- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | จึ่งพาทีสนองพระโองการ |
เป็นไฉนฉะนี้พระทรงฤทธิ์ | จึ่งประดิษฐ์คิดว่าแต่คำหวาน |
เมื่อทศพักตร์ลักข้าไปเมืองมาร | ให้อยู่นอกสถานเวียงชัย |
แล้วมีผู้พิทักษ์รักษา | รอบสวนมาลาไม่นับได้ |
พระองค์ใช้วายุบุตรไป | ก็แจ้งใจประจักษ์ว่าร้ายดี |
เสร็จศึกก็ลุยเพลิงถวาย | เทวาทั้งหลายเป็นสักขี |
ประจักษ์ทั่วโลกาธาตรี | ภูมีจึ่งรับข้ามา |
ถึงเพียงนั้นยังไม่สิ้นกินแหนง | กลับแคลงรังเกียจกังขา |
ครั้งนี้ตัวข้าเวทนา | ผู้เดียวอยู่ป่ากันดาร |
พบพระสิทธาได้อาศัย | เที่ยวเก็บผลไม้เป็นอาหาร |
ไม่มีผู้รักษาพยาบาล | ช้านานนับได้ถึงสิบปี |
ย่อมมีพรานไพรนักสิทธ์ | สุราฤทธิ์วิทยาฤๅษี |
ก็จะแคลงพระทัยพันทวี | ยิ่งกว่าอยู่ที่ลงกา |
พระเป็นจักรพรรดิเรืองเดช | ใช่จะไร้อัคเรศซ้ายขวา |
ตัวข้านี้คนชั่วช้า | หาอื่นอย่าให้เคืองบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏผู้ยอดสงสาร |
เจ้าดวงนัยนายุพาพาล | อย่าประหารด้วยถ้อยวาที |
ถ้าเจ้าสิ้นเมตตาอาลัยแล้ว | จงเอาพระขรรค์แก้วนี้ฆ่าพี่ |
ให้หายแค้นหายโกรธของเทวี | ก็จะลามารศรีบรรลัยไป |
ซึ่งจะหานางอื่นให้เหมือนเจ้า | ถึงตายแล้วเกิดเล่าไม่หาได้ |
เจ้าดวงดอกฟ้ายาใจ | จงคิดถึงยากไร้ด้วยกันมา |
พี่ผิดก็รับตามผิดมี | สิ่งดีพี่ก็ทำมาหนักหนา |
เอ็นดูบ้างเถิดนางกัลยา | อย่าให้ชีวาวายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดสงสาร |
ได้ฟังมธุรสพจมาน | นงคราญจึงกล่าวตอบไป |
น้อยหรือถ้อยคำพระทรงฤทธิ์ | ช่างคิดเจรจาแก้ไข |
หวานฉ่ำดั่งทิพย์มาเจือใจ | ที่ไหนจะรู้เท่ามี |
อนิจจาคิดคิดก็น่าสรวล | จะสำรวลก็จะเคืองบทศรี |
เพราะเห็นข้าชั่วช้าอัปรีย์ | จึ่งแกล้งพาทีด้วยมารยา |
เป็นหญิงไม่เคยฆ่าฟัน | พระทรงธรรม์อย่าคิดประดิษฐ์ว่า |
แม้นทำได้เหมือนองค์พระผ่านฟ้า | ก็ไม่แสนเวทนาลำบากใจ |
เกิดมาชาตินี้มีกรรม | จะนำสนองจองเวรไปถึงไหน |
สิ้นบุญกันแล้วก็แล้วไป | จะก้มหน้าอยู่ในพนาวัน |
ฝากตัวพระมหานักสิทธ์ | ไปกว่าชีวิตจะอาสัญ |
สามคนแม่ลูกด้วยกัน | ที่ในพระบรรณศาลา |
ขอเชิญพระองค์ผู้ทรงเดช | เสด็จคืนนคเรศดีกว่า |
อย่ากังวลด้วยคนชั่วช้า | เครื่องจะขายบาทาสืบไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ ดวงเอยดวงสมร | บังอรพี่ยอดพิสมัย |
เจ้าก็เป็นมารดาสุราลัย | ว่าไยฉะนี้นางเทวี |
เมื่อเทวาเชิญองค์เยาวมาลย์ | ให้อวตารมาด้วยพี่ |
เป็นประธานโลกาธาตรี | ล้างหมู่อสุรีพาลา |
ให้แสนสุขสำราญราบรื่น | เย็นชื่นทั่วทศทิศา |
หากกรรมนั้นติดตามมา | จึ่งนิราราศร้างห่างกัน |
แม้นพี่ทุกข์ก็ทุกข์ทั้งแดนไตร | ไหนจะมีความสุขเกษมสันต์ |
เจ้าดวงนัยนาวิลาวัณย์ | ขวัญเมืองจงฟังพี่พาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
จึ่งตอบบัญชาพระจักรี | ตรัสมาทั้งนี้เห็นผิดไป |
เมื่อแรกโกรธาให้ฆ่าฟัน | ทรงธรรม์หาคิดฉะนี้ไม่ |
หากว่าไม่ม้วยบรรลัย | พระองค์จึ่งได้มาเจรจา |
ครั้นจะฟังพระราชบรรหาร | ก็อัประมาณทั่วโลกแหล่งหล้า |
สุดคิดสุดจิตสุดปัญญา | ด้วยข้าเป็นคนทรลักษณ์ |
สารพัดจะชั่วไปทุกสิ่ง | ยิ่งกว่าฝูงหญิงทั้งไตรจักร |
ไม่ควรคู่เคียงเรียงพักตร์ | องค์พระหริรักษ์สืบไป |
เหมือนเลือดร้ายออกจากอินทรีย์ | จะกลับคืนว่าดีกระไรได้ |
อันกรุงอยุธยาราชัย | ไม่ขอเห็นแล้วพระผ่านฟ้า |
แต่ข้าขอถวายชุลีกร | สามพระมารดรเสน่หา |
ข้อนี้พระองค์จงเมตตา | ช่วยทูลกิจจาพระชนนี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังวาจานางเทวี | พาทีสลัดตัดรอน |
ให้อัดอั้นตันทรวงดวงจิต | ดั่งเพลิงพิษร้อนรุมสุมขอน |
สุดรู้สุดคิดจะว่าวอน | ภูธรนิ่งนึกตรึกตรอง |
อันสีดาครองสัจวาที | หญิงทั้งธาตรีไม่มีสอง |
ดั่งศีลาจารึกเส้นทอง | ได้ขุ่นข้องหรือจะฟังวาจา |
อย่าเลยจะผ่อนวอนขอ | แต่พระหน่อทั้งสองเสน่หา |
เข้าไปไว้ก่อนในพารา | ให้กัลยาเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ |
ธรรมดาสตรีทั้งไตรจักร | มิอาจตัดความรักลูกได้ |
ที่เคียดแค้นก็จะหายด้วยอาลัย | จึ่งจะเชิญอรไทเข้าบุรี |
คิดแล้วก็กล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดสุดาพี่ |
ถึงเจ้าไม่คืนเข้าธานี | ขอลูกสองศรีวิลาวัณย์ |
ไปชมต่างพักตร์วนิดา | สืบวงศ์อิศรารังสรรค์ |
ปราบหมู่พาลาอาธรรม์ | เป็นจรรโลงโลกาสุธาธาร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังบัญชาพระอวตาร | เยาวมาลย์ก็ตอบคำไป |
อันลูกรักของข้าบาทบงสุ์ | จะเป็นหน่อพระองค์ก็หาไม่ |
จงดูให้ตระหนักประจักษ์ใจ | ที่ในนรลักษณ์พักตรา |
รูปร่างไม่คล้ายพระทรงจักร | เหมือนข้างทศพักตร์ยักษา |
จะเข้าไปไยในพารา | ทั้งตัวมารดาก็ไม่ดี |
อันกุมารนี้ลูกคนโทษ | ไม่ควรโปรดจะเลี้ยงให้เป็นศรี |
เมื่อเขาเอาออกไปฆ่าตี | ทั้งธานีก็รู้อยู่ทั่วกัน |
แม้นข้าจะถวายพระองค์ | เกลือกทรงพระโกรธหุนหัน |
ไม่ถามไถ่จะให้ฆ่าฟัน | ชีวันลูกข้าจะมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังถ้อยคำนางกัลยา | อุราร้อนรุมดั่งสุมไฟ |
จึ่งมีมธุรสอันสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดพิสมัย |
ควรหรือแก้วตาไม่อาลัย | มาตัดรอนได้ถึงเพียงนี้ |
แต่เฝ้าวอนอ่อนง้อก็หนักหนา | อนิจจาไม่คิดเอ็นดูพี่ |
อกเอ้ยจะอยู่ไปไยมี | ให้หนักแผ่นปถพีไม่ต้องการ |
เสียแรงเป็นวงศ์จักรพรรดิ | ไม่มีความสวัสดิ์เกษมศานต์ |
ดั่งคนชาติข้าสาธารณ์ | แสนทุกข์ทรมานลำบากใจ |
จะคืนเมืองก็อายแก่ไพร่ฟ้า | หญิงชายถ้วนหน้าจะสรวลได้ |
สู้ตายไม่กลับเข้าเวียงชัย | จะบรรลัยอยู่ริมกุฎี |
เจ้าค่อยอยู่เถิดสีดาเอ๋ย | ทรามเชยอย่าจองเวรพี่ |
สิ้นบุญสิ้นกรรมกันวันนี้ | ว่าพลางภูมีก็โศกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดเสน่หา |
ได้ฟังสมเด็จพระภัสดา | โศกาครวญครํ่ารำพัน |
ให้หวาดหวั่นวิญญาณ์รำพึงคิด | อันองค์พระจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
อวตารมาล้างอาธรรม์ | ที่มันเป็นเสี้ยนสุธาธาร |
อันหมู่เทวาสุรารักษ์ | นักสิทธ์เป็นสุขทุกสถาน |
ฝ่ายพระมงกุฎกุมาร | ก็เป็นหน่ออวตารธิบดี |
จะสืบสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | ตามในไวกูณฐ์เรืองศรี |
เป็นปิ่นอยุธยาธานี | ผ่านบุรีสืบวงศ์เทวัญ |
แม้นว่าจะมิยอมถวาย | พระนารายณ์จะม้วยอาสัญ |
คิดแล้วนบนิ้วบังคมคัล | ทรงธรรม์อย่าโศกโศกา |
อันสองโอรสเยาวเรศ | ดั่งดวงเนตรข้าบาททั้งซ้ายขวา |
ขอถวายไว้ใต้บาทา | ให้เคืองวิญญาณ์พระภูมี |
ว่าแล้วจึ่งองค์นงลักษณ์ | ตรัสเรียกลูกรักทั้งสองศรี |
พ่อจงมาหาชนนี | ถวายอัญชุลีพระสี่กร ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารชาญสมร |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดร | พากันบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ทั้งองค์สมเด็จพระมารดา | สองราชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นสองโอรสผู้ฤทธี | ภูมีเบิกบานสำราญใจ |
ดั่งอมรินทร์ปิ่นเกศสุรารักษ์ | เอาคู่จักรวิเชียรมายื่นให้ |
จึ่งประคองสองราชบุตรไว้ | กอดจูบลูบไล้ไปมา |
พระพินิจพิศพักตร์พระมงกุฎ | แสนรักสุดแสนเสน่หา |
แล้วพิศดูพระลบอนุชา | ยิ่งโสมนัสสาพันทวี |
รับขวัญพลางชำเลืองนัยน์เนตร | ดูองค์อัคเรศมเหสี |
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงทันที | ภูมีสะท้อนถอนใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
ดูสองลูกยาก็อาลัย | อรไทจึ่งมีวาจา |
โอ้ว่าดูก่อนพ่อทรามรัก | ดวงจักษุแม่ทั้งซ้ายขวา |
ครั้งนี้จะจากอกมารดา | พระบิตุรงค์จะพาเข้าธานี |
ครั้นแม่มิยอมถวายเล่า | พระผ่านเกล้าจะเคืองบทศรี |
พี่น้องเจ้าไปจงดี | อย่ามีโรไคภัยพาล |
แต่ตัวแม่นี้จะสู้ยาก | ลำบากอยู่ในไพรสาณต์ |
พึ่งพระอัยกาอาจารย์ | เยาวมาลย์สั่งพลางทางโศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระโอรสา |
ได้ฟังพระราชมารดา | ให้หวาดหวั่นวิญญาณ์ตะลึงไป |
ทั้งยินดีทั้งทุกข์นั้นกึ่งกัน | จะกลั้นนํ้าเนตรไว้ไม่ได้ |
โศกากราบทูลด้วยอาลัย | ลูกไม่เคยไกลพระชนนี |
แม่ลูกแสนยากอนาถนัก | ได้พึ่งพักอาศัยพระฤๅษี |
เลี้ยงกันทุกวันทุกราตรี | สุดที่จะจากพระบาทา |
ลูกยังมิได้สนองคุณ | ซึ่งการุญชุบเกล้าเกศา |
ทั้งองค์สมเด็จพระอัยกา | ก็จะแสนเวทนาอาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
ได้ฟังสะท้อนถอนใจ | อรไทจึ่งมีพจมาน |
โอ้ว่าเจ้าดวงชีวิต | สุดคิดแม่แล้วยอดสงสาร |
สุดปัญญาที่จะขัดพระโองการ | ของพระอวตารธิบดี |
พ่ออย่าแสนโศกโศกา | ถึงมารดาเลยนะโฉมศรี |
ใช่ตายจากกันเมื่อไรมี | จงภักดีต่อองค์พระบิดร |
ตัวเจ้าเป็นหน่อพระจักรภุช | ฤทธิรุทรชำนาญในการศร |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พระสี่กร | ในพระนครอยุธยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระโอรสา |
สุดที่จะขัดพระวาจา | โศการํ่าไรพันทวี |
โอ้ว่าพระมารดาเจ้า | จะโศกเศร้าถึงลูกทั้งสองศรี |
จะทนทุกข์ทุกทิวาราตรี | จะมีแต่ซูบผอมตรอมใจ |
ถึงลูกไปได้ผ่านเมืองฟ้า | จะมีความปรีดาก็หาไม่ |
จะกินแต่นํ้าตาเป็นนิจไป | ด้วยไกลเบื้องบาทพระมารดร |
โอ้ว่าเจ้าลบน้องแก้ว | กรรมของเราแล้วแต่ปางก่อน |
สุดรู้สุดคิดสุดอาวรณ์ | จะผันผ่อนก็ขัดสนนัก |
นิจจาเอ๋ยจะทำไฉนดี | ทุกข์เราครั้งนี้เพียงอกหัก |
รํ่าพลางทั้งสองเยาวลักษณ์ | ซบพักตร์ลงทรงโศกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
เห็นโอรสรํ่ารักพระมารดา | ผ่านฟ้าเศร้าสร้อยละห้อยใจ |
พระจึ่งโอบอุ้มขึ้นใส่ตัก | จูบพักตร์เช็ดชลเนตรให้ |
ปลอบพลางรับขวัญด้วยอาลัย | ดวงใจจงฟังพ่อพาที |
อันตัวบิตุเรศนี้เล่า | กับมารดาเจ้าทั้งสองศรี |
แสนรักดั่งดวงชีวี | เป็นที่ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน |
แสนยากลำบากเวทนา | อยู่ที่ในป่าพนาสัณฑ์ |
แต่เวรหลังหากติดตามทัน | เผอิญให้ฆ่าฟันอรไท |
พ่อผิดก็รับตามผิด | จะคิดเมตตาบ้างก็หาไม่ |
อันความทุกข์แสนทุกข์ทับใจ | เห็นเจ้าจะได้ชูชีวา |
พ่อจะพาลูกรักไปธานี | เฝ้าสามอัยกีเสน่หา |
แม้นคิดถึงชนนีจึ่งกลับมา | เจ้าอย่าโศกาอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชกุมารชาญสมร |
ได้ฟังสมเด็จพระบิดร | มีราชสุนทรวาที |
ดั่งอำมฤตฟ้ามารดลง | เย็นองค์เย็นเกล้าทั้งสองศรี |
ยอกรถวายอัญชุลี | มิรู้ที่สนองพระโองการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังสมเด็จพระอวตาร | ผ่านฟ้าปลอบองค์พระลูกยา |
จึ่งมีพระราชเสาวนีย์ | สองศรีแม่สุดเสน่หา |
พ่อจะไปด้วยองค์พระบิดา | แก้วตาอย่าได้ประมาทใจ |
หมั่นเฝ้าเช้าเย็นให้เป็นนิจ | ราชกิจตริตรองเอาใจใส่ |
สามพระอัยกีคือฉัตรชัย | เป็นเฉลิมอยู่ในธานี |
เจ้าจงอุตส่าห์ปรนนิบัติ | ประดิพัทธ์ต่อเบื้องบทศรี |
สิ่งใดอย่าให้ราคี | พึงเพียงภักดีทุกเวลา |
ฝากตัวแก่อาเจ้าทั้งสาม | ให้พระองค์มีความเสน่หา |
อันหมู่มนตรีเสนา | โยธาทหารนอกใน |
อย่าหยาบช้าการุญจงรอบคอบ | ใครชอบช่วยทูลบำเหน็จให้ |
สงครามอย่ากลัวบรรลัย | จงไว้เกียรติยศในธาตรี |
ทำตามสุริย์วงศ์พระทรงศร | ให้ไพร่ฟ้าประชากรเกษมศรี |
พ่อจงจำคำชนนี | จะมีแต่ประเสริฐเพริศพราย |
จะได้เป็นฉัตรแก้วเย็นภพ | เลิศลบกษัตริย์ทั้งหลาย |
ให้ศัตรูหมู่เข็ญวอดวาย | สายสวาทจงไปสถาวร ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารชาญสมร |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดร | ก้มเกล้ารับพรแล้วถอนใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
นั่งชักประคำพึมพำไป | อยู่ในอรัญกุฎี |
ครั้นเห็นเพลาสายัณห์ | สุริย์ฉันบ่ายคล้อยรัศมี |
จับได้ไม้เท้าพัชนี | ออกมายังสี่กษัตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
กราบลงแทบเบื้องบาทา | พระมหาดาบสยศไกร |
แล้วว่าซึ่งข้ามาพบพาน | เยาวมาลย์ผู้ยอดพิสมัย |
เพราะพระอัยกาเลี้ยงไว้ | คุณนั้นใหญ่หลวงพันทวี |
หลานได้ทำผิดมาว่าวอน | ก็ตัดรอนข้าบาทบทศรี |
ให้แต่โอรสทั้งสองนี้ | ไปยังบุรีกับนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎกุมารเชษฐา |
ทั้งองค์พระลบอนุชา | เห็นพระอัยกาก็อาลัย |
จึ่งกราบลงแทบบาทบงสุ์ | ต่างทรงกันแสงสะอื้นไห้ |
แล้วว่านัดดาจะลาไป | ยังในอยุธยาพระบุรี |
ขอฝากสมเด็จพระแม่เจ้า | อันบังเกิดเกล้าเกศี |
พระองค์จงโปรดปรานี | อย่าให้มีเหตุเภทพาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังสองราชกุมาร | สงสารปลอบไปด้วยวาจา |
อันพระชนนีของเจ้า | เป็นธุระตาเฒ่าจะรักษา |
มิให้มีภัยบีฑา | หลานอย่าอาวรณ์ร้อนใจ |
ว่าแล้วอำนวยอวยพร | จงเรืองฤทธิรอนแผ่นดินไหว |
บรรดาศัตรูหมู่ภัย | ให้อยู่ในหัตถาทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งพระพี่น้องทั้งสองศรี |
น้อมเกล้ารับพรสวัสดี | ชุลีกรกราบบาทพระอาจารย์ |
แล้วบังคมสมเด็จพระมารดร | ให้อาวรณ์วิโยคสงสาร |
พระองค์ค่อยอยู่สำราญ | ตัวข้าบทมาลย์จะขอลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
กราบลงแทบเบื้องบาทา | องค์พระมหามุนี |
แล้วมีมธุรสอันสุนทร | ดูก่อนสีดามารศรี |
น้องรักค่อยอยู่จงดี | ที่ในศาลาพระอาจารย์ |
อันตัวพี่นี้จะลาเจ้า | คืนเข้าอยุธยาราชฐาน |
กับสองโอรสผู้ชัยชาญ | เยาวมาลย์อย่าทรงโศกา |
สั่งพลางพิศพักตร์อัคเรศ | พระทรงเดชเศร้าโทมนัสสา |
ชลเนตรคลั่งคลอนัยนา | อุราอัดอั้นพันทวี |
กรขวานั้นจูงพระมงกุฎ | เอกองค์ราชบุตรเรืองศรี |
กรซ้ายจูงพระลบจรลี | องค์พระมุนีก็ตามไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสุวรรณพลับพลา | จึ่งนิมนต์พระมหาอาจารยํใหญ่ |
ขึ้นนั่งเหนืออาสน์อำไพ | ภูวไนยนบนิ้วมัสการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งว่าดูก่อนพระอวตาร | รูปนี้สงสารพระนัดดา |
เคยอยู่ด้วยตาทั้งสององค์ | เที่ยวเล่นในดงแดนป่า |
แต่น้อยจนค่อยจำเริญมา | ราชกิจอิศราไม่แจ้งใจ |
แม้นมาตรผิดพลั้งจงสั่งสอน | ด้วยอ่อนปัญญาอัชฌาสัย |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พระองค์ไป | เป็นหลักชัยปิ่นโลกธาตรี |
แล้วฝากสามน้องพระทรงจักร | จงเอ็นดูหลานรักทั้งสองศรี |
เหมือนบุตรสุดสวาทในอินทรีย์ | ปรานีอย่าได้ฉันทา |
ตัวเจ้าก็เป็นกำพร้าแม่ | เห็นแต่บิตุเรศนาถา |
กับสามพระองค์ผู้เป็นอา | เมตตาก็จะสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
กับสามอนุชาฤทธิรอน | ได้ฟังสุนทรพระนักพรต |
ต่างองค์ถวายอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
แล้วกล่าววาทีมธุรส | สนองพจนารถพระสิทธา |
พระองค์อย่าได้ทุกข์ร้อน | จงถาวรจำเริญสุขา |
อันสองพระราชกุมารา | ข้ารักดั่งดวงตาดวงใจ |
มาตรแม้นเดือนดาวในอากาศ | ปรารถนาก็จะเอามาให้ |
ถึงวิมานเทวาสุราลัย | ชอบใจแล้วมิให้อนาทร |
แต่พระองค์จงได้กรุณา | ขอฝากนางสีดาดวงสมร |
ให้อยู่เป็นสุขถาวร | ช่วยผันผ่อนโน้มน้าวเทวี |
ถ้าจะสิ้นแค้นสิ้นโกรธ | ก็เพราะโพธิสมภารพระฤๅษี |
ตัวข้าพี่น้องทั้งนี้ | จะได้มีความสุขสืบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งตอบไปทันใด | อันองค์อรไทนางสีดา |
ตัวเจ้าก็เป็นมารดร | เทวัญอัปสรถ้วนหน้า |
ดั่งวิเชียรตกพื้นพระสุธา | อย่าสงกาที่จะมีราคี |
ตาจะช่วยว่ากล่าวนงลักษณ์ | พระทรงจักรอย่าหม่นหมองศรี |
จะเลี้ยงรักษานางเทวี | มิให้มีความอนาทร |
พระองค์จงไปจำเริญสวัสดิ์ | ทั้งหกกษัตริย์สโมสร |
ศัตรูอย่าต่อฤทธิรอน | จงขจรพระเดชทั้งแดนไตร |
ครั้นอวยพรแล้วพระอาจารย์ | เอ็นดูหลานมิใคร่จะมาได้ |
จำเป็นจำลาภูวไนย | กลับไปยังที่กุฎี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระลักษมณ์เรืองศรี |
ทั้งพระสัตรุดผู้ฤทธี | ยินดีดั่งได้สมบัติฟ้า |
ต่างองค์ต่างอุ้มหลานรัก | จูบพักตร์ด้วยใจเสน่หา |
รับขวัญเชยชมภิรมยา | ต่างมีพจนารำพันไป |
อนิจจาอาไม่รู้จักเจ้า | ขวัญข้าวผู้ยอดพิสมัย |
หลงรบสู้กันปิ้มบรรลัย | หากบุญจึ่งไม่วายปราณ |
ทั้งเทเวศก็ช่วยป้องกัน | หวังให้อัศจรรย์ทุกทิศานต์ |
มิเสียทีเป็นหน่อพระอวตาร | ศรศิลป์เชี่ยวชาญชำนาญนัก |
สมเป็นปิ่นกษัตริย์ในธาตรี | สมศรีสุริย์วงศ์ทรงจักร |
สมเกียรติอิศรารังรักษ์ | สมเป็นหลักโลกสืบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารผู้มีอัชฌาสัย |
กราบบาททั้งสามภูวไนย | แล้วทูลด้วยใจภักดี |
ซึ่งทรงเมตตาการุญ | พระคุณล้นเกล้าเกศี |
ตัวข้าเป็นเด็กได้ราวี | โทษนี้หนักพ้นคณนา |
พระองค์ผู้ทรงศักดาเดช | จงโปรดเกศอภัยโทษา |
ข้าผู้ฉลองรองบาทา | อย่าให้เป็นเวราแก่หลานรัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามกษัตริย์สุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังมีความยินดีนัก | แสนรักเพิ่มพ้นพันทวี |
จึ่งมีมธุรสบัญชา | เจ้าดวงนัยนาทั้งสองศรี |
จะเร่าร้อนฤทัยไปไยมี | อานี้ไม่ถือโทษภัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
สุมันตันเสนานอกใน | มีใจชื่นชมภิรมยา |
ต่างคนประณตบทบงสุ์ | หน่อพระหริวงศ์นาถา |
เกลื่อนกลาดทั้งหน้าพลับพลา | สรรเสริญฤทธาบารมี |
แต่ขุนกระบี่วายุบุตร | กอดบาทพระมงกุฎเรืองศรี |
ทูลไปด้วยใจยินดี | ข้านี้มิได้แจ้งการ |
ว่าพระองค์เป็นหน่อพระจักรภุช | จึ่งเข้าสัประยุทธ์หักหาญ |
ทำโดยหยาบช้าสามานย์ | ขอประทานจงได้เมตตา |
อดซึ่งโทษาแห่งข้าบาท | อย่ามีอาฆาตไปภายหน้า |
จะได้รองใต้เบื้องบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังลูกพระพายพาที | มีความโสมนัสแล้วตอบไป |
ธรรมดารณรงค์ในสงคราม | จะคุมโทษถือความกระไรได้ |
ต่างตนต่างหมายจะเอาชัย | เป็นวิสัยทั่วโลกโลกา |
ใครมีเดชาวราวุธ | สัประยุทธ์ถ้อยทีสำแดงกล้า |
ตัวท่านกับเราก็ศักดา | หากว่าไม่รู้จักกัน |
อย่าคิดกินแหนงแคลงใจ | ในความรังเกียจเดียดฉันท์ |
จะเป็นเพื่อนรองบาทพระทรงธรรม์ | ไปกว่าชีวันจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
เห็นสามอนุชาชัยชาญ | กับพญาหนุมานผู้ศักดา |
พิศวาสสองราชโอรส | พระทรงยศแสนโสมนัสสา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเสนาสุมันตัน |
ควรเราจะเลิกกองทัพ | กลับเข้านิเวศน์เขตขัณฑ์ |
จงเตรียมม้ารถคชกรรม์ | โยธาทั้งนั้นให้พร้อมไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดกันตามหมวดตามกอง | ตั้งเป็นทิวท่องทั้งซ้ายขวา |
โดยกระบวนพยุหยาตรา | เสร็จตามบัญชาพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ชวนสามอนุชาร่วมชีวี | กับสองศรีพระราชโอรส |
สระสรงทรงเครื่องอลงการ์ | รจนาล้วนแล้วด้วยแก้วหมด |
งามดั่งเทวาในโสฬส | เสด็จมาขึ้นรถพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อันพระกุมารทั้งสององค์ | ทรงรถบิตุรงค์รังสรรค์ |
ให้เคลื่อนโยธาจรจรัล | ไปตามอารัญมรคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมดง
๏ เดินพลางทางชมโอรส | พระทรงยศเศร้าโทมนัสสา |
แสนคะนึงตรึงตรอมวิญญาณ์ | ถึงโฉมสีดายุพาพาล |
แล้วฝืนพักตร์ทอดทัศนาไป | ชมพรรณนกไม้ในไพรสาณฑ์ |
ชี้หัตถ์ตรัสมีโองการ | บอกสองกุมารให้แลดู |
พระมงกุฎว่าโอ้น้องรัก | สาลิกาฟักลูกอยู่ทั้งคู่ |
เหมือนพระมารดาโฉมตรู | อุ้มชูเลี้ยงเราแต่เยาว์มา |
พระบิตุเรศเห็นนกนางนวล | หวนถึงอัคเรศเสน่หา |
อนิจจาปานนี้นางสีดา | จะครวญถึงลูกยาด้วยอาลัย |
พระลบเห็นนกยูงทอง | พลัดแม่เร่ร้องโหยไห้ |
ชี้บอกพระเชษฐายาใจ | เหมือนเราไกลอกพระมารดร |
พระทรงจักรแลเห็นนกหว้า | ดั่งว่าวอนนางสีดาดวงสมร |
ทอดถอนฤทัยภูธร | อาวรณ์ถึงองค์เทวี |
พระมงกุฎฟังการเวกร้อง | แล้วว่าเจ้าลบน้องรักพี่ |
สำเนียงเหมือนเสียงพระชนนี | ตรัสเรียกเราที่ศาลา |
พระจักรแก้วเห็นนกรังนาน | เหมือนเริศร้างเยาวมาลย์เสน่หา |
ยิ่งสลดระทดวิญญาณ์ | ผ่านฟ้าเร่งพลเข้าเวียงชัย ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองน้อยใหญ่ |
แจ้งว่าพระตรีภูวไนย | ไปจับกุมารชาญฉกรรจ์ |
ไม่เป็นศัตรูหมู่ขบถ | คือพระโอรสรังสรรค์ |
บัดนี้พระองค์ทรงธรรม์ | รับพระลูกนั้นเข้ามา |
ต่างคนโสมนัสเปรมปรีดิ์ | ทั้งเข็ญใจผู้ดีถ้วนหน้า |
บอกกันอื้ออึงเป็นโกลา | วิ่งมาคอยดูพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ นั่งแน่นตามแนวแถวถนน | เกลื่อนกล่นซับซ้อนอกนิษฐ์ |
สิ่งของตกหายก็ไม่คิด | แต่ตั้งตาพินิจพิศไป |
เห็นเกณฑ์แห่ล่วงเข้าประตูเมือง | เป็นคู่เคียงเรียงเนื่องงามไสว |
ธงฉานคั่นริ้วธงชัย | อำไพเครื่องสูงจามร |
งามรถงามทศโยธี | งามพระจักรีทรงศร |
งามสองโอรสดั่งจันทร | งามพระพรตฤทธิรอนจำเริญตา |
งามทั้งพระลักษมณ์วรนุช | งามพระสัตรุดดั่งเลขา |
งามพร้อมสมวงศ์อิศรา | ใต้ฟ้าไม่มีใครเทียมทัน |
ต่างคนอวยชัยถวายพร | ชุลีกรแซ่ซ้องเกษมสันต์ |
ขอให้ผาสุกทุกนิรันดร์ | เป็นฉัตรกั้นโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครั้นถึงซึ่งราชธานี | พร้อมหมู่โยธีเสนา |
จึ่งให้ประทับกับเกยแก้ว | แล้วจูงกรสองโอรสา |
ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระมารดา | สามพระอนุชาก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นั่งลงแทบใกล้บาทบงสุ์ | ต่างองค์โอนเกศบังคมไหว้ |
พระชนนีทั้งสามอรไท | ที่ในปราสาทสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยายอดสงสาร |
นางไกยเกษีเยาวมาลย์ | ทั้งนงคราญสมุทรเทวี |
เห็นพระรามกับสามอนุชา | พาองค์กุมาราทั้งสองศรี |
ทรงโฉมเสาวภาคย์ทั้งอินทรีย์ | ทั่วตรีโลกาไม่เทียมทัน |
เพ่งพิศดูทรงส่งสถาน | เหมือนพระอวตารรังสรรค์ |
อันรูปทรงกุมารทั้งสองนั้น | ไม่ผิดเพี้ยนกันประหลาดนัก |
จึ่งตรัสถามองค์พระทรงศร | ดูก่อนพ่อผู้สิทธิศักดิ์ |
เจ้ากับอนุชายุพาพักตร์ | ไปตามปรปักษ์ใจพาล |
เสร็จศึกแล้วหรือจึ่งกลับมา | ยังมหานิเวศน์ราชฐาน |
อันซึ่งสองราชกุมาร | งามปานดั่งบุตรหัสนัยน์ |
น้อยน้อยทั้งคู่น่ารัก | ทรงลักษณ์ไม่มีที่เปรียบได้ |
ถิ่นฐานนามวงศ์พงศ์ใคร | ได้มาแต่ไหนดังนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | ชุลีกรสนองพระวาจา |
ลูกนี้ยกตามออกไป | ถึงในอารัญราวป่า |
ได้รบกับสองกุมารา | สาตราศรศิลป์ไม่กินกัน |
มีความสงสัยไถ่ถาม | ถึงวงศ์นามนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
จึ่งแจ้งว่าสีดาวิลาวัณย์ | เจ้าลักษมณ์ฟาดฟันไม่บรรลัย |
นางไปพึ่งพักปรนนิบัติ | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
ยังกาลวาตกุฎีไพร | จนได้คลอดองค์พระโอรส |
ไม่มีอันตรายโรคา | ด้วยบุญญาพระมหาดาบส |
ค่อยจำเริญศักดิ์สิริยศ | จนกำหนดชันษาได้สิบปี |
ผู้พี่นี้ชื่อว่ามงกุฎ | เป็นบุตรในครรภ์นางโฉมศรี |
เจ้าลบก็ลูกของเทวี | พระมุนีชุบเป็นอนุชา |
ตัวลูกกับนางได้พบกัน | แต่รำพันปลอบโยนก็หนักหนา |
เคียดแค้นตัดไปไม่เข้ามา | สุดที่จะว่าวอนให้อ่อนใจ |
จึ่งขอสองราชโอรสรัก | นงลักษณ์จำเป็นจำให้ |
ทูลพลางพลางคิดอาลัย | ภูวไนยซบพักตร์ลงโศกี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สามพระมารดาโฉมศรี |
ได้แจ้งแห่งคำพระจักรี | มีความแสนโสมนัสนัก |
จึ่งส้วมสอดกอดสองสุริย์วงศ์ | ต่างองค์ต่างอุ้มขึ้นใส่ตัก |
รับขวัญจุมพิตด้วยความรัก | นงลักษณ์จึ่งกล่าววาจา |
น้อยน้อยเท่านี้หรือมีฤทธิ์ | อำนาจศรสิทธิ์แกล้วกล้า |
แผลงสนั่นเลื่อนลั่นโลกา | สมวงศ์อิศราเรืองชัย |
เมื่อพ่อเจ้าให้ฆ่าชนนี | ทั้งสามอัยกีหารู้ไม่ |
ต่อรุ่งรางสางแสงอโณทัย | จึ่งให้ทราบแจ้งเหตุการณ์ |
ตกใจดั่งหนึ่งเศียรขาด | ดั่งพญามัจจุราชสังหาร |
ย่าคิดว่าสิ้นสุดปราณ | สงสารรํ่ารักทุกคืนวัน |
เดชะกุศลหนหลัง | ชีวังไม่ม้วยอาสัญ |
ซึ่งมารดาเจ้าอยู่อารัญ | ได้ทุกข์ยากนั้นประการใด ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารผู้มีอัชฌาสัย |
สะอื้นพลางพลางทูลสนองไป | อันความไร้ขององค์พระมารดา |
แสนเทวษแสนทุกข์แสนลำบาก | แสนยากแสนกันดารอยู่ในป่า |
จนพระกายซูบเศร้าโรยรา | แต่ผ้าจะรองนอนก็ไม่มี |
เมื่อองค์สมเด็จพระบิตุราช | จะรับข้าเบื้องบาททั้งสองศรี |
มาจากอรัญกุฎี | พระชนนีโศกาจาบัลย์ |
บัดนี้ก็อยู่แต่ผู้เดียว | เปล่าเปลี่ยวพระทัยโศกศัลย์ |
วังเวงวิเวกในไพรวัน | จะเห็นแต่นักธรรม์อัยกา |
อนิจจาเกิดมาไม่วายเทวษ | เมื่อแรกไร้บิตุเรศนาถา |
มาได้พึ่งบาทพระบิดา | แล้วกำพร้าพลัดพระชนนี |
ทูลพลางสะท้อนถอนใจ | ชลนัยน์นองเนตรทั้งสองศรี |
ซบพักตร์สะอื้นโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระอัยกียอดสงสาร |
ได้ฟังส้วมกอดพระกุมาร | นงคราญรำพันโศกา |
โอ้ว่าสีดาของแม่เอ๋ย | กระไรเลยได้ยากเป็นหนักหนา |
เคยอยู่เสวยสุขทุกเวลา | ในไอศวรรยาธานี |
ประกอบด้วยสมบัติพัสถาน | ยศศักดิ์บริวารสาวศรี |
บำเรอทุกทิวาราตรี | โบกปัดพัดวีเรียงรัน |
จะไปไหนข้าไทก็พร้อมหน้า | ย่อมทรงสีวิกาเฉิดฉัน |
ครั้งนี้จากไปอยู่ไพรวัน | สารพันทุกข์ยากลำบากใจ |
เสียแรงเจ้าเกิดในโกเมศ | มาได้ทุกข์เทวษหาควรไม่ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | รํ่าพลางสะอื้นไห้ไปมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์นาถา |
เห็นสามสมเด็จพระมารดา | กับโอรสโศการักกัน |
ให้สลดระทดพระทัยนัก | คิดถึงนงลักษณ์ผู้เมียขวัญ |
ร้อนรุมกลุ้มใจดั่งไฟกัลป์ | พระทรงธรรม์เพียงสิ้นสมประดี |
แล้วจึ่งถวายบังคมลา | จูงกรลูกยาทั้งสองศรี |
ยุรยาตรนาดกรายจรลี | ไปปราสาทมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
จึ่งสั่งสุมันตันผู้ปรีชาญ | ทั้งท้าวเจ้าพนักงานข้างใน |
จงจัดนางกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ที่ซื่อตรงมีอัธยาศัย |
ร้อยยี่สิบแปดจำเริญวัย | ให้เป็นพี่เลี้ยงพระลูกยา |
สตรีที่จะได้ใช้สอย | สิบร้อยล้วนมียศถา |
ทั้งกุมารน้อยน้อยโสภา | บุตรมหาเสนามนตรี |
จงได้ถ้วนหมื่นหกพัน | อันมีรูปทรงส่งศรี |
แต่ล้วนชันษาสิบปี | ให้ลูกกูพี่น้องผู้ชัยชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้ปรีชาหาญ |
กับท้าวนางต่างรับพระโองการ | ประณตบทมาลย์แล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ข้างในเลือกสรรนางกษัตริย์ | แล้วจัดหญิงที่มียศถา |
ข้างหน้าเก็บบุตรเสนา | ล้วนชันษาได้สิบปี |
ครบตามพระราชบรรหาร | องค์พระอวตารเรืองศรี |
ต่างพากุมารแลนารี | ไปถวายยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา