- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
ยืนรถอยู่กลางโยธี | เห็นพลกระบี่ยกมา |
อันมนุษย์ซึ่งเป็นจอมพล | ยืนอยู่ที่บนรัถา |
กรซ้ายกุมศรศักดา | ผิวพักตร์ลักขณาวิลาวัณย์ |
ดั่งองค์หัสนัยน์เทวราช | ลีลาศลงมาจากสวรรค์ |
อนุชานั่งหน้ารถนั้น | ดั่งดวงจันทร์หมดเมฆไม่ราคี |
น้อยน้อยกระจ้อยเท่าหัตถา | อหังการ์ไม่เกรงยักษี |
จะได้เห็นมือกันประเดี๋ยวนี้ | กูจะผลาญชีวีให้บรรลัย |
คิดแล้วจึ่งมีโองการ | สั่งหมู่ทหารน้อยใหญ่ |
เร่งขับพวกพลสกลไกร | เข้าชิงชัยหักทัพวานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งจักราวุธชาญสมร |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิรอน | ก็ต้อนพลให้เข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษี |
ผาดแผลงสำแดงฤทธี | เข้าไล่ราวีกระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธสับสน | ต่างตนก็แทงด้วยหอกใหญ่ |
บ้างยิงหน้าไม้ปืนไฟ | โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลกระบี่กองหน้า |
แยกกันออกรับเป็นปีกกา | แล้วเข้าตีประดากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าถีบปากกัดมือตบ | หมุนตลบรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ฉวยชิงอาวุธแทงฟัน | บุกบันหักเอาด้วยฤทธิ์ |
ยักษ์สิบลิงหนึ่งรอนราญ | หมู่มารตายยับอกนิษฐ์ |
แตกพ่ายกระจายไปทุกทิศ | วานรไล่ติดตามตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
เห็นพลแตกตายไม่สมประดี | อสุรีกริ้วโกรธดั่งเพลิงกาล |
จึ่งชักศรสิทธิ์ขึ้นพาดสาย | มั่นหมายเขม้นจะสังหาร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังชัยชาญ | ขุนมารก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | เกิดเป็นศรสาตร์ไม่นับได้ |
ต้องหมู่โยธีกระบี่ไพร | บรรลัยเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
เห็นศรอสุรีแผลงมา | ต้องหมู่โยธาวานร |
หัวขาดตีนขาดตัวขาด | ตายกลาดตามเนินสิงขร |
จึ่งชักพรหมาสตร์ฤทธิรอน | ภูธรก็แผลงไปทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงลมกาล | สะเทือนถึงจักรวาลคีรีศรี |
ต้องหมู่โยธาอสุรี | สุดสิ้นชีวีเกลื่อนไป |
แล้วถูกรถทรงขุนยักษ์ | หักลงไม่ทนกำลังได้ |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | ที่บรรลัยก็กลับเป็นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษา |
ตกจากรถทรงอลงการ์ | อสุรากริ้วโกรธพิโรธนัก |
ฉิฉะมนุษย์สามารถ | ศรสาตร์มีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ |
ทั้งไอ้วานรทรลักษณ์ | เข้าไหนก็หักด้วยมือมัน |
กระนี้หรือชาวลงกา | จะมิสิ้นชีวาอาสัญ |
ตัวกูมีฤทธิ์ดั่งเพลิงกัลป์ | รบมันยังเป็นถึงเพียงนี้ |
อย่าเลยจะคิดอุบายกล | จับมนุษย์สองคนเรืองศรี |
กินเสียให้สิ้นทั้งโยธี | มิให้ไพรีเหลือไป |
คิดแล้วยอกรขึ้นเพียงพักตร์ | ขุนยักษ์น้อมเศียรบังคมไหว้ |
หลับเนตรอ่านเวทเกรียงไกร | สำรวมใจนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวใหญ่เท่าพรหมาน | สูงตระหง่านเงื้อมงํ้าเวหา |
ตัวนั้นแทรกพื้นพระสุธา | เท้าเหยียบแผ่นผายืนยัน |
ปากล่างอ้าจดแผ่นดิน | แลบลิ้นบังดวงสุริย์ฉัน |
สองมือพญากุมภัณฑ์ | วงกระบี่พลขันธ์เข้าไว้ |
ให้มืดมนดั่งราตรีกาล | จะเห็นกายขุนมารก็หาไม่ |
หมายจะกินให้สิ้นทั้งทัพชัย | ด้วยฤทธิไกรมหึมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | หมู่กระบี่นิกรถ้วนหน้า |
มืดมนไม่เห็นสนธยา | วานรตกใจทุกตน |
บ้างร้องเรียกหากันวุ่นวาย | ไพร่นายเอิกเกริกกุลาหล |
วิ่งปะทะปะกันอลวน | จนเข้าในปากอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษี |
ครั้นวานรเข้าปากก็ยินดี | อสุรีก็กล้ำกลืนกิน |
มากน้อยเท่าใดก็ไม่เหลือ | เป็นเหยื่อพญายักษ์สิ้น |
บรรดาโยธาพานรินทร์ | ดิ้นตายในท้องกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
เสด็จเหนือรถแก้วแพรวพรรณ | เห็นเป็นอัศจรรย์มืดไป |
ได้ยินแต่เสียงเท้าเสียงร้อง | มี่ก้องไม่ฟังศัพท์ได้ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | ภูวไนยจึ่งถามโหรา |
เป็นไฉนจึ่งมืดไปดั่งนี้ | ดั่งราตรีฝนตกสักแสนห่า |
ตัวเราสงสัยในวิญญาณ์ | ยักษามันทำประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
อันมืดไปไม่เห็นสุริยา | ด้วยทัพนาสูรยักษี |
มันนิมิตบิดเบือนอินทรีย์ | ใหญ่เท่าคีรีจักรวาล |
สองมือวงล้อมทัพชัย | เข้าไว้ด้วยกำลังหาญ |
แลบลิ้นบังเบื้องคัคนานต์ | ขุนมารคอยกินวานร |
ขอองค์สมเด็จพระจักรกฤษณ์ | ใช้ทหารมีฤทธิ์ชาญสมร |
ให้เร่งรีบไปราญรอน | ตัดกรอสุรพาลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังพิเภกโหรา | ผ่านฟ้าจึ่งมีโองการ |
ดูก่อนลูกพระอาทิตย์ | ท่านผู้มีฤทธิ์กล้าหาญ |
จงรีบไปตัดกรรอนราญ | ขุนมารให้ขาดจากอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ยืนอยู่นบนิ้วอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถนาถา |
แล้วร่ายพระเวทอันศักดา | นิมิตกายาวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ใหญ่เท่าประมาณพรหเมศ | สำแดงเดชโอภาสประภัสสร |
สี่พักตร์สูงเยี่ยมเทียมอัมพร | แปดกรถือตรีอันศักดา |
กวัดแกว่งสำแดงแผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
ผาดโผนโจนขึ้นยังเมฆา | ด้วยกำลังกายาอันว่องไว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นอสุรกุมภัณฑ์ | เศียรเท่าอัศกรรณเขาใหญ่ |
อ้าปากออกเป็นช่องไว้ | สองแขนวงไปดั่งปราการ |
ขุนกระบี่จึ่งลงจากอากาศ | แล้วผาดโผนไปด้วยกำลังหาญ |
ตัดแขนซ้ายขวาขุนมาร | ด้วยตรีสุรกานต์ฤทธิรอน |
ก็ขาดกระเด็นออกจากกาย | เกลื่อนกลาดเรี่ยรายไม่นับท่อน |
ก็สว่างพ่างพื้นอัมพร | วานรเยาะเย้ยอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวรำ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทัพนาสูรยักษา |
กรขาดออกจากกายา | โกรธาขบฟันครั่นครึก |
เผ่นขึ้นจากใต้สุธาดล | คำรนผาดร้องก้องกึก |
กระทืบแผ่นดินลั่นอยู่คึกคึก | ทำอำนาจห้าวฮึกยืนยัน |
ร้องว่าเหวยเหวยไอ้วานร | อ้างอวดฤทธิรอนว่าแข็งขัน |
อันลักษมณ์รามเจ้ามึงทั้งสองนั้น | จะไม่ม้วยชีวันอย่าสงกา |
มาตรแม้นถึงแขนของกูขาด | จะพิฆาตด้วยเท้าซ้ายขวา |
ให้ตายกลิ้งกลาดดาษดา | ทั้งเจ้าทั้งข้าไม่เหลือไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพทหารใหญ่ |
ได้ฟังจึ่งร้องไยไพ | เหวยไอ้จังไรอัปรีย์ |
มึงอย่าด้านหน้ามาอวดฤทธิ์ | สู้พระจักรกฤษณ์เรืองศรี |
แต่มือกูผู้เป็นทหารนี้ | ก็จะสิ้นชีวีไม่พริบตา |
หากเกรงเกินราชโองการ | จึ่งไม่สังหารยักษา |
ว่าแล้วก็รีบระเห็จมา | ด้วยกำลังฤทธาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
ตามซึ่งได้สังหารราญรอน | ตัดกรอสุรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ได้ฟังลูกพระสุริยัน | ทรงธรรม์ชื่นชมด้วยสมคิด |
สรรเสริญน้องพญาพาลี | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
แก่พระมาตุลีผู้มีฤทธิ์ | ให้ขับรถเข้าชิดอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นใกล้จึ่งเห็นอสุรินทร์ | กรนั้นขาดสิ้นทั้งซ้ายขวา |
กายาใหญ่หลวงมหึมา | ยักคิ้วหลิ่วตาขบฟัน |
จึ่งชักพรหมาสตร์ขึ้นพาดสาย | หมายล้างชีวาให้อาสัญ |
กรายกรน้าวหน่วงยืนยัน | ทรงธรรม์แผลงไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงฟ้าฟาด | โลกธาตุเลื่อนลั่นทุกราศี |
ต้องทัพนาสูรอสุรี | สิ้นสุดชีวีด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ศรนั้นคว้านผ่าตับไต | ไส้น้อยไส้ใหญ่ยักษา |
วานรที่ม้วยมรณา | ก็ออกมาจากท้องกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สิบแปดมงกุฎตัวขยัน |
กับวานรโยธาทั้งนั้น | ก็ไล่โรมรันพลมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างแทงบ้างฟันบ้างกัด | จับฟัดเอาด้วยกำลังหาญ |
ล้มดาษกลาดเกลื่อนสุธาธาร | วายปราณสุดสิ้นทั้งทัพชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกโหราใหญ่ |
จึ่งกราบทูลพระตรีภูวไนย | อันพวกพลไกรพานรินทร์ |
แต่ก่อนนั้นต้องอาวุธตาย | ครั้นพระพายพัดมาก็เป็นสิ้น |
ครั้งนี้ยักษีมันกลืนกิน | เห็นกระบินทร์ไม่คืนชีวา |
ขอพระองค์จงลั่นศิลป์ชัย | ให้สะเทือนถึงตรัยตรึงศา |
องค์ท้าวหัสนัยน์จะลงมา | ชุบพลโยธาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | ภูธรจับศิลป์ยืนยัน |
น้าวหน่วงด้วยกำลังศักดา | ดินฟ้าสะเทือนเลื่อนลั่น |
จนถึงพิภพเทวัญ | ทั้งหกฉ้อชั้นดุษฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวหัสนัยน์โกสีย์ |
เสด็จเหนือทิพอาสน์รูจี | ในที่วิมานอลงกรณ์ |
เกษมสุขด้วยทิพสมบัติ | พร้อมหมู่สาวสวัสดิ์อัปสร |
ขับรำบำเรอภูธร | สถาวรจำเริญฤทัย |
ได้ยินสำเนียงเสียงศิลป์ | ฟ้าดินกัมปนาทหวาดไหว |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | หัสนัยน์เล็งทิพเนตรมา |
ก็เห็นพระสุริย์วงศ์ทรงครุฑ | สัประยุทธ์ชิงชัยกับยักษา |
เสียพลวานรโยธา | ด้วยอสุรามันกลืนกิน |
ไม่ฟื้นคืนชีพชีวาวาตม์ | เกลื่อนกลาดปัถพีอยู่สิ้น |
ก็พาฝูงบริวารในเมืองอินทร์ | เหาะลงมาดินด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ แพละ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีประกาศิต | สั่งวิษณุกรรม์เรืองศรี |
ให้เอานํ้าทิพย์วารี | ประพรมกระบี่ที่บรรลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิษณุกรรม์ผู้มีอัชฌาสัย |
รับเทวบัญชาหัสนัยน์ | ได้นํ้าทิพย์แล้วก็เอามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เที่ยวประโยธาพานรินทร์ | ที่ยักษ์กินสุดสิ้นสังขาร์ |
มิให้ถูกซากศพอสุรา | ต่อหน้าสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกโยธากระบี่ศรี |
ครั้นต้องนํ้าทิพย์วารี | ก็คืนได้ชีวีพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นวานรทั้งนั้น | คืนได้ชีวันขึ้นมา |
ด้วยนํ้าทิพย์ท้าวเทเวศ | ทรงเดชแสนโสมนัสสา |
พักตร์ผ่องเพียงดวงจันทรา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
อันคุณของท้าวมัฆวาน | จะประมาณปานเปรียบนั้นไม่ได้ |
สงครามขัดสนครั้งใด | ก็ช่วยแก้ไขทุกที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์โกสีย์ |
ฟังพระหริรักษ์จักรี | จึ่งมีเทวราชบัญชา |
พระองค์จงเร่งปราบเข็ญ | ให้เย็นทั่วทศทิศา |
อันศัตรูหมู่ราชพาลา | จงพ่ายแพ้ฤทธาพระภูธร |
ค่อยอยู่จำเริญสวัสดี | ข้านี้จะลาไปก่อน |
ว่าแล้วพาเทพนิกร | เขจรไปที่วิมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ครั้นองค์สมเด็จมัฆวาน | กลับไปสถานเมืองฟ้า |
จึ่งให้เลิกพวกพลากร | เสนาวานรซ้ายขวา |
โห่สนั่นลั่นเลื่อนพระสุธา | คืนเข้าพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษี |
เห็นทัพนาสูรอสุรี | ต่อตีสุดสิ้นชีวาลัย |
ความกลัวหน้าซีดตัวสั่น | กุมภัณฑ์ไม่อาจอยู่ได้ |
เผ่นโผนขึ้นหลังมโนมัย | ขับรีบเข้าไปลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงภายในพระนคร | ลงจากอัสดรตัวกล้า |
เข้ายังพระโรงรัตนา | เฝ้าองค์พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ว่าพระเชษฐาไปต่อตี | บัดนี้สุดสิ้นชีวาลัย |
ทั้งหมู่ม้ารถคชสาร | จัตุรงค์ทวยหาญหาเหลือไม่ |
บรรยายแต่ต้นจนปลายไป | โดยนัยซึ่งได้เห็นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ฟังสารัณทูตอสุรา | ทูลว่าพระเชษฐาบรรลัยลาญ |
ตกใจดั่งใครมาฟันฟาด | ให้เศียรขาดสิ้นชีพสังขาร |
ร้อนใจดั่งพิษเพลิงกาล | พญามารนิ่งขึงตะลึงไป |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | จะออกโอษฐ์บัญชาก็หาไม่ |
เสด็จจากพระโรงอำไพ | เข้าในปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | นั่งใกล้อัครราชมเหสี |
ถอนใจแล้วกล่าววาที | เจ้าพี่ผู้ร่วมชีวัน |
บัดนี้สมเด็จพระเชษฐา | ยกพลโยธาทัพขัน |
ออกไปหักโหมโรมรัน | ทรงธรรม์สิ้นชีพบรรลัยลาญ |
สงครามเสียทีลงทุกครั้ง | ฝ่ายกำลังศึกยิ่งฮึกหาญ |
ให้หนักอกหนักใจพ้นประมาณ | นงคราญจะคิดไฉนดี |
เมื่อเจ้าอยู่ยังไกรลาส | รองบาทพระอุมาโฉมศรี |
อันองค์พระอัครเทวี | มีปรีชาชาญว่องไว |
พระเวทพระมนต์ก็ประสิทธิ์ | กลากิจพิธีก็ทำได้ |
เจ้าเป็นคนสนิทชิดใช้ | อรไทก็ทรงพระเมตตา |
ยังประทานสิ่งใดที่วิเศษ | ลัทธิพระเวทคาถา |
ให้แก่เจ้าบ้างนางกัลยา | จงตรึกตราช่วยพี่ครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณโฑมเหสี |
ได้ฟังบัญชาพระสามี | เทวีนิ่งนึกตรึกไป |
จึ่งคิดได้ว่าการพิธีกิจ | พระอุมาประสิทธิ์ประสาทให้ |
ไม่มีใครรู้ทั้งแดนไตร | อรไททูลสนองพจมาน |
เมื่ออยู่กับพระอุมาเทวี | ยังที่ไกรลาสราชฐาน |
นวดฟั้นคั้นบาทมาช้านาน | นงคราญก็ทรงพระเมตตา |
จึ่งประทานพระมนต์อันหนึ่ง | ลึกซึ้งสุขุมหนักหนา |
ให้ทำตบะกิจวิทยา | ชื่อว่าสญชีพพิธี |
จะเกิดน้ำทิพย์อันวิเศษ | ดั่งอมฤตตรีเนตรเรืองศรี |
บรรดาใครม้วยชีวี | รดด้วยน้ำนี้ก็เป็นมา |
จะใช้สิ่งใดก็ใช้ได้ | เรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า |
ทั้งรู้เหาะเหินเดินฟ้า | แต่เจรจาไม่ได้ดั่งใจคิด |
ถึงตายไปวันละร้อยแสน | จะคืนเป็นมาแน่นอกนิษฐ์ |
จะรื้อเข้าเข่นฆ่าปัจจามิตร | ด้วยอำนาจฤทธิ์วารี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังอัครราชเทวี | มีความแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติในเมืองอินทร์ | ปราบไปทั่วสิ้นทั้งไตรจักร |
จึ่งส้วมสอดกอดองค์นงลักษณ์ | พญายักษ์รับขวัญกัลยา |
แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดวงสมรพี่ยอดเสน่หา |
อันพระเวทของเจ้าที่เรียนมา | วิเศษกว่าวิทยาทั้งแดนไตร |
แม้นเดิมได้ตั้งพิธีการ | ปัจจามิตรหรือจะต้านต่อได้ |
สุริย์วงศ์ก็จะไม่บรรลัย | ที่ในการรณรงค์ราวี |
น้องรักเจ้าจงเร่งคิด | ทำพิธีกิจช่วยพี่ |
เห็นเสร็จสงครามในครั้งนี้ | ด้วยพระเวทเทวีอันเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังพระราชโองการ | นงคราญจึ่งทูลสนองไป |
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลกรรม | ดลใจมิให้รำลึกได้ |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิไกร | อย่าถือใจข้าบาทบริจา |
เมียรักจะขอสนองคุณ | ซึ่งการุญชุบเกล้าเกศา |
แต่ในลัทธิวิทยา | ห้ามความเสน่หายิ่งนัก |
พระองค์ก็มีปรีชาชาญ | จงทรมานอดใจให้จงหนัก |
อย่าอาลัยในที่รสรัก | จงยกพลยักษ์ไปชิงชัย |
ข้าบาทจะตั้งพิธี | ส่งทิพย์วารีออกไปให้ |
ท้าวจะเสร็จซึ่งล้างพวกภัย | ผ่านฟ้าอย่าได้อาวรณ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
ได้ฟังอัครราชบังอร | ภูธรชื่นชมยินดี |
ลูบหลังแล้วมีพจนารถ | เจ้าผู้ร่วมชีวาตม์ชีวาพี่ |
จะปรารมภ์ใจไปไยมี | ด้วยการโลกีย์ภิรมยา |
เจ้าจงเร่งตั้งพิธีกิจ | โดยวิษณุเวทคาถา |
อันตัวพี่นี้จะขอลา | ยกพลโยธาพลากร |
ออกไปตั้งรอต่อรับ | ต้านทัพข้าศึกไว้ก่อน |
ว่าแล้วย่างเยื้องบทจร | ภูธรออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์อาสน์ | พร้อมเสนามาตย์น้อยใหญ่ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
เหวยเหวยดูรามโหทร | ท่านผู้ฤทธิรอนแกล้วกล้า |
จงตั้งโรงพิธีโอฬาร์ | ในหน้าพระลานรูจี |
ให้ได้สามสิบเก้าห้อง | เพดานม่านทองจำรัสศรี |
ครบเครื่องบูชามาลี | พร้อมทั้งแท่นที่อลงการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาใจหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพญามาร | ชุลีลาแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งกะเกณฑ์กันปันแบ่ง | ตามตำแหน่งพนักงานถ้วนหน้า |
กะผังขุดหลุมเป็นโกลา | แบกขนไม้มาวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ ตั้งเป็นโรงราชพิธี | กว้างขวางยาวรีสูงใหญ่ |
สามสิบเก้าห้องอำไพ | มีพาไลรอบทั้งสี่ทิศ |
หลังคาเพดานดาดขาว | ม่านราวลายทองป้องปิด |
ห้อยพวงพู่กลิ่นชวลิต | แท่นแก้ววิจิตรพรายพรรณ |
ชั้นนอกนั้นรายราชวัติ | ทิวธงแถวฉัตรจรงกั้น |
ดอกไม้เจ็ดสีเจ็ดพัน | ธูปเทียนสุวรรณเครื่องรอง |
หม้อน้ำนั้นตั้งบนเตียง | เรียบเรียงกันไว้เป็นแถวท่อง |
บายศรีแก้วบายศรีทอง | ต้องตามตำรับทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดพิสมัย |
ครั้นใกล้ศุภฤกษ์ยามชัย | อรไทเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชมตลาด
๏ ชำระสระสนานอินทรีย์ | วารีโปรยปรายดั่งสายฝน |
ลูบไล้ด้วยเครื่องเสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูมาลา |
ทรงภูษาขาวขาวสะอาด | สะพักพาดบงเฉียงเหนืออังสา |
จุณเจิมเฉลิมพักตรา | ผูกชฎาห่อเกล้าเมาลี |
แล้วทรงสอดใส่สายธุรำ | กรถือประคำมณีศรี |
งามดั่งนางดาบสินี | ผู้มีมารยาทอันสุนทร |
เสร็จแล้วเสด็จจากอาสน์ | อันโอภาสจำรัสประภัสสร |
ประดับด้วยสุรางคนิกร | บทจรไปโรงพิธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
ชมตลาด
๏ ครั้นถึงขึ้นยังบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี |
จุดธูปเทียนทองรูจี | โปรยปรายมาลีบูชา |
นบนิ้วประนมเหนือเกศ | เคารพพระเวทคาถา |
คิดคุณสมเด็จพระอุมา | กัลยาหลับเนตรสำรวมใจ |
ให้เป็นสมาธิแน่นิ่ง | จะไหวติงกายาก็หาไม่ |
หน่วงจิตบริกรรมพระเวทไป | โดยในตบะกิจพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ สาธุการ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงทศคีรีวันยักษี |
กับทศคีรีธรอสุรี | พี่น้องเป็นบุตรทศกัณฐ์ |
มารดานั้นนางคชสาร | อยู่ในหิมพานต์ไพรสัณฑ์ |
ทั้งสองนี้เกิดร่วมครรภ์ | อัศกรรณมาราขอไป |
เลี้ยงไว้ยังกรุงดุรัม | ช้านานจนจำเริญใหญ่ |
ให้คิดถึงบิตุรงค์ทรงชัย | อันได้เกิดเกล้าเมาลี |
จะใคร่ไปลงกาพระนิเวศน์ | เยี่ยมเยียนบิตุเรศเรืองศรี |
คิดแล้วทั้งสองอสุรี | ก็ไปที่พระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวอัศกรรณยักษา |
ทูลว่าลูกรักจักขอลา | ไปยังลงกาพระนคร |
เฝ้าองค์สมเด็จพระบิตุเรศ | ซึ่งได้เกิดเกศมาแต่ก่อน |
ฟังข่าวทุกข์สุขสถาวร | ภูธรจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัศกรรณยักษี |
ฟังสองอสุราพาที | จึ่งมีพระราชบัญชา |
อันพระสหายผู้ร่วมใจ | นานแล้วไม่ได้เห็นหน้า |
ซึ่งเจ้าจะไปลงกา | บิดายินดีเป็นพ้นนัก |
ตรัสแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารกาลจักร |
จงจัดพหลพลยักษ์ | ให้ลูกรักกูผู้ฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนากาลจักรยักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์พลอสุราทวยหาญ | ล้วนมารหมู่กากะภาษา |
เหล่าหนึ่งตัวลายทั้งกายา | หน้าเป็นเสือปลายิงฟัน |
เหล่าหนึ่งหน้าเป็นเสือโคร่ง | เขี้ยวโง้งตัวแดงแข็งขัน |
เหล่าหนึ่งตัวเหลืองพรายพรรณ | หน้านั้นเป็นหน้าสุกร |
เหล่าหนึ่งตัวดำดั่งนํ้าหมึก | ดูพิลึกหน้ากลายเป็นกาสร |
หมู่หนึ่งตัวเขียวอรชร | หน้าเป็นมังกรเหลือกตา |
ล้วนถือเครื่องสรรพอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรเงื้อง่า |
ไพร่นายเอิกเกริกเป็นโกลา | เตรียมท่าคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองราชกุมารยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธี | มาเข้าที่สรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สององค์ชำระสระสนาน | สุคนธาธารกลิ่นเกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | เป็นรูปมังกรเกี้ยวกัน |
ภูษาต่างสีเครือแย่ง | ชายแครงชายไหวลายกุดั่น |
ฉลององค์พื้นตองพรายพรรณ | รัดอกสุวรรณทับทิมราย |
ตาบทิศทับทรวงดวงลอย | สังวาลประดับพลอยฉานฉาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายอรชร |
ต่างทรงมงกุฎกุณฑลแก้ว | เสร็จแล้วก็จับธนูศร |
เสด็จจากปราสาทอลงกรณ์ | บทจรมาขึ้นพาชี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ม้าเอยสองม้าทรง | ฤทธิรงค์ดั่งพระยาราชสีห์ |
ผ่านดำผ่านขาวตัวดี | ฝีเท้าเทียมม้าพระอาทิตย์ |
ชาติเชื้อพลาหกอัสดร | เดินโดยอัมพรได้ดั่งจิต |
ผูกเครื่องงามเพียงนิรมิต | ดาวแก้วชวลิตอลงการ |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | มยุรฉัตรธงชายธงฉาน |
ฆ้องกลองกึกก้องสุธาธาร | พลมารขานโห่เป็นโกลา |
ขับรีบเร็วมาดั่งลมกรด | ผงคลีบังบดเวหา |
ข้ามหลังสมุทรคงคา | ตรงไปลงกาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงให้หยุดพลทหาร | ไว้นอกปราการบุรีศรี |
สององค์ลงจากพาชี | ขึ้นไปยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระบิตุรงค์ธิราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางอสุรกุมภัณฑ์ | พร้อมกันเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ครั้นเห็นลูกรักทั้งสองรา | พญามารชื่นชมยินดี |
ก็เสด็จลงจากบัลลังก์อาสน์ | เข้ากอดโอรสราชทั้งสองศรี |
จูบสนิทพิศพักตร์แล้วพาที | พ่อนี้คิดถึงไม่วายวัน |
เจ้ามาบิดาก็ดีใจ | ดั่งได้สมบัติในสวรรค์ |
บัดนี้มีศึกมาโรมรัน | รบกันไม่เว้นสักเวลา |
แต่เคี่ยวขับสัประยุทธ์รณรงค์ | จนสิ้นสุดสุริย์วงศ์พงศา |
ทั้งหมู่แสนสุรโยธา | ช้านานมาเป็นหลายปี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระพี่น้องทั้งสองศรี |
ฟังพระบิตุรงค์ทรงธรณี | ว่ามีไพรีอหังการ |
พาพวกโยธาวานร | ข้ามมหาสาครมาหักหาญ |
กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกาล | ขุนมารนบนิ้วสนองไป |
เป็นไฉนฉะนี้พระบิดา | อนิจจาช่างนิ่งเสียได้ |
จนสิ้นสุริย์วงศ์ทั้งเวียงชัย | น้อยใจเป็นพ้นพันทวี |
อันตัวของลูกทั้งสอง | มิได้อยู่รองบทศรี |
ไม่รู้ว่าราชไพรี | มายํ่ายีสมเด็จพระบิดา |
อันมนุษย์กับอ้ายเดียรัจฉาน | จะกล้าหาญกระไรหนักหนา |
ตัวลูกก็มีฤทธา | จะขออาสาไปชิงชัย |
สังหารลักษมณ์รามทั้งสองตน | กับพวกพลมิให้เหลือได้ |
อย่าอาวรณ์ร้อนราชฤทัย | ไว้นักงานข้าจะราวี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ฟังสองโอรสพาที | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
สิบปากสำรวลสรวลสันต์ | ตบหัตถ์สนั่นหวั่นไหว |
ซึ่งเจ้าจะยกออกไป | ชิงชัยด้วยพวกปัจจามิตร |
พ่อนี้มีความโสมนัส | ดั่งได้สมบัติดุสิต |
เห็นจะเสร็จสมอารมณ์คิด | ที่จะผลาญชีวิตไพรี |
ถึงบิดาก็จะไปต่อยุทธ์ | กับด้วยมนุษย์ทั้งสองศรี |
บัดนี้มณโฑเทวี | ชนนีเจ้าตั้งพิธีกรรม์ |
จะให้เกิดทิพย์ชลธาร | ไปรดหมู่มารที่อาสัญ |
อันตายเก่าตายใหม่ทั้งนั้น | ก็จะคืนชีวันขึ้นมา |
ลูกรักทั้งสองผู้ร่วมใจ | จงยกออกไปเป็นทัพหน้า |
ว่าแล้วจึ่งมีบัญชา | ตรัสสั่งเสนามโหทร |
เร่งเกณฑ์พหลพลมาร | เลือกล้วนเหี้ยมหาญชาญสมร |
ตัวกูจะออกไปราญรอน | ต่อกรด้วยราชไพรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมโหทรมารยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ เกณฑ์พลจตุรงค์องอาจ | สี่หมู่สามารถตัวขยัน |
ขุนช้างขี่ช้างชาญฉกรรจ์ | แกล้วกล้าซับมันร้ายแรง |
ขุนม้าขี่ม้าสินธพ | ชำนาญการรบเข้มแข็ง |
ขุนรถเทียมรถหุ้มทองแดง | แต่งตามกระบวนพิชัยยุทธ์ |
ขุนพลตรวจเตรียมพลหาญ | อลหม่านแน่นนันต์นับสมุทร |
ล้วนถือสาตราวราวุธ | สำแดงฤทธิรุทรเป็นโกลา |
อันพระโอรสทั้งสอง | ตั้งให้เป็นกองทัพหน้า |
รายเรียบเพียบพื้นพระสุธา | ดั่งคลื่นในมหาสาคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศกัณฐ์ชาญสมร |
กับสองโอรสฤทธิรอน | บทจรเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สามกษัตริย์สระสนานอินทรีย์ | วารีเย็นใสดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธาธารเสาวคนธ์ | ปรุงปนทิพมาศสุพรรณพราย |
ต่างสอดสนับเพลาเชิงงอน | อลงกรณ์แก้วกาญจน์ฉานฉาย |
ภูษาต่างสีฉลุลาย | เครือกระหนกนกกรายหงส์บิน |
ชายไหวชายแครงแสงเตร็จ | ฉลององค์เกราะเกล็ดล้วนเพชรสิ้น |
ทับทรวงรายดวงโกมิน | มณีนิลสังวาลตาบทิศ |
ทองกรพาหุรัดรูปนาคี | ธำมรงค์พลอยมณีโลหิต |
ต่างทรงมงกุฎชวลิต | ดอกไม้ทิศกุณฑลกรรเจียกจร |
ยี่สิบหัตถ์สมเด็จพระบิตุรงค์ | ทรงสรรพาวุธธนูศร |
พระลูกยาจับศิลป์ฤทธิรอน | กรายกรมาเกยอันโอฬาร์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้สองพระราชโอรส | เคลื่อนทศโยธีเป็นทัพหน้า |
ออกจากพิชัยลงกา | แล้วผ่านฟ้าก็ขึ้นคชาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
โทน
๏ ช้างเอยช้างศึก | เรียกมันครั่นครึกกำลังหาญ |
สูงเงื้อมงํ้าเขาหิมพานต์ | เชื้อชาติสารไอยราพต |
เท้าฉัดงวงคว้างาแทง | เรี่ยวแรงรวดเร็วดั่งลมกรด |
สู้สิบไกรสรไม่ละลด | ทรหดอดกลั้นสาตรา |
ผูกเครื่องกุดั่นข่ายกรอง | ดาวทองช่องกระจกปกหน้า |
ชนักต้นรัตคนอลงการ์ | ห้อยพู่งามสง่าในการยุทธ์ |
ประดับด้วยเครื่องสูงสำหรับศึก | ฆ้องกลองก้องกึกอึงอุด |
โห่สนั่นถึงชั้นคนิรุทร | รีบเร่งพลยุทธ์ดำเนินไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดจตุรงค์ | ตั้งลงเป็นกระบวนพยุห์ใหญ่ |
ในที่สมรภูมิชัย | มั่นไว้คอยทัพพระราม ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพลบโลกทั้งสาม |
ตรึกไปในการสงคราม | จนปัจฉิมยามเวลา |
ดาวเดือนเลื่อนลับอัมพร | ทินกรเยี่ยมยอดภูผา |
แสงทองจำรัสท้องฟ้า | สกุณาร้องก้องพนาลี |
เสียงชะนีโหยไห้หากัน | จักจั่นเรไรเรื่อยรี่ |
สำเนียงเสนาะดั่งดนตรี | ภูมีเป็นสุขสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเข้าที่ชำระสระสรง | ทรงเครื่องทิพรัตน์ฉายฉาน |
เสด็จจากห้องแก้วสุรกานต์ | ผ่านฟ้าออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองนัครา | ท้าวพญาวานรน้อยใหญ่ |
หมอบเฝ้าเกลื่อนกลาดดาษไป | ดั่งดาวล้อมแขไขในอัมพร |
ได้ยินสำเนียงโห่ร้อง | กึกก้องมรกตสิงขร |
ดั่งเสียงคลื่นในมหาสาคร | ภูธรตรัสถามโหรา |
วันนี้ใครยกมาโรมรัน | เสียงโห่สนั่นมาหนักหนา |
จะเป็นสุริย์วงศ์ในลงกา | หรือว่าทศกัณฐ์อสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ชุลีกรแล้วจับยามไป |
ทั้งอัศกาลแลตรีเนตร | สังเกตตามที่คัมภีร์ไสย |
เห็นแจ้งทุกสิ่งประจักษ์ใจ | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
ทัพนี้คือองค์ทศกัณฐ์ | กับสองกุมภัณฑ์โอรสา |
อันชื่อคิรีธรอสุรา | ผู้หนึ่งชื่อว่าคิรีวัน |
มารดาเป็นนางคชสาร | กล้าหาญเรี่ยวแรงแข็งขัน |
ทั้งสองนี้เกิดร่วมครรภ์ | อัศกรรณมาราขอไป |
เลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม | ในดุรัมบุรีจนใหญ่ |
หน้านั้นเป็นหน้าคชไกร | เหมือนไปข้างฝ่ายมารดา |
คุมหมู่พหลพลมาร | ฮึกหาญออกมาเป็นทัพหน้า |
ขอเชิญเสด็จพระจักรา | ยกไปเข่นฆ่าอสุรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกก็ยินดี | จึ่งมีพระราชโองการ |
ตรัสสั่งลูกพระสุริยา | จงจัดโยธาทวยหาญ |
เราจะยกออกไปรอนราญ | ผลาญหมู่อสุรอาธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
๏ เกณฑ์เป็นกากะพยุห์บาตร | ราชเป็นเศียรไปหน้า |
ปากนั้นวานรปิงคลา | ตาขวาเกณฑ์นิลปานัน |
ตาซ้ายฝ่ายสัตพลี | คอคือกระบี่นิลขัน |
พระภุชพงศ์ผู้ทรงสุบรรณ | เป็นกายกาอันว่องไว |
ปีกซ้ายตั้งให้ชมพูพาน | ปีกขวาหนุมานทหารใหญ่ |
เท้าซ้ายโคมุทวุฒิไกร | เท้าขวาเกณฑ์ให้นิลนนท์ |
นิลเอกเป็นหางปักษี | โยธีสลับเป็นเส้นขน |
จังเกียงเป็นเล็บกากล | ทุกตนล้วนมีฤทธิรุทร |
พื้นถือเครื่องสรรพสาตรา | กวัดแกว่งไปมาอุตลุด |
ตั้งเป็นกระบวนพิชัยยุทธ์ | คอยพระจักรภุชเสด็จจร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วทรงศร |
กับองค์พระลักษมณ์ฤทธิรอน | บทจรไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ น้ำทิพย์โปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเครือวงเป็นหงส์บิน | รายพลอยโกมินพรรณราย |
พระหริวงศ์ทรงทิพย์ภูษา | เทเวศนำมาบรรจงถวาย |
พระอนุชาผ้าพื้นสุพรรณพราย | ฉลุลายแย่งยกกระหนกพัน |
ชายแครงชายไหวรุ้งร่วง | ฉลององค์ล้วนดวงสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | สะอิ้งดวงกุดั่นประดับพลอย |
พาหุรัดทองกรมังกรกราย | ธำมรงค์เพชรพรายดั่งหิ่งห้อย |
มงกุฎแก้วสุรกานต์ดวงลอย | กุณฑลทิพย์สุกย้อยกรรเจียกจร |
พระเชษฐาทรงพระแสงพรหมาสตร์ | พระลักษมณ์จับพลายวาตธนูศร |
งามดั่งสุริยันกับจันทร | กรายกรขึ้นรถเทวัญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
ร่าย
๏ จึ่งสั่งให้พระลักษมณ์เป็นทัพหน้า | เลิกพวกโยธาพลขันธ์ |
ไชยยามโบกธงเป็นสำคัญ | โห่สนั่นลั่นพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
โทน
๏ รถเอยสองรถทรง | ดุมวงกงแก้วมุกดาหาร |
แอกงอนอ่อนงามโอฬาร | ธงฉานทานชูเฉลิมปลาย |
บัลลังก์บดเหลี่ยมเป็นเรือนเก็จ | กระจกพื้นกระจังเพชรบัวหงาย |
เรียงสัตว์รูปสิงห์พริ้งพราย | ครุฑรายเครือรับสลับกัน |
บันสะบัดบุษบกสลับหงส์ | มุขสี่แม้นทรงวิมานสวรรค์ |
เทียมสินธพสิบเทวัญ | ขับพลควบผันเผ่นทะยาน |
มาตุลีนั่งประณตประนมหัตถ์ | แถวฉัตรธงชายฉายฉาน |
เครื่องสูงครบสิ่งโอฬาร | กลองขานกลบฆ้องอึงอล |
กงลั่นก้องเลื่อนสะเทือนภพ | ทหารรบโห่เร้ากุลาหล |
ผงคลีพัดคลุ้มโพยมบน | ขับร้นแข่งรีบกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงให้หยุดทัพขัน | ตั้งมั่นตามเชิงเขาใหญ่ |
เป็นรูปกากางปีกออกไว้ | โดยในพยุห์ที่ยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ