- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวมหาบาลยักษี |
เสวยแสนสวรรยาในธานี | มีนามชื่อว่าจักรวาล |
ประกอบด้วยพหลโยธา | เสนาม้ารถคชสาร |
สมบัติสมบูรณ์โอฬาร | ปานดั่งวิมานเมืองอินทร์ |
อันหมู่ทหารชาญณรงค์ | อาจองแกล้วกล้าด้วยกันสิ้น |
เหาะเหินเดินนํ้าดำดิน | อสุรินทร์ไปได้ด้วยฤทธี |
พญายักษ์มีอัครชายา | ชื่อนางมณฑาโฉมศรี |
พระสนมกำนัลนารี | ล้วนมีศุภลักษณ์ละกลกัน |
ท้าวทรงศักดาอานุภาพ | ปราบไปได้ทั่วสรวงสวรรค์ |
เป็นสหายรักร่วมชีวัน | กับทศกัณฐ์เจ้าลงกา |
สองกรุงร่วมพื้นสุธาธาร | ไม่มีการฉันทาโทษา |
ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกันมา | โดยมหาพันธุมิตรสวัสดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ให้คะนึงถึงองค์ทศพักตร์ | อันเป็นสหายรักของยักษี |
จึ่งสั่งนนทสูรอสุรี | จงเตรียมโยธีพลไกร |
พร้อมทั้งคชาม้ารถ | กำหนดโดยกระบวนพยุห์ใหญ่ |
พรุ่งนี้ตัวกูจะยกไป | ยังกรุงพิชัยลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทสูรยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จัดเป็นกระบวนจัตุรงค์ | เลือกล้วนอาจองแข็งขัน |
ขุนช้างผูกช้างดั้งกั้น | เครื่องมั่นหุ้มสักหลาดแดง |
ควาญหมอขี่คอท้ายประจำ | กุมของ้าวรำกวัดแกว่ง |
ขุนม้าขี่ม้าหมู่แซง | มือถือทวนแทงกรีดกราย |
ขุนรถขี่รถยืนยัน | กรกุมเกาทัณฑ์ประลองสาย |
ขุนพลตรวจพลนิกาย | ไพร่นายพื้นทหารชำนาญยุทธ์ |
ล้วนถือเครื่องสรรพสาตรา | กวัดแกว่งเงื้อง่าอุตลุด |
เยียดยัดเพียงปถพีทรุด | คณนาสิบสมุทรโยธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษี |
ครั้นรุ่งสางสร่างแสงพระรวี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายรัตน์ | วารินเย็นหยัดดั่งฝอยฝน |
ลูบไล้เครื่องทิพย์เสาวคนธ์ | ปรุงปนเกสรสุมามาลย์ |
สนับเพลาหักทองช่องกระจก | ภูษาแย่งยกกระหนกก้าน |
ชายแครงกุดั่นดวงประพาฬ | ชายไหวแก้วกาญจน์อลงกรณ์ |
ฉลององค์พื้นผุดสุพรรณพราย | สังวาลวัลย์สามสายประภัสสร |
ตาบทิศทับทิมอรชร | ทับทรวงสร้อยอ่อนสะอิ้งองค์ |
ทองกรพาหุรัดประดับเพชร | ธำมรงค์เครือเก็จกาบหงส์ |
มงกุฎแก้วคู่จักรพรรดิทรง | กรรเจียกจอนอลงการ์กาญจน์ |
พระหัตถ์จับศรศักดา | จักรคทาธรแก้วมุกดาหาร |
สง่างามดั่งบรมพรหมาน | มาขึ้นรถสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแก้วลายหลายศรี |
แอกอ่อนงอนงามล้วนมณี | บุษบกตั้งที่บัลลังก์ลอย |
รูปครุฑยุดนาคสะบัดหิ้ว | ช่องกระจกกระหนกพลิ้วตาอ้อย |
บันแถลงแสงระยับประดับพลอย | กาบชดทวยช้อยอรชร |
เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน | โลทันมือถือธนูศร |
เครื่องสูงบังแทรกจามร | แตรงอนกลองประโคมโครมครึก |
เสียงรถคชาพาชี | โยธีโห่ร้องก้องกึก |
ผงคลีตลบควันพันลึก | ขับกันคึกคึกรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ถึงด่านลงกาพระนคร | จึ่งให้หยุดนิกรทัพใหญ่ |
ตั้งตามแนวป่าพนาลัย | โดยในกระบวนที่ยกมา |
แล้วมีพระราชบรรหาร | สั่งนนทการยักษา |
จงไปหาชาวด่านลงกา | พาตัวมันมาบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทการสูรยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ถวายอัญชุลีแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นพบอสูรฤทธิการ | ซึ่งเป็นนายด่านผู้ใหญ่ |
แจ้งความตามข้อรับสั่งใช้ | แล้วพาไปที่เฝ้าอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคม | พระบรมปิ่นภพยักษา |
ในที่ท่ามกลางเสนา | คอยฟังบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษี |
จึ่งมีพระราชวาที | เหวยอสุรีฤทธิการ |
ท้าวทศเศียรสหายกู | พงศ์พรหเมศผู้มหาศาล |
พระองค์มงกุฎกรุงมาร | ยังค่อยสำราญประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฤทธิการผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาจา |
อันกรุงลงการาชฐาน | เกิดการเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
ด้วยมนุษย์พี่น้องสองรา | ทรงนามชื่อว่ารามลักษมณ์ |
อันผ่านอยุธยาพระนคร | ยกพลวานรมาโหมหัก |
แต่รบรอต่อกรกับหมู่ยักษ์ | ช้านานได้สักสิบสามปี |
กุมภกรรณอินทรชิตก็วายชนม์ | จนองค์ทศพักตร์ยักษี |
ยกพลโยธาออกต่อตี | ไพรีฆ่าเสียวายปราณ |
บัดนี้ให้พิเภกผู้น้อง | ขึ้นครองลงการาชฐาน |
ชื่อทศคิรีวงศ์ขุนมาร | แล้วยกทวยหาญไปพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษา |
ได้ฟังตะลึงทั้งกายา | ดั่งว่าต้องสายอสุนี |
ความแสนเสียดายสหายรัก | ชลนัยน์นองพักตร์ยักษี |
ให้คิดแค้นอริราชไพรี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ผาดแผดสิงหนาทเสียงสนั่น |
เหม่เหม่มนุษย์เท่าแมงวัน | กูจะหั่นมิให้แค้นคอกา |
เหวยภัทรจักรจงเร่งไป | หาไอ้พิเภกยักษา |
บอกว่าตัวกูผู้ศักดา | ให้ออกมายังด่านพระนคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ภัทรจักรขุนมารชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วรีบไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลงการาชฐาน | ก็แจ้งการเสนาทั้งสี่ |
ตามในรับสั่งอสุรี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ได้แจ้งแห่งราชบัญชา | อสุราตระหนกตกใจ |
ครั้งนี้ลงการาชฐาน | จะรื้อเกิดกาลกุลีใหญ่ |
คิดแล้วก็พากันเข้าไป | ยังในพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษี |
ว่าท้าวมหาบาลธิบดี | กรีพลโยธียกมา |
ตั้งอยู่ปลายด่านเวียงชัย | ใช้ให้ภัทรจักรยักษา |
เข้ามาเชิญเบื้องบาทา | ไปเฝ้าพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
แจ้งว่าสหายทศกัณฐ์ | ยกมาก็ประหวั่นพรั่นใจ |
จึ่งคิดว่าท้าวมหาบาล | โมหาสาธารณ์หยาบใหญ่ |
มาตรแม้นถึงกูจะออกไป | ที่ไหนจะเป็นไมตรี |
สู้ตายมิให้ขายเบื้องบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
คิดแล้วมีพจน์วาที | แก่มหาเสนีจักรวาล |
ตัวกูเป็นข้าบทรัช | พระพงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
คือองค์นารายณ์อวตาร | จะคบพวกพาลด้วยอันใด |
เจ้ามึงถึงมีฤทธา | กูจะออกไปหาหาควรไม่ |
เองจงเร่งรีบกลับไป | บอกให้แจ้งใจอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งภัทรจักรยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | อัญชุลีแล้วรีบจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิรีวงศ์รังสรรค์ |
ครั้นภัทรจักรกุมภัณฑ์ | ออกจากเขตขัณฑ์ลงกา |
เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟพิษ | เกรงฤทธิ์มหาบาลยักษา |
จึ่งจับกระดานชนวนมา | พิเคราะห์ดูชะตาอสุรินทร์ |
เห็นกาลกิณีร่วมชาติ | ลัคน์จันทร์ต้องฆาฏอยู่ทั้งสิ้น |
เสาร์เสริดทับเสาร์ราศีมิน | แล้วกินณหว่างลัคนา |
แต่พระหัสบดิ์นั้นเป็นสิบเอ็ดอยู่ | จะมีผู้ช่วยชีพสังขาร์ |
มิได้ถึงสิ้นชีวา | อสุราค่อยสร่างสว่างใจ |
แล้วดูโดยนาครยายี | เห็นไพรีซึ่งเป็นนายใหญ่ |
จะถึงวินาศบรรลัย | ที่ในท่ามกลางพลากร |
บัดนี้ก็จวนสมัยกาล | พระอวตารจะใช้พระแสงศร |
ให้มาเยี่ยมเยียนพระนคร | ก็จะได้ราญรอนไพรี |
แจ้งเสร็จจึ่งมีบัญชา | สั่งเปาวนาสูรยักษี |
จงเกณฑ์หมู่พลโยธี | รักษาหน้าที่ปราการ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรใจหาญ |
น้อมเศียรรับสั่งพญามาร | ชุลีลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จึ่งเกณฑ์รี้พลกุมภัณฑ์ | เลือกล้วนแข็งขันแกล้วกล้า |
สรรพไปด้วยเครื่องสาตรา | รักษารอบราชธานี |
เชิงเทินหอรบป้อมค่าย | เอาปืนใหญ่ขึ้นรายประจำที่ |
กองหนุนแต่ล้วนตัวดี | มีระยะห้าเส้นห่างกัน |
อันประตูนคเรศราชฐาน | ไว้พวกพลหาญกองขัน |
กองกลางล้วนเหล่าทะลวงฟัน | ตั้งมั่นไว้กลางพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายภัทรจักรยักษา |
ออกจากพระนครลงกา | รีบมายังที่ทัพชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งคลานเข้าไปเฝ้า | น้อมเกล้าประณตประนมไหว้ |
ทูลความแต่ต้นจนปลายไป | โดยในพิเภกพาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | อสุรีขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่ไอ้พิเภกทรลักษณ์ | ถ้อยคำฮึกฮักโมหันธ์ |
ไม่เกรงกูผู้เดชชาญฉกรรจ์ | จะจับมันมาเสียบประจานไว้ |
ว่าแล้วให้เคลื่อนรถทรง | เลิกหมู่จตุรงค์น้อยใหญ่ |
โห่สนั่นครั่นครื้นภพไตร | รีบไปด้วยกำลังโกรธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีโองการ | ให้หยุดทวยหาญซ้ายขวา |
คอยดูพิเภกอสุรา | จะยกออกมาต่อกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริวงศ์ทรงศร |
เสวยสวรรยาสถาวร | ด้วยบังอรสีดาเทวี |
พร้อมหมู่สาวสนมกำนัล | แปดหมื่นสี่พันเฉลิมศรี |
ขับกล่อมบำเรอพระจักรี | ในปราสาทมณีโอฬาร |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนือแท่นทิพมาศฉายฉาน |
ครั้นปัจฉิมเวลากาล | ผ่านฟ้าก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ ทรงพระสุบินนิมิต | ว่าเมฆนั้นวิปริตทางทิศใต้ |
บังเกิดเป็นเปลวควันไฟ | มืดคลุ้มกลุ้มไปในนภา |
แล้วยังมีชายชาญฉกรรจ์ | หนึ่งนั้นถือตรีคมกล้า |
โผนทะยานผ่านหมู่เสนา | มาแหวะหวะอุราภูธร |
สาวไส้ออกให้เรี่ยราย | กระจายรอบจักรวาลสิงขร |
แล้วผ่านข้ามนทีสีทันดร | ที่มืดมิดอัมพรก็หายไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ก็ฟื้นตื่นจากที่ไสยาสน์ | ภาณุมาศพอเยี่ยมยอดไศล |
สระสรงทรงเครื่องอำไพ | ภูวไนยออกพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์กาญจน์ | ท่ามกลางทวยหาญซ้ายขวา |
ทั้งพญาอนุชิตผู้ศักดา | อันมาแต่นพบุรี |
จึ่งตรัสแก้พระสุบินนิมิต | แก่ปโรหิตทั้งสี่ |
ท่านจงพิเคราะห์ดูให้ดี | ฝันนี้จะเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปโรหิตโหราผู้ใหญ่ |
รับสั่งแล้วคำนวณไป | โดยในลัคนาพยากรณ์ |
ก็แจ้งด้วยปรีชาอันสามารถ | กราบบาททูลองค์พระทรงศร |
ซึ่งฝันว่าเมฆมืดอัมพร | อันแสงทินกรเป็นเปลวควัน |
จะมีหมู่อริราชไพรี | ยกพวกโยธีทัพขัน |
มาทำร้ายพระนครขอบคัน | อันขึ้นในเบื้องบทมาลย์ |
ข้อซึ่งมีชายเอาตรีแตระ | แหวะอกออกด้วยกำลังหาญ |
แล้วสาวไส้ไปรอบจักรวาล | ฐานนี้เป็นศุภนิมิต |
บรรดาข้าศึกจะสูญสิ้น | จะเพิ่มภิญโญยศพระจักรกฤษณ์ |
จะแผ่เดชาวราฤทธิ์ | ไปทั่วทศทิศธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังโหราธิบดี | ภูมีถวิลจินดา |
ถึงท้าวทศคิริวงศ์ | ด้วยไม่มีฤทธิรงค์แกล้วกล้า |
แม้นมีเหตุภัยสิ่งใดมา | เห็นว่าจะสิ้นชีวาลัย |
จำจะใช้แสงศรอันทรงเดช | ไปฟังเหตุร้ายดีเบินไฉน |
คิดแล้วก็จับศิลป์ชัย | เสด็จไปยังหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งชักพาลจันทร์ขึ้นพาดสาย | พระเนตรหมายทักษิณทิศาน |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ผ่านฟ้าแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โชติช่วงดั่งดวงศศิธร | เขจรไปโดยเวหา |
ตกในพิชัยลงกา | ตรงหน้าพิเภกอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
เห็นศรสมเด็จพระจักรี | มีความชื่นชมด้วยสมคิด |
เชิญวางเหนือพานสุวรรณรัตน์ | ประนมหัตถ์คำรบพระแสงสิทธิ์ |
บูชาด้วยธูปเทียนชวลิต | แล้วลิขิตจารึกสารา |
ผูกศิลป์แล้วประณตบทบงสุ์ | ศรทรงลอยขึ้นบนเวหา |
ดั่งหนึ่งว่ามีวิญญาณ์ | มาตกตรงพักตราพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสฤษดิรักษ์เรืองศรี |
ทอดพระเนตรเห็นสารอสุรี | ติดมาในที่ศรชัย |
จึ่งหยิบขึ้นคลี่อ่านดู | ก็รู้ว่าเกิดการศึกใหญ่ |
คือสหายทศกัณฐ์ที่บรรลัย | มาแต่กรุงไกรจักรวาล |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | สั่งพญาอนุชิตใจหาญ |
ว่าลงกาเกิดศึกรอนราญ | ตัวท่านผู้มีศักดา |
จงรีบไปช่วยรณรงค์ | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ฆ่าเสียให้สิ้นบรรดามา | ด้วยกำลังฤทธาวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระสี่กร | ลาแล้วบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขุนกระบี่ผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปพิชัยลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลงยังนิเวศน์วังสถาน | อันโอฬารดั่งดาวดึงสา |
ขึ้นยังพระโรงรจนา | ตรงเข้าไปหาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
เห็นพญาอนุชิตฤทธี | มีความชื่นชมโสมนัส |
ลงจากแท่นแก้วอลงกรณ์ | บทจรไปจูงเอาข้อหัตถ์ |
พาขึ้นนั่งร่วมบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรชัชวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
คำรพนบนอบพญามาร | แล้วแจ้งการว่าองค์พระจักรี |
ทราบว่าหมู่ปัจจามิตร | มาประชิดลงกาบุรีศรี |
พระโองการตรัสใช้ให้ข้านี้ | มาช่วยราวีอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ฟังลูกพระพายผู้ศักดา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อันท้าวมหาบาลขุนยักษ์ | ฮึกฮักอหังการ์หยาบใหญ่ |
อ้างอวดว่ามีฤทธิไกร | มิได้เกรงเดชพระจักรี |
ความแค้นนั้นแสนสุดคิด | เจ็บจิตด้วยคำยักษี |
ซึ่งโองการใช้ท่านมาครั้งนี้ | ความข้ายินดีเป็นพ้นนัก |
พระคุณประเสริฐเลิศลบ | ใหญ่ยิ่งแผ่นภพไตรจักร |
แต่ข้าเป็นข้าพระหริรักษ์ | พระองค์ผลาญยักษ์ในลงกา |
ยังมิได้ทำศึกสนองคุณ | ซึ่งการุญชุบเกล้าเกศา |
ครั้งนี้มีการสงครามมา | หมายว่าจะออกชิงชัย |
อันเหล่าอริราชศัตรู | จะไม่ล่วงดูหมิ่นได้ |
มาตรแม้นเพลี่ยงพล้ำประการใด | ท่านจงช่วยให้ทันที ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
นบนอบตอบคำอสุรี | ทั้งนี้ก็ตามแต่ปรีชา |
ตัวข้าจะเหาะขึ้นคอยดู | อยู่บนพ่างพื้นเวหา |
ถ้าเห็นเสียทีจะลงมา | ฆ่ามันให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
ฟังพญาอนุชิตชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์ชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษี |
จงเกณฑ์พหลโยธี | เรานี้จะยกออกชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรเสนาใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์พลเป็นพวกจตุรงค์ | เลือกล้วนอาจองแกล้วกล้า |
ขุนช้างขึ้นช้างชนะงา | ถือของ้าวง่าหยัดยัน |
ขุนม้าขี่ม้าอัสดร | กวัดแกว่งโตมรดั่งจักรผัน |
ขุนรถขี่รถพร้อมกัน | ล้วนถือเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
ขุนพลตรวจเตรียมพลยุทธ์ | นับสมุทรแน่นนันต์อกนิษฐ์ |
กุมสาตราแกว่งสำแดงฤทธิ์ | ทุกตนไม่คิดตัวตาย |
แล้วผูกมหาคชาธาร | ครบเครื่องอลงการฉานฉาย |
เยียดยัดอัดอึงทั้งไพร่นาย | ตั้งรายตามเกล็ดนาคี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วประทุมทอง | วารีเป็นละอองดั่งฝอยฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
สนับเพลาเครือหงส์อลงการ์ | ภูษาพื้นตองทองผุด |
ชายไหวชายแครงเครือครุฑ | ฉลององค์ประดับบุษย์สังเวียนวง |
รัดอกเกราะแก้วสุรกานต์ | สังวาลทับทรวงกระหนกหงส์ |
ทองกรพาหุรัดรูปภุชงค์ | ธำมรงค์เพชรเรืองอรชร |
มงกุฎกรรเจียกแก้วดอกไม้ทัด | พระหัตถ์นั้นจับธนูศร |
งามคล้ายทศพักตร์ฤทธิรอน | บทจรมาทรงคชาธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ช้างเอยช้างศึก | ห้าวฮึกเรี่ยวแรงสำแดงหาญ |
ประดับเครื่องกุดั่นอลงการ | งามเทียมคชาธารจักรพรรดิ |
ชนักต้นกระวินแก้วแพร้วพราย | ผลึกรองทองสายลายขัด |
ผูกเป็นจักรหลั่นรังรัด | สันทัดเหี้ยมหาญในการยุทธ์ |
เรียกมันครั่นครึกกึกก้อง | โกญจนาทผาดร้องอึงอุด |
ทรหดอดทนอาวุธ | เริงร่าสัประยุทธ์ราวี |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงทิวริ้วรายสลับสี |
ปี่กลองฆ้องขานเภรี | แตรสังข์เสียงมี่อึงอล |
อสุราโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกลงกากุลาหล |
ผงคลีกลุ้มฟ้าสุธาดล | รีบพลเร่งพวกดำเนินไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
เหาะทะยานผ่านมาด้วยว่องไว | แอบดูอยู่ในอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรชาญสมร |
เห็นพิเภกออกมาจะต่อกร | ภูธรเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึ่งมีสีหนาทประกาศร้อง | กึกก้องดั่งเสียงฟ้าลั่น |
เหวยเหวยไอ้พวกกุมภัณฑ์ | อันเป็นข้าเจ้าลงกา |
ตัวมึงอย่าเข้ามาพลอยตาย | เบี่ยงบ่ายหลบหนีเสียดีกว่า |
กูตั้งใจจงจำนงมา | จะฆ่าไอ้พิเภกสาธารณ์ |
ตรัสแล้วจึงสั่งเสนี | จงเร่งโยธีทวยหาญ |
เข้าจับพิเภกขุนมาร | มาเสียบประจานให้สาใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทสูรกองหน้าทหารใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็ขับกันเข้าไล่โจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธสับสน | เสียงพลโห่ร้องอึงมี่ |
กองหนุนหนุนเนื่องเข้าราวี | รบรุกคลุกคลีไม่คิดตาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลลงกาทั้งหลาย |
แยกกันออกรับทั้งไพร่นาย | ตีซ้ายป่ายขวาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายพลจักรวาลพระนคร | ตายยับซับซ้อนไม่นับได้ |
แตกย่นจนหน้ารถชัย | ไม่เป็นตำบลสนธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษา |
เห็นพลแตกพ่ายกระจายมา | โกรธาดั่งหนึ่งเพลิงพิษ |
กระทืบบาทเร่งรถคชสีห์ | อสุรีกวัดแกว่งศรสิทธิ์ |
เข้ากลางโยธาปัจจามิตร | ไล่ชิดต่อกรรอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลุยล้างพลข้างลงกา | กลัวเดชอสุราไม่ต่อต้าน |
จนมาถึงหน้าคชาธาร | ขุนมารผาดเสียงเกรียงไกร |
เหวยเหวยพิเภกทรชน | จะรู้คุณพี่ตนก็หาไม่ |
โลภล้นเป็นพ้นประมาณไป | จะใคร่ได้สมบัติในลงกา |
จึ่งด้านหน้าเป็นข้าปัจจามิตร | ไม่คิดปรานีแก่วงศา |
เสียชาติพรหเมศอันศักดา | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | จึ่งมีวาจาตอบไป |
เหวยเหวยดูก่อนมหาบาล | มึงอย่าอหังการหยาบใหญ่ |
อันพระเชษฐาที่บรรลัย | ก็เกิดร่วมไส้กับกูมา |
มึงชาวจักรวาลนัคเรศ | เหตุใดใช่การมาล่วงว่า |
เป็นชายหมิ่นชายด้วยวาจา | กูไม่กลัวฤทธาขุนมาร |
มึงดั่งหิ่งห้อยน้อยแสง | หรือจะมาแข่งด้วยสุริย์ฉาน |
ว่าแล้วก็ขับคชาธาร | เข้าไล่รอนราญราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ งาแทงเท้าฉัดคัดค้อน | ตายทั้งไกรสรสารถี |
ราชรถแหลกลงเป็นผงคลี | ด้วยกำลังฤทธีกุญชร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวมหาบาลชาญสมร |
ตกลงเหนือพื้นดินดอน | โกรธดั่งไฟฟอนไหม้ฟ้า |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | ร้องตวาดดั่งเสียงฟ้าผ่า |
ผาดแผลงสำแดงฤทธา | โจนขึ้นเหยียบงาหัสดิน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พิเภกนั้นฟันด้วยของ้าว | ท้าวมหาบาลตีด้วยคันศิลป์ |
ต้องทศคิริวงศ์อสุรินทร์ | ตกลงมาสิ้นทั้งหมอควาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตใจหาญ |
เห็นพิเภกเสียทีมหาบาล | ก็ทะยานลงจากเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ องอาจดั่งราชไกรสร | แกว่งตรีฤทธิรอนเงื้อง่า |
ผาดแผลงสำแดงเดชา | ออกยืนขวางหน้ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรรังสรรค์ |
เหลือบเห็นวานรชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์กริ้วโกรธคือไฟ |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้เดียรัจฉาน | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
นามกรของมึงนั้นชื่อไร | เหตุใดมาทำดั่งนี้ |
ไม่เกรงกูผู้ทรงศักดา | ผ่านมหาจักรวาลบุรีศรี |
อานุภาพปราบทั่วธาตรี | ฤทธีประเสริฐเลิศนัก |
เอ็งเร่งไปให้พ้นพระกาฬ | อย่าฮึกหาญเอาคอมารอจักร |
กูจะฆ่าพิเภกขุนยักษ์ | ที่มันทรลักษณ์จังไร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบไป | มึงไม่รู้หรืออสุรา |
ตัวกูนี้เป็นทหาร | องค์พระอวตารนาถา |
ชื่อพญาอนุชิตผู้ศักดา | ได้ครองพารานพบุรี |
พระโองการใช้มาเยียนข่าว | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ผู้เป็นปิ่นเกล้าอสุรี | ในที่ลงกาพระนคร |
ไฉนมึงยกพลมาปล้นเมือง | ให้เคืองบาทบงสุ์พระทรงศร |
สำมะหาแต่ท้าวยี่สิบกร | ฤทธิรอนปราบได้ทั้งโสฬส |
ฮึกฮักต้านต่อรณรงค์ | โคตรวงศ์มิตรสหายก็ตายหมด |
สิ้นทั้งโยธาม้ารถ | พ้นที่กำหนดคณนา |
ตัวมึงเหมือนหนึ่งลูกไก่ | จะบรรลัยด้วยเล็บปักษา |
สิ้นทั้งพวกพลบรรดามา | ด้วยศักดาเดชกูบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | อสุรีเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
กระทืบบาทผาดแผดสีหนาท | ร้องตวาดดังเสียงฟ้าลั่น |
เหวยไอ้ลิงป่าพนาวัน | มึงอย่าปึ่งปั้นเจรจา |
อันไอ้พิเภกทรลักษณ์ | ไม่รู้จักคุณพระเชษฐา |
ให้หาโดยดีก็มิมา | กลับยกโยธาออกรอนราญ |
มึงเป็นแต่ข้ามนุษย์ | อ้างอวดฤทธิรุทรกล้าหาญ |
สู่รู้มาสู้ด้วยพระกาฬ | กูจะผลาญให้สิ้นชีวัน |
ว่าแล้วมีราชวาที | เหวยหมู่อสุรีพลขันธ์ |
จงจับไอ้ลิงใจฉกรรจ์ | มาหั่นอย่าให้แค้นคอกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสูรยักษา |
ได้ฟังบรรหารอสุรา | ก็ดาเข้าโจมจับวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
ผู้เดียวรบรันประจัญกร | ตะลุมบอนกลางหมู่โยธี |
เท้าถีบมือตบปากกัด | จับฟัดด้วยกำลังกระบี่ศรี |
หัวขาดตีนขาดไม่สมประดี | ตายหนีวิ่งแยกแตกกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มหาบาลฤทธิแรงแข็งขัน |
แลเห็นพวกพลกุมภัณฑ์ | ทั้งนั้นแตกพ่ายกระจายมา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงพิษ | กวัดแกว่งศรสิทธิ์เงื้อง่า |
โลดโผนโจนไปด้วยศักดา | เข้าไล่เข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระพายเทวัญเรืองศรี |
หลบหลีกว่องไวไปในที | โจนจับอสุรีด้วยฤทธิรอน |
เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าฉวยชิงคันศร |
ต่างหาญต่างกล้าไม่ลดกร | วานรถีบถูกขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรใจหาญ |
ซวนไปล้มลงกับดินดาน | โกรธดั่งเพลิงกาลไหม้ฟ้า |
ลุกขึ้นเข่นเขี้ยวกระทืบบาท | กวัดแกว่งศรสาตร์เงื้อง่า |
พาดสายหมายล้างชีวา | อสุราผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สำเนียงกัมปนาทหวาดไหว | สะเทือนไปถึงชั้นอกนิษฐ์ |
โชติช่วงดั่งดวงพระอาทิตย์ | ศรสิทธิ์เกลื่อนกลาดอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
หลบหลีกด้วยกำลังฤทธิรอน | รวบฉวยเอาศรได้ทันที |
หักเล่นย่อยยับระยำไป | เยาะเย้ยโยนให้ยักษี |
ชี้หน้าว่าเหวยไอ้อัปรีย์ | วันนี้ตัวมึงจะวายปราณ |
ว่าแล้วสำแดงฤทธิรอน | กรแกว่งตรีเพชรฉายฉาน |
กระทืบบาทผาดโผนโจนทะยาน | เข้าโรมราญโจมจับอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ สองหัตถ์รัดรวบทั้งสองบาท | ฟาดลงแล้วฉีกแขนขา |
ขว้างไปด้วยกำลังศักดา | ถูกมหามรกตคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเทพาสูรยักษี |
กายขาดติดเข้าทันที | อสุรีไม่ม้วยชีวัน |
สิ้นสุดอาวุธจะชิงชัย | ทะยานใจกริ้วโกรธหุนหัน |
ฮึดฮัดกัดเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์เข้าถอนเอาต้นตาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตีนยันบ่าแบกกระชากฉุด | ก็หลุดขึ้นด้วยกำลังหาญ |
กวัดแกว่งโลดโผนโจนทะยาน | เข้าไล่รอนราญวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตีซ้ายป่ายขวาด้วยสามารถ | เสียงดั่งฟ้าฟาดสิงขร |
ต่างกล้าต่างหาญราญรอน | ประจัญกรรบรุกบุกบัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
หลบหลีกรับรองป้องกัน | โจนประจัญฉวยชิงตระบองตาล |
ตีต้องอสุรีเป็นหลายหน | ซวนไปไม่ทนกำลังหาญ |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | โผนทะยานขึ้นเหยียบอกไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พิศดูแล้วถวิลจินดา | อสุราตนนี้เป็นไฉน |
จึ่งฆ่าไม่ม้วยบรรลัย | หรือดวงใจไม่อยู่กับอินทรีย์ |
เหมือนหนึ่งองค์ท้าวทศพักตร์ | ไมยราพสิทธิศักดิ์ยักษี |
คิดแล้วจึ่งกล่าววาที | ถามพิเภกอสุรีผู้ปรีชา |
เหตุใดจึ่งไอ้มหาบาล | ผลาญมันไม่ม้วยสังขาร์ |
หรือมีลัทธิวิทยา | ได้ร่ำเรียนมาแต่แห่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังจึ่งร้องตอบไป | อันไอ้อสุรามหาบาล |
ได้พรสมเด็จพระศุลี | จึ่งมีศักดากล้าหาญ |
ฟอนฟันแต่กายไม่วายปราณ | ด้วยเดชชัยชาญประสาทมา |
จะฆ่าจงแหวะเอาดวงใจ | ขยี้ไปให้แหลกกับหัตถา |
ขุนมารก็จะม้วยมรณา | โดยบัญชาสั่งพระศุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
ได้แจ้งแห่งคำอสุรี | เงื้อตรีกวัดแกว่งสำแดงฤทธิ์ |
จึ่งผ่าอุราขุนยักษ์ | หวะแหวะแตระควักเอาดวงจิต |
ขยี้ไปจนสิ้นชีวิต | ด้วยฤทธิ์ขุนกระบี่ผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
เห็นท้าวมหาบาลอสุรา | สุดสิ้นชีวาก็ยินดี |
จึ่งพาพหลพลไกร | ฝ่ายพิชัยลงกาบุรีศรี |
ออกสกัดชายป่าพนาลี | จับพลโยธีจักรวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บ้างผูกคอผูกมืออื้อฉาว | ฮึกห้าวสำทับด้วยคำหาญ |
กระชากฉุดล้มลุกคลุกคลาน | หมู่มารต่อมารไม่เมตตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศถ้วนหน้า |
ทั้งหมู่นางเทพธิดา | เห็นพญาอนุชิตฤทธิรอน |
สังหารอสุรามหาบาล | วายปราณด้วยกำลังชาญสมร |
ต่างองค์ปรีดาสถาวร | ยิ้มเยี่ยมบัญชรพิมานชัย |
บ้างโปรยปรายดวงทิพบุปผา | ประทุมมาศมาลาลงมาให้ |
เกลื่อนกลาดดาษพื้นพนาลัย | อวยชัยให้พรพานรินทร์ |
จงจำเริญเรืองฤทธิ์อำนาจ | เฉลิมบาทพระนารายณ์ทรงศิลป์ |
ช่วยชูโลกาฟ้าดิน | ไปกว่าจะสิ้นกัลปา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ครั้นเสร็จสงครามก็ปรีดา | บัญชาแก่ศรีหนุมาน |
เชิญเจ้าผู้ทรงศักดาเดช | คืนเข้านิเวศน์ราชฐาน |
อันแสนสนุกโอฬาร | ให้สำราญเป็นสุขสถาวร |
ว่าแล้วจูงกรขุนกระบินทร์ | ขึ้นทรงหัสดินทร์ชาญสมร |
ให้เลิกโยธาพลากร | คืนเข้าในนครลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเกยแก้วสุรกานต์ | ลงจากคชาธารตัวกล้า |
พากันยูรยาตรคลาดคลา | ขึ้นมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ตรัสสั่งหนุมานกระบี่ศรี |
เชิญเจ้าผู้มีฤทธี | ไปเข้าที่โสรจสรงชลธาร |
เสวยเอมโอชโภชนา | ในมหาปราสาทมุกดาหาร |
กับนางเบญกายเยาวมาลย์ | ให้สำราญเป็นสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
รับราชบัญชาอันสุนทร | ชุลีกรแล้วมาด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เข้าห้องสิริไสยาสน์ | อนงค์นาฏเบญกายโฉมศรี |
สนทนาปราศรัยด้วยไมตรี | ขุนกระบี่เอนองค์ลงไสยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางเบญกายเสน่หา |
เริดร้างห่างรสรักมา | ช้านานพึ่งได้พบกัน |
มีจิตชื่นชมโสมนัส | ในความประดิพัทธ์เกษมสันต์ |
อิงแอบแนบชิดพัลวัน | บันเทิงเริงรื่นฤทัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ล้วนทรงศุภลักษณ์อำไพ | ต่างตนมีใจปรีดา |
ก็อาบนํ้าทาแป้งแต่งตัว | หวีหัวส่องกระจกผัดหน้า |
เสร็จแล้วก็พากันขึ้นมา | บำเรอพญาวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บ้างเข้าพัดวีรำเพยพาน | อยู่งานข้างที่บรรจถรณ์ |
ดั่งดาราล้อมดวงศศิธร | อันเขจรลอยฟ้าในราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | ร้องรับฉ่ำเฉื่อยเรื่อยรี่ |
โหยหวนโอดพันไปในที | ดีดสีประสานจังหวะกัน |
รำมะนาท้าทับกรับฉิ่ง | เพราะพริ้งดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
เป็นนํ้าค้างนางให้ดอกไม้พัน | ไก่ขันการเวกเหรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำร่อน | ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา |
เอวอ่อนอ้อนแอ้นทั้งกายา | ชม้ายชายตาให้ยวนยี |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนหัตถ์ | ซัดแขนโดยจังหวะดีดสี |
ย้ายท่าเป็นม้าตีคลี | ทำทีใส่จริตกรีดงอน |
ย่างเยื้องระทวยนวยนาด | งามวิลาสดั่งเทพอัปสร |
ย้ายท่าเป็นช้าน้องนอน | คมค้อนโดยกระบวนให้ยวนใจ |
แทรกเปลี่ยนเวียนขวามาซ้าย | ย้ายเป็นผาลาเพียงไหล่ |
บำเรอวายุบุตรวุฒิไกร | ในห้องปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
ชมฝูงอนงค์นารี | จับระบำข้างที่ไสยา |
ฟังเสียงสำเนียงขับกล่อม | เพราะพร้อมเพลิดเพลินเสน่หา |
ทั้งหอมชื่นรื่นรสสุคนธา | วานรก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จนล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องเสียงใส |
แสงทองส่องฟ้าอำไพ | อโณทัยเยี่ยมยอดยุคุนธร |
ขุนกระบี่ตื่นจากนิทรา | ก็ออกมาจากที่บรรจถรณ์ |
สระสรงทรงเครื่องอลงกรณ์ | บทจรไปท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดนั่งเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ท่ามกลางอสูรกุมภัณฑ์ | บังคมคัลพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
เห็นพญาอนุชิตก็ยินดี | จึ่งมีพจนารถวาจา |
อันกรุงพระนครจักรวาล | ของท้าวมหาบาลยักษา |
ประกอบด้วยสมบัติสวรรยา | โยธาแน่นนับสมุทรไท |
จะให้เปาวนาสูรเสนี | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
ไปอยู่ต่างตาต่างใจ | จะเห็นเป็นไฉนวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาอันสุนทร | ชุลีกรสนองพระวาที |
ซึ่งจะให้เปาวนาสูรขุนมาร | ไปรั้งจักวาลบุรีศรี |
ก็จะภิญโญยศพระจักรี | ชัวฟ้าธาตรีกัลปา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ฟังลูกพระพายเทวา | ก็สั่งเปาวนาสูรกุมภัณฑ์ |
ตัวท่านผู้มีปรีชาชาญ | จงไปรั้งจักรวาลเขตขัณฑ์ |
รักษาไพร่ฟ้าให้เป็นธรรม์ | ต่างเนตรต่างกรรณพระสี่กร |
แล้วมีบัญชาประกาศิต | ชวนพญาอนุชิตชาญสมร |
แต่งองค์ทรงเครื่องอาภรณ์ | เขจรไปเฝ้าพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ลอยลิ่วมาในเมฆา | ก็ถึงอยุธยาบุรีศรี |
ลงยังพ่างพื้นปถพี | พากันไปที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ