- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางมารอัศมูขี |
นมยานเติบดำลํ่าพี | อินทรีย์สูงสุดปลายตาล |
เขี้ยวงอกออกโง้งเสมอกรรณ | ซี่ฟันดั่งกรามช้างสาร |
ตาปลิ้นลิ้นแลบเหลือกลาน | ถิ่นฐานอยู่ในหิมวา |
เคยจับโคถึกมฤคี | อสุรีกินเล่นเป็นภักษา |
จึ่งระเห็จเตร็จเตร่ตระเวนมา | ตามในมรคาพนาดร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ เหลือบไปเห็นพระหริวงศ์ | พระหัตถ์นั้นทรงธนูศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | ทั้งสองบทจรตามกัน |
จะใคร่กินเล่นเป็นอาหาร | นางมารชื่นเริงเกษมสันต์ |
ก็เข้าแอบพุ่มไม้ไพรวัน | ตานั้นเขม้นคอยที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เห็นสองพระองค์ทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์งามลํ้าโกสีย์ |
องค์หนึ่งเขียวขำทั้งอินทรีย์ | ดั่งมณีมรกตรจนา |
องค์น้อยนั้นผิวเหลืองอ่อน | อรชรยั่วยวนเสน่หา |
พิศโฉมสมเด็จพระรามา | อสุราลืมแลดูพระลักษมณ์ |
ครั้นพิศอนุชาก็งวยงง | ลืมแลดูองค์พระทรงจักร |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญรัก | นางยักษ์พ่างเพียงจะขาดใจ |
ราคร้อนรึงรุมดั่งเพลิงพิษ | ครวญคิดในความพิสมัย |
สุดรักในรสกำหนัดใน | ฤทัยเดือดดิ้นแดยัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ อย่าเลยจะลอบไปอุ้มองค์ | พระแน่งน้อยสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ก็ออกจากพุ่มไม้ไพรวัน | ขบฟันโลดโผนโจนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ด้วยเดชศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศลั่นเลื่อนสะเทือนไหว |
มืดมิดปิดดวงอโณทัย | คลุ้มไปทั้งพื้นพสุธา |
ฉวยคว้าได้องค์พระลักษมณ์ | นางยักษ์แสนโสมนัสสา |
กอดจูบลูบไล้ทั้งกายา | ก็อุ้มพาเหาะไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
เห็นมืดคลุ้มชอุ่มธาตรี | เสียงมี่ดั่งวายุพัดพาน |
เหลียวมาไม่เห็นน้องรัก | เร่าร้อนอกนักดั่งเพลิงผลาญ |
ก็ขึ้นศรฤทธิไกรชัยชาญ | ชักพาลจันทร์แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
แสงสว่างพ่างพื้นนภาลัย | ภูวไนยเที่ยวหาอนุชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
ครั้นเห็นแสงศรพระจักรา | สว่างมาก็ได้สมประดี |
จึ่งแจ้งพระทัยว่านางยักษ์ | ลอบลักพระองค์เหาะหนี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | ก็ร่ายเวทอันมีฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะพระมนต์เชี่ยวชาญ | นางมารก็สิ้นกำลังกล้า |
ตกลงมาจากเมฆา | พระอนุชาเหยียบอกลงไว้ |
ชักพระขรรค์บั่นกรทั้งสองขาด | อสุรีไม่อาจต่อได้ |
โบยรันด้วยคันธนูชัย | ยับไปทั่วทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นางอัศมูขียักษี |
ความเจ็บความกลัวแสนทวี | โศกีร้องขอชีวัน |
ผุดลุกขึ้นวิ่งหนีไป | เลือดไหลหน้าซีดตัวสั่น |
หนามไหน่เกี่ยวยับดั่งสับฟัน | ด้นดั้นไปในหิมวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เที่ยวเลาะเสาะตามมรคา | ก็พบพระอนุชาร่วมชีวี |
มีความชื่นชมโสมนัส | ดั่งได้สมบัติโกสีย์ |
สวมสอดกอดไว้แล้วพาที | เป็นไฉนฉะนี้นะเจ้าลักษมณ์ |
เดินตามกันมาแล้วหายไป | พี่ร้องไห้เที่ยวหาเพียงอกหัก |
เหตุผลสิ่งใดประหลาดนัก | น้องรักจึ่งพลัดพี่มา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | ชลนาคลอเนตรแล้วทูลไป |
น้องโดยเสด็จพระภุชพล | จะทันรู้ตนก็หาไม่ |
มืดมิดปิดแสงอโณทัย | ยักขินีจังไรใจพาล |
รวบรัดได้แล้วพาจร | โดยทางอัมพรไพศาล |
ต่อสว่างแสงศรพระอวตาร | ช้านานจึ่งได้สมประดี |
ระลึกคุณพระองค์แล้วร่ายเวท | ก็บันดาลเสื่อมเดชยักษี |
ตกลงยังพื้นปัถพี | จะประหารชีวีให้มรณา |
มันร้องขอโทษวิงวอน | ข้าจึ่งตัดกรซ้ายขวา |
ตีไล่เข้าในอรัญวา | ก็กลับมาพบเบื้องบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังน้องท้าวเล่าอาการ | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
นี่หากว่าเจ้าผู้ศักดา | จึ่งไม่แพ้ฤทธายักษี |
ผู้อื่นก็จะม้วยชีวี | ด้วยอี่กาลีทรลักษณ์ |
พ่อจงจำเริญสถาวร | ขจรเดชทั่วไปทั้งไตรจักร |
ปราบพวกศัตรูหมู่ยักษ์ | เป็นที่พำนักแก่โลกา |
ตรัสแล้วก็พาพระนุชนาถ | ยุรยาตรโดยแถวแนวป่า |
งามดั่งสุริยันกับจันทรา | สององค์เสด็จมาตามกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ เดินพลางพลางชมรุกขชาติ | งอกงามดาดาษหลายหลั่น |
ดอกดวงพวงผลปนกัน | ทรงคันธรสกำจร |
แมลงผึ้งเชยซาบอาบกลิ่น | บินเคล้าเสาวคนธเกสร |
หอมตลบอบไปในดงดอน | ภูธรคำนึงถึงเทวี |
หอมกลิ่นเหมือนกลิ่นสไบทรง | ขององค์สีดามารศรี |
นางแย้มเหมือนเจ้าแย้มพาที | สีเสียดเหมือนเจ้าเสียดพี่บรรทม |
ช้องนางนางคลี่สยายช้อง | เหมือนน้องคลี่คลายสยายผม |
สุกรมเหมือนอกพี่เกรียมกรม | ระทมทุกข์ทุกข์ถึงไม่รู้วาย |
กาหลงเหมือนพี่หลงตามกวาง | กลับมาหานางพระน้องหาย |
คิดพลางกำสรดระทดกาย | ฟูมฟายชลเนตรถึงเทวี |
ปรับทุกข์กันพลางทางเดินมา | กับพระอนุชาเรืองศรี |
แต่ร้อนแรมมาหลายราตรี | ถึงที่ป่ากัทลีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพฤกษเทวาในไพรสัณฑ์ |
สถิตเหนือวิมานพรายพรรณ | ครั้นเห็นทั้งสองกษัตรา |
ก็รู้ว่านารายณ์อวตาร | มาปราบพวกพาลยักษา |
บัดนี้ทศกัณฐ์อสุรา | มันลักสีดาพาไป |
พระองค์เสด็จมาตาม | จะก่อสงครามศึกใหญ่ |
ยักษาอาธรรม์จะบรรลัย | ไตรโลกจะได้สถาวร |
อย่าเลยจะให้พระทรงจักร | สำนักหยุดอยู่ที่นี้ก่อน |
จะได้โยธาวานร | ตามไปราญรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึ่งสำแดงเดช | ด้วยฤทธิ์เทเวศร์เรืองศรี |
บันดาลให้องค์พระจักรี | หิวโหยอินทรีย์ลำบากกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทั้งหลาย |
เสด็จยุรยาตรนาดกราย | พระกายต้องเดชเทวัญ |
มิอาจดำเนินเดินตรง | ให้อ่อนองค์อ่อนใจไหวหวั่น |
ทินกรร้อนดั่งเพลิงกัลป์ | สารพันจะยากลำบากใจ |
จึ่งเหลือบแลเห็นต้นหว้า | ร่มรื่นมรคาสูงใหญ่ |
ก็อุตส่าห์ย่างเยื้องเข้าไป | หยุดพักอาศัยระงับร้อน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ พระพายชายพัดมาเฉื่อยเฉื่อย | ค่อยสบายคลายเหนื่อยที่หิวอ่อน |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรอนุชาวิลาวัณย์ |
วันนี้ตัวพี่ไม่สบาย | จะเอนกายให้ค่อยเกษมสันต์ |
พอชายบ่ายแสงสุริยัน | จึ่งจะพากันจรลี |
จะขอพาดเศียรลงเหนือตัก | น้องรักจงนั่งระวังพี่ |
ตรัสแล้วสมเด็จพระจักรี | ภูมีเอนองค์ลงนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงหนุมานฤทธิแรงแข็งกล้า |
ออกจากพิธีจรรยา | ก็เที่ยวไปในป่าพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นทั้งสองสุริย์วงศ์ | พระหัตถ์นั้นทรงธนูศร |
องค์นั่งผิวพรรณอรชร | เหลืองอ่อนดั่งหนึ่งทองทา |
องค์นอนผิวเขียวขำสด | อลงกตดั่งนิลวัตถา |
ทรงลักษณ์เลิศโลกโลกา | งามลํ้าเทวาทั้งสององค์ |
ยิ่งพิศยิ่งเพลินจำเริญเนตร | ยิ่งกำหนดสังเกตก็ยิ่งหลง |
น่าจะเป็นกษัตริย์สุริย์วงศ์ | ไฉนมาเดินดงประหลาดนัก |
ครั้นว่าตัวกูจะร้องถาม | เกรงความด้วยไม่รู้จัก |
จำจะอุบายทายทัก | จะได้ผูกรักสืบไป |
คิดแล้วยอกรอภิวาทน์ | พระจอมไกรลาสเขาใหญ่ |
โอมอ่านอาคมสำรวมใจ | โดยไสยเวทชาญฉกรรจ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ ก็กลับเป็นวานรน้อย | กระจ้อยร่อยโลดโจนโผนผัน |
ร่ายไม้ไต่ตามเครือวัลย์ | มาที่ทรงธรรม์นิทรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นตรงองค์พระสี่กร | วานรรูดใบพฤกษา |
ห่มกิ่งแล้วโปรยลงมา | ให้ต้องกายาพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นใบไม้ตกต้องพระจักรี | มีแต่รูดใหม่ปรายมา |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | จึ่งแลขึ้นไปบนพฤกษา |
เห็นกระบี่องอาจอหังการ์ | แอบค่าคบไม้ใบบัง |
เผือกผู้ดูงามบริสุทธิ์ | ขาวผ่องผาดผุดดั่งสีสังข์ |
ครั้นจะขับสำเนียงเสียงดัง | ก็ระวังบรรทมพระจักรี |
จึ่งยกพระหัตถ์ขึ้นโบก | กระโชกแต่พอจะให้หนี |
แต่พระขับไล่เป็นหลายที | กระบี่ไม่ไปดั่งจินดา |
ซ้ำรูดใบไม้ปรายลง | ต้ององค์พระบรมเชษฐา |
จึ่งจับเอาคันธนูมา | หน่วงน้าวเงื้อง่ากระหยับกร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
เห็นพระองค์เงื้อธนูจะราญรอน | วานรโจนลงไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ฉวยชิงเอาคันธนูทรง | ขององค์พระลักษมณ์เรืองศรี |
ได้ด้วยกำลังก็ยินดี | หนีขึ้นต้นไม้ว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งเอาธนูนั้นน้าวเล่น | โลดเต้นตามกิ่งน้อยใหญ่ |
กวัดแกว่งล้อหลอกวุ่นไป | ไยไพยักคิ้วหลิ่วตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
เห็นกระบี่นั้นทำอหังการ์ | โกรธาดั่งหนึ่งเพลิงกัลป์ |
ดูดู๋วานรกระจิริด | ไม่รู้ว่าชีวิตจะอาสัญ |
ทำทะนงองอาจบุกบัน | ชิงเอาคันศรของกูไป |
จนใจด้วยบรรทมหลับอยู่ | จึ่งฉวยธนูไปได้ |
หาไม่ตัวมันจะบรรลัย | ประหลาดใจก็ปลุกนิทรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ครั้นฟื้นตื่นจากไสยา | ผ่านฟ้ามีราชวาที |
สุริยันบ่ายแล้วหรือไฉน | ดวงใจจึ่งปลุกบรรทมพี่ |
หรือเหตุสิ่งใดบังเกิดมี | ที่ในหิมวาพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
น้อมเศียรทูลองค์พระทรงธรรม์ | ว่าลิงฉกรรจ์พนาดร |
มันรูดใบไม้ปรายลง | แกล้งให้ต้ององค์พระทรงศร |
น้องนี้ค่อยขับด้วยกร | วานรยิ่งทำอหังการ์ |
ครั้นจะตวาดให้มันหนี | ก็เกรงพระจักรีนาถา |
จะตื่นจากที่ไสยา | จึ่งจับศรเงื้อง่าให้ตกใจ |
มันกลับโลดโผนโจนลง | ชิงคันศรทรงไปได้ |
กวัดแกว่งเยาะเย้ยไยไพ | จนใจจึ่งปลุกบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังอนุชาแจ้งการ | ผ่านฟ้าก็ทอดทัศนา |
เห็นวานรน้อยเผือกผู้ | เต้นอยู่บนกิ่งพฤกษา |
กลับมีพระทัยเมตตา | จึ่งบัญชาตรัสแก่พระลักษมณ์ |
อันว่าวานรตัวนี้ | ดูทีอาจองทะนงศักดิ์ |
มีกุณฑลขนเพชรประหลาดนัก | น่ารักเขี้ยวแก้วมาลัย |
ท่วงทีมิใช่ลิงป่า | พระอนุชาเห็นยังหรือหาไม่ |
ชะรอยจะมีฤทธิไกร | มันจึ่งทำได้ถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังบัญชาพระจักรี | ยอกรชุลีแล้วแลไป |
พินิจพิศทั่วทั้งกายา | จะเห็นประหลาดตาก็หาไม่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | บังคมไหว้สนองพจมาน |
ข้าดูทั่วกายกระบี่ศรี | ไม่เห็นมีเขี้ยวแก้วฉายฉาน |
ทั้งกุณฑลขนเพชรชัชวาล | เหมือนบัญชาการพระสี่กร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังพจนารถพระภูธร | เหมือนคำมารดรสั่งมา |
ถ้าผู้ใดเห็นลักขณะกาย | ท่านนั้นคือนารายณ์นาถา |
อวตารมาผลาญอสุรา | ให้อยู่เป็นข้าพระจักรี |
ตัวกูจะลงไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าสามภพเรืองศรี |
จะได้เป็นเอกอัครโยธี | ล้างหมู่อสุรีพวกพาล |
คิดแล้วจึ่งลูกพระพาย | แย้มยิ้มพริ้มพรายเกษมศานต์ |
กลับกลายเป็นศรีหนุมาน | ร่ายไม้ปีนทะยานลงมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายธนูทรง | แก่พระภุชพงศ์นาถา |
แล้วกราบกับเบื้องบาทา | ด้วยใจปรีดาสถาวร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
รับศิลป์จากมือวานร | ภูธรชื่นชมยินดี |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ดูราพานรินทร์เรืองศรี |
อันตัวของท่านผู้ฤทธี | มีนามกรชื่อใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรแล้วกราบทูลไป | ข้านี้ได้ชื่อหนุมาน |
พระพายนั้นเป็นบิตุเรศ | เรืองเดชศักดากล้าหาญ |
อันนางสวาหะนงคราญ | ท่านนั้นเป็นองค์มารดร |
สั่งว่าใครเห็นมาลัย | เขี้ยวแก้วอำไพประภัสสร |
กุณฑลขนเพชรอลงกรณ์ | ของข้าวานรผู้ฤทธี |
ท่านนั้นคือองค์พระทรงนาค | เสด็จจากเกษียรวารีศรี |
ลงมาบำรุงธาตรี | ให้ข้านี้อยู่รองบาทา |
ซึ่งเสด็จมาแต่สององค์ | ดั้นดัดลัดดงพงป่า |
ไม่มีรี้พลโยธา | ผ่านฟ้าจะไปแห่งใด |
เมื่อแรกได้พบเบื้องบาท | ข้าเห็นประหลาดก็สงสัย |
ซึ่งทำเหลือเกินให้เคืองใจ | จงได้โปรดเกล้าวานร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
ฟังวายุบุตรว่าวอน | ภูธรมีราชบัญชา |
เดิมเรารับสัตย์พระบิตุรงค์ | สามองค์มาบวชอยู่ในป่า |
แทบฝั่งแม่นํ้าโคทา | อุตส่าห์บำเพ็ญพรหมจรรย์ |
ไอ้ทศเศียรขุนยักษ์ | อัปลักษณ์หยาบช้าโมหันธ์ |
ลักนางสีดาวิลาวัณย์ | อันเป็นอัครราชเทวี |
พาไปยังกรุงลงกา | จะตามล้างเคี่ยวฆ่ายักษี |
แก้แค้นแทนมันจนถึงที | ให้สิ้นวงศ์อสุรีสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังบัญชาพระอวตาร | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
ซึ่งจะเสด็จแต่สององค์ | ไม่มีจัตุรงค์หาควรไม่ |
อันทวีปลงกากรุงไกร | หนทางนั้นไกลกันดารนัก |
ฝ่ายทศกัณฐ์อสุรี | มันก็มีฤทธีแหลมหลัก |
โคตรวงศ์พงศ์พันธุ์ของขุนยักษ์ | พรักพร้อมโยธาพลากร |
แต่ละตนล้วนมีฤทธิรุทร | นับด้วยสมุทรไม่หยุดหย่อน |
ขอพระจักรกฤษณ์ฤทธิรอน | ภูธรจงชุมโยธี |
ให้ควรแก่การรณรงค์ | จึ่งไปล้างโคตรวงศ์ยักษี |
บัดนี้น้าข้าผู้หนึ่งมี | ชื่อกระบี่สุครีพผู้ศักดา |
เป็นน้องพาลีอันมีฤทธิ์ | ผิดกันพี่ขับมาอยู่ป่า |
จะไปหามาเฝ้าพระบาทา | เห็นว่าจะได้โยธี |
อันวานรในขีดขินนั้น | ล้วนวงศ์เทวัญเรืองศรี |
จุติมาคอยพระจักรี | ตามพระศุลีบัญชาการ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังคำแหงหนุมาน | ผ่านฟ้าจึ่งมีบัญชา |
ท่านจะไปหาสุครีพ | ก็รีบไปเถิดจะคอยท่า |
จงเร่งพาน้าชายมา | จะได้ปรึกษาสงครามกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งแล้วถวายบังคมคัล | เหาะขึ้นยังชั้นอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบเร่งเร็วมาด้วยกำลัง | ถึงที่อมตังสิงขร |
เข้าหาสุครีพฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วแจ้งกิจจา |
บัดนี้พระนารายณ์อวตาร | ลงมาสังหารยักษา |
สององค์พี่น้องเสด็จมา | ตามนางสีดาเทวี |
ใช้ข้ามาหาพระน้าเจ้า | ไปเฝ้าเบื้องบาทบทศรี |
เสด็จอยู่ยังป่ากัทลี | ไม่มีพวกพลบริวาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจหาญ |
ฟังความออกนามพระอวตาร | ให้บันดาลสยองพองโลมา |
ดีใจดั่งได้มณีรัตน์ | ขององค์จักรพรรดินาถา |
ออกจากอมตังบรรพตา | ก็พากันเหาะมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงต่างถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพระนารายณ์เรืองศรี |
ด้วยความชื่นชมยินดี | คอยฟังวาทีพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
ครั้นเห็นพญาวานร | จึ่งมีสุนทรวาจา |
ดูราโอรสพระอาทิตย์ | ผู้มีฤทธิแรงแข็งกล้า |
เป็นไฉนไม่อยู่ในพารา | มาเที่ยวอยู่ป่าอนาถนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์สิทธิศักดิ์ |
ฟังรสพจนารถพระหริรักษ์ | ยอกรเพียงพักตร์แล้วทูลไป |
เดิมเหตุทรพีกับพี่ข้า | รบกันในคูหาใหญ่ |
สั่งว่าเจ็ดวันไม่มีชัย | ให้สมถมถ้ำคีรี |
ครั้นถึงกำหนดไม่เห็นกลับ | ก็ทำตามบังคับกระบี่ศรี |
โทษข้าจะผิดก็ไม่มี | พาลีกริ้วโกรธดั่งไฟกัลป์ |
ขับจากขีดขินพารา | จึ่งมาทนเทวษอยู่ไพรสัณฑ์ |
ขอพระหริวงศ์ทรงธรรม์ | จงล้างชีวันวานร |
ข้าจึ่งจะคุมพวกพล | กระบี่ฤทธิรณชาญสมร |
มาถวายเบื้องบาทภูธร | ยกไปราญรอนอสุรี |
แล้วจะอาสาพระทรงจักร | ไปตัดเศียรทศพักตร์ยักษี |
มาถวายใต้เบื้องธุลี | ภูมีจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | อันคำซึ่งว่านี้ผิดไป |
ตัวท่านพี่น้องหากผิดกัน | จะให้ล้างชีวันกระไรได้ |
จะเป็นที่ติเตียนไยไพ | ทั้งในชั้นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ได้ฟังบัญชาพระจักรี | ชุลีกรสนองพจมาน |
ถึงจะฆ่าพาลีให้มรณา | ก็ไม่มีนินทาว่าขาน |
ด้วยทำผิดติดตัวมาช้านาน | แต่กาลครั้งดึกดำบรรพ์ |
เมื่อพระอิศโรโลเกศ | ให้ประชุมเทเวศร์ในสรวงสวรรค์ |
แล้วเอานาคาผูกพัน | พร้อมกันฉุดพระเมรุคีรี |
จนสิ้นฤทธิ์สิ้นแรงเทวราช | เมรุมาศไม่ไหวจากที่ |
ข้าจึ่งอาสาพระศุลี | เทวัญฤๅษีก็แจ้งใจ |
ทำด้วยซื่อตรงจงรัก | ฉุดชักพระเมรุขึ้นได้ |
องค์พระเป็นเจ้าภพไตร | มีพระทัยเมตตาสถาวร |
จึ่งเอาผอบแก้วแววฟ้า | ใส่นางดาราดวงสมร |
ฝากพญาพาลีฤทธิรอน | ประทานข้าวานรเป็นรางวัล |
พระนารายณ์ก็ได้ทัดทูล | นเรนทร์สูรอิศเรศรังสรรค์ |
ฝ่ายพญาพาลีใจฉกรรจ์ | เพื่อนนั้นทำสัตย์สาบาน |
ว่าแม้นมิตรงต่อน้องชาย | ให้ศรพระนารายณ์สังหาร |
ขุนกระบี่เสียสัตย์ปฏิญาณ | ทำการทุจริตให้ผิดธรรม์ |
พระองค์ไวกูณฐ์ปางนี้ | ควรฆ่าพาลีให้อาสัญ |
ตามที่โทษผิดติดพัน | ทรงธรรม์จงทราบบาทา ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังรำลึกตรึกตรา | ผ่านฟ้าก็แจ้งประจักษ์ใจ |
จึ่งว่าดูก่อนกระบี่ศรี | คำท่านว่านี้เราคิดได้ |
ซึ่งจะสังหารให้บรรลัย | ทำไฉนจะพบวานร |
จงไปเย้ยเยาะจำเพาะหน้า | ให้โกรธามาชิงชัยก่อน |
จึ่งจะแผลงผลาญราญรอน | ด้วยศรให้สิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันซึ่งพาลีฤทธิรอน | ได้พรพระอิศวรนาถา |
มาตรแม้นใครต่อฤทธา | เสียกำลังกายากึ่งตน |
กุมภัณฑ์คันธรรพเทเวศร์ | ก็เกรงเดชขจรทุกแห่งหน |
ซึ่งจะไปต้านต่อรอผจญ | ข้ากลัวเป็นพ้นความคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ได้ฟังโอรสพระอาทิตย์ | ทรงฤทธิ์ถวิลจินดา |
ขุนกระบี่นี้คิดย่อท้อ | ไม่อาจหาญต้านต่อเชษฐา |
จำกูจะสำแดงฤทธา | ให้ปรากฏแก่ตาประจักษ์ใจ |
คิดแล้วบัญชาประกาศิต | ถึงพี่ท่านมีฤทธิ์ไม่ฆ่าได้ |
เราจะรดน้ำสรงศรไป | ให้กันภัยพญาพาลี |
ตรัสพลางยืนขึ้นเหนืออาสน์ | งามดั่งเทวราชโกสีย์ |
ชี้หัตถ์ไปชั้นดุษฎี | ภูมีสำแดงฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ
๏ พระองค์นั้นบันดาลกลับกลาย | เป็นรูปพระนารายณ์ทรงศร |
รัศมีสีนิลอรชร | สี่กรถือเทพสาตรา |
กวัดแกว่งสำแดงกำลังหาญ | จับศรชัยชาญเงื้อง่า |
แผลงไปในพื้นนภา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ศรเป็นดาวเดือนทินกร | เลื่อนลอยอัมพรจำรัสศรี |
ส่องสว่างพ่างพื้นพนาลี | รัศมีพรรณรายพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
ทั้งวายุบุตรชาญฉกรรจ์ | เห็นพระทรงธรรม์สี่กร |
กลับไปเป็นรูปนารายณ์ | พระกายนั้นเลื่อมประภัสสร |
ยิ่งพิศยิ่งงามอรชร | ทั้งสองวานรก็ยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ถวายบังคมคัลอัญชุลี | ขุนกระบี่จึ่งกราบทูลไป |
ซึ่งน้าต่อน้าจะรบกัน | ข้าจะอยู่นั้นหาควรไม่ |
จะขอลาบาทภูวไนย | ไปให้ไกลกายไกลตา |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาสองสุริย์วงศ์นาถา |
กับพญาสุครีพผู้ศักดา | ก็เหาะมาที่อยู่พานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระอาทิตย์ชาญสมร |
ทูลว่าขอเชิญพระสี่กร | บทจรไปล้างพาลี |
ข้าจะนำเบื้องบาทบงสุ์ | ตรงไปขีดขินบุรีศรี |
ครั้งนี้จะรอดชีวี | ด้วยเดชภูมีอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังโอรสพระสุริยา | ก็ชวนพระอนุชาบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองกษัตริย์เสด็จยุรยาตร | งามวิลาสดั่งราชไกรสร |
เดินดัดลัดป่าพนาดร | พานรนำเสด็จจรลี |
ข้ามทุ่งวุ้งเวิ้งเชิงเขา | ลำเนาห้วยธารคีรีศรี |
มิได้หยุดพักสักนาที | ภูมีรีบเร่งเสด็จไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
ครั้นใกล้ขีดขินกรุงไกร | บังคมไหว้แล้วทูลพระสี่กร |
ขอเชิญเสด็จเข้าหยุดพัก | สำนักร่มไทรที่นี่ก่อน |
ตัวข้าจะลาบทจร | ไปเยาะเย้ยพานรให้ออกมา |
พระองค์จงคอยสังหาร | ผลาญให้สิ้นชีพสังขาร์ |
ตามซึ่งเพื่อนเสียสัตยา | ต่อเจ้าโลกาธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ก็เสด็จย่างเยื้องจรลี | เข้าไปยังที่ร่มไทร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน | ภูธรหยุดนั่งอาศัย |
เอานํ้าโสรจสรงศรชัย | รดให้สุครีพผู้ศักดา |
แล้วตรัสอำนวยอวยพร | จะไปต่อฤทธิรอนด้วยเชษฐา |
ถึงพาลีถือเทพสาตรา | จะเข่นฆ่าอย่าต้องอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ได้น้ำศรกับพรพระจักรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ซึ่งเกรงกลัวพญาพานรินทร์ | ก็เสื่อมสิ้นคลี่คลายหายหมด |
จึ่งน้อมเศียรยอกรขึ้นประณต | ลาสองทรงยศแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลอยอยู่ตรงปราสาท | ร้องประกาศสนั่นหวั่นไหว |
เหวยเหวยลูกท้าวหัสนัยน์ | เหตุใดไม่อยู่ในสัจธรรม์ |
ตัวเป็นผู้ใหญ่มิได้คิด | ทำการทุจริตโมหันธ์ |
อันนางดาราดวงจันทร์ | พระอิศวรรางวัลกูมา |
ข่มเหงเอาไว้เชยชม | ร่วมรสภิรมย์เสน่หา |
ครั้งนั้นก็เสียสัตยา | แล้วยังไม่สาแก่นํ้าใจ |
เราเป็นน้องสืบสายโลหิต | จะมีความผิดก็หาไม่ |
มิได้เมตตาอาลัย | ขับไล่เสียจากธานี |
ครั้งนี้ถึงที่กำหนดมา | ไม่รอดชีวากระบี่ศรี |
มึงดีเร่งออกมาต่อตี | กูจะผลาญชีวีให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์ใจหาญ |
ได้ฟังสุครีพกล่าวประจาน | ให้เดือดดาลดั่งไฟประลัยกัลป์ |
ผุดลุกขึ้นร้องตวาด | เหม่ไอ้อุบาทว์โมหันธ์ |
กูคิดว่ามึงร่วมครรภ์ | จึ่งไม่ฆ่าฟันให้บรรลัย |
ขับเสียจากราชธานี | ยังมาพาทีดั่งนี้ได้ |
กูจะตัดเศียรเกล้าเสียบไว้ | ให้สาแก่ใจไอ้พาลา |
ว่าพลางฉวยชักพระแสงขรรค์ | ขบฟันกวัดแกว่งเงื้อง่า |
กระทืบบาทสนั่นลั่นฟ้า | จะเหาะขึ้นเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางแก้วดารามารศรี |
ตกใจกอดบาทพระสามี | เทวีทูลห้ามพิไรวอน |
พระองค์ก็ทรงพระปัญญา | หยุดยั้งตรึกตราดูก่อน |
อันพญาสุครีพฤทธิรอน | หรือจะอาจต่อกรพระทรงฤทธิ์ |
ความกลัวใต้เบื้องบาทบงสุ์ | กลับมารณรงค์นี้เห็นผิด |
น่าที่จะมีผู้ร่วมคิด | จิตจึ่งกำเริบอหังการ์ |
ข้าบาทนี้เห็นประหลาดนัก | ซึ่งจักหุนหันออกมาเข่นฆ่า |
เสียทีจะเสียพระเดชา | อายแก่ไพร่ฟ้าประชากร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | จึ่งมีสุนทรวาที |
ทำไมกับไอ้ทรชน | จะฮึกฮักผจญกับพี่ |
ถึงผู้อื่นจะช่วยราวี | ก็ไม่เกรงฤทธีของมัน |
โกฏิแสนแน่นนับสมุทรมา | จะฆ่าให้ม้วยอาสัญ |
มันหยาบคายให้อายแก่เทวัญ | จะเงือดงดอดกลั้นก็สุดใจ |
เจ้าอย่าประหวั่นพรั่นจิต | ไหนจะต้านทานฤทธิ์พี่ได้ |
ว่าแล้วเหาะทะยานผ่านไป | ชิงชัยด้วยองค์อนุชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจกล้า |
รับรอต่อต้านถอยมา | แกล้งลวงพญาพาลี |
ครั้นว่าใกล้องค์พระทรงครุฑ | ก็กลับเข้าต่อยุทธ์ไม่ถอยหนี |
สองกล้าต่อกล้าราวี | ถ้อยทีไม่ลดงดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
เห็นสองพญาพานร | ราญรอนสัประยุทธ์พัลวัน |
ต่างกล้าต่อแข็งเข้าโจมจับ | กลอกกลับว่องไวดั่งจักรผัน |
เพ่งพิศดูไปมิใคร่ทัน | จะสำคัญพี่น้องก็แคลงใจ |
แต่ทรงศรเงื้อง่าขึ้นหลายที | เป็นไม่รู้ที่จะลั่นได้ |
ให้ฉงนสนเท่ห์ฤทัย | ภูวไนยเขม้นไม่วางตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวมัฆวานหาญกล้า |
ถีบโถมโจมไล่อนุชา | ด้วยกำลังฤทธาว่องไว |
ได้ทีแล้วเงื้องดอยู่ | คิดความเอ็นดูไม่ฆ่าได้ |
จึ่งจับสุครีพนั้นขว้างไป | ยังเนินไศลจักรวาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมีชัยในการรณรงค์ | วานรผู้ทรงกำลังหาญ |
ก็เหาะระเห็จเตร็จทะยาน | มาปราสาทสุรกานต์อลงการ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจกล้า |
ตกถูกจักรวาลบรรพตา | ไม่เจ็บชํ้ากายาวานร |
ด้วยอำนาจพรพระหริวงศ์ | กับทั้งนํ้าสรงพระแสงศร |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | ก็เขจรกลับมาทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงยืนร้องหยาบหยาม | ดูกรพระรามฤๅษี |
ท่านนี้เป็นคนไม่ดี | แกล้งมาพาทีลวงกัน |
ให้เราไปต่อด้วยเชษฐา | ปิ้มว่าชีวาจะอาสัญ |
เป็นชีไม่มีสัจธรรม์ | โมหันธ์ชั่วช้าสามานย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ฟังสุครีพกล่าวอหังการ | ฮึกหาญไม่เกรงพระเดชา |
มิได้ถือคำพานร | ดั่งบิดรกับโอรสา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ใช่ว่าเราแกล้งพาที |
ล่อลวงให้ไปชิงชัย | อย่าน้อยใจเลยกระบี่ศรี |
ตัวท่านกับพญาพาลี | ท่วงทีรูปทรงก็คล้ายกัน |
แต่เราชักศรขึ้นพาดสาย | เงื้อง่ามุ่งหมายจะคอยลั่น |
ดูไปไม่ได้สำคัญ | ที่จะล้างชีวันพานร |
ตรัสพลางฉีกชายภูษาทรง | ส่งให้สุครีพชาญสมร |
จงผูกข้อหัตถาไปราญรอน | เราจะได้วางศรไม่แคลงใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้ด้วยความยินดี |
ทูลว่าพระองค์จงได้โปรด | อดโทษข้าบาทกระบี่ศรี |
ซึ่งประมาทหยาบช้าพาที | ภูมีจงทรงพระเมตตา |
ทูลแล้วเอาผ้าทรงนั้น | ผูกพันกับกรเบื้องขวา |
ก้มเกล้าดุษฎีชุลีลา | เหาะมาด้วยกำลังพานรินทร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งร้องลงไป | เป็นไฉนเจ้ากรุงขีดขิน |
รบกันหวั่นไหวฟ้าดิน | ไม่ทันสิ้นแสงสุริยัน |
ช่างหนีมาได้ไม่อดสู | ดูดั่งชายช้าโมหันธ์ |
เขาคือพระกาลชาญฉกรรจ์ | จะมาเอาชีวันไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งอัคคี | ชักพระขรรค์อันมีฤทธา |
กวัดแกว่งกระทืบบาทผาดเสียง | สำเนียงดั่งหนึ่งฟ้าผ่า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นในเมฆา | ด้วยกำลังศักดาวราวุธ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เผ่นโผนโจนจ้วงทะลวงจับ | ว่องไวกลอกกลับสัประยุทธ์ |
กรหนึ่งกวัดแกว่งอาวุธ | ทิ่มแทงแย้งยุทธ์รอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจหาญ |
ต่อตีด้วยปรีชาชาญ | ต้านทานถอยมามิให้ชิด |
ล่อลวงด้วยกลรณรงค์ | จนมาใกล้องค์พระจักรกฤษณ์ |
ก็ผาดโผนทะยานเข้าต้านฤทธิ์ | เสียงสนั่นทั่วทิศโพยมบน |
ต่างหาญต่างกล้าราวี | ต่างตีต่างรับสับสน |
ถ้อยทีถ้อยมีฤทธิรณ | ต่างตนรบชิดติดพัน |
ดั่งองค์พระอิศวรเจ้าโลกา | กับพระจักรารังสรรค์ |
ทั้งสองประลองฤทธิ์กัน | แทงฟันไม่งดลดกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
เหลือบแลขึ้นไปบนอัมพร | เห็นสองพานรต่อตี |
ก็จำสำคัญสุครีพได้ | ภูวไนยจึ่งทรงศรศรี |
น้าวหน่วงหมายทรวงพาลี | ได้ทีแผลงไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์ใจกล้า |
เห็นศรตรวยตรงเข้ามา | ฉวยคว้าไว้ได้ด้วยว่องไว |
แลไปในพื้นปัถพี | ยังที่บริเวณพระไทรใหญ่ |
เห็นดาบสนั้นถือธนูชัย | ขัดใจก็เหาะลงมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งร้องประกาศ | เหวยชาติโยคีชีป่า |
เอ็งสิสร้างพรตภาวนา | เหตุใดมาทำดั่งนี้ |
เราโกรธกันรบกันพี่น้อง | ใช่การของสองฤๅษี |
มาพลอยเข่นฆ่าราวี | ทำดีแล้วหรือไอ้ชีไพร |
เราสองพี่น้องร่วมครรภ์ | จะพิโรธโกรธกันไปถึงไหน |
อหังการมาผลาญชีวาลัย | กูผิดสิ่งใดให้ว่ามา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ดูกรพญาพาลี |
เราคือนารายณ์อวตาร | ลงมาสังหารยักษี |
ชื่อว่าพระรามจักรี | ไม่มีอิจฉาอาธรรม์ |
ตัวท่านจงคิดถึงความหลัง | เมื่อครั้งพระอิศวรรังสรรค์ |
ประทานนางดาราวิลาวัณย์ | ให้น้องร่วมครรภ์ของวานร |
ท่านรับมาแล้วสาบานถวาย | ถ้ามิให้ให้ตายด้วยแสงศร |
เราจึ่งสังหารราญรอน | ตามที่โทษกรณ์ท่านมีไว้ |
ศรชัยจึ่งไปต้องอก | จะยกโทษเรากระไรได้ |
ตรัสแล้วสำแดงฤทธิไกร | มืดไปทั่วทิศอัมพร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ พระสิริวิลาสก็กลับกลาย | เป็นรูปนารายณ์ทรงศร |
ถือเทพอาวุธสี่กร | สีนิลอรชรทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ