- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพสิทธิศักดิ์ยักษี |
เห็นอาการสมเด็จพระชนนี | มีความสงสัยในวิญญาณ์ |
กราบลงแทบเบื้องบาทบงสุ์ | พระองค์จงโปรดเกศา |
ลูกรักออกนามพระรามา | นัดดาอัชบาลชาญชัย |
ผินพักตร์เมินเสียไม่พาที | จะทรงฟังร้ายดีก็หาไม่ |
สองหัตถ์ปิดสองพระกรรณไว้ | ด้วยเหตุอันใดพระมารดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีธิราชยักษา |
ได้ฟังจึ่งแจ้งกิจจา | เล่ามาแต่ดึกดำบรรพ์ |
อันท้าวอัชบาลสุริย์วงศ์ | พงศ์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
ทรงฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | ไหวหวั่นชั้นฟ้าบาดาล |
ครั้งหนึ่งยังมีอสุรพักตร์ | ทะนงศักดิ์หยาบช้ากล้าหาญ |
เที่ยวทำยํ่ายีทั้งจักรวาล | ไม่มีใครทานฤทธี |
ท้าวยังไปตัดเอาเศียรมา | ใช้ให้รักษาสวนศรี |
อันพระรามสุริย์วงศ์องค์นี้ | คือพระจักรีสี่กร |
ไวกูณฐ์มาจากเกษียรสมุทร | ทรงฤทธิรุทรด้วยแสงศร |
จะบำรุงโลกาให้ถาวร | ทรงเดชขจรทั้งแดนไตร |
ซึ่งเจ้าจะไปต่อตี | หรือจะทานฤทธีพระองค์ได้ |
แต่ออกพระนามให้คร้ามใจ | แม่นี้มิใคร่ขอฟัง |
จึ่งปิดพระกรรณด้วยกลัวฤทธิ์ | องค์พระจักรกฤษณ์ทรงสังข์ |
พ่ออย่าหักหาญด้วยกำลัง | หยุดยั้งชั่งใจให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ได้ฟังพระราชเสาวนีย์ | อสุรีจึ่งตอบคำไป |
เหตุใดสมเด็จพระมารดร | มาตัดรอนสุริย์วงศ์ก็เป็นได้ |
จะรู้ที่ไว้หน้าประการใด | ไตรโลกจะล่วงนินทา |
ยกยอแต่วงศ์พงศ์มนุษย์ | ว่าเรืองฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ทำได้แต่หมู่อสุรา | ไม่มีฤทธาเชี่ยวชาญ |
อันพระปิ่นลงกานคเรศ | เรืองเดชทั่วทศทิศาล |
ถึงลักษมณ์รามหลานท้าวอัชบาล | หรือจะหาญต้านต่อรอฤทธิ์ |
ลูกนี้ก็มีอานุภาพ | ปราบทั่วสวรรค์ชั้นดุสิต |
ไม่เกรงศักดาปัจจามิตร | จะไปผลาญชีวิตให้มรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระชนนีเสน่หา |
ค่อนทรวงแล้วมีวาจา | พ่ออย่าอหังการ์ว่าตัวดี |
มาแม่จะเล่าให้เจ้าฟัง | เมื่อครั้งทศพักตร์ยักษี |
กับนางมณโฑเทวี | สถิตที่บัญชรอลงการ์ |
ยังมีนกกระจอกทั้งคู่ | จับอยู่ตรงพักตร์ยักษา |
สังวาสตามชาติสกุณา | มณโฑก้มหน้าละอายใจ |
ทศพักตร์จึ่งเปล่งสิงหนาท | สิบปากตวาดหวั่นไหว |
นกนั้นไม่บินหนีไป | ด้วยเสียงเกรียงไกรอสุรี |
มณโฑเห็นก็เป็นอัศจรรย์ | จึ่งทูลทศกัณฐ์ยักษี |
ว่าลางใหญ่ให้บังเกิดมี | นานไปน่าที่วงศ์ยักษ์ |
จะเสื่อมศักดาวรารุทร | มนุษย์จะเรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ |
ฝ่ายองค์ท่านท้าวทศพักตร์ | ไม่เชื่อเมียรักก็โกรธา |
นางจึ่งยอกรอธิษฐาน | ออกนามอัชบาลนาถา |
บัดเดี๋ยวพระขรรค์ก็ลอยมา | ตัดเศียรสกุณาปลิวไป |
อันพระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ | ถึงองค์อัยกาไม่เปรียบได้ |
แม้นเจ้าจะขืนไปชิงชัย | ที่ไหนพ่อจะรอดชีวี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ได้ฟังสมเด็จพระชนนี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกัลป์ |
นี่หากเป็นมารดาก็จนใจ | หาไม่จะฆ่าให้อาสัญ |
กระทืบบาทขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | ลุกขึ้นหุนหันออกมา |
จับเอางอนราชรถทรง | กวัดแกว่งฟาดลงตรงหน้า |
ราชสีห์ทั้งพันก็มรณา | ด้วยศักดาเดชอันชัยชาญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วเสด็จย่างเยื้องบทจร | ดั่งพญาไกรสรตัวหาญ |
พร้อมหมู่โยธีบริวาร | ไปปราสาทสุรกานต์รูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ยักษี |
ให้เตรียมจัตุรงค์โยธี | จะยกไปบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนามารยักษา |
รับสั่งแล้วบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่จัตุรงค์องอาจ | โดยกระบวนพยุหบาตรทัพขันธ์ |
ขุนช้างผูกช้างชาญฉกรรจ์ | เลือกล้วนซับมันร้ายแรง |
มารหมอขี่คอล้วนฮึกห้าว | กรกุมของ้าวกวัดแกว่ง |
ควาญถือขอท้ายสายกระแซง | แต่งตัวใส่เกราะทุกหมู่มาร |
ขุนม้าผูกม้าสินธพ | เผ่นโผนดีดขบคะนองหาญ |
ขุนรถเทียมรถอลงการ | ยืนทะยานกรกุมโตมร |
ขุนพลตรวจพลอสูรศึก | เร่งร่านหาญฮึกดั่งไกรสร |
ถือหอกดาบปืนยาคทาธร | คอยเสด็จบทจรอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาสระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธาทิพย์หอมหวาน |
สนับเพลาเชิงงอนอลงการ | ภูษาเครือก้านทองพัน |
ชายไหวชายแครงกระหนกหงส์ | ฉลององค์เกราะแก้วกุดั่น |
รัดอกสุรกานต์สังวาลวัลย์ | เฟื่องห้อยสามชั้นทับทรวง |
ตาบทิศทองกรพาหุรัด | ธำมรงค์จำรัสโชติช่วง |
มงกุฎเพชรพรายดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
จับซึ่งมหาคทาวุธ | อันเรืองฤทธิรุทชาญสมร |
เสด็จจากแท่นแก้วอลงกรณ์ | บทจรมาขึ้นราชรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | กงกำพันลึกอลงกต |
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด | ชั้นลดเทพนมประนมกร |
เทียมด้วยพญาสีหราช | สี่พันล้วนชาติไกรสร |
ธงชัยปักชูเฉลิมงอน | ปลายปลิวอัมพรโบกบน |
สารถีมือถือหอกซัด | แกว่งกวัดขี่ขับกุลาหล |
เครื่องสูงบังแสงสุริยน | ปี่กลองอึงอลโครมครึก |
เสียงรถเสียงคชอัศวา | โยธาโห่ร้องก้องกึก |
โลดโผนลำพองคะนองฮึก | ขับกันคึกคึกขึ้นไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงลงกาพระนคร | ให้หยุดนิกรทัพใหญ่ |
ลงจากรถแก้วอำไพ | เข้าไปเฝ้าองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ทคเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เสด็จออกพระโรงรูจี | ในที่ท่ามกลางเสนา |
เหลือบเห็นไมยราพหลานรัก | พญายักษ์แสนโสมนัสสา |
ลุกจากแท่นแก้วอลงการ์ | ลงมาจูงกรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ขึ้นนั่งร่วมบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
งามดั่งพรหเมศเวสสุวัณ | คำนับกันทั้งสองอสุรี |
แล้วมีมธุรสวาจา | ดูกรนัดดาเรืองศรี |
พ่อผู้ร่วมวงศ์ร่วมชีวี | เรานี้พึ่งได้พบกัน |
เจ้าครอบครองไพร่ฟ้าข้าทหาร | ในนครบาดาลเขตขัณฑ์ |
อันพระญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ | ทั้งนั้นยังค่อยสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาอันสุนทร | ประนมกรสนองพจมาน |
หลานรักครอบครองไอศูรย์ | ไพร่ฟ้าสมบูรณ์เกษมศานต์ |
ทั้งสุริย์วงศ์พงศาในบาดาล | แสนสุขสำราญไม่มีภัย |
ซึ่งพระองค์ให้ลงไปหา | ว่าข้าศึกยกมานั้นอยู่ไหน |
ได้รบพุ่งติดพันประการใด | ในการณรงค์ราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | จึ่งมีพจนารถโองการ |
อันทัพมนุษย์ที่ยกมา | ถึงจะมีฤทธากล้าหาญ |
แม้นเราจะยกออกรอนราญ | ไหนมันจะต้านทานกัน |
แต่ว่าอันการรณยุทธ์ | ถ้อยทีฤทธิรุทรแข็งขัน |
เหมือนหนึ่งสาดนํ้ารดกัน | อย่าสำคัญจะไม่ต้องอินทรีย์ |
น่าที่จะตายทั้งสองข้าง | ในระหว่างซึ่งชิงชัยศรี |
ไม่ปรากฏเกียรติยศในธาตรี | เสียทีเป็นวงศ์พรหมา |
เจ้าผู้ทรงศักดาวราฤทธิ์ | เวทมนต์ประสิทธิ์แกล้วกล้า |
จงไปสะกดนิทรา | จับมนุษย์ฆ่าเสียให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพระราชโองการ | ขุนมารสนองพระวาจา |
อันศึกเพียงนี้ไม่หนักนัก | หลานรักจะขออาสา |
จับมนุษย์พี่น้องทั้งสองมา | ให้ได้ดั่งบัญชาพระภูธร |
แต่จะประณตบทมาลย์ | ลาไปทำการพิธีก่อน |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิรอน | จะอาวรณ์พระทัยไปไยมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบพักตร์ยักษี |
ได้ฟังนัดดาพาที | ยินดีสวมกอดแล้วบัญชา |
ควรที่เป็นวงศ์พรหเมศ | จะเลื่องชื่อลือเดชไปภายหน้า |
แม้นสำเร็จการในลงกา | จะแทนคุณนัดดาให้ถึงใจ |
ตรัสแล้วจึ่งสั่งเสนี | ผู้มีปัญญาอัชฌาสัย |
จงเลี้ยงพหลพลไกร | ซึ่งมาแต่พิชัยบาดาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเปาวนาสูรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ขุนมารก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งนายเวรให้บอกไป | แก่วิเสทนอกในซ้ายขวา |
จงแต่งเครื่องต้นอันโอชา | ทั้งของเลี้ยงโยธาให้ครบครัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทคนขยัน |
แจ้งหมายแล้วจัดแจงกัน | หาของทั้งนั้นวุ่นไป |
วิเสทต้นก็แต่งกระยาหาร | เทียบทานเครื่องน้อยเครื่องใหญ่ |
ทั้งของคาวของหวานตระการใจ | ส้มสูกลูกไม้อันโอชา |
เสร็จแล้วก็จัดนางกำนัล | มีพรรณรูปทรงโอ่อ่า |
ยกเครื่องเนื่องตามกันมา | ถวายเจ้าลงกาพญามาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทคเศียรผู้ปรีชาหาญ |
จึ่งชวนนัดดาเจ้าบาดาล | เสวยชัยบานสำราญใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลเยาวยอดพิสมัย |
เข้ารินสุราเมรัย | ถวายองค์ท่านไทอสุรี |
ลางนางบ้างเข้าเฟี้ยมเฝ้า | กราบเกล้าประณตบทศรี |
บ้างเข้าโบกปัดพัดวี | ตามที่ตำแหน่งพนักงาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | รองรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
ดีดสีตีเป่าบรรเลงลาน | ฉิ่งกรับประสานจังหวะกัน |
รำมะนาท้าทับสลับเสียง | เพราะเพียงบรรเลงเพลงสวรรค์ |
โหยหวนครั่นครวญโอดพัน | เสนาะสนั่นเจื้อยจับวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | กรายกรกรีดนิ้วพลิ้วท่า |
เวียนวงเป็นหงส์ลีลา | ชม้ายชายตาไปในที |
ท่าจริตกรีดงอนโดยกระบวน | ให้ยั่วยวนพญายักษี |
ย้ายมาเป็นท่ากินรี | ลีลาเลียบถํ้าอำไพ |
แล้วซัดสองกรอ่อนองค์ | แทรกเปลี่ยนเวียนวงขวักไขว่ |
รำร่ายย้ายเยื้องเข้าไป | ให้ใกล้พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิแรงแข็งขัน |
เสวยพลางดูนางระบำบัน | ผิวพรรณเพียงเทพกินนร |
เอวองค์ทรงศรีวิไลลักษณ์ | น่ารักเป็นที่สโมสร |
จิ้มลิ้มพริ้มพักตร์อรชร | งามงอนเพลิดเพลินจำเริญตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายวิเสทนอกซ้ายขวา |
เสร็จแต่งของเลี้ยงโยธา | ก็แบกขนออกมาวุ่นไป |
มีทั้งสุรากระยาหาร | ช้างสารทอดมันตัวใหญ่ |
แกล้มกับสำหรับเมรัย | ตั้งไว้หน้าพระลานเรียงราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | โยธาบาดาลทั้งหลาย |
ถ้วนทุกหมู่หมวดไพร่นาย | กินเหล้าเมามายไม่สมประดี |
บ้างเต้นบ้างรำโฉงเฉง | ตบมือทำเพลงอึงมี่ |
สัพยอกหยอกนางอสุรี | ทุกหมู่โยธีก็ปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ครั้นเสร็จเสวยโภชนา | สำราญวิญญาณ์กุมภัณฑ์ |
จึ่งน้อมเกล้าประณตบทบงสุ์ | ลาองค์ทศเศียรรังสรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | จากปราสาทสุวรรณอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ขึ้นนั่งยังที่บัลลังก์รถ | ให้เลิกทศโยธีทวยหาญ |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาธาร | ลงไปบาดาลเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสุรกานต์สิงขร | ก็หยุดนิกรทัพใหญ่ |
ตรัสสั่งเสนาผู้ร่วมใจ | ให้ปลูกโรงราชพิธี |
เก็บเห็ดเบื่อเมาเพลาตะโหงก | หาทั้งกะโหลกหัวผี |
มาเป็นก้อนเส้าเตาอัคคี | ที่จะตั้งกระทะหุงยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งจิตรการยักษา |
รับสั่งพญาอสุรา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งอสุรีสี่ตำรวจ | ทั่วทุกหมู่หมวดน้อยใหญ่ |
ให้ตั้งโรงพิธีอำไพ | โดยในบัญชาพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่พวกพลทวยหาญ |
ได้แจ้งแห่งราชโองการ | ลนลานวิ่งวุ่นทั้งไพร่นาย |
จึ่งตั้งโรงราชพิธี | กว้างขวางยาวรีเฉิดฉาย |
สามสิบเก้าห้องพรรณราย | ดาษแดงแสงพรายรจนา |
ท่ามกลางนั้นวางบัลลังก์อาสน์ | โอภาสจำรัสพระเวหา |
พร้อมทั้งธูปเทียนว่านยา | เสร็จตามตำราครบครัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิแรงแข็งขัน |
เสด็จจากรถแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลไปสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลูบไล้สุคนธาธาร | หอมหวานด้วยกลิ่นบุปผา |
ทรงเดชแสงสดรจนา | บังเฉียงภูษาโมรี |
สอดสายธุหรํ่าแล้วเจิมจุณ | มุ่นชฎาห่อเกล้าเป็นฤๅษี |
รัดโกปินำรูจี | สวมประคำมณีอลงกรณ์ |
พระหัตถ์จับกล้องปัทมราช | รัศมีโอภาสประภัสสร |
งามดั่งพรหเมศฤทธิรอน | บทจรเข้าโรงพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งตั้งโลหะกันทะ | โดยตบะบนเส้าโขมดผี |
ให้ประโคมแล้วโหมอัคคี | มาลีธูปเทียนบูชา |
แล้วเสด็จขึ้นยังบัลลังก์อาสน์ | นั่งสมาธิผ่อนลมนาสา |
หลับเนตรร่ายเวทวิทยา | อสุราสำรวมจิตใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ ครั้นถ้วนคำรบครบพัน | พสุธาเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
เพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์สว่างไป | กระทะใหญ่แดงดั่งอัคคี |
จึ่งจับกล้องปัทมราช | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
บริกรรมเป่าลงสามที | ในที่กระทะพิธีกรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เกิดเป็นสองนางทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์ผ่องเพียงอัปสรสวรรค์ |
เอวองค์ส่งศรีวิไลวรรณ | กุมภัณฑ์จูงสองเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ขึ้นนั่งเหนือที่บัลลังก์รัตน์ | สัมผัสภิรมย์เกษมศานต์ |
หยอกเย้าบันเทิงละเลิงลาน | พญามารเล้าโลมไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วหยุดยั้งจิตคิดได้ | ไม่อาลัยในความเสน่หา |
กวัดแกว่งกล้องแก้วอันศักดา | สังหารชีวาเสียทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วคืนขึ้นนั่งบัลลังก์อาสน์ | อภิวาทน์เหนือเกล้าเกศี |
อ่านเวทสำรวมอินทรีย์ | ครบถ้วนพันทีแล้วเป่าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เกิดเป็นคชสีห์ทั้งคู่ | อยู่ในโลหะกระทะใหญ่ |
บำรุงงากันกลางเปลวไฟ | เสียงสนั่นหวั่นไหวอึงอล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เห็นไม่ต้องตามพิธี | อสุรีกริ้วโกรธกุลาหล |
หวดด้วยกล้องแก้วฤทธิรณ | ก็วายชนม์ไม่ทันพริบตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นแล้วก็นั่งสำรวมเนตร | สะกดเวทอาคมคาถา |
ได้ครบพันคาบตามตำรา | ยักษาก็เป่าลงสามที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์อันสามารถ | เกิดเป็นพญาราชสีห์ |
สองสัตว์แรงฤทธิ์ราวี | สู้กันกลางที่พิธีการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เห็นต้องตำราอาคม | ก็ชื่นชมตบหัตถ์ฉัดฉาน |
กวัดแกว่งกล้องแก้วชัชวาล | ประหารสีหราชด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นแล้วจึ่งแหวะเอาดวงใจ | ประกอบเข้ากับใบพฤกษา |
เจ็ดสิ่งซึ่งรู้นิทรา | กับโหราเห็ดเมาทั้งนั้น |
วางลงในหน้าศิลาบด | แล้วด้วยมรกตฉายฉัน |
จึ่งร่ายพระเวททั้งพัน | กลั้นใจบดตามตำรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นว่าสำเร็จเสร็จการ | พญามารสำรวลสรวลร่า |
จะลองดูให้รู้คุณยา | ก็ทาชงฆ์ขวาแล้วเป่าไป |
เกิดเป็นเสือโคร่งยิงฟัน | สี่เท้ายืนยันสูงใหญ่ |
สองตาดั่งหนึ่งเปลวไฟ | แลบลิ้นหนวดไหวคำรามรน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วเอาทาเท้าเบื้องซ้าย | เป็นแมวลายแลเลื่อมทุกเส้นขน |
กระดิกหูหางอย่างยนตร์ | วิ่งวนรอบเท้าอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ จึ่งซํ้าเอายานั้นทาลง | ตรงแขนเบื้องซ้ายยักษี |
เกิดเป็นพญานาคี | มีเศียรเจ็ดเศียรมหึมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วทาแขนขวาด้วยยานั้น | ก็เป็นสุบรรณปักษา |
กางปีกกระพือเป็นโกลา | ดั่งจะจิกนาคาเสียให้ตาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วจึ่งเอายานั้นทาทั่ว | ก็ยังได้ทั้งตัวแลเงาหาย |
อสุราแย้มยิ้มพริ้มพราย | สมดั่งใจหมายก็ยินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ไม่เห็นพญาอสุรี | ต่างคนร้องมี่อึงไป |
เอะผิดแล้วเหวยชาวเจ้า | เจ้าเรานี้หายไปไหน |
ต่างคนตระหนกตกใจ | วิ่งไขว่หาองค์พญามาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิไกรใจหาญ |
เห็นพลวิ่งหาลนลาน | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วร้องมา |
ตัวกูอยู่นี่ไม่ไปไหน | ทำไมเสือกสนค้นหา |
ว่าแล้วพญาอสุรา | เสด็จมาสรงนํ้าพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลูบไล้ไปทั่วสารพางค์ | ล้างยาในกายยักษี |
ให้หมดมลทินสิ้นราคี | แล้วทรงเครื่องเรืองมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุราทวยหาญ |
ต่างตนแลเห็นพญามาร | เรียกเพื่อนลนลานแล้วบอกกัน |
เมื่อกี้เจ้าเราหายไป | ตกใจเที่ยวหาตัวสั่น |
บ้างวิ่งเข้ามาบังคมคัล | กุมภัณฑ์สำรวลด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ครั้นเสร็จพิธีบดยา | ก็ขึ้นทรงรัถาอลงกรณ์ |
ให้เลิกพหลโยธี | จากที่สุรกานต์สิงขร |
รีบเร่งม้ารถบทจร | คืนเข้าพระนครบาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงประทับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยดวงมุกดาหาร |
ลงจากรถรัตน์ชัชวาล | ขึ้นปราสาทสุรกานต์พรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เอนองค์ลงเหนือทิพอาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ฝูงอนงค์บำเรอนวดฟั้น | กุมภัณฑ์ก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ ครั้นล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเร่าร้องเสียงใส |
ฝันว่าพระจันทร์อำไพ | ไขรัศมีกระจ่างฟ้า |
ยังมีดาวดวงหนึ่งน้อย | เลื่อนลอยอยู่ในเวหา |
ส่องสว่างพ่างพื้นเมฆา | แสงกล้าดั่งแสงอโณทัย |
เขจรอยู่เหนือโพยมหน | เบื้องบนศศิธรดวงใหญ่ |
เปล่งสีปิดแสงลงไว้ | มิให้เห็นวงพระจันทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นฟื้นตื่นจากบรรทม | ปรารมภ์ตริตรึกความฝัน |
เห็นเป็นนิมิตชาญฉกรรจ์ | ให้หวาดหวั่นฤทัยไปมา |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยทิพย์ภูษา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกพระโรงรัตนาโอฬาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสด้วยดวงมุกดาหาร |
ปุโรหิตเสนาพฤฒาจารย์ | หมอบกรานเกลื่อนกลาดดาษไป |
จึ่งมีพระราชวาที | แก่โหราธิบดีผู้ใหญ่ |
คืนนี้เราฝันประหลาดใจ | ก็ตรัสไปแต่ต้นจนปลายมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โหราเฒ่าผู้มียศถา |
พิเคราะห์ดูด้วยปรีชา | ก็แจ้งว่าไม่เป็นสวัสดี |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชยักษี |
ซึ่งฝันว่าพระจันทร์ส่องธาตรี | คือพระองค์ผู้มีศักดา |
อันดาวดวงช่วงโชติกว่าแขไข | ได้แก่พระญาติวงศา |
จะขึ้นผ่านไอศูรย์สวรรยา | ในมหาบาดาลพระนคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพชาญสมร |
ได้ฟังโหราพยากรณ์ | ให้เร่าร้อนฤๅทัยตะลึงคิด |
นิ่งนึกตรึกตราอยู่ช้านาน | จึ่งมีโองการประกาศิต |
อันในสุริย์วงศ์ที่ห่างชิด | จะเป็นปัจจามิตรแก่เรานั้น |
ท่านจงพิเคราะห์ดูไป | เห็นชะตาผู้ใดคมสัน |
จะได้เป็นเจ้าแก่กุมภัณฑ์ | ครอบครองข้าขัณฑเสมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปุโรหิตโหรายักษา |
รับสั่งแล้วดูทุกชะตา | ก็รู้ว่าไวยวิกอสุรี |
จะได้ผ่านบาดาลนคเรศ | ด้วยราหูอยู่เมษราศี |
จันทร์เป็นสิบเอ็ดไม่ราคี | พฤหัสบดีกุมลัคน์ |
ขับไล่ได้ราชาโชค | โยคเกณฑ์ควรผ่านอาณาจักร |
ยิ่งกว่าสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | ทั้งแหลมหลักท่วงทีปรีชา |
จึ่งน้อมเกล้าประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญายักษา |
ว่าองค์ไวยวิกอสุรา | ดวงชะตาเป็นเอกอุดมดี |
เห็นว่าจะได้ผ่านสมบัติ | ในมหาเศวตฉัตรเฉลิมศรี |
ด้วยดวงชันษาอสุรี | ดีกว่าสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังดั่งใครมาฟาดฟัน | กุมภัณฑ์ถวิลจินดา |
ครั้นจะละมันไว้บัดนี้ | จะเกิดกุลีใหญ่ไปภายหน้า |
คิดแล้วจึ่งสั่งเสนา | ให้เอาไวยวิกมาจำไว้ |
แม่มันชื่ออี่พิรากวน | จงใส่ตรวนไว้ในตรุใหญ่ |
ถ้ากูได้มนุษย์มาเมื่อใด | จะให้ฆ่าเสียด้วยกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทสูรเสนาคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งจำพิรากวนไว้ | ทั้งไวยวิกโอรสา |
ใส่ครบโซ่ตรวนขื่อคา | ตามราชบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ในที่พลับพลาอลงกรณ์ |
ครั้นคํ่ายํ่าสนธยากาล | สุริย์ฉานเลี้ยวเหลี่ยมสิงขร |
ดาวดาษกลาดเกลื่อนอัมพร | แวดล้อมจันทรในเมฆา |
พระพายชายพัดรวยริน | หอมกลิ่นสุคันธบุปผา |
น้ำค้างหยาดเย็นพสุธา | ผ่านฟ้าก็เคลิ้มหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ พอล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเร่าร้องเสียงใส |
เทวัญบันดาลดลใจ | ให้เกิดนิมิตอัศจรรย์ |
ว่าพระสุริยาทรงกลด | หมดเมฆมลทินฉายฉัน |
อสุรินทร์ราหูชาญฉกรรจ์ | จู่จับคาบคั้นพาไป |
แล้วว่าพระองค์ยื่นหัตถ์ | หักฉัตรชั้นพรหมโลกได้ |
อันพระบาทยุคลภูวไนย | ไปยังพิภพนาคินทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นฟื้นตื่นจากไสยาสน์ | อัศจรรย์หวั่นหวาดฤๅทัยถวิล |
นิ่งนึกตรึกความตามสุบิน | ไม่สิ้นกังขาราคี |
จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองจำรัสรัศมี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ออกที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | ทวยหาญเฝ้ากลาดพร้อมหน้า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | แก่พญาพิเภกกุมภัณฑ์ |
แจ้งความตามข้อพระสุบิน | เสร็จสิ้นซึ่งทรงนิมิตฝัน |
เราคิดก็ยิ่งอัศจรรย์ | ดีร้ายนั้นเป็นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังพระองค์ทรงภพไตร | ตรัสเล่าโดยนัยพระสุบิน |
จึ่งพินิจพิเคราะห์ด้วยปรีชาญ | ก็แจ้งการร้ายดีทุกสิ่งสิ้น |
ยอกรเหนือเกล้าอสุรินทร์ | ทูลพระผู้ปิ่นโลกา |
ซึ่งพระสุบินว่าทินกร | ทรงกลดเขจรในเวหา |
ได้แก่พระองค์ผู้ศักดา | อันไวกูณฐ์มาปราบยักษ์ |
ซึ่งฝันว่าอสุรินทร์ราหู | มาคาบคั้นจู่โจมโหมหัก |
คือไมยราพหลานท้าวทศพักตร์ | จักมาสะกดพระองค์ไป |
ถึงในบาดาลนครา | แต่ว่าหาอันตรายไม่ |
จะมีทหารผู้ร่วมใจ | ตามไปเข่นฆ่าอสุรี |
แล้วจะเชิญพระองค์ทรงฤทธิ์ | คืนสถิตพลับพลาชัยศรี |
ซึ่งฝันว่าหักฉัตรมณี | ถึงที่พิภพพรหมา |
พระสุบินข้อนี้ประเสริฐนัก | เห็นจักมีชัยแก่ยักษา |
ได้กรุงพระนครลงกา | ทศเศียรอสุราจะบรรลัย |
ซึ่งพระบาทเหยียบพิภพนาคี | ข้อนี้ก็เป็นมงคลใหญ่ |
พระเดชจะปกแผ่ไป | ทั่วในชั้นฟ้าบาดาล ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
ซึ่งไมยราพจะพาเราไป | ยังพิชัยบาดาลบุรีศรี |
จะคิดอ่านประการใดดี | ที่จะกันอสุรีพาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ว่าเคราะห์วันชันษาร้ายนัก | ราหูทับลัคน์เป็นโทษใหญ่ |
เสาร์เสริดถึงจันทร์จะมีภัย | ในเวลามัชฌิมราตรี |
แม้นล่วงไปเจ็ดทุ่มเศษ | เทวาประเวศจากราศี |
จึ่งจะพ้นโทษร้ายราคี | มีแต่สิ่งสุขสถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถทรงศร |
ได้ฟังพิเภกพยากรณ์ | ภูธรจึ่งมีบัญชา |
ตรัสสั่งลูกพระสุริยัน | จงเกณฑ์กันพิทักษ์รักษา |
นั่งยามตามไฟตรวจตรา | ไปกว่าจะรุ่งราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังบัญชาพระจักรี | ชุลีกรสนองพระโองการ |
อันตัวของข้าผู้รองบาท | ก็นับว่าเป็นชาติทหาร |
จะขออาสาพระอวตาร | ป้องกันภัยพาลกุมภัณฑ์ |
มิให้มันล่วงเข้ามาได้ | ถึงองค์ภูวไนยรังสรรค์ |
ทูลแล้วถวายบังคมคัล | ทั้งสุครีพนั้นก็ออกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ยืนอยู่ท่ามกลางโยธี | ชุลีกรเหนือเกล้าเกศา |
หลับเนตรร่ายเวทอันศักดา | นิมิตกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ยานี
๏ สูงจดภวัคพรหมาน | ใหญ่เท่าจักรวาลสิงขร |
เบื้องตํ่าใต้พื้นดินดอน | หยั่งถึงสาครรองดิน |
หางวงเป็นปราการล้อม | โอบอ้อมโยธาไว้สิ้น |
อันพลับพลาแก้วโกมิน | ขุนกบินทร์เอาไว้ในอุรา |
อ้าโอษฐ์ออกเป็นทวาร | ใบบานปิดเปิดนั้นชิวหา |
พิเภกกับพระลักษมณ์อนุชา | นั่งรักษาองค์พระจักรี |
สุครีพนั้นเป็นนายประตู | คอยดูโยธากระบี่ศรี |
เข้าออกตรวจตราทุกที | มิให้ไพรีปลอมปน |
อันสิบแปดมงกุฎเสนา | สารวัดตรวจตรากุลาหล |
จุกช่องกองเพลิงทุกตำบล | หมู่พลตีฆ้องกระเวนกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพแข็งขัน |
ครั้นใกล้เวลาสายัณห์ | กุมภัณฑ์ไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงสุคนธารสโอฬาร | หอมหวานตลบอบกลิ่น |
สนับเพลาภูษาดำนิล | สิ้นทั้งผ้าทิพย์พรายพรรณ |
สอดใส่ฉลององค์ย้อมว่าน | สร้อยสนสังวาลดวงกุดั่น |
ตาบทิศทับทรวงวิไลวรรณ | พาหุรัดนาคพันทองกร |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรรัตน์ | มงกุฎแก้วจำรัสประภัสสร |
ดอกไม้พวงร่วงรุ้งอรชร | กรรเจียกจรวิจิตรเจษฎา |
พระกรทรงกล้องปัทมราช | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
กับโอสถสะกดนิทรา | เสร็จแล้วอสุราก็รีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ชำแรกแทรกพื้นบาดาล | สุธาธารกัมปนาทหวาดไหว |
ขึ้นยังฟากฝั่งสมุทรไท | ดั้นดัดมาในหิมวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงมรกตคีรี | ยักษีเหลียวซ้ายแลขวา |
เห็นหมู่วานรโยธา | ตรวจตรากระเวนบรรจบกัน |
นั่งยามตามไฟรอบราย | ไพร่นายกำชับกวดขัน |
ไม่รู้ที่สลักสำคัญ | กุมภัณฑ์ก็ย่องเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แลดูเห็นเป็นปราการ | ดั่งเขาจักรวาลสูงใหญ่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ไจ | เหตุใดไม่เห็นพลับพลา |
ดีร้ายชะรอยมันล่วงรู้ | ว่ากูผู้มีฤทธิ์กล้า |
จะขึ้นมาสะกดนิทรา | จึ่งทำศักดาดั่งนี้ |
จำจะเที่ยวดูเล่ห์กล | แยบยลชั้นเชิงกระบี่ศรี |
คิดแล้วสำแดงฤทธี | อสุรีเหาะขึ้นยังอัมพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ จนถึงโสฬสพรหเมศ | ไม่สิ้นเขตปราการสิงขร |
ก็เหาะกลับลงมาด้วยฤทธิรอน | แทรกพื้นดินดอนลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จนถึงกาลาคนิรุทร | จะสิ้นสุดกำแพงก็หาไม่ |
ไม่เห็นช่องร่องรอยประการใด | จนใจแล้วกลับขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ค่อยย่องตามทางหว่างเขา | แฝงเงาพุ่มไม้ใบหนา |
มิให้วานรโยธา | สอดตามาเห็นอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พวกพลนิกรกระบี่ศรี |
สารวัดตรวจตราในราตรี | ทุกหน้าที่ชั้นนอกชั้นใน |
แต่เสียงกิ่งไม้หักลั่น | ก็ชวนกันเลี้ยวลัดสกัดไล่ |
วิ่งวนค้นหากันวุ่นไป | นายไพร่อื้ออึงเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพสิทธิศักดิ์ยักษา |
ตกใจสะดุ้งทั้งกายา | ย่องกลับออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พอเห็นลับแลงก็แฝงองค์ | ริมพงแทบเชิงคีรีศรี |
เยี่ยมมองตามช่องพนาลี | สอดดูกระบี่รี้พล |
ทั้งล้อมวงจุกช่องกองไฟ | จะเล็ดลอดเข้าไปนั้นขัดสน |
อย่าเลยตัวกูจะแปลงตน | เข้าปลอมพลปนไปเป็นวานร |
มิให้มีความสงสัย | จะล่อลวงถามไถ่ให้แจ้งก่อน |
คิดแล้วนบนิ้วประนมกร | สังวรใจร่ายเวทวิทยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ กายนั้นก็เป็นวานรน้อย | กระจ้อยร่อยดั่งเพศลิงป่า |
เข้าปลอมกับหมู่โยธา | อสุราพลอยเที่ยวกระเวนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เตียว
๏ เห็นกระบี่ตนหนึ่งสำแดงหาญ | อ้าปากเป็นทวารกว้างใหญ่ |
มีนายประตูประจำไว้ | ผู้ใดไปมาก็ตรวจกัน |
ให้รู้จักชื่อหน้าทั่ว | กำชับนับตัวเป็นกวดขัน |
เข้าออกล้วนมีสำคัญ | กุมภัณฑ์ครั้นเห็นก็ตกใจ |
แต่ยืนพินิจพิศดู | ไม่รู้ที่จะทำกระไรได้ |
พลอยเที่ยวเวียนมาเวียนไป | ฟังวานรไพร่เจรจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกระบี่แกล้วกล้า |
ต่างเที่ยวกระเวนตรวจตรา | ตีฆ้องร้องว่ากำชับกัน |
ชาวเราอย่าเห็นแก่หลับนอน | พระสี่กรเคราะห์ร้ายกวดขัน |
ช่วยกันรักษาพระทรงธรรม์ | อย่าให้อันตรายราคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ได้ฟังวานรพาที | อสุรีแสร้งถามด้วยมารยา |
เมื่อไรจะพ้นกำหนดร้าย | ที่โหรทายในพระชันษา |
เราจะได้เอนกายงีบตา | ให้เป็นผาสุกสำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หมู่กระบี่นิกรน้อยใหญ่ |
จึ่งว่าดูกรไอ้จังไร | อยูไหนมาถามดั่งนี้ |
ต่อล่วงปัจฉิมเวลา | สุริยาเรื่อแรงแสงสี |
จึ่งจะพ้นเคราะห์พระจักรี | ตามที่พิเภกพยากรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพชาญสมร |
ได้ฟังวาจาวานร | สโมสรดั่งได้วิมานอินทร์ |
จึ่งคิดว่ากูจะแต่งกล | ลวงกระบี่รี้พลให้หลับสิ้น |
ด้วยรัศมีกล้องแก้วโกมิน | คิดแล้วอสุรินทร์ก็หลีกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นลับตาวานรทั้งหลาย | ก็กลับกลายเป็นเพศยักษา |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | ไปภูผาโสลาศคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ยืนอยู่เหนือยอดคิรินทร | ดั่งพญาไกรสรราชสีห์ |
จับกล้องปัทมราชรูจี | อสุรีกวัดแกว่งไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โชติช่วงเพียงดวงดาวประกาย | สีพรายจำรัสพระเวหา |
แจ่มจับกับแสงดารา | ในเวลาปัจฉิมราตรีกาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรทวยหาญ |
ซึ่งรักษาองค์พระอวตาร | เห็นแสงชัชวาลในอัมพร |
สำคัญว่าดวงดาวประกาย | ไพร่นายชื่นชมสโมสร |
ทีนี้สิ้นเคราะห์พระสี่กร | วานรชี้บอกกันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ อันหมู่พหลโยธี | จะรู้กลอสุรีก็หาไม่ |
สำคัญว่าจริงก็ดีใจ | มิได้กระเวนตรวจตรา |
บ้างนอนบ้างนั่งเป็นเหล่าเหล่า | หยอกเย้ากันเล่นหัวเราะร่า |
บ้างล้อมกันสูบกัญชา | บ้างหลับตาผิงอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษี |
ครั้นเสร็จแกว่งกล้องมณี | อสุรีก็เหาะกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงยืนอยู่แต่ไกล | แอบพุ่มพระไทรใบหนา |
เห็นหมู่วานรโยธา | มิได้ตรวจตราแก่กัน |
ทั้งนั่งยามตามไฟก็เงียบสิ้น | ฆ้องกลองพาทย์พิณก็ไม่ลั่น |
บ้างตื่นบ้างหลับเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์ค่อยย่องเข้าไป |
เห็นพลกระบี่บางหมู่ | พูดจากันอยู่หาหลับไม่ |
เดินไปเดินมาไวไว | ตกใจก็ถอยออกมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งหยุดยืนอยู่เหนือลม | ทำตามอาคมยักษา |
เทยาสะกดนิทรา | ใส่กล้องรัตนาแล้วเป่าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องหมู่โยธาพานรินทร์ | มัวเมาไปสิ้นไม่ทนได้ |
ก็หลับสนิททั้งทัพชัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วเข้าฉุดลากกระชากดู | กลางหมู่โยธากระบี่ศรี |
เห็นนอนนิ่งไม่ติงอินทรีย์ | อสุรีก็เดินเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งปากวายุบุตร | หยุดอยู่ดูไปซ้ายขวา |
จึ่งร่ายเวทสะกดนิทรา | เทยาใส่กล้องแล้วเป่าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต้องพญาสุครีพนั่งหลับ | กับทั้งหนุมานทหารใหญ่ |
อสุรีมีความดีใจ | ก็เข้าไปในโอษฐ์วานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพลับพลาสุวรรณรัตน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
เห็นหมู่โยธาพลากร | นอนหลับทับกันดาษดา |
ยังแต่พิเภกขุนยักษ์ | กับองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
นั่งอยู่แทบบาทพระรามา | อสุราก็แอบเข้าไป |
จึ่งเอายาสะกดนั้นใส่กล้อง | ด้อมมองแฝงตัวให้ใกล้ |
แล้วร่ายพระเวทเรืองชัย | กลั้นใจเป่าซํ้าอีกสามที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องพญาพิเภกขุนยักษ์ | ทั้งพระรามพระลักษมณ์เรืองศรี |
หลับไหลไม่ได้สมประดี | ด้วยเวทอสุรีชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มีความชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ |
แกว่งกล้องย่องย่างจรจรัล | ขึ้นยังสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พิศเพ่งเล็งดูพระลักษมณ์ | ดวงพระพักตร์เพียงเทพเลขา |
ผิวเหลืองเรืองรองดั่งทองทา | โสภาพริ้มพร้อมทั้งกาย |
แล้วเหลือบแลดูพระราม | สง่างามพริ้งเพริศเฉิดฉาย |
สีเขียวนวลนิลพรรณราย | สองชายน้อยน้อยแต่เท่านี้ |
ไฉนจึ่งองค์พระมารดร | ว่ามีฤทธิรอนกว่ายักษี |
ฆ่าเสียก็จะม้วยชีวี | แต่ในนาทีไม่พริบตา |
คิดแล้วผาดแผลงสำแดงเดช | ช้อนพระราเมศผู้เชษฐา |
ขึ้นใส่เหนือบ่าอสุรา | ก็ออกมาจากปากวานร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ชำแรกแทรกพื้นสุธาธาร | ด้วยกำลังขุนมารชาญสมร |
ข้ามด่านผ่านทางพนาดร | พาจรเร่งรีบไปธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ยักษี |
จงเอามนุษย์น้อยนี้ | ใส่กรงเหล็กไว้ที่ดงตาล |
แล้วให้เกณฑ์หมู่อสุรา | โกฏิหนึ่งฤทธากล้าหาญ |
รักษาในราตรีกาล | ระวังเหตุเภทพาลอย่าไว้ใจ |
อันอี่พิรากวนอสุรี | ให้ตักนํ้าใส่ที่กระทะใหญ่ |
ตั้งไว้ยังหน้าพระลานชัย | ต่อปัจจุสมัยเวลา |
กูจะต้มมนุษย์กับลูกมัน | ให้ม้วยชีวันสังขาร์ |
สั่งเสร็จเสด็จยาตรา | เข้าที่ไสยาสำราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
รับสั่งเจ้ากรุงบาดาล | ก็ให้นครบาลชาญฉกรรจ์ |
ยกเอากรงเหล็กอันใหญ่ | มาใส่พระรามรังสรรค์ |
ไปไว้ยังดงตาลนั้น | ตามพญากุมภัณฑ์บัญชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา