- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นถึงให้หยุดบุษบกไว้ | เข้าไปยังหน้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | พระทรงครุฑภุชพงศ์นาถา |
ท่ามกลางทหารโยธา | ทูลว่าตัวข้าผู้ภักดี |
เชิญเสด็จโฉมยงนงลักษณ์ | องค์อัคเรศมเหสี |
ผู้ทรงเสาวภาคย์สวัสดี | มาเฝ้าธุลีบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพิเภกขุนมาร | ผ่านฟ้าแสนโสมนัสนัก |
ดั่งหนึ่งได้ดวงมณีรัตน์ | มาวางเหนือหัตถ์พระทรงจักร |
จะใคร่ชมองค์นงลักษณ์ | จึ่งผินพักตร์ทอดทัศนาไป |
เห็นบุษบกแก้วมณี | รัศมีดั่งดวงแขไข |
มีฝูงเยาวเรศอรไท | ทรงโฉมวิไลจำเริญตา |
นั่งเป็นอันดับซับซ้อน | ดั่งดาวล้อมจันทรในเวหา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกกุมภัณฑ์ |
อันนางซึ่งอยู่ทั้งสองข้าง | รูปร่างเพียงอัปสรสวรรค์ |
กับสองกุมารนั่งหน้านั้น | ถือดวงสุวรรณมาลัย |
จะเป็นประยูรสุริย์วงศ์ | ขององค์ทศพักตร์หรือไฉน |
อันฝูงอนงค์นางใน | ทั้งนั้นคือใครตามมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
น้อมเศียรสนองพระบัญชา | อันกุมาราทั้งสองนี้ |
ฝ่ายขวาชื่อยามลิวัน | ซ้ายนั้นกันยุเวกยักษี |
เป็นบุตรอินทรชิตอสุรี | พี่น้องนั้นร่วมอุทร |
นางซึ่งนั่งถัดกุมารา | ชื่อสุวรรณกันยุมาดวงสมร |
ภรรยาอินทรชิตฤทธิรอน | เป็นมารดรทั้งสองอสุรี |
นั่นคือเบญกายนงลักษณ์ | ลูกรักของข้าบทศรี |
ถัดนั้นชื่อจันทวดี | ภรรยาอสุรีกุมภกรรณ |
นั่นตรีชฎาเมียข้าบาท | อยู่ด้วยอัครราชในสวนขวัญ |
อันนางอยู่ข้างขวานั้น | ชื่อว่ามณโฑกัลยา |
ข้างซ้ายนางกาลอัคคี | มเหสีทศพักตร์ยักษา |
ทั้งนั้นคือเทพธิดา | ลงมาเป็นเพื่อนเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดสงสาร |
อยู่ในบุษบกอลงการ | นงคราญรำพึงคะนึงคิด |
ตัวกูกำจัดพลัดพราก | จากบาทพระบรมจักรกฤษณ์ |
เพราะทศกัณฐ์ปัจจามิตร | ทำการทุจริตไปลักมา |
ให้อยู่ในสวนอุทยาน | ช้านานหลายปีหนักหนา |
จะชั่วดีก็ไม่ทราบบาทา | เกลือกว่าจะแคลงพระทัย |
ครั้นจะเฝ้าใกล้องค์ภูวนาถ | แม้นมิประภาษปราศรัย |
จะรู้ที่เอาหน้าไว้แห่งใด | จะได้ความอัปยศพันทวี |
จำจะดูกิริยาอาการ | องค์พระอวตารเรืองศรี |
แต่หน้าพลับพลารูจี | ร้ายดีก็จะแจ้งกิจจา |
คิดแล้วเปิดม่านสุวรรณ | ให้นางสาวสวรรค์นั้นนำหน้า |
ลงจากบุษบกอลงการ์ | กัลยาย่างเยื้องเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงถวายอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถทรงศร |
อยู่ยังพ่างพื้นดินดอน | บังอรก้มพักตร์ไม่พาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระจอมภพลบโลกเรืองศรี |
แลเห็นอัครราชเทวี | มีความยินดีเป็นสุดคิด |
จะใคร่ไปอุ้มองค์นงลักษณ์ | มาชมเหนือตักพระจักรกฤษณ์ |
แล้วเกรงเทวาสุราฤทธิ์ | ทศทิศจะเย้ยไยไพ |
ทั้งหมู่แสนยาพลากร | วานรจะนินทาได้ |
ว่ากูรักองค์อรไท | ไม่อายแก่ไตรโลกา |
มีจิตพิศวาสงวยงง | ลุ่มหลงด้วยความเสน่หา |
มิได้พินิจพิจารณา | ธรรมดาหญิงตกถึงมือชาย |
เป็นที่พิรุธราคิน | ทรลักษณ์มลทินหมองหมาย |
ดั่งหนึ่งสุบรรณตัวร้าย | หยาบคายจับนาคพาไป |
คาบคั้นเข้าไว้ในปาก | มิมากก็น้อยให้ได้ |
จำจะชอกชํ้าลำบากใจ | ด้วยฤทธิไกรสกุณี |
อันซึ่งองค์อัครชายา | ตกมาในมือยักษี |
ใครจักล่วงรู้ว่าร้ายดี | มีแต่ตัวกูกับนงลักษณ์ |
เคยเห็นสุจริตนํ้าจิตกัน | นอกนั้นไม่แจ้งทั้งไตรจักร |
ความนี้เป็นที่อดสูนัก | จำเปลื้องพักตร์ให้พ้นอัประมาณ |
ระงับข้อแหนงแคลงจิต | ให้ทศทิศแจ้งสิ้นทุกสถาน |
จึ่งจะไม่ราคีแผ้วพาล | สิ้นกาลชั่วกัลปาไป ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | เอื้อนโอษฐ์ประภาษปราศรัย |
ดูก่อนอัคเรศอรไท | พี่ได้ยากสู้ติดตามมา |
ข้ามมหาสาครกว้างลึก | มาทำศึกล้างเหล่ายักษา |
มิได้อาลัยแก่ชีวา | เพราะเสน่หาเจ้าผู้เดียวดาย |
วันนี้ได้เห็นนงลักษณ์ | ผิวพักตร์ดั่งเดือนจำรัสฉาย |
ฝ่ายพี่ทุกข์ร้อนลำบากกาย | เจ้ามาอยู่สบายหลายปี |
ยังได้สมบัติพัสถาน | ของประทานพญายักษี |
ซึ่งวิเศษเลิศหล้าธาตรี | ขอพี่ชมบ้างเป็นขวัญตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ดั่งต้องสายฟ้าสักแสนที |
ถึงเมื่อทศกัณฐ์ขุนยักษ์ | มันไปลอบลักพาหนี |
ก็ไม่เจ็บใจเหมือนครั้งนี้ | ในที่ปริภาษณาการ |
ความอายอัปยศเป็นสุดคิด | ดั่งชีวิตจะม้วยสังขาร |
มิรู้ที่จะสนองพจมาน | ให้ผ่านฟ้าเห็นจริงประการใด |
อกเอ๋ยเกิดมาเป็นหญิง | ยากยิ่งจะไว้ตัวได้ |
อันความกินแหนงแคลงใจ | ย่อมเกิดที่ในสัตรี |
คิดแล้วนบนิ้วบังคมทูล | นเรนทร์สูรจงโปรดเกศี |
อันซึ่งตัวข้าบาทนี้ | อสุรีไปลักพามา |
ตกถึงมือชายแล้วไกลเนตร | พระทรงเดชปิ่นภพนาถา |
เป็นที่สงสัยวิญญาณ์ | แก่หมู่โลกาฟ้าดิน |
ถึงมาตรจะรักษาตัวดี | อันจะเปลื้องราคีเห็นไม่สิ้น |
เว้นแต่ทวยเทพอมรินทร์ | จะไม่กินแหนงแคลงใจ |
กับพระคงคาแลอัคคี | จะเป็นที่สักขีพยานได้ |
พระองค์จงลั่นศิลป์ชัย | ประชุมไทเทเวศให้พร้อมกัน |
ข้าขอพิสูจน์เพลิงถวาย | เบื้องบาทพระนารายณ์รังสรรค์ |
ต่อหน้าฝูงเทพเทวัญ | กับพวกพลขันธ์วานร ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์ทรงศร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ภูธรชื่นชมด้วยสมคิด |
อันนางสีดานี้ซื่อตรง | สัจธรรมมั่นคงสุจริต |
ควรเป็นมารดาสุราฤทธิ์ | หญิงทั้งทศทิศไม่เทียมทัน |
คิดแล้วมีราชบัญชา | แก้วตาของพี่เฉลิมขวัญ |
ซึ่งเจ้าว่ากล่าวรำพัน | ทั้งนั้นสัจจริงทุกสิ่งไป |
แต่ว่าใครเลยจะล่วงเห็น | เป็นที่รังเกียจสงสัย |
แต่พี่กับองค์อรไท | เคยแจ้งจิตใจกันมา |
ว่าแล้วเสด็จยืนเหนืออาสน์ | งามวิลาศดั่งเทพเลขา |
จับจันทวาทิตย์อันศักดา | ผ่านฟ้าก็แผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ครั่นครื้นพื้นภพหวาดหวั่น | ทุกชั้นฟากฟ้าราศี |
แล้วกลับเข้าแล่งพระจักรี | ดั่งว่ามีจิตวิญญาณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์เจ้าตรัยตรึงศ์สถาน |
เสด็จเหนือทิพอาสน์อลงการ | ในมหาวิมานเวไชยันต์ |
พร้อมหมู่ฝูงเทพนิกร | กับนางอัปสรสาวสวรรค์ |
ได้ยินสำเนียงนี่นัน | กึกก้องสนั่นธาตรี |
ก็เล็งทิพเนตรลงมาดู | ก็รู้ว่าสมเด็จพระลักษมี |
จะลุยเพลิงถวายพระจักรี | ยังที่สุวรรณพลับพลา |
จึ่งพาฝูงเทพเทวัญ | กับนางสาวสวรรค์เสน่หา |
ออกจากวิมานรัตนา | เหาะมาด้วยกำลังว่องไว ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โคมเวียน
ร่าย
๏ ครั้นถึงมรกตคีรี | ก็ตรงลงที่เชิงเขาใหญ่ |
นั่งเป็นอันดับกันไป | ใกล้พลับพลาชัยพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ครั้นเห็นฝูงเทพเทวัญ | มาประชุมพร้อมกันก็ยินดี |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | สั่งลูกพระอาทิตย์เรืองศรี |
ท่านจงเอาเชื้ออัคคี | กองลงที่หน้าพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มียศถา |
รับสั่งสมเด็จพระจักรา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้วานรทั้งหลาย | กับลูกพระพายทหารใหญ่ |
แบกขนเอาฟืนเชื้อไฟ | กองไว้ตามราชวาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ก็จับแสงศรอัคนี | ภูมีผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ สำเนียงปานเสียงลมกัลป์ | สะเทือนเลื่อนลั่นถึงดุสิต |
โชติช่วงดั่งดวงพระอาทิตย์ | ติดเชื้อเป็นประกายพรายตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
เห็นเพลิงเริงโรจน์โชติฟ้า | แสงกล้าดั่งหนึ่งไฟกาล |
น้อมเศียรอภิวาทพระสามี | เทวีตั้งจิตพิษฐาน |
กล่าวคำสัตยาสาบาน | ต่อเทวามัฆวานพร้อมพักตร์ |
ขอเทพท้าวทุกองค์ | จงเป็นทิพย์พยานให้ประจักษ์ |
แม้นข้าระคนรสรัก | ด้วยทศพักตร์แลชายใด |
นอกออกไปจากพระจักรกฤษณ์ | มาตรแม้นแต่จิตพิสมัย |
ไม่ซื่อต่อเบื้องบาทพระภูวไนย | ประกอบการสิ่งใดที่ไม่ดี |
ขอจงพระเพลิงเจ้าสังหาร | ชนมานข้าม้วยอยู่ที่นี่ |
ให้ตกนรกอเวจี | แสนกัลป์พันปีอย่าพ้นทุกข์ |
แม้นข้าคงครองสัจธรรม์ | เทวัญจงช่วยให้เป็นสุข |
จะเหยียบย่างเข้าไปในเพลิงลุก | ทุกก้าวอย่าร้อนบาทา |
แล้วคำรพจบกองอัคคี | ทั้งพระธรณีใส่เกศา |
ครั้นเสร็จซึ่งตั้งสัตยา | ก็เสด็จลีลาลุยไฟ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เดชะความสัตย์ที่ซื่อตรง | จะร้อนเบื้องบาทบงสุ์ก็หาไม่ |
มีประทุมทิพมาศอำไพ | เกิดขึ้นในกลางเพลิงกาล |
ขยายแย้มผกาเกสร | ขจายจรรื่นรสหอมหวาน |
รับรองบาทบงสุ์ทรงธาร | ทุกย่างบทมาลย์เทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ทั้งเทวานางฟ้าทุกนารี | ฝูงกระบี่แลหมู่กุมภัณฑ์ |
ครั้นเห็นซึ่งดวงประทุมาศ | โอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ผุดขึ้นกลางกองเพลิงนั้น | รับองค์กัลยายุพาพาล |
รัศมีสว่างกระจ่างจับ | กับเปลวเพลิงแรงแสงฉาน |
เลื่อมเหลืองเรืององค์พระเยาวมาลย์ | เรืองสร้อยสังวาลประพาฬพิศ |
พักตร์ผ่องเพียงจันทร์ทรงกลด | เปลื้องเมฆหมอกหมดไม่ปกปิด |
บรรดาเทวาสุราฤทธิ์ | ทั่วทิศอำนวยอวยพร |
บ้างประโคมดนตรีมี่ก้อง | สะเทือนท้องมรกตสิงขร |
โปรยมาลาทิพย์อรชร | กลิ่นขจรตลบทั้งธาตรี |
อันหมู่อสุราวานรินทร์ | ทั้งสิ้นนบนิ้วเหนือเกศี |
สรรเสริญความสัจพระเทวี | อึงมี่ทั้งหน้าพลับพลา |
อมรินทร์เป่าสังข์เป็นโองการ | ขอเชิญยอดเยาวมาลย์เสน่หา |
ด้วยมงคลมธุรสพจนา | ให้ออกมาจากกลางกองไฟ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังองค์ท้าวหัสนัยน์ | ก็ออกไปจากกองอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ นั่งลงน้อมเศียรอภิวาท | พระภัสดาธิราชเรืองศรี |
กับองค์หัสนัยน์ธิบดี | ที่หน้าพลับพลาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
เห็นองค์กัลยาวิลาวัณย์ | ไม่มีอันตรายในกลางไฟ |
ชื่นชมด้วยสมพระทัยคิด | ดั่งถอนปืนพิษออกเสียได้ |
เสด็จจากอาสน์แก้วแววไว | ลงไปยังองค์วนิดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ยอกรลูบหลังแล้วพิศพักตร์ | รับขวัญเยาวลักษณ์เสน่หา |
พาองค์อัคเรศกัลยา | ขึ้นยังพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เสด็จนั่งร่วมบัลลังก์อาสน์ | พระนุชนาฏแน่งน้อยดวงสมร |
แสนสุขแสนสวัสดิ์สถาวร | ภูธรแย้มยิ้มพริ้มพราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางกษัตริย์สุริย์วงศ์ทั้งหลาย |
ยักษาวานรไพร่นาย | เห็นองค์พระนารายณ์ผู้ศักดา |
นั่งเรียงเคียงพักตร์พระอัคเรศ | ดั่งรูปวาดเทเวศเลขา |
งามองค์งามทรงพระจักรา | งามสามโลกาไม่เทียมทัน |
งามโฉมสมเด็จพระลักษมี | ลํ้าอัปสรศรีในสวรรค์ |
งามศักดิ์สุริย์วงศ์สมกัน | งามจรรโลงโลกทั้งสององค์ |
ยิ่งพิศยิ่งงามจำเริญใจ | ต่างคนพิสมัยใหลหลง |
ยอกรประณตบทบงสุ์ | พระจอมมงกุฎเกศสุธาธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สถาน |
จึ่งสั่งฝูงเทพบริวาร | ให้เล่นการรำร่ายถวายกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวัญแลนางอัปสร |
รับสั่งองค์อมรินทร | ชุลีกรด้วยความปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ จึ่งจับระบำรำถวาย | วาดกรเยื้องกรายทำท่า |
เวียนวงเป็นหงส์ลีลา | คลอเคียงนางฟ้าติดพัน |
แล้วซัดสองกรอ่อนระทวย | นาดนวยเข้าชิดสาวสวรรค์ |
เมียงม่ายไขว่คว้าพัลวัน | หันเวียนเปลี่ยนไปในที |
คลอเคล้าก้าวสกัดกั้นกาง | ฉวยฉุดยุดนางอัปสรศรี |
ย้ายท่าเป็นม้าตีคลี | ทำทีร่ายเรียงเบี่ยงไป |
ส่ายเนตรให้สบเนตรนาง | แล้วเยื้องย่างลัดเลี่ยงเข้าเคียงไหล่ |
สัพยอกหยอกเย้าอนงค์ใน | สำราญใจทุกเทพเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางอัปสรสาวสวรรค์ |
เห็นเทวากระชิดติดพัน | กั้นกางขวางหน้าสกัดไว้ |
ดำเนินเดินร่ายชายหนี | ทำทีมิให้เข้าใกล้ |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนไป | นัยน์เนตรชม้ายม่ายเมียง |
รำร่ายกรายหัตถ์ให้ยียวน | ทำกระบวนใส่จริตบิดเบี่ยง |
ล่อเลี้ยวเกี้ยวกรเป็นคู่เคียง | หลีกเลี่ยงหันไปด้วยมารยา |
ครั้นเทพบุตรมาข้างซ้าย | นางสวรรค์เยื้องย้ายไปขวา |
แทรกเปลี่ยนเวียนวงไปมา | เทวัญนางฟ้าก็ยินดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
เสร็จระบำรำถวายพระจักรี | กับพระลักษมีวิไลวรรณ |
จึ่งชวนฝูงเทพนิกร | ทั้งหมู่อัปสรสาวสวรรค์ |
ลาองค์พระผู้ทรงสุบรรณ | พากันเหาะไปยังฟากฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมีเยาวยอดเสน่หา |
กราบลงแทบเบื้องบาทา | องค์พระจักราผู้สามี |
ทูลว่าซึ่งข้าบาทบงสุ์ | หลงด้วยอุบายยักษี |
ไม่ฟังพระราชวาที | อสุรีจึ่งได้ลักมา |
พระองค์ต้องเสด็จติดตาม | มาทำสงครามด้วยยักษา |
ได้ยากลำบากพระกายา | โทษข้านี้ใหญ่หลวงนัก |
อันชีวิตของน้องผู้เป็นทาส | อยู่ใต้เบื้องบาทพระทรงจักร |
ขอประทานโทษาซึ่งทรลักษณ์ | พระหริรักษ์จงได้โปรดปราน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
รับขวัญแล้วมีพจมาน | อันเกิดการทั้งนี้เพราะเวรา |
พี่ไม่ถือโทษโกรธเจ้า | ยุพเยาว์ผู้ยอดเสน่หา |
วันเมื่อทศพักตร์มันลักมา | พี่ยาไปตามมฤคี |
ต้อนกวางมาพบพระลักษมณ์ | ทุกข์นักถึงมิ่งมารศรี |
อกใจไม่เป็นสมประดี | พี่นี้จึ่งรีบเร่งมา |
ถึงอาศรมบทไม่เห็นเจ้า | ยิ่งโศกเศร้าเที่ยวติดตามหา |
มาพบพญาสกุณา | ได้แจ้งกิจจานงลักษณ์ |
พี่จึ่งชุมพลพานร | ข้ามมหาสาครมาหาญหัก |
แสนยากลำบากเป็นพ้นนัก | ปิ้มชีวิตจักบรรลัย |
ครั้นเมื่ออสุรีเบญกาย | ทำตายลอยมาที่นํ้าไหล |
พี่โศกศัลย์พ่างเพียงจะขาดใจ | จับตัวมันได้ด้วยหนุมาน |
ครั้งหนึ่งปิ้มสิ้นชีวัน | ด้วยกุมภัณฑ์ไมยราพใจหาญ |
สะกดทัพจับพี่ไปบาดาล | หนุมานนั้นตามเอาขึ้นมา |
อันองค์พระลักษมณ์นี้เล่า | ได้ยากด้วยเจ้าหนักหนา |
ต้องโมกขศักดิ์อสุรา | กุมภกรรณยักษาแต่เดิมที |
แล้วมาต้องศรนาคบาศ | พรหมาสตร์อินทรชิตยักษี |
ทั้งหอกมูลพลัมอสุรี | กบิลพัทฤทธีทศกัณฐ์ |
แต่พระลักษมณ์ต้องหนักถึงห้าครั้ง | ปิ้มชีวังจะม้วยอาสัญ |
หากได้หนุมานพิเภกนั้น | แก้ไขผ่อนผันได้ทันที |
หาไม่จะพากันบรรลัย | ที่ไหนจะได้เห็นมารศรี |
เดชะกุศลของเรามี | พี่จึ่งไม่ม้วยชีวา ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาเสน่หา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ชลนาคลอเนตรแล้วทูลไป |
อันพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
หนักยิ่งแผ่นพื้นภพไตร | จะเปรียบสิ่งใดได้ก็ไม่มี |
ซึ่งข้ามาไกลเบื้องบาท | พระภัสดาธิราชเรืองศรี |
อยู่ในอุทยานอสุรี | มีแต่ทนทุกข์ทุกเวลา |
ทศกัณฐ์มันกล่าวเลียมลาม | ความแค้นปิ้มสิ้นสังขาร์ |
จนแต่สาวใช้อสุรา | ก็หยาบช้าเป็นพ้นประมาณ |
ชวนกันขู่เข็ญจะฆ่าฟัน | ทุกสิ่งสารพันว่าขาน |
ช้ำจิตสุดคิดจะทนทาน | คอยข่าวผ่านฟ้าก็หายไป |
จึ่งผูกศอจะให้สิ้นชีวาตม์ | ขอพบเบื้องบาทในชาติใหม่ |
หนุมานไปทันแก้ไว้ | ให้สไบธำมรงค์อลงกรณ์ |
แก่ข้าในสวนขุนมาร | แล้วแจ้งการว่าองค์พระทรงศร |
ยกพลโยธาวานร | ตามมาราญรอนอสุรา |
น้องนี้ยินดีเป็นพ้นคิด | อุตส่าห์ครองชีวิตไว้ท่า |
จึ่งได้พบเบื้องบาทา | หาไม่จะม้วยชีวี |
ทูลแล้วจึ่งตรัสแก่พระลักษมณ์ | น้องรักได้ยากด้วยพี่ |
ปิ้มชีวิตจะตายหลายที | เจ้านี้เหมือนน้องร่วมครรภ์ |
มิเสียทีที่เป็นเพื่อนยาก | แสนเทวษลำบากในไพรสัณฑ์ |
ร่วมสุขร่วมทุกข์ร่วมชีวัน | คุณของเจ้านั้นพันทวี ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพระราชเสาวนีย์ | ชุลีกรสนองพระวาจา |
อันพระพี่นางผู้ทรงลักษณ์ | กับพระหริรักษ์นาถา |
มีคุณข้าบาทอนุชา | ดั่งองค์บิดามารดร |
ด้วยทรงพระเมตตาสุจริต | มาตรถึงทำผิดก็สั่งสอน |
ทั้งร่วมสุขร่วมทุกข์ร่วมร้อน | แต่จรจากราชธานี |
ตัวข้าโดยเสด็จพระหริวงศ์ | มารณรงค์ด้วยยักษี |
มิได้อาลัยแก่ชีวี | จะฉลองคุณพี่จนวายปราณ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
เห็นพระอนุชาชัยชาญ | กับโฉมเยาวมาลย์นางสีดา |
ต่างสนทนาปราศรัยกัน | ทรงธรรม์แสนโสมนัสสา |
พระพักตร์ผ่องแผ้วดั่งจันทรา | อันหมดเมฆเมฆาไม่ราคี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่พิเภกขุนมารยักษี |
แต่เราปราบหมู่อสุรี | ที่มันหยาบช้าอาธรรม์ |
บรรดาเป็นเสี้ยนแผ่นดิน | ก็สุดสิ้นชีวาอาสัญ |
เสร็จศึกซึ่งปราบกุมภัณฑ์ | ท่านนั้นจงผ่านลงกา |
เป็นเจ้าแก่หมู่อสุรศักดิ์ | สืบวงศ์พงศ์ยักษ์ไปภายหน้า |
บำรุงรี้พลโยธา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | จะให้ผ่านลงกาบุรีศรี |
พระคุณล้ำฟ้าธาตรี | ไม่มีสิ่งใดจะเปรียบปาน |
แต่คิดประหวั่นพรั่นนัก | เกลือกหมู่ปรปักษ์จะหักหาญ |
ขอเดชะสมเด็จพระอวตาร | เป็นประธานปกเกศอสุรา |
ทูลแล้วน้อมเศียรบังคม | ลาบาทพระบรมนาถา |
คลานออกจากหน้าพลับพลา | พากันคืนเข้ายังธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | พร้อมเสนามาตย์ยักษี |
ทั้งพระญาติวงศ์อสุรี | แล้วมีพระราชบัญชา |
สั่งเปาวนาสูรผู้ปรีชาญ | จงเกณฑ์เจ้าพนักงานซ้ายขวา |
ให้แต่งการพระเมรุอันรจนา | จะปลงศพเชษฐาที่บรรลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรเสนาใหญ่ |
ก้มเกล้ารับสั่งภูวไนย | ก็ออกไปเร่งรัดจัดการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งให้ตั้งมหาเมรุมาศ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน |
สี่มุขห้ายอดดั่งวิมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าอัมพร |
ทั้งเมรุทิศเมรุแทรกรายเรียง | ดูเพียงสัตภัณฑ์สิงขร |
มีชั้นอินทร์พรหมประนมกร | รายรูปกินนรคนธรรพ์ |
ประดับด้วยราชวัติฉัตรจรง | พนมแก้วแถวองค์สลับคั่น |
ชั้นในพระเมรุทองนั้น | มีบัลลังก์รัตน์รูจี |
เพดานปักทองเป็นเดือนดาว | แสงวาวด้วยแก้วมณีศรี |
ทั้งระย้าพู่พวงดวงมณี | ก็เสร็จตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
จึ่งให้เชิญพระศพเจ้าลงกา | ขึ้นมหาพิชัยราชรถ |
ประดับด้วยเครื่องสูงเศวตฉัตร | กรรชิงรัตน์พัดโบกอลงกต |
ขนัดพลเกณฑ์แห่เป็นหลั่นลด | รถโยงรถนำเรียบเรียง |
กลองชนะปี่ฆ้องก้องกึก | พันลึกครึกครั่นสนั่นเสียง |
แตรงอนแตรฝรั่งเป็นคู่เคียง | สำเนียงเอิกเกริกเป็นโกลา |
จึ่งให้เคลื่อนรถทรงบรมศพ | พระจอมภพธิราชยักษา |
โดยกระบวนไปตามรัถยา | ยังมหาเมรุมาศรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงจึ่งให้เชิญพระโกศแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสรัศมี |
ขึ้นเบญจารัตน์มณี | ในที่พระเมรุอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล | เยาวมาลย์ตีอกเข้าร่ำไร |
บรรดาสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ฝูงสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
ต่างตนโศกาอาลัย | กลิ้งเกลือกเสือกไปไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษี |
จึ่งเอาธูปเทียนมาลี | อันมีกลิ่นฟุ้งขจายจร |
สมาศพบรมเชษฐา | ซึ่งได้ประมาทมาแต่ก่อน |
ให้คิดเสน่หาอาวรณ์ | ชุลีกรประณตบทมาลย์ |
แล้วเอากฤษณาจวงจันทน์ | สารพันมีกลิ่นหอมหวาน |
ใส่ในโกศแก้วอลงการ | พญามารก็จุดอัคคี |
บรรดากษัตริย์สุริย์วงศ์ | ฝูงอนงค์กำนัลสาวศรี |
ต่างสมาลาโทษอสุรี | ชุลีกรถวายเพลิงพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ปี่กลอง
๏ ครั้นเสร็จปลงศพพระเชษฐา | ในมหาเมรุมาศฉายฉัน |
ก็พาฝูงสนมกำนัล | จรจรัลขึ้นยังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าที่สรง | นํ้าหอมอาบองค์เย็นใส |
ทรงเครื่องเนาวรัตน์อำไพ | เสด็จไปขึ้นรถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้เคลื่อนพหลโยธา | แสนสุรเสนาทวยหาญ |
ออกจากนคเรศอันโอฬาร | ไปเฝ้าบทมาลย์พระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งให้หยุดรัถา | นอกสุวรรณพลับพลาเรืองศรี |
ลงจากรถรัตน์มณี | อสุรีก็ตรงเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ หมอบหน้าเสนาวานร | ชุลีกรประนมบังคมไหว้ |
กราบทูลพระตรีภูวไนย | ตามได้ปลงศพทศพักตร์ |
ขอเชิญเสด็จบาทบงสุ์ | พระผู้ทรงโลกาอาณาจักร |
เข้าเหยียบลงกากรุงยักษ์ | ให้ปรากฏยศศักดิ์ขจายจร |
อยู่ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ | ดั่งเหล็กเพชรลิขิตสิงขร |
เป็นเกศข้าบาทราษฎร | ภูธรจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังน้องเจ้าลงกา | มีพระทัยกรุณากุมภัณฑ์ |
พักตร์ผ่องดั่งดวงแขไข | ภูวไนยปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จึ่งตรัสสั่งลูกพระสุริยัน | จงเตรียมพลขันธ์โยธี |
เราจะยกพยุห์ยาตรา | เข้าไปลงกาบุรีศรี |
เหยียบแผ่นพิภพอสุรี | โดยที่มีชัยแก่ภัยพาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจหาญ |
รับสั่งสมเด็จพระอวตาร | ชุลีลาแล้วคลานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ เกณฑ์หมู่กระบินทร์วานรินราช | โดยเสด็จพยุหบาตรกระบวนใหญ่ |
กองหน้าล้วนมีฤทธิไกร | พื้นถือปืนไฟรางแดง |
ถัดมากระบี่เตียวเพชร | ถือหอกตามเสด็จตามตำแหน่ง |
ถัดมาถือดาบคมแวง | เดินแข่งสลับพวกทวนทอง |
ถัดมาหน้ารถพระจักรภุช | สิบแปดมงกุฎเป็นทิวถ้อง |
ขัดกระบี่เดินเรียงเคียงประคอง | สองข้างพิชัยราชรถ |
อันซึ่งคำแหงหนุมาน | กับวานรบริวารทั้งปวงหมด |
กระบวนหลังรั้งท้ายเป็นหลั่นลด | คอยพระทรงยศเสด็จจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงศร |
กับพระลักษมณ์นางสีดาบังอร | กรายกรไปสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สามกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารทิพย์บุปผา |
พระหริวงศ์ผู้ทรงศักดา | กับพระอนุชาฤทธิรอน |
สอดใส่สนับเพลาเชิงยก | ก้านกระหนกรูปราชไกรสร |
นางทรงภูษาอุทุมพร | พื้นเขียวลายกินนรกรกราย |
สองพระองค์ทรงทิพย์ภูษา | อันเทเวศนำมาบรรจงถวาย |
ชายไหวชายแครงจำหลักลาย | ฉลององค์ทองพรายต่างกัน |
นางทรงสไบตาดลอยดวง | สะอิ้งแก้วทับทรวงประดับถัน |
ต่างทรงตาบทิศสังวาลวัลย์ | ทองกรมังกรพันพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | อร่ามเรืองทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ |
มงกุฎแก้วกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสจำเริญตา |
งามทรงงามองค์พระจักรี | งามพระลักษมีเสน่หา |
งามทั้งพระศรีอนุชา | เสด็จมาขึ้นรถทั้งสามองค์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | สองรถชัชวาลงามระหง |
แปรกแอกงอนดุมวง | กำกงล้วนแก้วแกมกัน |
บัลลังก์ช่อตั้งกระจังรัตน์ | ครุฑอัดสิงห์อัดสลับคั่น |
พระหริวงศ์กับองค์สีดานั้น | ทรงมหาเวไชยันต์อลงการ |
พระลักษมณ์ทรงราชรถแก้ว | ล้วนแล้วด้วยดวงมุกดาหาร |
เทียมเทพสินธพเผ่นทะยาน | สารถีขับปานดั่งลมพัด |
เครื่องสูงมยุรฉัตรชุมสาย | ธงริ้วทิวรายปลายสะบัด |
พลแห่เบียดเสียดเยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมอึงอล |
แตรงอนแตรฝรั่งประสานเสียง | สำเนียงกึกก้องกุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มโพยมบน | พิเภกนำพลเข้าลงกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวนอก
สระบุหร่ง
๏ ผันแปรแลรอบนคเรศ | แม้นเมืองพรหเมศนาถา |
ขอบคูเขื่อนขัณฑ์มรรคา | ล้วนศิลาลายลาดอลงการ |
กำแพงพื้นแก้วประกอบกัน | นางจรัลหอรบสูงตระหง่าน |
เสาสวมทองเชิดซุ้มทวาร | ใบบานแก้วบดสะบัดบัง |
เสมาหุ้มมาศเสมอพื้น | ช่องป้อมวางปืนจินดาตั้ง |
หลังคารัตน์ขอบรายกระดึงดัง | ปักทั้งฉัตรธงเป็นทิวงาม |
เที่ยวชมทุกชั้นเป็นหลั่นลด | โรงคชโรงรถเรืองอร่าม |
ธินั่งเย็นแก้วย้อยพลอยวาม | ท้องสนามดูสนุกถนนแนว |
นิเวศน์วังจังหวะตำหนักเนื่อง | โรงเครื่องโรงทิมเป็นทิวแถว |
สามปราสาทงามประเสริฐเพริศแพร้ว | พื้นแก้วสุรกานต์ตระหง่านลอย |
จัตุรมุขสุกแม้นพิมานมาศ | ผนังดวงเพชรดาษดั่งหิ่งห้อย |
ห้ายอดแสงระยับประดับพลอย | บันช้อยทวยชดอรชร |
บราลีสีเลื่อมมุกดาหาร | ช่อฟ้าแก้วประพาฬประภัสสร |
พิศเพลินจำเริญเนตรพระสี่กร | ให้ขับรถบทจรเข้าไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นมาถึงหน้าพระลานชัย | จึ่งให้ประทับเวไชยันต์ |
เข้ากับเกยแก้วแกมมาศ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉัน |
แล้วน้อมเศียรถวายบังคมคัล | ทูลพระทรงธรรม์ผู้ฤทธี |
ขอเชิญเสด็จบทเรศ | ประเวศยังปราสาทมณีศรี |
ให้สำราญราชอินทรีย์ | ภูมีจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | ผ่านฟ้าแสนโสมนัสนัก |
จึ่งลงยังเกยอลงกรณ์ | อันควรเสด็จจรพญาจักร |
กับนางสีดาแลพระลักษมณ์ | ผันพักตร์ขึ้นปราสาทอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสด้วยแก้วมณีศรี |
ภายใต้เศวตฉัตรรูจี | ในที่นิเวศน์พญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
แจ้งว่าสมเด็จพระอวตาร | ผ่านฟ้าเสด็จเข้ามา |
บัดนี้สถิตยังสิงหาสน์ | ในปราสาทองค์ท้าวยักษา |
ก็จัดแจงฝูงสนมกัลยา | พากันมาเฝ้าพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | หมอบอยู่ตรงพักตร์พระทรงศร |
ทั้งพวกอนงค์บังอร | ซับซ้อนเกลื่อนกลาดดาษไป |
งามเป็นระเบียบเรียบเรียง | เพียงดาวล้อมดวงแขไข |
งามรูปงามโฉมประโลมใจ | งามวิไลวิลาสสะอาดตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพิเภกยักษา |
จึ่งสั่งฝูงนางกัลยา | บรรดาพนักงานดนตรี |
ทั้งนางคนรำระบำบัน | ให้ชวนกันขับกล่อมดีดสี |
ฝ่ายฟ้อนถวายกรพระจักรี | ให้ภูมีสำราญฤๅทัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ทั้งนางคนรำระบำใน | บังคมไหว้รับบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | ร้องรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
โหยหวนโอดพันบรรเลงลาน | เป็นคำหวานประสานเสียงกัน |
ฝ่ายนางระบำก็รำร่าย | เยื้องกรายใส่จริตบิดผัน |
แทรกเปลี่ยนเวียนวงพัลวัน | ตระหลบหันคลอเคล้าถวายกร |
เป็นท่าเมขลาล่อแก้ว | แล้วชายเนตรดูองค์พระทรงศร |
พิศวาสทั้งพระลักษมณ์ฤทธิรอน | ทอดกรก็ผิดจังหวะไป |
อันนางดีดสีตีกรับ | จะถูกต้องท้าทับก็หาไม่ |
งวยงงด้วยสองภูวไนย | ฤๅทัยด่าวดิ้นไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
กับองค์อัครราชเทวี | พระศรีอนุชาวิลาวัณย์ |
เสด็จเหนือแท่นทิพอาสน์ | ในห้องปราสาทฉายฉัน |
ยังที่นิเวศน์วังจันทน์ | ของทศกัณฐ์เจ้าลงกา |
ทอดพระเนตรนางระบำรำฟ้อน | ดั่งฝูงอัปสรเสน่หา |
ทั้งฟังเสียงดีดสีเสภา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยาเรืองรอง | แสงทองจำรัสรัศมี |
โสรจสรงทรงเครื่องรูจี | เสด็จออกยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมด้วยสิบแปดมงกุฎ | ทวยหาญฤทธิรุทรแข็งขัน |
ทั้งหมู่เสนากุมภัณฑ์ | แน่นนันต์เฝ้าบาทดาษดา |
พระองค์จึ่งมีสีหนาท | แก่ชามพูวราชฤทธิ์กล้า |
ตัวท่านผู้มีปรีชา | จงหาศุภฤกษ์ยามชัย |
ให้เป็นศรีสวัสดิ์สถาผล | จะตั้งการมงคลภิเษกใหญ่ |
มอบซึ่งลงกากรุงไกร | ให้พิเภกครอบครองธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชามพูวราชกระบี่ศรี |
ได้ฟังโองการพระจักรี | ชุลีกรรับราชบัญชา |
จึ่งตั้งศักราชลงคูณหาร | เทียบทานกับดวงชันษา |
ของพญาพิเภกอสุรา | แล้วชำระหาฤกษ์พระจันทร์ |
ได้เศษห้าเป็นมงคลสิ้น | ปลอดทั้งทักทินยมขันธ์ |
จึ่งกราบทูลพระองค์ทรงสุบรรณ | ในวันรุ่งพรุ่งนี้ดีนัก |
บรรดาอัฏฐเคราะห์เทเวศ | มาประชุมในเมษราศีจักร |
จึ่งมอบลงกาพญายักษ์ | จะเป็นหลักชั่วฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมภพลบโลกเรืองศรี |
ฟังชามพูวราชก็ยินดี | จึ่งมีสิงหนาทโองการ |
แก่โอรสพระสุริยา | อันมีปรีชากล้าหาญ |
จงให้มหาเสนามาร | จัดการอุปภิเษกอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งสั่งเปาวนาสูรอำมาตย์ | ผู้ฉลาดไพบูลย์ด้วยยศถา |
โดยมีพระราชบัญชา | องค์พระจักราทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรผู้ใหญ่ |
ฟังลูกพระอาทิตย์ฤทธิไกร | กราบไหว้แล้วรีบไปจัดการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันตามตำแหน่ง | ให้ตกแต่งปราสาทราชฐาน |
ปูลาดสะอาดโอฬาร | กั้นฉากผูกม่านเครือสุวรรณ |
เพดานห้อยพวงพู่กลิ่น | หอมประทิ่นดั่งทิพย์พิมานสวรรค์ |
บายศรีแก้วทองพรายพรรณ | เจ็ดชั้นประดับเนาวรัตน์ |
แล้วแต่งสิงหาสน์บัลลังก์ | ปักทั้งมหาเศวตฉัตร |
ทั้งกลดสังข์ทักขิณาวัฏ | จัดเสร็จตามราชบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ