- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๗
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพญาพาลีแกล้วกล้า |
เสด็จออกบัญชรรจนา | พร้อมหมู่มาตยามนตรี |
หมอบกลาดดาษไปจนสุดเนตร | ดั่งเทเวศร์เฝ้าองค์โกสีย์ |
ว่าขานกิจจาการธานี | อยู่ที่สิงหาสน์ไพชยนต์ |
เหลือบเห็นทศพักตร์อุ้มนาง | เหาะลอยมากลางเวหน |
ล่วงเข้าในภพมณฑล | ข้ามมหาไพชยนต์ปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ให้พิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | ทำอำนาจเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
เหม่ไอ้ทศกัณฐ์จังไร | หมิ่นกูไม่กลัววายปราณ |
ว่าแล้วฉวยชักพระขรรค์ | ขบฟันกวัดแกว่งสําแดงหาญ |
หมายมาดพิฆาตขุนมาร | เหาะทะยานขึ้นยังอัมพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นโฉมนางวิไลลักษณ์ | ผิวพักตร์เพียงเทพอัปสร |
เกิดความเสน่หาอาวรณ์ | ร้องว่าดูก่อนอสุรา |
อันตัวของเราก็เป็นชาย | เอ็งทําหยาบคายไม่เกรงหน้า |
อุ้มนางข้ามเมืองกูมา | จักฆ่าให้ม้วยชีวี |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นพานรขวางหน้าราวี | อสุรีกริ้วโกรธคือไฟฟ้า |
เหม่เหม่ไอ้ชาติเดียรฉาน | ฮึกหาญพาทีให้เกินหน้า |
อากาศเป็นที่ไปมา | ปักษีวิทยาสุราลัย |
กูเดินโดยทางอัมพร | จะเหยียบเศียรวานรก็หาไม่ |
ซึ่งมึงเย่อหยิ่งจะชิงชัย | จะได้เห็นกันบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวมัฆวานเรืองศรี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | เหวยเหวยอสุรีพาลา |
นางนี้จะเป็นเมียกู | ไอ้สู่รู้จะม้วยสังขาร์ |
ว่าแล้วแกว่งตรีอันศักดา | เข้าไล่เข่นฆ่ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างแทงต่างตีต่างรับ | หันเวียนกลอกกลับดั่งจักรผัน |
ต่างแข็งต่างกล้าไม่ละกัน | ต่างฟาดต่างฟันประจัญบาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ต่อด้วยลูกท้าวมัฆวาน | ขุนมารเสียกำลังกายา |
กรหนึ่งอุ้มองค์บังอร | สิบเก้ากรต่อตีเข่นฆ่า |
ทิ่มแทงแย้งยุทธ์เป็นโกลา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าโสฬส |
อาวุธผัดกันเป็นประกาย | แสงกระจายพรายไปดั่งไฟกรด |
ต่างหาญต่างกล้าไม่เงือดงด | ต่างทดต่างแทนฝีมือกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พาลีฤทธิแรงแข็งขัน |
โลดโผนโจนจ้วงทะลวงฟัน | บุกบั่นเลี้ยวไล่อสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มิให้ดำรงทรงกายได้ | ด้วยกำลังว่องไวกระบี่ศรี |
ทิ่มแทงทศกัณฐ์หลายที | ขุนกระบี่ชิงได้นางมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
เสียเมียดั่งเสียชีวา | ชลนาคลอเนตรอสุรี |
ทั้งรักทั้งแค้นทั้งเสียดาย | ไม่คิดแก่กายยักษี |
ถาโถมโจมจ้วงทะลวงตี | คลุกคลีวางวิ่งเข้าชิงนาง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ รบชิดติดพันกระชั้นไป | กลับกลอกว่องไวมิให้ห่าง |
ต่างหนีต่างไล่ไม่ละวาง | ต่างแทงต่างฟันกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีใจกล้า |
มือซ้ายอุ้มองค์กัลยา | กรขวาถือตรีโรมรัน |
ถีบถูกทศพักตร์ยักษี | ขุนกระบี่ชี้นิ้วเย้ยหยัน |
ทำยักคิ้วหลิ่วตาขบฟัน | ว่าเหวยทศกัณฐ์ยี่สิบกร |
นางนี้จะเป็นเมียใคร | งามวิไลล้ำเทพอัปสร |
ว่าพลางจุมพิตบังอร | วานรแกล้งเย้าอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
สัประยุทธ์ชิงชัยด้วยพาลี | สุดที่จะทานฤทธา |
สุดคิดสุดฤทธิ์สุดกำลัง | เพียงสิ้นชีวังสังขาร์ |
สุดที่จะชิงเอาเมียมา | สุดปัญญาก็หนีวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีชาญสมร |
มีชัยชิงได้บังอร | ก็เขจรคืนเข้าธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมโฉม
๏ ครั้นถึงห้องทองไสยาสน์ | วางนางเหนืออาสน์มณีศรี |
พินิจพิศทั่วทั้งอินทรีย์ | มีลักษณ์พริ้มพร้อมวิไลวรรณ |
งามพักตร์งามขนงงามเนตร | งามเกศงามจุไรงามถัน |
งามโอษฐ์งามแก้มงามกรรณ | งามพรรณผิวเนื้อดั่งทองทา |
งามขำงามคมสมควร | งามกระบวนยวนยั่วเสน่หา |
งามทั้งจริตกิริยา | จึงมีบัญชาตรัสไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชาตรี
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏผู้ยอดพิสมัย |
จะขอถามน้องอย่าหมองใจ | นามกรชื่อไรนางเทวี |
เจ้าเป็นหน่อจักรพรรตรา | ฤๅนางสวรรค์ชั้นฟ้าในราศี |
เหตุใดมาด้วยอสุรี | จงบอกแก่พี่แต่จริงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดพิสมัย |
ให้คิดขวยเขินสะเทินใจ | บังคมไหว้สนองพจมาน |
ตัวข้าชื่อว่ามณโฑ | ภิญโญยศยอดสงสาร |
เป็นบุตรพระมหาอาจารย์ | สี่องค์ทรงฌานท่านเลี้ยงมา |
เธอพาไปถวายเป็นข้าบาท | พระอิศโรธิราชนาถา |
ฝ่ายทศพักตร์อสุรา | ไปอาสาองค์พระศุลี |
ยกเขาไกรลาสนั้นขึ้นได้ | ขอองค์อรไทมเหสี |
ประทานข้าแทนนางเทวี | อสุรีจึ่งพาเหาะมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | เยาวลักษณ์ยอดสุดเสน่หา |
ซึ่งเจ้าบอกเล่ากิจจา | พี่ยาก็แจ้งประจักษ์ใจ |
อันทศพักตร์ยักษี | อสุรีหาควรแก่เจ้าไม่ |
บุญพี่กับนางได้สร้างไว้ | เผอิญให้มันพามาพบกัน |
จะเลี้ยงน้องไว้ให้เป็นเอก | ร่วมเศวกฉัตรฉายฉัน |
ใหญ่กว่าสนมกํานัล | ขวัญเมืองจงได้ปรานี |
ว่าพลางเลียมลอดสอดคว้า | แก้วตาอย่าผินหนีพี่ |
ตระโบมโลมลูบทั้งอินทรีย์ | มารศรีอย่าสลัดตัดรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ทรงเอยทรงฤทธิ์ | พระองค์จงคิดให้ชอบก่อน |
ปรานีน้องเถิดภูธร | จะหักหาญรานรอนนั่นไม่ดี |
ตัวน้องสิเป็นเมียเขา | พระปิ่นเกล้าประทานยักษี |
ซึ่งจะมารวมรสประเวณี | เวราจะมีติดตัวไป |
เป็นถึงสุริย์วงศ์วราเดช | ใช่จะไร้อัคเรศก็หาไม่ |
มารักเมียท่านด้วยอันใด | ไตรโลกจะหมิ่นนินทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนช่างคิดประดิษฐ์ว่า |
อันบาปบุญคุณโทษเวรา | พี่ยาก็แจ้งประจักษ์ใจ |
ซึ่งว่าเป็นเมียอสุรี | คำนี้หาต้องการไม่ |
เป็นแต่สัมผัสกำหนัดใน | ยังมิได้ร่วมสมชมชิด |
อันธรรมเนียมกษัตริย์ทั้งแผ่นภพ | รุกรบได้นางก็เป็นสิทธิ์ |
พี่ก็อยู่ในธรรมทศพิธ | ใช่จะไม่คิดเมื่อไรมี |
ว่าพลางอิงแอบแนบเคล้า | จุมพิตยั่วเย้าโฉมศรี |
เชยมณฑาทิพย์สุมาลี | บุษบงคลายคลี่ผกากาญจน์ |
ภุมรินบินเคล้าละอองอาบ | เชยซาบเสาวคนธ์หอมหวาน |
พระพิรุณพรอยพรมสุมามาลย์ | เบิกบานรับแสงทินกร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑดวงสมร |
สมสู่ด้วยพญาพานร | สโมสรชื่นชมปรีดา |
ลืมองค์พระสยมภูวญาณ | ลืมทศกัณฐ์มารยักษา |
ลืมทั้งสมเด็จพระอุมา | ลืมมหาไกรลาสคีรี |
แรกรู้ในรสสังวาส | แสนสวาทลูกท้าวโกสีย์ |
แสนเกษมแสนสุขทุกราตรี | ในธานีขีดขินอันโอฬาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายทศเศียรใจหาญ |
ครั้นถึงปราสาทสุรกานต์ | ขุนมารเข้าที่ไสยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ ลดองค์นิ่งขึงตะลึงคิด | เสียแรงกูมีฤทธิ์แกล้วกล้า |
อาสาสมเด็จพระอิศรา | ยกมหาไกรลาสลําบากใจ |
จึ่งได้น้องอุ้มแอบแนบชิด | ให้พาลีชิงปลิดเอาไปได้ |
เสียทีมีฤทธิ์เกรียงไกร | มาแพ้ไอ้ลิงไพรอัปรีย์ |
โอ้อนิจจามณโฑเอ๋ย | ไม่เห็นเลยว่าจะจากอกพี่ |
ค่อยประคองอุ้มน้องจรลี | ถนอมศรีมาในอัมพร |
ปางเนตรเจ้าแลมาสบเนตร | ให้ชูชวนกาเมศสโมสร |
ปางกรพี่เกี่ยวกระหวัดกร | ดวงสมรแนบเนื้อในอุรา |
ปางเจ้าเหลือบมาพี่จุมพิต | กลิ่นแก้มยังติดนาสา |
ซาบชื่นรื่นรสสุคนธา | แต่องค์วนิดามาจากไป |
สิ้นทั้งสุราลัยไตรจักร | จะหาเปรียบเยาวลักษณ์ก็ไม่ได้ |
ร่ำพลางสะอื้นอาลัย | ถอนใจโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางอัคคีเยาวยอดเฉลิมขวัญ |
กับฝูงอนงค์กำนัล | เห็นพญากุมภัณฑ์เสด็จมา |
พระจริตนั้นผิดกว่าแต่ก่อน | ทุกข์ร้อนเศร้าโทมนัสสา |
มิได้สรงเสวยโภชนา | เข้าห้องไสยาโศกี |
ต่างคนต่างเข้าอยู่งาน | หมอบกรานบำเรอดีดสี |
บ้างก็เข้าโบกปัดพัดวี | ทุกที่ตำแหน่งพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นฝูงนางกำนัล | ทั้งนั้นเข้ามาอยู่งาน |
พิศดูรูปโฉมแล้วฟังเสียง | ไม่งามเสนาะเพราะเพรียงอ่อนหวาน |
ยิ่งคิดถึงมณโฑเยาวมาลย์ | ให้บันดาลคลั่งคลุ้มกลุ้มใจ |
ผุดลุกขึ้นจากที่ไสยาสน์ | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
เหม่เหมดูดู๋อีจังไร | กูจะฆ่าให้ม้วยชีวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ศัพท์ไทย
๏ ว่าพลางฉวยชักพระขรรค์ | แผดเสียงสนั่นดั่งฟ้าผ่า |
กวัดแกว่งไปมา | ไล่ฝูงนารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ อี่เอยอี่ทรลักษณ์ | กูจักตัดเกล้าเกศี |
พาอี่กาลี | วิ่งหนีไปไย |
มึงมาชวนกัน | เย้ยหยันกูได้ |
ว่าพลางภูวไนย | เลี้ยวไล่อลวน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นางเอยนางกำนัล | ตัวสั่นวิ่งหนีสับสน |
กลัวจักวายชนม์ | เวียนวนวุ่นวาย |
ต่างตนร้องตรีด | หวาดหวีดขวัญหาย |
นางท้าวเจ้ายาย | พลัดพรายวุ่นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นเอยครั้นเห็น | สาวศรีหนีเร้นไม่รอหน้า |
ยิ่งกริ้วโกรธา | ดั่งว่าไฟกัลป์ |
คลั่งคลุ้มกลุ้มกลัด | กวัดแกว่งพระขรรค์ |
เลี้ยวไล่ฟาดฟัน | พัลวันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลน้อยใหญ่ |
เห็นองค์พญามารชาญชัย | คลั่งไคล้ไม่เป็นสมประดี |
บ้างวิ่งซุกซอนซ่อนตัว | ด้วยกลัวอาญายักษี |
สิ้นทั้งนักเทศขันที | มีแต่นั่งปรับทุกข์กัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
แสนโศกโศกาจาบัลย์ | แสนทุกข์อัดอั้นตันใจ |
แต่โหยหวนครวญถึงคะนึงคิด | จะออกว่าราชกิจก็หาไม่ |
จนถึงเจ็ดเดือนล่วงไป | มิได้สบายวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
ทั้งองค์พิเภกอนุชา | เห็นพระเชษฐาฤทธิรอน |
คลุ้มคลั่งดั่งเสียพระจริต | อาการนั่นผิดกว่าแต่ก่อน |
ไม่ออกเสนาพลากร | จะนั่งนอนก็ทอดถอนใจ |
ต่างตนครั้นได้แจ้งเหตุ | แสนเทวษทุกข์ทนหม่นไหม้ |
ปรึกษาหารือกันวุ่นไป | จึ่งคิดได้ว่าองค์พระสิทธา |
มหาโคบุตรทรงญาณ | ซึ่งเป็นอาจารย์ของเชษฐา |
จำจะให้ไปนิมนต์มา | โน้มน้าวเจรจาพาที |
คิดแล้วจึ่งมีพจนารถ | สั่งขุนอำมาตย์ยักษี |
จงเร่งไปเชิญพระมุนี | เข้ามายังที่วังใน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระองค์ทรงฤทธิไกร | ก็รีบไปยังบรรณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทบงสุ์ | พระโคบุตรผู้ทรงสิกขา |
แจ้งความตามราชบัญชา | น้องเจ้าลงกาพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังก็ลุกขึ้นลนลาน | คว้าหาบริขารวุ่นไป |
ฉวยคากรองนุ่งเข้ารุงรัง | จะหาหนังเสือห่มก็ไม่ได้ |
ย่ามตกหกพล่านงุ่นง่านใจ | จับไม้เท้าจ้องรีบจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงขึ้นบนปราสาท | นั่งอาสน์นพรัตน์ประภัสสร |
ตาลปัตรพัดย่ามไม่วางกร | เอกเขนกกับหมอนอย่างดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นพระมหามุนี | มีความยินดีปรีดา |
ยอกรถวายอภิวาทน์ | แทบบาทยุคลซ้ายขวา |
ทอดถอนฤๅทัยไปมา | แล้วแจ้งกิจจาทุกประการ |
อันตัวของโยมครั้งนี้ | แสนทวีด้วยเทวษดั่งเพลิงผลาญ |
แม้นว่ามิได้เยาวมาลย์ | หลานก็จะสิ้นชีวาลัย |
ขอองค์พระอัยกาเจ้า | โปรดเกล้าจงช่วยแก้ไข |
ให้ได้มณโฑอรไท | มาไว้เป็นปิ่นกัลยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโคบุตรอาจารย์ฌานกล้า |
ยิ้มแล้วจึ่งตอบวาจา | จะปรารมภ์ไปไยแต่เพียงนี้ |
แม้นจะใคร่ได้นางโฉมยง | จงไปหาองค์พระฤๅษี |
อันชื่ออังคตมุนี | เป็นอาจารย์พาลีมาแต่ไร |
ให้เธอเมตตาช่วยว่าขาน | เห็นการหาขัดได้ไม่ |
หลานรักจงเร่งรีบไป | กราบไหว้อ้อนวอนพระนักธรรม์ |
ว่าแล้วถวายพระพรลา | องค์เจ้าลงการังสรรค์ |
ลงจากปราสาทสุวรรณ | ไปยังอรัญกุฎี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้อุบายพระมหามุนี | ดั่งวารีทิพมารดองค์ |
จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งท้าวครรไลหงส์ |
พระกรจับศรฤทธิรงค์ | เหาะตรงไปยังศาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งอาศรมบท | พระอังคตผู้ทรงสิกขา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | แล้วทรงโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระมหาอาจารย์ฌานขยัน |
เห็นทศเศียรกุมภัณฑ์ | กันแสงครวญคร่ำร่ำไร |
จึ่งมีสุนทรวาจา | เหตุใดมาหาแล้วร้องไห้ |
ทุกข์ร้อนอาวรณ์ประการใด | กูนี้สงสัยในวิญญาณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
ยอกรกราบบาทพระอาจารย์ | ก็แจ้งการแต่ต้นจนปลายไป |
โยมนี้ไม่มีที่เห็น | ใครอันจะเป็นที่พึ่งได้ |
นิมนต์พระอัยกาปรีชาไว | ไปช่วยว่ากล่าวแก่พาลี |
ขอเมียข้าบาทนี้คืนมา | เหมือนให้ทานชีวายักษี |
ว่าพลางซบพักตร์ลงโศก | ดั่งหนึ่งชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอังคตผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังทศกัณฐ์ขุนมาร | ทรงญาณนิ่งนึกตรึกคิด |
ดูดู๋ลูกท้าวหัสนัยน์ | องอาจทําได้ไม่เกรงผิด |
นางนี้พระอิศวรทรงฤทธิ์ | ประสิทธิ์ให้เป็นบำเหน็จมา |
จำเป็นจะช่วยไกล่เกลี่ย | ขอเมียมันคืนให้ยักษา |
จะไม่เคืองใต้เบื้องบาทา | องค์พระอิศราเรืองชัย |
คิดแล้วจึ่งว่าอย่ารำคาญ | ไว้นักงานกูจะขอให้ |
เอ็งอย่าโศกาอาลัย | คอยอยู่จะไปบัดเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ ว่าแล้วห่อเกล้าชฎาเกศ | ครองเครื่องตามเพศฤๅษี |
ฉวยย่ามเภสัชพัชนี | ออกจากกุฎีแล้วเหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงขีดขินราชฐาน | อันโอฬารดั่งดาวดึงสา |
ลงยังพ่างพื้นพสุธา | ขึ้นมหาปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พญาพาลีชาญสมร |
ออกหมู่เสนาวานร | ภูธรแลเห็นพระอาจารย์ |
จึ่งเลื่อนลดองค์ลงจากอาสน์ | อภิวาทน์ด้วยใจเกษมศานต์ |
นิมนต์พระองค์ผู้ทรงญาณ | ขึ้นแท่นสุรกานต์รูจี |
แล้วมีมธุรสวาจา | ปราศรัยพระมหาฤๅษี |
ซึ่งผู้เป็นเจ้าเข้ามานี้ | มีกิจประสงค์สิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอังคตอาจารย์ใหญ่ |
ได้ฟังลูกท้าวหัสนัยน์ | จึ่งตอบคำไปด้วยปรีชา |
รูปไม่สบายอารมณ์นัก | ด้วยทศพักตร์ยักษา |
มันไปรบกวนทุกเวลา | แสนโศกโศการำพัน |
ว่าไปยกไกรลาสคืนตรง | องค์พระอิศวรรังสรรค์ |
ประทานมณโฑเป็นรางวัล | จึ่งพากันมาโดยอัมพร |
ท่านออกรณรงค์กลางทาง | ชิงนางไว้ร่วมสโมสร |
ฝ่ายเจ้าก็มีฤทธิรอน | จะมาจับไฟร้อนด้วยอันใด |
นางนี้สิเป็นเมียเขา | องค์พระเป็นเจ้าประทานให้ |
เป็นบำเหน็จทศกัณฐ์ชาญชัย | แจ้งไปจะเคืองพระบาทา |
พระองค์เป็นวงศ์เทเวศ | ใช่จะไร้อัคเรศเสน่หา |
รูปขอคืนให้อสุรา | เห็นว่าจะไม่มีราคี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ได้ฟังพระมหามุนี | ขุนกระบี่นิ่งนึกตรึกไป |
อันนางมณโฑนงลักษณ์ | ยากนักที่กูจะหาได้ |
ครั้นจะขัดอาจารย์จะน้อยใจ | จะให้ก็เสียดายกัลยา |
คิดแล้วจึ่งตอบพระนักธรรม์ | ทศกัณฐ์อาจใจให้เกินหน้า |
ควรฤๅจึ่งขอพระอุมา | แล้วเหาะข้ามพาราไม่เกรงใจ |
ข้าทำทั้งนี้ด้วยความโกรธ | เมื่อว่าเป็นโทษจะส่งให้ |
แต่นางมณโฑทรามวัย | มีครรภ์ได้ถึงกึ่งปี |
จะผ่อนปรนก็ขัดสนนัก | ด้วยลูกรักในท้องมารศรี |
ข้ามิให้ปนศักดิ์อสุรี | พระมุนีจงได้เมตตา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอังคตอาจารย์ฌานกล้า |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | ข้อนั้นอย่าปรารมภ์ใจ |
อันบุตรในครรภ์นางโฉมยง | จะให้แก่พระองค์จงได้ |
จะแหวะออกใส่ท้องแพะไว้ | มิให้อันตรายชีวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวมัฆวานรังสรรค์ |
ได้ฟังวาจาพระนักธรรม์ | อัดอั้นพระทัยพันทวี |
สุดรักสุดเสียดายเพียงชีวิต | สุดคิดที่จะขัดพระฤๅษี |
แต่ทอดถอนฤๅทัยหลายที | ขุนกระบี่ขัดสนจนใจ |
จำเป็นจึ่งมีพจมาน | สั่งนางพนักงานน้อยใหญ่ |
ให้หามณโฑทรามวัย | มาบังคมไหว้พระสิทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลซ้ายขวา |
รับสั่งถวายบังคมลา | เข้ามายังห้องอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงนั่งลงบังคมบาท | พระอัครราชผู้ยอดสงสาร |
ทูลว่าพระจอมสุธาธาร | ให้เชิญบทมาลย์นางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑมารศรี |
แจ้งในรับสั่งพระสามี | ก็รีบจรลีออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | พระอาจารย์ผู้ทรงสิกขา |
หมอบอยู่ตรงพักตร์ภัสดา | คอยฟังบัญชาภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์ชาญสมร |
พิศพักตร์อัศเรศบังอร | อาลัยสะท้อนถอนใจ |
แล้วมีมัธุรสพจนารถ | ดวงสวาทผู้ยอดพิสมัย |
บัดนี้พระอาจารย์ชาญชัย | มาขอเจ้าคืนให้อสุรา |
สุดคิดที่จะขัดพระนักสิทธ์ | จนจิตจนใจเป็นหนักหนา |
เชิญเจ้าไปตามบัญชา | องค์พระอิศราโปรดปราน |
ตัวน้องจะได้เป็นเอก | ในเศวกฉัตรฉายฉาน |
อันบุตรในครรภ์นงคราญ | เปรียบปานดั่งดวงชีวี |
พี่ขอแหวะเอาแต่ลูกรัก | ไว้ชมต่างพักตร์มารศรี |
เจ้าอย่ากังขาราคี | ปรานีพี่เถิดกัลยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
โอ้
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดเสน่หา |
ได้ฟังดั่งจะม้วยมรณา | โศการำพันทูลไป |
โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมแก้ว | ไม่ปรานีเมียแล้วฤๅไฉน |
จะมาสลัดตัดอาลัย | คืนให้ไปแก่อสุรี |
เดิมได้บัญชาแก่ข้าบาท | จะเลี้ยงเป็นอัครราชมเหสี |
อกเอ๋ยเสียชาติเป็นสตรี | จะมีคู่ครองถึงสองชาย |
เสียทีกําเนิดเกิดมา | ชั่วช้ากว่าหญิงทั้งหลาย |
ว่าพลางกลิ้งเกลือกเสือกกาย | โฉมฉายสุดสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอังคตฤาษี |
เห็นนางมณโฑเทวี | กันแสงโศกีสลบไป |
จึ่งเรียกเอาตรีสุรกานต์ | ลูกท้าวมัฆวานก็ส่งให้ |
พระนักธรรม์แหวะครรภ์อรไท | โดยไสยเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ แล้วช้อนเอาองค์พระกุมาร | อันหย่อนกาลกว่าทศมาสา |
ใส่ในท้องแพะด้วยฤทธา | แล้วร่ายวิทยาเป่าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เดชะมนตราพระดาบส | แผลกายหายหมดหาเห็นไม่ |
ก็ฟื้นตื่นองค์อรไท | ด้วยฤทธิไกรพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑมารศรี |
ครั้นฟื้นคืนได้สมประดี | เทวีบังคมพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอังคตปรีชากล้าหาญ |
จึ่งลาลูกท้าวมัฆวาน | พานงคราญเดินมากุฎี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ครั้นถึงจึ่งกล่าวสุนทร | ดูก่อนทศพักตร์ยักษี |
กูไปว่ากล่าวพาลี | ได้นางเทวีคืนมา |
แต่ว่าโฉมยงทรงครรภ์ | กลัวจะปนพงศ์พันธุ์ยักษา |
เขาให้ตัวกูผู้สิทธา | แหวะเอาบุตรานั้นไว้ |
เอ็งพาไปเลี้ยงจงดี | โดยประเพณีโลกวิสัย |
ครอบครองสวรรยาราชัย | ไพบูลย์พูนสุขทุกนิรันดร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศพักตร์พงศ์พรหมรังสรรค์ |
ก้มเกล้าประนมบังคมคัล | ยินดีเป็นพ้นพันทวี |
จึ่งว่าอันคุณพระอาจารย์ | ขอประทานใส่ไว้เหนือเกศี |
แม้นมิใช่องค์พระมุนี | ที่ไหนพาลีจะให้มา |
พระจงค่อยอยู่สำราญ | ที่ในสถานแนวป่า |
ว่าแล้วกราบบาทพระสิทธา | อุ้มองค์กัลยาเหาะไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยมาในอัมพร | ข้ามมหาสาครกว้างใหญ่ |
ถึงทวีปลงกากรุงไกร | ก็เข้าในปราสาทอลงการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชาตรี
๏ วางองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยดวงมุกดาหาร |
พินิจพิศโฉมนงคราญ | แล้วมีพจมานอันสุนทร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏนิ่มเนื้อดวงสมร |
บุญพี่กับองค์บังอร | แต่ก่อนเคยสร้างมาด้วยกัน |
พระเป็นเจ้าจึ่งประทานน้อง | ให้มาร่วมห้องภิรมย์ขวัญ |
ยังไม่ได้ชมแก้วสักกึ่งวัน | พาลีโมหันธ์ฉันทา |
ออกรณรงค์ยงยุทธ์ | สัประยุทธ์ด้วยจิตอิจฉา |
รอนราญหาญหักอหังการ์ | ชิงเอาแก้วตาของพี่ไป |
แต่โศกามาถึงกึ่งปี | จะเว้นสักนาทีก็หาไม่ |
แม้นมิเป็นห่วงด้วยดวงใจ | ที่ไหนพี่จะคงชีวี |
สุดรักสุดกลั้นสุดกำลัง | จึ่งซังไปหาพระฤๅษี |
สิ้นเวรสิ้นกรรมเราวันนี้ | จึ่งได้แก้วพี่คืนมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ว่าพลางก็ทางสัพยอก | เย้าหยอกด้วยความเสน่หา |
กรสอดกอดลูบพนิดา | อสุราชื่นเริงบันเทิงใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑผู้ยอดพิสมัย |
ปัดกรค้อนคมแล้วทูลไป | พระคุณภูวไนยพันทวี |
เห็นแจ้งประจักษ์ว่ารักจริง | จึ่งทิ้งเสียได้เอาตัวหนี |
เพราะเมตตาจึ่งช้าถึงกึ่งปี | ถ้ามิปรานีจะนานครัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏเลิศล้ำสาวสวรรค์ |
รักเจ้าเท่าดวงชีวัน | ควรฤๅรําพันเจรจา |
ก็ย่อมแจ้งใจอยู่ในอก | อย่ายกโทษพี่เลยกนิษฐา |
ว่าพลางอิงแอบแนบกายา | กรลอดสอดคว้ายุพาพาล |
ชมเนตรเกศแก้มแล้วรับขวัญ | เชยมณฑาสวรรค์หอมหวาน |
พยับคลุ้มชอุ่มอนธการ | ฟ้าลั่นบันดาลคำรน |
เมขลาล่อแก้วแววไว | รามสูรเลี้ยวไล่ในเวหน |
เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่นอึงอล | ฝนสวรรค์พรอยพรมมาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางมณโฑมารศรี |
ได้ร่วมรสทศพักตร์อสุรี | เทวีพิศวาสจะขาดใจ |
ลืมองค์พญาพานรินทร์ | ลืมพิชัยขีดขินกรุงใหญ่ |
ลืมทั้งโอรสยศไกร | ลืมฝูงนางในกำนัล |
เพลิดเพลินด้วยสมบัติพัสถาน | แสนสำราญเป็นสุขเกษมสันต์ |
เฟี้ยมเฝ้าประดิพัทธ์ผูกพัน | กับองค์ทศกัณฐ์สามี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระอังคตฤาษี |
แต่แหวะครรภ์มณโฑเทวี | พระมุนีใส่ท้องแพะไว้ |
ตั้งพิธีรักษากุมาร | จะมีเหตุเภทพาลก็หาไม่ |
ครบกำหนดทศมาสยามชัย | ก็เข้าไปขีดขินพระนคร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงขึ้นปราสาท | นั่งอาสน์เนาวรัตน์ประภัสสร |
แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนพญาพาลี |
กุมารซึ่งใส่ท้องแพะไว้ | คิดได้โดยเดือนดิถี |
ถ้วนกำหนดทศมาสฤกษ์ดี | วันนี้กูจะแหวะออกจากครรภ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์รังสรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | อภิวันท์แล้วตอบวาจา |
อันคุณพระมหาอาจารย์ | ขอประทานใส่ไว้เหนือเกศา |
ซึ่งจะแหวะเอาองค์กุมารา | ตัวข้ามีความยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ตรัสแล้วมีราชโองการ | สั่งนางพนักงานสาวศรี |
จงนำนางแพะมาบัดนี้ | ให้ทันนาทียามชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางพนักงานน้อยใหญ่ |
รับสั่งพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหวแล้วรีบไปพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงที่นางแพะอยู่ | จึ่งหมู่อนงค์สาวสรรค์ |
บ้างจูงบ้างล้อมถนอมครรภ์ | พานางแพะนั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
สมาธิสํารวมวิญญาณ์ | โดยมหาไสยเวทพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เป่าเข้าในปากนางแพะ | แล้วแหวะด้วยมีดพระฤๅษี |
ช้อนองค์กุมารมาทันที | วางที่พานทองพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เถ้าแก่ชะแม่สาวสรรค์ |
ต่างคนชื่นชมบังคมคัล | เชิญพระกุมารนั้นออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ชําระสระสนานหลานอินทร์ | ให้หมดมลทินดั่งแขไข |
แล้วเชิญพระโอรสยศไกร | ขึ้นไว้เหนืออาสน์โอฬาร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบสผู้ทรงสิกขา |
จึ่งให้นามตามองค์พระสิทธา | เป็นมหามงคลสวัสดี |
ชื่อว่าองคตกุมาร | สุริย์วงศ์มัฆวานเรืองศรี |
แล้วอวยชัยประสิทธิ์ฤทธี | จงอยู่ดีเป็นสุขสถาวร |
ครั้นเสร็จถวายพระพรลา | องค์พญาพาลีชาญสมร |
เหาะระเห็จขึ้นยังอัมพร | เขจรไปที่พระนักธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พาลีฤทธิแรงแข็งขัน |
เห็นพระลูกยาวิลาวัณย์ | ผิวพรรณเสาวภาคย์ทั้งกายา |
พิศพักตร์ลักขณาราศี | เป็นที่จําเริญเสน่หา |
ตัวเขียวปรากฏรจนา | โสภาผ่องพักตร์อำไพ |
จึงจัดสาวสรรค์กำนัลนาง | ล้วนโฉมสำอางประทานให้ |
ทั้งพระนมพี่เลี้ยงนอกใน | มหาดเล็กเด็กใช้ครบครัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางดาราสาวสวรรค์ |
รักใคร่ในองคตนั้น | ดั่งบุตรอันเกิดในอุทร |
จึ่งอุ้มเอาองค์ลูกรัก | วางลงเหนือตักสายสมร |
นางค่อยสนองประคองกร | ช้อนเกศขึ้นแล้วก็เชยชม |
ด้วยความพิศวาสพระกุมาร | พยาบาลเลี้ยงมาแต่ประถม |
เช้าค่ำพร่ำถนอมเป็นอารมณ์ | นางให้เสวยนมแต่นั้นมา |
อันพระถันธาราอรไท | ก็ไหลจากพระเต้าซ้ายขวา |
ดั่งอมฤตรสโอชา | จนชันษาได้สิบปี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาพานรินทร์เรืองศรี |
เห็นโอรสจำเริญสวัสดี | ก็ปรีดาภิรมย์สมคิด |
จะใคร่ให้ลงสรงสาคร | ภูธรจึ่งมีประกาศิต |
แก่โหราผู้รู้ดูนิมิต | จงพินิจฤกษ์ยามเวลา |
กูจะทํามงคลสรงสนาน | องค์พระกุมารโอรสา |
ที่ในแม่น้ำยมนา | อย่าให้มีเหตุเภทภัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนโหราผู้ใหญ่ |
รับสั่งลูกท้าวหัสนัยน์ | ก็ขับไล่ไปตามคัมภีร์ |
เสร็จแล้วประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พญากระบี่ศรี |
ซึ่งจะลงสรงชลธี | ฤกษ์ดียังอีกสามวัน |
ตีสิบเอ็ดได้โชคอสุรินทร์ | ปลอดทั้งทักทินยมขันธ์ |
แม้นว่าพ้นเวลานั้น | สุริยันอรุณจะมีภัย |
จะต้องรณรงค์ในคงคา | แต่ว่าจะจับตัวได้ |
จะปรากฏพระยศทั้งแดนไตร | ถึงร้ายก็นัยจะเป็นดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ฟังโหรถวายฤกษ์นาที | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งมหาเสนาผู้ใหญ่ |
ให้แต่งการสนานชลาลัย | แล้วไปนิมนต์พระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
รับสั่งลูกท้าวมัฆวาน | ชุลีกรแล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จึ่งจัดพระมหาปราสาท | โอภาสดั่งวิมานในดึงสา |
ปูพรมกั้นฉากอลงการ์ | ห้อยพวงรัตนาสุมามาลย์ |
แล้วรายราชวัติสองข้าง | ทางจะลงยมนาท่าสนาน |
ตั้งมณฑปแก้วสุรกานต์ | ข่ายทองโอฬารล้อมวง |
ใต้น้ำก็ขึงข่ายเพชร | ในที่เสด็จลงสรง |
แล้วให้กระบี่ฤทธิรงค์ | ออกไปเชิญองค์พระมุนี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึ่งขุนธรรมการกระบี่ศรี |
รับคำเสนาธิบดี | ไปยังที่อยู่พระนักพรต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเผดียงราธนา | เหล่าพระมหาดาบส |
บัดนี้จะลงสรงพระโอรส | กำหนดนิมนต์ให้เข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมหามุนีน้อยใหญ่ |
ต่างนุ่งคากรองครองสไบ | ฉวยได้ตาลิปัตรก็รีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งขึ้นบนปราสาท | นั่งอาสน์ตามหลั่นชันษา |
ก็สวดไสยเวทวิทยา | เป็นมหามงคลสวัสดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ สาธุการ เจรจา