- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎฤทธิรงค์ทรงศร |
คอยอยู่ยังชายพนาดร | ได้ยืนนิกรอึงมา |
แลเห็นจตุรงค์พยุหบาตร | เกลื่อนกลาดมาในแนวป่า |
จอมพลนั้นสี่กษัตรา | ต่างทรงรัถาอำไพ |
พระหัตถ์นั้นถือธนูศร | วานรเดินหน้าทัพใหญ่ |
จึ่งตรัสแก่อนุชาผู้ร่วมใจ | สมคิดแล้วในวันนี้ |
พี่จะแผลงศรชัยไปสังหาร | ให้วายปราณสิ้นชีพทั้งสี่ |
แก้แค้นแทนกันให้ถึงที | เจ้าพี่อย่าเกรงฤทธิรอน |
ว่าแล้วกวัดแกว่งธนูทรง | อาจองดั่งพญาไกรสร |
พาพระอนุชาบทจร | ออกขวางนิกรโยธา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลโยธีทัพหน้า |
รีบกันมาตามมรคา | เห็นสองกุมาราก็ตกใจ |
ต่างตนต่างหยุดยืนอยู่ | พิศดูไม่อาจไปได้ |
ย่นย่อท้อถอยอยู่แต่ไกล | ด้วยเกรงฤทธิไกรราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์เรืองศรี |
ได้ยินเสียงอื้ออึงเป็นโกลี | ภูมีเหลือบแลแปรมา |
เห็นกุมารยืนอยู่ทั้งสองคน | จึ่งทูลพระภุชพลเชษฐา |
อันไอ้เด็กน้อยอหังการ์ | หนีมาก็ได้พบกัน |
องอาจออกขวางทางอยู่ | หน้าหมู่พหลพลขันธ์ |
บรรดาโยธาทั้งนั้น | ขยั้นอยู่ไม่ล่วงขึ้นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกแผ่นดินไหว |
ได้ฟังอนุชายาใจ | แลไปเห็นสองกุมารา |
ทรงโฉมวิไลเลิศลักษณ์ | ผิวพักตร์เพียงเทพเลขา |
งามละม่อมพร้อมพริ้มทั้งกายา | จบสกลโลกาไม่เทียมทัน |
ท่วงทีกิริยาก็องอาจ | ดั่งหยาดฟ้าลงมาจากสวรรค์ |
เชษฐาดั่งดวงพระสุริยัน | น้องดั่งพระจันทร์ไม่ราคี |
ดูพี่ก็คล้ายกนิษฐา | พิศทรงอนุชาก็เหมือนพี่ |
นวลละอองผ่องแผ้วทั้งอินทรีย์ | ส่งศรีเสาวภาคย์น่ารัก |
จะเป็นหน่อกษัตริย์กรุงไหน | จึ่งเรืองฤทธิไกรแหลมหลัก |
ศรศิลป์ประเสริฐเลิศนัก | พระทรงจักรสงสัยในวิญญาณ |
ตัวกูจะแผลงแสงศร | อันเรืองฤทธิรอนกำลังหาญ |
ไปรวบรัดมัดสองกุมาร | มาถามวงศ์วานให้แจ้งใจ |
คิดแล้วเร่งราชรถทรง | ขึ้นหน้าจตุรงค์น้อยใหญ่ |
พระกรนั้นจับศรชัย | พาดสายแผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | เป็นบ่วงบาศกลาดเกลื่อนเวหา |
ล้อมรอบกายสองกุมารา | ด้วยอานุภาพพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นบ่วงบาศมาล้อมอินทรีย์ | จึ่งจับศรศรีแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั่นครื้นพ่างพื้นโพยมหน | สุธาดลกัมปนาทหวาดไหว |
เป็นพระขรรค์แก้วแววไว | ไล่ล้างบ่วงบาศแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
เห็นบ่วงบาศขาดสิ้นไม่ทนทาน | ด้วยศรกุมารชาญฉกรรจ์ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | เหวยเด็กพาลาโมหันธ์ |
น้อยน้อยกระจ้อยเท่าแมงวัน | สำคัญสัญญาว่าตัวดี |
มาสู้พระกาลพาลราช | หัวจะขาดจากกายทั้งสองศรี |
ว่าแล้วจับศรโมลี | ภูมีผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ สัตภัณฑ์บรรพตก็หวาดไหว | สะเทือนไปถึงชั้นดุสิต |
เป็นถ่านเพลิงตกลงทั่วทิศ | ร้อนแรงดั่งพิษไฟกัลป์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎรุ่งฟ้านราสรรค์ |
เห็นถ่านเพลิงเริงร้อนบังหวนควัน | จึ่งผันพักตร์มาบอกอนุชา |
อันฤทธิ์เขาก็มีอยู่ต่างต่าง | พี่จะล้างเสียด้วยกำลังกล้า |
ว่าแล้วจับศรอันศักดา | เงื้อง่าผาดแผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เป็นมหาเมฆขึ้นทั่วทิศ | เสียงสนั่นครรชิตอึงมี่ |
ฝนหลั่งถั่งทั่วธรณี | ถ่านอัคคีนั้นก็ดับไป |
แล้วตบมือสรวลสำรวลร่า | ดูรากษัตริย์นายใหญ่ |
ท่านนี้อาจองทะนงใจ | ว่าเรืองฤทธิไกรชัยชาญ |
เห็นว่าตัวเรานี้เยาว์นัก | จะหักเอาด้วยกำลังหาญ |
ประมาทมาดมั่นสำคัญการ | ว่ามีบริวารโยธี |
ถึงน้อยก็ชาติอสรพิษ | สองคนไม่คิดถอยหนี |
อย่าว่ามาแต่เท่านี้ | ถึงเต็มปถพีไม่ครั่นกร |
จะสังหารผลาญเสียทั้งกองทัพ | ให้ย่อยยับลงด้วยกำลังศร |
เมื่อสองกษัตรามาราญรอน | ครั้งก่อนก็แจ้งประจักษ์ใจ |
เรายิงล้มอยู่กับที่ | ปิ้มไม่รอดชีวีไปได้ |
ท่านนี้ตัวดีมีฤทธิไกร | กว่านั้นหรือไรจึ่งยกมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังถ้อยคำกุมารา | โกรธาดั่งหนึ่งเพลิงพิษ |
กระทืบบาทผาดสิงหนาทไป | เหม่ไอ้ลูกเล็กกระจิริด |
ดั่งหิ่งห้อยต่อด้วยพระอาทิตย์ | จะสิ้นชีวิตบัดเดี๋ยวนี้ |
ว่าแล้วจับศรพาดสาย | มาดหมายกุมารทั้งสองศรี |
น้าวหน่วงด้วยกำลังอินทรีย์ | ภูมีก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นทั้งอากาศ | เป็นพญาครุฑราชไม่นับได้ |
สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร | เวียนไวรอบสองกุมารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจกล้า |
เห็นหมู่สุบรรณเกลื่อนมา | ก็แผลงศรศักดาไปราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สัตภัณฑ์พระเมรุก็เอนหมด | เป็นลมกรดพัดอึงคะนึงมี่ |
ฝูงครุฑปลิวไปทันที | ด้วยกำลังศรศรีอันมีฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงพิษ | ชักพระแสงศรสิทธิ์แผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โชติช่วงดั่งดวงพระสุริยัน | เสียงสนั่นครั่นครื้นแผ่นดินไหว |
สังหารภูผาแลต้นไม้ | มิอาจเข้าใกล้พระกุมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นศรกษัตริย์มารอนราญ | ภูผาแหลกลาญเป็นผงคลี |
จึ่งน้าวหน่วงสายธนูทรง | หมายตรงจะล้างศรศรี |
ก็ผาดแผลงไปทันที | เสียงมี่สนั่นภพไตร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรชัยไปอยู่เคียงกัน | จะราญรอนศรนั้นก็หาไม่ |
ยิ่งกริ้วโกรธพิโรธคือไฟ | ประนมไหว้คิดคุณพระอาจารย์ |
ขอให้ศรสิทธิ์ของข้า | จงมีเดชากล้าหาญ |
ไปล้างสี่กษัตริย์ให้วายปราณ | แล้วซ้ำแผลงผลาญด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ศรสาตร์กลาดเกลื่อนไปทักษิณ | พระนรินทร์ปิ่นภพเรืองศรี |
แล้วเป็นข้าวตอกดอกมาลี | บูชาภูมีเรียงราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
เห็นกุมารแผลงศรอันเพริศพราย | กลับกลายเป็นดวงมาลา |
เพ่งพิศแล้วคิดอัศจรรย์ | อัดอั้นพระทัยกังขา |
ตัวกูผู้อวตารมา | ล้างเหล่าอสุราทั้งแดนไตร |
โลหิตดั่งหนึ่งสายสมุทร | ม้วยมุดสุดที่จะนับได้ |
แต่เด็กน้อยกระจ้อยนี้เหตุใด | ศรชัยไม่ล้างราวี |
หรือจะเป็นสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | หน่อในไวกูณฐ์เรืองศรี |
จำจะเสี่ยงให้ประจักษ์บัดนี้ | ภูมีก็ตั้งสัตยา |
แม้นกุมารต่างวงศ์ต่างชาติ | พรหมาสตร์จงไปเข่นฆ่า |
สังหารผลาญเสียให้มรณา | ด้วยศักดาเดชชัยชาญ |
ถ้าเป็นน้ำเนื้อเชื้อวงศ์ | อย่าให้ศรทรงสังหาร |
จงกลายเป็นโภชนาอันโอฬาร | ให้ประจักษ์เหตุการณ์แน่นอน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ครั้นตั้งพิษฐานเสร็จแล้ว | พระจักรแก้วก็ทรงพระแสงศร |
แผลงไปด้วยกำลังฤทธิรอน | ไหวกระฉ่อนทั่วทั้งโลกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ศรกลายเป็นทิพย์กระยาหาร | เปรี้ยวหวานตกลงตรงหน้า |
อีกทั้งฉัตรแก้วแววฟ้า | กั้นองค์กุมาราวิลาวัณย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นเป็นมหัศอัศจรรย์ | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ดูก่อนเจ้าลบทรงลักษณ์ | น้องรักยังเห็นหรือหาไม่ |
ศรเรานี้เรืองฤทธิไกร | แผลงไปจะให้ล้างไพรี |
ไฉนหนอจึ่งทำคำรพ | นอบนบกษัตริย์ทั้งสี่ |
แล้วเป็นธูปเทียนมาลี | บัดนี้ฝ่ายเขาแผลงมา |
กลายเป็นโภชนากระยาหาร | ฉัตรแก้วสุรกานต์เลขา |
เป็นบุญเพิ่มพ้นคณนา | มาเรากินเล่นเถิดน้องรัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ฤทธิรงค์ทรงจักร |
เสี่ยงศรเห็นแจ้งจำเพาะพักตร์ | ให้มีความรักความยินดี |
จึ่งกล่าวมธุรสสุนทร | ดูก่อนกุมารทั้งสองศรี |
เราทำสงครามกันมานี้ | ถ้อยทีมีฤทธิ์เกรียงไกร |
อันศรต่อศรซึ่งรอนราญ | จะสังหารผลาญกันก็หาไม่ |
จะรบพุ่งไปนั้นด้วยอันใด | ให้เหนื่อยใจลำบากกายา |
เราจงผูกรักรู้จักกัน | โดยธรรม์สุจริตดีกว่า |
อย่าถือใจจองภัยเวรา | เดียดฉันท์กังขาราคี |
อันตัวของเจ้าทั้งสององค์ | เป็นวงศ์กษัตริย์เรืองศรี |
ครอบครองสวรรยาธานี | อยู่ที่แว่นแคว้นกรุงใด |
จึงเรืองฤทธิรงค์องอาจ | เรียนธนูศรสาตร์มาแต่ไหน |
มีนามกรชื่อไร | เหตุใดมาอยู่อรัญวา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจกล้า |
ได้ฟังสุนทรวาจา | จึ่งว่าแก่น้องยาร่วมชีวี |
ซึ่งเขามาถามนามเรา | สุริย์วงศ์พงศ์เผ่าบุรีศรี |
แม้นจะมิบอกบัดนี้ | ที่ข้อแคลงก็จะไม่แจ้งใจ |
ครั้นจะบอกไปโดยง่ายเล่า | ดั่งไม่รู้เท่าผู้ใหญ่ |
จะว่าเราเกรงฤทธิไกร | ไตรโลกจะหมิ่นนินทา |
จำจะบิดพลิ้วไต่ถาม | ให้บอกนามวงศ์ก่อนดีกว่า |
ภายหลังจึ่งจะแจ้งกิจจา | เห็นว่าจะควรแก่การ |
ตรัสแล้วจึ่งมีสุนทร | โอนอ่อนด้วยปรีชาหาญ |
ดูก่อนพระองค์ผู้ชัยชาญ | อันเป็นประธานพลไตร |
ซึ่งมาไถ่ถามนามวงศ์ | ข้าจะขัดพระองค์ก็หาไม่ |
จะบอกแต่สัจจริงไป | มิให้เคืองพระทัยภูธร |
แต่ธรรมเนียมผู้ใหญ่จะว่าขาน | กิจการสิ่งไรจำว่าก่อน |
ตัวข้าเป็นเด็กไม่แง่งอน | จึ่งจะบอกนามกรพงศ์พันธุ์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังกุมารวิลาวัณย์ | ทรงธรรม์ถวิลจินดา |
น้อยน้อยกระจ้อยเท่านี้ | พาทีแหลมหลักหนักหนา |
โต้ตอบรอบรู้ด้วยปรีชา | ดังอมฤตฟ้ายาใจ |
แม้นจะไม่บอกความตามตรง | จะแจ้งแห่งนามวงศ์ก็หาไม่ |
คิดแล้วจึ่งตรัสตอบไป | เจ้าผู้ฤทธิไกรชัยชาญ |
ตัวเราทรงนามพระราเมศ | เรืองเดชลือลบจบสถาน |
คือองค์นารายณ์อวตาร | ได้ผ่านอยุธยาธานี |
อันสามอนุชายุพาพักตร์ | นี่นามพระลักษมณ์เรืองศรี |
นี่ชื่อพระพรตธิบดี | องค์นี้พระสัตรุดวุฒิไกร |
บำรุงโลกปราบหมู่พวกพาล | ทุกพิภพเมืองมารไม่ต่อได้ |
ฝ่ายเจ้าเป็นวงศ์ผู้ใด | บอกไปให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจกล้า |
ทั้งองค์พระลบกุมารา | ได้ฟังบัญชาพระภูธร |
บอกนามตามเรื่องสุริย์วงศ์ | อันทรงสุรภาพชาญสมร |
ทั้งนิเวศน์วังราชนคร | โดยสุนทรสิ้นทุกสิ่งไป |
สมกันกับคำพระมารดา | ก็แจ้งว่าบิตุรงค์ไม่สงสัย |
ดูหน้ากันพลางทางตกใจ | ดั่งใครมาแหวะเอาชีวี |
พิศพักตร์บิตุเรศแล้วรันทด | แม้นว่าจะประณตบทศรี |
เห็นจะให้พาไปยังชนนี | มั่นคงฉะนี้ดั่งจินดา |
อันพระองค์ทำโทษพระแม่เจ้า | ทั้งตัวเราปิ้มสิ้นสังขาร์ |
มิได้มีความเมตตา | แล้วมากลับกล่าวเป็นสุนทร |
ถ้าจะแจ้งความตามสัตย์ | โดยศรีสวัสดิ์สโมสร |
ก็จะเคืองพระทัยมารดร | มิรู้ที่จะผันผ่อนประการใด |
จำจะโต้ตอบให้เคลือบแฝง | จะรับแจ้งตามจริงยังไม่ได้ |
คิดแล้วพระเชษฐาชาญชัย | ก็บอกไปด้วยไวปัญญา |
ตัวข้านี้ชื่อมงกุฎ | อันน้องรักแสนสุดเสน่หา |
ชื่อว่าเจ้าลบกุมารา | นางสีดาเป็นพระชนนี |
ฝ่ายองค์พระราชบิดร | นามกรชื่อไรไม่รู้ที่ |
ผ่านกรุงอยุธยาพระบุรี | ฤทธีเลิศลํ้าแดนไตร |
องค์พระนักสิทธ์ทรงญาณ | บอกการศรศิลปศาสตร์ให้ |
ชื่อวัชมฤคปรีชาไว | อยู่ในกาลวาตอรัญวา ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังสงสัยในวิญญาณ์ | เหตุใดมาว่าดั่งนี้ |
ตรึกคิดเป็นครู่แล้วผันพักตร์ | มาตรัสถามพระลักษมณ์เรืองศรี |
อันสีดาเขียนรูปอสุรี | พี่สั่งให้ล้างชนมาน |
น้องรักกลับมาแจ้งเหตุ | ว่าอัคเรศสุดสิ้นสังขาร |
ได้เอาดวงใจนงคราญ | มาแจ้งการให้เห็นเป็นสำคัญ |
บัดนี้กุมารบอกมา | ว่าเป็นบุตรสีดาสาวสวรรค์ |
ตัวพี่นี้คิดอัศจรรย์ | อันที่จะจริงนั้นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | ทั้งดีใจทั้งกลัวพระอาญา |
แต่เพ่งพิศพินิจพักตร์หลาน | น่ารักสงสารหนักหนา |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | กราบกับบาทาพระจักรี |
สะอื้นพลางทางทูลยุบล | แต่ต้นจนปลายถ้วนถี่ |
ตามซึ่งได้ฆ่าร้าตี | เทวีไม่ม้วยก็ปล่อยไป |
ข้ากลับมาพบเนื้อทราย | ตายอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ |
จึ่งเข้าแหวะเอาดวงใจ | มาถวายให้ทอดทัศนา |
ซึ่งมิได้ทูลความตามจริง | โทษใหญ่ผิดยิ่งเป็นหนักหนา |
ชีวิตถึงม้วยมรณา | ผ่านฟ้าจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ฟังพระอนุชาร่วมชีวี | ภูมีแสนโสมนัสนัก |
แล้วคิดถึงทำโทษพระโอรส | ให้สลดพระทัยเพียงอกหัก |
ชลเนตรคลอคลองนองพักตร์ | จึ่งตรัสแก่พระลักษมณ์ชัยชาญ |
ซึ่งเจ้าประหารชีวี | มารศรีไม่สิ้นสังขาร |
พระขรรค์กลายเป็นพวงสุมามาลย์ | ด้วยนงคราญนั้นมีสัตยา |
ทั้งบุญญาธิการหลานเจ้า | จะสืบเผ่าสุริย์วงศ์ไปภายหน้า |
ซึ่งได้ดวงใจมฤคา | ด้วยอำนาจเทวาสุราลัย |
นางจึ่งได้ไปพึ่งพัก | สำนักพระมหาอาจารย์ใหญ่ |
ประสูติโอรสร่วมใจ | ที่ในศาลาอารัญ |
พี่นี้ผิดนักไม่ไถ่ถาม | วู่วามกริ้วโกรธหุนหัน |
มิได้ตรึกตรองให้เที่ยงธรรม์ | ฉกรรจ์ทำได้ถึงเพียงนี้ |
ตรัสแล้วก็ทิ้งธนูทรง | เสด็จลงจากรถมณีศรี |
สามพระอนุชาร่วมชีวี | ก็ตามภูมีเสด็จไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้จึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนเจ้าผู้ยอดพิสมัย |
ทั้งสองอย่าน้อยฤทัย | จะเล่าให้เจ้าฟังแต่หลังมา |
อันมารดาเจ้าเป็นมเหสี | พ่อนี้แสนสุดเสน่หา |
รับสัจสมเด็จพระอัยกา | ออกไปเดินป่าพนาดร |
สามองค์ทรงเพศเป็นดาบส | อยู่อรัญบรรพตสิงขร |
แทบฝั่งโคทาสาคร | สังวรสร้างพรตอดใจ |
ทศพักตร์ลักแม่เจ้าหนี | พ่อนี้รณรงค์เอามาได้ |
เมื่อกรรมจะให้เป็นไป | อรไทเขียนรูปทศกัณฐ์ |
พ่อให้พระลักษมณ์อาเจ้า | เอาไปสังหารชีวาสัญ |
หากบุญลูกรักอยู่ในครรภ์ | ทั้งความสัจธรรม์กัลยา |
มิได้สิ้นชีพวายปราณ | แล้วทำทรมานเจ้าหนักหนา |
ลูกรักทั้งสองจงเมตตา | อดโทษบิดาอย่าน้อยใจ |
พาไปหาองค์พระมารดร | ให้คลายร้อนในสกนธ์หม่นไหม้ |
ตัวพ่อจะรับเข้าไป | ยังพิชัยอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังพระบิตุรงค์พาที | ชายหนีแล้วตอบวาจา |
อันพระมารดาข้าทรลักษณ์ | อัปลักษณ์ยากไร้อยู่ในป่า |
สามคนทนทุกข์เวทนา | อาศัยพระมหาอาจารย์ |
เที่ยวเก็บพฤกษาเผือกมัน | เลี้ยงกันอัตราเป็นอาหาร |
กำพร้าไร้ญาติกันดาร | ศฤงคารบริวารก็ไม่มี |
พี่น้องสองคนเที่ยวเล่น | เห็นม้าปล่อยมาก็ขึ้นขี่ |
พระองค์ให้จับไปฆ่าตี | บุญมีจึ่งไม่บรรลัย |
อย่าพักเจรจาให้ลุ่มหลง | บิตุรงค์ข้าจะมีก็หาไม่ |
ซึ่งจะรับเข้าไปเวียงชัย | ใช่เป็นเชื้อวงศ์กษัตรา |
พระองค์อย่าเข้ามาใกล้ข้าบาท | ให้ขยาดราชภัยหนักหนา |
ขอเชิญคืนเข้านครา | ข้าจะลาพระองค์บทจร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังโอรสฤทธิรอน | เสน่หาอาวรณ์พันทวี |
รับขวัญแล้วมีพจนารถ | สุดสวาทของพ่อทั้งสองศรี |
จะเล่าให้ฟังแต่เดิมที | ตามที่เหตุผลอันมีมา |
ด้วยได้ยินเสียงกัมปนาท | ไหวหวาดทั่วทศทิศา |
คิดว่าอันตรายโลกา | ก็เสี่ยงม้าที่นั่งปล่อยไป |
พ่อลูกจึ่งได้พบกัน | แต่กรรมกั้นหาให้รู้จักไม่ |
เผอิญเกิดเหตุเภทภัย | จนได้ทำการสงคราม |
อันศักดาเดชของบิตุรงค์ | คู่องค์พระเป็นเจ้าทั้งสาม |
ไตรภพจบสกลก็ครั่นคร้าม | แต่ออกนามก็สยองพองโลมา |
ซึ่งเจ้ามาต่อด้วยพ่อได้ | จะปรากฏเกียรติไปในภายหน้า |
เป็นประธานโลกโลกา | สืบวงศ์อิศราธิบดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพระราชวาที | จึ่งมีวาจาตอบไป |
พระองค์มากล่าวบรรยาย | หากข้าไม่ตายจึ่งว่าได้ |
ข้อนี้โปรดเถิดพระภูวไนย | อย่าให้มีเวรเวรา |
ซึ่งข้าเป็นเด็กได้รอนราญ | ขอประทานจงอดโทษา |
ว่าพลางจูงมือกันไคลคลา | เลี้ยวลัดเข้าป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกเรืองศรี |
ทั้งสามอนุชาร่วมชีวี | กับกระบี่หนุมานชาญชัย |
อีกทั้งสุมันตันเสนา | โยธาทวยหาญน้อยใหญ่ |
เห็นสองกุมารไม่ไว้ใจ | เดินหนีเข้าในอารัญ |
มิอาจที่จะกลั้นชลเนตร | ต่างตนแสนเทวษโศกศัลย์ |
ความรักเพียงจะสิ้นชีวัน | ก็พากันรีบตามพระกุมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นสี่กษัตริย์ชัยชาญ | กับพวกบริวารโยธี |
ตามมาเห็นว่าจะใกล้ทัน | ก็เดินดั้นเลี้ยวเลาะลัดหนี |
ข้ามธารผ่านเนินคีรี | ตรงไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งยืนแอบอยู่ | ดูพระบิตุเรศนาถา |
เห็นพระองค์เสด็จตามมา | จึ่งปิดทวาราเข้าไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
เสด็จตามโอรสยศไกร | ข้ามไศลห้วยธารคีรี |
พอถึงเนินทรายชายพนม | แลเห็นอาศรมพระฤๅษี |
ราบรื่นพื้นสะอ้านสะอาดดี | มีสระบัวบานตระการตา |
ครั้นจะจู่ลู่เข้าไป | ก็เกรงใจพระผู้ทรงสิกขา |
จึ่งหยุดอยู่ตรงหน้าศาลา | ที่ร่มไทรใบหนาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
กับพระอนุชาร่วมชีวัน | พากันไปเฝ้าพระชนนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์ถวายอภิวาทน์ | กราบบาทยุคลทั้งสองศรี |
ซบพักตร์กันแสงโศกี | ปิ้มว่าชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ร้องไห้ไม่วายนํ้าตา | เห็นลูกมาก็โสมนัสนัก |
สวมสอดกอดไว้ทั้งสององค์ | แล้วโฉมยงโอบอุ้มขึ้นใส่ตัก |
รับขวัญจุมพิตพิศพักตร์ | นงลักษณ์จึ่งมีพจมาน |
แต่แม่รู้ว่าเขาจับไป | ก็รํ่าไรเพียงสิ้นสังขาร |
หมายใจว่าพ่อวายปราณ | ด้วยมือพวกพาลไพรี |
อนุชาวอนลาไปตามเจ้า | แม่จึ่งเอาธำมรงค์เรืองศรี |
อันมีเดชลํ้าโลกธาตรี | จากหัตถ์ชนนีให้ไป |
โอ้อนิจจาเจ้าเพื่อนยาก | ได้ทุกข์ลำบากเป็นไฉน |
พบกันพี่น้องที่แห่งใด | ดวงใจจึ่งพากันกลับมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎปรีชาญหาญกล้า |
ได้ฟังสมเด็จพระมารดา | โศกาพลางสนองวาที |
ข้าเที่ยวอยู่กลางไพรพนม | มีบรมกษัตริย์เรืองศรี |
ทรงนามพระรามจักรี | ผ่านทวารวดีเวียงชัย |
ใช้ให้อนุชาทั้งสององค์ | รณรงค์จับลูกไปได้ |
ทารกรรมแล้วทำประจานไว้ | ปิ้มชีวาลัยจะมรณา |
บรรยายทูลความแต่ต้น | จนพบเจ้าลบกนิษฐา |
แสนแค้นจึ่งพากันรีบมา | หมายว่าจะฆ่าให้วายปราณ |
บัดเดี๋ยวกษัตริย์ทั้งสี่องค์ | ยกพวกจตุรงค์ทวยหาญ |
ติดตามออกมารอนราญ | ลูกได้ต่อต้านโรมรัน |
เอิกเกริกทั้งป่ากาลวาต | ทศทิศกัมปนาทไหวหวั่น |
ฝ่ายศรต่อศรไม่กินกัน | ก็แจ้งการอัศจรรย์ที่มีมา |
ฝ่ายพระรามนั้นทิ้งศรทรง | ว่าเป็นองค์บิตุเรศของข้า |
ออกนามสมเด็จพระมารดา | โศกาอ้อนวอนรำพันไป |
บัดนี้สี่กษัตริย์ก็มาตาม | อยู่หน้าอารามพระไทรใหญ่ |
ทูลพลางสะท้อนถอนใจ | รํ่าไห้กับตักพระมารดร ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาดวงสมร |
ครั้นแจ้งว่าองค์พระสี่กร | ภูธรเสด็จตามมา |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแสนเทวษ | ชลนัยน์นองเนตรทั้งซ้ายขวา |
จึ่งตรัสแก่องค์พระลูกยา | อนิจจาเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
ตัวเราทั้งสามนี้ยากไร้ | อาศัยพระมหาฤๅษี |
ยังคิดพยาบาทมาราวี | หากบุญเจ้ามีจึ่งไม่ตาย |
ความระกำช้ำใจแม่ได้แค้น | ถึงสักแสนปีไม่รู้หาย |
มาตรแม้นชีวิตจะวอดวาย | ก็ไม่เสียดายเท่ายองใย |
นิจจาเอ๋ยทำแม่แล้วมิหนำ | มาซ้ำทำลูกก็เป็นได้ |
สงสารแต่เจ้าจะพ้นไป | กำพร้าไม่มีที่พึ่งพา |
โอ้ว่าแต่นี้จะเสื่อมสุข | แสนทุกข์เศร้าโทมนัสสา |
รํ่าพลางฟูมฟายชลนา | แสนโศกโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังนางสีดาวิลาวัณย์ | ทรงกันแสงโศกโศกี |
กับสองพระโอรสรัก | อันทรงเยาวลักษณ์เฉลิมศรี |
ดั่งหนึ่งจะสิ้นสมประดี | อยู่ที่พระบรรณศาลา |
ให้ร้อนใจดั่งสายฟ้าฟาด | แสนสวาทด้วยสามเสน่หา |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | ปิ้มประหนึ่งชีวาจะบรรลัย |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดวงสมรพี่ยอดพิสมัย |
เป็นเวรากรรมเราทำไว้ | จึ่งให้เกิดเหตุเภทพาล |
เดชะด้วยสัจของน้องแก้ว | ก็ผ่องแผ้วดั่งวิเชียรไม่ร้าวฉาน |
กับบุญลูกเราผู้ชัยชาญ | จะสืบวงศ์อวตารอิศรา |
อันตัวของพี่นี้ผิดนัก | เยาวลักษณ์อย่าคุมโทษา |
คิดถึงความยากด้วยกันมา | แก้วตาจงได้ปรานี |
เชิญเจ้าเสาวภาคย์โฉมตรู | เปิดประตูออกมารับพี่ |
จะได้สนทนาพาที | ตามมีทุกข์ยากจากกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ฟังพระหริวงศ์ทรงสุบรรณ | รำพันว่าวอนเข้ามา |
ให้คิดความสนิทพิสมัย | แล้วน้อยใจเศร้าโทมนัสสา |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา | กัลยารำพึงคะนึงคิด |
อันพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณเลิศลํ้าอกนิษฐ์ |
ครั้นจะไปบังคมพระทรงฤทธิ์ | สุดคิดจะด้านหน้าพาที |
ตริแล้วประณตบทบงสุ์ | องค์พระมหาฤๅษี |
นิมนต์ช่วยไปถามพระจักรี | มานี้ประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระวัชมฤคอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังวาจานางอรไท | จับได้ไม้เท้าก็ออกมา |
จึ่งเปิดกลอนดาลบานประตู | แล้วเหลือบแลดูซ้ายขวา |
เห็นสี่สุริย์วงศ์กษัตรา | งามสง่าดั่งดวงสุริยัน |
มานั่งอยู่ยังร่มพระไทร | ผิวพักตร์หม่นไหม้โศกศัลย์ |
มัวคลํ้าส่งศรีฉวีวรรณ | อาการนั้นทุกข์พระทัยนัก |
ดูดูก็น่าสงสาร | แก่พระผู้ผ่านอาณาจักร |
ก็รีบออกไปด้วยความรัก | ยังที่สำนักนิโครธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งลดนั่งลง | ถามพระภุชพงศ์นาถา |
พากันมาไยถึงศาลา | ด้วยกิจจากังวลสิ่งใดมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สี่กษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ต่างองค์โสมนัสยินดี | ถวายอัญชุลีพระอาจารย์ |
แต่องค์สมเด็จพระราม | แจ้งความตอบถ้อยเฉลยสาร |
รู้ว่าสีดานงคราญ | มาพึ่งบทมาลย์พระสิทธา |
เป็นสุขจำเริญไม่มีภัย | จนได้คลอดองค์โอรสา |
พระคุณนั้นพ้นคณนา | จึ่งตามมามัสการพระมุนี |
พระองค์จงได้โปรดเกศ | ช่วยว่าอัคเรศมเหสี |
จะเชิญเจ้าคืนพระบุรี | เป็นปิ่นสตรีกำนัล |
ประการหนึ่งข้าคิดสงสัยนัก | ด้วยกุมารทรงลักษณ์เฉลิมขวัญ |
จะเป็นบุตรสีดาวิลาวัณย์ | ทั้งสองนั้นหรือพระสิทธา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังบรรหารพระจักรา | จึ่งมีวาจาตอบไป |
พระมงกุฎนั้นบุตรนางโฉมยง | องค์น้อยนั้นเราชุบให้ |
ชื่อพระลบอนุชาผู้ร่วมใจ | อรไทเลี้ยงรักเสมอกัน |
เล่าพลางสงสารพระสี่กร | มาทนเทวษทุกข์ร้อนโศกศัลย์ |
จำกูจะช่วยพระทรงธรรม์ | คิดแล้วท่านนั้นก็กลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งแถลงแจ้งความ | ว่าองค์พระรามนาถา |
วอนกูผู้เป็นอัยกา | ชลนาคลอเนตรแล้วโศกี |
จงฟังตาว่าสีดาเอ๋ย | อย่าโกรธนักเลยนะโฉมศรี |
ดีกันเสียเถิดนะเทวี | กูนี้จะได้จำเริญฌาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังวาจาพระอาจารย์ | ยอกรมัสการแล้วตอบไป |
พระองค์ไม่เห็นความแค้น | แสนเทวษปิ้มเลือดตาไหล |
สั่งให้ฆ่าฟันไม่อาลัย | ว่านอกใจเป็นคนกาลี |
ไฉนมากลับกล่าวฉะนี้เล่า | จะคืนรับเข้าบุรีศรี |
พระอัยกาจงได้ปรานี | ไปถามพระจักรีให้แจ้งการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังจึ่งตอบเยาวมาลย์ | รำคาญว่ายากเวทนา |
มาใช้กูเล่นเช่นเรือจ้าง | สองข้างหากนั่งเป็นสุขา |
หลานเอ๋ยไม่ปรานีตา | ว่าแล้วลีลาจากกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งว่าดูก่อน | หลานพระสี่กรเรืองศรี |
สีดาเขาว่าพระภูมี | ว่าเขาไม่ดีนอกใจ |
สั่งให้พระลักษมณ์มาฆ่าเสีย | จะคิดว่าเป็นเมียก็หาไม่ |
แล้วจะกลับมารับด้วยอันใด | เออจะแก้กระไรให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ฟังพระมุนีผู้ปรีชา | กราบกับบาทารำพึงคิด |
ถึงที่ทำโทษอัคเรศ | แสนเทวษดั่งศรมาเสียบจิต |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มอยู่ด้วยพิษ | ทรงฤทธิ์จึ่งตรัสตอบไป |
อันความผิดข้าผิดมาทั้งนั้น | จะดึงดันว่าชอบก็หาไม่ |
อันโยมนี้ไม่มีที่เห็นใคร | พระองค์จงได้ปรานี |
นิมนต์เข้าไปว่ากล่าว | โน้มน้าวอ้อนวอนมารศรี |
ให้ข้าได้พบกับเทวี | เห็นทีจะคลายโกรธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังถ้อยคำพระรามา | หัวร่อร่าร่าแล้วตอบไป |
ทั้งผัวทั้งเมียมาใช้กู | จะจำวัดสักครู่ก็ไม่ได้ |
ว่าแล้วลุกขึ้นทันใด | กลับไปอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งบอกนางสีดา | ซึ่งเอ็งใช้ตาผู้ฤๅษี |
ไปว่าแก่องค์พระจักรี | บัดนี้รับผิดมาทั้งนั้น |
กูเห็นเป็นน่าเอ็นดูนัก | ชลเนตรนองพักตร์โศกศัลย์ |
ง้องอนวอนว่ารำพัน | จะขอพบปะกันกับสีดา |
หลานเอ๋ยคืนคิดถึงความหลัง | จงฟังคำกูผู้เฒ่าว่า |
ตัวเจ้าเป็นเทพมารดา | แก่หมู่เทวาสุราลัย |
หวังจะช่วยบำรุงไตรดาล | มิให้เกิดกาลกุลีได้ |
พระรามร้อนก็จะร้อนภพไตร | อดใจเสียเถิดนางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังถ้อยคำพระมุนี | ว่าพระจักรีภัสดา |
รับโทษว่าได้ทำผิด | พระทรงฤทธิ์เศร้าโทมนัสสา |
ให้คิดถึงคุณแต่หลังมา | ทั้งเกรงองค์อัยกาเป็นพ้นไป |
จำเป็นจะให้พระทรงสังข์ | มายังศาลาที่อาศัย |
ฟังดูจะว่าประการใด | ที่ในถ้อยคำพระจักรี |
คิดแล้วประณตบทบงสุ์ | กราบลงแทบบาทพระฤๅษี |
ถอนใจเป็นครู่ไม่พาที | เทวีก็รื้อรำพึงคิด |
ถึงราชอาญาอันสาหัส | ให้แค้นขัดอัดอั้นตันจิต |
เป็นมิให้ขอเห็นพระทรงฤทธิ์ | แต่สุดคิดจึ่งว่าด้วยจำใจ |
อันความอายความแค้นนี้หนักนัก | แต่หลานรักจักขัดก็ไม่ได้ |
นิมนต์พระองค์จงออกไป | บอกให้พระรามเข้ามา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาดาบสพรตกล้า |
ได้ฟังจึ่งว่าเออสีดา | ตาจะฉันเภสัชเสียสักคำ |
แล้วยกเอาครกมาตำหมาก | ใส่ปากพลางเคี้ยวยํ่าย่ำ |
ถือไม้เท้าง่าเป็นท่ารำ | พึมพำออกไปจากกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งแถลงแจ้งความ | ดูก่อนพระรามเรืองศรี |
นวลนางสีดาเทวี | ให้กูนี้มาพาเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังพระอาจารย์สำราญใจ | ดั่งได้สวรรค์ชั้นฟ้า |
จึ่งสั่งอนุชาทั้งสามองค์ | เจ้าจงเกณฑ์พลซ้ายขวา |
ให้ตั้งสุวรรณพลับพลา | ที่ชายป่าแทบเชิงคีรี |
สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | งามวิลาสดั่งท้าวโกสีย์ |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ตามพระมุนีเข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นถึงที่อยู่นางอรไท | ทำไอแล้วกล่าววาจา |
ผัวเมียจงอยู่พูดกัน | ให้เกษมสันต์หรรษา |
ทีนี้อย่ารบกวนตา | ให้เวทนาลำบากกาย |
เมื่อว่าให้ดีเสียด้วยกัน | ยังดึงดันโกรธแค้นไม่รู้หาย |
จนกูนี้เหนื่อยแทบตาย | ใช้ทั้งสองฝ่ายสบายใจ |
แต่กลับเข้ากลับออกถึงสามหน | จะสวดมนต์ภาวนาก็ไม่ได้ |
ว่าเท่านั้นแล้วก็คลาไคล | สองกุมารตามไปยังกุฎี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
นั่งลงตรงพักตร์เทวี | ภูมีทอดทัศนาการ |
พินิจพิศองค์นงลักษณ์ | อัคเรศผู้ยอดสงสาร |
ดั่งดวงจันทร์จำรัสชัชวาล | ลมพานเมฆมิดปิดไว้ |
เสื่อมเศร้าส่งศรีสิริลักษณ์ | ดวงพักตร์ผิวพรรณหมองไหม้ |
ซูบผอมผิดทรงอรไท | ด้วยตกไร้ได้ทุกข์ทรมา |
นิจจาเอ๋ยเจ้าเคยอยู่วัง | พร้อมพรั่งอนงค์ซ้ายขวา |
เครื่องต้นเครื่องทรงอลงการ์ | ภูษายี่ภู่เขนยนอน |
โอ้น่าสงสารเจ้าเพื่อนยาก | แสนลำบากจากสุขสโมสร |
เป็นวิบัติให้พลัดพระนคร | พระสี่กรคิดพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
เหลือบแลเห็นองค์พระจักรี | ภูมีทรงโศกโศกา |
จึ่งยอกรถวายอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถนาถา |
ชลเนตรคลอดวงนัยนา | กัลยาอัดอั้นตันใจ |
ความแค้นเป็นแสนสุดจิต | ดั่งเพลิงพิษติดทรวงลามไหม้ |
ผันผินพักตร์เสียไม่แลไป | อรไทมิได้พาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
แสนสวาทในราชเทวี | ภูมีรับขวัญแล้วบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์ผู้ยอดเสน่หา |
ความพี่พิศวาสกัลยา | แก้วตาย่อมแจงประจักษ์ใจ |
เป็นเหตุทั้งนี้ก็เพราะกรรม | เวราเราทำมาซัดให้ |
ให้พี่นี้คลุ้มคลั่งไป | จนได้พิฆาตฟาดฟัน |
เดชะความสัตย์ของน้องรัก | เจ้าลักษมณ์จึ่งฆ่าไม่อาสัญ |
ทั้งบุญโอรสอยู่ในครรภ์ | ประกอบกันประจักษ์ทั้งโลกา |
ตั้งแต่วันนั้นคุ้งวันนี้ | มีแต่เศร้าโทมนัสสา |
ฝ่ายสามสมเด็จพระมารดา | ก็โศกากริ้วโกรธพี่นัก |
ว่าเสียแรงเป็นองค์อวตาร | ไม่ตริการชอบผิดเบาหนัก |
จะหาไหนได้เหมือนนงลักษณ์ | พระเสาวนีย์รํ่ารักทุกวันไป |
ครั้นสิ้นกรรมนำเสี่ยงสินธพ | จึ่งพบโอรสพิสมัย |
รู้ว่าเจ้าไม่บรรลัย | ก็ดีใจเป็นพ้นคณนา |
โทษพี่นี้ใหญ่หลวงนัก | น้องรักจงอดโทษา |
ขอเชิญเยาวยอดวนิดา | คืนครองสวรรยาธานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ