- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงกุขันพรานไพรใจกล้า |
อยู่ในบูรีรัมย์นครา | ภูผาล้อมรอบเป็นขอบคัน |
นํ้าใจหยาบช้าสาหส | อดทนเรี่ยวแรงแข็งขัน |
ไม่รู้จักปีเดือนคืนวัน | สำคัญใบไม้หล่นจึ่งแจ้งใจ |
ในแนวสะโตงนัที | ใครจะไปยํ่ายีก็ไม่ได้ |
บริวารห้าโกฏิล้วนพรานไพร | การธนูหน้าไม้ก็เชี่ยวชาญ |
เพื่อนจึ่งดำริตริตรึก | จะล่าไล่โคถึกคชสาร |
ก็แต่งตัวเสร็จสรรพสำหรับพราน | จับธนูทะยานรีบมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลม
๏ ครั้นถึงที่เคยประชุมพล | ก็ปีนป่ายขึ้นบนต้นพฤกษา |
เป่าหลอดสำคัญสัญญา | เสียงสนั่นลั่นป่าพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เป่าหลอด เจรจา
๏ บัดนั้น | บริวารพวกพรานแข็งขัน |
ได้ยินเสียงหลอดสำคัญ | ก็พากันวิ่งวุ่นออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันผู้เป็นนายใหญ่ |
ยินดีลงจากต้นไม้ | พาพวกพรานไพรเที่ยวมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เห็นหมู่โคถึกมฤคี | หมู่หมีกวางทรายกระต่ายป่า |
ก็โห่ร้องก้องสนั่นอรัญวา | ล่าไล่มฤคาในดงดอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงฝั่งสะโตงคงคาลัย | แลไปเห็นองค์พระทรงศร |
กับทั้งพระลักษมณ์ฤทธิรอน | บังอรองค์อัครเทวี |
นั่งอยู่ริมฝั่งสาคเรศ | ผูกชฎาทรงเพศเป็นฤๅษี |
สง่างามดั่งดวงพระรวี | นางเทพบุตรีในชั้นฟ้า |
จึ่งย่องเข้าไปด้อมมอง | แหวกช่องพุ่มไม้ใบหนา |
พิศวงสามองค์กษัตรา | ดั่งว่าจะลืมสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพรานป่าพนาศรี |
เห็นสามองค์ทรงเพศเป็นโยคี | มีสิริเสาวภาคย์ละกลคัน |
พิศโฉมพระองค์ทรงศร | งามลํ้าทินกรรังสรรค์ |
อันองค์ทรงพรตน้อยนั้น | งามดั่งพระจันทร์อำไพ |
ดูโฉมนางดาบสินี | งามลํ้าไม่มีที่เปรียบได้ |
ยัดเยียดเบียดเสียดกันเข้าไป | ดูพระภูวไนยไม่วางตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันนายใหญ่ใจกล้า |
ให้ดลจิตคิดเกรงเดชา | องค์พระจักราเรืองฤทธิ์ |
ทั้งคำรพรักในเบื้องบาท | ด้วยอำนาจนารายณ์จักรกฤษณ์ |
จึ่งเข้าไปน้อมเศียรอัญชุลิต | ด้วยจิตรักองค์พระทรงชัย |
แล้วถวายนํ้าผึ้งกับเนื้อทราย | ทั้งปลากรายย่างตัวใหญ่ |
ถามว่าท่านนื้ชื่อไร | ชาวไพรหรืออยู่บูรี |
เป็นเชื้อกษัตริย์ขัตติยา | หรือว่าพาณิชเศรษฐี |
เป็นไฉนมาอยู่ริมนัที | เรานี้ฉงนสนเท่ห์นัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ฤทธิรงค์ทรงจักร |
ได้ฟังพรานไพรถามทัก | ก็ผินพักตร์มาตรัสจำนรรจา |
ตัวเราเป็นหน่อสุริย์วงศ์ | องค์ท้าวทศรถนาถา |
ทรงนามชื่อว่ารามา | อยู่กรุงอยุธยาพระนคร |
นางนี้ชื่อสีดานงลักษณ์ | เป็นองค์อัคเรศดวงสมร |
น้องเราผู้มีฤทธิรอน | นามกรพระลักษมณ์กุมารา |
พระบิตุรงค์จะมอบเศวตฉัตร | สืบวงศ์จักรพรรดินาถา |
แม่เลี้ยงเราขอสัจจา | ให้ลูกยานั้นผ่านบูรี |
เรารักษาสัตย์พระบิตุเรศ | จึ่งละเพศมาบวชเป็นฤๅษี |
เที่ยวอยู่กลางป่าพนาลี | สิบสี่ปีจะคืนเข้าเวียงชัย |
ท่านนี้ชื่อไรนะนายพราน | ถิ่นฐานเคหาอยู่ไหน |
เมตตาช่วยส่งเราไป | ให้ถึงฟากฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งนายกุขันพรานป่า |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อาลัยในองค์พระจักรี |
อนิจจาพระพงศ์จักรพรรดิ | เลิศลํ้ากษัตริย์ทุกกรุงศรี |
เคยเสด็จอยู่ในธานี | มีความผาสุกสำราญ |
ชะรอยว่าเวรามาแต่หลัง | จึ่งจากวังเดินป่าน่าสงสาร |
ว่าพลางพลางกราบบทมาลย์ | ผ่านฟ้าอย่าข้ามคงคา |
จงอยู่ด้วยข้าผู้ใจภักดิ์ | จะได้พิทักษ์รักษา |
ข้าชื่อกุขันสมญา | ขอรองบาทาพระภูธร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
ได้ฟังพรานป่าวิงวอน | จึ่งกล่าวสุนทรว่าขอบใจ |
แต่ซึ่งจะให้อยู่ที่นี่ | ใกล้พระบูรีไม่อยู่ได้ |
ผู้คนจะมาวุ่นไป | ไหนจะได้จงกรมภาวนา |
ที่ใดสงัดลับแล้ง | เป็นตำแหน่งฤๅษีชีป่า |
จะไปอยู่สร้างพรตจรรยา | ให้เป็นผาสุกสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุขันพรานไพรใจหาญ |
ได้ฟังมธุรสพจมาน | สงสารสะท้อนถอนใจ |
ด้วยสุดรักแสนรักในเบื้องบาท | มิอาจจะขัดพระองค์ได้ |
จึ่งสั่งบริวารพรานไพร | เร่งให้ไปถอยเรือมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารพรานป่า |
ได้ฟังนายสั่งก็ปรีดา | พากันวิ่งมาลนลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงถอยเรือวุ่นวาย | บ้างถ่อบ้างพายอลหม่าน |
ประทับแทบท่าชลธาร | คอยองค์ผ่านฟ้าเสด็จจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุขันนายพรานชาญสมร |
จึ่งทูลพระองค์ทรงฤทธิรอน | ซึ่งภูธรจะข้ามวารี |
ข้าจะพาทั้งสามสุริย์วงศ์ | ไปให้พบองค์พระฤๅษี |
ชื่อภารทวาชมุนี | อยู่ที่ฟากฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ชวนสองกษัตราวิลาวัณย์ |
เสด็จออกจากร่มพระไทร | งามดั่งเทพไทรังสรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | ตามกันมาลงนาวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายกุขันพรานป่า |
ให้ฉากบากเรือออกมา | ข้ามมหาคงคาวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
กับพระลักษมณ์นางสีดาเทวี | ภูมีข้ามมาในสาคร |
ดวงพระสุริยงก็ทรงกลด | บดบังรังสีอ่อนอ่อน |
พระพายพัดพานาวาจร | พระสี่กรชมปลาในวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
จำปาทองเทศ
๏ เป็นหมู่หมู่คู่เคล้าคลึงว่าย | คล้ายคล้ายตามสายกระแสสินธุ์ |
ปลาม้าล่าเลี้ยวเล็มกิน | อินทรีสีเสียดสลุมพร |
นวลจันทร์จันทรเม็ดลอยล่อง | เพียนทองเคล้าคู่สโมสร |
ปลากรายว่ายแหวกสาคร | พระสี่กรชี้ชวนให้นางดู |
ฉนากว่ายวนปนฉลาม | เนื้ออ่อนพรวนพราหมณ์ตามคู่ |
แก้มชํ้าดำดินกินสินธู | ราหูเหราหน้าคน |
โลมาผุดพ่นวาเรศ | กระดึงพรวนหวีเกศสับสน |
มังกรไล่เลี้ยวเวียนวน | เงือกนํ้าว่ายปนปลาวาฬ |
บรรดามัจฉาในวารี | ว่ายรี่ตามระลอกกระฉอกฉาน |
เหมือนจะช่วยส่งเสด็จพระอวตาร | ถึงสถานฝั่งฟากคงคา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โล้
๏ บัดนั้น | กุขันพรานไพรใจกล้า |
ถึงฝั่งก็มีวาจา | สั่งหมู่พรานป่าโยธี |
ชาวเจ้าทั้งปวงจงหยุดอยู่ | คอยดูต้นทางที่นี่ |
แม้นมีอริราชไพรี | สู้เสียชีวีอย่าให้ไป |
สั่งแล้วเชิญสามกษัตรา | มาต้นมรคาทางใหญ่ |
อันตัวกุขันพรานไพร | นำองค์ภูวไนยเสด็จจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนเรศสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับพระลักษมณ์นางสีดาบังอร | กรายกรไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
๏ บัดนั้น | กุขันพรานไพรใจกล้า |
นำสามกษัตริย์เสด็จมา | ก็ถึงศาลาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
ชวนสองกษัตรายุพาพาล | เข้าไปมัสการพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระภารทวาชฤๅษี |
เห็นนายพรานป่าพนาลี | นำพระจักรีเสด็จมา |
กับองค์พระลักษมณ์นุชนาถ | สีดาเยาวราชเสน่หา |
หน่อท้าวทศรถกษัตรา | ก็สงสัยวิญญาณ์ตะลึงคิด |
ซึ่งเป็นดั่งนี้ด้วยเหตุไฉน | หรือจะเสียกรุงไกรก็เห็นผิด |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | ใครจะรอต่อฤทธิ์ก็ไม่มี |
คิดแล้วจึ่งกล่าววาจา | ดูราพระรามเรืองศรี |
ไฉนทรงเพศเป็นโยคี | ละพระบูรีมาเดินไพร |
แสนยากลำบากแต่สามองค์ | รี้พลจัตุรงค์ก็หาไม่ |
เหตุผลต้นปลายประการใด | สงสัยเป็นพ้นประมาณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งแจ้งแก่องค์พระอาจารย์ | ทุกประการเสร็จสิ้นแต่เดิมมา |
ข้านี้รับสัตย์พระบิตุเรศ | ละเพศทรงพรตเป็นชีป่า |
ออกมาบำเพ็ญภาวนา | ไปกว่าจะครบสิบสี่ปี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระภารทวาชฤๅษี |
ได้ฟังสงสารพันทวี | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
ซึ่งหลานรับสัตย์พระบิตุรงค์ | อาจองดั่งพญาไกรสร |
จะปรากฏพระยศขจายจร | สถาวรเป็นสวัสดิมงคล |
จงอยู่ที่นี่รโหฐาน | สำราญทั้งนํ้าท่าผลาผล |
คูหาอาศรมก็ชอบกล | ไม่ขัดสนสิ่งใดพระนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนรินทร์ปิ่นภพนาถา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
ซึ่งจะให้หลานอยู่ที่นี่ | อันจะมีความสุขก็หาไม่ |
เพราะทางนั้นใกล้กับเวียงชัย | ที่ไหนจะได้สร้างพรต |
ข้าขอลาเบื้องบาทา | องค์พระมหาดาบส |
ไปยังหิมวันต์บรรพต | อดใจจำเริญภาวนา |
ว่าแล้วตรัสสั่งกุขัน | ท่านผู้พงศ์พันธุ์พรานป่า |
จงกลับไปยังพารา | ให้เป็นผาสุกสำราญใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กุขันผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังพระองค์ทรงฤทธิไกร | บังคมไหว้แล้วทูลด้วยภักดี |
ข้าขออาสาสนองบาท | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ตระเวนมรคาพนาลี | แม้นมีไพรีตามมา |
จะต้านต่อฤทธิ์ไม่คิดกาย | กว่าจะวายชีวังสังขาร์ |
ว่าแล้วกราบลงกับบาทา | ลาพระจักรากลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระภารทวาชอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังวาจาก็อาลัย | ในสามกษัตริย์สุริย์วงศ์ |
จึ่งอ่านซึ่งมนต์อันวิเศษ | เอานํ้าพระเวทให้โสรจสรง |
จงมีเดโชชัยในณรงค์ | ทรงเดชเลิศลํ้าแดนไตร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ แล้วยกหัตถ์ชี้มรคา | ว่าข้างทักษิณทิศใต้ |
เป็นที่รโหฐานสำราญใจ | ป่าใหญ่ไม้สูงร่มชิด |
หนทางไปหกโยชน์กึ่ง | จะถึงพระสระภังค์นักสิทธ์ |
เธอนั้นเชี่ยวชาญในการฤทธิ์ | สำรวมจิตบำเพ็ญภาวนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
กับองค์พระลักษมณ์นางสีดา | วันทารับพรด้วยยินดี |
แล้วมัสการลาพระดาบส | กำหนดแนวเนินวิถี |
ออกจากอรัญกุฎี | จรลีไปตามพนาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นอาศรมที่เชิงผา | ใต้ร่มพฤกษาโศกใหญ่ |
สามกษัตริย์ก็พากันเข้าไป | บังคมไหว้พระมหานักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระสระภังค์ดาบส |
ครั้นเห็นหน่อท้าวทศรถ | เข้ามาประณตอัญชุลี |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนพระรามเรืองศรี |
วันเจ้าทรงพรตเป็นโยคี | ตานี้รู้แล้วจึ่งรีบมา |
คิดว่าจะไม่มีที่อาศัย | จึ่งทำศาลไว้คอยท่า |
จงอยู่สร้างพรตจรรยา | จำเริญภาวนาให้ถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงศร |
นบนิ้วดุษฎีชุลีกร | จึ่งตอบสุนทรวาจา |
ซึ่งพระอัยกาการุญ | พระคุณควรไว้เหนือเกศา |
แต่จะไม่สบายวิญญาณ์ | ด้วยว่ายังใกล้บูรี |
เห็นพระพรตไม่ฟังมารดร | จะตามมาวิงวอนถึงนี่ |
พระองค์จงอยู่สวัสดี | หลานนี้จะลาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
อาลัยในองค์พระอวตาร | สงสารมิใคร่จะให้ไป |
จึ่งว่าตาว่านี้ด้วยรัก | จะใคร่ให้สำนักอยู่ใกล้ |
นัดดาว่าไม่สบายใจ | จะบอกไปให้อยู่สำราญ |
หลังเขาสัตกูฏคีรี | มีศาลาเป็นที่รโหฐาน |
เทวัญลงมาบันดาล | ภูมิฐานสะอ้านชอบกล |
ลูกหมากรากไม้ล้วนโอชา | ทั้งกระจับบัวผาผลาผล |
มรคาห้าโยชน์จรดล | มีต้นนนทรีเป็นสำคัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | แนะที่อารัญกุฎี |
จึ่งชวนพระลักษมณ์นุชนาถ | กับองค์อัครราชมเหสี |
กราบลาพระมหามุนี | จรลีไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พญาเดิน
ชมดง
๏ เดินทางตามหว่างสิงขร | พระสี่กรชมพรรณพฤกษา |
ประดู่ดอกดกดาษดา | กระดังงาจำปาแกมกัน |
บุนนาคลำดวนสาวหยุด | ชาตบุษย์สุกรมนมสวรรค์ |
พิกุลสารภีมะลิวัน | คันทรงกุหลาบจำปี |
พุทธชาดรักซ้อนซ่อนกลิ่น | อินทนิลช้องนางนางคลี่ |
นางแย้มกล้วยไม้มะลุลี | ยี่สุ่นโยทะกาชะบาบาน |
กรรณิการ์เกดแก้วกาหลง | ประยงค์พะยอมหอมหวาน |
ชมพลางเด็ดดวงผกากาญจน์ | พระอวตารส่งให้วนิดา |
พระลักษมณ์เด็ดดอกการะเกด | ถวายองค์อัคเรศสุณิสา |
สามกษัตริย์สำราญวิญญาณ์ | ไปตามมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ ข้ามละหานธารถํ้าลำเนา | ถึงเขาสัตกูฏคีรีศรี |
แลไปเห็นต้นนนทรี | อยู่ที่ข้างเชิงบรรพต |
แล้วเห็นอาศรมที่ปากถํ้า | เหมือนคำพระมหาดาบส |
มีพรรณไม้หอมรวยรส | พระทรงยศเข้าอยู่ในศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งตั้งกองกูณฑ์บูชาไฟ | สำรวมใจตามเพศชีป่า |
สามกษัตริย์บำเพ็ญภาวนา | ทุกวันเวลาราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนอัสดรทั้งสี่ |
ครั้นถึงไกยเกษบูรี | ก็เข้ายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเกล้าทูลสองพระโอรส | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
ว่าพระบิตุรงค์ทรงธรรม์ | จะมอบสวรรยาธานี |
ให้องค์สมเด็จพระราเมศ | เป็นปิ่นนคเรศเฉลิมศรี |
ให้ข้ามาเชิญใต้ธุลี | ไปยังบูรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองน้องนารายณ์นาถา |
แจ้งว่าสมเด็จพระบิดา | จะมอบนัคราพระสี่กร |
เป็นใหญ่ในมหาเศวตฉัตร | ต่างองค์โสมนัสสโมสร |
เสด็จจากอาสน์แก้วบวร | บทจรไปเฝ้าพระอัยกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรบรมนาถา |
บัดนี้สมเด็จพระบิดา | จะมอบสวรรยาราชัย |
ให้พระหริวงศ์ทรงจักร | เป็นปิ่นปักหลักภพสบสมัย |
หลานรักจักลาพระภูวไนย | ไปยังอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษเรืองศรี |
ฟังพระนัดดาก็ยินดี | จึ่งมีพจนารถวาจา |
เจ้าเร่งรีบไปให้ทันการ | องค์พระอวตารเชษฐา |
จงทูลสมเด็จพระบิดา | ว่าตาอวยพรสวัสดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดทั้งสองศรี |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | มาปราสาทมณีอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพหลพลไกร | เราจะไปกรุงศรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ก็รีบออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งจัดม้ารถคชสาร | จัตุรงค์ทวยหาญทั้งสี่ |
ขุนรถขึ้นรถมณี | ขุนม้าขึ้นขี่อัสดร |
ขุนช้างขึ้นขี่คชา | แต่ละตัวแกล้วกล้าชาญสมร |
พลเท้าแต่งกายอลงกรณ์ | มือถือโตมรยืนยัน |
กองหน้าถือปืนรางแดง | กำยำลํ่าแรงแข็งขัน |
ถัดมาพื้นถือเกาทัณฑ์ | ลูกนั้นชุบซาบอาบพิษ |
เหล่าหนึ่งล้วนถือดาบเขน | โพกหัวถกเขมรเหน็บกริช |
เตรียมทั้งรถแก้วชวลิต | คอยสองทรงฤทธิ์เสด็จจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดทรงศร |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวร | ก็กรายกรมาสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาธารบุปผา |
สอดใส่สนับเพลาโอฬาร์ | ภูษาเครือก้านต่างกัน |
แล้วทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ทองแล่งกระหนกคั่น |
ทับทรวงสร้อยสนสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นทองกร |
พาหุรัดเป็นรูปนาคกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายประภัสสร |
ต่างทรงมงกุฎกรรเจียกจร | กุณฑลแก้วอรชรดอกไม้ทัด |
จับศรแล้วขัดพระแสงขรรค์ | ย่างเยื้องจรจรัลกรายหัตถ์ |
งามทรงสมวงศ์จักรพรรดิ | มาขึ้นรถรัตน์อลงการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยสองรถทรง | กำกงประดับมุกดาหาร |
บุษบกล้วนแล้วแก้วประพาฬ | สามงอนชัชวาลด้วยธงชาย |
เทียมสินธพชาติตัวคะนอง | สะบัดย่างเยื้องย่องเฉิดฉาย |
สารถีถือแซ่กรีดกราย | ขับร่ายรวดเร็วดั่งลมพัด |
ประดับด้วยเครื่องสูงครบสิ่ง | ทานตะวันกรรชิงมยุรฉัตร |
โยธาเกณฑ์แห่เยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองขานประสานกัน |
แตรงอนแตรฝรั่งประดังเสียง | สำเนียงสะเทือนเลื่อนลั่น |
กองหน้านำพลจรจรัล | เข้าในอรัญบรรพต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ อันนกไม้ซึ่งอยู่ริมทาง | เป็นลางวิปริตไปหมด |
ทั้งธงฉานธงชัยธงรถ | จะปรากฏโบกสะบัดก็ไม่มี |
จนล่วงด่านเมืองไกยเกษ | เข้าเขตอยุธยาบุรีศรี |
อันหมู่ไพร่ฟ้าประชาชี | ไม่มีผู้เที่ยวไปมา |
ทั้งเสียงดนตรีมหรสพ | เงียบสงบดั่งหนึ่งกลางป่า |
ให้ฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ์ | ก็เร่งรีบรัถาเข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เห็นหมู่อำมาตย์พร้อมกัน | ทั้งสุมันตันผู้ใหญ่ |
แสนโศกโศกาอาลัย | ไม่เป็นอารมณ์สมประดี |
จึ่งมีพระราชสุนทร | ดูก่อนเสนาทั้งสี่ |
เมื่อจะมอบสมบัติพระจักรี | แล้วมาโศกีด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาน้อยใหญ่ |
ก้มเกล้าชุลีกรถอนใจ | สะอื้นไห้แล้วทูลกิจจา |
เดิมองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | จะมอบเศวตฉัตรพระเชษฐา |
แล้วกลับสั่งให้บรรพชา | ออกไปอยู่ป่าสิบสี่ปี |
ฝ่ายนางสีดายุพาพักตร์ | กับทั้งพระลักษมณ์เรืองศรี |
โศการ่ำรักพระจักรี | บวชเป็นโยคีด้วยกัน |
อันพระองค์ออกจากพารา | ข้าได้โดยเสด็จถึงสวนขวัญ |
ครั้นราตรีดึกแจ้งแสงจันทร์ | สามกษัตริย์พากันหนีไป |
ข้ากลับมาทูลพระบิตุรงค์ | พระองค์ทรงโศกกันแสงไห้ |
จนเสด็จสวรรคาลัย | ล่วงไปได้เจ็ดราตรี |
อันหมู่เสนาประชาชน | ได้ความร้อนรนดั่งเพลิงจี่ |
เหตุนี้เพราะองค์พระชนนี | จึ่งโศกีไปทั้งพระนคร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดชาญสมร |
แจ้งว่าสมเด็จพระบิดร | ภูธรสุดสิ้นชีวัน |
ตกใจเพียงพญามัจจุราช | มาฟันฟาดตัดเศียรให้อาสัญ |
เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟกัลป์ | อัดอั้นตะลึงทั้งกายา |
นัยน์เนตรมืดมัวไปทั่วทิศ | สลดจิตแสนโทมนัสสา |
เอะไฉนฉะนี้พระมารดา | จึ่งมาหยาบช้าสาธารณ์ |
จนพี่น้องพลัดพรากจากนิเวศน์ | พระบิตุเรศก็ม้วยสังขาร |
เสียทีที่ร่วมอวตาร | อัประมาณพ้นที่จะรำพัน |
อย่าเลยจะไปเฝ้าพระมารดา | องค์พระเชษฐารังสรรค์ |
จึ่งจะแจ้งเหตุผลแต่ต้นนั้น | คิดแล้วพากันจรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงปราสาทอลงกรณ์ | เห็นพระมารดรทั้งสองศรี |
ทรงกันแสงศัลย์พันทวี | พระพี่น้องกราบลงแล้วโศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ พระพรตจบบาทขึ้นใส่เกล้า | พระแม่เจ้าจงโปรดเกศา |
เป็นไฉนสมเด็จพระบิดา | ผ่านฟ้าจึ่งสวรรคาลัย |
อันองค์พระลักษมณ์พระอวตาร | พี่สีดาเยาวมาลย์นั้นไปไหน |
พระชนนีลูกทำประการใด | ทูลพลางร่ำไรไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยามารศรี |
ทั้งนางสมุทรเทวี | ได้ฟังวาทีก็หลากใจ |
จึ่งว่าเป็นไฉนพระพรต | เจ้ามากำสรดกันแสงไห้ |
ดูดั่งชีวิตจะบรรลัย | เหมือนไม่รู้ด้วยพระมารดร |
เหตุใดมาถามความเรา | ไม่ไปเฝ้าพระชนนีเสียก่อน |
ตัวเจ้าจะได้ผ่านพระนคร | จะทุกข์ร้อนไยเล่านะลูกรัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังฉงนสนเท่ห์นัก | ชลเนตรนองพักตร์แล้วทูลไป |
ลูกจากบาทาก็ช้านาน | จะได้ร่วมคิดอ่านนั้นหาไม่ |
ต่อเขาไปแจ้งถึงเวียงชัย | ว่าจะให้สมบติพระจักรา |
ก็ดีใจมาถึงจึ่งรู้ความ | ว่าองค์พระรามไปเดินป่า |
พระบิตุรงค์ก็สิ้นพระชนมา | เพราะด้วยมารดาของข้านี้ |
ความแค้นลูกแสนสาหส | จึ่งตรงมาประณตบทศรี |
หวังจะทูลถามพระชนนี | มาตรัสดั่งนี้ก็จนใจ |
เหมือนพระแม่เจ้าไม่เมตตา | จะเห็นความสัจจาก็หาไม่ |
ทูลพลางกอดข้อพระบาทไว้ | ร่ำไรสะอื้นโศกี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสองศรี |
จึ่งมีพระราชเสาวนีย์ | แม่นี้ไม่แสร้งเจรจา |
วันเมื่อสมเด็จพระบิตุเรศ | จะมอบเศวตฉัตรพระเชษฐา |
ให้เป็นจรรโลงโลกา | แม่เจ้าริษยาอาธรรม์ |
ขอสัตย์ให้เจ้าผ่านโภไคย | ขับพระรามออกไปพนาสัณฑ์ |
จนพระบิตุเรศสิ้นชีวัน | เหตุนั้นเพราะองค์นางเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | โศกีแล้วทูลสนองไป |
อันซึ่งมารดาข้าก่อเข็ญ | ลูกจะได้รู้เห็นก็หาไม่ |
เจ็บจิตเพียงชีวิตจะบรรลัย | ช่างมาทำได้ถึงเพียงนี้ |
ชั่วช้าสาธารณ์ยิ่งนัก | โลภล้นอัปลักษณ์บัดสี |
จนใจด้วยเป็นชนนี | หาไม่ชีวีจะม้วยมิด |
เสียชาติที่ลูกกำเนิด | หลงเกิดเข้าท้องทุจริต |
ระกำใจได้อายเป็นพ้นคิด | พระทรงฤทธิ์ซบพักตร์ลงโศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ แล้วทูลชนนีทั้งสององค์ | อันความซื่อตรงของข้า |
อย่าว่าแต่สมบัติอยุธยา | ถึงสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย |
จะให้ลูกก็ไม่ยินดี | จะผ่านเมืองก่อนพี่กระไรได้ |
อยู่วังดั่งนอนในกองไฟ | ไตรโลกจะหมิ่นนินทา |
ลูกขออภิวาทน์บาทบงสุ์ | ลาไปตามองค์พระเชษฐา |
จะอ้อนวอนเชิญเสด็จคืนมา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชากร |
แม้นว่าไม่พบเบื้องบาท | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ไม่ขอกลับคืนพระนคร | พระมารดรจงได้โปรดปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสองศรี |
ได้ฟังพระพรตพาที | เทวีสิ้นแหนงแคลงใจ |
จึ่งสวมกอดสองพระลูกรัก | ซบพักตร์กันแสงร่ำไห้ |
ซึ่งเจ้าจะตามพระพี่ไป | ใครจะช่วยการศพพระบิดา |
งดอยู่จนถวายพระเพลิงเสร็จ | จึ่งค่อยโดยเสด็จพระเชษฐา |
แต่เห็นจะไม่กลับมา | ด้วยรับสัจจาพระบิดร |
ตัวแม่ทั้งสองจะไปด้วย | จะได้ช่วยปลอบองค์พระทรงศร |
แม้นว่าไม่คืนพระนคร | จะวิงวอนมิให้ไปไกล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังพระเสาวนีย์อรไท | ดีใจกราบลงกับบาทา |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณควรไว้เหนือเกศา |
ลูกรักขอถวายบังคมลา | ไปวันทาศพพระภูมี |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | องค์พระมารดาทั้งสองศรี |
ลงจากปราสาทมณี | พระพี่น้องเสด็จตามกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
โอ้
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | ศพพระบิตุราชรังสรรค์ |
ต่างองค์แสนโศกจาบัลย์ | รำพันสะอื้นโศกา |
พระพรตว่าโอ้พระจอมเกศ | พระเดชเคยปกเกศา |
บำรุงเลี้ยงลูกแต่เยาว์มา | พระคุณล้ำฟ้าธาตรี |
ยังมิได้สนองละอองบาท | พระบิตุรงค์ธิราชเรืองศรี |
แม่ข้าชั่วช้าอัปรีย์ | ทำให้ภูมีสวรรคต |
ทั้งพระเชษฐาสุริย์วงศ์ | ก็ต้องทรงผนวชเป็นดาบส |
ไปอยู่อรัญบรรพต | ประชากรร้อนหมดทั้งเวียงชัย |
พระสัตรุดว่าโอ้พระจอมภพ | พระคุณเลิศลบไม่หาได้ |
รักลูกดั่งหนึ่งดวงใจ | สิ่งใดมิให้ราคี |
มั่นอยู่ในสัจสุจริต | ทศทิศได้พึ่งบทศรี |
พระชันษาก็หกหมื่นปี | ไม่ควรที่จะสิ้นชนมาน |
ตั้งแต่นี้ไปจะได้ทุกข์ | เสื่อมสุขจากความเกษมศานต์ |
จะมืดมนทั่วฟ้าสุธาธาร | ดั่งสุริย์ฉานเลี้ยวลับเมรุไกร |
อกเอ๋ยเป็นน่าอนาถนัก | จะผินพักตร์ไปพึ่งผู้ใดได้ |
สองกษัตริย์แสนโศกาลัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนวลนางไกยเกษี |
แจ้งว่าโอรสถึงธานี | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
แต่นั่งนั่งคอยลอยพักตร์ | นงลักษณ์เยี่ยมแกลชะแง้หา |
คิดกระหยิ่มปริ่มเปรมวิญญาณ์ | ไม่เห็นลูกมาก็หลากใจ |
แต่ผุดลุกผุดนั่งอุตลุด | เรียกกุจจีค่อมเข้ามาใกล้ |
พระพรตมาอยู่แห่งใด | ไปดูให้เห็นประจักษ์ตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกุจจีค่อมทาสา |
ก้มเกล้ารับสั่งกัลยา | ชุลีลาแล้วพากันรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ มาถึงปราสาทพระโกศอยู่ | ก็รู้ว่าพระพรตทรงศร |
เสด็จยังที่ศพพระบิดร | ก็ซ่อนหน้าแอบดูแต่ไกล |
เห็นพระพี่น้องทั้งสององค์ | ซบพักตร์ลงทรงกันแสงไห้ |
กุจจีก็พากันกลับไป | เฝ้าองค์อรไทด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ นบนิ้วดุษฎีชุลีบาท | องค์อัครราชเสน่หา |
ทูลว่าบัดนี้พระลูกยา | มาอยู่ยังศพพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
แจ้งว่าโอรสร่วมชีวี | อยู่ยังที่ศพพระบิดร |
มีความชื่นชมโสมนัส | พูนสวัสดิ์ภิรมย์สโมสร |
ก็เสด็จยุรยาตรนาดกร | บทจรขึ้นยังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นมาถึงราชโอรส | จึ่งลดพระองค์ลงนั่งใกล้ |
แล้วมีเสาวนีย์ตรัสไป | เจ้าผู้ดวงใจของมารดา |
เป็นไฉนพ่อจึ่งมาช้านัก | แม่นี้ตั้งพักตร์คอยหา |
มานี่จะแจ้งกิจจา | เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ |
แม่ทูลขอสัตย์พระบิตุเรศ | ให้เจ้าผ่านนิเวศน์ไอศวรรย์ |
เป็นใหญ่ในวงศ์เทวัญ | ซึ่งแม่หมายมั่นก็สมคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ได้ฟังดั่งหนึ่งเพลิงพิษ | มาติดไหม้ทรวงดวงใจ |
จึ่งร้องประกาศด้วยวาจา | ควรหรือช่างมาทำได้ |
อัปยศอดสูทั้งแดนไตร | ธรรมเนียมของใครที่ไหนมี |
จะยกสมบัติให้แก่น้อง | ครอบครองพระนครก่อนพี่ |
มิหนำซ้ำขับพระจักรี | ให้เป็นชีไปเดินอรัญวา |
จนองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ทนเทวษสุดสิ้นสังขาร์ |
ไพร่ฟ้าประชาชนทั้งพารา | โศกาเดือดร้อนดั่งเพลิงกัลป์ |
เป็นคนทรลักษณ์อัปรีย์ | กูจะล้างชีวีให้อาสัญ |
ว่าพลางผุดลุกขึ้นยืนยัน | ชักพระขรรค์กวัดแกว่งจะพันฟอน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสัตรุดฤทธิรงค์ทรงศร |
ตกใจกลัวจะฆ่าพระมารดร | วิ่งเข้ากุมกรพระพี่ยา |
ไฉนมาทำดั่งนี้ | จะซ้ำให้มีโทษา |
ความชั่วจะชั่วกัลปา | พระเชษฐาคิดดูให้ควรการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตผู้ปรีชาหาญ |
ทิ้งพระขรรค์แล้วกล่าวพจมาน | เหวยอีสาธารณ์ใจฉกรรจ์ |
นี่หากว่าเป็นมารดา | หาไม่ชีวาจะอาสัญ |
ไม่ขอเห็นหน้าคนอาธรรม์ | พระหุนหันขับไล่ไม่ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
เห็นโอรสโกรธกริ้วดั่งอัคคี | เทวีขัดสนจนใจ |
มิรู้ที่จะตอบพจมาน | จะรอหน้าอยู่นานก็ไม่ได้ |
จึ่งลุกดำเนินเดินกลับไป | ยังปราสาทชัยกัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
แสนทุกข์อัดอั้นในอุรา | โศการ่ำรักพระบิดร |
ทั้งคิดคำนึงถึงองค์ | พระเชษฐาภุชพงศ์ทรงศร |
กับพระลักษมณ์นางสีดาบังอร | ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟกัลป์ |
ยิ่งแค้นสมเด็จพระชนนี | จะใคร่ล้างชีวีให้อาสัญ |
จนใจด้วยเกิดในครรภ์ | ไตรโลกทั้งนั้นจะไยไพ |
แล้วจะเป็นเวรเป็นกรรม | มิรู้ที่จะทำกระไรได้ |
แต่ผุดลุกผุดนั่งถอนใจ | ชลนัยน์ไหลอาบพระพักตรา |
ทั้งพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | ต่างองค์เศร้าโทมนัสสา |
แสนทุกข์แสนเทวษโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาฤๅษี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | เข้ามายังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์สถิตเหนืออาสน์ | อันงามด้วยเครื่องลาดฉายฉัน |
พร้อมกษัตริย์สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เสนาแน่นนันดาษไป |
จึ่งมีพจนารถวาจา | ดูราสุมันตันผู้ใหญ่ |
อันศพพระองค์ทรงภพไตร | สั่งไว้เราสองอาจารย์ |
ครั้นจะงดช้าอยู่บัดนี้ | ก็ไม่มีประโยชน์แก่นสาร |
ตัวท่านผู้ปรีชาชาญ | จงจัดการพระเมรุให้ครบครัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาคนขยัน |
รับคำพระมหานักธรรม์ | อภิวันทน์แล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสั่งนายเวร | ให้หมายเกณฑ์ตามกรมน้อยใหญ่ |
เวียงวังคลังนามหาดไทย | จงพร้อมโดยในตำรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานถ้วนหน้า |
สี่ตำรวจตรวจกันเป็นโกลา | สัสดีซ้ายขวาก็เกณฑ์คน |
เมืองเอกโทตรีชนบท | ก็ขับต้อนมาหมดทุกแห่งหน |
เยียดยัดอัดอึงอลวน | ต่างตนทำตามพนักงาน |
บ้างตั้งเมรุใหญ่เมรุทิศ | เมรุทองชวลิตฉายฉาน |
ราชวัติฉัตรธงอลงการ | รูปสัตว์ชัชวาลจำเริญตา |
หว่างระทานั้นมีโรงรำ | โขนหนังระบำทุกภาษา |
เร่งรัดตีกันเป็นโลกา | เสร็จตามตำราทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | สองพระอาจารย์ฌานขยัน |
ครั้นการพระเมรุครบครัน | จึ่งสั่งสุมันตันมนตรี |
ให้เชิญเสด็จบรมศพ | พระทรงภพธิราชเรืองศรี |
ขึ้นทรงรถแก้วมณี | ไปที่พระเมรุอำไพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
รับคำแล้วพากันไป | ยังปราสาทชัยรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเชิญบรมโกศแก้ว | อันเพริศแพร้วดั่งเทพเลขา |
ขึ้นพิชัยรถทรงอลงการ์ | ในมหาบุษบกพรายพรรณ |
พร้อมทั้งรถโยงพรรณราย | รถปรายข้าวตอกฉายฉัน |
อีกรถพระมหานักธรรม์ | ถัดนั้นเกณฑ์แห่ประนมกร |
คู่เคียงเรียงกันสองหมื่น | แต่พื้นถือปทุมเกสร |
ประดับด้วยเครื่องสูงจามร | บทจรมาตามรัถยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงซึ่งที่พระเมรุมาศ | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
เชิญพระศพขึ้นแท่นอลงการ์ | รจนาด้วยแก้วแกมกัน |
พระสนมหกหมื่นก็โศกี | เพียงหนึ่งชีวีจะอาสัญ |
สองอัครชายาวิลาวัณย์ | ก็รำพันร่ำรักพระภัสดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายการมหรสพถ้วนหน้า |
โขนหนังระบำช่องระทา | ก็ทำท่าเต้นรำเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
กับสองสมเด็จพระชนนี | สุริย์วงศ์มนตรีแลกำนัล |
ตั้งแต่สมโภชพระศพ | เอิกเกริกพิภพไหวหวั่น |
ก็ถ้วนเจ็ดคืนเจ็ดวัน | พร้อมกันจะจุดอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
หน้าตาไม่เป็นสมประดี | เรียกอีกุจจีเข้ามา |
ให้ถือธูปเทียนสุวรรณ | จุณจันทน์สุคนธบุปผา |
ลงจากปราสาทรัตนา | เจ้าข้าก็พากันไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงพระเมรุอันโอภาส | ไม่อาจดูหน้าผู้ใดได้ |
เข้าไปนั่งคอยจะจุดไฟ | สะเทิ้นใจทำพูดกับกุจจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ครั้นบ่ายได้ห้านาที | จวนจุดอัคคีก็แลดู |
เห็นนางไกยเกษีทรามวัย | ถือดอกไม้ธูปเทียนมานั่งอยู่ |
จึ่งว่าดูก่อนโฉมตรู | ช่างไม่อดสูวิญญาณ์ |
เดิมตัวของเจ้าขอสัตย์ | กำจัดพระรามไปเดินป่า |
ด้วยจิตโมหันธ์ฉันทา | ให้ลูกยาขึ้นผ่านเวียงชัย |
พระองค์รับสัตย์ไม่ขัดเจ้า | ยกเอาสมบัตินั้นให้ |
แต่ซึ่งให้พระรามจะเดินไพร | ภูวไนยว่าวอนนางเทวี |
ก็ไม่ฟังพระราชบัญชา | จนร้อนมาถึงกูผู้ฤๅษี |
เจ้าก็ยิ่งหยาบช้าพาที | ไม่คิดว่าเรานี้เป็นอาจารย์ |
จนพระองค์ปลงชีพชีวัง | สั่งไว้เมื่อจะดับสังขาร |
มิให้พระพรตกับนงคราญ | ต้องพานเผาศพพระภูวไนย |
ซึ่งจะมาพลอยจุดอัคคี | เรานี้หาให้ทำไม่ |
เร่งไปเสียเถิดอรไท | จากในพระเมรุรจนา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีเสน่หา |
ได้ฟังทั้งสองพระสิทธา | กัลยาขัดสนเป็นพ้นคิด |
มิรู้ที่จะตอบประการใด | จนใจด้วยตัวทำผิด |
ก็ออกจากพระเมรุชวลิต | กับข้าสนิทชื่อกุจจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ