- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ครั้นถึงนิเวศน์อลงการ | พญามารเข้าที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ทอดองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | พระกรก่ายพักตร์โหยไห้ |
แสนทุกข์สะท้อนถอนใจ | ฤทัยเร่าร้อนพันทวี |
ตัวกูทำการสงคราม | เสียทีลักษมณ์รามสองศรี |
มิหนำซ้ำไอ้พาลี | กลับมีชีวิตคืนมา |
มาเป็นกำลังปัจจามิตร | รณรงค์สุดคิดจะเข่นฆ่า |
แล้วก็สิ้นสุริย์วงศ์ในลงกา | ไม่รู้ที่บ่ายหน้าไปหาใคร |
โอ้อนิจจาตัวกู | ดั่งว่ายอยู่ในท้องสมุทรใหญ่ |
จะทำกิจพิธีสิ่งใด | ก็ไม่ได้สมอารมณ์คิด |
แต่ผุดลุกผุดนั่งเหนือบรรจถรณ์ | เวทนาดั่งศรมาเสียบจิต |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจไปด้วยพิษ | ไม่เป็นสนิทนิทรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑเสน่หา |
ครั้นเห็นสมเด็จพระภัสดา | กลับมาไม่ตรัสประการใด |
ตรงเข้าในที่ไสยาสน์ | อาการประหลาดดั่งเป็นไข้ |
ก็พาฝูงนางกำนัลใน | ขึ้นไปเฝ้าองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชยักษี |
พิธีไม่ครบสามราตรี | เป็นไฉนภูมีจึ่งกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ได้ฟังองค์อัครกัลยา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ซึ่งพี่ตั้งกิจพิธีกรรม์ | จะสมความคิดนั้นก็หาไม่ |
ด้วยไอ้พาลีที่บรรลัย | มันกลับคืนได้ชีวิต |
ยกพวกวานรมารอนราญ | ทำลายการกูณฑ์กลากิจ |
พลเราไม่รอต่อฤทธิ์ | ตายยับอกนิษฐ์ดาษดา |
คิดว่าหนุมานมันทำกล | แปลงตนมาให้กังขา |
ต่อเข้าสัประยุทธ์ถึงกายา | จึ่งรู้แท้แน่ว่าพาลี |
ชะรอยพระอิศวรปิ่นเกล้า | เข้าด้วยลักษมณ์รามทั้งสองศรี |
ชุบมันคืนชีพชีวี | เจ้าพี่จะคิดประการใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | ว่าพาลีคืนได้ชีวิตมา |
จึ่งน้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษา |
ซึ่งว่าพาลีผู้ศักดา | คืนได้ชีวานั้นผิดนัก |
ใครหนอตายแล้วจะกลับเป็น | ข้าเห็นไม่มีทั้งไตรจักร |
อันองค์พระอิศวรรังรักษ์ | เป็นหลักโลกาไม่อาธรรม์ |
ซึ่งไปทำลายพิธี | คือกระบี่หนุมานแม่นมั่น |
เพราะด้วยพิเภกกุมภัณฑ์ | บอกมันทุกครั้งทุกทีมา |
จะทำสิ่งใดก็จังฑาล | ให้เสียการเสียวงศ์ยักษา |
เมื่อใดน้องท้าวมรณา | เห็นว่าจะสิ้นไพรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | อสุรีเห็นจริงทุกสิ่งไป |
มีความแสนโสมนัสนัก | ดวงพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
ลูบหลังรับขวัญอรไท | เจ้าคือดวงใจนัยนา |
ซึ่งคิดจะให้พี่ตัดศึก | ข้อนี้ลํ้าลึกหนักหนา |
อันไอ้พิเภกอสุรา | ดั่งเงาติดกายาเป็นนิจไป |
จะทำสิ่งใดก็ล่วงรู้ | มันบอกศัตรูให้แก้ไข |
ญาติมิตรก็ไม่คิดอาลัย | หมายจักเป็นใหญ่ในเมืองมาร |
พรุ่งนี้พี่จะยกพลขันธ์ | ไปฆ่ามันให้ม้วยสังขาร |
ด้วยหอกกบิลพัทอันชัยชาญ | ให้สิ้นการเสี้ยนไพรี |
ว่าพลางอิงแอบแนบเคล้า | หยอกเย้าด้วยความเกษมศรี |
แสนสนิทพิศวาสเทวี | ก็หลับไปในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ กล่อม
๏ ครั้นพระสุริยาเรืองรอง | แสงทองสว่างเวหา |
ตื่นจากแท่นที่อลงการ์ | อสุราโสรจสรงสาคร |
ทรงเครื่องประดับสำหรับองค์ | อลงกตเนาวรัตน์ประภัสสร |
เสด็จจากห้องแก้วอลงกรณ์ | บทจรออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่เสนีกุมภัณฑ์ | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษดา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษา |
จงเกณฑ์จตุรงค์โยธา | กูจะไปเข่นฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนายักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ออกมาจากที่พระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ เกณฑ์หมู่จตุรงค์องอาจ | ตั้งเป็นพยุหบาตรกระบวนใหญ่ |
ขุนช้างผูกช้างระวางใน | ค่ายคํ้าโลดไล่โจมทัพ |
หมอควาญล้วนใส่เสื้อแดง | ถือของ้าวแกว่งกลอกกลับ |
ดั้งกันพังคาซ้อนซับ | พร้อมสรรพด้วยเครื่องสาตรา |
ขุนม้าผูกม้าสินธพ | ดีดขบลำพองคะนองกล้า |
ผู้ขี่เสื้อเขียวไข่กา | ถือทวนเงื้อง่าหยัดยัน |
ขุนรถก็เทียมรถศึก | ด้วยเสือสิงห์โคถึกตัวขยัน |
สารถีใส่เสื้อเครือวัลย์ | มือถือเกาทัณฑ์กรีดกราย |
ขุนพลตรวจเตรียมพลยุทธ์ | ล้วนถืออาวุธฉานฉาย |
ใส่เสื้อพื้นดำฉลุลาย | ไพร่นายเอิกเกริกเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาโสรจสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุ์สุหร่ายแก้ว | แล้วทรงสุคนธ์เกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | ภูษาลายกินนรกรกราย |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์เกราะเพชรฉานฉาย |
ตาบทิศประดับทับทิมพราย | ทับทรวงห่วงสายสังวาลรัตน์ |
ทองกรจำหลักลอยพลอยเพชร | ธำมรงค์เรือนเก็จกาบสะบัด |
มงกุฎแก้วกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสอลงกรณ์ |
งามทรงงามองค์งามสง่า | ดั่งไพจิตราชาญสมร |
จับหอกกบิลพัทฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
โทน
๏ รถเอยราชรถศึก | กำกงแก้วผลึกอลงกต |
บัลลังก์ล้วนสุวรรณชั้นลด | เก็จกาบแก้วบดแปรกบัง |
รายครุฑยุดนาคยืนหยัด | สิงห์อัดเผ่นผกกระหนกตั้ง |
บุษบกบันแถลงช้อนกระจัง | ห้ายอดดูดั่งนฤมิต |
เทียมด้วยราชสีห์สองพัน | โลทันมือถือกระบองบิด |
สันทัดขับเผ่นไปด้วยฤทธิ์ | เครื่องสูงชวลิตอลงการ |
แตรงอนแตรฝรั่งประสานเสียง | สำเนียงปี่กลองฆ้องขาน |
พลโห่โห่ก้องสุธาธาร | กรีพวกพลหาญรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงแทบที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ตั้งมั่นไว้ริมชายไพร | โดยในนามพยัคฆ์ชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นสิ้นแสงสีรวีวรรณ | พระจันทร์แจ่มแจ้งเมฆา |
พระเสด็จเข้าที่ไสยาสน์ | กรก่ายนลาฏโหยหา |
ถึงองค์อัครราชกัลยา | ผ่านฟ้าสะท้อนถอนใจ |
โอ้ว่าเจ้าดวงชีวิตพี่ | ป่านนี้แก้วตาจะเป็นไฉน |
หรือทศกัณฐ์มันจองภัย | กลับไปจะทำโทษทัณฑ์ |
ทั้งจะทุกข์ถึงพี่ที่วิโยค | แสนโศกพ่างเพียงชีวาสัญ |
จะระกำช้ำใจไม่วายวัน | ขวัญเมืองจะกินแต่น้ำตา |
ยิ่งคิดยิ่งทวีแสนเทวษ | ทรงเดชเศร้าโทมนัสสา |
มิได้สนิทนิทรา | จนเวลาปัจฉิมราตรี |
สกุณาเร่าร้องถวายเสียง | สำเนียงเรไรเรื่อยรี่ |
พระพายพากลิ่นมาลี | แสงรวีส่องฟ้าสุธาธาร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพรรณรายฉายฉาน |
เสด็จจากห้องแก้วอลงการ | ผ่านฟ้าออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองพระนคร | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
พอได้ยินสำเนียงเกรียงไกร | ภูวไนยจึงถามโหรา |
วานนี้เป็นไฉนประหลาดนัก | จึ่งท้าวทศพักตร์ยักษา |
มิได้แต่งทัพออกมา | เข่นฆ่าสัประยุทธ์ต่อกัน |
บัดนี้อสุรีตนใด | ยกพวกพลไกรทัพขันธ์ |
จะเป็นมิตรสหายพงศ์พันธุ์ | หรือว่าตัวมันมาราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรแล้วจับยามไป |
ก็รู้โดยตำรับไตรเพท | ดั่งเทเวศลงมาบอกให้ |
จะแจ้งไม่แคลงน้ำใจ | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันศึกซึ่งว่างอยู่นั้น | ด้วยทศกัณฐ์ยักษา |
กริ้วโกรธฝูงเทพเทวา | ว่าเป็นพยานพระสี่กร |
ลอบไปทำกิจพิธี | ยังที่พระเมรุสิงขร |
ชุบกบิลพัทของบิดร | ให้เรืองฤทธิรอนดั่งเพลิงกัลป์ |
แล้วจึ่งเอาดินเจ็ดท่า | มาปั้นรูปเทวาในสวรรค์ |
ทิ้งเข้าในกองกูณฑ์นั้น | จะฆ่าชีวันให้วายปราณ |
องค์พระอิศวรแจ้งเหตุ | ให้เทเวศพาลีใจหาญ |
ลงมาทำลายพิธีการ | ขุนมารยิ่งกริ้วโกรธนัก |
สำคัญว่าข้านี้กราบทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงจักร |
จึ่งยกพหลพลยักษ์ | ฮึกฮักรีบเร่งออกมา |
จะฆ่าตัวข้าผู้รองบาท | ให้สิ้นชีวาตม์สังขาร์ |
ด้วยกบิลพัทอันศักดา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
อันตัวของท่านดั่งดวงจิต | จะให้เสียชีวิตกระไรได้ |
อย่าคิดประหวั่นพรั่นใจ | จะกลัวมันไยไอ้พาลา |
แล้วสั่งพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | เราจะรณรงค์ด้วยยักษา |
จงระวังพิเภกอสุรา | อย่าให้มีเหตุเภทพาล |
ฝ่ายพญาสุครีพฤทธิรอน | จงจัดวานรทวยหาญ |
เลือกล้วนที่มีปรีชาชาญ | เราจะไปรอนราญอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระสุริยาเรืองศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ จัดโดยกระบวนพยุหบาตร | ให้นิลราชเป็นกองหน้า |
กองหนุนวานรปิงคลา | โยธาอาจหาญชาญฉกรรจ์ |
อันพลชมพูนคเรศ | ล้วนเทเวศจุติจากสวรรค์ |
เข้าทัพพระลักษมณ์วิลาวัณย์ | กรกุมเครื่องสรรพ์อาวุธ |
ฝ่ายพลนครขีดขิน | พื้นพงศ์พานรินทร์เทพบุตร |
จัดไว้เป็นกองพระทรงครุฑ | แต่ละตนฤทธิรุทรมหึมา |
อันทหารทั้งสองนคเรศ | เลื่องชื่อลือเดชทุกทิศา |
แน่นนันต์เพียบพื้นพสุธา | เตรียมท่าคอยเสด็จพระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
จึ่งชวนพระลักษมณ์ฤทธิรอน | บทจรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | เชิงรูปนาคินกระหนกกลาย |
พระเชษฐาผ้าทิพย์พื้นตอง | เครือทองประสานฉายฉาน |
พระอนุชาพื้นม่วงฉลุลาย | เป็นกินนรกรกรายกรีดรำ |
ชายไหวชายแครงเครือขด | ประดับดวงมรกตเขียวขำ |
ฉลององค์พื้นโหมดสีดอกคำ | สังเวียนหยักประจำชิงดวง |
รัดองค์จำหลักลายแทง | สังวาลวัลย์เพชรแดงรุ้งร่วง |
ตาบทิศสร้อยสนทับทรวง | พาหุรัดโชติช่วงทองกร |
ธำมรงค์มงกุฎนพรัตน์ | กรรเจียกแก้วจำรัสประภัสสร |
ต่างทรงศิลป์สิทธิ์ฤทธิรอน | บทจรขึ้นรถอมรินทร์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยสองรถทรง | ดุมวงล้วนแก้วผลึกสิ้น |
กงกำประกับโกมิน | องค์อินทร์ถวายทั้งสองรถ |
อันมหาพิชัยเวไชยันต์ | เรือนนั้นประดับมรกต |
เก็จกาบภาพคั่นเป็นหลั่นลด | ช้อยชดห้ายอดพรรณราย |
อันรถทรงองค์พระอนุชา | ล้วนมุกดาสุรกานต์ฉานฉาย |
บุษบกประดับทับทิมพราย | ทรวดทรงงามคล้ายคลึงกัน |
ดั่งรถพระจันทร์พระอาทิตย์ | รัศมีชวลิตฉายฉัน |
เทียมด้วยสินธพเทวัญ | เทพบุตรยืนยันขับทะยาน |
พิเภกเคียงรถพระลักษมณ์มา | ท่ามกลางโยธาทวยหาญ |
เครื่องสูงครบสิ่งอลงการ | ปี่กลองฆ้องขานอึงอล |
เสียงกงก้องลั่นสนั่นภพ | ผงคลีตลบโพยมหน |
วานรโห่ร้องคำรน | รีบพลเร่งราชรถไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงจึ่งให้หยุดโยธา | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
ตั้งเป็นกระบวนลงไว้ | แทบใกล้กองทัพอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ยืนรถอยู่กลางโยธี | เห็นทัพกระบี่ยกมา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | เหวยเสนามารทัพหน้า |
จงแยกกันออกเป็นปีกกา | เข้าตีหักกล้าวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรชาญสมร |
รับสั่งองค์ท้าวยี่สิบกร | ก็ต้อนกันให้เข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกองหน้ายักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | เข้าไล่ราวีกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปีกซ้ายต้านต่อด้วยปีกขวา | พุ่งสาตราวุธน้อยใหญ่ |
ปีกขวานั้นดาเข้าไป | ลุยไล่ปีกซ้ายวานร |
กองกลางถาโถมโจมแทง | ยิงแย้งหน้าไม้ธนูศร |
ดาบง้าวส้าวทวนโตมร | เข้าไล่ราญรอนเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลราชกองหน้า |
เห็นอสุรีตีหักเข้ามา | ก็ต้อนวานรออกโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ปีกขวานั้นรับปีกซ้าย | แยกย้ายรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ปีกซ้ายรับขวากุมภัณฑ์ | กองกลางนั้นไล่ทะลวงตี |
พลมารตายยับกับกร | วานรโห่ร้องอึงมี่ |
ต่างตนโรมรุกคลุกคลี | อสุรีไม่ทานฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
เห็นพลตายกลาดดาษดา | แตกมาจนหน้ารถชัย |
ยิ่งพิโรธโกรธกริ้วขบฟัน | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
จึ่งชักศรสิทธิ์เกรียงไกร | พาดสายแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สิงขรสาครก็ไหวหวาด | กัมปนาทสะเทือนถึงดุสิต |
ต้องหมู่วานรปัจจามิตร | ตายยับอกนิษฐ์ทับกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
เห็นศรทศเศียรกุมภัณฑ์ | มาต้องพวกพลขันธ์มรณา |
จึ่งชักพลายวาตขึ้นพาดสาย | พระเนตรหมายเขม้นเข่นฆ่า |
น้าวหน่วงด้วยกำลังศักดา | ผ่านฟ้าก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | เกิดเป็นศรสาตร์ไม่นับได้ |
ต้องหมู่จตุรงค์พลไกร | บรรลัยเกลื่อนกลาดดาษดิน |
อันหมู่วานรที่ตายนั้น | กลับได้ชีวันคืนสิ้น |
ลุกขึ้นเยาะเย้ยอสุรินทร์ | กระบินทร์เงือดเงื้อสาตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ยี่สิบเนตรแลลอดสอดมา | หมายหาพิเภกกุมภัณฑ์ |
เห็นเคียงข้างรถพระลักษมณ์ | ขุนยักษ์กริ้วโกรธหุนหัน |
สิบปากขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | มือคันจะฆ่าให้บรรลัย |
จึ่งให้โลทันสารถี | ผู้มีศักดาอัชฌาสัย |
ขับรถฝ่าพลเข้าไป | ชิงชัยด้วยองค์พระลักษมณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริวงศ์ทรงจักร |
เห็นทศเศียรขุนยักษ์ | ตีหักเข้ามารอนราญ |
จึ่งจับศรอัคนิวาต | อันมีอำนาจกำลังหาญ |
พาดสายหมายล้างขุนมาร | ผ่านฟ้าแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรชัยไปต้องงอนรถ | ของทศพักตร์ยักษา |
ทั้งบุษบกอลงการ์ | พักยับลงมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
เห็นพระลักษมณ์แผลงศรมาราวี | อสุรีจับจักรขว้างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ โชติช่วงดั่งดวงสุริยัน | อากาศครื้นครั่นหวั่นไหว |
บันดาลเกิดเป็นเปลวไฟ | ลามไหม้กลางหมู่วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอนุชาชาญสมร |
เห็นยักษาขว้างจักรเป็นไฟฟอน | ก็จับศรแผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นห่าฝนดับเปลวไฟ | แล้วไล่ล้างจักรยักษี |
ละเอียดยับเป็นภัสม์ธุลี | อสุรีตายกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
รบพลางทางทอดทัศนา | หมายฆ่าพิเภกให้บรรลัย |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้ทรชน | กูเลี้ยงมึงจนจำเริญใหญ่ |
ไม่รู้จักคุณด้วยอันใด | กลับไปเข้าด้วยไพรี |
บอกการเล่ห์กลรณรงค์ | ให้ฆ่าโคตรวงศ์ยักษี |
ถึงมึงได้ผ่านธานี | จะเอาโยธีที่ไหนมา |
ตัวมึงเป็นน้องยังไม่คิด | กูจะล้างชีวิตยักษา |
ด้วยกบิลพัทอันศักดา | ว่าแล้วก็พุ่งไปทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
กลัวจะต้องพิเภกอสุรี | ภูมีก็ปัดด้วยศิลป์ชัย |
กบิลพัทพลัดมาต้ององค์ | จะดำรงกายาก็ไม่ได้ |
ตกจากรถรัตนามัย | ภูวไนยเพียงสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
เห็นพระลักษมณ์ต้องหอกกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์กริ้วโกรธพิโรธนัก |
จึ่งชักพระแสงพรหมาสตร์ | อันมีอำนาจสิทธิศักดิ์ |
พาดสายหมายล้างขุนยักษ์ | พระทรงจักรก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั่นครื้นพื้นภพจักรวาล | พระสุเมรุสะท้านสะเทือนไหว |
ต้องหมู่จตุรงค์พลไกร | บรรลัยเกลื่อนกลาดดาษดา |
แล้วศรพรหมาสตร์นั้นตรวยตรง | ไปต้ององค์ทศพักตร์ยักษา |
ตกลงจากรถรัตนา | ด้วยอานุภาพพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ต้องศรเจ็บช้ำทั้งอินทรีย์ | อสุรีเพียงสิ้นชีวัน |
ดำรงกายยอกรขึ้นเหนือเกศ | คิดคุณพรหเมศรังสรรค์ |
อุตส่าห์แข็งใจขบฟัน | กุมภัณฑ์ร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็ลูบลง | ศรหลุดจากองค์ยักษา |
จะกลับเข้าต่อฤทธา | ก็สิ้นอาวุธจะชิงชัย |
ทั้งสิ้นแสงสีรวีวร | จึ่งให้เลิกนิกรทัพใหญ่ |
โห่สนั่นลั่นเลื่อนสะเทือนไป | คืนเข้าในราชธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
เห็นทศเศียรอสุรี | เลิกโยธีกลับเข้าลงกา |
จึ่งเสด็จลงจากเวไชยันต์ | ทรงธรรม์เศร้าโทมนัสสา |
วิ่งไปยังองค์พระอนุชา | ด้วยกำลังกายาพระทรงครุฑ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจับหอกกบิลพัท | พระหัตถ์ประคองกระชากฉุด |
ไม่เขยื้อนเลื่อนจากพระวรนุช | ก็ทรุดองค์ลงกอดน้องรัก |
แสนทุกข์อาดูรพูนเทวษ | สองกรช้อนเกศขึ้นใส่ตัก |
ชลนัยน์ไหลนองคลองพักตร์ | พระทรงจักรรำพันโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้อนิจจาเจ้าลักษมณ์เอ๋ย | ทรามเชยผู้เพื่อนยากพี่ |
ไฉนไม่ระวังอินทรีย์ | ให้ต้องหอกอสุรีอาธรรม์ |
ล้มอยู่ดูน่าอนาถนัก | ปราบยักษ์หรือมาม้วยอาสัญ |
เมื่อโมกขศักดิ์กุมภัณฑ์ | ก็ปิ้มเสียชีวันในกลางพล |
แล้วซํ้าต้องศรนาคบาศ | พรหมาสตร์อินทรชิตเป็นสามหน |
หอกมูลพลัมฤทธิรณ | ก็เจียนจักเสียชนม์บรรลัยลาญ |
แต่พี่โศกีถึงสี่ครั้ง | ปิ้มจะม้วยชีวังสังขาร |
หากได้พิเภกชมพูพาน | กับศรีหนุมานผู้ศักดา |
ช่วยกันหายามาแก้พิษ | จึ่งคืนชีวิตกนิษฐา |
ครั้งนี้ตัวพี่ก็ออกมา | ควรหรือแก้วตามาบรรลัย |
ไตรโลกจะชวนกันติฉิน | ล่วงมาดูหมิ่นประมาทได้ |
ร่ำพลางโศกาสลบไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | สุครีพพิเภกยักษี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | เห็นพระจักรีผู้ศักดา |
กอดองค์พระลักษมณ์สลบไป | ตกใจเพียงสิ้นสังขาร์ |
ต่างตนต่างฟายนํ้าตา | โศกาครวญคร่ำรำพัน |
โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | พระเดชแผ่ทั้งสรวงสวรรค์ |
ได้พึ่งบาทเป็นสุขทุกนิรันดร์ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นโมลี |
ควรหรือมาทอดพระวรกาย | เหนือพื้นทรายอนาถทั้งสองศรี |
ดูดั่งไม่มีฤทธี | จะราวีต่อสู้กับหมู่ยักษ์ |
บรรดาท้าวพญาวานร | โศกาทุกข์ร้อนเพียงอกพัก |
ต่างตนชลนัยน์นองพักตร์ | ร่ำรักมี่อึงคะนึงไป |
เสียงระงมดั่งลมบรรลัยกาล | พัดพานซึ่งป่ารังใหญ่ |
ก็หักค้อมน้อมก้านกิ่งใบ | พลไกรไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ครั้นถึงลงกาธานี | เสด็จเข้ายังที่อลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรประภัสสร |
ท่ามกลางอนงค์บังอร | ดั่งดาวล้อมจันทรในเมฆา |
ที่ความเหนื่อยพักก็หายสิ้น | อสุรินทร์แสนโสมนัสสา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ดูรามณโฑน้องรัก |
วันนี้พี่ยกไปราญรอน | ต่อกรด้วยพวกปรปักษ์ |
จักฆ่าพิเภกขุนยักษ์ | ให้ไอ้ทรลักษณ์บรรลัย |
ตัดต้นก่นรากเหมือนเจ้าคิด | จะสมดั่งจิตก็หาไม่ |
พี่พุ่งกบิลพัทไป | มันแอบรถได้ไม่มรณา |
พลัดต้องพระลักษมณ์ฤทธิรงค์ | ตกลงจากราชรัถา |
นอนนิ่งสิ้นชีพชีวา | พี่จึ่งกลับมายังธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ได้ฟังพระราชสามี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
ซึ่งศัตรูหมู่เข็ญวอดวาย | เมียสบายคลายทุกข์ขึ้นหนักหนา |
พระผู้ปิ่นสามภพโลกโลกา | อย่าไว้ใจมนุษย์วานร |
เกลือกตายแล้วจะกลับคืนเป็น | เห็นมาหลายครั้งแต่ปางก่อน |
ด้วยพิเภกมันยังสถาวร | ภูธรรำพึงให้จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | อสุรีสำรวลไปมา |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนเยาวยอดเสน่หา |
เจ้าอย่าพะวงสงกา | ว่าจะคืนได้ชีวาลัย |
อันกบิลพัทของเรานี้ | ถึงยามีก็ไม่แก้ได้ |
ด้วยศีลาบดนั้นอยู่ไกล | ถึงใต้พระสุธาบาดาล |
พญานาครักษาไว้สามารถ | ในห้องปราสาทราชฐาน |
อันลูกหินแก้วสุรกานต์ | พี่คิดอ่านไปขอเอาขึ้นมา |
ทำเป็นเขนยไสยาสน์ | ผู้ใดไม่อาจรู้แห่งหา |
ถึงพิเภกจะประกอบสรรพยา | เห็นไม่ได้ศิลานี้ไป |
มาตรแม้นองค์ท้าวโกสิต | จะมาชุบชีวิตก็ไม่ได้ |
พรุ่งนี้พี่จะยกพลไกร | ไปจับไอ้พิเภกอาธรรม์ |
ตัดกรรอนบาทประจาน | ทรมานมันกว่าจะอาสัญ |
แล้วจะยกพลกุมภัณฑ์ | ไปโรมรันองค์ท้าวมาลี |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | แสนสนิทภิรมย์เกษมศรี |
เหนือแท่นทิพรัตน์รูจี | เป็นที่สิริไสยา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศา |
เสด็จเหนือทิพอาสน์โอฬาร์ | ในมหาวิมานอลงกรณ์ |
บังเกิดอัศจรรย์วิปริต | ถึงอาสน์แก้วชวลิตประภัสสร |
อันทรงสิริสถาวร | ให้ร้อนรุ่มดั่งสุมไฟกัลป์ |
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมา | เห็นพระอนุชารังสรรค์ |
ต้องหอกทศเศียรกุมภัณฑ์ | พระรามนั้นร่ำรักสลบไป |
สิ้นทั้งเสนาพลากร | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
ตรีเนตรตระหนกตกใจ | ให้ไขท่อทิพย์ธารา |
อันตลบด้วยกลิ่นเสาวคนธ์ | เยือกเย็นดั่งฝนแสนห่า |
ตกต้องทั้งสองกษัตรา | ทั่วหมู่โยธาพานรินทร์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงศิลป์ |
ทั้งพิเภกสุครีพขุนกระบินทร์ | สิ้นทั้งหมู่พวกพลไกร |
ครั้นต้องละอองทิพวารี | ก็คืนสมประดีขึ้นมาได้ |
แต่พระลักษมณ์ที่ต้องหอกชัย | แน่ไปไม่ฟื้นกายา |
พระหริรักษ์หนักใจไม่มีสุข | แสนทุกข์ถึงองค์กนิษฐา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกขุนมาร |
อันพระลักษมณ์ต้องหอกทศกัณฐ์ | ไม่ฟื้นชีวันสังขาร |
ตัวท่านผู้ปรีชาชาญ | จะคิดอ่านแก้ประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
อันน้องสมเด็จพระภุชพล | ไม่วายชนม์ด้วยมือยักษี |
ยาซึ่งจะแก้หอกนี้ | มีอยู่สำหรับกันมา |
คือสังกรณีลดาชาติ | มีอำนาจฤทธิคุณแกล้วกล้า |
กับต้นตู่ตัวตรีชวา | ที่ภูผาสัญชีพสัญญี |
ในทวีปอุดรกาโร | อันโอฬารวิเศษเฉลิมศรี |
อีกมูลโคพระศุลี | ซึ่งอยู่ถํ้าคีรีอินทกาล |
ใครหาวเป็นดาวเดือนภาณุมาศ | จึ่งจะอาจไปได้ถึงสถาน |
ศีลาบดอยู่ในบาดาล | พญากาลนาครักษาไว้ |
แต่ซึ่งลูกหินสำหรับนั้น | ทศกัณฐ์ไปขอเอามาได้ |
ทำเป็นเขนยแก้วอำไพ | หนุนไว้ใต้เศียรอสุรี |
ให้หนุมานไปเก็บโอสถ | บดแก้อาวุธยักษี |
น้องพระหริรักษ์จักรี | ก็จะได้ชีวีคืนมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | ผ่านฟ้าค่อยคลายสบายใจ |
จึ่งมีพระบัญชาการ | สั่งศรีหนุมานทหารใหญ่ |
ตัวท่านผู้มีฤทธิไกร | จงเร่งรีบไปในราตรี |
เก็บซึ่งยาทิพย์โอสถ | แล้วเอาหินบดมณีศรี |
ตามคำพิเภกอสุรี | ขุนกระบี่จงเร่งกลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วคลานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ยืนอยู่เหนือพื้นดินดอน | วานรนบนิ้วประนมไหว้ |
หลับเนตรร่ายเวทเกรียงไกร | สำรวมใจนิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เป็นพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าคีรีศรี |
แปดกรสี่พักตร์รูจี | มีกุณฑลแก้วแพรวพรรณ |
แล้วชักตรีเพชรออกกวัดแกว่ง | วาบวามดั่งแสงสุริย์ฉัน |
สำแดงฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | เหาะดั้นไปโดยเมฆา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสัญชีพสัญญี | ตรงลงที่ยอดภูผา |
เสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา | ด้วยอานุภาพเกรียงไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาน้อยใหญ่ |
ซึ่งพระเป็นเจ้าภพไตร | ให้อยู่รักษายานั้น |
ได้ยินภูผานิฤนาท | ไหวหวาดสะเทือนเลื่อนลั่น |
ตกใจวิ่งวุ่นพัลวัน | ตัวสั่นไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างองค์เหลือบแลขึ้นไป | ในยอดสัญชีพคีรีศรี |
จึ่งเห็นวานรผู้ฤทธี | สี่พักตร์ดั่งบรมพรหมาน |
กุณฑลขนเพชรโชติช่วง | แสงสว่างดั่งดวงพระสุริย์ฉาน |
ก็รู้ว่านารายณ์อวตาร | ใช้ให้ทหารมาเก็บยา |
นอกนี้ไม่มีใครองอาจ | สามารถมาได้ถึงภูผา |
ต้องกับโองการเจ้าโลกา | คิดแล้วเทวาก็ถามไป |
ตัวท่านผู้เรืองฤทธิรอน | มีนามกรเป็นไฉน |
มานี้ประสงค์สิ่งใด | ในสมัยเวลาราตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงวายุบุตรเรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เรานี้ชื่อว่าหนุมาน |
โอรสพระพายฤทธิรงค์ | มาเป็นเอกองค์ทหาร |
ข้าเฝ้าพระนารายณ์อวตาร | ผู้ผ่านกรุงศรีอยุธยา |
ยกพลนิกรมาปราบยักษ์ | บัดนี้พระลักษมณ์กนิษฐา |
ต้องกบิลพัทอสุรา | ในมหาสมรภูมิชัย |
ให้เรามาเก็บซึ่งโอสถ | ไปบดประกอบแก้ไข |
ตัวท่านผู้มีฤทธิไกร | จงช่วยบอกให้เราบัดนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งหมู่เทเวศเรืองศรี |
ได้ฟังออกนามพระจักรี | ยินดีชี้บอกสรรพยา |
นั่นสังกรณีโอสถ | อยู่ยอดบรรพตเงื้อมผา |
โน่นต้นตู่ตัวตรีชวา | ท่านผู้ศักดาจงเก็บไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | ก็เลียบไปเก็บยาบนคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ได้แล้วจึ่งมีวาจา | ถามเทพารักษ์เรืองศรี |
ว่าโคอุสุภราชพระศุลี | สถิตที่แห่งใดนะเทวัญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศรังสรรค์ |
ได้ฟังหนุมานชาญฉกรรจ์ | จึ่งชี้สำคัญบรรพตา |
โน่นแน่คือเขาอินทกาล | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าพระเวหา |
มีถํ้าสุวรรณรจนา | ที่อยู่พาหนะพระศุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | ขุนกระบี่ก็รีบเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งปากคูหา | ข้างเชิงบรรพตาทิศใต้ |
มืดมิดไม่เห็นสิ่งใด | ดั่งหมอกเนินไศลจักรวาล |
จึ่งอ้าโอษฐ์หาวเป็นดาวเดือน | ลอยเลื่อนดังดวงพระสุริย์ฉาน |
แจ้งกระจ่างพ่างพื้นดินดาน | ก็เข้าถํ้าสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ แลเห็นซึ่งโคอุสุภราช | พาหนาสน์พระอิศวรเรืองศรี |
เข้าใกล้แล้วกล่าววาที | บัดนี้สมเด็จพระจักรา |
รณรงค์ด้วยท้าวทศพักตร์ | พระลักษมณ์ต้องหอกยักษา |
จะขอมูลท่านไปประกอบยา | แก้พระอนุชาชัยชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระโคอุสุภราชใจหาญ |
ได้ฟังออกนามพระอวตาร | ก็คิดถึงโองการพระศุลี |
ว่าใครหาวเป็นดาวเดือนตะวัน | นั่นคือหนุมานกระบี่ศรี |
เป็นทหารพระนารายณ์ฤทธี | ภูมีใช้ให้มาเก็บยา |
จึ่งว่าดูก่อนวานร | ท่านผู้ฤทธิรอนแกล้วกล้า |
จงเอาไปตามตำรา | แก้พระอนุชาวิลาวัณย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรฤทธิแรงแข็งขัน |
ก็เก็บเอามูลนิลสดนั้น | ได้ครบครันแล้วก็รีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นออกมานอกคูหา | อินทกาลาสิงขร |
ก็ผาดแผลงสำแดงฤทธิรอน | แทรกแผ่นดินดอนลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงพิภพบาดาล | แสนสนุกโอฬารกว้างใหญ่ |
สว่างด้วยแสงแก้วแววไว | ก็เข้าในพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งบอกพญานาคราช | ว่าพระตรีภูวนาถนาถา |
รณรงค์กับองค์เจ้าลงกา | พระอนุชาต้องหอกอสุรี |
ตรัสใช้ให้เรามาหาท่าน | จะต้องการศีลามณีศรี |
บดซึ่งสรรพยาในราตรี | แก้พิษอสุรีหอกชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญานาคผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | ก็ส่งแม่หินให้ด้วยยินดี |
แล้วบอกว่าลูกศีลานั้น | ท้าวทศกัณฐ์ยักษี |
ขอขึ้นไปไว้ยังธานี | อสุรีทำเขนยหนุนนอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ครั้นได้ศีลาอลงกรณ์ | ก็แทรกแผ่นดินดอนขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งผาดแผลงสำแดงกำลังหาญ | ถีบทะยานขึ้นยังเวหา |
ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | เหาะไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลอยอยู่ในกลางอากาศ | ตรงปราสาททศพักตร์ยักษี |
จึ่งตั้งสัตยาวาที | เดชะบารมีพระสี่กร |
ซึ่งอวตารลงมาปราบยุค | ให้โลกเป็นสุขสโมสร |
ข้าจะไว้ศีลาในอัมพร | ให้ร่อนอยู่อย่าตกลงมา |
เสี่ยงแล้วก็ขว้างขึ้นไป | ในกลางพ่างพื้นเวหา |
ลอยอยู่ดั่งมีวิญญาณ์ | ด้วยเดชะสัจจาพานรินทร์ |
เสร็จแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศมืดมัวไปสิ้น |
ลงยังยอดปราสาทโกมิน | ด้วยกำลังกระบินทร์อันว่องไว ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ได้ยินสำเนียงเสียงกำนัล | ขับครวญโอดพันเสียงใส |
สำรวลซิกซี้มี่ไป | ทั้งในปราสาทอสุรา |
ขุนกระบินทร์นบนิ้วขึ้นบังคม | พระอิศวรบรมนาถา |
สำรวมใจร่ายเวทวิทยา | สะกดนิทราอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์อันเชี่ยวชาญ | บันดาลนิเวศน์ยักษี |
ให้เยือกเย็นไปทั้งธานี | ด้วยฤทธีขุนกระบี่ชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ