโมลีมลิวัน |
ยกมาเยี่ยมเยียนพระสหาย | รู้ว่าวอดวายชีวาสัญ |
พิเภกผู้น้องร่วมครรภ์ | ได้ผ่านเขตขัณฑ์สวรรยา |
ให้มันมานอบน้อมกู | ผู้เป็นสหายพระเชษฐา |
แม้นว่าขัดราชบัญชา | ชีวาจะม้วยแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองเสนีใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | กราบกับบทมาลย์แล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงภายในพระนคร | เข้าหามโหทรผู้ใหญ่ |
แจ้งความตามข้อรับสั่งใช้ | โดยในพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรผู้มียศถา |
ได้ฟังตะลึงทั้งกายา | หน้าตาไม่เป็นสมประดี |
ครั้งนี้ลงกาพระนคร | จะได้ความเดือดร้อนดั่งเพลิงจี่ |
คิดแล้วพาสองเสนี | เข้าไปยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
ทูลว่าเจ้ากรุงมลิวัน | ยกพวกพลขันธ์เข้ามา |
ตั้งอยู่ยังนอกกรุงไกร | ตรัสใช้ให้สองยักษา |
มาเชิญเสด็จพระผ่านฟ้า | ไปเฝ้าพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
แจ้งว่าเจ้ากรุงมลิวัน | ยกพวกกุมภัณฑ์พลากร |
อสุรานิ่งขึงตะลึงคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งต้องศร |
ตัวกูครอบครองพระนคร | กำลังฤทธิรอนก็อ่อนนัก |
จึ่งมีอริราชภัยพาล | มารุกรานสีมาอาณาจักร |
ครั้งก่อนมหาบาลขุนยักษ์ | ก็เป็นปรปักษ์มาโรมรัน |
หากองค์สมเด็จพระนารายณ์ | ให้ลูกพระพายรังสรรค์ |
มาช่วยสงครามกูทัน | ฆ่ามันจึ่งม้วยวายปราณ |
ครั้งนี้จักรวรรดิฤทธิรอน | สี่พักตร์แปดกรห้าวหาญ |
พวกพลเพียบพื้นสุธาธาร | จะคิดอ่านรณรงค์ไฉนดี |
อันองค์โอรสแลหลานรัก | ยังเยาว์อยู่นักทั้งสองศรี |
จำกูจะออกไปต่อตี | ไว้เกียรติในตรีโลกา |
คิดแล้วมีราชโองการ | เหวยสองทหารยักษา |
เอ็งจงไปแจ้งกิจจา | แก่เจ้าพารามลิวัน |
ว่ากูเป็นข้าธุลีบาท | พระนารายณ์ธิราชรังสรรค์ |
ไม่คบพวกพาลอาธรรม์ | ซึ่งมันทรลักษณ์อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองเสนายักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | อัญชุลีแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตประนมหัตถ์ | ทูลท้าวจักรวรรดิยักษา |
เสร็จสิ้นโดยราชบัญชา | พญาพิเภกกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | กระทืบบาทสนั่นเกรียงไกร |
แปดหัตถ์ตบหัตถ์กึกก้อง | สี่โอษฐ์แผดร้องหวั่นไหว |
แปดเนตรดั่งดวงอโณทัย | เหม่ไอ้พิเภกอหังการณ์ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะบั่นเศียรเกล้าเกศา |
เสียบไว้ที่นอกทวารา | ให้สมนํ้าหน้าไอ้ใจพาล |
ตรัสแล้วก็ขึ้นรถทรง | ให้เคลื่อนหมู่จตุรงค์ทวยหาญ |
จากที่ประทับริมธาร | คอยจะรอนราญอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ครั้นสองอสูรเสนี | กลับไปจากที่พระโรงชัย |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | กูจะไปตีทัพมลิวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนจตุรงค์ | เลือกล้วนอาจองแกล้วกล้า |
ขุนช้างขี่ช้างชนะงา | ผูกเครื่องคชาอลงกรณ์ |
ขุนม้าขี่ม้าสินธพ | ดีดขบฮึกหาญชาญสมร |
ขุนรถขี่รถสามงอน | เทียมโตไกรสรพยัคฆี |
ขุนพลเตรียมพวกพลยุทธ์ | อุตลุดอื้ออึงคะนึงมี่ |
มิใคร่ได้ครบตามบาญชี | เร่งรัดสัสดีอยู่วุ่นวาย |
เจ้าหมู่ตรวจตราหาไพร่ | จับคนนี้ได้คนนั้นหาย |
ผูกมัดรัดตีกันวุ่นวาย | บ้างเอาแม่ยายลูกเมียมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ จึ่งได้ครบตามกระบวนทัพ | สรรพทั้งปีกซ้ายปีกขวา |
ตั้งตามถ้องแถวรัถยา | คอยท่ารับเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
เสด็จจากแท่นรัตน์มณี | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์ปนปรุงเกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | ภูษารูปกินนรกระหนกพัน |
ชายไหวสุรกานต์ก้านขด | ชายแครงมรกตมุกดาคั่น |
ฉลององค์พื้นตาดเครือวัลย์ | เกราะแก้วกุดั่นจำหลักลาย |
ตาบทิศทับทรวงเฟื่องห้อย | สอดสร้อยสังวาลสามสาย |
รัดองค์บานพับทับทิมพราย | ทองกรมังกรกลายพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | อร่ามเรืองทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กุณฑลแก้วจำรัสกรรเจียกจร |
ห้อยพวงสุวรรณมาลา | กรขวานั้นจับพระแสงศร |
งามดั่งพรหเมศฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | ดุมวงล้วนแก้วมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ทอง |
เทียมพญาไกรสรสีหราช | โผนผาดแผดเสียงกึกก้อง |
โลทันถือทวนพู่กรอง | สำทับขับคล่องดั่งลมพัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงฉานธงชายปลายสะบัด |
จามรบังสูรย์จำรูญรัตน์ | ขนัดกลองฆ้องขานประสานกัน |
แตรสังข์กังสดาลอึงมี่ | โยธีโห่เลื่อนสะเทือนลั่น |
ผงคลีพัดคลุ้มชอุ่มควัน | ขับพวกพลขันธ์รีบจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิชาญสมร |
เห็นพิเภกทรงรถสามงอน | ยกพลนิกรออกมา |
พิโรธโกรธกริ้วตัวสั่น | ขบฟันเขม้นเข่นฆ่า |
กระทืบบาทมีราชบัญชา | เร่งให้กองหน้าเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทการยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ก็ขับพวกโยธีเข้าโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขุนช้างขับช้างเข้าไล่แทง | กรแกว่งของ้าวดั่งจักรผัน |
ขุนม้าขับม้าทะลวงฟัน | ยิงธนูเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
ขุนรถก็ขับรถศึก | โห่สนั่นครั่นครึกถึงดุสิต |
ขุนพลขับพลกระชั้นชิด | รุกไล่ไม่คิดตัวตาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลลงกาทั้งหลาย |
แยกกันออกรับวุ่นวาย | ไพร่นายหนุนเนื่องเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขุนช้างแยกช้างออกรับช้าง | ยิงขานกยางประจัญหน้า |
ขุนม้าควบม้าออกรับม้า | หนีไล่ไปมาอลวน |
ขุนรถขับรถเข้ารับรถ | เลี้ยวลดแย้งยิงกุลาหล |
ขุนพลขับพลเข้ารับพล | แทงฟันสับสนไม่หนีกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทการเสนาตัวขยัน |
เห็นทัพต่อทัพตีประจัญ | ก็ขับพลมลิวันเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หักกล้าถาโถมโจมประจญ | ชาวลงกาย่นไม่ทนได้ |
วิ่งแยกแตกยับทั้งทัพชัย | ไม่เป็นตำบลสนธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมโหทรมารยักษา |
เห็นทัพแตกพ่ายกระจายมา | โกรธาต้อนพลเข้ารับ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตะลุมบอนรอนราญพัลวัน | บุกบันหักโหมโจมจับ |
ฝ่ายพลมลิวันทุกทัพ | แตกตายย่อยยับไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
เห็นทวยหาญหักศึกเสียที | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
แปดกรกวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกล้าหาญ |
กระทืบบาทเร่งรถโถมทะยาน | เข้ารอนราญพวกพลลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แปดหัตถ์พิฆาตฟาดฟัน | กุมภัณฑ์แตกหนีไม่รอหน้า |
ล้มตายเกลื่อนกลาดดาษดา | ด้วยกำลังฤทธาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้หน้าราชรถทรง | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
จึ่งร้องประกาศด้วยวาที | เหวยไอ้พิเภกอาธรรม์ |
เหตุใดตัวมึงจึ่งทรยศ | คิดคดโดยใจโมหันธ์ |
ต่อพี่ผู้เกิดร่วมครรภ์ | อันมีพระคุณมึงมา |
ทั้งญาติวงศ์พงศ์มิตร | สุดสิ้นชีวิตสังขาร์ |
จนได้สมบัติในลงกา | ยังว่ามิสาแก่น้ำใจ |
ตัวกูนี้เป็นพี่สหาย | ผิดชอบดีร้ายหารู้ไม่ |
จึ่งมาด้วยความอาลัย | จะถามไถ่ให้แจ้งร้ายดี |
เย่อหยิ่งยกออกมาต่อยุทธ์ | สัประยุทธ์ด้วยกูผู้เป็นพี่ |
ตัวมึงอาสัตย์อัปรีย์ | กูจะล้างชีวีให้มรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | ชี้หน้าแล้วร้องตอบไป |
เหวยเหวยจักรวรรดิอสุรี | จะเป็นการเอ็งนี้ก็หาไม่ |
อันพี่ของกูที่บรรลัย | เพราะใจโลภล้นพ้นประมาณ |
ไปลักพระลักษมีดวงสมร | พระสี่กรจึ่งตามมาสังหาร |
ตัวกูสุจริตไม่คิดพาล | ผ่านฟ้าจึ่งให้ครองธานี |
สืบเรื่องกษัตริย์สุริย์วงศ์ | พงศ์พรหมธิราชเรืองศรี |
เอ็งมาไม่ว่าแต่โดยดี | กูจึ่งยกโยธีออกโรมรัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
ได้ฟังเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน | โกรธาตัวสั่นแล้วร้องไป |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้สาธารณ์ | ถ้อยคำอหังการหยาบใหญ่ |
ด้านหน้าว่าได้ไม่อายใจ | คือใครจะนับว่ามึงดี |
มุดหัวเป็นข้ามนุษย์ | เพราะทุจริตต่อพี่ |
เสียชาติเสียวงศ์อสุรี | กูจะล้างชีวีให้วายปราณ |
ว่าแล้วมีราชบัญชา | แก่โลทันอสุราใจหาญ |
ให้ขับรถแก้วสุรกานต์ | โถมทะยานเข้าไล่ราญรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกชาญสมร |
แลไปเห็นท้าวแปดกร | แกว่งศรขับรถเข้ามา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงกัลป์ | ขบฟันเขม้นเข่นฆ่า |
ให้ขับรถทรงอลงการ์ | เข้าต่อฤทธาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวากุลาหล | มานะอดทนทั้งสองศรี |
ต่างแทงต่างฟันประจัญตี | ตกรถมณีลงด้วยกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์โจมจ้วงทะลวงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าขวานั้นเหยียบเข่าซ้าย | ยักย้ายหักเหียนเปลี่ยนท่า |
หวดด้วยศรอันศักดา | ต้องพญาพิเภกหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
รณรงค์เจ็บช้ำทั้งอินทรีย์ | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
จึ่งชักศรสิทธิ์ขึ้นพาดสาย | คิดคุณพระนารายณ์รังสรรค์ |
มุ่งหมายน้าวหน่วงยืนยัน | กุมภัณฑ์ก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ด้วยเดชพระบรมจักรกฤษณ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ศรแสงสำแดงฤทธิไกร | ไปต้องจักรวรรดิอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวแปดกรยักษา |
ต้องศรเจ็บชํ้าทั้งกายา | อสุราร่ายเวทพริศพราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นครบสามคาบก็ลูบลง | เจ็บปวดทั้งองค์ก็สูญหาย |
ไม่มีบาดแผลกับกาย | จับศรพาดสายแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | เป็นพญานาคราชตัวใหญ่ |
เจ็ดเศียรพ่นพิษเป็นควันไฟ | ไล่มัดพิเภกอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
นาครัดมัดทั่วทั้งอินทรีย์ | ก็ล้มลงกับที่สุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิใจหาญ |
มีชัยแก่พิเภกขุนมาร | ยินดีปานได้ฟากฟ้า |
ตบหัตถ์สรวลสันต์สนั่นก้อง | ร้องสั่งราชมัลใจกล้า |
จงจับพิเภกอสุรา | มากูจะดูหน้ามัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สั่งแล้วขึ้นยังรถทรง | ให้เลิกจตุรงค์ทัพขัน |
ตรงไปพลับพลากุมภัณฑ์ | โห่สนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
อย่ในลงกาธานี | กับพี่เลี้ยงฟังข่าวชิงชัย |
ครั้นแจ้งว่าท้าวจักรวรรดิ | มัดเอาพิเภกไปได้ |
ยินดีก็พากันออกไป | ยังที่ทัพชัยกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงขึ้นเฝ้าบาทบงสุ์ | องค์ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
น้อมเศียรถวายบังคมคัล | ท่ามกลางพลขันธ์โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจตุรพักตร์ยักษี |
เห็นโอรสมาก็ยินดี | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ดูก่อนลูกรักเยาวเรศ | ดวงเนตรพ่อยอดพิสมัย |
อันไอ้พิเภกจังไร | มาชิงชัยก็แพ้ฤทธา |
จับได้ด้วยศรนาคราช | จะพิฆาตให้สิ้นสังขาร์ |
เสียบไว้ที่ในลงกา | อย่าให้ใครดูเยี่ยงมัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังราชบัญชากุมภัณฑ์ | บังคมคัลสนองพระวาที |
ซึ่งทรงพระเมตตาการุญ | พระคุณล้นเกล้าเกศี |
ลูกขอพึ่งเดชพระภูมี | ไปกว่าชีวีจะมรณา |
อันโทษพิเภกซึ่งทำผิด | ชีวิตควรสิ้นสังขาร |
แต่มีคุณได้เลี้ยงลูกมา | มิให้อนาทรร้อนใจ |
ครั้นว่าจะล้างชีวัน | ไตรโลกทั้งนั้นจะติได้ |
อย่าพิฆาตฟาดฟันให้บรรลัย | ภูวไนยจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวจักรวรรดิยักษี |
ฟังโอรสาพาที | มีความแสนโสมนัสนัก |
ส้วมสอดกอดไว้แล้วรับขวัญ | กุมภัณฑ์โอบอุ้มขึ้นใส่ตัก |
ประคองลูบจูบเกศจูบพักตร์ | ลูกรักของพ่อดั่งดวงใจ |
แสนฉลาดเจรจาน่าเอ็นดู | กตัญญูไม่มีใครเปรียบได้ |
ซึ่งเจ้าขอโทษมันไว้ | บิตุเรศยกให้ดั่งจินดา |
แต่จะทรมาทารกรรม | ตรากตรำให้สมนํ้าหน้า |
ตรัสแล้วจึ่งมีราชบัญชา | สั่งอสุราราชมัล |
เอ็งเอาพิเภกนี้ไป | ใส่ตรุตรึงไว้จงมั่น |
อย่าให้ใครเข้าออกหากัน | กว่าชีวิตมันจะวายปราณ |
ตรัสแล้วขึ้นยังบัลลังก์รถ | อลงกตด้วยมุกดาหาร |
ให้เลิกพหลพลมาร | เข้าในราชฐานลงกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยมาศ | เสด็จลงจากราชรัถา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | ขึ้นมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมารศรี |
แจ้งว่าโอรสร่วมชีวี | ลอบไปธานีมลิวัน |
เชิญท้าวจักรวรรดิอสุรา | ยกพวกโยธาทัพขัน |
จับพญาพิเภกกุมกัณฑ์ | แล้วพากันเข้ามายังวังใน |
ให้คิดเกรงเดชพระอวตาร | เยาวมาลย์ทอดถอนใจใหญ่ |
ครั้นจะนิ่งอยู่มิออกไป | ก็กลัวภัยพญาอสุรา |
จึ่งมีพระราชเสาวนีย์ | ชวนนางสาวศรีซ้ายขวา |
ก็เสด็จลีลาศยาตรา | ไปเฝ้าพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวจักรวรรดิรังสรรค์ |
พร้อมหมู่อนงค์กำนัล | คอยฟังบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ