- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพญาพิเภกยักษี |
นำหมู่วานรโยธี | ไปยังที่ป่าอัมพวัน |
ลดเลี้ยวเที่ยวเก็บผลาผล | จนสิ้นซึ่งแสงสุริย์ฉัน |
ได้เต็มหาบคอนด้วยกัน | กุมภัณฑ์ก็พากันกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เดินโดยมรรคาพนาเวศ | ให้กระเหม่นนัยน์เนตรเบื้องขวา |
หวาดหวั่นไปทั้งกายา | อสุราก็รีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงที่ทัพชัย | ในเนินมรกตสิงขร |
ไปยังพลับพลาพระสี่กร | เห็นแต่วานรที่เฝ้านั้น |
พากันนั่งเจ่าเหงาอยู่ | ดูไม่มีความเกษมสันต์ |
ถามว่าพระองค์ทรงสุบรรณ | วันนี้เสด็จไปแห่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนวานรนายใหญ่ |
ยอกรชุลีแล้วบอกไป | ตามในเหตุผลแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
แจ้งข่าวเร่าร้อนในอุรา | ดั่งว่าจะสี้นชีวัน |
บรรดาพลลิงทั้งหลาย | ตกใจวุ่นวายตัวสั่น |
ทิ้งหาบทิ้งคอนเสียพร้อมกัน | กุมภัณฑ์พารีบตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เดินมาในราตรีกาล | โดยสถานวิถีทางใหญ่ |
ให้เย็นเชียบเงียบเหงาเปล่าใจ | จนใกล้ทัพชัยพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงที่สนามรบ | พบพวกนิกรกระบี่ศรี |
ตายยับทับกันไม่สมประดี | เกลื่อนกลาดกับที่สุธาธาร |
แล้วเห็นหนุมานฤทธิรอน | นอนทับซึ่งเศียรคชสาร |
กลิ้งอยู่กับพื้นดินดาน | ขุนมารยิ่งตกใจนัก |
เอะไฉนฉะนี้วายุบุตร | ฤทธิรุทรปราบได้ทั้งไตรจักร |
มาล้มอยู่ดูดั่งทรลักษณ์ | ตายด้วยปรปักษ์ปัจจามิตร |
แล้วคิดได้ว่าหนุมานนี้ | อันจะสิ้นชีวีนั้นเห็นผิด |
ด้วยเป็นลูกพระพายเรืองฤทธิ์ | ชะรอยว่าต้องพิษสลบไป |
แม้นลมพัดสัมผัสกายา | ก็จะฟื้นชีวาขึ้นมาได้ |
คิดแล้วก็รีบคลาไคล | มายังที่ใกล้วานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ นั่งลงพิศพักตร์หนุมาน | กิริยาห้าวหาญชาญสมร |
ตาแดงดั่งแสงรวีวร | กรกุมตรีเพชรอันศักดา |
ท่วงทีดั่งหนึ่งจะเผ่นโผน | โจนเข้าสัประยุทธ์ยักษา |
มิเสียทีเป็นยอดโยธา | ล้มแล้วยังว่าไว้ยศ |
คิดพลางยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้หมู่เทเวศทั้งปวงหมด |
ทุกชั้นฟ้าพรหมาโสฬส | กำหนดร่ายเวทอันฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นถ้วนเจ็ดคาบก็เป่าลง | ให้ตรงเข้าปากกระบี่ศรี |
ลมแล่นทั่วทั้งอินทรีย์ | อสุรีก็เรียกวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ครั้นพระพายพัดเข้าในอุทร | พิษศรก็เสื่อมหายไป |
ทั้งแว่วสำเนียงพาที | ขุนกระบี่ก็ฟื้นขึ้นมาได้ |
แลเห็นพิเภกก็ดีใจ | ลุกขึ้นนั่งไหว้อสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ถามว่าดูกรขุนกบินทร์ |
เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ | ให้กระบี่ล้มตายหมดสิ้น |
เกลื่อนกลาดดาษไปทั้งแผ่นดิน | ด้วยมือไพรินอันสาธารณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ได้ฟังพิเภกขุนมาร | ก็แจ้งการทั้งปวงแต่ต้นไป |
ซึ่งข้าเสียทีทั้งนี้ | จะแพ้ฤทธิ์อสุรีนั้นหาไม่ |
ด้วยองค์อินทราสุราลัย | ทรงคชไกรเอราวัณ |
มาลอยอยู่ในเมฆา | พร้อมหมู่เทวานางสวรรค์ |
ขับร้องฟ้อนรำระบำบัน | ดีดสีสนั่นทั้งอัมพร |
พระอนุชางวยงงหลงประมาท | เทวราชก็แผลงธนูศร |
ต้องน้องสมเด็จพระสี่กร | ทั้งสิบแปดวานรก็วายปราณ |
ฝ่ายฝูงบริวารเทพบุตร | ก็พุ่งซัดอาวุธมาสังหาร |
กระบี่พลไกรบรรลัยลาญ | มัฆวานทำได้ถึงเพียงนี้ |
ตัวข้าน้อยใจเป็นสุดคิด | หมายมล้างชีวิตโกสีย์ |
โลดโผนโจนขึ้นราวี | หักคอหัตถีเอราวัณ |
เธอตีด้วยคันศรทรง | ตกลงปิ้มชีพอาสัญ |
หากว่าท่านมาแก้ทัน | คุณนั้นเป็นพ้นพรรณนา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ใช่องค์อินทราผู้เรืองฤทธิ์ |
อินทรชิตมันทำอุบาย | แปลงกายเป็นท้าวโกสิต |
มิให้รู้ว่าปัจจามิตร | จะลวงมล้างชีวิตให้บรรลัย |
ทำศึกหรือไม่ระวังตน | ให้เสียกลมันก็เป็นได้ |
ไพร่นายตายยับทั้งทัพชัย | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี |
ว่าแล้วก็พาหนุมาน | กับพวกบริวารกระบี่ศรี |
ฝ่าศพวานรโยธี | อสุรีก็รีบบทจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ แลไปในที่รณรงค์ | เห็นพระหริวงศ์ทรงศร |
กอดองค์อนุชาฤทธิรอน | อนาถนอนเหนือพื้นดินดาน |
ตกใจดั่งพระกาลชาญฤทธิ์ | มามล้างชีวิตสังขาร |
ก็เข้าไปใกล้องค์พระอวตาร | กับด้วยหนุมานผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองนายนั่งลงแทบเบื้องบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
ฝ่ายพญาพิเภกอสุรา | กอดบาทเบื้องขวาพระจักรี |
วายุบุตรกอดข้อพระบาทซ้าย | องค์พระนารายณ์เรืองศรี |
แสนทุกข์แสนเทวษแสนทวี | ก็โศกีครวญครํ่ารำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ พิเภกว่าโอ้พระจักรกฤษณ์ | บุญฤทธิ์แผ่ทั่วสรวงสวรรค์ |
ร่มเกล้านักสิทธ์เทวัญ | ดั่งฉัตรแก้วกั้นโลกา |
ควรหรือมาล้มกับดินดอน | อนาถนอนกอดองค์กนิษฐา |
พระกายติดธุลีเวทนา | ดั่งว่าสาธารณ์ทรลักษณ์ |
หนุมานว่าโอ้พระหริวงศ์ | ทรงเดชปราบได้ทั้งไตรจักร |
ยอดกษัตริย์ประเสริฐเลิศนัก | เป็นหลักโลกาสุธาธาร |
ไฉนมาสลบทับกันอยู่ | ดั่งท่อนทองทั้งคู่น่าสงสาร |
ติดละอองต้องลมรำเพยพาน | ทรมานนํ้าค้างที่กลางทราย |
พิเภกว่าโอ้พระอนุชา | มาต้องศรอสุราน่าใจหาย |
ทั้งนี้เพราะไม่ระวังกาย | จึ่งแพ้ยักษ์แสนร้ายถึงสามครั้ง |
จะหาไหนได้เหมือนพระสุริย์วงศ์ | ซื่อสัตย์ต่อองค์พระทรงสังข์ |
สุจริตไม่คิดแก่ชีวัง | ตั้งหน้าอาสาจนวายปราณ |
วายุบุตรว่าโอ้ครั้งนี้ | เสียทีเป็นยอดทหารหาญ |
น้อยใจพ้นที่จะประมาณ | มาทำการให้ขายพระบาทา |
จนพระร่มโพธิ์ทองต้องอนาถ | แม้นสิ้นชีวาตม์เสียดีกว่า |
สองนายรํ่าพลางทางโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายชมพูพานกระบี่ศรี |
กับหมู่วานรโยธี | แว่วเสียงโศกีสองนาย |
ทั้งต้องละอองน้ำค้าง | ก็สระสร่างความโศกเสื่อมหาย |
ต่างตนต่างรู้สึกกาย | ทั้งไพร่นายก็ฟื้นขึ้นมา |
แลเห็นหนุมานชาญณรงค์ | พิเภกสุริย์วงศ์ยักษา |
ต่างตนยินดีปรีดา | ดั่งว่าได้ทิพย์วารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
กับวายุบุตรผู้ฤทธี | คลายที่โศกาจาบัลย์ |
ก็ช่วยกันนวดฟั้นคั้นบาท | พระนารายณ์ธิราชรังสรรค์ |
แล้วปลุกพระองค์ทรงธรรม์ | ด้วยวาจาอันสุนทร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถทรงศร |
แว่วเสียงอสุราวานร | พระสี่กรค่อยได้สติมา |
ลมระบายหายใจที่ขัดข้อง | ก็เดินได้โดยคลองนาสา |
ลืมเนตรขึ้นเห็นอสุรา | กับวายุบุตรวุฒิไกร |
ความโศกนั้นค่อยระงับลง | ก็ดำรงกายขึ้นได้ |
จึ่งมีบัญชาถามไป | เป็นไฉนพิเภกอสุรี |
อันองค์พระลักษมณ์อนุชา | กับหมู่โยธากระบี่ศรี |
ต้องศรสุดสิ้นชีวี | ครั้งนี้เราเห็นประหลาดนัก |
ด้วยเอราวัณหัสดิน | ขององค์อมรินทร์ทรงจักร |
เหตุใดจึ่งได้มากับยักษ์ | แล้วคอหักสุดสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราสนองพจมาน |
ช้างนี้คือช้างนิมิต | ขององค์อินทรชิตใจหาญ |
ตัวมันแปลงเป็นมัฆวาน | คิดการโดยกลมาชิงชัย |
อันศรเล่มนี้ชื่อพรหมาสตร์ | พระสยมภูวนาถประสาทให้ |
มีอานุภาพเกรียงไกร | ปราบได้ทั้งไตรโลกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกอสุรา | ผ่านฟ้าจึ่งมีโองการ |
อันองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | กับหมู่วานรทวยหาญ |
ซึ่งต้องศรมันวายปราณ | จะแก้ไขคิดอ่านประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรกราบทูลสนองไป | อันยาแก้ศรชัยอสุรี |
ข้าบาทก็แจ้งประจักษ์อยู่ | แต่ไม่รอบรู้ถ้วนถี่ |
เหมือนชมพูพานเสนี | พระศุลีได้ใช้ให้ตรวจยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายชมพูพานใจกล้า |
น้อมเศียรกราบบาทพระจักรา | วานรก็ทูลสนองไป |
อันพญาพิเภกกุมภัณฑ์ | กราบทูลมานั้นหาเท็จไม่ |
เมื่อข้ายังเป็นข้าใช้ | อยู่ใต้เบื้องบาทพระศุลี |
พระองค์ให้ไปตรวจตรา | สรรพยาในทวีปทั้งสี่ |
อันยาแก้พรหมาสตร์อสุรี | มีอยู่ยังเขาอาวุธ |
ในบุพพวิเท่ห์ทวีปใหญ่ | วิถีนั้นไกลเป็นที่สุด |
แล้วมีจักรกรดฤทธิรุทร | พัดอยู่ไม่หยุดสักเวลา |
แม้นใครเข้าไปที่เขานั้น | ก็บรรลัยด้วยจักรคมกล้า |
อันในโองการเจ้าโลกา | ถ้าองค์นารายณ์อวตาร |
มาเป็นพระรามสุริย์วงศ์ | ในพงศ์อยุธยามหาศาล |
พระน้องต้องศรขุนมาร | จึ่งให้ทหารฤทธิรุทร |
ชื่อว่าหนุมานชาญณรงค์ | ลูกองค์พระพายเทวบุตร |
ไปยังภูผาอาวุธ | จักรนั้นจะหยุดด้วยฤทธี |
จึ่งเอาโอสถพระอิศรา | มาแก้พรหมาสตร์ยักษี |
พระลักษมณ์ก็จะคืนชีวี | ทั้งพวกกระบี่พลากร ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
ฟังชมพูพานพานร | ภูธรจึ่งมีบัญชา |
ดูกรคำแหงวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จงรีบเร็วไปด้วยศักดา | ยังมหาอาวุธคีรี |
เอายามาแก้พระลักษมณ์ | ซึ่งต้องศรศักดิ์ยักษี |
กับหมู่วานรโยธี | ให้ทันในราตรีกาล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพระอวตาร | ชุลีลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งยอกรขึ้นอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถนาถา |
หลับเนตรบริกรรมภาวนา | นิมิตกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ให้เท่าบรมพรหเมศ | เรืองเดชโอภาสประภัสสร |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังอัมพร | เหาะร่อนมาด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รวดเร็วดั่งกำลังลมพัด | รีบรัดมาโดยเวหา |
ดั้นหมอกออกกลีบเมฆา | ไม่ทันพริบตานาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลอยอยู่บนอัมพร | วานรดูยอดคีรีศรี |
เห็นซึ่งจักรกรดพระศุลี | หยุดอยู่กับที่ไม่หันไป |
ขุนกระบี่สำคัญมั่นคง | ก็ตรงลงยังยอดเขาใหญ่ |
ด้วยกำลังฤทธีเกรียงไกร | เสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทเวศพร้อมหน้า |
ซึ่งอยู่รักษาสรรพยา | ของพระอิศราธิบดี |
ได้ยินเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น | ไหวหวั่นไปทั่วคีรีศรี |
ตกใจตะลึงทั้งอินทรีย์ | แลไปที่ยอดบรรพต |
จึ่งเห็นวานรผู้มีฤทธิ์ | ขาวผ่องชวลิตทั้งกายหมด |
เขี้ยวแก้วกุณฑลช้อยชด | กำหนดได้ด้วยปรีชา |
รู้ว่านารายณ์อวตาร | มาปราบพวกพาลยักษา |
ชะรอยจะใช้มาเก็บยา | แก้ศรอสุราสาธารณ์ |
คิดแล้วร้องถามไปทันที | เหวยขุนกระบี่ใจหาญ |
มาไยไม่กลัววายปราณ | ต้องการประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งตอบคำไป | ว่าพระภูวไนยสี่กร |
มาทำสงครามกับทศพักตร์ | พระลักษมณ์อนุชานั้นต้องศร |
พรหมาสตร์อินทรชิตฤทธิรอน | ภูธรตรัสใช้ให้เรามา |
เอายานี้ไปแก้พิษ | น้องพระจักรกฤษณ์นาถา |
โดยเทวราชบัญชา | องค์เจ้าโลกาประสาทไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งหมู่เทวาน้อยใหญ่ |
ได้ฟังจะแจ้งไม่แคลงใจ | เทพไทจึ่งตอบวาที |
พระนารายณ์ใช้มาเอาโอสถ | ยังยอดบรรพตคีรีศรี |
แก้ซึ่งพิษศรอสุรี | ก็ต้องที่โองการเจ้าโลกา |
แต่ว่าจำเพาะประสาทไว้ | ให้ยกไปทั้งภูผา |
จะเด็ดถอนไม่ได้ดั่งจินดา | วานรจงช้อนเอาบรรพต |
ตัวเราเหล่าเทพเทวัญ | อันอยู่รักษาโอสถ |
จะตามไปเฝ้าองค์พระทรงยศ | แล้วจะพาบรรพตกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ก็ผาดแผลงสำแดงฤทธา | เข้าช้อนภูผาอาวุธ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ยกได้ใส่บ่าแล้วพาจร | ขึ้นยังอัมพรอันสูงสุด |
เหาะมาด้วยกำลังฤทธิรุทร | เทวบุตรก็ช่วยพยุงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงที่รบก็ยินดี | ขุนกระบี่จะวางภูเขาใหญ่ |
ไม่ลงยังดินก็กินใจ | จึ่งถามเทพไทผู้ศักดา |
ดูกรท่านภูมิเทเวศ | เหตุใดอาวุธภูผา |
จะวางพ่างพื้นพสุธา | จึ่งไม่ลงมาดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวัญรักษาคีรีศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ดูกรกระบี่ผู้มีฤทธิ์ |
เขานี้พระสยมภูวนาถ | พระบาทบัญชาประกาศิต |
ประสาทยาไว้แก้ชีวิต | พวกพระจักรกฤษณ์ผู้ทรงครุฑ |
อันซึ่งลงกาทวีปนี้ | เป็นที่เกาะน้อยลอยสมุทร |
ไม่ควรจะตั้งเขาอาวุธ | อันบริสุทธิ์สถาวร |
ตัวท่านผู้มีฤทธิรงค์ | จงพาเอาทิพย์สิงขร |
ไปอยู่ที่ทิศอุดร | ให้พระพายพัดอ่อนรวยมา |
พาเอากลิ่นยาไปต้อง | น้องพระหริรักษ์นาถา |
ทั้งพวกวานรโยธา | ก็จะคืนชีวาไม่ยากใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังวาจาเทพไท | ก็พาเขาลอยไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
๏ กลิ่นยาฟุ้งมาต้ององค์ | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ทั้งหมู่วานรเสนี | ก็คืนชีวีขึ้นพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
องคตกับลูกพระสุริยัน | ทั้งพวกพลขันธ์วานร |
ครั้นฟื้นคืนสมประดีมา | เห็นพระจักราทรงศร |
ต่างตนลุกจากดินดอน | ยอกรหมอบเฝ้าด้วยยินดี |
พระลักษมณ์กอดข้อพระบาท | พระเชษฐาธิราชเรืองศรี |
ทูลว่าสงครามครั้งนี้ | ใช่พวกอสุรีพาลา |
คือท้าวโกสิตฤทธิไกร | เป็นใจไปเข้าด้วยยักษา |
ทรงเอราวัณเหาะมา | พร้อมหมู่เทวาบริวาร |
มีทั้งนางเทพอัปสร | รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน |
เลื่อนลอยอยู่ในคัคนานต์ | คิดว่าใช่พาลปัจจามิตร |
น้องนี้งวยงงหลงประมาท | เทวราชจึ่งวางศรสิทธิ์ |
ต้องข้าสุดสิ้นชีวิต | หากพระทรงฤทธิ์มาแก้ทัน |
ความแค้นจะขอยกไป | ชิงชัยให้ถึงเมืองสวรรค์ |
ฆ่าเสียทั้งหมู่เทวัญ | พระทรงสุบรรณจงเมตตา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ใช่องค์อินทราสุราฤทธิ์ |
อินทรชิตมันแกล้งอุบายกล | แปลงตนเป็นท้าวโกสิต |
เจ้าจึ่งเสียทีปัจจามิตร | อย่าคิดโกรธาหัสนัยน์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | เทวารักษาเขาใหญ่ |
เห็นพระลักษมณ์ฟื้นขึ้นก็ดีใจ | จึ่งแซ่ซ้องอวยชัยให้พร |
สองพระองค์จงทรงศักดาฤทธิ์ | มีเดชชวลิตด้วยแสงศร |
ปราบหมู่อาสัตย์ดัสกร | ที่มันราญรอนธาตรี |
ให้เย็นดั่งฉัตรแก้วกั้นเกศ | นักสิทธ์เทเวศทุกราศี |
สองกษัตริย์จงอยู่สวัสดี | ตัวข้าทั้งนี้จะขอลา |
ไปอยู่รักษาโอสถ | ตามกำหนดพระอิศวรนาถา |
ว่าแล้วก็พาบรรพตา | เหาะเลื่อนลอยมาในอัมพร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ครั้นเทวาอวยชัยให้พร | แล้วพาสิงขรกลับไป |
มีความแสนโสมนัสนัก | ผิวพักตร์ดั่งดวงแขไข |
จึ่งชวนพระอนุชาผู้ร่วมใจ | ขึ้นพิชัยรถรัตนา |
พร้อมหมู่เสนาวานร | พวกพลนิกรซ้ายขวา |
ให้เลิกทัพกลับเข้าพลับพลา | โห่สนั่นลั่นฟ้าธรณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นเวลามัชฌิมราตรี | ก็เข้าที่เหนือแท่นอลงกรณ์ |
แสนสุขด้วยสมอารมณ์ถวิล | ฤดีดิ้นถึงสีดาดวงสมร |
พรุ่งนี้ตัวกูจะบทจร | ไปรับองค์บังอรเข้ามา |
ตั้งให้เป็นปิ่นอนงค์นาง | แสนสาวสุรางค์ซ้ายขวา |
ร่วมเศวตฉัตรอลงการ์ | ร่วมที่ไสยาพรายพรรณ |
ร่วมสวาทร่วมเรียงเคียงเขนย | ร่วมเชยชิดโฉมประโลมขวัญ |
แต่ใหลหลงบ่นเพ้อรำพัน | ไม่เป็นอันสนิทนิทรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พอได้ยินสำเนียงเสียงโห่ฮึก | ก้องกึกทั่วทิศทิศา |
ดั่งข้าศึกยกหักเข้ามา | อสุราตระหนกตกใจ |
เอะไฉนไอ้พวกไพริน | ตายสิ้นแล้วเป็นขึ้นมาได้ |
อัศจรรย์พ้นพรรณนาไป | เหตุใดมาเป็นดั่งนี้ |
ให้บันดาลร่านร้อนปานศรพิษ | ปักทรวงดวงจิตยักษี |
อารมณ์ไม่เป็นสมประดี | ผุดลุกจากที่ไสยา |
จึ่งเรียกฝูงนางกำนัล | แสนหมื่นหกพันพร้อมหน้า |
ก็เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | มายังปราสาทอินทรชิต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นลูกรัก | ยอกรก่ายพักตร์หลับสนิท |
อยู่เหนือแท่นแก้วชวลิต | โกรธดั่งเพลิงพิษมาจ่อใจ |
กระทืบบาทสิบปากร้องเรียก | เสียงเพรียกกึกก้องหวั่นไหว |
ข้าศึกไม่ม้วยบรรลัย | เป็นไฉนมาหลับอยู่ดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
แว่วเสียงสำเนียงโกลี | อสุรีตื่นจากนิทรา |
ลืมเนตรเหลือบแลเห็นองค์ | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ตกใจผุดลุกลงมา | กราบกับบาทาพญามาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
เสด็จเหนือแท่นรัตน์ชัชวาล | แล้วมีโองการตรัสไป |
ได้ยินสำเนียงโห่ร้อง | กึกก้องฟากฟ้าดินไหว |
ชะรอยไพรีที่บรรลัย | กลับได้ชีวิตคืนมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | อสุราตกใจตะลึงคิด |
ให้เร่าร้อนดั่งนอนในเพลิงกาล | จึ่งสนองพจมานประกาศิต |
ซึ่งไพรีกลับรอดชีวิต | ลูกคิดเห็นผิดประหลาดนัก |
อันศรพรหมาสตร์เล่มนี้ | ฤทธีปราบได้ทั้งไตรจักร |
ชะรอยพิเภกขุนยักษ์ | ทรลักษณ์มันบอกให้แก้กัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตตัวขยัน |
เห็นข้าศึกไม่ม้วยชีวัน | โห่ร้องสนั่นสุธาธาร |
ความกลัวตกใจเป็นสุดคิด | เพียงสิ้นชีวิตสังขาร |
สองนายก็ขึ้นอาชาชาญ | ขับทะยานเข้ายังลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ | แจ้งเหตุว่าท้าวยักษา |
เสด็จอยู่ปราสาทพระลูกยา | อสุราก็รีบตามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งลงตรงพักตร์พญามาร | สองนายกราบกรานบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระลักษมณ์กับลิงไพร | ซึ่งบรรลัยด้วยศรพระโอรส |
พระรามมาร้องไห้รักกัน | กับพลทั้งนั้นก็ตายหมด |
ภายหลังพิเภกผู้ทรยศ | มากำสรดรํ่ารักพระรามา |
บัดเดี๋ยวมนุษย์ผู้พี่ | กับพวกโยธีกระบี่ป่า |
กลับฟื้นคืนรอดชีวา | ตัวข้านี้แลดูไป |
จึ่งเห็นคำแหงหนุมาน | เหาะทะยานแบกเอาภูเขาใหญ่ |
มาแต่ทักษิณด้วยฤทธิไกร | พระลักษมณ์ก็ได้สมประดี |
สิ้นทั้งโยธาพลากร | วานรโห่ร้องอึงมี่ |
บัดนี้เลิกหมู่โยธี | ไปที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษา |
ฟังแจ้งไม่แคลงวิญญาณ์ | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ดูกรอินทรชิตลูกรัก | ดวงจักษุพ่อพิสมัย |
เจ้าผู้ทรงฤทธิ์เกรียงไกร | ปราบได้ถึงชั้นโสฬส |
บัดนี้ไพรีซึ่งมรณา | ก็กลับเป็นมาได้หมด |
ศัตรูอาจองทะนงยศ | โอรสจะคิดฉันใดดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
น้อมเศียรสนองพระวาที | อันศึกครั้งนี้บังอาจนัก |
พร้อมทั้งกำลังโยธา | ฤทธิ์เดชปรีชาก็แหลมหลัก |
บรรดาสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | จะต่อกรพระลักษมณ์นั้นยากใจ |
แต่ต้องหอกต้องศรถึงสามครั้ง | ตายแล้วยังเป็นขึ้นมาได้ |
พวกเรายกออกไปชิงชัย | เสียไพร่นายพ้นคณนา |
ฝ่ายลิงสิ้นชีพแล้วกลับเป็น | คิดเห็นยากที่จะเข่นฆ่า |
บัดนี้ยังมีตำรา | ชื่อกุมภนิยาวราฤทธิ์ |
แม้นทำได้ครบเจ็ดวัน | ตัวนั้นก็เป็นกายสิทธิ์ |
เห็นพอจะทานปัจจามิตร | ต่อคิดต่อกรกันสืบไป |
กับกลศึกอันหนึ่ง | ลึกซึ้งเห็นจะลวงมันได้ |
ซึ่งมนุษย์ยกพลมาชิงชัย | ใจความด้วยตามเมียมา |
อันสุขาจารหนีตาทัพ | โทษมันถึงดับสังขาร์ |
จะขอให้แปลงกายา | เป็นสีดาใส่ท้ายรถไป |
ถึงหน้าทัพจึ่งร้องเย้ยหยัน | แล้วจะตัดเศียรนั้นโยนให้ |
กล่าวกลให้สนเท่ห์ใจ | ว่าจะยกไปรบอยุธยา |
จึ่งจะอ้อมไปตั้งพิธี | ยังที่จักรวาลภูผา |
ถ้าลักษมณ์รามไม่เลิกโยธา | จะกลับมารบรอนราญ ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ได้ฟังโอรสคิดการ | ขุนมารแสนโสมนัสนัก |
ดั่งว่าสงครามนั้นมีชัย | กลับได้สมบัติในไตรจักร |
จึ่งสวมสอดกอดองค์ลูกรัก | จูบพักตร์แล้วมีวาจา |
มิเสียแรงเป็นวงศ์พรหเมศ | ปรีชาฤทธิ์เดชแกล้วกล้า |
อันกลศึกที่เจ้าคิดมา | บิดาเห็นด้วยทุกสิ่งไป |
ตรัสแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
อันสุขาจารจังไร | ที่จำไว้ครั้งศึกกุมภกรรณ |
พระอัยการนั้นภาคโทษผิด | ชีวิตถึงสิ้นอาสัญ |
ทั้งโคตรวงศ์พงศ์พันธุ์ | จงถอดตัวมันออกมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเรือนตรุก็นั่งลง | แล้วสั่งพะทำมะรงผู้ใหญ่ |
บัดนี้พระองค์ทรงภพไตร | ให้ถอดสุขาจารอสุรี |
เอาตัวมันนั้นขึ้นไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้ากรุงมารยักษี |
ยังพระโรงโอรสธิบดี | เร่งเร็วบัดนี้นะขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งนายพะทำมะรงใจหาญ |
ได้แจ้งแห่งราชโองการ | ก็วิ่งลนลานเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ถอดโซ่ตรวนขื่อคา | เครื่องพันธนาน้อยใหญ่ |
แล้วพาตัวออกมาด้วยว่องไว | ส่งให้มหาเสนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษี |
ก็พาสุขาจารอสุรี | มายังที่ท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนำเข้าไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าพงศ์พรหมรังสรรค์ |
น้อมเศียรถวายอภิวันท์ | ท่ามกลางกุมภัณฑ์เสนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วรูจี | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
เหวยเหวยดูกรสุขาจาร | กูเลี้ยงเป็นทหารผู้ใหญ่ |
ข้าศึกมาติดเวียงชัย | ตัวเอ็งมิได้ภักดี |
กูให้ออกไปรณรงค์ | กับองค์กุมภกรรณยักษี |
มึงกลัวอริราชไพรี | กลับหนีตาทัพเข้ามา |
อัยการว่าโทษถึงตาย | หญิงชายเจ็ดโคตรยักษา |
กูจะให้สังหารชีวา | ฝ่ายเอ็งจะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารทหารใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
อันตัวของข้านี้ทรลักษณ์ | อัประลักษณ์กว่าหมู่ยักษี |
โทษนั้นถึงสิ้นชีวี | ทั้งนี้สุดแต่จะเมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ได้ฟังจึ่งมีบัญชา | ดูกรอสุราสุขาจาร |
เอ็งจงจำแลงอินทรีย์ | ให้เป็นที่ประโลมสงสาร |
เหมือนองค์สีดายุพาพาล | แน่งน้อยสะคราญอรชร |
นั่งไปท้ายรถอินทรชิต | ทำจริตลวงพระรามทรงศร |
ถึงที่หน้าทัพวานร | จะฟันฟอนเศียรเกล้าโยนไป |
ให้ข้าศึกประจักษ์แก่ตา | แม้นว่าเอ็งทำดั่งนี้ได้ |
ลูกเมียพี่น้องที่ร่วมใจ | จะเลี้ยงไว้ทั้งวงศ์อสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารยักษี |
ได้ฟังสนองพระวาที | ตัวข้านี้โทษถึงตาย |
ซึ่งพระองค์ประทานชีวิต | ญาติมิตรลูกเมียทั้งหลาย |
พระคุณพ้นที่จะบรรยาย | ขอถวายซึ่งชีพชีวัน |
จะอาสามิให้เคืองเบื้องบาท | พระพงศ์พรหมธิราชรังสรรค์ |
แต่โฉมนวลนางสีดานั้น | ยังไม่เห็นสำคัญประจักษ์ตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ฟังสุขาจารก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าดุษฎี |
จึ่งมีบัญชาประกาศิต | สั่งองค์อินทรชิตยักษี |
เจ้าจงให้พาอสุรี | ไปยังที่สวนอุทยาน |
ไปดูดวงพักตร์ลักขณา | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
แล้วจงยกพวกพลมาร | ออกไปสังหารไพรี |
สั่งพลางเสด็จจากอาสน์ | อันโอภาสจำรัสรัศมี |
กลับไปปราสาทรูจี | สาวศรีกำนัลก็ตามมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นองค์สมเด็จพระบิดา | คืนยังมหาปราสาทชัย |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงพาสุขาจารออกไป | ดูองค์อรไทสีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งฤทธิกาสูรยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ก็พาอสุรีรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งสวนอุทยาน | ที่อยู่เยาวมาลย์ดวงสมร |
หยุดใกล้ตำหนักบังอร | แล้วชี้กรบอกแก่กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารคนขยัน |
ร่ายเวทด้วยใจชาญฉกรรจ์ | กุมภัณฑ์นิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวกลับกลายกายา | เป็นนางอสุราสาวศรี |
มีมือถือพานมาลี | ไปยังที่อยู่บังอร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์นางสีดาดวงสมร |
ทำเป็นปรีดาสถาวร | ประนมกรทูลถวายสุมามาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ไม่แจ้งในกลสุขาจาร | เยาวมาลย์จึ่งตรัสถามไป |
เหตุใดจึ่งนางสาวศรี | เอามาลานี้มาให้ |
มีธุระกังวลประการใด | คือใครใช้สอยให้มา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารยักษา |
นบนิ้วทูลตอบด้วยมารยา | ตัวข้านี้อยู่ในธานี |
แจ้งว่าพระรามสุริย์วงศ์ | องค์พระภัสดาโฉมศรี |
ยกพวกวานรโยธี | มาล้างอสุรีในลงกา |
จึ่งมาเฝ้าองค์พระแม่เจ้า | เอาพระเดชปกเกล้าเกศา |
ว่าพลางชำเลืองนัยนา | ดูองค์กัลยายุพาพาล |
สำคัญมั่นหมายนรลักษณ์ | ดวงพักตร์รูปทรงสัณฐาน |
จำได้เสร็จสิ้นทุกประการ | ขุนมารก็ลานางเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นออกมาลับนัยน์เนตร | กลายเพศเป็นรูปยักษี |
มายังมหาเสนี | ในที่ริมสวนมาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | จึ่งฤทธิกาสูรยักษา |
เห็นสุขาจารออกมา | ก็พากันรีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้นิเวศน์วังสถาน | จึ่งเสนามารชาญสมร |
ก็ให้สุขาจารฤทธิรอน | แปลงเป็นบังอรนางสีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารยักษา |
รับคำมหาเสนา | อสุรานิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ อรชรอ้อนแอ้นระทวยทรง | เหมือนองค์สีดามารศรี |
กรายกรย่างเยื้องจรลี | ฤทธิกาลอสุรีก็ตามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงที่เฝ้าพระโอรส | นั่งลงประณตประนมไหว้ |
กรานหมอบยอบกายอยู่แต่ไกล | ที่ในพระโรงอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรใจหาญ |
เสด็จเหนือแท่นรัตน์ชัชวาล | ขุนมารก็ทอดพระเนตรไป |
เห็นนางกับมหาเสนี | อสุรีก็คิดขึ้นได้ |
รู้ว่าสุขาจารฤทธิไกร | แปลงเป็นอรไทนางสีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมโฉม
๏ จึ่งพินิจพิศเพ่งเล็งโฉม | งามประโลมยั่วยวนเสน่หา |
งามพักตร์งามเนตรจำเจริญตา | งามขนงนาสาวิลาวัณย์ |
งามโอษฐ์ดั่งหนึ่งจะยิ้มแย้ม | งามเกศงามแก้มงามถัน |
งามกรดั่งงวงฉัททันต์ | งามพรรณผิวเนื้อลออองค์ |
งามจริตกิริยามารยาท | งามวิลาสเป็นที่พิศวง |
งามเอวงามอ่อนงามทรง | งามลํ้าอนงค์ในธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ กระนี้หรือสมเด็จพระบิดา | จะมิแสนเสน่หาโฉมศรี |
ถึงใครใครได้เห็นนางเทวี | น่าที่จะหลงละลานใจ |
ชมพลางทางมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงจัดรี้พลสกลไกร | ให้ทันแต่รุ่งสุริยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่ทหารชำนาญศึก | สี่เหล่าห้าวฮึกชาญสมร |
ขุนช้างขึ้นขี่คเชนทร | กรกุมของ้าวกระหยับฟัน |
ขุนม้าขี่ม้าสินธพ | ถือทวนแล่นตรลบดั่งจักรผัน |
ขุนรถขี่รถยืนยัน | กรกุมเกาทัณฑ์ลูกยา |
ขุนพลเตรียมพวกพลยุทธ์ | เลือกล้วนฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
มือถือเครื่องสรรพสาตรา | กวัดแกว่งเงื้อง่าจะราญรอน |
เทียมทั้งพิชัยราชรถ | อลงกตเนาวรัตน์ประภัสสร |
ประทับกับเกยแก้วอลงกรณ์ | คอยเสด็จบทจรอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | ปทุมแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ลูบไล้เครื่องทิพย์เสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมามาลย์ |
สนับเพลารายพลอยเนาวรัตน์ | ภูษิตโขมพัสตร์เครือก้าน |
ชายแครงชายไหวชัชวาล | เกราะแก้วสุรกานต์สังวาลวัลย์ |
รัดองค์เพชรรายรุ้งร่วง | ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น |
ทองกรเป็นรูปมังกรพัน | พาหุรัดบุษย์คั่นภุกามพราย |
ธำมรงค์เพชรรัตน์เรือนครุฑ | มงกุฎแก้วประพาฬฉานฉาย |
พระหัตถ์จับศรแสงแกว่งกราย | มาขึ้นเกยพรรณรายอลงการ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งสุขาจารยักษา |
จงเร่งนิมิตกายา | เป็นโฉมสีดาเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งสุขาจารยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ก็นิมิตอินทรีย์ขุนมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็กลับกายา | เหมือนสีดาเยาวยอดสงสาร |
ขึ้นท้ายรถทรงอลงการ | งามปานนางเทพกินนร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตฤทธิรงค์ทรงศร |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สถาวร | ก็กรายกรขึ้นยังราชรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | กงกำแก้วผลึกอลงกต |
ทับทิมเป็นแอกงอนอ่อนชด | ชั้นลดบัลลังก์กระจังรัตน์ |
เทียมด้วยราชสีห์สองพัน | โลทันขับเร็วดั่งจักรผัด |
เครื่องสูงคู่แห่เยียดยัด | แถวฉัตรธงชายเฉลิมงอน |
ปี่กลองฆ้องขานแตรสังข์ | เสนาะดั่งสะเทือนสิงขร |
แซ่เสียงสินธพอัสดร | เสียงพลนิกรโห่ฮึก |
เสียงช้างโกญจนาทนี่สนั่น | เสียงกงรถลั่นก้องกึก |
มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก | ขับกันคึกคึกรีบไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นมาถึงที่สนามยุทธ์ | ให้หยุดโยธาน้อยใหญ่ |
ตั้งโดยกระบวนทัพชัย | มั่นไว้ตามแนวพนาวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ