- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระบิตุเรศรังสรรค์ |
ฟังโอรสร่ำรำพัน | รับขวัญแล้วตรัสตอบไป |
เจ้าผู้ดวงเนตรดวงชีวี | พ่อว่าดั่งนี้หาควรไม่ |
ด้วยฝูงเทวาสุราลัย | เชิญให้ร่วมไวกูณฑ์มา |
สำหรับจะช่วยปราบยุค | ฤๅทนทุกข์ที่จะจากวงศา |
อันพระสัตรุดอนุชา | แก้วตาจงไปด้วยกัน |
ฝ่ายว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | กับองค์พระรามรังสรรค์ |
จะรักษานิเวศน์วังจันทน์ | ต่างกรรณต่างเนตรพระบิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ทั้งพระสัตรุดอนุชา | ฟังพระวาจาก็จนใจ |
ดั่งเหล็กเพชรลิขิตสุพรรณบัฏ | จะขัดพจมานก็ไม่ได้ |
ชุลีกรกราบทูลสนองไป | ลูกมิให้เคืองพระภูมี |
ว่าแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระบิตุเรศเรืองศรี |
กับสามสมเด็จพระชนนี | เชษฐาธิบดีรามา |
พระสัตรุดก็ลาพระลักษมณ์ | ต่างรักต่างโทมนัสสา |
ต่างองค์ต่างฟายน้ำตา | อาลัยมิใคร่จะจากกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นค่อยสร่างกำสรด | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | มาปราสาทสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งสี่พี่เลี้ยงซ้ายขวา | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
ให้เตรียมม้ารถคชไกร | จะยกไปไกยเกษบุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งพระพี่เลี้ยงทั้งสี่ |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดกระบวนหน้าหลังตามตำแหน่ง | โยธาม้าแซงซ้ายขวา |
ปลายเชือกกรกุมปืนยา | ใส่เสื้อสีฟ้าหมวกดำ |
ถัดนั้นใส่เสื้อเขียวขาบ | หมวกแดงขัดดาบด้ามคร่ำ |
ถัดมาเสื้อสีการะกำ | ใส่หมวกดอกคำทวนทอง |
ถัดมาใส่เสื้อสีหมอก | หมวกเขียวกุมหอกเป็นทิวท่อง |
เตรียมทั้งรถทรงรถรอง | ทุกกองคอยเสด็จยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา | เสด็จมาโสรจสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ เข้าที่ชำระสระสนาน | ทรงสุคนธ์ธารทิพย์เกสร |
ต่างสอดสนับเพลาเชิงงอน | อุทุมพรภูษาท้องพัน |
ชายแครงสุริกานต์ก้านขด | ชายไหวมรกตทับทิมคั่น |
ฉลององค์พื้นตาดต่างกัน | สังวาลวัลย์ตาบทิศทับทรวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายโชติช่วง |
ทรงมงกุฎแก้วดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
ขัดพระแสงขรรค์ฤทธิรงค์ | แล้วทรงสะพักธนูศร |
งามเพียงสุริยันจันทร | กรายกรขึ้นรถสุพรรณพราย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ รถเอยรถเนาวรัตน์ | แสงตรัสตรัสต้องพระสุริย์ฉาย |
แอกอ่อนอ่อนชดธงชาย | คล้ายคล้ายดุมวงวงเวียน |
แปรกบังบังใบประดับแก้ว | แพร้วแพร้วด้วยนาคเจ็ดเศียร |
โตกตั้งบัลลังก์แก้วแก้ววิเชียร | เทียมม้าม้าเขียนไม่เทียมทัด |
สารถีขี่ขับขับทะยาน | ธงฉานปลิวปลายปลายสะบัด |
เครื่องสูงเรียงรายรายรัตน์ | โยธาอึงอัดอัดไป |
ปี่กลองฆ้องขานขานเสียง | สำเนียงก้องก้องเพียงแผ่นดินไหว |
รีบเร่งเร่งหมู่พลไกร | เข้าในในแนวพนาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางตามหว่างสีขเรศ | ข้ามเขตห้วยธารคีรีศรี |
เห็นฝูงมฤคามฤคี | พระตรัสชี้บอกองค์อนุชา |
นั้นหมู่ละมั่งกวางทราย | ช้างพลายพาพวกออกจากป่า |
ลูกน้อยแนบข้างมารดา | บ้างกินหญ้าเย่อชักหักพง |
โคแดงแข่งหน้ากระบือเปลี่ยว | กระทิงเที่ยวขวิดดินกินป่ง |
พลางชมนกไม้ที่ในดง | ฝูงหงส์โหยหาคณานาง |
โนรีเรียงเคล้าบนเขาสูง | มยุราพาฝูงฟ้อนหาง |
สาลิกาเจรจาอยู่ริมทาง | นกลางเลียบไม้อยู่ตามกัน |
พญาลอล้อเล่นเป็นหมู่ | นกเขาเคียงคู่คูขัน |
ชมพลางเร่งพลจรจรัล | สิบห้าวันก็ถึงพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองล้วนหน้า |
ครั้นรู้ว่าองค์พระนัดดา | เสด็จมาถึงราชธานี |
ต่างคนมีใจเกษมสันต์ | บอกกันเอิกเกริกอึงมี่ |
ลูกค้าวาณิชกฎุมพี | จีนจามพราหมณ์ชีทั้งเวียงชัย |
บางคนอุ้มลูกจูงหลาน | วิ่งพล่านตามท้องถนนใหญ่ |
แก่เฒ่าก็ถือไม้เท้าไป | ที่เดินไม่ได้ก็ถัดมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ยัดเยียดเบียดเสียดกันสับสน | ตามแนวถนนซ้ายขวา |
เห็นสองพระราชกุมารา | ทรงรถรัตนาอลงกรณ์ |
นรลักษณ์พักตราวิลาวัณย์ | ผิวพรรณโอภาสประภัสสร |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | อันเขจรในพื้นนภาลัย |
บ้างโปรยปรายบุปผามาลาศ | เกลื่อนกลาดตามท้องถนนใหญ่ |
แซ่ซ้องอำนวยอวยชัย | อื้ออึงคะนึงไปทั้งธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ประทับรถกับเกยมณี | จรลีขึ้นเฝ้าพระอัยกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์น้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทยุคลซ้ายขวา |
ท่ามกลางเสนีมาตยา | ในมหาปราสาทพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษรังสรรค์ |
เห็นสองนัดดาวิลาวัณย์ | ผิวพรรณเลิศลํ้าอำไพ |
พิศพระสัตรุดอนุชา | พักตราดั่งดวงแขไข |
จำเริญรักในราชฤทัย | กอดไว้แล้วมีโองการ |
อันองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ปิ่นเกศอยุธยาราชฐาน |
เสวยแสนสมบัติอันโอฬาร | ผ่านฟ้ายังค่อยสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังโองการอันสุนทร | ชุลีกรแล้วทูลสนองไป |
อันซึ่งสมเด็จพระบิดา | ทุกข์โศกโรคานั้นหาไม่ |
แจ้งสารพระทรงภพไตร | ภูวไนยชื่นชมยินดี |
โปรดให้หลานรักทั้งสอง | มารองใต้เบื้องบทศรี |
องค์พระอัยกาธิบดี | ไปกว่าชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวไกยเกษนาถา |
ได้ฟังพระราชนัดดา | ดั่งอมฤตฟ้ายาใจ |
เพราะเสียงเพราะรสวาที | ไม่มีสิ่งที่จะเปรียบได้ |
ปรีชาเคล่าคล่องว่องไว | สมในสุริย์วงศ์เทวัญ |
จูบพักตร์ทั้งสองพระเยาวเรศ | เจ้าดวงนัยน์เนตรเฉลิมขวัญ |
อัยกาไร้วงศ์พงศ์พันธุ์ | จะปกป้องครองขัณฑเสมา |
พ่อจงทรงฤทธิอำนาจ | เป็นที่พึ่งแก่ญาติวงศา |
ประชาราษฎร์อำมาตย์โยธา | จะได้เป็นผาสุกสืบไป |
ตรัสแล้วจึ่งให้ประทาน | แสนสนมบริวารน้อยใหญ่ |
ทั้งปราสาทแก้วแววไว | โยธาข้าใช้ครบครัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
บังคมก้มเกล้าอภิวันท์ | ก็พากันไปปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ทั้งสองพระองค์ทรงสวัสดิ์ | เสวยสมบัติบรมสุขา |
อยู่ด้วยสมเด็จพระอัยกา | ในมหาไกยเกษเวียงชัย |
เย็นเช้าเข้าเฝ้าเป็นนิจ | ราชกิจอุตส่าห์เอาใจใส่ |
ต่างพระเนตรพระกรรณภูวไนย | ตั้งใจบริรักษ์สถาวร |
บำรุงเสนาพฤฒามาตย์ | ประชาราษฎร์เป็นสุขสโมสร |
ปราศจากภยันต์นิรันดร | พระนครเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวทศพักตร์ยักษี |
ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี | เป็นปิ่นโมลีลงกา |
ให้คิดอิ่มเอิบกำเริบฤทธิ์ | ด้วยใจทุจริตอิจฉา |
บัดนี้นักสิทธ์วิทยา | ล้วนมีวิชากระลาไฟ |
เหาะเหินเดินโดยอัมพร | จะชุบศิลป์ศรก็ย่อมได้ |
จะมีสานุศิษย์ฤทธิไกร | นานไปจะเป็นไพรี |
อย่าเลยกูจะให้ทำลาย | อันตรายพรตกรรมพระฤๅษี |
ให้เสียการกิจพิธี | ซึ่งมีอุตส่าห์ตบะญาณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วผินพักตร์มาบัญชา | สั่งนางกากนาใจหาญ |
ท่านจงพาพวกบริวาร | ไปเที่ยวจังทานพระมุนี |
ให้เสียกิจกรรมจำเริญพรต | ทุกอาศรมบทพระฤๅษี |
เจ็ดวันชวนกันไปโฉบตี | อย่าให้มีสุขสถาพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางกากนาชาญสมร |
รับสั่งท้าวยี่สิบกร | บทจรออกจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งเรียกฝูงนางบริวาร | อันกล้าหาญฤทธิแรงแข็งขัน |
เกลื่อนกลาดพื้นพงศ์กุมภัณฑ์ | พร้อมกันนิมิตเป็นกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จจำแลงแปลงตน | บินทะยานขึ้นบนเวหา |
เสียงปีกกึกก้องโกลา | ดั่งว่าอากาศจะทำลาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แผละ
๏ มาถึงซึ่งอาศรมบท | แห่งพระนักพรตทั้งหลาย |
บินว่อนร่อนร้องวุ่นวาย | ตาหมายฉาบโฉบลงมา |
เย่อแย่งหลังคาอาศรม | หักถล่มดั่งต้องพายุกล้า |
ไล่ขยิกจิกตีพระสิทธา | ฉวยเฉี่ยวชฎาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฤๅษีโยคีน้อยใหญ่ |
เห็นกากนาบังอาจใจ | โฉบไล่จิกตีจุลาจล |
ต่างองค์ตระหนกอกสั่น | วิ่งพะปะกันสับสน |
ตื่นแตกแยกไปทุกตำบล | อลวนไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นางกากนาสูรยักษี |
ครั้นเห็นคณะพระโยคี | แตกหนีจากบรรณศาลา |
ต่างตนรนร้องก้องกึก | ครึกครั่นสนั่นไปทั้งป่า |
แล้วพากันบินขึ้นเมฆา | กลับไปลงกาเวียงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระมุนีน้อยใหญ่ |
ครั้นเห็นฝูงกากลับไป | ก็ออกจากพุ่มไพรพนาลี |
จึ่งประชุมพร้อมกันปรึกษา | จะตั้งพรตจรรยาอยู่ที่นี่ |
หมู่กากนาอสุรี | เห็นจะมายํ่ายีเป็นนิจ |
จำจะแจ้งเหตุเภทภัย | แก่ท่านไทผู้ชื่อพระวสิษฐ์ |
กับพระมหาสวามิตร | คิดแล้วก็พากันรีบมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสององค์พระอาจารย์ | ยอกรมัสการเหนือเกศา |
บอกว่ามีกาอสุรา | เย่อแย่งศาลาวุ่นไป |
เจ็ดวันมันมาจลาจล | สุดทนสุดที่จะกลั้นได้ |
พระอาจารย์จงช่วยดับภัย | อย่าให้อสุรามายายี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ได้ฟังคณะพระโยคี | มีจิตคิดอัศจรรย์ใจ |
เอะเหตุไฉนกากนา | จึ่งมายํ่ายีฉะนี้ได้ |
แต่ก่อนบห่อนจะมีภัย | ที่ในบริเวณพนาวัน |
ชะรอยอสูรหมู่มาร | มาแกล้งจังทานด้วยโมหันธ์ |
ถึงยุคจะสิ้นโคตรมัน | เราจะพากันรีบจร |
เข้าไปกรุงศรีอยุธยา | หาท้าวทศรถชาญสมร |
ขอองค์พระรามฤทธิรอน | มาทรงศรสังหารอสุรี |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระวสิษฐ์ | กับพระสวามิตรฤๅษี |
ก็นำบริวารโยคี | ไปยังธานีอยุธยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังสถาน | สองพระอาจารย์ฌานกล้า |
กับพวกคณะพระสิทธา | ก็พากันเข้ายังพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ครั้นเห็นจึ่งเชิญพระนักธรรม์ | ให้นั่งอาสน์สุวรรณรูจี |
นบนิ้วถวายอภิวาทน์ | ภูวนาถตรัสถามพระฤๅษี |
ซึ่งพาคณะพระโยคี | มานี้จะประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ต่างองค์ถวายพระพรไป | บัดนี้มีภัยพาลา |
เพราะด้วยฝูงกากนามาร | มันจังทานดาบสที่ในป่า |
ไม่เป็นสวดมนตร์ภาวนา | รูปจึ่งเข้ามาทั้งนี้ |
จะขอพระรามพระลักษมณ์ | ไปมล้างอสุราศักดิ์ยักษี |
ดับเข็ญให้เย็นโยคี | ภูมีจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อันสองกุมารนี้เยาว์นัก | เห็นจะปราบยักษ์นั้นไม่ได้ |
ตัวโยมจะออกไปชิงชัย | ฆ่าเสียให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ไฉนว่าดั่งนี้พระผ่านฟ้า |
เมื่อพระนารายณ์อวตาร | ลงมาสังหารยักษา |
ซึ่งพระองค์ผู้ทรงศักดา | จะออกเข่นฆ่านั้นผิดไป |
อันว่าพระลักษมณ์พระราเมศ | ทรงศักดาเดชแผ่นดินไหว |
ถึงเท่านี้ก็มีฤทธิไกร | ดั่งหนึ่งกองไฟบรรลัยกัลป์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ได้ฟังเห็นชอบระบอบบรรพ์ | ทรงธรรม์จึ่งมีวาจา |
ซึ่งพระองค์จะพาสองหลาน | ออกไปสังหารยักษา |
ก็ต้องความตามไวกูณฐ์มา | สุดแต่พระมหามุนี |
ตรัสแล้วจึ่งมีพจนารถ | สั่งพระเยาวราชทั้งสองศรี |
เจ้าจงไปมล้างอสุรี | ที่ในอาศรมพระนักพรต |
ด้วยศรศักดาวราฤทธิ์ | ให้สุดสิ้นชีวิตทั้งหมด |
องค์พระมุนีผู้มียศ | จะได้จำเริญพรตภาวนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์จะให้ปราบยักษี | ที่มันทรลักษณ์หยาบใหญ่ |
ก็สมดั่งจิตลูกคิดไว้ | ดีใจเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ทั้งสามสมเด็จชนนี | ได้ฟังวาทีพระลูกรัก |
รับขวัญทั้งสองสุริย์วงศ์ | ต่างองค์โอบอุ้มขึ้นใส่ตัก |
ยอกรลูบหลังแล้วจูบพักตร์ | พ่อจักไปปราบอสุรา |
จงมีชัยแก่หมู่ปัจจามิตร | ด้วยศรสิทธิ์ของเจ้าอันแกล้วกล้า |
ให้ปรากฏยศไว้ในโลกา | แก้วตาจงไปสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารชาญสมร |
นบนิ้วดุษฎีชุลีกร | รับพรพระชนกชนนี |
กราบลงแทบเบื้องบทรัตน์ | ลาองค์กษัตริย์ทั้งสี่ |
ต่างจับศรสิทธิ์ฤทธี | งามสง่ายิ่งตรีโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระดาบสพรตกล้า |
กับทั้งคณะพระสิทธา | สมดั่งจินดาก็ยินดี |
จึ่งลาพระองค์ทรงเดช | พาพระเยาวเรศทั้งสองศรี |
ลงจากปราสาทมณี | ไปยังกุฎีพระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกากนาโมหันธ์ |
ครั้นถ้วนกำหนดเจ็ดวัน | ก็ชวนกันจำแลงแปลงกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ กลับกลายเป็นกาตัวหาญ | พาพวกบริวารทั้งหลาย |
บินขึ้นยังพื้นโพยมพราย | หมายไปศาลาพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤๅษี |
เคยขยาดฤทธาอสุรี | ได้ยินเสียงมี่ก็ตกใจ |
ต่างกลัวตัวสั่นขวัญหาย | วิ่งกระจัดพลัดพรายไม่อยู่ได้ |
บ้างฉุดยุดลากกันวุ่นไป | บ้างหนีเข้าในพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นหมู่คณะพระนักธรรม์ | พากันวิ่งวุ่นอึงมา |
ต่างจับพระแสงศรทรง | อาจองดั่งพระกาลหาญกล้า |
กวัดแกว่งสำแดงฤทธา | ออกจากศาลาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ แลเห็นฝูงกากนามาร | มาไล่รุกรานพระฤๅษี |
คิ้วตานั้นเป็นอสุรี | พระจักรีขึ้นศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นโพยมหน | ต้องพลตายยับไม่นับได้ |
พระลักษมณ์แผลงซ้ำเป็นเปลวไฟ | ไล่ล้างจนสิ้นพลกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ บัดนั้น | นางกากนาสูรยักษา |
เหลือบแลเห็นสองกุมารา | ฆ่าพวกพลกาวายปราณ |
กริ้วโกรธพิโรธตาแดง | กางปีกบังแสงสุริย์ฉาน |
แผดร้องก้องสนั่นหิมพานต์ | เหวยสองกุมารเท่าแมงใย |
เหตุใดใช่การมาราญรอน | นามกรสุริย์วงศ์ตำแหน่งไหน |
จึ่งทำอาจองทะนงใจ | ไม่กลัวฤทธิไกรอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | กูนี้มีนามรามา |
น้องเรานั้นชื่อเจ้าลักษมณ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์แกล้วกล้า |
อันพระบิตุรงค์ทรงศักดา | ผ่านกรุงอยุธยาธานี |
ตัวเอ็งอาสัตย์แสนร้าย | มาทำลายพรตกรรมพระฤๅษี |
กูจึ่งจะล้างชีวี | มึงนี้ให้สิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นางกากนาสูรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาฬ | แผดเสียงสะท้านทั้งไพรวัน |
เหม่เหม่เด็กน้อยอหังการ์ | กูจะผลาญชีวาให้อาสัญ |
ว่าพลางถาโถมเข้าโรมรัน | โฉบเฉี่ยวพัลวันเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองพระองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ต่างแกว่งศรสิทธิ์ฤทธี | ไล่ฟาดไล่ตีอสุรินทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องปีกหลีกเลี่ยงเวียนวง | ฝ่ายพระภุชพงศ์ก็ขึ้นศิลป์ |
ผาดแผลงถูกอกตกดิน | สิ้นชีพเป็นยักขินีไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสน้อยใหญ่ |
เห็นกากนาบรรลัย | ตกลงยังในสุธาธาร |
ด้วยศรพระลักษมณ์พระจักรา | ก็ปรีดาตบหัตถ์ฉาดฉาน |
อวยชัยให้พรพระกุมาร | แล้วพาหลานกลับเข้ากุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พลกากนาสูรยักษี |
เหลืออยู่ไม่สิ้นชีวี | เร้นหนีซอกซอนเวียนวน |
ตัวขาดบาดเจ็บเลือดไหล | เล็ดลอดบินไปในเวหน |
ปิ้มว่าจะตายวายชนม์ | ต่างคนรีบข้ามไปลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์สวาหุยักษา |
ทั้งพญามารีศอสุรา | ว่าพระมารดาเสด็จไป |
ฉาบอาศรมบทนักสิทธ์ | อันสถิตอยู่ในป่าใหญ่ |
พบสองกุมารชาญชัย | สุริย์วงศ์พงศ์ไหนมิได้รู้ |
ไม่มีโยธาพลากร | มือถือศิลป์ศรทั้งคู่ |
แกล้วกล้าเรืองฤทธิ์ดั่งพิษงู | มาอยู่อาศรมพระนักธรรม์ |
ศักดาสามารถอาจหาญ | ฆ่ากากนามารอาสัญ |
ทั้งองค์พระชนนีนั้น | ก็สุดสิ้นชีวันด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สวาหุมารีศยักษา |
ได้แจ้งแห่งคำกากนา | ว่าพระมารดาวายชนม์ |
สองยักษ์พิโรธโกรธเกรี้ยว | ขบเขี้ยวกระทืบบาทกุลาหล |
แผดผาดสีหนาทอึงอล | เหม่มนุษย์สองคนอหังการ |
เป็นลูกเต้าเผ่าพันธุ์ผู้ใด | จึ่งอาจใจฮึกฮักหักหาญ |
ไม่เกรงสุริย์วงศ์พงศ์มาร | จะผลาญให้เป็นภัสม์ธุลีกัลป์ |
ว่าพลางทางฉวยคทาวุธ | กวัดแกว่งอุตลุดดั่งจักรผัน |
เรียกรถเรียกพลกุมภัณฑ์ | อื้ออึงสนั่นเป็นโลกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ พิราพรอน
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษา |
ครั้นได้ยินเสียงอสุรา | ต่างฉวยสาตราคทาธร |
ดาบดั้งโล่เขนปืนไฟ | ง้าวทวนหน้าไม้ธนูศร |
กล้องสลัดแหลนซัดโตมร | กุญชรม้ารถครบครัน |
ต่างแกว่งอาวุธเป็นโกลา | พสุธาอากาศหวาดหวั่น |
พลมารแยกเขี้ยวเคี้ยวฟัน | เร่งกันมาคอยอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวนอก
๏ เมื่อนั้น | สวาหุมารีศยักษี |
โจนจากอาสน์แก้วรูจี | มาขึ้นรถมณีอลงการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยสองรถเพชร | สีเตร็จแสงตรัสพระเวหา |
เทียมสินธพสี่พันมา | เมฆามืดดั่งพลมาร |
เหล่ากากล้วนกองคะนองศึก | แห่คู่โห่คึกฉาวฉาน |
โลกาลั่นก้องจักรวาล | ดินสะท้านดั่งสะเทือนจลาจล |
เหล่ามารหลายหมู่ทำฤทธิ์ | ทุกทิศมืดทั่วมัวฝน |
กวัดดั้งแกว่งดาบอลวน | มาตรประจัญหมายประจญไพรี |
สิงขรสาครกัมปนาท | โลกธาตุสั่นทั่วทุกราศี |
รีบม้าเร่งมารโยธี | ลอยรี่เลื่อนราชรถมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอาศรมพระนักสิทธ์ | สองยักษ์ผู้มีฤทธิ์แกล้วกล้า |
เห็นศพพระราชมารดา | กับหมู่กากนาบรรลัย |
ชลเนตรคลอเนตรตัวสั่น | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
เรียกเร่งพหลพลไกร | ให้ล้อมอาศรมพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤๅษี |
ครั้นเห็นพวกพลอสุรี | ตกใจอึงมี่วุ่นวาย |
วิ่งเข้ากอดสองพระทรงฤทธิ์ | พระนักสิทธ์ตัวสั่นขวัญหาย |
จงช่วยรูปด้วยอย่าให้ตาย | บ้างตะเกียกตะกายทั้งศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารแกล้วกล้า |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าววาจา | พระอาจารย์อย่ากลัวกุมภัณฑ์ |
ถึงโกฏิแสนแน่นมาทั้งจักรวาล | หลานรักจะฆ่าให้อาสัญ |
ว่าแล้วกรายกรจรจรัล | ออกจากพระบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | มารีศสวาหุยักษา |
เห็นสองกุมารออกมา | ก็สั่งโยธาให้โจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ก็สำแดงฤทธีอันพิลึก |
ต่างแกว่งหอกง้าวทวนกระบอง | เผ่นโผนโจนร้องก้องกึก |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันครั่นครึก | ขับกันโห่ฮึกเข้ารอนราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
กับพระอนุชาชัยชาญ | เห็นหมู่มารบุกรุกเข้ามา |
สององค์กวัดแกว่งพระแสงศร | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
เข้าไล่ตีพลอสุรา | ด้วยกำลังศักดาว่องไว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารน้อยใหญ่ |
หมายมาดพิฆาตให้บรรลัย | กรูกันเข้าไล่อลวน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยิงแย้งแทงฟันอุตลุด | พุ่งซัดอาวุธดั่งห่าฝน |
ลางมารขบเขี้ยวคำรน | เข้าประจญไม่คิดชีวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระกุมารหาญกล้า |
ต่างแกว่งศรสิทธิ์ฤทธา | เข้าไล่เข่นฆ่ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาวุ่นไป | ว่องไวรวดเร็วดั่งจักรผัน |
พลมารตายยับทับกัน | ด้วยศักดาอันราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สวาหุมารีศยักษี |
แลเห็นพวกพลอสุรี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ |
ต่างตนกวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรกำลังหาญ |
เร่งให้โลทันขุนมาร | ขับรถทะยานเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เสียงกงกึกก้องกัมปนาท | พสุธาอากาศก็หวาดไหว |
สวาหุเข้าต่อฤทธิไกร | ชิงชัยด้วยองค์พระสี่กร |
มารีศนั้นเข้ารณรงค์ | ด้วยองค์พระลักษมณ์ทรงศร |
กวัดแกว่งเงื้อง่าคทาธร | หมายใจราญรอนพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
กับพระอนุชาคู่ชีวิต | ต่างชักศรสิทธิ์แผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงเพียงลมประลัยกัลป์ | โลกธาตุเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
ศรสองพระกุมารชาญชัย | ไปต้องสองรถอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พาชีสี่พันก็วินาศ | หัวขาดทั้งนายสารถี |
เรือนรถแหลกลงเป็นผงคลี | ด้วยฤทธีอันมหิมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สวาหุมารีศยักษา |
สิ้นรถสิ้นพลโยธา | อสุรากริ้วโกรธดั่งไฟกัลป์ |
ต่างตนต่างทำสีหนาท | กระทืบบาทสำเนียงดั่งฟ้าลั่น |
ร้องตวาดกราดเกรี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์โลดโผนเข้าต่อกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สวาหุนั้นเข้าโจมจับ | กับพระหริวงศ์ทรงศร |
มารีศเข้าต่อฤทธิรอน | ด้วยน้องพระสี่กรผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์นาถา |
กับองค์พระศรีอนุชา | สองราโจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างองค์ขึ้นเหยียบบ่ายักษ์ | กลอกกลับดั่งจักรพัดผัน |
สี่หาญสี่กล้าไม่ลดกัน | ต่างฟาดต่างฟันประจัญตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สวาหุมารีศยักษี |
บุกบันรานรุกคลุกคลี | ถ้อยทีประหารราญรอน |
สวาหุตีด้วยคทาวุธ | พระทรงภุชปัดกันด้วยคันศร |
มารีศหวดด้วยคทาธร | พระลักษมณ์ปัดกรขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
กับพระอนุชาชัยชาญ | รอนราญบุกบันประจัญตี |
พระนารายณ์ก็ฟาดด้วยศรทรง | ถูกองค์สวาหุยักษี |
พระลักษมณ์หวดมารีศอสุรี | กระเด็นไปจากที่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พระสี่กรจับศรพาดสาย | เยื้องกรายเหลือบแลแปรผัน |
แผลงต้องสวาหุกุมภัณฑ์ | ก็ม้วยชีวันด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายว่ามารีศยักษา |
ครั้นสวาหุมรณา | เห็นพระรามาเป็นสี่กร |
ตกใจขนพองสยองเกศ | แจ้งเหตุว่านารายณ์ทรงศร |
สุดกลัวสุดคิดจะราญรอน | ก็หนีไปนครลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวัญทุกทิศา |
ทั้งนางอัปสรกัลยา | แจ้งว่าองค์พระอวตาร |
เสด็จมาสังหารอสุรี | สุดสิ้นชีวีสังขาร |
ก็แซ่ซ้องร้องสาธุการ | ตบหัตถ์ฉัดฉานอึงไป |
โปรยปรายบุปผามาลาศ | ทั่วทุกวิมานมาศน้อยใหญ่ |
บ้างร้องอำนวยอวยชัย | เทพไทเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤๅษี |
เห็นยักษาตายยับไม่สมประดี | ด้วยฤทธีสองพระกุมาร |
ทั้งเทวาโปรยทิพย์มาลาศ | เกลื่อนกลาดส่งกลิ่นหอมหวาน |
ต่างองค์ชมโพธิสมภาร | ควรที่อวตารมาปราบยักษ์ |
ตั้งแต่นี้ไปจะสิ้นทุกข์ | เป็นสุขทั้งในไตรจักร |
ด้วยเดชะสมเด็จพระหริรักษ์ | กับองค์พระลักษมณ์อนุชา |
ว่าแล้วอำนวยอวยพร | ให้ฤทธิรอนปราบได้ทุกทิศา |
อันศัตรูหมู่ราชพาลา | จงพ่ายแพ้ศักดาทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระชนกฤๅษี |
แต่ได้ธิดาในวารี | เสี่ยงด้วยบารมีฝังไว้ |
กลับมาตั้งกรรมทำกิจ | จะให้สำเร็จฤทธิ์จงได้ |
อันฌานสมาบัติสิ่งใด | จะบังเกิดให้ก็ไม่มี |
จนเหนื่อยหน่ายคลายจากความเพียร | ที่จะเรียนโดยกิจพระฤๅษี |
จะใคร่ลาพรตจากโยคี | คืนเข้าบุรีมิถิลา |
คิดถึงบุตรีโฉมตรู | ที่ฝังอยู่ใต้ไทรสาขา |
ตกใจเรียกนายโสมมา | ก็พากันรีบออกไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงบริเวณมณฑล | ใต้ต้นนิโครธไทรใหญ่ |
จึ่งสั่งนายโสมผู้ร่วมใจ | ให้ขุดหาองค์พระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายโสมโยมพระฤๅษี |
จับจอบขุดพื้นปัถพี | ตามที่อันหมายสำคัญไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ใช้เรือ
๏ แต่รุ้งแระแสะหาอยู่ช้านาน | จะพบพานธิดาก็หาไม่ |
นั่งลงทิ้งจอบเสียทันใด | ร้องไห้แล้วบอกพระสิทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีผู้ทรงสิกขา |
ตกใจตะลึงทั้งกายา | ดั่งหนึ่งชีวาจะม้วยมิด |
ชลนาคลอคลองนองเนตร | แสนเทวษอัดอั้นตันจิต |
กลับรื้อรำพึงคำนึงคิด | อันจะสิ้นชีวิตนั้นผิดไป |
ตริแล้วจึ่งว่าแก่นายโสม | โยมฟังกูก่อนอย่าร้องไห้ |
อันองค์พระธิดายาใจ | เลิศลบนางในธาตรี |
เมื่อวันฝังได้ตั้งอธิษฐาน | ปทุมมาลย์ผุดรับนางโฉมศรี |
ด้วยเดชะบุญญาบารมี | อันจะสิ้นชีวีอย่าสงกา |
เทพไทที่ในพนาสัณฑ์ | เข้าป้องกันพิทักษ์รักษา |
เอ็งจงไปบอกแก่เสนา | ให้มาไถหาเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายโสมผู้ปรีชาหาญ |
ก้มเกล้ารับคำพระอาจารย์ | ก็ลนลานรีบเข้ายังเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงราชนิเวศน์ | แจ้งเหตุแก่ท่านเสนาใหญ่ |
เล่าความแต่ต้นจนปลายไป | ตามในคำสั่งพระสิทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีซ้ายขวา |
ได้ฟังนายโสมก็ปรีดา | เร่งรีบตรวจตราเกณฑ์กัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดทั้งรถรัตน์อัสดร | กุญชรโคตรคํ้าตัวขยัน |
แอกไถวัวควายครบครัน | สรรเอาแต่ล้วนตัวดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จแล้วก็ให้นายโสม | ผู้โยมรับสั่งพระฤๅษี |
นำหมู่พหลโยธี | ตรงไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดทวยหาญ | ตั้งไว้แทบธารชายป่า |
นายโสมกับหมู่เสนา | เข้าไปวันทาพระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระชนกดาบส |
เห็นพร้อมโยธาม้ารถ | จึ่งมีพจนารถตรัสไป |
เรานี้ได้ราชธิดา | มาฝังไว้ใต้ต้นไทรใหญ่ |
จงช่วยไถหาอรไท | ได้แล้วจะคืนเข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
ก้มเกล้ารับสั่งด้วยยินดี | ชุลีกรแล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เทียมคู่โคแลกาสร | ซับซ้อนเกลื่อนกลาดดาษป่า |
ไถไปตามสั่งพระสิทธา | เวียนรอบฉายาต้นไทร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ พญาเดิน
๏ กลับไปกลับมาหลายตลบ | จะพบพระธิดาก็หาไม่ |
ทั้งเหนื่อยทั้งร้อนอ่อนใจ | หยุดลงกราบไหว้พระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนกมหาฤๅษี |
ครั้นไม่พบองค์พระบุตรี | ทุกข์ดั่งชีวีจะบรรลัย |
ชลนัยน์ไหลคลอคลองเนตร | ที่กำหนดสังเกตก็สงสัย |
โอ้ว่าจะทำประการใด | จึ่งจะได้ลูกน้อยคืนมา |
ฤๅว่าเทวาสุราฤทธิ์ | แกล้งปิดบังไว้กระมังหนา |
คิดแล้วจึ่งตั้งสัจจา | เดชะบุญญาของลูกรัก |
จะได้สืบประยูรสุริย์วงศ์ | อยู่ด้วยเอกองค์พญาจักร |
เป็นปิ่นอนงค์ทรงลักษณ์ | ที่พึ่งพำนักประชาชี |
ขอจงพญาอุศุภราช | ชาติโคอาชาเฉลิมศรี |
นำให้พบองค์พระบุตรี | พระโยคีว่าแล้วก็ไถไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวจีน
๏ พบซึ่งดวงทิพย์ปทุมมาลย์ | โอภาสกลีบก้านสดใส |
ส่งกลิ่นหอมรื่นชื่นใจ | อำไพบานแย้มขจายจร |
เห็นทั้งผอบสุวรรณรัตน์ | จำรัสในห้องเกสร |
ดั่งมณฑาทิพย์อรชร | จับแสงทินกรพรายพรรณ |
เปิดขึ้นเห็นโฉมพระธิดา | งามยิ่งนางฟ้าในสวรรค์ |
นรลักษณ์พักตราวิลาวัณย์ | รับขวัญแล้วอุ้มนางเทวี |
จากผอบสุวรรณบรรจง | รูปทรงเท่านางในราศี |
แรกปฏิสนธิเป็นนารี | สิบหกปีจำเริญนัยนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนีโยธีถ้วนหน้า |
พิศวงในองค์พระธิดา | เป็นมหามหัศอัศจรรย์ |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญเนตร | เยาวเรศงามลํ้านางสวรรค์ |
ยอกรถวายพรขึ้นพร้อมกัน | เสียงสนั่นลั่นป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระชนกมหาฤๅษี |
ก็พาพระราชบุตรี | ไปยังที่บรรณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงอาวาสตำหนักไพร | มีใจแสนโสมนัสสา |
จึ่งกล่าวสุนทรวาจา | แก่พระธิดาวิลาวัณย์ |
ตัวพ่อไร้ราชสุริย์วงศ์ | จะดำรงพิภพไอศวรรย์ |
จึ่งมาสร้างพรตตบะกรรม์ | อยู่ที่ในอารัญคีรี |
เป็นกุศลผลบุญยิ่งนัก | จึ่งได้ลูกรักเฉลิมศรี |
สมความปรารถนาในครานี้ | ที่จะสืบสุริย์วงศ์กษัตรา |
พ่อจะประสาทพระนามให้ | ดวงใจแสนสุดเสน่หา |
จงชื่อว่านางสีดา | อันตรายโรคาอย่าแผ้วพาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ฟังพระบิดาบัญชาการ | เยาวมาลย์กราบลงกับบาทา |
อันคุณของพระบิตุเรศ | ซึ่งปกเกศชุบเกล้าเกศา |
จะชั่งด้วยปัถพีแผ่นฟ้า | มหาคงคาสมุทรไท |
ทั้งไตรโลกาเอามาเทียบ | จะเปรียบเท่าทันนั้นไม่ได้ |
ลูกจะขอสนองรองบาทไป | กว่าชีวาลัยจะม้วยมิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ว่าราชกิจ |
ยอกรเหนือศิโรโมลิศ | ทูลพระนักสิทธ์ทันที |
แต่พระสละนัคเรศ | ออกมาทรงเพศเป็นฤๅษี |
ให้ข้ารักษาไว้หลายปี | มิได้มีเหตุเภทพาล |
บัดนี้ก็ได้พระธิดา | เชิญลาพรตพรหมวิหาร |
คืนเข้านัคเรศโอฬาร | สำราญในเศวตฉัตรชัย |
ทั้งพระญาติประยูรสุริย์วงศ์ | จะคลายทรงโศกากันแสงไห้ |
ไพร่ฟ้าประชาชีจะดีใจ | พระองค์จงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระชนกมหาฤๅษี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | มาโสรจสรงลงที่กายา |
จึ่งเปลื้องคากรองเปลือกไม้ | ทั้งสไบหนังเสือออกจากบ่า |
ก็ลาพรตพิธีจรรยา | ทรงเครื่องกษัตราอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เสร็จแล้วขึ้นรถสุวรรณมาศ | กับพระราชธิดาดวงสมร |
ให้เลิกจัตุรงค์รีบจร | ออกจากสิงขรกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เดินทางหว่างทุ่งวุ้งป่า | ข้ามชลาห้วยธารคีรีศรี |
เสียงรถเสียงทศโยธี | กาหลอึงมี่สนั่นไพร |
ม้าแซงจีนห้อถือเกาทัณฑ์ | ขี่ขับแข่งกันเป็นอย่างใหญ่ |
สารถีเร่งขับรถชัย | ตรงไปยังกรุงมิถิลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
เศรษฐีชีพราหมณ์พฤฒา | แจ้งว่าพระทรงธรณี |
ได้ธิดาในดวงปทุมมาศ | งามวิลาสลํ้านางอัปสรศรี |
ลาพรตกลับเข้าบุรี | บอกกันมามี่อึงไป |
เห็นพระองค์ทรงรถสุรกานต์ | ทวยหาญแห่ห้อมล้อมไสว |
พระธิดานั่งหน้ารถชัย | งามดั่งแขไขในอัมพร |
ต่างดูต่างเพลินไม่เมินตา | ต่างต่างปรีดาสโมสร |
ต่างโปรยดวงบุษบากร | อวยชัยถวายพรทั้งธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิเรืองศรี |
ครั้นถึงเกยแก้วรูจี | ภูมีให้หยุดรถทรง |
เสนาบังคมก้มเกล้า | ดั่งเทเวศร์เฝ้าท้าวครรไลหงส์ |
แตรฝรั่งเป่าเชิญเสด็จลง | ปี่กลองส่งเสียงสังข์โกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางรัตนมณีเสน่หา |
อันเป็นองค์อัครชายา | กับฝูงคณานางใน |
อีกทั้งนางท้าวเถ้าแก่ | ชะแม่พนักงานน้อยใหญ่ |
นุ่งห่มผัดหน้ากันไร | ออกไปรับเสด็จพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวชนกจักรวรรดิรังสรรค์ |
จึ่งนำพระธิดาวิลาวัณย์ | จรจรัลขึ้นปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | งามดั่งเทวราชนาถา |
พร้อมด้วยอนงค์กัลยา | ดาษดาก้มเกล้าประนมกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาดวงสมร |
เห็นองค์พระราชมารดร | บังอรกราบลงกับบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางรัตนมณีเสน่หา |
พิศโฉมพระราชธิดา | ลักขณาพริ้มพร้อมทั้งอินทรีย์ |
อรชรอ้อนแอ้นคมขำ | งามลํ้านางฟ้าในราศี |
นวลละอองผ่องแผ้วไม่ราคี | เทวีสวมสอดกอดไว้ |
รับขวัญแล้วกล่าวสุนทร | สายสมรผู้ยอดพิสมัย |
แม่รักเจ้าเท่าเทียบเปรียบดวงใจ | ด้วยไร้โอรสแลธิดา |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พงศ์กษัตริย์ | เฉลิมเกียรติจักรพรรดิไปภายหน้า |
เป็นศรีเมืองเรืองกรุงมิถิลา | แก้วตาแม่โสมนัสนัก |
แล้วประทานเครื่องต้นเครื่องทรง | สำหรับนางคู่องค์พญาจักร |
ให้อยู่ปราสาทแก้วพรหมพักตร์ | ถนอมรักดั่งดวงชีวา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา