- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิไกรใจกล้า |
แต่ต้องละอองอายยา | หลับตาเมามัวไม่สมประดี |
ครั้นลมพัดก็ตื่นฟื้นกาย | เรียกสุครีพน้าชายกระบี่ศรี |
อัศจรรย์เป็นพ้นพันทวี | เมื่อกี้ข้าเคลิ้มหลับไป |
หรือว่าไมยราพชาญฉกรรจ์ | มันลอบสะกดเข้ามาได้ |
พระน้าอย่านิ่งนอนใจ | จงไปดูองค์พระจักรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
แว่วเสียงหนุมานเรียกมา | ก็ผวาตื่นขึ้นทันที |
ตกใจนิ่งขึงตะลึงคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงจี่ |
อารมณ์ไม่เป็นสมประดี | ขุนกระบี่ก็รีบไปพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เห็นหมู่โยธาพลากร | พวกพลวานรซ้ายขวา |
หลับไหลไม่ฟื้นตื่นตา | เกลื่อนกลาดดาษดาทับกัน |
ทั้งพญาพิเภกขุนยักษ์ | กับองค์พระลักษมณ์รังสรรค์ |
หลับข้างแท่นแก้วแพรวพรรณ | แต่พระทรงสุบรรณนั้นหายไป |
ตกใจจึ่งเรียกหนุมาน | ทั้งวานรทหารน้อยใหญ่ |
แล้วเดินโศกาอาลัย | เข้าไปปลุกพระอนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ผวาตื่นฟื้นจากนิทรา | แลมาไม่เห็นพระจักรี |
ตกใจดั่งพญามัจจุราช | มาฟันฟาดเศียรเกล้าเกศี |
สติไม่เป็นสมประดี | ก็โศกีครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าสมเด็จพระเชษฐา | เราจากพาราเขตขัณฑ์ |
ได้ยากลำบากด้วยกัน | ที่ในอารัญกันดาร |
ทศพักตร์มันลักพี่นางไป | ไว้ในลงการาชฐาน |
แต่พี่น้องสองคนทรมาน | ตามมาจะผลาญอสุรี |
จนได้โยธาพลากร | วานรทั้งสองบุรีศรี |
ยกข้ามมหาชลธี | จะต่อตีแก้แค้นแทนมัน |
ยังมิทันจะได้รณรงค์ | ปราบพงศ์ราพณ์ร้ายโมหันธ์ |
ควรหรือพวกพาลชาญฉกรรจ์ | มาลอบลักทรงธรรม์พาไป |
ป่านนี้พระจอมมงกุฎเกศ | จะแสนทุกข์แสนเทวษเป็นไฉน |
มันจะทำลำบากตรากไว้ | หรือจะฆ่าฟันให้บรรลัยลาญ |
แม้นพระหริรักษ์จักรแก้ว | ล่วงแล้วสุดสิ้นสังขาร |
น้องจะอยู่ไปไยให้ทรมาน | จะวายปราณตามเสด็จไปเมืองฟ้า |
ให้พ้นอัปยศอดสู | แก่หมู่ไตรโลกถ้วนหน้า |
รํ่าพลางแสนโศกโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานกระบี่ศรี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | ก็โศกีรํ่ารักพระจักรา |
โอ้ว่าพระปิ่นโลเกศ | พระเดชแผ่ทั่วทุกทิศา |
ควรหรืออสูรพาลา | ลอบมาสะกดพระองค์ไป |
เสียแรงตัวข้าเป็นทหาร | จะรักษาบทมาลย์ก็ไม่ได้ |
เสียทีที่มีฤทธิไกร | มาขายใต้เบื้องบาทพระสี่กร |
ให้ไตรโลกนั้นล่วงติฉิน | ประมาทหมิ่นพระองค์ทรงศร |
เสียชาติสุริย์วงศ์พานร | ใครห่อนจะนับว่าดี |
รํ่าพลางโศกาอาลัย | ทุกหมู่พลไกรกระบี่ศรี |
เสียงแซ่สนั่นเป็นโกลี | เพียงหนึ่งชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
แสนวิโยคโศกเศร้าโศกา | อสุราค่อยได้สมประดี |
จึ่งน้อมเศียรถวายอภิวาทน์ | ทูลพระนุชนาถเรืองศรี |
อันว่าสมเด็จพระจักรี | ใช่ที่จะม้วยชีวัน |
จงระงับดับความทุกข์ร้อน | อย่าอาวรณ์วิโยคกันแสงศัลย์ |
ขอให้หนุมานชาญฉกรรจ์ | ตามพระทรงธรรม์ไปบาดาล |
อันไอ้ไมยราพอสุรา | ก็จะม้วยชีวาสังขาร |
พระเกียรติสมเด็จพระอวตาร | จะแผ่พ่านไปทั่วธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีค่อยคลายโศกาลัย |
จึ่งสั่งคำแหงวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรแผ่นดินไหว |
เร่งตามพระองค์ลงไป | ยังในนคราบาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โอรสพระพายใจหาญ |
รับสั่งน้องพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์ด้วยภักดี |
แล้วถามวิถีทางจร | ซึ่งจะไปนครยักษี |
แก่พญาพิเภกอสุรี | ถ้วนถี่มิให้แคลงวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ออกจากสุวรรณพลับพลา | สำแดงศักดาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งพินิจพิศดูสำคัญ | ซึ่งพิเภกกุมภัณฑ์บอกให้ |
ก็ถึงต้นมรคาพนาลัย | แลไปเห็นสระปทุมมาลย์ |
มีบัวดอกหนึ่งเท่ากงรถ | บานสดกลิ่นเกลี้ยงหอมหวาน |
ขุนกระบี่ผู้ปรีชาชาญ | ก็หักก้านลอดไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นกำแพงแลงล้อม | ป้อมค่ายคูเขื่อนแน่นหนา |
ล้วนแล้วไปด้วยศิลา | หมู่ยักษ์รักษานับพัน |
จึ่งชักตรีเพชรออกกวัดแกว่ง | สำแดงฤทธิไกรไหวหวั่น |
เข้าไล่หักโหมโรมรัน | บุกบันตีด่านอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรยักษี |
เห็นวานรเผือกผู้มาราวี | ตีค่ายทำลายปราการ |
ต่างตนพิโรธโกรธนัก | ฉวยชักอาวุธสำแดงหาญ |
กรูกันโลดโผนโจนทะยาน | ออกไล่รอนราญวานร |
พุ่งซัดอาวุธกุลาหล | ต่างตนก็ยิงธนูศร |
แทงด้วยแหลนหลาวโตมร | ฟันฟอนอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
หลบหลีกเคล่าคล่องว่องไว | เลี้ยวไล่สังหารอสุรี |
ถีบกัดฟันแทงสับสน | ด้วยกำลังฤทธิรณกระบี่ศรี |
ตายยับทับกันไม่สมประดี | สิ้นพวกโยธีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นเสร็จทำลายกำแพงด่าน | ฆ่าหมู่มารม้วยอาสัญ |
ขุนกระบี่ก็รีบจรจรัล | ดัดดั้นไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เหลือบแลไปเห็นกุญชร | งางอนสูงใหญ่ขวางหน้า |
เรียกมันครั่นครึกเป็นโกลา | สองตาดั่งแสงอโณทัย |
จึ่งทำสีหนาทตวาดเสียง | สำเนียงกึกก้องแผ่นดินไหว |
แกว่งตรีโลดโผนโจนไป | เข้าไล่โจมจับคชกรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายช้างอสุราตัวขยัน |
บ้าบุกอุกอาจเมามัน | วิ่งเข้าประจัญด้วยวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สี่เท้าถีบฉัดหางฟาด | ทำอำนาจดั่งคชไกรสร |
งวงคว้างาแทงตะลุมบอน | ด้วยกำลังฤทธิรอนราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
หลบหลีกว่องไวในที | ขุนกระบี่เหยียบงาคชาชาญ |
ปีนขึ้นด้วยกำลังสามารถ | องอาจหักคอคชสาร |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | วายปราณสิ้นชีพชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ ครั้นเสร็จสังหารกุญชร | อันเป็นด่านนครยักษา |
ก็เร่งรีบไปตามมรคา | ด้วยกำลังศักดาว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รวดเร็วดั่งลมพัดพาน | ถึงสถานที่ร่วมทางใหญ่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | แลไปเห็นเขากระทบกัน |
เป็นประกายเพลิงแรงแสงกล้า | เสียงก้องโกลาเลื่อนลั่น |
เปลวพลุ่งรุ่งโรจน์ไม่มีควัน | ร้อนดังสุริย์ฉันบรรลัยกาล |
จึ่งตรงเข้าไปยังคีรี | ไม่เกรงอัคคีจะสังหาร |
ผาดแผลงฤทธิไกรชัยชาญ | เผ่นทะยานขึ้นยอดบรรพต ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ตีนถีบมือหักด้วยกำลัง | ภูเขาก็พังลงหมด |
ลั่นเลื่อนสะเทือนถึงโสฬส | เพลิงกรดดับสิ้นทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นเสร็จหักเขากระทบกัน | ซึ่งเป็นด่านขัณฑ์ยักษี |
ก็รีบเร่งมาในราตรี | ตามที่แถวทางรัถยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แลไปเห็นยุงเท่าแม่ไก่ | ฝูงใหญ่บินว่อนขวางหน้า |
ขุนกระบี่ผู้มีศักดา | เข้าไล่เข่นฆ่ารอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งฝูงยุงใหญ่ใจหาญ |
โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล | บินทะยานเข้ากลุ้มรุมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงเสียงร้องก้องอากาศ | หมายมาดกินเลือดกระบี่ศรี |
จู่โจมโถมเข้าราวี | ทั่วทั้งอินทรีย์วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นยุงกลุ้มเข้ามาราญรอน | สองกรจับขยี้วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หัวบี้หัวแบนปีกขาด | ตกลงเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
ฝูงยุงก็สิ้นชีวาลัย | ด้วยฤทธิไกรชัยชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จหักด่านยุงร้าย | จึ่งลูกพระพายใจหาญ |
มุ่งหมายมรคาบาดาล | ก็ระเห็จเตร็จทะยานรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เห็นสระสี่เหลี่ยมกว้างใหญ่ | ดาษไปด้วยปทุมเกสร |
ทรงดอกออกฝักอรชร | ตูมบานสลอนสลับกัน |
พระพายชายพัดมาเรื่อยเรื่อย | หอมเฉื่อยซาบจิตเกษมสันต์ |
ให้สงสัยไม่รู้สำคัญ | ว่าจะจรจรัลไปแห่งใด |
เหลือบซ้ายแลขวาทุกทิศ | พินิจรอบทั่วสระใหญ่ |
ไม่เห็นร่องรอยก็จนใจ | แต่เวียนเทียวไปเทียวมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | มัจฉานุผู้ใจแกล้วกล้า |
ซึ่งอยู่ในสระคงคา | เป็นด่านรักษาชั้นใน |
ราตรีเที่ยงคืนเคยเที่ยว | ลดเลี้ยวกระเวนทางใหญ่ |
ก็สำแดงแผลงฤทธิเกรียงไกร | ขึ้นไปจากท้องชลธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงที่ขอบสระก็หยุดอยู่ | แลดูไปทั่วทุกสถาน |
เห็นวานรเผือกผู้อหังการ | ล่วงด่านผ่านทางเข้ามา |
โกรธาขบฟันกระทืบบาท | ทำอำนาจออกยืนขวางหน้า |
แล้วร้องประกาศด้วยวาจา | เหวยไอ้พาลาใจฉกรรจ์ |
ตัวเอ็งมานี้จะไปไหน | ไม่กลัวชีวาจะอาสัญ |
องอาจล่วงด่านกุมภัณฑ์ | กูจะหั่นให้ยับลงกับกร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นลิงน้อยขึ้นจากสาคร | อ้างอวดฤทธิรอนอหังการ์ |
จึ่งคิดว่าวานรนี้ | เหตุใดมีหางเป็นมัจฉา |
รูปทรงองอาจประหลาดตา | ถ้อยคำหยาบช้าทะนงใจ |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ลิงเล็ก | จะเจียมตัวว่าเด็กก็หาไม่ |
มึงอย่าขวางหน้ากูไว้ | ถอยไปให้พ้นไอ้สาธารณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มัจฉานุฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธคือไฟกาล | ตบมือฉัดฉานแล้วตอบไป |
ถึงตัวกูน้อยเท่านี้ | จะกลัวฤทธีเอ็งก็หาไม่ |
อย่าพักอาจองทะนงใจ | ใครดีจะได้เห็นกัน |
ว่าแล้วสำแดงเดชา | พสุธาบาดาลไหวหวั่น |
โลดโผนโจนรุกบุกบัน | เข้าไล่โรมรันราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | ขุนกระบี่รับระปะทะกร |
เคล่าคล่องว่องไวทั้งสองข้าง | ต่างตนต่างหาญชาญสมร |
ถ้อยทีถ้อยมีฤทธิรอน | ต่อกรไม่ละลดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มัจฉานุฤทธิแรงแข็งขัน |
ปลํ้าปลุกคลุกคลีตีประจัญ | พัลวันหลบหลีกไปในที |
ถีบกัดวัดเหวี่ยงอุตลุด | ทะยานยุทธ์ไม่ท้อถอยหนี |
กอดรัดฟัดกันเป็นโกลี | เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทีรอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รบรกบุกบันประจัญบาน | เผ่นทะยานโถมถีบด้วยบาทา |
ถูกมัจฉานุซวนไป | ฉวยรวบเท้าได้ทั้งซ้ายขวา |
ฟาดลงกับแผ่นศิลา | ด้วยกำลังศักดาราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มัจฉานุผู้ชาญชัยศรี |
มิได้ชอกชํ้าอินทรีย์ | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
ผุดลุกขึ้นได้กระทืบบาท | ทำอำนาจผาดเสียงดั่งฟ้าลั่น |
วิ่งผลุนหมุนเข้าบุกบัน | โรมรันไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
โถมรับกลับกลอกไปมา | หันเหียนเปลี่ยนท่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รบพลางรำพึงคะนึงคิด | สงสัยในจิตกระบี่ศรี |
เหตุใดวานรน้อยนี้ | จึ่งล้างชีวีไม่บรรลัย |
ทรหดอดทนสามารถ | องอาจต่อสู้ด้วยกูได้ |
คิดแล้วจึ่งร้องถามไป | เหวยไอ้ลิงน้อยเท่าแมงวัน |
เป็นไฉนมาอยู่รักษาด่าน | ไมยราพขุนมารโมหันธ์ |
เชื้อชาติสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | นามนั้นชื่อใดวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มัจฉานุกุมารชาญสมร |
ฟังความถามถึงนามกร | พงศ์พันธุ์มารดรแลบิดา |
จึ่งคิดว่าวานรตัวนี้ | ฤทธีองอาจแกล้วกล้า |
หักด่านผ่านทางลงมา | ถึงมหานคราบาดาล |
รูปกายก็คล้ายกับกู | สองหูพรรณรายฉายฉาน |
หรือจะเป็นกุณฑลสุรกานต์ | เหมือนมารดาสั่งความไว้ |
ครั้นว่าจะนิ่งเสียบัดนี้ | จะแจ้งเหตุร้ายดีก็หาไม่ |
คิดแล้วจึ่งร้องตอบไป | ตัวเรานี้ได้นามกร |
ชื่อมัจฉานุวัยวุฒิ | บุตรนางมัจฉาดวงสมร |
สำรอกไว้ริมสาคร | ไมยราพฤทธิรอนได้มา |
เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม์ | ให้อยู่ด่านขัณฑ์ยักษา |
บิตุเรศของเราผู้ศักดา | ชื่อว่าคำแหงหนุมาน |
ตัวท่านนี้เป็นวานร | นามกรชื่อไรจึ่งอาจหาญ |
ล่วงมาถึงมือพระกาล | ไม่กลัววายปราณหรือว่าไร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ฟังความจะแจ้งไม่แคลงใจ | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
พินิจพิศดูดวงพักตร์ | แสนรักพูนเพิ่มเสน่หา |
ตบมือสำรวลไปมา | อนิจจาเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
จึ่งว่าดูกรมัจฉานุ | ดวงจักษุพ่อเฉลิมศรี |
เจ้าอย่าโกรธาราวี | เรานี้คือศรีหนุมาน |
บุญแล้วจึ่งฆ่ากันไม่ตาย | สายสวาทพ่อยอดสงสาร |
ทั้งเทเวศผู้ปรีชาชาญ | บันดาลให้มาพบกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | มัจฉานุฤทธิแรงแข็งขัน |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | ขบฟันชี้หน้าแล้วร้องไป |
เหม่เหม่ดูดู๋กระบี่ศรี | มุสาพาทีก็เป็นได้ |
ถ้อยคำหยาบช้าไม่เกรงใจ | ใครจักเชื่อฟังวานร |
แม้นหาวเป็นดาวเดือนดะวัน | ให้เห็นสำคัญประจักษ์ก่อน |
เราจึ่งจะเชื่อว่าบิดร | ทหารพระสี่กรอวตาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังมัจฉานุกุมาร | ว่าขานกินแหนงแคลงใจ |
รับขวัญแล้วกล่าวพจนารถ | สุดสวาทของพ่ออย่าสงสัย |
ว่าพลางก็เหาะขึ้นไป | อยู่ในอากาศด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หาวเป็นดาวเดือนทินกร | เขจรสว่างเวหา |
เสร็จแล้วก็กลับลงมา | ยังพื้นพสุธาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | มัจฉานุผู้ชาญชัยศรี |
เห็นประจักษ์เหมือนคำชนนี | ยินดีก็วิ่งเข้าไป |
ยอกรขึ้นเหนือศิโรเพฐน์ | น้อมเกศบังคมประนมไหว้ |
ตัวลูกไม่แจ้งประจักษ์ใจ | จึ่งชิงชัยกับพระบิดา |
อันโทษนี้ใหญ่หลวงนัก | ลูกรักจักขอโทษา |
อย่าให้เป็นกรรมเวรา | แก่ข้าน้อยนี้สืบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
สวมสอดกอดลูกเข้าไว้ | ลูบไล้ไปทั่วทั้งอินทรีย์ |
รับขวัญจุมพิตแล้วพิศพักตร์ | ดวงจักษุพ่อเฉลิมศรี |
ซึ่งเจ้าต่อยุทธ์บิดานี้ | เพราะมิได้รู้จักกัน |
ถ้อยทีถ้อยรักษาตัว | ด้วยกลัวชีวาจะอาสัญ |
อันซึ่งผิดพลั้งทั้งนั้น | ไม่ถือโทษทัณฑ์แก่ลูกรัก |
พ่อจักอยู่ช้าก็ไม่ได้ | จะรีบไปตามองค์พระทรงจักร |
สังหารไมยราพขุนยักษ์ | ซึ่งมันไปลักพระองค์มา |
ตัวเจ้าค่อยอยู่เป็นสุขก่อน | อย่าอาวรณ์เศร้าโทมนัสสา |
อันทางบาดาลนครา | แก้วตาจงบอกให้พ่อไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | มัจฉานุผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังอัดอั้นตันใจ | บังคมไหว้แล้วตอบวาที |
ข้อนี้ขัดสนเป็นพ้นคิด | พระบิดาจงโปรดเกศี |
ด้วยพญาไมยราพอสุรี | ได้เลี้ยงลูกนี้จนใหญ่มา |
พระคุณดั่งคุณบิตุเรศ | ซึ่งบังเกิดเกศเกศา |
อันซึ่งจะบอกมรคา | ดั่งข้าไม่มีกตัญญู |
บิดาลงมาทางไหน | ทางนั้นจะไปยังมีอยู่ |
จงเร่งพินิจพิศดู | ก็จะรู้ด้วยปรีชาชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ฟังมัจฉานุกุมาร | ว่าขานหลีกเลี้ยวเป็นคำใน |
ขุนกระบี่ผู้มีกำลังฤทธิ์ | นิ่งคิดก็คิดขึ้นได้ |
จึ่งหักก้านบุษบงด้วยว่องไว | ลอดไปตามไส้ปทุมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งสระชลธาร | ใกล้ทวารนิเวศน์ของยักษา |
เห็นหมู่อสุรโยธา | ตรวจตรารอบราชธานี |
จึ่งหยุดยืนรำพึงคะนึงคิด | จะตรงไปต่อฤทธิ์ด้วยยักษี |
ไหนจะรู้ข่าวพระจักรี | ว่าอยู่ที่แห่งหนตำบลใด |
จำกูจะทำอุบายกล | แอบตนฟังความให้จงได้ |
คิดพลางยืนอยู่แต่ไกล | สำรวมใจกำบังกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แล้วเข้าแอบต้นโศกอยู่ | คอยฟังคำหมู่ยักษา |
เข้าออกบอกกันจำนรรจา | ริมท่าสระโบกขรณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางพิรากวนยักษี |
ต้องจำลำบากพันทวี | กับด้วยอสุรีลูกรัก |
อยู่ในเรือนตรุกันดาร | แสนทุกข์ทรมานเพียงอกหัก |
ไมยราพอสุราพญายักษ์ | ใช้ให้ไปตักคงคา |
ใส่กระทะจะต้มลูกชาย | ให้ตายด้วยพระรามนาถา |
ก็กระเดียดกระออมเดินมา | ออกจากทวาราธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
โอ้
๏ ครั้นถึงที่สระบุษบง | นั่งลงริมท่าวารีศรี |
คิดถึงลูกรักร่วมชีวี | ตีทรวงเข้ารํ่าโศกา |
โอ้ว่าไวยวิกของแม่เอ๋ย | ทรามเชยผู้ยอดเสน่หา |
เสียแรงบำรุงเลี้ยงมา | จนชันษาจำเริญวัย |
ควรหรือไมยราพขุนมาร | คิดการพาลผิดก็เป็นได้ |
โทษกรณ์ไม่มีเท่ายองใย | ใส่ไคล้จะล้างชีวัน |
อนิจจาสงสารตัวเจ้า | รุ่งเช้าก็จะม้วยอาสัญ |
กับองค์พระรามด้วยกัน | ใครจะช่วยได้นั้นก็ไม่มี |
สุดที่แม่แล้วนะแก้วตา | ซึ่งจะพ้นอาชญายักษี |
แม้นเจ้าสิ้นชีพชีวี | แม่นี้ไม่อยู่จะสู้ตาย |
ก้มหน้าไปตามทรามสวาท | ให้ประจักษ์โลกธาตุทั้งหลาย |
ถึงอยู่ไปจะทรมานกาย | จะฟูมฟายชลเนตรทุกเวลา |
พรุ่งนี้ก็จะจากอกไป | ที่ไหนแม่จะได้เห็นหน้า |
รํ่าพลางแสนโศกโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายลูกพระพายรังสรรค์ |
เห็นนางโศกาจาบัลย์ | รำพันออกนามพระรามา |
ว่ารุ่งเช้าชีวิตจะวายปราณ | กับไวยวิกขุนมารยักษา |
จึ่งคลายพระเวทกำบังตา | เดินเข้าไปหาทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นั่งลงแล้วกล่าววาที | ยายอย่าโศกีละห้อยไห้ |
เราเป็นทหารพระภูวไนย | ผู้ใดไม่รอต่อกร |
ชื่อว่าหนุมานชาญณรงค์ | มาตามพระองค์ทรงศร |
ด้วยไอ้ไมยราพฤทธิรอน | มันพาภูธรลงมา |
ไม่รู้ว่าอยู่ตำบลใด | จนใจที่จะเสาะแสวงหา |
จงพาเราไปในพารา | จะฆ่ามันให้ม้วยชีวี |
จะช่วยไวยวิกให้พ้นตาย | ตัวยายก็จะสุขเกษมศรี |
เป็นเจ้าแก่หมู่อสุรี | ในที่นคราบาดาล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิรากวนผู้ยอดสงสาร |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | นงคราญค่อยคลายจาบัลย์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
จึ่งว่าไมยราพชาญฉกรรจ์ | มันเอาพระองค์ไปไว้ |
ดงตาลท้ายเมืองอสุรี | อยู่ที่ในกรงเหล็กใหญ่ |
อสุรารักษาทั้งนอกใน | ซึ่งจะพาเข้าไปนั้นยากนัก |
ด้วยว่ากุมภัณฑ์นายประตู | ชั่งดูมิให้เบาหนัก |
ถึงจะเหาะข้ามกำแพงยักษ์ | ก็จะต้องจักรกรดมรณา |
มาตรแม้นจะแปลงเป็นแมงวัน | อย่าสำคัญจะพ้นยักษา |
ขุนกระบี่ผู้มีปรีชา | ตรึกตราอย่าให้เสียการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังพิรากวนนางมาร | บอกขานจะแจ้งไม่แคลงใจ |
จึ่งว่าเพียงนี้ไม่ยากนัก | ตัวข้าพอจักคิดได้ |
จะแปลงเป็นใยบัวติดสไบ | เข้าไปมิให้สงกา |
แม้นว่าชั่งหนักจะหักลง | จงเอาสำนวนนี้ว่า |
คันชั่งอยู่ครั้งบุราณมา | เก่าแก่ครํ่าคร่าช้านาน |
ข้ามิได้พาผู้ใด | มาในพาราราชฐาน |
จงดูเอาเถิดนะขุนมาร | อย่าแสร้งมาพาลพาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยักษี |
ได้ฟังทหารพระจักรี | ยินดีแล้วตอบวาจา |
อันความคิดนี้ประเสริฐนัก | เราจักตอบตามท่านว่า |
จงเร่งนิมิตกายา | ตัวข้าจะพาบทจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ประนมหัตถ์ร่ายเวทฤทธิรอน | สังวรใจนิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เป็นใยบัวติดสไบบาง | นางพิรากวนยักษี |
ด้วยเดชพระมนต์อันฤทธี | อสุรีไม่เห็นกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยักษา |
เอากระออมนั้นตักคงคา | ขึ้นมากระเดียดเดินไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | อสุรยักษ์รักษาทวารใหญ่ |
เห็นนางพิรากวนอรไท | ไปตักซึ่งชลธีมา |
จึ่งเอากระออมกับตัวนาง | วางเหนือตราชูยักษา |
ชั่งดูกับลูกศีลา | ที่เคยตรวจตราทุกที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นตราชูยนต์หนักนัก | ก็ลั่นเดาะหักลงกับที่ |
กระออมแตกยับไม่สมประดี | อสุรีเข้าจับวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วตั้งกระทู้ขู่ถาม | นางนี้ทำความเป็นไฉน |
พาใครเข้ามาหรือว่าไร | จงบอกไปแต่โดยสัจจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยักษา |
ขึ้นเสียงเถียงตอบอสุรา | เหตุใดมาว่าดั่งนี้ |
เรามาผู้เดียวก็เห็นอยู่ | เมื่อตราชูยนต์ของยักษี |
ครํ่าคร่ามานานกว่าแสนปี | ไม่ดีหักเองจะโทษใคร |
อนิจจาเห็นว่ากูตกยาก | น้ำท่วมปากแล้วก็ว่าได้ |
จะทำกระไรก็ตามใจ | ไม่อาลัยแก่ชีพชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประตูหมู่มารตัวขยัน |
ฟังนางว่าขึงดึงดัน | ไม่ทันรู้กลมารยา |
ต่างตนต่างเห็นเป็นจริง | ทุกสิ่งมิได้กังขา |
แต่เหลียวดูหน้ากันไปมา | ไม่ตอบวาจาเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยักษี |
เถียงพลางทางรีบจรลี | เข้ามายังที่ทวารชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | ชี้บอกหนุมานทหารใหญ่ |
อันพญาไมยราพฤทธิไกร | หลับอยู่ในที่ไสยา |
แต่ตัวไวยวิกกุมภัณฑ์ | ใส่ตรุจำมั่นอยู่ข้างหน้า |
นั่นดงตาลท้ายพารา | ซึ่งยักษามันไว้พระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรชัยศรี |
ยอกรเหนือเกล้าเมาลี | ขุนกระบี่ร่ายเวทกำบังกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะด้วยวิทยามนต์ | ทั้งตนแลเงาก็สูญหาย |
รีบไปตามองค์พระนารายณ์ | ยังท้ายพารากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาถึงที่ดงตาล | เห็นหมู่มารรักษากวดขัน |
นั่งนอนล้อมวงหลายชั้น | ผลัดกันกั้นกระเวนตรวจตรา |
ขุนกระบี่ผู้มีฤทธิรอน | ยอกรเหนือเกล้าเกศา |
จึ่งร่ายพระเวทวิทยา | สะกดนิทราหมู่มาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นโพยมหน | มืดมนทั่วทิศาศาล |
เยือกเย็นไปทั้งบาดาล | ปานดั่งฤดูเหมันต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกอสุราพลขันธ์ |
ต้องเวทหนุมานชาญฉกรรจ์ | ให้บันดาลมัวตามัวใจ |
ล้มหลับทับกันทั้งไพร่นาย | จะเกริ่นกรายตรวจตราก็หาไม่ |
บ้างกรนบ้างครางวุ่นไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
ครั้นเสร็จสะกดอสุรี | ขุนกระบี่ก็เดินเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ จึ่งเห็นสมเด็จพระหริวงศ์ | หลับอยู่ในกรงเหล็กใหญ่ |
กราบลงแทบบาทภูวไนย | ซบพักตร์รํ่าไห้โศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | ลือเดชทั่วทศทิศา |
เป็นที่พึ่งมนุษย์เทวา | ควรหรือมานอนอยู่ในกรง |
อนิจจาเป็นน่าอนาถจิต | พระกายติดไปด้วยธุลีผง |
ไร้ทั้งภูษาผทมทรง | ใบไม้จะรององค์ก็ไม่มี |
เสียแรงเลี้ยงทหารชำนาญยุทธ์ | นับสมุทรไว้ใต้บทศรี |
แจ้งว่าไมยราพอสุรี | ในราตรีจะลอบขึ้นไป |
ทำการสะกดแต่เพียงนั้น | ช่วยกันรักษาไว้ไม่ได้ |
เสียทีที่มีฤทธิไกร | มาหลับไหลด้วยเวทวิทยา |
มันจึ่งได้พาพระจักรี | มาถึงบุรียักษา |
หาไม่ที่ไหนอสุรา | จะรอดลงมายังบาดาล |
จะพิฆาตฟาดฟันด้วยตรีเพชร | ให้เศียรเด็ดเสียบไว้กับหน้าฉาน |
จึ่งจะสมนํ้าหน้าไอ้สาธารณ์ | ที่อหังการกำเริบใจ |
รํ่าพลางฟูมฟายชลนา | ซบพักตร์โศกาสะอื้นไห้ |
ดั่งหนึ่งจะสิ้นชีวาลัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นคลายแสนโศกจาบัลย์ | อภิวันท์เหนือเกล้าเกศี |
ทำลายกรงช้อนองค์พระจักรี | ด้วยกำลังฤทธีพาจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบออกมาจากเมืองมาร | ถึงเขาสุรกานต์สิงขร |
ตรงลงยังเชิงคีรินทร | วานรเพ่งพิศไปมา |
เห็นแท่นสุวรรณบัลลังอาสน์ | อยู่ในนพมาศคูหา |
เอกเอี่ยมเทียมทิพย์ไสยา | ก็วางพระจักราด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ แล้วจึ่งบังคมก้มเกศ | กราบเบื้องบทเรศทั้งสองศรี |
คำรพจบพื้นพระธรณี | ชุลีกรประกาศด้วยวาจา |
ขอฝูงเทวาสุราฤทธิ์ | ซึ่งสถิตสิงสู่ในภูผา |
ทั้งหกห้องสวรรค์ชั้นฟ้า | มาช่วยรักษาพระทรงธรรม์ |
ตัวข้าจะไปสังหาร | ไมยราพขุนมารให้อาสัญ |
ฝากแล้วก็รีบจรจรัล | ผันพักตร์คืนเข้ายังธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ