- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ปรนนิบัติรักษาพระจักรี | กับทั้งพี่นางสีดา |
ดั่งองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ชนนีก่อเกศเกศา |
เป็นนิจนิรันดร์ทุกวันมา | ครั้นถึงเวลาก็คลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวเก็บผลาผล | ที่บนแนวเนินเขาใหญ่ |
เห็นหมู่โยคีชีไพร | ตกใจวิ่งอึงคะนึงมา |
บ้างล้มบ้างลุกคลุกคลาน | ซานเข้าพุ่มไม้ใบหนา |
หนามไหน่เกี่ยวยับทั้งกายา | ปีนป่ายหินผาบรรพต |
แล้วได้ยินเสียงอึงมี่ | ผงคลีมืดฟ้าบังบด |
จึ่งแลไปเห็นพระพรต | นำทศโยธามาแน่นนันต์ |
พิโรธโกรธกริ้วดั่งไฟกาฬ | กูจะผลาญชีวิตให้อาสัญ |
จึ่งขึ้นศิลป์ลองสายยืนยัน | เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ยินเสียงกึกก้องโกลี | ภูมีรำพึงคะนึงคิด |
เจ้าลักษมณ์ไปเก็บผลไม้ | เหตุใดจึ่งขึ้นศรสิทธิ์ |
หรือเกิดปรปักษ์ปัจจามิตร | คิดแล้วก็รีบเสด็จมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินแนวสีขเรศ | ทอดพระเนตรเห็นองค์กนิษฐา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก้วตาจะแผลงอันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
กราบลงแล้วทูลสนองไป | น้อยใจพระพรตอหังการ |
ฝ่ายแม่ริษยาอาสัตย์ | ให้พระองค์พลัดพรากจากสถาน |
ตัวได้ครอบครองศฤงคาร | สำราญแล้วยังไม่หนำใจ |
บัดนี้ยกพลตามมา | จะทำร้ายเคี่ยวฆ่าเราให้ได้ |
องอาจโลภล้นเป็นพ้นไป | จะไว้ชีวิตไม่ไยดี |
น้องจะอาสาออกต่อยุทธ | กับบุตรนางไกยเกษี |
ฆ่าเสียให้สิ้นชีวี | จงสาใจที่หมิ่นประมาทกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์รังสรรค์ |
จึ่งห้ามอนุชาวิลาวัณย์ | เจ้าอย่าหุนหันโกรธา |
อันเราพี่น้องทั้งสี่ | เทเวศร์ฤๅษีพร้อมหน้า |
ประชุมเชิญให้ไวกูณฐ์มา | ปราบหมู่อสุราสาธารณ์ |
ถ้าพระพรตร่วมคิดกับชนนี | ไว้นักงานพี่จะสังหาร |
เห็นจะไม่เป็นภัยพาล | พระอาจารย์ทั้งสี่ก็ตามมา |
แล้วสององค์ทรงเพศเป็นนักสิทธ์ | ผิดทีที่จะตามมาเข่นฆ่า |
แล้วเดินกันแสงโศกา | ไม่ถือศาสตราสิ่งใด |
พ่อจงพิศดูให้ประจักษ์ | น้องรักอย่าคิดสงสัย |
เห็นจะตามมารับกลับไป | ยังในอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
พิศเพ่งเล็งดูไปทันที | เห็นจริงดั่งมีพระบัญชา |
จึ่งยอกรขึ้นถวายบังคม | ทูลพระบรมเชษฐา |
นี่หากพระองค์เสด็จมา | หาไม่จะฆ่าชีวิตกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
จึ่งชวนอนุชาวิลาวัณย์ | กลับมาอารัญกุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระสระภังค์มหาฤๅษี |
เป็นต้นหนนำพลโยธี | จรลีหว่างเขาลำเนาไพร |
แลเห็นสัตกูฏภูผา | เงื้อมงํ้าเมฆาสูงใหญ่ |
ยกหัตถ์ชี้บอกพระพรตไป | โน่นที่อาศัยพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องพระภุชพงศ์ทรงศร |
จึ่งให้หยุดรถรัตน์อัสดร | ตามเนินสิงขรคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ สองกษัตริย์กับนายกุขัน | สุมันตันดาบสทั้งสี่ |
ออกจากที่ประชุมโยคี | จรลีตามแถวแนวธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงบริเวณจงกรม | พฤกษารื่นร่มรโหฐาน |
เห็นองค์พระลักษมณ์พระอวตาร | กับโฉมเยาวมาลย์สีดา |
จึ่งวิ่งเข้ากอดบาทบงสุ์ | องค์พระบรมเชษฐา |
สองกษัตริย์กันแสงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระรามพระลักษมณ์เรืองศรี |
เห็นพระพรตพระสัตรุดโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะจากกาย |
ให้เร่าร้อนดั่งนอนในเพลิงพิษ | สลดจิตจาบัลย์ขวัญหาย |
กลัวสองอนุชาจะวอดวาย | พระนารายณ์สะท้อนถอนใจ |
จึ่งสวมสอดกอดองค์พระพรต | พระทัยหวั่นรันทดละห้อยไห้ |
พระลักษมณ์กอดพระสัตรุดไว้ | ร่ำไรทั้งสี่กษัตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นคลายโศกาอาวรณ์ | พระสี่กรธิราชนาถา |
จึ่งมีมธุรสวาจา | ถามพระอนุชาธิบดี |
ดูกรพระน้องทั้งสององค์ | ผู้ร่วมสุริย์วงศ์กับพี่ |
เหตุไฉนไม่ครองธานี | พากันมานี่ด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตผู้มีอัชฌาสัย |
สะอื้นพลางทางทูลสนองไป | ข้าแจ้งใจว่าองค์พระบิดา |
จะมอบสมบัติพระจักรี | น้องนี้แสนโสมนัสสา |
ครั้นเข้ามาถึงพารา | แจ้งว่ามารดาข้าอาธรรม์ |
ยกสัตย์ขัดราชโองการ | ชิงที่ราชฐานไอศวรรย์ |
ขับพระองค์มาอยู่ไพรวัน | โทษนั้นถึงสิ้นชีวี |
พระพี่จงหั่นบั่นรอน | ตัดกรตัดเกล้าเกศี |
ให้หนำใจคนใจกาลี | ที่คิดริษยาสาธารณ์ |
ขอเชิญพระองค์ทรงเดช | คืนครองนัคเรศราชฐาน |
ประชาชนจะได้พึ่งบทมาลย์ | ผ่านเกล้าจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังพระพรตอนุชา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
ความสัตย์ท่านปฏิญาณกัน | เจ้าว่าดั่งนั้นหาควรไม่ |
ตัวพี่มิได้น้อยใจ | ด้วยความยากไร้กันดาร |
ซึ่งพ่อพากันออกมารับ | จะให้กลับไปครองราชฐาน |
ก็จะเสียความสัตย์ปฏิญาณ | พระผู้ประทานโลกา |
อันพระองค์บัญชาประกาศิต | ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นผา |
ตรีโลกจะกระหายนินทา | แก้วตาจงฟังพี่พาที |
เชิญเจ้าคืนเข้าพระนิเวศน์ | ครอบครองนัคเรศเฉลิมศรี |
ซึ่งทิ้งพระชนกชนนี | ออกมาตามพี่ที่ในไพร |
ผู้ใดจะพิทักษ์รักษา | ผ่านฟ้าอยู่ดีหรือไฉน |
โรคายายีประการใด | ในใต้เบื้องบาทพระบิดร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังบัญชาพระสี่กร | ยิ่งเร่าร้อนฤทัยรันทด |
น้อมเศียรถวายอภิวาทน์ | กราบทูลเบื้องบาทบงกช |
อันพระบิตุรงค์ทรงยศ | กำสรดโศกาจาบัลย์ |
วันพระองค์ออกจากนัคเรศ | ทรงเดชสิ้นชีพอาสัญ |
ตัวน้องนี้มาก็ไม่ทัน | เมื่อพระสวรรคาลัย |
แต่สั่งขาดโดยราชบัญชา | แก่สองพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
มิให้แม่ข้ากับข้าไป | จุดไฟต้องศพภูมี |
น้องนี้ขัดสนเป็นพ้นคิด | ดั่งจะสิ้นชีวิตลงกับที่ |
ไม่มีใครปกเกล้าเมาลี | จึ่งเชิญสองชนนีนงลักษณ์ |
ออกมารับเบื้องบาทบงสุ์ | คืนไปดำรงอาณาจักร |
ให้สิ้นมลทินโทษของน้องรัก | ที่พลอยทรลักษณ์ด้วยมารดา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงครุฑราชปักษา |
ทั้งองค์อัคเรศสีดา | พระลักษมณ์อนุชาวิลาวัณย์ |
แจ้งว่าสมเด็จพระบิตุรงค์ | พระองค์สิ้นชีพอาสัญ |
ตกใจดั่งใครมาฟาดฟัน | ก็ครวญคร่ำรำพันโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าพระองค์ทรงจักร | เมื่อได้ลูกรักทั้งสี่ |
ต้องให้ห้าพระมุนี | ไปขอพระศุลีมีฤทธิ์ |
พร้อมหมู่เทเวศร์มัฆวาน | พระทรงญาณบัญชาประกาศิต |
ให้อวตารมาผลาญปัจจามิตร | จึ่งสมดั่งคิดพระบิดร |
ครั้นลูกค่อยจำเริญวัย | ก็ตั้งพระทัยสั่งสอน |
เลี้ยงมามิได้อนาทร | สถาวรดั่งเทวกุมาร |
ลูกคิดจะรองฉลองบาท | ไปกว่าชีวาตม์อวสาน |
เวราตามทันบันดาล | มีมารจำพรากให้จากมา |
ยังไม่ได้แทนพระคุณก่อน | ภูธรมาสิ้นสังขาร์ |
เพราะลูกนิราศพระบาทา | อนิจจามิได้เห็นใจ |
แต่ถวายพระเพลิงทรงธรรม์ | จะเห็นเปลวไฟนั้นก็หาไม่ |
สามกษัตริย์โศกาอาลัย | สลบไปไม่รู้สมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
เห็นสามกษัตริย์โศกี | ล้มลงกับที่ศาลา |
ตกใจดั่งสายสุนีบาต | มาฟอนฟาดชีวังสังขาร์ |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | ทั้งสองกษัตราก็โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ โอ้ว่าสิ้นบุญพระบิตุเรศ | ไม่มีใครปกเกศเกศี |
เห็นแต่สมเด็จพระจักรี | เป็นปิ่นโมลีสืบไป |
พระองค์มาม้วยชีวัน | น้องจะอยู่ไปนั้นกระไรได้ |
จะขอตามเสด็จพระภูวไนย | ไปยังสวรรค์ชั้นฟ้า |
ร่ำพลางพระพรตเข้ากอดบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
พระสัตรุดกอดพระลักษมณ์พี่ยา | โศกาแน่นิ่งสลบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
เห็นห้ากษัตริย์โศกาลัย | ร่ำไรสลบลงด้วยกัน |
ตกใจตะลึงทั้งกายา | คิดว่าสิ้นชีพอาสัญ |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | ก็จรจรัลมาเฝ้าพระเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ นบนิ้วทูลว่าพระพรต | พระสัตรุดโอรสสองศรี |
ไปพบพระลักษมณ์พระจักรี | กับองค์เทวีสีดา |
ต่างแถลงแจ้งความแล้วแสนโศก | ต่างวิโยคเศร้าโทมนัสสา |
บัดนี้ทั้งห้ากษัตรา | กันแสงโศกานิ่งไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางผู้ยอดพิสมัย |
ได้ฟังพ่างเพียงจะขาดใจ | อรไทก็รีบจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเห็นห้าลูกรัก | ซบพักตร์แน่นิ่งอยู่กับที่ |
สำคัญว่าม้วยชีวี | มารศรีก็ร่ำโศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าพระลักษมณ์พระสี่กร | สีดาดวงสมรเสน่หา |
แต่เจ้าออกจากพารา | แม่กินนํ้าตาไม่วายวัน |
ตามมาหวังว่าจะเห็นพักตร์ | ลูกรักมาม้วยอาสัญ |
เมื่อพร้อมสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | จอมขวัญของแม่ไม่เจรจา |
โอ้ว่าพระพรตพระสัตรุด | ทั้งสองแสนสุดเสน่หา |
ซื่อตรงต่อองค์พระพี่ยา | ตามมาจนพบกันกลางไพร |
หวังเชิญคืนครองนัคเรศ | เป็นปิ่นเกศกษัตริย์น้อยใหญ่ |
ควรหรือมาพากันบรรลัย | ทิ้งแม่นี้ไว้ให้ทนทุกข์ |
ถึงมาตรว่าคงชีวี | ที่ไหนจะมีความสุข |
ธานีจะเกิดกลียุค | แสนทุกข์เวทนาเป็นพ้นนัก |
ฝูงมนุษย์เทวาดาบส | จะเดือดร้อนไปหมดทั้งไตรจักร |
ร่ำพลางค่อนทรวงเข้าฮักฮัก | ซบพักตร์แน่นิ่งสลบไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ทั้งเถ้าแก่ท้าวนางข้างใน | บรรดาได้ตามเสด็จจร |
เห็นเจ็ดกษัตริย์สุริย์วงศ์ | สลบลงในที่สโมสร |
ตกใจดั่งใครมาฟันฟอน | อาวรณ์ครวญคร่ำโศกา |
กลิ้งเกลือกเสือกลงกับปัถพี | เสียงมี่ดั่งหนึ่งพายุกล้า |
บ้างสลบไม่ติงกายา | ที่ในศาลาอารัญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สี่พระอาจารย์ฌานขยัน |
กับมหาเสนาสุมันตัน | กุขันพรานป่าพนาลี |
ต่างคนตระหนกตกใจ | โศการ่ำไรทั้งฤๅษี |
วิ่งวุ่นไปทั่วกุฎี | เรียกหาหมอมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่แพทยาถ้วนหน้า |
ซึ่งเป็นหมอนวดหมอยา | ได้ยินเสียงเรียกมาก็ตกใจ |
ฉวยผ้าสมปักเข้านุ่ง | จะมีผ้าพันพุงก็หาไม่ |
คว้าได้ล่วมยาก็พาไป | ยังในอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นกษัตริย์ทั้งเจ็ดองค์ | กับฝูงอนงค์สาวศรี |
แน่นิ่งไม่ติงอินทรีย์ | ดั่งสิ้นชีวีด้วยกัน |
บรรดาแพทย์หมอที่เข้ามา | ตกประหม่าหน้าซีดตัวสั่น |
บ้างเป่ายานัตถุ์บ้างนวดฟั้น | ช่วยกันแก้ไขวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางท้าวเถ้าแก่ผู้ใหญ่ |
ทั้งฝูงสนมกำนัลใน | ก็ได้สติคืนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระดาบสพรตกล้า |
สุมันตันกับหมู่แพทยา | เห็นเจ็ดกษัตราไม่ฟื้นกาย |
ให้เร่าร้อนฤทัยดั่งไฟลน | ทุกคนตกใจใจหาย |
ปรึกษาหารือกันวุ่นวาย | แล้วสั่งเจ้าขรัวนายพนักงาน |
จงเอาสุคนธาวาริน | อันมีรสกลิ่นหอมหวาน |
เข้าไปลูบไล้รำเพยพาน | ให้ซาบซ่านองค์เจ็ดกษัตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางท้าวเถ้าแก่ถ้วนหน้า |
จึ่งเอาจอกแก้วอลงการ์ | มาใส่สุคนธาวารี |
เข้าไปลูบไล้ชะโลมองค์ | เจ็ดกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
บ้างเข้าโบกปัดพัดวี | ก็ได้สมประดีพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
กับพระลักษมณ์นางสีดาวิลาวัณย์ | ผันพักตร์มาเห็นพระชนนี |
ต่างน้อมเศียรเกล้าลงกราบบาท | พระราชมารดาทั้งสองศรี |
สามองค์ทรงโศกโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองพระชนนีเสน่หา |
สวมกอดพระลักษมณ์พระรามา | กับนางสีดาดวงจันทร์ |
พิศพักตร์แล้วลูบอินทรีย์ | มีพระเสาวนีย์รับขวัญ |
จงระงับโศกาจาบัลย์ | อย่ากันแสงนักเลยนะลูกรัก |
พระบิตุรงค์ปลงชีพชีวา | แม่แสนโศกาเพียงอกหัก |
ทั้งทุกข์ถึงเจ้าเป็นพ้นนัก | เพียงจักสุดสิ้นพระชนมาน |
บัดนี้พระพรตผู้น้อง | ก็ไม่ครองพาราราชฐาน |
กริ้วโกรธมารดาดั่งเพลิงกาฬ | จะประหารให้สิ้นชีวี |
จึ่งพาแม่นี้ออกมาตาม | ไม่ฟังความนางไกยเกษี |
เชิญเจ้าเข้าไปยังธานี | ครอบครองบุรีภิรมยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ตัวลูกรับสัตย์พระบิตุเรศ | จะให้คืนนิเวศน์กระไรได้ |
แม้นมาตรจะยากลำบากใจ | ที่ในอรัญกันดาร |
จะอยู่ตามบัญชาประกาศิต | ถึงจะสิ้นชีวิตสังขาร |
มิให้ไตรโลกทายประมาณ | แก่พระผู้ผ่านธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
นั่งอยู่ท้ายรถมณี | เทวีนิ่งนึกตรึกไป |
สะเทิ้นจิตคิดเกรงพระอวตาร | จะนิ่งอยู่นานก็ไม่ได้ |
จึ่งเรียกกุจจีผู้ร่วมใจ | ลงจากรถชัยรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงมิใคร่เข้าชิด | ดำรงจิตนั่งลงตรงหน้า |
แล้วมีมธุรสวาจา | พระจักราจงได้ปรานี |
แม่ทำชั่วช้าสาหัส | ให้พ่อพลัดจากสุขเกษมศรี |
จนพระบิตุรงค์ทรงธรณี | ภูมีสิ้นชีพชีวัน |
เพราะว่าแม่นี้อัปลักษณ์ | ทรลักษณ์โลภล้นโมหันธ์ |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟกัลป์ | เพียงจักฆ่าฟันให้มรณา |
พ่อได้เมตตาปรานีก่อน | มารดรขอประทานโทษา |
เชิญเจ้าคืนเข้าพารา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชาชี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ลูกนี้ไม่ผูกเวรา |
ด้วยผลกรรมนำสนอง | จึ่งให้ต้องสัญจรนอนป่า |
มิได้แทนคุณพระบิดา | เมื่อผ่านฟ้าสวรรคาลัย |
ซึ่งจะให้กลับคืนพระนคร | จะฟังคำมารดรกระไรได้ |
จะเสียสัตย์ซึ่งปฏิญาณไป | คือใครจะนับว่าดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งนวลนางไกยเกษี |
ฟังรสพจนารถพระจักรี | เทวีก็ร่ำพิไรวอน |
โอ้พระหริวงศ์ทรงสังข์ | จงเอ็นดูแม่ครั้งหนึ่งก่อน |
เจ้าอย่าสลัดตัดรอน | ให้ได้เดือดร้อนเวทนา |
แม้นไม่เมตตาจะฆ่าฟัน | ให้สิ้นชีวันสังขาร์ |
หรือจะหั่นบั่นรอนทั้งกายา | ทำโทษโทษาประการใด |
ตามเถิดที่แม่ได้ทำผิด | จะน้อยใจสักนิดก็หาไม่ |
แต่เชิญเจ้าคืนเข้าเวียงชัย | ให้ไพร่ฟ้าเกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพลบโลกเรืองศรี |
ได้ฟังมธุรสพระชนนี | วอนว่าพาทีรำพันไป |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ลูกจะเคืองมารดาก็หาไม่ |
ข้าบาทเป็นชาติอาชาไนย | จะตั้งใจแทนคุณพระบิดร |
อันในสุริย์วงศ์เทวัญ | สัจธรรม์มั่นคงไม่ย่อหย่อน |
ครั้งพระอัยกาฤทธิรอน | ภูธรก็ครองสัตยา |
สู้เสียชีวาไม่อาลัย | เชือดเนื้อออกให้พรานป่า |
จนถึงสมเด็จพระบิดา | ผ่านฟ้ารักสัตย์กว่าชีวี |
ยกสมบัติให้แก่พระองค์ | ขับข้าทรงพรตเป็นฤๅษี |
มาอยู่ป่ากำหนดสิบสี่ปี | คำนี้ของพระบิดร |
ตัวลูกจะรักษาสัตย์ | ตามบัญชาตรัสไว้แต่ก่อน |
เชิญกลับคืนเข้าพระนคร | ให้ถาวรเป็นสุขสวัสดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรฤๅษี |
ได้ฟังสมเด็จพระจักรี | พาทีคงครองสัตยา |
จึ่งว่าดูกรหลานรัก | ผินพักตร์มาฟังตาว่า |
กูเป็นอาจารย์บุราณมา | ย่อมแจ้งกิจจาทุกประการ |
อันกษัตริย์ในวงศ์ของเจ้า | ล้วนเหล่าจักรพรรดิมหาศาล |
แต่ครั้งหิรัณย์ขุนมาร | สาธารณ์อาจองทะนงใจ |
ม้วนเอาแผ่นดินสี่ทวีป | หนีบรักแร้ไปบาดาลได้ |
พระนารายณ์ตามผลาญบรรลัย | แล้วเกิดไทอโนมาตัน |
พระอิศวรให้ครองราชฐาน | เนื่องมาอัชบาลรังสรรค์ |
จนถึงบิตุเรศของเจ้านั้น | สืบวงศ์เทวัญเป็นหลั่นมา |
ซึ่งน้องครองเมืองก่อนพี่ | ไม่มีในสุริย์วงศ์พงศา |
ชนนีกับสองอนุชา | แสนโศกโศกาจาบัลย์ |
ควรแล้วที่หลานจะกลับไป | เสวยราชัยไอศวรรย์ |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | เป็นจรรโลงโลกธาตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริรักษ์จักรแก้วเรืองศรี |
นบนิ้วสนองวาที | พระอัยกาว่านี้ผิดไป |
เดิมห้าพระอาจารย์ไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าไกรลาสเนินไศล |
พร้อมด้วยเทวาสุราลัย | ให้ข้านี้ไวกูณฐ์มา |
ปราบหมู่อสุราสาธารณ์ | พวกพาลทุจริตริษยา |
ชนนีขอสัตย์พระบิดา | ให้หลานอยู่ป่าสิบสี่ปี |
ถึงยุคจะได้ดับเข็ญ | ให้โลกอยู่เย็นเกษมศรี |
พระอัยกาก็แจ้งแต่เดิมที | จะให้คืนบุรีด้วยอันใด |
คำพระบิดาประกาศิต | ดั่งเหล็กเพชรลิขิตหาลบไม่ |
จะรักษาสัตย์พระองค์ไว้ | มิได้อาลัยแก่ชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองพระอาจารย์ฌานขยัน |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | ถือสัตย์ตัดมั่นตรงไป |
ดั่งหนึ่งเขาพระเมรุมาศ | ต้องเวรัมพวาตไม่หวาดไหว |
กดัญญูสู้เสียชีวาลัย | ตั้งใจจะล้างอสุรา |
โดยได้อวตารมาปราบเข็ญ | จะให้เย็นทั่วภพแหล่งหล้า |
สุดคิดสุดที่จะเจรจา | พระสิทธานิ่งไปไม่พาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ได้ฟังพจนารถภูมี | ดั่งหนึ่งชีวีจะบรรลัย |
ต่างองค์ต่างกอดบทเรศ | แสนโศกแสนเทวษสะอื้นไห้ |
โอ้ว่าพระตรีภูวไนย | แม้นไม่คืนเข้าพารา |
น้องจะโดยเสด็จไปรองบาท | เพื่อนอนาถพระองค์ในป่า |
ไม่อาลัยจะถวายชีวา | ไปกว่าจะสิ้นสุดปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
กอดสองอนุชาชัยชาญ | ผ่านฟ้าแสนโศกโศกี |
แล้วมีบัญชาประกาศิต | เจ้าดวงชีวิตของพี่ |
อันเราทั้งสี่องค์นี้ | เทวัญฤๅษีนิมนต์มา |
หวังจะให้เป็นหลักโลก | จะแสนโศกไปไยหนักหนา |
ตัวพี่รับสัตย์พระบิดา | จะคืนเข้าพาราก็จนใจ |
รู้แล้วว่าเจ้ารักพี่ | แต่จะทิ้งบุรีกระไรได้ |
ไพร่ฟ้าจะพึ่งผู้ใด | จงคืนไปรักษาพระนคร |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังบัญชายิ่งอาวรณ์ | ชุลีกรสนองวาจา |
สุดคิดที่น้องจะจากบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
แม้นพระจะให้คืนเข้าพารา | จงประหารชีวาให้บรรลัย |
ทูลพลางซบพักตร์กับบทเรศ | แสนทุกข์แสนเทวษสะอื้นไห้ |
ดั่งจะสิ้นชีวิตจิตใจ | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายรุกขเทวาเรืองศรี |
สถิตในสัตกูฏคีรี | เป็นที่สำราญภิรมยา |
เห็นพระพรตพระสัตรุดสุริย์วงศ์ | ทูลอ้อนวอนองค์พระเชษฐา |
พระรามไม่คืนเข้าพารา | ต่างแสนโศกาจาบัลย์ |
แม้นเรานิ่งไว้ไม่ทานทัด | น่าที่แปดกษัตริย์จะอาสัญ |
ไหนจะได้ไปปราบอาธรรม์ | ซึ่งมันเป็นเสี้ยนธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งฝูงสุรารักษ์ | เยี่ยมพักตร์โดยช่องบัญชรศรี |
สำแดงให้เห็นอินทรีย์ | แล้วมีบัญชาลงไป |
พระรามคือองค์พระทรงนาค | เสด็จจากเกษียรสมุทรใหญ่ |
หวังจะปราบอาธรรมทั้งแดนไตร | ชอบให้ทำตามนิมนต์มา |
พระพรตพระสัตรุดฤทธิรอน | ไปรักษาพระนครไว้ท่า |
จงเชิญสมเด็จพระมารดา | เข้ามหานิเวศน์วังจันทน์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังซึ่งรุกขเทวัญ | ทรงธรรม์จึ่งมีวาจา |
น้องรักได้ยินหรือไม่ | เทพไทแซ่ซ้องร้องว่า |
เจ้าจงคืนเข้าไปพารา | รักษาไพร่ฟ้าประชาชี |
ตัวพี่ก็จะไปปราบเข็ญ | ให้เย็นทั่วโลกเกษมศรี |
ไม่ช้าแต่ในสิบสี่ปี | พี่น้องก็จะได้พบกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังดั่งใครมาฟาดฟัน | ด้วยคำเทวัญประกาศมา |
ให้ร้อนฤทัยดั่งไฟพิษ | สุดคิดที่จะวอนพระเชษฐา |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | จึ่งสนองบัญชาด้วยจนใจ |
อันอยุธยาธานี | เป็นที่พึ่งสามโลกสูงใหญ่ |
กษัตราเทวาสุราลัย | ย่อมได้อาศัยทั้งจักรวาล |
น้องดั่งหิ่งห้อยน้อยแสง | ไม่ควรตำแหน่งพระสุริย์ฉาน |
จะขอฉลองบาทพระอวตาร | ไปไว้ในสถานสวรรยา |
ต่างองค์พระทรงจักรภุช | เป็นจอมเมืองมงกุฎแหล่งหล้า |
จึ่งจะรับรักษาพารา | ไว้ท่าเสด็จพระจักรี |
แม้นสิบสี่ปีพระไม่กลับ | น้องกับพระสัตรุดเรืองศรี |
จะขอถวายชีวี | เข้ากองอัคคีมรณา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
สวมสอดกอดสองอนุชา | แก้วตาของพี่อย่าอาวรณ์ |
เจ้าจงรักษาพระบุรี | ให้เสนีไพร่ฟ้าสโมสร |
บำรุงทั้งสามพระมารดร | อย่าให้อนาทรสิ่งใด |
ตรัสแล้วหยิบฉลองพระบาทหญ้า | สำหรับทรงเดินป่าประทานให้ |
เกือกนี้ต่างตาต่างใจ | ต่างองค์พี่ไปธานี |
ว่าแล้วอำนวยอวยพร | ให้ถาวรเป็นสุขเกษมศรี |
โรคันอันตรายอย่ายายี | เจ้าพี่จงคืนเข้าพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
รับเอาฉลองพระบาทมา | ทูนเหนือเกศาด้วยภักดี |
แล้วว่าน้องนี้จะจำไกล | ด้วยคำเทพไทเรืองศรี |
จะกินนํ้าตาสิบสี่ปี | กว่าภูมีจะคืนพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังจึ่งมีสุนทร | เจ้าอย่าทุกข์ร้อนอาลัย |
อันเกิดมาในภพสงสาร | จะประมาณแต่สุขนั้นไม่ได้ |
จำเป็นตัวพี่จะเดินไพร | ใช่จะตายจากไปเมื่อไรมี |
ว่าแล้วประณตบทบงสุ์ | องค์พระมารดาทั้งสามศรี |
ขอเชิญสมเด็จพระชนนี | คืนเข้าบุรีภิรมยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสน่หา |
ฟังรสพจนารถพระรามา | ต่างแสนโศกาอาลัย |
จึ่งสวมสอดกอดสามพระลูกรัก | ชลนานองพักตร์สะอื้นไห้ |
อนิจจาต้องมาเดินไพร | เพราะจะไปสังหารอาธรรม์ |
จะได้ยากลำบากสิบสี่ปี | ไม่มีสิ่งสุขเกษมสันต์ |
แม่จะแสนโศกาจาบัลย์ | นับวันกว่าเจ้าจะกลับมา |
ตรัสแล้วจึ่งมีสุนทร | ดูกรสีดาเสน่หา |
แม่จะไปตามองค์พระภัสดา | ที่ในแนวป่าพนาลัย |
จะแสนทุกข์แสนยากลำบากนัก | ลูกรักจะเดินที่ไหนได้ |
เจ้าเป็นยอดอนงค์นางใน | อย่าไปจงอยู่ด้วยมารดร |
แม่นี้จะได้เห็นพักตร์ | ต่างพระหริรักษ์ทรงศร |
จะคลายทุกข์ค่อยสุขสถาวร | กว่าพระสี่กรจะกลับมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ฟังสามสมเด็จพระมารดา | กัลยาสนองพระวาที |
ซึ่งทรงพระเมตตาการุญ | พระคุณควรไว้เหนือเกศี |
ใช่ว่าจะขัดพระเสาวนีย์ | แต่ลูกนี้เป็นบาทบริจา |
ร่วมสุขร่วมทุกข์ร่วมชีวิต | กับพระจักรกฤษณ์นาถา |
ถึงทุกข์ยากลำบากกายา | ตามแต่เวราไม่อาวรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมารดาดวงสมร |
ฟังพระสุณิสาบังอร | ต่างองค์สะท้อนถอนใจ |
โอ้อนิจจาสีดาเอ๋ย | ทรามเชยผู้ยอดพิสมัย |
เจ้าจะตามพระภัสดาไป | ไม่อาลัยแก่ชีพชีวัน |
ควรแล้วที่เป็นพระมเหสี | พระจักรีธิราชรังสรรค์ |
จงจำเริญสุขทุกนิรันดร์ | โรคันอันตรายอย่าบีฑา |
ตรัสแล้วอำนวยอวยพร | แก่พระสี่กรโอรสา |
กับองค์พระลักษมณ์อนุชา | จงทรงศักดาวราฤทธิ์ |
จะล้างอริราชไพรี | อย่าให้มีผู้รอต่อติด |
ปราบไปทั่วทั้งทศทิศ | จงประสิทธิ์ดั่งไวกูณฐ์มา |
แปดกษัตริย์ถ้อยลาสั่งกัน | รำพันเศร้าโทมนัสสา |
ประทับแรมอยู่ในศาลา | นับได้สิบห้าราตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสทั้งสี่ |
ตระหนักว่าพระลักษมณ์พระจักรี | จะไปล้างอสุรีพวกพาล |
พระพรตพระสัตรุดอนุชา | จะคืนไปรักษาราชฐาน |
ยินดีดั่งแรกสำเร็จฌาน | องค์พระอาจารย์ก็อวยชัย |
จงจำเริญศักดาวราฤทธิ์ | ปัจจามิตรอย่ารอต่อได้ |
ล้างเหล่าอาธรรม์ให้บรรลัย | อันตรายสิ่งใดอย่าบีฑา |
ว่าแล้วพระอาจารย์ทั้งสี่องค์ | ลาพระหริวงศ์นาถา |
เหาะขึ้นยังพื้นเมฆา | ไปสู่ศาลาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
เชิญฉลองพระบาทพระจักรี | ใส่พานมณีชัชวาล |
แล้วลาเพศจากชีป่า | พอสุริยาเรืองแรงแสงฉาน |
พาสามมารดานงคราญ | มายังสถานโยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งเชิญฉลองบาท | พระเชษฐาธิราชเรืองศรี |
ขึ้นยังรถแก้วรูจี | ให้คลายคลี่พหลโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถเนาวรัตน์ | พระพี่น้องสองกษัตริย์นั้นไปหน้า |
อันรถสามสมเด็จพระมารดา | งามดั่งมหาเวไชยันต์ |
ถัดมารถราชสุริย์วงศ์ | รถฝูงอนงค์สาวสรรค์ |
ล้วนเทียมสินธพชาญฉกรรจ์ | สารถียืนยันขับทะยาน |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงชัยธงชายธงฉาน |
ปี่กลองกึกก้องดงดาน | หมู่พรานนำหน้าพลากร |
เสียงรถเสียงทศโยธี | สนั่นมี่ถํ้าธารสิงขร |
ผงคลีชอุ่มอัมพร | บทจรไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งเขา | ตามลำเนาเนินทรายชายป่า |
ให้คะนึงถึงองค์พระจักรา | ชลนาคลอพักตร์แล้วถอนใจ |
โอ้ว่าสมเด็จพระจักรี | ป่านนี้พระองค์จะเป็นไฉน |
จะพากันสัญจรนอนไพร | หรือจะอยู่ที่ในศาลา |
น้องหมายว่าเป็นเกือกทอง | รองบาทบรมเชษฐา |
น้อยใจด้วยไทเทวา | จำให้จากบาทาสิบสี่ปี |
เสียแรงที่เกิดร่วมวงศ์ | พระนารายณ์ฤทธิรงค์เรืองศรี |
มิได้โดยเสด็จจรลี | ไปล้างเหล่าอสุรีพวกพาล |
สองกษัตริย์ฟูมฟายชลเนตร | แสนเทวษเพียงสิ้นสังขาร |
ร้อนแรมมาในดงดาน | ประมาณได้สิบห้าคืนวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงปลายแดนอยุธยา | จึ่งหยุดโยธาทัพขันธ์ |
สองกษัตริย์ย่างเยื้องจรจรัล | ขึ้นสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แล้วมีมธุรสพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ทั้งสี่ |
จงตั้งเป็นราชธานี | ลงที่ต้นทางพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนาชาญสมร |
รับสั่งน้องพระสี่กร | แล้วรีบบทจรออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันบันดาล | ตั้งปราการเรือนหลวงน้อยใหญ่ |
ทั้งทิมชาววังตำรวจใน | ก็ได้ตามราชวาที |
แล้วให้สมญาโดยนาม | ชื่อประจันตคามบุรีศรี |
แสนสนุกดั่งมหาธานี | เป็นที่ผู้คนไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นเสร็จซึ่งการพารา | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
สั่งพระสัตรุดฤทธิรอน | ให้เชิญพระมารดรทั้งสามศรี |
ไปยังอยุธยาธานี | กับมหามนตรีสุมันตัน |
อีกทั้งฉลองพระบาท | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ไว้ในปราสาทแก้วแพรวพรรณ | เป็นมหาจรรโลงอยุธยา |
สั่งแล้วน้อมเศียรอัญชุลี | พระชนนีธิราชนาถา |
อันตัวลูกนี้จะขอลา | อยู่ท่าสมเด็จพระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสัตรุดฤทธิรงค์ทรงศร |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวร | ชุลีกรเชิญสามพระชนนี |
มาขึ้นพิชัยรถทรง | พร้อมหมู่อนงค์สาวศรี |
ให้เลิกพหลโยธี | คืนเข้าบุรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด