- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวพันพักตร์ยักษา |
เห็นกระบี่หักกระบองแล้วโยนมา | อสุรากริ้วโกรธพิโรธนัก |
จึ่งตรัสสั่งพวกพหลพลมาร | เร่งเข้ารอนราญหาญหัก |
จับไอ้ลิงขาวบ่าวรามลักษมณ์ | กูจะหักคอเคี้ยวเสียเดี๋ยวนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพหลพลยุทธ์ยักษี |
ได้รับสั่งตั้งท่าเข้าราวี | ต่อตีรบรับกับวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ผู้เดียวโรมรันประจัญกร | ราญรอนสัประยุทธ์กุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ องอาจดั่งราชไกรสีห์ | จับฝูงมฤคีผกผัน |
ตีนถีบมือตบพัลวัน | ฟอนฟันด้วยกำลังฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกพลมารยักษา |
กลัวนายไม่เสียดายชีวา | ดากันหนุนเนื่องเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตีรันฟันฟาดอุตลุด | พุ่งซัดอาวุธน้อยใหญ่ |
ยิงธนูหน้าไม้ปืนไฟ | หมายใจจะฆ่าให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
รบรุกบุกบันประจัญบาน | โถมทะยานเข้ากลางโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เหยียบบ่าคว้าเศียรกุมภัณฑ์ | ผกผันเรี่ยวแรงแข็งกล้า |
สี่กรรอนราญอสุรา | หวดซ้ายป่ายขวาวุ่นไป |
อันหมู่โยธีรี้พล | จะเหลือแต่สักตนก็หาไม่ |
ตายกลาดดาษป่าพนาลัย | ด้วยฤทธิไกรราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษี |
สิ้นรถสิ้นทศโยธี | โกรธดั่งอัคคีบรรลัยกาล |
จึ่งจับศรสิทธิ์ฤทธิรงค์ | อันทรงเดชากล้าหาญ |
พาดสายหมายมุ่งจะรอนราญ | ขุนมารก็ผาดแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มืดคลุ้มกลุ้มทั่วอากาศ | เป็นศรเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
ต้องกายหนุมานชาญชัย | เต็มไปทุกเส้นโลมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ต้องศรพญาอสุรา | วานรไม่ระคายอินทรีย์ |
สี่กรถอนชักหักเล่น | โลดเต้นเยาะเย้ยยักษี |
แล้วเผ่นโผนไปด้วยฤทธี | เข้าไล่ราวีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โจนขึ้นเหยียบบ่าคว้าเศียร | กลับกลอกผลัดเปลี่ยนเหียนหัน |
ต่างแทงต่างรับต่างฟัน | พัลวันป้องปัดไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
สองพันกรแกว่งสาตรา | อสุรารุกโรมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าซ้ายเหยียบเข่าวานร | หวดด้วยคันศรยักษี |
ต้องกายหนุมานหลายที | ขุนกระบี่หันเหเซไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
โกรธาตาแดงดั่งแสงไฟ | แกว่งตรีเข้าไล่อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ชิงได้อาวุธทั้งสองพัน | แทงฟันต้องกายยักษา |
ถีบซ้ำกระหนํ่าด้วยบาทา | อสุราไม่ทานฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษี |
เจ็บปวดยวดยิ่งพันทวี | อสุรีหวาดหวั่นพรั่นใจ |
สิ้นคิดสิ้นกำลังกายา | สิ้นทั้งสาตราน้อยใหญ่ |
สิ้นพวกพหลพลไกร | ไม่มีสิ่งใดจะต่อยุทธ์ |
นิ่งขึงตะลึงทั้งอินทรีย์ | เสียดายชีวีเป็นที่สุด |
ฉิฉะทหารมนุษย์ | ฤทธิรุทรไม่มีใครเทียมทัน |
แล้วคิดมานะขึ้นมา | ด้วยกำลังพาลาโมหันธ์ |
ตัวกูก็ชายชาญฉกรรจ์ | สุริย์วงศ์กุมภัณฑ์เลิศไกร |
ตรีโลกเลื่องชื่อลือสิ้น | จะย่อท้อไพรินกระไรได้ |
ถึงตายไม่เสียดายชีวาลัย | ให้ปรากฏเกียรติไว้ในครั้งนี้ |
คิดพลางทางทำสิงหนาท | องอาจดั่งพญาราชสีห์ |
โลดโผนโจนไปด้วยฤทธี | เข้าง้างคีรีเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บรรพตหักลงด้วยกำลัง | เสียงดังดั่งเสียงฟ้าผ่า |
สองพันกรก็ช้อนชูมา | อสุราไล่ทิ้งวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องปัดทั้งสี่กร | โถมเข้าราญรอนอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กวัดแกว่งตรีเพชรระเห็จหัน | ฟอนฟันถีบแทงยักษี |
ล้มลงยังพื้นปัถพี | กระบี่เหยียบไว้กับบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วจึ่งยอกรอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถนาถา |
หลับเนตรร่ายเวทอันศักดา | นิมิตหางวานรทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เดชะวิทยาอันเชี่ยวชาญ | หางนั้นบันดาลยาวใหญ่ |
รวบรัดมัดอสุราไว้ | ตลอดไปทั่วทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสองพันกรยักษี |
แว้งวัดสลัดด้วยฤทธี | หางกระบี่ไม่หลุดจากกายา |
ยิ่งไหวทีไรก็รัดเข้า | เจ็บปวดรวดเร้าเป็นหนักหนา |
สุดฤทธิ์สุดคิดอสุรา | ก็นั่งโศการำพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้อนิจจาแก่ตัวกู | เสียแรงรู้พระเวทรังสรรค์ |
เสียแรงเรืองฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | อาวุธครบครันสองพันกร |
เชื้อชาติบุรุษอาชาชาญ | แกล้วกล้าชำนาญในการศร |
เลื่องชื่อลือเดชขจายจร | ฤทธิรอนปราบได้ทั้งแดนไตร |
ควรหรือหลงลมแก่ลิงป่า | มาลวงเอาคทาไปได้ |
จนเสียตนเสียชีพชีวาลัย | ใครเลยจะนับว่าดี |
เป็นที่อัปยศอดสู | แก่หมู่เทวาทุกราศี |
ทั้งมนุษย์ครุฑานาคี | ร่ำพลางอสุรีก็โศกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
หย่อนหางห่างกายอสุรา | ก็เหาะมาในทางอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรสุริย์วงศ์ทรงศร |
ซึ่งตัวข้าบาทวานร | ไปต่อกรด้วยพญากุมภัณฑ์ |
บัดนี้ข้ามัดประจานไว้ | ตัวมันยังไม่อาสัญ |
ขอให้วานรทั้งนั้น | พากันไปเยาะอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ฟังลูกพระพายพาที | ยินดีดั่งได้ฟากฟ้า |
จึ่งมีพระราชโองการ | สั่งหมู่ทหารซ้ายขวา |
จงไปเยาะเย้ยอสุรา | ให้สมนํ้าหน้าไอ้จังไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรน้อยใหญ่ |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | ดีใจก็พากันรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นอสุรี | อินทรีย์ใหญ่เท่าสิงขร |
มีเศียรพันเศียรสองพันกร | เขี้ยวขาวยาวงอนเพียงตา |
หนุมานมัดไว้ด้วยหาง | นั่งครางอยู่ริมชายป่า |
แล้วแลเห็นนางอสุรา | วิ่งวุ่นโศกาจาบัลย์ |
มีความชื่นชมโสมนัส | ตบหัตถ์สำรวลสรวลสันต์ |
เหล่าพลกระบี่ก็ชวนกัน | ไล่นางกำนัลวุ่นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝูงนางอสุรีน้อยใหญ่ |
เห็นกระบี่ไล่มาก็ตกใจ | นางในวิ่งปะทะปะกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ร้องตรีดหวีดหวาดอลหม่าน | ล้มลุกคลุกคลานตัวสั่น |
ลัดแลงแฝงพุ่มพนาวัน | วิ่งแยกแตกกันไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธากระบี่ศรี |
ไล่สกัดจับนางอสุรี | อุตลุดอึงมี่เป็นโกลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างฉวยบ่าฉวยผ้าฉวยมือ | ยุดยื้อสำรวลสรวลร่า |
ฉุดมาตรงพักตร์อสุรา | วานรเยาะเย้ยกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
เย้ย
๏ นี่หรือเจ้ากรุงปางตาล | พี่น้องอวดหาญว่าแข็งขัน |
มาช่วยจะเอารางวัล | ทีนี้กุมภัณฑ์ได้สมคิด |
เหวยไอ้ตัวโตโง่เปล่า | ไม่รู้เท่าหนุมานแต่สักหนิด |
อวดมือสองพันว่ามีฤทธิ์ | จะสู้พระจักรกฤษณ์เลิศไกร |
กูนี้ขอบคุณเอ็งหนักหนา | อุตส่าห์พาเมียมาส่งให้ |
ในที่กันดารลำบากใจ | หรือจะใคร่เอาเชื้อวานร |
ว่าพลางไขว่คว้านางกำนัล | ยิงฟันตะคอกหลอกหลอน |
ลางลิงเข้ายุดฉุดกร | ยื้อคร่าผ้าผ่อนไม่สมประดี |
เหวยเหวยเฮ้ยอ้ายยักษ์เฒ่า | ดูเราจะภิรมย์สมศรี |
ว่าพลางจูบนางอสุรี | ทำทีเยาะเย้ยไปมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวรำ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสหัสเดชะยักษา |
เห็นวานรเย้ยหยามก็โกรธา | ตาแดงดั่งแสงพระอาทิตย์ |
พันปากสำรากแผดร้อง | เสียงสนั่นลั่นก้องถึงดุสิต |
เหวยไอ้เดียรฉานปัจจามิตร | อย่าพักอวดฤทธิ์ไอ้อัปรีย์ |
ร้องพลางผุดลุกกระทืบบาท | ทำอำนาจจะไล่กระบี่ศรี |
ยิ่งดิ้นยิ่งตรึงอินทรีย์ | อสุรีขัดแค้นแน่นใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ครั้นหมู่โยธีกระบี่ไพร | เยาะเย้ยไยไพอสุรา |
เสร็จแล้วชักตรีฤทธิรุทร | อาวุธสำหรับหัตถา |
กวัดแกว่งสำแดงเดชา | ตัดเกล้าเกศาอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เศียรนั้นก็ขาดกระเด็นไป | ด้วยฤทธิไกรกระบี่ศรี |
ล้มลงกับพื้นปถพี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นเสร็จซึ่งล้างกุมภัณฑ์ | ลูกพระพายเทวัญใจหาญ |
ก็พาวานรบริวาร | มาเฝ้าพระอวตารผู้ศักดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรธิราชนาถา |
อันสหัสเดชะอสุรา | ข้าฆ่าสุดสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังลูกพระพายก็ยินดี | จึ่งมีมธุรสพจมาน |
มิเสียทีเป็นวงศ์เทเวศ | เรืองเดชเลื่องชื่อลือหาญ |
ใช้ไหนก็ได้ราชการ | ปรีชาเชี่ยวชาญทุกสิ่งไป |
กำลังฤทธิรอนขจรจบ | ทั้งสามพิภพไม่เปรียบได้ |
ควรที่ต่างตาต่างใจ | ในการรณรงค์ราวี |
ตรัสแล้วกลับรถสุรกานต์ | ให้เลิกทวยหาญกระบี่ศรี |
โห่สนั่นครั่นครื้นธาตรี | กลับไปยังที่พลับพลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายสารัณทูตยักษา |
แอบดูอยู่เชิงบรรพตา | เห็นพญาอุปราชบรรลัย |
ทั้งเจ้ากรุงพระนครปางตาล | หนุมานลวงฆ่าเสียได้ |
สิ้นทั้งพวกพลสกลไกร | ตกใจก็รีบเข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเกล้ายังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ว่ามูลพลัมอสุรี | ไปต่อตีกับพระลักษมณ์อนุชา |
จนสิ้นโยธาพลากร | ภูธรม้วยชีพสังขาร์ |
ทั้งสหัสเดชะอสุรา | ก็หลงมารยาหนุมาน |
ผู้เดียวเคี่ยวฆ่าจนสิ้นพล | พวกพหลโยธีทวยหาญ |
แล้วมันจับตัวมัดประจาน | ผลาญเสียให้สิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
ได้ฟังดั่งสายอสุนี | มาฟอนฟาดอินทรีย์ขาดไป |
กอดเข่านิ่งขึงตะลึงอยู่ | เป็นครู่ไม่ออกปากได้ |
ชลเนตรคลอเนตรถอนใจ | มีความอาลัยเป็นพ้นนัก |
โอ้ว่าเสียดายพระเชษฐา | เลื่องชื่อลือชาทั้งไตรจักร |
กับมูลพลัมสหายรัก | ก็ทรงศักดาเดชชัยชาญ |
ควรหรือมาแพ้ฤทธิรุทร | มนุษย์กับไอ้เดียรัจฉาน |
ดั่งชายชั่วช้าสาธารณ์ | ได้ความอัประมาณทั้งธาตรี |
แต่แสนทุกข์แสนเทวษเป็นสุดคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งไฟจี่ |
จนพลบคํ่าสิ้นแสงพระรวี | ก็เสด็จเข้าที่บรรทมใน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | ยอกรก่ายพักตร์โหยไห้ |
โอ้ว่าทีนี้จะได้ใคร | ที่จะออกชิงชัยด้วยไพริน |
อันหมู่สุริย์วงศ์ในลงกา | สหายร่วมชีวาก็ตายสิ้น |
ฉิฉะมนุษย์เดินดิน | มาดูหมิ่นกันได้ถึงเพียงนี้ |
แต่ผุดลุกผุดนั่งไม่ไสยาสน์ | จนภาณุมาศเรืองรองส่องสี |
จึ่งชำระสระสรงอินทรีย์ | อสุรีออกท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษดา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | แก่เสนามารยักษา |
อันศึกมนุษย์ที่ยกมา | แกล้วกล้าสามารถอาจใจ |
แต่พระเชษฐาพันพักตร์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์แผ่นดินไหว |
กับมูลพลัมไปชิงชัย | ก็พ่ายแพ้บรรลัยลงด้วยกัน |
ตัวกูเป็นเจ้าอสุรี | ยกพวกโยธีพลขันธ์ |
ออกไปรบรุกบุกบัน | หักมันไม่ได้ดั่งจินดา |
จะได้ผู้ใดที่องอาจ | เรืองฤทธิ์อำนาจแกล้วกล้า |
ไปหักหาญผลาญมันให้มรณา | สิ้นทั้งโยธากระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีน้อยใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระโองการ |
อันในสุริย์วงศ์พระองค์นี้ | ที่มีปรีชากล้าหาญ |
เห็นแต่แสงอาทิตย์ชัยชาญ | ขุนมารเป็นราชโอรส |
องค์พระอนุชาพญาขร | มีแว่นฤทธิรอนดั่งเพลิงกรด |
ของบรมพรหเมศในโสฬส | กำหนดประสาทให้มา |
มาตรแม้นถ้าส่องต้องใคร | ก็บรรลัยสิ้นชีพสังขาร์ |
ขอให้ไปเชิญพระนัดดา | มาฆ่าอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังมีความยินดี | ดั่งได้มณีเทวัญ |
ยี่สิบหัตถ์ตบเพลาฉาดฉาน | สิบปากขุนมารสรวลสันต์ |
พักตร์ผ่องดั่งหนึ่งดวงจันทร์ | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
จริงแล้วหลานกูผู้มีฤทธิ์ | ต่อว่าจึ่งคิดขึ้นได้ |
เหวยนนทการผู้ร่วมใจ | เร่งไปหาหลานกูมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทการยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | บังคมลาออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เหาะขึ้นยังพื้นอัมพร | ด้วยกำลังฤทธิรอนแข็งขัน |
ข้ามสมุทรดังพญาสุบรรณ | กุมภัณฑ์ก็รีบระเห็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงโรมคัลบุรี | นนทการผู้มีอัชฌาสัย |
ลงจากอากาศด้วยว่องไว | เข้าในนิเวศน์อสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | องค์แสงอาทิตย์ยักษา |
บัดนี้สมเด็จพระบิตุลา | ให้ข้ามาเฝ้าบทมาลย์ |
ด้วยศึกทั้งสองมนุษย์นั้น | ยังติดพันรบหนักหักหาญ |
ผู้ใดออกไปต้านทาน | ก็วายปราณด้วยมือไพรี |
ทั้งองค์อินทรชิตเชษฐา | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
ยกพลโยธาออกต่อตี | ก็สุดสิ้นชีวีลงด้วยกัน |
เชิญเสด็จพระองค์ไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าจอมภพรังสรรค์ |
จะปรึกษาสงครามล้างมัน | ให้ทันรุ่งเช้าเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | แสงอาทิตย์สิทธิศักดิ์ยักษา |
แจ้งข่าวเร่าร้อนในอุรา | ดั่งสายฟ้าฟาดต้องอินทรีย์ |
ความรักความเสียดายพี่ชายนัก | ชลนัยน์นองพักตร์ยักษี |
ตะลึงไปมิได้พาที | อสุรีคั่งแค้นแน่นใจ |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | สำเนียงกัมปนาทหวาดไหว |
เหม่เหม่มนุษย์กับลิงไพร | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
ว่าพลางสั่งจิตรไพรี | พี่เลี้ยงผู้ร่วมชีวาสัญ |
เร่งเกณฑ์อสุรกุมภัณฑ์ | ให้ทันรุ่งแสงสุริยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งจิตรไพรียักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่อสุรกุมภัณฑ์ | เลือกล้วนลํ่าสันโตใหญ่ |
กองหนึ่งมือถือปืนไฟ | สอดใส่เสื้อศึกพื้นแดง |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อเขียวขาบ | กรนั้นถือดาบกวัดแกว่ง |
หมู่หนึ่งมือถือทวนแทง | ใส่เสื้อเครือแย่งพื้นดำ |
หมู่หนึ่งสอดเสื้อสีหมอก | เหน็บกริชกุมหอกปลอกคร่ำ |
หมู่หนึ่งเสื้อสีดอกคำ | ถือง้าวร่ายรำกรีดกราย |
ขุนช้างขี่ช้างซับมัน | กุมขอหยัดยันเฉิดฉาย |
ขุนม้าขี่ม้าลำพองกาย | ถือหอกซัดหมายปัจจามิตร |
ขุนรถขี่ขับรถศึก | พร้อมพรั่งคั่งคึกอกนิษฐ์ |
ต่างตนประกวดอวดฤทธิ์ | ตั้งไปต่างทิศยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์แสงอาทิตย์ยักษา |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | เสด็จมาสระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สนานกายสายสินธุวาเรศ | จากฝักประทุมเมศหอมหวาน |
สุคนธาธารกลิ่นสุมามาลย์ | เสาวรสซาบซ่านอินทรีย์ |
สนับเพลาเชิงงอนช่องกระจก | ภูษายกเป็นรูปราชสีห์ |
ชายไหวชายแครงเครือมณี | เกราะเกล็ดนาคีประดับพลอย |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลศึก | รัดองค์แก้วผลึกเฟื่องห้อย |
ทองกรพาหุรัดจำหลักลอย | เป็นรักร้อยรายดวงเนาวรัตน์ |
ทรงมหาธำมรงค์เรือนเก็จ | ประดับเพชรถ้วนสิบนิ้วหัตถ์ |
มงกุฎแก้วกุณฑลดอกไม้ทัด | จับศรแกว่งกวัดยืนยัน |
งามองค์งามทรงกำลังหาญ | ดั่งองค์พระกาลรังสรรค์ |
เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | มาขึ้นรถสุวรรณพรรณราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | กำกงแกมแก้วจำรัสฉาย |
แอกงอนอ่อนระหงธงปลาย | บัลลังก์ลายเลื่อมแสงเนาวรัตน์ |
เทียมด้วยสิงหราชผาดผยอง | สารถีแกว่งตระบองยืนหยัด |
ขับเฉื่อยเรื่อยเร็วดั่งลมพัด | มยุรฉัตรชุมสายจามร |
ธงทิวริ้วรายจนปลายเชือก | ทนายเลือกถือปืนธนูศร |
ปี่ฆ้องกลองชนะแตรงอน | พลากรเยียดยัดอึงอล |
โยธาโห่เร้าเอาฤกษ์ | เอิกเกริกโลกากุลาหล |
ผงคลีมืดคลุ้มพระสุริยน | เร่งพลขับข้ามสมุทรไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงลงกาธานี | ให้หยุดโยธีทัพใหญ่ |
ลงจากรถแก้วแววไว | ขึ้นไปเฝ้าองค์พระบิตุลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรประณตบทเรศ | พระผู้พงศ์พรหเมศนาถา |
ท่ามกลางอสุรเสนา | คอยฟังบัญชาภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
เห็นแสงอาทิตย์ก็ยินดี | อสุรีส้วมกอดหลานรัก |
เจ้าผู้ดวงใจนัยน์เนตร | เลื่องชื่อลือเดชทั้งไตรจักร |
สงครามครั้งนี้นี่หนักนัก | จะคิดการหาญหักเห็นยากใจ |
แต่งใครออกไปก็เสียที | จะทานฝีมือมันนั้นไม่ได้ |
ญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ก็บรรลัย | จึ่งให้ไปหาเจ้ามา |
หวังว่าจะได้พึ่งหลาน | อันสามารถอาจหาญแกล้วกล้า |
ตัวเจ้าจงยกโยธา | เป็นทัพหน้าของลุงออกไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | แสงอาทิตย์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระวาที |
อันมนุษย์กับพวกพานรินทร์ | มาดูหมิ่นไม่เกรงบทศรี |
หลานนี้คิดแค้นแสนทวี | ถึงมีฤทธีไม่กลัวกัน |
ข้าบาทผู้เดียวจะอาสา | เคี่ยวฆ่าให้ม้วยอาสัญ |
พระองค์มงกุฎกุมภัณฑ์ | อย่ายกพลขันธ์ออกไป |
ให้เสียยศศักดิ์พรหเมศ | อายฝูงเทเวศน้อยใหญ่ |
อันสองมนุษย์กับลิงไพร | ไว้นักงานข้าจะต่อตี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังหลานรักพาที | อสุรีชื่นชมด้วยสมคิด |
ลูบหน้าลูบหลังแล้วบัญชา | เจ้าแก้วตาสืบสายโลหิต |
มิเสียแรงที่พ่อมีฤทธิ์ | ญาติมิตรจะได้พึ่งสืบไป |
ว่าแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
จงบอกวิเสทนอกใน | ให้แต่งเครื่องต้นโอชา |
พร้อมทั้งของคาวของหวาน | เมรัยชัยบานกลั่นกล้า |
ถวายแก่องค์พระนัดดา | เลี้ยงทั้งโยธาด้วยกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเสนาคนขยัน |
รับสั่งพญากุมภัณฑ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งนายเวรให้หมายบอก | วิเสทในนอกซ้ายขวา |
ให้แต่งเอมโอชโภชนา | ตามพระบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทยักษี |
แจ้งหมายจ่ายของเป็นโกลี | ตกแต่งตามที่ประกวดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ฝ่ายวิเสทในก็ทานเทียบ | เรียงเรียบเครื่องต้นจัดสรร |
ของคาวของหวานครบครัน | สารพันมีรสโอชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางพนักงานซ้ายขวา |
ยกเครื่องเนื่องตามกันมา | ถวายองค์พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศพักตร์ยักษี |
จึ่งชวนหลานรักร่วมชีวี | เข้าที่เสวยสำราญใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงกำนัลน้อยใหญ่ |
อ่าองค์ทรงเครื่องอำไพ | เข้าไปหมอบใช้พญามาร |
ลางนางก็รินเหล้ากลั่น | ใส่จอกสุวรรณฉายฉาน |
คำรพจบหัตถ์เอางาน | ถวายพระผู้ผ่านลงกา |
ลางนางก็อยู่งานพัด | แส้ปัดกวัดแกว่งซ้ายขวา |
ทำชม้อยชม้ายชายตา | ดูทีพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เซ่นเหล้า
สมิงทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ขับครวญ | น้ำนวลฉ่ำเฉื่อยเรื่อยรี่ |
โอดพันโหยหวนไปในที | ดีดสีเสียงหวานประสานไป |
บ้างตีรำมะนาท้าทับ | ฉิ่งกรับขานขัดจังหวะให้ |
พร้อมเพราะเสนาะจับใจ | บำเรอท่านไทกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | กรายกรใส่จริตบิดผัน |
รายเรียงเคียงหน้าเสมอกัน | ตลบหันแทรกเปลี่ยนไปมา |
แล้วซัดสองกรอ่อนเคล้า | เวียนเข้าใกล้องค์ยักษา |
ทำทีชม้ายชายตา | ย้ายไปเป็นท่าพัดชากลาย |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนกร | กลับฟ้อนสีซอสามสาย |
อรชรอ้อนแอ้นกรีดกราย | รำถวายพญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทนอกคนขยัน |
เสร็จแต่งเครื่องเลี้ยงครบครัน | ก็หาบหามตามกันเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ตั้งไว้ในหน้าพระลาน | ชัยบานช้างปิ้งกระทิงพล่า |
หมูไก่วัวควายชุมพา | เป็นแถวกลาดดาษดาเกลื่อนไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกพลโยธาน้อยใหญ่ |
เห็นเครื่องเลี้ยงมาก็ดีใจ | ไพร่นายนั่งล้อมทำที |
บ้างดื่มสุรากินแกล้ม | ยิ้มแย้มหัวร่อกันอึงมี่ |
โฉงเฉงทำเพลงไม่สมประดี | ด่าตีทะเลาะเถียงกัน |
บ้างรำเต้นเล่นหน้าคว้าไขว่ | ไล่หยอกวิเสทสาวสรรค์ |
ยื้อยุดฉุดคร่าพัลวัน | กุมภัณฑ์ยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายแสงอาทิตย์ยักษา |
เสวยพลางทางทอดทัศนา | ฝูงนางกัลยาระบำใน |
ให้เพลิดเพลินจำเริญในรสรัก | ขุนยักษ์ครวญคิดพิสมัย |
ฟังเสียงสำเนียงก็จับใจ | เคลิ้มไปไม่รู้อินทรีย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
เสร็จเสวยโภชนาสาลี | จึ่งมีมธุรสพจมาน |
ดูก่อนนัดดาผู้ร่วมรัก | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์ห้าวหาญ |
แม้นเสร็จศึกภัยบรรลัยลาญ | จะบำเหน็จหลานให้ถึงใจ |
อันส่วยสาอากรต่างประเทศ | ในขอบเขตของลุงจะยกให้ |
แม้นมาตรปรารถนาสิ่งใด | มิได้ขัดองค์พระนัดดา |
ว่าแล้วก็เปลื้องสังวาลทรง | ถอดธำมรงค์ที่หัตถ์ขวา |
ของนี้แต่ครั้งพระอัยกา | แก้วตาจงรับเอาไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | แสงอาทิตย์ผู้มีอัชฌาสัย |
รับของประทานสำราญใจ | บังคมไหว้สนองพระวาที |
ตัวหลานกำพร้าบิตุเรศ | หากได้พระเดชปกเกศี |
สู้ตายไม่เสียดายแก่ชีวี | จะขอล้างไพรีให้มรณา |
ว่าแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พญายักษา |
ลงจากปราสาทรัตนา | มายังทัพชัยขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน |
ตรัสสั่งพี่เลี้ยงผู้ชัยชาญ | ให้ตรวจทหารกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายจิตรไพรีคนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | แล้วรีบจรจรัลออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ ตรวจหมู่จตุรงค์ทะนงศึก | เลือกล้วนห้าวฮึกแกล้วกล้า |
ขุนช้างผูกช้างชนะงา | ใจทมิฬบิ่นบ้าบ่มมัน |
ควาญหมอถือขอกวัดแกว่ง | กำลังเรี่ยวแรงแข็งขัน |
ขุนม้าผูกม้าชาญฉกรรจ์ | พลาหกตัวขยันลำพองกาย |
นายขี่มือถือทวนทอง | เสื้อหมวกไหมกรองเฉิดฉาย |
ขุนรถผูกรถสุพรรณพราย | กงเหล็กกำลายอลงการ |
สารถีมือถือเกาทัณฑ์ | หยัดยันเงื้อง่าจะแผลงผลาญ |
เทียมโตสิงห์เสือเผ่นทะยาน | ฝีเท้าปานลมพาจร |
ขุนพลตรวจเตรียมพลยุทธ์ | ฤทธิรุทรเริงร่านชาญสมร |
กวัดแกว่งอาวุธสำหรับกร | คอยเสด็จบทจรอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | แสงอาทิตย์สุริย์วงศ์ยักษี |
ครั้นเสร็จซึ่งเตรียมโยธี | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ลูบไล้เครื่องต้นเสาวคนธ์ | ธารกลิ่นอุบลมาลี |
สอดใส่สนับเพลาเชิงยก | ก้านกระหนกเครือรูปคชสีห์ |
ภูษิตพื้นดำเครียวตระครี | เชิงเป็นกินรีกรายกร |
ชายแครงชายไหวปลายสะบัด | ฉลององค์จำรัสประภัสสร |
เกราะแก้ววิเชียรบวร | รัดอกอรชรทับทิมพราย |
ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น | สังวาลวัลย์มรกตสามสาย |
ทองกรพาหุรัดจำหลักลาย | ธำมรงค์เพชรพรายเรือนสุบรรณ |
ทรงมหามงกุฎสำหรับศึก | กรรเจียกแก้วผลึกมุกดาคั่น |
จับศรฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ | มาขึ้นรถสุวรรณอลงการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงประดับมุกดาหาร |
แอกงอนล้วนแล้วแก้วประพาฬ | บัลลังก์โอฬารด้วยเนาวรัตน์ |
ชั้นลดเครือขดภาพคั่น | เป็นสุบรรณจับนาคยืนหยัด |
ถึงวิมานเทวาไม่เทียมทัด | สารพัดคงทนแก่อาวุธ |
เทียมด้วยราชสีห์ร้ายกาจ | โผนผาดแผดเสียงอึงอุด |
สารถีถือปืนแกว่งชุด | ขับรุดวิ่งวางกลางพล |
ประดับเครื่องอภิรุมชุมสาย | พัดโบกโบกพรายโพยมหน |
ปี่ฆ้องกลองชนะอึงอล | ธงชายโบกบนเฉลิมชัย |
โยธาโห่ร้องคะนองหาญ | เสียงสะเทือนสะท้านแผ่นดินไหว |
ผงคลีบดบังอโณทัย | ตรงไปยังที่สนามรบ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นตกชายป่าพนาลี | อสุรีแลเห็นอาสภ |
เดียรดาษกลาดกลางแผ่นภพ | กลิ่นอายตลบเข้ามา |
จึ่งให้หยุดพหลพลไกร | มั่นไว้ที่เชิงภูผา |
โดยกระบวนพยุหยาตรา | คอยท่ากองทัพวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงศร |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงกรณ์ | ในที่บรรจถรณ์อันโอฬาร |
ดาวเดือนเลื่อนลับโพยมหน | สุริยนจวนแจ้งแสงฉาน |
พระพายชายพัดรำเพยพาน | สุมามาลย์ส่งกลิ่นรวยมา |
สกุณีเร่าร้องถวายเสียง | สำเนียงเพรียกเพราะสนั่นป่า |
เสนาะดั่งสังคีตเสภา | ผ่านฟ้าสำราญพระทัยนัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งเสด็จเข้าที่โสรจสรง | ทรงเครื่องคู่องค์พญาจักร |
จับพระแสงพรหมาสตร์ปราบยักษ์ | แล้วผินพักตร์ออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองพระนคร | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
พอได้ยินสำเนียงเกรียงไกร | หวั่นไหวเลื่อนลั่นปถพี |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ถามโหราจารย์ยักษี |
อันทัพซึ่งยกมานี้ | จะเป็นอสุรีในลงกา |
หรือว่าสุริย์วงศ์พงศ์มิตร | ที่สนิทของท้าวยักษา |
ยกมาแต่ต่างพารา | หรือว่าเป็นตัวทศกัณฐ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกโหราคนขยัน |
ได้ฟังพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลแล้วจับยามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ทั้งทศกาลแลตรีเนตร | ก็แจ้งเหตุหาคลาดเคลื่อนไม่ |
จึ่งกราบทูลพระตรีภูวไนย | อันทัพชัยที่ยกออกมา |
คือแสงอาทิตย์ฤทธิรอน | เป็นบุตรพญาขรยักษา |
น้องมังกรกัณฐ์อสุรา | หลานเจ้าลงกาพญามาร |
มันมีแว่นแก้วเป็นอาวุธ | ฤทธิรุทรยิ่งแสงพระสุริย์ฉาน |
ส่องใครก็ม้วยบรรลัยลาญ | พรหเมศประทานอสุรี |
แต่เพื่อนไม่เอาลงมา | ฝากท้าวธาดาเรืองศรี |
แม้นการณรงค์สงครามมี | จึ่งให้พี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ |
ชื่อจิตรไพรีขุนยักษ์ | แหลมหลักปัญญาอัชฌาสัย |
ขึ้นไปเอาแว่นเมื่อใด | พรหมนั้นก็ให้ลงมา |
พระองค์จงใช้องคต | โอรสพาลีแกล้วกล้า |
นิมิตให้เหมือนอสุรา | ไปลวงท้าวธาดาธิบดี |
เอาแว่นลงมาให้ได้ | จึ่งค่อยชิงชัยด้วยยักษี |
ตัวมันก็จะม้วยชีวี | ด้วยฤทธีองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณรักษ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | จึ่งมีบรรหารตรัสไป |
ดูก่อนนัดดามัฆวาน | ตัวท่านผู้มีอัชฌาสัย |
จงจำแลงกายด้วยฤทธิไกร | ให้เหมือนจิตรไพรี |
ขึ้นไปลวงองค์พรหเมศ | เอาแว่นวิเศษของยักษี |
ว่าแล้วมีราชวาที | สั่งพิเภกอสุรีโหรา |
ท่านจงนิมิตบิดเบือน | ให้เหมือนพี่เลี้ยงยักษา |
องคตผู้มีศักดา | จะได้เห็นกายากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | นิมิตกายนั้นด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | หลานท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
พินิจพิศทั่วอินทรีย์ | ขุนกระบี่จำได้ทั้งกายา |
เสร็จแล้วยอกรอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถนาถา |
ผูกจิตสำรวมนัยนา | วานรก็ร่ายพระเวทไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ กลับเป็นพี่เลี้ยงแสงอาทิตย์ | จะเพี้ยนผิดสักสิ่งก็หาไม่ |
บังคมลาพระตรีภูวไนย | แกว่งตะบองเหาะไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงบรมพรหเมศ | ยอกรเหนือเกศเกศี |
ทูลท้าวธาดาธิบดี | บัดนี้เกิดศึกในลงกา |
แสงอาทิตย์ใช้ข้าขึ้นมาเฝ้า | พระปิ่นเกล้าสามภพนาถา |
ขอเอาแว่นแก้วอันศักดา | ลงไปเข่นฆ่าปัจจามิตร |
ให้สิ้นมนุษย์กับวานร | ตามพรพระองค์ประกาศิต |
อสุรีจะได้รอดชีวิต | ทรงฤทธิ์จงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวธาดาเรืองศรี |
ไม่แจ้งกลบุตรพาลี | คิดว่าอสุรีใช้มา |
จึ่งหยิบแว่นแก้วสุรกานต์ | อันชัชวาลร้อนแรงแสงกล้า |
จากพานทิพย์รัตน์อลงการ์ | เอามาส่งให้ทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตผู้มีอัชฌาสัย |
รับเอาแว่นแก้วแววไว | บังคมไหว้แล้วเหาะกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้มรกตคีรี | ก็เลื่อนลงจากที่เวหา |
เคลื่อนคลายพระเวทอันศักดา | กายาก็กลายเป็นวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ขุนกระบี่จึ่งตรงเข้าไปเฝ้า | พระปิ่นเกล้าสุริย์วงศ์ทรงศร |
ถวายแว่นแก้วฤทธิรอน | ต่อกรสมเด็จพระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ