- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษีเสน่หา |
นั่งอยู่ยังที่ทวารา | สอดตาแลดูพระทรงธรรม์ |
เห็นนางเกาสุริยานงลักษณ์ | ซบพักตร์ลงทรงกันแสงศัลย์ |
พิไรร่ำคร่ำครวญรำพัน | กัลยาแน่นิ่งสลบไป |
มีความแสนโสมนัสนัก | ผิวพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
มิได้เอื้อเฟื้ออาลัย | ในองค์พระราชสามี |
จึ่งจัดผ้าเปลือกไม้คากรอง | เครื่องครองสำหรับฤๅษี |
ส่งให้นางค่อมกุจจี | เทวีจึ่งกล่าววาจา |
เอ็งจงเอาของนี้ไป | ให้พระรามทรงพรตเป็นชีป่า |
แล้วเร่งออกจากพารา | อย่าให้ล่วงเวลาสายัณห์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | นางกุจจีค่อมคนขยัน |
รับเครื่องสำหรับพระนักธรรม์ | ถวายบังคมคัลแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงสมเด็จพระหริวงศ์ | นั่งลงนบนิ้วประนมไหว้ |
ทูลว่าบัดนี้อรไท | นางไกยเกษีวิไลวรรณ |
ขอสัตย์พระปิ่นสุธาธาร | ยกพระพรตให้ผ่านไอศวรรย์ |
ให้พระองค์ออกจากวังจันทน์ | ไปอยู่อรัญสิบสี่ปี |
ใช้ข้ามาถวายเครื่องผนวช | ให้ลูกเจ้าเร่งบวชเป็นฤๅษี |
เชิญเสด็จจากเมืองในวันนี้ | ตามพระเสาวนีย์สั่งมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์นาถา |
รับเอาซึ่งเครื่องจรรยา | แล้วมีบัญชาตรัสไป |
เอ็งจงกราบทูลพระแม่เจ้า | ว่าเราบังคมประนมไหว้ |
อันสัตย์พระบิตุรงค์ทรงชัย | กูนี้มิให้เสียธรรม์ |
อย่าว่าแต่ไปสิบสี่ปี | จะถวายชีวีจนอาสัญ |
ให้เป็นที่สรรเสริญแก่เทวัญ | ว่ากตัญญูต่อบิดา |
ซึ่งน้องเราจะผ่านพระนคร | ให้ถาวรบรมสุขา |
วันนี้จะถวายบังคมลา | อย่าให้พระแม่ร้อนใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กุจจีผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งแล้วลาคลาไคล | ไปยังปราสาทชัยนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์นางไกยเกษี |
ตามคำพระรามจักรี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ให้คิดสลดจิตจาบัลย์ | พระทรงธรรม์สังเวชวิญญาณ์ |
แล้วกลับดำริตริการ | ด้วยหมู่พวกพาลริษยา |
เบียดเบียนฤๅษีเทวา | จึ่งเชิญเรามาให้ราญรอน |
ปางนี้ควรที่จะไปปราบ | มวลหมู่สัตว์บาปให้ราบก่อน |
ไตรโลกจะได้สถาวร | ขจรเกียรติยศสืบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ยานี
๏ คิดแล้วจึ่งเปลื้องเครื่องกษัตริย์ | จะอาลัยสมบัติก็หาไม่ |
ทรงผ้าคากรองครองสไบ | ด้วยใจโสมนัสยินดี |
เจิมจุณมุ่นชฎาประคำทรง | งามดั่งองค์เทพฤๅษี |
ระงับจิตสำรวมอินทรีย์ | ตามเพศโยคีปรีชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
แจ้งว่าสมเด็จพระพี่ยา | ไม่ได้ครองไพร่ฟ้าประชาชี |
ทรงพรตจะออกไปอยู่ไพร | เพราะด้วยนางไกยเกษี |
ก็กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | จับศิลป์อันมีฤทธิรอน |
กวัดแกว่งสำแดงเดชา | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ลงจากปราสาทอลงกรณ์ | บทจรไปยังสนามจันทน์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีสิงหนาท | กระทืบบาทสะเทือนเลื่อนลั่น |
เหวยใครอิจฉาอาธรรม์ | ด้วยใจโมหันธ์ฉันทา |
ทุจริตโลภล้นพ้นประมาณ | สาธารณ์จงจิตริษยา |
ใฝ่สูงให้เกินพักตรา | ขับพี่ยากูไปอยู่ไพร |
จะยกลูกมันผู้น้อง | ให้ขึ้นครองเมืองก็เป็นได้ |
อีชาติทรลักษณ์จังไร | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวี |
ว่าพลางขึ้นศิลป์ลองฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกราศี |
หวั่นไหวทั้งในธาตรี | พระรวีบดคลุ้มชอุ่มควัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ฟังเสียงเพียงไฟประลัยกัลป์ | ผันพักตร์มาทอดทัศนา |
จึงเห็นพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | จับศรขึ้นก่งเงื้อง่า |
ตกใจตะลึงทั้งกายา | เอะไฉนอนุชามาก่อการณ์ |
แม้นกูจะนิ่งเสียบัดนี้ | น่าที่น้องรักจักแผลงผลาญ |
โลกาจะไหม้บรรลัยลาญ | ผ่านฟ้าก็รีบเสด็จมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเข้ากุมเอาคันศร | งดก่อนจงฟังพี่ว่า |
อย่าเพ่อหุนหันโกรธา | จะเล่ากิจจาให้แจ้งใจ |
เดิมองค์สมเด็จพระบิตุราช | ออกโอษฐ์ประสาทพรให้ |
แก่นางไกยเกษีทรามวัย | ครั้งไปล้างปทูตกุมภัณฑ์ |
บัดนี้เขาขอความสัตย์ | ให้ลูกผ่านสมบัติไอศวรรย์ |
ขับพี่ไปอยู่อารัญ | ในกำหนดนั้นสิบสี่ปี |
เราจะรักษาสัตย์พระบิตุเรศ | อันพระคุณเกิดเกศเกศี |
ให้ปรากฏไว้ในธาตรี | เจ้าพี่อย่าได้โกรธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์พระลักษมณ์กนิษฐา |
วางศรกับกรพระจักรา | กอดเบื้องบาทาแล้วโศกี |
ดูดู๋ทำได้ช่างไม่คิด | นํ้าจิตอีไกยเกษี |
จังทานจะผลาญชีวี | ให้พระพี่ม้วยบรรลัย |
น้องขอถวายชีวัน | แก้แค้นแทนมันให้จงได้ |
ถึงชาวไกยเกษกรุงไกร | จะมาชิงชัยทั้งพารา |
น้องเดียวจะเคี่ยวรณรงค์ | ให้สิ้นโคตรวงศ์พงศา |
ต้องการอะไรพระพี่ยา | จะออกไปอยู่ป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
สวมสอดกอดน้องเข้าพาที | เจ้าว่าทั้งนี้ไม่ต้องการ |
ตัวพี่จะช่วยบำรุงสัตย์ | ไม่ควรรักสมบัติพัสถาน |
ถ้าบิดาเสียสัตย์ปฏิญาณ | จะได้อัประมาณในแดนไตร |
ฝ่ายเขาเขาทำก็ตามที | จะมีใครว่าดีก็หาไม่ |
เรารักษาธรรม์ให้มั่นไว้ | จึ่งจะเป็นเกียรติไปในโลกา |
เจ้าค่อยอยู่เถิดจะลาแล้ว | น้องแก้วพี่ยอดเสน่หา |
สั่งเสร็จเสด็จยาตรา | กลับมาปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
แสนเทวษแสนโศกแสนทวี | โศกีครวญคร่ำรำพัน |
โอ้อนิจจาพระทรงเดช | จะทุเรศองค์เดียวในไพรสัณฑ์ |
ตัวกูผู้น้องร่วมชีวัน | จะทิ้งพระทรงธรรม์เสียกลใด |
ถึงมาตรจะอยู่ในธานี | จะดูหน้ากาลีกระไรได้ |
แม้นจะเสียชีวาไม่อาลัย | จะตามไปเป็นเพื่อนพระพี่ยา |
ยากไร้จะได้เห็นกัน | ที่ในอรัญแนวป่า |
คิดแล้วก็รีบเสด็จมา | ยังมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ จึ่งเปลื้องเครื่องกษัตริย์สำหรับองค์ | ทรงผ้าคากรองเป็นฤๅษี |
มุ่นชฎาห่มหนังพยัคฆี | สวมประคำมณีอลงกรณ์ |
พักตราเฉลิมเจิมจันทน์ | พระหัตถ์ขวาทรงคันธนูศร |
สำรวมอินทรีย์สังวร | บทจรมายังพระรามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
ครั้นเห็นพระลักษมณ์อนุชา | บวชเป็นดาบสก็ตกใจ |
จึ่งว่าดูรานะเจ้าพี่ | ทรงพรตมานี้จะไปไหน |
จะทิ้งพระชนกมารดาไว้ | ผู้ใดจะรองบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้ปรีชาหาญ |
สะอื้นพลางทางทูลพระอวตาร | ผ่านเกล้าจงได้เมตตา |
พระจะรักษาสัตย์บิตุเรศ | จะสู้ทนเทวษไปอยู่ป่า |
ตัวข้าผู้เป็นอนุชา | ขอถวายชีวาพระสี่กร |
โดยเสด็จไปรองสนองบาท | ยังอรัญหิมวาตสิงขร |
จะอยู่ไปที่ในพระนคร | จะถาวรเป็นสุขเมื่อไรมี |
อย่าปรารมภ์ถึงองค์พระบิตุเรศ | พระชนนีก่อเกศเกศี |
โรคาสิ่งใดไม่ยายี | ด้วยอยู่ในบูรีภิรมยา |
พระพรตเขาได้เศวตฉัตร | ก็จะปรนนิบัติรักษา |
นี่พระองค์องค์เดียวเอกา | อนาถาสารพัดจะกันดาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังน้องรักพจมาน | ปานอมฤตรสมาเจือใจ |
มิเสียแรงเจ้ารักเชษฐา | ทั่วทั้งโลกาไม่หาได้ |
ตรัสพลางพลางกอดพระน้องไว้ | ชลนัยน์คลอพักตร์โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
แจ้งว่าสมเด็จพระสามี | ไม่ได้ผ่านบูรีภิรมยา |
บัดนี้ก็บวชเป็นดาบส | จะออกไปสร้างพรตอยู่ในป่า |
ฝ่ายองค์พระลักษมณ์อนุชา | ก็บวชตามเชษฐาด้วยอาลัย |
ชลเนตรคลอเนตรบังอร | โศกาอาวรณ์ละห้อยไห้ |
อกเอ๋ยครั้งนี้จะพึ่งใคร | จะได้เหมือนองค์พระสามี |
อันหญิงซึ่งไร้ภัสดา | ถึงจะมียศถาศักดิ์ศรี |
ก็ไม่งามแก่ตาในธาตรี | เหมือนมณีไร้เรือนสุวรรณ |
แม้นตายเสียดีกว่าจากบาท | พระภัสดาธิราชรังสรรค์ |
จะตามไปที่ในอารัญ | กว่าชีวันจะม้วยมรณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ คิดแล้วจึ่งเปลื้องเครื่องประดับ | สำหรับอัคเรศเสน่หา |
ออกจากพระกายกัลยา | ทรงเพศเป็นดาบสินี |
เสด็จจากแท่นแก้วสุรกานต์ | งามปานนางฟ้าในราศี |
ชลนัยน์นองเนตรเทวี | จรลีจากห้องอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาทน์ | พระสามีธิราชทรงศร |
ทูลว่าข้าบาทบังอร | ขอตามเสด็จจรพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ได้ฟังอัครราชร่วมชีวิต | พิศพักตร์สะอื้นอาลัย |
รับขวัญแล้วกล่าวสุนทร | ดวงสมรผู้ยอดพิสมัย |
ซึ่งเจ้าจะตามพี่ไป | จะลำบากยากใจแสนทวี |
อันในหิมเวศราวป่า | ล้วนโขมดมารยาภูตผี |
ฝูงสัตว์จตุบาทพยัคฆี | แรดร้ายราชสีห์สาธารณ์ |
หนทางดำเนินนั้นเดินยาก | แสนลำบากข้ามห้วยเหวละหาน |
สารพัดเป็นที่กันดาร | เยาวมาลย์จงอยู่ในบุรี |
จะได้เป็นเพื่อนพระมารดร | บังอรจงฟังคำพี่ |
เจ้าอย่าแสนโศกโศกี | ถ้วนสิบสี่ปีจะกลับมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังดั่งต้องสายฟ้า | กัลยากอดบาทร่ำไร |
โอ้อนิจจาพระทรงเดช | จะโปรดเกศเมียบ้างก็หาไม่ |
น้องจากมิถิลากรุงไกร | มาพึ่งใต้ธุลีพระสี่กร |
แม้นไม่เมตตาข้าบาท | จงพิฆาตฟาดฟันเสียก่อน |
จึ่งค่อยเสด็จบทจร | ไปจากนครวังจันทน์ |
น้องจึงจะสิ้นความโศก | ที่วิโยคจากจอมไอศวรรย์ |
ซึ่งจะทิ้งข้าไว้ผู้เดียวนั้น | จะรู้ที่ผันพักตร์ไปพึ่งใคร |
พระบิตุเรศมารดาทั้งสอง | จะได้ครองพาราก็หาไม่ |
แม้นอยู่จะช้ำระกำใจ | จะตามไปสนองพระบาทา |
ถ้าพระองค์มิพาไปด้วย | จะสู้ม้วยมิให้คนเห็นหน้า |
ดีกว่าที่ไกลพระภัสดา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ฟังนางรำพันโศกี | ภูมีสะท้อนถอนใจ |
ปลอบพลางพลางเช็ดชลนา | แก้วตาอย่ากันแสงไห้ |
เมื่อเจ้ามิอยู่ในเวียงชัย | ก็ตามแต่พระทัยเทวี |
โอ้อนิจจาเจ้าเพื่อนยาก | จะมาพลอยลำบากด้วยพี่ |
กรรมเวรสิ่งใดแต่หลังมี | ครั้งนี้จึ่งมาตามทัน |
ให้เราต้องจากนคเรศ | แสนเทวษไปในไพรสัณฑ์ |
สามกษัตริย์โศกาจาบัลย์ | ดั่งหนึ่งชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยสะสร่างสว่างโศก | พระปิ่นโลกผู้มีอัชฌาสัย |
พาสองกษัตริย์อันร่วมใจ | ไปยังชนนีอนุชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสมุทรเสน่หา |
เห็นองค์พระลักษมณ์พระรามา | กับนางสีดายุพาพาล |
บวชเป็นโยคีชีไพร | ตกใจเพียงจะสิ้นสังขาร |
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาล | เยาวมาลย์มารับทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งถามพระราชโอรส | ไฉนมาทรงพรตเป็นฤๅษี |
ทั้งสามองค์ผู้ทรงสวัสดี | แม่นี้ฉงนสนเท่ห์ใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
บังคมก้มเกล้าแล้วทูลไป | ว่าแม่ไกยเกษีโสภา |
สั่งว่าสมเด็จพระบิตุเรศ | ให้ลูกทรงเพศเป็นชีป่า |
ออกไปสร้างพรตจรรยา | อยู่ในหิมวาสิบสี่ปี |
ให้พระพรตขึ้นครองสมบัติ | ทรงเศวตฉัตรเฉลิมศรี |
บำรุงไพร่ฟ้าประชาชี | เป็นปิ่นโมลีกรุงไกร |
อันองค์พระลักษมณ์อนุชา | กับสีดาผู้ยอดพิสมัย |
สององค์ทรงโศกาลัย | จะไปเป็นเพื่อนข้าในดงดอน |
โปรดด้วยช่วยแจ้งพระชนนี | ว่าลูกนี้ขอลาไปก่อน |
ครั้นจะคอยดุษฎีชุลีกร | ก็ร้อนตัวด้วยกลัวพระอาชญา |
พระแม่ค่อยอยู่จำเริญสุข | อย่าตรอมทุกข์โทมนัสสา |
แม้นบุญลูกไม่มรณา | จะกลับมาทูลเบื้องบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสมุทรเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังเร่าร้อนดั่งเพลิงกาฬ | นงคราญข้อนทรวงเข้ารำพัน |
อนิจจาเอ๋ยนางไกยเกษี | จะแกล้งฆ่าชีวีให้อาสัญ |
ทำได้ด้วยใจอาธรรม์ | มืดมัวโมหันธ์ฉันทา |
โอ้อนิจจาสีดาเอ๋ย | ทรามเชยแม่ยอดเสน่หา |
ถึงผัวเจ้ากับองค์อนุชา | จะต้องไปเดินป่าพนาลี |
ก็เป็นชายอาจองทรงฤทธิ์ | แม่ไม่คิดวิตกเหมือนโฉมศรี |
ตัวเจ้าเป็นยอดสตรี | ไม่เคยจรลีด้วยบาทบงสุ์ |
เคยทรงแต่สีพิกากาญจน์ | จะทรมานเดินในไพรระหง |
บุกแฝกแขมคาระคายองค์ | จงฟังมารดาเจ้าอย่าไป |
อยู่ด้วยแม่เถิดนะลูกรัก | นงลักษณ์ผู้ยอดพิสมัย |
อันผัวขององค์อรไท | สิบสี่ปีก็จะได้คืนมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสน่หา |
ได้ฟังกราบลงกับบาทา | กัลยาสนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณควรไว้เหนือเกศี |
อันจะให้ลูกอยู่ในธานี | จะมีแต่ความทุกข์ทุกนิรันดร์ |
ด้วยจะแสนตรอมใจเพราะไกลบาท | พระสามีธิราชรังสรรค์ |
ถึงจะยากลำบากในไพรวัน | จะสู้ดั้นโดยเสด็จพระทรงฤทธิ์ |
ขุกไข้จะได้ปรนนิบัติ | ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต |
แม้นตายไม่เสียดายชีวิต | ให้ทศทิศประจักษ์ว่าภักดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสมุทรมารศรี |
ได้ฟังสุณิสาพาที | เทวีสะท้อนถอนใจ |
มิอาจจะกลั้นโศกา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
สวมกอดสีดาเข้าไว้ | ร่ำไรเพียงจะสิ้นชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ สร่างโศกจึงตรัสแก่พระลักษมณ์ | ดวงจักษุแม่เฉลิมขวัญ |
เจ้าจะไปเพื่อนพี่ในอรัญ | พ่อระวังกันให้จงดี |
พระขรรค์ศิลป์ชัยอย่าไกลองค์ | มิณรงค์สู้ตายก่อนพี่ |
อันโฉมนางสีดาเทวี | จงคิดว่าชนนีของลูกรัก |
สามองค์จงไปสถาวร | ให้ขจรฤทธิไกรทั้งไตรจักร |
บรรดาศัตรูหมู่ยักษ์ | อย่าต้านต่อรอพักตร์ลูกยา |
สิบสี่ปีจึ่งกลับมาครองเมือง | สืบเรื่องจักรพรรดินาถา |
จะรับเอาพรของมารดา | เป็นมหามงคลสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามองค์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ก้มเกล้ารับพรพระชนนี | ถวายอัญชุลีแล้วจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงนางนมสาวสรรค์ |
หญิงชายข้าสามกรมนั้น | เห็นพระพงศ์เทวัญเสด็จไป |
ต่างคนตกใจก็วิ่งตาม | ความรักไม่กลั้นน้ำตาได้ |
บ้างกอดบาทสามกษัตริย์ไว้ | บ้างเดินรำไรไห้ตามมา |
โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมเอ๋ย | พระคุณเคยปกเกล้าเกศา |
ได้อยู่เป็นสุขทุกเวลา | จะพากันหนีข้าไปเดินไพร |
แต่นี้ตั้งแต่จะแลลับ | จะนับวันครวญคร่ำร่ำไห้ |
ต่างตนต่างแสนโศกาลัย | เกลือกกลิ้งนิ่งไปไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สามกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
เห็นข้าหญิงชายนั้นโศกี | จึ่งมีสุนทรวาจา |
ท่านจงค่อยอยู่ให้เป็นสุข | อย่าแสนทุกข์เศร้าโทมนัสสา |
อันเกิดมาในไตรโลกา | ย่อมเป็นอนิจจาเหมือนกัน |
ตัวเราจะไปสิบสี่ปี | ใช่ที่จะม้วยอาสัญ |
ตรัสพลางพระทางจรจรัล | ข้าเฝ้าทั้งนั้นก็ตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงหน้าปราสาทพระบิตุรงค์ | สามกษัตริย์นั่งลงบังคมไหว้ |
ชลเนตรคลอเนตรถอนใจ | ร่ำไรโศกาอาวรณ์ |
โอ้ว่าพระจอมมงกุฎเกศ | ทรงเดชเลี้ยงลูกมาแต่ก่อน |
สิ่งใดมิให้อนาทร | เช้าคํ่าพร่ำสอนไม่เว้นวัน |
หวังจะให้สืบสุริย์วงศ์ | ในพงศ์จักรพรรดิรังสรรค์ |
เวรหลังติดตามมาทัน | บันดาลจำพรากให้จากไป |
ทีนี้ตั้งแต่จะแลลับ | เหมือนเดือนดับสิ้นแสงแขไข |
ลูกขอลาบาทพระทรงชัย | ภูวไนยค่อยอยู่สวัสดี |
ทั้งองค์พระชนนีเจ้า | อันบังเกิดเกล้าเกศี |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | พ้นที่จะนับคณนา |
ยังมิได้สนองเท่ายองใย | จะไกลพระองค์ไปอยู่ป่า |
แม้นลูกไม่ม้วยมรณา | จะกลับมารองบาทพระทรงธรรม์ |
ร่ำพลางฟูมฟายชลเนตร | แสนเทวษพ่างเพียงจะอาสัญ |
แข็งใจเยื้องย่างตามกัน | จรจรัลจากปราสาทสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ สามกษัตริย์ผันพักตร์ทอดพระเนตร | ดูมหานิเวศน์วังสถาน |
เห็นสามปราสาทโอฬาร | งามล้ำวิมานเมืองอินทร์ |
พระตรัสแก่พระลักษมณ์อนุชา | อนิจจาเราจะละเสียสิ้น |
บรรดาสมบัติทั้งแดนดิน | ทั่วทุกนครินทร์ไม่เทียมทัน |
เสียดายทั้งท้องสนามประลองศร | เราเคยซ้อมกรพลขันธ์ |
ลองม้าลองรถคชกรรม์ | ครบสิ่งสารพันวิชาการ |
เสียดายพระนครอยุธยา | สนุกดั่งเมืองฟ้ามหาสถาน |
ครื้นเครงไปทุกทิวาวาร | ด้วยการมโหรสพไม่เว้นวาย |
ทีนี้จะได้ยินแต่เสียงสัตว์ | สิงห์ขนัดเนื้อนกทั้งหลาย |
เสียดายห้องแก้วอันแพร้วพราย | อร่ามรายด้วยประทีปชวาลา |
อกเอ๋ยจะเห็นแต่แถวเถื่อน | กับดาวเดือนเลื่อนลอยในเวหา |
ที่เคยเล่นเคยชมภิรมยา | จะนิราแรมพรากจากจร |
สิบสี่ปีตั้งแต่จะทนทุกข์ | ไม่มีสิ่งสุขเหมือนแต่ก่อน |
สงสารสมเด็จพระมารดร | จะเร่าร้อนถึงลูกทุกนาที |
โอ้ว่าทีนี้จะไกลแล้ว | ปราสาทแก้วที่เคยเกษมศรี |
ทั้งวงศาข้าเฝ้าผู้ภักดี | พระจักรีครวญพลางเสด็จไป ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ พญาโศก
๏ เมื่อนั้น | พระวสิษฐ์สวามิตรอาจารย์ใหญ่ |
ทั้งคณะฤๅษีชีไพร | ไพร่ฟ้าเสนาโยธี |
แลไปเห็นสามสุริย์วงศ์ | ทรงชฎาห่อเกล้าเป็นฤๅษี |
ต่างตระหนกตกใจเป็นโกลี | อึงมี่ไปทั้งพารา |
ฝ่ายพระมหาสวามิตร | พระวสิษฐ์ผู้ทรงสิกขา |
ให้คิดสงสัยในวิญญาณ์ | ลางองค์ก็พากันออกไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งถามพระจักรี | ทรงพรตดั่งนี้เป็นไฉน |
เหตุผลต้นปลายประการใด | จึ่งมิได้ครองพระนคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์อวตารชาญสมร |
ได้ฟังพระองค์ทรงสังวร | ชุลีกรแจ้งความแต่ต้นไป |
หลานนี้ขึ้นเฝ้าพระบิตุรงค์ | จะได้พบพระองค์ก็หาไม่ |
นางไกยเกษีห้ามไว้ | ว่าได้รับสั่งพระบิดา |
ให้ข้านี้บวชเป็นดาบส | ออกไปสร้างพรตอยู่ในป่า |
ถ้วนสิบสี่ปีจึ่งกลับมา | ให้ออกจากพาราวันนี้ |
จึ่งให้พระพรตขึ้นผ่านเมือง | สืบเรื่องจักรพรรดิเรืองศรี |
อันพระลักษมณ์นางสีดาเทวี | แสนโศกโศกีร่ำไร |
ต่างองค์ต่างบวชตามมา | จะไปเพื่อนข้าในป่าใหญ่ |
พระอาจารย์ค่อยอยู่สำราญใจ | หลานจะลาไปบัดนี้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จึ่งสองพระมหาฤๅษี |
ตรึกความตามคำพระจักรี | เห็นต้องที่อวตารลงมา |
ยินดีจะให้ไปปราบมาร | แต่สงสารจะต้องไปเดินป่า |
ครั้งนี้อสุรพาลา | จะมรณาด้วยฤทธิ์พระสี่กร |
คิดแล้วจึ่งห้ามพระหริวงศ์ | หลานจงอยู่ท่าที่นี่ก่อน |
ตาจะไปให้พบพระภูธร | สั่งแล้วรีบจรไปทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งสองพระดาบส | เห็นท้าวทศรถเรืองศรี |
กับนางเกาสุริยาเทวี | โศกีอยู่ในที่ไสยา |
จึ่งมีวาจาถามไป | เป็นไฉนบรมนาถา |
จะมอบสมบัติพระรามา | แล้วทรงโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | วันทาแล้วกล่าววาที |
โยมแสนโศกาอาลัย | เพราะด้วยอีไกยเกษี |
มันแกล้งจะผลาญชีวี | ข้านี้ให้สิ้นชนมา |
ยกสัตย์เมื่อครั้งไปสังหาร | รอนราญปทูตยักษา |
จะให้ลูกมันครองสวรรยา | ถ้อยคำหยาบช้าพ้นใจ |
ขับให้พระรามจากธานี | จะผัดรุ่งราตรีก็ไม่ได้ |
อับอายไพร่ฟ้าทั้งเวียงชัย | จะใคร่สังหารชีวิตมัน |
ผ่าอกยกจิตมาแล่สับ | ให้สมกับนํ้าหน้าอีโมหันธ์ |
เสียดายความสัตย์จะเสียธรรม์ | ตรีโลกทั้งนั้นจะนินทา |
ด้วยเหตุฉะนี้พระอาจารย์ | จะสู้เสียชนมานดีกว่า |
มิให้อดสูหมู่พาลา | ทั้งสวรรค์ชั้นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาฤๅษี |
ฟังท้าวทศรถพาที | มีความตระหนกตกใจ |
แสนรักแสนเสียดายพ้นปัญญา | ดั่งจะกลั้นนํ้าตามิใคร่ได้ |
สังเวชเพทนาอาลัย | ฤทัยเร่าร้อนดั่งอัคคี |
จึ่งผินพักตร์มากล่าวสุนทร | ดูกรนางไกยเกษี |
อันพระองค์ผู้ทรงธรณี | ภูมีรักเจ้าดั่งดวงตา |
จงคิดถึงคุณพระองค์บ้าง | อย่าดูอย่างคนร้ายริษยา |
อันสมบัติในกรุงอยุธยา | ก็ได้ดั่งปรารถนาทรามวัย |
ขออย่าให้พระรามไปลำบาก | ทนทุกข์ตกยากในป่าใหญ่ |
พระภัสดาจะม้วยบรรลัย | จะหาไหนได้เหมือนพระภูมี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมนวลนางไกยเกษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ความนี้ใช่กิจพระอาจารย์ |
ถึงมาตรดีชั่วก็ช่างเขา | ใครใช้ให้เข้ามาว่าขาน |
ใช่การมาเก็บเอาเป็นการ | ใช่ที่ใช่ฐานจะพาที |
รุกรานเข้ามาถึงห้องใน | ใครไปนิมนต์พระฤๅษี |
อัชฌาอาสัยก็ไม่มี | ทำดีแล้วหรือพระนักพรต ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาดาบส |
ฟังนางพาทีไม่มีรส | หยาบช้าสาหสพ้นคิด |
จึ่งว่าเป็นไฉนนางเทวี | กูว่าดีกลับเอาเป็นผิด |
อันพระองค์ผู้ทรงทศพิธ | คุณดั่งบิตุเรศเลี้ยงมา |
ควรหรือทุจริตคิดคด | ทรยศใจหยาบบาปหนา |
จะฆ่าผัวไม่กลัวเวรา | ใครจะนับหน้าคนสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางไกยเกษียอดสงสาร |
เจ็บในวาจาพระอาจารย์ | จึ่งตอบด้วยคำพาลดึงดัน |
เป็นชีไม่อยู่ประสาชี | มาอาจเอื้อมพาทีด้วยโมหันธ์ |
ความสัตย์เขาปฏิญาณกัน | จะทำให้ฟั่นเฟือนเปื้อนไป |
นี่หรือตั้งตัวเป็นนักสิทธ์ | จะรู้จักชอบผิดก็หาไม่ |
เร่งไปแม้นอยู่จะขัดใจ | ใครเขาไม่ฟังวาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังยิ่งแค้นแสนทวี | ครั้นจะฆ่าตีก็จนใจ |
จึ่งยอกรถวายมัสการ | สองพระอาจารย์ผู้ใหญ่ |
พระองค์จะว่าแก่มันไย | อีคนจังไรทรลักษณ์ |
ถ้อยคำหยาบช้าเป็นพ้นคิด | โยมนี้เจ็บจิตดั่งต้องจักร |
อยู่ไปจะชํ้าใจนัก | เพราะอีอัปลักษณ์สาธารณ์ |
วันใดพระรามจากพารา | ตัวข้าก็จะสิ้นสังขาร |
ไปเกิดในทิพวิมาน | พระอาจารย์จงอยู่สำราญใจ |
อันซึ่งซากศพของโยมนี้ | อย่าให้อีกาลีมันต้องได้ |
แม่ลูกอย่าให้เข้าจุดไฟ | ข้าสั่งไว้เป็นความสัตยา |
ว่าพลางสะท้อนถอนจิต | พระทรงฤทธิ์เศร้าโทมนัสสา |
ซบพักตร์ลงแสนโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองพระมหาฤๅษี |
ได้ฟังพระองค์ทรงธรณี | โศกีครวญคร่ำรำพัน |
ฝากศพสั่งไว้เป็นความสัตย์ | โทมนัสสุดที่จะอดกลั้น |
ชลเนตรคลอเนตรพระนักธรรม์ | จึ่งสนองบัญชาภูวไนย |
พระองค์จะช่วยบำรุงโลก | แสนจะโศกสิ้นชีพหาควรไม่ |
เดิมทีให้รูปทั้งห้าไป | เชิญไทหริรักษ์จักรา |
อวตารลงมาดับเข็ญ | ให้เย็นทั่วทศทิศา |
ถึงยุคจะไปล้างพาลา | จะต้องเดินป่าสิบสี่ปี |
นัยจะคืนมาครองสมบัติ | สืบวงศ์จักรพรรดิเรืองศรี |
ใช่ว่าจะสิ้นชีวี | ภูมีจงถวิลจินดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุรงค์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ข้าแจ้งอยู่แล้วพระอาจารย์ |
อันพระรามสำหรับจะดับเข็ญ | ให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกสถาน |
แต่ยังไม่ควรแก่การ | ซึ่งจะไปปราบมารในครั้งนี้ |
ชอบจะเสวยรมย์ชมสมบัติ | ให้ไพบูลย์พูนสวัสดิ์เกษมศรี |
นัยจะได้ไปปราบอสุรี | ตามที่ซึ่งไวกูณฐ์มา |
นี่มันริษยาทรยศ | จะให้อัปยศทุกทิศา |
สุดอายสุดแค้นสุดปัญญา | ถึงจะมีชีวาไม่ต้องการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีผู้ปรีชาหาญ |
ฟังท้าวทศรถพจมาน | สุดที่จะทัดทานต่อไป |
อนิจจานางไกยเกษี | ทำถึงเพียงนี้ก็เป็นได้ |
ชั่วช้ากว่าหญิงทั้งแดนไตร | แกล้งฆ่าผัวให้มรณา |
เห็นแต่จะได้สมบัติ | ควรหรือตัดขาดเสน่หา |
ว่าแล้วก็พากันลงมา | จากปราสาทรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งแจ้งข้อความ | แก่องค์พระรามเรืองศรี |
อันตัวของตาทั้งสองนี้ | เข้าไปถึงที่ข้างใน |
เห็นพระบิตุเรศมารดา | สองกษัตริย์โศการ่ำไห้ |
ว่าเจ้าออกจากเวียงชัย | วันใดจะม้วยชีวี |
ตานี้สงสารพระภูธร | ได้ว่าวอนนางไกยเกษี |
มันกลับหยาบช้าพาที | สุดที่จะตอบวาจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วนาถา |
ได้ฟังทั้งสองพระสิทธา | อุราเร่าร้อนดั่งเพลิงกาล |
ชลนัยน์ไหลนองคลองพักตร์ | แสนรักแสนโศกสงสาร |
พ่างเพียงชีวิตจะวายปราณ | ผ่านฟ้ารำพันโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าสมเด็จพระบิตุเรศ | พระชนนีก่อเกศเกศี |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | ครั้งนี้จะจากพระองค์ไป |
ตั้งแต่จะไกลเบื้องบาท | ดั่งภานุมาศเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
กตัญญูจะสู้ไปเดินไพร | ไม่คิดอาลัยแก่ชีวา |
เกิดมามิได้สนองคุณ | ซึ่งการุญบำรุงรักษา |
ถึงกระไรแต่ได้บังคมลา | กราบบาทบาทาจะคลายใจ |
สุดคิดสุดปัญญาจะผ่อนผัน | จะผัดวันอยู่ช้าก็ไม่ได้ |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | จนใจเป็นพ้นพันทวี |
เสียแรงเกิดในสุริย์วงศ์ | จักรพรรดิฤทธิรงค์เรืองศรี |
ดูดั่งทรลักษณ์อัปรีย์ | พระจักรีร่ำพลางทางโศกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ แล้วหักใจดับความอาวรณ์ | ประนมกรเหนือเกล้าเกศา |
ลาพระมหาสิทธา | สามกษัตริย์ก็พากันเดินไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนีผู้ใหญ่ |
โศกาดั่งหนึ่งจะขาดใจ | อาลัยในองค์พระจักรา |
ไม่มีพวกพลจตุรงค์ | แต่สามองค์จะต้องไปเดินป่า |
แสนยากลำบากกายา | เวทนาเป็นพ้นพันทวี |
ตัวกูจะไปรองบาท | พระนารายณ์ธิราชเรืองศรี |
คิดแล้วก็เกณฑ์หมู่โยธี | เทียมรถมณีอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นเสร็จให้เคลื่อนทวยหาญ | ขับรถสุรกานต์ประภัสสร |
ต่างคนโศกาอาวรณ์ | บทจรรีบตามเสด็จมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งทูลพระหริวงศ์ | เชิญทรงพิชัยรัถา |
ข้าจะตามเสด็จพระจักรา | ไปกว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระพิษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังสุมันตันเสนี | ก็ชวนพระลักษมีเยาวมาลย์ |
กับพระอนุชาสุริย์วงศ์ | ขึ้นทรงรถแก้วมุกดาหาร |
สุมันตันเสนีปรีชาชาญ | ขึ้นนั่งหมอบกรานมาท้ายรถ |
สารถีขับสินธพชาติ | เผ่นผาดรี่เร็วดั่งลมกรด |
โยธาแน่นนันต์เป็นหลั่นลด | บทจรมาตามรัถยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ไพร่ฟ้าประชากรถ้วนหน้า |
เห็นสามสุริย์วงศ์กษัตรา | บวชเป็นชีป่าพนาลัย |
เสด็จทรงรถรัตน์มณี | โยธีแวดล้อมแผ่นดินไหว |
ต่างคนตระหนกตกใจ | เอิกเกริกวุ่นไปทั้งนั้น |
ข้าหลวงสามกรมก็อาดูร | พูนเทวษแสนเศร้าโศกศัลย์ |
เยียดยัดอัดแอแจจัน | พากันตามเสด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายรัถาสารถี |
จึ่งขับรถแก้วมณี | ออกมาถึงที่ทวารา |
เทวัญบันดาลดลใจ | ให้ไปทักษิณทิศา |
ตรงเกาะพิชัยลงกา | หวังให้เข่นฆ่าอาธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นไพร่ฟ้าประชากรทั้งนั้น | พากันตามมาวุ่นไป |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรสุมันตันผู้ใหญ่ |
อันเสนาไพร่ฟ้าทั้งเวียงชัย | มาตามเราไยดั่งนี้ |
ผู้ใดจะรองฉลองบาท | พระบิตุรงค์ธิราชเรืองศรี |
จงพากันคืนเข้าบูรี | เรานี้จะลาท่านไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้ากราบทูลพระภูวไนย | พระองค์จงได้เมตตา |
ซึ่งจะให้ข้าคืนนคเรศ | แต่ทรงเดชจะเสด็จไปป่า |
พระบิตุรงค์จะทรงพระโกรธา | จะลงโทษโทษาพันทวี |
ประการหนึ่งเหมือนข้าไม่จงรัก | ภักดีต่อเบื้องบทศรี |
จะขอโดยเสด็จจรลี | ไปกว่าชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังสุมันตันปรีชาชาญ | ไม่ตอบพจมานประการใด |
จึ่งสั่งนายรัถาสารถี | ให้ขับพาชีเป็นอย่างใหญ่ |
รีบเร่งราชรถเร็วไป | โดยในมรคาพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ผ่านทุ่งวุ้งป่าท่าธาร | ถึงที่อุทยานสวนขวัญ |
พอพระสุริยาสายัณห์ | พระทรงธรรม์ให้หยุดรถชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาผู้ใหญ่ |
จึ่งให้นั่งยามตามไฟ | นอกในกำชับตรวจตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ต่างคนโศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนเศร้าโทมนัสสา |
เทวัญบันดาลให้โยธา | นิทราหลับสิ้นไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
เสด็จเหนือรถรัตน์มณี | มีแต่ทุกข์ร้อนอาวรณ์ใจ |
ถึงพระมารดาบิตุรงค์ | ซบพักตร์ลงทรงกันแสงไห้ |
จนปฐมยามล่วงไป | มิได้เข้าที่นิทรา |
ครั้นเห็นฝูงคนหลับสนิท | มีจิตแสนโสมนัสสา |
จึ่งชวนทั้งสองกษัตรา | ลงจากรัถาทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ค่อยเสด็จเยื้องย่างบทจร | หลีกพลนิกรลอบหนี |
เข้าในพนมพนาลี | ดั่งพญาสีหราชยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
ชมดง
๏ เดินทางตามหว่างพนาเวศ | พระทรงเดชพิศพรรณพฤกษา |
เรียบเรียงสองข้างมรคา | ดวงผกากลีบแย้มเบิกบาน |
โรยร่วงเสาวรสเกสร | กลิ่นขจรตลบหอมหวาน |
แสงจันทร์แจ่มแจ้งดงดาน | พระพายพัดพานรวยริน |
นํ้าค้างเป็นละอองตกมา | เย็บซาบกายาพระทรงศิลป์ |
กระต่ายเต้นเล่นเล็มระบัดกิน | สกุณาโบยบินวุ่นไป |
เพรียกพร้องร้องร่ำถวายเสียง | สำเนียงเสนาะทั้งป่าใหญ่ |
จักจั่นรี่เรื่อยจับใจ | เหมือนแกล้งให้คลายทุกข์ร้อน |
พระตรัสชี้ชวนวนิดา | ชมช่อผกาเกสร |
พระลักษมณ์เด็ดดวงแก้วขจายจร | ถวายองค์บังอรวิไลวรรณ |
พระหริวงศ์ทรงเด็ดสาวหยุด | ส่งให้วรนุชแล้วรับขวัญ |
สามกษัตริย์ย่างเยื้องจรจรัล | พากันล่วงด่านผ่านมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา | ก็ผวาตื่นจากรถชัย |
จึ่งแหวกม่านทองมองดู | จะเห็นเสด็จอยู่ก็หาไม่ |
ทั้งพระลักษมณ์นางสีดาก็หายไป | ตกใจเพียงสิ้นชีวี |
แล้วคิดถวิลจินดา | ก็รู้ว่าสามกษัตริย์แกล้งหนี |
มิให้พวกพลมนตรี | ทั้งนี้ติดตามเสด็จจร |
จำเป็นจะกลับเข้านิเวศน์ | ทูลพระบิตุเรศให้แจ้งก่อน |
คิดแล้วจึ่งสั่งพลนิกร | ว่าภูธรจะคืนเข้าพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธีถ้วนหน้า |
บรรดาที่ตามเสด็จมา | ไม่รู้กลเสนาสุมันตัน |
คิดว่าพระจะคืนกรุงไกร | ต่างต่างมีใจเกษมสันต์ |
สำรวลสรวลเพรียกเรียกกัน | ยกหัตถ์อภิวันท์พระสี่กร |
ฝ่ายว่าข้าหลวงสามกรม | ชื่นชมโสมนัสสโมสร |
บ้างก็อวยชัยถวายพร | สิ้นทุกข์สิ้นร้อนด้วยดีใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มีอัชฌาสัย |
ให้ขับรถรัตนามัย | คืนเข้ายังในพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองถ้วนหน้า |
เห็นรถนั้นขับกลับมา | บันเทิงเริงร่าทั้งโยธี |
สำคัญว่าองค์พระทรงเดช | คืนเข้านัคเรศบุรีศรี |
ต่างตนชื่นชมยินดี | วิ่งตามรถมี่อึงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสมุทรเยาวยอดพิสมัย |
แสนโศกเร่าร้อนอาวรณ์ใจ | อยู่ในห้องแก้วแพร้วพรรณ |
ได้ยินว่าสามกษัตรา | คืนมานิเวศน์ไอศวรรย์ |
สงสัยก็พานางกำนัล | ทั้งนั้นรีบเร่งเสด็จมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่ปราสาทชัย | นางไกยเกษีเสน่หา |
ตรงเข้ายังห้องไสยา | คอยฟังกิจจาพระภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันเสนาชาญสมร |
ครั้นเข้ามาถึงพระนคร | ให้หยุดอัสดรโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ลงจากพิชัยราชรถ | ยิ่งรันทดร้อนใจดั่งไฟจี่ |
ขึ้นไปเฝ้าองค์พระภูมี | ยังที่ปราสาทรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
กับนวลนางเกาสุริยา | สองกษัตริย์โศกาจาบัลย์ |
ถึงองค์สมเด็จพระลูกรัก | อันจากนัคเรศเขตขัณฑ์ |
ได้ยินเสียงอึงนี่นัน | ทรงธรรม์ฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึ่งเยี่ยมพระแกลแลเห็น | สุมันตันซึ่งเป็นผู้ใหญ่ |
มีพระบัญชาถามไป | มาด้วยอันใดนะเสนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
ก้มเกล้ากราบลงแล้วโศกา | ทูลสนองบัญชาพระภูมี |
ด้วยสองพระโอรสยศยง | กับองค์สุณิสามารศรี |
วานนี้ทรงพรตเป็นโยคี | สามกษัตริย์จรลีเข้าไพรวัน |
ข้าได้โดยเสด็จบทมาลย์ | ถึงในอุทยานสวนขวัญ |
ครั้นคํ่าจำรัสแสงจันทร์ | พระพากันเสด็จหนีไป |
สุดคิดสุดที่จะตามหา | ไม่รู้ว่าจะไปหนไหน |
โทษข้าถึงสิ้นชีวาลัย | ภูวไนยจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศรถเรืองศรี |
ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวี | ภูมีครวญคร่ำรำพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้อนิจจาพระลูกรัก | ดวงจักษุพ่อเฉลิมขวัญ |
แต่นี้จะไม่เห็นกัน | นับวันจะแลลับไป |
เพราะด้วยอีไกยเกษี | มันเป็นไพรีศัตรูใหญ่ |
ฆ่าพ่อขับลูกให้จำไกล | ไปเดินอรัญกันดาร |
ได้ยากลำบากทุกข์ทน | มีแต่ผลไม้เป็นอาหาร |
ยามนอนก็จะนอนทรมาน | กับพื้นดินดานอนาถนัก |
เสียทีที่ได้ไวกูณฐ์ | เกิดในประยูรพญาจักร |
พ่อถนอมบำรุงผดุงรัก | จะให้เป็นปิ่นปักโลกา |
แม้นมาตรจะหาแก้วมณี | ดวงเท่าคีรีก็พอหา |
ถึงจะเอาเดือนดาวในท้องฟ้า | เห็นว่าจะได้ดั่งใจ |
อันจะหาโอรสให้เหมือนเจ้า | ตายแล้วเกิดเล่าไม่หาได้ |
คิดว่าจะฝากชีวาลัย | ไปกว่าจะสิ้นชนมาน |
ก็ไม่เสร็จสมอารมณ์หมาย | ด้วยอีแสนร้ายมาตามผลาญ |
มันนี้คือพวกพระกาล | แกล้งประหารชีวิตของบิดา |
แม้นมาตรถึงพ่อจะบรรลัย | เจ้าได้เห็นใจก็ไม่ว่า |
ร่ำพลางทอดองค์ลงโศกา | อัดอั้นนาสาสะท้อนกาย |
สิ้นเสียงสุดสิ้นพระวาตะ | อัสสาสะประสาทก็ขาดหาย |
สิ้นกระแสภวังค์ทำลาย | ไปเกิดฝ่ายชั้นดุษฎี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางเกาสุริยามเหสี |
ทั้งโฉมนางสมุทรเทวี | ฝูงสนมนารีกำนัล |
เห็นพระองค์สุดสิ้นพระชนม์ | ต่างคนตกใจไม่มีขวัญ |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | รำพันร่ำรักภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ นางเกาสุริยาว่าโอ้พระทรงภพ | จบสกลโลกาไม่หาได้ |
ควรหรือมาม้วยบรรลัย | หนีข้าน้อยไปเมืองฟ้า |
พระคุณพ่างเพียงบิตุเรศ | ได้เย็นเกศเป็นบรมสุขา |
ตั้งแต่วันนี้จะลับตา | จะมีแต่โศกาจาบัลย์ |
อกเอ๋ยจากลูกแล้วมิหนำ | พระปิ่นเกล้ามาซ้ำอาสัญ |
จะแสนทุกข์ไปทุกคืนวัน | สารพันจะได้อัประมาณ |
นางสมุทรว่าโอ้พระจอมเกศ | เรืองเดชดั่งดวงพระสุริย์ฉาน |
เป็นหลักโลกาสุธาธาร | ทั่วทั้งจักรวาลไม่เดือดร้อน |
ตั้งแต่นี้ไปจะได้ทุกข์ | ไม่มีสิ่งสุขเหมือนแต่ก่อน |
เช้าเย็นเคยเฝ้าพระภูธร | สโมสรชื่นชมภิรมยา |
เวรใดจำให้ไกลบาท | พระสามีธิราชนาถา |
ยามกินจะกินแต่น้ำตา | เวทนาเป็นพ้นพันทวี |
นางสนมว่าโอ้ทูลกระหม่อม | จอมเกศข้าบาทบทศรี |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | สุดที่จะร่ำรำพัน |
มิได้อาธรรมลำเอียง | ชุบเลี้ยงเป็นสุขเกษมสันต์ |
เงินทองแก้วแหวนแพรพรรณ | ให้ปันทั่วหน้ากันไป |
อันจะหาเหมือนองค์พระทรงฤทธิ์ | ไตรภพจบทิศไม่หาได้ |
ร่ำพลางทางโศกาลัย | นางในเพียงสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองพระอาจารย์ฌานกล้า |
ทั้งสุมันตันเสนา | อำมาตย์มาตยานอกใน |
ครั้นรู้ว่าพระองค์สวรรคต | ต่างคนกำสรดสะอื้นไห้ |
ก็ตามพระสิทธาขึ้นไป | ยังไพชยนต์รัตน์รูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องแก้วสุรกานต์ | องค์พระอาจารย์ทั้งสองศรี |
ให้เอาสุคนธวารี | อันมีกลิ่นตลบโอฬาร์ |
ใส่สาครรัตน์โสรจสรง | ชำระศพบรมวงศ์นาถา |
ประดับเครื่องทรงอลงการ์ | โดยศพมหาจักรพรรดิ |
ครั้นเสร็จเชิญเข้าพระโกศแก้ว | แล้วตั้งภายใต้เศวตฉัตร |
เหนือแท่นพรายพรรณสุวรรณรัตน์ | เครื่องสูงเป็นขนัดรูจี |
นางสนมหกหมื่นสี่พัน | โศกาจาบัลย์อึงมี่ |
ชาวประโคมก็ประโคมทุกนาที | มิได้เว้นว่างเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์นาถา |
กับโฉมนวลนางสีดา | พระลักษมณ์อนุชาวิลาวัณย์ |
เสด็จแต่เวลาราตรี | จนรวีแจ่มแจ้งแสงฉัน |
ก็พ้นแดนบ้านด่านอารัญ | พากันเข้าดงพงไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ร้อนแรมมาหลายราตรี | ถึงฝั่งนัทีกว้างใหญ่ |
ชื่อว่าสะโตงคงคาลัย | นํ้าไหลลึกพ้นประมาณ |
สามกษัตริย์ก็เข้าหยุดพัก | สำนักร่มไทรไพศาล |
คิดที่จะข้ามชลธาร | กันดารพ่วงแพนาวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา