- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงยักษา |
ได้ฟังมหาเสนา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
อันพระสหายของกูนี้ | เป็นสุขสวัสดีหรือไฉน |
ตรัสใช้เอ็งมาด้วยอันใด | นานแล้วมิได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งกาลสูรคนขยัน |
ได้ฟังน้อมเศียรบังคมคัล | กุมภัณฑ์สนองพระบัญชา |
อันพระสหายไม่มีสุข | ทุกข์ด้วยสงครามมาเข่นฆ่า |
จึ่งใช้ให้ถือสารา | มาเฝ้าบาทาภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนเสนามารผู้ใหญ่ |
เปิดกล่องคลี่สารอ่านไป | ถวายองค์ท่านไทอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารพระผู้พงศ์พรหเมศ | มงกุฎเกศลงกาบุรีศรี |
มายังพระสหายธิบดี | ผู้ร่วมชีวีเดียวกัน |
บัดนี้ลงกาดิลกภพ | นพรัตน์นคเรศรังสรรค์ |
มีหมู่อริราชไภยัน | คือมนุษย์อาธรรม์ทั้งสองนาย |
ออกนามลักษมณ์รามราเมศ | คุมกระบี่มีเดชทั้งหลาย |
จองถนนข้ามพลนิกาย | มาทำร้ายรุกรบพระบุรี |
สัประยุทธ์เคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า | พระวงศานุวงศ์ยักษี |
ตายเนื่องเปลืองราชธานี | ทั้งพวกโยธีรี้พล |
ตัวเราก็ออกราญรอน | ต่อกรด้วยมันถึงสองหน |
ต้องศรพ่างเพียงจะสิ้นชนม์ | ครั้งนี้ขัดสนเป็นพ้นนัก |
ขอเชิญองค์พระสหาย | ผู้เลิศชายชาญฤทธิ์สิทธิศักดิ์ |
ยกพวกพหลพลยักษ์ | มาคิดการหาญหักไพรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัตลุงยักษี |
แจ้งสารพระสหายร่วมชีวี | อสุรีนิ่งนึกตรึกไป |
อันองค์ท้าวยี่สิบกร | ฤทธิรอนฟากฟ้าดินไหว |
อานุภาพปราบได้ทุกแดนไตร | ผู้ใดไม่รอต่อยุทธ์ |
ใครหนอซึ่งชื่อว่ารามลักษมณ์ | ทะนงศักดิ์อาจใจเป็นที่สุด |
ตัวมันก็เป็นแต่มนุษย์ | จะมีฤทธิรุทรกระไรมา |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะบั่นเศียรเกล้าเกศา |
เชือดเนื้อเป็นเหยื่อแร้งกา | ทั้งพวกสวาวานร |
ตรัสพลางทางมีบรรหาร | สั่งเสนามารชาญสมร |
เร่งจัดโยธาพลากร | กูจะไปราญรอนไพรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิรุญกาสูรยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่ทหารชำนาญศึก | เลือกล้วนห้าวฮึกแกล้วกล้า |
เหล่าหนึ่งหน้าเป็นเสือปลา | ถือคาบศิลายืนยัน |
เหล่าหนึ่งนั้นหน้าเป็นสิงโต | ถือโล่แกว่งดาบดั่งจักรผัน |
เหล่าหนึ่งหน้าหมียิงฟัน | ถือธนูเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
หมู่หนึ่งหน้าเป็นแมวคราว | ถือง้าวเงื้อง่าเหน็บกริช |
หมู่หนึ่งหน้าแรดแผลงฤทธิ์ | ถือตระบองบิดเหลือกตา |
หมู่หนึ่งเป็นหน้ากาสร | มือถือโตมรเงื้อง่า |
หมู่หนึ่งหน้าเป็นหน้ากา | ถือหอกละว้ากรีดกราย |
ต่างตนกวัดแกว่งอาวุธ | ฤทธิรุทรเพียงพลิกแผ่นดินหงาย |
เตรียมทั้งรถแก้วแพรวพราย | ไพร่นายคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | มาเข้าที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | วารีโปรยปรายหอมหวาน |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงสุมามาลย์ | กลิ่นอาบซาบซ่านทั้งอินทรีย์ |
สนับเพลาเชิงงอนกระหนกหงส์ | ภูษาทรงรายรูปราชสีห์ |
ชายไหวชายแครงเครือมณี | ฉลององค์กำมะหยี่ดวงลอย |
เกราะแก้วทับทรวงสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดประดับพลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยพรายตา |
มงกุฎกรรเจียกมุกดาหาร | ห้อยพวงแก้วกาญจน์บุปผา |
จับพระแสงศรสิทธิ์ฤทธา | มาขึ้นรถทรงอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถณรงค์ | กำกงเนาวรัตน์ประภัสสร |
ดุมแปรกแอกงามสามงอน | บุษบกอรชรบัลลังก์ลอย |
รายรูปเทพนมประนมหัตถ์ | ครุฑจับนาคหยัดสะบัดห้อย |
เสาเก็จกาบประดับสลับพลอย | ช่อฟ้าชดช้อยกระหนกบัน |
เทียมด้วยไกรสรราชสีห์ | สารถีขับเผ่นดั่งจักรผัน |
เครื่องสูงพัดโบกทานตะวัน | มยุรฉัตรรายชั้นธงทอง |
กลองชนะกลองโยนแตรฝรั่ง | เสียงดังโครมครึกกึกก้อง |
พลมารหาญฮึกโห่ลำพอง | เร่งกองพยุหบาตรยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนนทสูรยักษา |
เร่งรีบสินธพอาชา | ข้ามมหาคงคาสมุทรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเมืองมัชชวารี | ขุนมารผู้มีอัชฌาสัย |
ลงจากหลังม้ามโนมัย | เข้าในพระโรงอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเกล้าประณตบทบงสุ์ | องค์พญาตรีเมฆชาญสมร |
ทูลว่าลงกาพระนคร | มีพวกดัสกรมารอนราญ |
คือลักษมณ์รามพี่น้องสองมนุษย์ | คุมกระบี่ฤทธิรุทรทวยหาญ |
เคี่ยวฆ่าสุริย์วงศ์พรหมาน | บรรลัยลาญมากพ้นคณนา |
องค์พระบิตุลายี่สิบกร | เดือดร้อนเศร้าโทมนัสสา |
ให้ข้ามาเชิญพระบาทา | เสด็จไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังนนทสูรอสุรี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
เหม่เหม่มนุษย์กับไอ้ลิง | มาเย่อหยิ่งอาจองทะนงหาญ |
ไม่เกรงศักดิ์สุริย์วงศ์พรหมาน | กูจะผลาญให้ม้วยชีวัน |
ว่าแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีตัวขยัน |
เร่งจัดอสุรกุมภัณฑ์ | จะไปช่วยป้องกันลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวิรุญราชยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ เกณฑ์หมู่จตุรงค์องอาจ | เป็นกระบวนพยุหบาตรทัพใหญ่ |
ขุนช้างขี่ช้างระวางใน | ถือขอปืนไฟหยัดยัน |
ขุนม้าขี่ม้าถือหอก | ควบขับกลับกลอกดั่งจักรผัน |
ขุนรถเทียมเสือตัวฉกรรจ์ | โลทันมือถือคทาธร |
ขุนพลตรวจเตรียมพลยุทธ์ | เลือกล้วนฤทธิรุทรดั่งไกรสร |
ถือหอกดาบกำซาบโตมร | พะเนินขอนฆ้อนเหล็กอลวน |
ต่างตนประกวดอวดกล้า | เต้นโลดเงื้อง่ากุลาหล |
ยัดเยียดเพียบพื้นสุธาดล | ทุกตนคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสิทธิศักดิ์ยักษี |
ครั้นรุ่งรางสางแสงพระรวี | เสด็จมาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธาธารเกสร |
สนับเพลาพื้นตาดเชิงงอน | อุทุมพรภูษาท้องพัน |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์สังเวียนกระหนกคั่น |
เกราะเพชรทับทรวงสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นชิงดวง |
พาหุรัดทองกรมังกรพด | ธำมรงค์มรกตรุ้งร่วง |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
ขัดคทาธรฤทธิรงค์ | หัตถ์ขวานั้นทรงธนูศร |
เสด็จจากอาสน์แก้วอลงกรณ์ | บทจรมาขึ้นคชาธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ช้างเอยช้างศึก | สูงตระหง่านหาญฮึกกำลังหาญ |
งวงคว้างาเสยลำพองพาล | เท้าทะยานถีบฉัดสะบัดแทง |
ชาติเชื้อคเชนทร์ฉัททันต์ | โกญจนาทส่ายมันกวัดแกว่ง |
ผูกเครื่องกุดั่นทับทิมแดง | ข่ายกรองทองแย่งประดับพลอย |
ชนักต้นสายสุคนธ์พรายแพรว | จงกลแก้วสองหูพู่ห้อย |
ควาญท้ายกรายขอรอคอย | ขับย่างหย่างน้อยดั่งลมพัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงริ้วทิวรายกระชิงฉัตร |
หมู่พหลพลหาญเยียดยัด | ขนัดกลองฆ้องขานอึงอล |
โยธาโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกโลกากุลาหล |
มืดคลุ้มชอุ่มบดบน | เร่งพลข้ามฝั่งสมุทรไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ เดินโดยมรรคาพนาลี | ร่วมแนววิถีทางใหญ่ |
พบทัพจักรวาลกรุงไกร | ให้รอไว้แล้วยกตามมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวสัตลุงยักษา |
เห็นทัพตรีเมฆอสุรา | พญามารชื่นชมยินดี |
ให้เร่งจตุรงค์ทวยหาญ | แสนเสนามารยักษี |
ข้ามทุ่งวุ้งป่าพนาลี | เข้าในบุรีลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงให้หยุดจตุรงค์ | ตั้งลงตามซ้ายฝ่ายขวา |
สองกษัตริย์พากันยาตรา | มายังที่ท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นสหายรักร่วมชีวัน | กับหลานขวัญมาก็ยินดี |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | องค์ท้าวมัฆวานเรืองศรี |
เสด็จจากอาสน์แก้วรูจี | มารับสองอสุรีผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จูงกรพระสหายขึ้นร่วมอาสน์ | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
ถ้อยทียินดีปรีดา | อสุราต่างนบนอบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมคัล | องค์ท้าวทศกัณฐ์อสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสัตลุงยักษี |
เสด็จเหนืออาสน์แก้วรูจี | จึ่งมีวาจาถามไป |
อันข้าศึกซึ่งยกมารอนราญ | ฤทธากล้าหาญเป็นไฉน |
โยธีมากน้อยสักเท่าใด | จึงอาจใจดูหมิ่นอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ฟังพระสหายถามมา | จึ่งบัญชาตอบไปมิทันนาน |
อันสงครามครั้งนี้นี่หนักนัก | มนุษย์ฮึกฮักกล้าหาญ |
ทรงศรฤทธิไกรดั่งไฟกาล | ยากที่จะต้านทานกร |
ทั้งโยธีก็มีฤทธิรุทร | นับด้วยสมุทรไม่หยุดหย่อน |
ไอ้พิเภกผู้น้องร่วมอุทร | ก็ตัดรอนไปเข้าด้วยพวกภัย |
สารพัดแยบยลกลศึก | ที่ลํ้าลึกของเราก็บอกให้ |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ก็บรรลัย | จนใจจึ่งให้ไปเชิญมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงยักษา |
ได้ฟังทศกัณฐ์อสุรา | พญามารจึ่งตอบวาที |
ฉิฉะมนุษย์กับลิงดง | มาดูหมิ่นสุริย์วงศ์ยักษี |
ดีแล้วจะเป็นไรมี | ครั้งนี้จะได้เห็นกัน |
ถึงไพรีจะมีฤทธิรอน | ด้วยธนูศิลป์ศรแลพระขรรค์ |
ไว้นักเราจะหักมัน | หั่นเสียให้สิ้นทั้งทัพชัย |
ถึงไอ้พิเภกอสุรา | ก็จะจับมัดมาให้จงได้ |
พระสหายอย่าปรารมภ์ใจ | ทำไมกับศึกเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
ได้ฟังดั่งทิพวารี | มาโสรจสรงอินทรีย์ขุนมาร |
สำรวลสรวลสันต์โสมนัส | เริงร่าตบหัตถ์ฉัดฉาน |
ครั้งนี้หมู่ราชภัยพาล | จะแหลกลาญด้วยเดชสหายรัก |
แล้วผันพักตร์มาตรัสจำนรรจา | กับตรีเมฆนัดดาสิทธิศักดิ์ |
เจ้าผู้สุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | จะช่วยลุงคิดหักประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
นัดดาก็นับว่าชายชาญ | สุริย์วงศ์พรหมานเรืองศรี |
อันการสงครามแต่เพียงนี้ | ใช่ที่จะเป็นกระไรมา |
ถึงมาตรว่ามันจะมีฤทธิ์ | ด้วยกำลังศรสิทธิ์แกล้วกล้า |
มิให้เคืองใต้เบื้องบาทา | จะขออาสาไปต่อตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ฟังราชนัดดาพาที | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ลูบหลังแล้วมีประกาศิต | เจ้าผู้ทรงฤทธิ์ดั่งเพลิงกรด |
พ่อจงไว้ชื่อให้ลือยศ | ปรากฏไปชั่วกัลปา |
ตรัสแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
เร่งแต่งเครื่องต้นอันโอชา | พร้อมทั้งสุราเมรัย |
มาถวายทั้งสองสุริย์วงศ์ | เลี้ยงพวกจตุรงค์น้อยใหญ่ |
ให้อิ่มหนำพร้อมกันสำราญใจ | แต่ในเวลาบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมโหทรมารยักษี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงทิมดาบกรมวัง | จึ่งสั่งนายเวรซ้ายขวา |
ให้เขียนหมายโดยราชบัญชา | สั่งวิเสทอสุรานอกใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | นายเวรกรมวังผู้ใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | ก็หมายไปตามสั่งเสนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายวิเสทยักษี |
แจ้งหมายจ่ายของเป็นโกลี | เกณฑ์กันตามที่พนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ วิเสทในก็แต่งเครื่องต้น | เทียบทานสับสนอลหม่าน |
พร้อมทั้งเมรัยชัยบาน | ของคาวของหวานครบครัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางงานใช้คนขยัน |
ยกเครื่องเนื่องแน่นตามกัน | มาถวายกุมภัณฑ์เจ้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
จึ่งชวนพระสหายร่วมชีวา | กับนัดดาเสวยสุราบาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ บัดนั้น | นางกำนัลเยาวยอดสงสาร |
ล้วนกล้องแกล้งแน่งน้อยนงพาล | ก็เข้าหมอบอยู่งานอสุรี |
ลางนางก็รินสุรา | ถวายองค์พญายักษี |
บ้างนั่งรำเพยพัชนี | แส้ปรายกรายวีพญามาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | โหยหวนสำเนียงเสียงหวาน |
ทุ้มเอกโอดพันบรรเลงลาน | ดีดสีประสานจังหวะกัน |
แล้วย้ายทำนองเป็นทองย้อย | ขลุ่ยพลอยเพราะเพียงเพลงสวรรค์ |
กระจับปี่สีซอนี่นัน | ประสานเสียงสนั่นจับใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
เบ้าหลุด
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำร่อน | ทอดกรเยื้องกรายส่ายไหล่ |
แทรกเปลี่ยนเวียนวงกันไป | คลอเคล้าเข้าใกล้พญามาร |
แล้วซัดสองกรอ่อนชด | กลายเป็นพระรถโยนสาร |
ร่ายเรียงเคียงคู่ยุพาพาล | ชำเลืองลานแลเหลือบเป็นที |
แล้วกรายหัตถ์กระหวัดเบี่ยงบิด | ใส่จริตเมียงม่ายชายหนี |
งามละม่อมพร้อมพริ้มทุกนารี | บำเรอเจ้าธานีลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทซ้ายขวา |
เสร็จแต่งเอมโอชโภชนา | ก็หาบหามเข้ามาตามกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตั้งเรียงเคียงไว้เป็นอันดับ | แกล้มกับสำรับข้าวเหล้ากลั่น |
ทั้งควายพล่าโคลาทอดมัน | ช้างหันเกลื่อนกลาดดาษไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลโยธาน้อยใหญ่ |
ซึ่งมาแต่สองกรุงไกร | นายไพร่ยินดีปรีดา |
นั่งพร้อมล้อมกันทำที | ดื่มอาหนีกินแกล้มหัวร่อร่า |
โฉงเฉงร้องเพลงสักวา | รำเต้นเล่นหน้าไม่สมประดี |
บางหมู่กินเมาเหลือขนาด | ด่าตีวิวาทกันอึงมี่ |
บ้างหยอกนางวิเสทอสุรี | เสียดสีไขว่คว้าพัลวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ากรุงจักรวาลเขตขัณฑ์ |
กับตรีเมฆขุนมารชาญฉกรรจ์ | เกษมสันต์เสวยโภชนา |
พลางดูนางรำระบำใน | ฤทัยแสนโสมนัสสา |
เพลิดเพลินจำเริญวิญญาณ์ | เสน่หารุมรึงตรึงใจ |
กำหนัดในรูปรสเสียง | พ่างเพียงไม่กลั้นฤดีได้ |
งวยงงหลงเคลิ้มสติไป | ทั้งสองท่านไทอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เสร็จเสวยโภชนาสาลี | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
ครั้งนี้ตัวข้าจะสิ้นทุกข์ | อยู่เย็นเป็นสุขสโมสร |
ทั่วทั้งลงกาพระนคร | ด้วยฤทธิรอนสหายรัก |
กับพระนัดดาผู้ชัยชาญ | จะเลื่องชื่อลือหาญทั้งไตรจักร |
แต่ออกนามก็จะคร้ามกลัวนัก | ควรเป็นหลักโลกโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงยักษา |
ยิ้มพลางทางมีบัญชา | ว่าแก่ตรีเมฆอสุรี |
พรุ่งนี้เราจะยกออกราญรอน | ต่อกรมนุษย์ทั้งสองศรี |
ตัวเจ้าผู้เรืองฤทธี | จงกรีธาประทับหลังไป |
อย่าให้อริราชไภยัน | มันตีตลบเข้ามาได้ |
ว่าแล้วสองกษัตริย์คลาไคล | ไปยังทัพชัยอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารยักษา |
จงเตรียมจตุรงคโยธา | โดยพยุห์ยกมาให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองเสนีคนขยัน |
รับสั่งพระยากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ฝ่ายข้างจักรวาลก็ตรวจพล | ฤทธิรณแกล้วหาญชาญสมร |
ตั้งกระบวนจตุรงค์พลากร | กุญชรรัถาพาชี |
ล้วนเหล่าลำพองคะนองศึก | ห้าวฮึกดั่งพญาราชสีห์ |
แต่ละตนรนร่านราวี | ถือกระบี่ตรีทวนคทาวุธ |
บ้างถือหอกดาบธนูปืน | เพียบพื้นธรณีนับสมุทร |
พวกมัชชวารีฤทธิรุทร | ล้วนเหล่าพลยุทธ์ชายฉกรรจ์ |
เป็นทัพหลังรั้งท้ายทวยหาญ | หมู่มารเหี้ยมแหงแข็งขัน |
กรกุมอาวุธครบครัน | คอยสองกุมภัณฑ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สัตลุงตรีเมฆยักษา |
ครั้นรุ่งแสงสีสุริยา | เสด็จมาโสรจสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | สุคนธ์ธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาเครือวงเป็นหงส์บิน | เชิงงอนโกมินต่างกัน |
ภูษาต่างสีม่วงตอง | ฉลุทองช่องกระจกกระหนกคั่น |
ฉลององค์เกราะแก้วสังวาลวัลย์ | รัดอกกุดั่นอลงกรณ์ |
ตาบทิศประดับมุกดาหาร | ทับทรวงดวงประพาฬประภัสสร |
พาหุรัดนพรัตน์อรชร | ทองกรรูปวาสุกรีกราย |
ทรงมหาธำมรงค์เรือนครุฑ | มงกุฎแก้วสุรกานต์ฉานฉาย |
กรรเจียกจรกุณฑลทับทิมพราย | งามคล้ายเวสสุวัณทั้งสององค์ |
ต่างขัดคทาแล้วจับศร | กรายกรย่างเยื้องดำเนินหงส์ |
พร้อมหมู่ทวยหาญจตุรงค์ | เสด็จมาทรงรถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแล้วด้วยมุกดาหาร |
เรือนแปรกแอกล้วนแก้วประพาฬ | ธงฉานปักชูเฉลิมงอน |
เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน | โลทันมือถือธนูศร |
แผดเสียงสำทับขับจร | พาเผ่นอัมพรดั่งลมพัด |
ฝ่ายองค์ตรีเมฆอสุรา | ทรงมหาหัสดินยืนหยัด |
ร้ายกาจอาจศึกสันทัด | เท้าฉัดกวัดแกว่งลำพอง |
งวงคว้างาเสยส่ายมัน | โกญจนาทสนั่นกึกก้อง |
ผูกเครื่องกุดั่นดาวทอง | ข่ายกรองปกหน้าสง่างาม |
ประดับด้วยเครื่องสูงทั้งสองทัพ | ธงชัยสำหรับออกสนาม |
เสียงกลองก้องพงดงระนาม | ทัพหลังยกตามกันรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงซึ่งที่รณยุทธ์ | ให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ตั้งเป็นสองกองลงไว้ | คอยจะชิงชัยด้วยไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
ครั้นพลบคํ่าสิ้นแสงพระรวี | ก็เข้าที่เหนือแท่นอลงการ์ |
พระพายชายพัดอ่อนอ่อน | พากลิ่นเกสรบุปผา |
หอมรื่นชื่นชวยรวยมา | ซาบซ่านนาสาตลบไป |
เรไรเรื่อยร้องก้องดง | จักจั่นแซ่ส่งเสียงใส |
ฟังเพราะเสนาะจับใจ | ดั่งนางในประสานดนตรี |
ให้วิเวกบรรเทาพระทัยทุกข์ | ภูวไนยเป็นสุขเกษมศรี |
น้ำฟ้าเย็นซาบอินทรีย์ | พระจักรีสนิทนิทรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ จนพระสุริยาเรืองรอง | แสงทองสว่างเวหา |
ก็สระสรงทรงเครื่องอลงการ์ | เสด็จออกยังหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมอัษฎาทศมงกุฎ | วายุบุตรสุครีพทหารใหญ่ |
หมอบเฝ้าเดียรดาษกลาดไป | ดั่งดาวล้อมแขไขในอัมพร |
พอได้ยินสำเนียงโห่ร้อง | สะเทือนก้องมรกตสิงขร |
จึ่งมีบัญชาอันสุนทร | ดูก่อนพิเภกอสุรา |
ทัพใครยกมาในวันนี้ | เสียงพลโห่มี่ทุกทิศา |
จะเป็นทศกัณฐ์เจ้าลงกา | หรืออสุราตนใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | ก็จับยามไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รู้แจ้งไม่แคลงในวิญญาณ์ | อสุราประณตบทศรี |
ทูลว่าทัพยกมาวันนี้ | ใช่องค์อสุรีทศกัณฐ์ |
คือท้าวสัตลุงขุนมาร | อยู่ยังจักรวาลเขตขัณฑ์ |
เป็นสหายรักร่วมชีวัน | ขององค์กุมภัณฑ์เจ้าลงกา |
กับลูกตรีเศียรอสุรี | มีนามตรีเมฆยักษา |
อยู่มัชชวารีพารา | เป็นราชนัดดาพญามาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศาน |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | จึ่งบรรหารสั่งลูกพระสุริยัน |
จงเตรียมโยธาพลากร | วานรฤทธิแรงแขงขัน |
เราจะไปสังหารกุมภัณฑ์ | ที่มันเป็นเสี้ยนธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ก้มเกล้ารับสั่งพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่กระบินทร์วานรินราช | เลือกล้วนองอาจแกล้วกล้า |
แต่ละตนพื้นพงศ์เทวา | เดชาดั่งดวงพระอาทิตย์ |
กำบังกายหายตัวก็ได้สิ้น | เดินนํ้าดำดินไปดั่งจิต |
บางหมู่อาจแผลงสำแดงฤทธิ์ | ยื่นกรช้อนปลิดเอาเดือนดาว |
บางหมู่สามารถจะเที่ยวจร | ไปโดยอัมพรหนหาว |
ข้ามทวีปชมพูอันกว้างยาว | ก้าวไปพระเมรุบรรพต |
พื้นพวกโดยเสด็จมาปราบยุค | ทุกตนคงทนทรหด |
หักศึกไม่รอท้อทด | กลั้นอดห้าวหาญในการยุทธ์ |
ล้วนถือเครื่องสรรพสาตรา | เงื้อง่ากวัดแกว่งอุตลุด |
อึงมี่เพียงปัถพีทรุด | คอยพระจักรภุชเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ชาญสมร |
กับองค์อนุชาฤทธิรอน | กรายกรมาที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | วารีเป็นละอองฝอยฝน |
ลูบไล้เครื่องทิพย์เสาวคนธ์ | ปรุงปนนพมาศชมพูนุท |
ทรงสอดสนับเพลาเชิงงอน | ปักเป็นมังกรเล่นสมุทร |
ภูษาต่างสีเครือครุฑ | ชายไหวห่วงยุดกับชายแครง |
สอดใส่ฉลององค์ทรงประพาส | เครือมาศฉลุลายแย่ง |
ทับทรวงประดับเพชรแดง | ตาบทิศลายแทงสังวาลวัลย์ |
ทองกรเป็นรูปมังกรพด | พาหุรัดมรกตทับทิมคั่น |
ธำมรงค์เพชรเหลืองเรือนสุบรรณ | มงกุฎแก้วกุดั่นกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้ทัด | พระหัตถ์ทรงจับพระแสงศร |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | กรายกรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถเวไชยันต์ | กงกำกุดั่นอลงกต |
แปรกแอกอ่อนงอนชด | ชั้นลดบัลลังก์กระจังรัตน์ |
บุษบกล้วนแล้วด้วยแก้วลาย | รายรูปเทพนมประนมหัตถ์ |
ทั้งหกฟ้าราศีไม่มีทัด | ควรองค์จักรพรรดิทรงจร |
เทียมด้วยพาชีเทพบุตร | ฤทธิรุทรยิ่งพญาไกรสร |
พระอนุชานั่งหน้าประนมกร | มาตุลีขับจรดั่งลมพาน |
อภิรุมชุมสายรายรัด | มยุรฉัตรบังแสงพระสุริย์ฉาน |
แตรงอนแตรฝรั่งบรรเลงลาน | ฆ้องขานกลองชนะอึงอล |
ไชยามพวานโบกธงชัย | พลไกรโห่ฮึกกุลาหล |
สุริยันแจ่มแจ้งโพยมบน | เร่งรถรีบร้นกันมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รุกร้น
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวสัตลุงยักษา |
ยืนรถอยู่กลางมรรคา | อสุราเหลือบแลแปรไป |
เห็นมนุษย์ยกพวกพลากร | โยธาวานรไม่นับได้ |
จึ่งสั่งเสนาผู้ร่วมใจ | ให้เร่งพลไกรเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิรุญกาสูรยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ก็ขับโยธีเข้าราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารชาญสมร |
ต่างแผลงฤทธิไกรดั่งไฟฟอน | เข้าตีทัพวานรวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างจุดมณฑกนกสับ | ปล่อยทั้งปืนตับน้อยใหญ่ |
ควันตลบกลบแสงอโณทัย | โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกวานรทัพหน้า |
แยกพลออกรับเป็นปีกกา | แล้วตีประดากระหนาบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พลมารตายยับนับสมุทร | ด้วยกำลังฤทธิรุทรแข็งขัน |
วานรไล่พิฆาตฟาดฟัน | กุมภัณฑ์แตกตายไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาตรีเมฆยักษี |
ยืนช้างอยู่กลางโยธี | เห็นทัพธานีจักรวาล |
แตกพ่ายตายยับซับซ้อน | วานรไล่มาจนหน้าฉาน |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งเพลิงกาล | ขุนมารประกาศด้วยวาจา |
เหวยวิรุญราชกุมภัณฑ์ | ขับกันเข้ารับที่กล้า |
หุ้มเอาวานรที่ไล่มา | ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งทัพชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งวิรุญราชทหารใหญ่ |
รับสั่งแล้ววิ่งวางไป | ต้อนพวกพลไกรเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ต่างตนสำแดงฤทธี | โถมเข้าราวีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างฟันแทงแย้งยิงปืนยา | นกสับคาบศิลาธนูศร |
พุ่งซัดแหลนหลาวโตมร | ตะลุมบอนรบรุกบุกบัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกระบี่แข็งขัน |
วิ่งผลุนหมุนเข้าประจัญ | ตีกันกับทัพอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พลลิงไล่ชิงอาวุธ | สัประยุทธ์เคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
หมู่มารตายแตกเป็นโกลา | ไม่อาจรอหน้าวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงชาญสมร |
กับพญาตรีเมฆฤทธิรอน | เห็นหมู่นิกรกุมภัณฑ์ |
บ้างแตกบ้างตายไม่สมประดี | อสุรีกริ้วโกรธตัวสั่น |
ขับรถคชสารออกพร้อมกัน | เข้าไล่โรมรันกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สัตลุงพุ่งด้วยโตมร | วานรตายยับไม่นับได้ |
ตรีเมฆไสพญาคชไกร | ถีบแทงวุ่นไปเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานทหารกล้า |
เห็นสองยักษ์ไล่หักเข้ามา | เข่นฆ่าวานรแหลกลาญ |
สองนายกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | มือคันเขม้นจะสังหาร |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งไฟกาล | โลดโผนโจนทะยานเข้าราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สุครีพปีนงากุญชร | กรแกว่งพระขรรค์ชัยศรี |
หนุมานขึ้นรถอสุรี | แทงต้องสารถีบรรลัยลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสัตลุงใจหาญ |
กับพญาตรีเมฆชัยชาญ | ขุนมารรับสองวานร |
สัตลุงตีต้องวายุบุตร | ด้วยกำลังฤทธิรุทรชาญสมร |
ตรีเมฆตีลูกพระทินกร | ด้วยคันศรทรงอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานทหารกล้า |
รับกรรอนราญอสุรา | กลับกลอกไปมาว่องไว |
หนุมานโถมถีบรถทรง | ยับลงไม่ทานกำลังได้ |
สุครีพหักคอคชไกร | ขาดใจล้มลงพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สัตลุงตรีเมฆแข็งขัน |
เสียเชิงเสียทีโรมรัน | กุมภัณฑ์ตกรถคชชา |
พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | ต่างจับศรสาตร์เงื้อง่า |
น้าวหน่วงด้วยกำลังศักดา | อสุราผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องหมู่โยธาวานร | ตายยับซับซ้อนอกนิษฐ์ |
วิ่งแยกแตกหนีไปทั่วทิศ | หมู่มารไล่ติดตามตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามทรงสวัสดิ์รัศมี |
กับพระอนุชาร่วมชีวี | เห็นศรสองยักษีแผลงมา |
ต้องหมู่โยธาพานรินทร์ | ตายดิ้นเกลื่อนกลาดดาษป่า |
สองพระองค์ผู้ทรงศักดา | จับศรเงื้อง่าแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องหมู่จตุรงค์ทั้งสองทัพ | ล้มตายย่อยยับไม่นับได้ |
ศรทรงพระตรีภูวไนย | ไปต้องสัตลุงอสุรี |
อันศรพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | ต้ององค์ตรีเมฆยักษี |
ล้มลงกับพื้นปัถพี | ด้วยฤทธีสองกษัตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สัตลุงตรีเมฆยักษา |
ต้องศรเจ็บชํ้าทั้งกายา | ดั่งว่าจะม้วยชีวัน |
สองยักษ์ยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศรังสรรค์ |
ดำรงกายแข็งใจขบฟัน | กุมภัณฑ์ร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็เป่าลง | ลูบไล้ทั่วองค์ยักษี |
ศรนั้นก็หยุดจากอินทรีย์ | อสุรีกริ้วโกรธโกรธา |
ตาแดงดั่งแสงไฟพราย | ชักศรพาดสายเงื้อง่า |
หมายมุ่งทั้งสองกษัตรา | ยักษาก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรท้าวสัตลุงฤทธิรงค์ | เป็นอาวุธตกลงไม่นับได้ |
ศรตรีเมฆมารชาญชัย | บังเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์ |
ไหม้ล้อมโยธาวานร | ร้อนแรงยิ่งแสงสุริย์ฉัน |
บังหวนเปลวกลุ้มประชุมควัน | ด้วยฤทธิ์กุมภัณฑ์ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
เห็นสองยักษ์ผาดแผลงศรมา | เป็นเพลิงแรงแสงกล้าอาวุธ |
เกลื่อนกลาดในกลางโยธี | กระบี่วิ่งวุ่นอุตลุด |
พระลักษมณ์กับองค์พระจักรภุช | จับศรฤทธิรุทรพร้อมกัน |
พาดสายหมายมุ่งจะสังหาร | สองมารให้ม้วยอาสัญ |
งามดั่งสุริยากับพระจันทร์ | ทรงธรรม์แผลงไปด้วยศักดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ศรศักดิ์พระลักษมณ์ฤทธิรณ | บันดาลเป็นฝนแสนห่า |
ตกลงดับไฟที่ไหม้มา | แล้วต้องโยธาพลมาร |
ตายสิ้นทั้งสองทัพยักษ์ | ด้วยกำลังสิทธิศักดิ์แกล้วหาญ |
พรหมาสตร์สมเด็จพระอวตาร | มล้างอาวุธมารละเอียดไป |
บรรดาวานรที่มรณา | กลับรอดชีวาขึ้นมาได้ |
แล้วต้องท้าวสัตลุงบรรลัย | ด้วยฤทธิไกรพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พญาตรีเมฆยักษี |
เห็นท้าวสัตลุงอสุรี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ |
ทั้งหมู่ม้ารถคชชา | แสนสุรเสนาทวยหาญ |
ผู้เดียวสุดที่จะต้านทาน | ขุนมารหวาดหวั่นพรั่นใจ |
ให้อาลัยเสียดายชีวิต | จะอยู่ต่อฤทธิ์เห็นไม่ได้ |
จำเป็นตัวกูจะหนีไป | ให้พ้นภัยมนุษย์อันศักดา |
คิดแล้วยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศนาถา |
สำรวมจิตอ่านเวทวิทยา | อสุรากำบังอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็เงาหาย | แลไม่เห็นกายยักษี |
ก็ชำแรกแทรกพื้นปัถพี | หนีไปยังใต้บาดาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งนาคพิภพ | อันเลิศลบกว้างใหญ่ไพศาล |
เข้ายังพระโรงรัตน์ชัชวาล | เห็นองค์พญากาลนาคา |
นั่งลงแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนท่านผู้ฤทธิ์กล้า |
ตัวเราหนีศรพระรามา | หวังว่าจะให้รอดชีวี |
จะขออาศัยอยู่ด้วย | จงช่วยชีวิตยักษี |
ท่านได้เมตตาปรานี | คุณนั้นพ้นที่จะคณนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญานาคผู้มียศถา |
ฟังความออกนามพระจักรา | ให้สยองโลมาทุกเส้นไป |
จึ่งว่าดูก่อนขุนมาร | ตัวท่านไม่แจ้งหรือไฉน |
อันซึ่งพระรามฤทธิไกร | ภูวไนยคือองค์พระทรงครุฑ |
เทเวศเชิญให้อวตาร | จากสถานวารีกระษีร์สมุทร |
ทรงศรสามเล่มเป็นอาวุธ | จะปราบทุจริตในโลกา |
เหตุใดจึ่งไปต่อฤทธิ์ | ด้วยพระจักรกฤษณ์นาถา |
ผู้ทรงสุรภาพเดชา | เป็นมหาจรรโลงธาตรี |
อันซึ่งตัวท่านจะหนีศร | ลงมาเร้นซ่อนอยู่ที่นี่ |
จะพากันม้วยชีวี | อสุรีจงไปอย่าได้ช้า ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังพญากาลนาคา | อุราร้อนรุมดั่งสุมไฟ |
แสนทุกข์แสนเทวษยิ่งนัก | ขุนยักษ์ทอดถอนใจใหญ่ |
แล้ววอนว่าตัวข้าหนีภัย | ตั้งใจลงมาในครั้งนี้ |
หวังจะให้พ้นความตาย | ฝากกายอยู่ด้วยที่นี่ |
เมื่อมิเอาไว้ในธานี | ข้านี้จะขออำลา |
ที่ใดเห็นพอจะเร้นซ่อน | พ้นศรพระรามมาตามฆ่า |
ท่านจงบอกด้วยช่วยเมตตา | เหมือนว่าให้ชีพชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากาลนาคเรืองศรี |
ได้ฟังวาจาอสุรี | พาทีรำพันอ้อนวอน |
ในจิตให้คิดกรุณา | จึ่งว่าตัวท่านจะหนีศร |
ขององค์สมเด็จพระสี่กร | จงนิมิตเข้าซ่อนในเมล็ดทราย |
ท้องสมุทรเนินเขาจักรวาล | ที่หาดแก้วสุรกานต์ฉานฉาย |
เห็นจะพ้นพรหมาสตร์พระนารายณ์ | รอดจากความตายในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ตรีเมฆสิทธิศักดิ์ยักษี |
ได้ฟังพญากาลนาคี | มีความยินดีปรีดา |
จึ่งว่าซึ่งบอกก็ขอบคุณ | จะเป็นบุญสนองไปภายหน้า |
ตัวข้าจะขออำลา | ว่าแล้วอสุราก็รีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงก็แหวกชลธาร | แทบเนินจักรวาลเขาใหญ่ |
ลงยังพ่างพื้นสมุทรไท | สะกดใจร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เดชะอาคมอันศักดา | บันดาลกายายักษี |
เล็กเข้าเท่าละอองธุลี | อสุรีเข้าอยู่ในเมล็ดทราย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์