- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
กับมณโฑกัลยาวิลาวัณย์ | ฝูงสนมกำนัลนางใน |
ครั้นต้องพระเวทวิทยา | ให้มืดหน้ามัวตาไม่ทนได้ |
ก็โงกงุนล้มทับหลับไป | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ครั้นเสร็จสะกดอสุรี | ขุนกระบี่ถอดยอดพรหมพักตร์ |
ขว้างไปด้วยกำลังกร | ต้องพื้นดินดอนทำลายหัก |
แลเห็นทศเศียรขุนยักษ์ | กับองค์อัคเรศชายา |
วายุบุตรขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | เหม่ไอ้ทศกัณฐ์ยักษา |
กูคือพระกาลอันศักดา | จู่มาเอาชีวาอสุรี |
ว่าแล้วลอดลงในปราสาท | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
ข้ามฝูงกำนัลขันที | เข้าไปยังที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ฉวยชักตรีเพชรจักราญรอน | แล้ววานรกลับคิดขึ้นมาได้ |
จักเกินบัญชาพระองค์ไป | ถึงฆ่ามันบรรลัยก็ไม่ดี |
อย่าเลยจะทำประจาน | ให้อัประมาณเทวาทุกราศี |
ทั้งเวทมนตร์ของมันบรรดามี | ก็จะอัปรีย์ไปทุกสิ่งอัน |
คิดแล้วจึ่งจับเอาเกศา | มณโฑกัลยาสาวสวรรค์ |
ผูกติดกับเศียรทศกัณฐ์ | ให้มั่นแล้วซ้ำสาปไว้ |
อันผมซึ่งเราผูกนี้ | ใครมีเวทมนต์อย่าแก้ได้ |
ถึงเอาอาวุธอันเกรียงไกร | ของท้าวหัสนัยน์ลงมา |
เชือดฟันเท่าใดอย่าให้ขาด | ด้วยอำนาจคำสาปของเราว่า |
แล้วจึ่งจารึกสารา | ลงไว้ที่หน้าอสุรี |
ว่าถ้าใคร่จะแก้ผม | ก้มให้มณโฑมเหสี |
ตบหัวมึงลงสามที | ผมนี้จึ่งหลุดออกไป |
เสร็จสาปแล้วผลักเศียรยักษ์ | ชักเอาลูกหินมาได้ |
ก็เหาะขึ้นโดยช่องปราสาทชัย | ด้วยฤทธิไกรมหึมา |
หยิบเอาศีลาในอากาศ | แล้วโผนผาดระเห็จพระเวหา |
ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | ตรงมาเฝ้าองค์พระสี่กร ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายโอสถ | กับศีลาบดประภัสสร |
แก่องค์พระนารายณ์ฤทธิรอน | วานรทูลแจ้งทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิ์ล้ำสุริย์ฉาน |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | ตรัสสรรเสริญฤทธิ์กระบี่ศรี |
ใช้ไหนก็ได้ทันที | ควรที่เป็นทหารปราบยักษ์ |
มิหนำซํ้าทำประจาน | ทศเศียรขุนมารอัปลักษณ์ |
ความชอบทั้งนี้มากนัก | จักหาไหนได้เทียมทัน |
ว่าแล้วจึ่งมีบัญชา | แก่พญาพิเภกคนขยัน |
จงเร่งบดยาประสมกัน | แก้น้องเรานั้นให้ทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | น้องท้าวทศพักตร์ยักษี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | อสุรีประกอบสรรพยา |
เสมอภาคทุกสิ่งโอสถ | ทำตามกำหนดของยักษา |
วางลงเหนือหน้าศีลา | อสุราบริกรรมบดไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วละลายด้วยวาริน | อันหมดมลทินเย็นใส |
ทาลงกรงที่หอกชัย | ร่ายเวทเป่าไปสามที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ กบิลพัทก็หลุดออกจากองค์ | น้องพระหริวงศ์เรืองศรี |
ด้วยอำนาจโอสถพระศุลี | ก็ได้สมประดีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
สิ้นพิษฤทธิ์หอกอสุรา | กราบกับบาทาแล้วทูลไป |
ซึ่งพระองค์โปรดช่วยชีวัน | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
จะขออาสาชิงชัย | ไม่เกรงฤทธิไกรอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ครั้นพระลักษมณ์คืนชีพชีวี | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
สองกษัตริย์เสด็จยุรยาตร | งามวิลาสดั่งเทพเลขา |
ต่างขึ้นรถทรงอลงการ์ | ผ่านฟ้ามีราชโองการ |
ให้เลิกพหลโยธี | แสนสุรเสนีทวยหาญ |
โห่สนั่นลั่นฟ้าสุธาธาร | คืนสถานสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
แอบอยู่ริมเชิงบรรพตา | เห็นพระอนุชาไม่บรรลัย |
เลิกหมู่โยธาพลากร | วานรโห่สนั่นหวั่นไหว |
ต่างขึ้นสู่หลังมโนมัย | รีบไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าไปแจ้งการ | แก่เสนามารทั้งสี่ |
บัดนี้อริราชไพรี | กลับได้ชีวีคืนมา |
เลิกหมู่พหลพลไกร | โห่สนั่นหวั่นไหวทุกทิศา |
คืนไปสุวรรณพลับพลา | ตัวข้าจึ่งเข้ามาแจ้งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
แจ้งเหตุก็วิ่งลนลาน | ไปยังทวารวังใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้าประตูร้องเรียกหลายหน | ใครจะขานสักตนก็หาไม่ |
จึ่งร้องตะโกนเข้าไป | เป็นไฉนนิ่งเสียดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางจ่าโขลนยักษี |
ทั้งเถ้าแก่ชะแม่ขันที | ได้ยินเสียงอึงมี่เป็นโกลา |
ลางคนเข้าฉุดเจ้าขรัวนาย | ลุกขึ้นวุ่นวายตะกายฝา |
วิ่งปะทะปะกันไปมา | ผ้าผ่อนลุ่ยหลุดจากตน |
อันฝูงสนมอนงค์นาฏ | ร้องตรีดหวีดหวาดกุลาหล |
ล้มลุกคลุกคลานเวียนวน | อลหม่านอื้ออึงทั้งวังจันทน์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ต้องมนต์หนุมานชาญฉกรรจ์ | อันสะกดผูกจิตนิทรา |
ได้ยินสำเนียงเสียงหวีดหวาด | อื้ออึงกัมปนาทหนักหนา |
พอสร่างพระเวทอันศักดา | ตกใจผวาตื่นขึ้นทันที |
ผงกเศียรลุกจากบรรทม | ผมผูกติดเกศมเหสี |
ก็ดึงดันด้วยกำลังอินทรีย์ | อสุรีอุตลุดวุ่นวาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑโฉมฉาย |
ตกใจผวาตื่นฟื้นกาย | พลิกซ้ายพลิกขวาอลวน |
สองมือยื้อชักขวักไขว่ | แต่ฉุดมาคร่าไปสับสน |
ปลํ้าปลุกขลุกขลุ่ยสองคน | ที่บนแท่นทองไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
กับนางมณโฑโสภา | ต่างว่านี่ทำประการใด |
แต่ถุ้งเถียงกันอุตลุด | ผัวชักเมียฉุดก็ไม่ไหว |
ประหลาดจิตคิดอัศจรรย์ใจ | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ |
แลเห็นเพดานกระจ่างฟ้า | จันทราแจ่มแจ้งแสงสี |
สงสัยเป็นพ้นพันทวี | อสุรีแลเล็งเพ่งพิศ |
ดูไม่เห็นลูกศีลาบด | ยิ่งแสนสลดระทดจิต |
ก็รู้ว่าไพรีอันมีฤทธิ์ | มาสะกดนิทราแล้วลักไป |
พญามารร่านร้อนดั่งไฟจุด | จะแก้ผมให้หลุดก็ไม่ได้ |
ฉวยพระขรรค์เชือดตัดสักเท่าใด | ก็ไม่ขาดออกจากกัน |
สุดคิดสุดแค้นฤทัยนัก | พญายักษ์กริ้วโกรธหุนหัน |
สิบปากขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์เย่อทึ้งไปมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มณโฑเยาวยอดเสน่หา |
เจ็บเศียรเวียนวิงเวทนา | มือกุมเกศาแล้วทูลไป |
แต่แก้ตัดเท่าใดก็ไม่หลุด | จะขืนลากขืนฉุดไปถึงไหน |
เมื่อไอ้ไพรินมันผูกไว้ | ด้วยฤทธิไกรอันเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ได้ฟังวนิดายุพาพาล | ขุนมารจึ่งมีบัญชา |
เหวยเหวยดูก่อนสาวใช้ | เอ็งจงออกไปข้างหน้า |
สั่งให้นิมนต์พระสิทธา | เข้ามาแต่ในราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนางสาวใช้ยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ก็ออกไปยังที่พระทวาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ จึ่งสั่งมหาดเล็กผู้อยู่เวร | ซึ่งเกณฑ์นั่งยามที่หน้าฉาน |
เร่งไปนิมนต์พระทรงญาณ | โคบุตรอาจารย์เข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหาดเล็กอยู่เวรข้างหน้า |
ได้แจ้งแห่งราชบัญชา | ก็พากันรีบไปในราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเคาะพระทวาร | ขุนมารร้องปลุกพระฤๅษี |
ว่าพระองค์ผู้ทรงธรณี | มีโองการให้นิมนต์ไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาอาจารย์ใหญ่ |
หลับอยู่ในที่กุฎีไพร | ได้ยินเสียงอสุรีร้องมา |
ว่าทศกัณฐ์ให้นิมนต์ | ก็ลุกขึ้นลานลนไม่ล้างหน้า |
ฉวยผ้าคากรองครองกายา | คว้าหาไม้เท้าวุ่นวาย |
สะดุดโอนํ้าโดนกระโถนหก | ตาลิปัตรพลัดตกประคำหาย |
วิ่งวนชนฝากุฎีทลาย | ตะกายหาประตูก็ผิดไป |
อสุราเตือนไปหลายหน | ฤๅษีจึ่งพ้นออกมาได้ |
แล้วพากันข้ามดัดลัดไพร | รีบไปยังราชธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนปราสาท | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
เห็นทศพักตร์กับอัครเทวี | แย่งทึ้งเกศีกันไปมา |
พระดาบสตกใจตะลึงอยู่ | เป็นครู่แล้วถามท้าวยักษา |
ว่าประสกโยมกับสีกา | ไฉนจึ่งมาเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังพระมหาโยคี | อสุรีจึ่งแจ้งความไป |
วานนี้โยมยกทวยหาญ | แสนเสนามารน้อยใหญ่ |
ออกไปรณรงค์ชิงชัย | จะฆ่าไอ้พิเภกอสุรา |
ต้วข้านี้พุ่งกบิลพัท | พลัดถูกพระลักษมณ์บนรัถา |
ตกลงยังพื้นพสุธา | เห็นว่าสุดสิ้นชีวัน |
พอพระสุริยาอัสดง | จึ่งเลิกจตุรงค์ทัพขันธ์ |
บัดนี้พวกไอ้ไพรีนั้น | มันสะกดนิทราหลับไป |
หักยอดนภศูลพรหมพักตร์ | ลักลูกศีลานั้นไปได้ |
ผูกผมข้าติดกันไว้ | แก้ไม่หลุดเลยพระสิทธา |
พระองค์ผู้ทรงตบะญาณ | ขอประทานช่วยแก้เกศา |
อย่าให้ได้ความเวทนา | อายแก่ไพร่ฟ้าประชาชี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรมหาฤๅษี |
ได้ฟังจึ่งกล่าววาที | ไพรีอาจหาญชาญฉกรรจ์ |
ขลังทั้งวิทยาอาคม | จึ่งผูกผมติดกันไว้มั่น |
ซึ่งลักลูกศีลาไปนั้น | เพราะมันรู้ไส้อสุรา |
ว่าพลางจึ่งองค์พระนักสิทธ์ | คิดสรรเอายอดพระคาถา |
บริกรรมพึมพำไปมา | พระดาบสเป่าลงทันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ อันผมซึ่งผูกอยู่นั้น | จะลุ่ยหลุดจากกันก็หาไม่ |
สองมือยื้อสางวุ่นไป | จนอ่อนจิตอ่อนใจพระมุนี |
จึ่งจับเอาขันสัมฤทธิ์ | อันวิจิตรด้วยทองประสมสี |
ตักซึ่งสุคนธวารี | สำรวมอินทรีย์แล้วเสกไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ สารพัดวิชามนต์ดล | ก กา กบ กน หาเว้นไม่ |
ทั้งสวดมนต์หลวงชีภาษาไทย | หัวใจนโมก็เอามา |
จนสิ้นความรู้พระนักพรต | รดลงเหนือเศียรยักษา |
ทั้งผมมณโฑสีกา | ก็ไม่เคลื่อนคลาออกจากกัน |
จะเสกพรมเท่าใดก็ไม่หลุด | พระโคบุตรบริกรรมจนปากสั่น |
จึ่งชักเอามีดในย่ามนั้น | เชือดตัดเถือฟันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ จนมือเมื่อยเหนื่อยหอบแสนเข็ญ | ผมจะขาดสักเส้นก็หาไม่ |
เหื่อย้อยออกยืนหายใจ | เป็นไฉนดูน่าประหลาดนัก |
จึ่งเห็นอักษรที่จารึก | ดั่งใครเอาหมึกมาสัก |
อยู่ที่หน้าผากทศพักตร์ | พระนักสิทธ์ก็อ่านทันที |
ว่าให้มณโฑเมียนั้น | ตบหัวทศกัณฐ์ยักษี |
ตามในตำราของกูมี | สามทีก็จะหลุดดั่งจินดา |
พระมุนีจึ่งว่าอุบาสก | สุดอกกูแล้วนะยักษา |
ด้วยคำสาปของมันเป็นสารา | ครั้นว่าจะบอกก็เกรงใจ |
ถ้าละไว้ไม่ทำจะซ้ำอาย | จะติดอยู่จนตายไม่แก้ได้ |
อันในอักษรมันบอกไว้ | ให้เมียตบหัวลงสามที |
จำเป็นจำใจให้สีกาทำ | สำหรับวิบากกรรมของยักษี |
จะอดสูดูร้ายกันไยมี | กูนี้สิ้นมนต์จนปัญญา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ได้ฟังพระมหาสิทธา | อสุราเร่าร้อนดั่งเพลิงกัลป์ |
อนิจจาครานี้ตัวกู | ใครรู้จะสำรวลสรวลสันต์ |
อดสูแก่หมู่เทวัญ | สารพันอัปภาคย์ทุกสิ่งไป |
จำเป็นจึ่งมีวาจา | แก้วตาผู้ยอดพิสมัย |
จงทำตามคำมันสาปไว้ | พี่ไม่ถือโทษเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ได้ฟังบัญชาพระสามี | ดั่งใครเอาตรีมาแทงฟัน |
แหวะทรวงแล้วล้วงเอาดวงจิต | ให้สิ้นชีวิตอาสัญ |
ทั้งอายอดสูพระนักธรรม์ | บังคมคัลสนองพระวาจา |
อันสตรีจะต้องเศียรผัว | แม้นมาตรฆ่าตัวเสียดีกว่า |
ทูลพลางทางทรงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรรังสรรค์ |
ได้ฟังนางร่ำรำพัน | กัลยาไม่ทำตามวาที |
พญามารฮึดฮัดฟัดตัว | ลากหัวมณโฑมเหสี |
จะให้ติดกันอยู่ดั่งนี้ | เห็นดีแล้วหรือประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มณโฑเยาวยอดพิสมัย |
ยิ่งแสนโศกาสลดใจ | ชลนัยน์ไหลอาบพักตรา |
สุดคิดที่จะขัดบัญชาการ | เยาวมาลย์นบนิ้วเหนือเกศา |
กราบทูลขอโทษพระภัสดา | ผ่านฟ้าจงโปรดปรานี |
อย่าให้เป็นกรรมแก่ข้าบาท | อันประมาทต่อเบื้องบทศรี |
ว่าแล้วตบเศียรพระสามี | สามทีก็หลุดออกจากกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรรังสรรค์ |
อดสูแก่องค์พระนักธรรม์ | กุมภัณฑ์นิ่งขึงตะลึงไป |
แต่ฮึดฮัดอัดอั้นวิญญาณ์ | จะออกปากเจรจาก็หาไม่ |
เจ็บจิตดั่งชีวิตจะบรรลัย | ให้สะท้อนถอนใจอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหาโคบุตรฤๅษี |
เห็นทศกัณฐ์ไม่พาที | มีแต่สลดระทดใจ |
จึ่งว่าดูกรพญายักษ์ | จะทุกข์ร้อนไยนักหาควรไม่ |
ตัวเจ้าก็มีฤทธิไกร | ปราบได้ทั้งไตรโลกา |
จงระงับดับความจาบัลย์ | คิดแก้มือมันจะดีกว่า |
ให้ปรากฏยศเกียรติอสุรา | ฟังคำกูว่านะหลานรัก |
ว่าพลางอำนวยอวยพร | ให้ถาวรปราบได้ทั้งไตรจักร |
อันมนุษย์กับลิงทรลักษณ์ | จงแพ้ฤทธิ์สิทธิศักดิ์อสุรี |
เจ้าค่อยอยู่เถิดให้สำราญ | ตาจะลาหลานทั้งสองศรี |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระมุนี | เหาะไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นพระโคบุตรสิทธา | สั่งสนทนาแล้วกลับไป |
พญามารรำพึงคะนึงคิด | ตันจิตทอดถอนใจใหญ่ |
ให้กลัดกลุ้มรุ่มร้อนฤทัย | ดั่งนอนอยู่ในเพลิงกาล |
โอ้อนิจจาแก่ตัวกู | เสียแรงรู้วิทยากล้าหาญ |
อานุภาพปราบทั่วจักรวาล | มาได้ความอัประมาณเสียครั้งนี้ |
เพราะไอ้พิเภกทรชน | มันบอกกลมนุษย์ทั้งสองศรี |
สารพัดการกิจพิธี | ไพรีแจ้งสิ้นทุกสิ่งไป |
มันจึ่งได้ล่วงมาดูหมิ่น | จะเกรงองค์พรหมินทร์ก็หาไม่ |
ถึงตัวตายไม่เสียดายชีวาลัย | เท่าฉุกใจแพ้รู้ปัจจามิตร |
อายแก่ฝูงเทพเทวัญ | คนธรรพ์อารักษ์นักสิทธ์ |
จะได้ใครที่มีศักดาฤทธิ์ | ญาติมิตรที่ร่วมชีวัน |
มาช่วยแก้แค้นแทนกร | ฆ่ามนุษย์วานรให้อาสัญ |
แต่แสนทุกข์ทรมาจาบัลย์ | จนสุริยันส่องฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งคิดได้ว่าองค์พระเชษฐา | อันร่วมบิดาของยักษี |
ชื่อทัพนาสูรอสุรี | ได้ครองธานีจักรวาล |
พระองค์ทรงกำลังมหึมา | เรืองเดชศักดากล้าหาญ |
จะให้ไปเชิญบทมาลย์ | มาผลาญมนุษย์วานร |
คิดพลางลุกจากบัลลังก์อาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
สระสรงทรงเครื่องอลงกรณ์ | บทจรออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมด้วยหมู่มุขมนตรี | แสนสุรเสนีน้อยใหญ่ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
เหวยเหวยดูก่อนมโหทร | ผู้มีฤทธิรอนแกล้วกล้า |
จงรีบไปจักรวาลพารา | ทูลพระเชษฐาให้แจ้งการ |
ว่ากรุงลงกาเกิดศึก | ศัตรูห้าวฮึกหักหาญ |
ขอเชิญเสด็จบทมาลย์ | มาช่วยรอนราญไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมโหทรมารยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บ่ายหน้าไปข้างประจิมทิศ | สำแดงแผลงฤทธิ์แกล้วกล้า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | ตรงไปพาราจักรวาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงลงจากอัมพร | บทจรเข้ายังราชฐาน |
ขึ้นสู่พระโรงอันโอฬาร | เฝ้าองค์พญามารผู้มีฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
ว่าพระอนุชาธิบดี | ผู้ผ่านบุรีลงกา |
ตรัสใช้ให้ข้ามาเฝ้าบาท | พระทรงธรรม์ธิราชนาถา |
ด้วยบัดนี้มนุษย์ทั้งสองรา | มีนามชื่อว่ารามลักษมณ์ |
ยกหมู่โยธาวานร | ข้ามมหาสาครมาหาญหัก |
เคี่ยวฆ่าสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | ประชากรร้อนนักทั้งธานี |
ขอเชิญเสด็จไปปกเกล้า | แก่เผ่าประยูรยักษี |
ดับเข็ญให้เย็นพระบุรี | ด้วยเดชภูมีชัยชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล | พระยามารกระทืบบาทา |
ฉิฉะมนุษย์กับวานร | อ้างอวดฤทธิรอนว่าแกล้วกล้า |
มาดูหมิ่นน้องกูผู้ศักดา | ใช่วงศ์พรหมาหรือว่าไร |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะผลาญชีวันเสียให้ได้ |
เหวยวาณุราชฤทธิไกร | เร่งไปเตรียมพลโยธี |
กูจะไปพระนครลงกา | ช่วยพระอนุชาเรืองศรี |
สังหารอรินทร์ราชไพรี | ให้สิ้นชีวีแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาวาณุราชใจหาญ |
ก้มเกล้ารับพระบัญชาการ | ขุนมารก็รีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่โยธาพลากร | เลือกล้วนฤทธิรอนแกล้วกล้า |
ขุนม้าหน้าขบเหลือกตา | ถือทวนเงื้อง่าหยัดยัน |
ขุนช้างหน้ากากเขี้ยวยาว | มือถือของ้าวแข็งขัน |
ขุนรถหน้าแสยะยิงฟัน | มือถือเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
ขุนพลตรวจเตรียมพลยุทธ์ | อุตลุดแน่นนันต์อกนิษฐ์ |
ล้วนมีศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศย่อมเกรงเดชา |
พื้นถืออาวุธกวัดแกว่ง | ห้าวฮึกเรี่ยวแรงสำแดงกล้า |
สี่หมู่ดั่งจะพลิกพระสุธา | เสร็จตามบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | สุหร่ายแก้วโปรยลงดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศสุพรรณพราย |
สอดใส่สนับเพลาอลงกรณ์ | เชิงงอนทองประสานฉานฉาย |
ภูษาพื้นม่วงฉลุลาย | ชายไหวชายแครงกระหนกพัน |
สอดใส่ฉลององค์พระกรน้อย | ทับทรวงเพชรพลอยทับทิมคั่น |
สร้อยสนตาบทิศสังวาลวัลย์ | พาหุรัดกุดั่นทองกร |
ทรงมหาธำมรงค์สำหรับศึก | มงกุฎแก้วผลึกประภัสสร |
ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร | ดอกไม้ทิศอรชรอลงการ |
พระหัตถ์ทรงจับธนูศิลป์ | อสุรินทร์กวัดแกว่งสำแดงหาญ |
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาล | เผ่นทะยานไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงประดับมรกต |
เรือนแปรกแอกงอนอ่อนชด | ชั้นลดภาพคั่นบัลลังก์ลอย |
บุษบกเรือนเก็จกาบสะบัด | พนักเสาเนาวรัตน์กระหนกห้อย |
ห้ายอดแวมวับประดับพลอย | ช่อฟ้าชดช้อยปราลี |
เทียมโตสองพันตัวคะนอง | ลำพองเพียงพญาราชสีห์ |
โลทันสันทัดตัวดี | แกว่งกระบองขับรี่ดังลมพัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงทิวริ้วรายปลายสะบัด |
พัดโบกกลดกลิ้งกรรชิงรัตน์ | ขนัดแตรฝรั่งแตรงอน |
สนั่นเสียงเภรีปี่กลอง | สะเทือนท้องจักรวาลสิงขร |
ลอยเลื่อนเคลื่อนไปในอัมพร | ข้ามมหาสาครสมุทรมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงลงการาชฐาน | พญามารลงจากเวหา |
พร้อมหมู่จตุรงคโยธา | ในหน้าพระลานรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
เสด็จออกหมู่มุขมนตรี | ในที่พระโรงพรายพรรณ |
แจ้งว่าพระเชษฐาผู้ทรงเดช | มาถึงนิเวศน์ไอศวรรย์ |
ลงจากปราสาทแก้วแกมสุวรรณ | จรจรัลไปรับด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายบังคม | องค์พระบรมเชษฐา |
สองกษัตริย์ก็พากันขึ้นมา | ยังมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วมณี | อสุรีสวมกอดน้องรัก |
แล้วมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนเจ้าผู้สิทธิศักดิ์ |
อันมนุษย์ซึ่งชื่อรามลักษมณ์ | มารอนราญหาญหักถึงเวียงชัย |
เป็นหน่อกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ดำรงธานีบุรีไหน |
ฤทธีมันมีประการใด | จึ่งมาทำได้ถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ฟังพระเชษฐาธิบดี | อสุรีสนองพระบัญชา |
อันซึ่งพี่น้องสองมนุษย์ | เป็นบุตรทศรถนาถา |
ได้ผ่านกรุงศรีอยุธยา | มันมีฤทธาด้วยศรชัย |
ถึงกระนั้นไม่เป็นไรนัก | พอจะคิดหักเสียได้ |
แค้นด้วยพิเภกจังไร | มันไปเป็นไส้ไพรี |
แจ้งความแต่ต้นจนปลาย | ถวายพระเชษฐาเรืองศรี |
พระองค์ผู้ทรงฤทธี | ภูมีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษา |
ได้แจ้งแห่งคำอนุชา | อสุรากริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ |
ดูดู๋พิเภกทรชน | อัปลักษณ์มืดมนโมหันธ์ |
เห็นผู้อื่นดีกว่าพงศ์พันธุ์ | ใจมันทำได้ถึงเพียงนี้ |
ว่าพลางทางกล่าวสุนทร | ดูก่อนทศพักตร์ยักษี |
จะอาวรณ์ร้อนใจไปไยมี | ที่จะไปเข่นฆ่าปัจจามิตร |
อันสองมนุษย์ซึ่งยกมา | ถึงจักแกล้วกล้าด้วยศรสิทธิ์ |
ไว้พนักงานพี่จะช่วยคิด | ผลาญชีวิตเสียให้บรรลัย |
ทั้งพวกสวาวานร | จะราญรอนมิให้เหลือไปได้ |
ถึงไอ้พิเภกจังไร | จักจับมาให้อนุชา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ฟังบัญชาพี่ก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าดุษฎี |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | ตบหัตถ์สนั่นอึงมี่ |
ซึ่งพระโองการโปรดครั้งนี้ | เหมือนช่วยชีวีน้องไว้ |
ว่าแล้วจึ่งมีพจนารถ | ตรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงบอกวิเสทนอกใน | ให้แต่งเอมโอชโภชนา |
พร้อมทั้งของคาวของหวาน | เมรัยชัยบานกลั่นกล้า |
มาถวายสมเด็จพระพี่ยา | เลี้ยงทั้งโยธาอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป |
จึ่งสั่งชาววังให้หมายบอก | วิเสทในนอกน้อยใหญ่ |
ให้แต่งโภชนาเมรัย | ตามในพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายเวรกรมวังยักษา |
ได้แจ้งแห่งคำเสนา | อสุราก็หมายไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทสาวศรี |
แจ้งหมายจ่ายของเป็นโกลี | มาทำตามที่พนักงาน |
วิเสทในก็แต่งเครื่องต้น | เทียบทานสับสนอลหม่าน |
พร้อมทั้งเมรัยชัยบาน | ของคาวของหวานครบครัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางพนักงานสาวสวรรค์ |
ล้วนทรงลักขณาวิลาวัณย์ | ทั้งสิบสองกำนัลอสุรา |
บ้างแต่งตัวหวีหัวกันไร | ใส่กลิ่นตลบโอ่อ่า |
ผัดพักตร์ผ่องเพียงจันทรา | ขัดเกล้ากายาทุกนารี |
นุ่งห่มประกวดอวดโฉม | กล้องแกล้งประโลมเฉลิมศรี |
จิ้มลิ้มพริ้มพร้อมทั้งอินทรีย์ | ท่วงทีคมขำอำไพ |
จัดสรรกันเป็นอลหม่าน | โดยที่พนักงานน้อยใหญ่ |
ยกเครื่องเนื่องตามกันขึ้นไป | ถวายองค์ท่านไทอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
จึ่งเชิญสมเด็จพระพี่ยา | เสวยโภชนาสุราบาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลเยาวยอดสงสาร |
ล้วนเอี่ยมองค์ทรงโฉมประโลมลาน | ก็เข้าหมอบอยู่งานอสุรี |
ลางนางก็รินสุรา | ถวายองค์พญายักษี |
บ้างนั่งรำเพยพัชนี | เทวีโบกปัดกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | โหยหวนบรรเลงเพลงสวรรค์ |
รำมะนาท้าทับสลับกัน | โอดพันเรื่อยรับจับใจ |
แล้วย้ายลำนำเป็นคำหวาน | เฉื่อยฉานจำเรียงเสียงใส |
ฉิ่งกรับที่รับกันไป | พร้อมทั้งขับไม้มโหรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
ปลิ่ม
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำร่อน | ถวายกรพญายักษี |
กรายท่าเป็นม้าตีคลี | ทำทีเลียมล่อคลอกัน |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนท่า | ชายตาใส่จริตบิดผัน |
แกล้งเข้าให้ใกล้กุมภัณฑ์ | ตลบหันเยื้องย่างห่างไป |
แล้วย้ายเป็นกินนรเลียบถ้ำ | ร่ายรำกรายหัตถ์ขวัดไขว่ |
แสร้งทำกระบวนให้ยวนใจ | บำเรอท่านไทอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษา |
เสวยพลางทางทอดทัศนา | ดูนางกัลยาระบำบัน |
ให้เพลิดเพลินไปในรสรัก | พญายักษ์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ทั้งฟังเสียงสำเนียงเสนาะกรรณ | สารพันเป็นที่จำเริญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทนอกน้อยใหญ่ |
เสร็จแต่งโภชนาเมรัย | หาบหามวุ่นไปเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตั้งเรียงเคียงไว้ในหน้าฉาน | ทั้งเมรัยชัยบานกลั่นกล้า |
ช้างปิ้งกระทิงทำนํ้ายา | เนื้อพล่าแลเสือทอดมัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธาพลขันธ์ |
ซึ่งมาแต่จักรวาลนั้น | นั่งล้อมพร้อมกันทำที |
บ้างกินแกล้มกินเหล้าเมามาย | ไพร่นายหาวเรออึงมี่ |
เต้นรำทำเพลงไม่สมประดี | ซัดละครชาตรีวุ่นไป |
บ้างหยอกนางวิเสทสาวสาว | โห่ฉาวฉุดชักผลักไส |
บ้างเข้ากั้นกางขวางไว้ | สำราญใจทุกหมู่โยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษา |
ครั้นเสร็จเสวยโภชนา | เสด็จมาที่ประทับโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชโองการ | สั่งเสนามารยักษี |
จงเตรียมอสุรเสนี | กูจะไปต่อตีด้วยพวกภัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาวาณุราชผู้ใหญ่ |
น้อมเศียรรับสั่งภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ ตรวจเตรียมพลมารทหารรบ | ครบกระบวนโดยซ้ายฝ่ายขวา |
พลเท้าผูกสอดสาตรา | สำหรับกายาทุกตน |
พลม้าผูกม้ามีพยศ | พลรถเทียมรถสับสน |
พลช้างผูกช้างชาญชน | พร้อมพลโยธีทั้งสี่กอง |
คับคั่งตั้งตามอันดับ | ทัพหน้าทัพหลวงเป็นทิวท่อง |
ทัพหนุนทัพขันทัพรอง | เสือป่าแมวมองครบครัน |
พร้อมเพรียบเรียบไว้ในนอก | สามหอกเจ็ดหอกเป็นหลั่นหลั่น |
ล้วนถืออาวุธยืนยัน | เตรียมกันคอยองค์อสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | จรลีไปสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ นํ้าสนานซ่านเซ็นเย็นใส | ลูบไล้เสาวคนธ์หอมหวาน |
สอดใส่สนับเพลาอลงการ | ภูษาลายก้านกระหนกครุฑ |
ชายไหวชายแครงเครือเพชร | ฉลององค์เกราะเกล็ดประดับบุษย์ |
ตาบทิศลายแทงชมพูนุท | สังวาลมุกดาทับทรวง |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายรุ้งร่วง |
มงกุฎแก้วเจียระไนดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
ขัดมหาคทาเพชรเสร็จสรรพ | พระหัตถ์นั้นจับธนูศร |
ดั่งท้าวเวสสุวัณฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | แอกงอนแก้วผลึกงามระหง |
เรือนรองทองคร่ำกำกง | ดุมวงเครือวัลย์สุพรรณพราย |
บัลลังก์ลดชั้นคั่นภาพ | บุษบกเก็จกาบบัวหงาย |
เทพนมกินนรมังกรกลาย | แม่ลายช่อตั้งกระจังทอง |
ห้ายอดดูดั่งวิมานสวรรค์ | เทียมโตสองพันผันผยอง |
โลทันสันทัดถือกระบอง | ขับเผ่นลำพองคะนองฮึก |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงชายธงชัยสำหรับศึก |
ปี่กลองประโคมโครมครึก | อสุราโห่ฮึกอึงอล |
กองหน้าคลาเคลื่อนพลขันธ์ | แน่นนันต์มรคากุลาหล |
ผงคลีบดบังสุริยน | รีบพลเร่งราชรถไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ตั้งอยู่แทบริมชายไพร | มั่นไว้คอยทัพวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงกรณ์ | ภูธรคิดที่จะชิงชัย |
จนล่วงปัจฉิมราตรี | สกุณีเพรียกพร้องเสียงใส |
เร้าร้องเร่งสุริโยทัย | นางชะนีโหยไห้เรียกกัน |
เรไรจักจั่นเจื้อยแจ้ว | ไก่แก้วปรบปีกกระพือขัน |
แสงทองส่องฟ้าพรายพรรณ | ทรงธรรม์เสด็จจากไสยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกหน้าพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองพระนคร | ชุลีกรประณตบทศรี |
พอได้ยินสำเนียงโยธี | โห่มี่เลื่อนลั่นสนั่นไป |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ถามโหราจารย์ผู้ใหญ่ |
วันนี้จะเป็นทัพใคร | ยกพวกพลไกรออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ก็จับยามตามมหานาที |
นับแต่อาทิตย์มาหาจันทร์ | แบ่งปันมิให้คลาดที่ |
เสร็จแล้วยอกรอัญชุลี | อสุรีกราบทูลสนองไป |
อันศึกซึ่งยกออกมา | อสุราซึ่งเป็นนายใหญ่ |
คือทัพนาสูรชาญชัย | ได้ครองกรุงไกรจักรวาล |
เป็นพี่ร่วมพระบิดร | ท้าวยี่สิบกรใจหาญ |
ขอเชิญเสด็จพระอวตาร | ออกไปรอนราญกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวไนยรังสรรค์ |
แจ้งว่าพระเชษฐาทศกัณฐ์ | ยกพวกพลขันธ์ออกมา |
จึ่งตรัสสั่งลูกพระอาทิตย์ | ท่านผู้เรืองฤทธิ์แกล้วกล้า |
จงเตรียมกระบี่โยธา | เราจะไปเข่นฆ่าอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
น้อมเศียรบังคมพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่วานรทวยหาญ | กองหน้าหนุมานเป็นนายใหญ่ |
คุมพลโยธีกระบี่ไพร | ล้วนขี่แรดไฟทุกตน |
เกียกกายนิลเอกผู้ศักดา | พลขี่ชุมพาหน้าขน |
กองหลวงเหล่าพวกกระบี่พล | ขี่เสือคำรนกระหึมฮึก |
นิลนนท์นายกองยกกระบัตร | พลขี่สิงสัตว์กระทิงถึก |
นิลขันกองหลังพันลึก | พลขี่มฤคกวางทราย |
ล้วนถือสาตราอาวุธ | ฤทธิรุทรอาจพลิกแผ่นดินหงาย |
ห้ากองพร้อมกันทั้งไพร่นาย | ดั่งน้ำในสายสาคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ชวนพระอนุชาฤทธิรอน | กรายกรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลารายพลอยโกมิน | เชิงรูปนาคินทร์กระหนกพัน |
พระเชษฐาทรงผ้าเทเวศถวาย | ฉลุลายชายกรองทองคั่น |
พระอนุชาผ้าทิพย์เทวัญ | เชิงรูปสุบรรณพื้นแดง |
ชายไหวชายแครงกระหนกหงส์ | ฉลององค์พื้นตาดเครือแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลเพชรลูกแตงชิงดวง |
พาหุรัดทองกรมังกรพต | ธำมรงค์มรกตรุ้งร่วง |
ต่างทรงมงกุฎดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
พระเชษฐานั้นทรงพรหมาสตร์ | พระลักษมณ์จับพลายวาตธนูศร |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | กรายกรขึ้นรถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงประดับมุกดาหาร |
แอกงอนล้วนแล้วแก้วประพาฬ | ทรงแม้นวิมานในโสฬส |
บัลลังก์ลอยตั้งบุษบก | เสากระหนกกาบแก้วมรกต |
ห้ายอดสอดทวยชวยชด | เครือขดลายบันสุบรรณบิน |
เทียมด้วยพาชีสีกมุท | ล้วนเทพบุตรทั้งสี่สิ้น |
มาตุลีสารถีอมรินทร์ | ขับสินธพผาดเผ่นทะยาน |
พระอนุชานั่งหน้าประนมหัตถ์ | มยุรฉัตรบังองค์ธงฉาน |
เครื่องสูงครบสิ่งอลงการ | ปี่กลองฆ้องขานประสานกัน |
เสียงม้าเริงร้องก้องกึก | เสียงพลโห่ฮึกแผ่นดินลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | รีบพวกพลขันธ์ดำเนินจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นถึงซึ่งที่สนามรบ | พระตรีภพสุริย์วงศ์ทรงศร |
จึ่งให้หยุดโยธาวานร | ไว้ดูฤทธิรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ