- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
รบพลางถวิลจินดา | ไอ้นี่ลิงป่าพนาวัน |
ทรหดอดทนสามารถ | องอาจฤทธิแรงแข็งขัน |
กระนี้หรืออสูรกุมภัณฑ์ | สู้มันมิม้วยชีวี |
ตัวกูผู้มีอานุภาพ | ถึงเมื่อไปปราบโกสีย์ |
ก็ไม่ลำบากอินทรีย์ | เหมือนต่อฤทธีกระบี่ไพร |
คิดแล้วชักศรนาคบาศ | อันมีอำนาจแผ่นดินไหว |
พาดสายน้าวหน่วงด้วยว่องไว | ผาดแผลงไปด้วยกำลังฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ กลับเป็นภุชงค์ตัวหาญ | เลื้อยเลิกพังพานอักนิษฐ์ |
ตาแดงดั่งแสงพระอาทิตย์ | พ่นพิษเข้าไล่ราวี |
เกี่ยวกระหวัดรัดรอบกัณฐา | กรก่ายบาทากระบี่ศรี |
พันพัวทั่วสิ้นทั้งอินทรีย์ | ด้วยกำลังนาคีชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ต้องนาคบาศกุมภัณฑ์ | รัดรึงตรึงมั่นทั้งกายา |
จึ่งตะเบ็งสะบัดวัดแว้ง | ลองแรงนาคบาศยักษา |
คลายเคลื่อนเลื่อนออกด้วยฤทธา | วานรรำพึงคะนึงคิด |
อันโอรสทศเศียรตนนี้ | มันมีศักดาด้วยศรสิทธิ์ |
นี่หรืออมรินทร์ปิ่นโมลิศ | จะมิแพ้ฤทธิ์ไอ้ขุนมาร |
ถึงกระนั้นจะสะบัดก็จะขาด | นาคบาศหรือจะทนกำลังหาญ |
แต่ว่าจะอยู่ดูอาการ | ไอ้พวกพาลจะทำประการใด |
คิดแล้วแกล้งล้มนอนนิ่ง | จะไหวติงกายาก็หาไม่ |
นิ่วหน้าหลับตาหายใจ | ดั่งชีวาลัยจะมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
เห็นวานรต้องศรก็ปรีดา | ตบหัตถ์สรวลร่าสำราญ |
ชี้หน้าแล้วร้องเยาะเย้ย | เหวยเหวยไอ้ชาติเดียรัจฉาน |
นอนกลิ้งอยู่ไยกับดินดาน | มิฮึกหาญไปเล่าไอ้อัปรีย์ |
ว่าแล้วจึ่งมีบัญชา | ตรัสสั่งโยธายักษี |
สิบหมู่ล้วนมีฤทธี | เร่งเร็วบัดนี้ให้พร้อมกัน |
ผูกมัดไอ้วานรไพร | ด้วยพวนเหล็กใหญ่จงมั่น |
แต่อย่าให้ม้วยชีวัน | จะพามันไปถวายพระบิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลทหารยักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ลากพวนเหล็กมาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างเข้าผูกมัดรัดรึง | ขันขึงมิให้ไหวได้ |
ชวนกันฉุดชักแต่ห่างไว้ | ด้วยเกรงฤทธิไกรวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
มีชัยให้เลิกพลากร | บทจรคืนเข้าพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทหารยักษา |
ลากลิงอื้ออึงคะนึงมา | ตามเสด็จพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เตียว
๏ เมื่อนั้น | องค์อินทรชิตยักษี |
ครั้นถึงลงกาธานี | จรลีขึ้นเฝ้าพระบิดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชชาญสมร |
ลูกยกโยธาพลากร | ไปจับวานรชาญฉกรรจ์ |
มันมีศักดาสามารถ | องอาจฤทธิแรงแข็งขัน |
เสียพลนิกายหลายพัน | บัดนี้จับมันมัดมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังมีความปรีดา | อสุราสวมกอดพระโอรส |
มิเสียทีเป็นวงศ์พรหเมศ | เรืองเดชเดชาดั่งเพลิงกรด |
อันปัจจามิตรที่คิดคด | จะม้วยหมดด้วยมือลูกรัก |
ซึ่งเจ้ามีชัยแก่พานร | จะขจรเกียรติไปทั้งไตรจักร |
ควรสืบสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | เป็นปิ่นปักลงกาธานี |
ตรัสแล้วจึ่งมีสีหนาท | เหวยนายเพชฌฆาตยักษี |
จงเอาไอ้ลิงกาลี | ไปล้างชีวีให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุมภัณฑ์เพชฌฆาตใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ขุนมารก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้ากลุ้มรุมกันลากฉุด | อุตลุดล้อมหลังล้อมหน้า |
ตีรันผลักรุนเป็นโกลา | พาไปยังลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งช่วยกันผูกมัด | รึงรัดกรกายกระบี่ศรี |
แทงด้วยแหลนหลาวทวนตรี | บ้างตีด้วยตระบองเท่าลำตาล |
บ้างเอาค้อนเหล็กรุมรัน | บ้างหมู่ก็ฟันด้วยขวาน |
บ้างเอาพะเนินค้อนรอนราญ | บ้างประหารด้วยง้าววุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
สะบัดพวนมัดเสียทันใด | ชิงได้อาวุธอสุรี |
กวัดแกว่งสำแดงกำลังหาญ | เสียงสะท้านทั่วพิภพยักษี |
โลดโผนโจนรุกคลุกคลี | เข้าไล่โจมตีอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แทงฟันบั่นรอนฟอนฟาด | หัวขาดตีนขาดทั้งซ้ายขวา |
หมู่มารตายกลาดดาษดา | ด้วยกำลังฤทธาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดโอด
๏ บัดนั้น | นายเพชฌฆาตชาญสมร |
เห็นลิงไพรออกไล่ราญรอน | โกรธดั่งไฟฟอนต้องกาย |
กระทืบบาทขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | ขับหมู่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย |
ตีต้อนกันมาวุ่นวาย | ไพร่นายต่างคนเข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ที่กลัวก็ไม่เข้าโจมจับ | ขบฟันแล้วกลับวิ่งหนี |
ที่กล้าก็เข้าราวี | ผูกมัดกระบี่วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วจึ่งนายราชมัล | ว่าแก่กุมภัณฑ์น้อยใหญ่ |
อันไอ้ลิงป่าจังไร | แทงฟันมันไม่วายปราณ |
เอ็งจงชวนกันไปยก | ครกเหล็กสากเหล็กมาสังหาร |
ตำให้เป็นภัสม์ธุลีกาล | ไอ้สาธารณ์ก็จะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกพลโยธายักษี |
ได้ฟังนายสั่งก็ยินดี | วิ่งเป็นสิงคลีระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงช่วยกันอุตลุด | กลิ้งฉุดซึ่งครกเหล็กใหญ่ |
ที่เหนื่อยก็หยุดหายใจ | บ้างได้สากเหล็กก็แบกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเพชฌฆาตตัวกล้า |
ครั้นเห็นพวกพลอสุรา | ได้ครกสากมาก็ยินดี |
จึ่งว่าเหวยหมู่กุมภัณฑ์ | ชวนกันผูกมัดกระบี่ศรี |
ใส่ลงในครกเหล็กนี้ | ตำไอ้อัปรีย์ให้แหลกลาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราทวยหาญ |
ได้ฟังนายบัญชาการ | ต่างตนทะยานเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จับเท้าจับกายจับหัตถ์ | ซัดลงในครกเหล็กใหญ่ |
บ้างฉวยเอาสากด้วยว่องไว | ตำไล่กันเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปลูกต้นไม้
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้ใจแกล้วกล้า |
ไม่ระคายปลายเส้นโลมา | จึ่งสำแดงฤทธาวรารุทร |
สะบัดพวนเหล็กขาดเป็นหลายท่อน | สองกรฉวยสากกระชากฉุด |
ลุกขึ้นกวัดแกว่งต่างอาวุธ | ไล่ตีอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ขาหักหัวแตกตัวขาด | ล้มตายเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
วิ่งพล่านไปทั้งเวียงชัย | นายไพร่ไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วทำนั่งกอดเข่า | ก้มหน้าซบเซาอยู่กับที่ |
มิได้ไหวติงอินทรีย์ | ดั่งมีที่ขัดในกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนายเพชฌฆาตทั้งหลาย |
สุดคิดจะฆ่าให้ลิงตาย | ก็บ่ายหน้ามายังพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวทศเศียรรังสรรค์ |
ทูลว่าลิงไพรใจฉกรรจ์ | แทงฟันด้วยเครื่องสาตรา |
ทรหดอดทนสามารถ | พิฆาตไม่ม้วยสังขาร์ |
มันกลับต่อตีอสุรา | ล้มตายดาษดาเกลื่อนไป |
ตัวข้าผู้เป็นราชมัล | ไม่อาจฆ่าฟันมันได้ |
สุดฤทธิ์สุดคิดสุดใจ | ภูวไนยจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังดั่งเอาอัคคี | เข้ามาจุดจี้กายา |
สิบปากตวาดผาดร้อง | กึกก้องนิเวศน์ยักษา |
เหมไอ้ลิงไพรอหังการ์ | เหตุใดจึ่งฆ่าไม่วายปราณ |
เหวยเหวยนายขุนคชกรรม์ | เอาช้างซับมันตัวหาญ |
อันชื่อบรรลัยจักรวาล | ออกไปให้ผลาญวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนคชาชาญสมร |
รับสั่งท้าวยี่สิบกร | ก็รีบบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ผูกพญาคชสาร | ซับมันตัวหาญสูงใหญ่ |
ชนักเครื่องมั่นอำไพ | ขอราผูกไร้ครบครัน |
ขุนข้างขึ้นขี่ประจำคอ | ถือของ้าวง่าขบขัน |
ควาญท้ายกรายกรหยัดยัน | ขบฟันขับรีบออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงก็ไสเข้าให้แทง | ด้วยแรงหัสดินตัวกล้า |
โจมจ้วงทะลวงลงงา | บาทาถีบฉัดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
หลบหลีกเคล่าคล่องว่องไว | โผนไต่ตามงาคชาชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พิฆาตฟาดฟันควาญหมอ | หักคอพญาคชสาร |
ล้มลงกับพื้นสุธาธาร | บรรลัยลาญสุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเพชฌฆาตยักษี |
กับทั้งพวกพลอสุรี | เห็นกระบี่สำแดงฤทธา |
ความกลัวตัวสั่นขวัญบิน | อสุรินทร์ขยาดไม่รอหน้า |
พากันวิ่งวุ่นเข้ามา | เฝ้าองค์พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงก้มเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพนาสูรรังสรรค์ |
ว่าไอ้ลิงป่าพนาวัน | ข้าให้คชกรรม์ฉัดแทง |
มันไม่สิ้นชีพชีวา | มีเดชศักดากล้าแข็ง |
กลับเข้าโรมรันประจัญแรง | ยุทธ์แย้งสัประยุทธ์ชิงชัย |
เข่นฆ่าอสุราหมอควาญ | พลมารตายยับไม่นับได้ |
ทั้งพระคชกรรม์ก็บรรลัย | ด้วยฤทธิไกรวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศเศียรชาญสมร |
ได้ฟังดั่งพิษไฟฟอน | ให้เร่าร้อนฤทัยตะลึงคิด |
เป็นเหตุไฉนไอ้ลิงป่า | จึ่งฆ่าไม่ตายทำลายจิต |
ประกอบด้วยศักดาวราฤทธิ์ | เห็นผิดประหลาดหลากใจ |
คิดแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารน้อยใหญ่ |
เร่งเร็วจงพากันไป | เอาไอ้ลิงไพรเข้ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่เสนียักษา |
รับสั่งพญาอสุรา | บังคมลาออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้ากลุ้มรุมกันผูกมัด | รัดด้วยพวนใหญ่ให้มั่น |
บ้างล้อบ้างไล่ตีรัน | ลากฉุดพัลวันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งหน้าพระลาน | เหล่าหมู่ทหารน้อยใหญ่ |
จึ่งจูงเอาวานรไพร | เข้าไปถวายอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
พิศดูลิงร้ายราวี | ท่วงทีฮึกหาญชาญฉกรรจ์ |
บรรดาวานรในแดนดง | ไม่อาจองเหมือนไอ้โมหันธ์ |
ผู้เดียวเคี่ยวฆ่ากุมภัณฑ์ | ดูมันดั่งหนึ่งพระกาล |
ฝีมือเช่นนี้ไม่หาได้ | ควรจะเลี้ยงไว้เป็นทหาร |
คิดแล้วจึ่งองค์พญามาร | กล่าวคำอ่อนหวานเจรจา |
อันตัวเอ็งนี้ทุจริต | โทษผิดถึงสิ้นสังขาร์ |
กูจะให้มล้างชีวา | เห็นหน้าเอ็งเข้าก็เอ็นดู |
บัดนี้คิดว่าจะเลี้ยงไว้ | แม้นน้ำใจของเอ็งยอมอยู่ |
จะช่วยอุปถัมภ์คํ้าชู | กูไม่ให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
ฟังรสพจนารถกุมภัณฑ์ | ดั่งได้สวรรค์ชั้นอินทร์ |
ทีนี้สมจิตที่คิดไว้ | กูจะเผาเวียงชัยเสียให้สิ้น |
จึ่งจะได้เดือดร้อนทั้งแผ่นดิน | สาที่อสุรินทร์มันใจพาล |
คิดแล้วจึ่งตอบวาจา | ซึ่งไม่ฆ่าให้ม้วยสังขาร |
จะเลี้ยงไว้ใต้เบื้องบทมาลย์ | ใช้เป็นทหารพระภูวไนย |
อันพระองค์เมตตาการุญ | คุณนั้นก็หาที่สุดไม่ |
แต่ซึ่งตัวข้าจะอยู่ไป | ที่ไหนจะรอดชีวา |
ด้วยยักษีกลุ้มรุมตีรัน | แทงฟันเจ็บซํ้าหนักหนา |
ฆ่าเสียให้พ้นเวทนา | พระผู้ผ่านลงกาจงปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังวานรพาที | จึ่งมีพจนารถตอบไป |
กูนี้มีจิตคิดเอ็นดู | เอ็งว่าจะอยู่นั้นไม่ได้ |
จะยอมให้ฆ่าชีวาลัย | จนใจสุดที่จะทัดทาน |
แต่พวกอสุรีมันตีรัน | แทงฟันไม่สิ้นสังขาร |
ทำไฉนจะพ้นทรมาน | เอ็งจะให้ประหารด้วยสิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังอสุรีก็ดีใจ | แกล้งกล่าวใส่ไคล้ด้วยมารยา |
ซึ่งจะฆ่าข้าด้วยอาวุธ | ไหนจะสิ้นสุดสังขาร์ |
จงให้เอานุ่นสำลีมา | กับผ้าชุบนํ้ามันยาง |
แล้วจึ่งเอาพันเข้าทั้งตัว | ตลอดแต่หัวไปจนหาง |
ชั้นนอกนั้นให้เอาฟาง | ทำต่างเชือกรัดผูกพัน |
แล้วจงเอาไฟจุดเข้า | เผาให้สิ้นชีพอาสัญ |
เลือดเนื้อก็จะสูญไปด้วยกัน | ไม่ทันทนทุกข์เวทนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังไม่แจ้งมารยา | อสุราชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชโองการ | เหวยเหวยทหารยักษี |
ไปเอาน้ำมันกับสำลี | มาทำตามที่คำมัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่เพชฌฆาตคนขยัน |
รับสั่งแล้วถวายบังคมคัล | ก็พากันวิ่งวุ่นออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลางหมู่ก็กรูกันขนฟาง | บ้างแบกนํ้ามันยางโอ่งใหญ่ |
กระชุนุ่นกับผ้าเชื้อไฟ | ได้แล้วก็รีบกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งชุบประสมกัน | พัวพันทั้งกายกระบี่ป่า |
เอานํ้ามันยางชโลมทา | เสร็จตามบัญชาพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศกัณฐ์ใจหาญ |
จึ่งทรงหอกแก้วสุรกานต์ | ชัชวาลดั่งดวงมณี |
กลอกกลับกระหยับกวัดแกว่ง | เป็นประกายพรายแสงรัศมี |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรลี | จุดเข้าที่กายวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เกิดเป็นเปลวเพลิงเริงโรจน์ | ช่วงโชติจำรัสประภัสสร |
ร้อนแรงยิ่งแสงทินกร | ด้วยฤทธิรอนหอกชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ครั้นเพลิงติดขึ้นก็ดีใจ | วิ่งโผนเข้าในไพชยนต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เที่ยวจุดปราสาทราชฐาน | เพลิงกาลรุ่งโรจน์โพยมหน |
โรงช้างโรงม้าเรือนพล | อลวนไปทั้งธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์รูจี | รัศมีร้อนกล้ายิ่งไฟกัลป์ |
ติดไหม้ปราสาทราชฐาน | พญามารตกใจตัวสั่น |
เรียกสองมเหสีวิไลวรรณ | สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์วุ่นวาย |
แล้วอุ้มมณโฑเทวี | ทั้งนางอัคคีโฉมฉาย |
ลงจากปราสาทแก้วแพรวพราย | เจ้าขรัวนายเถ้าแก่ก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางกำนัลซ้ายขวา |
ต่างตนตกใจเป็นโกลา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี |
อันนางนักสนมทั้งนั้น | วิ่งพะปะกันอึงมี่ |
ร้องตรีดหวีดหวาดไม่สมประดี | ฉวยโน่นวางนี่วุ่นไป |
บ้างได้กระจกกับคันฉ่อง | เงินทองนั้นหานำพาไม่ |
ลางนางได้แหนบถอนไร | ร้องไห้วิ่งวุ่นทั้งวังจันทน์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
พาฝูงวนิดาวิลาวัณย์ | ฝูงสนมกำนัลกัลยา |
ทั้งหมู่ประยูรสุริย์วงศ์ | ขององค์พญายักษา |
ขึ้นบุษบกทรงอลงการ์ | ตรงไปสัตนาคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | อึงมี่ไปทั้งเวียงชัย |
ต่างตนอุ้มลูกจูงหลาน | ล้มลุกคลุกคลานแล้วร้องไห้ |
ฉวยกระบุงมุ้งม่านหูกไน | บ้างได้เชิงกรานก็แบกมา |
บ้างขี่พ่อตาแม่ยาย | ลางคนเมียหายก็เรียกหา |
อุตลุดไปทั้งพารา | พากันวิ่งวุ่นเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหนุมานกระบี่ศรี |
ครั้นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์รูจี | ไหม้ทั่วธานีขุนมาร |
ก็สลัดปัดเชื้อไฟพราย | ซึ่งติดกายร้อนแรงแสงฉาน |
แต่ปลายหางยังติดเพลิงกาล | แสนรำคาญกายาลำบากใจ |
จะทำอย่างไรก็ไม่ดับ | รำสับรำสนไม่ทนได้ |
สุดฤทธิ์ที่จะคิดดับไฟ | ก็เหาะไปยังฝั่งชลธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งโจนลงคงคา | ชุ่มแช่กายากระบี่ศรี |
อุตลุดผุดดำในวารี | นทีเป็นระลอกกระฉอกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สาครขุ่นข้นเป็นควัน | เพลิงนั้นจะดับก็หาไม่ |
จึ่งเหาะขึ้นจากสมุทรไท | ตรงไปศาลาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าอัญชุลี | พระนารทผู้ปรีชาหาญ |
เล่าความตามเรื่องซึ่งรอนราญ | จนเผาราชฐานลงกา |
บัดนี้เชื้อเพลิงเถกิงพราย | ยังติดแต่ปลายหางข้า |
ดับจนสุดฤทธิ์สุดปัญญา | เพลิงยิ่งร้อนกล้าพันทวี |
ขอพระมหาอาจารย์เจ้า | จงได้โปรดเกล้าเกศี |
เมตตาช่วยดับอัคคี | ให้ข้านี้พ้นเวทนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารทอาจารย์ฌานกล้า |
ฟังวายุบุตรเจรจา | หัวเราะร่าร่าแล้วตอบไป |
เอ็งเป็นทหารพระจักรกฤษณ์ | เพลิงนิดเท่านี้ไม่ดับได้ |
น้ำในบ่อน้อยจะไว้ไย | เหตุใดไม่ดับอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังพระมหามุนี | กระบี่คิดได้ด้วยปรีชา |
จึ่งเอาหางใส่ในปากอม | อัดลมในช่องนาสา |
เพลิงนั้นก็ดับดั่งจินดา | ด้วยอุบายปัญญาพระนักพรต |
เสร็จแล้วน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
ลาพระมุนีผู้มียศ | กำหนดเหาะข้ามสมุทรไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บ่ายหน้ายังเหมติรัน | สำคัญหมายยอดเขาใหญ่ |
ลอยลิ่วปลิวฟ้ามาไวไว | ก็ลงในพ่างพื้นคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งแจ้งกิจการ | ชมพูพานองคตกระบี่ศรี |
ตามเรื่องซึ่งพบนางเทวี | จนเผาธานีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สองกระบี่ผู้มียศถา |
ทั้งหมู่วานรโยธา | ได้ฟังวาจาหนุมาน |
ต่างตนสรรเสริญด้วยยินดี | มิเสียทีเป็นยอดทหาร |
ขององค์สมเด็จพระอวตาร | ได้ราชการทุกสิ่งไป |
แต่นั่งสั่งสนทนากัน | จนสุริยันเลี้ยวลับเหลี่ยมไคล |
สามนายผู้ปรีชาไว | ก็หลับไปทั้งหมู่โยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษา |
อยู่ยังยอดเขาสัตนา | แลดูลงกาธานี |
เห็นเพลิงรุ่งโรจน์ชัชวาล | เผาผลาญทั่วเมืองยักษี |
ไหม้หมดสิ้นแสงอัคคี | อสุรีรำพึงคะนึงคิด |
อันลงกามหานคเรศ | พรหเมศในชั้นอักนิษฐ์ |
สร้างให้อัยกาทรงฤทธิ์ | งามวิจิตรเลิศลํ้าเมืองอินทร์ |
จำจะบอกฝูงเทพเทวัญ | ทั้งนั้นลงมาให้สิ้น |
นิรมิตมหานครินทร์ | เหมือนชั้นพรหมินทร์เมืองฟ้า |
คิดแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
จงไปหาหมู่เทวา | เชิญให้ลงมาที่นี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงพิภพเมืองสวรรค์ | บอกฝูงเทวัญน้อยใหญ่ |
ว่าพระปิ่นลงการาชัย | ภูวไนยใช้ข้าขึ้นมา |
เชิญท่านผู้มีศรีสวัสดิ์ | ไปยังสัตนาภูผา |
พร้อมกันทุกหมู่เทวา | อย่าช้าจงรีบไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาทุกราศี |
ทั้งองค์หัสนัยธิบดี | แจ้งว่าอสุรีทศกัณฐ์ |
บัญชาให้หาลงไป | ต่างองค์ตกใจตัวสั่น |
ออกจากวิมานแก้วแพร้วพรรณ | ก็พากันระเห็จเหาะมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โคมเวียน
๏ ครั้นถึงสัตนาสิงขร | ก็เขจรลงจากเวหา |
นั่งเป็นอันดับกันมา | อยูที่ตรงหน้าพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
เห็นฝูงเทเวศร์มัฆวาน | มาถึงสถานก็ดีใจ |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรเทวาน้อยใหญ่ |
บัดนี้ลงกากรุงไกร | เกิดภัยวิบัติด้วยอัคคี |
จะพึ่งท่านผู้มีศักดา | จึ่งเชิญลงมาทุกราศี |
จงช่วยสร้างราชธานี | ให้เป็นที่สวัสดิ์สถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมเมรุมาศสิงขร |
กับทั้งฝูงเทพนิกร | ได้ฟังสุนทรพญามาร |
สุดที่จะแข็งขัดได้ | จนใจจำรับบรรหาร |
ก็พาฝูงเทพบริวาร | เหาะทะยานไปยังลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงท่ามกลางนคเรศ | หัสเนตรเจ้าตรัยตรึงศา |
จึ่งมีเทวราชบัญชา | ให้นิมิตพาราอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกราศี |
รับสั่งหัสนัยน์ธิบดี | แบ่งปันหน้าที่วุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ ฝ่ายพระพิรุณเทวา | ก็โปรยปรายธาราห่าใหญ่ |
ไหลหลั่งดับสิ้นเชื้อไฟ | ทั่วทั้งเวียงชัยอสุรินทร์ |
พระพายพาเถ้าถ่านธุลีผง | พัดลงในท้องกระแสสินธุ์ |
พื้นราบไม่มีมลทิน | หอมกลิ่นดั่งกลิ่นสุคนธาร |
ฝ่ายวิษณุกรรมเทเวศร์ | ก็นิมิตนคเรศราชฐาน |
ทั้งหอรบเชิงเทินปราการ | ซุ้มทวารฉัตรธงอลงกรณ์ |
กับปราสาทตำหนักรักษา | ล้วนมหาเนาวรัตน์ประภัสสร |
โรงรถโรงคชอัสดร | แล้วด้วยฤทธิรอนเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จซึ่งสร้างนคเรศ | องค์ท้าวพันเนตรรังสรรค์ |
กับหมู่บริวารทั้งนั้น | กลับไปสวรรค์วิมานฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพักตร์ยักษา |
ครั้นว่าฝูงเทพเทวา | สร้างสรรค์พาราแล้วกลับไป |
ก็พามเหสีสุริย์วงศ์ | นางอนงค์กำนัลน้อยใหญ่ |
ขึ้นบุษบกแก้วแววไว | ลอยไปด้วยฤทธิ์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พลมารห้อมล้อมเดียรดาษ | มาโดยอากาศวิถี |
ขับเวียนรอบราชธานี | เที่ยวชมบุรีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
ชมตลาด
๏ พิศเมืองแม้นเมืองพรหมาน | ปราการล้วนแก้วประกอบกั้น |
หอรบงามเรียงนางจรัล | ระยะคั่นเสมอเสมาเมือง |
แถวฉัตรงามชั้นประชุมราย | ทุกช่องธงชายปักเนื่อง |
ซุ้มทวารแก้ววามอร่ามเรือง | ถนนรอบเป็นเรืองระเบียบงาม |
พิศวังงามนิเวศน์ชัชวาล | พื้นพระลานงามประลองท้องสนาม |
ที่นั่งเย็นดั่งจะย้อยด้วยพลอยพลาม | ปราสาทสามทรงอลงการ์ |
สี่มุขงามแม้นพิมานมาศ | ครุฑผงาดนาคตระหง่านเวหา |
ห้ายอดแสงระยับจับตา | ใบระกาบันแก้วแกมกาญจน์ |
ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยอัมพร | บัญชรงามชั้นฉายฉาน |
บราลีล้วนแล้วแก้วประพาฬ | โอฬารสามโลกไม่เทียมทัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ชมพลางพลางขับบุษบก | ผันผกวกเวียนเหียนหัน |
ลงมาด้วยฤทธิ์กุมภัณฑ์ | ยังเกยสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งชวนอัคเรศทั้งสององค์ | กับฝูงอนงค์สาวศรี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | ขึ้นปราสาทมณีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนืออาสน์แก้ว | แล้วด้วยเนาวรัตน์ประภัสสร |
งามดั่งพรหเมศฤทธิรอน | เขจรมาจากเมฆา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
กูจะสมโภชพารา | เป็นการมหามงคล |
ครบทั้งเจ็ดคืนเจ็ดวัน | บอกกันให้ทั่วทุกแห่งหน |
เลี้ยงหมู่โยธีรี้พล | อย่าให้ขัดสนสิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรผู้ใหญ่ |
รับสั่งพระปิ่นราชัย | บังคมไหว้ออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสั่งพนักงาน | ทุกหมู่หมวดมารตัวขยัน |
ตามมีบัญชากุมภัณฑ์ | บาดหมายบอกกันเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกมหรสพยักษี |
ถึงวันกำหนดฤกษ์ดี | ก็เล่นอึงมี่ทั้งพารา |
อันโขนละครมอญรำ | ระบำเทพทองพร้อมหน้า |
หกคะเมนไต่ลวดผาลา | ชวารำกริชกรีดกราย |
มงคลุ่มคุลาตีไม้ | แทงวิสัยชั้นเชิงเฉิดฉาย |
อีกทั้งกระตั้วแทงควาย | ต่างเล่นวุ่นวายเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
หนุ่มสาวเฒ่าแก่ชรา | ทารกทาริกาทั้งนั้น |
รู้ว่าสมโภชธานี | ต่างตนยินดีเกษมสันต์ |
แต่งตัวผัดหน้าใส่นํ้ามัน | ชวนกันมาดูวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บ้างเดินบ้างยืนบ้างนั่ง | คับคั่งชกตีผลักไส |
บ้างสรวลร่าฮาเฮสำราญใจ | เพลินไปทั่วทั้งหญิงชาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสททั้งหลาย |
ตกแต่งเครื่องเลี้ยงวุ่นวาย | ช้างควายปิ้งจี่ทอดมัน |
อีกทั้งเมรัยชัยบาน | ของหวานของคาวหมูหัน |
แต่งเสร็จสำเร็จครบครัน | ช่วยกันแบกยกเนื่องมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงก็วางโต๊ะถาด | เกลื่อนกลาดเครื่องมัจฉมังสา |
ทั้งตุ่มทั้งไหใส่สุรา | เต็มไปในหน้าพระลานชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราน้อยใหญ่ |
บ้างกินเหล้ากินแกล้มวุ่นไป | เมามายไม่เป็นสมประดี |
บ้างเต้นบ้างรำทำเพลง | ตบมือโฉงเฉงอึงมี่ |
อื้อฉาวไปทั้งธานี | อสุรีชื่นชมปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นเสร็จเฉลิมพารา | ด้วยเดชบุญญาธิการ |
เสวยรมย์ชมราชไอศูรย์ | สมบูรณ์ดั่งเทวสถาน |
ประดับด้วยสนมบริพาร | ทรงโฉมสะคราญละกลกัน |
ราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | เหนืออาสน์พรรณรายฉายฉัน |
กับมณโฑกัลยาวิลาวัณย์ | กุมภัณฑ์เป็นสุขสำราญใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงอโณทัย | ก็ปราศรัยพญาสกุณี |
ท่านค่อยอยู่เถิดจะขอลา | ไปเฝ้าพระจักราเรืองศรี |
สั่งแล้วก็เลิกโยธี | ลงจากคีรีรีบจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
แต่ใช้ให้สามวานร | ไปเยือนข่าวบังอรในลงกา |
อยู่หลังก็ตั้งแต่ครวญคิด | ทรงฤทธิ์นับวันคอยท่า |
จวนจะครบกำหนดสัญญา | ไม่เห็นกลับมาแจ้งการ |
ให้หวาดหวั่นฤทัยไม่มีสุข | แสนทุกข์เร่าร้อนดั่งเพลิงผลาญ |
ยิ่งคิดก็ยิ่งรำคาญ | จนสุริย์ฉานลับเหลี่ยมคีรี |
อากาศดาษดวงดารากร | จันทรจำรัสรัศมี |
จึ่งเสด็จย่างเยื้องจรลี | เข้าที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โอ้ช้า
๏ เอนองค์ลงสู่ไสยาสน์ | กรก่ายนลาฏถวิลหา |
ถึงองค์อัคเรศสีดา | อุราเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ |
โอ้ว่าปานนี้เจ้าดวงเนตร | จะแสนเทวษปิ้มชีพอาสัญ |
ไม่เคยเห็นหมู่กุมภัณฑ์ | ขวัญเมืองของพี่จะตกใจ |
จะร้องตรีดหวีดหวาดผู้เดียว | เปล่าเปลี่ยวเปลี่ยวจิตโหยไห้ |
คอยพี่ไม่เห็นตามไป | จะแสนโศกาลัยทุกเวลา |
ถ้าสามนายไปพบแจ้งสาร | เยาวมาลย์จะคลายเทวษหา |
อกเอ๋ยเป็นน่าอนิจจา | เวทนาครั้งนี้อนาถนัก |
เมียเดียวควรหรือให้จากอก | ตกไปในมือปรปักษ์ |
โหยหวนครวญถึงนงลักษณ์ | ซบพักตร์กับเขนยแล้วหลับไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ ครั้นล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องเสียงใส |
เร่าร้องเร่งสุริโยทัย | ภูวไนยตื่นจากไสยา |
จึ่งชวนพระลักษมณ์นุชนาถ | พร้อมเสนามาตย์ซ้ายขวา |
เสด็จจากสุวรรณพลับพลา | ไปสรงคงคาวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
สระบุหร่ง
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | ในท้องธารแทบเชิงคีรีศรี |
น้ำใสเย็นซาบอินทรีย์ | ดั่งนทีในสีทันดร |
พื้นทรายพรายแสงเนาวรัตน์ | เลื่อมเลื่อมจำรัสประภัสสร |
ปทุมมาลย์ชูก้านอรชร | ฝักแก่ฝักอ่อนแกมกัน |
บ้างพึ่งผุดพ้นชลธาร | บ้างเบ่งบานรับแสงสุริย์ฉัน |
แมลงภู่วู่ว่อนเวียนวัน | เชยซาบสุคันธมาลี |
พระพายชายพัดรวยริน | หอมกลิ่นอุบลเกสรศรี |
ฝูงปลาผุดพ่นชลธี | ว่ายรี่เคล้าคู่เล็มไคล |
บุปผชาติโรยร่วงดวงผกา | ลอยมาตามสายนํ้าไหล |
ชมพลางทางสรงสำราญใจ | ที่ในกระแสชลธาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ลงสรงปี่พาทย์
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
กับทั้งองคตชมพูพาน | พาพวกบริวารวานร |
ดั้นดัดลัดป่าพนาวัน | สำคัญท่าธารสิงขร |
ปักฉลากมรรคาพนาดร | ที่ประทับแรมร้อนแล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสุวรรณพลับพลาชัย | แจ้งว่าภูวไนยนาถา |
เสด็จลงสรงคงคา | ก็พากันไปเฝ้ายังสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตนน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถทรงศร |
หมอบอยู่หน้าหมู่วานร | คอยฟังภูธรบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
เห็นสามนายผู้ปรีชาชาญ | มาเฝ้าบทมาลย์ก็ยินดี |
จึ่งเสด็จขึ้นจากที่สรง | กับองค์พระลักษมณ์เรืองศรี |
ยืนอยู่กลางหมู่โยธี | แล้วมีบัญชาถามไป |
สามนายยังถึงลงกา | ได้พบสีดาหรือหาไม่ |
มรรคานั้นเป็นประการใด | เราตั้งใจคอยทุกคืนวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลแล้วทูลกิจจา |
อันทางที่จะไปเมืองมาร | กันดารข้ามเขาลำเนาป่า |
พบปักหลั่นอสุรา | กับนางฟ้าชื่อบุษมาลี |
ชี้ทางให้ข้ามสายชล | ไปจนอาศรมพระฤๅษี |
ถึงเหมติรันคีรี | พบสัมพาทีฤทธิไกร |
เป็นพี่สดายุสกุณา | โลมานั้นหามีไม่ |
รู้ว่าทหารพระภูวไนย | ดีใจให้โห่ขึ้นพร้อมกัน |
ขนงอกสิ้นสาปพระอาทิตย์ | ด้วยเดชพระจักรกฤษณ์รังสรรค์ |
พาบินชี้ช่องสำคัญ | เขตขัณฑ์ทวีปลงกา |
ตัวข้าผู้เดียวลอบไป | แอบอยู่ในสวนยักษา |
พอทศกัณฐ์มันออกมา | เจรจาไหว้วอนพระเทวี |
นางไม่มีจิตประดิพัทธ์ | เคืองขัดด่าว่ายักษี |
ครั้นมันคืนเข้าธานี | เทวีผูกศอจะวายปราณ |
ข้าบาทวิ่งไปแก้ลง | ถวายผ้าธำมรงค์แล้วแจ้งสาร |
ขุนกระบี่ทูลสิ้นทุกประการ | จนเผาราชฐานลงกา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ฟังลูกพระพายเทวา | ผ่านฟ้ากริ้วโกรธดั่งไฟฟอน |
กระทืบบาทมีราชบรรหาร | ดูดู๋หนุมานชาญสมร |
กูใช้ให้ขุนวานร | ไปสืบข่าวบังอรแต่เท่านี้ |
เหตุใดจึ่งทำอหังการ์ | ฆ่าโคตรวงศายักษี |
ทั้งหมู่อสุรโยธี | แลเผาบุรีกุมภัณฑ์ |
อันองค์อัคเรศอรไท | อยู่ในเนื้อมือไอ้โมหันธ์ |
ถ้ามันโกรธาฆ่าฟัน | สุดสิ้นชีวันวายปราณ |
ตัวกูผู้จะสงครามยักษ์ | แม้นเสียเมียรักยอดสงสาร |
ก็จะซ้ำแสนทุกข์ทรมาน | เอ็งจะคิดอ่านประการใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | ร้อนใจดั่งต้องไฟพิษ |
กราบลงแล้วสนองพจมาน | ซึ่งเกินโองการนั้นโทษผิด |
ควรถึงที่สิ้นชีวิต | พระทรงฤทธิ์จงได้เมตตา |
เมื่อข้าจะรบกับกุมภัณฑ์ | บอกมันว่าเป็นลิงป่า |
ผู้เดียวเที่ยวเล่นหลงมา | เชื้อวงศ์พงศาก็ไม่มี |
มาตรแม้นว่าท้าวทศพักตร์ | ฆ่าองค์นงลักษณ์มเหสี |
ขอประทานจงผลาญชีวี | กระบี่ให้สิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | จึ่งมีโองการกับเสนา |
ดูกรเจ้ากรุงขีดขิน | ท้าวพญาพานรินทร์ซ้ายขวา |
วายุบุตรล่วงราชบัญชา | โทษนี้จะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
ได้ฟังพจนารถภูวไนย | บังคมไหว้สนองโองการ |
ซึ่งลูกพระพายไม่ยั้งคิด | ทำผิดล่วงราชบรรหาร |
โทษนั้นถึงสิ้นชนมาน | ผ่านฟ้าจงทรงพระเมตตา |
ขอประทานจงงดไว้ก่อน | อย่าเพ่อราญรอนให้สังขาร์ |
ตามคำวานรสัญญา | สงครามเบื้องหน้ายังมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ได้ฟังท้าวพญาเสนี | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
สอดคล้องต้องในวิญญาณ์ | ผลัดผ้าชุบสรงรางวัลให้ |
แก่วายุบุตรวุฒิไกร | ในที่ท่ามกลางวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับผ้าชุบสรงพระสี่กร | ทูนเศียรแล้วถอนใจคิด |
ตัวกูทำการทั้งนี้ | จงรักภักดีสุจริต |
มิได้อาลัยแก่ชีวิต | ทะนงใจไม่คิดตริการ |
เห็นผิดเป็นชอบด้วยโมหันธ์ | ปิ้มสิ้นชีวันสังขาร |
ใครเลยจะนับว่าชายชาญ | อาภัพอัประมาณเป็นพ้นไป |
ทั้งนี้เพราะวาสนาตัว | ดีชั่วจะโทษผู้ใดได้ |
เสียทีที่มีฤทธิไกร | น้อยใจเป็นพ้นคณนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ครั้นเสร็จก็เสด็จยาตรา | กลับยังพลับพลาอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ทวยหาญ |
ประนมกรกราบเบื้องบทมาลย์ | งามปานฝูงเทพนิกร |
เฝ้าองค์สมเด็จพระอิศรา | ยังมหาไกรลาสสิงขร |
จึ่งมีพจนารถอันสุนทร | ปรึกษาวานรเสนี |
บัดนี้หนุมานมาแจ้งข่าว | เรื่องราวสีดามารศรี |
ควรเราจะยกโยธี | ไปยังบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชมพูพานผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
เขาหนึ่งตรงเกาะลงกานั้น | ชื่อคันธกาลาสูงใหญ่ |
อยู่ที่ริมเนินสมุทรไท | เป็นชัยภูมิสถาวร |
ขอพระผู้ปิ่นสุธาธาร | จงยกทวยหาญชาญสมร |
ไปตั้งยังเชิงคีรินทร | จะได้ราญรอนปัจจามิตร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ฟังชมพูพานก็สมคิด | ทรงฤทธิ์จึ่งมีบัญชา |
ดูกรลูกพระสุริยัน | จงจัดพลขันธ์ซ้ายขวา |
จะยกไปตั้งทัพพลับพลา | ยังคันธกาลาคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ ทัพหน้าเกณฑ์ให้นิลนนท์ | คุมพลสิบสมุทรเป็นนายใหญ่ |
ทัพหนุนองคตฤทธิไกร | คุมไพร่สิบสมุทรวานร |
เกียกกายคำแหงหนุมาน | คุมทหารสิบสมุทรชาญสมร |
ทัพหลวงโยธาพลากร | ซับซ้อนยี่สิบสมุทรตรา |
ยุกกระบัตรนิลพัทชาญยุทธ์ | คุมพลสิบสมุทรแกล้วกล้า |
กองขันสิบสมุทรโยธา | นิลราชศักดาบัญชาการ |
กองหลังนิลเอกคุมไพร | นับได้เจ็ดสมุทรทวยหาญ |
รายเรียบเพียบพื้นสุธาธาร | เสียงสะเทือนสะท้านเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
กับพระอนุชาร่วมชีวี | จรลีไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรายมณีนิล | เครือกระหนกรูปกินรีรำ |
พระหริวงศ์ทรงทิพภูษิต | พื้นตองชวลิตเขียวขำ |
พระลักษมณ์ทรงภูษาพื้นดำ | ผุดทองลายช้ำเชิงสุบรรณ |
ต่างทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ลายแย่งสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
สอดใส่ธำมรงค์เพชรรัตน์ | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
ทรงมหากุณฑลกรรเจียกจร | อลงกรณ์ด้วยดวงโกมิน |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้ทัด | พระหัตถ์นั้นจับธนูศิลป์ |
งามดั่งพรหเมศอมรินทร์ | ลินลามายังโยธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ ได้ฤกษ์สุริยันให้ลั่นฆ้อง | พลไกรโห่ร้องอึงมี่ |
ยกจากคันธมาทน์คีรี | กระบี่เยียดยัดกันไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รุกร้น
โทน
๏ ทัพหน้าคลาเคลื่อนตามทิศ | ทัพหลวงแผลงฤทธิ์แผ่นดินไหว |
ทัพหนุนเร่งร้นพลไกร | โลดไล่กวัดแกว่งอาวุธ |
บ้างเหาะบ้างแทรกสุธาธาร | บ้างทะยานลงเดินหลังสมุทร |
บ้างไปทางกาลาคนิรุท | แล้วผุดขึ้นกลางพลากร |
เสียงกลองฆ้องขานประสานปี่ | เสียงพลอึงมี่สิงขร |
ผงคลีมืดคลุ้มอัมพร | แรมร้อนมาในพนาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงเขาคันธกาลา | พร้อมหมู่โยธาพลขันธ์ |
แล้วสั่งลูกพระสุริยัน | ให้ตั้งมั่นตามเชิงคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เกณฑ์หมู่โยธาพลากร | ทุกหมวดวานรน้อยใหญ่ |
ให้ตั้งทัพพลับพลาอำไพ | ในที่ชัยภูมิโอฬาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายทัพนายกองทวยหาญ |
บรรดาเป็นเจ้าพนักงาน | ก็เร่งรีบจับการพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ ชั้นนอกตั้งทัพรายเรียบ | เป็นระเบียบเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์ |
ขุดคูล้อมรอบเป็นขอบคัน | แล้วตั้งสุวรรณพลับพลาชัย |
พร้อมทั้งพระโรงหน้าหลัง | เกยแก้วที่นั่งน้อยใหญ่ |
ทิมดาบชาววังตำรวจใน | ที่ประลองพลไกรวานร |
ศาลาลูกขุนคู่ดูตระหง่าน | หน้าพระลานโปรยปรายด้วยทรายอ่อน |
ป้อมค่ายรายธงอลงกรณ์ | เสร็จตามภูธรบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
จึ่งชวนพระศรีอนุชา | ขึ้นยังพลับพลาอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
จึ่งเกณฑ์นิลเอกชาญชัย | คุมไพร่กระเวนพนาดร |
บรรจบกับกองนิลขัน | รอบคันธกาลาสิงขร |
เกี่ยวเลี้ยวกันเป็นมังกร | หลับนอนนั่งยามตามอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลเอกนิลขันกระบี่ศรี |
ต่างตนต่างพาโยธี | กระเวนไปตามที่พระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ