- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพินยักษา |
ครั้นชมพูพานผู้ศักดา | ไปจากลงกาธานี |
ทั้งเจ็บทั้งอายทั้งแค้น | แสนเทวษร้อนใจดั่งไฟจี่ |
อนิจจาเสียแรงมีโยธี | ล้วนตัวดีนับด้วยสมุทรไท |
แต่วานรตนเดียวมันเข้ามา | จะช่วยกันจับฆ่าก็ไม่ได้ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | ชลนัยน์คลอคลองนองพักตร์ |
โอ้ว่าครั้งนี้ตัวกู | เหมือนตกอยู่ในพวกปรปักษ์ |
ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจนัก | ขุนยักษ์ไปเฝ้าพระมารดร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ พญาโศก
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑดวงสมร |
อยู่ในปราสาทอลงกรณ์ | บังอรเหลือบแลแปรไป |
เห็นพระโอรสเสด็จมา | กายาโลหิตหลั่งไหล |
เยาวมาลย์ตระหนกตกใจ | วิ่งไปรับองค์พระลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จูงกรมายังบัลลังก์อาสน์ | อัครราชลูบไล้มิให้หนัก |
พินิจพิศดูดวงพักตร์ | นงลักษณ์จึ่งกล่าววาจา |
เป็นไฉนฉะนี้นะพ่อเอ๋ย | ทรามเชยแม่ยอดเสน่หา |
จึ่งเจ็บช้ำคลํ้าเขียวทั้งกายา | โลหิตติดมาทั้งองค์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินพงศ์ท้าวครรไลหงส์ |
ชลเนตรคลอเนตรไหลลง | กราบบาททูลองค์พระชนนี |
วันนี้พระพรตใช้ทหาร | ชื่อชมพูพานกระบี่ศรี |
เขามาร้องว่าพาที | ให้หาลูกนี้ออกไป |
ไอ้วานรนั้นอหังการ์ | ถ้อยคำเจรจาหยาบใหญ่ |
ครั้นลูกว่าบ้างก็ขัดใจ | มันทำให้ได้อัประมาณ |
ขึ้นมาจะลาบาทบงสุ์ | ยกพวกจตุรงค์ทวยหาญ |
ไปแก้แค้นแทนกรไอ้สาธารณ์ | ผลาญเสียให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑสาวสวรรค์ |
ได้ฟังดั่งใครมาฟาดฟัน | ตัวสั่นส้วมกอดพระลูกยา |
โอ้ว่าทศพินเจ้าแม่เอ๋ย | ทรามเชยไม่ฟังแม่ว่า |
เพราะวรณีสูรอสุรา | จึ่งมาเป็นเหตุดั่งนี้ |
ครั้งเมื่อพ่อเจ้าก็เชื่อคำ | นางสำมนักขายักษี |
ไปลักองค์สีดาเทวี | แม่นี้ทูลทัดก็ขัดใจ |
จนสิ้นญาติวงศ์พงศา | ลงกาเกิดเข็ญดั่งเพลิงไหม้ |
อันตัวของเจ้าจะออกไป | ชิงชัยด้วยน้องพระสี่กร |
ดั่งแมงเม่าเข้ากองเพลิงพิษ | แม่นี้ร้อนจิตดั่งพิษศร |
ว่าพลางโศกาอาวรณ์ | บังอรไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นองค์สมเด็จพระชนนี | โศกีรํ่าไรไปมา |
ยิ่งคิดสลดระทดใจ | ชลนัยน์อาบพักตร์ยักษา |
กอดบาทสมเด็จพระมารดา | ก็ทรงโศกโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วคิดมานะอหังการ | กูเป็นวงศ์พรหมานรังสรรค์ |
สามโลกก็แจ้งอยู่ด้วยกัน | จะรักชีวันไปว่าไร |
มาตรแม้นตัวตายจะไว้ยศ | ให้ปรากฏเกียรติจงได้ |
คิดแล้วอุตส่าห์ดำรงใจ | บังคมไหว้กราบทูลพระมารดา |
ความอายความแค้นของลูกนี้ | แม้นม้วยชีวีเสียดีกว่า |
พระองค์ค่อยอยู่จะขอลา | ยกพลโยธาไปราญรอน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑดวงสมร |
ได้ฟังยิ่งแสนอาวรณ์ | บังอรจึ่งมีพจมาน |
เจ้าจงฟังคำแม่ว่า | แก้วตาผู้ยอดสงสาร |
พ่ออย่ามานะอหังการ | ยกพวกพลหาญไปราวี |
อันหมู่อสุราเสนายักษ์ | เคยกลัวสิทธิศักดิ์กระบี่ศรี |
ก็จะกลับเป็นพวกไพรี | น่าที่เจ้าจะม้วยมรณา |
จงถอดพิเภกออกเสียก่อน | แม่จะอ้อนวอนดีกว่า |
ให้พาไปเฝ้าอนุชา | เห็นว่าจะรอดชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันสนั่นไป |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
แผดร้องก้องทั้งปราสาทชัย | ควรหรือว่าได้ถึงเพียงนี้ |
อันพิเภกนั้นเป็นปัจจามิตร | คิดจะใคร่ตัดเกล้าเกศี |
เสียบไว้กับทวารพระบูรี | ให้สาที่ทรยศแก่พงศ์พันธุ์ |
หากเกรงจะมีนินทา | ไปทั่วดินฟ้าสรวงสวรรค์ |
มาตรแม้นจะม้วยชีวัน | จะไหว้มนุษย์นั้นอย่าพึงคิด |
บรรดาเกิดมาทั้งแดนไตร | ใครไม่พ้นพรหมลิขิต |
ถึงเทเวศพรหเมศอันมีฤทธิ์ | อย่าคิดว่าจะพ้นมรณา |
จะสู้ไปชิงชัยไม่คิดกาย | แม้นตายก็ดูประเสริฐกว่า |
ว่าแล้วมิได้บังคมลา | ก็กลับมาปราสาทอสุรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี |
จึ่งมีพจนารถวาที | สั่งพระพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ |
จงจัดม้ารถคชสาร | ทวยหาญเป็นกระบวนบัพใหญ่ |
พรุ่งนี้เราจะยกออกไป | ชิงชัยด้วยมนุษย์วานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวรณีสูรชาญสมร |
รับสั่งลูกท้าวยี่สิบกร | บทจรออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เกณฑ์กองโยธีสี่หมู่ | โดยกระบวนพยูห์พลขันธ์ |
พลเท้าพื้นถือเกาทัณฑ์ | ชาญฉกรรจ์เคยการราญรอน |
พวกม้าล้วนม้ามโนมัย | ลำพองว่องไวดั่งไกรศร |
ผู้ขี่ล้วนถือโตมร | กรายกรกวัดแกว่งสำแดงฤทธิ์ |
พวกช้างพื้นช้างชนะศึก | กระหึ่มฮึกงวงคว้างาขวิด |
ควาญหมอกุมขอชวลิต | กวัดแกว่งแสงพิษโพยมพราย |
ขุนรถขึ้นรถสำหรับทัพ | ถือศรกรกระหยับประลองสาย |
ครบกระบวนถ้วนพร้อมไพร่นาย | ตั้งรายเพียงพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ต่างตนต่างกระซิบพาที | ครั้งนี้ทศพินจะชิงชัย |
ทั้งวรณีสูรอสุรา | อันจะพ้นมรณาอย่าสงสัย |
เรามิได้มีผิดสิ่งใด | เห็นไม่มอดม้วยชีวัน |
อันหมู่โยธาเสนายักษ์ | ทำฮึกฮักสำรวลสรวลสันต์ |
ไพร่นายสัพยอกหยอกกัน | ต่างขันจะเข้าราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายยามลิวันยักษี |
กับกันยุเวกอสุรี | พี่น้องแจ้งว่าทศพิน |
จะยกออกไปรณรงค์ | ด้วยน้องพระหริวงศ์ทรงศิลป์ |
ความกลัวดั่งจะลอดแผ่นดิน | อสุรินทร์ก็พากันรีบจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบาท | พระชนนีธิราชดวงสมร |
ทูลว่าบัดนี้พระสี่กร | ผู้ทรงฤทธิรอนดั่งเพลิงกาล |
ให้พระพรตพระสัตรุดสององค์ | เป็นจอมจตุรงค์ทวยหาญ |
ยกพลข้ามพ้นชลธาร | ตั้งสถานมรกตคีรี |
ใช้วานรหนึ่งเข้ามา | ให้หาทศพินยักษี |
มันอหังการ์พาที | ขุนกระบี่ตบต่อยแล้วกลับไป |
อันเราแม่ลูกทั้งสาม | จะมีความผิดก็หาไม่ |
จะพากันม้วยบรรลัย | ทำไฉนจะพ้นจากตาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณกันยุมาโฉมฉาย |
ได้ฟังทั้งสองลูกชาย | สายสวาทจึ่งมีวาจา |
อันซึ่งเจ้าว่านี้ดีนัก | ลูกรักแม่ยอดเสน่หา |
จงลอบออกจากลงกา | ไปในเวลาราตรี |
หาพญาอนุชิตชัยชาญ | แถลงแจ้งการกระบี่ศรี |
ให้พาขึ้นเฝ้าพระภูมี | เรานี้จะพ้นโทษภัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกุมารผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังมารดาว่าก็ต้องใจ | บังคมไหว้กับเบื้องบาทา |
ออกจากห้องแก้วแพรวพรรณ | กุมภัณฑ์เหลียวซ้ายแลขวา |
เห็นเงียบสงัดลับตา | ก็พากันเหาะไปในราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงมรกตสิงขร | เห็นพวกนิกรกระบี่ศรี |
เป็นเหล่าเหล่านั่งยามตามอัคคี | อสุรีก็ตรงเข้าไป |
นั่งลงแล้วแจ้งข้อความ | แก่ยามพวานนายกองใหญ่ |
เราออกมาจากเวียงชัย | จะเฝ้าพระภูวไนยผู้ศักดา |
อันพญาอนุชิตชัยชาญ | ยอดทหารพระนารายณ์นาถา |
อยู่ไหนจงได้เมตตา | ช่วยพาไปให้พบบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งยามพวานกระบี่ศรี |
ได้ฟังทั้งสองอสุรี | ยินดีก็พากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พญาอนุชิตทหารใหญ่ |
แต่สองกุมารชาญชัย | บังคมไหว้แล้วแจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้มียศถา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ก็พาไปเฝ้าน้องพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
ว่าโอรสอินทรชิตฤทธิรอน | ลอบจรออกมาจากธานี |
ผู้พี่ชื่อยามลิวัน | น้องชื่อกันยุเวกยักษี |
แจ้งว่าทศพินอสุรี | พรุ่งนี้จะยกออกชิงชัย |
ทั้งสองกุมารจะอาสา | จับมาถวายให้จงได้ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | ภูวไนยจงโปรดกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังลูกพระพายเทวัญ | ทรงธรรม์ยินดีปรีดา |
ขอบใจทั้งสองสุริย์วงศ์ | ซื่อตรงจงรักจะอาสา |
เร่งกลับเข้าไปยังพารา | อย่าให้สงการาคี |
ช่วยกันระวังระไว | เอาใจใส่พิเภกยักษี |
เกลือกมันจักฆ่าร้าตี | อย่าให้มีเหตุเภทพาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองอสุราใจหาญ |
รับสั่งน้องพระอวตาร | ชุลีลาเหาะทะยานเข้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพินยักษา |
บรรทมเหนือแท่นไสยา | ตรึกตราที่จะออกไปชิงชัย |
อันตัวกูนี้ก็เยาว์นัก | หาเคยหักณรงค์สงครามไม่ |
ครั้นจะใช้ให้เสนาไป | ยังพิชัยมลิวันธานี |
ทูลองค์สมเด็จพระบิตุราช | ให้ทราบเบื้องบาทบทศรี |
ทางไกลเห็นจะไม่ทันที | ด้วยไพรีนั้นข้ามสมุทรมา |
จำเป็นจะยกออกต่อยุทธ์ | สัประยุทธ์กว่าจะสิ้นสังขาร์ |
ให้เป็นเกียรติไว้ในโลกา | ไปกว่าจะสิ้นกัปกัลป์ |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่ไสยาสน์ | จนภาณุมาศเรื่อแรงแสงฉัน |
เสด็จจากแท่นแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เข้าที่ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารหอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเครือวงเป็นหงส์บิน | ภูษารูปกินรีรำ |
ชายไหวชายแครงก้านขด | ประดับดวงมรกตเขียวขำ |
ฉลององค์ผุดทองพื้นดำ | เกราะเกล็ดปะวะหลํ่าสลับพลอย |
รัดอกทับทรวงสะอิ้งแก้ว | สังวาลวัลย์แสงแววดั่งหิ่งห้อย |
ตาบทิศกุดั่นดวงลอย | พาหุรัดรักร้อยทองกร |
ธำมรงค์เพชรวาวเก้ายอด | สอดสิบนิ้วหัตถ์ประภัสสร |
มงกุฎแก้วกุณฑลกรรเจียกจร | ดอกไม้ทัดอรชรด้วยโกมิน |
ห้อยพวงสุวรรณมาลัย | ขัดพระขรรค์ชัยแล้วทรงศิลป์ |
งามคล้ายอินทรชิตอสุรินทร์ | ลินลามาเกยมณี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยามลิวันกันยุเวกยักษี |
จึ่งทูลทศพินอสุรี | ซึ่งจะยกโยธีออกชิงชัย |
ตัวข้าทั้งสองนี้คิดแค้น | แสนเทวษปิ้มเลือดตาไหล |
ด้วยมนุษย์อาจองทะนงใจ | ฆ่าบิดาให้วายปราณ |
ทั้งพระอัยกาฤทธิรงค์ | สุริย์วงศ์สุดสิ้นสังขาร |
ข้าจะขออาสาเข้ารอนราญ | ผลาญพวกไพรีให้มรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า | ตบมือสรวลร่าด้วยยินดี |
เจ้าก็เป็นโอรสยศยง | พระเชษฐาฤทธิรงค์เรืองศรี |
สุริย์วงศ์พรหเมศโมลี | เรานี้จะร่วมชีวิตกัน |
เจ้าจงเป็นปีกซ้ายขวา | ตีประดาอย่ายั้งพลขันธ์ |
จับมนุษย์พี่น้องทั้งสองนั้น | หั่นเสียให้ยับกับกร |
ว่าแล้วขึ้นรถอลงการ | ให้เลิกพลมารชาญสมร |
ธงหน้าโบกนำพลากร | บทจรออกจากพระบุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแก้วประดับสลับสี |
เรือนแปรกแอกอ่อนงอนมณี | บุษบกตั้งที่บัลลังก์ลอย |
สิงห์อัดแอบเรียงเคียงสลับ | สุบรรณกางกรจับนาคห้อย |
สี่มุขแสงพลามด้วยสีพลอย | สูงลอยยอดเยี่ยมโพยมบน |
เทียมไกรสรสีห์สี่พัน | แผดลั่นเพียงลมพายุฝน |
โลทันขับรีบเริงรน | เครื่องสูงบังบนเมฆา |
ธงทองรองชั้นธงฉาย | ธงชัยสามชายนำหน้า |
ปี่กลองก้องสนั่นเป็นโกลา | โยธาเยียดยัดอัดไป |
ไม่เริงรื่นขืนโห่เป็นหลั่นหลั่น | จะพร้อมเพรียงเสียงกันก็หาไม่ |
ช้างม้าตื่นวุ่นทั้งทัพชัย | รีบเร่งพลไกรดำเนินจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงที่สนามยุทธ์ | ให้หยุดตั้งตามเชิงสิงขร |
โดยกระบวนพยุห์ครุฑกางกร | คอยทัพวานรจะยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
เสด็จออกสุวรรณพลับพลา | งามสง่าดั่งองค์อมรินทร์ |
พร้อมด้วยท้าวพญาวานร | ชมพูพระนครขีดขิน |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษดิน | พอได้ยินสำเนียงเกรียงไกร |
ก็รู้ว่าทศพินอสุรา | ยกพลโยธาทัพใหญ่ |
จะมารณรงค์ชิงชัย | ภูวไนยชื่นชมด้วยสมคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งมีมธุรสพจนารถ | บัญชาประกาศประกาศิต |
สั่งแก่โอรสพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิ์ชัยชาญ |
จงเตรียมโยธาพลากร | ให้พร้อมวานรทวยหาญ |
เราจะยกออกไปรอนราญ | ผลาญอ้ายทศพินอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาไวยวงศากระบี่ศรี |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ ให้อสุรผัดกุมาร | คุมพลทหารเป็นทัพหน้า |
อันนิลพัทผู้ศักดา | เป็นกองขันบัญชาวานร |
ศรีชมพูพานชาญชาย | เป็นเกียกกายนายพลประจญก่อน |
กองหลวงน้องนารายณ์ฤทธิรอน | เป็นจอมนิกรโยธี |
ถัดมาตั้งให้ทวิพัท | เป็นกองยุกกระบัตรกระบี่ศรี |
ถัดนั้นวิสันตราวี | กองหนุนโยธีทะลวงฟัน |
กองหลังรั้งท้ายพลากร | ตั้งซึ่งวานรนิลขัน |
ปีกซ้ายปีกขวาครบกัน | จัดสรรเสร็จสรรพเสนา |
เสือป่าแมวมองกองนอก | สามหอกเจ็ดหอกแกล้วกล้า |
กวัดแกว่งอาวุธเป็นโกลา | เริงร่าเพียบพื้นปถพี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดเรืองศรี |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สวัสดี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สองกษัตริย์สระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
ต่างสอดสนับเพลาเครือขด | รายพลอยมรกตสลับบุษย์ |
ภูษาต่างสีเชิงครุฑ | กรจับนาคยุดหยัดยัน |
ชายไหวชายแครงกระหนกหงส์ | ฉลององค์พื้นตาดสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ทองกรกุดั่นพาหุรัด |
ธำมรงค์เรือนเก็จเพชรเหลือง | อร่ามเรืองรุ้งวาบกาบสะบัด |
ต่างทรงมงกุฎดอกไม้ทัด | กุณฑลแก้วจำรัสกรรเจียกจร |
งามทรงงามองค์งามสง่า | ขัดพระขรรค์ศักดาแล้วจับศร |
ตามกันยุรยาตรนาดกร | บทจรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงล้วนแก้วมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | ชั้นลดช่อลอยด้วยพลอยราย |
ภาพรอบพื้นเรียบระเบียบกัน | บุษบกเสาบันบัวหงาย |
ห้ายอดสูงเยี่ยมโพยมพราย | กาบสอดแก้วลายกระจังบัง |
เทียมสินธพสิบอาชาชาติ | ขาวสะอ้านดูสะอาดดั่งสีสังข์ |
สารถีขับแล่นด้วยกำลัง | พระสัตรุดนั่งหน้าประนมกร |
เครื่องสูงครบสิ่งกระชิงรัตน์ | ธงชายแถวฉัตรประภัสสร |
ปี่กลองฆ้องขานแตรงอน | เสียงสะท้อนสะเทือนพนาวัน |
วานรโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกภพไตรไหวหวั่น |
ผงคลีพัดคลุ้มชอุ่มควัน | เร่งพวกพลขันธ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงสมรภูมิชัย | แลไปเห็นทัพยักษา |
ตั้งแน่นตามแนวอรัญวา | ผ่านฟ้าให้หยุดโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วตรัสสั่งลูกวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรเรืองศรี |
จงเร่งกองหน้าเข้าราวี | ตีทัพอสุรีให้แหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรผัดฤทธิไกรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับรสพจมาน | น้องพระอวตารผู้ศักดา |
ดีใจดั่งได้มณีรัตน์ | ขององค์จักรพรรดินาถา |
แล้วนำพหลโยธา | ตรงมาหน้าทัพกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้จึ่งทำสีหนาท | กระทืบบาทสะเทือนเลื่อนลั่น |
กวัดแกว่งอาวุธเป็นเพลิงกัลป์ | แล้วร้องเย้ยหยันด้วยคำพาล |
เหวยไอ้ไพนาสุริย์วงศ์ | อ้างอวดฤทธิรงค์ว่าแกล้วหาญ |
วันนี้ชีวิตจะวายปราณ | อหังการเย่อหยิ่งมาชิงชัย |
ไม่คิดดูกำลังกายก่อน | แต่วานรตนเดียวไม่สู้ได้ |
เร่งไปมลิวันกรุงไกร | บอกพ่อมึงให้มาราวี |
สี่เศียรก็จะขาดด้วยแสงศร | น้องพระสี่กรเรืองศรี |
จะมิได้เมื่อยเท้าโยธี | ที่จะยกไปตีมลิวัน |
ถ้ามึงยังรักชีวิต | จงทิ้งทางทุจริตโมหันธ์ |
เร่งไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | ก็จะรอดชีวันไม่วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล | ขุนมารจึ่งร้องตอบไป |
เหม่เหม่ดูดู๋อ้ายลูกลิง | ถ้อยคำเย่อหยิ่งหยาบใหญ่ |
ยกย่องมนุษย์เท่าแมงใย | คือใครจะเกรงฤทธา |
ตัวกูก็เป็นวงศ์พรหเมศ | เลื่องชื่อลือเดชทุกทิศา |
ไม่เคยไหว้ใครแต่ไรมา | เป็นมหาจรรโลงกุมภัณฑ์ |
อันพวกมึงเจ้ามึงซึ่งอวดหาญ | กูผลาญก็จะม้วยอาสัญ |
มิให้รอดถึงเมืองมลิวัน | เอ็งอย่าโมหันธ์พาที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หลานพระพายผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | ชี้หน้าแล้วตอบด้วยคำพาล |
มึงอย่ายกตนให้พ้นพักตร์ | อวดศักดิ์สุริย์วงศ์ทะนงหาญ |
อันองค์สมเด็จพระอวตาร | เป็นเจ้าแก่หมู่มารทั้งลงกา |
โปรดให้พระอัยกากู | กับแม่เอ็งเป็นคู่เสน่หา |
ตัวกูกับมึงพึ่งเกิดมา | มิใช่ลูกข้าหรือว่าไร |
อัยกาก็เป็นแต่พ่อเลี้ยง | รักมึงเพียงลูกในไส้ |
พระคุณล้ำลบภพไตร | ยังควรทำได้ถึงเพียงนี้ |
หัวมึงจะขาดไม่ทันรู้ | ด้วยกรของกูผู้เรืองศรี |
อย่าพักอ้างอวดว่าตัวดี | เดี๋ยวนี้จะได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | ตัวสั่นแผดเสียงเกรียงไกร |
เหวยเหวยอสุรหมู่มาร | บรรดาทวยหาญน้อยใหญ่ |
เร่งเข้าตีทัพให้ยับไป | จับไอ้อสุรผัดมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่ทวยหาญยักษี |
ได้ฟังทศพินอสุรี | ให้เข้าตีทัพวานร |
ความกลัวดั่งหมู่มฤคชาติ | เคยแพ้อำนาจไกรสร |
ครั้นเห็นอสุรผัดฤทธิรอน | หมู่นิกรโยธีก็ปรีดา |
ทำเป็นกวัดแกว่งอาวุธ | ดั่งจะเข้าสัประยุทธ์เข่นฆ่า |
ขบฟันให้แล้วกลับหลังมา | วิ่งเข้าในป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรผัดผู้ชาญชัยศรี |
เห็นพวกพหลโยธี | วิ่งแยกแตกหนีพัลวัน |
ตบมือสำรวลแล้วร้องเย้ย | เหวยเจ้าลงกาเขตขัณฑ์ |
โยธานับสมุทรแน่นนันต์ | พากันไปไหนไม่ราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินกุมารชาญสมร |
ยิ่งกริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | แกว่งศรกระทืบบาทา |
เหวยเหวยไอ้ลูกเดียรัจฉาน | กูจะผลาญให้ม้วยสังขาร์ |
ว่าแล้วน้าวหน่วงด้วยศักดา | อสุราก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เป็นศรร่อนอยู่ในอากาศ | เกลื่อนกลาดไม่นับเล่มได้ |
ให้เสียงสำเนียงเกรียงไกร | ล้อมไล่อสุรผัดเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หลานพระพายผู้ชาญชัยศรี |
โลดโผนโจนไปด้วยฤทธี | รวบศรอสุรีซึ่งแผลงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ไว้ได้ในกำหัตถ์สิ้น | อสุรินทร์สำรวลสรวลร่า |
เหวยเหวยดูก่อนอ้ายพาลา | นี่เป็นอาวุธของผู้ใด |
กูพิศดูเอ็งเห็นครึ่งตัว | จะมีเงาหัวก็หาไม่ |
ว่าพลางหักศรด้วยว่องไว | ก็โยนไปให้ทันที |
แล้วโจนขึ้นรถกุมภัณฑ์ | ถีบถูกโลทันสารถี |
รถทรงหักลงไม่สมประดี | ไล่ตีทศพินอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศพักตร์ยักษา |
รับรองป้องปัดไปมา | อสุราเผ่นโผนเข้าชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างตีต่างจับกันสับสน | ต่างตนหาลดกรไม่ |
กลับกลอกเคล่าคล่องว่องไว | ต่างหนีต่างไล่พัลวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรผัดฤทธิแรงแข็งขัน |
รบรุกคลุกคลีตีประจัญ | ยืนยันโถมทะยานเข้าราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายนั้นเหยียบเข่าขวา | มือคว้าชิงได้คันศร |
ตีต้องลูกท้าวยี่สิบกร | ล้มกับดินดอนด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โอรสอินทรชิตสองศรี |
หมายขยับจะจับอสุรี | ได้ทีก็โผนโจนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ผู้พี่นั้นจับแขนซ้าย | น้องชายนั้นจับแขนขวา |
ฝ่ายอสุรผัดผู้ศักดา | โลดโผนโจนมาด้วยว่องไว |
จับจิกเกศวรณีสูร | ผู้ประยูรพี่เลี้ยงนั้นได้ |
ทั้งสามอสุรีก็ดีใจ | พาเข้าไปถวายทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นมีชัยได้ราชไพรี | ยินดีด้วยสมอารมณ์คิด |
พักตร์ผ่องดั่งดวงจันทรา | จึ่งมีบัญชาประกาศิต |
ดูก่อนโอรสพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิ์เกรียงไกร |
อันไอ้ทศพินนี้คิดคด | กับพี่เลี้ยงเป็นขบถโทษใหญ่ |
จงพันธนาให้มั่นไว้ | จะได้ไถ่ถามเอาพวกพาล |
ฝ่ายอสุรผัดฤทธิรงค์ | จงเข้าไปลงการาชฐาน |
กับโอรสอินทรชิตชัยชาญ | ถอดพิเภกขุนมารออกมา |
สั่งแล้วให้เลิกพลากร | เสนาวานรซ้ายขวา |
โห่สนั่นลั่นเลื่อนโลกา | คืนไปพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อสุรผัดผู้ชาญชัยศรี |
กับยามลิวันอสุรี | กันยุเวกผู้ปรีชาชาญ |
ครั้นสองสมเด็จพระวรนุช | เลิกพวกพลยุทธ์ทวยหาญ |
ก็พาหมู่พหลพลมาร | เข้ายังราชฐานลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไป | ตรุใหญ่ที่จำท้าวยักษา |
กราบลงกับเบื้องบาทา | องค์พระอัยกาแล้วโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ทูลว่าหลานนี้ไปเฝ้า | พระนารายณ์เป็นเจ้าเรืองศรี |
ให้พระพรตพระสัตรุดธิบดี | เป็นจอมโยธีมาชิงชัย |
จับตัวทั้งสองไอ้ทรยศ | ซึ่งเป็นขบถนั้นได้ |
บัดนี้พระองค์ทรงฤทธิไกร | ใช้ให้มาถอดพระอัยกา |
ทูลแล้วก็เข้าปลดเปลื้อง | ซึ่งเครื่องจำจองทั้งห้า |
ออกสิ้นให้พ้นพันธนา | องค์พระอัยกาธิบดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษี |
ครั้นเครื่องจำพ้นจากอินทรีย์ | ด้วยเดชพระตรีภูวไนย |
มีความชื่นชมเป็นพ้นคิด | ดั่งเสียชีวิตแล้วเกิดใหม่ |
ก็ส้วมสอดกอดองค์นัดดาไว้ | พ่อคือดวงใจนัยนา |
ตาต้องทารกรรมตรำตราก | แสนลำบากปิ้มสิ้นสังขาร์ |
หากได้เจ้าผู้ปรีชา | หาไม่จะม้วยชีวัน |
ครั้งเมื่อมหาบาลมาราวี | เสียทีปิ้มชีพอาสัญ |
หากว่าบิดาเจ้ามาทัน | ช่วยตาโรมรันจึ่งมีชัย |
พ่อลูกมีคุณแก่ตานัก | ทั่วทั้งไตรจักรไม่เปรียบได้ |
ว่าแล้วพาหลานผู้ร่วมใจ | ไปยังปราสาทชัยรัตนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานพระภูษา |
ปโรหิตชีพราหมณ์พฤฒา | เสนาข้าเฝ้าบรรดามี |
แจ้งว่าพระองค์ทรงนคเรศ | เสด็จมานิเวศน์เฉลิมศรี |
ต่างตนชื่นชมยินดี | ก็วิ่งมาอึงมี่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระพงศ์พรหมธิราชรังสรรค์ |
อยู่ในที่ท้องพระโรงคัล | แน่นนันต์เกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศคิริวงศ์ยักษา |
จึ่งชำระสระสรงกายา | ทรงเครื่องรัตนาอาภรณ์ |
แล้วจึ่งเสด็จลีลาศ | จากปราสาทเนาวรัตน์ประภัสสร |
พร้อมหมู่มาตยาพลากร | บทจรออกจากธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงกองทัพพลับพลา | แทบมหามรกตคิรีศรี |
กับหลานรักผู้ร่วมชีวี | ไปยังที่เฝ้าพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | น้องพระหริวงศ์รังสรรค์ |
ท่ามกลางทหารชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์คอยฟังพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นเห็นพิเภกออกมา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งมีบรรหารอันสุนทร | ดูก่อนพญายักษี |
ท่านเป็นโหราตัวดี | ดั่งหนึ่งว่ามีทิพญาณ |
รอบรู้ปัจจุบันอนาคต | กำหนดด้วยปรีชาหาญ |
ไกลใกล้เห็นสิ้นทุกประการ | ในสุธาธารไม่เทียมทัน |
เหตุไฉนจึ่งเลี้ยงไอ้ลูกงู | ไม่รู้ว่าชีวาจะอาสัญ |
หากว่าอสุรผัดกุมภัณฑ์ | มันไปทูลแจ้งกิจจา |
องค์พระหริวงศ์ทรงเดช | โปรดเกศพญายักษา |
ให้เราพี่น้องยกมา | รณรงค์เคี่ยวฆ่าระงับภัย |
อันทศพินอสุรี | กับวรณีสูรก็จับได้ |
บัดนี้จำมั่นมันไว้ | จะให้สืบสาวเอาพวกพาล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พิเภกผู้ปรีชาหาญ |
ยอกรสนองพจมาน | น้องพระอวตารผู้ศักดา |
ข้าบาทนี้เป็นคนหลง | งวยงงด้วยความเสน่หา |
สำคัญว่าบุตรในอุรา | จึ่งเคืองบาทาพระทรงฤทธิ์ |
ให้ต้องกรีพวกพลพลากร | ยกมาราญรอนนั้นโทษผิด |
ใหญ่หลวงถึงสิ้นชีวิต | หากพระจักรกฤษณ์ปรานี |
จึ่งได้รอดชีพชีวา | คงอยู่เป็นข้าบทศรี |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | ไม่มีสิ่งซึ่งจะเทียมทัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพญากุมภัณฑ์ | จึ่งมีพระบัญชาการ |
อันซึ่งสมเด็จพระเชษฐา | ให้ยกโยธาทวยหาญ |
มาปราบอสูรหมู่มาร | ตามวงศ์อวตารเลิศไกร |
ความเราแสนโสมนัสนัก | ดั่งเอาแก้วพญาจักรมายื่นให้ |
มิได้คิดแก่ยากลำบากใจ | จะไว้เกียรติไปชั่วกัลปา |
ตรัสแล้วสั่งน้องพาลี | จงเอาวรณีสูรยักษา |
กับไอ้ทศพินอสุรา | มาพิจารณาเอาพวกมัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉัน |
รับสั่งพระพงศ์เทวัญ | บังคมคัลรีบออกมาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งวานรตำรวจใน | ให้เอาทศพินยักษี |
กับวรณีสูรอสุรี | มาผูกเข้าที่หน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำรวจลิงนายใหญ่ใจหาญ |
ทั้งราชมัลนครบาล | เอาตัวสองขุนมารเข้าคา |
ผูกเท้าผูกเอวเฆี่ยนขับ | บีบมือบีบกระหมับยักษา |
ขันชะเนาะเคาะเตือนไปมา | บ้างขู่บ้างด่าไม่อาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วานรเสมียนนายใหญ่ |
ตั้งกระทู้ขู่ถามความใน | เหวยไอ้ทศพินอสุรี |
อันลงกาเป็นเชลยเบื้องบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
ให้พิเภกกับมณโฑเทวี | ขึ้นผ่านธานีสวรรยา |
แต่ตัวของเอ็งยังไม่เกิด | จนกำเนิดจำเริญใหญ่กล้า |
เป็นไฉนจึ่งว่าใช่บิดา | ข้อนี้รู้มาแต่แห่งใด |
ซึ่งว่าจักรวรรดิเป็นสหาย | ทศกัณฐ์ผู้ตายใครบอกให้ |
เอ็งจึ่งบังอาจไม่เกรงภัย | ลอบไปนำทัพมารอนราญ |
จับพิเภกใส่ตรุจำจอง | ตัวขึ้นครองลงการาชฐาน |
เสด็จมาให้หาจะถามการ | มึงยังฮึกหาญเจรจา |
อันพวกเพื่อนสมรู้ร่วมคิด | อย่าปกปิดมากน้อยให้เร่งว่า |
ถ้ามิบอกจะเฆี่ยนอสุรา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งทศพินยักษี |
เจ็บปวดรวดร้าวทั้งอินทรีย์ | อสุรีก็ให้การไป |
เดิมข้าเที่ยวเล่นสวนขวัญ | วรณีสูรนั้นเป็นผู้ใหญ่ |
ทำร้องไห้หัวร่อไยไพ | สงสัยไถ่ถามจึ่งบอกมา |
ว่าบิดาข้าชื่อทศพักตร์ | พิเภกเป็นน้องรักยักษา |
จะใคร่ได้สมบัติในลงกา | ไปพาศึกมาราวี |
ฆ่าญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ | ทั้งท้าวทศกัณฐ์ยักษี |
จึ่งได้ขึ้นผ่านธานี | เป็นปิ่นอสุรีในเวียงชัย |
ตัวข้าเกิดมาเป็นชาย | ความแค้นความอายไม่อดได้ |
พี่เลี้ยงจึ่งนำเข้าไป | ยังกรุงไกรมลิวันพารา |
รู้กันแต่สองเป็นคู่คิด | โดยสัจสุจริตไม่มุสา |
โทษผิดชีวิตถึงมรณา | ตามแต่เมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายเสมียนกระบี่ศรี |
จึ่งเอาคำทศพินอสุรี | สอบวรณีสูรทันใด |
บัดนี้เจ้าเอ็งซัดถึง | ว่ามึงเป็นต้นเหตุใหญ่ |
ยุยงแนะนำทุกสิ่งไป | จึ่งได้หน่ายแหนงแคลงกัน |
จนถึงเกิดเข็ญเข่นฆ่า | เพราะวาจามึงไอ้โมหันธ์ |
ผู้อื่นไม่มีติดพัน | คิดกันกับเอ็งแต่เดิมที |
ถามพลางให้เตือนกระทุ้งไม้ | ยังจริงหรือไม่ไอ้ยักษี |
จงเร่งให้การไปบัดนี้ | หาไม่ชีวีจะมรณา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวรณีสูรยักษา |
ขบฟันกลั้นใจอยู่กับคา | นิ่งเสียไม่ว่าประการใด |
ครั้นต้องเคาะต้องเตือนเป็นหลายหน | สุดกำลังที่จะทนทานได้ |
จึ่งร้องจริงแล้วทุกสิ่งไป | ขอท่านจงไว้ชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระสุริยารังสรรค์ |
ได้ความทั้งสองกุมภัณฑ์ | ก็พากันมาเฝ้าทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | น้องพระหริวงศ์เรืองศรี |
ก็ทูลคำตามอสุรี | ถ้วนถี่แต่ต้นความมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์นาถา |
ได้ฟังลูกพระสุริยา | จึ่งมีบัญชาไปทันใด |
อันถ้อยคำทั้งสองอสุรี | มันให้การนี้หาจริงไม่ |
ครั้นจะแคะไค้ไล่เลียงไป | นัยจะถึงมณโฑแม่มัน |
ความนี้จะยกให้องคต | กับท้าวทศคิริวงศ์รังสรรค์ |
จงเร่งเอาสองกุมภัณฑ์ | ไปตระเวนแล้วฟันเสียวันนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพพิเภกยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ จึ่งให้อสุราพานรินทร์ | คุมตัวทศพินยักษา |
กับวรณีสูรอสุรา | ไปทำตามบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องครักษ์จักรนารายณ์แข็งขัน |
รับคำนำสองกุมภัณฑ์ | พากันเข้ายังเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เตียว
๏ ครั้นถึงตีฆ้องให้ร้องขาน | ประจานไปตามถนนใหญ่ |
บ้างตีบ้างเตือนเนื่องไป | มิได้เมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศพินสุริย์วงศ์ยักษี |
กับพี่เลี้ยงผู้ร่วมชีวี | สุดที่จะทนอาญา |
ครั้นเจ็บก็จำร้องไป | ใครใครอย่าดูเยี่ยงข้า |
กระบถต่อเบื้องบาทา | องค์พระจักราอวตาร |
ไปนำทัพจักรวรรดิอสุรี | มาตีเอาลงการาชฐาน |
จับพญาพิเภกขุนมาร | ใส่ตรุประจานจำไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชายหญิงชาวเมืองน้อยใหญ่ |
เห็นเขาพาทศพินตระเวนไป | เลือดไหลหยดย้อยทั้งกายา |
วิ่งวุ่นมาดูสับสน | สองข้างแถวถนนซ้ายขวา |
ที่รักก็ดูไม่เต็มตา | แสนเวทนาเป็นสุดคิด |
ที่ชังก็ว่าสาแก่ใจ | ใครใช้ให้ทำความผิด |
จะพาเราตายวายชีวิต | สิ้นทั้งญาติมิตรบรรดามี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศพินยักษี |
เจ็บชํ้าลำบากแสนทวี | กระบี่พาเที่ยวตระเวนไป |
แลเห็นปราสาทพระมารดร | ยอกรนบนิ้วประนมไหว้ |
ชลเนตรคลอเนตรถอนใจ | อาลัยรำพันโศกา |
โอ้ว่าสมเด็จพระแม่เจ้า | ผู้บังเกิดเกล้าเกศา |
บำรุงเลี้ยงลูกแต่เยาว์มา | จนใหญ่กล้ามิให้อนาทร |
พระคุณลํ้าฟ้าสุธาธาร | ยิ่งสุเมรุจักรวาลสิงขร |
ยังมิได้แทนคุณพระมารดร | มาจำจรจากบาทอนาถนัก |
อยู่หลังจะตั้งแต่โหยไห้ | อาลัยถึงลูกเพียงอกหัก |
จะแสนทุกข์แสนเทวษด้วยความรัก | ชลนัยน์นองพักตร์ไม่วายวัน |
บุญน้อยมิได้ฉลองบาท | มาสุดสิ้นชีวาตม์อาสัญ |
ดั่งเดือนดับลับสิ้นแสงจันทร์ | นับวันจะเปลี่ยวเปล่าตา |
นิจจาเอ๋ยพอได้กราบบทศรี | พระชนนีหน่อยหนึ่งก็ไม่ว่า |
ถึงตายก็ตามแต่เวรา | รํ่าพลางโศกาแล้วเดินไป ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ พญาโศก
๏ บัดนั้น | เพชฌฆาตวานรนายใหญ่ |
ครั้นตระเวนไปรอบเวียงชัย | ก็ตัดเศียรเสียบไว้ริมทวาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดสงสาร |
แจ้งว่าโอรสบรรลัยลาญ | เยาวมาลย์ครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าทศพินเจ้าแม่เอย | ทรามเชยยอดรักเฉลิมขวัญ |
เสียแรงอุ้มท้องประคองครรภ์ | ถนอมเลี้ยงทุกวันจนใหญ่มา |
พระบิดาสวรรคตแล้ว | ได้เห็นหน้าลูกแก้วเสน่หา |
ค่อยสบายคลายทุกข์ทุกเวลา | อนิจจาควรหรือมาจำไกล |
ทิ้งแม่ไว้แต่ผู้เดียว | เปล่าเปลี่ยวดิ้นโดยโหยไห้ |
จะวิโยคโศกแสนอาลัย | ตรอมใจถึงเจ้าไม่เว้นวัน |
เหตุนี้เดิมทีก็ได้ห้าม | ไม่ฟังความขืนคิดด้วยโมหันธ์ |
เชื่ออ้ายพี่เลี้ยงอาธรรม์ | จึ่งต้องฟันเศียรเสียบไว้ดั่งนี้ |
เสียแรงเป็นวงศ์พรหเมศ | เทวาเกรงเดชทุกราศี |
เมื่ออินทรชิตพี่เจ้าไปต่อตี | ก็สิ้นชีวีในเมฆา |
มีผู้ไปรับเศียรไว้ | มิให้ตกจากเวหา |
นี่มาต้องประจานเวทนา | ดั่งว่าชาติเชื้อจัณฑาล |
ตั้งใจจะฝากผีเจ้า | ขวัญข้าวแม่ยอดสงสาร |
รํ่าพลางข้อนทรวงเยาวมาลย์ | โศกาปานสิ้นชีวันฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด