- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
๏ เมื่อนั้น | องคตฤทธิแรงแข็งขัน |
จึ่งตอบไปด้วยใจชาญฉกรรจ์ | ว่าเหวยกุมภัณฑ์สาธารณ์ |
อันโยธาขององค์พระจักรกฤษณ์ | ล้วนเทเวศร์มีฤทธิ์กล้าหาญ |
จุติจากทิพย์วิมาน | มาเป็นบริวารพระทรงครุฑ |
แต่มีมงกุฎแก้วแพรวพราย | ตัวนายก็นับหลายสมุทร |
เหล่าพวกพหลพลยุทธ์ | สุดที่จะคณนาไป |
ถึงจะช้อนพระเมรุสีขริน | พลิกควํ่าแผ่นดินก็ทำได้ |
อันองค์พระตรีภูวไนย | ตั้งใจบำเพ็ญบารมี |
จึ่งสู้สละนคเรศ | ออกมาทรงเพศเป็นฤๅษี |
เอ็งอย่าดูหมิ่นพระจักรี | ใช่ที่จะไร้สวรรยา |
เหวยเหวยท้าวราพณาสูร | ครั้งพระอรชุนได้ยินว่า |
ตัวมึงพ่ายแพ้ศักดา | เธอจับมัดพาเอาไป |
อันพระอรชุนเทเวศร์ | รามสูรมีเดชจึ่งฆ่าได้ |
ฝ่ายรามสูรมาชิงชัย | แพ้ฤทธิไกรพระจักรี |
ถึงทูษณ์ขรตรีเศียรกากนา | มารีศสวาหุยักษี |
หมู่มารตายกลาดปัถพี | ด้วยฝีมือใครโรมรัน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรรังสรรค์ |
ได้ฟังดั่งตรีมาแทงกรรณ | กุมภัณฑ์จึ่งตอบวาจา |
อันศรพระรามเล่มไร | ซึ่งเรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า |
ที่ฆ่าทูษณ์ขรกากนา | ตรีเศียรสวาหุวายปราณ |
มันเป็นบ้านนอกขอบชนบท | ไม่ปรากฏศักดากล้าหาญ |
อันชาวลงกากรุงมาร | ล้วนแต่เชี่ยวชาญชำนาญรบ |
แต่ละตนพื้นมีฤทธา | ศรสิทธิ์วิทยาก็รู้จบ |
เหาะเหินเดินสมุทรได้ครบ | ไตรภพไม่รอต่อฤทธิไกร |
ทำไมกับมนุษย์สองคน | หรือจะประจญด้วยกูได้ |
หนีเขาออกมาอยู่ไพร | เที่ยวลวงแต่อ้ายวานร |
แม้นว่ามีอานุภาพจริง | กลับไปชิงชัยพระพรตก่อน |
ถ้าได้ครอบครองพระนคร | จึ่งมาต่อกรอสุรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพญาพาลีเรืองศรี |
ได้ฟังยักษาพาที | มีแต่ทรลักษณ์อหังการ |
จึ่งชี้หน้าว่าเหวยทศพักตร์ | เอ็งอย่าฮึกฮักอวดหาญ |
อันศรสมเด็จพระอวตาร | ซึ่งผลาญทูษณ์ขรบรรลัย |
ถึงตรีเศียรมารีศกากนา | น้องน้ายายมึงหรือมิใช่ |
ว่าชาวชนบทด้วยอันใด | เอ็งอย่าใส่ไคล้พาที |
อันซึ่งพระพรตผู้เป็นน้อง | ผ่านฟ้าให้ครองบุรีศรี |
ตามสัตย์บิตุรงค์ทรงธรณี | มิได้มีความฉันทากัน |
พระองค์เสด็จออกเดินป่า | พระพรตตามมากันแสงศัลย์ |
จนร้อนถึงฤๅษีเทวัญ | ว่าพระน้องนั้นให้กลับไป |
รักษาไพร่ฟ้าประชาชี | เสนีสุริย์วงศ์น้อยใหญ่ |
แต่พระจักรกฤษณ์ฤทธิไกร | ให้เดินไพรเที่ยวปราบอาธรรม์ |
กับองค์พระลักษมณ์อนุชา | ให้สิ้นโคตรอสุราโมหันธ์ |
ไตรโลกก็แจ้งอยู่ด้วยกัน | มึงอย่าเสกสรรไอ้สาธารณ์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศกัณฐ์ฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบด้วยคำพาล | เหวยไอ้เดียรัจฉานอัปรีย์ |
ไม่มีความอัปยศอดอาย | ช่างนับหน้าว่านารายณ์เรืองศรี |
ชั่วช้าทรลักษณ์กาลี | ทั้งกระบี่สุครีพผู้เป็นอา |
จะใคร่ได้สมบัติของพี่ตน | จึ่งคบคนอาธรรม์มาเข่นฆ่า |
ตัวมึงก็ลูกในอุรา | ไม่รู้คุณบิดาด้วยอันใด |
กูเป็นผู้อื่นยังคิดแค้น | แน่นอกปิ้มเลือดตาไหล |
ชาติไอ้เดียรัจฉานจังไร | คือใครจะนับว่าดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องคตผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบอสุรี | อันองค์พระตรีภูวไนย |
ใช่จะประสงค์จำนงมา | ฆ่าบิดากูก็หาไม่ |
เหตุด้วยทำผิดติดตัวไว้ | โทษใหญ่แต่ดึกดำบรรพ์ |
สาบานว่าให้ต้องศร | พระสี่กรธิราชรังสรรค์ |
พระองค์จะประทานชีวัน | แต่ให้มีสำคัญในกายา |
หากบิตุเรศกูสู้ตาย | มิให้แผลพานกายเท่าเกศา |
จึ่งถวายกูไว้กับพระอา | ในเบื้องบาทาพระทรงธรรม์ |
เหตุไฉนจึ่งเอามาว่าขาน | แกล้งกล่าวประจานเสกสรร |
เมื่อบิดากูยังอยู่นั้น | จับได้กุมภัณฑ์ตนหนึ่งไป |
มันนั้นสิบเศียรสิบหน้า | กายาเหมือนเอ็งยังจำได้ |
ผูกมัดทรมานประจานไว้ | ให้กูลากเล่นต่างปู |
หากว่าเอาข้าวเดนกำนัล | ให้กินวันละปั้นจึ่งรอดอยู่ |
เอ็งอย่าจองหองสู่รู้ | ต่อสู้ด้วยองค์พระกาล |
ถึงลัสเตียนพ่อมึง | ซึ่งมีฤทธากล้าหาญ |
มาช่วยก็จะม้วยวายปราณ | ไอ้สาธารณ์อย่าพักอหังการ์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | อสุราเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
ลุกขึ้นชี้นิ้วกระทืบบาท | สั่งสี่อำมาตย์แข็งขัน |
จับไอ้องคตใจฉกรรจ์ | ที่มันองอาจอหังการ์ |
ผ่าปากลากลิ้นวานร | ตัดกรตัดเกล้าเกศา |
เสียบไว้ที่นอกทวารา | ให้สมนํ้าหน้าไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สี่เสนามารยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ก็เข้าจับกระบี่ทั้งสี่ตน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างฟันต่างแทงแย้งยุทธ์ | สัประยุทธ์อื้ออึงกุลาหล |
ต่างถาต่างโถมโจมประจญ | อลวนไม่ลดงดกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกพญาพาลีชาญสมร |
รับรองป้องกันฟันฟอน | วานรโรมรุกคลุกคลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กึกก้องพสุธาอากาศ | องอาจจับสี่ยักษี |
สองเท้าจับสองเสนี | กรกระบี่จับสองอสุรา |
สั่งพญาครุฑราชฤทธิรงค์ | โจมจับภุชงค์ตัวกล้า |
พาเหาะขึ้นบนเมฆา | ยังยอดมหาปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ฟาดลงพร้อมกันทั้งสี่ตน | พรหมพักตร์หักโค่นไม่ทนได้ |
หัวขาดตัวขาดกลาดไป | ตกลงในพื้นปัถพี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ แล้วตบมือร้องเย้ยหยัน | ว่าเหวยทศกัณฐ์ยักษี |
กูจะใคร่ตัดเศียรของมึงนี้ | ไปเสียบไว้ที่พลับพลา |
เกรงจะเกินราชบรรหาร | องค์พระอวตารนาถา |
จึ่งไว้ชีวิตอสุรา | ว่าแล้วก็เหาะขึ้นอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยมาบนอากาศ | หมายมาดมรกตสิงขร |
ลงยังพ่างพื้นดินดอน | ด้วยกำลังฤทธิรอนว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคม | พระบรมปิ่นภพสบสมัย |
ทูลว่าข้าถือสารไป | เจรจาด้วยไอ้กุมภัณฑ์ |
อหังการ์พาทีฮึกฮัก | ถ้อยคำทรลักษณ์โมหันธ์ |
หยาบช้าสามานย์ชาญฉกรรจ์ | แล้วมันใช้สี่เสนี |
เข้ากลุ้มรุมล้อมจับฆ่า | ได้ต่อฤทธาด้วยยักษี |
ตายสิ้นทั้งสี่อสุรี | ขุนกระบี่ทูลแจ้งทุกประการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังนัดดามัฆวาน | ว่าขานถูกต้องทำนองความ |
มิเสียทีเป็นวงศ์เทวราช | องอาจกล้าหาญชาญสนาม |
ผู้เดียวเคี่ยวฆ่าสงคราม | ให้เลื่องชื่อลือนามวานร |
ควรแล้วที่เป็นทูตา | ถ้อยคำเจรจาไม่ย่อหย่อน |
ชมพลางอำนวยอวยพร | จงถาวรยิ่งโลกธาตรี |
ให้ทรงศักดาวราฤทธิ์ | ปัจจามิตรพ่ายแพ้กระบี่ศรี |
ตรัสแล้วเสด็จจรลี | เข้าที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
เห็นวานรองอาจอหังการ์ | ฆ่าสี่เสนาแล้วกลับไป |
ความอายความแค้นแสนสาหส | จะติดตามแทนทดก็ไม่ได้ |
นิ่งนึกเดือดดาลทะยานใจ | เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟกัลป์ |
จึ่งคิดได้ว่าฉัตรฤทธิรงค์ | ขององค์อัยการังสรรค์ |
อานุภาพไม่มีใครทัน | จะฆ่ามันให้สิ้นบรรดามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดแล้วมีราชวาที | ตรัสสั่งเสนียักษา |
อันพิชัยฉัตรรัตนา | ของท้าวธาดาเลิศไกร |
ประสาทไว้ให้กู้กรุงมาร | เมื่อเกิดการณรงค์ศึกใหญ่ |
บูชาแล้วเชิญขึ้นปักไว้ | ไพรีมืดไปดั่งโลกันต์ |
เร่งยกขึ้นกลางพารา | ให้บังตาดั่งเขาพระเมรุกั้น |
แล้วเกณฑ์ทหารทะลวงฟัน | เป็นทัพขันธ์คอยฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนายักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งจัดทหารฤทธิรณ | แต่ละตนอาจพลิกแผ่นดินได้ |
ล้วนถืออาวุธแกว่งไกว | เตรียมไว้ตามราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วให้สมโภชบูชาฉัตร | พร้อมด้วยเครื่องมัจฉะมังสา |
เทียนเงินเทียนทองรจนา | ข้าวตอกบุปผามาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นได้ศุภฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง | อสุราโห่ร้องอึงมี่ |
ยกขึ้นกลางราชธานี | มืดดั่งราตรีอนธการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ครั้นเสร็จยกฉัตรชัชวาล | พญามารเสด็จลีลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ เข้าที่ชำระสระสรง | ทรงสุคนธ์ปนปรุงด้วยบุปผา |
สอดใส่สนับเพลาอลงการ์ | ภูษาเชิงทองท้องพัน |
ชายไหวชายแครงเครือมาศ | ฉลององค์พื้นตาดสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ทองกรกุดั่นพาหุรัด |
สอดมหาธำมรงค์ประดับเพชร | ร่วงรุ้งเรือนเก็จกาบสะบัด |
ทรงมงกุฎแก้วกรรเจียกทัด | ยี่สิบหัตถ์กุมเทพสาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เสร็จแล้วชวนสองอัคเรศ | ดวงเนตรพี่ยอดเสน่หา |
จงไปดูศึกที่ยกมา | ให้เป็นขวัญตานางเทวี |
ตรัสพลางก็พากันลีลาศ | จากอาสน์สุวรรณเรืองศรี |
ฝ่ายหมู่อนงค์นารี | จรลีตามองค์พญามาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นฉัตรแก้ว | อันเพริศแพร้วดั่งดวงสุริย์ฉาน |
พร้อมทั้งสนมบริวาร | แลดูทหารพระรามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดเสน่หา |
พินิจพิศดูโยธา | เห็นหมู่วานรชาญฉกรรจ์ |
คือศรีสุครีพชมพูพาน | หนุมานองคตแข็งขัน |
พวกพลเยียดยัดแจจัน | เฝ้าพระทรงธรรม์สี่กร |
อันทหารทั้งสองนคเรศ | เลื่องชื่อลือเดชชาญสมร |
ล้วนเทวามาเป็นพานร | อาจช้อนพิภพเมืองอินทร์ |
ถึงจะพลิกสี่มหาสุธาธาร | ทั่วทุกจักรวาลก็ได้สิ้น |
ตกใจดั่งจะแทรกแผ่นดิน | ผินพักตร์มาทูลพระภัสดา |
อันมนุษย์พี่น้องสององค์ | สุริย์วงศ์จักรพรรดินาถา |
หน่อท้าวทศรถกษัตรา | นัดดาอัชบาลฤทธิรอน |
ทรงเดชเลิศลบพิภพไหว | กล้าหาญชาญชัยด้วยแสงศร |
เป็นปิ่นอยุธยาพระนคร | ภูธรคิดดูให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบวาที | เจ้าพี่อย่าประหวั่นพรั่นใจ |
เราก็ทรงศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศไม่รอต่อได้ |
ทำไมแก่มนุษย์เท่าตัวไร | กับไอ้ลิงไพรพนาวัน |
จะใช้แต่ทหารไปราญรอน | ฟันฟอนให้สิ้นทัพขันธ์ |
เลือดเนื้อจะเป็นเหยื่อกุมภัณฑ์ | เคี้ยวเสียไม่ทันพริบตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่วานรถ้วนหน้า |
เห็นพยับอับแสงสุริยา | มืดทั่วโลกาธาตรี |
เป็นมหามหัศอัศจรรย์ | เรียกร้องหากันอึงมี่ |
บ้างวิ่งบ้างคลานไม่สมประดี | กระบี่อลวนวุ่นวาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพรวพราย | พร้อมหมู่นิกายโยธา |
เห็นมืดกลุ้มชอุ่มอัมพร | บดบังทินกรในเวหา |
วานรอื้ออึงเป็นโกลา | ผ่านฟ้ารำพึงคะนึงคิด |
อัศจรรย์นี้เหมือนครั้งพิราพ | อันหยาบช้าสาธารณ์ทุจริต |
หรือจะเป็นเล่ห์กลปัจจามิตร | ประหลาดจิตเป็นพ้นพันทวี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกยักษี |
ไฉนมามืดดั่งราตรี | เหตุนี้จะเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | บังคมไหว้แล้วทูลกิจจา |
อันซึ่งมืดมัวทั่วทิศ | ด้วยความคิดทศพักตร์ยักษา |
มันจะลอบยกโยธา | ออกมาหักโหมโรมรัน |
จึ่งยกพิกลฉัตรชัย | บังไว้ซึ่งดวงพระสุริย์ฉัน |
ฝ่ายเราไม่แลเห็นมัน | กุมภัณฑ์เห็นทัพพระจักรี |
ฉัตรนี้ของท้าวธาดาพรหม | เป็นบรมอัยกายักษี |
อานุภาพเลิศลบธาตรี | มีไว้แต่ตั้งลงกา |
ขอให้ทหารชาญชัย | รีบไปหักฉัตรยักษา |
จะเห็นแจ้งซึ่งแสงสุริยา | แม้นละไว้ช้าจะเสียการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | ว่าขุนมารมันยกฉัตรชัย |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่วานรโยธาน้อยใหญ่ |
ใครจะอาสามาดอาจใจ | เข้าไปหักฉัตรทศกัณฐ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
ได้ฟังโองการพระทรงธรรม์ | บังคมคัลสนองพระบัญชา |
ครั้งก่อนคำแหงวายุบุตร | ผู้มีฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ไปถวายธำมรงค์อลงการ์ | ในเบื้องบาทาพระเทวี |
องคตก็ได้สื่อสาร | หักหาญฆ่าสี่ยักษี |
ตัวข้าพระบาทผู้ภักดี | ครั้งนี้จะอาสาไป |
ทำลายฉัตรท้าวทศพักตร์ | ให้หักยับลงจงได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | อย่าเคืองใต้เบื้องพระบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งกล่าววาจาอันสุนทร | อวยพรประสาทกระบี่ศรี |
ตัวท่านผู้เรืองฤทธี | จงไปสวัสดีมีชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
รับพรพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
เหาะขึ้นยังพื้นเมฆา | รีบไปดั่งวายุพัดพาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลัดนิ้วมือเดียวก็มาถึง | ซึ่งกรุงลงการาชฐาน |
แลเห็นฉัตรแก้วสุรกานต์ | สูงตระหง่านอยู่กลางธานี |
ท้าวทศเศียรขุนยักษ์ | กับองค์อัคเรศมเหสี |
ทั้งฝูงสนมนารี | อยู่ที่ชั้นฉัตรรัตนา |
อันในแผ่นพื้นสุธาดล | ไว้พลพิทักษ์รักษา |
จึ่งคิดถวิลจินดา | แม้นว่าตัวกูจะเข้าไป |
ก็จะต้องต่อดีด้วยกุมภัณฑ์ | เกิดรบพุ่งกันเป็นศึกใหญ่ |
จำจะบังเนตรมันไว้ | อย่าให้แลเห็นอินทรีย์ |
จึ่งจะไม่เสียราชการ | องค์พระอวตารเรืองศรี |
คิดแล้วร่ายเวทอันฤทธี | ขุนกระบี่นิมิตกายา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าบรมพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมง้ำเวหา |
ลงยังพ่างพื้นพสุธา | ด้วยกำลังศักดาเกรียงไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อันหมู่อสุรยักษี | จะเห็นอินทรีย์ก็หาไม่ |
แกว่งพระขรรค์แก้วแววไว | เดินไปตามแถวมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพระเสื้อเมืองยักษา |
แลเห็นวานรผู้ศักดา | กายาเท่าเขาอัสกรรณ |
สูงเยี่ยมเทียมพื้นอัมพร | สำแดงฤทธิรอนแข็งขัน |
ความกลัวปิ้มม้วยชีวัน | ตัวสั่นไม่เป็นสมประดี |
สองมือปิดสองนัยนา | ไม่อาจจะดูหน้ากระบี่ศรี |
หนีออกจากราชธานี | ไปยังที่เนินจักรวาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจหาญ |
ครั้นถึงฉัตรแก้วสุรกานต์ | ยืนทะยานตรงพักตร์อสุรา |
แล้วจึ่งคลายวิทยามนต์ | สำแดงฤทธิรณแกล้วกล้า |
กวัดแกว่งพระขรรค์อันศักดา | ชี้หน้าแล้วร้องประกาศไป |
ว่าเหวยดูกรทศพักตร์ | ฮึกฮักโอหังหยาบใหญ่ |
จะสู้องค์พระตรีภูวไนย | เหตุใดไม่ออกไปต่อกร |
มาลอบทำการเช่นนี้ | หรือยักษีมึงกลัวพระแสงศร |
บัดนี้พระนารายณ์ฤทธิรอน | ภูธรตรัสใช้ให้กูมา |
ประหารเสี่ยงสับเศียรมึง | ซึ่งทำทุจริตอิจฉา |
ในที่ท่ามกลางพารา | ให้สมน้ำหน้าไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นน้องพญาพาลี | มากล่าววาทีชาญฉกรรจ์ |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | ร้องตวาดดั่งเสียงฟ้าลั่น |
เหม่ไอ้สุครีพอาธรรม์ | มึงนี้โมหันธ์ฉันทา |
ยกยอมนุษย์ไม่มีอาย | ว่าเป็นนารายณ์นาถา |
อย่าพักอ้างอวดอหังการ์ | ใช่ว่าจะเกรงฤทธิไกร |
ฆ่าได้แต่ไอ้พาลี | กูนี้หาเหมือนกระนั้นไม่ |
ซึ่งมึงเย่อหยิ่งจะชิงชัย | ที่ไหนจะรอดชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
ได้ฟังจึ่งตอบกุมภัณฑ์ | เหวยทศกัณฐ์ยี่สิบกร |
มึงอย่าอ้างอวดฤทธิรงค์ | จะต่อด้วยองค์พระทรงศร |
แต่กูทหารจะราญรอน | ไม่ให้ร้อนถึงองค์พระทรงครุฑ |
ว่าแล้วกระทืบบาทา | ดั่งลงกาจะล่มจมสมุทร |
แกว่งพระขรรค์ชัยวัยวุฒิ | ทะยานยุดขึ้นฉัตรอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลยักษี |
เห็นวานรโรมรุกคลุกคลี | ตกใจวิ่งหนีพัลวัน |
บ้างล้มลุกวุ่นวายตะกายมา | หลับตาหน้าซีดตัวสั่น |
บ้างตกบ้างกอดทศกัณฐ์ | บ้างห้อยหันตามกงฉัตรชัย |
ร้องตรีดหวีดอึงคะนึงมี่ | จะเอาสมประดีก็ไม่ได้ |
แขนหักขาหักวุ่นไป | ร้องไห้เรียกกันเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ไม่รู้ที่จะต่อฤทธา | ผู้เดียวพะว้าพะวังใจ |
เวียนวงไปตามกงฉัตร | หลีกลัดมิให้เข้าใกล้ |
กรหนึ่งกอดนางมณโฑไว้ | กรสองคว้าได้นางอัคคี |
สิบเจ็ดกรอุ้มฝูงกำนัล | กรหนึ่งแกว่งพระขรรค์ชัยศรี |
ขัดขวางทางที่จะต่อตี | อสุรีถอยรับวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
เห็นยักษาถอยท้อไม่ต่อกร | วานรโรมรุกบุกบัน |
เท้าขวาถีบต้องทศพักตร์ | ขุนยักษ์ซวนเซเหหัน |
ก้าวสกัดลัดไล่พัลวัน | ติดพันไม่ห่างอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ทำทีประหนึ่งจะจู่โจม | ชิงโฉมมณโฑเสน่หา |
เข้าใกล้คว้าไขว่ไปมา | สรวลร่าเยาะเย้ยอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
เสียชั้นเสียเชิงจะต่อตี | เสียทีด้วยระวังเยาวมาลย์ |
สิบเก้ากรนั้นกอดนางไว้ | จนใจที่จะเข้าหักหาญ |
กรหนึ่งแกว่งพระขรรค์สุรกานต์ | ต้านทานรบรันอลวน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จะฟันจะแทงไม่ถนัด | แต่ป้องปัดหลบหลีกสับสน |
จำเป็นจำสู้จำทน | เวียนวนถอยไล่พัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงฟัน | โจมจับกุมภัณฑ์ด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แกว่งพระขรรค์ชัยดั่งไฟพราย | มาดหมายเขม้นเข่นฆ่า |
ฟันแทงแย้งยุทธ์ไปมา | ถูกกายอสุราหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
กรเดียวรบรันประจัญตี | สุดที่จะรอต่อฤทธิ์ |
ความเจ็บนั้นพ้นที่ทนนัก | พญายักษ์ไม่ทานต้านติด |
สุดใจสุดกำลังสุดคิด | ไม่รบชิดถอยรับรอมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
เห็นทศกัณฐ์อสุรา | เสียทีในท่าชิงชัย |
เท้าถีบถูกกายขุนมาร | เผ่นทะยานฉวยยอดฉัตรได้ |
น้าวลงด้วยกำลังว่องไว | หักฉัตรพิชัยโมลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ อันทศเศียรกุมภัณฑ์ | ทั้งสนมกำนัลมเหสี |
ตกลงยังพื้นปัถพี | ร้องมี่อื้ออึงทุกตัวตน |
ฉัตรแก้วสุรกานต์ก็วินาศ | อากาศแจ่มแจ้งทุกแห่งหน |
ส่องสว่างสร่างแสงสุริยน | ตลอดจนกองทัพพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รัว
๏ ขุนกระบี่จึ่งเอาเท้าขวา | คว้าคีบมงกุฎไว้ได้ |
ลอยอยู่ยังพื้นนภาลัย | แล้วร้องไยไพขุนมาร |
เหวยเหวยดูกรทศพักตร์ | ฮึกฮักอวดฤทธิ์กล้าหาญ |
กูจะใคร่ตัดเศียรไอ้สาธารณ์ | เกรงเกินโองการพระจักรี |
จะเอาแต่มงกุฎไปถวาย | องค์พระนารายณ์เรืองศรี |
ว่าแล้วสำแดงฤทธี | ขุนกระบี่ก็เหาะกลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยโดยทางอากาศ | หมายมาดมรกตภูผา |
ก็ลงสู่พื้นพสุธา | เข้ายังพลับพลาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระบรมรังสรรค์ |
ข้าไปหักฉัตรกุมภัณฑ์ | ได้โรมรันด้วยท้าวทศพักตร์ |
ครั้นว่าจะล้างชีวา | เกรงเกินบัญชาพระทรงจักร |
จึ่งเอาแต่มงกุฎขุนยักษ์ | มาบูชาศรศักดิ์พระสี่กร |
ตามคำข้าบาทกระบี่ศรี | โดยที่ได้ทูลไว้แต่ก่อน |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิรอน | ภูธรจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | ผ่านฟ้าจึ่งทอดพระเนตรไป |
เห็นมงกุฎแก้วขุนมาร | ชัชวาลดั่งดวงแขไข |
ชื่นชมด้วยสมดั่งพระทัย | ภูวไนยจึ่งตรัสแก่เสนี |
อันพญาสุครีพฤทธิรงค์ | อาจองหักฉัตรยักษี |
ทำลายความคิดอสุรี | ทำชอบครั้งนี้มากนัก |
ควรที่เป็นวงศ์พระทินกร | จะขจรเดชไปทั้งไตรจักร |
ตรัสพลางชวนองค์พระลักษมณ์ | ผันพักตร์ย่างเยื้องเข้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศเศียรยักษา |
ตกลงยังพื้นพสุธา | วานรนั้นเอามงกุฎไป |
ได้ความอัปยศอดสู | แก่หมู่มาตยาน้อยใหญ่ |
ทั้งเจ็บทั้งชํ้าระกำใจ | ด้วยเสียเชิงเสียชัยแก่ไพรี |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นจิต | ดั่งปืนพิษติดทรวงยักษี |
ก็พานางย่างเยื้องจรลี | ขึ้นที่ปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เอนองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันแล้วด้วยเนาวรัตน์ประภัสสร |
นิ่งนึกตรึกตราอาวรณ์ | ทอดถอนฤทัยไปมา |
สงครามมนุษย์นี้สามารถ | มีทหารองอาจแกล้วกล้า |
ใช้ได้ต่างใจต่างตา | ทั้งสติปัญญาก็ว่องไว |
ครั้งก่อนนั้นไอ้หนุมาน | ลวงเผาราชฐานเสียได้ |
แล้วไอ้องคตจังไร | อาจใจฆ่าสี่เสนี |
ครั้งนี้สุครีพมาหักฉัตร | อันเฉลิมสวัสดิ์บุรีศรี |
ถึงสามครั้งตั้งแต่เสียที | ไพรียิ่งจะกำเริบนัก |
โอ้ว่าเสียดายฉัตรแก้ว | หาไม่ได้แล้วทั้งไตรจักร |
คิดพลางยอกรก่ายพักตร์ | พญายักษ์มิได้นิทรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่มีสุข | แสนทุกข์เศร้าโทมนัสสา |
จนปัจฉิมยามเวลา | สุริยาเรื่อเรืองอัมพร |
จึ่งเข้าที่ชำระสระสรง | ทรงเครื่องกษัตริย์ประภัสสร |
จับพระขรรค์แก้วฤทธิรอน | บทจรออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | น้อมเกล้าอภิวันท์ดาษดา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่เสนามารซ้ายขวา |
อันสงครามมนุษย์ที่ยกมา | แกล้วกล้าสามารถอาจใจ |
เหตุด้วยพิเภกน้องกู | ไปอยู่เป็นหนอนบ่อนไส้ |
ข้าศึกจึ่งฮึกฮักไป | เพราะไอ้จังไรใจพาล |
ทำไฉนจะล้างนายมัน | ให้สิ้นชีวันสังขาร |
อันในสุริย์วงศ์พรหมาน | ใครจะชำนาญฤทธี |
ผู้เดียวจะลอบเข้าไป | ฆ่ามนุษย์เสียได้ทั้งสองศรี |
ไม่พักยกพลไปต่อตี | ไพรีจะแตกแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ขุนมารสนองบัญชา |
อันในสุริย์วงศ์พระองค์นี้ | มีแต่ไมยราพยักษา |
หน่อสากยวงศ์อสุรา | ครองกรุงบาดาลเวียงชัย |
ชำนาญในการล่องหน | อึดใจหายตนก็ทำได้ |
มาตรแม้นจะสะกดทัพชัย | ก็หลับไปด้วยเวทขุนยักษ์ |
ขอให้ไปหาพญามาร | ขึ้นมาคิดการโหมหัก |
ลอบล้างพระรามพระลักษมณ์ | เห็นจักได้ง่ายสะดวกดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ฟังเปาวนาสูรเสนี | ยินดีด้วยสมพระทัยคิด |
ตบหัตถ์สำรวลสรวลร่า | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
ตัวกูนี้ลืมพันธมิตร | ซึ่งร่วมชีวิตเดียวกัน |
อันกรุงบาดาลนคเรศ | ก็สุริย์วงศ์พรหเมศรังสรรค์ |
แต่ท้าวสหมลิวัน | เสด็จสู่สวรรคาลัย |
ก็มิได้ไปมาหาสู่ | จนไมยราพหลานกูเติบใหญ่ |
นนยวิกวายุเวกจงลงไป | ยังพิชัยพาราบาดาล |
แจ้งเหตุแก่องค์นัดดา | ว่ากรุงลงการาชฐาน |
เกิดศึกเดือดร้อนรำคาญ | เชิญให้พระหลานมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | มาปราสาทมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสั่งอสุรินทร์ | ให้ผูกนิลพาหุตัวขยัน |
กับไวยไกรสรชาญฉกรรจ์ | กูจะไปเขตขัณฑ์บาดาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนพาชีชัยใจหาญ |
ก้มเกล้ารับบัญชาการ | ก็วิ่งลนลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งให้ผูกนิลพาหุ | อันร้ายดุฤทธิแรงแข็งกล้า |
ทั้งไวยไกรสรอาชา | อลงการ์ด้วยเครื่องเนาวรัตน์ |
สองตัวดั่งพญาสีหราช | ร่านเริงองอาจยืนหยัด |
ลำพองคะนองเสียงฮึดฮัด | ดั่งม้าจักรพรรดิฤทธิรอน |
ก็เสร็จดั่งราชบัญชา | หลานเจ้าลงกาชาญสมร |
ประทับกับเกยแก้วอลงกรณ์ | คอยเสด็จบทจรอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกยักษี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | ไปเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สององค์สระสรงวาริน | ทรงสุคนธ์ตลบกลิ่นหอมหวาน |
สอดใส่สนับเพลาอลงการ | ภูษาเครือก้านต่างกัน |
ฉลององค์พื้นตาดพระกรน้อย | รัดอกกระหนกลอยลายกุดั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ธำมรงค์มรกตไข่ครุฑ | เกี้ยวเพชรสลับบุษย์ประภัสสร |
ต่างทรงกุณฑลกรรเจียกจร | จับศิลป์ฤทธิรอนเสด็จมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเกยแก้วมณี | ในที่พระที่นั่งฝ่ายขวา |
ต่างองค์ขึ้นทรงอาชา | ออกจากลงการีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
โทน
๏ ม้าเอยม้าต้น | สองม้าฤทธิรณดั่งไกรสร |
เชื้อชาติสินธพอัสดร | ผมอ่อนหางยาวเท้ารัด |
ลองเชิงเริงฮึกสะอึกโผน | เผ่นโจนหกหมุนดีดกัด |
ย่างใหญ่ไวว่องดั่งลมพัด | ลัดนิ้วมือรอบจักรวาล |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาดล | ด้วยกำลังฤทธิรณกล้าหาญ |
สี่เท้าก้าวรีบถีบทะยาน | ตรงไปบาดาลนครา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งสองอสุรี | ลงจากพาชีตัวกล้า |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | ไปยังศาลาลูกขุนใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งลงแล้วกล่าวพจนารถ | แก่มหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
ว่าพระปิ่นลงการับสั่งใช้ | ให้เรามาเฝ้าพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตรกูฏเสนาใจหาญ |
ทั้งจิตรไพรีปรีชาชาญ | แจ้งการก็พากันเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์ไมยราพยักษา |
ว่าท้าวทศเศียรอสุรา | ซึ่งผ่านลงกาธานี |
ใช้ให้นนยวิกวายุเวก | เอกองค์นัดดาสองศรี |
บุตรพญามารีศอสุรี | มาเฝ้าธุลีบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังมหาเสนา | อสุราก็ทอดพระเนตรไป |
เห็นสองสุริย์วงศ์ทรงลักษณ์ | พญายักษ์จึ่งตรัสปราศรัย |
ว่าพระจอมลงกากรุงไกร | อันเป็นใหญ่ในภพธาตรี |
ยังค่อยบริบูรณ์พูนสวัสดิ์ | หรือเคืองขัดใต้เบื้องบทศรี |
มีเหตุสิ่งใดในธานี | จึ่งใช้เจ้านี้ลงมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นนยวิกวายุเวกยักษา |
จึ่งทูลสนองพระบัญชา | ว่าลงกาเกิดราชภัยพาล |
ด้วยลักษมณ์รามพี่น้องสององค์ | สุริย์วงศ์ทศรถมหาศาล |
นัดดาองค์ท้าวอัชบาล | ซึ่งผ่านกรุงศรีอยุธยา |
มาฆ่ากากนาอสุรี | อันเป็นอัยกีของข้า |
ทั้งองค์สวาหุบิตุลา | พญามารีศบิดร |
แล้วไล่ล้างประยูรสุริย์วงศ์ | องค์พญาตรีเศียรทูษณ์ขร |
บัดนี้ยกพลพานร | ข้ามมหาสาครสมุทรไท |
ตั้งมั่นประชิดติดกรุง | รบพุ่งห้าวฮึกเป็นศึกใหญ่ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | ให้มาเชิญเสด็จบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล | เหม่มนุษย์สาธารณ์ทรลักษณ์ |
ฤทธิ์มันจะมีสักเพียงไร | อาจใจมาทำหาญหัก |
ประมาทหมิ่นสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | จักฆ่าให้ม้วยชีวี |
ว่าแล้วสั่งกุมารสององค์ | เจ้าจงไปทูลบทศรี |
อันการสงครามเพียงนี้ | มิให้เคืองธุลีบาทา |
พรุ่งนี้ตัวเราจะไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าจอมภพนาถา |
จะอาสาไปจับไพรีมา | ฆ่าเสียให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์ขึ้นทรงอัสดร | อันเรืองฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
ออกจากบาดาลเวียงชัย | ไปยังลงกากรุงมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพใจหาญ |
ครั้นโอรสมารีศชัยชาญ | ไปจากบาดาลนครา |
จึ่งถามจิตรกูฏเสนี | ทั้งจิตรไพรียักษา |
ตัวท่านสิเป็นผู้ใหญ่มา | ยังแจ้งกิจจาประการใด |
อันกรุงลงกากับบาดาล | แม้นว่าเกิดการศึกใหญ่ |
เคยยกไปช่วยกันชิงชัย | มีบ้างหรือไม่แต่ปางบรรพ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตรกูฏเสนาคนขยัน |
ทั้งจิตรไพรีกุมกัณฑ์ | ได้ฟังบรรหารอสุรี |
ต่างตนประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษี |
ตัวข้าอายุได้โกฏิปี | เกิดต่อทีหลังไม่แจ้งใจ |
อันความทั้งนี้นี่ลึกลับ | จะได้สดับตรับฟังก็หาไม่ |
ขอพระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | จงไปทูลถามพระชนนี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ได้ฟังทั้งสองอสุรี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ดูกรขุนรถผู้ชำนาญ | ตัวท่านจงเทียมรัถา |
กูจะไปเฝ้าองค์พระมารดา | ยังมหานิเวศน์วังจันทน์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตรีพัทเสนีคนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | ออกจากพระโรงคัลอันโอฬาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ เทียบรถเทียมด้วยสีหราช | พันหนึ่งองอาจกล้าหาญ |
พร้อมหมู่พหลพลมาร | เตรียมการคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | แล้วด้วยมณีพรายพรรณ |
งามทรงคล้ายองค์พระบิดร | กรขวานั้นจับพระแสงขรรค์ |
เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | จากปราสาทสุวรรณอลงการ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์รถ | พร้อมทศโยธีซ้ายขวา |
ห้อมล้อมเกลื่อนกลาดดาษดา | ตรงมายังวังพระมารดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | แล้วด้วยเนาวรัตน์ประภัสสร |
ลงจากรถทรงอลงกรณ์ | บทจรยังปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรคำรพอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
แล้วทูลถามองค์พระชนนี | ว่าบูรีลงกากับบาดาล |
แต่ก่อนแม้นมีปัจจามิตร | ยกมาประชิดราชฐาน |
เคยไปช่วยกันรอนราญ | หักหาญต้านต่อชิงชัย |
หรือเมืองใครใครอยู่เป็นสุข | ทุกข์ใครใครแบกไปไฉน |
พระมารดาจงเล่าให้เข้าใจ | โดยในขนบบุราณมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีธิราชยักษา |
ได้ฟังลูกรักจำนรรจา | กัลยาจึ่งมีเสาวนีย์ |
ว่าครั้งลัสเตียนพรหเมศ | บิตุเรศทศพักตร์ยักษี |
กับปู่เจ้าผู้เรืองฤทธี | อสุรีเป็นญาติกันมา |
มาตรแม้นเกิดการรณรงค์ | ต่างองค์ต่างช่วยกันเข่นฆ่า |
ครั้นท้าวลัสเตียนมรณา | ทศกัณฐ์ผ่านมหาโภไคย |
ไม่อยู่ในธรรมทศพิธ | ทำการทุจริตหยาบใหญ่ |
ท้าวสหมลิวันเคืองใจ | เมื่อมอบเมืองให้พ่อเจ้านั้น |
สั่งไว้มิให้ไปผูกรัก | ด้วยทศพักตร์โมหันธ์ |
เป็นแต่นับถือว่าญาติกัน | ร้อยวันมิได้ไปมา |
ไฉนพ่อมาถามถึงความหลัง | แม่ฟังให้คิดกังขา |
เหตุผลสิ่งใดนะแก้วตา | จึ่งมาเจรจาดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
น้อมเศียรสนองพระเสาวนีย์ | เหตุนี้ด้วยองค์เจ้าลงกา |
ให้สองนัดดาสุริย์วงศ์ | จำทูลโองการลงมาหา |
ว่ามนุษย์พี่น้องพาลา | มีนามชื่อว่ารามลักษมณ์ |
เป็นหลานของท้าวอัชบาล | ซึ่งผ่านอยุธยาอาณาจักร |
มาฆ่าสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | แล้วฮึกฮักยกพวกพานร |
จองถนนข้ามพลมาตั้ง | อยู่ยังมรกตสิงขร |
ข้าจึ่งทูลถามพระมารดร | จะไปช่วยราญรอนไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันทประภาโฉมศรี |
ฟังโอรสาพาที | ออกนามภูมีอัชบาล |
แล้วว่าจะไปรณรงค์ | กับองค์พระรามผู้หลาน |
ให้เร่าร้อนดั่งนอนในเพลิงกาล | นงคราญก็ปิดพระกรรณไว้ |
กลัวลูกจะม้วยมรณา | เบือนหน้าทอดถอนใจใหญ่ |
พระพักตร์ผาดเผือดลงทันใด | ตะลึงไปเพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ