- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริยวงศ์รังสรรค์ |
บรรทมเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | ในปราสาทสุวรรณอลงกรณ์ |
เป็นสุขสำราญวิญญาณ์ | กับองค์สีดาดวงสมร |
จนแสงทองรองเรืองอัมพร | ศศิธรเลี้ยวเหลี่ยมสีขริน |
ไก่แก้วตื่นตาขานขับ | เสนาะสนั่นสำเนียงปักษิน |
หมู่แมลงผึ้งภู่วู่บิน | พระภูมินทร์ตื่นจากไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | ออกมายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาเข้าเฝ้าพร้อมกัน | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษไป |
เหลือบเห็นท้าวทศคิริวงศ์ | ผู้ทรงปัญญาอัชฌาสัย |
กับพญาอนุชิตฤทธิไกร | ภูวไนยชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ปราศรัยพญายักษี |
ซึ่งศึกมาติดธานี | เรานี้มีความวิตกนัก |
จึ่งใช้ให้ศรีหนุมาน | ไปช่วยรอนราญหาญหัก |
อันไอ้มหาบาลขุนยักษ์ | มีฤทธิสิทธิศักดิ์ประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังราชบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพจมาน |
อันเทพาสูรอสุรา | มีฤทธิ์ศักดากล้าหาญ |
ทูลแจ้งถี่ถ้วนทุกประการ | จนรอนราญมีชัยอสุรี |
หากข้าได้พึ่งบาทบงสุ์ | พระภุชพงศ์ทรงภพเรืองศรี |
พระคุณล้ำฟ้าธาตรี | พ้นที่จะนับคณนา |
อันกรุงจักรวาลเวียงชัย | ให้เปาวนาสูรไปรักษา |
ถวายสุวรรณมาลา | ในใต้บาทาพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
แจ้งว่าอสุราปัจจามิตร | สุดสิ้นชีวิตก็ยินดี |
จึ่งสรรเสริญศักดาหนุมาน | กับปรีชาญพิเภกยักษี |
ทั้งสองไว้เกียรติในธาตรี | ควรที่เป็นปิ่นประชากร |
ตรัสแล้วประทานเครื่องทรง | ธำมรงค์เนาวรัตน์ประภัสสร |
สังวาลสามสายอรชร | เป็นบำเหน็จกรเสมอกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกหนุมานแข็งขัน |
น้อมเกล้าประนมบังคมคัล | รับราชรางวัลด้วยยินดี |
ต่างตนถวายอภิวาทน์ | ลาบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ออกจากพระโรงรูจี | แยกไปธานีภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมณโฑเสน่หา |
เมื่อทศกัณฐ์ยังมีชีวา | กัลยาทรงครรภ์พระโอรส |
แรกตั้งปฐมวิญญาณ | ประมาณเดือนหนึ่งเป็นกำหนด |
ครั้นผัวนางสิ้นชีพทิวงคต | ท้าวทศคิริวงศ์อสุรี |
ขึ้นผ่านพิชัยลงกา | สำคัญว่ามีครรภ์ด้วยยักษี |
ครั้นถ้วนกำหนดเดือนปี | เทวีประสูติพระลูกรัก |
เป็นชายโสภาวิลาวัณย์ | ดวงพักตร์ผิวพรรณแหลมหลัก |
เหมือนองค์อินทรชิตขุนยักษ์ | สมศักดิ์สุริย์วงศ์กษัตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ครั้นเห็นพระราชกุมารา | ก็ปรีดาชื่นชมสมคิด |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารในดุสิต |
ความรักปานดวงชีวิต | คิดว่าเกิดด้วยพระองค์ |
ไม่มีรังเกียจกังขา | เสน่หาแสนสนิทพิศวง |
ให้ชื่อไพนาสุริย์วงศ์ | เอกองค์โอรสร่วมใจ |
จึ่งจัดนางนมนงคราญ | เว้นโทษหกประการประทานให้ |
เจ้าขรัวยายพี่เลี้ยงข้างใน | ทรงโฉมวิไลจำเริญตา |
ข้างหน้านั้นวรณีสูร | อันเป็นประยูรวงศา |
ให้เป็นพี่เลี้ยงพระลูกยา | ต่างใจต่างตาอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางเบญกายโฉมศรี |
แต่ได้ร่วมรสฤดี | ด้วยกระบี่หนุมานก็ทรงครรภ์ |
ครั้นได้ศุภฤกษ์ยามชัย | เวลาใกล้รุ่งไก่ขัน |
ก็คลอดลูกรักร่วมชีวัน | เป็นชายผิวพรรณโสภา |
เลื่อมเหลืองเรืองเรื่ออรชร | กายกรเป็นเพศยักษา |
พักตร์เป็นวานรเหมือนบิดา | กัลยาชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
เห็นโอรสราชบุตรี | ท่วงทีลักขณาวิลาวัณย์ |
มีความแสนโสมนัสนัก | ยกขึ้นใส่ตักแล้วรับขวัญ |
ให้ชื่ออสุรผัดกุมภัณฑ์ | แล้วเลือกสรรนางนมพยาบาล |
ทั้งพี่เลี้ยงข้างหน้าข้างใน | จัดให้เสร็จสิ้นตามที่ฐาน |
ไม่มีอันตรายภัยพาล | เป็นสุขสำราญทุกเวลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ทั้งอสุรผัดกุมารา | ค่อยวัฒนาเจริญวัย |
ทั้งสองเคยไปเที่ยวเล่น | เช้าเย็นไม่คลาดกันได้ |
ตีคลีมี่ฉาววุ่นไป | ที่ในสนามหน้าพระลาน |
แล้วศึกษาวิชาธนูศร | หัดขี่อัสดรคชสาร |
ขึ้นเฝ้าเบื้องบาทพญามาร | เป็นนิจกาลทุกเวลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
เห็นโอรสราชนัดดา | พญามารแสนโสมนัสนัก |
จึ่งอุ้มไพนาสุริย์วงศ์ | ทั้งองค์อสุรผัดขึ้นใส่ตัก |
ประคองลูบจูบเกศจูบพักตร์ | รักคือดวงตาดวงใจ |
แล้วจัดเอาบุตรเสนี | อายุศม์สิบปีไม่มีใหญ่ |
พันหนึ่งพึงพิศอำไพ | ให้องค์ละห้าร้อยเสมอกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ต่างองค์น้อมเกล้าอภิวันท์ | ก็พากันไปปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาอนุชิตเรืองศรี |
ครองครองไพร่ฟ้าประชาชี | ในนพบุรีอันโอฬาร |
ตั้งอยู่ในธรรมทศพิธ | โดยกิจกษัตริย์มหาศาล |
ถึงเวลาออกว่าราชการ | เป็นสุขสำราญทั้งพารา |
อันหมู่ไพร่ฟ้าประชากร | สโมสรรื่นเริงถ้วนหน้า |
ราตรีเข้าที่ไสยา | ในมหาปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริยาเรื่อรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
สระสรงทรงเครื่องรูจี | ขุนกระบี่ออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
เสนาน้อมเกล้าอภิวันท์ | แน่นนันต์เกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเตรียมพลเตรียมราชรถชัย | กูจะไปเล่นสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้ปรีชาหาญ |
น้อมเกล้ารับรสพจมาน | บังคมลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์พลเป็นพวกพยุหบาตร | โดยกระบวนประพาสราวป่า |
กองหน้าถือปืนคาบศีลา | ใส่เสื้อสีฟ้าขลิบทอง |
ถัดมาสอดใส่เสื้อดำ | กุมหอกปลอบคร่ำเป็นทิวท่อง |
ถัดมาใส่เสื้อสีตอง | ถือทวนพู่กรองจามรี |
ถัดมาใส่เสื้อเครือมาศ | ล้วนคาดเจียระบาดเหน็บกระบี่ |
เทียมทั้งรถทรงรูจี | รถประเทียบนารีกำนัลใน |
ตั้งเป็นหมวดกองถ้องแถว | ตามแนววิถีถนนใหญ่ |
หน้าหลังคับคั่งกันไป | เตรียมไว้คอยพญาวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดพลากร | บทจรมาสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ชำระกายด้วยสายกระแสสินธุ์ | สุคนธากลั้วกลิ่นหอมหวาน |
สนับเพลาเครือหงส์อลงการ | ภูษาลอยก้านกระหนกพัน |
ชายแครงชายไหวปลายสะบัด | ทับทรวงเนาวรัตน์ดวงกุดั่น |
ตาบทิศมรกตสังวาลวัลย์ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ทรงมหาธำมรงค์เพชรแพร้ว | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
ห้อยพวงมาลัยกรรเจียกจร | กรกุมพระขรรค์อันศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ลุกจากที่นั่งบัลลังก์เก็จ | อนงค์นาฏโดยเสด็จพร้อมหน้า |
กรายหัตถ์ย่างเยื้องดำเนินมา | ขึ้นมหาพิชัยรถทรง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถประพาส | แอกงอนหุ้มมาศงามระหง |
งามดุมงามกำงามกง | งามทรงเสริดทั้งบัลลังก์ลอย |
งามรายภาพรอบบุษบก | งามกระจังช่องกระจกกระหนกห้อย |
งามเสากาบประกับประดับพลอย | งามยอดสุกย้อยสุพรรณพราย |
งามสินธพสี่ดั่งสีสังข์ | งามกำลังเพียงม้าพระสุริย์ฉาย |
งามสารถีถือหอกกราย | งามเครื่องสูงรายเนาวรัตน์ |
งามปี่ประโคมโครมครึก | งามพลแห่ฮึกอึงอัด |
งามประเทียบเรียบแถวแนวพนัส | กระบวนหน้าเร่งรัดกันรีบมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นถึงซึ่งสวนอุทยาน | ให้หยุดพลหาญซ้ายขวา |
ก็พาฝูงอนงค์กัลยา | ลงจากรัถารูจี |
พร้อมหมู่นางท้าวเถ้าแก่ | ชะแม่กำนัลสาวศรี |
กรายหัตถ์ย่างเยื้องจรลี | ฝูงอนงค์นารีก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เที่ยวชายท่องชมบุปผชาติ | เบิกกลีบบานกลาดอยู่ไสว |
บ้างทรงผลสุกพิศอำไพ | ใบสดบังแสงพระสุริยา |
แก้วกุหลาบกาหลงประยงค์แย้ม | พิกุลแกมพิกันเกดกฤษณา |
มหาหงส์มะหาดเหียงกระดังงา | จันทน์ปีปจำปาสารภี |
รักลาร้อยลิ้นปริงปราง | ซางโศกไทรสนสาลี่ |
ซ่อนกลิ่นส่งกลั้วจำปี | ลิ้นจี่ลำเจียกมะลิวัลย์ |
ช่อตระแบกชาตบุษย์พุดลา | การะเกดกรรณิการ์นมสวรรค์ |
มะลุลีมะลิลาแสลงพัน | อัญชันแอบช่อชบาบาน |
ชมพลางชื่นเพลินฤทัยนัก | พระหัตถ์เด็ดหักได้ผกาก้าน |
ยื่นให้ยอดยิ่งเยาวมาลย์ | แสนสำราญสุขสำเริงด้วยนางใน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ให้บันดาลดลจิตคิดคะนอง | โดยเพศลำพองไม่นิ่งได้ |
ถอดมงกุฎแก้วแววไว | ส่งให้แก่ชาวพระมาลา |
แล้วโลดโผนโจนด้วยกำลัง | ปีนป่ายขึ้นยังพฤกษา |
เลียบไต่เก็บผลอัมพา | ทิ้งมาให้ฝูงนารี |
พอยางมะม่วงนั้นตกตรง | ลงเหนือเศียรเกล้ากระบี่ศรี |
เอาหัตถ์เข้าปัดเป็นหลายที | มิได้ถนัดดั่งใจ |
ยกเท้าขึ้นเกาทั้งสองข้าง | ยางนั้นจะออกก็หาไม่ |
มือเช็ดตีนแกะวุ่นไป | ตามวิสัยวานรไม่สงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางกำนัลซ้ายขวา |
แลไปบนต้นอัมพา | เห็นพญาอนุชิตธิบดี |
เอาเท้านั้นขึ้นเกาเกศ | ผิดเพศกษัตริย์เรืองศรี |
บ้างสรวลบ้างกระซิบพาที | บ้างบุ้ยเบี้ยวปากชี้กันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
เหลือบเห็นฝูงอนงค์นางใน | อยู่ใต้ต้นไม้สะกิดกัน |
ต่างแลมาดูแล้วแย้มยิ้ม | พริ้มพักตร์สำรวลสรวลสันต์ |
อัปยศอดสูหมู่กำนัล | จะอยู่ดูหน้ามันไม่เต็มตา |
ตัวกูจะไปสร้างพรต | บวชเป็นดาบสอยู่กลางป่า |
จำเริญเมตตาภาวนา | ดีกว่าที่ครองเวียงชัย |
คิดแล้วผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | มืดมิดหาเห็นตัวไม่ |
เหาะทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลสาวศรี |
ทั้งหมู่พวกพลโยธี | ไม่เห็นขุนกระบี่ผู้ศักดา |
ต่างตนตระหนกตกใจ | ดั่งใครมาตัดเอาเกศา |
หน้าคร่ำไปด้วยนํ้าตา | แยกกันเที่ยวหาทุกตำบล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ค้นสิ้นทั้งสวนอุทยาน | อลหม่านอื้ออึงกุลาหล |
ไม่พบพานรฤทธิรณ | ทุกคนแสนโศกโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
ครั้นถึงอยุธยาธานี | ขุนกระบี่ลงจากอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตรงขึ้นไปเฝ้าเบื้องบาท | พระนารายณ์ธิราชทรงศร |
น้อมเศียรดุษฎีชุลีกร | วานรทูลแจ้งกิจจา |
ซึ่งโปรดให้ไปผ่านนคเรศ | ได้เย็นเกศประกอบด้วยยศถา |
ปราสาทราชฐานโอฬาร์ | เปรียบปานเมืองฟ้าสุราลัย |
ดั่งโภไคยไอศูรย์เศวตฉัตร | สารพัดศฤงคารประทานให้ |
พระคุณลํ้าลบภพไตร | ใหญ่ยิ่งชนกชนนี |
อันธุระราชกิจนั้นมากนัก | ให้หนักอกร้อนใจดั่งไฟจี่ |
ขอถวายกรุงนพบุรี | ไว้ใต้ธุลีพระทรงยศ |
ตัวข้าจะกราบบังคมลา | ไปทรงเพศจรรยาเป็นดาบส |
อยู่ในอรัญบรรพต | สร้างพรตบำเพ็ญเมตตาฌาน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ผ่านฟ้านิ่งขึงตะลึงไป |
บังเกิดสังเวชในวิญญาณ์ | จะออกปากเจรจามิใคร่ได้ |
อาวรณ์สะท้อนถอนใจ | ด้วยความรักใคร่เป็นพ้นคิด |
สุดกำลังที่จะทานทัด | จึ่งตรัสบัญชาประกาศิต |
อนิจจาพญาอนุชิต | ผู้เพื่อนชีวิตกันมา |
อันตัวของเรานี้รักท่าน | ปานดั่งดวงเนตรเบื้องขวา |
ตั้งใจจะให้เป็นอิศรา | กว่ากษัตราทุกกรุงไกร |
ซึ่งจะไปสร้างพรตบำเพ็ญผล | ก่อการกุศลไม่ขัดได้ |
ตรัสแล้วอำนวยอวยชัย | จงไปเป็นสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตชาญสมร |
น้อมเกล้าประณตประนมกร | รับพรด้วยความยินดี |
กราบลงแทบเบื้องบาทบงสุ์ | พระนารายณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
กับองค์พระลักษมณ์ภูมี | ขุนกระบี่ก็คลานออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ถึงหน้าพระลานก็แผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
เหาะทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | ด้วยกำลังศักดาว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงมรฑปสิงขร | วานรผู้มีอัชฌาสัย |
ลงจากพ่างพื้นนภาลัย | เข้าไปยังอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้ามัสการ | แทบเบื้องบทมาลย์พระฤๅษี |
แล้วกล่าวมธุรสวาที | ข้านี้ตั้งใจจำนงมา |
หวังจะสร้างพรตบำเพ็ญผล | ให้เป็นกุศลไปภายหน้า |
อยู่ในสำนักพระสิทธา | จำเริญภาวนาเมตตาฌาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทิศไพผู้ปรีชาหาญ |
ฟังลูกพระพายแจ้งการ | จึ่งมีพจมานตอบไป |
อันวิสัยวานรจะทรงพรต | บวชเป็นดาบสนั้นไม่ได้ |
ตัวท่านผู้ปรีชาไว | แม้นว่ามีใจศรัทธา |
จงนิมิตอินทรีย์เป็นมนุษย์ | บริสุทธิ์สมควรด้วยสิกขา |
กูจะบอกให้ทรงจรรยา | บูชากองกูณฑ์พิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาอนุชิตเรืองศรี |
ฟังพระอาจารย์ก็ยินดี | กระบี่อ่านเวทนิมิตกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ก็กลับกลายไปเป็นเพศมนุษย์ | บริสุทธิ์เสาวภาคย์เฉิดฉาย |
รูปทรงคล้ายองค์พระพาย | แล้วถวายมัสการพระนักพรต |
จึ่งเจิมจุณมุ่นชฎาห่อเกศ | เอาเพศบรรพชาเป็นดาบส |
นุ่งห่มคากรองครองประคต | อดใจสำรวมอินทรีย์ |
เสร็จแล้วจึ่งถวายอภิวาทน์ | ลาบาทพระมหาฤๅษี |
ขึ้นอยู่ยังยอดคีรี | กองกูณฑ์อัคคีบูชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
จำเริญรุ่นสิบสามปีมา | ผิวพักตร์ลักขณาอำไพ |
มีแต่สิ่งสุขสำราญ | จะแผ้วพานทุกข์ร้อนก็หาไม่ |
คะนองเล่นคะนองกายคะนองใจ | เพลินไปในยศบริวาร |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | ยังห้องปราสาทมุกดาหาร |
คิดจะใคร่ไปเล่นอุทยาน | ให้แสนสุขสำราญวิญญาณ์ |
ครั้นดาวเดือนเลื่อนลับอัมพร | ทินกรเยี่ยมยอดภูผา |
สระสรงทรงเครื่องอลงการ์ | เสด็จมายังพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | พระบิตุรงค์ธิราชเรืองศรี |
ทูลว่าลูกรักร่วมชีวี | ขอลาธุลีบทมาลย์ |
ไปเที่ยวชมพรรณมิ่งไม้ | หวังให้เป็นสุขเกษมศานต์ |
ในที่สวนศรีอุทยาน | สุริย์ฉานบ่ายคล้อยจะกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ได้ฟังโอรสทูลลา | เสน่หาพูนเพิ่มพันทวี |
รับขวัญแล้วกล่าวสุนทร | ดวงสมรพ่อผู้จำเริญศรี |
เจ้าจะไปเล่นสวนมาลี | ทั้งนี้ก็ตามแต่นํ้าใจ |
ตรัสแล้วสั่งวรณีสูร | วงศ์ตระกูลพี่เลี้ยงผู้ใหญ่ |
จงจัดรี้พลสกลไกร | พาน้องไปเล่นให้สำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ขุนมารก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์เป็นกระบวนเพชรพวง | โดยตำแหน่งลูกหลวงประพาสป่า |
หมู่หนึ่งถือปืนคาบศีลา | ใส่เสื้อสีฟ้าขลิบทอง |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อสีจันทร์ | กรกุมเกาทัณฑ์เป็นทิวท่อง |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อเขียวกรอง | ถือง้าวบั้งทองกรายรำ |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อเข้มขาบ | ขัดดาบกุมหอกปลอกคร่ำ |
ผูกทั้งม้าต้นผ่านดำ | ประจำที่เกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ก้มเกล้าถวายบังคมลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายรัตน์ | เย็นหยัดโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศสุมามาลย์ |
สนับเพลาเชิงรูปเหรา | ภูษาพื้นตองทองผสาน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | ชายไหวชัชวาลกระหนกพัน |
ฉลององค์พื้นตาดพระกรน้อย | สายสร้อยทับทรวงดวงกุดั่น |
ตาบทิศทับทิมสังวาลวัลย์ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ธำมรงค์มรกตเรือนเก็จ | เกี้ยวเพชรจำรัสประภัสสร |
ดอกไม้ทิศกุณฑลกรรเจียกจร | กรายกรมาขึ้นอาชาชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ม้าเอยม้าสินธพ | เลิศภพลำพองคะนองหาญ |
ผมขาวผิวขำสำราญ | ผ่านดำผ่องดั่งมณีนิล |
หางยาวหูยกอกอัด | เท้ารัดทัดรูปไกรสรสิ้น |
ทีน้อยทำนองทรงดังหงส์บิน | เหยียบดินย่างดูกรีดกราย |
ผูกครบพื้นเครื่องกุดั่น | วิเชียรชั้นดูช่วงจำรัสฉาย |
จงกลจีบแก้วแพร้วพราย | สายถือแส้ถักสุวรรณงาม |
ธงฉัตรถัดชั้นกรรชิง | เครื่องสูงครบสิ่งเรืองอร่าม |
กลองนำเกลื่อนแนวเป็นแถวงาม | พลตามไปยังอุทยาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | ล้วนแล้วด้วยดวงมุกดาหาร |
ลงจากมิ่งม้าอาชาชาญ | ฝูงกุมารทั้งนั้นก็ตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวชมรุกขชาติ | เกลื่อนกลาดพื้นพรรณบุปผา |
เพล็ดดวงพวงช่อดาษดา | ทรงผกากลีบแย้มแกมกัน |
พุดจีบจำปามหาหงส์ | กาหลงสุกรมนมสวรรค์ |
ลำดวนยมโดยมะลิวัลย์ | พิกันเกดแก้วขจายจร |
เที่ยวเด็ดดวงสร้อยสุมามาลย์ | ที่แบ่งบานเบิกกลีบเกสร |
บางทัดดมชมช่ออรชร | ฉวยชิงจากกรกันไปมา |
บ้างปีนป่ายร่ายเก็บผลาผล | ทุกต้นตามกิ่งสาขา |
ปริงปรางลางสาดอัมพา | สาลี่ร้อยลิ้นอินจัน |
กุ่มเกดน้อยหน่าหว้าพลอง | เทกองลงกลางสวนขวัญ |
นั่งล้อมกินเล่นด้วยกัน | เกษมสันต์เป็นสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นชายบ่ายสามนาฬิกา | สุริยาร้อนแรงแสงฉาน |
จึ่งชวนอสุรกุมาร | มาสถานพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายวรณีสูรยักษี |
พิศดูแท่นแก้วมณี | มนเทียรที่ตำหนักอันโอฬาร์ |
คิดคะนึงถึงท้าวทศพักตร์ | ขุนยักษ์เศร้าโทมนัสสา |
ชลเนตรคลั่งคลอนัยนา | ซบพักตร์โศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ อนิจจาไพนาสุริย์วงศ์ | ไม่รู้จักบิตุรงค์รังสรรค์ |
มาหลงรักใคร่ไอ้อาธรรม์ | สำคัญว่าเป็นบิดร |
มีแต่จะเล่นคะนองกาย | แสนสนุกสบายสโมสร |
เสียแรงเป็นหน่อท้าวยี่สิบกร | ฤทธิรอนเลิศลบภพไตร |
จำกูจะทำอุบายกล | ให้รู้เหตุผลจงได้ |
คิดพลางทางเช็ดชลนัยน์ | แล้วใส่ไคล้หัวร่อขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นพี่เลี้ยงผู้ร่วมชีวี | ทำทีประหลาดในวิญญาณ์ |
จึ่งมีพจนารถอันสุนทร | ถามว่าดูก่อนพระเชษฐา |
น้องเห็นซบพักตร์ลงโศกา | แล้วมาสำรวลด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังสะท้อนถอนใจ | ก้มพักตร์มิใคร่จะพาที |
ทำเป็นเหลียวขวาแลซ้าย | ด้วยเล่ห์กลอุบายยักษี |
แล้วว่าอันความทั้งนี้ | จนใจสุดที่จะเจรจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังพี่เลี้ยงผู้ปรีชา | อสุรานิ่งนึกตรึกไป |
อันถ้อยคำซึ่งว่ามาทั้งนี้ | ชะรอยมีความลับไม่บอกได้ |
จึ่งจูงกรพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ | เข้าในตำหนักอุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นที่ | แล้วมีมธุรสอ่อนหวาน |
พี่เจ้าผู้ปรีชาชาญ | จงแจ้งการแก่ข้าอนุชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวรณีสูรยักษา |
นบนิ้วสนองพระวาจา | ซึ่งข้าโศกาจาบัลย์ |
ด้วยคิดถึงท้าวยี่สิบกร | สิบพักตร์ฤทธิรอนรังสรรค์ |
ทรงพระนามชื่อว่าทศกัณฐ์ | มีมหันตยศประเสริฐนัก |
เป็นจรรโลงลงกานคเรศ | ทรงเดชปราบได้ทั้งไตรจักร |
บรรดาสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | มีฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหึมา |
อันซึ่งพิเภกนี้เป็นน้อง | ร่วมท้องพญายักษา |
สงครามมาติดลงกา | อสุราไปเข้าเป็นพวกภัย |
บอกอุบายกลศึกลึกลับ | ญาติวงศ์ตายยับไม่นับได้ |
จนทศกัณฐ์ก็บรรลัย | พระรามจึ่งให้ครองธานี |
ชื่อว่าท้าวทศคิริวงศ์ | มหาวิเชียรพงศ์พรหมเรืองศรี |
ฤทธิ์เดชสิ่งใดก็ไม่มี | รู้แต่คัมภีร์โหรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังเคลือบแคลงวิญญาณ์ | อสุราก็ซักถามไป |
ซึ่งร้องไห้ว่าคิดถึงทศกัณฐ์ | ที่สำรวลสรวลนั้นเป็นไฉน |
ตัวน้องนี้ยังไม่เข้าใจ | สงสัยเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวรณีสูรยักษี |
กอดพระกุมารเข้าทันที | โศกีพลางแจ้งกิจจา |
ข้อซึ่งหัวร่อจะบอกให้ | ดวงใจพี่ยอดเสน่หา |
แต่ความนี้ใหญ่หลวงมหึมา | แม้นว่ารู้ถึงพญามาร |
น่าที่ก็จะได้ความผิด | ถึงสิ้นชีวิตสังขาร |
ตัวเจ้าผู้ปรีชาชาญ | อย่าแจ้งการให้แพร่งพรายไป |
อันซึ่งพิเภกสุริย์วงศ์ | จะเป็นพระบิตุรงค์นั้นหาไม่ |
องค์ท้าวทศกัณฐ์ที่บรรลัย | ภูวไนยนั้นคือพระบิดา |
แม้นมิเชื่อพี่ที่เล่าความ | จงถามพระชนนีเสน่หา |
ก็จะรู้แจ้งกิจจา | สิ้นข้อกังขาราคี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ฟังแจ้งไม่แคลงวาที | อสุรีนิ่งขึงตะลึงไป |
ความเจ็บความอายความแค้น | แน่นอกทอดถอนใจใหญ่ |
สิ้นรักให้แหนงแคลงใจ | ในท้าวทศคิริวงศ์กุมภัณฑ์ |
ให้คิดพยาบาทมาดหมาย | ดั่งศรพิษติดกายตรึงมั่น |
กอดพระพี่เลี้ยงร่วมชีวัน | พากันแสนโศกโศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริย์ฉายบ่ายลง | อัสดงเลี้ยวเหลี่ยมคีรีศรี |
เสด็จจากแท่นรัตน์มณี | จรลีมาขึ้นอาชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เลิกโยธาทั้งหลาย | ตามกระบวนริ้วรายซ้ายขวา |
รีบเร่งมาตามมรคา | ตรงเข้าลงกาพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
ลงจากพญาอัสดร | บทจรขึ้นปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | องค์พญาพิเภกยักษี |
ทำเป็นชื่นชมยินดี | มิให้เคลือบแคลงวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
ส้วมสอดกอดไว้แล้วบัญชา | เจ้าดวงนัยนายาใจ |
ซึ่งออกไปเล่นอุทยาน | ไม่เป็นสุขสำราญหรือไฉน |
ผิวพักตร์จึ่งคลํ้ามัวไป | เจ็บไข้สิ่งใดบังเกิดมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ก้มเกล้าสนองพระวาที | ลูกนี้ไปเล่นอุทยาน |
แสนสนุกดั่งหนึ่งนันทวัน | จนสุริยันร้อนแรงแสงฉาน |
ซึ่งมัวหมองต้องแดดลมพาน | โรคร้อนรำคาญไม่บีฑา |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พญายักษา |
ย่างเยื้องยุรยาตรคลาดคลา | มายังปราสาทพระชนนี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
ชลเนตรคลอเนตรไม่พาที | ซบพักตร์โศกีนิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดพิสมัย |
เห็นโอรสแสนโศกาลัย | ตกใจส้วมกอดพระลูกรัก |
รับขวัญด้วยความแสนสวาท | วรนาฏช้อนเกศขึ้นใส่ตัก |
สองกรโลมลูบแล้วจูบพักตร์ | นงลักษณ์มีพระเสาวนีย์ |
เจ้าไปชมสวนกลับมา | ใครว่าขานสิ่งใดแก่โฉมศรี |
จึ่งมาทรงโศกโศกี | แม่นี้ไม่แจ้งวิญญาณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสูริย์วงศ์ปรีชาหาญ |
สะอื้นพลางทางสนองพจมาน | การนี้เพราะว่าน้อยใจ |
ด้วยองค์สมเด็จพระมารดร | จะอาวรณ์รักลูกนั้นหาไม่ |
ควรหรือมานิ่งความไว้ | มิบอกให้แจ้งกิจจา |
อันพระองค์มงกุฎเมืองมาร | เลื่องชื่อลือหาญทุกทิศา |
ทรงนามทศเศียรอสุรา | ซึ่งเป็นบิดาของลูกรัก |
ไฉนจึ่งสวรรคาลัย | พิเภกได้ผ่านอาณาจักร |
ความนี้สงสัยเป็นพ้นนัก | จงเล่าให้ลูกรักแจ้งการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดสงสาร |
ฟังโอรสราชกุมาร | วอนถามเหตุการณ์แต่ก่อนมา |
เทวีนิ่งขึงตะลึงคิด | ร้อนจิตดั่งต้องฟ้าผ่า |
เป็นครู่แล้วมีวาจา | แก้วตาของแม่คือดวงใจ |
ไฉนจึ่งมาว่าดั่งนี้ | ใช่ที่จะคิดสงสัย |
เจ้าอย่าโศกาอาลัย | อยู่ให้เป็นสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ชาญสมร |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดร | ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟพิษ |
มาลานลนทั่วสกนธ์กายา | ทั้งผิวหนังมังสาโลหิต |
ให้คั่งแค้นเป็นแสนสุดคิด | ถอนจิตครวญคร่ำร่ำไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้เสียแรงเป็นวงศ์พรหเมศ | จะรู้จักบิตุเรศก็หาไม่ |
ไตรโลกจะเย้ยไยไพ | เจ็บใจเป็นพ้นพรรณนา |
จะอยู่ไปก็อายเป็นสุดคิด | สู้สิ้นชีวิตเสียดีกว่า |
ร่ำพลางซบพักตร์ลงโศกา | ปิ้มว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑโฉมศรี |
เห็นลูกรักร่วมชีวี | แสนโศกโศกีนิ่งไป |
ตกใจดั่งหนึ่งพระกาล | มาสังหารผ่าทรวงแล้วสาวไส้ |
มิอาจจะอำความไว้ | อรไทส้วมกอดพระโอรส |
ปลอบพลางพลางเช็ดชลเนตร | แล้วแจ้งเหตุแต่หลังให้ฟังหมด |
พิเภกน้องสนิทที่คิดคด | ได้ครองยศสืบวงศ์ในลงกา |
พระอวตารประทานชนนี | ให้เป็นมเหสีเสน่หา |
ท้าวทศคิริวงศ์อสุรา | ไม่รู้ว่าแม่นี้มีครรภ์ |
สำคัญสัญญาว่าเป็นบุตร | จึ่งรักสุดสวาทไม่เดียดฉันท์ |
เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ | ขวัญเนตรฝากตัวให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | อสุรีกราบทูลถามไป |
อันสุริย์วงศ์พงศ์มิตรบิตุเรศ | ล้วนศักดาเดชแผ่นดินไหว |
รณรงค์สุดสิ้นด้วยพวกภัย | หรือใครเหลือบ้างพระมารดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑเสน่หา |
ได้ฟังจึ่งแจ้งกิจจา | อันวงศ์พระบิดานี้มากนัก |
แต่ศึกมาติดพระนคร | ยกออกราญรอนหาญหัก |
ญาติสนิทหมู่มิตรสหายรัก | ตายด้วยปรปักษ์ปัจจามิตร |
พ้นที่จะนับคณนา | เกลื่อนกลาดดาษดาอกนิษฐ์ |
ยังแต่พระสหายร่วมชีวิต | ซึ่งสถิตครองกรุงมลิวัน |
ท้าวนั้นสี่พักตร์แปดหัตถ์ | ทรงนามจักรวรรดิรังสรรค์ |
สองกรุงบำรุงสัจกัน | ร่วมแผ่นสุวรรณมาช้านาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ฟังพระชนนีนงคราญ | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
อันพิเภกนี้ทรชนนัก | จะอยู่ดูพักตร์กระไรได้ |
ลูกก็เป็นชาติชายอาชาไนย | จะใคร่ลาบาทพระมารดร |
ไปอยู่ด้วยพันธมิตรพระบิดา | กว่าจะใหญ่กล้าขึ้นก่อน |
จึ่งจะกลับมาราญรอน | ต่อกรพิเภกกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑสาวสวรรค์ |
ได้ฟังโอรสร่วมชีวัน | ตกใจหวาดหวั่นทั้งอินทรีย์ |
เป็นครู่แล้วกล่าววาจา | แก้วตาของแม่เฉลิมศรี |
อันพระรามสุริย์วงศ์องค์นี้ | คือพระจักรีสี่กร |
อวตารมาจากเกษียรสมุทร | ฤทธิรุทรเลิศลํ้าด้วยแสงศร |
เลื่องชื่อลือเดชขจายจร | ภูธรเป็นหลักสุธาธาร |
วานรล้วนเหล่าเทพบุตร | จุติลงมาเป็นทหาร |
แต่ละตนฤทธิ์เดชดั่งพระกาล | ปราบมารเกลื่อนกลาดดาษดา |
อันบิตุรงค์เจ้าก็วงศ์พรหเมศ | อินทรชิตเรืองเดชเชษฐา |
อีกพญากุมภกรรณผู้เป็นอา | พงศามิตรสหายทั้งนั้น |
ล้วนทรงศักดาอานุภาพ | ปราบทั้งไตรภพจบสวรรค์ |
เรืองฤทธิ์พิธีก็ต่างกัน | ยังสิ้นชีวันด้วยศรชัย |
อันซึ่งท่านท้าวจักรวรรดิ | ไหนจะรอต่อหัตถ์พระองค์ได้ |
สำหรับแต่จะสิ้นชีวาลัย | ด้วยฤทธิไกรพระทรงครุฑ |
ครั้งหนึ่งมหาบาลยกมา | โยธาแน่นนันต์นับสมุทร |
พระองค์ใช้ทหารฤทธิรุทร | ชื่อวายุบุตรชาญฉกรรจ์ |
มาช่วยพิเภกรณรงค์ | ฆ่าองค์มหาบาลอาสัญ |
อย่าประมาทเบื้องบาทพระทรงธรรม์ | จอมขวัญฝากตัวให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | ดั่งหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
ความแค้นเป็นแสนสุดแค้น | คิดจะทดแทนให้จงได้ |
จำเป็นรับเสาวนีย์ไว้ | บังคมไหว้แล้วรีบจรจรัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ตรงมายังห้องไสยาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
จึ่งเรียกพี่เลี้ยงร่วมชีวัน | เข้าไปพูดกันแต่สองรา |
น้องได้ทูลถามพระแม่เจ้า | บอกเล่าเหมือนคำพี่ว่า |
บัดนี้สหายรักพระบิดา | ทรงอานุภาพประเสริฐนัก |
ผ่านกรุงมลิวันนคเรศ | ฤทธิ์เดชปราบได้ทั้งไตรจักร |
ชื่อว่าจักรวรรดิพญายักษ์ | สี่พักตร์แปดกรชัยชาญ |
อันหมู่จตุรงค์โยธี | ล้วนมีศักดากล้าหาญ |
จะพากันไปเฝ้าพญามาร | แจ้งการให้ทราบบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงผู้มียศถา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | อสุราสนองพระวาที |
น้องรักผู้ปรีชาชาญ | ตริการต้องในใจพี่ |
แต่ซึ่งตัวเราทั้งสองนี้ | จะไปยังธานีมลิวัน |
หนทางยากยิ่งสาหส | เพลิงกรดนํ้ากรดเป็นด่านกั้น |
ใครล่วงเข้าไปถึงที่นั้น | ร้อยพันก็สิ้นชีวาลัย |
แต่องค์พระกาลนักสิทธ์ | เธอมีฤทธีแก้ได้ |
เจ้าจงอุบายลาไป | ว่าจะเรียนศิลป์ชัยพระอาจารย์ |
แล้วจึ่งจะพากันลอบจร | ไปนครมลิวันราชฐาน |
แต่ท้าวจักรวรรดิพญามาร | เคยเสวยชัยบานด้วยกัน |
กับองค์สมเด็จพระบิดา | ด้วยจอกรัตนาฉายฉัน |
เอาไปให้ได้เป็นสำคัญ | ถวายเจ้ามลิวันธานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังพี่เลี้ยงร่วมชีวี | พาทีสอดคล้องต้องใจ |
ครั้นคิดถึงองค์พระบิดา | อสุราทอดถอนใจใหญ่ |
แต่ปรึกษากันทุกวันไป | มิให้ใครเห็นว่าทุกข์ร้อน |
เวลาเล่นก็เที่ยวประพาสเล่น | จำเป็นไม่สุขสโมสร |
ราตรีเข้าแท่นที่นอน | ยอกรก่ายพักตร์ตะลึงคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แต่กลิ้งกลับสับสนไปมา | นิทรามิได้หลับสนิท |
จนดุเหว่าเร้าเร่งพระอาทิตย์ | แสงทองชวลิตอำไพ |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งดวงแขไข |
ออกจากห้องแก้วแววไว | เสด็จไปเฝ้าองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จำใจประณตบทบงสุ์ | องค์พญาพิเภกยักษี |
ทำเป็นชื่นชมยินดี | มิให้เคลือบแคลงวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ